หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร
ญาติโยมทั้งหลายตั้งใจที่จะทำความสงบกันต่อไปเพื่อให้เป็นปฏิบัติบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเบื้องต้นนี้อาตมาจะนำให้ว่าตามทุกคน ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ จงมาดลบันดาลให้ใจของข้าพเจ้าจงรวมลงเป็นสมาธิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ (๓ ครั้ง) พุทโธๆๆ
นึกไว้ในใจ นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาหงายทับมือซ้าย วางไว้บนตัก หลับตานึกพุทโธในใจ กำหนดใจไว้ที่ใจ ไม่ให้ส่ายแส่ไปในทางอื่น ไม่ให้มีอารมณ์ พยายามที่จะกำจัดมันออกไป
เราต้องคิดว่าเราเกิดมาคนเดียว ตายไปคนเดียว ไม่มีใคร เมื่อเราหลับตาเหลือแต่ใจ มองไม่เห็นอะไร นอกจากใจดวงเดียว ที่เราพากันเห็นก็คือสัญญาอุปาทานเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรจริงๆ เมื่อหลับตาก็มองเห็นแต่ความรู้ มีความรู้อันเดียว เมื่อหลับตาไปแล้วเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นให้ทำจิตคือทำจิตให้มีอารมณ์อันเดียว เมื่อมีอารมณ์อันเดียว จิตย่อมจะเป็นสมาธิ
การเป็นสมาธิของจิตนั้น ย่อมจะเกิดปีติความเอิบอิ่ม ย่อมจะเกิดความสุขคือความสบาย ย่อมจะต้องเกิดความเบาตัว แล้วก็มีความเบาความละเอียดละมุนละม่อม นั่นคือจิตสงบแล้วและจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตที่เป็นสมาธินั้น มีปรากฏการณ์ต่างๆให้เกิดขึ้น ไม่เหมือนกันกับที่เราอยู่โดยปรกติ ถ้าเราอยู่โดยปกติที่ไม่เป็นสมาธินั้น มันมีจิตรกรุงรังหรือคิดโน่นคิดนี่ มีความฟุ้งซ่านต่างๆ อันนั้นคือตามปกติของจิตใจ
แต่พอเวลาเป็นสมาธิ จิตนี้จะผิดจากปรกติเดิมธรรมดา มาอยู่ในฐานะหนึ่ง คือมาอยู่ในฐานะอีกฐานะนึง ฐานะนี้เป็นฐานะที่เรียกว่าฌาน ฌานนั้นมีอยู่ ๔ ด้วยกัน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ฌานที่มี ๔ คือปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
วิตก วิจารนั้นได้แก่การนึกพุทโธๆ เรียกว่าวิตก วิจาร พอปีติเมื่อนึกพุทโธแล้ว จิตก็อยู่ที่พุทโธ ปีติคือความขนพองสยองเกล้า รู้สึกมันหวิวๆอะไรอย่างนี้ เรียกว่าปีติ …วิตก วิจาร ปีติ สุขก็คือความสบาย เอกัคคตานั้นคือความเป็นหนึ่ง นี้เรียกว่าปฐมฌาน
ทุติยฌานนั้นก็มีอยู่องค์ ๓ วิตก วิจาร ตัดออกไป การนึกพุทโธนั้นไม่ต้องนึกแล้ว เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา เหลือแต่ความเอิบอิ่มและความสบายและความเป็นหนึ่ง
ตติยฌานนั้นเหลืออยู่องค์ ๒ ตัดวิตก วิจารออกไป ตัดปีติออกไป เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา มีแต่ความสบายและความเป็นหนึ่ง
จตุตถฌานที่๔ สุดท้ายนั้น ก็มีองค์ ๒ เช่นเดียวกัน คือมีแต่อุเบกขาและเอกัคคตา เรียกว่าวิตก วิจาร ตัดออกไป ความเอิบอิ่มตัดออกไป ความสุขความสบายก็ตัดออกไป เหลือแต่ความวางเฉยกับความเป็นหนึ่ง
ฌานทั้ง ๔ นี้เรียกว่ารูปฌาน เมื่อรูปฌานนี้ได้รับการพัฒนาหรือทำให้ยิ่ง รูปฌานนั้นจะกลับกลายเป็นอรูปฌาน คือจิตจะละเอียดลงไป จิตละเอียดลงไปนั้นก็กลับกลายเป็นอากาศว่างเปล่า ไม่มีอะไรเรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน เมื่อจิตนี้ได้รับการฝึกฝนละเอียดยิ่งขึ้นไปแล้ว ก็เหลือแต่ความรู้ ไม่มีอะไรเหลือแต่ความรู้ เรียกว่า วิญญาณนัญจายตนฌาน เมื่อได้รับการฝึกฝนจนกระทั่งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรแล้ว อารมณ์อะไร ความสุขความอะไรก็ไม่มีหมด เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌาน ในที่สุดถึงที่สุดของอรูปฌาน ๔ นั้นคือจะว่าสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่สัญญาก็ไม่ใช่ เรียกว่าไม่มีอะไรเอาเลย นั้นเรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
ทั้งหมดนี้เรียกว่า รูปฌานและอรูปฌาน ฌานทั้งหมดนี้นั้นเป็นฌานที่เรียกว่า ฌานโลกีย์ ฌานโลกีย์ผู้ที่บำเพ็ญฌานเหล่านี้ได้แล้ว ก็จะไปเกิดในชั้นพรหมโลก เลยชั้นสวรรค์ไป ก็ไปเกิดในชั้นพรหมโลก จากพรหมธรรมดา จนกระทั่งถึงมหาพรหม อย่างนี้คือผู้บำเพ็ญฌาน ฌานเหล่านี้นั้นไม่ใช่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ง่ายๆ ผู้ที่บำเพ็ญฌานที่เป็นรูปฌานและอรูปฌานนั้น ต้องใช้เวลาอันยาวนาน บางทีหมดชีวิตก็ไม่ได้ บางทีพวกฤาษีไปอยู่ในป่าคนเดียวบำเพ็ญฌาน ก็ยังไม่ค่อยจะสำเร็จถึงขั้นนี้ ฌานพวกนี้ถ้าทำสำเร็จขึ้นมาแล้ว สามารถแสดงฤทธิ์ได้ เหาะเหินเดินอากาศได้ มองดูจิตใจของคนได้ ระลึกชาติหนหลังได้ อย่างนี้ถือว่าได้สำเร็จฌาน แต่ฌานเหล่านี้นั้น ไม่สามารถที่จะกำจัดกิเลสได้ กิเลสก็ยังอยู่ เพราะว่าไม่ใช่วิปัสสนาเป็นแต่เพียงสมถกรรมฐาน
สมถะนั้นถ้าเราบำเพ็ญฌานโดยสม่ำเสมอ อานิสงส์แห่งฌานก็ทำให้ไปบังเกิดเพียงแค่ชั้นพรหม ชั้นพรหมนั้นอายุยาวนานกว่าชั้นสวรรค์ถึง ๒๐ เท่า เมื่อไปอยู่ที่นั่นแล้วก็ลืม มีความสบายจนลืม แต่ที่สุดถึงที่สุดก็ต้องกลับมาในมนุษย์โลกอีก นั่นคือเรียกว่ายังเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่ไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิดอีก หมายความว่าเมื่อบำเพ็ญฌานได้แล้ว เขาก็ยกอรูปฌานออกเสีย เอาแค่รูปฌาน ๔ คือปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เอาแค่ฌาน ๔ นี้ เอาฌาน ๔ นี้มาเป็นกำลังหันหน้าเข้าสู่วิปัสสนา
เมื่อหันหน้าเข้าสู่วิปัสสนาก็จะไปพบไตรลักษณ์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัส ไตรลักษณ์นั้นมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น ศาสนาอื่นไม่มี เพราะฉะนั้นในศาสนาทุกศาสนาจึงไม่มีวิปัสสนา มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา เพราะทุกคนนั้นปรารถนาแค่เพียงสวรรค์ ปรารถนาแค่เพียงความสุขในเมืองมนุษย์ แต่ว่าการที่สำเร็จฌานเหล่านั้น บางทีก็เกิดความเสื่อม เมื่อเกิดความเสื่อมแล้วก็ไปทำความชั่ว สามารถไปตกนรกได้ สามารถไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ เพราะว่ายังไม่ใช่นิยตบุคคล เป็นอนิยตบุคคล ดังนั้นการเวียนว่ายตายเกิดหรือว่าการแปรเปลี่ยน ย่อมมีแก่ผู้บำเพ็ญฌาน แต่ว่าถ้าผู้ใดหันเข้ามาสู่วิปสสนานั้น วิปัสสนาเป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำคนให้พ้นทุกข์ คือพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตายนี้ได้
ดังนั้นในวิปัสสนา พระพุทธองค์จึงทรงตรัสให้เกิดเป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นั้นคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังคือความไม่เที่ยง ทุกขังคือความเป็นทุกข์ อนัตตาคือความไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้ทั้งสามประการนี้ถ้าพิจารณาได้ ก็ถือว่าเราได้เริ่มวิปัสสนาแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า
สัพเพ สังขารา อนิจจา ติ สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ เมื่อใดบุคคลผู้ใดทำให้เกิดปรากฏขึ้นแล้ว
อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข จากนั้นผู้นั้นจะเกิดความเบื่อหน่าย
เอสะ มัคโค วิสุทธิยา นี้คือหนทางไปสู่พระนิพพาน
สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน
ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ บุคคลผู้ใดทำให้ปรากฏขึ้นแล้ว
อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข บุคคลผู้นั้นย่อมจะบังเกิดความเบื่อหน่าย
เอสะ มัคโค วิสุทธิยา นี่คือหนทางพระนิพพาน
พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสยืนยันเช่นนี้ ต้องการที่จะให้พุทธบริษัทพ้นไปจากทุกข์เสีย ไม่ต้องมาพากันเวียนว่ายตายเกิดลำบากลำบนกันอยู่ในเมืองมนุษย์นี่ เพราะฉะนั้นท่านจึงได้ยกวิปัสสนาขึ้นเพื่อให้พากันพิจารณา การพิจารณาทุกข์ การพิจารณาความไม่เที่ยง การพิจารณาถึงความไม่ใช่ตัวตนนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องใช้ฌาน เราจะพิจารณาโดยที่ไม่มีฌานนั้น ย่อมไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ตาม ก็ต้องบำเพ็ญฌานอยู่ดี แต่ไม่จำเป็นต้องไปบำเพ็ญถึงอรูปฌาน บำเพ็ญแต่เฉพาะรูปฌานเท่านั้นก็พอแล้ว แล้วก็เปลี่ยนมาพิจารณา
การพิจารณานั้นท่านให้พิจารณาเปรียบเหมือนกันกับผู้ที่เดินเรือใบ เมื่อเวลาเดินเรือใบไปในกลางทะเล เมื่อเวลาลมจัดต้องลดใบ เมื่อเวลาลมพอดีก็กางใบ และเรือก็จะแล่นไปตามความประสงค์ หากว่ามีคลื่นก็ทอดสมออย่างนี้เป็นต้น ฉันใดก็ฉันนั้น บุคคลผู้ที่จะบำเพ็ญวิปัสสนาต้องพิจารณา แต่ว่าการพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ความเกิดแก่เจ็บตายนั้น ไม่ใช่ว่าจะให้พิจารณาไปตลอด ก็เหมือนกันกับเรือใบที่แล่นไปในทะเลนั้น ต้องไม่แล่นไปตลอด เมื่อเจอลมสลาตันหรือลมใหญ่ ต้องลดใบทันที มิฉะนั้นเรือจะคว่ำ ถ้าหากว่าเมื่อเวลาจอดไม่ทอดสมอ ถูกคลื่นตีมา เรือก็คว่ำ
เพราะฉะนั้นจึงเปรียบเหมือนกันกับผู้บำเพ็ญวิปัสสนา ผู้ที่จะบำเพ็ญวิปัสสนานั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาแล้วและกลับคืนมาหาความสงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็ยกออกไปพิจารณาซักครู่หนึ่ง แล้วก็ย้อนกลับคืนมาทำความสงบใหม่ ไม่ให้พิจารณาไปตลอดเวลานั่งสมาธิ เมื่อพิจารณาเช่นพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ร่างกายของคนเรานี้ เกิดมาก็หนุ่มสาว เกิดมาแล้วทีนี้ก็แก่ไป เมื่อแก่ไปแล้ว เนื้อก็เหี่ยว หนังก็ยาน ในที่สุดก็เกิดโรคภัยไข้เจ็บป่วยขึ้น นี่เค้าเรียกว่าเปลี่ยนแปร เปลี่ยนแปลง ต่อจากนั้นก็สิ้นลมหายใจก็เรียกว่าตาย เรียกว่าอนิจจัง มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ตายไป อย่างนี้คือการพิจารณาวิปัสสนา
เมื่อพิจารณาอย่างนี้สักครู่หนึ่งก็วางเฉย คือหมายความถึงว่า เราจะต้องตั้งต้นร่างกายอันนี้ไปตั้งแต่เด็ก และก็เป็นหนุ่มเป็นสาว และก็แก่ชรา และก็มีโรคภัยเบียดเบียน และก็ตายไป การพิจารณาอย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา แต่ต้องพิจารณาเพียงชั่วระยะ เหมือนกันกับเรือแล่นไปในมหาสมุทร เรือใบ เมื่อถึงเวลาลมแรงก็ลดใบลง ถึงเวลาอันสมควรก็ทอดสมออย่างนี้เป็นต้น
เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้วก็มาพิจารณาถึงความทุกข์ ความเกิดนั้นก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์อย่างนี้ เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว เราก็พิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปว่า มันทุกข์อย่างไร เช่นเมื่อเวลาเจ็บป่วยขึ้นมานี่มันทุกข์แค่ไหน เมื่อเวลาไม่มีสิ่งที่เราต้องการมันเกิดความทุกข์แค่ไหน เมื่อเราต้องการสิ่งใดไม่สมปรารถนามันทุกข์แค่ไหน ในเมื่อเวลาคนรักคนชอบของเราต้องตายไป เราทุกข์แค่ไหน อย่างนี้เค้าเรียกว่าทุกขัง คือความเป็นทุกข์ ย่อมจะต้องเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้วก็ชื่อว่าเป็นวิปัสสนาอีกส่วนหนึ่ง
อนัตตาคือความไม่ใช่ตัวตนนั้น เราต้องพิจารณาว่า อันร่างกายของเรานี้มันเป็นเพียงธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น ส่วนที่เป็นลักษณะแข็งก็เรียกว่าดิน ส่วนที่เป็นลักษณะอ่อนเหลวก็เรียกว่า น้ำ ส่วนที่พัดไปพัดมาก็เรียกว่า ลม ส่วนที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นก็เรียกว่า ไฟ มันเป็นธาตุทั้ง ๔ จึงไม่ใช่ตัวตนแต่อย่างใด ทั้ง ๓ ประการนี้มันเป็นเรื่องของการทวนกระแสจิต คนเรานั้นรักสวยรักงาม คนเรานั้นไม่อยากพูดถึงกองทุกข์ คนเรานั้นถือว่าเป็นตัวเป็นตนจริงๆ ไม่ใช่ว่าไม่ใช่ตัวตน นี่เราถือกันมา แล้วเราก็รู้จักกันมาโดยนัยนี้
แต่วิปัสสนานั้นเป็นส่วนที่ทวนกระแส คือทวนกระแสของโลก เมื่อเค้าว่าตัวตน วิปัสสนาก็ว่าไม่ใช่ตัวตน เมื่อเขาว่าเที่ยง วิปัสสนาก็ว่าไม่เที่ยง เมื่อเขาว่าเป็นสุข วิปัสสนาก็ว่าเป็นทุกข์อย่างนี้ ถ้าผู้ที่มาบำเพ็ญ พิจารณาแล้ว พิจารณาเล่า เรียกว่าพิจารณาหลายครั้งเหลือเกิน ครั้งแล้วก็ครั้งแล่า มันก็จะเกิดสิ่งหนึ่งขึ้นมา สิ่งนั้นก็คือวิปัสสนา
วิปัสสนานั้นมี ๙ ประการ นับไปตั้งแต่ นิพพิทาญาน มุญจิตุกัมยตาฌาณ ภังคญาณ เป็นต้น ญาณนั้นได้แก่ความหยั่งรู้หรือสิ่งที่พอเพียงแห่งความต้องการแล้วเกิดขึ้น เรียกว่าญาณ ในการที่พิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นนั้น ความเบื่อหน่ายเค้าเรียกว่า นิพพิทาญาณ ถ้าญาณใดเกิดขึ้นเหมือนกันกับนกกระทาที่อยู่ในกรง พยายามอยากจะเจาะรูกรง เรียกว่าสับกรงอยู่เรื่อย นั่นเรียกว่า มุญจิตุกัมยตาฌาณ หรือ วิปัสสนาญาณหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้น เห็นความเสื่อมสลายหมดเกลี้ยง ไม่มีอะไรเหลือ อย่างนี้เรียกว่า ภังคญาณ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็วิปัสสนาก็เกิดขึ้นกับเราแล้ว
แต่วิปัสสนาที่เกิดขึ้นนั้นพึงพากันเข้าใจว่า ไม่ใช่สำเร็จ ยังไม่สำเร็จ วิปัสสนานั้นเรียกว่าเป็นเพียงการกระทำอันหนึ่ง เพื่อที่จะให้เป็นการขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์ขึ้นตามลำดับ แต่ยังไม่ใช่ถึงขั้นสำเร็จ ถ้าขั้นสำเร็จนั้นจะต้องบำเพ็ญวิปัสสนาไปอีกให้เกิดนิพพิททาญาณนั้นนับครั้งไม่ถ้วน เมื่อบำเพ็ญจิตให้เกิดความเบื่อหน่ายหรือเกิดความที่มีจิตคิดอยากออกเหมือนนกกระทาที่สับกรงอยู่ หรือเหมือนกันกับมองเห็นหมดสิ้นทุกอย่าง อย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา ถ้าเกิดอย่างนี้ขึ้นมาก็จะต้องให้เกิดอย่างนี้ขึ้นไปตลอด
ผู้ที่จะบำเพ็ญวิปัสสนาอย่างจริงจังนั้น เขาจะต้องกำหนดให้รู้ว่า การทำจิตให้เกิดนิพพิททาญาณนั้นให้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราได้กำหนดจิตอย่างไร เราได้พิจารณาอย่างไร ให้จดจำเอาไว้แล้วก็ทำอย่างนั้นอีก ความนิพพิททาญาณก็จะเกิดต่อไปตามลำดับ อันนี้การที่จะพิจารณาให้เห็นเช่นนี้นั้น ด้วยอำนาจแห่งกระแส คือกระแสจิตที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้วนั่นเอง
ถ้าบุคคลบำเพ็ญให้เกิดขึ้นเช่นนี้ได้แล้ว บุคคลผู้นั้นก็จะได้ไปพบความรู้อันหนึ่ง ความรู้อันหนึ่งนั้น เป็นความรู้ที่เรียกว่าทวนกระแสจิต ผู้ที่มองเห็นความทุกข์คือร่างกายอันนี้ต้องแตกสลายไป ตัวผู้เห็นย่อมจะต้องมี การแตกสลาย การมองเห็นนั้นก็เหมือนกับไฟฉาย เมื่อเราฉายแสงออกไป ที่สำคัญที่สุดคือตัวไฟฉาย ตัวไฟฉายนั้นจึงจะชื่อว่าเป็นตัวต้นตระกูลหรือเรียกว่าเป็นตัวต้นทาง ถ้ามีไฟฉายอยู่แล้วจะส่องแสงสว่างเมื่อไรก็ได้ หรือเมื่อเราที่จะมองพิจารณาเห็นร่างกายทุกส่วน เห็นความแก่ความตาย เราก็ต้องทวนกระแสจิตว่าใครเป็นผู้เห็น ผู้เห็นนั่นแหละเรียกว่าเป็นตัวต้นตระกูล หรือเรียกว่าฐีติภูตัง
เมื่อเราทวนกระแสจิตมาถึงที่ตั้งของจิตได้นั่นเรียกว่าสำเร็จ คือสำเร็จขั้นหนึ่ง แต่จะเป็นชั้นไหนนั้นเราไม่ต้องไปสมมุติมันขึ้น แต่ถือว่าสำเร็จขั้นหนึ่ง การทวนกระแสจิตที่จะกลับคืนเข้ามาถึงที่ตั้งของจิตนั้นจะต้องทวนกระแสหลายครั้ง จึงจะทวนกระแสกลับคืนมาตั้งได้ เหมือนกับผู้ที่มองเห็นความแก่ความตายของร่างกายนี้ แล้วก็ทวนกระแสถามว่าใครเป็นผู้เห็นอยู่อย่างนี้ตลอด ก็จะถึงวันหนึ่ง วันหนึ่งเมื่อถึงจุดความเพียงพอแล้ว จะตกหนองอ้อ “อ้อ อยู่นี่เองหรอกหรือ” ถ้าถึงเช่นนั้นแล้ว เรียกว่าผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีบารมีสูง สามารถที่พบได้
ถ้าเมื่อพบได้แล้ว ผู้นั้นก็จะเจริญวิปัสสนาได้อย่างคล่องแคล่ว หรือหมายความว่าเป็นผู้จับไฟฉายได้ เมื่อจับไฟฉายได้อยากจะฉายเมื่อไรก็ฉายได้เมื่อนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องของวิปัสสนานี้จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการดังกล่าวมาแล้ว จึงจะเป็นวิปัสสนาได้ ถ้าบำเพ็ญวิปัสสนาได้แล้ว ที่สุดถึงที่สุด จะมีสิ่งที่เกิดขึ้นถึง ๗ ประการด้วยกัน สิ่งที่จะปรากฏถึง ๗ ประการนั้นคือวิสุทธิ ๗ ประการ
วิสุทธิ ๗ ประการนั้น นับมาตั้งแต่หนึ่ง จิตตวิสุทธิ สีลวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ ญาณะวิสุทธิ (ญาณทัสสนะวิสุทธิ) ปฏิปทาญาณทัสสนะวิสุทธิ ทั้ง ๗ ประการ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่หมายเหตุ ๑) นี้เรียกว่าความบริสุทธิ์ ๗ ประการ ความบริสุทธิ์ ๗ ประการที่จะเกิดขึ้นได้นั้น เกิดขึ้นได้จากวิปัสสนา และเป็นเครื่องหรือเป็นสัญลักษณ์ ที่จะบอกให้เห็นว่าได้ดำเนินวิปัสสนามาเข้าขั้นแล้ว จึงจะปรากฏวิสุทธิ ๗ ประการนี้ขึ้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ จิตตวิสุทธิ ก็คือความบริสุทธิ์ของใจ ความบริสุทธิ์ของใจนั้นคือการที่ทำสมาธิ ไม่ได้คิด คือไม่ได้คิดอยากจะไปอวดอ้างใคร หรือทำสมาธินี่เป็นกุศโลบาย หรือทำสมาธินี่เพื่อที่จะเอาไปอิงอ้างอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตผู้ที่เป็นจิตตวิสุทธินั้น ไม่มี ความที่ไม่บริสุทธิ์อย่างนี้ไม่มี ถ้าถึงขั้นนี้แล้ว จิตนั้นจะแน่วแน่ แล้วก็ไม่มีที่จะไปคิดร้ายแก่ใคร และไม่ได้คิดอาฆาตใครเป็นต้น เรียกว่าจิตตวิสุทธิ์ อันนี้เป็นสัญลักษณ์ของวิปัสสนา
และสีลวิสุทธินั้น ศีลนั้นจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องไปรับเอากับใคร จะเกิดวิรัติขึ้นมาในจิต หรือเรียกว่าสำเร็จขึ้นมาในจิตของบุคคลผู้นั้น เช่นจะไปฆ่าสัตว์ก็ฆ่าไม่ได้ เพราะว่าจิตมันถึงซะแล้ว ศีลมันบริสุทธิ์ด้วยสามารถแห่งสมาธิแล้ว คือใครจะบังคับให้ฆ่านั้น ฆ่าไม่ได้แน่ นี่เป็นความบริสุทธิ์ของศีล เกิดขึ้นมาเอง หรือใครจะไปบังคับให้ขโมยอย่างนี้ จะไปบังคับหรือจะไปฆ่าเอาชีวิตแล้วให้ไปขโมย ก็ทำไม่ได้ หรือการที่จะประพฤติผิดกาเมสุมิจฉาจาร ผิดประเวณี จะไปบังคับให้ทำย่อมไม่ได้ มันเกิดขึ้นมาในศีลในตัวเองอย่างนี้ หรือการที่จะให้ไปโกหกหลอกลวงใคร อย่างนี้ก็โกหกไม่ได้ หรือจะไปบังคับให้ดื่มกินซึ่งสุราเมรัยยาเสพติดอย่างนี้ ก็กินไม่ได้ เพราะว่าความบริสุทธิ์นั้นเกิดขึ้นมาจากวิปัสสนาแล้ว เพราะมามองเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นทำไม่ได้ ถึงแม้ว่าใครจะมาบังคับให้ทำก็ทำไม่ได้ นี่คือศีลเกิดขึ้นมาจากลักษณะของการเจริญวิปัสสนา ผู้ที่เจริญวิปัสสนาเข้าขั้น คือทำไม่ได้ทั้งห้าศีลที่จะล่วงละเมิดนั้น ทำไม่ได้ ท่านเรียกว่า สีลวิสุทธิ
จากนั้นก็เป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ คือความสงสัย ความสงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ พระธรรมมีจริงหรือไม่ พระสงฆ์มีจริงหรือไม่ สวรรค์มีจริงหรือไม่ นรกมีจริงหรือไม่ แล้วอมตธรรม วิปัสสนา หรือสัจธรรมนี่มีจริงหรือไม่ ไม่ต้องไปถาม คือไม่มีความสงสัยและไม่ได้คิดสงสัยเลย เพราะจะไปสงสัยไม่ได้ในเมื่อเค้ามองเห็นซึ่งสัจธรรม บังเกิดนิพพิททาญาณความเบื่อหน่ายขึ้นมาแล้ว เห็นจริงแจ้งประจักษ์ เพราะฉะนั้นความสงสัยจึงตัดไปได้เลย จึงเรียกว่ากังขาวิตรณวิสุทธิ
ญาณะวิสุทธิ คือความหยั่งรู้ ความหยั่งรู้นั้นคือนิพพิททาญาณที่เกิดขึ้น นิพพิททาญาณที่เกิดขึ้นนั่นแหละคือความหยั่งรู้ คือตัวญาณ เรียกว่าญาณะวิสุทธิ ไม่ใช่ไปคิดเบื่อเอา หรือไม่ใช่ไปคิดเดาเอาว่าชั้นจะเบื่อหน่าย หรือไปคิดเดาเอาว่า โอ้โห ชั้นนี่เป็นทุกข์ ไม่อยากจะออกอะไรแล้ว หรือฉันนี่คิดเอาว่า โอ้ ฉันพ้นทุกข์แล้ว ไม่ใช่คิดเอา แต่ว่าญาณนี้จะต้องเกิดขึ้นเอง เมื่อญาณเกิดขึ้นแล้วก็เป็นความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ญาณนึกญาณคิด ญาณะทัสสนะ นอกจากที่ว่าจะมีความหยั่งรู้แล้ว ก็ยังมีความเห็น คือนอกจากรู้แล้วก็เห็นด้วย หลับตาลงไปเห็นสัจธรรมไปเลย
ในที่สุดท้ายคือปฏิปทาญาณะ ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ทำด้วย รู้ด้วย เห็นด้วยทั้งสามประการเกิดขึ้นพร้อมกัน อย่างนี้เรียกว่าวิสุทธิ ๗ ประการ อันเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงผู้นั้น ได้ดำเนินวิปัสสนาเป็นผลสำเร็จขึ้นแล้ว ในเรื่องของสมถะก็ดี ในเรื่องของวิปัสสนาก็ดี ในเรื่องของวิสุทธิ ๗ ประการก็ดี ทั้งหมดนี้จะไปรวมกัน กลับกลายเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ องค์แห่งการตรัสรู้นั้นมีอยู่ ๗ ประการคือ โพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์คือองค์แห่งการตรัสรู้นั้นนับไปตั้งแต่ โพชฌงค์คือสติโพชฌงค์ ปีติโพชฌงค์ ปัสสัทธิโพชฌงค์ วิริยะโพชฌงค์ ไปจนกระทั่งถึงอุเบกขาโพชฌงค์ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่หมายเหตุ ๒) โพชฌงค์คือองค์แห่งการตรัสรู้นั้นต้องมีสติเรียกว่าความมั่นคงแห่งสติ ความมั่นคงแห่งสตินั้น สติจะต้องกำหนดอยู่ในอนิจจัง ในทุกขัง ในอนัตตาคือสตินั้นจะกำหนดอยู่ในไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา เมื่อสติกำหนดอยู่ในไตรลักษณ์ตลอดเวลา ก็เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ อันนี้เรียกว่าองค์แห่งการตรัสรู้ องค์แห่งการตรัสรู้นั้นคือการภาวิโต พาหุลีกโต สติสัมโพชฌงค์
โพชฌังโค สะติสังขาโต
ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ
โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา
สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา
ภาวิตา พะหุลีกะตา
ที่พระท่านสวดโพชฌงค์นั่นแหละ นั่นแหละคือองค์แห่งการตรัสรู้เรียกว่าเมื่อเป็นวิปัสสนาแล้วก็เข้ามาถึงโพชฌงค์ สตินั้นจะต้องอยู่กับอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ตลอด และเป็นผู้ที่วางอุเบกขาได้ ในเมื่อมีสิ่งที่มารบกวน จะเป็นสิ่งที่มาหลอกหลอนว่าเราได้สำเร็จบ้าง หลอกหลอนว่าเราได้ชั้นนี้ชั้นนั้นบ้าง สิ่งเหล่านี้มาหลอกหลอนไม่ได้ เพราะว่าเป็นอุเบกขาโพชฌงค์เสียแล้ว
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัตินั้นย่อมจะมีหนทางที่ทำให้เรารู้ ที่แสดงอันนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเรียกว่าปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรมที่แสดงมาวันนี้นั้น เป็นธรรมะชั้นสูง เรียกว่าสูงสุดของพระพุทธศาสนา และก็เป็นธรรมที่สมควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ถ้าเรายังไม่เข้าใจ เราก็พยายามฟังให้บ่อยแล้วเกิดความเข้าใจ เมื่อเข้าใจธรรมะปรมัตถ์นี่เมื่อไร จิตนั้นก็ถือว่าสูงแล้ว บุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้ที่ไม่มีการตกต่ำเป็นธรรมดา เรียกว่าปิดอบายภูมิได้โดยสิ้นเชิง การปิดอบายภูมิ อบายภูมิก็คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน สี่ประการนั้นเรียกว่าอบายภูมิ ผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนาเข้าขั้นแห่งปรมัตถ์นั้นย่อมปิดอบายภูมิทั้ง ๔ นี้ได้ ต่อไปก็นั่งสมาธิกันอีกซักพักต่อไป
หมายเหตุ ๑
วิสุทธิ 7 (ความหมดจด, ความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ, ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ ยังไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดมุ่งหมายคือนิพพาน — purity; stages of purity; gradual purification)
1. สีลวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งศีล คือ รักษาศีลตามภูมิขั้นของตนให้บริสุทธิ์ และให้เป็นไปเพื่อสมาธิ — purity of morality) วิสุทธิมรรคว่าได้แก่ ปาริสุทธิศีล 4 [160]
2. จิตตวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิตจนบังเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา — purity of mind) วิสุทธิมรรคว่า ได้แก่ สมาบัติ 8 พร้อมทั้งอุปจาร
3. ทิฏฐิวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะเป็นจริง เป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด — purity of view; purity of understanding) จัดเป็นขั้นกำหนดทุกขสัจจ์
4. กังขาวิตรณวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย, ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้แล้วจึงสิ้นสงสัยในกาลทั้ง 3 — purity of transcending doubts) ข้อนี้ตรงกับ ธรรมฐิติญาณ หรือ ยถาภูตญาณ หรือ สัมมาทัสสนะ จัดเป็นขั้นกำหนดสมุทัยสัจจ์
5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง คือ เริ่มเจริญวิปัสสนาต่อไปด้วยพิจารณากลาป จนมองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย อันเรียกว่าอุทยัพยานุปัสสนา เป็นตรุณวิปัสสนา คือวิปัสสนาญาณอ่อนๆ แล้วมีวิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น กำหนดได้ว่าอุปกิเลสทั้ง 10 แห่งวิปัสสนานั้นมิใช่ทาง ส่วนวิปัสสนาที่เริ่มดำเนินเข้าสู่วิถีนั่นแลเป็นทางถูกต้อง เตรียมที่จะประคองจิตไว้ในวิถีคือ วิปัสสนาญาณนั้นต่อไป — purity of the knowledge and vision regarding path and not-path) ข้อนี้จัดเป็นขั้นกำหนดมัคคสัจจ์
6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน คือ ประกอบความเพียรในวิปัสสนาญาณทั้งหลายเริ่มแต่อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ที่พ้นจากอุปกิเลสดำเนินเข้าสู่วิถีทางแล้วนั้น เป็นต้นไป จนถึงสัจจานุโลมิกญาณหรืออนุโลมญาณ อันเป็นที่สุดแห่งวิปัสสนา ต่อแต่นี้ก็จะเกิดโคตรภูญาณ คั่นระหว่างวิสุทธิข้อนี้กับข้อสุดท้าย เป็นหัวต่อแห่งความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล โดยสรุป วิสุทธิข้อนี้ ก็คือ วิปัสสนาญาณ 9 — purity of the knowledge and vision of the way of progress)
7. ญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ คือ ความรู้ในอริยมรรค 4 หรือ มรรคญาณ อันเกิดถัดจากโคตรภูญาณเป็นต้นไป เมื่อมรรคเกิดแล้วผลจิตแต่ละอย่างย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้นๆ ความเป็นอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันบรรลุผลที่หมายสูงสุดแห่งวิสุทธิ หรือไตรสิกขา หรือการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น — purity of knowledge and vision)
วิสุทธิ 7 เป็นปัจจัยส่งต่อกันขึ้นไปเพื่อบรรลุนิพพาน ดุจรถ 7 ผลัดส่งต่อกันให้บุคคลถึงที่หมาย โดยนัยดังแสดงแล้ว
หมายเหตุ ๒
โพชฌงค์ 7 (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ — enlightenment factors)
1. สติ (ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง — mindfulness)
2. ธัมมวิจยะ (ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่องสืบค้นธรรม — truth-investigation)
3. วิริยะ (ความเพียร — effort; energy)
4. ปีติ (ความอิ่มใจ — zest)
5. ปัสสัทธิ (ความสงบกายสงบใจ — tranquillity; calmness)
6. สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ — concentration)
7. อุเบกขา (ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง — equanimity)
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม