Skip to content

ธรรมเทศนา ๙ สิงหาคม ๒๕๒๓

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ต่อไปนี้จะได้บรรยายธรรมะเอามาเป็นเครื่องประดับสติปัญญาพุทธบริษัททั้งหลาย ยกไว้เบื้องต้นว่า อัคคัง ฐานัง มนุสเสสุ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ทุกๆคนแล้วก็เป็นผู้ที่มีบุญกุศลที่สร้างสมไว้ในชาติปางก่อน เกิดขึ้นมาบางคนก็ได้สร้างกรรมอันไม่ดี มีเป็นผู้บอดหนวกใบ้บ้าเสียจิตนานาประการต่างๆอย่างนี้ บุคคลผู้ที่ได้สร้างสมบุญมาดี ก็มีตาก็ดี มีหูก็ดี มีจมูก ลิ้น กาย ใจต่างๆนานาเป็นผู้ที่บริสุทธิ์หมดจดงดงามด้วยนานาประการ ทั้งยังแถมเกิดมาในตระกูลมั่งมีศรีสุขอย่างนี้ น้ำถึงปากข้าวถึงปากโดยไม่ได้เหนื่อยยากประการใดทั้งหมด นี่แสดงว่าบุพเพกตบุญญตาเราได้สร้างสมบุญมาดีแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้สร้างสมบุญมาดีอย่างนั้นก็สมควรแก่ที่จะบำเพ็ญความดีอันนั้นให้ประเสริฐยิ่งๆขึ้นไป เป็นเช่นนั้น 

แต่ว่ามนุษย์เราเกิดขึ้นมาในโลก เมื่อขาดการได้ยินได้ฟัง ขาดการอบรมสั่งสอนจากครูบาอาจารย์หรือธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเช่นนี้ มันก็ต้องเพลิดเพลินอยู่กับโลก เพราะมีบรรพบุรุษคือบิดามารดาเป็นอาจารย์สำคัญเป็นบุพพจารย์เป็นผู้ชักจูงแนะนำ เมื่อชีวิตผ่านในวัยเด็กขึ้นมาจนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาว บิดามารดานั้นก็ต้องการจะให้มีเหย้ามีเรือนสืบตระกูลอย่างนี้เป็นต้น เป็นธรรมดาของโลก เมื่อการสืบตระกูลอย่างนั้นก็เท่ากันกับว่านำทุกข์มาให้กับลูกเต้า แต่ว่าเป็นธรรมดาของโลกเพราะว่าบิดามารดานั้นเป็นผู้ที่มีความชำนิชำนาญในเรื่องโลก ไม่ตระหนักในธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่ใช่นักปฏิบัติจริงจังที่ได้เห็นธรรมที่ได้เกิดในดวงใจของตัวเองเช่นนั้น มันก็ต้องแนะนำลูกเต้าเข้าไปอย่างนั้น ไปสู่ความทุกข์ความยากความลำบากกังวลนานาประการ 

ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีดวงตาอันเห็นธรรม เห็นโลกเป็นสิ่งที่ร้อน เป็นสิ่งที่ความหมกมุ่นกระวนกระวายเดือดร้อนทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีความสงบสุข เพราะฉะนั้นพระองค์จึงได้ประทานธรรมะคำสั่งสอนให้บรรดาพุทธบริษัทเข้ามาประพฤติปฏิบัติ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ อย่างนักบวชอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นการเป็นนักบวชเรียกว่าสมณะ การบวชนั้นมาทุกวันนี้เราถือเป็นประเพณีกันซะแล้ว บวชเพียงสามเดือน สองเดือน สิบห้าวัน เดือนหนึ่งอย่างนี้ มันคล้ายๆกลายเป็นประเพณีไม่ใช่บวชหนีสงสารอย่างนี้ ถ้านึกถึงความบวชที่จริงอย่างหลวงตานี่ก็บวชตามประเพณีเหมือนกัน เป็นอย่างนั้น นึกว่าครบอายุแล้ว สมัย ๒๐ ปีนั้นก็มีงานแยะ ก็เลยบอกโยมอย่าเพิ่งบวชเถอะ ปีนี้งานเราแยะ เข้ามาถึงอายุ ๒๑ ก็เลยเข้ามาบวช บวชก็บวชไปอย่างนั้น นะโมตัสสะอะไรก็ว่าไม่ค่อยจะเป็น สวดมนต์ไหว้พระก็ไม่เป็นซักบท เข้ามาด้วยคนดิบ เหมือนไม้เข้าไปในเตาที่ไม่ได้รีดกิ่งรีดก้านเข้าไปอย่างนั้น ก็เลยเกะกะนานาประการต่างๆ ก็ได้มาอยู่เบื้องต้นกับท่านอาจารย์กงมา ท่านเป็นอาจารย์ผู้ปกครอง เหมือนท่านพ่อของเรา ในสมัยที่เข้าไปบรรพชาอุปสมบท ท่านเป็นพระกรรมวาจา เป็นคู่สวด ความจริงตั้งใจบวชก็เดือนสิบสองก็จะสึกเป็นอย่างนั้น (เทปขาดตอน) มีความหมายอยู่สำหรับพระหนุ่มคนหนุ่ม เป็นเช่นนั้นก็เกือบจะไปเกี่ยวข้องกับผู้หญิงเข้า เป็นเช่นนั้น ชีวิตหนุ่มมันก็ย่อมเป็นเช่นนั้น แต่ทีนี้อาศัยกัลยาณมิตรเป็นสิ่งสำคัญ คือในแบบท่านจึงว่าอเสวนา การคบค้าสมาคมนี่เป็นสิ่งสำคัญ ได้ครูบาอาจารย์ที่ท่านตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติแล้วท่านมีธรรมะในใจ ท่านก็แนะนำพร่ำสอนก็เลยบวชมาได้อย่างนี้ 

เพราะฉะนั้นการบวชนี่ถ้าแม้นว่ามองให้ลึกพิจารณาให้ซึ้งไปแล้ว มันไม่ใช่ของ (เทปขาดตอน)สมบัติของกษัตริย์ทีเดียว เพราะเราเป็นลูกศิษย์ตถาคต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น เป็นกษัตริย์เป็นผู้ที่มีศิลปะวิทยาการในนานาประการต่างๆเป็นผู้มีความสามารถทุกประการแม้จะวิชารบ นานาประการนี่พระองค์คล่องแคล่ว ศรมีอันหนึ่งศรโบราณอันนั้น ไม่มีบุคคลใดที่สามารถจะยกขึ้นได้ พระองค์ก็สามารถจะยกศรอันนั้นยิงไปได้เลยเพราะยกด้วยกำลังอย่างมหาศาลของพระองค์เป็นเช่นนั้น เป็นผู้ที่มีความสามารถฉลาดคล่องแคล่วทุกๆประการ แต่ว่านิสัยสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์จะได้บำเพ็ญโปรดเวไนยสัตว์ที่ได้สั่งสมบารมีแต่ชาติมาแล้ว 

ก็ได้มาเกิดเป็นกษัตริย์อย่างนั้นก็ได้เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความเบื่อหน่ายไปเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายอย่างนี้ ก็เกิดความเบื่อหน่ายว่าสิ่งที่ไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายนี่ไม่มีรึ นี่เป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็พระองค์เบื่อหน่ายอย่างนั้นก็คิดจะหาทางที่จะบรรพชา หาออกไปบำเพ็ญธรรมะเป็นเครื่องจะหนีจากโลก เมื่อคิดอย่างนั้นเป็นที่ตกลงแน่นอนก็เลยหนีออกไปบวช ไปบำเพ็ญตบะอยู่หกเดือน หกปีจึงได้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณและได้วางสิกขาธรรมวินัยไว้ให้พระสงฆ์ทั้งหลายสืบเนื่องมาจนถึงพวกเราทุกวันนี้ 

ธรรมะของพระองค์นั้นเป็นของจริงเป็นสัจธรรมอันแน่นอน เรียกว่าทุกข์อย่างนี้ รูปัง อนัตตา เวทนา อนัตตา สัญญา อนัตตา สังขารา อนัตตา วิญญาณัง อนัตตาอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าตัวของเรานี้แหละเป็นอนัตตา เวทนาก็ว่าเป็นอนัตตา สัญญาก็อนัตตา สังขารก็เป็นอนัตตา วิญญาณก็เป็นอนัตตา เป็นเช่นนั้น เป็นของไม่จริงไม่จีรังยั่งยืน ไม่เป็นสาระแก่นสารเพราะพระองค์เป็นผู้ที่ฉลาดได้คบคิดได้พิจารณาสภาวะตามความเป็นจริงสิ่งที่ไม่ตาย ในแบบแผนท่านจึงว่าไปประจักษ์คือได้ประสบพบพระนิพพานคือเป็นสิ่งที่ไม่เกิดแก่เจ็บตายอย่างนั้น ก็พระองค์พบอย่างนั้น เห็นทางอันนี้เป็นยอดแห่งความสุข ไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะมาเทียมเท่า 

เราว่าสิ่งใดในโลกเป็นสุข พระองค์ได้เสวยได้ทดลองได้กระทำมานานาประการต่างๆแต่ไม่เห็นเป็นความสุขอันยั่งยืน ไม่เหมือนกับทำใจให้บริสุทธิ์อย่างนั้น จึงได้วางศีล สมาธิ ปัญญาให้ประชาชน ไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างนี้เป็นต้น ไม่ให้ลัก ไม่ให้ขโมย นานาประการ วางศีลไว้เพื่ออุบาสก อุบาสิกา วางศีลไว้สำหรับผู้รักษาอุโบสถ อดข้าวเย็น เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ แล้วก็วางสิกขาบทให้สามเณรอย่างนี้ ภิกษุ จนกระทั่งสืบเนื่องมาถึงเราจนทุกวันนี้ ก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ท่านเป็นบรรทัดฐาน เป็นผู้ที่หยิบยกธรรมวินัยขึ้นมา เอามาสั่งสอนพวกเรา สืบเนื่องมาจนถึงท่านอาจารย์ ผู้ที่มรณะใส่โลงไปอย่างนี้เป็นต้น แล้วก็สืบเนื่องมาจนถึงพวกเราที่นั่งภาวนาอยู่ในที่นี้ 

นี่ ก็ได้อาศัยธรรมะอันนั้นเอง อยู่กันอย่างนี้เป็นคนจำนวนหลายร้อยก็อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เพราะอยู่กันด้วยความเมตตาอยู่กันด้วยศีลด้วยธรรมจึงมีความสุข ถ้าอยู่ด้วยกันไม่มีความสุขก็ต้องทะเลาะวิวาทแก่งแย่งซึ่งกันและกัน นี่ เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นธรรมะเป็นสิ่งที่ร่มเย็น อันใดๆก็ไม่เท่า ทรัพย์สินเงินทองเรือกสวนไร่นาจะเอามาเป็นความสุขไม่ได้ นั่นเป็นเพราะหัวใจของเราไปหมายเท่านั้น ถ้าว่าถึงความสุขที่แท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าคือความสงบนั่นเองเป็นยอดของความสุข เพราะฉะนั้นเราทำอย่างไรจึงจะเห็นความสุขอันแท้จริงของใจ นี่ มันเป็นปัญหา เป็นสิ่งที่น่าคิด เป็นสิ่งที่น่าพินิจพิจารณา 

ถ้าคนเขลาเบาปัญญาเห็นคนเค้าทานเงาะอย่างนั้น ไม่รู้หรอก ฟาดเข้าทั้งเปลือกทั้งเม็ด ขย้ำๆเข้าไปก็กลืนโดยไม่ได้พินิจพิจารณามันก็คาคอ ส่วนคนที่มีปัญญาก็ต้องแกะเม็ดออก แกะเปลือกออก แล้วจึงทานเข้าไป มันก็มีรสหวานชุ่มชื่นหัวอกหัวใจ โลกว่าอย่างนั้น นี่เหมือนกันธรรมะ สิ่งที่เราจะได้รับความแจ้งประจักษ์ขึ้นในตัวเราก็ต้องอาศัยวิริยะความพากความเพียร เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเมื่อขาดวิริยะความพากเพียรแล้ว ธรรมะนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะธรรมะเป็นของจริง บุคคลที่จะเข้าไปรู้ของจริงนั้น อย่างการทำสมาธิก็จำเป็นจะต้องปลดเปลื้องอารมณ์ ที่เป็นอดีตอนาคตให้เหลือใจอันเดียว อยู่กับพุทโธ หรือธัมโม สังโฆบทใดบทหนึ่ง หรือมรณานุสติอย่างนี้เป็นต้น 

แต่ลักษณะใจเช่นนั้นที่ไม่ค่อยเคยฝึกหัด หรือไม่ค่อยเคยชำนิชำนาญในการกระทำ ในบั้นต้นเมื่อการบริกรรมอย่างนั้น ใจก็ต้องวอกแวกคิดไปในที่อื่นบ้าง เป็นธรรมดาของใจ เหมือนวัวควายที่เอามาเลี้ยงอยู่ ยังไม่เคยฝึกชำนิชำนาญก็ต้องดึงเชือกดึงพรวนจนขาดอย่างนี้เป็นธรรมดาเหมือนกับตัวเรา เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความกล้า ความอาจหาญ ความพากความเพียรอย่างนั้นจึงจะได้ประสบพบความจริง ธรรมะคำสั่งสอนพระพุทธเจ้าต้องอาศัยความจริงเกิดกับบุคคลผู้นั้น ไม่เห็นแก่ปากเห็นแก่ท้องไม่เห็นแก่หมอนไม่เห็นแก่เสื่อ นั่งตามสบาย ตั้งใจภาวนาอย่างจริงจังอย่างนั้นจึงจะประสบ 

อย่างมาดูถึงปฏิปทาท่านอาจารย์ของเรา ถ้าพูดก็ต้องบอกว่าเป็นปู่ใหญ่ อาตมาไปอยู่ได้ทั้งปีแล้ว กับสามปีเศษๆ กาแฟนี่มาสังเกตดูในระยะสามสี่ปีที่ไปอยู่สมัยนั้นก็ยังพอมีบ้าง น้ำตาลอย่างนี้เป็นปีๆไม่เคยได้กินเลย ฉันข้าวและก็น้ำเป็นปัจจัยสำคัญเท่านั้นเอง ต่างกันกับพวกเราอยากเวลาไหนก็ได้ก็กินได้เวลานั้น เพราะฉะนั้นมันต่างกัน ท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง จะต้องการสิ่งใดให้อยู่ตรงที่ใด ก็อยู่ได้ทั้งนั้นแต่ไม่เอา ต้องการเข้าไปอยู่ในที่กันดาร ขณะหนึ่งที่ปีสุดท้ายอาตมาจะกลับ เข้าไปอยู่ที่นาศรีนวลเหนือสกลฯเข้าไปหมู่บ้านราวๆซักประมาณ ๓๐ หมู่บ้านนั้นยากจน ทำไร่ทำสวนพวกพอประมาณอย่างนั้น ไร่นาก็มีนิดๆหน่อยๆเพราะติดเขา ไปบิณฑบาตรมาอย่างนี้ก็ไม่ค่อยมีกับข้าวที่จะฉัน อ้า! นึกแล้วปลงสังเวชสลดใจ ท่านก็อาพาธก็เพิ่งจะค่อยดีๆขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น เข้าไปอยู่ในที่นั้น เมื่อมานึกถึงทุกวันนี้แล้ว น้ำตาเกือบจะไหลออกมาทุกที นึกถึงท่าน ท่านมีคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นที่น่ากราบ น่าไหว้ 

สมัยนั้นหลวงตายังเป็นเด็ก อายุได้หกปี ยังไม่ได้ค่อยดูธรรมวินัยเท่าไหร่ เมื่อครั้นกลับมาจากนั้นแล้ว ได้เอาอุปสิกขากลับมาหาขันมาบวชตามหลักพระวินัยแล้ว จะหาสิ่งที่ไปติความบกพร่องในพระวินัยของท่านนี้ ดูเหมือนมันจะไม่มีเอาเลย ว่าอย่างนั้นเถอะ เพียบพร้อมไปด้วยนานาประการต่างๆ เป็นผู้ที่ตั้งใจสอนกุลบุตรจริงๆ ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ความเหนื่อยยากอย่างไรอย่างนี้ สู้อดทนเป็นผู้ที่มีแววตาอันฉลาดแหลมคมทุกชนิด สมกับว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ น่ากราบ น่าไหว้ น่ารัก น่าใคร่ ว่าถึงความรักแล้ว รักยิ่งกว่าพ่อแม่ของเราเป็นเช่นนั้น ที่อยู่กับท่าน บางวันไปนั่งเกือบน้ำตาหูไหล ไปนึกถึงบุญคุณพ่อแม่ บางทีท่านเทศน์แล้วอย่างนี้ เรานี่เป็นคนอกตัญญู ไม่ได้เคย…ก็เกือบจะนับหนได้ ถูเนื้อถูตัวให้บิดามารดานี้ เกือบจะไม่มีเลย มีบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ต้องใช้อย่างนี้ ส่วนเวลาที่เราไปอยู่กับครูบาอาจารย์นั้นต้องไปอาบน้ำ ถูเนื้อถูตัวถูแข้งถูขา ซักผ้าให้ทุกนานาประการต่างๆ ท่านเป็นผู้ที่มีความมัจฉริยะ แต่มัจฉริยะในทางที่ดี คือเป็นผู้ที่รู้ใช้ในอัฐบริขาร อย่างขาดอย่างนี้ไม่ใช่จะทิ้ง ต้องปะ ปะแล้วปะเล่า เป็นที่ผู้ปะมีความชำนิชำนาญ นี่ ประวัติของท่าน เป็นผู้ที่มีความสันโดษ เหลือที่จะคณานับในด้านการอัฐบริขาร ว่าถึงการปฏิบัติก็มีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญ น่าเป็นครูบาอาจารย์ 

เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวเรื่องเหล่านี้ไปก็เป็นการเนิ่นช้า หลวงตาก็จะพาว่าเรื่องการภาวนาบ้างนิดๆหน่อย เพราะฉะนั้นการเข้าวัด ฟังธรรม จำศีลภาวนาอย่างนี้ เราก็ต้องใช้ความพากความเพียร เพียรอย่างไร เพียรนึกถึงความตาย อันนี้ก็สำคัญอันหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดความสังเวชสลดใจ นึกถึงความตาย อย่างการภาวนาอย่างนี้เราก็นึกถึง ความตาย ตายๆๆ อยู่ เมื่อเราว่าตายอยู่อย่างนั้นมันช้าไป มันยังคิดไปถึงบ้านถึงเรือนถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ นี่ เมื่อเราว่าอยู่ เราก็จำเป็นจะต้องว่าให้เร็วขึ้นเป็นลำดับ การว่าให้เร็วนั้นเพื่ออะไร ก็จะต้องการตัดของใจที่แลบไปคิดไปส่ายหาอารมณ์นั้นเอง นี่! ต้องรู้จักอุบายต้องให้เข้าใจอย่างนี้ ถ้าเราไม่เข้าใจ คืนหนึ่งๆ จิตก็จะไม่ลง จิตก็จะไม่สงบ เป็นเช่นนั้น การว่าบริกรรมอย่างนี้ไม่ใช่เป็นของต่ำ ใจนั้นก็ต้องอาศัยสิ่งที่ประคองไว้ ตั้งไว้กับวัตถุอันใดเราใช้สติคอยระมัดระวัง เมื่อมีสิ่งที่คอยระมัดระวังอยู่กับใจเช่นนั้นแล้ว ใจมันก็ไม่เผลอไม่ไป นี่! ฝึกอย่างนี้ จนให้จิตมันรวมไปอยู่กับที่ แล้วเราก็วางพุทโธ หรือวางการตายๆอย่างนี้ออกไปจากใจเรา ใจนั้นก็เป็นสุข ปราศจากความคิดความนึกความปรุงความแต่งใดๆทั้งหมด มีใจที่ตื่นตัวอยู่กับใจที่รู้เท่านั้น อยู่กับลมอย่างนี้เป็นต้น ความสัปหงกสัปเงยง่วงเหงาหาวนอนมันก็หายไป ใจผ่องใส ใจสะอาดหมดจด ใจเที่ยงตรง เราก็รู้สึกในขณะนั้น นี่ใจของเราเป็นสมาธิแล้วนะ เอ้อ น่าปลื้มปิติ เราได้สร้างสมกุศลมาดีจึงได้ทำใจให้เป็นสมาธิได้ นี่ เมื่อเป็นเช่นนั้น คืนนี้ก็รวมได้ตั้งชั่วโมง สองชั่วโมง คืนพรุ่งนี้ก็รวมได้อีก จนมีความชำนิชำนาญหลายๆคืนเข้าอย่างนั้น 

แต่ทีนี้ลักษณะของสมาธิ มันต้องมีอุปสรรคหลายอย่าง เสื่อม…ถ้ามีความกังวลต่างๆนานาอย่างนี้ สมาธิก็เสื่อมตั้งจิตไม่ได้อีก นี่ต้องแก้ มีหลายอย่างหลายชนิด เพราะฉะนั้นเรื่องของใจเป็นสิ่งที่ทรมานยากกว่าอะไรทั้งหมดในโลก เพราะฉะนั้นท่านต้องให้ใช้สติปัญญา เป็นเครื่องถอดถอนเป็นเครื่องแก้ใจ เพราะใจของเรานั้นชอบไหลไปตามอารมณ์ของหัวใจ ไม่มีที่จะหยุดจะหย่อน ให้คิดก็คิดได้ทั้งวัน ให้คุยก็คุยได้ทั้งวัน สนุกสนานร่าเริงต่างๆ นี่ ให้มีสติ มีปัญญาเข้าไปหักห้าม ถ้าเมื่อมีสติปัญญาเข้าไปหักห้ามอย่างนั้นแล้ว ใจก็หยุดคิด เมื่อใจหยุดคิด มันก็มีจำเพาะสติตั้งอยู่ที่ผู้รู้อันเดียวอย่างนี้ 

แต่ทีนี้เราต้องการให้สิ่งเหล่านี้เจริญขึ้น จะต้องทำอย่างไร นี่ เป็นปัญหาสำหรับนักปฏิบัติ เราเป็นลูกศิษย์อาจารย์ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณ แล้วเป็นสำนักปฏิบัติรู้กันทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นอันนี้ทางฝ่ายพระก็ดี ฝ่ายโยมก็ดี ฝ่ายแม่ชีก็ดี น่าคิดน่าพิจารณา ไม่ใช่หลวงตาขี้ติ ขี้ติแต่ขี้ติให้มันดี ต้องการให้มันดีให้มันเด่น ดีแล้วให้ดียิ่งๆขึ้นไป นี่ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตของเราเป็นสมาธิอย่างนั้น เมื่อเสวยสมาธิมากๆเข้าแล้วเสื่อมอีก ก็ต้องไปเจริญอย่างเก่าอีก นี่ ทำอยู่อย่างนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เพราะสมาธิเป็นสิ่งที่เสื่อมได้ 

ในโบราณกาล สามเณรอย่างนี้ก็สามารถเหาะได้เพราะอิทธิฤทธิ์ เป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิ เมื่อได้ยินสตรีร้องอยู่ในป่าอย่างนี้ เหาะเพลินไป ไปเพลินกับเสียงสตรีอันนั้นก็ตกลงมา แน่ะ! แล้วก็เลยได้ไปอยู่ด้วยกัน อยู่ด้วยกันเมื่อไม่มีอันจะกิน เข้าไปลักขโมย ลักขโมยเค้าก็…พนักงานเค้าก็จับไป จับไปก็โทษถึงประหารชีวิต นี่ จะเอาไปฆ่าเข้าตะแลงแกง อาจารย์นั้นเป็นผู้ที่มีญาณว่าสามเณรของเรากำลังถูกเข้าประหารชีวิต ท่านก็แสดงอิทธิฤทธิ์ไปให้ปรากฏทีเดียว เมื่อปรากฏอย่างนั้น สามเณรก็ได้สติขึ้นมา เจริญสมาธิขึ้น เกิดขึ้น ตรวนที่จองจำอย่างนั้นหลุด ลอยขึ้นไป เหาะหนีไปได้เลย 

เพราะฉะนั้นสมาธิมันเป็นเพียงแต่ที่ระงับดับชั่วคราวเท่านั้น ไม่เหมือนปัญญา เพราะฉะนั้นการที่ใช้ปัญญา ปัญญาอันนี้ก็ต้องใช้ความคิดนึก การพินิจพิจารณาอย่างนั้นเป็นต้น อย่างที่พวกท่านทั้งหลายได้เจริญสติปัฏฐานสูตรแสดงไว้ต่างๆนานาอย่างเมื่อกี๊อย่างนั้น ว่าถึงสมุทัย ว่าถึงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่! แสดงอย่างนี้ นี่ก็เหมือนกัน การภาวนาก็จำเป็นจะต้องใคร่ครวญพินิจพิจารณา เราก็รู้ของเรานี้เป็นสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบใจสิ่งที่สงวนแต่ทำไมไม่สมความปรารถนา ประเดี๋ยวเจ็บหู ประเดี๋ยวเจ็บตา ประเดี๋ยวไอ ประเดี๋ยวจาม ต่างๆนานาๆ เป็นไข้หวัด เป็นไข้มาเลเรีย สารพัด ทำไมเราบังคับไม่ได้ เราว่าเป็นตัวของเรา แล้วอะไรเป็นตัวของเรา นี่ ต้องใช้การค้นคว้าพินิจพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่าพิจารณาให้เหมาะ ให้มากๆขึ้น ในแบบก็อย่างเมื่อกี๊นะแหละ เพราะฉะนั้นเมื่อใจมันเข้าไปสงบอย่างนั้น เราก็จำเป็นจะต้องพิจารณาให้ละเอียดละออให้มีสติจดจ้อง แล้วใช้ความคิดอันนั้นท่านเรียกว่าปัญญา คิดอยู่อย่างนั้น เมื่อตาเมื่อเห็นรูป แล้วรูปนั้นเราว่าสวย รูปนั้นเราว่าแก่ รูปนั้นเราว่าคนหง่อม รูปนั้นว่าเด็ก นี่ต้องเอาพิจารณาอย่างนั้น ในแบบท่านก็ว่า รูปในที่ใกล้ รูปในที่ไกล รูปในอดีต รูปในอนาคต รูปในปัจจุบัน รูปตัวเราอย่างนี้ แสดงไว้หมดให้น้อมมาพินิจพิจารณาด้วยปัญญา นี่ เมื่อมีเวทนาก็ให้น้อมเวทนาเข้ามา พิจารณาลงไปอย่างนั้น 

นี่แหละ การปฏิบัติ เมื่อเป็นนักปฏิบัติถ้ายังไม่ผ่านการค้นคว้าพินิจพิจารณาแล้วจะรักษาตัวเป็นสิ่งที่ยาก รักษาตัวเป็นสิ่งที่ลำบากเพราะยังไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ หาที่พึ่งตัวเราเองยังไม่ได้ เพราะมันได้ประะทังชั่วครั้งชั่วคราวอย่างสามเณรท่านนั้น เมื่อไปเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส สัมผัสเข้าแล้ว มันก็เกิดความกำหนัดยินดีกับสิ่งเหล่านั้น ก็เสื่อม เพราะคลายจากสิ่งเหล่านี้ เลยเพลิดเพลินไปสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เจริญขึ้นอีก เป็นพระก็ต้องสึกออกจากพระ เป็นเณรก็ต้องสึกออกจากเณร เป็นชีก็ต้องสึกจากชีเพราะเกิดความกระสันต์ นี่ เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นต้องอาศัยปัญญาค้นคว้าพินิจพิจารณา เอาสิ่งที่เราเพลิดเพลิน (เทปขาดตอน) ให้มันคลายความกำหนัดยินดีกับรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสของหัวใจที่มันดิ้นรนอันนั้น พิจารณาเข้าไป ใจอันไหนมันยินดี รูปอันไหนมันสวย สวยตรงไหน งามตรงไหน มีหูมีขามีตีนมีมือมีอวัยวะต่างๆนานาตรงนั้น อันใดที่มันสวยมันงามก็ต้องเอามาพิจารณา มาใคร่ครวญอย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นนักปฏิบัติกล้าหาญชาญชัย ฝึกให้มากๆ ท่านบอก ภาวิโต พาหุลีกโต เจริญมากเข้าแล้วมันก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย 

เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัดยินดีกับสิ่งเหล่านั้น นี่! ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ ต้องอาศัยสติเป็นตัวสำคัญที่สุด กับปัญญาเป็นเครื่องค้น เป็นเครื่องตัดรอนหัวใจที่ดิ้นรนกระวนกระวายอันนั้นเอง เราจะไปตัดรอนที่อื่นไม่ได้เพราะฉะนั้นต้องอาศัยปัญญาค้นคว้าลงไป อันใดที่มันติด อันใดที่มันเพลิน อันใดที่มันสนุกสนานร่าเริง ต้องค้นเข้าไป ใครเป็นคนเข้าไปเพลิดไปเพลิน หัวใจอันนี้หรือ นี่ เมื่อค้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว ใจมันก็ไม่ไป ก็ขนาดที่มันจะดีเต็มที่อย่างนั้นใจมันไม่ไปที่ไหน ใจไม่วอกแวก ใจอยู่อารมณ์อันหนึ่งอย่างนั้น กับอารมณ์ที่เข้ามาพินิจพิจารณากับหัวใจอย่างนั้น อดีตก็ไม่ไป อนาคตก็ไม่ไป มีแต่ความรู้สึกที่เป็นปัจจุบันที่พิจารณาเดินไปไหนอย่างไรก็ได้คล่องแคล่วชำนิชำนาญอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วเร่งเข้าไปเต็มที่ ไม่ต้องเป็นอันหลับอันนอน ไม่หิว ไม่โหย ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่สัปหงกสัปเงยอย่างนี้ นี่ ทางแห่งที่จะเข้าไปถึง แห่งอริยมรรค เรียกว่ามัคโค อย่างค้นกายอย่างนี้ท่านก็แสดงว่า เอกายโน อยังมัคโค หนทางอันที่จะพ้นจากทุกข์นำไปสู่แดนแห่งวิวัฏฏะ นี่ต้องค้น 

แต่ว่าค้นอย่างนั้นลงไปอย่างนั้น จะเห็นความจริงอย่างไรละ นี่ อันนี้เป็นสิ่งที่ปัจจตังสำหรับนักปฏิบัติ อันนี้แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นคนที่ทำให้เราไม่ได้ บุคคลใดๆแม้พ่อแม้แม่หรือครูบาอาจารย์ก็ทำให้เราไม่ได้ เราจำเป็นต้องปฏิบัติของเราเอง เพราะมันอยู่ที่หัวใจของเรา ไม่ใช่ไม้ ใช่มือ อยู่ที่หัวใจเรา ต้องเน้น ต้องค้นคว้าพินิจพิจารณาอย่างนั้น เมื่อได้อุบายจากท่านแล้วก็ต้องนำไปค้นคว้าพินิจพิจารณาจนมันเกิดขึ้นกับใจเราเอง ประจักษ์ขึ้นกับใจเราเอง นี่ เราค้นคว้าพินิจพิจารณามันแค่ชัดอยู่อย่างนั้น สมาธิก็โผล่ เปลี่ยว ปราศจากอารมณ์ร่าเริง เข้มแข็ง ไม่กลัวเป็นกลัวตาย ไม่กลัวหิว ไม่มีหิวไม่มีโหย มีแต่ความอิ่มเอิบของสมาธิซาบซ่านอยู่อย่างนั้น ทั้งกลางวันกลางคืน นี่ เมื่อเป็นเช่นนั้นเข้าที่ครั้งใดเราก็เข้าไปกำหนดพิจารณาอย่างนั้น มันก็เห็นแจ้งเห็นชัด สว่างไสวขึ้น ขึ้นไปตามลำดับ เมื่อมันถึงที่ถึงตอนถึงฐานแล้ว ถึงโคนว่าอย่างนั้นเถอะ ในขณะจิตที่พิจารณาอย่างนั้นมันก็ต้องวางอารมณ์อันนั้น ไม่ใช่เรานึกวางเอาเอง ธรรมชาติอันหนึ่งเกิดขึ้นมาให้วางเองในขณะนั้น นั่น จึงเรียกว่าถึงผลอันบริสุทธิ์ จุดงานที่พิจารณาอันนั้น ยืนตัวอยู่โดดเดี่ยวคือหัวใจที่บริสุทธิ์หมดจด (เทปจบ)