Skip to content

แสงสว่างเหนือปัญญาไม่มี

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

เทศน์วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ลำดับต่อไปจะได้บรรยายธรรมะพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาพุทธบริษัททั้งหลาย บรรดาพวกท่านทั้งหลายได้เข้ามาประชุมสันนิบาตในที่นี้เพื่ออบรมทำจิตทำใจของตนให้หมดจดผ่องใส เพราะฉะนั้นวันนี้เป็นวันโอกาสของอาตมาที่จะต้องมาปุจฉาวิสัชชนาให้ท่านทั้งหลายฟัง หลวงตาก็ไม่ใช่เป็นผู้สันทัดในกรณีเหล่านี้ เพราะไม่ค่อยได้สันทัดในแบบแผนตำรับตำรา เพราะฉะนั้นว่าไปบางทีก็เข้าเหตุเข้าผล บางทีก็นอกลู่นอกรอยไม่เข้าทิศเข้าทาง เพราะฉะนั้นก็ฟังหูไว้หู เมื่อสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ของตนแล้วก็จงเก็บไปประพฤติปฏิบัติ

บรรดาเราทุกคนที่เข้ามาในที่นี้ ความมุ่งมาดปรารถนาของใจต้องการชำระใจของตน อันนั้นเป็นจุดใหญ่ เพราะเรามองดูหรือเราได้พิจารณาถึงภัยในวัฏสงสาร คือความเกิดแก่เจ็บตายในโลกนี้ อันนี้เป็นภัยใหญ่หลวงที่จะนำมาถึงเรา แล้วเราก็ไม่สามารถจะหนีข้ามจากมัจจุคือความตายตัวนี้ไปได้ เมื่อมามองเห็นภัยในวัฏสงสารตัวนี้อย่างนั้นแล้ว ความบากบั่นความเร่งพินิจพิจารณาใคร่ครวญถึงการปฏิบัติ เราต้องชั่งดูเรา 

ในระยะเข้าพรรษามาสิบสี่ สิบห้าวันอย่างนี้เป็นต้น การทำใจของเราวันหนึ่งเราทำกี่ครั้ง แล้วเกิดความสงบมัน แล้วนั่งนานขนาดไหน นี่อันนี้ควรจะต้องคิด ควรที่จะต้องพิจารณาในตัวเรา คือสมกับบาลีที่ท่านยกว่า นัตถิ ปัญญา สมา อาภา แสงสว่างทั้งหลายเสมอด้วยปัญญาไม่มี นี่ เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงว่าให้เราใคร่ครวญพินิจพิจารณา ระหว่างสิบสี่สิบห้าวันนี้ที่เราเข้าพรรษา ได้ทำจิตทำใจในเวลากลางค่ำกลางคืนเป็นอย่างไรบ้าง แล้วมีความรวมลงไปหรือเกิดความสงบอย่างไร เป็นแบบไหน ให้ใคร่ครวญชั่งดูจิตดูใจของเราอย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นการทวนถึงวาระที่เราจะต้องมาพิจารณาอย่างนั้น แล้วเมื่อเป็นอย่างนั้น สมมุติว่าใจไม่สงบ แล้วเราทำอย่างไร ใจจึงไม่สงบ นี่ อีกอย่างหนึ่ง แล้วทำอย่างไรใจจึงจะสงบเยือกเย็น ตั้งอยู่เฉพาะใจ ปราศจากนิวรณธรรมออกไปจากใจ นี่ประการที่สอง อันนี้ต้องชั่งดูพิจารณาดูตัวของเราที่เราประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น ต้องตรวจตราลงไป เพ่งพินิจพิจารณาลงไป เมื่อสิ่งใดที่มันยังบกพร่อง สมมุติเราทำมาซักสิบกว่าวันอย่างนี้ มันก็ไม่ได้รับความสงบ นี่ ทำไมเป็นอย่างนั้น แล้วเราทำอย่างไร ตั้งจิตไว้อย่างไร พิจารณาอะไรจึงใจนั้นไม่สงบ 

นี่เราก็ต้องทวนดู มองดูเข้ามาข้างใน อย่ามองดูข้างนอก มองดูข้างนอกมันไม่ค่อยสวย มองเข้ามาข้างใน ข้างในตัวเราแล้ว มันก็จะสวยงาม น่าดูน่าชม มองดูในนี้ เต็มไปด้วยสรีระ มีหมูเป็ดเห็ดไก่สารพัด หน่อไม้ สารพัด มันอยู่ในนี้เต็มที่ไปหมด เพราะฉะนั้นกินเข้าไปป้อนเข้าไปทุกวันๆ มันเสียไปเปล่าๆ ถ่ายออกไป เพราะฉะนั้นต้องให้มีประโยชน์อย่างนี้ ไหนๆชีวิตจะต้องตายจากพลัดพลากจากไปแล้ว เราก็ต้องแสวงหาความดี คือการทำใจนี่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงมาให้มีขันติ วิริยะ มีสัจจะ เหล่านี้เป็นต้น เป็นเครื่องทรมานใจ เป็นเครื่องบังคับใจ เป็นเครื่องดัดกิเลสของเรา อย่าให้มันดิ้นรนกระวนกระวาย วันหนึ่งอย่างในพรรษาอย่างนี้ ฉันจะขึ้นศาลาทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน นี่นั่งลงไปตั้งแต่พระท่านเทศน์ก็ประมาณราวๆชั่วโมงครึ่ง หรือไม่ถึงดี อย่างนั้นเป็นต้น บางองค์ท่านก็เทศน์นาน แต่หลวงตาไม่ค่อยมีปฏิภาณ ว่านิดๆหน่อยๆ ครึ่งชั่วโมงก็หมดแล้ว หมดพุงเป็นอย่างนั้น ไม่มีพุงจะเทศน์ ข้าวมันน้อย พุงไม่พอเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าก็ต้องพูดกันตรงไปตรงมาว่าอย่างนั้นเถิด ไม่ต้องอ้อมค้อมเล่นลูกไม้มากมันก็ลำบาก คนบางคนก็มีนิสัยอย่างนั้น บางคนก็มีนิสัยไม่อย่างนั้น มันต่างกันเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นอย่างการกระทำใจของเรานี่เราต้องตรวจดูทุกๆวัน ก่อนจะเข้ามาภาวนา วันนี้ก่อนขึ้นศาลา เมื่อตอนกลางวันเรานั่งภาวนารึเปล่า เราตรวจดูอย่างนี้ เราไม่ได้นั่ง ทำอะไรอยู่ แน่ะ ต้องติตัวเรา อย่าไปกังวลอย่างอื่น เข้าพรรษาหาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเรา หรือตั้งจิตตั้งใจให้นั่งสมาธิ วันหนึ่งเอาซักสองที อย่างนี้ เหมาะๆก็ครั้งละครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงหนึ่งอย่างนี้ เวลาเลิกจากทำวัดทำวา หรือก่อนขึ้นทำวัดทำวาบ่ายโมงเมื่อจำวัดแล้ว ไม่ใช่จะจำวัดทั้งวันอย่างนี้ก็ไม่ไหว มันก็แย่ เล่นเป็นหมูนอนอย่างนั้นก็ไม่ไหว ครืดๆๆอยู่เรื่อย เพราะฉะนั้นเนี่ยการเทศน์อย่างนี้ก็เป็นการเตือนหรือเกิดการให้สติ ก็หนักไปบ้าง อย่างนั้นก็ต้องขออภัย อย่าให้เป็นบาปเป็นกรรม เรากินข้าวหม้อเดียวกัน กระทะเดียวกัน แกงก็หม้อเดียวกัน มีสิ่งใดไม่ดีก็ต้องตักเตือนกันเพื่อให้เป็นประโยชน์กับหมู่คณะ หรือบุคคลผู้นั้นจะได้ประโยชน์ขึ้นมา ผู้เตือนนั้นเป็นผู้ที่หวังดีถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่าจะไปหยิบยก เอาแต่โทษเหม็นของคนอื่นอย่างเดียวเป็นอย่างนั้น ก็ความเตือนนั้นก็เตือนเพราะหวังให้ดี ให้เกิดประโยชน์กับผู้นั้น เมื่อไม่ได้ประโยชน์ผู้เตือนเค้าก็ต้องวางอุเบกขา มันเป็นอย่างนั้น เมื่อไม่ได้อย่างนั้นแล้วก็จะไปโกรธกริ้วใครเค้าก็ไม่ถูกหลักถูกการ นี่เป็นอย่างนั้น ว่าถึงใจจริงของบุคคลผู้ที่เต็มไปด้วยความเมตตาจะเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นการทำใจก็ได้บรรยายมาเหลือซาก เหลือที่จะฟังเป็นอย่างนั้น ไม่รู้จะหยิบยกอะไรมาพูด เป็นอย่างนั้น พูดไปกี่ทีๆก็เข้ามาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้ออกไปที่อื่น ธรรมะ กุสาธัมมา อกุสลาธัมมา กุศลก็ดี อกุศลก็ดี ตัวของเราเป็นผู้กระทำไม่ใช่บาปอันนั้นจะเข้ามาหาเรา อย่างจะไปฆ่ากันฟันกัน ฆ่ากันอย่างนี้ เราก็ต้องไปสร้างขึ้น ไม่ใช่เค้ามาสร้างให้เรา บางทีเค้ามาฆ่าเราก็มี อย่างนี้ มันก็อีกเรื่องหนึ่ง เราไม่ได้ฆ่าเค้า นี่ มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่า กุสลา ก็ดี อกุสลา ก็ดี เราต้องไปทำขึ้น บุญกุศลที่จะเจริญเมตตาภาวนาก็เหมือนกัน เรานี่ต้องเป็นคนเอาใจใส่ ตั้งใจจริงๆแล้วก็กระทำจริงๆ นี่ ทำไมคนอื่นเค้าทำได้สงบ แล้วเราทำไมทำถึงไม่ได้สงบ นี่ ต้องมีมานะ เรียกว่าอุตสาหะ มานะ อุตสาหะ พากเพียรพยายามตั้งจิตตั้งใจลงไปใหัมันแน่วแน่ลงไป นี่ เป็นอย่างนั้น เตือนอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี ให้เข้าไปถึงหูถนัดๆ อย่าให้เป็นหูจอบ หูบุ้งกี๋ไปหมด แล้วก็ไม่ค่อยได้เรื่องเลย มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นหูจอบ หูบุ้งกี๋แล้วมันก็ไม่รู้สึก ไม่ได้ซึมซาบ ดินจะไหลเข้าไป น้ำจะเทเข้าไปเท่าไรมันก็ไม่ซึมซาบ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัตินี้ก็เหมือนกัน เราเคยทำมาอย่างนั้นเป็นอยู่อย่างนั้น แล้วก็ไม่เจริญก้าวหน้า มีแต่ถอยหลัง เสื่อมด้อยลงไปอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เราจะทำอย่างไร นี่ อันนี้เราก็ต้องแก้ไข 

ทำอย่างไร ครูบาอาจารย์ก็เทศน์หลายองค์หลายอย่างนั้นอย่างนี้ พิธีพลิกแพลง นี่ อุบายอันใดที่จะเป็นไปเพื่อเกิดความสังเวชสลดใจกับใจของเราตัวนั้น ให้หยิบยกตัวนั้นมาว่ากล่าวลงในใจของเราอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาไม่ได้กระทำ เดินไปไหนมาไหนนึกขึ้นมาได้ ก็ต้องว่าสวดสังวัธยายในใจของเราอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ใจนั้นเมื่อถูกบีบบังคับขู่เข็ญอย่างนั้นแล้ว มันก็ต้องสงบ เหมือนอย่างเรานั่งภาวนานี่ก็เหมือนกัน ว่าบริกรรมอยู่เรื่อยอยู่ตลอดเวลา ตามธรรมดาคนเราชอบสบาย ชอบความใจเฉยๆไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง ว่ากำหนดแต่รู้ๆอยู่อย่างนั้น ไม่ได้คิดไม่ได้นึกไม่ได้ปรุงไม่ได้แต่งอะไร แล้วเมื่อเป็นอย่างนั้น เรากระทำอย่างนั้นมาหลายๆวันหลายๆเดือนหลายๆปี แล้วทำอย่างนั้นมันเกิดประโยชน์ขึ้นหรือมันเสื่อมลง หรือมันเจริญขึ้นอย่างนี้เราต้องใคร่ครวญ ต้องพิจารณาตัวเรา ต้องใคร่ครวญตัวเราว่ามันดีขึ้นหรือมันเป็นอย่างไร หรือมันยังทรงอยู่เก่า

เพราะฉะนั้นจึงว่าปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ จะต้องตรวจตรองพินิจพิจารณาใคร่ครวญติตัวเราเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อติไปอย่างนั้นแล้ว ใจมันก็จะมีความเข้มแข็ง มีความอาจหาญ เราจะนั่งนอนกินอย่างนี้เรอะ ภัยที่ไฟไหม้หัวอยู่ ร้อนอย่างอะไรอยู่นี่คือความตาย ความเกิดความแก่ความเจ็บความตาย จะต้องมาครอบงำเรา แล้วไม่รู้วันไหนลมเข้าแล้วไม่ออกก็ตาย ลมออกแล้วไม่เข้ามันก็ตาย มีอยู่เท่านั้นชีวิตของเรา นี่ เพราะฉะนั้นเมื่อมาพิจารณาเห็นภัยอย่างนี้แล้วก็ตั้งอกตั้งใจ อย่างบางองค์ท่านก็บอกให้บริกรรมมากๆ ว่าให้เร็วๆ เราก็ลองดูซักเจ็ดวันแปดวันอย่างนี้ มันคงเป็นผลหรือไม่เป็นผลก็เลิกไป อย่างนี้ มันกำหนดแต่รู้เฉยๆอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เรื่องได้ราว ประเดี๋ยวก็สัปหงกสัปเงย แล้วก็เป็นอยู่อย่างนั้นก็ไม่รู้จักจะแก้ไข แล้วคนเทศน์ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาเทศน์ ว่ามากเค้าก็ว่าด่า อ้ะ มันก็เป็นอย่างนั้น นี่เราต้องการจะแก้กัน เดี๋ยวก็สัปหงกเข้ามาอีกแล้ว ก็มันไม่แก้ไขมันก็เอาอย่างแบบเก่า เหมือนเห็นเค้ากระโดดน้ำลงไปตาย เราก็เห็นเข้าเราก็อยากตายก็กระโดดเข้าไปอีก มันก็ตายอีกคน ก็จมไปเลยว่ายน้ำไม่เป็น น้ำกำลังเชี่ยว นี่มันเป็นอย่างนั้น เราก็ต้องดูตัวเรา ทำไมมันช่างโง่เขลาเต่าตุ่นอย่างนั้น ไม่แก้ไขแล้วจะทำอย่างไร นั่น

ปล่อยให้ถีนมิทธะเข้าครอบงำ ตัวถีนมิทธะที่ครอบงำใจแล้ว ความเจริญของการบำเพ็ญไม่เกิดขึ้นเพราะเข้าแก้ตัวนี้ไม่ตก มันไม่เจริญ พอเข้าไปกี่ทีๆ ใจนั้นก็มันก็ชักอ่อนอกอ่อนใจไม่อยากนึกอยากคิด กำหนดความรู้อยู่เฉยๆ แล้วก็น้อยเข้าๆๆก็หมดไป หมดความรู้สึกเมื่อไหร่ ถีนมิทธะตัวนั้นครอบเข้ามาทันที อันนี้เป็นจุดสำคัญที่สุดของนักปฏิบัติ ถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ ไปทุกคน ไปไม่รอด ไปไม่รอดเลย ตายแน่ ตายแน่ตายนอน ตายด้วยความดีแต่ว่าไม่ตายอย่างที่เสียทางโลก ตายอยู่อย่างนี้ก็ยังดีกว่าไปสร้างบาปสร้างกรรมทางโลกทางสงสาร แต่ว่าก็ขาดมรรคขาดผล นี่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้อย่างนั้น ก็พยายามถอนขึ้นมาพินิจพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ท่านเรียกว่าปัญญาการค้นคว้าพินิจพิจารณาให้รู้ความจริง ปัญญาท่านทั้งหลายก็เข้าใจอยู่แล้ว เป็นปัญญารอบรู้กองสังขาร เมื่อรอบรู้ในกองสังขาร ก็จำเป็นจะต้องวางสังขารตัวนั้น ไม่ใช่แบกทะล่าเหมือนแบกขวานอยู่ มันก็หนัก นี่ รู้ตำราก็ต้องรู้หัวใจด้วย เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาลงไปในหัวใจ อันใดเป็นปัญญา อันใดเป็นอกุศล ต้องแก้อกุศล ทำลายอกุศลนั้นให้หมดไป หรืออย่างถีนมิทธะตัวนี้ก็จัดเป็นอกุศลเหมือนกัน แต่อย่างนี้มันบาดอยู่ข้างใน บาดในตัวเราเองไม่ไปกระทบกระเทือนคนอื่น แค่นั้น แก้ลงไปจนไม่มีถีนมิทธะ จิตใจนั้นก็โปร่ง จิตใจนั้นก็เป็นหนึ่ง เป็นเอกเทศอยู่อย่างนั้น เมื่อใจมันเป็นเอกเทศอยู่อย่างนั้นก็กำหนดพิจารณาลงไปที่ร่างกาย วันหนึ่งข้ากินอะไรเข้าไป ข้าทานอะไร ทานปลา ทานกุ้ง ทานหมู รำพึงไป แล้วออกมาเป็นอะไร ย่อยเข้าไปแล้ว ก็เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นเลือดเป็นดินเป็นน้ำเป็นไฟไปอย่างนั้นต่างๆนานา พรรณนาไปอย่างนั้น เมื่อพรรณนาอย่างนั้น ไอ้ถีนมิทธะความง่วงเหงาที่ความขี้เกียจขี้คร้านอย่างนั้นมันก็ต้องหายไป เพราะใจนั้นมันเกิดความร่าเริงบันเทิงกับไอ้สิ่งที่ไปค้นคว้าพินิจพิจารณาอย่างนั้น 

ทีนี้ถ้ามันเข้ามาอยู่ไม่ได้ มันเป็นข้าศึกกัน ถ้าเมื่อความขี้เกียจขี้คร้านกำหนดอยู่เฉยๆ ไม่คิดไม่นึกอย่างนี้ ถีนมิทธะมันย้อนตามเข้ามา ส่วนการค้นคว้าพินิจพิจารณาลงไปอย่างนั้นแล้ว ถีนมิทธะย่อมหายไป นี่เราต้องแก้ตรงนี้จุดสำคัญ นักปฏิบัติถ้าไม่แก้ตรงนี้ ตาย ไปไม่รอด ภาวนาไม่เป็นว่าตรงๆ ไม่เป็นเลย เป็นยังไงก็สัปหงก อย่าว่าเป็นแบบไหน เป็นไม่ได้ เป็นยังไงแก้ถีนมิทธะไม่ตกก็จะเป็นยังไง นักภาวนา นี่ต้องฟังให้ดีๆนะ ฟังให้มันเข้าถึงหู หูแล้วถึงหัวใจ อย่างนั้นมันถึงดี อย่างอาจารย์ตื้อท่านบอก หูบุ้งกี๋ หูกระทะ นี่ มันไม่ได้รสลิ้ม หูจอบ ไม่ได้ลิ้มรสอะไรเลย เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นว่ากันอย่างนี้เพื่อต้องการแก้ไขตัวนั้น เป็นจุดสำคัญของนักปฏิบัติ ยิ่งพระเราสำคัญที่สุด นี่เป็นอย่างนั้น 

ค้นลงไปซี่ อย่าให้อยู่อย่างนั้น อยู่อย่างนั้นมันสัปหงก เราต้องค้นลงไป อันใดที่เราต้องการจะค้น เดินลมก็เดินเข้าไป เพ่งจากหน้าผากลงไปถึงปลายตีน เพ่งจากปลายตีนขึ้นมาถึงหน้าผาก ลงไปเบื้องซ้ายลงไปเบื้องขวา เดินไปข้างหน้า เดินไปข้างหลัง อย่างนี้แล้วจะง่วงอย่างไร ง่วงไม่ได้ นักอานาปาก็จำเป็นจะต้องเอาแบบนี้ มันจะง่วงมายังไงอ้ะ สัปหงกจะเกิดขึ้นอย่างไร ไม่มีเลย หลวงตาลองมาหมด ลองมาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะมาสอนแบบนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ตรงนี้ให้มันตก พูดอย่างนี้เพื่อต้องการให้พวกเราดี ไม่ใช่ติให้เสีย ดีแล้วก็จะไปว่าเสีย ไม่มีธรรมเนียมอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องแก้ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ อย่านิ่งนอนใจอยู่ นอนใจอยู่ไม่ได้ วันเวลามันจะหมดไปๆๆทุกวันๆ ชีวิตเรานี่ดูปุบๆปับๆสิบห้าวันแล้ว อีกสองเดือนครึ่งก็จะออกพรรษา เพราะฉะนั้นการสร้างความดีจะต้องบากบั่นเร่งลงไปให้มันเต็มที่ อย่างในพุทธกาลอย่างนี้ ท่านตั้งสัจจะอธิษฐานในพรรษาต้องบำเพ็ญความพากความเพียรเต็มที่ บางองค์จนได้สำเร็จ บางองค์เท้าแตก บางองค์ตาแตกถือเนสัชชิก อย่างจักขุบาลอย่างนี้ ตาแตก เป็นอย่างนั้น เราก็เหมือนกันเมื่อจิตใจมันยังไม่ดีแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งก็ต้องเข้มแข็งต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ สิ่งใดที่มันทับตัวเราก็ต้องแก้ตัวนั้นให้ออกไป นี่ มันเป็นอย่างนั้น จึงเรียกว่าเราเป็นผู้ได้รับการศึกษาดี นี่ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีอะไรก็ค้นในจิตในใจ ใจชอบเพลิดเพลินอะไรก็เอามาใคร่ครวญ เพลิดเพลินรูปรึ รูปตรงไหนมันสวยตรงงามที่แก้มที่หูที่จมูกที่ลิ้นที่กายตรงไหนทุกส่วนทุกของร่างกาย ตรงไหนมันสวยมันงาม ซ้อมเข้าไปอย่างนี้ อะไรมันสวยมันงาม แล้วก็ทวนกลับมาใครเป็นคนว่าสวยว่างาม มันเกิดจากที่ไหน 

นี่ ลักษณะของปัญญาต้องค้นอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ แต่บางท่านไม่เข้าใจก็หาว่า การค้นอย่างนี้เป็นลักษณะของการฟุ้งซ่าน แน่ะ ที่พูดอย่างนั้นแสดงว่าผู้นั้นไม่เป็นเลย! ว่าเจ็บๆซักที ลักษณะของปัญญาจำเป็นต้องค้นคิด คิดค้นอย่างละเอียดละออ คิดเต็มที่ คิดซักไซ้ไล่เลียงจนไม่มีอะไร ใจผู้นั้นไปว่าอันใด เกิดที่ไหน กำหนดดูอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น สภาวะธรรมอันที่เป็นความเป็นบริสุทธิ์นั้นไม่มีเขยื้อนไปไหน อยู่จำเพาะที่อย่างนั้น ลักษณะตัวค้นคว้าพิจารณานั้นเป็นเพียงเหตุเท่านั้น ก็จะนำมาซึ่งความวิสุทธิธรรมของใจเท่านั้นเอง เมื่อพิจารณาตกลงไปเต็มที่แล้ว ปล่อยวางหมดเรื่องการค้นคว้าพินิจพิจารณา ในนามธรรมตัวนั้นขาดจากหัวใจ ใจที่เป็นวิสุทธิธรรมนั้นแยกออกมาเต็มที่ ไม่มีสิ่งใดเจือปน นี่ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติต้องอาศัยการค้นคว้านี้เป็นหลักสำคัญ ถ้าขาดการค้นคว้าแล้ว เป็นไปไม่ได้ มัวแต่ให้ใจสงบอยู่อย่างเดียวอย่างนั้น นั่นหนักไปในเรื่องสมาธิ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการค้นคว้าพินิจพิจารณานี่ เป็นหลักสำคัญที่สุด 

เพราะฉะนั้นในอนัตตลักขณสูตร ท่านแสดงถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ปัญจขันธ์ ๕) เที่ยงหรือไม่เที่ยง…ไม่เที่ยง ใช่ตัวตนเรามั้ย…ไม่ใช่ตัวตนเรา แล้วไม่ใช่ตัวตนเรา ควรเข้าไปยึดถือมั้ย…ไม่ควรยึดถือ ไล่เรียงลงไปทุกชิ้นทุกอันจนกระทั่งจบของปัญจขันธ์ทั้ง ๕ แล้วก็ไปลงบาทท้ายคาถาว่าอย่างไร แสดงว่า เอวะ เมตัง ยถาภูตัง สัมมัปปัญญายะทัฏฐัพพัง พึงรู้เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา นั่น ปัญจขันธ์ ก็มีหน้าที่ตั้งอยู่อย่างนั้น ถ้าปัญญาเข้าไปรู้ความจริงแล้วมันก็แยกตัวออกมา ใจจะถึงวิสุทธิธรรม ใจก็เหลือเฉพาะใจดวงเดียว ขันธ์ก็สักแต่ว่าขันธ์ นี่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาให้จริงแล้ว ย่อมประจักษ์กับตัวเรา ไม่หนีไปที่อื่น ขอแต่ให้จริงลงไปเท่านั้น ไม่ต้องไปค้นในตำรับตำราที่ไหน ค้นในตัวของเรานี่ให้แจ้งชัดไว้ บริสุทธิ์อยู่ที่ใจตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าใจมันได้เห็นจริงแล้ว ไปเปิดตำรามันก็ตรงเป๊ะ ไม่มีผิดเลย แน่ะเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเนี่ยวันนี้แสดงธรรมพอเป็นคติได้น้อมนำไปพินิจพิจารณา สิ่งใดที่เราบกพร่อง สิ่งใดที่ไม่ดีก็ต้องแก้ไขในเรื่องการภาวนาของเราให้มันเจริญรุ่งเรืองผ่องใสขึ้นมาในจิตในใจของเรา ต่อนั้นไปก็จะได้บังเกิดความสุขความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังได้แสดงมา สมควรแก่กาลเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้