Skip to content

รูป อนัตตา

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

| PDF | YouTube | AnyFlip |

บัดนี้จะได้บรรยายธรรมะพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาพุทธบริษัททั้งหลาย ต่างคนต่างได้ฟังจนชินหู การเข้ามาปฏิบัติธรรมะเพื่อชำระใจของตน ชำระใจของตนให้เกิดความสงบ ใจหรือว่าจิตอันนั้นมันก็เหมือนอย่างเกิดความทุกข์ขึ้นเราก็รู้ เป็นสุขก็รู้ เจ็บในร่างกายอันใดอันหนึ่งอย่างนี้เราก็รู้ แต่เราไม่เห็นตัวรู้อันนั้นชัด อย่างที่เราเข้ามาปฏิบัติอย่างนี้ ก็ต้องการจะต้องให้รู้ตัวรู้ตัวนั้นเอง ทีนี้ท่านจึงสอนให้ภาวนาเพราะว่าธรรมดาของใจมันต้องให้สงบ อย่างเราลองกำหนดหยุดลมหายใจแล้วก็อย่านึกไปไหนอย่างนี้ ใจคือผู้รู้หรือเรียกว่าจิตอันนั้นจะตั้งอยู่ตามธรรมชาติอย่างนั้น จิตจะตั้งอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่มีกิริยาไปกิริยามา มีหน้าที่เรียกว่า ฐีติ ตั้งอยู่เฉยๆอย่างนั้นของจิต มีอันใดเกิดขึ้นก็รู้อย่างนั้น ทีนี้พิธีที่จะฝึกหัดต้องการให้เป็นอย่างนั้นก็จึงว่าให้บริกรรมพุทโธหรือบริกรรมความตายอันใดอันหนึ่ง ในขณะที่เราบริกรรมอย่างนั้น ใจเรามันก็รู้ว่าเราว่าพุทโธ นี่ นั่นแหละ ตัวนั้นตัวที่อยู่ข้างหลังคือตัวอยู่ที่รู้อยู่อย่างนั้น รู้ที่เรานึกอยู่กับพุทโธ อย่างนั้นเรียกว่าจิตแท้ แต่เรายังจับไม่ได้ เรายังไม่เห็น คือเห็นอันนั้นท่านเรียกว่าทัศนะ ญาณะแปลว่ารู้ รู้ว่าจิตของเราอยู่กับพุทโธแต่ทัศนะอีกอันหนึ่งยังไม่เกิดขึ้น นี่ มันยังไม่พร้อม คือ ญาณะ ญาณะทัศนะในแบบท่านว่าอย่างนั้น ทัศนะตัวนั้นเห็น เห็นว่าจิตอยู่ จิตอยู่เป็นปกติ จิตอยู่กับพุทโธ เรารู้อย่างนั้นแต่ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นมันยังไม่ชัด การเข้ามาฝึกหัดปฏิบัติอย่างนี้ก็ต้องการจะต้องให้เห็นคือผู้รู้ตัวนั้นเอง 

อย่างพระท่านสวด รูปัง อนัตตา แล้วท่านก็ถามว่ารูปนี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นทุกข์พะเจ้าค่า ก็โอปนยิโกน้อมมาสู่เรา รูปของเราก็เหมือนกันอย่างนั้น นั่งนานก็เจ็บหลัง เมื่อยก้น นอนมากก็หลังแข็ง นี่ มันเปลี่ยนไปต่างๆนานา แล้วท่านถามว่าเมื่อรูปนั้นน่ะ เมื่อไม่เที่ยงแล้วมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อ้ะ พระปัญจวัคคีย์อย่างที่สวดเมื่อกี๊เค้าบอกว่าเป็นทุกข์พะเจ้าค่ะ พระพุทธเจ้าก็เทศน์สอนปัญจวัคคีย์ แต่ทีนี้เราน้อมโอปนยิโก บทที่สวดนี้เป็นสิ่งที่สวยงาม เป็นธรรมะอันสูง สูงที่สุด พอเทศน์จบลงไปอย่างนั้น ปัญจวัคคีย์ก็ได้สำเร็จสิ้นอาสวกิเลส ถามลงไปว่า รูปเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ แล้วเที่ยงมั้ย ก็บอกว่าไม่เที่ยง แล้วมันใช่ตัวเรามั้ย ก็บอกว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวเราควรยึดถือมั้ย ไม่ควรยึดถือ ดูซิ เนี่ยในแบบท่านแปลไว้ละเอียดละออ หลวงตาไม่ค่อยได้ดู ฮื้อ คิดประมาณไปอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นจึงว่าน่าสรรเสริญ ที่พระองค์เอามาคิดเอามาเทศน์สอนอย่างนี้ ไม่ใช่นอกจากตัวของเรา อยู่ในตัวเรานี่ทั้งหมด เพราะพระองค์ก็มีปัญจขันธ์อย่างพวกเรานี่ ท่านได้พิจารณาจนละเอียดละออเรียบร้อยลงไปทุกชนิดเป็นอย่างนั้น พิจารณาจนกระทั่งไม่เที่ยงเป็นทุกข์ แล้วอะไรมันเที่ยง อะไรมันเป็นทุกข์ ท่านพิจารณาค้นคว้าละเอียดละออหมด รูปในอดีต รูปในที่ใกล้ รูปในที่ไกล รูปหยาบ รูปละเอียด ว่านี่พิจารณาแหลกหมดว่าอย่างนั้นเถอะ พิจารณาจนได้รู้ความจริงอย่างนั้นว่าเป็นของไม่เที่ยงจริงๆของเราอันนี้ ประเดี๋ยวก็จะต้องแตกดับทำลายลงไป เนี่ย ท่านตรวจค้นจนละเอียดละออจนเรียกว่าเป็นสัพพัญญู เป็นผู้รู้ รู้แจ้งโลก โลกก็คือในมนุษย์เราเนี่ยตัวเราเนี่ยเป็นโลกอันหนึ่ง  

เพราะฉะนั้นอย่างการภาวนาก็เหมือนกัน ให้ค้นลงไปในกายของเราเนี่ย ไม่ต้องไปดูที่อื่น ความสุขความทุกข์ความเดือดร้อนความวุ่นวายมันอยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่หัวใจของเราที่มันไม่เป็นปกติ มันไม่รู้ตัวอันนั้น ต้องค้น เมื่อใจมันสงบแล้วมันต้องค้นลงไป ค้นลงไปอย่างนั้น ทำไมเจ้าไม่สงบ มันเป็นเพราะเหตุอันใด จึงเดือดร้อน จึงวุ่นวาย เราก็ต้องเอามาค้นเอามาคิด ก็ต้องนึก ไม่ใช่ไม่นึก แต่พวกใหม่ที่มาฝึกใหม่ก็ไม่ค่อยเข้าใจ ทีนี้พวกแก่ๆสิ มันไม่ใช่แก่มะพร้าว คนแก่ฟักแก่แฟงมันก็ไม่อร่อย เดี๋ยวก็เน่า เพราะฉะนั้นต้องสติ แก่ฟักแก่แฟงมันไม่มัน ไม่เหมือนมะพร้าวนะ โยม ทีนี้ต้องมันๆหน่อย เผ็ดๆหน่อยมันจึงแซบ เค้าว่างั้น

เมื่อใจมันสงบแล้วเราก็ต้องค้นคว้าพิจารณาให้ละเอียดละออ ไหนเราว่าตัวเรา ตารึ ค้นลงไป หูรึ จมูก ตรงไหนอ้ะ แข้งขามือตีน อวัยวะส่วนไหนเป็นของๆเรา นี่อย่างนี้ต้องคิดลงไป หัวรึว่าเรา หูรึ อะไร พิจารณาลงอย่างนี้เอง ไม่ต้องไปค้นอย่างอื่น เมื่อค้นอย่างนี้แล้ว ก็ถามไปๆๆ ค้นไปอย่างนั้น เมื่อใจมันประกอบด้วยสติปัญญาแล้ว มันจะเป็นหนึ่งอยู่เฉพาะในเรื่องอันนั้นอันเดียว มันไม่ไปที่อื่น คำว่าหนึ่งในที่นั้นที่เดียวนั้นหมายความว่านึกในสิ่งนั้นอยู่ได้อย่างนั้น แล้วก็นึกส่วนใดไปอีกก็นึกได้อย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา คือจุดนั้นหรือเรียกว่าอารมณ์นั้นไม่มีเข้ามาแทรกในขณะที่เรานึกอย่างนั้น นี่ลักษณะนี้เรียกว่า ลักษณะการภาวนาที่เข้าเอง 

เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว นั่นแหละเป็นแนวทางอันที่จะนำมาซึ่งความรู้แจ้งรู้ชัด รู้เพื่อความดับทุกข์ อย่างท่านแสดงกับปัญจวัคคีย์อย่างเมื่อกี๊ที่สวดนั้นน่ะก็ลงบาทคาถา เมื่อถามหมดแล้ว พวกปัญจวัคคีย์ก็บอกว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของๆเรา แม้ในที่อดีตที่ใกล้ที่ไกล ที่ละเอียดหยาบ และสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นเกิดขึ้นและดับไปทุกชนิด แล้วเมื่อถามไปอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวเรางั้นควรยึดถือมั้ย แน่ะ เอาหละ ไม่ควรพะเจ้าค่ะ อย่างนั้นไม่ควรยึดถือแล้วมันใช่ตัวตนมั้ย ไม่ใช่ตัวเรา แน่ะ ไม่ใช่ตัวเรามันก็ต้องแตกดับทำลาย นั่น เอาเข้าไปนั่น จนหมดที่จะตอบ

เมื่อเหมือนอย่างเราก็เหมือนกัน ค้นลงไปจนหมดที่ไป ค้นหมด ตา หู จมูก ลิ้น เคยเห็นรูปว่าสวยว่างาม ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ได้ยินเสียงอันนั้นไม่ดีอันนี้ดี อันนั้นไพเราะ เราก็ค้นลงไปใครเป็นคนว่าดีไม่ดี มันเกิดที่ไหน แล้วคนที่มันว่าดีไม่ดีนั้นมันจริงมั้ย นี่ ค้นลงไปอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น ใจมันตั้งแน่วอย่างนั้นแล้ว ค้นลงไปให้ละเอียดละออจนให้มันสุด ไม่มีความหมาย ค้นจนหาตัวไม่เจอะ อย่างนั้นหละก็เอาละ อย่างนั้นน่ะดี ค้นให้มากๆ ให้ไม่ต้องถอย เพราะอย่างนั้นมันเป็นลักษณะของสมาธิประกอบไปด้วยปัญญา เป็นแนวทางท่านเรียกว่ามรรค มรรคสมังคี จิตเดิมอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นจะเป็นองค์งานที่จะให้เข้าไปสู่การตรัสรู้ หรือให้รู้แจ้งชัด เพราะว่าเมื่อพิจารณาอยู่อย่างนั้น จิตมันก็วิ่งโดยรอบ อยู่ตามลำดับที่เรานึกทุกส่วน ไม่แยกแยะไปในที่ใด อยู่ในกายนี้ คิดพิจารณาตั้งแต่เบื้องบน ลงไปเบื้องล่าง มันก็อยู่อย่างนั้น พิจารณาเบื้องล่างขึ้นมาเบื้องบนก็อยู่อย่างนั้น ขยายไปหน้าไปหลังมันก็อยู่อย่างนั้น นี่ลักษณะที่ภาวนาเป็นต้องเป็นอย่างนี้ อย่างเนี้ยจึงเรียกว่าภาวนาเข้าใจ แล้วเมื่อต่อไปวันหลังเราจะเข้าจิต เราจะทำสมาธิก็ต้องเข้าค้นอย่างนั้น ค้นจนให้ชำนาญอย่างนั้น มีความคล่องแคล่วมีความชำนิชำนาญ ในแบบท่านจึงเรียกว่าชำนาญในวสีทั้ง ๕ การตั้งจิตหนึ่ง การพิจารณา การออก การเข้า การพิจารณาท่านเรียกว่าปัจจเวกขณะ นี่ อย่างนี้ การเข้า การออก การพิจารณา สี่ห้าอย่าง ห้าอย่าง หลวงตาก็จำไม่ค่อยจะได้ ก็เรียกว่าทำงานตลอดเวลา เหมือนอย่างเราเดินไปอย่างนี้ คนเดียวไม่ได้คุยกันหรือเดินไปหลายๆคนไม่ได้คุยกันอย่างนี้ เราก็พิจารณาได้ นึกในใจไปซี่ อย่างนั้น 

แต่ว่าถ้าพิจารณาเรื่อยๆอย่างนั้น ในขณะจิตมันจะมีสภาวะอันที่เกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ต้องปรุงแต่งอันนั้น มันเกิดความเบื่อ เบื่อในสังขารร่างกายของเรานี้ขึ้นมาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปคิดนึกปรุงแต่งอะไรทั้งหมด ลักษณะที่เป็นอย่างนั้นในภาวะที่กำลังพิจารณาอย่างนั้นมันจะเปลี่ยน เปลี่ยนหยุดจากการพิจารณามาเกิดความเบื่อหน่ายและเกิดความสังเวชสลดใจในขณะนั้น นี่ จิตอันนั้นเปลี่ยน เมื่อเรารู้ตัวว่าจิตเปลี่ยนเกิดความสังเวชสลดใจอย่างนั้นแล้วก็ต้องถอยกลับไปพิจารณาอีก อย่าไปหยุด ถ้าหยุดแค่นั้น มันก็ไปพักสมาธิ ค้นลงไปอีก ค้นลงไปให้มาก จนกระทั่งจิตมันเดินอยู่อย่างนั้น นี่แหละไอ้ลักษณะท่านจึงเรียกว่า นิพพินทัง วิรัชชะติ ที่มันเบื่อหน่ายอย่างนั้นนั่นมันเกิดนิพพิททาแล้ว จิตโดยธรรมชาติมันเกิดเองเพราะอาศัยเหตุที่เราเข้าไปค้นพินิจพิจารณาอย่างนั้นมันจึงเกิดนิพพิททา เรียกว่าเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายของเรา ในแบบท่านมีอันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเจริญกรรมฐานมากเข้าๆแล้วก็เกิดธรรมะข้อหนึ่งเรียกว่า อะไรหลวงตาก็จำไม่ได้ มาพิจารณาถึงความตาย แล้วเกิดอยากตา…ยจนไม่มีอันใดที่จะประมาณ ไม่มีสิ่งอะไรที่จะประมาณ อยากตายเหลือเกิน มันเกิดความสังเวชสลดใจอย่างนั้น ในสภาวะของจิตมันตกไปสภาวะอย่างนั้น แต่สภาวะอย่างนี้ยังไม่ใช่ว่าแน่นอน ต้องค้นลงไปอีกจนกระทั่งมันหายลงไป หายจากสภาวะที่เกิดความเบื่อหน่ายอย่างนั้น มันเป็นสภาวะอันหนึ่ง ท่านจัดเป็น…จัดเป็นอะไรไม่รู้ หลวงตาก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน ตำราไม่ค่อยได้ดู เมื่อมันพิจารณาแล้วมันเกิดความเบื่อความหน่ายอย่างนั้น มันตกสภาวะอย่างนั้นของมันสิ เพราะมันก็เกิดจากความสงบนั่นเอง ด้วยกำลังของสติปัญญามันเข้าไปค้นคว้าอย่างนั้น 

เมื่อค้นคว้าอย่างนั้นจนพอสมบูรณ์เต็มที่ ท่านก็เรียกว่า มรรคสมังคี ธรรมชาติของจิตก็ต้องถอนตัวกลับเข้ามาโดยธรรมชาติเองอย่างนั้น โดยที่เรากำลังค้นคว้าพินิจพิจารณาอย่างนั้นลงไป ก็ขาดก็แยกจากกัน การค้นคว้าอย่างนั้นก็หยุดลงในปัจจุบันทันด่วนอย่างนั้น พรึบ ทันทีลงไป แยกจากจิตเข้ามาตั้งตัวอยู่เฉยโดยมีความรู้เห็นชัดอยู่อย่างนั้น ใจนั้นไม่เจือปนไปด้วยอารมณ์ อยู่เป็นเอกเทศอันเดียวอย่างนั้น เฉย รู้อยู่อย่างนั้น แต่รู้อันนั้นไม่มีกิริยาไปไม่มีกิริยามา อยู่ตามสภาพอย่างนั้น นี่ เรียกว่ามรรคสมังคี อย่างนี้ถึงผล ผลคือความที่เข้าไปรู้ตามธรรมชาติอันฐีติธรรมอันนั้นเอง ท่านจึงตรัสว่า ญาณทัศนะ ในอาทิตตปริยายสูตรก็แสดงว่า นิพพินทัง วิรัชชะติ วิราคา วิมุจจะติ ก็คลายความกำหนัดยินดีในรูป วิมุตตัสมิง มันก็เกิดญาณความรู้เกิดขึ้น เกิดญาณความรู้เกิดขึ้นพร้อมในขณะนั้น เหมือนอย่างเราก็เหมือนกัน ถ้าเมื่อได้พิจารณาลงไปอย่างนั้นแล้ว มันไปเห็นชัดอย่างนั้นจริงๆ เราก็ต้องเชื่อว่าธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงสอนมาโดยอย่างที่เราพิจารณาอย่างนี้มันจะเห็นชัดอย่างนี้แล้วมันจะสงสัยที่ไหน ก็ไม่สงสัย

ความกังขา ความสงสัยในการปฏิบัติเรียกว่า ศีลวัตร นี่ในการปฏิบัติของเราอย่างนี้หมดความสงสัยในเรื่องการทำสมาธิ วิจิกิจฉาก็ไม่สงสัยเลย สีลัพตปรามาสไม่ลูบคลำเลย ในข้อวัตรปฏิบัติที่เรากระทำอย่างนี้ แล้วนั่นมันจะอะไรหละ มันถูกต้องตามธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า บุคคลผู้นั้นท่านก็แสดงแล้วว่าสุคติเป็นที่หวัง ถ้าเมื่อบำเพ็ญไปยังไม่ถึงที่สุดแห่งอาสวะคือยังไม่หมดกิเลส ก็ต้องไปเกิดอีก ๗ ชาติ คือได้สำเร็จบั้นต้นตั้งแต่พระโสดาขึ้นไปอย่างนี้เป็นต้น 

นี่แหละเพราะฉะนั้นจึงว่าธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณะสูตรอย่างนี้ ก็แสดงอยู่ในตัวเรา แต่ทีนี้เราไม่ค้นคว้าไม่พินิจพิจารณา มันก็ไม่เกิดขึ้น เพียงแต่ทำสมาธิให้ใจสงบอยู่เฉยๆอย่างนั้นก็ยังดีอยู่ แต่ว่าต้องอาศัยการค้นคว้าพินิจพิจารณาเพราะการค้นคว้าพินิจพิจารณามันถูกตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส เมื่อคืนที่แล้ว คืนก่อนหลวงตาก็แสดงอยู่ว่าปัญญาเป็นหน้าที่รอบรู้ในกองสังขาร เมื่อรอบรู้ในกองสังขารก็ต้องวางสังขารอันนั้น นั่นจึงเรียกว่าปัญญาแท้ ปัญญาอย่างคิดตามโลกตามสงสาร คิดอย่างสร้างโลกสร้างสงสาร อย่างนั้นไม่ใช่ปัญญา เป็นโลกียะปัญญา เป็นปัญญาอย่างเจือปนไปด้วยทุกข์ ไม่ใช่ปัญญาอย่างคำสอนพระพุทธเจ้า 

คำสอนพระพุทธเจ้าปัญญาเมื่อรู้สิ่งนั้นแล้วก็ต้องทิ้งสิ่งนั้น ไม่จับสิ่งนั้น เหมือนบุคคลผู้ที่รู้จักว่าไฟก็ไม่จับไฟ เปรียบเป็นอย่างเดียวกันอย่างนั้น ไม่กล้าเอามือไปแอบเพราะมันร้อน เพราะลักษณะของอารมณ์ที่ปรุงขึ้นอย่างนั้น ถ้าเมื่อมีสติรู้แล้วมันก็ต้องมี…มันไม่เข้าไปจับ เพราะมันเห็น ทั้งเห็นทั้งรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ มันก็ไม่เข้าไปจับเลย จิตของผู้ที่ปฏิบัติของท่านดีๆอย่างนั้นแล้วมันไม่เข้าไปจับไปเกื้อ แต่ท่านจะเล่นก็ได้เพราะท่านมีปัญญา ไฟท่านเอามาใช้ได้ ใช้ด้วยปัญญา เอามาหุงต้มหุงแกง ทำอะไรก็ได้ทั้งหมด เหมือนอย่างพวกเราที่มีความฉลาด ไม่เหมือนอย่างเด็ก เด็กที่ไม่รู้จักเดียงสาก็จุดไฟมาเผาตัวเอง ร้องไห้จี๊ดๆจ๊าดๆขึ้น แน่ะ เหมือนกันอย่างนั้น เหมือนเราที่ยังไม่เคยประพฤติปฏิบัติ ยังไม่เข้าใจ ก็เข้าใจว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่สนุกสนานร่าเริงเพลิดเพลิน ก็ไปยิ่งคิดยิ่งนึกยิ่งปรุงยิ่งแต่งยิ่งเกิดความเสียอกเสียใจอะไรแล้ว ก็นึกถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้เอามาเศร้าโศก กินไม่ได้นอนไม่หลับ นี่ ไม่เป็นอันกินอันนอน นอนก็ไม่หลับ นี่ มันเป็นอย่างนั้น ใจมันไม่มีธรรมะ ไม่มีสิ่งที่ระงับดับความคิดอันนั้นเอง นี่ 

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ…ที่เรามาปฏิบัติธรรมะก็ต้องการจะหาตัวจุดสำคัญอันใหญ่อันนี้ที่ตัดหรือปลดเปลื้องใจของเราที่มันคิดวุ่นวายเดือดร้อนอยู่นั่น ตรงนี้เองเป็นจุดสำคัญ เพราะฉะนั้นธรรมะแสดงพอย่อๆพอเป็นแนวทางที่ท่านทั้งหลายจะได้นำไปพิจารณาใคร่ครวญ หลวงตาขี้เกียจเทศน์นาน เอาเท่านี้พอย่อๆ แล้วต่อนั้นไปจะได้ทำสมาธิกัน เพราะฉะนั้นเมื่อท่านทั้งหลายได้สดับตรับฟังธรรมะดังได้แสดงบรรยายมานี่แล้ว สิ่งอันใดที่จะเกิดประโยชน์หรือสิ่งอันใดที่มาใคร่ครวญดูแล้วว่าชีวิตของเราเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นอย่างท่านเทศน์อย่างนี้ควรเอาไปพิจารณาและก็ไปปฏิบัติ อย่าได้นิ่งนอนอกนอนใจ วันเดือนคืนปีล่วงไปๆ ท่านเปรียบเหมือนอย่างหูกที่ทออย่างนั้น มีแต่วันหน้าสั้นเข้าไปทุกที ชีวิตเราก็เหมือนกันอย่างนั้น มีแต่วันที่แตกดับลงไปเรื่อยๆๆ วันคืนล่วงไปๆ นั่นแหละมันคอยเวลาตายอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นยังมีชีวิตที่ดีอยู่อย่างนี้ควรเร่งประพฤติปฏิบัติธรรมะให้มันเกิดขึ้นกับใจของเรา แล้วต่อนั้นก็จะบังเกิดความสุขความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังแสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา ต่อนั้นก็จะได้ทำความสงบ เอาหละ

https://youtu.be/EQ3vy14bmls