หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
ต่อนี้ไปจะได้บรรยายธรรมะก็เป็นเครื่องประดับสติปัญญาพุทธบริษัททั้งหลาย เราเกิดมาทุกคนล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้สร้างกุศล บุญกุศลขึ้นมาแล้ว มีรูปร่างก็สมบูรณ์บริบูรณ์ไม่เป็นง่อยเป็นเปลี้ยไม่เป็นใบ้เป็นบ้าพิการต่างๆ อย่างนี้นับว่าเป็นบุญของเราประการหนึ่ง บุคคลที่สร้างบาปสร้างกรรมไว้ เกิดขึ้นมาก็ปากแหว่งหูหนวกเป็นใบ้เป็นบ้าเสียจิตผิดมนุษย์ธรรมดา เดินก็ก๊อกๆแก๊กๆขาแข้งก็ไม่ค่อยจะสมบูรณ์ ต่างกันอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงสมกับภาษิตยกย่องตนว่า บุพเพกตปุญญตา บุญที่สั่งสมดีแล้ว อันนี้ เราได้สั่งสมมาดีก็ได้มาเกิดในเมืองไทยพบปะพระพุทธศาสนา มีการได้ทำบุญ บำเพ็ญทาน ถือศีล รักษาอุโบสถแล้วยังได้เจริญสมาธิกรรมฐานเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำยาก
โลก มันเพลินอยู่กับโลก มันเพลินอยู่กับสงสาร ทำให้ใจนั้นวุ่นวายเดือดร้อน แต่ว่าเราก็ไม่ได้มองถึงสิ่งที่เป็นภัยเป็นทุกข์กระวนกระวายของเราเหล่านั้น ไม่ได้น้อมเข้ามาพินิจพิจารณาจึงไม่เกิดความเบื่อความหน่าย เพราะฉะนั้นอย่างการเข้ามาภาวนานี่ก็เหมือนกัน ต่างคนก็ต่างมุ่งมาดปรารถนาความสงบของใจ บางคนก็ได้สงบน้อย บางคนก็ได้สงบมาก แต่ความสงบมาก ความสงบน้อยนั้น เราก็ต้องสังเกตความชำนิชำนาญของใจเรา ในขณะที่เราจะภาวนาอย่างนั้น เราทำอย่างไรจึงเป็นให้ใจของเรานั้นสงบ แล้วสงบไปได้เวลานานสักปานใด นี่ก็ต้องสังเกตอย่างนี้ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำก็ทำไป ได้หรือเสียก็ไม่รู้ เห็นเค้าทำก็ทำอย่างนี้ ผลประโยชน์ที่จะได้รับก็รู้สึกว่า มีจำนวนน้อย เพราะฉะนั้นต้องอาศัยความใคร่ครวญพินิจพิจารณาตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญของการปฏิบัติ
บุคคลผู้ที่มีใจอันสงบ มีใจอันเยือกเย็น มองสิ่งใดก็เป็นคุณเป็นประโยชน์เป็นโทษของใจ เรานักภาวนาก็ต้องเป็นอย่างนั้น ความฉลาดของมนุษย์ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน นกอีแอ้อย่างนี้มีแต่ขาสองขามีปากหนึ่งอันกับมีปีกอย่างนี้ ความฉลาดของนกที่จะหาเหยื่อมาเลี้ยงป้อนตัววันหนึ่งๆ มองๆดูแล้วนกอีแอ้ก็ฉลาด บินเอาปีกสองปีกนั้นบินพุบๆพับๆ พุบๆพับๆไล่เข้าไปในป่าแล้วก็นกเหยื่อ สัตว์ทั้งหลายก็บินออกมา นกอีแอ้ก็จับกิน อื้ม…ดูๆก็ชอบกล ความฉลาดของนกก็มีอยู่ที่ปีก อยู่ที่ปัญญาความคิดจะได้สัตว์เข้ามาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัว นี่เป็นอย่างนั้น นี่แหละเพราะฉะนั้นจึงว่าอย่างเราก็เหมือนกัน อย่างเราภาวนาอย่างนี้ ว่าก็ว่าซ้ำว่าซาก ว่ากันอยู่อย่างนี้เอง แล้วฟังก็ไม่ค่อยเข้าใจ ฟังไม่เข้าใจนี่มันเป็นสิ่งที่ยาก หัวใจมันทึบ หัวใจมันหนา หัวใจเหมือนเหล็กก้นเตาที่ช่างเค้าไม่เอาแล้ว เศษที่มันไปลงอยู่ในก้นสวะอันนั้น นี่มันเป็นอย่างนั้น ฟังไม่เข้าใจ เมื่อฟังไม่เข้าใจคนเทศน์ก็ไม่มีอะไรจะเทศน์ เป็นอย่างนั้น หาสิ่งที่จะเทศน์ก็ไม่ค่อยจะมี หัวใจมันไม่เปิด มันปิดอยู่ตลอดเวลา เป็นอย่างนั้น นี่เพราะฉะนั้นจึงว่าการกระทำใจนี่เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราไม่ใคร่ครวญพินิจพิจารณา ให้วันคืนล่วงไปๆอยู่ทุกวัน ทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้เอาความกังวลตัวนั้นเข้ามาบังหน้าอย่างนี้ ทำให้เวลาของเราเนิ่นช้าจากการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นจะต้องฝึกหัดตัวเรา ถึงเวลาเท่านั้นจะต้องนั่งสมาธิกรรมฐาน กำหนดเวลาเท่าไรก็ต้องนั่งได้ตามกำหนดอย่างนั้น อย่างนักบวชอย่างนี้ก็จำเป็นที่สุด พวกแม่ชงแม่ชีก็เหมือนกัน อย่าให้เวลาล่วงไปเปล่าๆ ล่วงไปท่านเปรียบเหมือนช่างหูกที่ทอไปเนี่ยมีแต่วันข้างหน้าสั้นเข้ามา ชีวิตของเราเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็มีแต่วันสั้นเข้าไป สั้นเข้าไป ไม่รู้จะตายวันไหน เพราะฉะนั้นจงพากันตั้งอกตั้งใจ พรรษาหนึ่งก็เป็นอย่างนั้น สองพรรษาก็เป็นอย่างนั้น ว่าก็ว่า หลวงตาด่า ว่าก็ต้องว่ากัน เทศน์ก็ต้องเทศน์เพื่อให้ดีให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา ไม่ได้เทศน์เพื่อหวังเงินหวังทอง หวังลาภสักการะอะไรต่างๆ ไม่ได้หวังสิ่งเหล่านั้น เทศน์ก็เป็นการที่ชักจูงเรื่องการภาวนาของเรา หลวงตาก็เทศน์ก็ไม่ค่อยจะเป็นแต่ว่าบวชมาแก่มานานเข้า เค้าก็ว่าเป็นอาจารย์อาวุโส ก็จำเป็นที่ต้องแสดงไปอย่างนั้น ความสันทัดในกรณีแบบแผนตำรับตำราไม่ค่อยได้ศึกษาเล่าเรียน เพราะฉะนั้นการเทศน์จะเอาไพเราะเสนาะโสตจริงๆก็เป็นสิ่งที่ยาก เพราะฉะนั้นจึงว่าการภาวนานี่หละ นี่ มันก็จะเข้ามาเดือนหนึ่งแล้ว วันนี้ก็วันโกน ปลงหัวขึ้นมาอีกแล้ว เนี่ยเป็นอย่างนั้น เดือนหนึ่ง เราชั่งดูตัวเราสิ เราทำภาวนาขึ้นมาตั้งแต่เดือนหนึ่งแล้วได้อะไรบ้าง มองดูตัวเรา มองอยู่หัวใจเรา อย่าไปมองโทษของคนอื่น มองดูที่ตัวของเรา เราภาวนาเป็นบ้างมั้ย จิตสงบวันไหนคืนไหนเวลาเท่าไหร่ สงบลงไปอย่างนั้นได้นานเท่าไร แล้วเกิดมีอะไรปรากฏ มีนิมิตมีภาพมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏขึ้นในใจบ้าง แล้วทำใจให้เยือกเย็นบ้าง อย่างนี้ก็ต้องชั่งพินิจพิจารณาอยู่ว่าเรากระทำเป็นไปอย่างไร กำไรหรือขาดทุน ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไปๆไม่รู้ได้รู้เสีย เป็นอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องเลยอย่างนี้ก็แย่เหมือนกัน การปฏิบัติของเรา อย่างนี้เรียกว่าเนิ่นช้า ตายก็ตายเปล่าๆ เพราะฉะนั้นต้องอุตส่าห์ขมักเขม้น
การกระทำอันนี้เป็นการกระทำที่ยาก แต่เมื่อเราตั้งอกตั้งใจลงไปจริงๆแล้วมันก็ไม่หนีความจริงได้ เพราะมันขาดความพากความเพียรความพยายามตัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ความอุตสาหะ นั่งให้นาน บริกรรมให้เร็ว นึกให้เร็ว ต้องการให้ตัดอารมณ์อย่าเข้ามาสู่ใจของเรา ให้ใจของเราอยู่กับคำบริกรรมบทใดบทหนึ่งอยู่อย่างนั้น จะเป็นอรหัง พุทโธ อิติปิโส ภควา, หรือ อรหัง สัมมา, พุทโธ, สังโฆ อันใดอันหนึ่ง ตาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทุกข์ๆก็ได้ เจ็บๆ อย่างนี้ก็ได้ อันใดอันหนึ่ง เนี่ยเราภาวนาก็ต้องสังเกตอย่างนั้น
อย่างเรากำหนดจิตอยู่เฉยๆ เวลาเข้าภาวนาก็ชอบกำหนดจิตเฉยๆ นี่อย่างหนึ่ง อย่างนี้ที่มักเกิดถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ตัวเนี้ยนำเข้ามา เพราะอะไร เพราะความขี้เกียจของใจ ไม่อยากคิด ไม่อยากนึก ไม่อยากการบริกรรม นั่น โกสัชชะ มันเข้ามาทับหัวใจ อัสมิ ความถือตัวถือตนว่าเราดีเราเก่ง เราวิเศษเราวิโส ไม่ต้องการบริกรรมพิจารณาอะไรเลย กำหนดเข้าไปอย่างนั้น นั่น อันนี้ทับหัวใจเรา ทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า อย่างท่านพูดไว้ ก็เคยพูดบ่อยๆ อย่างจะเข้าฌาณสมาบัติ ก็จำเป็นจะต้องเข้าไปตั้งแต่ปฐมฌาณ ปฐมฌาณก็ต้องมีวิตกวิจาร วิตกก็คืออะไร การระลึกถึงการบริกรรมนั่นเอง ก็ต้องการให้จิตมันมาเล่นกับสิ่งเหล่านี้ซักพักหนึ่ง แล้วจึงค่อยๆทวนเข้าไป เมื่อทวนเข้าไปอย่างนั้น วิตกวิจาร พอเมื่อมันพอของมันเข้าไปแล้ว ก็ปีติ ความสบายของกาย ความสบายของใจที่ระลึกอยู่กับสิ่งนั้นอันเดียว ใจไม่กระสับกระส่ายไปในอดีตอนาคต ไม่กระสับกระส่ายไปหน้าไปหลัง ไม่ห่วงนู่นห่วงนี่ คิดไปอย่างนั้นอย่างนี้ ใจระลึกอยู่ในคำบริกรรมอันเดียวอย่างนั้นเรียกว่าปีติเกิดขึ้นแล้ว ใจอย่างนั้นสบาย กายก็ทำให้กายก็สบาย กายก็เบา ใจก็เบา เบายังไง นึกก็สบายคล่องแคล่วสะดวก ไม่ขัดไม่ข้อง เป็นไปด้วยความเพลิดเพลินของใจอย่างนั้น นั่นหละ โยมไม่ถนัดเข้าไปก็สัปหงกแล้ว อ้า เป็นอย่างนั้น ภาวนาไม่เป็น! มันก็ต้องให้พิจารณา อย่าให้มันสัปหงก! สัปหงกมันเสีย มันไม่ได้เรื่อง! เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าเทศน์อย่างนี้ เราจะมากำหนดอยู่แต่ใจอย่างเดียวมันไม่ได้ มันต้องแก้มัน ถีนมิทธะตัวนั้นมันจะเข้ามา มันเริ่มเข้ามาอย่างนี้ มันขาดความรู้สึก ขาดสติ ขาดสัมปะชัญญะ ไม่รู้ตัวเลย สมาธิเสีย ไม่ได้สมาธิ นี่ เพราะฉะนั้นเรานั่งลงไปต้องบริกรรมอยู่อย่างนั้น ถีนมิทธะมันจะดีกว่าข้าเรอะ หรือหมาที่ไหน! ไอ้ขี้เกียจ! มาจากไหน นั่น เอามันเข้าไปอย่างนั้น มันจะมาได้อย่างไร เอ้อ เมื่อเราถึงมันอย่างนั้น กำปั้นขวากำปั้นซ้ายใส่เข้าไป มันจะอยู่เหรอ มึงอยู่ได้เหรอ ไอ้ขี้เกียจขี้คร้านง่วงเหงาหาวนอน มันจะอยู่ได้อย่างไร นี่มันขี้เกียจ นี่มันไม่เอา ทำอะไรก็ไม่เอา กำหนดแต่ใจอย่างเดียว มันก็สัปหงกท่าเดียว มันก็ไม่ได้เรื่อง! ไม่ได้เรื่องซักที! สามปี ห้าปี สิบปีก็เป็นอยู่อย่างนั้น ภาวนาไม่เป็น! เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมันต้องแก้ตรงนี้ แก้ตรงนี้ไม่ได้ ภาวนาไม่เป็น นี่เป็นอย่างนั้น ว่ากันชัดๆ ว่ากันแน่ๆ ว่ากันตรงๆ ขวานผ่าเข้าไปเลย เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเราตั้งใจภาวนา ต้องการบริกรรมสิ อย่าไปว่าใครเทศน์ พระพุทธเจ้าก็บอกมาอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ของเราก็บอกมาอย่างนั้น ท่านบอกไม่ผิดทาง เป็นอย่างนั้น หลวงตาก็จำๆเค้ามาก็ว่าไปตามเรื่อง เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราเทศน์กันอย่างนี้ก็เพื่อการจะเน้นกันให้มันดีขึ้นมา แก้สิ่งที่ไม่ดีของเรา เมื่อมันเป็นถีนมิทธะอย่างนั้นเราจำเป็นต้องแก้ ถ้าไม่แก้ก็ภาวนาไม่เป็น นี่เป็นอย่างนั้น เมื่อมันแก้จนบริกรรมอยู่อย่างนั้นจนจิตมันแน่วแน่อยู่กับการบริกรรมอย่างนั้น เที่ยงตรงจิ๊บ ไม่ไปไหนเลย ใจผ่องแผ้ว ใสสะอาดสว่างปลอดโปร่ง แจ่มใส กายก็เบา ใจก็เบา เบาหมด เบาทุกชนิด นั่น จึงเป็นสมาธิอย่างนั้น ง่วงโงกง่วงเหงาหาวนอน อะไรมันก็ไม่ตามเข้ามา ไม่มีเลย ในขณะนั้น ใจปลอดโปร่ง นี่ อย่างนั้นจึงเรียกว่าเป็นสมาธิ นี่เข้าไปก็สัปหงก สองทีก็สัปหงก นึกขึ้นมาก็ตั้งขึ้นมาอีกก็สัปหงกอีก แล้วกันๆ ใช้ไม่ได้เลย นกยางจะจิกปลาท่าเดียวก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ แก้สิ่งเหล่านี้ให้มันหาย เมื่อแก้สิ่งเหล่านี้หายแล้ว ใจเป็นปกติแล้ว ก็ต้องน้อมเข้ามาพิจารณา พิจารณาว่าอย่างทุกครั้งที่เราทำไปทำไมเป็นอย่างนั้น เมื่อมากระทำอย่างนี้แล้วทำไมไม่เป็น นี่ ทำไมไม่เป็น มันเป็นเพราะเหตุอะไร เราต้องใคร่ครวญพิจารณา อ๋อ เราได้กระทำอย่างนี้ ถีนมิทธะจึงไม่ครอบงำ ความสัปหงกก็ไม่มี ใจก็ปลอดโปร่ง ใจก็เป็นสมาธิ แช่มชื่น นี่ มันก็ได้กำลัง เมื่อได้กำลังอย่างนั้น ก็ต้องทำอย่างนั้น
เวลาเข้าบั้นต้นก็ต้องเอาอย่างนั้น เอาลงไปอย่างนั้น ให้มันเข้าอย่างนั้น เมื่อเข้าอย่างนั้นใจมันเป็นสมาธิได้แล้ว เราก็ต้องพิจารณา พิจารณาลงไป สิ่งใดมันเพลิดเพลินโลกสงสาร เคยเสวยอยู่กับโลกสงสาร อะไรมันเพลิดเพลิน เพลิดเพลินตรงไหน นี่ ก็ต้องเอาสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณา มาใคร่ครวญ ดูผมเราซิ มันเคยดำ ทีนี้ทำไมมันหงอกมันขาว แล้วมันจริงมั้ย นี่มันก็ต้องดูอย่างนั้น พิจารณาลงไป เนี่ย อย่างนี้จึงเรียกว่าปัญญาใคร่ครวญพิจารณา ไม่ใช่ดูแต่ผม แล้วใครเป็นคนไปว่า ผม ว่าผมมันหงอก ผมมันขาว ผมมันดำ ผมมันล้าน หัวมันล้าน นี่ ใครว่า ไอ้ตัวว่าตัวนี้มันจริงรึเปล่า ไอ้ธรรมชาติอันนั้นอยู่ที่อย่างนั้น ไอ้ตัวว่าเนี่ยมันจริงมั้ย ฟังตรงนี้ให้ฟังจนเข้าใจ ฟังเข้าใจแล้วมันรู้จักง่ายๆ เมื่อใจสงบลงไปอย่างนั้น คิดออกไปอย่างนั้น ความคิดนั้นจริงรึเปล่า มองดูให้มันชัดสิ ใจที่มันสงบกับที่ความคิดเกิดขึ้น มันต่างมันมั้ย นี่อย่างนี้จึงเรียกว่าปัญญา ค้นคว้าพินิจพิจารณาอย่างนี้ มาค้นคว้าพินิจพิจารณาอย่างนั้นแล้ว เมื่อเห็นความจริงแล้ว ใจนั้นมันก็ปล่อยวาง วางสังขารธรรมที่ในใจของเรา วางทั้งกายทั้งสังขารของใจนั่น
เมื่อวางอย่างนั้นยังมีอะไรตั้งอยู่ที่ปรากฏอยู่กับตัวเรา ที่มีความรู้สึกตัวนั้น เป็นความรู้สึกชนิดไหน เราก็ต้องสังเกต ท่านจึงว่า ธรรมฐีติ ธรรมฐีติก็หมายถึงความสงบนั่นเอง ธรรมอันนั้นเป็นธรรมอันสงบ ธรรมอันเยือกเย็น เต็มไปด้วยความตื่นตัว ผ่องใสปลอดโปร่งอย่างนั้น นี่ จึงเรียกว่าปัญญา สิ่งอันใดจะเข้ามาก็สามารถจะทันหักห้าม ตัดฟันบั่นทอนลงไปทุกขณะ ไม่ให้เข้ามาแทรกในหัวใจของเรา เมื่อไม่แทรกในหัวใจของเราแล้วใจเราก็ไม่เดือดร้อน ใจเราก็ไม่ขุ่นมัว ใจเราก็มีแต่ความผ่องใส เป็นอย่างนั้น นี่ เพราะฉะนั้น การภาวนาก็ต้องการมุ่งมาดปรารถนาจุดตัวนี้ให้เกิดปัญญา เกิดปัญญาก็ต้องอาศัยการค้นคว้าพินิจพิจารณา ในระยะบั้นต้นมันก็ต้องจำเป็นต้องเพลิดเพลินไปอย่างนั้นในขณะพิจารณา
เหมือนกันการบริกรรมก็อย่างนั้น เมื่อในขณะที่บริกรรมเพลินอยู่อย่างนั้น ใจยังไม่วางอุเบกขา มันก็เพลินกับการว่าคล่องแคล่วสะดวกสบายอย่างนั้น นั่น ใจสบาย ความเจ็บความปวดความเมื่อย เจ็บหลังเจ็บเอวเจ็บแข้งเจ็บขาเจ็บเข่าเจ็บหน้าเจ็บหลัง ไม่มีเลย ใจเพลินอย่างนั้น นั่นท่านเรียกว่าปีติเกิดขึ้นแล้ว นั่น การภาวนาเกิดขึ้นแล้ว ต้องให้มีปีติ ถ้าไม่มีปีติมันก็ไม่เพลิดเพลิน ทำลงไปก็ขี้เกียจขี้คร้าน วันหนึ่งก็ไม่ได้ สองวันก็ไม่ได้ ห้าวันก็ไม่ได้ เจ็ดวันก็ไม่ได้ นี่มันปาเข้ามาเดือนยังไม่ได้ซักทีความสงบ แล้วมันวุ่นอะไร ถามมันไว้ในหัว วันนี้ก็โกนออกหมด มะเหงกกำปั้นใส่เข้าไป มึงขี้เกียจแท้ ภาวนาก็ไม่เป็น กินข้าวเสียข้าว ด่ามันเข้าไป อย่างนั้น อย่าให้มันเพลิน นั่งภาวนาให้มากๆ ทำสมาธิให้เก่งๆ เป็นอย่างนั้น แล้วมันก็จะรู้จะฉลาดขึ้นเอง นี่เป็นอย่างนั้น เอาแต่ความมักง่าย จะทำอะไรก็ทำ มันก็ไม่เกิดซักที ใจก็ไม่เป็นสมาธิ มีแต่เดือดร้อน วุ่นวาย เพ่งออกไปนอกท่าเดียว นี่ มันก็เลยวุ่นวายขัดข้องไม่เกิดความสงบ บวชเข้ามาก็สักแต่ว่ากายเข้ามาบวชเท่านั้น ใจนี่ไม่ได้บวชซักที ใจวุ่นวายกระสับกระส่ายดิ้นรนกระวนกวายไปอันนั้นอันนี้ มีแต่ความร่าเริงความสนุกสนานอย่างนี้ ขาดทุน ใจเศร้าหมอง ใจเป็นอกุศลจิต ทับใจของเราอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นต้องแก้
เมื่อใจของเราสงบแล้ว ต้องพิจารณาเหล่านี้แหละ ความมันเพลิดมันเพลิน มันเพลินเพราะอะไร ไหนเพลินอะไร ค้นคว้าพินิจพิจารณาลงไป ใคร่ครวญลงไปให้มากๆ อย่าได้ท้อถอย พิจารณาท่าเดียว ค้นลงไป การค้นคว้าก็ต้องมีบันยะบันยัง รู้จักประมาณการค้นคว้า เมื่อค้นไปๆจิตมันกำเริบ มีเรื่องราวเข้ามามากมาย เรื่องนั้นยังไม่ทันเสร็จเรื่องนี้เข้ามา เพลินเรื่องนั้นอีก อ้าวเรื่องนั้นยังไม่ทันเสร็จ เอ้า! เรื่องนี้เข้ามาอีกแล้ว อย่างนี้ใช้ไม่ได้ อย่างนี้ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา ลักษณะของปัญญาจับเรื่องใดก็ต้องอยู่เรื่องนั้น ไม่มีไปในที่ไหน ไม่มีสิ่งอื่นเข้ามาแทรกแซงในขณะที่พิจารณาอย่างนั้น เมื่อพิจารณาอย่างนั้นแล้ว นั่นแหละ จะเป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง จะเป็นไปเพื่อความรู้ชัด นี่ จะเป็นไปเพื่อความสงบ นี่ เพราะฉะนั้นปัญญาจึงว่าเป็นสิ่งสำคัญ
อย่างที่พระบรรยายเมื่อกี๊ว่า เอวะเมตัง ยะถาภูตัง สัมมัปปัญญายะ ทัฏฐัพพัง พึงรู้เห็นปัญจขันธ์อันตามเป็นจริงด้วยปัญญา แน่ะ! สิ่งอดีตอนาคตที่ละเอียด ที่ใกล้ ที่ไกล ว่าหมดแสดงสวดเมื่อกี้ นั่นก็หมายลงสุดท้ายก็ว่า เอวะเมตัง ยะถาภูตัง สัมมัปปัญญายะทัฏฐัพพัง พึงรู้เห็นด้วยปัญญาอันตามความเป็นจริงของปัญจขันธ์ นี่เป็นอย่างนั้น เราก็มีตัวมีตน เราก็ต้องพิจารณา ตัวเรามีแข้งมีขา พิจารณาลงไป ขาทำไมมันเจ็บ ขาทำไมมันปวด เอวทำไมมีเอวก็เจ็บมีปวด มีเจ็บในหูเจ็บในตาเจ็บในจมูก เจ็บไปสรรพางค์ร่างกาย ลำไส้เล็กลำไส้หน่อย บางคนเป็นนิ่วในดีก็มีเจ็บปวดอย่างนี้ ต้องพิจารณาให้มันรอบลงไป ค้นลงไปให้มากให้มาย ก็ค้นลงไปอย่างนั้น ใจก็ยิ่งเพลิดยิ่งเพลิน ยิ่งสนุกสนาน นั่งอยู่ก็ไม่อยากจะลุก พิจารณาอย่างนี้ เพลินอยู่อย่างนี้ นั่นแหละ เมื่อพิจารณาพอแล้วมันก็เห็นความจริง เห็นความจริงก็ ฐีติธรรมอย่างว่านั่นแหละ ธรรมฐีติ
เมื่อพิจารณาพอลงไปแล้ว พอมาเห็นโทษของการพิจารณานั่นเอง ตัวนั้นแหละ เห็นโทษตัวคิดนึก ตัวที่ปรุงที่แต่ง ตัวที่ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้เห็นที่ไหน เห็นทุกข์เหมือนกันก็ต้องเห็นตรงนี้ ไม่ใช่เห็นในกระดาษ สมุทัยอย่างนั้น นิโรธอย่างนั้น มรรคอย่างนั้น นี่ มรรคสี่ ผลสี่ นิพพาน หนึ่ง นั่นเป็นอย่างนั้น นั่นมันอยู่ในใบลาน เห็นตัวเราก็ต้องเห็นใจที่คิดวุ่นคิดวาย คิดกระสับกระส่าย นั่น พิจารณาตัวนี้ลงไป ไม่ให้มันกระสับกระส่าย ไม่ให้มันเดือดร้อน ไม่ให้มันวุ่นวาย เห็นแจ้งชัดอย่างนี้แล้วมันก็ปล่อยวาง ใจก็สงบ นี่ เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงว่าเมื่อภาวนาก็ต้องค้นคว้าให้มากๆ อย่าได้ถอย
โยมบางคนมาจากบ้าน มาพูดให้ฟัง ดีกว่าพวกโยมของเรา ว่ากันทีซักหน่อย มาภาวนาไม่กี่วันใจสงบ พิจารณาร่างกายได้เลย เห็นหลุดออกมาเป็นท่อนๆๆๆอย่างนี้ก็เป็น ดูสิ แล้วเรามันเป็นคนหรือเป็นอะไร ทำไมภาวนาไม่ได้ อยู่วัดด้วย แน่! เอาแต่ขี้เกียจ ไม่ได้อย่างเค้า เค้ามันดีมาจากไหน มีแข้งมีขามีตีนมีมือ เราเป็นอะไร ทำไม่ได้ ต้องสู้สิ! ใจต้องนักสู้ อย่าเป็นนักแพ้ตลอดเวลา เหมือนหมาจะกัดกะเค้า จุกตูดอยู่เรื่อย วิ่ง เอะอะวิ่งหนี จุกตูดวิ่งหนี เสร็จ แพ้อยู่ทุกที! ไม่ไหว แย่เลย ต้องมีมานะ! มีความพากความเพียร เค้าไม่เป็นเค้าเป็นได้ เราก็ต้องเป็นได้ ใจเหมือนกัน กินข้าวเหมือนกัน มีแข้งมีขามีตีนมีมือ เอ้อ ท้อถอยทำไม ต้องสู้ให้เต็มที่สิ นี่นักเสียสละก็ต้องเป็นอย่างนั้น อย่าไปถอยมัน นี่ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว มีความพากความเพียรเข้มแข็งเต็มที่แล้ว มันก็ต้องสงบให้เรา มันจะหนีไปไหน ไม่สามวันเจ็ดวัน ท่านจึงทำนายไว้ บรรยายไว้ว่าบุคคลผู้พิจารณา สามวันเจ็ดวัน สิบห้าวัน หนึ่งเดือน สองเดือน สามเดือน สี่เดือน ห้าเดือน เจ็ดเดือน หนึ่งปี สองปี สามปี สี่ปี เจ็ดปี อย่างต่ำได้สำเร็จอนาคามิตา ในแบบว่าไว้อย่างนั้น เป็นความจริงทีเดียวอันนี้ เถียงไม่ได้ แต่ทีนี้เราทำไม่เป็น เราไม่กระทำ มันก็ไม่เกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นถ้าเรากระทำเข้าแล้วมันก็ต้องเป็น แต่ทำให้เป็น หมายความว่าทำสมาธิได้ ก็ต้องใช้การค้นคว้าพินิจพิจารณา อย่างบรรยายเมื่อกี้นี่แหละ ถ้าเรานั่งแต่สมาธิ จึ้ง…อยู่แต่ในสมาธิอันเดียวอย่างนั้น มันก็ไปไม่ไหว มันก็ได้แค่นั้น แต่ว่ายังดีกว่าไม่ได้ ตายไปอย่างนั้นบางทียังได้ไปพรหมโลก ไม่ไปนรกเพราะใจเป็นสมาธิ ถ้าใจที่วุ่นวายเดือดร้อน คิดห่วงนู่นห่วงนี่ ตายไปขณะนั้นก็ไปนรก นี่ เป็นอย่างนั้นต่างกัน เพราะฉะนั้นอย่างเราเข้ามาเข้าวัดเข้าวา เอาความมุ่งมาดปรารถนาที่อบรมทำจิตทำใจของเราให้สงบระงับ ก็ต้องอาศัยความพากความเพียร นี่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นอย่าได้ท้อถอย
นี่แหละ ที่บรรยายธรรมะมาปกิณกะ ขอให้โยมได้นำไปพินิจพิจารณ สิ่งอันใดที่จะเป็นประโยชน์กับเรา สิ่งนั้นควรน้อมไปพินิจพิจารณาแล้วก็ลองปฏิบัติดู ต่อนั้นไปก็จะได้บังเกิดความสุขความเจริญ จะเห็นความอัศจรรย์ของคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นของจริงแท้ เป็นของไม่ใช่ของปลอม ไม่ใช่ของหลอกลวงโลก ธรรมะพระพุทธเจ้าถ้าใครได้ปฏิบัติแล้ว ได้สงบจริงๆ ได้รับความรู้จริงๆ นี่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วต่อนั้นไปก็จะได้เกิดความสุขความเจริญ นี่ ก็เท่ากันกับว่า ได้เชิดชูพระพุทธศาสนาเมื่อเรารู้ธรรมะแล้วอย่างนั้นก็ได้นำไปพร่ำสอนบุคคลผู้อื่นที่ยังไม่เข้าใจให้ประพฤติปฏิบัติไปอย่างนั้น ตามเราจนได้รับความรู้ความฉลาดเกิดขึ้นกับเค้า นี่เรียกว่า เทอดทูนชักจูงพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองถาวรพัฒนาการ ดังแสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา ขอยุติลงเพียงเท่านี้