หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
เวลานี้ก็ยังมีการเถียงกันอยู่เสมอว่า ทำไมอาราธนาศีลถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมคำถวายทานถึงเป็นอย่างนี้ อะไรเหล่านี้เป็นต้น ก็มักจะยันกันไปมักจะยันกันมา ใครก็ว่าใครถูก แต่แท้ที่จริงแล้วถ้าพวกเราได้ฟังในหลักบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (ดูหมายเหตุข้างล่าง) อย่างก็จะเข้าใจว่า อย่างที่พวกเราถวายทานอยู่นี้โดยไม่ได้กล่าวว่า สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต นั้นจะเป็นสงฆ์ได้หรือไม่ อันนี้จะกระจ่างแจ้งอยู่ในบุญกิริยาวัตถุเลยว่า การทำบุญจะสังฆทาน ไม่สังฆทานไม่เกี่ยว วาจาที่กล่าวขึ้นมายังไม่เกี่ยว นอกจากส่วนวินัยเท่านั้น ไม่มีเลือกที่รัก ไม่มีมักที่ชัง เอาของมาตั้งไว้เป็นกลางๆ แล้วแต่ของเหล่านั้นจะหมุนเวียนไปยังไงก็แล้วแต่ เจ้าของมีความพอใจเต็มใจ อันนี้เรียกว่าสังฆทานโดยแท้
ถ้าอันใดยังเลือกที่รักมักที่ชัง อันนี้ถวายองค์ถวายองค์นั้น อันนั้นถวายองค์นั้น ฆราวาสไปจัดสำรับแล้ว แบ่งออกมาเป็นส่วนๆตอนๆ ผู้ใหญ่ได้ใหญ่ ผู้น้อยได้น้อย สามเณรตัวกลิ้วติ้วติ๊ดก็เอาน้ำให้บ้าง อะไรเหล่านี้เป็นต้น อันนี้เราแบ่งส่วนเสียแล้ว เลือกที่รัก มักที่ชังซะแล้ว ไม่เป็นสังฆัสสะ
คำว่าสังฆัสสะแปลว่ารวม ไม่ได้แบ่ง แต่นี่เราแบ่งแล้วจะเป็นสังฆัสสะได้ยังไง สังฆัสสะคำว่าสงฆ์แปลว่ารวม หรือหมวดหมู่ เอ๊…เราไม่ได้รวม เราแยกซะแล้ว จะเป็นไปได้ยังไง ถึงแม้ว่าจะกล่าววาจาซักเท่าไหร่ก็ตาม อานิสงส์แห่งสังฆทานนั้นไม่ปรากฏ ไม่มี เป็นอันว่าธรรมดาๆ แต่ในเมื่อเราไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง ของก็รวมๆใส่กะละมัง ใส่หม้อกันมา พระภิกษุสามเณรองค์ใดจะตักเอา เป็นเรื่องของท่าน เราไม่ได้แบ่งจิต เราไม่ได้แบ่งใจ อย่างนี้จะกล่าวไม่กล่าวก็ช่างเถอะ อานิสงส์ย่อมสมบูรณ์ เพราะของเหล่านั้นเป็นรวม คือสังฆทานอยู่แล้ว
แต่สำหรับสังฆทานที่เปล่งขึ้นมาด้วยวาจานั้น คืออุทิศให้เป็นสงฆ์ แต่พระสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ลำบากใจเหมือนกัน คือจะต้องอุปโลกนกรรม อุปโลกนกรรมของเรานั้นต้องประเคนหมดซะก่อนถึงจะอุปโลกน์ได้ ก็ไม่รู้จะวางตรงไหน ทำยังไงกัน ยุ่งไปหมด พอรับประเคนเสร็จหมดเรียบร้อยก็อุปโลกน์ อุปโลกน์ก็มาแจก อันนั้นก็ย่อมเป็นสังฆทานด้วยวาจาอยู่ ส่วนวินัยน่ะเกี่ยวข้องแน่ แต่ส่วนอานิสงส์นั้นมันอยู่ที่ใจเรา ใจของเราแบ่งมั้ย แยกมั้ย หรือของเรามาไว้เป็นกลางๆ สุดแล้วแต่พระคุณเจ้าองค์ไหนจะเอา เป็นไปอย่างนั้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นสังฆทานหรือไม่สังฆทานนั้นมันจะเกี่ยวด้วยวาจาซักแค่ไหน อันนี้พวกเราก็มักจะเอากันเสมอ
และก็อีกอย่างหนึ่ง การอาราธนาศีล บางครูบางอาจารย์สอน สอนแล้วเป็นหลักตายตัวซะแล้ว ว่าถ้า มะยัง ภันเต ติสะระเณ นะ สะหะปัญจะ สีลานิ ยาจามะ อันนี้เป็นการแยกตัว เป็นอัชเฌกสมาทาน ถ้าขาดตัวใด ไปหมด
ส่วนอันหนึ่ง มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณ นะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ อันนี้เป็นปัจเจกสมาทาน ขาดตัวไหน ไปเฉพาะตัวนั้น ตัวที่ไม่ขาดยังคงอยู่ อันนี้สอนกันเหลือเกิน ว่ากันเหลือเกิน สอนกันเหลือเกิน
แต่ถ้าเราดูในหลักบุญกิริยาวัตถุให้ละเอียดละออกันดีแล้ว จะเข้าใจกันชัดเจนว่า ไม่ใช่คำอาราธนาว่า วิสุง วิสุง กับ มะยัง ภันเต ติสะระเณ สะหะ เลย ไม่ได้เกี่ยวกับคำนี้ เกี่ยวกับการสมาทานต่างหาก ปัจเจกสมาทาน เราสมาทานคนเดียวก็ตาม หรือพระสงฆ์ท่านให้ก็ตาม เรียงข้อ อันนี้เรียกว่าปัจเจกสมาทาน ขาดตัวหนึ่ง ตัวหนึ่งอยู่ แต่ถ้าเราสมาทานแบบรวบรัดเช่นเราจะรักษาศีล ๕ เรากล่าวคำรวบรัดว่า อิมัง ปัญจัง สะมะนากะตัง สีลัง ยาจามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานศีล ๕ วันนี้คืนนี้ อันนี้เรียกว่ารวบรัด แล้วก็อัชเฌก ว่ารวบทีเดียว ในเมื่อขาดตัวใดตัวหนึ่งก็โดนหมด ไปหมดเกลี้ยงเลย ขาดตามกันหมด เหมือนน้ำบ่อเดียวกัน ถ้าคันขาดก็ตามกันไปหมด ไม่ใช่ว่าส่วนนี้ไปส่วนนี้ยังอยู่ คันขาดก็พากันวิ่งออกเลย อ้าวเลย อันนี้เป็นอย่างนั้น
ถ้าเราดูรายละเอียดแล้วจะเห็นได้ชัดเจน ระบุออกมา จะทำให้พวกเราผู้ฆราวาสทั้งหลายเหล่านั้นเข้าใจกระจ่างแจ้งในหน้าที่ของตัวเอง ไม่เคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติอันนี้ ว่าอะไรอานิสงส์มาก อานิสงส์น้อย สรุปแล้วทั้งหมดมันอยู่ที่ใจเราทั้งนั้น อันนี้เราจะได้เข้าใจ ถึงแม้จะอ่านตามตำราก็น่าฟัง อ่านจบแล้ว ผู้อ่านไม่ใช่เอวังก็หนี อ่านจบแล้วต้องชี้แจงออกมาเป็นข้อๆตอนๆ อะไรสำคัญไม่สำคัญแค่ไหน ต้องแยกแยะออกมาให้ญาติโยมเข้าใจ ก็เป็นอันว่าดี
แล้วประโยชน์ของการเทศน์นั้น มีดีอยู่อย่างหนึ่งคือ ก่อนจะเทศน์ต้องไหว้พระก่อน ทำวัตรกันก่อน แล้วญาติโยมก็จะได้แบ่งกันออกเป็นหัวหน้า วันนี้คนนี้เป็นหัวหน้า วันนั้นคนนั้นเป็นหัวหน้า วันนั้นคนนั้นเป็นหัวหน้า จะได้มีความกล้าหาญชาญชัย ว่าถูกต้อง ไม่เก้อเขิน พอไหว้พระเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว เราก็เทศน์สู่กันฟัง ตามตำราก็ได้ ไม่จำเป็น เสร็จแล้วเรามาแยกแยะกันใหม่ ข้อไหนเป็นยังไง ข้อไหนเป็นยังไง เราก็พยายามเอาขึ้นมาวิจัยกัน ให้มันเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระ การกระทำของผู้เป็นฆราวาสนั้นจะไม่ต้องสงสัย และไม่ต้องเถียงกัน หรือเขาจะโจษจันขึ้นมา เราก็ไม่หวั่นไหวเพราะหลักฐานของเราถูกต้องแล้ว
เปรียบเหมือนสมัยก่อนเพิ่งมาอยู่ที่นี้ พวกเราคงจำไม่ลืม มีนักธรรมเอกอยู่สองท่าน นักธรรมเอกท่านนึงชื่อประเทือง นักธรรมเอกท่านหนึ่งชื่ออุ่น สองท่าน มาโจษจันพวกเราอย่างแรง หาว่าไม่รู้ประสีประสา ไม่รักษาระเบียบธรรมเนียมวินัย ฝ่าฝืนพระวินัย คืออะไร คือพวกเราไหว้พระรวมกันนั่นเอง “เขาจะไหว้ไม่ได้ ทางพระไหว้ ต้องเข้าไปไหว้ในโบสถ์ พวกโยมไหว้ก็ไหว้ที่ศาลา ต่างคนต่างไหว้กันคนละทาง ไหว้ด้วยกันไม่ได้เป็นอาบัติ”
อันนี้เราจะเห็นได้ทั่วไปเป็นอย่างนั้น อย่างญาติโยมไปรักษาศีล ก็มีหัวหน้าพาไหว้พระต่างหาก ส่วนพระก็ลงไปไหว้พระที่โบสถ์ แยกกันอยู่คนละทาง เพราะเข้าใจว่าไหว้พระร่วมกันในระหว่างพระและฆราวาสนั้นย่อมเป็นอาบัติทุกคน อันนี้เป็นความเข้าใจที่มั่นแล้วก็รู้สึกว่ามั่นยิ่งกว่าอะไรมั่น ถ้าผู้ใดมีการไหว้พระรวมกับฆราวาสนั้น พระท่านผู้นั้นจะต้องเป็นอาบัติทุกกฏทุกคำ เค้าก็โจษจันอย่างแรงเลยว่าทีนี้ทำไม่ถูกต้อง ไม่รู้จักวินัย เขาเรียนมา เขารู้ วินัยข้อนี้คืออะไร การสอนธรรมแก่อนุปสัมบันหรือฆราวาสสามเณร ขึ้นพร้อมกันลงพร้อมกันไม่ได้ ถ้าว่าขึ้นพร้อมกันลงพร้อมกันเป็นอาบัติทุกกฏทุกคำ เค้าก็ยัน
ญาติโยมก็เกิดตกอกตกใจว่า เอ๊ะ นี่ เขาชักจะเริ่มดูถูกดูหมิ่นครูบาอาจารย์เราซะแล้ว ว่าเป็นพระป่าพระดง ไม่เข้าใจระเบียบธรรมวินัย ก็เลยบอกพวกเราสงสัยเหรอ บอกว่าสงสัย เพราะเขาก็รู้นะ เรียนนักธรรมเอกมา เขาเข้าใจอย่างนี้ๆ ทั่วๆไปของเขาเนี่ย ไม่มีอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ๆถึงจะถูก อันนี้มาว่ารวมกันได้ยังไง ก็บอกว่าเดี๋ยวอาตมาเอาตำรามาให้ดู พอยกตำรามาให้ดู ลองอ่านดูซิ
ข้อหนึ่งภิกษุสอนธรรมแก่ฆราวาส อย่าว่าพร้อมกัน ถ้าขึ้นพร้อมกัน ลงพร้อมกันเป็นอาบัติ เอาซะแล้วทีนี้ นอกจากหากท่องสาธยายได้ส่วนมากแล้ว ต่างฝ่ายต่างได้ส่วนมากแล้ว ย่อมสาธยายเข้ากันได้ อันนี้พวกเราทุกคนก็ได้ดีอยู่แล้ว เรามาสาธยายเข้ากัน มาสวดเข้ากัน มาว่าเข้ากัน เพื่อเป็นการนอบน้อมแด่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งธรรมและสงฆ์ ก็ไม่เห็นมีอะไรจะขัดข้องนี่พระวินัย
พอมาเห็นหลักฐานแล้วก็ แหม เกิดความกล้าหาญชาญชัยขึ้น ก็เอาท่านผู้รู้ทั้งหลายเหล่านั้นมาพิจารณากัน ว่าหลักฐานมันเป็นอย่างเนี้ย เค้าก็มาเลย นัดมา เค้ากะว่าจะเหยียบเต็มที่ เค้าก็มากันทั้งสองอาจารย์ เอาสมัครพรรคพวกเข้ามาพร้อม กางตำราขึ้นมาให้อ่านดู พออ่านตำราดูแล้ว วิเคราะห์แล้วก็หน้าซีดตามๆกัน ถาม เป็นไงบ้างข้อเท็จจริง “ครับ ยอมรับ” ยอมมั้ยว่าเราทำนี้ถูก บอก “ยอม ครับ ยอม” จะโจษอีกมั้ย บอกว่า “ไม่โจษแล้ว” จะดูถูกดูหมิ่นอีกมั้ย บอก “ไม่แล้ว ผมเข้าใจแล้ว แสดงว่าผมนี่โง่กว่า ยอมแพ้” เพราะฉะนั้นนี่แหละ มันเกิดการโจษจันกันได้เพราะความไม่เข้าใจ บางคนที่ไม่เข้าใจไม่นึกเลยเนี่ย พอได้ยินเค้าว่าก็เป๋ เอียง มันเป็นอย่างนั้น เราผู้รู้ผู้เข้าใจเข้าจริงๆแล้ว ไม่มีคำว่าเป๋ ไม่มีคำว่าเอียง เราจะต้องตรงต่อความจริงอยู่เสมอ เพราะพวกเราชอบความจริง อันนี้เป็นอย่างนั้น
อันนี้อย่างหนึ่ง พวกเรามารักษาศีลเนี่ย แม้เจ็ดวันนะ เราจะมาดิ้นรนหาเสบียงของจิตใจซักทีนึง อันนี้เราต้องเอาจริงเอาจัง ต้องตั้งอกตั้งใจเอาจริงเอาจัง อย่ามัวไปคุยกัน ไอ้เรื่องบ้านเรื่องสวน เรื่องเดรัจฉานวิชาสารพัดตัดทิ้ง เรามาตั้งหน้าตั้งตาประพฤติความดี สมกับที่เราเสียสละมานี้จึงจะถูกต้อง วันหนึ่งๆ ถ้าเราทำงานอยู่ที่บ้านก็ต้องได้งานได้การ วันหนึ่งๆ เราพักผ่อนอยู่ที่บ้าน เราจะมีความสุข เพราะทานเข้าได้สามสี่มื้อ ตามความปรารถนา
แต่ในเมื่อมารักษาอุโบสถศีลนี้ บางท่านบางคนยังอธิษฐานเสียด้วยว่า จะรับประทานข้าวมื้อเดียวในวันธัมมสวนะซะด้วย สรุปแล้วคนเคยอยู่แล้วนี่ มาเอาซะมื้อเดียว ไม่เหมือนมื้ออื่นๆที่เราเคยทำกันมา อันนี้มันก็ต้องรู้สึกว่าหิวอยู่แล้ว แต่แล้วพวกเราก็ยอม ในเมื่อพวกเรายอมมาอย่างนี้ พวกเราก็น่าจะประกอบขวนขวาย เอาสิ่งที่เราต้องการให้ได้ เจริญเมตตาภาวนาบ้าง ฟังเทศน์ฟังธรรมบ้าง เดินจงกรมนั่งสมาธิบ้าง ไหว้พระบ้าง อะไร ต้องพยายามกัน
อันนี้กำลังขอร้องขอวอนให้ท่านสมภารว่า ทุกวันธัมมสวนะนี่ ขอให้เทศน์ เอาซักสองโมงก็ได้ ไหว้พระจบแล้วก็เทศน์ เทศน์จบก็ได้ทำความสะอาดต่อ พอให้ญาติโยมได้พักผ่อนตอนกลางวันซักระยะหนึ่ง แล้วก็ตอนบ่ายสองโมงก็ว่ากันเลย ใครอยู่ที่ไหนๆก็มารวมตัวกัน ฟังกัน มาเดินจงกรมนั่งสมาธิกัน อันเนี่ยจะก่อให้พวกเราเกิดความกล้าหาญชาญชัยในเรื่องการไหว้พระ แบ่งกันออก เอ้า วันนี้คนนั้น วันนั้นคนนั้น วันนั้นคนนั้น วันนี้คนนั้น หางานไว้เลย เอ้า ต่อไปก็ฝ่ายหญิง วันนี้คนนั้น วันนั้นคนนั้นๆ พาเขาไหว้พระแล้ว ตัวเองก็อาราธนาศีลด้วย อะไรเหล่านี้
เอ๊ะ ยังขอร้องให้ครูบาโอภาสพิมพ์หนังสือแจก คณะกรรมฐานเราในเมื่อเทศน์จบแล้วเนี่ย มักจะสวด อะหัง พุทธัญจะ แล้วก็ว่า กาเย พอว่า กาเย จบหนึ่งกาพย์ กาเย จบสองกาพย์ กาเย จบสามกาพย์ แล้วก็กราบอีกสามทีจบ อันนี้เรานิยมกันมาก แม้แต่มาอยู่เนินดินแดง เราก็สวดกันทุกวันพระ แต่มาอยู่ที่นี้ไม่ได้สวดเลย เพราะมาใหม่ๆไม่อยากจะทำอะไรมาก เพราะกลัวมันจะแตกกันเสีย ก็เลยไม่กล้า ตอนนี้พวกเราคุ้นกันแล้ว ดีแล้ว ก็อยากให้พวกเราเนี่ยเอาตำรา ให้ครูบาโอภาสพิมพ์ซะ แล้วก็แจกกัน เราก็เอาตำรามากางว่ากันเสียก่อนทีแรก ก็ว่าทำนองธรรมดาก็ได้ทั่วไป ก็ว่าเป็นสรภัญญะ เราไม่ต้องว่าสรภัญญะ เพราะพวกเรามุ่งตัดกิเลส สรภัญญะอาจจะไปหลงเสียงของตัวเองได้ ไปหลงเสียงแล้วเนี่ยมันจะก่อให้เกิดซึ่งกิเลสได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องว่ากันแบบธรรมดาๆ ทำนองธรรมดาเช่น
อะหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต (ผู้หญิงก็ สะระณัง คะตา)
อุปาสิกัตตัง เทเสสิง สัมมา สัมพุทธะสาสะนัง
อะไรเหล่าเนี้ย ทำนองง่ายๆอย่างนี้ แล้วก็ลงท้ายก็ว่า กาเย อย่างที่เราเคยสวดกัน เพราะฉะนั้นกำลังขอร้องให้พระครูบาพระอาจารย์โอภาสตีพิมพ์เอามาแจกพวกเรา เอาไปท่อง ได้งูๆปลาๆก็มากางตำราว่ากันไป เอาอย่างนั้นก็แล้วกัน
หมายเหตุ
บุญกิริยาวัตถุ 10 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางทำความดี — bases of meritorious action)
1. ทานมัย (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ — meritorious action consisting in generosity; merit acquired by giving)
2. สีลมัย (ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี — by observing the precepts or moral behavior)
3. ภาวนามัย (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ — by mental development)
4. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม — by humility or reverence)
5. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ — by rendering services)
6. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น — by sharing or giving out merit)
7. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น — by rejoicing in others’ merit)
8. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ — by listening to the Doctrine or right teaching)
9. ธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ — by teaching the Doctrine or showing truth)
10. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง — by straightening one’s views or forming correct views)
ข้อ 4 และข้อ 5 จัดเข้าในสีลมัย; 6 และ 7 ในทานมัย; 8 และ 9 ในภาวนามัย; ข้อ 10 ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา
ข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)