Skip to content

ประวัติหลวงปู่สมชาย

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย

คัดลอกมาจากเวบวัดเขาสุกิม
(http://www.khaosukim.org)

| PDF | AnyFlip |

๑. ถือกำเนิด

พระวิสุทธิญาณเถร หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านเป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เกิดเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๔๖๘ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีฉลู เวลาเที่ยงวัน ณ หมู่บ้านเหล่างิ้ว ตำบลจังหาร อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด

โยมบิดาชื่อ สอน นามสกุล มติยาภักดิ์ โยมมารดา ชื่อ บุญ นามสกุล มติยาภักดิ์ โยมมารดาของท่านเป็นบุตรีคนเล็กของ คุณหลวงเสนา ผู้นำศาสนาพราหมณ์ ในท้องถิ่นนั้น หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา เดียวกันเพียง ๒ คน คือ

๑. นายหนู มติยาภักดิ์

๒. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย

คุณโยมมารดาของท่านได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็กอยู่ มีอายุได้ประมาณ ๒ ขวบหลังจากนั้นก็ได้ตกเป็นภาระของคุณตาหรือคุณหลวงเสนาได้ให้การอุปการะ เลี้ยงดูต่อมา แต่ท่านได้อยู่กับคุณตาไม่นานนัก คุณตาก็ถึงแก่กรรมจากไปอีก

กล่าวถึงคุณหลวงเสนา คือคุณตาของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย นั้น ท่านเป็นบุคคลที่มีความสำคัญคนหนึ่ง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน ในถิ่นนั้นมาก คือท่านเป็นหัวหน้า ใหญ่ เป็นผู้นำศาสนาพราหมณ์ และเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการบูชาเทวดาตามลัทธิศาสนา

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านได้ถือกำเนิด ในสกุลของศาสนาพราหมณ์วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๕ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะมีการแห่ต้อนรับปีใหม่ส่งท้ายปีเก่า ขบวนแห่ในปีนั้นเทพธิดาทรงหลังเสือ และมีวัวประจำปีฉลู มีการตั้งขบวนอยู่ที่บ้านหัวหน้า คือบ้านคุณหลวงเสนา และจะต้องแห่ไปรอบๆหมู่บ้าน ปกติจะต้องเริ่มแห่ตอนเที่ยงวัน โดยบังเอิญบุตรีของท่านปวดท้องคลอดบุตรตรงกับเที่ยงวันพอดี คุณหลวงเสนามาวุ่นอยู่ในเรื่องคลอดบุตรทำให้เลยเวลาแห่ ตามธรรมดาแล้วเมี่อถึงกำหนดเวลาเที่ยงวันคุณหลวงเสนาจะต้องออกไปสั่งให้จุดพลุ ตะไล ตีฆ้อง ตีกลอง 

เมี่อท่านไม่ได้ออกมาสั่ง การแห่ก็เลยหยุดแค่นั้น ปีนั้นก็เลยไม่ได้แห่ แล้วสัญลักษณ์รูปเสือและวัว ก็มาตั้งอยู่ที่ปลายเท้าเด็กที่คลอดออกมา ชาวบ้านทั้งหลายก็รังเกียจในตัวทารก เนื่องจากเกิดมาทำลายพิธีการแห่ครั้งนี้

ด้วยนิมิตหมายในครั้งนี้ คุณหลวงเสนาได้พยากรณ์ทำนายท่านไว้ว่า “เด็กคนนี้จะต้องเป็นผู้เปลี่ยนแปลงศาสนาเดิมของตระกูลในวันข้างหน้าอย่าง แน่นอน” เนื่องจากการเกิดของท่านต้องทำให้เสียพิธี จึงถือเป็นลางอย่างหนึ่งที่จะทำให้ศาสนาพราหมณ์ในถิ่นนั้นสิ้นสุดลง

และต่อมาปรากฏว่าภายหลังหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโยได้อุปสมบทในบวรพุทธศาสนา แล้วได้ศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมะจนเกิดความซาบซึ้งในพระศาสนาพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้เอาธรรมะไปอบรมสั่งสอน ประชาชนชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นให้เกิดศรัทธาปสาทะ ปัจจุบัน ประชาชนชาวบ้านในท้องถิ่นก็ได้หันมานับถือพุทธศาสนากันจนหมดสิ้น

๒. ภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบ

ภายหลังจากคณหลวงเสนา ผู้เปรียบเสมือนหนึ่งร่มโพธิ์ร่มไทร หรือดวงประทีปที่เคยให้แสง สว่างและความร่มเย็น ได้ถึงแก่กรรมลงอย่างกะทันหันด้วยอหิวาตกโรคระบาด ความรุ่งโรจน์ และแสงสว่างได้ดับวูบลงอย่างหน้าใจหาย อนาคตมืดมน มองไม่เห็นทิศทางว่าจะดำเนินวิถีชีวิตอย่างไรต่อไป

คุณแม่บังเกิดเกล้าจากไปตั้งแต่ท่านยังไม่ทราบว่า หน้าตาเป็นอย่างไรแล้วยังไม่พอ คุณตาผู้เปรียบเสมือนหนึ่งแม่บังเกิดเกล้าแทนคุณแม่ที่จากไป ก็มาจากไปอีกเป็นคนที่สอง คุณพ่อก็ยังมาปล่อยทิ้งสนใจเลี้ยงดู ท่านเลยความว้าเหว่วังเวงความสังเวชเศร้าโศก และความสลดอย่างสุดซึ้งได้เกิดขึ้น อย่างเหลือวิสัยที่จะพรรณนาให้ถูกต้องตามความรู้สึกได้

ในขณะนั้น เมี่อเหตุการณ์หรือมรสุมร้ายผ่านไปแล้ว ท่านก็ได้ไปอาศัยอยู่กับญาติผู้หนึ่ง มีศักดิ์ เป็นพี่ชาย ในฐานะเป็นลูกผู้พี่ ก็ได้อยู่ร่วมกันมาด้วยดีมีความสุขและราบรื่นมาระยะหนึ่ง มรสุม ลูกใหม่ก็เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สาม คือพี่สะใภ้ได้มาเสียชีวิต จากไปอย่างไม่มีวันกลับอีกปล่อยให้ลูกเล็ก ๆ ๔-๕ คนเป็นกำพร้า

หลวงปู่จึงต้องรับผิดชอบเป็นภาระเลี้ยงดูทำหน้าที่เสมือนแม่บ้านและผู้ปกครองอย่างเต็มความสามารถ เพราะหลังจากพี่สะใภ้จากไปแล้ว พี่ชายก็ประพฤติตัวเกเร มั่วสุมเรื่องอบายมุขทำตัวเป็นนักเลงหัวไม้ หาได้สนใจต่อหน้าที่ของตนไม่ ความเป็นไปภายในครอบครัวทั้งหมดจึงตกเป็นภาระหน้าที่ของท่านจะต้องรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ท่านจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อสร้างฐานะทางครอบครัวให้ขึ้นมาเทียมบ่าเทียมไหล่กับคนอื่น

ท่านได้ยึดอาชีพเป็นพ่อค้า ค้าส่งของทั่วไป ระหว่างหมู่บ้านกับตลาด วันไหนค้าขายมีกำไรมากหน่อยก็ซื้ออาหารการบริโภคมาฝากคนเฒ่าคนแก่และฝากเด็กๆในหมู่บ้าน ให้ได้รับประทานกัน นิสัยของท่านนั้นเป็นผู้เอื้อเฟื้อมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆแล้ว จึงติดตัวท่านมาจนถึงปัจจุบันนี้

ในสมัยที่ท่านกำลังดิ้นรนหาเงินสร้างฐานะอยู่นั้น ท่านมีอายุเพียง ๑๔ ปีเศษและต้องหอบหิ้วเลี้ยงดูหลานอีก ๔-๕ คน บ้านที่จะอยู่อาศัยก็ไม่มี ต้องไปขออาศัยอยู่ใต้ถุนบ้านญาติ คนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากผู้เป็นเจ้าของบ้านเท่าไรนัก จึงเป็นเหตุให้ท่านต้องดิ้นรนมุ่งมานะพยายามหาเงินเพื่อซื้อบ้านอยู่เป็นของตัวเอง ท่านได้พยายามหาเงินเก็บเงินทีละเล็กทีละน้อย และพี่ชายก็มักจะแอบมาลักขโมยไปเป็นประจำ ทั้งเสียใจทั้งน้อยใจในตัวของพี่ชายเป็นยิ่งนัก ทั้งๆที่ลูกของตัวเองก็ไม่เลี้ยงแล้วยังจะมาขโมยเงินที่ท่านหามาได้ไปใช้เสียอีก

ท่านได้ดิ้นรนหาเงินสร้างฐานะของท่านอยู่ถึง ๒ ปีกว่าด้วยการเป็นพ่อค้าบ้าง บางครั้งวัดใกล้บ้านมีงานมีการชกมวย ก็สมัครขึ้นชกมวยอีกด้วย หนทางใดที่จะหาเงินได้โดยสุจริต แล้ว ท่านยอมทุ่มเทกำลังกายกำลังใจทุกอย่างเพี่อแลกกับเงินที่จะนำมาเลี้ยงดูครอบครัว บางครั้งยังเคยไปรับจ้างเถ้าแก่คนจีนในตลาดร้อยเอ็ดหมุนเครื่องรถยนต์โดยสารร้อยเอ็ด-ขอนแก่น

พออายุได้ประมาณ๑๗-๑๘ปีความพยายามของท่าน ก็ได้สำเร็จขึ้นมาเป็นที่น่าพอใจ ได้จัดซื้อบ้าน ๑ หลัง ราคา ๗๕ บาท เกวียน ๑ เล่ม วัวราชามัย ๑ คู่ ราคา ๗๕ บาท และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ อีกหลายต่อหลายอย่าง จึงนับว่า ท่านมีนิสัยเป็นหัวหน้าและเป็นผู้นำที่ดี คือรู้จักรับผิดชอบตัวเองและส่วนรวมมาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่นวัยหนุ่ม ท่านจึงเป็นที่ยอมรับเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ และเป็นที่เคารพนับถือของผู้ที่ใกล้ชิด ตลอดทั้งบุคคลทั่วไปในหมู่บ้านนั้นอีกด้วย

ท่านได้ใช้ ชีวิตอยู่ในทางฆราวาสวิสัยจนถึงอายุ ๑๙ ปี ด้วยความเบื่อหน่ายต่อความเป็นอยู่ของโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย และเต็มไปด้วยความเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง น่าเบี่อหน่าย ท่านจึงคิดที่จะสละเพศฆราวาสวิสัยออกบวชในบวรพุทธศาสนา เพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์

เนื่องจากท่านมีอุปนิสัยในทางธรรมตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี ท่านมักจะฝันอยู่เป็นประจำทุกๆคืน เป็นระยะเวลา ๔ ปีกว่า ว่าในอดีตชาติได้เคยบวชเป็นนักพรตบำเพ็ญพรหมจรรย์ โดยปราศจากคู่ครองมาแล้ว ๓ ชาติ ชาติแรกได้ฝันไปว่าได้เกิดเป็นลูกของชาวประมง เป็นบุตรชายคนเดียวของพ่อแม่ ซึ่งอาศัยอยู่ในเกาะกลางทะเลแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพในทางจับปลา และมีคุณลุงซึ่งบวชเป็นหัวหน้าฤๅษีมาบิณฑบาตที่บ้านประจำ อุปนิสัยสมัยเด็กไม่ชอบทำปาณาติบาต ลุงซึ่งบวชเป็นฤๅษีชักชวนให้ไปอยู่ด้วยกัน เลยติดตามลุงไปบวชแล้วบำเพ็ญพรต พรหมจรรย์จนได้เป็นอาจารย์ฤๅษี

ชาติต่อมามีญาติเป็นหัวหน้าฤๅษีอยู่ในเขาแห่งหนึ่ง และได้มาบวชกับญาติบำเพ็ญพรตอยู่ในเขาลูกหนึ่ง จวบจนสิ้นอายุขัยในเขาลูกนั้น ชาติที่ ๓ ได้บวชเป็นฤๅษีในป่าใหญ่ เนี่องจากมีอุปนิสัยมาแล้ว ๒ ชาติ บำเพ็ญพรตบูชายันต์ จนได้เป็นหัวหน้าฤๅษี ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในป่าใหญ่จนสิ้นอายุขัย

๓. อุปนิสัยในทางธรรม

เมื่อครั้งสมัยที่คุณตาหลวงเสนายังมีชีวิตอยู่ คุณตาของท่านก็พยายามอบรมสั่งสอนทุกวิถีทางที่จะให้เกิดความรู้ความสามารถ เพื่อให้ได้เป็นผู้ดำรงวงศ์สกุลสืบไป เพราะว่าคุณหลวงเสนาท่านได้มองเห็นลักษณะพิเศษของหลานชายหลายอย่าง ซึ่งส่อแสดงให้เห็นว่าเป็น ลักษณะของบุคคลสำคัญคนหนึ่งในอนาคตข้างหน้า

แต่เนื่องด้วยนิสัยปัจจัยเก่าที่หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านได้เคยสร้างสมอบรมมาแล้วตั้งแต่อดีตชาติ เมี่อมาประสบเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส และพอใจในเพศของนักบวช ซึ่งมีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ สันโดษ แสวงหาความพ้นทุกข์แต่อย่างเดียว ท่านมีความพอใจเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

สมัยที่คุณตาหลวงเสนายังมีชีวิตอยู่นั้น หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านก็มีความสนใจในธรรมะทางพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ท่านจึงได้เสาะแสวงหาหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาอ่านอยู่เสมอๆ หนังสือที่ท่านชอบอ่านมาก ที่สุดในสมัยนั้นคือ หนังสือพุทธประวัติ บางครั้งท่านก็ได้หลบหนีคุณตาไปฟังเทศน์พระกรรมฐานอีกด้วย เคยไปฟังเทศน์จากพระอาจารย์นาค โฆโส ซึ่งเป็นพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร ที่มีชื่อเสียงอีกองค์หนึ่งในสมัยนั้น

แต่การกระทำของหลวงปู่หาได้ทำอย่างเปิดเผยไม่ เพราะเขาถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อลัทธิและศาสนาของ บรรพบุรุษอย่างร้ายแรงทีเดียว วันไหนที่คุณตาหลวงเสนาสืบรู้เข้าท่านก็จะต้องถูกจับลงโทษทันที บางครั้งถูกเฆี่ยนตี และมัดมือไพล่หลังตากแดด อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น และเพื่อจะให้เข็ดหลาบจะอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการระมัดระวังแค่ไหน การกระทำของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย หาได้รอดพ้นสายตาของคุณตาหลวงเสนาไปได้ไม่

บางครั้งก็ถูกจับได้และได้ถูกลงโทษดังกล่าวมาแล้วนั้น คือถูกตีและถูกมัดมือไพล่หลังตากแดด ถึงแม้ว่าท่านจะถูกคุณตาลงโทษอย่างไร ท่านก็ไม่เคยร้องไห้ ไม่เคยขอความเห็นใจจากผู้ลงโทษเลยเด็ดขาดนิ่ง เงียบ เฉย ตลอดเวลา เมื่อคุณตาซักถามว่าเข็ดหรือยัง หลาบหรือยัง ท่านก็นิ่ง เงียบ เฉย อยู่อย่างนั้น

การสนใจอ่านหนังสือธรรมะ หรือหนังสือพุทธประวัติ ตลอดจนไปฟังเทศน์พระกรรมฐานและการไปทำบุญกับพระตามวัดต่างๆ ที่เป็นสำนักปฏิบัติก็ได้ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้งแต่ท่านก็ทำอย่างสุขุมรอบคอบยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเกรงใจคุณตาและกลัวคุณตาจะลงโทษอีก จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องแปลกมาก ทั้งๆที่ท่านก็เกิดและอยู่ในกลุ่มของศาสนาพราหมณ์ แต่ท่านมีความสนใจเลื่อมใสในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าผู้เขียนเมื่อได้ยินท่านเล่าถึงประวัติตอนนี้แล้ว ก็อดคิดถึงครั้งสมัยพุทธกาลไม่ได้ ตัวอย่างสาวกของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ก็ล้วนแต่เป็นผู้นับถือศาสนาอื่นมาก่อนแทบทั้งนั้น ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่ของแปลกสำหรับผู้มีวาสนาบารมี เพราะนิสัยปัจจัยเก่าดลบันดาลให้เป็นไป

๔. บรรพชา พ.ศ. ๒๔๘๗

เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจึงเท่ากับว่าเป็นสิ่งกระตุ้น หรือตีต้อนให้ท่านหันเข้าสู่โลกุตรธรรม เร็วขึ้นเป็นลำดับ และภายหลังจากที่พี่สะใภ้จากไป ท่านก็ปฏิบัติหน้าที่ของท่านโดยสมบูรณ์ทุกประการ เมื่อเห็นว่าเป็นโอกาสอันสมควรแล้ว ท่านจึงได้พูดเรี่องการอยากบวชให้พี่ชายฟัง

พี่ชายเห็นว่าคงเป็นไปไม่ได้ จึงได้พูดขึ้นมาว่า ถ้าบวชได้ก็ดี ไม่ขัดข้อง เมื่อท่านเห็นว่าได้รับอนุญาตแต่โดยดีเช่นนั้นแล้ว จึงได้รีบจัดแจงเตรียมสิ่งของทันที เพราะกลัวว่าพี่ชายจะกลับใจ พอเตรียมสิ่งของต่างๆ เสร็จกะประมาณว่าเที่ยงคืน ท่านจึงได้ออกจากบ้านเดินทางผ่านทุ่งนามุ่งหน้าสู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

พอรุ่งเช้าก็เข้าไปมอบกายถวายตัวเป็นนาคกับ ท่านพระอาจารย์เพ็ง พุทธธัมโม (ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดเทิง เสาหิน จังหวัดเชียงราย) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น และได้อยู่ฝึกฝนอบรมพอสมควรแล้ว ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ อุโบสถวัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี ท่านเจ้าคุณพระโพธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด ธรรมยุต เป็นพระอุปัชฌาย์ บรรพชาเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก อายุ ๑๙ ปี และได้พำนักจำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ๑ พรรษา

๕. ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น พ.ศ.๒๔๘๗

ในระหว่างที่หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์นั้น ท่านก็ได้ยินกิตติศัพท์ว่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร เป็นพระอรหันต์ ผู้หมดจดจากกิเลส จึงทำให้หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย มีความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ใคร่ที่จะได้เห็นพระอรหันต์ในสมัยปัจจุบัน

ดังนั้นเมื่อออกจากพรรษาแล้ว จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์เพ็ง พุทธธัมโม ผู้เป็นเจ้าอาวาส พร้อมด้วยคณะรวม ๕ รูป ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่สำนักหลวงปู่มั่น ในระหว่างทางที่ผ่านไป ท่านก็ได้แวะเยี่ยมชมและศึกษาข้อวัตรปฏิบัติตามสำนักต่างๆเรื่อยไป เช่นสำนักของ ท่านพระอาจารย์แดง วัดป่าสักวัน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักของ ท่านพระอาจารย์สอน วัดภูค้อ เป็นลำดับไป จนถึงเขตสาขาสำนักหลวงปู่มั่น คือสำนักของท่านพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน วัดป่าบ้านโคกมะนาว ซึ่งเป็นสำนักหน้าด่านตั้งอยู่รอบนอก

ตามปกติแล้ว ผู้ที่จะเข้าไปสู่สำนักของหลวงปู่มั่น จะต้องผ่านการฝึกฝนอบรมจิตใจ และฝึกมารยาทให้เรียบร้อยดีเสียก่อน จึงจะปล่อยให้เข้าไปได้ สำหรับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็อยู่ในฐานะเช่นนั้นเหมีอนกัน เมื่อได้อยู่ฝึกฝนอบรมจิตใจและฝึกมารยาทพอสมควรแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยคณะ ซึ่งมีรายนามดังต่อไปนี้คือ

๑. ท่านพระอาจารย์ประสบ

๒. หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

๓. ท่านพระอาจารย์ อินตา

๔. หลวงปู่ป่อง จนทสาโร

๕ หลวงป่สมชาย ฐิตวิริโย (สมัยนั้นยังเป็นสามเณร)

ทั้งหมดได้พากันเข้าไปมอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร เมี่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่วัดป่า บ้านหนองผือ ตำบลนาในอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในขณะนั้นหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ยังเป็นสามเณร ในลำดับ แรกเมี่อได้เข้าไปถึงสำนักหล่วงปู่มั่น ก็ได้เห็นความสะอาดสะอ้านภายในบริเวณวัดตลอดถนนหนทาง และสถานที่อยู่ของผู้ปฏิบัติธรรมทุกแห่งมีแต่ความร่มรื่นสวยงามตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ชวนให้อยากภาวนา ดูประหนึ่งว่าจิตใจเริ่มเป็นสมาธิตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ

นอกเหนือไปกว่านั้น ก็ได้เห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยและมารยาทอันสวยงามของหลวงปู่มั่น ที่ได้เมตตาออกมาให้การปฏิสันถารต้อนรับ จึงยังความปลื้มปีติยินดีความอิ่มเอิบให้เกิดขึ้นอย่างแปลกประหลาด และไม่เคยได้รับมาก่อนจากสำนักใดๆที่ได้เคยผ่านมา จึงนับว่าวันนั้นเป็นวันปฐมฤกษ์แห่งความเป็นอุดมมงคลในชีวิตนี้ที่จะลืมลงไม่ได้เป็นอันขาด

ในระหว่างที่ท่านได้พักอาศัยเพี่อศึกษาธรรมปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถรนั้น ท่านก็ได้ใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติสมาธิจิต เพื่อพิสูจน์ความจริงทางพระศาสนา และท่านได้ขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่งยวดต่อข้อวัตรปฏิบัติน้อยใหญ่ทั้งปวง โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนี่อย

การอุปถัมภ์อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ก็เป็นไปด้วยดี สม่ำเสมอไม่บกพร่อง ตอนกลางวันนั้นท่านไม่เคยพักผ่อนหรือจำวัดเลย เว้นเฉยแต่อาพาธเท่านั้น เพราะกลัวเวลาไม่พอที่จะประกอบความเพียร และไม่พอที่จะศึกษาค้นคว้าธรรมะ

๖. ธรรมะสำคัญกว่าวัตถุ

ในวันหนึ่งซึ่งเป็นฤดูหนาว และในวันนั้นบรรดาพระเถรานุเถระ พระภิกษุ สามเณร ได้เข้าไป กราบหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร เป็นจำนวนมากจนเต็มกุฏิ เพี่อขอรับฟังธรรมะภาคปฏิบัติจากหลวงปู่ ส่วนหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย (ในสมัยนั้นเป็นสามเณร) และหมู่คณะซึ่งเป็นสามเณรด้วยกัน ไม่มีโอกาสที่จะขึ้นไปรับฟังธรรมะบนกุฏิได้ เนื่องจากมีเหตุสองประการคือ

๑. สถานที่นั่งมีไม่เพียงพอ ๒. สามเณร มีหน้าที่ถวายการอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ พระเถรานุเถระ และพระอาคันตุกะที่มาสู่สถานที่ เพราะตามปกติแล้วสำนักปฏิบัติ หรือวัดพระกรรมฐาน พอถึงตอนเย็นบรรดาสามเณรทั้งหลายก็ต้องพากันต้มยาสมุนไพร เพื่อถวายพระเถรานุเถระ และถวายครูบาอาจารย์เป็นประจำ ประจวบกับในตอนนั้นท่านกับพวกสามเณรด้วยกัน ได้พากันต้มยาไว้ถวายครูบาอาจารย์หม้อหนึ่ง เมื่อได้ยินเสียงหลวงปู่มั่นเทศน์ธรรมะ ก็ได้พากันรีบมาฟัง

เมื่อมาถึงกุฏิหลวงปู่มั่น ก็ได้เห็นพระเถรานุเถระนั่งเต็มกุฏิไปหมด เห็นว่าไม่มีโอกาสจะขึ้นข้างบนไปฟังได้แล้ว จึงได้พากันหลบเข้าไปยืนฟังอยู่ในใต้ถุนกุฏิด้วยความตั้งอกตั้งใจ บางคำหรือบางตอนหลวงปู่พูดค่อยฟังได้ยินไม่ชัดเจน

พวกสามเณรก็พากันเขย่งเท้าเงี่ยหูฟังด้วยความกระหาย จิตใจจดจ่ออยู่กับกระแสเสียงแห่งธรรมะนั้น จนเสียงธรรมะนั้นไม่ได้ผ่านเข้าหู คือผ่านเข้าทางใจโดยตรง จนทำให้ลืมนึกถึงหม้อยาที่ได้พากันต้มเอาไว้ และลืมนึกถึงความเย็นยะเยือกของอากาศในฤดูหนาว ในตอนนั้นผ้าจีวรจะห่มคลุมกายก็ไม่ได้เอาไปด้วย สิ่งที่คลุมกายก็เพียงสบงกับผ้าอังสะเท่านั้น

ในวันนั้นหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร ได้อธิบายธรรมะวิจิตรพิสดารมากกว่าทุกวัน ในระหว่างฟังธรรมะอยู่นั้น ก็มีเสียงซุบซิบให้ไปดูหม้อยาที่พากันต้มไว้ ต่างองค์ต่างก็เกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา และแล้วเสียงนั้นก็เกี่ยงมาถึงสามเณรสมชาย แต่เนื่องด้วยกำลังใจจดใจจ่อกับการฟังธรรมะและมีความเสียดายในธรรมะ กลัวว่าธรรมะจะขาดตอน จึงสงบนิ่งอยู่ไม่สนใจกับเรื่องหม้อยา และก็ยังคงนิ่งฟังอยู่ต่อโป แล้วก็มีเสียงบางองค์สอดขึ้นมาว่า

ถ้าคูรบาสมชายไม่ไป ครูบาต้องรับผิดชอบเรื่องหม้อยานะ ท่านก็ยังคงตั้งอกตั้งใจฟังต่อไปจนหลวงปู่มั่นเทศน์จบ เมื่อหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร เทศน์จบลงแล้ว สามเณรสมชายก็ได้รีบไปดูหม้อยาทันที แต่ปรากฏว่าน้ำยาที่ต้มไว้นั้นเหือดแห้งจนหม้อยาแตกก้นทะลุแล้ว ใช้การไม่ได้อีกต่อไป

เมื่อหมู่คณะเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นดังนี้ ต่างองค์ต่างก็พากันตำหนิติเตียนและกล่าวโทษว่าสามเณรสมชาย ทำให้ของสงฆ์เสียหาย พระบางองค์ถึงกับด่าว่าจะลงโทษท่านก็มี เพราะความหวั่นเกรงต่อหลวงปู่มั่น จึงได้พากันโยนความผิดทั้งหมดมาให้ท่านรับแต่เพียงผู้เดียว สามเณรสมชาย ท่านมีนิสัยเป็นลูกผู้ชายเต็มตัวอยู่แล้ว เมื่อผิดท่านก็ยอมรับผิดแต่โดยดี จะลงโทษสถานใดท่านก็ยอมทั้งนั้น

ขอแต่ได้มีโอกาสอยู่ฟังธรรมะจากหลวงปู่มั่นเท่านั้นก็เป็นที่พอใจแล้ว ด้วยกุศลเจตนาที่มีอยู่ ประกอบด้วยบารมีธรรม จึงทำให้ท่านไม่หวั่นไหวต่อการตำหนิ หรือการลงโทษจากหมู่คณะครูบาอาจารย์ และท่านก็ไม่มีการพูดโต้เถียงหรือแถลงการณ์แก้ตัวใดๆ ทั้งนั้น นิ่ง เงียบ ยอมรับผิด ยอมรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนของครูบาอาจารย์อยู่ตลอดเวลา

ในขณะที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหม้อยาแตกชำรุดใช้การไม่ได้นั้น หลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร ก็เดินผ่านมาทางนั้นพอ ดีและได้มองเห็นหม้อยาก้นทะลุตั้งอยู่บนเตานั้น หลวงปู่ท่านจึงได้หัวเราะออกมาเบาๆ ซึ่งเป็นลักษณะเข้าใจความหมายและไม่ตำหนิกับการกระทำอันนั้น พร้อมกันนั้นหลวงปู่ท่านจึงได้ปรารภออกมาเบาๆว่า “ธรรมะดีกว่าวัตถุและหายากกว่าวัตถุภายนอก” คำพูดของหลวงปู่เพียงสองประโยคเท่านั้น ก็ทำให้บรรยากาศที่กำลังตึงเครียดอยู่นั้นกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ทุกองค์ที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้น ก็มีสีหน้าเบิกบานอย่างมอง เห็นได้ชัด สำหรับสามเณรสมชาย ท่านยิ่งมีความปลื้มปีติ และมีความซาบซึ้งในคุณธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณมาก ที่หลวงปู่ท่านสามารถเข้าใจเจตนาของท่านได้ถูกต้อง และเป็นธรรมสมกับที่เขายกย่องสรรเสริญว่า เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐจริง ๆ แต่ก็ไม่รู้จะ อธิบายอย่างไร จึงจะเหมือนความรู้สึกภายในได้

แต่ก่อนผู้เขียนเคยคิดสงสัยว่า ด้วยเหตุใดครั้งสมัยพุทธกาล พอฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันได้รวดเร็วเหลือเกินพอหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านได้เล่าเรื่องการฟังเทศน์หลวงปู่มั่น เมื่อสมัยที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่นั้น คือมีความตั้งใจฟังจริงๆ โดยเสียงเทศน์นั้นไม่ได้ผ่านเข้าทางโสตประสาทเลย คือเข้าสู่ใจโดยตรง

จึงทำให้ได้แง่คิดว่า ครั้งพุทธกาลที่พระสาวกทั้งหลายได้ฟัง ธรรมแล้วสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นกันเป็นจำนวนมากชะรอยคงเป็นในทำนองเดียวกันนี้กระมัง เพราะในครั้งพุทธกาลมีคนสนใจธรรมะกันมาก และประกอบกับมีบารมีเป็นพื้นฐานอย่แล้ว ฉะนั้นที่ความตั้งใจมั่นก็เป็นบารมี ส่วนหนึ่งเป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้สำเร็จเร็วขึ้น พอได้ฟังธรรมะจึงสามารถเข้าใจ และสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลทันที

หลังจากสามเณรสมชายท่านได้เข้าไปมอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร แล้ว ท่านก็ได้ตั้งใจศึกษาธรรมะ และข้อวัตรปฏิบัติน้อยใหญ่ทั้งปวงอย่างอุทิศชีวิตมาตลอด

๗. อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๘๙

เมื่อสามเณรสมชายมีอายุครบ ๒๑ ปี สมควรที่จะทำการญัตติจตุตถกรรมเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร ก็ได้มอบผ้าสังฆาฏิ ๑๑ ขันธ์ ให้หนึ่งผืน และช้อนส้อมทองเหลืองอีกหนึ่งคู่ เพื่อร่วมในการอุปสมบทสามเณรสมชาย

สามเณรสมชายเห็นว่าเป็นผ้าของครูบาอาจารย์ที่เคยใช้มาก่อน ลูกศิษย์ไม่ควรเอาไปใช้ เพราะจัดอยู่ในประเภทบริโภคเจดีย์ ควรแก่การกราบไหว้สักการะบูชาแก่ศิษยานุศิษย์มากกว่า ท่านจึงไม่กล้าที่จะนำไปใช้และเก็บไว้บูชา

พอหลวงปู่มั่นทราบเจตนาของสามเณรสมชาย ดังนั้นแล้ว หลวงปู่มั่นจึงได้สั่งให้ คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ ซึ่งเป็นโยมอุปฐากของท่านที่สำคัญคนหนึ่ง ให้เป็นผู้จัดการหาผ้าสังฆาฏิผืนใหม่มาถวาย ด้วยแรงศรัทธาของคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ เคยเกี่ยวข้องและได้อุปัฏฐากพระกรรมฐานสายปฏิบัติมานานตั้งแต่ครั้งสมัยหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโร ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร จึงทำให้คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์เกิดความซาบซึ้งใจในคุณธรรมและเห็นความสำคัญในพระปฏิบัติมาก ดังนั้นเมื่อหลวงปู่มั่นมีความประสงค์สิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นไม่เหลือวิสัยจริงๆ แล้วคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ จะต้องจัดหามาถวายทุกอย่างให้สมเจตนา

สำหรับเรื่องผ้าสังฆาฏิที่จะใช้ในการอุปสมบทสามเณรสมชายในครั้งนั้นก็เหมือนกัน ทั้งๆที่สมัยนั้นผ้าหายากมาก เพราะสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งจะเสร็จสิ้นลงใหม่ๆ ถึงแม้ว่าจะยากแสนยากเท่าไรก็ตาม คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้ผ้าสังฆาฏิมาถวายตามความประสงค์ของหลวงปู่มั่นจึงได้ลาดตระเวนหาซื้อผ้าตามจังหวัดต่างๆ หลายต่อหลายจังหวัด

ในที่สุดก็สำเร็จสมความปรารถนา จึงนับได้ว่า คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการอุปสมบทสามเณรสมชายในครั้งนั้น ผ้าสังฆาฏิที่นำมาถวายในครั้งนั้นคิดเป็นมูลค่า ๔๐๐ บาท สมัยนั้นนับว่าเป็นผ้าที่มีราคาแพงมากพอสมควร

เมื่อจัดบริขารทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร ท่านก็ได้สั่งให้ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโลเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้ทำการอุปสมบทกรรม ณ พัทธสีมา วัดศรีโพนเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ครูบาอาจารย์ที่ได้กล่าวนามมาทั้งหมด ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นทั้งสิ้น โดยเฉพาะท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์นั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร อีกด้วย

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นทั้งลูกศิษย์ หลานศิษย์ และเป็นเหลนศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภายหลังจากอุปสมบทกรรมแล้ว หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้ไปอยู่จำพรรษา ณ วัดป่าภูธรพิทักษ์ (ธาตุนาเวง) อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยมีหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น

ต่อมาเมื่อนายวัน สิทธิผลซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้เก็บรักษาผ้าสังฆาฏิของหลวงปู่มั่นเอาไว้ จึงได้มาขอเพื่อนำไปสักการะบูชาที่บ้าน หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านก็ได้มอบให้แต่โดยดี

เพราะเห็นว่านายวัน สิทธิผล ก็เป็นลูกศิษย์อีกผู้หนึ่งที่มีความศรัทธาเลื่อมใสต่อหลวงปู่มั่นเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้จึงไม่ทราบว่าผ้าสังฆาฏิผืนดังกล่าวนั้น จะยังอยู่กับนายวัน สิทธิผลอีกหรือไม่

๘. มูลเหตุที่ทำให้ท่านเกิดกำลังใจ

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เคยเล่าถวายพระภิกษุสามเณรฟังอยู่เสมอๆว่า สิ่งที่ทำให้ท่านเกิดกำลังใจในการประกอบความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ ถึงกับไม่ได้เอนกายลงนอนจำวัดเลย เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน บางครั้งเป็นเดือน สองเดือนก็เคยมี เนี่องจากในคืนวันหนึ่ง ในขณะที่ท่านได้เข้าไปอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นที่กุฏิท่านทำการบีบนวดถวายหลวงปู่เป็นเวลานานพอ สมควรแล้วก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า

“เราได้ประกอบความเพียรติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา ๒ วัน ๒ คืนแล้วยังไม่ได้พักเลย พรุ่งนี้ก็จะต้องออกเดินทางไปธุระที่สกลนคร เพี่อบอกลาคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ ในฐานะที่เป็นโยมอุปัฏฐาก ได้จัดบริขารถวายในคราวอุปสมบท จากนั้นก็จะไปกราบลาหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เพื่อจะเดินทางไปจำพรรษาที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เมื่อคิดแล้วก็เกิดความอยากจะไปพักผ่อนเพื่อบรรเทาความเหน็ดเหนี่อย และเอากำลังไว้ใช้ในการเดินทาง”

ในขณะที่กำลังกังวลอยู่กับความคิดเหล่านั้น หลวงปู่มั่นก็ได้พูดสวนความคิดขึ้นมาว่า จะไปพักก็ไปได้นะ สังขาร ร่างกายอย่าไปหักโหมมันมากนัก พรุ่งนี้เราก็จะออกเดินทางไกล เราก็ไม่ได้พักมาสองวันสองคืนแล้ว

คำพูดของหลวงปู่มั่นได้ไปตรงกับความคิดที่ท่านกำลังคิดอยู่พอดี จึงได้นึกสะกิดใจว่า หลวงปู่มั่นพูดขึ้นมาลอย ๆ หรือว่าท่านจะรู้วาระจิตของเรา และแล้วก็วิจัยวิจารณ์อยู่ขณะหนึ่งผ่านไป จิตก็ได้หวนนึกถึงเรี่องทึ่จะไปพักขึ้นมาอีก หลวงปู่มั่นก็ได้พูดขึ้นมาอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งก็ตรงกับความคิดในขณะนั้นอีก

จึงทำให้หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย แน่ใจว่า หลวง ปู่มั่นรู้วาระจิตของเราจริง ๆ ทำให้เกิดความอิ่มเอิบปลื้มปีติ และมีความซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย หายเหน็ดเหนื่อย หายอ่อนเพลีย ความง่วงเหงาหาวนอนหายไปจนหมดสิ้น เนื่องจากเกิดความมหัศจรรย์ในคุณธรรม และวิชชาของหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร ท่านจึงได้ตั้งหน้าตั้งตาบีบนวดถวายหลวงปู่มั่นต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และพลางก็คิดว่า เราจะต้องเอาวิชชาอันนี้ให้ได้ และได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวถ้าไม่โด้ไม่ยอม

”หลวงปู่มั่นท่านก็มีร่างกายสังขารเป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรานี่เอง เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับท่าน ท่านทำได้เราจะไม่ได้อย่างท่านก็ลองดู แต่คิดว่าคงไม่เหลือวิสัย” พอท่านคิดจบ หลวงปู่มั่นท่านก็พูดสวนความคิดขึ้นมาอีกว่า … “เอาแน่หรือ”

เมี่อท่านได้ฟัง คำพูดของหลวงปู่มั่นเพียงเท่านั้น ความ ปลื้มปีติ ความอิ่มเอิบ และความมีพลังใจก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะความมหัศจรรย์ในความสามารถของหลวงปู่มั่น ที่ท่านได้บำเพ็ญจนบรรลุวิชชาชนิดนี้ขึ้นมาได้จนดำริรู้ภายในใจของผู้อื่นได้ เรี่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และอภิญญาสมาบัติ หรือ วิชชาในทางพระพุทธศาสนา เช่นเจโตปริญญา การกำหนดรู้วาระจิตของคนอื่น ที่ท่านได้กล่าวไว้ในคัมภีร์แต่ก่อนเราเข้าใจ ว่าเป็นเพียงนวนิยาย บัดนี้กลายเป็นความจริงเสียแล้ว เราได้มีโอกาสเห็นหลวงปู่มั่น ซึ่งเป็นสาวกสุดท้ายภายหลังยังมีความมหัศจรรย์ถึงปานนี้ ถ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือได้เห็นพระอริยสงฆ์สาวกในครั้งพุทธกาลแล้ว จะมีความมหัศจรรย์สักเพียงไร

๙. บำเพ็ญธรรมที่ถ้ำคำไฮและถ้ำเจ้าผู้ข้า

ภายหลังจากที่เสร็จจากการอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านก็ได้กลับไปสู่ที่พัก แต่แทนที่ท่านจะพักผ่อนหรือจำวัดตามที่มีความดำริเอาโว้ตั้งแต่ตอนแรก กับเปลี่ยนมาเร่งประกอบความเพียร ในคืนวันนั้นตลอดทั้งคืน ได้ประกอบความเพียรอยู่ในอิริยาบถสาม คือ ยืน เดิน นั่ง ได้แก่การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาตามหลักการบำเพ็ญสมาธิจิตนั่นเอง

พอรุ่งเช้าวันใหม่ก็ออกบิณฑบาตตามปกติ และภายหลังจากเสร็จสิ้นภัตกิจแล้ว ท่านก็ได้เข้าไปกราบลาหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร เพี่อออกเดินทางไปจังหวัดสกลนคร ถึงจังหวัดสกลนครและได้ทำกิจธุระทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แทนที่ท่านจะมุ่งหน้าไปอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ตามที่ได้ตั้งใจไว้ในเบื้องแรก กลับเปลี่ยนใจเข้าไปบำเพ็ญในป่า ซึ่งมีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่งเรียกว่า “ถ้ำคำไฮ” บ้านลาดกะเฌอ ท่านได้พักบำเพ็ญอยู่เป็นเวลาพอสมควร ก็ได้ย้ายไปบำเพ็ญต่อที่ “ถ้ำเจ้าผู้ข้า’ อำเภอ พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ซึ่งมีนายลุนและทิดไทย เป็นผู้อุปัฏฐาก ถ้ำทั้งสองแห่งอยู่ไม่ห่างจากสำนักหลวงปู่มั่นเท่าไรนักท่านได้ปักกลดบำเพ็ญมาโดยตลอด ไม่เคยลดละประมาทเลย นับตั้งแต่ได้ออกจากสำนักหลวงปู่มั่น มาเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนเศษ ได้บำเพ็ญเพียรอยู่ในอิริยาบถสาม และไม่เคย เอนกายลงพักผ่อนหรือจำวัดเลยด้วยความเอิบอิ่มและปลื้มปีติ ซึ่งได้รับมาจากหลวงปู่มั่นเป็นพื้นฐานแล้ว และยังได้เดินจงกรม นั่งสมาธิ บำเพ็ญภาวนาเพิ่มเติมจนจิตสงบเข้าสู่ฐานของสมาธิ ยิ่งทำให้ความสุขความเอิบอิ่มมีพลังสูงยิ่งเป็นทวีคูณ เหลือวิสัยที่จะพรรณาให้ถูกต้องตามความรู้สึกภายในได้ ยิ่งปฏิบัติเท่าไร รสชาติต่างๆ ของธรรมะที่เกิดขึ้นจากผลของสมาธิ ทำให้เกิดความดูดดื่มและแปลกประหลาดมหัศจรรย์ซาบซึ้งถึงใจ ยากที่จะหารสชาติอะไรในโลกมาเปรียบได้ 

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านได้มีแง่คิดขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าทรง ตรัสรู้ธรรมใหม่ๆ ในคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่า พระองค์ได้ทรงเสวย วิมุตติสุขถึง ๗ สัปดาห์ อันนี้ไม่ต้องสงสัยเลย ของเราเพียงแค่สมาธิขั้นต่ำๆ หรีอขั้นกามาวจรกุศลชั้นละเอียดเท่านั้น ยังไม่ถึงวิมุตติ วิโมกข์ หรือฌานญาณอะไรเลย ยังมีความสุขถึงเพียงนี้

ยิ่งเพิ่มความซาบซึ้งและมหัศจรรย์ในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระศาสนามากขึ้นเป็นลำดับว่าพระพุทธเจ้าท่านช่างมีความฉลาด ลึกล้ำคัมภีรภาพจริงๆ ถ้าคนผู้นึกเดาเอาโดยไม่ได้ปฏิบัติให้เกิดความสงบแล้ว จะไม่มีความซาบซึ้งแน่นอน ศึกษาตามตำรามากยิ่งสงสัยมาก เดามากเท่าไร ยิ่งไกลความจริงมากเท่านั้น

แต่ถ้าใครปฏิบัติจนเกิดความสงบ คือ สงบจากบาป ก็จะเกิดความซาบซึ้งขึ้นเอง ถ้าสงบมากก็ซึ้งมาก ถ้าสงบน้อยก็ซึ้งน้อย โดยสมควรแก่การปฏิบัติ ผู้ที่มีความซาบซึ้งในพระศาสนาจริงๆ จะมีความรักและหวงแหนพระศาสนาที่สุดยิ่งกว่าชีวิต กล้ายอมเลยสละทุกอย่างเพี่อจรรโลง และเทิดทูนพระศาสนา มีความเคารพในระเบียบพระธรรม วินัยน้อยใหญ่ทั้งปวง ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญติไว้ และเข้าใจถูกต้องว่าพระธรรมวินัยแต่ละข้อมีความหมายสำคัญอย่างไร

๑๐. บำเพ็ญธรรมในวิเวกสถาน

เมี่อหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้พักบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำคำไฮ และถ้ำเจ้าผู้ข้า พอสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านก็ได้เดินทางออกจากสถานที่ดังกล่าว มุ่งหน้าสู่ภูมิประเทศอันเป็นดินแดนแห่งความสงบ ซึ่งนักปฏิบัติหรือพระกรรมฐานชอบไปแสวงหากำลังใจจากความสงบวิเวกในสถานที่นั้นเป็นอันมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นองค์สำคัญๆหลายองค์ เช่นหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม (ท่านเจ้าคุณพระ อุดมสังวรวิสุทธิเถร) และ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เป็นต้น

สถานที่ดังกล่าวอยู่ ณ แห่งหนตำบลใด อำเภออะไร จังหวัดอะไรท่านผู้อ่านคงนึกวาดภาพไปต่างๆนานา ตามความเข้าใจของแต่ละท่าน ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสเล่าถึงสถานที่แห่งนี้ให้แก่ท่านผู้อ่านได้ทราบพอสมควรแก่เวลาดังต่อไปนี้คีอ

สถานที่ดังกล่าวนี้เป็นภูเขาลูกหนึ่งมีเทือกยาวติดต่อกัน และมีลูกเล็กบ้างใหญ่บ้างสลับซับซ้อนกันจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง สถานที่แห่งนี้ภาษาท้องถิ่น (อีสาน) เรียกว่า “ภูวัว” และมีหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ที่สุด พอได้โคจรบิณฑบาตระยะทางห่างจากที่อยู่ประมาณ ๗ กม. หมู่บ้านดังกล่าวมีชื่อว่า บ้านดอนเสียด ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย

สำหรับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เมื่อได้เดินทางไปถึง ท่านก็ได้ปักกลดบำเพ็ญภาวนาติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายเดือน และมีโอกาสทำสมาธิได้เต็มที่ เพราะครั้งนั้นท่านได้ธุดงค์ไปเพียงองค์เดียว ท่านจึงไม่มีความกังวลใดๆทั้งสิ้นเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น มีหน้าที่บำเพ็ญสมณธรรม เพี่อความหลุดพ้นซึ่งเป็นจุดหมายที่ได้ตั้งใจเอาไว้

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านเป็นผู้เสียสละ เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ในการออกปฏิบัติธรรมจริงๆ ท่านยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิต เพี่อแลกเปลี่ยนเอาคุณธรรม ท่านมีอุดมคติอยู่ว่า “ไม่ดีไห้ตาย ไม่ตายให้ดี” อันนี้เป็นปณิธานอันเด็ดเดี่ยวของท่าน เพราะสมัยนั้นภูวัวเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น ช้าง เสือ หมี และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าไม่เสียสละจริงๆจะไม่มีความสามารถอยู่ได้เลย บางครั้งเวลาออกบิณฑบาต ยังเห็นรอยเสือขีดข่วนต้นไม้ตามสายทางที่ผ่านไป มีทั้งใหม่และเก่า บางครั้งน้ำยังขุ่นๆอยู่ก็มี “ยิ่งพอตกตอนกลางคืนเสียง เสือมันร้องคำรามน่าหวาดหวั่น” พอมันร้องแต่ละที ในป่าอันแสนสงบวิเวกดูประหนึ่งว่า สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ไปทั้ง อาณาเขตภูเขาลูกนั้น บางคืนมีทั้งช้างและเสือ คืนไหนที่ไม่ได้ ยินเสียงสิงสาราสัตว์ต่างๆ นั้นเป็นไม่มี จึงนับว่าเอาชีวิตไปเสี่ยงต่ออันตรายจริงๆ

พอเขียนมาถึงตอนนี้ จึงทำไห้ผู้เขียนนึกถึงปัญหาข้อหนึ่ง ซึ่งมีผู้ถามมานานแล้วว่า จำเป็นอย่างไรการฝึกสมาธิจิต หรือการปฏิบัติธรรม จึงจะต้องเลือกสถานที่ เพราะการกระทำความดีทำที่ไหนก็น่าจะได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอเวลาแวะตรงนี้สักนิดหนึ่ง ขอพาท่านผู้อ่านศึกษาภูมิประเทศแห่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อการปฏิบัติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระกรรมฐาน ท่านชอบไปภาวนากันนั้นเป็นจำนวนมาก แต่ก่อนผู้เขียนก็เคยสนใจเหมือนกันว่า ทำไมครูบาอาจารย์ที่สำคัญๆ สายหลวงปู่มั่น จึงต้องไปภาวนาที่ภูวัวกันเป็นส่วนมาก

เท่าที่เคยสังเกตดูสถานที่บางแห่ง พอไปถึงเรายังไม่ได้ นั่งสมาธิภาวนาอะไรเลย แต่ใจก็เกิดความสงบแปลกๆ เหมือนๆจะเป็นสมาธิ แสดงให้เห็นว่าสถานที่อย่างนั้นมันชวนให้ขยัน ภาวนา จึงทำให้นึกถึงคำสอนของพรุะพุทธเจ้าบทหนึ่งที่มีอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า “ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโยโค” ซึ่งมีความหมายว่า “อยู่ในสถานที่นั่ง ที่นอนอันสงัด เหมาะแก่การประกอบเอื้อเฟื้อในอธิจิต”

ภูวัวก็เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งเหมาะแก่การฝึกจิต เพราะสิ่งแวดล้อมหลายอย่างเอื้ออำนวย เช่น มีลักษณะเป็นป่า เขา ทิวทัศน์สวยงาม น้ำดี อากาศดีพอสมควร ฤดูร้อนกลางวัน อาจจะร้อนจัดไม่สบาย ก็หลบเข้าไปภาวนาในถ้ำได้ และยังมี ลานหินกว้างใหญ่สะดวกแก่การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เวลาเปลี่ยนอิริยาบถมีโขดหินสวยๆ หลายแห่ง เหมาะแก่การไปนั่ง ภาวนาในบางโอกาส มองทิวทัศน์ไปข้างๆ จะเห็นผาสูงชัน ประดับไปด้วยหมู่ไม้ และภูเขาสลับซับซ้อนกัน

ทำให้เกิดความเพลิดเพลินแก่ผู้รักความสงบยิ่งนัก ในขณะนั้นอาจจะมองเห็นสมบัติในโลกทุกอย่างไม่มีความหมายในชีวิตเท่ากับความสงบ ความสงบ ความสลดสังเวช ความว้าเหว่วังเวง ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ที่เห็นว่าตัวเองจะต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจฉันใด เวลาไปธุดงค์ในป่าองค์เดียวสิ่งแวดล้อมไปด้วยอันตรายรอบด้าน ก็เหมือนกันฉันนั้น การระลึกถึงความตายย่อมมีอยู่ตลอดเวลา

นี้หมายถึงสถานที่ซึ่งจะช่วยอบรมจิต คนเราถ้าใจแข็งกระด้าง ไม่รู้จักสลด จะเข้าใจธรรมะได้ยาก เพราะธรรมะเป็นของละเอียดอ่อนของจิตใจ ถ้าจิตละเอียดมาก ก็เข้าใจธรรมะได้มาก ละเอียดน้อยก็เข้าใจธรรมะได้น้อย ฉะนั้นถ้าผู้ อ่านพิจารณาไปด้วยก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า “สถานที่นั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อการฝึกจิต”

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เคยเล่าให้ศิษยานุศิษย์ฟังว่า ท่านได้คุณธรรมและได้กำลังใจจากสถานที่แห่งนี้เป็นส่วนมาก (หมายถึงภูวัว) จึงทำให้ท่านมีความมั่นคงในพระศาสนา ยอมมอบกายถวายชีวิตอุทิศแด่พระรัตนตรัย ด้วยการปฏิบัติบูชา และยังได้ชักชวนผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสศรัทธา ให้รู้จักคุณค่าประโยชน์ของธรรมะด้วยวิธีการต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีที่ท่านทำให้เกิดศรัทธาปสาทะต่อพระศาสนานั้น จุดสำคัญที่สุดก็ได้แก่การฝึกทำสมาธิภาวนา ให้จิตใจมีความสงบ คือ “สงบจากบาป” เมื่อผู้ปฏิบัติได้ดื่มรสชาติของความสงบ ก็จักมีความซาบซึ้งในธรรมะ และรู้จักคุณค่าประโยชน์ของพระศาสนา ฉะนั้น หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านจึงพยายามชักจูง เพี่อนสหธรรมิกให้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติภาวนา ท่านจึงได้นำพาเพื่อนสหธรรมิกออกธุดงค์กรรมฐานในป่าเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อหมู่คณะจะมีโอกาสได้สัมผัสกับความสงบวิเวกบ้าง

๑๑. จำพรรษาที่วัดอรัญญวาส พ.ศ. ๒๔๙๒

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านได้พักบำเพ็ญอยู่ที่ภูวัว เห็นว่าได้รับผลดีทางด้านจิตใจเพิ่มขึ้น เป็นลำดับได้รับความรู้ความเข้าใจในพระศาสนาเพิ่มขึ้นอย่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ความสุข ความสงบ ความรู้ความเห็นในสิ่งต่างๆ ก็เกิดขึ้นอย่างไม่เคยได้รับมาก่อนเลย ท่านจึงได้ปักหลักบำเพ็ญอยู่ ณ ที่ภูวัวนั้น จนตลอดฤดูร้อน

เมื่อถึงฤดูกาลพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ท่านก็ได้ออกจากที่บำเพ็ญในป่าลงมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย วัดแห่งนี้ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล เป็นผู้สร้างไว้

พอออกพรรษาในปีนั้น หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้รีบเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร และอยู่ฟังธรรมะจากหลวงปู่มั่นเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้กราบลาออกหาสถานที่บำเพ็ญภาวนาต่อไป ท่านได้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ตลอดมา แต่การไปภาวนาตามสถานที่ต่างๆของท่านนั้น ท่านไม่ได้ไปเองตามชอบใจ คือ ท่านไปตามคำสั่งของครูบาอาจารย์

ในเมื่อครูบาอาจารย์สั่งให้ไปภาวนาที่ไหน ก็ไปที่นั่น ท่านจะให้อยู่กี่วันกี่เดือน ก็แล้วแต่ครูบาอาจารย์จะสั่ง เมื่ออยู่ครบตามกำหนดที่ท่านสั่งแล้ว ก็เดินทางกลับเข้าไปหาครูบาอาจารย์ ท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้เสมอมา ผู้ปฏิบัติท่านถือกันมาก เรื่องการเคารพครูบาอาจารย์ ถ้าใครฝืนคำสั่งครูบาอาจารย์ โดยส่วนมากมักปฏิบัติไม่เป็นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในสำนักครูบาอาจารย์ที่ทรงคุณธรรม อย่างสำนักหลวงปู่มั่น เป็นต้น

บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายจะให้ความเคารพนับถือเป็นพิเศษ ใครจะฝ่าฝืนไม่ได้เป็นอันขาด แม้แต่ความรู้สึกภายในยังต้องระมัดระวังไม่ให้คิดไปตำหนิติโทษท่านเป็นอันขาดเพราะ กลัวจะเป็นบาป และจะเป็นอุปสรรคในการบำเพ็ญ คือจะเจริญสมณธรรมไม่ขึ้น

ครูบาอาจารย์เคยเล่าถึงสามเณรองค์หนึ่ง ซึ่งเคยอยู่ในสำนักหลวงปู่มั่น เป็นเณรหัวดื้อว่ายากสอนยาก ครูบาอาจารย์จะว่ากล่าวสั่งสอนอะไรก็ไม่ค่อยเชื่อฟัง หลวงปู่มั่นจึงได้พูดเตือนสติขึ้นว่า ระวังนะ…เณร…การฝืนคูรบาอาจารย์ไม่ไช่ของดีมันเป็นบาปถ้าฝืนมาก ๆเข้าอาจจะเป็นบ้าได้

หลวงปู่มั่นท่านพูดไม่กี่นาที สามเณรองค์นั้นก็ได้เสียสติวิปลาสทันที พอหลวงปู่มั่นสั่งว่า “ถ้าอยากหายให้หาดอกไม้มาขอขมา” เมี่อสามเณรปฏิบัติตาม ก็ได้หายจากการเป็นบ้าทันที เรื่องนี้หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านก็ได้เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้นด้วย

“เหตุการณ์อันเป็นตัวอย่างที่เล่ามานี้ ผู้เป็นบัณฑิตอาจตำหนิเอาได้ ผู้เขียนรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เพราะเกรงว่า การใช้ภาษาอาจไม่เหมาะสมกับผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของสาธุชนทั่วไปแต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าผิดพลาดด้วยประการใดโปรดให้อภัยด้วยเถิด”

สำหรับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย นับแต่ได้อุปสมบทในบวรพุทธศาสนา ท่านก็ได้ตั้งใจศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมตลอดมาโดยลำดับ ไม่เคยลดละประมาทเพื่อต้องการพิสูจน์ความจริงในทางพระศาสนา ท่านได้ขยันหมั่นเพียรในกิจวัตรน้อยใหญ่ทั้งปวง มิได้ย่อท้อ ผลแห่งการปฏิบัติก็ได้เริ่มเกิดขึ้นเป็นลำดับ จึงทำให้ท่านเพลิดเพลินในความรู้ ความเห็น และมีความซาบซึ้งในรสชาติต่างๆ ของธรรมะที่เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญเพียรของท่าน

ในระหว่างที่กำลังเพลิดเพลินอยู่กับการปฏิบัติธรรมนั้น เหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนแก่ผู้ปฏิบัติก็เกิดขึ้น คือ ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ ขณะนั้นหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ยังเป็นนวกภิกษุ มีอายุพรรษาได้เพียง ๔ พรรษาเท่านั้น

เมื่อหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร ผู้เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร และเปรียบเสมือนดวงประทีปของคณะศิษยานุศิษย์ ได้สิ้นสุดลง ความเศร้าสลดรันทดใจได้เกิดขึ้นแก่บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ในขณะนั้นอย่างหาที่เปรียบมิได้ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ซึ่งก็อยู่ในฐานะเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นองค์หนึ่งก็พลอยได้รับความกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์ครั้งนี้เช่นเดียวกับลูกศิษย์องค์อี่นๆ

เพราะว่าสมัยหลวงปู่มั่นท่านยังมีชีวิตอยู่ คณะศิษย์ทั้งหลายก็ได้ถือเอาสำนักหลวงปู่มั่น เป็นจุดรวมในการศึกษาและอบรมกรรมฐานภาคปฏิบัติ ฉะนั้นบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายก็ได้รับความอบอุ่นและมีกำลังใจเพราะมีที่พึ่ง แต่ในเมื่อขาดที่พึ่ง ความว้าเหว่วังเวง ความเศร้าสลดย่อมเกิดขึ้นเป็น ธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชน

หลังจากเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ในระหว่างเป็นนวกภิกษุนั้น ท่านก็ได้เข้าไปอาศัยอยู่ตามสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ซึ่งเป็นรุ่นพี่ ๆ ตลอดมาจนอายุพรรษาเข้าขั้นเถรภูมิ เมื่อเป็นว่าเป็นนิสัยมุตตกะได้แล้ว ท่านจึงออกบำเพ็ญภาวนาเองตามลำพังตามสถานที่ต่างๆ สมควรแก่โอกาส

ส่วนสำนักของครูบาอาจารย์ที่ท่านหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้เคยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยในสมัยนั้นก็มีอยู่หลายแห่ง เท่าที่ผู้เขียนพอจะจดจำได้จากท่าน เคยเล่าสู่ฟัง ก็มีดังนี้ 

๑. หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

๒. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

๓. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

๔. หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ

๕. หลวงปู่สีลา อิสสโร

๖. ท่านพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน

และสำนักท่านพระอาจารย์กว่า ตลอดทั้งสำนักครูบาอาจารย์องค์สำคัญ ๆ อีกหลายสำนัก

๑๒. ผจญภัยกับหลวงปู่ฝั้น

นอกจากนั้นท่านก็ได้ออกบำเพ็ญกรรมฐานตามป่าเพื่อแสวงหาความสงบวิเวกเป็นบางครั้ง บางโอกาส แต่โดยส่วนมากท่านชอบไปบำเพ็ญที่ภูวัวเพราะสถานที่แห่งนี้มีความเหมาะสมแก่ การเจริญสมณธรรมมาก จึงเป็นที่สนใจของนักปฏิบัติทั้งหลาย ผู้แสวงหาความพ้นทุกข์ สำหรับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใคร่ต่อการหลุดพ้น จึงได้บุกป่าฝ่าดง เผชิญกับสัตว์ร้ายนานาชนิด

เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม เพราะในอดีตเมืองไทย เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ การออกธุดงค์กรรมฐานในยุคนั้น จึงหนีไม่พ้นกับการผจญภัยกับสัตว์ร้ายต่างๆ บางครั้งท่านก็ได้ออกบำเพ็ญกรรมฐานองค์เดียว บางครั้งท่านก็ได้ไปกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ในฐานะเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านให้ความเคารพนับถือมากองค์หนึ่ง และเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่านอีกด้วย

หลวงปู่ฝั้น กับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้เคยเผชิญกับอันตรายร่วมกันมาหลายครั้งในการออกบำเพ็ญกรรมฐาน โดยเฉพาะที่ภูวัว ได้เคยมีเหตุการณ์บางอย่างที่น่าสนใจ โดยส่วนมากรู้สึกว่าจะนำมาเล่ากันผิดๆ พลาดๆ ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง ไหนๆจะเล่าเรื่องจริง จึงตัดสินใจเอามาเขียนให้ ท่านผู้อ่านได้ทราบความจริงและพิจารณา

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ฝั้น อาจาโร กับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ออกบำเพ็ญร่วมกันที่ภูวัว หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้ไปกางกลดอยู่ใกล้โขดหินแห่งหนึ่ง เขาเรียกตรงสถานที่แห่งนั้นว่า หินก้อนน้ำอ้อย (หินค้างหิน) ที่ตรงนั้นเป็นทางผ่านของสัตว์ร้ายมีช้างและเสือผ่านไปมาแทบทุกคืน นับว่าเอาชีวิตไปเสี่ยงกับภัยอันตรายเป็นอย่างยิ่ง

เมี่อหลวงปู่ฝั้นได้ทราบเข้า จึงพูดปรารภกับหลวงปู่สมชายว่า “เมื่อคืนผมนอนไม่หลับ ผมเป็นห่วงครูบา”หลวงปู่สมชายจึงกราบเรียนถามหลวงปู่ฝั้นด้วย กริยาอันอ่อนน้อมและเคารพว่ามีเรื่องอะไรหรือครับผม”หลวงปู่ฝั้นตอบว่า “ก็ครูบาอยู่องค์เดียวและอยู่ตรงทางผ่านของมันด้วย” (หมายถึงทางผ่านของเสือและช้าง)

หลวงปู่สมชายจึงกราบเรียนหลวงปู่ฝั้นว่า “ท่านอาจารย์ไม่ต้องเป็นห่วงกระผมมากเกินไป เพราะกระผมได้อุทิศทุกอย่างแล้ว เพื่อปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัย” หลวงปู่ฝั้นคัดค้านว่าไม่ได้ ๆ คืนนี้ผมจะไปภาวนาอยู่เป็นเพื่อนครูบา’ พอถึงตอนเย็น หลวงปู่ฝั้นก็ได้เตรียมบริขารเพื่อจะไปอยู่เป็นเพี่อน

หลวงปู่สมชายจึงได้จัดที่พักของท่านซึ่งได้อยู่เป็นประจำนั้นถวาย หลวงปู่ฝั้น และได้ช่วยกางกลดถวายหลวงปู่เรียบร้อยแล้ว ท่านเองก็ได้ย้ายที่พักไปกางกลดอยู่คนละฟากคลอง ใน ระหว่างทางผ่านมีเหวลึกมาก ซึ่งไม่เหมาะแก่สัตว์ร้าย มีเสือ และช้าง ที่จะผ่านไปมาย่อมไม่สะดวก จึงแน่นอนที่สุดถ้าสัตว์ ร้ายมาจะต้องผ่านไปทางที่หลวงปู่ฝั้นพักอยู่

ในคืนแรกที่หลวงปู่ฝั้นไปพักอยู่ด้วย ยังไม่ทันข้ามคืนเสียด้วย ช้างก็มาพอดี ช้างโขลงนั้นกะประมาณหลายสิบเชือก เท่าที่ผู้เขียนได้ฟังมาว่า คืนนั้นพอตกดึกเงียบสงัดฟังเสียงช้าง หลายสิบเชือกเดินมาในป่ารกชัฏ ประกอบพร้อมกับบางแห่ง เป็นลานหินบนภูเขา ฟังเสียงอยู่ไกลๆ จึงออกจะคล้ายกับเสียง ลมพายุพัดต้นไม้แรงๆ เสียงต้นไม้หักไม่ขาดระยะ และเสียงนั้นก็คืบคลานใกล้เข้ามาๆๆ ทางด้านหลวงปู่ฝั้นทุกขณะ สำหรับผู้ชำนาญป่าอย่างพระกรรมฐาน พอได้ยินเสียงดังนั้นก็ทราบได้ทันทีว่า เป็นเสียงโขลงช้างอย่างแน่นอน

เมื่อหลวงปู่สมชายเห็นว่าสถานการณ์อันหฤโหดกำลังจะเกิดทางด้านหลวงปู่ฝั้น ด้วยนิสัยที่เด็ดเดี่ยว และมีความเป็นห่วงครูบาอาจารย์ ท่านจึงได้รีบออกจากมุ้งกลดข้ามคลองมาหาหลวงปู่ฝั้นทันที เพื่อรับสถานการณ์ร่วมกัน พอท่านมาถึงที่อยู่ของหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่สมชายก็ได้รีบกราบเรียนหลวงปู่ฝั้นทันทีว่า “ท่านอาจารย์จะทำอย่างไรดี มันจวนเข้ามาเต็มทีแล้ว” หลวงปู่ฝั้นจึงตอบว่า “จะทำอย่างไรดีล่ะ ผมก็ไม่มีทาง แล้ว” หลวงปู่สมชายจึงได้รีบหาสถานที่เพื่อหลบภัยถวายหลวงปู่ฝั้น

ในที่สุดก็ได้พบโขดหินโขดหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าถ้าขึ้นไปอยู่บนนั้นได้ก็จะเป็นที่ปลอดภัย หลวงปู่สมชายจึงได้กราบเรียนให้หลวงปู่ฝั้นทราบ พร้อมกับท่านได้ขึ้นไปอยู่ข้างบนก้อนหิน แล้วยื่นมือลงมาให้หลวงปู่ฝั้นจับแล้วปีนป่ายขึ้นไปบนนั้น พอขึ้นไปถึงบนโขดหินแล้ว เห็นว่าอยู่ในเขตปลอดภัยพอสมควรแล้ว

หลวงปู่ฝั้นจึงได้หยิบเอาหวอไม้ไผ่ในย่ามออกมาเป่า ว๊อก ก ก ว๊อก..ๆ..ๆ สองสามครั้ง พอสิ้นเสียงหวอที่หลวงปู่ฝั้นเป่า ในทันทีนั้นช้างทั้งโขลงก็แตกตื่นพากันวิ่งกลับไปด้วยความตกอกตกใจ เสียงดังสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งป่า ครู่ต่อมา สถานการณ์ก็คืบคลานเข้าสู่สภาพปกติ

และในคืนนั้นหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้พักอยู่เป็นเพื่อนหลวงปู่ฝั้น อาจาโร จนรุ่งสว่างของวันใหม่ การออกธุดงค์กรรมฐานในครั้งนั้น หลวงปู่ฝั้นกับหลวงปู่สมชายก็พักบำเพ็ญอยู่หลายเดือน จนเห็นว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงได้พากันกลับออกมา

๑๓. ผจญภัยกับหลวงปู่มุล

ภายหลังจากหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้กลับออกมาแล้ว หลวงปู่มุล ธมมวีโร กับพระใหม่อีกรูปหนึ่งชื่อ พระบัวทั้งสองได้มาพักบำเพ็ญกรรมฐานอยู่ร่วมกับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย

ขอกล่าวความเป็นมาของหลวงปู่มุลให้ทราบเล็กน้อย หลวงปู่มุล ธมมวีโร เป็นน้องชายคุณย่าของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย อดีตเคยรับราชการเป็นตำรวจมาก่อน แต่ภายหลังได้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุราชการ และท่านมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมมาก เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา จึงได้สละฆราวาสวิสัยออกสู่ร่มกาสาวพัสตร์

ตั้งแต่หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย มีอายุพรรษาได้ ๕ พรรษา ภายหลังจากหลวงปู่มุลท่านได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้ออกติดตามบำเพ็ญกรรมฐานตามป่าตามเขาต่างๆกับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย จนกระทั่งได้ติดตามขึ้นมาอยู่บนเขาสุกิม และหลวงปู่ได้มรณภาพลงด้วยโรคชราที่วัดเขาสุกิม เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๙ รวมอายุของหลวงปู่มุลได้ ๑๐๐ ปี ๕ เดือน ๑๔ วัน หลวงปู่มุล เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยอย่างสม่ำเสมออีกรูปหนึ่ง

ผู้เขียนได้ขอถือโอกาสเล่าชีวประวัติของหลวงปู่มุล ธมมวีโร โดยย่อดังกล่าวมานั้นพอสมควรแก่เวลาแล้ว ต่อไปนี้จะได้วกกลับเข้ามาถึงเรื่องการออกบำเพ็ญกรรมฐานที่ภูวัวต่อเมื่อหลวงปู่มุ ลกับพระบัวได้เข้าไปร่วมบำเพ็ญกับหลวงปู่สมชายหลวงปู่มุลท่านก็ได้พักแทนที่เก่าหลวงปู่ฝั้น ถัดออกไปพอสมควรก็เป็นที่พักของพระบัว (ไม่ทราบฉายา)

ส่วนหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ยังคงพักที่เดิม สำหรับพระบัวนั้นเป็นพระบวชใหม่ ทั้งยังใหม่ต่อการออกธุดงค์กรรมฐานอีกด้วย ดังนั้นจึงหวาดๆ อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะตระหนักดีว่าตรงนั้นเป็นทางผ่านของสัตว์ร้าย ในจังหวะไหนที่ได้ยินเสียงหลวงปู่มุลไอซึ่งเป็นโรคประจำตัวของหลวงปู่มุล ก็ทำให้พระบัวอุ่นใจขึ้นมาหน่อย ตอนไหนเงียบเสียงไอ พระบัวก็แทบใจสั่นระรัว

๑๔. อาคันตุกะมาเยือน

อาคันตุกะผู้มาเยือนในคืนนั้นเป็นอาคันตุกะหน้าใหม่ และ ได้ยินเสียงดัง …สวบ.. ๆ.. ๆ.. มาแต่ไกล ดูเหมือนว่าจะบ่ายหน้าไปทางกลดของพระบัว พระบัวซึ่งอยู่ภายในกลดพอได้ยินเสียงดัง สวบ ๆ ๆ ของอาคันตุกะที่จะมาเยือน ยังไม่ทันเห็นหน้าตากันและกันเลย พระบัวก็นึกวาดภาพไปต่าง ๆ นานา และวาดภาพขึ้นมาให้เป็นเสือ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญจึงทำให้ตัวเองแทบช็อค และแทบเป็นลมไปให้ได้

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย มองเห็นว่าสถานการณ์ไม่ปกติ เกรงว่าพระใหม่จะช็อคหรือจะเป็นลมไป ท่านจึงออกจากกลดเดินข้ามคลองมาร้องเรียกหลวงปู่มุลว่า “หลวงปู่ๆ เป็นอย่างไรเล่า”..หลวงปู่มุลตอบว่า “เสียงอะไรก็ไมู่ร้ดังสวบๆ อยู่ทางด้านนี้ไม่หยุดเลย” พอพระบัวได้ยินเสียงหลวงปู่มุล และหลวงปู่สมชายพูดคุยกันแล้ว ก็ได้ออกจากมุ้งกลดมาทันที

พอมาถึงก็พูดว่า ..”กระผมเกือบช็อคตายให้ได้ครับท่านอาจารย์”.. หลวงปู่สมชายพูดขึ้นว่า ..”จะเอาอย่างไรดี นี่บำเพ็ญให้ภาวนาไปเถิด ไม่มีอะไร นั่นมันเสียงเม่นต่างหากไม่ใช่เสือ”.. “..อะไรก็ตามผมก็กลัวทั้งนั้น.” พระบัวตอบ “ท่านอาจารย์อย่าหนีกระผมก็แล้วกันคืนนี้ “

ด้วยการขอร้องของพระบัว หลวงปู่สมชาย หลวงปู่มุล และพระบัว ก็พากันข้ามคลองไปเอากลดและอัฎฐะบริขารของหลวงปู่สมชายกลับมาฝั่งนี้ และหลวงปู่สมชายก็ได้กางกลดอยู่ในระหว่างทางผ่านของสัตว์พอดี สำหรับพระบัวและหลวงปู่มุลอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวามือของท่าน

อาคันตุกะผู้มาเยือนในลำดับต่อไปนั้นมีลักษณะแปลกกว่าครั้งแรก นอกจากมีเสียงดัง สวบๆ แล้วยังไม่พอ ยังมีเสียงครางอยู่ในลำคอเพิ่มขึ้นอีก เหมือนจังหวะที่แมวมันหายใจดังอยู่ในลำคอ แต่เสียงที่ได้ยินนี้ดังกว่าเสียงแมวหลายสิบเท่า สำหรับหลวงปู่สมชายนั้นท่านทราบดีว่า ..นี่คือ เสียงเสือแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย และอยู่ไม่ห่างจากกลดของท่านนัก..

ในขณะที่ท่านกำลังภาวนา จ้องฟังเสียงเสือมันหายใจอยู่นั้น ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น หลวงปู่มุลก็ได้ไอออกมาด้วยเสียงอันดัง และยังไม่ทันจะขาดเสียงไอ เสียงใหม่ก็เข้ามาแทนที่คล้ายๆ กับเสียงวัตถุหนักๆ ตกลงถูกกับพื้นดิน ทางฝั่งตรงข้ามกับเสียงหายใจนั้น แผ่นดินแทบสะเทือน

หลวงปู่มุลจึงกราบเรียนถามหลวงปู่สมชายขึ้นมาว่า “..มีอะไรเกิดขึ้นทรือครับท่านอาจารย์”

“ไม่ทราบเหมือน กันครับว่าอะไรกระโดดข้ามกลดผม” หลวงปู่สมชายตอบ 

ทันใดนั้นพระบัวก็พรวดพราดออกมาจากมุ้งกลดพร้อมด้วยไฟฉายในมือ จึงพากันฉายไฟไปดูบริเวณรอบๆ ที่มีเสียงนั้น ปรากฏว่าพบรอยเท้าเสือรอยมหึมาขนาดคีบเขื่องๆ อยู่ข้างกลดของหลวงปู่สมชาย พระบัวเห็นดังนั้นแทบจะไม่ภาวนาเอาเสียเลย

พอรุ่งเช้าได้อรุณวันใหม่ จึงได้พากันลาดตระเวนหารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง จึงทราบแน่นอนว่าเป็นเสือแม่ลูกอ่อนตกคอกอยู่ใกล้ๆ นั่นเอง และได้พาลูกหลบหนีไปแล้ว หลวงปู่สมชายจึงได้พาหลวงปู่มุลและพระบัวย้ายที่พักไปปักกลดอยู่ อีกด้านหนึ่งและได้พักบำเพ็ญต่อมาอีกระยะหนึ่ง จนสมควรแก่เวลาแล้ว จึงได้พากันกลับออกมาจากสถานที่แห่งนั้นและหาสถานที่ภาวนาแห่งใหม่ต่อไป

เรี่องที่เล่ามานี้ก็มีบางท่านเข้าใจผิดอยู่มาก ซึ่งเข้าใจว่าหลวงปู่สมชายกลัวเสือ แล้วได้ทิ้งกลดเผ่นหนีเข้าป่า โดยทิ้งให้หลวงปู่ฝั้นยืนสู้เสืออยู่แต่องค์เดียว ลูกศิษย์วิ่งหนีเอาตัวรอด อันนี้ไม่ใช่ความจริงเลย ข้าพเจ้าขอรับรองร้อยเปอร์เซ็นต์ว่านิสัยอย่างที่ว่านั้น หลวงปู่สมชายทำไม่ได้เด็ดขาด

ความจริงก็เป็นอย่างที่เล่ามาแล้วนั้น ก็อาจจะมีบางครั้งหลวงปู่ฝั้นท่านมองเห็นว่าพระภิกษุ สามเณร มีความตึงเครียดต่อการปฏิบัติและเครียดต่อการงาน หลวงปู่ฝั้นท่านอาจจะนำเรื่องขำขันมา เล่าเพื่อคลายอารมณ์ก็เป็นได้ก็เลยนำเรี่องในอดีตมาเล่าสู่ฟังว่า สมัยหนึ่งเคยออกบำเพ็ญที่ภูวัวกับหลวงปู่สมชาย บางท่านกลัวเสือถึงขนาดวิ่งเผ่นหนี

บางท่านบางคนฟังไม่เข้าใจความหมายก็เลยพูดต่อปีกต่อหางออกไปว่า หลวงปู่สมชายกลัวเสือถึงขนาดทิ้งกลดวิ่งหนีหลวงปู่ฝั้น ก็เลยเล่าต่อกันไปเรื่อยๆ เล่ามากเข้า ก็เลยเสริมเติมเอาเองบ้างเป็นลำดับไป ถึงขนาดบางคนว่าเดินไปเจอเสือในระหว่างทาง พอเสือโผล่ออกมาเจอเข้าพอดี หลวงปู่สมชายก็ได้ทิ้งกลดเผ่นหนีทันที

การเขียนแบบยกเมฆโดยส่วนมากมักจะเข้าทำนองนี้ทั้งนั้น ที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นนี้ได้บันทึกจากปากคำของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย โดยตรง สำหรับผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยกันกับหลวงปู่สมชายก็เพิ่งจะมรณภาพไป คือหลวงปู่มุล ธมมวีโร สมัยเมื่อหลวงปู่มุลยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้มีผู้สงสัยในเรี่องนี้ แล้วมากราบเรียนถามท่าน หลวงปู่ท่านก็ได้เมตตาชี้แจงให้กระจ่างแจ้งไปทุกราย

สำหรับเรื่องชีวประวัติของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีอีกมากมายหลายอย่างซึ่งบางคนยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง แต่ก็ถือว่าเป็นเรี่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน จะให้เข้าใจประวัติความเป็นมาของคนอื่น โดยถูกต้องหมดทุกอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นผู้เขียนจึงขอออกความเห็นสักนิดหนึ่งว่า หากท่านผู้อ่านต้องการความเป็นธรรมโดยไม่อาศัยอคติเป็นพื้นฐานแล้ว ถ้าสงสัยอะไรเกี่ยวกับชีวประวัติความเป็นมาของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ควรไปกราบเรียนถามท่านได้ เพราะท่านยังมีชีวิตอยู่ (หลวงปู่สมชายได้มรณภาพวันที่ 18 มิ.ย. 2548) อย่าอมเอาความสงสัยไว้ในใจ บางทีอาจจะเกิดโทษได้ คือเป็นบาปโดยไม่รู้ตัว

ที่พูดนี้ก็เนื่องมาจากมีบางท่านไปถามข้าพเจ้าว่าไหนว่าหลวงปู่สมชาย เคยอยู่กับหลวงปู่ฝั้น แต่ผมอ่านชีวประวัติของหลวงปู่ฝั้นแล้ว ไม่เห็นกล่าวถึงหลวงปู่สมชายเลย ว่าได้จำพรรษากับหลวงปู่ฝั้นในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ข้าพเจ้าจึงตอบว่า เรี่องนี้เคยพูดอยู่แล้วว่าการเขียนชีวประวัติของคนอื่น ไม่ว่าใครๆทั้งนั้น จะไม่มีใครสามารถเขียนรายละเอียดถูกต้องหมดทุกแง่ทุกมุมได้

เรื่องชีวประวัติของหลวงปู่ฝั้นก็เหมือนกัน ถึงแม้ว่าไม่ถูกต้องหรือสมบูรณ์หมดทุกอย่างก็ตาม การที่สามารถรวบรวมข้อมูลตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกี่ยว กับหลวงปู่นั้นนำมาลงตีพิมพ์เป็นเล่มได้ถึงขนาดนั้น มิใช่ของง่าย นักคณะผู้จัดทำจะต้องใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างมากในการเสาะแสวงหาข้อมูล เพราะผู้ที่ทำงานเพี่อส่วนรวมนั้นต้องเป็นผู้เสียสละคือเสียสละเวลาอันมีค่าของตนแล้วยังใม่พอ แถมยังเสียสละทุนทรัพย์เพื่ออำนวยความสะดวกในระหว่างการปฏิบัติงานอีกด้วย

เมื่อนึกถึงเหตุผลหลายๆ อย่างแล้วจึงเห็นว่าควรแก่การยกย่องสรรเสริญและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจึงพูดต่อไปว่าเท่าที่ได้ฟังมา หลวงปู่สมชายไม่เฉพาะแต่จะจำพรรษาอย่างเดียวก็หาไม่ ในระหว่างที่อยู่กับหลวงปู่ฝั้นนั้น หลวงปู่สมชายยังได้ปฏิบัติหน้าที่ของท่านอย่างสมบูรณ์ไม่บกพร่อง ทั้งภายในและภายนอกอีกด้วย

ภายนอกได้แก่ การอุปถัมภ์อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ท่านก็ได้ทำเป็นอาจิณวัตร เว้นเสียแต่อาพาธ นอกจากนั้นก็ยังมีส่วนร่วมในการก่อสร้างกุฏิของพระภิกษุสามเณร และผู้ปฏิบัติ ธรรม หรือเมื่อมีกิจการงานอะไรเกิดขึ้นภายในวัด หลวงปู่สมชายจะต้องมีส่วนร่วมกระทำด้วยแทบทุกอย่าง

นอกเหนือไปกว่านั้น การสร้างสระน้ำบนภูพาน ที่วัดถ้ำขาม อำเภอ พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และการสร้างพระพุทธูรูปที่ถ้ำพระบนภูวัว อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย หลวงปู่ สมชายก็มีส่วนช่วยสร้างเกือบจะทุกแห่ง ที่เล่ามาเป็นเพียงบางส่วนที่ท่านได้มีความเกี่ยวข้องกัน เท่าที่ผู้เขียนได้ฟังมาไม่เพียงเท่านี้ยังมีอีกมาก แต่ผู้เขียนไม่สามารถนำมาเล่าสู่ฟังให้หมด ในเวลาอันสั้นนี้ได้

ส่วนด้านภายในของหลวงปู่สมชายนั้น ได้แก่การปฏิบัติสมาธิจิต การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ถึงแม้ว่าท่านจะต้องปฏิบัติงานภายนอกช่วยครูบาอาจารย์ในบางครั้งจนแทบไม่มีเวลาว่างเลยก็ตาม แต่ท่านก็ได้ดำเนินการปฏิบัติสมาธิ จิตของท่านตลอดโดยไม่ท้อถอยหรือบกพร่อง

จึงนับว่าท่านมีความทรหดอดทนซึ่งหาได้ยากองค์หนึ่ง ที่เล่ามานี้บางท่านที่ยังไม่ซึ้งในความเป็นอยู่ของกันและกัน ก็อาจสงสัยหรือคัดค้าน ว่าสรรเสริญเยินยอกันเกินไป เพราะการทำงานก็เป็นเรื่องธรรมดา พวกนักก่อสร้างทั้งหลายเขาทำกันทุกวัน แต่ไม่เห็นมีใครเอามาอวดอ้างกันว่าเก่ง หรือเป็นเลิศในความอดทน

ข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าผู้ที่มีความยุติธรรมอยู่ในใจ เมื่อได้เห็นการปฏิบัติงานของท่านแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าท่าน มีความอดทนจริงๆ แม้แต่ในปัจจุบันนี้อายุของท่านจะล่วงเลยถึง ๗๒ ปีแล้วก็ตาม แต่การปฏิบัติศาสนกิจของท่านมีอยู่เป็นประจำทุกวันมิได้ขาด แทบจะไม่มีเวลาว่างเว้นเลยแม้แต่วันเดียว

เมี่อข้าพเจ้าได้เห็นการปฏิบัติงานของท่านแล้วก็น่าเห็นใจและน่าเหน็ดเหนื่อยแทนท่าน สมกับที่ท่านได้ตั้งอุดมการณ์เอาไว้ว่า อยู่ต้องมีประโยชน์ ถ้าไม่มีประโยชน์ไม่ต้องอยู่ คือหมายความว่าถ้าท่านอยู่ ณ สถานที่ใดแล้ว ต้องทำประโยชน์ ให้กับสถานที่แห่งนั้นได้ ถ้าทำประโยชน์ไม่ได้ก็ไม่ต้องอยู่ ณ สถานที่นั้น

ทุกวันนี้ท่านจึงยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ฉะนั้นถ้าจะคัดค้าน ต้องพิจารณาให้รอบคอบโดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวม และต้องถูกต้องตามหลักของผู้ทรงคุณธรรม เพราะการพิจารณาให้เป็นธรรมะจะต้องศึกษาให้เข้าใจในเหตุผลของกันและกันโดยถ่องแท้เสียก่อนจึงจะไม่เสียภูมิของนักปราชญ์

ความจริงแล้ว พวกนักก่อสร้างซึ่งเป็นฆราวาสนั้นก็เป็นของธรรมดา ตามความรู้สึกของคนทั่วไปก็เห็นว่าการก่อสร้างไม่ใช่ของแปลก มันเป็นอาชีพของเขา และพวกเขาเหล่านั้นก็มีฤทธิ์ที่จะนำอาหารมาชดเชยกับพลังงานที่หมดไปได้ตลอดเวลา คือ หิวขึ้นมาเมื่อไร ก็รับประทานได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

สำหรับพระกรรมฐานนั้น ท่านฉันจังหันเพียงวันละมื้อเดียวเท่านั้น แต่ต้องทำงานตลอดวัน หิวขึ้นมาเมื่อไรก็ต้องฉันน้ำเข้าไปแทน รอจนกว่าจะถึงวันใหม่ จึงมีโอกาสแก้มือกับความหิวได้ อันนี้แหละเป็นสิ่งที่น่าคิด หรือใครยังไม่สิ้นสงสัยก็ทดลองดูได้ คือทดลองรับประทานอาหารมื้อเดียวอย่างพระกรรมฐานและต้องทำงานตลอดวัน มันจะเป็นอย่างไรเราก็จะซึ้งใจเอง ฉะนั้นการคัดค้านก่อนพิสูจน์ความจริง จึงผิดหลักของปัญญาชนเป็นอย่างยิ่ง

พอเขียนมาถึงตอนนี้ ก็เลยนึกถึงเรื่องในอดีต คือ เคยมีบางคนถามปัญหาผู้เขียนว่ารู้ได้อย่างไร จึงว่าหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย มีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ ข้าพเจ้าจึงตอบออกไปทันทีว่า ก็รู้ได้เพราะเราเข้าใจ คือหมายความว่าเราจะรู้ได้ว่าใครเป็นคนดี เราก็ต้องรู้เรื่องของคนดีเสียก่อน ว่าคนดีมีลักษณะอย่างไร อุปมาข้อนี้เหมือนกับการดูพลอย

เพราะตามธรรมดาพลอยนั้นมีหลายประเภท และมีหลายราคา ราคามากน้อยต่างกัน หากเราจะถามพ่อค้าพลอยทั้งหลายว่า รู้ได้อย่างไรว่าหินประเภทไหนเป็นพลอยอะไร เขาจะตอบเราว่าเพราะศึกษาให้เข้าใจ ถ้าเราศึกษาให้เข้าใจก็จะสิ้นสงสัยเองเรื่องของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็อยู่ในลักษณะนั้นเช่นกัน

พูดถึงชีวประวัติของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย แล้วนับว่าเป็นประวัติที่ทรงคุณค่าประโยชน์แก่การศึกษาเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นเนติแบบฉบับอันดีงามแก่อนุชนรุ่นหลังแล้ว ยังเป็นคติเตือนใจแก่ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้าต้องขออภัยท่านผู้อ่านด้วยที่ไม่สามารถรวบรวมหลักูฐานต่างๆ ได้โดยละเอียด นำมาลงตีพิมพ์เพื่อสนองเจตนาของท่านผู้อ่านให้ทันกับเวลาอันสั้นนี้ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามการรวบรวมข้อมูลต่างๆ มาโดยสังเขปนี้ เข้าใจว่าจักเป็นแนวทางก้าวไปสู่ความสาเร็จที่สมบูรณ์แห่งชีวประวัติในอนาคตต่อไป

ความจริงแล้ว การเขียนชีวประวัติของพระกรรมฐานนั้น ค่อนข้างจะลำบากมากเพราะในระหว่างที่ท่านกำลังฝึกฝนอบรมจิตใจใหม่ๆ เพื่อไต่เต้าเข้าโปสู่อันดับที่แน่นอน จนเห็นว่ามีความมั่นคงในพระศาสนา หรือสามารถปกครองจิตใจของตัวเองได้แล้ว ในระหว่างที่ท่านกำลังปีนป่ายอันดับนี้แหละ ท่านไม่ชอบอยู่ประจำที่

เมื่ออยู่ ณ ที่ใดเห็นว่าจิตใจเฉื่อยชาจิตไม่สงบ เกียจคร้าน ไม่ขยันต่อการบำเพ็ญภาวนา ท่านก็หาวิธีเปลี่ยนสถานที่อยู่ เพี่อเปลี่ยนบรรยากาศ พอได้สถานที่ที่เหมาะแก่การฝึกจิต ก็เป็นเหตุทำให้เกิดความขยันต่อการทำสมาธิขึ้นมาทันที เพราะว่าสถานที่ก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญต่อการฝึกจิตดังได้กล่าวมาแล้วนั้น

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย สมัยเมื่อท่านได้บำเพ็ญอยู่ที่ภูวัว ท่านก็มักจะเปลี่ยนสถานที่บำเพ็ญอยู่บ่อยๆ เนื่องจากภูวัวมีสถานที่น่าบำเพ็ญอยู่หลายแห่ง แต่พอใกล้จะถึงฤดูกาลพรรษาท่านก็มักจะลงจากภูวัวเข้าไปอยู่ในสำนักของครูบาอาจารย์ ท่านได้ถือปฏิบัติอยู่อย่างนี้เป็นประจำตลอดมา

๑๕. จำพรรษาที่วัดป่าอิสรธรรม พ.ศ. ๒๔๙๔

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ก่อนที่จะเข้าพรรษาในปีนั้น หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านก็ได้ลงมาจากภูวัว เพื่อแสวงหาสถานที่จำพรรษา ในปีนั้นก็ได้เข้าไปศึกษาธรรมะ และอาศัยจำพรรษากับ หลวงปู่สีลา อิสสโร วัดป่าอิสรธรรม จังหวัดสกลนคร

ซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร อีกองค์หนึ่ง ที่มีข้อวัตรปฏิบัติอันน่าศึกษา เป็นแบบฉบับของพระกรรมฐานได้เป็นอย่างดี จนหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้นำปฏิปทาของหลวงปู่สีลามาพูดยกย่องสรรเสริญถึงอยู่เสมอๆ

๑๖.  ไข้ป่าเป็นเหตุ

ในช่วงที่บำเพ็ญอยู่บนภูวัวนั้น หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้ประกอบความเพียรอย่างอุกฤษฏ์จวบกับจะมีอาการป่วยเป็นไข้ป่าอยู่บ้างแล้ว พอมาจำพรรษา ที่วัดป่าอิสรธรรม ท่านก็ได้ประกอบความเพียรเพิ่มขึ้นอีกตลอด ๓ เดือนไม่ได้เอนกายลงนอนจำวัดเลย ท่านได้ประกอบความเพียรอยู่ในอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง

ตลอดทั้งข้อวัตร กิจวัตร อาจาริยวัตร ทั้งหมดท่านก็ได้ทำอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มีขาดตกบกพร่องแม้แต่น้อย พอใกล้จะออกพรรษาในปีนั้น หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้ล้มป่วยลงด้วยพิษของไข้ป่า หรือ ไข้มาลาเรียขึ้นสมองอย่างแรง ความต้านทานก็ไม่เพียงพอ

เนื่องจากร่างกายไม่ค่อยได้พักผ่อน และไม่ได้เอนกายลงนอนจำวัดเลยตลอด ๓ เดือนเต็ม ในช่วง ๘ วันนี้จังหันก็ฉันไม่ได้อีก ฉันอะไรลงไปก็อาเจียนออกมาหมดเพราะ พิษไข้ขึ้นสูงมาก เป็นลักษณะนี้อยู่หลายวัน จนกระทั่งวันหนึ่งอาการรู้สึกว่าจะเพียบหนักกว่าทุกวัน ท่านจึงได้ยอมเอนกายลงนอนพัก ในขณะนั้นทุกขเวทนากำลังบีบคั้นอย่างรุนแรงมาก ทางด้านสังขารร่างกายนั้นรู้สึกว่ากระวนกระวายเป็นที่สุด

ส่วนทางด้านจิตใจนั้นท่านก็พิจารณาจับดูอาการตามรู้อยู่เรื่อยไป จนที่สุดทางด้านจิตใจก็เริ่มกระวนกระวาย และก็กระวนกระวายมากเข้าทุกทีๆ จนไม่รู้ว่าจะเอาจิตใจไปวางไว้ตรงไหนดี ทั้งๆ ที่ท่านเองก็มีสมาธิอยู่ แต่เมื่อทุกขเวทนามากเข้าก็วางใจไม่ลงเอาเสียเลย เพราะ ทุกขเวทนามันมากกว่า มันทับเอาขนาดหนัก ในขณะที่กำลังกระวนกระวายอยู่นั้น ก็มีความรู้สึกว่า ความรู้สึกต่างๆมาจับอยู่ที่ท้องมากที่สุด มากกว่าทุกส่วนของร่างกาย

หลวงปู่สมชาย ท่านบอกว่ามีความรู้สึกคล้ายๆ กับมีก้อนหินขนาด ใหญ่มาวางทับอยู่บนท้อง รู้สึกว่าท้องค่อยๆ ยุบลงๆ ๆ จน กระทั่งรู้สึกว่าหายใจออกบ้าง ไม่ออกบ้าง คล้ายกับว่าไส้ข้างในท้องนั้นมันบิดตัว และลมในท้องก็ค่อยๆ อัดขึ้นมาๆ อัดขึ้นมาจุกอยู่ที่ตรงคอหอย ความเจ็บความปวดวิ่งไปทั่วสรรพางค์กายอย่างไม่มีอะไรมาเทียบเลย ทุกข์ทรมานเป็นที่สุด อาการเป็นอยู่อย่างนี้สักครู่ใหญ่จึงมีความรู้สึกว่ากำลังจะสะอึกแล้วก็ สะอึก … อึ๊ก … โล่งไปหมดทั้งตัว …เบาสบาย…

แล้วก็มีความรู้สึกว่าทุกขเวทนาทั้งหลายที่มีอยู่นั้นหลุดหายไปหมดแล้ว …เอ๊ะ… นี่เราหายป่วยได้อย่างไร แล้วก็ลุกขึ้นมานั่งได้ทันที ท่านจึงแปลกใจในตัวของท่านเองว่า

” เอ๊ ราป่วยมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว เมื่อสักครู่นี้เราก็ยังป่วยอยู่นี่นา เรากำลังมีทุกขเวทนาครอบงำอยู่ กำลังกระวนกระวายอยู่ แต่ทำไมเราสะอึกแค่ทีเดียว ทุกขเวทนาต่าง ๆ เหล่านั้นจึงหายไปได้อย่างไร เราเองป่วยมาตั้ง ๘ วัน ๘ คืนแล้ว อาหารก็ฉันไม่ได้เลย แต่พอจะหายทำไมมันช่างง่ายนัก แค่สะอึกทีเดียวก็หายได้…

๑๗. ไปเยี่ยมเณรหน่อย

ในเวลาขณะนั้นประมาณ ๑ ทุ่มเศษ หลังจากที่ท่านรู้กว่าตัวของท่านได้หายป่วยอย่างประ หลาดแล้ว ก็เลยนึกถึงสามเณรที่กำลังป่วยหนักอยู่อีกองค์หนึ่ง ซึ่งติดไข้ป่ามาจากภูวัวด้วยกันกับท่าน และเมื่อตอนเย็นจะมืดนี่ก็ได้มีพระมาบอกว่าสามเณรป่วยมาก พอท่านนึกขึ้นมาได้ดังนั้นก็ตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมดูอาการไข้ของสามเณร

แต่ทันใดนั้นท่านก็มีความรู้สึกว่ายังไม่ทันได้ก้าวขาเลย แต่จะไปด้วยเหตุใดไม่ทราบ ปรากฏว่ามาถึงสามเณรทันที และมองเห็นสามเณรนอนหลับเป็นปกติ แต่ก็นึกว่าสามเณรคงยังตัวร้อนอยู่ จึงอยากจะเอามือไปแตะดูอาการ พอก้มตัวลงไปแล้วก็คิดได้ว่าถ้าถูกตัวแล้วสามเณรตื่นขึ้นก็จะทำให้ไม่สบายอีก จึงได้หยุดการกระทำดังกล่าวลง และพลางคิดว่ากลับกุฏิแล้วพรุ่งนี้ตอนกลางวันจึงค่อยมาเยี่ยมใหม่ ต่อจากนั้นท่านก็เลยนึกถึงเรื่องกฐินว่าทำกันอย่างไร

พอไปถึงศาลา ก็นึกได้ว่าเวลานี้เป็นตอนกลางคืน แต่เราทำไมจึงสามารถมองเห็นอะไรต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ชัดเจนจนรู้ว่ากองกฐินนั้นมีอะไรบ้าง โดยที่ไม่ต้องใช้ไฟ พอหันไปมองอีกด้านหนึ่งของศาลา ก็ได้เห็นหลวงปู่สีลา อิสสโร กำลังประชุมพระเณรและได้ยินพูดพาดพิงมาถึงตัวของท่านเองในลักษณะยกย่องว่า 

“…ครูบาสมชายนี่เป็นผู้ที่ทำจริง เอาจริงมีความพยายามสูงมาก ถ้าท่านไม่ตายเสียก่อน ท่านคงได้คุณธรรมชั้นสูงอย่างแน่นอน และคงจะได้เป็นกำลังพระศาสนาที่สำคัญองค์หนึ่ง แต่น่าเสียดายเหลือเกินว่าเวลานี้ท่านกำลังป่วยหนัก ใกล้จะตายเอาเสียด้วยเพราะพิษไข้ป่า ขึ้นแรงสูงมาก นอกจากท่านจะป่วยแล้วก็ยังมีความพยายามประกอบความเพียรไม่หลับไม่นอนเอาเสียเลย เมื่อวันก่อนท่านยังสั่งไว้อีกว่าไม่ต้องเป็นห่วงท่าน ขอเพียงแต่พระเณรเอาน้ำใส่กาไปตั้งไว้ที่หน้ากุฏิก็พอ ถ้าท่านตายก็ให้ฝังเลย ไม่ต้องเผา ดูซิ ท่านไม่ต้องการให้เป็นภาระของสงฆ์เสียอีก หรือตายแล้วก็ไม่รู้…”

ในขณะที่ยืนฟังอยู่นั้นก็หวนคิดขึ้นมาได้ว่า …การที่มายืนฟังคูรบาอาจารย์พูดคุยกันโดยที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในหัตถบาสด้วยนั้นเป็นอาบัติทุกกฏ และเสียมารยาทด้วย ถ้ามีใครผ่านมาเห็นเข้าจะหาว่าเรามาแอบฟังเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งอาบัติ และเสียมารยาท ก็รู้สึกไม่สบายใจ… ท่านจึงได้รีบออกจากสถานที่แห่งนั้นทันที พอเดินลงมาถึงลานวัด ก็มาเจอกับสุนัขตัวหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ

๑๘.  หมาเห็นผีจริงไหม

ในขณะที่หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เดินลงมาจากศาลาจะกลับกุฏินั้น ก็เจอกับหมาตัวหนึ่งเข้า จึงอยากจะเดินไปเล่นกับมัน เพราะว่าเป็นหมาที่ท่านเลี้ยงไว้เอง และเป็นหมาที่เชื่องมาก และเคยเป็นเครื่องมือของท่าน คือ ท่านได้ทดลองสะกดจิต ฝึกแบบจิตวิทยากับหมาตัวนี้ทุกวัน

ตามปกติแล้วหมาตัวนี้ เมื่อเห็นท่านจะต้องวิ่งเข้ามาหาทันที มักชอบติดตามไปไหนมาไหนด้วยเสมอๆ แต่วันนี้ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ พอเห็นปุ๊บก็วิ่งหนีทันที ทำท่าหยุดๆ มองๆ ท่านเดินตามไปก็วิ่งหนีต่อไปอีก แล้วก็วิ่งหนีหายไปทางไหนไม่รู้เลย ท่านจึงคิดว่า ..เอ๊?.. หมาตัวนี้มันเห็นผีหรีอเปล่าหนอ น่าสงสัย จริงๆ ? ..

๑๙. ไหนตัวเรากันแน่

หลังจากครุ่นคิดอยู่กับหมาแล้วก็ได้เดินทางกลับกุฏิ พอเปิด ประตูกุฏิเข้าไปก็ยิ่งแปลกประหลาดกับสิ่งที่ได้พบเห็นต่อหน้าต่อตานั้นว่าอะไรกันแน่ ร่างที่นอนอ้าปากตาเหลือกอยู่บนเตียงนั่นก็ตัวเรา ที่ยืนมองอยู่นี้ก็ตัวเราอีก

จึงแปลกใจมากว่า .. เอ๊ .. เกิดอะไรขึ้นนะนี่?.. ทำไมเราจึงเป็นสองคนได้ ที่ยืนอยู่นี่ก็เรา ที่นอนอ้าปากตาเหลือกอยู่บนเตียงนั่นก็เราอีก มันอะไรกันแน่ และท่านยังคิดไปอีกว่า นี่ หรือที่ว่าผลของสมาธิสามารถจะทำคนคนเดียวให้เป็นสองคนได้

ขณะที่ท่านกำลังไตร่ตรองคิดอยู่นั้น ก็ได้มีชายใส่ชุดสีขาวเข้ามาหาท่าน ๒ คน พร้อมกับพูดขึ้นว่า “..ผมมาพาท่านไปเที่ยวบ้าน..” 

หลวงปู่จึงถามเขาว่า “..บ้านที่ร้อยเอ็ดหรือ (บ้านเกิด). ” 

เขาตอบว่า “. ไม่ไช่..”

หลวงปู่จึงถามเขาต่อไป อีกว่า “..ยังไปไม่ได้หรอก เพราะกำลังสงสัยอยู่ว่านี่มันอะไรกันแน่ นั่นก็ตัวเรา ที่ยืนอยู่นี่ก็ตัวเรา ถ้าพรุ่งนี้ครูบาอาจารย์ถามจะตอบไมู่ถก..” 

ชาย ๒ คนนั้นตอบว่า “..ไม่เป็นไรถ้าท่านไปกับข้าพเจ้าแล้วจะสิ้นสงสัยเอง..”

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้ย้อนถามเขาถึง ๒ ครั้ง เขาก็ตอบยืนยันว่าจะสิ้นสงสัยจริงถึง ๒ ครั้งเช่นกัน …ถ้าอย่างนั้นก็ตกลง .. ไป .. พอตอบว่าตกลงเท่านั้นเอง ก็ปรากฏว่ามีความรู้สึกคล้ายๆ กับว่าลอยตามเขาไปทันที และปรากฏว่าลอยออกไปทางทิศตะวันออกของกุฏิ ลอดกิ่งต้นกะบกออกไป 

หลวงปู่ได้ถามเขาอีกครั้งหนึ่งว่า “…จะพาไปที่ไหน..” เขาชี้มือให้ดู มองเห็นคล้ายๆ กับ มีดวงดาวดวงหนึ่งลอยอยู่ข้างหน้าและกำลังจะตรงเข้าไปนั่นเอง

ตามความรู้สึกของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านสังเกตดูแล้วดวงดาวที่จะไปนั้น มีลักษณะคล้ายกับดาวเพชร และก็ปรากฏว่าพุ่ง …. วูบ … เข้าไปสู่ดาวดวงนั้นทันที

๒๐. โลกทิพย์

พอเข้าไปถึงสถานที่แห่งใหม่นี้แล้ว หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านเล่าว่า มีความรู้สึกคล้าย ๆ กับโลกมนุษย์ของเรานี่เอง แปลกแต่ว่ามีต้นไม้เป็นระเบียบและสูงมาก กิ่งก้านสาขาเข้าประสานถึงกันหมด พอมองขึ้นไปข้างบน เหลืองอร่ามเหมือนสีทอง ส่วนข้างล่างที่พื้นเหยียบเหมือนมีหญ้าแห้วหมูปกคลุมทั่วไปหมดหรือคล้ายๆ กับปูลาดไปด้วยพรม คลุมไปหมดมองไม่เห็นพื้นดินเลยว่าเป็นอย่างไรเหยียบไปตรงไหนก็นุ่มนิ่มไปหมด

ถึงตอนนี้หลวงปู่บอกว่า จิตใจนี่เปลี่ยนไปหมด หน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว จิตใจอ่อนโยนอย่างบอกไม่ถูก ถ้าใครไปเจอแล้วจะรู้เอง ว่าจิตใจมันเปลี่ยนอย่างไร เพราะว่าบางอย่างไม่สามารถเล่าให้ถูกต้องได้ อุปมาข้อนี้เหมือนกับรสชาติของผลไม้ ผู้ที่ยังไม่เคยชิมดู ถึงแม้ว่าใครจะพรรณนาเรื่องรสชาติให้ฟังเท่าไรก็ไม่สิ้นสงสัย

นอกจากจะทดลองรับประทานด้วยตนเองถึงไม่ต้องพรรณนาก็สามารถรู้ได้เองฉันใด เรื่องนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เมื่อเรายังไม่ถึงก็ไม่รู้ว่าจิตใจเปลี่ยนแปลงอย่างไร บอกไม่ถูก แต่ถ้าถึงแล้วไม่ต้องมีใครบอกก็สิ้นสงสัยเองและอีกอย่างหนึ่ง

ท่านบอกว่า พอก้าวเท้าเข้าไปถึงเท่านั้น ก็ได้ยินเสียงขับกล่อมอยู่ตลอดเวลา คล้าย ๆ กับเสียงดนตรี ทำให้จิตใจเยือกเย็นและอ่อนโยนเป็นลำดับ แต่ไม่รู้ว่าต้นเสียงนั้นอยู่ที่ไหน และแล้วเขาก็พาท่านไปจนถึงบ้านหลังหนึ่ง แล้วเขาก็บอกว่า “นี่แหละบ้านของท่าน ที่เราว่าจะพาท่านมา”

หลังจากนั้นเขาก็พาเข้าไปในบ้าน ท่านจึงได้เอ่ยถามเขาว่า “ใครเป็นผู้มาสร้างไว้ให้” 

เขาตอบว่า “ที่เราอยู่เวลานี้คือ … โลกทิพย์… ของทั้งหมดไม่ต้องมีไครสร้าง เกิดขึ้นเอง เป็นเอง ด้วยอานิสงส์ของความดีที่ทำไว้ในโลกมนุษย์”

พอเขาพูดเพียงแค่นั้น หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านจึงได้รู้ทันทีว่า “ถ้าอย่างนั้นเราก็ตายแล้วนะซี ถ้าตายอย่างนี้จะไปกลัวตายทำไม ไม่เห็นจะน่ากลัวตรงไหนเลย” และได้ถามเขาอีกว่า “บ้านหลังนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร”…

๒๑. อานิสงส์สวดพระปาฏิโมกข์

เขาอธิบายให้ฟังว่า “สมัยหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านได้จำพรรษาอูย่กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร ในปีนั้นท่านได้ตั้งใจสวดปาฏิโมกข์ สวดได้ดีมาก และน้อมใจขึ้นสวดจริง ๆ จึงได้บังเกิดปราสาทหลังนี้ขึ้นเป็นอานิสงส์ตอบสนอง”

พอท่านได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกซาบซึ้งใจมาก ทั้งดีใจ และเสียใจระคนกัน ซึ่งแต่ก่อนนึกว่าครูบาอาจารย์หานโยบายให้ลูกศิษย์มีความขยันท่องปาฏิโมกข์ แต่พอมาเจอเข้าอย่างนี้ จึงรู้ว่าเป็นเรื่องจริง พอมองออกไปข้างนอก ด้านทิศตะวันออกของปราสาทก็มองเห็นสวนมะม่วงสวยงามขึ้นเป็นระเบียบเรียบร้อยดีร่มรื่นและมีลานหญ้ามีน้ำตกไหลซู่ซ่าน่าสดชื่นจริงๆ มีที่นั่งที่นอนสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มองดูแล้วรู้สึกว่าเป็นสถานที่น่ารี่นรมย์เป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่ทำให้เพลิดเพลินจำเริญใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้อีกแล้ว

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย จึงเอ่ยถามขึ้นอีกว่า “สวนมะม่วงแห่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร” เขาตอบว่า “เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คือในปีเดียวกันนั่นเอง ท่านได้ไปบิณฑบาตที่บ้านธาตุนาเวง ซึ่งเป็นทางสายบิณฑบาตที่ไกลกว่าทุกสายและลำบากมาก ต้องข้ามน้ำข้ามคลอง บางแห่งก็ต้องเดินลุยขี้โคลนไป ผ้าสบงจีวรต้องเปียกเลอะเทอะแทบทุกวัน จนไม่มีพระเณรองค์ไหนอยากจะไป เมื่อไม่มีไครไป ท่านจึงไปแต่เพียงผู้เดียวตลอดพรรษา

และมีอยู่วันหนึ่ง ได้มีชาวบ้านถวายมะม่วงอกร่องใส่บาตรมาหลายลูก พอท่านเดิน กลับจากบิณฑบาตก็มีความตั้งใจว่าถ้ากลับถึงวัดแล้วก็จะเอามะม่วงที่บิณฑบาตได้มานี้ถวายครูบาอาจารย์ให้หมดทุกองค์ เพราะว่าเป็นอาหารที่ประณีตดี พอกลับมาถึงวัดแล้ว ท่านก็ได้น้อมใจที่เต็มไปด้วยบุญกุศล เอามะม่วงใส่บาตรถวายคูรบาอาจารย์จนหมดเกลี้ยง โดยที่ตนเองไม่ได้เก็บไว้ฉันเองเลย ซึ่งในครั้งนั้นเป็นการตั้งใจและน้อมใจทำบุญอย่างจริงๆ ผลของอานิสงส์นั้น จึงบังเกิดเป็นสวนมะม่วง และสถานที่แห่งนี้ขึ้นตอบสนอง”

หลังจากนั้นเขาก็เล่าอะไรต่ออะไรให้ฟังอีกเป็นลำดับ ว่าของแต่ละอย่างเกิดขึ้นได้อย่างไร อยู่ที่ไหน ตลอดถึงครูบาอาจารย์ของเขา ที่นำพาประกอบบุญกุศลตั้งแต่ครั้งสมัยที่เขา ยังอยู่ในโลกมนุษย์ เขาได้นำหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เที่ยวชม สถานที่ต่างๆ อยู่บนโลกทิพย์นั้น

หลวงปู่ท่านก็เกิดความเสียใจมากว่า อานิสงส์ของท่านทำไมมันช่างน้อยนัก ท่านเคยสร้างโบสถ์และวิหารก็หลายหลัง ให้ทานการบริจาคด้านอื่นๆ ก็มีจำนวนมากมาย ทำไมไม่เห็นมีอานิสงส์เลย เหตุใดจึงมีเพียงสองอย่างเท่านั้น จึงได้ถามเทพเจ้าเหล่านั้นต่อไปอีก 

และเขาก็ตอบว่า “นั่นท่านสักแต่ว่าทำโดยที่ไม่มีจิตใจน้อมลงเพื่อบุญกุศล ทำมากเท่าไรก็ไม่มีอานิสงส์ ถึงมีบ้าง ก็ยากเต็มที เหมือนโยนเข็มลงมหาสมุทร แต่ว่าอานิสงส์ทั้งสองอย่างที่ท่านประจักษ์อยู่นี้ ท่านได้ทำด้วยใจน้อมลงเพื่อบุญกุศลจริงๆ จึงบังเกิดขึ้นเป็นอานิสงส์ดังนี้สองอย่าง”

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านได้เล่าให้ฟังอีกว่า อานิสงส์ของท่านนั้นถ้าเปรียบกับของคนอื่นที่ได้เห็นมาแล้วนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีวาสนาบารมีกันมากทั้งนั้น เพราะมีสิ่งประดับบารมีที่วิจิตรพิสดารมากมายกว่าของท่านเหลือเกิน

ถ้าเปรียบแล้วท่านบอกว่า “ของท่านนั้นเปรียบเหมือนเทพเจ้า ระดับชาวบ้านธรรมดา หรือระดับขอทานเท่านั้น ส่วนของเทพเจ้าองค์อื่น ๆนั้นเปรียบเหมือนเทพเจ้าระดับเศรษฐี หรือพระราชาทีเดียว” ท่านจึงเกิดความเสียใจ และคิดอยากกลับมาสร้างบารมีใหม่ เพื่อเป็นการแก้ตัวอีกสักครั้ง

๒๒. ขอกลับมาสร้างบารมีต่อ

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านจึงได้อธิษฐานไว้ในใจว่า “ถ้าข้าพเจ้ามีบุญบารมีเหมือนอย่างที่หลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร ได้เคยปรารภมาแล้ว ก็ขอให้บรรดาเทพเจ้าเหล่านี้จงได้ยินยอมตามที่ข้าพเจ้าจะขอต่อไปด้วยเถิด” แต่ถ้าหากว่า ไม่มีบุญบารมีซึ่งจะสร้างความดีและบารมี หรือพอที่จะทำประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนาได้แล้วก็ขอให้เทพเจ้า เหล่านี้อย่าได้ยินยอมตามที่ข้าพเจ้าขอเลย” ท่านอธิษฐานเสร็จก็ได้หันหน้า ประนมมือไปทางเทพเจ้าเหล่านั้น แล้วกล่าวว่า 

“พวกท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าเกิดมาในชาตินี้ เกิดในพาเหียรลัทธิ คือลัทธินอกพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนว่าตายแล้วสูญ ข้าพเจ้าจึงเสียใจมาก ถ้าข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ตั้งแต่ทีแรก ข้าพเจ้าจะสร้างความดีให้เต็มที่ ฉะนั้นจึงขอให้กลับลงไปสร้างบารมีโพธิสมภาร เพื่อเป็นการแก้ตัวอีกสักครั้งหนึ่งเถิด” 

พอท่านได้กล่าวจบลงเท่านั้น เทพเจ้าทั้งหมดก็ได้ยกมือขึ้นพร้อมกับกล่าวคำว่า “สาธุ” พร้อมกัน ด้วยเสียงอันดังกระหึ่มไปหมด เทพเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นก็ยังได้สั่งอีกว่า “ท่านจะกลับลงไปได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อท่านกลับลงไป แล้วจงพยายามสร้างความดีให้เต็มที่ เพราะเวลามีจำกัดเท่านั้น”

“ในโอกาสนี้โลกมนุษย์ของเรายังนับว่าโชคดีอยู่มาก ที่ยังมีธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมีพระพุทธศาสนา ถ้าเราเกิดในสูญญกัปป์ คือกัปป์ที่สูญสิ้นพระศาสนาแล้ว โลกมนุษย์จะลำบากมากที่สุด และอีกอย่างหนึ่งพระพุทธเจ้าจะมาตรัสูร้ในโลกมนุษย์ แต่ละพระองค์นั้นเป็นของยากมากลำบากมาก กว่าพระองค์จะสร้างบารมีให้เต็มบริบูรณ์ได้ก็กินเวลาที่ยืดยาวหลายอสงไขย..”

เทพเจ้าเหล่านั้นก็ยังได้ชี้ให้หลวงปู่ดูดาวต่างๆ พร้อมกับอธิบายให้ฟังอีกว่า “ดูซิสถานที่ ที่มนุษย์และสัตว์จะต้องเวียนว่ายตายเกิดนั้นมีมากมาย ดังที่เรามองเห็นอยู่บนท้องฟัา ดวงดาวแต่ละดวงทั้งหมดที่มีอูย่จำนวนถึง “..แสน โกฏิดวง ” “หรือแสนโกฏิจักรวาล” แต่ละดวงก็เป็นแต่ละจักรวาล แต่ละจักรวาลนั้นถ้าว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว แยกออกเป็นสองประเภท คือประเภทที่มีแสงสว่างในตัวเองและประเภทที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง”

เราจะสังเกตได้ดังนี้ ถ้าดวงใดมีแสงกะพริบ …วาบ ..วาบ… และมีแสงวิ่งรอบตัวนั้นเป็นจักรวาลของดวงอาทิตย์ สำหรับไห้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่โลกอื่น ซึ่งเป็นจักรวาลที่ไม่มีสิ่งที่มีชีวิตอยู่ ถ้าดวงใดมีลักษณะนิ่งๆ ไม่มีการกะพริบตัว ดาวดวงนั้นมีวิญญาณของมนุษย์และสัตว์อยู่ เป็นจักรวาลที่มีสิ่งที่มีชีวิตอยู่ แต่ว่ายังแยกออกเป็นสามประเภท คือ

ประเภทที่หนึ่ง เต็มไปด้วยความทุกข์ เช่น “..นรก..” เป็นต้น

ประเภทที่สอง เป็นจักรวาลที่เต็มไปด้วยความสุข เช่น “..โลกทิพย์ หรือ สวรรค์..”

ประเภทที่สาม เป็นจักรวาลที่มีทั้งสุขและทุกข์ปะปนกันอยู่เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวสมหวังเดี๋ยวผิดหวัง วันนี้มีความสุขความเจริญ แต่พรุ่งนี้อาจจะได้รับความทุกข์ได้รับความเดือดร้อน หรือวันนี้อาจจะแย่เต็มที แต่วันพรุ่งนี้อาจจะดี จะเด่น อะไรทำนองนี้ประเภทดังกล่าวมานี้ได้แก่ “..โลกมนุษย์..” และ ..พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะต้องมาเกิดในโลกมนุษย์นี้

เพราะโลกมนุษย์มีสิ่งเปรียบเทียบทั้งทางดีและทางชั่วมีทั้งสุขมีทั้งทุกข์ปะปนกันอยู่ ส่วนนรกและสวรรค์นั้นไม่มีสิ่งเปรียบเทียบเช่น เมีองนรกนั้นก็มีแต่ทุกข์อย่างเดียว ส่วนเมืองสวรรค์นั้นก็มีแต่สุขอย่างเดียว

ฉะนั้นการมาตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ จึงมาตรัสรู้ได้ในโลกมนุษย์แห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น ท่านเรียกว่า ”มงคลจักรวาล..” คือจักรวาลที่เป็นมงคล หลังจากนั้น เทพเจ้าทั้งสองที่ได้มารับท่านไปในครั้งแรกนั้น ก็ได้นำท่านกลับมายังโลกมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง และได้นำเข้าไปยังกุฏิหลังเดิม

พอเข้าไปถึงกุฏิก็มองเห็นร่างของท่านนอนอ้าปากตาเหลือกอยู่อย่างเดิม และเทพเจ้าทั้งสองนั้นก็ยังได้กล่าวสอนท่านอีกครั้งหนึ่งเสร็จแล้วเขาจึงได้ให้หลับตา พอท่านหลับตาปุ๊บก็มีความรู้สึกว่าได้เข้าไปอยู่ในร่างเดิมอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากร่างกายนั้นปราศจากวิญญาณนานถึง ๑๕ ชั่วโมงแล้ว จึงรู้สึกว่าร่างนั้นแข็งเหมือนท่อนไม้ ท่านต้องใช้ความพยายามค่อยๆขยับตัวทีละน้อยๆ จนกระทั่งขยับมือได้ก่อน แล้วก็ค่อยๆยกมือขึ้นมาบีบปากที่อ้าค้างอยู่นั้นให้หุบลง

พอหลังจากนั้นก็ยกมือขึ้นมานวดกระบอกตา จนตาเริ่มกระพริบได้ ก็ลุกขึ้นนั่ง และค่อยๆ กระเถิบไปที่โอ่งน้ำล้างเท้าหน้ากุฏิ ตักเอาน้ำขึ้นมาฉัน เพราะมีความกระหายน้ำมาก เมื่อท่านได้ฉันน้ำเข้าไปกะประมาณ ๑ ลิตร ก็รู้สึกว่าค่อยสดชื่นขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังไม่คล่องตัวและเกิดอาการหิวขึ้นมา

จึงได้ขยับไปตากแดด แล้วก็นวดเฟ้นตามแขนขา ตามข้อต่างๆ ของร่างกายสักพักหนึ่งก็เริ่มยืดแขน ขา และอวัยวะส่วนอื่นๆ ก็เริ่มใช้การได้ดีขึ้น แล้วก็ได้ลุกเดินไปศาลา เพื่อจะฉันจังหัน เพราะรู้สึกว่ามีความหิวมากได้ฉันจังหันเสร็จเรียบร้อยได้เวลาเที่ยงพอดี รวมเวลาที่ได้สลบไปทั้งหมด ๑๕ ชั่วโมงเศษ

ในช่วงนี้ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสกราบเรียนถามหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เพิ่มเติมนอกเหนือจากการมรณภาพไปของท่านอีกหลายเรื่อง ท่านก็ได้เมตตาอธิบายให้ฟังจนเป็นที่พอใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ และน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้นำมาลงโดยย่นย่อดังต่อไปนี้

ข้าพเจ้ากราบเรียนถามท่านต่อไปว่า “..ตอนที่ท่าน ได้ไปเห็นความเป็นอยู่ของเทพเจ้าหรือชาวโลกทิพย์แล้ว หลวงปู่ว่าเป็นไปได้ไหม ที่มีตำราหรือตำนานบางเล่ม และ มีครูบาอาจารย์บางองค์เล่าเรื่องอสูรกับเทวดารบกัน แย่งลูกชิงเมียกันบ้าง ในทำนองเล่าตามเรื่องของพุทธหรือพราหมณ์ก็ไม่ทราบ แต่กระผมตีความหมายเอาเองว่าท่านเล่าเรื่องเทวดาพุทธ เพราะเคยเห็นในตำนานทางพุทธ

อันนี้ขอยกไว้เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ที่สงสัยนั้นสงสัยว่า “ทำไมเมืองสวรรค์แท้ ๆ ถึงต้องรบราฆ่าฟันกัน” ในตำนานบอกว่ารบเพื่อแย่งที่อยู่อาศัย และแย่งลูกชิงเมียกัน ถ้าสวรรค์เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ก็ไม่เห็นมีอะไรแปลกจากโลกมนุษย์ เพราะการแย่งดีชิงเด่นกัน เป็นเรื่องของพวกมนุษย์ที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ แต่ถ้าจะว่าอีกอย่างหนึ่งโลกมนุษย์เรายังมีอะไรแปลก ๆ น่าคิดกว่าเมืองสวรรค์อีกก็มี เช่น สวรรค์เขามีช้างมีม้าเป็นต้น เป็นพาหนะ แต่เมืองมนุษย์เรามีถึงจรวดหรือเครื่องบิน 

ฉะนั้นกระผมรู้สึกฉงนใจ เรื่องนี้กระผมเห็นว่ามีความสำคัญต่อพระศาสนาเป็นอย่างมาก ถ้าหากเป็นอย่างที่กระผมกราบเรียนมานั้นจริง ๆ คนสมัยใหม่นี้คงไม่มีไครอยากไปสวรรค์กัน เพราะ ยังมองไม่ออกว่าเมื่อไปถึงแล้วจะมีความสุขสบายได้อย่างไร เวลานี้ชาวโลกทั้งหลายเขาเบื่อสงครามจนเอือมกันแล้ว แต่พอถึงเมืองสวรรค์ก็ยังมีการทำสงครามกันอีก..”

ฉะนั้นกระผมจึงขอประทานกรุณาจากหลวงปู่ได้เมตตาช่วยคลี่คลายปัญหาดังที่ได้กราบเรียนมานี้ ให้ชาวโลกเขาเห็นจริงตามหลักทางพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างมาก และจะเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง… พอข้าพเจ้าได้กราบเรียนจบลง หลวงปู่ก็นั่ง พิจารณาเหตุผลอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงตอบว่า

“การที่เรารู้ว่าอะไรเป็นสวรรค์ของพุทธหรือไม่ใช่ของพุทธนั้น เราต้องศึกษาให้เข้าใจเสียก่อนว่า พุทธของเรานั้นมีความหมายอย่างไร และของพราหมณ์มีความหมายอย่างไร ถ้าจะว่าตามหลักทางพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสไว้ว่าสวรรค์นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจบุญ ไม่มีใครสร้างสรรค์ แต่เกิดขึ้นเองด้วยอำนาจผลแห่งความดีที่ทำไว้

ท่านจึงเรียกว่า “โลกทิพย์” บุญเป็นสิ่งที่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ และใครก็ลักขโมยไม่ได้ อุปมาเหมือนความรู้ของเราที่มีอยู่ในใจ ก็ไม่มีใครสามารถแย่งชิงเอาไปได้ ฉันใดเรื่องบุญ กุศลก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้าหากว่าแย่งเอาไปได้จริง ๆ ก็คงไม่มีใครอยากทำบุญ เพราะถ้าเราเห็นใครทำบุญมาก ๆ

ถ้าเผลอเมื่อไรก็มีหวังถูกขโมยเมื่อนั้น แต่แล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อสรุปแล้วก็ได้ความว่า “สวรรค์ของพุทธที่แท้จริงไม่มีอิจฉาตาร้อนซึ่งกันและกัน เมื่อไม่มีการอิจฉา การแย่งดีชิงเด่นก็ไม่มี การเบียดเบียนซึ่งกันและกันก็ไม่มี”

“และอีกอย่างหนึ่ง ที่คุณว่าสวรรค์มีช้าง มีม้า มีรถ มีเกวียนเหล่านี้เป็นต้น เป็นยานพาหนะ ส่วนมนุษย์ของเรามีถึงจรวดและเครี่องบิน เมี่อผมฟังดูก็รู้สึกว่าน่าฟัง ความจริงเรี่อง สวรรค์ที่คุณเล่ามาทั้งหมดนั้น ผมเคยเห็นอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ ตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็ก คุณหลวงเสนา ซึ่งเป็นตาของผมท่านเคย เล่าสู่ฟัง ผมจำได้ตั้งแต่สมัยกระโน้น ผมยังนับถือศาสนา พราหมณ์อย่างเคร่งครัด

ต่อมาพอผมได้ฟังธรรมทางพระพุทธศาสนา และได้เกิดศรัทธาปสาทะขึ้น จึงได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา แต่พอมาค้นคว้าตำราของพุทธศาสนาเข้า ก็เจอเรื่องอสูรกับเทวดาเข้าอีก ผมจึงแปลกใจไม่รู้เข้ามาปะปนอยู่ในทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่เมื่อไร 

และอีกประการหนึ่งเรื่องเทวดา หรือเทพเจ้าของพุทธ ผมเชื่อว่าไม่ต้องขี่อะไรเป็นพาหนะ เพราะเทพเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่ได้กายทิพย์ด้วยกันทั้งนั้น กายทิพย์เป็นกายที่ละเอียด พอนึกได้ว่าจะไปไหนก็ไปถึงเลย ไม่ต้องขี่ยานพาหนะให้ลำบาก เปรียบเสมือนความคิดของเรา เวลาจะไปไหนมาไหน ไม่เห็นว่าความคิดของเราขี่อะไรเลย และก็ไม่จำเป็นในเรื่องยานพาหนะที่จะให้ความคิดเราด้วยฉันนั้น

ในเมี่อเราจะไปไหนก็ได้ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เรื่องยานพาหนะ สมมติว่าใครสัปดนสร้างยานพาหนะให้ความคิดของตัวเองขี่ เพื่อไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆเข้า คนคนนั้นก็แย่เต็มที่”

ข้าพเจ้ากราบเรียนถามหลวงปู่ต่อไปว่า “ตอนที่หลวงปู่ไปถึงโลกทิพย์นั้นแล้ว มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง” 

ท่านตอบว่า ก็เป็นเหมือนกับที่เล่ามาแล้วนั่นเอง พอไปถึงเข้าก็ปรากฏว่ามีอะไรหลายอย่างที่แปลกจากโลกมนุษย์ เป็นต้นว่าปราสาท ราชวังและสถานที่รื่นรมย์ล้วนแต่มีความสวยสดงดงาม ทั้งเป็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินทั้งนั้น “ผมก็ยังถามเขาว่าใครเป็นคนสร้าง เขาก็บอกว่าไม่มีใครสร้าง เพราะที่นี่ของเป็นของเรา จึงเรียกว่า โลกทิพย์”

พอได้ยินคำว่าโลกทิพย์ผมจึงเอะใจ เลยถามเขาว่า “นี่ข้าพเจ้าตายแล้วใช่ไหม” 

“..ใช่ เวลานี้ท่านตายแล้ว ” 

ถ้าตายอย่างนี้ก็ไม่เห็นน่ากลัวอะไร ก็เหมือนกับเรายังเป็นมนุษย์อยู่นี่เอง จะไปไหนมาไหนก็ปรากฏว่า ร่างกายเรานี่ไปด้วยทั้งดุ้นทั้งก้อน เหมือนกับเมื่อยังมีชีวิตอยู่นี่เอง เขาจึงเล่าต่อไปอีกว่า กายคนเรานั้นถ้าว่าโดยส่วนใหญ่แล้วมีสามชั้นด้วยกัน

กายธาตุ หมายถึงกายที่หยาบๆ ที่พวกเรามอง

เห็นด้วยตาเนื้อ กายประเภทนี้สมควรแก่โลกมนุษย์

กายทิพย์ หมายถึงกายที่ละเอียดต้องเห็นด้วยตาทิพย์ กายประเภทนี้สมควรแก่ “โลกทิพย์”

กายธรรม หรือ ธรรมกาย ได้แก่กายของพระ

อรหันต์ ผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสที่สมควรแก่ “นิพพาน”

พอผมฟังเขาเล่าให้ฟังดังนี้จึงรู้สึกซึ้งใจเลยเฉลียวคิดไปถึงอดีต ที่เราเคยเรียนธรรมะมา เพิ่งจะเข้าใจเรี่องกายสามประเภท 

ในตอนนี้ข้าพเจ้ากราบเรียนถามหลวงปู่ต่อไป “แล้วจะเป็นไปได้ ไหมครับที่บางตำนานเขียนไว้ว่า เทพเจ้ารบกัน หรือทำสงครามกัน” 

หลวงปู่ตอบว่า “เป็นไปไม่ได้ พอไปถึงที่นั่นแล้วจิตใจเปลี่ยนหมด มีแต่ความซาบซึ้งและอ่อนโยน แถมยังมีอานิสงส์แห่งการทำความดีประจักษ์ชัดเจนจนไม่มีข้อสงสัย จะสามารถทำลงได้อย่างไร ผมเข้าใจว่าไม่มีทาง เพราะหิริและโอตตัปปะ มีประจำอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นที่ท่านว่า หิริและโอตตัปปะ เป็นเทวธรรม คือเป็นธรรมของเทวดา หรือของเทพเจ้านั้นเป็นเรื่องจริง และถ้าใครมีธรรมสองอย่างนี้อยู่ในใจจนตลอดชีวิตแล้ว เมื่อตายแล้วมีหวังได้เป็นเทพเจ้าเสวยทิพย์สมบัติอยู่บนสรวงสวรรค์แน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย “

ข้าพเจ้ากราบเรียนถามหลวงปู่ต่อไปว่า “เท่าที่หลวงปู่ได้เที่ยวชมอยู่บนโลกทิพย์นั้น ได้สังเกตเห็นอะไรบ้างที่ ต่างจากโลกมนุษย์ของเรา” 

หลวงปู่ตอบว่า “มีมากจนไม่สามารถจะนำมาเล่าให้หมดทุกอย่างได้แต่ผมจะเล่าคร่าวๆ ให้ฟังในสิ่งที่จำได้และเห็นชัด มีดังนี้…

ในเบื้องต้นที่เราเหยียบย่างเข้าไป จะเห็นต้นไม้เป็น ระเบียบเรียบร้อยและสูงมากสม่ำเสมอกันจริงๆ แม้แต่หญ้า ที่เราเหยียบไปก็มีความสม่ำเสมอกันหมด ไม่มีสูงๆ ต่ำๆ ส่วนข้างบนต้นไม้จะมีกิ่งก้านเข้าประสานกัน ทำให้เกิดความร่มรี่น และสวยงาม..

พอไปถึงแต่ละบ้าน เจ้าของบ้านเขาออกมาต้อนรับ ด้วยไมตรีจิตอันดีงามจริงๆ เป็นให้เข้าไปในบ้านเขาด้วยความพอใจ พูดถึงการต้อนรับ จะไม่มีที่ไหนในเมืองมนุษย์เราเสมอเหมือน แต่ก็น่าแปลกใจว่า ทำไมเทพเจ้าที่มาต้อนรับเราจึงไม่ปรากฏว่ามีลูกเล็กเด็กแดงอุ้มกันกระจองอแงเหมือนโลกมนุษย์เราเลย มีแต่คนโตๆ เท่านั้น และเวลาทำการปฏิสันถารกับผมนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีอะไรมาต้อนรับ

เช่น ข้าวปลาอาหาร น้ำร้อนน้ำเย็น เป็นต้น ส่วนการมาของเทพเจ้า และการไปของผม ซึ่งเขาพาไปชมในที่ต่างๆก็ดี ก็ไม่ปรากฏว่ามีอะไรเป็นยานพาหนะขี่ไปเลยแม้แต่อย่างเดียว พอตกลงใจว่าจะไปที่ไหนก็ปรากฏว่าถึงที่ทันที และเวลาเขาพาเที่ยวชมในสถานที่ต่างๆ อยู่นั้น เท่าที่ผมสังเกตดู แต่ละบ้านไม่ปรากฏว่ามีโรงครัวเลย แม้แต่หลังเดียว

ตลอดทั้งห้องน้ำห้องส้วมก็ไม่มี เทพเจ้าที่มา ต้อนรับทั้งหมด ก็ไม่เห็นว่ามีท่าทีว่าจะปวดหนักปวดเบา แม้แต่จะเอาของมารับประทานก็ไม่มี ผมเองก็เหมือนกัน เพราะต่างก็มีความเอิบอิ่มและเพลิดเพลินอยู่อย่างนั้น ไม่เคยรู้สึกว่าหิว อะไร นี่ก็แสดงให้เห็นว่า โลกทิพย์เขาอยู่กันด้วยความอิ่ม คือ “..อิ่มบุญกุศล “

ผมสังเกตดูหลายอย่าง เช่น ภายในบ้านแต่ละหลังเท่าที่ ผมเห็นมาไม่ปรากฏว่ามีผ้าผ่อนท่อนสไบหรือเครี่องประดับประดาอาภรณ์ต่างๆ ตากเกะกะรุงรงไม่มีเลย ในห้องจะเห็นเป็นห้องโถงโล่งโปร่ง มีลวดลายวิจิตรพิสดารสวยสดงดงามมาก ผมยังไม่เคยเห็นที่ไหนในเมืองมนุษย์เราจะเปรียบปาน เครื่องประดับในที่นี้หมายถึงเครื่องประดับปราสาท ไม่ใช่เครื่องประดับของเทพเจ้าอย่างที่เขียนเรื่องเทวดา ว่าเทวดาใส่ชฎาหัวแหลมๆ อันนี้ก็ไม่เห็นมีเหมือนกัน

ผมเสียดายที่ผมไม่ใช่นักวาดเขียน ถ้าผมเป็นนักวาดเขียน ผมจะวาดให้ดูลักษณะของเทพเจ้าที่ผมเห็นมา แต่ก็น่าเสียใจอยู่อย่างหนึ่ง เท่าที่ผมสังเกตดูเทพเจ้ามีความยิ่งใหญ่ไม่สม่ำเสมอกัน ผมมองๆดูเทพเจ้าบางองค์รู้สึกว่ามีความยิ่งใหญ่มาก มีบริษัทบริวาร ตลอดถึงปราสาทที่อยู่อาศัยจะมีเครื่องประดับบารมีมากมายจนบอก ไม่ถูกว่ามีอะไรต่ออะไรบ้าง ตรงนี้แหละผมนึกน้อยใจตัวเอง เมื่อมองดูปราสาทของตัวเองแล้วสู้ของเขาไม่ได้ ยิ่งบางองค์แล้วคล้ายๆกับจะเป็นเทพเจ้าคนใช้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นเทพเจ้าระดับคนใช้ก็ยังดีกว่าการเป็นพระราชาในเมืองมนุษย์เลยอีก แต่พระเจ้าจักรพรรดินั้นผมไม่เคยเห็น จึงไม่สามารถเอามาเทียบได้ ที่ผมว่าเทพเจ้าคนใช้ในโลกทิพย์ยังดีกว่าพระราชาในเมืองมนุษย์ หมายความว่าโลกทิพย์เขาไม่ได้ทำอะไร ต่างองค์ต่างก็อิ่มในบุญกุศลของตนอยู่ตลอดเวลา เรื่องอิจฉาตาร้อน และกลั่นแกล้ง พยาบาทอาฆาต จองเวรกัน รบราฆ่าฟันกัน เพื่อแย่งดีชิงเด่นกันเป็นต้น จะไม่มีอยู่ในโลกทิพย์นั้นเลย…

สรุปแล้วเรื่องที่จะทำให้กันและกันเดือดร้อนนั้นไม่มี เพราะต่างองค์ต่างก็มีหิริและโอตตัปปะประจำใจอยู่ตลอดเวลา นี่ผมเอาผมไปเทียบดู เพราะในเวลานั้นจิตผมนิ่มนวลและอ่อนโยนจริงๆ และซาบซึ้งใจอย่างบอกไม่ถูกว่ามีความซาบซึ้งอย่างไร เรื่องอายชั่วกลัวบาปไม่ต้องพูดถึง เพราะเห็นผลชัดๆถึงขนาดนั้น จิตจึงยอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นผมจึงเข้าใจว่า เทพเจ้าที่อยู่ในโลกทิพย์คงเหมือนกันทุกองค์…”

ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า “เรื่องสวรรค์และนรก เท่าที่กระผมเคยได้เล่าเรียนศึกษามา กระผมเข้าใจว่าเรียงกันเป็นชั้น ๆ เหมือนรังต่อ หรือเหมือนตึกในทำนองนั้น” 

หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า “แต่ก่อนผมก็เข้าใจในทำนองนั้น เท่าที่ผมเคยอ่านตามตำรา เหมือนว่านรกนั้นอยู่ใต้ดิน เพราะมีคำว่าธรณีสูบพระเทวทัตลงไปอเวจีมหานรก ที่จริง อันนั้นก็ควรยกให้เป็นเรี่องของตำราไป เพราะว่าผู้แต่งตำรา ท่านจะตีความหมายแค่ไหน เราไม่ทราบได้ บางทีเราอาจจะตี ความหมายของผู้แต่งผิดไป” 

จะอย่างไรก็ตาม ที่ผมพูดมาทั้งหมดในวันนี้ ไม่ประสงค์จะไปให้ยึดเรื่องตำรา เพราะตำรามีทั้งผิดมีทั้งถูกเป็นเรื่องธรรมดา

ข้อสำคัญที่สุดคนที่อ่านตำราเป็นเขาไม่ไปยึดเรื่องตำรา เขาต้องพิจารณาด้วยปัญญาว่าอะไรดีหรีอไม่ดี อะไรผิดอะไรถูก อะไรควรละ อะไรควรบำเพ็ญ จะควรเชื่อถือได้แค่ไหนเพียงไรนั้นเป็นเรื่องของเรา จะต้องกลั่นกรองด้วยปัญญาเสียก่อน เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนั้นก็ขอให้ทุก ท่านทุกคนที่อ่านนี้จงพิจารณาดูว่า มีเหตุผลสมควรเชื่อถือได้หรีอไม่ ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อด้วยประการใดนั้น โปรดพิจารณาด้วยเหตุผลของแต่ละท่านแต่ละคนเอาเองก็แล้วกัน

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้สรุปจบเรื่องการไปสู่โลกทิพย์ของท่านลงด้วยความปลื้มปิติของทุกท่านที่ได้ฟังในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสพาท่านผู้อ่านไปเที่ยวโลกทิพย์เสียนาน เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจในเรื่องนี้จึงได้นำมาลงไว้ในคราวเดียวกันเสียเลย บัดนี้ก็จะได้พาท่านเข้าสู่เรื่องการออกบำเพ็ญกรรมฐานของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโยต่อไปใหม่

ภายหลังจากที่ท่านได้หายจากการป่วย ได้ผ่านพ้นเหตุการณ์ในครั้งนั้นแล้ว ท่านก็ยังได้อยู่ประพฤติปฏิบัติกับหลวงปู่สีลา อิสสโร ต่อมาอีก เพราะว่าหลวงปู่สีลา อิสสโร นั้น มีข้อวัตรปฏิบัติเป็นที่น่าเลื่อมใสน่าเคารพกราบไหว้สักการะบูชาเป็นอย่างยิ่ง เป็นครูบาอาจารย์ที่หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ให้ความเคารพรองลงมาจากหลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร เมื่อหลวงปู่สีลา อิสสโร ไม่สะดวกเรื่องอะไร หรือมีความประสงค์สิ่งใดแล้ว ถ้าสิ่งนั้นไม่เหลือวิสัย หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านจะต้องจัดการสนองเจตนาทุกครั้งไป

มีอยู่คราวหนึ่งซึ่งเป็นฤดูหนาว ในปีนั้นจังหวัดสกลนครมีความหนาวเย็นมากกว่าทุกปี หลวงปู่สีลา อิสสโร ได้ ปรารภขึ้นมาว่า ” ปีนี้บ้านเราอากาศหนาวมาก ถ้าไม่มีโรงไฟบรรเทาความหนาวผมคงจะแย่.. เมื่อทราบความประสงค์ของครูบาอาจารย์แล้ว หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้ ชักชวนหลวงปู่หาญ ชุติณธโร และพระภิกษุสามเณรอีกหลาย องค์ช่วยกันก่อสร้างโรงไฟเพื่อถวายครูบาอาจารย์ทันที

มีอยู่วันหนึ่งหลวงปู่สมชายได้ขึ้นไปตีตะปูเพี่อจะมุงหลังคาโรงไฟนั้น จะด้วยเหตุใดไม่ทราบได้ไม้อันที่ท่านเหยียบอยู่บนนั้นได้หลุดออก จากกันโดยบังเอิญ จึงเป็นเหตุให้ท่านพลัดตกลงมาจากหลังคาโรงไฟทันที ร่างหล่นลงมากระแทกกับกองไม้ซึ่งกองระเกะระกะอยู่ข้างล่างนั้นเต็มที่ ถึงขนาดสลบหมดสติไป ขาข้างหนึ่ง กระดูกหลุดหมุนได้รอบ พระเณรที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดเมื่อหายจากการตกตะลึงแล้ว ก็ได้ช่วยกันหามหลวงปู่สมชายออกมาทำการปฐมพยาบาลจนรู้สึกตัว

หลวงปู่หาญ ชุติณธโร ได้ไปหาเก็บใบยาสมุนโพรต่างๆ ซึ่งหาได้ง่ายตามป่านั้นมาทำเป็นยาลูกปะคบและทำเป็นยาย่างสลับกันไป ในวันหนึ่งหลวงปู่หาญได้ทำยาสมุนไพรแบบย่าง คือเอาใบยาต่างๆ ที่หามาได้ ปูลงบนเตียงเอาเสื่อปูทับแล้วช่วยกันหามหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย นอนทับเสื่อก่อไฟไว้ใต้เตียง โดยให้ความร้อนเผาใบยา ใบยานั้นก็จะระเหือดไอ ขึ้นสู่ตามตัวของหลวงปู่สมชาย เป็นการรักษาพยาบาลแบบโบราณและง่ายๆ แต่ได้ผลดีมาก ได้รักษาแบบปะคบและย่าง สลับกันอยู่หลายวันอาการก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

วันหนึ่งหลวงปู่หาญได้หามหลวงปู่สมชายขึ้นย่างบนเตียงเหมือนอย่างทุกวันที่เคยทำมาแล้ว หลวงปู่หาญก็ได้ออกไปช่วยพระเณรก่อสร้างโรงไฟต่อ เนื่องจากใบยาสมุนไพรนั้นได้ถูกย่างมาหลายวันแล้วก็แห้งกรอบ พอถูกไฟในวันนี้เข้าก็เลยกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดี ไฟที่หลวงปู่หาญได้ก่อไว้ใต้เตียงนั้นก็ได้ลุกไหม้ใบยาสมุนไพร และลุกไหม้เสื่อไหม้เตียงที่หลวงปู่สมชายนอนย่างอยู่นั้น จนกระทั่งความร้อนถึงตัว จะลุกขึ้นหนีก็ลุกไม่ได้ เพราะขาที่หลุดยังไม่เข้าที่ ร้องเรียกพระเณรก็ไม่มีใครได้ยิน เพราะกำลังทำงานกัน ไฟก็ลุกไหม้แรงขึ้นๆ จนร้อนระบมไปทั่วแผ่นหลัง

จึงได้ตัดสินใจดิ้นจนตกลงมาจากเตียง ความสูงของเตียงจากพื้นดินก็สูงพอสมควร คนที่กำลังเจ็บอยู่ แล้วก็ต้องมาเจ็บซ้ำเป็นรอบที่สองอีก จนกระทั่งพระเณรที่ทำงานอยู่ได้เวลาพัก หลวงปู่หาญจึงได้เดินมาดู ก็ได้เห็นไฟไหม้เตียงเรียบร้อยไปแล้ว ภายหลังจากรักษาพยาบาลหายเป็นปกติดีแล้ว ก็ยังได้บำเพ็ญศึกษาปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติต่อมาอีกนานพอสมควร แล้วจึงได้กราบลาเพื่อออกหาสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งใหม่ต่อไป

และในครั้งนั้นหลวงปู่สีลา อิสสโร จึงแนะนำให้ไปพักบำเพ็ญที่ วัดบ้านกุดเรือ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโยก็ได้ปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์แนะนำ ได้พักปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดบ้านกุดเรือนานพอสมควรแก่เวลาแล้วจึงโด้กราบลา หลวงปู่สีลา อิสสโร ออกเดินทางมุ่งหน้าตรงไปยัง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ที่สุดได้เข้าไปพักบำเพ็ญอยู่ที่วัดพระงามศรีมงคล ซึ่งมีท่านพระอาจารย์อ่อนสี สุเมโธ เป็นเจ้าอาวาส เป็นวัดเก่าที่หลวงปู่มั่นภูริทตตเถร เป็นผู้สร้างไว้ ตลอดระยะเวลาการบำเพ็ญก็เป็นไปได้ดี มากพอสมควรต่อจากนั้นก็ได้ออกเดินทางมุ่งไปทางจังหวัดมุกดาหาร เพี่อแสวงหาสถานที่บำเพ็ญแห่งใหม่ต่อไป

๒๓.  บำเพ็ญธรรมที่ภูเก้า พ.ศ. ๒๔๙๖

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้ออกเดินทางจากวัดพระงามศรีมงคล หาสถานที่วิเวกไปทางจังหวัดมุกดาหารในครั้งนี้ ได้มีพระภิกษุสามเณรติดตามไปด้วยหลายรูปเดินไปเรื่อยพักบำเพ็ญไปตามสายทางที่ผ่าน แห่งละคืนบ้างสองคืนบ้างจนกระทั่งเข้าไปถึง ภูเก้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร (สมัยก่อนเป็นจังหวัดนครพนม)

เห็นว่าเป็นสถานที่ สงบวิเวกน่าบำเพ็ญดี จวบกับเวลาใกล้เข้าพรรษาจะถึงพอดีจึงได้ตัดสินใจอยู่จำพรรษา ณ ภูเก้าแห่งนี้ ๑ พรรษาสำหรับการบำเพ็ญในพรรษานี้ก็เป็นไปได้ดี มาก และมีพระเณรจำพรรษาอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๘ องค์ ๑ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นประธาน ๒หลวงปู่มุล ธมมวีโร ๓หลวงปู่พรหมา ๔ครูบาสุดใจ ๕ สามเณรสุดชา ๖ สามเณรทองม้วน ๗ สามเณรบุญเถิง ๘ สามเณรไสว

ตลอดฤดูกาลพรรษาหลวงปู่สมชายก็นำพาพระ ภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับหลวงปู่สมชายนั้นต้องรับภาระหนักกว่าหมู่เพราะว่าเป็นหัวหน้าคณะ นอกจากจะนำพาปฏิบัติแล้วในตอนกลางวัน ท่านก็ยังได้นำเอาหนังสือบุพพสิกขาวรรณนา มาอ่านและอธิบายให้พระเณรฟังเกี่ยวกับเรื่องของพระวินัยเป็นประจำตลอดฤดูพรรษา และได้นำพาทำทุกอย่างทั้งเรื่องการบำเพ็ญภาวนา เรี่องข้อวัตรกิจวัตรที่ท่านได้จำลองมาจากหลวงปู่มั่น

ท่านก็ได้นำมาถ่ายทอดให้พระเณรฟังและพาปฏิบัติ เป็นต้นว่า การเดินจงกรม นั่งสมาธิ การบิณฑบาต กวาดตาด สวดมนต์ ทำวัตร ท่านจะเป็นผู้นำพาทำทุกวันมิได้ขาด นอกเหนือจากนั้นแล้ว ก็ยังได้อบรมสั่งสอนชาวบ้านให้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นจำนวนมาก มีชาวบ้านหมู่บ้านโคกกลาง-บ้านคำนางโอก-บ้านหลุมปึ้ง-บ้านเหล่าน้อย-บ้านแวง-บ้านคำพี -บ้านเป้า-บ้านภู เป็นต้น ญาติโยมทั้ง ๘ หมู่บ้านนี้มีความเลื่อมใสศรัทธาท่านเป็นอย่างมาก

๒๔. จำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก “บ้านหนองโตนโต้น” พ.ศ. ๒๔๙๗

ภายหลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านก็ได้นำพาพระเณรลงจากภูเก้าลงมาพักบำเพ็ญที่ วัด อรัญญวิเวก (วัดบ้านหนองโตนโต้น) ซึ่งเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่ ชาวบ้านทั้งหมดจึงได้ขอกราบอาราธนานิมนต์ให้ท่านได้อยู่อบรมสั่งสอนชาวบ้านที่นี้ต่อไป เนื่องจากญาติโยมในหมู่บ้านแถบนี้เหินห่างจากการได้ทำบุญมาเป็นเวลานานแล้ว

ท่านจึงได้อยู่สนองเจตนาของชาวบ้านเรี่อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ก็ได้จำ พรรษาอยู่ที่วัดอรัญญวิเวก อีก ๑ พรรษา ในพรรษานี้มีพระภิกษุสามเณร ๑๔ รูปมี หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นหัวหน้า ๒ หลวงปู่มุล ธมมวีโร ๓ หลวงปู่พรหมา ๔ ครูบาสุดใจ ๕ ครูบาสวรรค์ ๖ ครูบาหนูเทพ ๗ สามเณรไสว ๗ สามเณรสุดใจ ๙ สามเณรทองม้วน ๑๐ สามเณรบุญเถิง ๑๑ สามเณรสี ๑๒ สามเณรประไพ ๑๓ สามเณรทองเบ้า ๑๔ สามเณรบุญมา

ตลอดพรรษาในปีนี้ท่านก็ได้นำพาประพฤติปฏิบัติเหมือนกับที่อยู่บนภูเก้า ส่วนทางด้านญาติโยมชาวบ้านนั้นก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะมีความเลื่อมใสศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย และพระภิกษุสามเณร

พอออกพรรษาแล้วญาติโยมก็ได้จัดให้มีการทอดกฐินตามประเพณี รับกฐินเสร็จเรียบร้อย หลวงปู่จึงถีอโอกาสบอกลาญาติโยมเพื่อจะเดินทางไปหาสถานที่บำเพ็ญภาวนาแห่งใหม่ต่อไป ญาติโยมส่วนใหญ่ถึงกับร้องไห้อาลัยอาวรณ์ ด้วยความสงสารชาวบ้าน หลวงปู่จึงได้ให้หลวงปู่มุล ธมมวีโร และ หลวงปู่พรหมา กับสามเณรอีกสามรูป อยู่ฉลองศรัทธาญาติโยมต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ส่วนหลวงปู่และพระเณรรวม ๘ รูป ก็ได้ออกเดินทางเพื่อไปหาสถานที่บำเพ็ญต่อไป ในระหว่างทางนั้นก็ได้แวะไปกราบท่านพระอาจารย์คำ คมภีโร วัดสิลาวิเวก จังหวัดมุกดาหาร และได้พักอยู่ ๒-๓ คืนก็กราบลาออกเดินทางต่อ มุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครพนม การเดินทางของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย นั้นได้แบ่งเวลาดังนี้ คือ เดิน ๕๐ นาที พัก ๑o นาที ค่ำที่ไหนก็หาป่าช้า

วัดร้างหรือเงื้อมถ้ำ ที่มีความสงัดวิเวกพักบำเพ็ญตลอดระยะทาง ที่สุดได้เดินทางมาถึง ถ้ำพระเวส อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เห็นว่าเป็นสถานที่วิเวกวังเวงดีมาก จึงได้เข้าไปพักทำความเพียรอยู่เป็นระยะเวลานานพอสมควร แล้วจึงได้ออกเดินทางต่อไปทางจังหวัดนครพนม ได้เข้าไปพักที่ป่าช้าบ้านหนองเค็ม เห็นว่าเป็นสถานที่วิเวกดี น่าบำเพ็ญจึงได้พักอยู่ประมาณ ๒-๓ เดือน

ในปีนี้อากาศหนาวจัดมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ถึง ขนาดนกหนาวตายเป็นจำนวนมาก ต้นกล้วยก็เป็นน้ำแข็งเลยทีเดียว พระเณรทั้งหมดก็หนาวแทบทนไม่ไหว บางองค์เป็นตะคริวเกร็งแข็งไปหมดทั้งตัว หลวงปู่จึงได้ปรึกษาพระเณรว่าจะทำอย่างไรดี ผ้าห่มที่นอกเหนือไปกว่าจีวรก็ไม่มีแล้ว ถ้าไม่ได้ผ้าห่มมาเพิ่ม เห็นทีจะแย่แน่

ถ้าจะไปหาหรือก็ไม่รู้จักใคร ยังไม่คุ้นเคยกับญาติโยมที่นี่เลยในขณะที่ได้ปรึกษากันอยู่ได้ไม่นานนั่นเอง ก็มีญาติโยมนำผ้าห่มมาถวายเป็นจำนวนมาก สอบถามจึงทราบว่า โยมผู้ชายชื่อว่า อาจารย์เชวง ศิริรัตน์ โยมผู้หญิงชื่อ คุณนายทองพูน ศิริรัตน์ ตั้งแต่บัดนั้นทั้งสองท่านก็ได้ปวารณาตัวขอเป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่สมชายมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในครั้งนั้นก็ได้อยู่ภาวนาฉลองศรัทธาญาติโยมได้ ประมาณ ๓ เดือนเศษ ก็ต้องอำลาญาติโยมเพี่อหาสถานที่บำเพ็ญแห่งใหม่ต่อไปอีก

๒๕. บำเพ็ญธรรมที่ถ้ำพระภูวัว

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านมักจะเล่าถวายพระเณรฟังอยู่เสมอๆว่า ภูวัวเป็นสถานที่ ท่านได้รับธรรมะมากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง ภูวัวเป็นสถานที่มีความสงบวิเวก อากาศดี น้ำอุดมสมบูรณ์ สถานที่จะหลบบำเพ็ญก็มีหลายแห่ง แต่สถานที่ สำหรับโคจรบิณฑบาตนั้นออกจะลำบากไปสักหน่อย เพราะว่าหมู่บ้านอยู่ห่างไกลมากถึง ๗ กม. ทางเข้าออกก็ลำบาก สัตว์ร้ายก็ชุกชุมมาก

ถ้าจะไปอยู่ที่นั้นต้องอุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนา กันเลยทีเดียว พระภิกษุสามเณรทุกองค์เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็มี แต่ความกระสันอยากจะสัมผัสกับสถานที่แห่งนี้กันทุกองค์ อยากจะบำเพ็ญภาวนาตั้งแต่ยังไม่เห็นสถานที่กันเลย และทุกองค์ก็พร้อมที่จะอุทิศชีวิตเพื่อปฏิบัติบูชาเหมือนอย่างหลวงปู่ได้เล่าให้ฟัง เมื่อเห็นว่าพระเณรอยากไปภูวัวกันทุกองค์ ไม่มีองค์ไหนที่ไม่อยากไป

ภายหลังจากอำลาญาติโยมเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระภิกษุสามเณรก็ได้จัดเตรียมสมณบริขารเท่าที่ จำเป็นเพื่อออกเดินทางมุ่งหน้าไปภูวัว หาสถานที่บำเพ็ญต่อไปในครั้งนี้ อาจารย์เชวง และคุณนายทองพูน ศิริรัตน์ พร้อมทั้งญาติโยมชาวบ้านจำนวนมากได้ติดตามไปส่งถึงท่าเรือ

ในครั้งนี้ หลวงปู่ได้นำพาหมู่คณะเดินทางโดยทางเรือ ผ่านมาทางอำเภอศรีสงคราม ถึงอำเภอบ้านแพง เวลาบ่าย ๕ โมงเย็นพอดี จึงได้เข้าไปพักที่ป่าช้าริมทางอำเภอบ้านแพง พอไปถึงไม่ทราบว่า ญาติโยมมาจากไหนกันมากมายมาต้อนรับพูดคุยสนทนาเป็นกันเองดีมาก ต่อจากนั้นหลวงปู่จึงได้ให้พระเณรแยกย้ายกันหาที่พักในป่าช้าบ้านแพงนั้น พักอยู่ ๑ คืน

รุ่งเช้าออกบิณฑบาตฉันจังหันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็อำลาญาติโยมออกเดินทางต่อ และตั้งใจว่าจะเดินทางให้ถึงภูวัวในวันนี้ ได้เดินทางกันตลอดทั้งวันแทบไม่ได้พักกันเลย จนกระทั่งเวลาเย็นมากแล้วก็มาถึงบ้านโพธิ์หมากแข้ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับภูลังกา พักอยู่ที่นี้ ๑ คืน รุ่งเช้า เสร็จภัตกิจแล้วก็ออกเดินทางต่อหลวงปู่ได้พาเดินไปตามโขงหลงแล้วก็ผ่านมาถึงบ้านต้อง บ้านดอนเสียด ได้มีญาติโยมออกมาให้การต้อนรับและติดตามไปส่งถึงภูวัว ท่านตั้งใจว่าจะไปปักหลักบำเพ็ญทางด้านถ้ำพระ

ถึงถ้ำพระแล้วก็แยกย้ายกันออกหาสถานที่กางกลด โดยไม่ให้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ให้มุ่งภาวนากันจริงๆ จะมารวมกันได้ก็ตอนเช้าเวลาฉันจังหัน เวลาเดียวเท่านั้น สำหรับเรื่องอาหารการขบฉันนั้นก็ได้มีญาติโยมชาวบ้านนำข้าวสารขึ้นมาไว้ให้สามเณรเป็นผู้เก็บรักษาไว้ และสามเณรนั้นก็มีหน้าที่ในการจัดจังหันเพื่อถวายในตอนเช้าเป็นประจำทุกวัน

เว้นไว้แต่วันไหนที่มีญาติโยมขึ้นมาบำเพ็ญด้วยก็เป็นหน้าที่ของญาติโยมเป็นผู้จัดทำ ส่วนกับข้าวนั้นก็มีเกลือและพริกแห้งเป็นอาหารหลักประจำวัน บางวันสามเณรก็ต้องจัดหาอาหารเสริม ได้แก่ ข่าป่า หวายอ่อน หรือผักหนาม ซึ่งเป็นอาหารประเภทผักป่า ซึ่งพอหาได้บนภูวัวนั้น แล้วนำมาต้มรวมกันกับข้าว ส่วนวิธีหุงข้าวต้มผักนั้น สามเณรจะต้องใช้ข้าวเพียงวันละหนึ่งแก้วต่อพระเณร ๘-๑๐ องค์ แล้วก็ใส่ผักหนาม หัวข่าป่า หรือ หวายอ่อนมากๆหน่อย

ถ้าใช้ข้าวสารเกินกว่าหนึ่งแก้วแล้ว ข้าวสารจะหมดก่อนกำหนด คือ ๑๕ วัน ชาวบ้านจะนำข้าวสารขึ้นมาส่งครั้งหนึ่งเท่านั้น เมื่อสามเณรหุงหาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตีระฆังให้สัญญาณนิมนต์พระที่ท่านภาวนาอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ให้มารวมพร้อมกันเพื่อฉันจังหัน

ในครั้งนี้ได้บำเพ็ญอยู่ที่ภูวัว ประมาณ ๓ เดือน ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ชาวบ้านก็ได้นำข้าวสาร พริกแห้ง เกลือมาส่งทุกๆ ๑๕ วันต่อ ๑ ครั้ง ครั้งหนึ่งจะได้ข้าวสารประมาณครึ่งถัง จะให้ดีหรือมากไปกว่านี้ก็ไม่ได้เพราะความยากจนของครอบครัว แต่ทุกคนก็ทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างจริงจัง และอีกอย่างหนึ่งถนนหนทางที่จะนำมาของขึ้นไปส่งก็ลำบากมากและเสี่ยงอันตรายนานาชนิด

ผู้ที่จะนำเสบียงไปส่งจะต้องเป็นชายวัยฉกรรจ์ และต้องมีความชำนาญป่าจริงๆ ทางขึ้นภูวัวสมัยนั้นก็ไม่เหมือนสมัยนี้ต้องปีนป่ายเถาวัลย์ไต่ขึ้นไปตามหน้าผาที่สูงชัน โดยเอาเสบียงทั้งหมดมัดติดกับหลังไม่ให้หลุด ถ้าหากพลาดท่าเสียทีก็หมายถึงชีวิตกันเลยทีเดียว ถ้าไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาหรือมีความทรหดอดทนจริงๆ จะทำไม่ได้เลย

การบำเพ็ญภาวนาของพระภิกษุสามเณรก็รู้สึกว่าจะเป็นไปได้ดีมาก ทุกท่านทุกองค์ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งกลางวันและกลางคืนแทบจะไม่ต้องพักผ่อนกันเลยทีเดียว แต่พอมานึกถึงความลำบากของญาติโยมที่จะต้องคอยส่งเสบียงแล้วก็เห็นใจและสงสารญาติโยมชาวบ้าน ในครั้งนี้จึงอยู่ได้ประมาณ ๓ เดือนจึงได้ลงจากภูวัว

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้นำพาหมู่คณะลงมาจากภูวัวแล้ว ก็ได้นำพาไปกราบคารวะ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร แต่ไปไม่พบ ทราบว่าท่านไปบำเพ็ญที่ถ้ำขาม จึงได้ออกเดินทางต่อไปจนถึงถ้ำขาม ได้กราบนมัสการหลวงปู่ฝั้น อยู่ฟังธรรมและปฏิบัติอยู่กับท่านที่ถ้ำขามประมาณ ๑๕ วัน จึงได้กราบลาหลวงปู่ฝั้น เพื่อไปหาสถานที่บำเพ็ญภาวนาทาง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

๒๖. หนองท่มท่ากะดัน พ.ศ. ๒๔๙๘

ภายหลังจากได้กราบลาหลวงปู่ฝั้น ลงมาจากถ้ำขามแล้ว หลวงปู่ก็ได้นำพาหมู่คณะมุ่ง หน้าไปทางอำเภอวานรนิวาสได้ไปพักอยู่ที่ บ้านหนองแอก บ้านหนองท่มท่ากะดัน และ บ้านดงหม้อทอง ได้สับเปลี่ยนที่บำเพ็ญระหว่างสามหมู่บ้านนี้มาเรื่อยๆ จนใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษา จึงได้ตกลงใจพาหมู่คณะไปจำพรรษาที่ป่าช้าบ้านหนองท่มท่ากะดัน

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้มาจำพรรษาที่บ้านดงหม้อทอง และท่านพระอาจารย์สุภาพ ธมมปญโญ ก็ได้มาจำพรรษาที่บ้านหนองแอก ทั้งสามหมู่บ้านนี้อยู่ไม่ห่างไกลกันนัก พอถึงวันอุโบสถหนึ่งๆ ครูบาอาจารย์ท่านก็ได้มารวมกันสวดปาฏิโมกข์ และก็ได้สนทนาถึงเรื่องอุบายวิธีการปฏิบัติซึ่งกันและกัน เป็นประจำตลอดฤดูกาลพรรษา

ป่าช้าบ้านหนองท่มท่ากะดันนี้มีสภาพเป็นป่าแฝกสมัยนั้นเสือยังชุกชุมมาก จึงได้ช่วยกันปลูกกุฏิทีเดียว ๑๔ หลัง พระเณรได้ช่วยกันบูรณะพัฒนาสภาพป่า ป่าช้าให้โล่งโปร่ง เพื่อสะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม ตลอดพรรษาพระเณรทุกองค์ก็ได้เร่งทำความเพียรกันทั้งกลางวันและกลางคืน กลางวันหลวงปู่ก็ได้นำหนังสือบุพพสิกขาวรรณนา

ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับพระวินัยมาอ่านถวายความรู้แก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจำทุกวันตลอดพรรษา ในวันพระ หลวงปู่ก็ต้องเป็นภาระอบรมสั่งสอนชาวบ้านที่มารักษาศีลฟังธรรม โดย หลวงปู่อบรมด้วย นำภาวนาด้วย แต่ตอนกลางคืนเวลาพระเณรเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิ ต้องคอยระมัดระวังเสือให้ดีเพราะไม่รู้ว่ามันจะแอบมาคาบไปเมื่อไร กุฏิหลังไหนที่เห็นว่าจะ เป็นทางผ่านของเสือซึ่งอาจจะเป็นอันตรายแก่พระเณรแล้ว หลวงปู่จะต้องไปอยู่กุฏิหลังนั้น เพื่อคอยระมัดระวังอันตรายอันจะเกิดขึ้นกับหมู่คณะ และให้พระเล็กเณรน้อยอบอุ่นใจมากขึ้น 

ท่านมีนิสัยรักหมู่คณะตลอดมา สิ่งไหนที่ไม่ดี หรืออาจจะเป็นอันตรายแก่หมู่คณะ หรือครูบาอาจารย์ ท่านจะต้องขอรับเองเสียก่อนก่อนที่อันตรายนั้นจะไปถึงหมู่คณะ หรือครูบาอาจารย์ได้พักบำเพ็ญที่ป่าช้าบ้านหนองท่มท่ากะดัน ๑ พรรษา พอออกพรรษาแล้วก็ได้อำลาญาติโยมผู้ให้การอุปถัมภ์ มีสารวัตรแสน พ่อออกจารย์ลี พ่อออกจารย์บุญ และแม่ออกนา เป็นต้น เสร็จแล้วก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปทาง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ผ่านบ้านหนองยอง บ้านหนองแข็ง จนกระทั่งถึงริมฝั่งโขง และถึงบ้านโพนแพง

ในช่วงนั้นพอดีตรงกับงานนมัสการรอยพระบาทบ้านโพนแพง จึงได้พากันเข้าไปนมัสการรอยพระบาทก่อนออกเดินทางต่อ เห็นมีประชาชนเดินทางไปนมัสการกันเป็นจำนวนมากไม่ขาดระยะ เพราะเชื่อกันว่าเป็นรอยพระบาทที่ศักดิ์สิทธิ์มาก สำหรับฝั่งตรงข้ามคือด้านประเทศลาว ก็มีรอยพระบาทอย่าง เดียวกันนี้อีกหนึ่งรอย เรียกกันว่ารอยพระบาทบ้านโพนสัน ก็เชื่อกันว่าเป็นของจริงและศักดิ์สิทธิ์อีกเช่นกัน

ในสมัยนั้นจึงเป็นธรรมเนียมที่ว่าเมื่อนมัสการรอยพระบาทบ้านโพนแพงแล้ว ก็ต้องข้ามไปนมัสการรอยพระบาทบ้านโพนสันทางฝั่งลาวด้วย จึงจะถือเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งทีเดียว

๒๗. มุ่งสู่นครเวียงจันทน์

ภายหลังจากที่ได้ไปกราบนมัสการรอยพระบาทบ้านโพนแพงแล้ว หลวงปู่ก็ได้พาข้ามไปทางฝั่งลาว เพื่อนมัสการรอยพระบาทบ้านโพนสันอีกครั้งหนึ่ง ที่บ้านโพนสันนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่องค์หนึ่ง หลวงปู่จึงได้ลองยกเพื่อเสี่ยงทายว่า …

คณะของท่านทั้งหมดจะเดินทางไปถึงนครเวียงจันทน์หรือไม่ เมื่อไปถึงแล้วจะมีอุปสรรคอย่างใดหรือไม่.. แล้วหลวงปู่ก็ได้ลองยกองค์พระปรากฏว่ายกขึ้นได้เพียงคืบเดียวก็กลับหนัก และยกไม่ขึ้นอีกเลย จะลองยกอีกเท่าไรก็ยกไม่ขึ้น ซึ่งเป็นเรี่องแปลกมาก

ต่อจากนั้นหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้พาหมู่คณะพระเณรออกเดินทางมุ่งตรงไปยังนครเวียงจันทน์ วันนั้นเดินได้ประมาณ ๕ กม. ก็บังเอิญมีรถยนต์ผ่านมา คนขับได้จอดรถแล้วลงมาถามว่า 

“พระคุณเจ้าจะเดินทางไปที่ไหน ไม่ทราบ” 

หลวงปู่ตอบว่า “อาตมาและคณะมีความประสงค์ที่จะเดินทางไปยังนครเวียงจันทน์”

เจ้าของรถคันนั้นจึงได้กราบอาราธนานิมนต์ไห้ขึ้นรถ เพราะว่ากำลังจะไปนครเวียงจันทน์พอดีจึงนับว่าเป็นโชคของคณะเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงได้สั่งให้นำบริขารขึ้นรถ เมื่อรถวิ่งไปถึงนครเวียงจันทน์แล้ว หลวงปู่ก็ได้บอกให้คนขับรถช่วยไปส่งที่วัดจอมไตร บ้านดงนาซก คนขับก็ช่างมีน้ำใจ ได้นำท่านหลวงปู่และคณะไปถึงยังวัดจอมไตรด้วยความเรียบร้อยเป็นอย่างดี

เมื่อไปถึงวัดจอมไตรแล้ว ก็ได้มีพระเจ้าของถิ่นออกมาให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แต่แปลกว่าพระที่วัดนี้มีแต่หลวงพ่อหลวงตาอายุมากๆ กันทั้งนั้น และได้เข้าไปกราบท่านพระอาจารย์อ่อนสี นาหิโย ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส เสร็จแล้วจึงแยก ย้ายกันไปสู่ที่พักที่ทางเจ้าอาวาสสั่งให้สามเณรพาไปส่ง วัดจอมโตรเป็นวัดคณะธรรมยุตที่มีชื่อเสียงในประเทศลาว แต่มีพระเณรไม่มากนัก มี หลวงพ่อลิด-หลวงพ่อลา-หลวงพ่อหอม- หลวงพ่อคิ้ม และสามเณรอีก ๔-๕ องค์เท่านั้น

ในระหว่างนั้นท่านพระอาจารย์อ่อนสี ได้อาพาธเป็นวัณโรคชนิดร้ายแรง อยู่ในระหว่างอันตราย หลวงปู่จึงได้มีโอกาสช่วยรักษา พยาบาลบางครั้งก็ต้องข้ามกลับมาซื้อยาที่กรุงเทพฯ นำไปรักษา แต่อาการก็ไม่ทุเลาลงเพราะอยู่ในขั้นหนักมากแล้วหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้ให้การดูแลรักษาพยาบาลเป็นอย่างดีจนถึงที่สุด ท่านพระอาจารย์อ่อนสี ก็ได้มรณภาพในเวลาต่อมา คือในปี พ.ศ. ๒๔๙๙

บรรดาพระภิกษุสามเณร และญาติโยมชาวบ้าน ตลอดทั้งบุคคลชั้นนำของประเทศลาวก็ได้มีมติให้หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นประธานดำเนินงานจัดการเรื่องศพของท่านพระอาจารย์อ่อนสี เมื่อได้จัดบำเพ็ญกุศลตามประเพณี พอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงได้จัดงานถวายเพลิงศพอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสมเกียรติที่สุด

เมื่อได้จัดการถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์อ่อนสี เสร็จเรียบร้อยลงแล้ว หลวงปู่ก็ตั้งใจว่าจะนำพาหมู่คณะไปหาสถานที่บำเพ็ญตามสถานที่วิเวกในเมืองลาวนั้นไปเรื่อยๆ แต่พอพระภิกษุสามเณรและประชาชนชาวบ้านได้ทราบว่าหลวงปู่จะเดินทางต่อ จึงได้พร้อมใจกันมาขออาราธนานิมนต์ให้ท่านได้เป็นประธานบริหารวัดจอมโตร และคณะสงฆ์ธรรมยุตทั้งหมดในประเทศลาว แทนท่านพระอาจารย์อ่อนสี เพราะว่าคณะสงฆ์และประชาชนมีความเลี่อมใสศรัทธาต่อข้อวัตรปฏิบัติ และพอใจในความรู้ความสามารถของหลวงปู่เป็นอย่างยิ่ง หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย พร้อมด้วยคณะของท่านจึงได้อยู่ที่วัดจอมไตรเพื่อฉลองศรัทธาพระภิกษุสามเณรและประชาชนต่อมาอีกระยะหนึ่ง

ในระหว่างนั้นก็ได้นำพาพัฒนาก่อสร้างถาวร วัตถุไว้ที่วัดจอมไตรเป็นจำนวนมาก เช่น ได้สร้างอุโบสถ ๑ หลัง ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง กุฏิคอนกรีตอีกหลายหลัง และก็ได้สร้างส้วมซึม ๑๐ กว่าห้อง ได้เปลี่ยนจากระบบส้วมป่อยตาม วัดต่างๆ ในประเทศลาวให้มาใช้ส้วมซึมทั้งหมด ซึ่งเป็นการพัฒนาด้านสุขอนามัยของวัดและบ้านให้เหมาะสมและถูกต้องด้วยประการทั้งปวง

๒๘.  จำพรรษาที่ประเทศลาวครั้งที่ ๑

จำพรรษาที่ประเทศลาวครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๙๙) เมื่อฤดูกาลพรรษามาถึงก็ได้ อธิษฐานจำพรรษาที่วัดจอมไตร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในระหว่างพรรษาหลวงปู่ก็ได้นำระเบียบอันดีงามที่เคยใช้สมัยอยู่ในประเทศไทยไปเผยแพร่ในประเทศลาว เช่นตอนกลางวันให้พระเณรทุกองค์มาประชุมกัน

แล้วท่านเป็นผู้อ่านหนังสือบุพพสิกขาวรรณนา พร้อมทั้งได้อธิบายถึงหัวข้อธรรมะวินัยให้เข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติกันให้ถูกต้อง เช้า-เย็น ให้มีการทำวัตรสวดมนต์เป็นประจำวัน สลับกับการบำเพ็ญภาวนา เวลาบ่ายสามโมงให้มีการทำความสะอาดปัดกวาดบริเวณวัด ตอนกลางคืนหลังจากทำวัตรค่ำแล้ว ให้มีการเดินจงกรมและนั่งสมาธิกันทุกคืน

ส่วนทางด้านญาติโยม หลวงปู่ก็ได้เทศนาอบรมสั่งสอนทุกวันธัมมัสสวนะ ให้มีการรักษาอุโบสถศีลทุกวันอุโบสถและอบรมสั่งสอนให้รู้จักทำความสงบจิตใจ ด้วยการฝึกสมาธิกันเป็นประจำ ญาติโยมส่วนใหญ่ที่มาให้การสนับสนุนในสมัยนั้น ล้วนแต่เป็นบุคคลชั้นนำของประเทศ เช่น เจ้าสาย-เจ้าคำแสน เป็นต้น

การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศลาวในครั้งนั้นเป็นไปได้ดีมากพอสมควร จนเป็นที่เชื่อถือของพระภิกษุ สามเณรและประชาชนในประเทศลาวเป็นจำนวนมาก ทางด้านพระสงฆ์ในประเทศลาวก็ได้หันเข้ามาเคร่งครัดต่อระเบียบวินัยเพิ่มขึ้น ประชาชนชาวบ้านเห็นพระภิกษุสามเณรมีสิกขาวินัยดีกว่าก่อนมาก ก็หันเข้ามาให้ความสนับสนุนอุปถัมภ์บำรุงเป็นอย่างดี

พอออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ นั้นแล้ว หลวงปู่สมชายก็ได้นำพาหมู่คณะพระเณรที่ไปจากเมืองไทยทั้งหมด ออกไปหาสถานที่วิเวก เพื่อเปิดโอกาสให้พระเณรเปลี่ยนสถานที่ในการบำเพ็ญ ท่านได้พาไปถึงภูเขาควาย ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงใหญ่ที่สุดในประเทศลาว และมีความสงบวิเวกยอดเยี่ยมที่สุด

เปลี่ยนจากภูเขาควาย ก็ไปที่ภูเขาโนนสาวแอ้ ภูหอภูโฮง ไปถึงวัดปากแฮด วัดบ้านนาเดื่อ บ้านดูนน้อย ภูเขาหินคันนา คอกม้า หมาเห่าเต่า และอีกหลายๆ สถานที่ ที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ท่านได้พาไปเกือบหมด ไปจนถึงบ้านตลิ่งชันบ้านน้ำงึม บ้านเกิน เมืองกุละคม เป็นต้น

๒๙. จำพรรษาที่ประเทศลาวครั้งที่ ๒

จำพรรษาที่ประเทศลาว ครั้งที่ ๒ (พ ศ ๒๕๐๐) ภายหลังจากหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้นำพาพระภิกษุสามเณรเดินหาสถานที่วิเวกเพี่อ บำเพ็ญสมณธรรมตามสถานที่ต่างๆ ของประเทศลาว เป็นเวลานานจนเกือบจะได้เวลาเข้าพรรษา ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย จึงได้นำพาพระภิกษุสามเณรกลับมาเตรียมตัวเพี่อจำพรรษาที่วัดจอมไตร บ้านดงนาซก ประเทศลาว อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๒ เนื่องจากพรรษาแรกหลวงปู่ได้ ปลูกฝังศรัทธาญาติโยมไว้เป็นอย่างดีแล้ว ด้วยการประพฤติดีปฏิบัติชอบ สร้างสรรค์และนำพาทั้งด้านธรรมและวัตถุ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของบุคคลทั่วไป เมื่อมีฝ่ายสนับสนุนก็มีฝ่ายขัดขวาง ตลอดพรรษาได้มีประชาชนชาวบ้านทุกระดับชั้น มาทำบุญที่วัดจอมไตรกันเป็นจำนวนมาก เป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

จนกระทั่งวัดในนครเวียงจันทน์จำนวนหลายวัดนั้น ไม่ค่อยมีญาติโยมไปทำบุญ หรีอสนับสนุนเหมือนแต่ก่อน หันมาสนับสนุนที่วัดจอมไตรกันจนเกือบหมด จึงเป็นเหตุให้พระเณรวัดอื่นๆ ตั้งข้อรังเกียจ หาทางโจมตีให้ร้ายทุกวิถีทาง คอยยุแหย่ให้ชาวบ้านรังเกียจ และไม่ให้ชาวบ้านไปทำบุญที่วัดจอมไตร โดยกล่าวหาว่าเป็นพระปลอมบ้าง เป็นพระคอมมิวนิสต์บ้าง เป็นไส้ตกจากเมืองไทยบ้าง สุดแล้วแต่เขาจะว่ากัน บางครั้งเขาแจ้งตำรวจให้มาจับไปสอบสวน

ในพรรษานี้ไม่ค่อยสงบเหมือนพรรษาแรกเท่าไรนัก เพราะว่าเป็นช่วงที่ประเทศลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ และมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ให้ไปเป็นระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่มีกษัตริย์ ไม่มีศาสนา ให้เสมอภาคกันทั้งหมด พระสงฆ์ในเมีองลาวทั้งหมดจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานของพวกเขา 

พระสงฆ์ถูกเปลี่ยนระบบ จากเคยมีระเบียบวินัยมีสิกขาบทต่างๆ เป็นเครื่องควบคุม ให้เป็นพระสงฆ์ที่ไม่มีสิกขาวินัยทั้งหมด โดยหลงเชื่องมงายกับพวกเขา ซึ่งเขาพยายามกล่าวว่าสิกขาวินัยนั้นไม่มีประโยชน์เป็นเรื่องยุ่งยาก ลำบากต่อการรักษา จะทำอะไรตามใจชอบก็ไม่ได้ ถ้าไม่ถือสิกขาวินัยแล้วก็สบาย จะทำอะไรก็ได้ไม่ผิด

พระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็เอียงคล้อยไปกันเป็นจำนวนมาก แล้วหันเข้าโจมตีพวกเดียวกันที่รักษาสิกขาวินัยว่าเป็นพวกงมงายไร้สาระ และอะไรต่ออะไรอีกมากมาย แต่สรุปแล้วก็มีไม่มากนักสำหรับฝ่ายที่ต่อต้านโจมตี ส่วนใหญ่ส่วนมากล้วนแล้วแต่มีความเลื่อมใสศรัทธา คอยเป็นกำลังช่วยสนับสนุน แต่ถึงอย่างไรเหตุการณ์ก็ไม่เรียบร้อยเท่าไรนัก

พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้ พิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์บ้านเมืองของประเทศลาว เริ่มมีปัญหาวุ่นวายเกี่ยวแก่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ท่านจึงได้นำพาหมู่คณะทั้งหมดข้ามกลับมาทางฝั่งไทย และก็ได้เดินหาสถานที่วิเวกมาเรี่อย ๆ ได้มากพักอยู่ที่วัดป่าศรัทธารวม จังหวัดนครราชสีมา

พอดีในช่วงนั้นทางรัฐบาลไทยได้จัดให้มีงานทำบญฉลองสมโภชครบ ๒๕๐๐ ปี หรือ ๒๕ พุทธศตวรรษ พอออกจากวัดป่าศรัทธารวม ก็ผ่านไปทางอำเภอโนนสูง บ้านดอนใหญ่ บ้านหัวหนอง และที่สุดก็ได้พักทำความเพียรอยู่ที่ ป่าช้าบ้านเดิ่น เห็ดหิน นานถึงสองเดีอนเศษ

๓๐. รับนิมนต์กลับประเทศลาว

ในระหว่างที่กำลังสนุกเพลิดเพลินอยู่กับการบำเพ็ญ ภาวนาในแถบจังหวัดนครราชสีมานั้น ก็มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเดินทางกลับไปยังประเทศลาวอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือภายหลังจากได้ข้ามออกมากจากประเทศลาวแล้ว ประเทศลาวก็ได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกทำลายล้าง สถาบันศาสนา กำลังถูกย่ำยี พระสงฆ์ดีๆที่มีความเคร่งครัดทางเรี่องสิกขาวินัย ถูกต่อต้านขับไล่ให้ออกจากประเทศ บางองค์ก็ถูกนำไปสัมมนา ชนิดไม่ต้องกลับมาเหยียบแผ่นดินอีกต่อไปก็มี

พระที่เลวๆ ย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัยถูกยกย่องสรรเสริญว่าเป็นพระดี ทั้งนี้ก็เพื่อเขาต้องการให้ชาวบ้านเบื่อหน่ายต่อการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์หรือเพื่อทำลายล้างสถาบันศาสนาทางอ้อมนั่นเอง

คณะผู้บริหารบ้านเมืองของประเทศไทยและประเทศลาว จึงได้กราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย พร้อมด้วยคณะพระสงฆ์ซึ่งเป็นบริวารของท่าน เดินทางกลับไปประเทศลาวอีก เพื่ออบรมสั่งสอนประชาชน และเพื่อช่วยปรับปรุงระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ในประเทศลาวให้ดีขึ้น

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย จึงได้รับนิมนต์ แล้วก็ได้เดินทางกลับไปประเทศลาวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปลาย ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อข้ามไปถึงแล้วก็ได้ปรับปรุงระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ในประเทศลาวหลายอย่าง ให้พระภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติ เคร่งครัดเป็นตัวอย่างของชาวบ้าน และได้อบรมสั่งสอน ประชาชนชาวบ้านให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ ให้เป็นผู้ที่รักชาติ รักพระศาสนา และพระมหากษัตริย์

ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลชั้นผู้นำของประเทศ เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่วายเว้นที่จะต้องถูกพวกคลั่งลัทธิใหม่โจมตีต่างๆนานา เพราะว่าท่านไปขัดขวางการดำเนินงานของพวกเขา บางครั้งเขามาจับตัวไปสัมมนาที่นครเวียงจันทน์ เท่าที่ทราบนั้นถ้าพวกเขาได้รับพระองค์ไหนไปสัมมนาแล้วละก็ จะไม่ได้เห็นพระองค์นั้นได้กลับมาอีกเลยแม้แต่องค์เดียว

แต่สำหรับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย นั้นพวกเขาถือว่าเป็นพระที่สำคัญมากองค์หนึ่ง เขาจึงไม่กล้าทำอะไรรุนแรงมากนัก เพียงแค่จับไปขังไว้ในคุกขี้ไก่ แล้วก็ปล่อยตัวกลับมาอีกครั้งแล้วครั้งเล่ารวมถึง ๖ ครั้งด้วยกัน เมื่อท่านกลับออกมา ท่านก็ได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนประชาชนอย่างเดิมอีกเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ จึงเป็นการไปขัดขวางการเผยแพร่ลัทธิของพวกเขา

ครั้งที่ ๗ พวกคลั่งลัทธิเหล่านั้นได้พากันมาจับเอาตัวท่านไปอีก ครั้งนี้ทราบว่าเขาต้องการนำไปสัมมนาชนิดที่ไม่ต้องกลับมาอีกต่อไป ในครั้งนี้ทราบว่ามีพระองค์สำคัญ ๆ ในนครเวียงจันทน์ถูกจับมาด้วยอีก ๓ องค์ เขาได้นำพานั่งเรือล่องไปตามลำน้ำโขง และก็ไม่ทราบว่าเขาจะพาไปยังแห่งหนตำบลใด

แต่เท่าที่ทราบว่าพวกเขาได้จับเอาพระองค์สำคัญๆ ไปสัมมนาแบบเดียวกันนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เห็นพระที่ไปด้วยนั้นได้กลับมาแม้แต่องค์เดียว ในครั้งนี้ก็คงจะเช่นกัน ทุกองค์ทราบดีว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับตัวท่านเองต่างองค์ต่างก็ร้องขอชีวิต ร้องขอความเมตตาจากพวกคลั่งลัทธิทั้งหลายเหล่านั้น ตลอดระยะทางที่เรือล่องไปตามลำน้ำโขงนั้น

แต่สำหรับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย นั้นท่านไม่เคย สนใจเลยว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นกับตัวท่านเอง ท่านนั่งสงบนิ่ง เงียบ กำหนดทำสมาธิภาวนาของท่านไปตลอดทาง โดยไม่ร้องขอชีวิตจากใครทั้งสิ้น ไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน

เรือเพชรฆาตล่องไปตามลำน้ำโขงกะว่าไปไกลพอสมควร เมื่อถึงสถานที่สงัดปลอดภัยจากสายตาของผู้คนที่จะพบเห็นแล้ว นาทีหฤโหดก็ได้ เกิดขึ้นในบัดนั้น ปากกระบอกปืนได้ถูกหันยังเป้าหมายคือ พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ ที่นั่งร้องขอชีวิตอยู่นั่น ทีละองค์ๆ ๆ เป็นภาพที่น่าสลดสังเวชเป็นอย่างยิ่ง

สามองค์ผ่านไปอย่างเรียบร้อย ปากกระบอกปืนได้หันมายังองค์ที่สี่ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย “จะด้วยเดชเดชะบารมีหรือเหตุบังเอิญก็ไม่ทราบได้ เพชรฆาตที่กำลังยกปืนจ้องอยู่นั้นถึงกับเข่าอ่อนทรุดลงนั่ง แล้วค่อย ๆ คลานเข้ามากราบที่เท้าและกล่าวคำขอขมาลาโทษ”

แทนที่เพชรฆาตนั้นจะนำท่านไปทางฝั่งลาว แต่กลับนำท่านมาส่งขึ้นทางฝั่งไทย และขอร้องไม่ให้ท่านข้ามกลับไปอีก เพราะเขาเกรงว่าหัวหน้าใหญ่เขาทราบเข้า ตัวเขาจะต้องมีความผิดด้วย เมื่อมาถึงฝั่งไทยแล้ว ท่านก็ได้เดินทางไปพักอยู่ที่วัดศรีเมือง จังหวัดหนองคาย ต่อจากนั้นจึงได้สั่งให้ญาติโยมอีกคณะหนึ่งข้ามไปรับพระเณรคณะของท่านที่ยังตกค้างอยู่ที่ฝั่งลาวกลับมาทั้งหมด

คณะพระเณรทุกองค์ทั้งหมดได้พักอยู่ที่วัดศรีเมืองไม่นานนัก ก็ได้ย้ายไปพักบำเพ็ญที่วัดอรุณรังษี ได้พักอยู่ประมาณ ๘ เดือน หลวงปู่ได้นำพาบำเพ็ญภาวนาด้วย และได้นำพาพัฒนาวัดไปด้วย ได้ช่วยกันสร้างรั้วเพื่อกั้นเขตวัด ทำเป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดีพร้อมล้อมลวดหนามรอบบริเวณวัด และได้ก่อสร้างเสนาสนะอื่นๆ อีกหลายอย่าง

อยู่ที่นี่จนถึง ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านจึงได้พาออกจากวัดอรุณรังษี และได้ลงมาทางจังหวัดนครราชสีมา ได้เวียนไปเวียนมาอยู่หลายแห่ง อยู่ที่วัดป่าสาลวันบ้าง มาอยู่ที่วัดป่าศรัทธารวมบ้าง ต่อมาก็ได้ย้ายลงมาทางอำเภอปากช่องลงไปถึงอำเภอแก่งคอย และได้ไปพักอยู่ที่บ้านพระบาทน้อยระยะหนึ่ง

๓๑. จำพรรษาที่วัดเขาไทรสายัณห์ พ.ศ. ๒๕๐๑

พอจวนใกล้จะเข้าพรรษาในปีนั้นจึงได้หวนกลับมาจำพรรษาที่วัดเขาไทรสายัณห์ อำเภอ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และในปีนี้หลวงปู่โง่น โสรโย ก็ได้จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ในพรรษาปีนี้ หลวงปู่สมชายก็ได้เร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ดูเหมือนๆ กับหลวงปู่จะทดลองผลสมาธิบางอย่าง คือ ๗ วัน

ท่านจะฉันจังหันครั้งหนึ่งบ้าง บางครั้งก็ ๑๕ วันฉันจังหันครั้งหนึ่งบ้าง และยังได้อธิษฐานเนสัชชิกังคะทุกวันตลอดพรรษา คือไม่เอนกายลงนอนจำวัดทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับตอนกลางวันนั้นหลวงปู่สมชายก็ยังได้ช่วยหลวงปู่โง่น โสรโย ก่อสร้างอีกด้วย ในช่วงนี้พอดีทางวัดกำลังก่อสร้างโบสถ์และวิหารบนยอดเขา ทั้งหลวงปู่สมชายและพระเณรจึงได้ช่วยงานในครั้งนี้อย่างเต็มที่

สำหรับหลวงปู่สมชายนั้น เหมีอนกับท่านต้องการให้ พระเณรได้ประจักษ์กับผลของสมาธิ นอกจากท่านจะถือเนสัชชิกังคะ ๗ วัน ๑๕ วัน ฉันจังหันครั้งหนึ่งแล้ว ในตอนกลางวันท่านยังสามารถช่วยทางวัดแบกปูนจากข้างล่างขึ้นไปบนเขาได้อีก โดยแบกครั้งละ ๒ ลูก หนึ่งวันท่านสามารถแบกได้ถึง ๔๒ ลูก

ถ้าเทียบกับคนงานที่ทางวัดได้จ้างแบกแล้วนั้น คนงานแบกได้เที่ยวละ ๑ ลูก ตลอดวันคนงานแบกได้เพียงวันละ ๒๐ ลูกเท่านั้น จึงเป็นเรี่องแปลกสำหรับข้าพเจ้าผู้ได้พบเห็น จึงพิจารณาได้ว่าหลวงปู่ท่านเอากำลังจากส่วนไหนของร่างกาย มาทำงานได้อย่างนี้ ถ้าไม่ใช่กำลังจากผลของสมาธิแล้ว คนเราธรรมดาๆ จะไม่สามารถทำได้อย่างนั้นแน่นอน

นอกจากจะได้ช่วยทางวัดแบกปูน ขนวัสดุสิ่งของขึ้นไปก่อสร้างแล้ว ยังไม่พอ ท่านยังได้ลงมือก่อสร้างจนกระทั่งโบสถ์และวิหารที่วัดเขาไทรสายัณห์สำเร็จเรียบร้อย ถ้าเรามีโอกาสผ่านไปก็จะเห็นตระหง่านอยู่บนยอดเขานั่นเอง ตลอดระยะเวลาที่อยู่วัดเขาไทรสายัณห์นี้ ก็ได้ คุณหลวงปริญญาโยควิบูลย์ และได้คุณหมอเรือง เป็นผู้อุปถัมภ์ และในปีเดียวกันนี้ คุณหลวงปริญญา โยควิบูลย์ ก็ได้อุปสมบทบุตรชาย คือ ร.ต. ทิวา

เมื่อทำการอุปสมบทแล้วก็ได้นำมาฝากให้ศึกษาธรรมจากหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย แล้วในปีเดียวกันนี้ อาจารย์ณรงค์ แสงมณี ก็ได้อุปสมบทและได้มาจำพรรษาด้วยกัน พอออกพรรษาแล้ว อาจารย์ณรงค์ แสงมณี ก็ได้ลาสิกขาเพี่อไปปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อ แต่สำหรับท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร นั้นได้มีความซาบซึ้งในรสชาติของการปฏิบัติธรรม จึงได้ลาออกจากราชการ ขอรับใช้พระศาสนามาตลอด จนถึงปัจจุบันนี้

พอออกพรรษาในปีนั้น หลวงปู่สมชายก็ได้นำพาพระเณรไปบำเพ็ญที่ภูวัว ในครั้งนี้ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ก็ได้ขอติดตามไปบำเพ็ญอีกองค์หนึ่ง หลวงปู่ได้พาหมู่คณะพระ เณรเดินผ่านไปทาง ปากกระดิ่ง มุ่งคล้า และได้พักอยู่ที่ปากกระดิ่ง ๑ คืน พอรุ่งเช้าก็ข้ามมาทางมุ่งคล้า แล้วออกเดินทางต่อไปภูวัว กะว่าจะไปขึ้นทางด้านทิศเหนีอ

แต่วันนี้ขึ้นยังไม่ถึงภูวัว มืดอยู่ตรงเนินเขาพอดี แต่หลวงปู่ก็ไม่ได้หยุดการเดินทางแต่อย่างไร ได้เดินลึกเข้าไปเรี่อยๆ ไกลพอสมควร เห็นว่าดึกมากแล้ว ท่านจึงได้สั่งให้หยุดการเดินทางในกลางป่านั้น และได้จัดการกางกลดเข้าพักผ่อนเอาแรงเพราะเหน็ดเหนื่อยจากการ เดินทางมาตลอดวัน ข้าพเจ้าได้ดูนาฬิกาเป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี

รุ่งเช้าของวันใหม่หลวงปู่สมชายได้พาออกเดินทางต่อเวลาประมาณ ๘ โมงเช้าก็เดินทางมาถึง ถ้ำแกลบ ถ้ำแกว ถ้ำฝุ่น และได้ออกบิณฑบาตที่ หมู่บ้านทุ่งทรายจก ได้ข้าวเหนียวองค์ละปั้น กับข้าวได้งากับปลาร้าอย่างละ ๑ ห่อ ได้กลับมาฉันจังหันที่ถ้ำฝุ่น หลวงปู่สมชายเห็นว่าข้าวและกับที่บิณฑบาตในวันนี้ได้น้อยเนื่องจากญาติโยมไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน

ท่านจึงได้เอาข้าวในบาตรของท่านออกมาแบ่งเฉลี่ยถวายพระเณรเพิ่มเติมจนหมด เกรงว่าพระเณรจะฉันไม่อิ่ม เมื่อแบ่งข้าวถวายพระเณรเสร็จแล้ว ท่านก็ได้ให้พระเณรฉันกันไปเรื่อย ๆ สำหรับตัวหลวงปู่ไม่ได้ฉันจังหันในเช้าวันนั้นเลย ท่านไปนั่งภาวนารอเวลาพระเณรฉันจนเสร็จจึงได้ออกหาสถานที่บำเพ็ญกัน “..นิสัยเอื้อเฟื้อ เสียสละ ” แบ่งปันกับหมู่คณะนั้นหลวงปู่มักแสดงให้เห็นอยู่เสมอ ๆ จนบางครั้งพระเณรเกรงใจจนทำอะไรไม่ถูก

ในครั้งได้บำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำแกลบ ถ้ำฝุ่นได้ไม่นานนัก ก็ได้เคลื่อนย้ายเปลี่ยนสถานที่บำเพ็ญไปที่ถ้ำพระ เพราะเห็นว่าสถานที่สงบวิเวกดี อากาศดี น้ำก็สะดวกอุดมสมบูรณ์ สถานที่หลบภาวนาก็มีมาก การมาอยู่บำเพ็ญในครั้งนี้ก็เหมือนกับเมื่อครั้งก่อนๆ คือพระเณรไม่ต้องออกบิณฑบาต (เพราะไม่มีที่จะบิณฑบาต)

ญาติโยมเอาข้าวสารมาฝากไว้ให้สามเณรเป็นผู้หุงหา จัดเตรียมอาหารถวายพระ เหมือนกับสมัยที่ขึ้นมาครั้งแรกๆนั้นคีอ ใช้ปี๊ปต้มข้าวใส่ผักหนาม หรือข่าป่า และหวายอ่อนด้วยข้าวสาร ๑ แก้ว ต่อพระเณร ๑๗-๑๘ องค์ พอได้ฉันให้มีชีวิตได้อยู่เพื่อการบำเพ็ญภาวนาไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ได้บำเพ็ญภาวนาอยู่บนภูวัวครั้งนี้ถึง ๔ เดือน

๓๒. จำพรรษาที่ถ้ำเป็ด พ.ศ.๒๕๐๒

ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ภายหลังที่ได้ลงมาจากภูวัวแล้ว หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้นำพาหมู่คณะพระเณรทั้งหมดออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังจังหวัดสกลนคร ตั้งใจว่าจะไปจำพรรษาที่ ถ้ำเป็ด ภูเหล็ก ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ของท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม

ถ้ำเป็ดเป็นสถานที่สงบสงัดวิเวก น่าบำเพ็ญอีกแห่งหนึ่ง ครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานจึงมักไปบำเพ็ญหาความสงบกันเป็นประจำไม่ค่อยขาดระยะ ในระหว่างพรรษานี้ก็ได้ตั้งใจปฏิบัติกันเต็มที่ทุกองค์ ส่วนหลวงปู่สมชายนั้นท่านต้องมีภาระในการอบรมสั่งสอนประชาชนในวันธัมมัสสวนะอีกด้วย ญาติโยมชาวบ้านใกล้ๆนั้นก็ได้มาให้การอุปถัมภ์อุปัฏฐากอย่างดี มีบ้านหนองม่วง และบ้านหนองแวง เป็นต้น

ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในเขตนี้ก็มี กำนันทอน ผู้ใหญ่จารย์ดี พ่อออกคล้าย พ่อออกคิ้ว แม่ออกเขียน และคุณไสว ศิริบุศย์ เป็นต้น ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเคารพนับถือหลวงปู่สมชายมาก ในระหว่างพรรษาปีนี้ก็ได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่สีลา เทวมิตโต แห่งวัดโชติการาม บ้านหนองบัว ซึ่งอยู่ห่างถ้ำเป็ดประมาณ ๖-๗ กม. ได้อาพาธ หลวงปู่ก็ได้นำพาพระเณรไปเยี่ยมไข้หลายครั้ง บางครั้งก็ได้ปฏิบัติดูแลท่าน เพราะว่าหลวงปู่สีลา เทวมิตโต นั้นก็เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีลูกศิษย์เคารพนับถือมากมาย มีชื่อเสียงโด่งดังในเขตนั้นอีกองค์หนึ่ง

ลูกศิษย์ลูกหาทุกฝ่ายก็พยายามช่วยกันรักษาพยาบาล เพื่อต้องการให้ท่านมีชีวิตสืบต่อไปอีก ถึงแม้ว่าจะพยายามกันขนาดไหนก็แล้วแต่ อาการของหลวงปู่สีลา มีแต่ทรุดลงทุกวัน และท่านก็ได้มรณภาพในระหว่างพรรษาปีนั้น เมื่อหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ทราบข่าวการมรณภาพของหลวงปู่สีลา เทวมิตโต แล้วก็ตั้งใจ ว่าจะไปร่วมงานศพของครูบาอาจารย์

แต่การไปร่วมงานศพ ครูบาอาจารย์นั้นจะไปแต่ตัวหรือไปแบบมือเปล่าๆนั้น ก็ออกจะดูน่าเกลียดไป จึงได้เรียกญาติโยมมาปรึกษา ถึงการจะไปงานศพครูบาอาจารย์ในครั้งนี้ ถ้าได้หน่อไม้ไปร่วมในงานนี้บ้างก็จะเป็นการดี จะได้ประกอบอาหารเลี้ยงแขกคนที่มาร่วมในงาน จึงขอให้ญาติโยมพากันขึ้นไปบนเขาหาเก็บหน่อไม้ให้สัก ๒-๓ กระสอบ เพื่อจะได้นำไปร่วมใน งานครั้งนี้ บรรดาญาติโยมทั้งหมดเมื่อทราบจุดประสงค์ของหลวงปู่สมชายแล้วก็ได้จัดหามีด หากระสอบ รีบออกเดินทางขึ้นไปบนเขาเพื่อหาหน่อไม้ทันที

ญาติโยมทั้งหมดได้เดินทางไป หาหน่อไม้ ตั้งแต่เช้าจนเที่ยงกว่าแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏว่าจะได้หน่อไม้แต่อย่างไร เพราะเนื่องจากในช่วงนั้นใกล้ออกพรรษาแล้ว หน่อไม้ที่เคยมีอยู่ก็ถูกชาวบ้านขึ้นไปหามาประกอบอาหารกันทุกวัน ที่พอจะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็เป็นลำต้นสูงๆ ไปหมดแล้ว และบ้างก็เพิ่งจะปริ่มดินขึ้นมาอยู่ในกลางกอ

สรุปแล้วก็คือจะหาหน่อไม้ไปร่วมในงานจำนวนมากๆ เช่นนี้นั้นคงไม่มีทางคณะชาวบ้านที่ได้ขึ้นไปหาหน่อไม้เดินวนเวียนกัน จนหมดแรงไปตามๆกัน จึงได้พากันกลับลงมาจากบนเขาเข้าไปกราบเรียนหลวงปู่ว่า “พวกกระผมได้พากันขึ้นไปหาหน่อไม้ตั้งแต่เช้าจนบ่าย ป่านนี้แล้วยังไม่ได้หน่อไม้เลยแม้แต่หน่อเดียว เพราะว่าหน่อไม้บนเขานั้นพวกกระผมก็ได้ขึ้นไปหามาทำอาหารกินกันทุกวัน แต่กว่าจะได้แต่ละหม้อนั้นก็แสนยากแสนลำบาก ยิ่งเอาจำนวนมาก ๆ อย่าง นี้ด้วยแล้วเห็นจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยครับ หรือบางหน่อก็ติดปลายลำเป็นต้นไปหมดแล้ว”

เมื่อหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้รับแจ้งจากญาติโยมดังนั้นแล้ว จึงนั่งพิจารณาว่า “เอ..? จะทำอย่างไรดี ถ้าไม่ได้สิ่งของไปร่วมในงานครูบาอาจารย์ในครั้งนี้เราก็ไม่ควรไป เพราะนิสัยของเรานั้นจะไปงานไหนก็แล้วแต่จะไม่ไปเอาหรือมีแต่จะเอาให้เท่านั้น ยิ่งครั้งนี้ด้วยแล้ว ซึ่งเป็นงานของครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ขนาดนี้

ถ้าเราไปมือเปล่าโดยที่ไม่มีอะไรติดมือไปร่วมงานเลยเราก็ไม่ควรไป และควรจะรีบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้ไปเสียให้ไกล เพื่อหมู่คณะจะได้รู้ว่าเราไม่อยู่ ถ้าเราขืนอยู่แล้วไม่ไปร่วมงานก็เห็นจะน่าเกลียด” 

หลวงปู่ได้นั่งพิจารณาอยู่ครู่ใหญ่แล้วจึงได้ปรารภกับญาติโยมว่า “อาตมาเห็นจะไปร่วมในงานครูบาอาจารย์ครั้งนี้ไม่ได้แน่แล้ว และก็เห็นว่าจะอยู่ที่นี้ต่อไปไม่ได้อีกด้วย..”

เมื่อบรรดาญาติโยมได้ยินได้ฟังดังนั้นแล้วต่างคนต่างก็ตกอกตกใจไม่รู้ว่าจะทำประการใดดี จึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า “ไม่มีวิธีไหนที่ครูบาอาจารย์จะไปร่วมในงานครั้งนี้ได้ ขอให้บอกพวกกระผมเถิดครับ แต่ขออย่างเดียวขอให้ท่านอาจารย์อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้พวกกระผมที่นี่ต่อไป อย่าได้หนีจากพวกกระผมก็แล้วกัน”

หลวงปู่จึงปรารภขึ้นว่า “..เอาอย่างนี้ อาตมาขอให้ พวกเราทุกคนนี้ทดลองขึ้นไปหาหน่อไม้บนเขาอีกสักครั้งหนึ่ง ถ้าได้หน่อไม้ไปร่วมงานครูบาอาจารย์ อาตมาก็จะขออยู่กับญาติโยม ณ ที่นี้ต่อไป แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ อาตมาก็เห็นจะอยู่ที่นี้ต่อไปไม่ได้แน่..”

การขึ้นไปหาหน่อก็พึ่งจะลงมายังทันจะหายเหนื่อยเลย แต่ทุกคนก็ขันอาสาขอขึ้นไปหาหน่อไม้ลองดูอีกสักครั้งตามที่หลวงปู่ต้องการ ว่าแล้วต่างคนต่างก็ฉวยมีดฉวยกระสอบคนละอย่างสองอย่าง เดินขึ้นเขาไปตามทางเส้นเก่าเพื่อค้นหา หน่อไม้เป็นรอบที่สอง ต่างคนต่างก็เดินไปคิดไป ว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะได้หน่อไม้ตามที่หลวงปู่ต้องการได้

ป่านี้ทั้งป่าก็แทบจะไม่มีหน่อไม้ลัดออกมาอยู่แล้ว เพราะลัดออกมาก็ไม่ทันคนกินในขณะที่ทุกคนกำลังเดินคิดถึงเรี่องการหาหน่อไม้อยู่นั้น สายตาทุกคู่ก็จ้องจับอยู่ที่แห่งเดียวกัน ทุกคนแทบไม่เชื่อในสายตาของตัวเองเลย ความมหัศจรรย์บังเกิดต่อหน้าต่อตาทุกคนอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อนเลย

ฝูงลิงตัวโต ๆ ไม่ทราบว่าออกมาจากที่ไหนมากมายเต็มป่าไปหมด ลิงทุกตัวเหมือนรู้หน้าที่ ต่างก็ปีนขึ้น ไปหักหน่อไม้แล้วก็โยนออกมากองระเนระนาดเต็มทาง เดินไปหมด บ้างก็หักแล้วเอาเหน็บไว้ที่กอกะสูงขนาดศีรษะพอเอามือยื่นไปหยิบถึง บ้างก็เอามือขุดล้วงเข้าไปในกอพอชักมือออกมาก็มีหน่อไม้ติดมือออกมาด้วยทุก ครั้งไป นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกมากทีเดียว

ไม่ว่าชาวบ้านจะเดินทางไปทางไหน พวกลิงเหล่านั้นก็จะออกเดินนำหน้าแล้วหักหน่อไม้ออกมากองตามทาง ตลอดไปผิดกับที่ขึ้นมาครั้งแรกจะหาหักเองยังหาไม่ได้เลย แต่ครั้งนี้เพียงแต่เก็บใส่กรอบอย่างเดียวก็แทบจะเก็บไม่ทัน ทั้งงงทั้งสงสัย ทั้งตื่นเต้น บางคนตื้นตันจนน้ำตาไหล

ความสงสัยจึงมีเกิดขึ้นกับทุกคนว่า “..ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา บางคนอูย่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึงอายุ ๖-๗๐ ปี ยังไม่เคยเห็นลิงป่าประเภทนี้เลย สมัยก่อนนั้นก็เคยมีอยู่บ้าง แต่เป็นลิงอีกประเภทหนึ่งและต่อมาก็ได้พากันหนีไปจากป่านี้ กันจนหมดสิ้นเพราะกลัวภัยจากพวกมนุษย์นั่นเอง..”

วันนี้จึงนับว่าเป็นวันแห่งความมหัศจรรย์แห่งชีวิตของบรรดาญาติโยม บางคนถึงกับอุทานออกมาว่า “..ตั้งแต่ข้าเกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นนี่เอง.. เมื่อพากันเก็บหน่อไม้ใส่กระสอบได้มากพอสมควรแล้ว จึงได้พากันลำเลียงลงจากเขา บรรดาพวกลิงทั้งหลายก็หมดหน้าที่ได้พากันวิ่งเข้าป่า หายไป”

เมื่อบรรดาญาติโยมได้ลำเลียงหน่อไม้ลงมาถึงถ้ำเป็ดอย่างทุกลักทุเลแล้วก็ได้ พากันนำเหตุการณ์ที่ได้ประสบมาสดๆ ร้อนๆ นั้นเข้าไปกราบเรียนถวายหลวงปู่สมชายทราบอย่างตื่นเต้น และปลื้มปีติกันทุกคน

จึงเป็นอันว่าการที่จะเดินทางไปร่วมงานศพหลวงปู่สีลา เทวมิตโต ก็เป็นไปตามเจตนาทุกประการ และได้นำหน่อไม้ไปร่วมในงาน เพื่อปรุงอาหารถวายพระภิกษุสามเณรและเลี้ยงแขกคนที่มาร่วมในงานครั้งนั้นอย่างอุดมสมบูรณ์

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้นำคณะพระเณรมาช่วย จัดงานเตรียมงานตั้งแต่เริ่มงานจนกระทั่งถวายเพลิงศพหลวงปู่สีลา เทวมิตโต เสร็จเรียบร้อยก็ได้พาคณะกลับไปบำเพ็ญที่ถ้ำเป็ด ต่อมาอีกระยะหนึ่ง พอดีในช่วงนั้นสามเณรประไพ รูปเหลี่ยม อายุครบพอที่จะบวชเป็นพระได้แล้ว หลวงปู่จึงได้พาสามเณรประไพกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อที่ทำการญัตติ 

สามเณรประไพในครั้งนั้นก็ได้เดินทางกลับมาจังหวัดมุกดาหารได้ไปพักอยู่ภูเก้า ต่อจากนั้นหลวงปู่ก็ได้พาสามเณรประไพไป ทำการญัตติ ที่วัดศรีมงคลเหนือ จังหวัดมุกดาหาร และก็ได้กลับมาพักที่ภูเก้าอีกระยะหนึ่ง จึงได้พากันลงมาจากภูเก้า เดินทางไปอำเภออำนาจเจริญ พักอยู่ที่วัดอ่าอยู่ประมาณ ๓ เดือน แล้วก็เคลื่อนลงมาทางจังหวัดอุบลราชธานี มาจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ พอเข้าเขตจังหวัดสุรินทร์ ฝนตกหนักมาก ทั้งวันทั้งคืน แต่ก็ไม่ได้หยุดพัก

เดินต่อไปเรี่อยๆ ได้เข้าไปขอพักที่วัดตะเคียน ทั้งเปียกทั้งหนาวสั่นกันทุกองค์ กะว่าจะพักพอหายเหนื่อยหายหนาวก็จะออกเดินทางต่อ ก็พอดีชาวบ้านที่นั้นคนหนึ่งชื่อว่า อาจารย์ประยูร ได้เข้ามากราบเรียนและขอนิมนต์หลวงปู่สมชาย และคณะไปพักบำเพ็ญที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักไปประมาณ ๑ กม. หลวงปู่พร้อมด้วยพระเณรได้พากันไปดู

เมื่อไปเห็นแล้วก็รู้สึกว่าแปลกดีมาก สวยงาม เป็นลักษณะปรางค์ปราสาทเก่าแก่มาก มีลวดลายวิจิตรพิสดารงดงามจริงๆ แต่เสียดายไม่มีใครบูรณะ จึงดูรกและปกคลุมไปด้วยต้นไม้ เถาวัลย์เต็มไปหมด แต่ก็มองดูครึ้มๆ น่ากลัวดี มีความสงบสงัดวิเวกมาก หลวงปู่จึงได้ตกลงที่จะจำ พรรษาที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น

๓๓. จำพรรษาที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง

ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย จึงได้นำพาพระภิกษุ สามเณรจำพรรษาอยู่ที่ปราสาท เขาพนมรุ้ง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในพรรษานี้มี พระภิกษุสามเณรทั้งหมด ๑๒ องค์ด้วยกัน ชาวบ้านแถบนี้เป็นเขมรกันทั้งหมด แต่เขาก็มีความเคารพเลื่อมใสพระพุทธศาสนา และมีความศรัทธาต่อพระสายปฏิบัติเป็นอย่างดี

จึงสะดวกและง่ายต่อการอบรมสั่งสอน ตลอดพรรษาหลวงปู่ก็ได้เทศนาอบรมสั่งสอนนำพาให้รักษาศีล ๕ ศีล ๘ และให้รู้จักการภาวนาอีกด้วย นอกจากนั้นหลวงปู่ก็ยังได้นำพาชาวบ้านพัฒนาบูรณะตกแต่งปราสาทนั้นให้สะอาดสะอ้าน สวยงามขึ้น ร่มรื่นให้เป็นสถานที่น่าบำเพ็ญภาวนา น่าอยู่อาศัยไม่น่ากลัว เหมือนแต่ก่อน ในพรรษานี้หลวงปู่ก็ได้มีโอกาสศึกษาภาษาท้องถิ่นของชาวบ้านไปด้วย ท่านจึงสามารถพูดภาษาเขมรได้เป็นอย่างดี

ในพรรษานี้การบำเพ็ญก็เป็นไปได้ดีมากกันทุกองค์ แต่ก็อยู่ได้เพียงพรรษาเดียว พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สมชายก็ได้พาหมู่คณะออกเดินทางจากปราสาทเขาพนมรุ้ง ตั้งใจว่าจะลงไปบำเพ็ญภาวนาทางภาคใต้

๓๔. บำเพ็ญธรรมในแดนกะเหรี่ยง

พอออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นี้แล้ว หลวงปู่สมชายก็ได้ปรารภกับหมู่คณะพระเณรว่าอยากจะไปหาสถานที่บำเพ็ญทางภาคใต้สักระยะหนึ่ง จึงได้บอกลาญาติโยมชาวบ้านที่นั่น แล้วก็พากันออกเดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟ มีชาวบ้านติดตามไปส่งกันเป็นจำนวนมาก ได้นั่งรถไฟไปลงที่หัวลำโพง ต่อจากนั้นก็นั่งรถยนต์ไปลงที่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เมื่อเดินทางไปถึงอำเภอหัวหินแล้ว ก็ได้เข้าไปพักที่ วัดราชายตนะบรรพต ซึ่งมีท่านพระอาจารย์ฉลวย เป็นเจ้าอาวาส แต่ไม่ได้อยู่ที่วัดล่างได้พากันขึ้นไปอยู่บนหลังเขา ซึ่งมีอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่บนนั้นมีความสงบสงัดดีมากได้พักอยู่ประมาณ ๒-๓ เดือน หลวงปู่สมชายก็ได้พาหมู่คณะเข้าไปหาสถานที่วิเวกลึกเข้าไปในป่าอีก ได้เดินบุกป่าฝ่าดงเข้าไปถึงข้างในดงดิบ ซึ่งเป็นป่าดงดิบจริงๆ เขาเรียกว่าทุ่งกะสังและเลยเข้าไปอีกเรียกว่าไร่สุดใจ ไทรเอน ห้วยสัตว์น้อย ห้วยสัตว์ใหญ่

พอเดินไปถึงห้วยสัตว์ใหญ่ก็ได้พบกับค่าย ตชด.มีเจ้าหน้าที่ประมาณ ๕ นาย ซึ่งมาคอยดูแลรักษาป่าอยู่ที่นี่ เรียกว่า ค่ายห้วยสัตว์ใหญ่ หลวงปู่กะว่าจะเดินทางเข้าข้างในต่อไปอีกเรี่อยๆ แต่พวก ตชด. เขาขอร้องไม่ให้เข้าไปเพราะว่าเป็นเขตแดนของพม่า เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยอาจจะเป็นอันตรายได้ พวก ตชด. เขาเห็นหลวงปู่ พาพระเณรเข้าไปบำเพ็ญภาวนาในป่านั้น พวกเขาพากันดีใจเป็นการใหญ่

พวก ตชด. ก็ได้พากันช่วยจัดหาสถานที่ให้พัก ช่วยทำที่บำเพ็ญให้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากค่ายของพวกเขามากนัก พวก ตชด1 เขาได้หุงข้าวมาถวายวันละ ๑ จาน เขาจะถวายมากกว่านั้นก็ไม่ได้ เพราะเสบียงของเขามีจำกัด บรรดาสามเณรที่ติดตามไปด้วยจึงต้องช่วยกันหาอาหาร ประเภทผัก และยอดไม้มาเสริมทุกวัน เช่น ผักกูดมูเซอ มะละกอป่า บางวันก็เอาหยวกกล้วยป่า เอามาต้มให้สุกแล้วก็ถวายพระฉันได้ฉันกันพอมีชีวิตอยู่ปฏิบัติธรรมไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น แต่ก็อยู่กันได้ถึง ๔ เดือน

ต่อจากนั้นหลวงปู่ท่านให้พระเณรกลับออกมาพักรอที่หัวหิน สำหรับตัวหลวงปู่ได้แยกไปตามลำพัง เดินทางต่อเข้าไปในป่าลึก เข้าไปจนถึงเขตอำเภอปราณบุรี ต่อเข้าไปจนถึงเมืองมะริด หรือเมืองทวาย ประเทศพม่า ในแถบนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ หลวงปู่จึงได้พักบำเพ็ญอยู่กับพวกกะเหรี่ยง ได้ไปพักบำเพ็ญอยู่ที่บ้านป่าแดง บ้านป่าดี และบ้านป่าละอู พักอยู่เป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้วก็ได้เดินทางต่อ

ชาวกะเหรี่ยง ก็เป็นชาวป่าอีกเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามป่าพวกเขาไม่เคยเห็นพระ ไม่รู้จักพระ นับถือภูตผีปีศาจสืบทอดมาจากบรรพบุรุษของ พวกเขา เนื่องจากยังไม่เคยมีพระเข้าไปอบรมสั่งสอน พวกเขาจึงยังไม่รู้จักพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งอันประเส่ริฐ

หลวงปู่สมชายเข้าไปอยู่กับพวกกะเหรี่ยงในครั้งนั้นแทบเอาชีวิตไม่รอด บางครั้งไม่ได้ฉันอาหารเป็นเดือนๆ บางครั้งก็ฉันผักป่าหรือยอดไม้ใบไม้ ให้พอประทังชีวิตอยู่ได้เท่านั้น จนกว่าจะทำความเข้าใจกับพวกกะเหรี่ยงได้ ก็เล่นเอาสังขารร่างกายแทบแย่ เพราะพูดภาษาฟังกันไม่รู้เรื่องแต่พอรู้เรื่องกันบ้างแล้ว

หลวงปู่ก็พยายามแนะนำให้พวกเขา หันมานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐ แทนการนับถือภูตผีปีศาจนั้น เมื่อทำความเข้าใจกันได้บ้างแล้วหัวหน้ากะเหรี่ยงเขาก็เป็นผู้นำลูกบ้านของพวกเขา มาให้การอุปถัมภ์บำรุงอย่างดี รู้จักทำบุญให้ทาน รู้จักหาอาหารมาใส่บาตรถวายพระ ในขณะนั้นก็ยังฟังภาษากันรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง บางครั้งบอกอย่างหนึ่งเขาก็ไปทำอีกอย่างหนึ่ง

หลวงปู่ยังเคยเล่าเรื่องตลกที่ท่านได้ประสบมาสมัยที่อยู่กับพวกกะเหรี่ยงให้พระเณรฟัง มีอยู่วันหนึ่งภายหลังจาก พวกกะเหรี่ยงได้นำอาหารมาถวายหลวงปู่ พอหลวงปู่ฉันจังหัน เสร็จจึงเรียกพวกกะเหรี่ยงมาบอกว่า “พวกญาติโยมทั้งหลาย วันพรุ่งนี้ถ้าจะมาให้เอาจอบเอาเสียมเอามีดมาด้วยคนละอัน มาช่วยกันทำทางเดินจงกรมให้อาตมาหน่อยนะ”

พวกกะเหรี่ยงพอได้ยินหลวงปู่สมชายพูดจบลงแล้ว จึงได้พากันเดิน ทางกลับบ้านกันโดยเร็วไม่รอช้า ครู่ใหญ่ต่อมาพวกกะเหรี่ยง ทั้งหมดนั้นก็เดินทางกลับมาพร้อมข้าวของติดมือมากันด้วย หลวงปู่มองเห็นแต่ไกล ท่านก็นึกดีใจว่า “เออ.. พวกกะเหรี่ยงนี้ดีจริง บอกให้มาทำวันพรุ่งนี้ กลับมาทำให้ในวันนี้ ถ้าอย่างนั้นวันนี้เราคงได้เดินทางเดินจงกรมใหม่แน่ ๆ”

แต่พอพวกเขาเข้ามาถึงหน้าหลวงปู่แล้ว เขาก็พากันเอาอาหารที่เขาถือมานั้นวางไว้ตรงหน้าท่านมากมายก่ายกองเต็มไปหมด แล้วเขาก็นั่งรอให้หลวงปู่ฉันของเขาอีก

หลวงปู่เห็นการกระทำซึ่งเขาก็ทำด้วยความจริงใจ และทำด้วยความซื่อนั่นเอง หลวงปู่จึงได้บอกให้พวกกะเหรี่ยงเหล่านั้นนั่งทานกันเองจนหมดเรียบร้อย สำหรับตัวหลวงปู่ก็ได้แต่นั่งยิ้มถึงความซื่อของพวกกะเหรี่ยงอยู่องค์เดียว

หลวงปู่สมชายได้พักบำเพ็ญอยู่กับพวกกะเหรี่ยงได้ประมาณ ๔ เดือน ท่านจึงได้เดินทางกลับออกมาหาหมู่คณะ พระเณรที่ได้เดินทางแยกออกมารออยู่ก่อนแล้ว รวมเวลาที่เข้าไปอยู่ที่หัวหิน ปราณบุรี มะริด ทวาย เป็นเวลา ๘ เดือนเศษ

เมื่อได้ออกมารวมกันครบหมดแล้ว จึงได้ปรึกษากันว่าจะเดินทางลงไปทางใต้ต่อไปเรี่อยๆ หรือว่าจะเดินทางกลับเมืองอีสานดี ก็ได้รับคำแนะนำจากท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ว่า ”หลวงปู่น่าจะลองไปทางภาคตะวันออกดูบ้าง โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี มีสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมที่สงบวิเวกหลายแห่ง และชาวจันทบุรีก็มีความเลื่อมใสในพระพุทธศานา มีความเข้าใจต่อระเบียบข้อปฏิบัติของพระกรรมฐานเป็นอย่างดี

เนื่องจากพระกรรมฐานสาย หลวงปู่มั่น ภูริทตตเถร หลายองค์เคยได้ผ่านมาเผยแพร่หลักธรรมไว้ก่อนแล้ว หลายต่อหลายองค์ด้วยกัน เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฎ์) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านพ่อลี ธมมธโร (ท่านเจ้าคุณ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์) หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ และหลวงปู่มหาบัว ญาณสมปนโน (ท่านเจ้าคุณ พระราชวิสุทธิญาณโสภณ) เป็นต้น”

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เมื่อได้รับคำแนะนำดังนั้น ก็ได้ตัดสินใจเดินทางมาจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรจำนวน ๑๐ รูป เมื่อปี พ. ศ. ๒๕๐๔ และได้มุ่งตรงไปที่วัดเขาน้อยสามผาน ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เพราะว่าเป็นสำนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง

สถานที่แห่งนี้เหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง มีความร่มรื่นสวยงามตามธรรมชาติ อีกทั้งความสงบวิเวกก็ดีมาก จึงเหมาะแก่การเจริญสมณธรรมยิ่งนัก หมู่บ้านโคจรบิณฑบาต ก็อยู่ไม่ไกล พอไปมาได้สะดวก นับว่าเป็นสถานที่สัปปายะอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งควรแก่การบำเพ็ญกรรมฐาน

แต่พอได้ติดต่อสอบถามหัวหน้าสำนักแล้ว ปรากฏว่ากุฏิที่พักมีจำกัด พระภิกษุสามเณรได้เข้าอยู่ครบตามจำนวนหมดแล้ว และจะรับได้อีกไม่เกิน ๕ องค์เท่านั้น ถ้ามากกว่า ๕ องค์แล้ว ก็จะไม่สะดวกต่อการบำเพ็ญเท่าที่ควร คณะของหลวงปู่สมชายมีด้วยกันทั้งหมด ๑๐ องค์ และไม่ประสงค์ที่จะแยกกันจำพรรษาอีกด้วย จึงต้องพิจารณาหาที่จำพรรษาแห่งใหม่ต่อไป

ท่านจึงดำริในใจว่า “..ภายในจังหวัดจันทบุรีนี้ ถ้าเราจะไปเสาะแสวงหาสำนักต่าง ๆ เพื่อจำพรรษาก็ยังไม่ทราบว่าจะพอมีสำนักใดที่จะจำพรรษากันทั้งหมดนี้ได้ เนื่องจากไม่เคยมา จึงไม่รู้จักมักคุ้นกับใครเลย ถ้าจะเดินทางกลับเมืองอีสาน เวลาก็เหลือน้อยเต็มที เกรงว่าจะไปไม่ทันเข้าพรรษา ประกอบกับทั้งค่าโดยสารในการเดินทางก็หมดลงพอดี..”

ในขณะที่กำลังกังวลใจอยู่นั้น ก็ได้มีญาติโยมจำนวน ๒ คน เดินเข้ามาในที่พัก พอมาถึงก็พากันนั่งลงกราบ ๓ ครั้ง เป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมของชาวพุทธ เมื่อนั่งลงในที่อันสมควรแก่ตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงได้เริ่มเรื่องสนทนาสอบถาม ได้ทราบชื่อว่า ชื่อ นายจอม แพทย์ประทุม และนายเฉลิม ทวีธรรม หลวงปู่สมชายจึงถามต่อไปว่า “ที่โยมเดินทางมานี้มีธุระอะไรบ้าง” 

นายจอม แพทย์ประทุม กราบเรียนว่า “..พวกกระผมมาหานิมนต์พระไปจำ พรรษาที่วัดเนินดินแดง ” 

” วัดอยู่ที่ไหน ” 

“วัดของพวก กระผมอยู่ในเขตตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ” 

นายจอม แพทย์ประทุม ได้เล่าต่อไปอีกว่า “พวกกระผมเป็นตัวแทนของชาวบ้านเนินดินแดงและบ้านบึงบอน เมื่อวานนี้พวกกระผมได้ไปหานิมนต์พระภิกษุสามเณรตามวัดต่าง ๆ หลายวัด มีวัดเขาแก้ว และวัดจันทนาราม เป็นต้น

แต่ก็ไม่มีพระภิกษุสามเณรองค์ใดประสงค์จะไปจำพรรษาในป่าเลยแม้แต่องค์เดียว เนื่องจากท่านต้องการจะอยู่ศึกษาเล่าเรียนทางด้านพระปริยัติธรรมกัน พวกกระผมก็รู้สึกเห็นใจท่าน จากที่หวังแห่งสุดท้ายได้แก่ที่วัดจันทนาราม ก็ได้ทราบว่าคณะของพระคุณเจ้ายังไม่ได้ที่พักจำพรรษา พวกกระผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รีบพากันมา และขอถือโอกาสกราบอาราธนาพระคณเจ้าไปจำพรรษาที่วัดเนินดินแดง เพื่อโปรดพวกญาติโยมในป่าด้วยครับผม”

หลวงปู่จึงถามต่อไปว่า “พวกโยมมีความประสงค์ ต้องการนิมนต์กี่องค์ ” 

“แล้วแต่พระคุณเจ้าจะเห็น สมควรพอแบ่งไปได้เท่าไร แต่อย่างน้อยก็สัก ๔-๕ องค์ก็ยังดี “

“คณะของอาตมามีด้วยกันทั้งพระภิกษุสามเณรรวม ๑๐ องค์ และก็ไม่มีความประสงค์ที่จะแยกกันจำพรรษา ต้องการที่จะอยู่จำพรรษาในสำนักเดียวกันทั้งหมด..” 

เมื่อนายจอมได้ฟังดังนั้นก็ลังเล ทั้งสองจึงหันหน้าเข้าปรึกษากันว่า “เราจะทำอย่างไรดี ถ้าเรารับไปหมดทั้งสิบองค์ก็ไม่ทราบว่าหมู่คณะจะเห็นด้วยหรือไม่ เกรงว่าจะให้การอุปถัมภ์บำรุงได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะประชาชนชาวบ้านยังมี จำนวนน้อย”

พอปรึกษากันอยู่พักหนึ่งทั้งสองจึงมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องกลับไปปรึกษาหมู่คณะดูก่อน ได้ความว่าอย่างไร วันพรุ่งนี้จึงจะมากราบเรียนให้พระคุณเจ้าทราบ เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็ได้พากันกราบลาหลวงปู่สมชายเดินทางกลับ

พอนายจอม แพทย์ประทุม และนายเฉลิม ทวีธรรม เดินทางกลับมาถึงบ้านก็รีบปรึกษาหารือกันทันที ปรากฏว่าทุกคนไม่ขัดข้อง ยินดีให้เป็นไปตามความประสงค์ของหลวงปู่สมชายและพระภิกษุสามเณรทุกอย่าง หลังจากได้ตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จัดการเตรียมรถไปรับหลวงปู่สมชายพร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร ซึ่งได้รออยู่ที่วัดเขาน้อยสามผาน

แต่วันนี้คณะที่ไปรับไม่ได้พบหลวงปู่ เนื่องจากท่านได้เดินทางไปธุระที่ปากน้ำแขมหนู อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาจึงได้รับเอาพระภิกษุสามเณรคณะ ของหลวงปู่สมชายที่ยังเหลืออยู่นั้น เดินทางล่วงหน้ามาก่อน เพี่อจะได้มาจัดเตรียมสถานที่ไว้คอยหลวงปู่

บรรดาพระภิกษุสามเณรเมี่อทราบจุดประสงค์ดังนั้น ก็ได้พากันจัดบริขารลงไปใส่รถ พอเรียบร้อยแล้วรถจิ๊บวิลลี่(จิ๊บกลาง) ของนายหริ ก็ได้นำพระภิกษุสามเณรออกเดินทางจากวัดเขาน้อยสามผาน มุ่งหน้าสู่ วัดเนินดินแดงทันที วิ่งไปตามเส้นทางอันขรุขระทุรกันดาร เพราะสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวกเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ จากวัดเขาน้อยสามผานจนกว่าจะมาถึงวัดเนินดินแดงได้ ก็เสียเวลาไปหลายชั่วโมง ทั้งๆที่ ระยะทางก็ห่างกันไม่มากนัก ประมาณ ๓๐ กม.เท่านั้น

เมี่อรถจิ๊บวิลลี่ได้พาคณะพระภิกษุสามเณรมาถึงวัดเนินดินแดงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันรุ่งขึ้นพระภิกษุสามเณรก็ได้ ช่วยกันจัดเตรียมสถานที่รอรับหลวงปู่สมชาย ส่วนคณะญาติโยมมี นายจอมแพทย์ประทุม นายเยื้อน รุ่งเรืองศรี นายบุญชู วงศ์สวาท นายแสวง คณะศาสตร์ พร้อมด้วยญาติโยมอีกหลายคนก็ได้จัดรถลากซุงของ นายบุญชู วงศ์สวาท ไปรับหลวงปู่ที่วัดเขาน้อยสามพรานซึ่งเป็นรอบที่สาม เมื่อกลับมาถึงวัดเนินดินแดงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันรุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี

เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิดมาก บรรดาญาติโยม จึงไม่สามารถจัดสถานที่พักให้เพียงพอกับจำนวนพระภิกษุสามเณรได้ พระภิกษุสามเณรจึงต้องพักรวมกันอยู่กุฏิละหลายๆองค์ จนกว่าจะจัดที่พักให้เรียบร้อยได้ก็เสียเวลาไปหลายวัน

๓๕. จำพรรษาที่วัดเนินดินแดง พ.ศ. ๒๕๐๔

ปี พ.ศ.๒๕๐๔ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย จึงได้นำพาพระภิกษุสามเณร จำพรรษาอยู่ที่ วัดเนินดินแดง ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี วัดเนินดินแดงตั้งอยู่บนเนินเตี้ยๆ มีดินสีแดง มีลักษณะเป็นป่าไม้ธรรมชาติ มีต้นไม้เรียงรายอยู่ทั่วบริเวณวัด ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมให้ความร่มรื่น เย็นสบายตลอดเวลา

ตั้งแต่หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย มาพักอยู่ที่วัดเนินดินแดง ท่านก็ได้เริ่มพัฒนาทั้งภายในและภายนอก ภายในได้แก่ การนำพาพระภิกษุสามเณรเดินจงกรมนั่งสมาธิเจริญเมตตาภาวนา เป็นประจำทุกวันมิได้ขาด เทศนาอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ

จนชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธา มีความซาบซึ้งในธรรมะ และมีความเลี่อมใสในพระศาสนามากขึ้นเป็นลำดับหลายคนเลิกละจากอบายมุขเครื่องมัวเมาต่างๆ บางคนเลิกจากการเป็นนายพราน หันหน้าเข้าหาวัด ประกอบความดีกันก็หลายคน

ส่วนภายนอกนั้น หลวงปู่ก็ได้นำพาชาวบ้านพัฒนาก่อสร้างเสนาสนะ มีกุฏิและศาลาการเปรียญ เป็นต้น ศาลาที่ชาวบ้านเตรียมไว้ครั้งแรกนั้นยังไม่เรียบร้อย เพียงแต่เอาไม้ กระดานวางไว้ใช้ชั่วคราว ประมาณสิบกว่าแผ่น พอให้พระเณรได้นั่งฉันจังหันได้เท่านั้น

หลวงปู่จึงได้พาชาวบ้านจัดทำจนเป็นที่เรียบร้อย พรรษาแรกนี้แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนกันเลย เพราะว่าอยู่ในระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงสถานที่ ต่อจากนั้นก็ได้จัดสร้างกุฏิที่พักขึ้นอีกเป็นลำดับ จนเพียงพอกับจำนวน พระภิกษุสามเณร

ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ – พ.ศ. ๒๕๐๕ – พ.ศ. ๒๕๐๖ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย พร้อมด้วยคณะพระภิกษุสามเณรที่ได้ติดตามท่านมาทั้งหมดนั้น ก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเนินดินแดงอย่างปกติสุขตลอดมา ท่านก็ได้นำพาชาวบ้านก่อสร้างพัฒนาวัดให้มี ความเจริญสมบูรณ์ขึ้นเป็นลำดับต่อมา วัดเนินดินแดงนับว่าเป็นวัดแรกที่ท่านได้จัดสร้างขึ้นในจังหวัดจันทบุรี

๓๖. แสวงธรรมบนเขาสุกิม พ.ศ. ๒๕๐๗

เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ คุณโยมห่อ สูญญาจารย์และคุณโยมขวัญ ใจงาม ได้ไปกราบอาราธนานิมนต์ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรจากวัดเนินดินแดง จำนวน ๙ รูป เพื่อมาเจริญพระพุทธมนต์ ณ ที่หมู่บ้านคลองพลูกระต่อย (ปัจจุบันเป็นบ้านเขาสุกิม) ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

ประชาชนชาวบ้านเห็นว่าเป็นโอกาส ดีจึงได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย พร้อม ด้วยพระภิกษุสามเณรให้ขึ้นมาพักบำเพ็ญบนเขาสุกิม เพราะเห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีความสงบวิเวกน่าจะเป็นสถานที่บำเพ็ญสมณธรรมได้ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร เมื่อได้ขึ้นมาถึงบนเขาสุกิมแล้ว ก็พิจารณาเห็นว่าบนภูเขาแห่งนี้เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง

คือมีลักษณะเป็นสภาพป่าดงดิบหนาทึบเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ๆ เงียบ สงบ สงัด อากาศดี น้ำก็อุดมสมบูรณ์ และในครั้งนั้นก็ได้มีพระภิกษุสามเณรที่สนใจในการปฏิบัติธรรม ติดตามขึ้นมาด้วยจำนวน ๔ รูป มีพระ ๒ รูป สามเณร ๒ รูป รวมกับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ด้วย จึงเป็น ๕ รูป มีอุบาสกอุบาสิกาติดตามขึ้นมาปฏิบัติธรรมด้วยจำนวน ๑๐ คน

ในระยะแรกๆ คณะพระภิกษุสามเณรและผู้ปฏิบัติได้ปักกลดภาวนาอยู่ตามโคนไม้บ้าง เงื้อมหินบ้าง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปบนภูเขานั้น ทุกท่านทุกองค์ก็ได้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ กันอย่างจริงจังเป็นการทดลองชิมลางสถานที่อยู่หลายเดือน รู้สึกว่าเป็นที่พอใจแก่พระภิกษุสามเณร และผู้ปฏิบัติธรรมกันทุกท่านทุกคน เพราะว่าสถานที่เป็นสัปปายะอันควรแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ทั้งหมดก็ได้อยู่บำเพ็ญภาวนามาจนกระทั่งใกล้จะเข้าพรรษา ปี พ.ศ. ๒๕๐๗

๓๗.  จำพรรษาที่เขาสุกิม พ.ศ. ๒๕๐๗ – ปัจจุบัน

ฤดูกาลพรรษาปีพ.ศ.๒๕๐๗ ผ่านมาถึงแล้วหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย จึงมีความตั้งใจว่าจะ อยู่จำพรรษา ณ สถานที่แห่งนี้ต่อไป ในระหว่างนั้นเป็นฤดูฝน การบำเพ็ญไม่สะดวกเท่าที่ควร เนื่องจากเมืองจันทบุรีนั้นเป็นเมืองที่ฝนตกชุกตลอดทั้งปี

ประชาชนชาวบ้านบางส่วนเมื่อได้ทราบความประสงค์ของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย และคณะผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดสร้างกุฏิชั่วคราวขึ้น จำนวน ๑๕ หลัง ศาลาโรงฉัน ๑ หลังเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุสามเณรและผู้ปฏิบัติธรรม 

กุฏิและศาลาดังกล่าวนั้นได้จัดสร้างกันเป็นแบบชั่วคราว หลังคามุงด้วยใบระกำและใบจาก ปูพื้นด้วยเปลือกไม้สำรอง ข้างฝากั้นด้วยเปลือกไม้สำรองบ้าง กั้นด้วยใบระกำบ้าง แบบพอได้อาศัยหลบแดดหลบฝนชั่วคราวเท่านั้น

ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นพรรษาแรกนี้ ได้มีพระภิกษุจำพรรษาจำนวน ๗ รูป สามเณร ๔ รูป รวมเป็น ๑๑ รูป มีผู้ปฏิบัติธรรมร่วมจำพรรษาด้วยอีกหลายท่านตลอดฤดูกาลพรรษาก็ได้บำเพ็ญสมณธรรมเป็นปกติสุข และได้ดื่มรสชาติของการปฏิบัติด้วยกันทุกท่านทุกคนตลอดฤดูกาลพรรษา เมี่อออกพรรษาแล้วก็ยังได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ สถานที่เดิมต่อมาเรี่อยๆ

ปี พ.ศ.๒๕๐๘ ก็ได้อยู่จำพรรษาต่อมาอีกหนึ่งพรรษา ในปีนี้มีพระภิกษุ ๘ รูป สามเณร ๖ รูป รวมเป็น ๑๔ รูป มี อุบาสกอุบาสิกาผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

๒ พรรษาผ่านไป หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านก็ไม่ได้คิดจะสร้างเสนาสนะที่เป็นถาวรขึ้นแต่อย่างไร ก็ยังอยู่กระต๊อบแบบชั่วคราวนั้นต่อมาเรื่อยๆ เพราะตั้งใจว่าจะอยู่บำเพ็ญเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

พอเริ่มเข้าปี พ.ศ. ๒๕๐๙ อุบาสกอุบาสิกาผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากได้ดี่มรสชาติของการปฏิบัติ จึงเกิดความซาบซึ้งในพระศาสนา และมีความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย และพระภิกษุสามเณร ประชาชนชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นก็ให้ความสนใจในการอุปถัมภ์บำรุงเป็นอย่างดี

ประชาชนชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ซึ่งเป็นประมุขประธานสงฆ์เป็นผู้นำที่ดี มีความสามารถทั้งในด้านการปฏิบัติธรรม การบริหารการปกครองตลอดทั้งมีความรู้ความสามารถในด้านอื่นๆ ประชาชนชาวบ้านทุกท่านทุกคนจึงมี ความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะเห็นเขาสุกิมแห่งนี้เป็นวัดที่สมบูรณ์ มีความเจริญรุ่งเรืองในโอกาสต่อไปเป็นอย่างยิ่ง