Skip to content

สติเป็นตัวรู้ ปัญญาตัวละ

หลวงปู่หลวง กตปุญโญ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ทีนี้ต่อไปพากันตั้งใจจะได้นำอุบายธรรมะคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้นให้สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายที่มีความเชื่อความเลื่อมใสให้พากันเสียสละการงาน วันนี้เป็นวันอาทิตย์แต่ว่าพวกเรามีปัญญา มีปัญญาดีวิเศษ ได้มาสร้างเหตุแห่งความพ้นทุกข์ คือทาน ศีล ภาวนา, ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งตรงกันข้ามกับคนไม่มีปัญญา วันอาทิตย์เข้าบาร์เข้าซ่อง กินเหล้าเมาสุราเฮฮา พวกนี้ตายตกนรกหมด 

พวกเราเป็นผู้ที่มีปัญญา ฉะนั้นเบื้องต้นจะเล่าความจริงประจำโลก เรื่องของจริงประจำโลกนั้นมันมีอยู่สามอย่าง ที่เวลาผู้ใดตายก็ดี พระตายก็ดี คนตายก็ดี นิมนต์ไปสวดกุสลา มาติกานั่นแหละ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพพะยากะตา ธัมมา อันนี้เป็นธรรมของจริงอยู่ในโลก ใครจะรู้หรือไม่รู้ ใครจะเรียนหรือไม่เรียน ก็มีประจำอยู่ ไม่เรียนก็มี เรียนก็มี จะจดจำก็มี ไม่จดจำก็มีประจำอยู่ทุกคนที่เราเกิดมา 

ฉะนั้นจึงว่าเป็นธรรมที่ประจำโลกและเป็นธรรมที่แน่นอนที่สุด ท่านเปรียบเทียบให้ฟังอย่างนี้ว่า ตัวกุสลา ธัมมานั้นเป็นฝ่ายกุศล ตัวจริงมันก็ได้แก่กายสุจริตนั่นแหละ ตัวกุสลา ธัมมาจริงๆคือตัวสุจริตนั่นเอง สุจริตกาย สุจริตวจี สุจริตมโน สุจริตนี่แหละ นี่ตัวกุสลา ธัมมาแท้ กายสุจริตที่เรามารักษาศีลภาวนาเช่นว่า กำหนดอานาปานสติ ลมเข้าพุทโธ ลมออกพุทโธ จิตเป็นหนึ่ง ขณะนั้นโลภก็ไม่มี โกรธก็ไม่มี หลงก็ไม่มี ไม่มีอะไร ใจเป็นหนึ่งแน่วแน่อยู่นั่นแน่ะ เป็นตัวกุสลา ธัมมา เป็นฝ่ายสุจริต 

กายก็ไม่ได้ไปกินเหล้าเมาสุรา ไม่ได้ว่าใคร วจีก็ไม่ได้ไปด่าใคร นั่งเงียบ ใจก็ไม่ได้คิดอิจฉาพยาบาทใคร ไม่ได้โลภอยากได้ของใครในขณะนี้ ใจปล่อยวางเป็นกลางหมด ก็คือว่าการที่จะทำสมาธิ จิตปล่อยวางเป็นกรรมฐานได้ มันต้องสละอารมณ์ ตั้งแต่เราตั้งใจมานั่นหละ เราต้องสละอารมณ์ สัญญาอารมณ์มาแล้ว วันนี้เราจะตั้งใจปฏิบัติบูชา เพื่อถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือถวายครูบาอาจารย์ เพื่อบูชาคุณของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และบูชาคุณของในหลวงด้วย ที่ท่านมาเชิดชูวัดปทุมฯเนี่ย เพราะวัดปทุมฯนี้เป็นพื้นฐานที่ดีมากที่สุด ไม่มีวัดใดในกรุงเทพกรุงไทยเนี่ย ไม่มีวัดใดเป็นพื้นฐานวิปัสสนามาเป็นลำดับ 

ตั้งแต่อาจารย์หนู (หนู ฐิตปุญฺโญ) พระครูคุณพิศาลเถระ เป็นคนเมืองอุบลฯ ฉะนั้นจึงว่าเจ้าคุณองค์เนี้ย เป็นสมภารมาเนี่ย เป็นผู้ปฏิบัติกรรมฐานภาวนา เป็นผู้สร้างบารมีเดินธุดงค์กรรมฐานภาวนากับหลวงปู่มั่น ปฏิบัติมาหลายปี ต่อมาท่านก็เฒ่าแก่ ๘๐ ตาย ต่อมาก็เจ้าคุณมหาโฮม ก็เป็นคนเมืองอุบลเหมือนกัน มาสืบนั่งกรรมฐานภาวนา หลวงตายังเคยมานั่งกับเจ้าคุณโฮม นั่งกรรมฐานภาวนาอยู่เนี่ย วัดปทุมฯเนี่ยหลายครั้ง ท่านพานั่ง มาแล้วท่านพานั่ง นั่งหลายชั่วโมงนะ พานั่ง เคยมานั่งภาวนา 

ต่อมาก็เจ้าคุณโฮมก็สิ้นสังขารตายไป ได้ชักชวนญาติโยมนั่งกรรมฐานภาวนาทั้งในกรุงเทพและที่อื่นแถวจังหวัดกำแพงเพชร แถวชัยนาท เยอะแยะหลายแห่งที่นครสวรรค์ อำเภอ? ก็มีหลายแห่งที่ท่านไปสร้างวัดสร้างวา นั่งกรรมฐานภาวนาวัดเขาชายธงอันมีภูเขาอันสวยงามเย็น ฤดูร้อนก็ไม่ร้อน เขาชายธงนั่นนะ ฤดูร้อนนี่ไปนั่งลมพัดเย็นสบาย ไม่ต้องเปิดแอร์ อย่างนี้เป็นต้น หลวงตาก็เคยไปนั่งภาวนาร่วมกันกับเจ้าคุณโฮมน่ะ

ต่อมาเจ้าคุณโฮมตาย มหาถาวรต่อ ท่านมหาถาวรมาต่อ สนใจนั่งกรรมฐานภาวนา สุดนี้ก็เลยในหลวงเลยก็รู้ เลื่อมใสในการนั่งภาวนาด้วย เพราะในหลวงนั้นภูมิพลอดุลยเดชปิยมหาราชนี้ ท่านชอบนั่งภาวนา วันหนึ่งสองชั่วโมงบ้าง สามชั่วโมงก็มี ทุกวันหาโอกาสนั่งกรรมฐานภาวนา ตลอดที่สุดในหลวงนั้นท่านถือว่าเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงตาเนี่ยแหละ แต่ว่าในหลวงยอมเป็นลูกศิษย์อาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล และก็ได้สมณศักดิ์ไปจากวัดนี้แหละ พระปัญญาวิศาลเถระน่ะ ท่านเป็นเจ้าคุณ พระราชาคณะสืบมา ก็เลยสุดท้ายเนี่ยก็เลยเป็นวัดกรรมฐานกลางเมือง ป่าอุดมร่มรื่น อาตมาก็น่าปีติยินดีว่า บุญบารมีสถานที่นี้เคยมานั่งภาวนา ภาวนาจิตสงบดีเหมือนกัน ที่นี่สถานที่ภาวนามาตลอด 

ต่อมาเหตุนั้นจึงว่ายุคนี้ก็เลยเป็นหลักฐานพยาน อาจารย์มหาถาวร จิตตถาวโรเนี่ย สมชื่อว่าจิตตถาวโร ยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า และก็มั่นในการปฏิบัติกรรมฐานภาวนา อันนี้ก็ขออนุโมทนากุศลผลบุญกับท่านด้วย และก็ขอเทพเจ้าเหล่าพระธิดาภุมเทวา รุกขเทวดา ปัพพตัฏฐเทวา บุญบารมีเหล่านี้จงมาดลบันดาล ให้จิตพระมหาถาวรมั่นหนักแน่นเหมือนภูเขา ไม่หวั่นไหวต่อไปจนตลอด อันนี้เป็นความยินดี เป็นคำอธิษฐานช่วยจิตให้มั่นคงถาวรไม่หวั่นไหวในโลกธาตุ เพราะว่าผู้ใดทำดีมากมาย มันก็มากเป็นธรรมดา ทำดีมาก สร้างความดีมาก มารมันก็มากเป็นธรรมดา คลุกคลีกัน

ฉะนั้นหลวงตาก็เลยคิดจะอธิษฐานไว้ให้ใจของท่านมั่นคงเหมือนกับภูเขา ลมพัดมาท่าใดอย่าไปตามโลกตามเขา หนักแน่นต่อศีลธรรมคำสอนตลอดไปจนอวสาน ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นหน้าที่ พูดให้ฟังความเป็นมา พวกเรานี่โชคดีนะ ไม่ต้องไปไกล มาวัดสระปทุมนี่ก็ได้ มาฟังเทศน์ฟังธรรมกรรมฐานภาวนา ครูบาอาจารย์ชี้ช่องหนทาง แปลว่ามีบุญมาก มีบุญหลาย ฉะนั้นจึงว่า ทีนี้ต่อไปก็พากันตั้งใจ คำว่าฟังธรรม ฟังธรรมให้ใจอยู่ในธรรม ฟังธรรมใจอยู่ในธรรม ใจอยู่ในธรรม ใจอยู่ในศีล มันใจอยู่ในธรรม อยู่อย่างไร ธรรมคืออะไร ธรรมก็คือลม ลมก็คือธรรม วันนี้เบื้องต้นก็จะว่าอันนั้นก่อน จะว่าคนกับธาตุ

คนกับธาตุเนี่ย คำว่าคน คำว่าธาตุ มันอันเดียวกัน คนก็อาศัยธาตุ ธาตุก็อาศัยคน ปนกันอยู่ คำว่าธาตุคือดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ฉะนั้นคนกับธาตุเนี่ยมาที่เดียวกัน คนอาศัยธาตุ ธาตุก็อาศัยคน เหตุนั้นผู้ไม่มีปัญญาจึงมาหลงธาตุ มายึดมั่นถือมั่นอยู่ในธาตุในขันธ์เนี่ย มาหลงใหลใฝ่ฝันว่าธาตุเป็นของเราแท้ คือธาตุดินเป็นของเรา เช่นผม ขน เล็บ ฟัน เนี่ย ถือว่าเป็นของเรา ถือธาตุน้ำว่าเป็นของเรา ถือธาตุไฟว่าเป็นของเรา ถือธาตุลมว่าเป็นของเรา ตลอดที่สุดถือว่าวิญญาณนี่เป็นของเรา อากาสธาตุ วิญญาณธาตุเนี่ย คนกับธาตุมันมาจากที่เดียวกัน จึงว่าคน มันปนอยู่หลายอย่าง ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ เนี่ยเหตุนั้นผู้ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญา ไม่มีวิชา ไม่มีศรัทธา จึงไปยึดถือคนนั่นแหละ ยึดถือคนก็ยึดถือก้อนธาตุคือ ดิน น้ำ ไฟ ลมเนี่ยแหละ 

ฉะนั้นทางพุทธศาสนานั้น เพิ่นให้มาแยก คือเบื้องแรกก็ทำให้เป็นสมถะก่อน จิตตั้งมั่นนั่นแหละ ทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมถะก่อน เรียกว่าลมเข้าพุทโธก็รู้ ลมออกพุทโธก็รู้ แล้วก็ปล่อยวางสัญญาต่างๆภายนอกหมด ไม่เอาอะไร เป็นแต่เพียงกำหนดรู้อย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่นว่า เราหลับตาแล้วไม่เห็นอะไร มีแต่รู้อย่างเดียว นั่นตัวรู้น่ะ ตัวผู้รู้คือใจ แต่ว่ามันรู้ ตัวรู้นี่แหละ มันรู้ธรรมดากับสัญญา สัญญากับวิญญาณ มันรู้ยึดรู้ถือ รู้ว่าเราว่าเขา ว่าตนว่าตัว ว่าดีว่าชั่ว มันก็เลยเป็นทุกข์ มันรู้ยึดรู้ถือ เป็นอวิชชา 

ฉะนั้นเรานั่งหลับตาแล้ว ไม่เห็นอะไร มีแต่รู้อย่างเดียว มีแต่รู้ แต่เราก็มายึดถือตัวรู้เนี่ยหละ ตัวรู้คือนามคือใจนั่นน่ะ คือวิญญาณ วิญญาณมันก็รู้ รู้ยึดรู้ถือ รู้รักรู้ชัง รู้ว่าอันนั้นสิ่งนี้เป็นของเรา คือดวงวิญญาณ จักขุวิญญาณว่าตาเป็นของเรา โสตวิญญาณว่าหูก็เป็นของเราอีก ฆานวิญญาณถือว่าจมูกก็ว่าเป็นของเรา ชิวหาวิญญาณ ลิ้น เป็นของเรา เป็นเช่นนี้ ชิวหาวิญญาณถือว่าลิ้นในปากถือว่าเป็นของเราอีก กายวิญญาณถือว่ากายเป็นของเราอีก มโนวิญญาณก็ถือว่าใจเป็นของเราอีก นี่มันรู้เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ว่ารู้อันนี้มันเป็นรู้ยึดรู้ถือ รู้โลภ รู้โกรธ รู้หลง รู้แต่มันละไม่ได้ รู้แต่วางไม่ได้ 

เมื่อรู้ปล่อยวางไม่ได้ มันก็ไม่มีความสุข เหมือนเราหาบ หาบไม่มีที่วาง ตายหละ หลังคดตาย หาบวางไม่เป็น วางหาบไม่ได้ มีแต่หาบเรื่อยก็เป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป หัดวาง หัดละ หัดปล่อย หัดวาง เมื่อวางหาบเมื่อใดได้ เราก็เป็นสุขสบาย เหมือนเราหาบของหนักๆ ไปถึงที่ร่มไม้ก็ปล่อยวางหาบออกจากบ่าของเรา นั่งอยู่ใต้ร่มไม้ ต้นโพธิ์ต้นอะไรก็ตาม ลมพัดมันเย็นสบาย ใจของเราวางหาบหมด รูปร่างทุกอย่างหาบภาระทางโลก หาบวางหมดเพราะเรามองเห็นแล้วว่า เราเกิดมาก็เกิดมาคนเดียว แก่คนเดียว เจ็บคนเดียว ตายคนเดียว เกิดมาก็มาคนเดียวไม่ได้อะไรซักอย่าง เกิดมาคนเดียวแต่ตายก็คนเดียว เจ็บปวดทุกขเวทนา เราก็เจ็บคนเดียว คนอื่นจะมาช่วยไม่ได้ เอามาให้ก็ยาแก้กิน บางทีก็ระงับได้ชั่วครู่ชั่วคราวก็เกิดขึ้นอีก 

ฉะนั้นสุดท้ายเราทุกคนๆที่เกิดมา ที่มาน่ะมันได้ แต่ไปไม่ได้ มาได้อะไร คือทุกคนๆได้มา กรรมมา คนเราทุกคนมันกรรมทั้งนั้นแหละ เกิดมาบุคคลใดจะไม่มีกรรม ไม่มี นอกจากผู้ที่มีบุญ พระพุทธเจ้านั่นหละ เกิดมาไม่มีกรรม นอกนั้นเกิดมาแล้วก็กรรมทั้งนั้น แต่ว่าช้าหรือเร็ว เกิดมากำ กำมือทั้งสองมือเลย แล้วค่อยแบทีหลังออก หลายวัน บางคนก็หลายวัน บางคนนี่ไม่ยอมแบ แม่เอาน้ำมันมาทา ดังนิ้วมือออก มันยืดแล้วมันกำเข้าอีก มาทาอีก นี่เพิ่นว่าคนพวกนี้มันหนาน่ะ หนา ยึดมั่นสำคัญ หนา เมื่อเวลาทำความชั่วก็ไม่ยอมละ ว่าถึงไม่ดีก็ไม่ยอมละ มันกำอยู่นั่นแหละ 

ถ้าผู้ใดบางคนเกิดมาไม่ทันสองวัน แบเลย ไม่ต้องแม่เลย แบเลย เราทุกคนๆกำมาทั้งนั้น เบื้องซ้ายก็กำ เบื้องซ้ายกำบาป เบื้องขวากำบุญ บางทีมันเบื้องขวากำบาปนะ กำบาปมากกว่ากำบุญ ฉะนั้นชวนไปทำบุญยาก ติดนั่นติดนี่ แต่ว่าไปดูลิเกละครหรือไปนั่งเฉยๆคุยกันนี่ สามชั่วโมงก็ไม่ว่าอะไร แต่ว่านั่งภาวนาฟังเทศน์ฟังธรรมนี่ บางคนนี่ ๓๐​ นาที ๔๐ นาทีก็สู้ไม่ไหวแล้ว เนี่ยคนเรามันโง่ ความโง่ความหลง ความมืดความดำ อย่างนี้เป็นต้น เพราะไม่รู้จักแก้ ไม่รู้จักเอาชนะเจ้าของ

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้หาอุบายชนะเจ้าของน่ะเป็นเลิศ ท่านว่า อตฺตา หเว ชิตํ เสยโย ชนะตนนั่นแหละดีที่สุด ชนะคนอื่นหมื่นแสนก็ไม่มีความหมาย ชนะตนนั่นเลิศที่สุด พระพุทธเจ้ามีพระยาองค์หนึ่งไปสู่สงครามมา ชนะสงครามดีใจ เอ้ย! พระพุทธเจ้าว่า ชนะทางนอก ชนะทางนอกย่อมก่อเวรก่อกรรม แล้วก็ไม่พ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าว่าสู้ชนะตนไม่ได้ ผู้ใดชนะกิเลสได้ผู้นั้นเป็นผู้ชนะอันเลิศ อย่างโยมมาวันเนี้ยแปลว่าเราชนะ นอนอยู่ในบ้านดูโทรทัศน์ เหยียดแข้งเหยียดขา จะกินอะไรจะโกยอะไรก็ตาม จะมามันต้องมีระเบียบ อดทน นั่งเป็นระเบียบ พูดก็ไม่ได้พูด ไม่ต้องพูดต้องคุย สนทนากันเล่นว่ากันเล่น นั่งก็มีเรียบร้อย จะนั่งปรัมประไม่ได้ นั่งเรียบร้อยอดทนต่อสู้ นี่แปลว่าเราชนะตนมา เราชนะน้อยๆ ก็ยังมีประโยชน์มีคุณค่า ดีกว่าเราปล่อยไปตามประสาใจของเรา 

เพราะใจนั้นหาสาระแก่นสารไม่ได้ วันหนึ่งมันคิดกี่ปะทะก็ไม่รู้ คิดเรื่องดีคิดเรื่องชั่ว คิดเรื่องภายนอกทั้งนั้นแหละ จะเข้ามารู้เจ้าของนี่ไม่ค่อยมี ฉะนั้นถ้าไม่รู้เจ้าของ ไม่ดูตัวร่างกายของเราก็แปลว่าคนนั้นไม่เข้ามาหาธรรม เพราะธรรมก็คือรูปร่างกาย รูปธรรมนามธรรมเนี่ย ตัวเราเป็นก้อนธรรม ก้อนทุกข์ก้อนธรรม มาเห็นทุกข์เห็นภัยในการมาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย ทุกข์ยากลำบาก อย่างที่เราเงินลอยหรืออะไรซักอย่าง ทุกลำบากตรากตรำ เงินไม่พอไม่มีสตางค์ใช้ขาดทุน ทุกข์ลำบากตรากตรำวุ่นวะวุ่นวายอย่างนี้เป็นต้น ทรมานทนทุกข์

ถ้าเราเกิดอยู่นี่ก็ทนทุกข์ต่อไปอีก เพราะสัตว์ทั้งหลายที่จะหันเข้ามาหลับตาดูเจ้าของ พุทโธรู้เจ้าของ ธัมโมรู้เจ้าของ ตัวของเราเนี่ย ยาก มันรู้แต่ภายนอก คนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น คนว่าดีก็ชอบ คนว่าไม่ดีก็เกลียดชัง อย่างนี้เป็นต้น นี่เพิ่นว่ามันไม่เที่ยง เหตุนั้นทางพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสียสละทาน จาโคจาคะนั่นน่ะ จึงว่า ทาเนนะ สุคะติง ยันติ ท่านว่าบุคคลสละได้ สละทาน เช่นว่าวันนี้เราทานได้ เคยไปเที่ยวเข้าบาร์ หรือไปสุรานารีก็ทานหมด ทานเข้าซะ ทานแปลว่าเสียสละ ทาน เราเคยไปเที่ยวกับเพื่อนกับฝูงสนุกเฮฮาม่วนไปชั่วครู่ชั่วคราวรอวันตาย เราก็ทานซะ นี่เราทานเสียสละจึงได้มานั่งกรรมฐานภาวนาเนี่ย เมื่อจิตสงบก็เป็นสุขจริงๆ ทาเนนะ สุคะติง ยันติ เพิ่นว่า ทาเนนะ โภคะสัมปะทา 

เมื่อมีศีลมีธรรมแล้ว มันก็เป็นคู่กันมา เมื่อมีศีลมีธรรมมันก็มี เพราะเป็นอริยทรัพย์ ศีลเป็นอริยทรัพย์ ทานก็เป็นอริยทรัพย์ เมื่อมีอริยทรัพย์แล้วโภคทรัพย์มันก็เกิดขึ้น เมื่อไม่มีอริยทรัพย์ โภคทรัพย์มันก็ไม่เกิด อย่างนี้เป็นต้น​ ฉะนั้นจึงว่า ทาเนนะ สุคะติง ยันติ ทาเนนะ โภคะสัมปะทา บุคคลเสียสละการให้ก็นำมาซึ่งความสุข บุคคลสละการให้ชั้นสองขึ้นมาอีก ก็เป็นความสุขรวยขึ้นมา เพิ่นว่า ให้ทานแล้วมีความสุข ให้ทานแล้วมีความสบาย ให้ทานแล้วดับทุกข์ได้ คือทานหมด ทานหมดไม่เอาอะไรซักอย่าง

แต่เดี๋ยวนี้คนมันเอา ถ้าเอามันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่เอามันก็สบาย ฉะนั้นส่วนการให้ทาน ให้ทาน รักษาศีลภาวนา ทำคุณงามความดี ให้เอาศีลเอาธรรม มันก็ยังทุกข์อยู่เพราะเอาอยู่ ยังหาบอยู่ บัดนี้ไม่เอาอะไรซักอย่าง ปล่อยวางหมด เป็นแต่เพียงกำหนดรู้ดูใจของเราอย่างเดียว ใจของเรา ดูมันมีพุทโธมั้ย มีพุทโธหรือไม่ตั้งอยู่ในพุทโธ พุทโธลมเข้าก็รู้ พุทโธลมออกก็รู้ ถ้าใจมั่นอยู่ในพุทโธในลมเป็นหนึ่ง มันก็เย็นสบาย ลมนั้นน่ะไม่เจ็บแข้งเจ็บขา ไปถามมันเถอะ ลมเอ๋ย เจ้าเจ็บแข้งเจ็บขามั้ย เจ้าทุกข์มั้ย มันไม่ทุกข์นะ ลมเขาไม่ทุกข์ เขาไม่เดือดร้อน แล้วเขาก็เย็นสบาย 

ฉะนั้นเมื่อใจของเรารวมอยู่ในลมเป็นหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเอกัคคตารมณ์นั่นแหละ จิตเป็นหนึ่งสงบแน่วแน่ มันเย็นสบาย นี่ก็เพราะการให้ของเรา ถ้าเราไม่เสียสละทาน ไม่ให้ อย่างที่ว่าให้สมบัติโลกหมด ไม่เอา เพราะสมบัติโลกนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอนดั่งที่เราประสบอยู่ ต่อไปไม่ใช่แค่นี้ มากขึ้นกว่านี้อีก มากขึ้นกว่านี้อีก นี่พอดีเราก็จะตายจากมันไป ตายก็ไม่ว่า แต่ว่าตายด้วยไม่ได้ทำคุณงามความดีมันก็ไม่มีความหมาย 

ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า คนมีอายุยืนตั้งหมื่นปี แต่ไม่มีการสร้างคุณงามความดี ให้ทาน รักษาศีล เจริญกรรมฐานภาวนาก็ไม่มีความหมายในชีวิตที่ยืนยาวนั้น มาแต่เพียงมาทนทุกข์ทรมาน หาอยู่หากินหาอยู่ บ่ได้กินก็จะตาย กินแล้วไม่ได้ถ่ายก็จะตาย เป็นทุกข์ มีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้นเดือดร้อน ร้อนก็จะตายมันทุกข์ หนาวก็จะตาย มันทุกข์ มันยังอย่างอื่น โรคภัยอย่างอื่นเกิดอีกเยอะแยะมากมายก่ายกอง ทนทุกขเวทนา ความแก่ก็ตีโจมตีเข้าไปทุกวันๆ ความเจ็บก็ไล่เข้าไปทุกวันๆ ความตายเราก็เดินไปสู่ความตายทุกวัน ทุกนาที ทุกชั่วโมง ตายเข้าโลงอ้าปากก็หวอ เอาไปเผาก็เป็นขี้เถ้าหมด บ่มีอะไรได้ซักอย่าง บ่มีผู้ใดได้ ว่านั่นเราได้ ว่านี้เราได้ สุดท้ายไม่มีผู้ใดได้ เกิดมายังได้ร่างกายสังขาร ขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง มาเลี้ยงมัน ทนทุกขเวทนา ให้กินดี ให้นอนดี ให้อยู่ดีขนาดไหนก็ตาม มันก็ไม่ยินดีกับเรา มันก็แก่ไปทุกวัน เจ็บไปทุกวัน ตายไปอย่างนี้เป็นต้น ไม่ยินดีที่เราทนทุกขเวทนา หาอยู่หากินมาเลี้ยงก้อนสังขาร ก้อนธาตุ คือตัวของเรานี่แหละ ก้อนคน ก้อนธาตุนี่ทนทุกขเวทนา 

เหตุนั้นทางพุทธศาสนาจึงว่า ตัวธาตุกับตัวคน คนกับธาตุมันก็อันเดียวกัน เพราะเรามายึดถือก้อนธาตุเนี่ยแหละ ว่าเป็นตนเป็นตัว เป็นเราเป็นเขา คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เช่นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก น้ำลาย น้ำเลือด น้ำหนอง ผุพองเปื่อยเน่าเวลาเป็นบาดเป็นแผล ความร้อน ความเร่าร้อน ความร้อน ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย ไฟยังกายให้ทรุดโทรมอย่างนี้ ไฟยังกายให้กระวนกระวาย ไฟให้อุ่นอยู่ได้พอเป็นสุขคราวหนึ่งๆ มันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เกิดเดี๋ยวก็ดับได้ อย่างนี้เป็นต้น 

แต่เรามาถือว่าอันนี้เป็นของเรา ก็แปลว่าถือสมบัติของธาตุว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นทุกข์บ่เน่ ฉะนั้นเมื่อเราปล่อยลงไปเป็นธาตุจริงๆชื่อว่า ผม ขน เล็บ ฟันเนี่ย เมื่อมันไปอยู่ในหน้าแผ่นดินอยู่เนี่ย เราก็ไม่ได้ยึดถือว่า ไม่รักมัน ไม่หลงมัน รังเกียจมันเสียด้วย เมื่ออยู่ในศีรษะก็ว่างาม เอาออกไปแล้วก็ทิ้ง บางคนเอาไปทิ้งไปเผาไฟ ฟันก็เหมือนกัน หนังก็เหมือนกัน ออกไปจากตัวแล้วก็ไม่มีความหมายอะไร ไม่มีที่ไหนเป็นคน ที่ไหนเป็นสัตว์ ไม่มี เลือดหนังออกไปหมด ไปกองไว้ เลิกหนังออก ตัดนิ้วตีนนิ้วมือออกไปเป็นท่อนๆ อยู่ใครอยู่มันแยกออกไป ธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม แยกออกไป กระจายออกไป ตัวตนคนสัตว์ก็ไม่มี ไม่มี เป็นแต่เพียงก้อนธาตุ 

เราอาศัยก้อนธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมนี่มาเกิด มาอยู่มาอาศัย เหตุนั้นเราจึงมายึดถือในก้อนอันนี้ ก้อนธาตุข้างนอก ก้อนธาตุข้างใน ที่ในทางพุทธศาสนา เพิ่นเทศน์ไว้ในกุสลา มาติกา ว่า หีนา ธัมมา มัชฌิมา ธัมมา หรือว่า อัชฌัตตา ธัมมา พะหิทธา ธัมมา ดินภายนอก ดินภายใน ดินภายนอกเพิ่นว่าได้แก่พื้นแผ่นดินที่เราอาศัยนี้ก็เป็นที่อาศัยชั่วครู่ชั่วคราว ดินภายในคือร่างกายของเรา กว้างศอก ยาววา นี่เป็นก้อนดิน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นก้อนธาตุ 

เมื่อเรามารู้เห็นว่าเป็นก้อนธาตุจริงๆ ตามหลักพุทธศาสนาว่า เพิ่นว่าวิปัสสนา วิปัสสนานี่แปลว่า ฝืน ฝืนธรรมชาติ ฝืนประสาของโลก ฝืนโลก ผ่าโลก คือโลกเขาว่า โลกนี้มีความสุขความสบาย ทางพุทธศาสนาว่า ไม่สุข มีแต่เรื่องทุกข์ สุขที่ไหนลองดูซิ บ่ได้กินก็เป็นทุกข์ บ่ได้นอนก็เป็นทุกข์ กินแล้วบ่ได้ถ่ายก็เป็นทุกข์ ถ่ายแล้วไม่ได้กินก็เป็นทุกข์ มองไปมันมีความทุกข์เลยเพิ่นว่า มหาทุกข์ มหาธาตุ 

แต่ว่าเราสำคัญมั่นหมายว่าเพราะความหลงของสัตว์ ความหลงของคนจึงได้ก่อกรรมก่อเวร ทำบาปทำกรรมยึดถือ มาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย ทุกข์ยากลำบาก ทนทุกขเวทนาอยู่นี่ พระพุทธเจ้าก็นิพพานแล้ว เข้ามาองค์ใดก็ยังไปไม่ได้ ยังมาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย มาทุกข์ยากลำบากตรากตรำ ทนทุกขเวทนาหละ ตลอดที่สุดต่อมาอย่างที่ว่ามาเกิด เกิดขึ้นมา มีเหตุต่างๆ โลกมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน เกิดอย่างนั้น เกิดอย่างนี้ ทุกอย่างมันจะต้องเกิด มันจะต้องเป็นไปตามกระแสของโลกตามอยู่ในโลก ฉะนั้นสมบัติในโลกมันก็อย่างนี้แหละ สมบัติในโลกมันก็มีภัยอยู่ห้าหกอย่าง หนึ่ง อัคคีภัย โจรภัย ราชภัย อุทกภัย วาตะภัย ทุพภิกขภัย แห้งแล้ง วินาศภัย แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม แผ่นไหว ตายกัน แผ่นดินที่ว่าหนักแน่น ๒๔๐,๐๐๐ โยชนะ มันก็ไม่หนักแน่น ไม่เที่ยงแท้แน่นอน(เทปขาดตอน)

มีศีลมีธรรมมานั่งกรรมฐานภาวนาอย่างที่พวกเรามานั่งในวันพระนี่ แปลว่าคนมีปัญญา คนมีศรัทธา เสียสละสมบัติของโลก สมบัติของโลกนี่ขี้ทุกข์ขี้ยาก มีมากก็ทุกข์มาก มีน้อยก็ทุกข์น้อย สมบัติของโลกนี้ สมบัติขี้ทุกข์ขี้ยากจริงๆเสียด้วย แย่งกันอยู่ แย่งกันกิน แย่งกันกินแย่งที่กันอยู่ แย่งคู่กันสวาท เอาละตีกัน รักกัน ฆ่ากัน วุ่นวะวุ่นวาย นี่สมบัติขี้ทุกข์ขี้ยาก พระพุทธเจ้าเพิ่นว่าไว้นะ นี่พระพุทธเจ้าเพิ่นว่าไว้ เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึง ไม่เอาหละ กูไม่เอ้าแล้ว พระพุทธเจ้าว่า เขาให้เป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นจักรพรรดิ เพิ่นก็ไม่เอา เป็นพระราชาก็ไม่เอา ให้เป็นจักรพรรดิอีก อย่าเพิ่งบวชเถิด เป็นพระราชาเป็นจักรพรรดิ มีอำนาจวาสนา พ่อก็ยินดีพอใจ ตระกูลก็ยินดีพอใจ แต่พระองค์ไม่เอาแล้ว สมบัติขี้ทุกข์ขี้ยาก มีก็ยิ่งทุกข์มาก 

เหตุนั้นต่อมาพระองค์ก็เสียสละ ออกไปบวช ไปบวชอยู่กับดินกินกับหญ้า เอาท้องฟ้าเป็นหลังคา เอาแสงอาทิตย์พระจันทร์เป็นไฟส่องไปมาในป่าในเขา สุดท้ายก็ไปนั่งภาวนาอยู่พื้นต้นไม้ ไม่มีอะไร พื้นต้นไม้ นั่งอยู่บนพื้นต้นไม้ เปล่งวาจาว่าสุขหนอๆๆๆ

ทีนี้สงฆ์ทั้งหลายก็เข้าใจผิด คิดว่าพระพุทธเจ้าห่วง ห่วงปราสาทราชว้ง ห่วงพิมพาราหุล ว่าเราอยู่เป็นสุข สงฆ์ทั้งหลายก็สงสัยอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ก็เลยสนทนากัน พระพุทธเจ้าเพิ่นก็อยู่ไกลอย่างเชียงใหม่นั่นน่ะ เพิ่นก็มาทันที มาแล้ว ไม่ใช่ ไม่จริง ไม่เป็นอย่างนั้น เราอยู่ในปราสาทราชวังเป็นทุกข์ เราออกมาไม่มีอะไรเป็นสุข เราไม่มีอะไรซักอย่าง ไม่กลัวเขาฆ่า ไม่กลัวเขาตี เพราะไม่มีอะไรสมบัติ ไม่กลัว ไม่มีสมบัติ มีแต่รูปร่างกายที่ก็ต้องตายเน่าเป็นเถ้าเป็นถ่าน ท่านไม่มีอ้ะ ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ​ ไม่มีความหลง ไม่มีความรัก ไม่มีความชัง ไม่มีความห่วง ความอาลัยในปราสาทราชวัง บริวารตั้ง ๕ ๖ หมื่นคน บริวารตั้ง ๕ หมื่น ๖ หมื่นคนน่ะ สนมน่ะ รูปหล่อๆทั้งนั้น ไม่เอา มันบ่พ้นทุกข์ มันมาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย ทุกข์ยากลำบากตรากตรำอยู่นี่ มันไม่มีที่สิ้นสุด เพิ่นมองเห็นจากตรงนี้จึงได้ตัดสินใจ 

เนี่ยการเสียสละที่ว่า ทาเนนะ นิพพุติง ยันติ เพิ่นว่า ทานหมด พิมพา ราหุล ปราสาทราชวัง ทานหมด มันก็เลยปลดทุกข์ได้ ทาเนนะ นิพพุติง ยันติ 

ศีลก็เหมือนกัน ศีลแปลว่าบุคคลที่มีศีลก็มีความสุข เพราะศีลนั้นมีความสุขอย่างใด มีความสุขคือว่า ศีลกับตัวสติมันอยู่ในวงอันเดียวกัน มีสติลมเข้าพุทโธก็รู้ มีสติลมออกก็รู้ พุทโธๆ ใจอยู่ในลมเป็นหนึ่ง เนี่ยหละศีลตั้งแล้ว นี่มันตั้งอยู่ในศีลนะ ตัวศีลคือรูปร่างกายของเรา กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี่ นี่เป็นก้อนศีล ถ้าใจอยู่ในศีลเนี่ย ไม่ไปหมายสำคัญมั่นว่าเป็นตนเป็นตัว เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นนี่เป็นโน่น ใจมันมั่นอยู่ในตัวของเราเนี่ย ตั้งระลึกรู้อยู่เนี่ย มันก็เป็นสุขสบาย เป็นสุขเย็นสบาย 

นี่แหละ บุคคลที่มีศีลแล้ว ดับ ศีลแปลว่าตัด ศีลแปลว่าดับ ศีลแปลว่าเย็น ตัด ตัดสิน ศีลอย่างสูงก็ตัด แปลว่าตัดน่ะศีลน่ะ ตัดอะไร ตัดความโลภ ตัดความโกรธ ตัดความหลง ตัดความรักความชังออกจากใจได้หมด ก็สบาย ศีลแปลว่าตัด ตัดสิน เหมือนเราทางนอกตัดสินไม้เป็นท่อนๆ เอามาทำหลัวทำพื้น นี่เป็นต้น ตัดมันขาดเป็นท่อนๆๆ หมด ตาย ศีลแปลว่าตัด ฉะนั้นบุคคลที่จะมีศีลต้องตัด ถ้าไม่ตัดมันก็ติดอยู่นี่แหละ นโมแปลว่านโมตัสสะ นโมตัสสะ พระพุทธเจ้าก็ให้ตัด แต่ว่านโมของเรามันเป็น นะโมติดสะ ไปติด 

บางทีภาวนาพุทโธๆก็โผล่ไปติดหลานอีกแล้ว ภาวนาพุทโธๆ ไปติดลูก ภาวนาพุทโธๆก็ไปติดอยู่นั่น ไปติดอยู่นี่ นี่เพิ่นว่า ใจมันติด ใจมันติด ใจมันข้อง ใจมันคา ฉะนั้นในทางพุทธศาสนานั้น เพิ่นให้มาทำใจให้มันซื่อ ซื่อตรง อุชุปฏิปันโน เนี่ยทำให้ใจซื่อตรง สุปฏิปันโนแปลว่าปฏิบัติดี ดีเพราะมีสติรู้ลมเข้ารู้ลมออก ทำให้ใจตรง ถ้าใจมันตรงมันซื่อ เหมือนเล็บเราลากเหล็กเส้นหนึ่งมันซื่อมันตรง ลากไม่เถอะ มันไม่ติดที่ไหน ถ้าเหล็กมันงอเป็นขอขึ้นมานะ ลากก็ไปติดนั่น ลากก็ไปติดนี่ เนี่ยจิตมันคดมันงอเหมือนขอ เหมือนเราจิตมันคด ลากไปก็ไปติดลูกติดหลาน ติดทุกอย่าง เลยไปไหนไม่ได้ พญามัจจุราชก็หยิบคอไปซะ ตายไปเลยอย่างนี้เป็นต้น ไม่ได้อะไรซักอย่าง สุดท้ายก็หมดแค่กองไฟ 

เพราะเราทุกคนๆเนี่ย มีหลวงตาเป็นต้น มันหมดไปน่ะสมบัติของโลก ข้าวไม่รู้กี่กระสอบแล้วเรากินไปนี่น่ะ หมดไปๆ ปลาทูปูเค็มไม่รู้กี่เข่งแล้ว กินเข้าไป หมดไปๆ ถ่ายออกไป หมดไปๆๆ สุดท้ายก็ไปตายหมดแค่กองไฟ เผาเป็นขี้เถ้า เตสํ วูปสโม สุโข (ความสงบระงับแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข จากคาถาบังสุกุลตาย) หมดแค่นั้นน่ะ สมบัติโลก มันไม่มีที่ไหนหรอกสมบัติโลก ความสุข ความสบาย ความรื่นเริงก็อยู่ในโลกนี่ ตายแล้วก็หมด ความรื่นเริงลุ่มหลงใหลในโลกนี้เท่าใดที่เราเพลิดเพลินเหมือนพวกที่ว่าวันอาทิตย์ไม่เข้าวัดเข้าวานั่นน่ะ ม่วน มันจะไปม่วนหม้อนฮก (นรก) น่ะหลายแสนปี มันไปม่วนหม้อนฮก 

คนบ่มีบุญมันก็ไปบาป เหมือนคนจนมันก็ไม่เงินก็ว่าคนทุกข์ คนมีแล้วมันก็หายทุกข์ คนไม่มีบุญมันจะไปไหน มันก็ไปสู่บาป ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นความเพลิดเพลิน ความม่วนอยู่ในโลกนี้เท่าใด จะไปทุกข์เศร้าโศกร้องไห้เสียใจในหม้อนฮกก็เท่านั้นแหละ หรือมากกว่านั้นสามเท่า สามเท่านะ สามเท่า ไปร้องห่มร้องไห้ ไม่ได้กินข้าวกินเปล่า เป็นทุกขเวทนาอยู่ในหม้อนฮกน่ะ เป็นทุกขเวทนา หายหลงกินหลงนอน หลงกินหลงนอนอยู่แค่กินแค่นอน ตายก็ไปหม้อนฮก เป็นนรกหนอน ตัวใหญ่เท่าขานี่หละ หนอนไม่ใช่ตัวน้อยนะ ไม่ใช่หนอนเมืองมนุษย์ตัวน้อยนิดเดียว หนอนเมืองนรกตัวใหญ่เท่าขา เท่าคนเนี่ย 

พ่อเพิ่นอาจารย์แว่น พ่อหลวงปู่แว่น ธนปาโล ไปตกหม้อนฮกเป็นหนอนอยู่ตั้งหลายปี ตกนรกเป็นหนอนอยู่ตั้งหลายปีนะ ตั้งเกือบยี่สิบปี สุดท้ายท่านอาจารย์แว่นมาบวชเจริญกรรมฐานภาวนากับหลวงปู่มั่น กับพระอาจารย์?แล้วก็มาหาหลวงปู่มั่นนั่งกรรมฐานภาวนาจนได้ศีลได้ธรรมดี จนพรรษาที่ ๑๖ เพิ่นบวชอายุ ๑๙ พรรษาที่ ๑๖ ถึงได้ไปโปรดพระบิดาของท่าน ตายไปตกนรกเป็นหนอน นรกหนอนตัวใหญ่ทนทุกขเวทนาอยู่นั่นแหละ ท่านไปโปรด เอ้อ พ่อเอ้ย มาตกนรกหมกไหม้ ขออนุโมทนากุศล ลูกเข้ามาบวชในพุทธศาสนา มั่นอยู่ในศีลเด้อ ให้ยินดี ต่อจากนั้นมาพระอาจารย์แว่นก็ทำบุญบังสกุลให้ปีนึงสามครั้ง สามครั้งก็มี สี่ครั้งก็มี กลัวพ่อบ่พ้นทุกข์ สามปีจึงพ้นได้ ว่าอย่างนี้ พ้นหม้อนฮกได้ 

เนี่ยการหลงกินหลงนอน เล่นละครลิเกนั้นน่ะ บ่ได้หาโอกาส ว่านั่นเป็นของดี ดีจริงๆแหละ แต่มันดีอยู่ในโลก ความดีอยู่ในโลก ความพอใจอยู่ในโลก ไปเสียใจอยู่ในหม้อนฮก โอ้ย ถ้ากูรู้อย่างนี้ กูก็ไปรักษาศีลแล้ว มันแก้ไม่ได้ มันตายไปแล้ว ตายไปแล้วมันไปแก้บ่ได้บนหม้อนฮก เมืองเปรตเมืองผีมีแต่เสวยกรรมนั่นแหละ บ้านเคยอยู่ก็ไม่ได้อยู่ บ่มีบ้านอยู่ บ่มีที่กินที่อยู่ที่นอน เห็นมั้ยเปรตมีบ้านมั้ย ไปเห็นเปรต ไปรู้เปรต บ่มี เปรตผีบ่มีบ้านบ่มีช่อง เดินไปตามถนน ตามทางสามแพร่ง สี่แพร่ง อะไรซักอย่าง แย่งกันกินด้วย 

วัดสำราญนิวาส ชื่อไอ้แดง มันทำทานแล้วผีเปรตมาแย่งกินโม๊ด บ่ได้กินซักชิ้น ผีเปรตเป็นพันตัวน่ะ มันทำทาน แล้วผีเปรตมาแย่งกินมันก่อนหม๊ด บ่ได้กิน ทนทุกข์บ่ได้พ้น สุดท้ายมันก็เลยสงสาร บอกให้แม่มันให้มาทำบุญวัดสำราญเด้อ เอาแบ่งอาหารให้ ไปฝั่งถนนสามแพร่ง อย่ามาแย่งกันนะ ของใครของมัน แยกให้เปรตพวกหนึ่งไปฝั่งไว้ถนนสามแพร่ง สามแยก บอกให้มันอย่ามาแย่งกัน สุดท้ายวันนั้นก็เลยทำตามที่มันมาบอก มันก็เลยกินอาหารทิพย์​ปรึ๊ด หนีไปเลย พ้นไปเลย บ่มาบอกอีกต่อไป เนี่ยเป็นอย่างเนี้ย เปรตผีอ้ะ บ่มีบ้านอยู่ บ่มีที่อยู่ที่กิน เคยนอนไม่ได้นอน เคยกินไม่ได้กิน เคยอยู่ไม่ได้อยู่ นี่เป็นอย่างนี้พวกเปรตผีเพิ่นว่า สัมภะเวสีหรือว่าจิตเร่าร้อน บ่มีหลักบ่มีฐานบ่มีบ้านอยู่

ฉะนั้นที่พวกเราทั้งหลายพากันรักษาศีล ๕ นี่แปลว่าเราสร้างบ้านนะ สร้างบ้าน บ้านใจก็คือรูปร่างกายสังขาร บ้านใจก็คือศีลนั่นแหละ ศีลเนี่ย ศีล ๕ เปรียบเหมือนเรามีบ้านห้าหลังห้าห้อง บ้านห้าหลังน่ะศีล ๕ เปรียบเหมือนเรามีบ้าน สร้างบ้าน ๕ หลัง ห้าหลังนี่ก็อยู่ได้สบายหละ ศีล ๘ เท่ากับสร้างบ้าน แปดหลัง ห้าห้องอันนี้แปดห้อง มันมีแปดห้อง เราอยู่ซักสามห้อง ห้าห้องให้คนเช่าก็ยังได้ นี่มีบ้านอยู่ ฉะนั้นเรามาทำนี่สร้างบ้านให้เจ้าของอยู่ สร้างปราสาท สร้างวิมาน บ้านใจ บ้านใจก็คือศีลนั่นแหละ บ้านใจก็คือรูปร่างกาย กายมาอาศัยรูปร่างกาย แต่ว่าอันนั้นเป็นบ้านของใจชั่วคราว ส่วนบ้านของใจจริงๆก็คือศีลนั่นแหละ ท่านว่าปราสาท ฉะนั้นที่เรามีศีลก็แปลว่าเรามีปราสาทเป็นที่อยู่ บ้านมีศีล 

คนไม่มีศีลก็คนไม่มีบ้านอยู่ คนไม่มีศีลก็เปรียบเหมือนคนไม่นุ่งผ้า เปลือยกาย เปรตมันเปลือยกายเพราะมันไม่มีศีล ทำไมบอกไม่นุ่งผ้า บ่มีศีล ไปขโมยผ้าเขา ไปหลอกเขา นี่เป็นต้น ไม่มีผ้านุ่งผ้าห่ม เปลือยกายเพราะมันบ่ได้ทาน บ่มีศีล ขโมยเรื่อยไปนั่นน่ะ ขโมยพ่อด้วยขโมยแม่ด้วย เผลอไม่ได้ 

อานิสงส์อทินนานี่บาปมากที่สุด บาปมากกว่าเขาหมด อานิสงส์อทินนานะ บาปมากกว่าเขาหมด ภัยแห้งภัยแล้งก็เพราะบาปอทินนา เกิดโจรแย่งชิงกันก็เพราะบาปอทินนา เกิดราชภัยก็เพราะบาปอทินนานั่นแหละ บาปมากอทินนาน่ะ น้ำท่วม ลมพัดพังก็เพราะบาปอทินนา เกิดแห้งแล้ง ทุพภิกขภัยก็เพราะบาปอทินนา เป็นหัวหน้าหมู่นะ เป็นเปรตพวกเนี้ย เปรตพวกอทินนานะ มันแสดงขึ้นว่ามือเนี่ยเป็นเปรตน่ะ มือก็กำ บ่แม่นแบนะ ไปอยู่เมืองเปรตเมืองผีพวกอทินนานะ เปรตอทินนานี่ มือมันบอกให้กำ กำอยู่นี่นะ เอาเข้าก็ไม่ได้ เอาออกก็ไม่ได้ เดินโซเซๆ เดินก็เดินเอาปลายตีนเดิน ขยิกๆ ย่างสนั่นฟั่นฟื่นเป็นหมื่นเป็นแสน ชอบทำกรรมอันหยัง อทินนาคร้าบ เป็นเปรตเป็นผีทุกขเวทนา พวกอทินนาเยอะ บาปมากด้วย พระพุทธเจ้าพรรณนาไว้นะ อาตมาไปอ่าน โหสลดสังเวช บาป บาปมากที่สุด ลักเงินพ่อเงินแม่ 

ไปเทศน์โรงเรียนตาบอด ตาบอดมันยังขโมยเก่งอยู่ หูหนวกด้วย ปีที่แล้วไปเทศน์โรงเรียนตาบอด มานิมนต์ไปเทศน์ โรงเรียนตาบอด พุดโถ! ยังขโมยเก่ง ตาบอดยังขโมยบ่ถอย แสดงว่าอทินนานี่บาปมากจริงจริ๊ง บาปอย่างใด พ่อแม่ รับคำพ่อแม่ว่าจะทำอย่างนั้นๆ ไม่ทำซะ ขโมยไปเสีย ขโมยหนี แอบไปเล่นแอบไปไหนไม่รู้ นี่ มันเป็นอทินนาเหมือนกัน อทินนามันมาก มากนะ มากมายก่ายกอง ฉะนั้นบาปมากกว่าเขา ฉะนั้นน่าสงสาร

เหตุนั้นพวกเราทั้งหลายที่หาโอกาสพากันเสียสละเวลามานั่งหลับตาภาวนาพุทโธๆให้จิตสงบเยือกเย็นแล้ว ก็มองดู อะไรพาทุกข์พายากก็ให้รู้ อะไรพาไปทุกข์ยากก็ให้รู้ รู้แล้วก็พยายามละออกจากหัวใจของเรา ที่จริงมันจะละได้จริงๆตอนมันนั่งสมาธิภาวนาเนี่ยแหละ ละได้แท้ ออกไปก็ละได้อยู่ แต่ว่าต้องระมัดระวังเต็มที่ด้วยสติปัญญา เหตุนั้นจึงว่าครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เพิ่นให้หาโอกาสนั่งภาวนาจิตสบาย เมื่อตายไปทางนั้นก็ไปสวรรค์ บ่ได้ทุกข์เลย 

ครั้งพระพุทธเจ้านั่น หลายร้อยคน นั่งภาวนาจิตสงบเย็นสบายแล้ว ให้คนอื่นมาตัดคอ ตัดคอไปเลย ตัดคอไปเป็นร้อยๆนะ ตัดคอ ต่อมาพระพุทธเจ้ารู้ขึ้นมา ว่าบางคนที่ไม่มีศรัทธามันตัดไปเลย มันก็เลยบาปไปเสีย มันอยากไปนิพพาน อยากไปสวรรค์เหมือนเขา แต่มันไม่ทำสมาธิจิตให้มันวางได้ จิตสงบ สงบแล้วจิตมันวาง จิตมันวางเนี่ยขาของเราเหมือนกับก้อนหินนะ มันหนักจริงๆ พระพุทธเจ้าว่า ภารา หเว ปัญจักขันธา, ภาระหาโร จะ ปุคคะโล จริงๆด้วย เมื่อมันจิตสงบมันวาง จิตมันวาง โอ้ย ขาของเรามันหนักจริงๆ ติงไม่ได้ด้วยนะ ไหวไม่ได้ด้วยนะ ยกก็ไม่ขึ้น เราต้องเอามือยกขา ไม่ขึ้น มันหนักจริงๆ เหมือนกับก้อนหินเลย เหตุนั้นครั้งพระพุทธเจ้าจึง เมื่อจิตสงบสบายเยือกเย็น จิตมันวางลงสงบถึงฐานแล้ว ให้เค้ามาตัดคอ ไปสวรรค์ซะ ตัดคอไปสวรรค์ซะ จิตมันแน่วแน่แล้ว มันทุกข์อ้ะ มีแต่เรื่องทุกข์

ฉะนั้นทางพุทธศาสนาจึงให้หาอุบายอยู่ในธรรมอยู่ในศีล การอยู่ในธรรมอยู่ในศีลเปรียบเหมือนเราอยู่ในบ้านของเรานี่หละ บ้านดีๆ นั่งเย็นสบาย ถ้าหนีจากบ้านออกไปเดินเพ่นพ่านตากแดดตากฝน ถ้าไปถนนก็โดนรถชน อันนี้มันไปไม่อยู่ ทุกข์ทนอยู่นั่นน่ะ ใจของเราเปรียบเหมือนลูกตะกร้อ เค้าเตะไปเตะมาอยู่นั่นหละ ใจเหมือนลูกฟุตบอล มันกลิ้งไปกลิ้งมาหยุดให้เขาเตะนั่นน่ะ เตะไปเตะมาอยู่นี่แล้ว จิตใจของเรามันเป็นอย่างนั้น 

ฉะนั้นใจไม่อยู่ ใจไม่มีพุทโธ ใจไม่สงบ ใจไม่ตั้งมั่น จึงไม่มีอำนาจ ไม่มีปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้ เปรียบเหมือนน้ำที่มันอยู่ในโอ่งในไห มันกระเพื่อม ดิ้นอยู่นั่นน่ะ มันมองไม่เห็นหน้าตาของเราหรอก ไม่มองเห็นรูปที่จะมาผ่าน หรือกระจกเงากระจกนั้นมันเต็มไปด้วยโคลน เต็มไปด้วยเขม่า เราไม่มาขัดให้มันใสก็มองไม่เห็นอะไรซักอย่าง ถ้าเราขัดแล้ว กระจกเงานั้นมันใสแล้ว ยกขึ้นบานใหญ่ๆยกขึ้น คนเดินผ่านมาเห็นหมด คนลักษณะใด เป็นอย่างใด เห็นหมด ยกกระจกขึ้นแล้วเพิ่นว่าฌาน เพิ่นว่าญาณ เพิ่นว่า ถ้าไม่ต้องการก็ไปเก็บซะ เอาคว่ำไว้ซะก็ไม่เห็นหละ

ฉะนั้นบางคนเค้าโจมตีนะ โจมตีครูบาอาจารย์ว่าเพิ่นรู้ ไปแล้วไม่รู้อะไร ที่จริงคนเราเพิ่นรู้ก็เห็น เพิ่นเก็บกระจกไว้ ก็เหนื่อยเหมือนกัน ดูแล้วมันก็มาหามันเหนื่อย เพิ่นเก็บซะ ไม่ดูหละ เข้าที่เอากำลัง มันก็ไม่รับรู้อะไร สบาย มันเมาแต่ไปหาบ ไปดูแต่สิ่งภายนอกมันก็เหนื่อยเหมือนกันแหละ งานภายนอกเป็นงานที่ไม่ได้ ทำแล้วก็หมดไป ทำแล้วก็หมดไป หมดไปๆ เหมือนกันกินข้าวกินน้ำ ก็ถ่ายออก กินปลาก็ถ่ายออกไป ถ่ายออกไป กินมากก็ถ่ายมาก กินน้อยก็ถ่ายน้อย ทุกข์มากทุกข์น้อยตามลำดับนั่นหละ 

เพิ่นยังว่ากินเหมือนเปรต กินเหมือนเปรตนี่หลวงตาไปเห็นแล้ว อาจารย์ชัย ? ผีมันเข้าเยอะ มันหิว มันมาแย่งข้าวกินกับผู้หญิงคนนั้นนุ่งขาว มันมาเข้าทีละสามตัว สี่ตัว ห้าตัว สิบตัว เป็นสิบ มันหิว ข้าวกาละมังนี่ กะละมังยกสองคนมั้งนะ มันใหญ่ เอามากินซะหมดกะละมังน่ะ กินหมดแล้วผีออกไปหายหมด เข้าในท้องผู้หญิงคนนั้น บ่มีซักแม้แต่เมล็ดเดียวเลย ท้องบาน ๑๑โมงมากินใหม่อีก ผีกินหมด กะละมังหนึ่ง โถ เด็กน้อยสามตัวนี่หามพอดีแหละ เจอผีตัวนี้กินหม๊ด เมื่อผีออกหนีแล้ว เข้าในท้องคนที่ทรง คนที่ผีเข้า ไม่มีทรง หิวจัดมากินใหม่ธรรมดาอีก กินเหมือนเปรต กินเหมือนผีนั่นหละอันนี้ก็ไปเห็นมา ไปรู้มา โอ้ นี้แหละเป็นจริง กินมาก กินเหมือนเปรตเหมือนผี 

ที่ลำปางก็มี ผีมันเข้า คนเมืองเกาะคา เขามีชื่อว่าสาวงามเมืองเกาะคา ชื่อว่าอารี สาวงามอารีน่ะผีก็ชอบ ผีก็รักเหมือนเรานี่แหละ อารีวันนั้นมันมานิมนต์พระ นิมนต์พระไปทำบุญบ้าน ผีมันอยู่ริมทาง มันตายโหง วิ่งเข้าเลย วิ่งไปเป็นเมียมัน เป็นผัวมันน่ะ อยู่นั่นเลย เอาแล้วเดือดร้อนแล้ว กินข้าวเป็นกะละมัง กินอาหารเป็นกะละมัง โถๆๆ กินเหมือนเปรตเหมือนผี เนี่ยมันมีจริงๆเสียด้วยนะ 

แล้วผีกินเศษนี่ก็มี ที่เกาะคานั่นน่ะ เราใส่บาตรข้าวตก อาหารตก ขนมตกนี่นะ มันคอยแอบกินติดตาม อันนั้นสามปีมาแล้ว ชื่อยายสม มาใส่บาตรพระ ขนมมันตก แกก็ไปเก็บเอามา ผีมันไม่ได้กิน มันโกรธโมโห วิ่งเข้าแกเลย วิ่งเข้าเลย วิ่งเข้าสิง ตาแดงหรึมๆ เขาเอามาที่วัด เขาพามาที่วัด มานั่งพูด ตาแดงเป็นไฟเลย จะกินอะไรบอกมา จะเอาให้กิน บอกมา มันก็นั่งบึ้นรึ้น สุดท้ายมันบอก ขนมเก็บทำไมเพิ่นว่า ขนมเก็บทำไม เก็บมาแล้วก็ไม่รู้ ก็ไม่เห็นนี่ เขาไม่เห็นเจ้านี่ เขาไม่เห็นแกนี่ เขาก็เก็บมาสิ เขาไม่รู้หรอก มันว่า เก็บแล้วมันไม่ได้กิน มันก็ไปเสีย มันโกรธน่ะ ผีพม่า ไม่พอ ผีเจ๊กอีก เข้าสองตัว ผีไทยอีก ปีนั้นหมดผีที่เข้า สุดท้ายก็เลยทำบุญทำทานแผ่กุศล ดีไป เนี่ยผีกินเศษข้าวตกนี่มีเยอะ เปรตนะ เป็นเปรต แต่เราไม่เห็นนะ เลยมาภาวนา มีแท้ หลวงตานี่เคยไปอ่าน แต่ยังไม่เชื่อนะ ตอนแรกไม่เชื่อ มาเห็นเข้า โอ้ย มันเป็นจริงหมดทุกอย่าง นี่ความเป็นมานะ เล่าเรื่องเปรตเรื่องผี

ฉะนั้นท่านพ่อลีจึงว่าคนเราร่างกายของเราเป็นเหมือนผี เป็นเหมือนเปรต หิว หิวอยู่เรื่อย นั่นก็หิว นี่ก็หิว เปรตมันชอบหิว หิวๆ เปรตผีปีศาจมันหิว เดี๋ยวก็หิวอยู่นั่นๆ กินอยู่นั่นแหละ อันนี้ก็เมื่อเพิ่นเทศน์แล้ว มาถูกมาดูคนทั้งหลาย มาดูตัวเรา มันถูก มันหิวน้ำ หลวงตานี่เป็นเปรตหิวน้ำ กินข้าวแล้วหิวแต่น้ำ หิว กินแล้วก็หิวอยู่นั่น ก็เลยมาถูกที่ครูบาอาจารย์ว่า ร่างกายเปรียบเหมือนเปรตเหมือนผี มันหิว มีแต่หิว มันเป็นเปรต มันมีอยู่ในตัวเรานี่แหละ เดี๋ยวก็หิวเดี๋ยวก็โหย ชอบร้อนด้วย ร่างกายเปรียบเหมือนสัตว์หม้อนฮกเพิ่นว่า ชอบร้อน กินของร้อน อันนี้ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ไว้ มาตรองพิจารณาดูมันถูกหมดทุกอย่าง พุดโถๆๆ มันแม่นแล้ว มันถูกแล้ว มันมาเข้าตัวเจ้าของหมด บางคราวก็เป็นเปรต บางคราวก็เป็นผี บางคราวก็เป็นสัตว์ บางคราวก็เป็นเทวดา บางคราวก็เป็นพรหม มันเป็นอย่างนี้จิตของเรา เป็นนั่นเป็นนี่เรื่อย ไม่เที่ยงแท้แน่นอน 

พระพุทธเจ้าจึงว่า จิตตัง อะสารัง สารวะ กาตัพพัน ติ ท่านว่า จิตของเราหาสาระแก่นสารไม่ได้ จงทำให้เป็นสาระแก่นสารเถิด ให้จิตยินดีพอใจ ใจยินดีพอใจในการให้ทาน ยินดีพอใจในการรักษาศีล ยินดีพอใจในการเจริญกรรมฐานภาวนา มั่นอยู่นี่ พุทโธๆ อันนี้แปลว่าจิตมีฐาน จิตมีที่พึ่ง เอาอันนี้เป็นหลัก เอาอันนี้เป็นฐาน เป็นที่พึ่ง อย่าไปเอาสิ่งภายนอกเป็นที่พึ่ง 

แต่ส่วนมากถ้าไม่มีปัญญา ก็เอาสิ่งภายนอกเป็นที่พึ่ง ส่วนมากนั่นเอากิเลสเป็นที่พึ่ง เอากิเลสเป็นที่พึ่ง โทสัง สรณัง คัจฉามิ โกรธ เอาสรณะ เอากิเลสเป็นที่พึ่ง โทสัง สรณัง คัจฉามิ เพิ่นว่า เอากิเลสเป็นที่พึ่ง โกรธร้อนแล้วบ่เน่ บางทีโกรธแล้วไปตีเขา หาว่าเจ้าของเก่ง โกรธแล้วไปด่าเขา หาว่าเจ้าของเก่ง ที่จริงสร้างหม้อนฮกทั้งนั้น อันนี้เพิ่นว่าเอากิเลสเป็นที่พึ่ง โทสัง สรณัง คัจฉามิ 

เพิ่นว่า โลภัง สรณัง คัจฉามิ โลภได้มาก ว่ากูดี เพิ่นก็ว่าหละ ที่จริงมันเป็นเหตุแห่งบาป เหมือนโตเทยยะพราหมณ์มหาเศรษฐี มันโลภมาก ไม่(ทำ)ทานเลย ทานนิดๆหน่อยๆ สุดท้ายตายจากเศรษฐีไปเกิดเป็นหมา ตายจากหมาไปตกหม้อนฮกต่อ เดี๋ยวนี้ยังไม่พ้นนะ ยังนรกต่อ เนี่ยมันไม่ทาน จึงว่ามันเพราะความเอากิเลสเป็นที่พึ่ง เอากิเลสเป็นสรณะ โลภมาก หาว่าเจ้าของดี เจ้าของเก่ง มันก็ดีอยู่ในโลก แต่ว่าตายแล้วไปตกหม้อนฮกน่ะสิ เดือดร้อนแล้วบ่นี่ มันไม่มีความหมายเลย เงินทองข้าวของนั่นน่ะ 

ชีวิตของมนุษย์ของเรามันไม่ถึงร้อยปี อย่างมากก็ร้อยปี แต่ว่าไปทนทุกขเวทนา มันหิวมันโหย มันทุกข์มันยากอยู่ในเมืองนรกเป็นแสนปีล้านปี มันจะคุ้มค่ามั้ย คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า เรามีความสุขในโลกแค่ไม่ถึงร้อยปี แค่ร้อยปีเป็นอายุไข แต่ไปทนทุกข์อยู่ในหม้อนฮกอยู่หลายแสนปี แสดงว่าใช้ไม่คุ้มค่า 

เมื่อไม่คุ้มค่าก็ โอ้ น่าสงสารสลด ไม่ควร …หาพิธีกำจัดแล้ว กำจัดความโลภด้วยการให้ทาน กำจัดความโกรธด้วยการรักษาศีลเจริญกรรมฐานภาวนา กำจัดความหลงด้วยการรู้ กำหนดรู้ สร้างสติ สร้างสติปัญญาให้มันรู้ด้วยใจ มีศีล สมาธิ ปัญญาเป็นต้น อันนี้เป็นหลัก ฉะนั้นจึงว่าบุญน่ะเปรียบเหมือนพ่อเหมือนแม่ เหมือนครูบาอาจารย์ มันเปรียบเหมือนน้ำ เป็นของเย็น กินเวลาไหนก็เย็น อาบก็เย็นกินก็เย็น ชำระด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง ชำระขี้เหงื่อขี้ไคลออกได้หมด เป็นผู้ใสสะอาดได้ก็เพราะน้ำ ฉะนั้นน้ำก็คือการให้ทาน น้ำก็คือการรักษาศีล น้ำก็คือการเจริญภาวนาสร้างบุญ(เทปจบ)