Skip to content

งานของตนที่แท้จริงคืองานโลกุตตรธรรม

หลวงปู่หลวง กตปุญโญ

เทศน์ที่กรมโยธาทหาร วันที่ ๕ เม.ย. ๒๕๔๔

| PDF | YouTube | AnyFlip |

วันนี้เราได้พากันเสียสละเวลามาฟังธรรมเทศนาคำสอนพระพุทธเจ้า ประมาณชั่วโมงนึง ฉะนั้นจึงว่าเราทำงานท่านหลวงก็ไม่ขาด ทางราษฎร์ก็ไม่เสีย ทำงานทั้งสองอย่าง ไม่เสียซักอย่าง งานโลกก็ไม่ขาดงานราษฎร์ก็ไม่เสีย งานหลวงก็ไม่ขาด งานราษฎร์ก็ไม่เสียๆ อันนี้แปลว่าเราเสียสละเวลาที่เป็นบุญเป็นกุศล ฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะว่าเราทุกคนๆเกิดมาก็ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งนอกจากบุญกุศลความดีเท่านั้น ที่จะมาเป็นที่พึ่งเป็นหลักเป็นฐาน เป็นหลักใจของเรา มีแต่ความสุขความเจริญต่อไป

ทีนี้ต่อไปก็พากันตั้งใจปฏิบัติบูชา กำหนดอานาปานสติกรรมฐาน เพราะว่าธรรมก็คือลม ลมก็คือธรรม เพราะว่าลมเนี้ยเป็นที่เกิดของธรรม เป็นที่อยู่ของธรรม เราทุกคนเกิดมาได้ก็เพราะอาศัยลม ตั้งแต่อยู่ในท้องมารดาไม่ได้หายใจ หายใจกับแม่ ออกมาแล้วจึงได้สูดลมเข้า มาเลี้ยงร่างกายตลอดการอยู่การกินอาหารบริโภค จึงใหญ่โตขึ้นมาได้ ฉะนั้นลมนี่เป็นหลักเป็นกรรมฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเพราะอาศัยกรรมฐานคือลม เรียกว่าอานาปานสติกรรมฐาน

ฉะนั้นธรรมนั้นก็มีสองอย่าง โลกียธรรม กับโลกุตตรธรรม โลกียธรรมที่อาศัยอยู่ในโลกเช่นการให้ทาน การรักษาศีลก็ดี การสร้างบุญสร้างกุศล ขุดน้ำบ่อ ก่อศาลา สร้างถนนหนทาง สร้างวัดวาศาสนา อันนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นโลกีย์ เรียกว่าโลกียสมบัติ หรือโลกียธรรม แต่ว่ารวมความแล้ว โลกียธรรม กับโลกุตตรธรรมมันก็อาศัยกันไปเป็นลำดับๆ 

ฉะนั้นส่วนโลกียธรรมมันก็กว้างขวางที่สุด ยกตัวอย่างเช่นว่าที่เรามาฝึกหัดปฏิบัติกัน ให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ฟังเทศน์ก็ดี ฟังธรรมก็ดี ทำกรรมฐานภาวนาก็ดี ถ้าใจของเรายังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จนได้บรรลุคุณธรรมเบื้องต้น เรียกว่าพระโสดาปัตติผล ก็แปลว่ายังเป็นโลกียธรรมอยู่อย่างนั้นแหละ เหตุนั้นโลกียธรรมนี้จึงเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน เวียนว่ายตายเกิดได้ ไปลงต่ำได้ ขึ้นบนได้ ดีบ้างชั่วบ้าง หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้น ไม่เที่ยงแท้แน่นอน 

เหตุนั้นทางพระพุทธศาสนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเรามาอาศัยโลกียธรรม มาเห็นโทษเห็นทุกข์ในโลกีย์ เรื่องกายของเรานี้เป็นสมบัติของโลกียะ โลกีย์นั้นก็แสดงความไม่เที่ยง แสดงความเป็นทุกข์ เป็นธาตุ เป็นอนัตตา หาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อเรามารู้เห็นในโลกีย์นี้ ตามความเป็นจริงแล้ว จึงหันหน้ามาปฏิบัติทางโลกุตตรธรรม ที่เป็นโลกุตตรธรรมก็ยึดเอาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค ๘ หรือว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น 

ฉะนั้นในมรรค ๘ มรรค ๘นี้มันเป็นฝ่ายโลกุตตรธรรมโดยเฉพาะ เช่นว่าสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ เห็นถูกเห็นจริงตามความเป็นจริง อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นโลกีย์นั้นแม้จะดีขนาดไหนก็ตาม มันก็ไม่พ้นทุกข์ ได้ความสุขชั่วครู่ชั่วคราว ยกตัวอย่างเช่นว่า ผู้นั้นนั่งกรรมฐานภาวนาจิต ได้จิตสงบได้เป็นวัน ตลอดวันตลอดคืน จิตสงบอยู่ แต่ว่าอยู่ในฌานอย่างเดียว ฌานโลกีย์อย่างเดียว อาศัยสมาธิธรรมนั้นมีความสงบคือเยือกเย็นจริงๆ แต่ว่าไม่ได้เกิดปัญญา ไม่มี ไม่เห็นแจ้งตามความเป็นจริงในหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้เป็นต้น มันก็กิเลส มันก็ดับไม่ได้อยู่ของเก่า 

เมื่อเรามาอยู่ในสมาธิภาวนาดีแล้ว ก็มีความสุขความสบาย หาความสุขความสบายอะไรจะเปรียบเทียบไม่ได้ แต่เมื่อเวลาออกจากสมาธิภาวนาแล้ว กิเลสมันก็ขึ้นมาของเก่า เปรียบเหมือนกับ เอาศิลาไปทับหญ้าไว้ เอาศิลาไปทับหญ้า บัดนี้เมื่อศิลาทับหญ้าอยู่ หญ้ามันก็ขึ้นไม่ได้ แต่ว่าเมื่อเรายกศิลานั้นออก หญ้าก็เกิดขึ้นใหม่ของเก่า ฉันใดเหมือนกัน ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าทั้งหลาย คือมาเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างนี้ ท่านมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานหรือว่า โลกุตตรธรรม ธรรมเป็นไปเพื่อความละความปล่อยความวาง 

เช่นว่ารู้ลม แต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายเค้าก็มาถือว่า เราเป็นลม ลมเป็นเรา มาถือธาตุสี่นี้แหละมาเป็นตัวเป็นตน เป็นคนเป็นสัตว์อย่างนี้เป็นต้น ถือว่าดินเป็นของเรา คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนี่ย น้ำเป็นของเรา ลมเป็นของเรา ไฟเป็นของเรา อย่างนี้เป็นต้น หรือมาถืออีกละเอียดขึ้นไปก็ถือว่าวิญญาณก็เป็นของเราอีกเหมือนกัน เรารู้ เราเห็น เราเป็นอะไรต่างๆ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อไปรู้เห็นสิ่งนั้น แล้วก็ไปติดอยู่ในสิ่งนั้น เอาอันนั้นเป็นที่อยู่ ก็มีความสุขเหมือนกัน แต่มันก็ละกิเลสไม่ได้ เพราะมันไม่เข้าไปสู่โลกุตตรปัญญา 

ฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย ต้องอาศัยปัญญาขึ้นก่อน ยกปัญญาขึ้นก่อน ยกตัวอย่างเช่นว่า เราจะรู้บุญรู้บาป รู้คุณรู้โทษ ก็อาศัยปัญญา ปัญญานั้นก็คือการสดับรับฟัง การศึกษาธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ศึกษาธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้า ไม่รู้ อย่างนี้ ศรัทธาก็ไม่เกิดขึ้น ความเพียรก็ไม่เกิดขึ้น ความอดความทนก็ไม่มี เพราะไม่มีปัญญา ฉะนั้นทางพุทธศาสนาจึงกล่าวว่าคนเราจะดีมีความสุขเพราะมีปัญญา อย่างนี้เป็นต้น 

แต่ว่าปัญญานี้ ถ้าเป็นปัญญาโลกีย์ คือปัญญายึดปัญญาถือ เหมือนทางโลกเขา สร้างอะไรขึ้นมาก็ยึดถือว่าสิ่งนั้นเป็นสมบัติของเรา อย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าสิ่งนั้นก็แสดงความไม่เที่ยง ความแปรความปรวนแสดงอย่างนี้ ก็เลยเป็นทุกข์ แต่ว่าพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าท่านรู้แล้ว ท่านเห็นได้แล้ว ท่านไม่ยึดถืออยู่เพราะมองเห็นอยู่ว่า มันจะต้องแตกต้องตาย ต้องไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่อยู่ในบังคับบัญชา มันเกิดได้ดับได้ อย่างนี้เป็นต้น เหตุนั้นความเข้าไปยึดถือก็ไม่มี ก็เลยเป็นสุขสบาย แต่ว่าบุคคลที่จะไม่ยึดไม่ถือในสิ่งนั้นก็อาศัยสติปัญญา ถ้าไม่มีสติปัญญาก็ละไม่ได้ 

เหตุนั้นจึงว่า วิญญาณนั้นเป็นที่เกิด เป็นที่อยู่ที่อาศัยของคนในโลก เพราะว่าเราทุกคนๆก็อาศัยวิญญาณนั้นน่ะเป็นที่เกิดเป็นที่อยู่เป็นที่อาศัยอย่างที่ การไปมาก็อาศัยตา เรียกวาจักขุวิญญาณ ตาดีมันก็ไปไหนก็ได้ เพราะตามันมองเห็น ถนนหนทาง เห็นใกล้เห็นไกลอะไร อะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว เพราะอาศัยจักขุวิญญาณนี่เองเป็นตัวนำ และก็อาศัยโสตวิญญาณเป็นเครื่องเตือนอีกด้วย เครื่องเตือนภัยที่มาถึงเรา ก็อาศัยเสียงได้ยิน ยกตัวอย่างเช่นว่า ไปเราขับรถมา มีคันหนึ่งอยู่ข้างรถกดแตรอย่างนี้เป็นต้น เค้าให้หลีกหรือให้อะไร เราก็ต้องรู้ หลบหลีกเขาอย่างนี้เป็นต้น ก็อาศัยโสตวิญญาณนั่นแหละ อันนี้เป็นเครื่องไป ฉะนั้นตาก็เป็นเครื่องนำ หูก็เป็นเครื่องนำ 

ส่วนฆานวิญญาณ คือจมูกเนี่ย ดั้งเนี่ยมันเป็นนาย นายประตูก็ว่าได้ หรือว่าผู้รักษาความปลอดภัยก็ว่าได้ เหมือนที่ไหนๆโรงงานใหญ่ มีนายยามเป็นผู้รักษาความสงบอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นส่วนจมูกดั้งเนี่ยมันเป็นนายยาม เรียกว่าฆนะวิญญาณ คือว่ากลิ่นอะไรมาถึงจมูกของเรา กลิ่นดี กลิ่นภัยก็รู้ สมมุติอย่างที่ว่ากลิ่นอันนี้เข้ามากระทบเข้าแล้ว มีเชื้อโรค มีอะไรก็รู้ได้ เราก็รีบรักษาแก้ไขอย่างนี้เป็นต้น นี่ก็อาศัยวิญญาณนั่นเอง แต่ว่าส่วนชิวหารู้รสต่างๆ กายวิญญาณรู้สัมผัสหนาวร้อนเย็นแข็งต่างๆ มโนวิญญาณคือรู้ธรรม นึกคิดอะไรต่างๆที่ดีและไม่ดี วิญญาณนั้นก็เป็นส่วนรู้ รู้แต่ว่ามันละไม่ได้ เรียกว่าตัววิญญาณ เป็นที่อาศัยอยู่ เป็นที่อาศัยเกิด เป็นที่อาศัยตาย แต่ว่ามันจะมาสร้างความดี ความสุข ความเจริญ ประกันภัยให้พวกเราไม่ได้ ต้องอาศัยธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้า เรียกว่าสติปัญญา 

เหตุนั้นจึงว่าธรรมะนี้ท่านจึงเปรียบเหมือนเกลือ เกลือนั้นมีคุณค่ามีราคา เช่นว่าเราจะทำอาหารการบริโภค ถ้าขาดเกลือแล้วก็หมด ไม่มีรส บัดนี้ขาดเกลือแล้วเป็นโรคอะไร โรคคอพอก อันนี้ก็เกลือนี้อาศัยใช้ทั่วโลก ส่วนน้ำพริกบางแห่งกันก็ไม่กินน้ำพริก ธาตุไฟ แต่ว่าเกลือนั้นอาศัย เกลือนั้นมีคุณค่า ปลานั้นมันเน่าแล้ว เอาเกลือใส่มากๆแล้วกลายเป็นปลาเค็ม เก็บไว้เป็นปีๆก็ได้ กินได้ตลอดไป เพราะเกลือมันรักษาไว้ ฉะนั้นธรรมะในตัวของเรานี้ก็อาศัยธรรมะเป็นเครื่องรักษา ปลาเน่ามันก็ยังรักษาไว้ได้ เช่นว่าคนที่ทำไม่ดีมาแล้ว ทำไม่ดีมาแล้วแต่ว่าเอาเกลือใส่มากๆ คือสร้างความดีมากๆ มันก็กั้นไปได้ กั้นเน่าไปได้ กั้นเสียไปได้ หรือมีคุณค่าไปอีก อย่างนี้เป็นต้น 

ยกตัวอย่างเช่นว่า พระเจ้าอชาตศัตรูไปฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร กฏบังคับก็ต้องตกนรกอยู่แสนปี แสนปีก็หลายหมื่นล้าน หลายพันล้าน หลายโกฏิอยู่เป็นต้น ต้องทนได้ แต่สุดท้ายก็มารู้สึกนึกได้ ว่าเราไปพบพระเทวทัตนั้นกลับนำไปทางทำบาปทำกรรมที่ไม่ดี จึงเลิกละจากเทวทัตซะ หันมาหาพระพุทธเจ้า มาสมาคมกับพระพุทธเจ้า มาเลื่อมใสพระพุทธเจ้า มาปฏิบัติศีลธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนากับพระพุทธเจ้า มาให้ทาน ถือศีล ภาวนา และก็สร้างวัดวาศาสนา สร้างเจดีย์ สร้างวิหาร ตลอดที่สุดสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ก็เป็นประธานเลี้ยงสงฆ์หลายร้อยหลายพัน อย่างนี้เป็นต้น สุดท้ายก็มีการลดนรกแสนปีก็ลดลงมา ลดเปอร์เซ็นต์ตั้ง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ แสนหนี่งเหลือหก ก็ล่นเบาขึ้นมาเหลือ ๔๐ เปอร์เซ็นต์อย่างนี้เป็นต้น ต้องมาต้องนรก โลหะนรกซะหกหมื่นปีอย่างนี้เป็นต้น นี่ยังใกล้เข้ามาอีก 

ฉันใดก็เหมือนกัน ฉะนั้นจึงว่าอาศัยที่รู้แล้ว นักปราชญ์แล้ว ก็ทำความดีต่อไปเป็นลำดับ ฉะนั้นโลกุตตรธรรมานี่จึงรวมความก็คือว่า การปฏิบัติโลกุตตรธรรมาหรือปฏิบัติธรรมนี้ รวมความก็เพื่อรู้และละ ยกตัวอย่างเช่นว่า ภาวนารู้แล้วก็ละ รู้แล้วผิดเราก็ละทันที มันก็เข้าเนกขัมมะบารมี เพราะทานบารมี การเสียสละการให้ คนเราจะอยู่ด้วยกันเป็นสุข ก็อาศัยทานบารมี ตั้งแต่เราเกิดก็อาศัยบิดามารดาให้ข้าวป้อนน้ำนมทุกอย่างมาเป็นลำดับๆ ต่อมาก็อาศัยศีลบารมี พ่อแม่ก็ให้สร้างคุณงามความดี ให้ทำความดี สอน ลูกเอ๋ย ให้ทำความดี สิ่งใดไม่ดี อย่าไปทำ ทำแล้วก็ละเสีย มันก็เข้าได้เนกขัมมะบารมี เนกขัมมะบารมีแปลว่าละนั่นเอง ทำแล้วไม่ดีก็ละเสีย ทำในทางที่ถูกต่อไปอีก มันก็มีเปอร์เซ็นต์ขึ้นมาเป็นลำดับ 

ดังที่กล่าวแล้วว่า พระเจ้าอชาตศัตรูนั่นหละตกนรกแสนปี แต่ว่ามาทำความดีกับพระพุทธเจ้า ลดตั้ง๔๐ เปอร์เซ็นต์ ก็มีการลด ก็เบาขึ้น ก็ดีขึ้น อันนี้ฉันใด อันนี้แปลว่าอาศัยธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้า จึงว่าธรรมะคำสอนเป็นเหมือนเกลือรักษาความเค็ม เกลือนั้นมันรักษาความเค็ม ไปที่ไหนไปเมืองไหนๆ มันก็เค็มตลอด พระพุทธเจ้าจึงว่า รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธุํ สวณํ โลณตํ ยถา เกลือย่อมรักษาความเค็มฉันใด เราต้องรักษาคุณความดีของเราไว้เหมือนเกลือรักษาความเค็มฉันนั้น 

เมื่อเรารักษาคุณความดีของเราไว้ ไปที่ไหนมันก็ดีอยู่เรื่อยไป เพราะเรามีคุณความดี มีความอดมีความทน มีสติมีปัญญารู้ผิดรู้ถูก รู้บาปรู้บุญ รู้คุณรู้โทษ อย่างนี้เป็นต้น ก็ได้ใช้ตัวสติปัญญานั้นตาม ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงยกว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ใดประพฤติธรรมอยู่แล้วย่อมนำมาซึ่งความสุขความเจริญ จึงว่า ธมฺโม สุจิณฺโน สุขมาวหาติ ท่านว่า ธรรมที่ประพฤติปฏิบัติดีแล้วย่อมนำมาซึ่งความสุขความเจริญ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า ผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมย่อมรักษาบุคคลผู้นั้น เมื่อตกไปในทางที่ต่ำทางไม่ดี ฉันใดก็เหมือนกัน ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ศีลก็ย่อมรักษาผู้ประพฤติศีล ผู้ปฏิบัติศีล ศีลรักษาเรา เรารักศีล 

ฉะนั้นถ้าเราไม่รักษาศีล ศีลก็ไม่รักษาเรา มันกลับกันอยู่นั่นเอง ฉะนั้นคนเราได้ทุกข์ยากลำบากตรากตรำเพราะมันไม่มีศีล ไม่มีศีลมันก็เลยสามารถไปทำบาปทำกรรมได้ เปรียบเหมือนบ้านเราไม่มีประตูหน้าต่าง ไม่มีเครื่องกั้น ขโมยก็เข้ามาได้ ลมก็มาพัด ฝนก็มาแฉะมาถูกของเราเปียกหมด ลมมาพัดเอาของเราไปหมด อย่างนี้เป็นต้น ขโมยก็มาเอาของไปได้เพราะไม่มีฝา ไม่มีประตูหน้าต่างเป็นเครื่องกั้น ฉันใดก็ฉันนั้น เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่าศีลธรรมนั้นแหละเป็นเครื่องกั้น กั้นเรา กั้นตัวเราไว้ รักษาเราไว้ เพราะเรามีศีล ศีลก็รักษาเรา เราไม่มีศีล ศีลก็ไม่รักษาเรา อย่างนี้เป็นต้น 

ที่เราได้รับความเดือดร้อนก็เพราะไม่มีศีลเป็นตัวรักษา เราไปโทษว่าอะไรก็ไม่ช่วย ที่นั่นให้วิ่งวอนหาเทวดา เทวดาก็ช่วยไม่ได้ เพราะเทวดาเค้าก็อาศัยศีลนั่นเอง เทวดายังมาอาศัยพวกเราด้วย แต่อยู่ในโลกเทวดานั้นไม่มีโอกาสได้ทำบุญ ยังมาพึ่งบุญบารมีของพวกมนุษย์เรานี่แหละ อย่างพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้า ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ผู้ที่เป็นเทวดาตลอดที่สุด ยักษ์ก็ดี พญาครุฑก็ดี พญายักษ์ก็ดี สัตว์ทั้งหลายอย่างนี้เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นว่าพญาครุฑ พญานาค ก็มาอาศัยปฏิบัติธรรมบูชาพระอาจารย์มั่นอยู่ตลอด อยู่สกลนคร อยู่ไหนก็ตาม พญาครุฑก็มากราบมาไหว้ มารักษาพึ่งบารมี พญานาคก็มารักษา ก็มากราบไหว้ทุกวันๆอย่างนี้เป็นต้น มาพึ่งบารมี มาอาศัยบารมีของครูบาอาจารย์ มากราบไหว้ มาสักการะบูชาแล้วเขาก็มีฤทธิ์มีเดช และมีอายุยืนยาวนาน อย่างนี้เป็นต้น เหตุนั้นพญานาคจึงมากราบมาไหว้พระอาจารย์มั่นทุกวันๆ ที่หนองผือ ในจังหวัดสกล อำเภอพนานิคม อำเภอที่หลวงตาไปหลงเกิดอยู่นั่นเอง ไปหลงอยู่นั่น อันนี้เพิ่นว่า​ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ประพฤติธรรมอยู่แล้วนำความสุขความเจริญได้ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นหลักเหตุนั้น 

พวกเราที่เกิดมาในยุคนี้ ในชาตินี้ แปลว่าเป็นผู้ที่มีโชคมีลาภอันดีอันประเสริฐ ตลอดที่สุดที่เราเสียสละโอกาส เรียกว่างานหลวงก็ไม่ขาด ราษฎร์ก็ไม่เสียอย่างนี้เป็นต้น เราหาโอกาสมาฟังเทศน์ฟังธรรม ทำจิตใจให้สงบตั้งมั่น ลมเข้าพุทโธก็รู้ ลมออกพุทโธก็รู้ ใจตั้งมั่นเยือกเย็นสบาย อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็แปลว่าได้ประโยชน์ 

ฉะนั้นคนเราพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ส่วนมากคนเรานั้นทำแต่ประโยชน์ทางโลก ประโยชน์ของตัวเองนั้นไม่มีโอกาสที่ได้ทำ ทำน้อยที่สุดๆ ประโยชน์ของตนจริงๆก็คือการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญกรรมฐานภาวนา อานาปานสติ ลมเข้าลมออกให้รู้ จนเพ่งดูจนจิตสงบเยือกเย็นเป็นที่พึ่งได้  นี่เป็นต้น อันนี้แปลว่าประโยชน์ของเราโดยเฉพาะ ฉะนั้นคนเราส่วนมากก็ทำแค่ประโยชน์ทางโลก ทำให้เขาตลอด ไม่ให้ทำให้เราหนา เช่นรักษาขันธ์ห้า เรื่องนี่ก็รักษาขันธ์ห้า ก็เป็นสมบัติของเขา เรียกว่าขันธาทิโลก พระพุทธเจ้าว่า อายตนะโลก สมบัติของโลกทั้งนั้นแหละในตัวของเราทุกคนๆเนี้ย 

แต่ผู้มีปัญญาอย่างพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าท่านสละสมบัติของโลกซะ มาทำประโยชน์ของตน ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านมีปัญญา ชาตินึงๆ บางชาติก็ออกบวชตลอดตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี อย่างที่เห็นในหลวงแต่ง แต่งประวัติหรือทำประวัติมหาชนก มหาชนกเพิ่นก็ทำประโยชน์เพื่อประโยชน์ให้เกิดความสุขความเจริญทางโลก บำเพ็ญทานการกุศล ตั้งโรงทานทั้งห้าแห่ง บำเพ็ญทานอยู่เจ็ดพันปี แล้วพระองค์ก็หนีออกบวชซะ บำเพ็ญประโยชน์ส่วนตนโดยเฉพาะสามพันปี ครบหมื่นปี แล้วก็ไปสวรรค์ชั้นฟ้า อย่างนี้เป็นต้น อันนี้พระองค์รู้จักเลือก รู้จักแยก รู้จักแบ่ง รู้จักปัน 

ผู้มีปัญญาก็รู้จักแบ่งส่วน เหมือนว่าคนไม่มีปัญญาก็ไม่รู้จักแยกปัญญา ไม่รู้จักแบ่งหน้าที่ของตน ก็หาว่าไม่มีเวลา เอาเวลาไหนเป็นเวลา ตายแล้วก็ไม่มีเวลาอีกหละบ่นี่ (หัวเราะ) บ่นี้ถ้าไม่มีเวลาทำคุณงามความดี เมื่อตายไปแล้วก็ไปร้องขอพญายม อย่างนี้เป็นต้นให้ช่วยเหลือเกื้อกูล ยังไงก็ไม่ได้เพราะเราไม่หาเวลาทำความดี เหตุนั้นแต่ว่าผู้มีปัญญา แม้จะมีปัญญาอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่รู้จักแยกทำประโยชน์ของตน ทำแต่ประโยชน์ของโลกอย่างเดียว อย่างนี้เป็นต้น 

อย่างมโหสถ ผู้ใดอ่านต้องรู้ดี มโหสถน่ะเป็นอย่างไร บัดนี้ก็ทำแต่ประโยชน์ของโลก เมื่อตายจากมโหสถแล้วก็ไปเกิดเป็นงูอยู่เมืองนาค ไปเป็นงูอยู่เมืองนาค เมื่อไปเกิดเป็นงูอยู่เมืองนาคแล้วก็ระลึกชาติได้ บันดาลให้รู้เพราะเพิ่นสร้างบารมีมามาก ฉะนั้นก่อนจะเป็นมโหสถ มาเกิดมาเป็นมโหสถนั้นก็สร้างบารมีมากที่เป็นเนมิราชน่ะ เนมิราชอายุ ๒๘๔,๐๐๐ ปี อายุ ๒๘๔,๐๐๐ ปี บำเพ็ญทาน ๘๔,๐๐๐ ปี อย่างนี้เป็นต้น แล้วมาบวชอีก ๘๔,๐๐๐ ปี บำเพ็ญสร้างบุญสร้างกุศล ๘๔,๐๐๐ ปี รวมแล้วก็เป็นแสนปี สร้างคุณงามความดีอย่างนี้เป็นต้น แล้วก็ไปอยู่สวรรค์ชั้นฟ้า ตายแล้วก็เป็นมโหสถ แต่มามโหสถมันลืมได้เหมือนกัน มันลืมเสีย เพราะธรรมของโลกเนี่ย ธรรมโลกีย์นี่มันบ่เที่ยงแท้แน่นอน มันเกิดมันดับได้ มันไม่คงที่ (เทปขาดตอน) 

เหตุนั้นทางพุทธศาสนาจึงอาศัยการฝึกฝนอบรมบ่อยๆ การสดับรับฟังบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ลืมตัว เพราะกิเลสมันสร้างเหตุแห่งความทุกข์ความเดือดร้อนทุกอย่างทุกประการ สำทับจิตใจของสาธุชนคนทั้งหลายในโลก เหตุนั้นเราต้องมีปัญญาหาโอกาสเหมือนพวกเราทั้งหลาย หาโอกาส หาเวลามาฝึกฝนตนอย่างนี้ นับว่าเป็นผู้ที่มีปัญญาดี มีกุสโล กุสลา ธัมมา มีปัญญาดี คนมีปัญญาดีนั้น รู้จักแยกส่วนงานของโลก รู้จักแยกส่วนงานของตน งานส่วนใดเป็นของโลก งานส่วนใดเป็นของตนก็ให้รู้ 

แต่ว่าส่วนมากไม่รู้หละ งานของโลกว่าเป็นงานของเจ้าของ ที่จริงงานของโลกแท้ๆ เรียกว่าการกินดีอยู่ดีเป็นสุข เมาความสุขอย่างนั้น งานของโลกทั้งนั้น เมื่อตายแล้วมันหมดสิทธิ์แล้ว มันไม่ได้อะไรซักอย่าง มีความสุขจริงในโลกน่ะ แต่ตายน่ะหมดสิทธิ์ เพราะมันเป็นโลกีย์ สมบัติอยู่ในโลกีย์เนี้ยมีความสุขในโลก มีความดีอยู่ในโลก อย่างนี้เป็นต้น 

เหมือนมโหสถสร้างความดี แก้ปัญหาของโลก เชิดชูโลกตั้งหลายร้อยปีอย่างนี้เป็นต้น ตายแล้ว ความช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลในโลก แทนที่มาอุดหนุนให้พระองค์ไปดี เปล่า! ไปดีไม่ได้ ขาดทุน ไปเกิดเป็นนาค ไปเกิดเป็นสัตว์ แปลว่าขาดทุนอย่างนี้เป็นต้น 

แต่ว่าพระองค์ไปอยู่เมืองนาค ระลึกชาติได้ ก็เลยไปขอโอกาสพ่อแม่ ลาพ่อลาแม่ขึ้นมาจำศีลภาวนา รักษาศีลอุโบสถ ศีล ๘ โน่น อยู่เมืองเชียงใหม่โน่น ชาตินั้นจึงมาเกิด ภูริทัต เกิดเมืองเชียงใหม่ เพิ่นว่า ชาตินั้นเกิดเมืองเชียงใหม่ ก็เยี่ยงคนเมืองเชียงใหม่ชอบรักษาศีล แต่ไม่ชอบบวช คนแก่เค้าว่า เป็นอย่างนั้น ชอบบวช (หัวเราะ) เหตุนั้นก็เลยมารักษาศีลอยู่เมืองมนุษย์ รักษาศีล ๘ ทำคุณงามความดีอยู่หลายปี 

แต่อย่างใดก็ตาม ทำความดีก็หนีมารไม่ได้ หมออาลัมพายน์ลุกเข้ามาก็มัดคอลากไปเล่นละคร เล่นละครให้คนดู รวย (หัวเราะ) คือภูริทัตน่ะเป็นผู้มีปัญญา หมออาลัมพายน์ให้มาเล่นละคร เล่นเป็นหมด เล่นท่าใดได้หมด เก่งอ้ะ รวยสตางค์ใหญ่โต สุดท้ายก็ลูกศิษย์ของหมออาลัมพายน์ ก็ยังอยู่เมืองอินเดีย เอางูมาเล่น เอางูมาเล่นละครให้คนดู เอาสตางค์ เต็มเมืองอินเดียนั่นน่ะ ลูกน้องหมออาลัมพายน์ 

เพราะฉะนั้นหลวงตาไปอินเดีย ไปเห็นพวกแขกเมืองอินเดียเอางูมาเล่นให้คนดู เอาสตางค์ ลูกน้องหมออาลัมพายน์ มันยังอยู่ มันเป็นอย่างนั้น มันสืบกันมาเป็นอย่างนั้น อันนี้ฉันนั้นเหมือนกัน ฉะนั้นจึงว่า พระองค์หนีหมออาลัมพายน์ น้องชายตามกันมา มาอยู่เมืองนาคอีกก็รักษาศีล ๕ เจริญกรรมฐานภาวนา ตายจากนั้นก็ไปสวรรค์ไปได้ แต่มันก็มาเกิดอีก มาเกิดก็สร้างบารมีอีก เต ชะ สุ มาเกิดเป็นภูริทัตมาเกิด เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว (คาถาหัวใจทศชาติ) เป็นอะไร มาเกิดสร้างบารมีเป็นลำดับๆ ที่มาเกิดเป็นในชาติที่ต่อมาก็ได้บำเพ็ญตลอดมา ไม่ได้ขาด ไม่ประมาท ชาติใดๆก็ออกบวช บำเพ็ญเจริญภาวนามาเรื่อย จนถึงพระเวสสันดรก็ยังออกบวช บำเพ็ญภาวนามาเรื่อย สุดท้ายถึงได้เป็นสิทธิตถะราชกุมาร เป็นพระพุทธเจ้าได้ อาศัยคุณธรรมคุณความดีนั้นทำตลอดไป 

เพราะว่ากิเลสนั้นน่ะมันมีหน้าที่จะประหัตถ์ประหารคุณงามความดีของเราทุกอย่าง ถ้าเราไม่มีสติ มีปัญญา ไม่สร้างคุณความดี ไม่สร้างสติปัญญาก็สู้มันไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องฝึกฝนบ่อยๆ เจริญบ่อยๆจึงจะชนะกิเลสได้ เพราะกิเลสนี่มันมีหน้าที่ของมัน ฆ่าคน ฆ่าสัตว์ ฆ่าคุณงามความดีของมนุษย์ทุกอย่างนั่นแหละ มันฆ่าทุกอย่าง กิเลสนะ ไม่มีการเมตตาปราณีเลย อย่างใดไม่สงสารน่ะ กิเลสน่ะ เอาเรื่อยไป ถ้าเรามีปัญญา ไม่มีปัญญากันก็เป็นลูกข้า เป็นข้าของมันก็ตกทุกข์ได้ยาก 

ถ้ามีปัญญาก็พยายามฆ่ามัน ฆ่ากิเลสตาย ทำลายกิเลสหลุด ถึงมาเป็นพระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้นน่ะ เราต้องหาวิธีฆ่า ฆ่าที่ไม่บาปคือฆ่ากิเลส ฆ่าความโลภ ความโกรธ ความหลง ฆ่าอวิชชาตัณหา ยิ่งฆ่าได้มากก็ได้ความสุขมาก ฆ่าได้หมด ปลดทุกข์ไปเลยอย่างนี้เป็นต้น ฆ่าไม่บาปก็ฆ่ากิเลส ถ้าฆ่าอย่างอื่นบาปทั้งนั้น อันนี้พระพุทธเจ้าก็แสดงไว้ 

เหตุนั้นทางพระพุทธศาสนาจึงให้สร้างสติปัญญานี่เป็นการฆ่ากิเลส ฆ่าด้วยการเสียสละ การให้ทาน ฆ่าด้วยการรักษาศีล ฆ่าด้วยการเจริญภาวนา รักษาศีล เจริญภาวนานี่ก็ฆ่าด้วยกิเลส ฆ่ากิเลสด้วยการให้ทาน ฆ่ากิเลสด้วยการรักษาศีล ฆ่ากิเลสด้วยการไหว้พระสวดมนต์เจริญกรรมฐาน ภาวนาสมาธิ ภาวนาเนี่ยจนมีสติปัญญารู้เหตุ มีสติปัญญารู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กิเลสเกิดขึ้นท่าไหนก็รู้เท่าทันหมด ปลดทุกข์ไปแล้ว รู้เท่าทันอยู่มันก็ไม่มีภัยอันตรายฉันใด ถ้าเราขาดสติขาดปัญญาเมื่อใดก็ไปตามมันเรื่อยไปนั่นแหละ เพราะกิเลสมันมีหน้าที่อย่างนั้น 

ถึงว่าบ่นทุกข์บ่นยากว่าทำไมพระพุทธเจ้าไม่ช่วย พระพุทธเจ้าก็คือสติปัญญา​ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นเองเป็นตัวพระพุทธเจ้าจะมาช่วยได้ ถ้าเราไม่รักษา ไม่ปฏิบัติ ศีลหรือปัญญามันก็ไม่รักษาเรา เรียกว่า ผู้รักษาธรรม ธรรมย่อมรักษาเรา ผู้มีศีล ศีลรักษาเรา ผู้มีธรรม ธรรมรักษาเรา ดังที่กล่าวนี้ อันนี้ก็เป็นปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านชี้แจงแนวทางปฏิบัติไว้ 

ฉะนั้นพวกเราทุกคนๆวันนี้ได้มีสติมีปัญญา มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส พากันเสียสละเวลาการงานของโลก มาบำเพ็ญการงานของตน ทุกคนเจริญกรรมฐานภาวนา อาศัยสัจจะ มีสัจจะ อาศัยศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใส อาศัยมีปัญญา มีสติมีปัญญา รู้จักแยกออก อันนี้เป็นงานของโลก อันนี้เป็นงานของธรรม อันนี้เป็นงานของตน อันนี้เป็นงานของคนอื่น อย่างนี้เป็นต้น ดังที่กล่าวนั้นแหละส่วนมาก คนเรางานของโลกก็ถือว่างานของตน เช่นว่ากินดีนอนดีมีความสุข ถือว่าเรามีความสุขดีแล้ว เราได้แล้ว ที่จริงไม่ใช่ได้หรอก ไม่ได้ มันไม่ได้ทั้งนั้น มันได้ระงับชั่วคราว ตายไปแล้วก็หมดสิทธิ์ หมดโอกาส 

เหตุนั้นจึงว่าพวกเรามีปัญญา เหตุนั้นขอเดชะพระบารมีบุญกุศล คุณความดีที่พวกเราทั้งหลายมาพร้อมเพรียงกันในวันนี้ จงประสบแต่ความสุขความเจริญ จิตตั้งมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พุทโธสมาธิ ธัมโมสมาธิ สังโฆสมาธิ จิตตั้งมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จิตตั้งมั่นในศีลในธรรม เพราะจะนำมาแต่ความสุขความเจริญในโลกนี้โลกหน้า