Skip to content

กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา ในตัวของเรา

หลวงปู่หลวง กตปุญโญ

เทศน์ที่กรมพลศึกษา
วันที่ ๒ ม.ค. ๒๕๔๕

| PDF | YouTube | AnyFlip |

แต่นี้ต่อไปก็พากันตั้งใจฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า วันนี้ก็เป็นวันปีใหม่ล่วงไปแล้ว เป็นวันที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ต่อมาก็เป็นเหมือนเก่า ปีใหม่ที่เราได้มาครบรอบ มีชีวิตจิตใจมาถึงครบรอบ ๑๒ เดือนเนี่ย เรามีอายุยืนยาวนาน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีพละกำลังทำการทำงานไปมาได้ อันนี้ก็อาศัยบุญ บุญบารมี ฉะนั้นจึงว่าต้องอาศัยบุญ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างอาศัยบุญเป็นเครื่องค้ำจุนอุดหนุน ในตัวของเราทุกคนบอกไม่ได้ ว่าไม่ฟัง ว่าความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้น ไม่มีเครื่องหมายนายประกัน

ยกตัวอย่างเช่นว่า ปีใหม่ชาวไทยในกรุงเทพกรุงไทยไหลขึ้นไปในบ้านเกิดเมืองนอน หรือว่าไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน แต่เพื่อนๆไปสนุกสนาน เพื่อฉลองปีใหม่ให้มีความสุข แต่ว่ากลายเป็นความทุกข์ไป รถคว่ำรถหงายกดเจ็บ เค้าประกาศทางวิทยุว่าเจ็บๆก็เป็นหมื่นๆ ตายก็หลายพันอย่างนี้เป็นต้น ยังไม่ถึงที่จะได้กราบพ่อกราบแม่หรืออะไรกลางทางนี่หละ ไปตายซะ หรือบางทีก็ไปเจ็บซะ เข้าโรงพยาบาล อันนี้เพิ่นว่าปีใหม่ของโลก มันก็มีความทุกข์โศกเป็นอย่างนั้นแหละ คือมีความดีใจ ดีใจว่าเราจะได้ความสุข ความสบาย ความม่วน แต่ว่าเอาความม่วนในทางที่กัญชายาเมาของเสพติดหรือว่าสุรายาเมา มันก็ทำให้เสียสติ ขาดสติขาดอะไรต่างๆ เหตุนั้นจึงได้มีอุบัติเหตุ ดังที่กล่าวแล้ว คนเจ็บเป็นหมื่นๆ ตายไปก็หลายพัน 

คิดแล้วก็น่าสงสารที่เราติดสมมุติ แต่ว่าสมมุติน่ะมันดี ถ้าไปดี ไปด้วยความเคารพ ไปด้วยมีศีล มีสติ มีปัญญา ไปด้วยความรอบคอบ มีศีลมีธรรมในการไป ตั้งใจจะไปทำบุญให้พ่อให้แม่ ตั้งใจจะไปทำบุญให้กับญาติพี่น้อง แต่ว่าในเรื่องนิมนต์พระมาทำบุญ สวดกุสลา มาติกา บังสกุล ท่านว่าทักษิณานุปทานอย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นบุญ แต่ว่าส่วนมากมันก็เอาสิ่งภายนอกมาแอบแฝง เหตุนั้นประเพณีอันนี้ก็เป็นประเพณีของโลก เหตุนั้นจึงว่ามีความดีใจ ตอนไปม่วน แต่ว่าสุดท้ายไม่นานก็เสียใจ ออกไปยังไม่ถึงบ้านเกิดเมืองนอนเลย ไปรถชน รถคว่ำตาย ตายกลางทาง เจ็บกลางทาง ร้องห่มร้องไห้น้ำตาไหล ทุกขเวทนา อันนี้แปลว่าปีใหม่ในทางที่ไม่ถูกธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 

เหตุนั้นถ้าปีใหม่ในทางพุทธศาสนานั้นก็เป็นมีความปลอดภัย เช่นว่ามีโอกาส หาโอกาส ปีใหม่สี่วันนี้ เราหาโอกาส เข้าวัด จำศีล นั่งภาวนา เนี่ย อันนี้มีบุญมาก ได้บุญ ได้ปัญญาด้วย แล้วก็ไม่มีคำว่าจะมีความเดือดร้อนอย่างนั้น คือว่าความดีใจหรือไม่ดีใจ ไม่พอใจ แต่ว่าเราไปด้วยความสัจจบารมี สมมุติของโลกปีนี้จำเป็นจะต้องไป ประเพณีเคยทำมา ปู่ย่าตายาย ถึงปีใหม่รอบปีแล้วเราจะไปสัมมาคารวะอโหสิกรรมให้ด้วย กราบคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็ไปทำบุญให้แก่ญาติ อันนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศล 

แต่ว่าถ้าขาดศีลขาดธรรม ขาดในทางที่ไม่ถูกแล้ว ก็ไปในทางที่ไม่ดีเดือดร้อนดังที่กล่าวแล้ว แทนที่จะได้ไปสวรรค์ ดันไปตรกหม้อนฮก(นรก)ซะ หม้อนฮกอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นไม่ตายแต่เจ็บ ขาหักแขนหัก อย่างเนี้ย ความเพลิดเพลินเจริญใจในปีใหม่มันหายหมด นี่ความดีของโลก ความสุขของโลก มันอยู่แค่นั้นแหละ อยู่แค่ดีใจเสียใจ ดีใจเท่าไรก็เสียใจเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าถ้าดีใจในทางศีลทางธรรมนี้ ยิ่งดีใจเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

ครั้งพระพุทธเจ้า มีนางคนนึง มีความดีใจเอาดอกไม้มาบูชาพระของพระพุทธเจ้า ด้วยความดีใจจริงๆ ปีติยินดี จะไปกราบ ถือดอกไม้จะไปกราบ และด้วยความปีติยินดีอันนั้น เหาะไปเลย ลอยไปเลย แต่ว่าไปไม่ถึง ไปถึงแค่กลางทางนั้นน่ะ มันไปไม่ถึงที่กล่าวไว้ ก็บังเอิญกรรมมาตัดรอนไปซะ ตาย แต่ว่าตัวใจไม่ตายนั่นนะ ร่างกายมันก็ตายแท้ แต่ใจไม่ตาย ก็ไปสวรรค์ต่อ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็แปลว่าความปีติยินดีในทางพุทธศาสนานี้มันดีจริงๆ ขนาดไม่ต้องเดิน เหาะไปเลย อย่างนี้เป็นต้น แล้วไปก็ไปตายเสียครึ่งทาง ยังไม่ถึง แต่ว่าตายแล้วมันก็ด้วยความปีติยินดีเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พอใจในการบูชาพระพุทธเจ้านั้นน่ะ มันไปสวรรค์ทันที อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ความดีทางศาสนา ซึ่งมันดีกว่าความดีทางโลก ดีมาก เพลิดเพลินมาก ทุกข์มาก ก็มีความทุกข์มาก ดังที่เขาไปปีใหม่ที่ว่ามานี่แหละ 

ก็น่าสงสารเหมือนกันที่ความไม่เข้าใจ ที่ความไม่รู้ หรือถือประเพณี ประเพณีประเพณาก็ฆ่าตัวตายไป อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ฉะนั้นถ้าประเพณีทางศาสนาที่ทางองค์พระพุทธเจ้าของเรา เช่นว่า มีงานมีประเพณีแล้ว ก็จะทำไม่เอาความม่วน ความสนุก คือความสนุกๅกับความม่วนนั้น ม่วนกับเมามันก็อันเดียวกันนั่นแหละ ม่วนเมามัวมืด อย่างนี้เป็นต้น เหตุนั้นทางพุทธศาสนาเพิ่นสอนบ่ให้มัวเมาเกินไป รู้จักพอดี รู้จักความพอดียกตัวอย่างเช่นว่า ความยินดีก็อย่าไปยินดีมาก หลงก็อย่าไปหลงมาก รักก็อย่าไปรักมาก อย่างนี้เป็นต้น โกรธก็อย่าไปโกรธมาก โกรธนิดๆหน่อยๆไม่เป็นไร ถ้าโกรธมากเป็นโรคประสาท บางทีก็เป็นโรคหลายอย่าง 

บัดนี้ความโกรธมากนี้ ความโกรธนี้มันก็ไม่ดีเหมือนกัน เมื่อเวลาบำเพ็ญกุศลคุณความดี เจตนาของเราก็ต้องการไปสู่สุคติสวรรค์นั่นแหละ เพราะความอยู่ในสวรรค์นั้นมันมีความสุขจริงๆ ข้าวบ่ได้หา ปลาบ่ได้ซื้อ บ่ได้สร้าง บ่ได้ต้องสร้างบ้าน บ่ต้องซื้อข้าวกิน มีข้าวทิพย์ อาหารทิพย์ ของทิพย์ มีเนรมิตได้ ดังที่เราได้ทำการรักษาศีลอะไรต่างๆอย่างนี้เป็นต้น ก็มีความสุขความสบาย อย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าเมื่อเวลาไปอยู่สวรรค์นั้น เมื่อมีความโกรธขึ้นมาก็ตายทันที คนที่ตายจากสวรรค์ชั้นฟ้านั้น โกรธก็ตายทันที ตกสวรรค์ลงมาเลย ลงมาเมืองมนุษย์ มาก็อยู่ไม่ได้ เมืองมนุษย์เนี่ย มันไม่ละความโกรธ พลุบลงไปตกนรกต่อ อย่างนี้เป็นต้น เหตุนั้นจึงว่าความโกรธนี้ไม่ดีจริงๆ 

ส่วนความโลภก็ตายจากสวรรค์ได้เหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับไปนรก มาเกิดเป็นคน มาเกิดเป็นคนอีก ก็รู้สึกตัวก็บำเพ็ญอีก สร้างบารมีอีกก็ได้ไปสวรรค์ต่อ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าตายจากสวรรค์แล้ว ไปเกิดเป็นเปรต อย่างนี้ก็ขาดทุนหละ มาเกิดเป็นสัตว์ก็ขาดทุนเหมือนกัน 

แต่ว่าสัตว์บางตัวก็ไม่ขาดทุนเหมือนกัน ที่วัดที่หลวงตามีหมาขาวตัวนึง มันอยู่ในวัดนั่นแหละ มันเก่ง พระกินข้าวคาบเดียววันเดียว มันก็กินข้าวได้เหมือนพระ อย่างนี้เป็นต้น พระกินข้าวมื้อเดียว ฉันหนเดียว หมาตัวนั้นก็กินข้าวมื้อเดียวได้ เป็นต้น นี่หมาตัวหนึ่งพระทำวัตรสวดมนต์ มันก็ไปทำวัตรสวดมนต์กับพระทุกวั๊นทุกวัน อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งดีกว่าคน บางคนนั่นแหละ แย่กว่าหมา ไม่รู้จักไหว้สวดมนต์เลยก็มี อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นจึงว่าแล้วแต่บุคคลนั้นมีปัญญา เพราะว่าทุกคนๆที่เกิดมานี้ มาสร้างบารมี เช่นว่าปีใหม่นี้ก็ ปีใหม่ในโบราณนั้น เพิ่นมาจำศีลภาวนา รักษาศีลที่วัด ส่วนมากหลวงตาอยู่ภาคเหนือนั้น ปีใหม่เพิ่นมาวัดเต็ม คนเฒ่าคนแก่มารักษาศีลภาวนา สามวัน เจ็ดวัน อย่างนี้เป็นต้น สวดมนต์ไหว้พระ นั่งกรรมฐานภาวนา มานี่ถึงปีใหม่เดือนเมษานั่นน่ะ ปีใหม่ไทยเราแท้ๆ ส่วนนั่นปีใหม่สากล

เหตุนั้นจึงว่าลูกหลานก็มาอาบน้ำดำหัวที่วัดที่วานั่นแหละ ก็บันดาลให้ลูกหลานมันมาสู่ที่วัดที่วา กราบพระไหว้พระ มากราบพระไหว้พระ มาวัดมาวา เพราะพ่อแม่อยู่ในวัด อย่างนี้เป็นต้น เหตุนั้นจึงว่าประเพณีเก่าโบราณนั่นเพิ่นทำถูกดี แต่ว่าต่อมามันก็แปลกไปซะ แปลกไปเรื่อย เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไปตามความโลภ ความโกรธ ความหลงของสัตว์ทั้งหลาย ไปเรื่อยๆ 

เหตุนั้นสัตว์ทั้งหลาย คือเราทุกคนๆ มีหลวงตาเป็นต้น นี่แปลว่าสัตว์ทั้งหลาย ที่มีแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความห่วง ความอาลัย ความรัก ความชัง เป็นเครื่องปิดบังหนทางที่จะทำความดี แล้วก็มัวเมาไปตามประสาโลก ก็เลยห่างพุทธศาสนาไป เมื่อห่างพุทธศาสนาแล้ว มันก็เป็นไปดังที่กล่าวนั่นแหละ เมื่อไปด้วยความทุกข์ เมื่อเวลาไปรถชน ตกรถ มันเจ็บ มันทุกข์อย่างเนี้ย มันลืมหมด บุญกุศลมันลืม เมื่อมันเจ็บมาถึง มันปวดมาถึง มันลืมหมดแล้วหละ เรื่องบุญกุศลต่างๆ นึกถึงแต่ความเจ็บความทุกข์นั่นแหละ ทุกขเวทนาร้องไห้น้ำตาไหล ไม่มีที่พึ่ง อย่างนี้เป็นต้น 

แต่ว่าถ้าคนที่มีปัญญา เมื่อเวลาความเจ็บเข้ามาถึง มันไม่ลืม คือมันปุ๊บ ผลมา เคยรักษาศีลภาวนาพุทโธๆมา เมื่อเวลาเป็นเหตุมันบ่มีที่พึ่ง มันเข้าหาที่พึ่งทันที เอาพุทโธ เอาธัมโม เป็นที่พึ่ง ใจมันมั่นอยู่ในพุทโธ มันก็ตายไปเลย ก็ไปด้วยพุทโธนำไป พุทโธนำไป นำไปสุคติสวรรค์ นำไปในทางที่ดี ถ้าไม่มีพุทโธนำไปก็ มีแต่อพุทโธ มันก็นำไปทางที่ไม่ดี อย่างนี้เป็นต้น 

ยกตัวอย่างเช่นว่า ไปรถคว่ำรถหงายในกลางทาง แล้วไม่มีที่ไป ไม่มีที่ไป วิญญาณขันธ์นั้นแหละมันไม่ไปไหน มันก็อยู่นั่น ก็วนเวียนอยู่นั่น เค้าว่าผี รถคว่ำที่ไหนผีอยู่ที่นั่น ที่จริงไม่ใช่ ตัววิญญาณขันธ์นั่นเอง มันอยู่ที่นั่น ตัวมโนวิญญาณที่จะไปดีไปชั่วมันไปแล้ว วิญญาณขันธ์มันวนเวียนอยู่ที่ตายนั่นหละ ไม่ไปไหนหรอก วนเวียนอยู่ ไปๆมาๆ บางทีก็เดินตัดหน้าตัดหลัง เหตุนั้นก็บังเอิญให้ผู้ขับรถเห็น เขามาหลบหลีก มันก็เลยรถคว่ำไปซะเป็นต้น อันนี้ก็เป็นวิญญาณขันธ์ 

คือวิญญาณมันมีสองอย่าง มโนวิญญาณอันนี้ก็ใจเป็นของนำไป คือเราทุกคนๆที่มาเกิดมาแก่มาเจ็บมาตาย นี่มโนวิญญาณเป็นตัวนำ ตัวนำมาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย มาทุกอย่างนั่นแหละ มโนวิญญาณนั้นคือใจนั้น เป็นที่เก็บ เก็บทุกอย่าง เก็บความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าไม่มีปัญญา ผู้มีปัญญาก็เก็บในทางที่ดี เก็บกุศลคุณงามความดี เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นที่พึ่งภายในใจอย่างนี้เป็นต้น 

แต่ในทางพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงให้เลือกเก็บ สิ่งใดไม่ดีอย่าไปเก็บเอา เพิ่นว่าอารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ดีนั่น เรื่องที่ไม่ดีน่ะ ที่เป็นอดีตก็ตาม อนาคตก็ตาม ปัจจุบันก็ตาม สิ่งที่ไม่ดีนั่นเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี เพิ่นให้ละซะ ให้เอาอารมณ์ที่ดี ที่ใดที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ เช่นว่าพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ หรือว่าบุญกุศลต่างๆ สิ่งที่เป็นความดีนั่นแหละ เราก็มานึกอยู่ในใจของเรา ถ้าใจของเรานึกอยู่ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นึกอยู่ในความดี ใจของเราก็ดีขึ้นมาได้ ร้อนก็ดับไป อย่างนี้เป็นต้น ความกระวนกระวายก็ดับไป อย่างนี้เป็นต้น

ฉะนั้นหลวงตาบางทีมันก็ ตัว ว มันหาย หลวงตาน่ะ ชื่อ หลวง เค้าว่าหลวงปู่หลวง ตัว ว มันหายไปซะบางที ตัว ว เหลือแต่ตัว ง ตัวเดียว มันก็เป็นหลงหรือเปล่าเนี่ย เป็นหลงไปซะ เป็นหลงไปเสีย หลงไปในทางที่ไม่ดี หลงไปในรูปในเสียง หลงไปในสิ่งต่างๆ เอาแล้วบ่นี่ โอ้ มันหลงไป เราก็ตั้งสติได้ทันน่ะ อันนี้มันหลงแล้วเน่ มันหลงไปในทางที่ไม่ถูก อย่างนี้เป็นต้น เราก็ได้สติได้ปัญญาขึ้นมาก็ละอยู่นั่นแหละ เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นมี่พึ่งที่ระลึก กล่าวพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เช่นว่าอิติปิโสภควา อรหังสัมมา สัมพุทโธเนี่ยน่ะ นึกอยู่นั่น สุตตังๆ เจ็ดรอบรับรองหายความโกรธทันที 

อันนี้ก็เป็นอุบายอันหนึ่ง เพราะว่าใจของเราทุกคนมีกิเลสทุกคน ความโลภ ความโกรธ ความหลงน่ะมีทุกโค๊น ทุกคนนั่นแหละ ฉะนั้นที่เรามาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย มาทุกข์ มายากก็เพราะกิเลสมันพาให้มาเกิด แต่ว่าบุญกุศลก็มีอยู่ในตัวเราทุกคนนั่นแหละ เพราะว่าเราทุกคนๆมีทั้งบุญทั้งบาป มีทั้งบุญทั้งบาปประจำอยู่ในตัวเราทุกคน ดังที่เราได้ฟังพระเพิ่นเทศน์ หรือสวดในงานศพนั่นหละ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพพะยากะตา ธัมมา นั่นหละ 

กุสลา ธัมมา ก็คือใจของเรานั่นเอง อกุสลา ธัมมา ก็ใจนั่นแหละ อัพพะยากัตตา ธัมมานั่น ไม่ใช่ใจ ได้แก่ร่างกายสังขารของเราทุกคน ฉะนั้นจึงว่า กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพพะยากะตา ธัมมา  ที่สวดในงานศพนั้นจึงมีอยู่ในตัวของเรา เอาศพนั้นเป็นเหตุเฉยๆหรอก ฉะนั้นจึงว่ากุสลา ธัมมา ก็คือบุคคลที่มีปัญญา มีบุญนั่นเอง มีบุญ มีกุศลได้สร้างคุณงามความดีไว้ในอดีตเรียกว่าบุพเพกตปุญญตา ได้สร้างคุณงามความดีไว้แล้วอย่างนี้เป็นต้น ตั้งแต่อดีตชาติเคยเข้าวัดจำศีลภาวนา เคยภาวนา เคยสวดมนต์ไหว้พระ อย่างนี้เป็นต้น เคยฟังเทศน์ ฟังธรรม ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าอย่างนี้เป็นต้น

อย่างนั้นจึงว่า เมื่อมีเหตุกิจเกิดขึ้น มันก็ตัวกุศลผลบุญนั้นก็วิ่งเข้ามาในตัวของเราเลย ในใจของเรา นึกได้ รู้ขึ้นมาได้ทันทีอย่างนี้ เพิ่นว่า บุญกุศลมันดลบันดาลให้เรามีสติ มีปัญญา มีวิชา หรือว่ามีสติปัญญารู้จักหลบหลีกปลีกตัวอย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้ก็แปลว่าอาศัยบุญกุศลดลบันดาล เหตุนี้จึงว่าบุญกุศลนี้เป็นตัวนำ นำไปในทางที่ดี นำไปในทางที่เป็นประโยชน์ตนและคนอื่น นำไปในทางที่ไม่มีโทษไม่มีภัยอย่างนี้เป็นต้น ก็เพราะบุญกุศลมันดลบันดาลให้อย่างนี้เป็นต้น

แต่ว่าถ้าบุคคลไม่มีบุญกุศลแล้ว อกุศล คืออกุสลา ธัมมา นั่นแหละ แปลว่าคนไม่มีบุญ ไม่มีกุศล ไม่มีปัญญา มันก็ไปในทางตามกิเลส ไปตามความโลภ ไปตามโกรธ ตามความหลง ความนึกคิด นั่นตัวกิเลสมันพาไป เพราะมันมาก กิเลสมันไม่ใช่น้อย ที่เพิ่นกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกน่ะ กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด มันน้อยเมื่อใด เหตุนั้นจึงว่า กิเลสมันมีพันห้า ตัณหามีร้อยแปด เหตุนั้นบุคคลไม่มีปัญญา ไม่มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสทางพุทธศาสนาจึงสู้มันไม่ได้ สู้กิเลสไม่ได้ บางทีมันรู้อยู่ แต่สู้กิเลสไม่ได้ เพราะมันมาก มันมากมันหลาย กิเลสถึงพันห้านั่นน่ะที่จะพาเราไปในทางที่ไม่ดี ตัณหาก็มีร้อยแปด กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดเพิ่นว่า อย่างนี้เป็นต้น มันมาก 

เหตุนั้นทางพุทธศาสนานี้ก็จึงสอนให้ทำบุญไปหลายๆ ทำบุญให้มากๆ ศึกษาและอบรมกรรมฐานภาวนา อบรมธรรมะให้มีความรู้ความเข้าใจ เรียนวิชาปัญญาทางพุทธศาสนาได้บ่อยๆ ทำให้มันมากๆ ทำหลายๆ ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ภาวิตา พาหุลีกตา อภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ อย่างนี้เป็นต้น ฟังธรรมให้มาก ศึกษาให้มาก ทำให้มาก ทำให้หลาย มันก็สู้กิเลสได้อย่างนี้เป็นต้น เปรียบเหมือนว่าไฟกองใหญ่ น้ำขันน้ำเพียงคุสองคุ หาบสองหาบ มันก็ดับไม่ได้หละ น้ำกองไฟกองใหญ่ มันต้องเอาเครื่องมาดับ มันจึงจะได้ เครื่องดับไฟนั่นน่ะ มันจึงจะดับมันได้ ถ้าเอาน้ำไฟกองเล็กๆน้อย น้ำน้อยๆมันก็ดับได้ อย่างนี้เป็นต้น

ฉะนั้นบุญกุศลคุณความดีเป็นเหมือนน้ำ เป็นเครื่องดับ ดับไฟ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะเนี่ย ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า นัตถิ ตัณหา นัตถิ ขันธสมา ทุกขา นัตถิ ราคะ นัตถิ โทสะ นัตถิ โมหะ ราคสโม อัคคี ไฟเสมอด้วยตัณหาไม่มี ความอยากเสมอด้วยตัณหาไม่มี ไฟเสมอด้วยความโลภ ไฟเสมอด้วยความโกรธไม่มี อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้เป็นไฟ ไฟอันนี้แหละมันเป็นเครื่องมาเผาไหม้อยู่ในโลก

เหตุนั้นทางพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้สร้างบารมี สร้างบารมีอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้า เอาหลักบารมีเป็นหลัก คือทานบารมี สีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมีนี่เป็นหลัก เอานี่เป็นหลัก ถ้าไม่มีหลักตัวนี้ ก็สู้ไม่ได้อ้ะ 

ทานบารมีนี่ การเสียสละ สีลบารมีแปลว่า ทำความใจสงบคือมีศีลนั่นเอง เนกขัมมะบารมีก็คือว่ามีปัญญา ละสิ่งที่ไม่ดีที่ไม่ถูกนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นว่า ปีใหม่เค้าพาไปกินเหล้าเมาสุราอย่างเนี้ย ถ้าเรามีปัญญา เราก็หลบหลีกปลีกตัวซะ ไม่ไป เมื่อไม่ไปมันก็ไม่มีภัย ไม่มีความเดือดร้อนอะไรแก่เรา อย่างนี้เป็นต้น อันนี้แปลว่า ผู้มั่นอยู่ในศีลในธรรมแล้วก็นำมาซึ่งความสุขความเจริญได้ เพราะว่ามีปัญญา มีศรัทธาความเชื่อ มีกุสลา ธัมมา อยู่ในใจ อกุสลา ธัมมาแปลว่าไม่มีปัญญา ไม่มีศรัทธา ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา เพราะว่าเกิดมาชาติใด ก็เมาไปในทางที่ไม่ถูก

ยกตัวอย่างเช่นว่า ปีใหม่เพิ่นเข้าวัดจำศีลภาวนา มันก็ไปหาสุรานารีไปซะ อย่างนี้เป็นต้น มันก็มีแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความมัวเมาอย่างนี้กิเลส ตัวสติปัญญาไม่มีเลย จะละความโลภ ความโกรธ ความหลง มีแต่เพิ่มเรื่อยไป ได้ความทุกข์เรื่อยไปนั่นเอง ก็น่าสงสารเหมือนกันที่เกิดมาพบปะพุทธศาสนาแล้ว แทนที่จะหันหน้าหันตา เข้ามาปลูกศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใส ยินดีในการให้ทานรักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม เจริญกรรมฐานภาวนา เปล่า! ไปหาโน่น สุรานารี พาชีไปข้างนอกเรื่อยไป แล้วก็มาบ่นเนี่ย บ่นทุกข์บ่นยาก เงินเดือนไม่พอใช้ อย่างนี้เป็นต้น ไม่พอกินไม่พอใช้เพราะอะไร เพราะมันหันไปในทางที่ไม่ถูก เอาไปบำรุง ได้เงินมาบำรุงขวดซะ บำรุงสุรานารีซะ อย่างนี้เป็นต้น เงินเดือนบางคนนั้นแทนที่จะมาให้ลูกให้เมีย เปล่า! ไปกินเหล้าหมด เมียก็ด่าอย่างนี้เป็นต้น 

อันนี้เพิ่นว่า มันคนไม่มีปัญญา ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในทางพุทธศาสนา ไม่เชื่อเสียด้วย เชื่อกิเลสส่วนมาก เชื่อความโลภ​ ความโกรธ ความหลงเจ้าของนั่นแหละ เจ้าของหลงอย่างไร ก็ไปตามความหลงของเจ้าของ ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อครูบาอาจารย์พระเจ้าพระสงฆ์ มันก็ไปในทางที่ไม่ดีเดือดร้อน ดังที่กล่าวแล้วนั้นแหละ ก็น่าสงสาร 

เหตุนั้นพวกเราทั้งหลายที่เกิดมาในยุคนี้ มาโชคดีวาสนาดี มาเกิดในเมืองไทย ได้มีพุทธศาสนา ได้พบปะธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้า มีครูบาอาจารย์มาสอนศีลธรรมกรรมฐาน เดินทางลัดตัดทางตรงคือวงศ์กรรมฐานภาวนาก็มีหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตเนี่ยที่เผยแผ่กว้างขวางในยุคนี้ก็เรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งก็ว่าได้ แต่ว่าหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตนี้ก็ได้มาคุณธรรม ศีลธรรมกรรมฐานจากเจ้าคุณอุบาลี บัดนี้เจ้าคุณอุบาลีก็ได้คุณธรรมหลักฐานมาจากพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ฉะนั้นรัชกาลที่ ๔ นั้นเป็นผู้ที่มีบุญมาก บุญวาสนามาก เป็นผู้ฟื้นฟูพุทธศาสนา ตั้งศีลธรรมกรรมฐานขึ้นมา ปฏิบัติศีลธรรมกรรมฐานขึ้นมาเป็นหลักเป็นฐานอันมั่นคงถาวร จึงได้ตั้งคณะปฏิบัติขึ้น ปฏิบัติศีลธรรมกรรมฐานให้ถูกต้องสมมุติให้เป็นธรรมยุต ธรรมยุตก็คือว่ายึดเอาคำสอนพระพุทธเจ้าให้มันถูกต้อง ตามศีลธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าอย่างนี้เป็นต้น เหตุนั้นจึงว่าท่านก็ยึดเอาคำสอนพระพุทธเจ้านี่ให้มันถูกต้องเป็นต้นมาตามลำดับ 

เหตุนั้นจึงว่าธรรมยุต แต่ก่อนนั้นธรรมยุตมันไม่มีหรอก มหานิกายก็ไม่มี เค้าว่าสงฆ์ไทย เค้ามากล่าวให้หลวงตาฟัง เค้าว่ามหานิกายเกิดก่อน ธรรมยุตเกิดทีหลัง เกิดเมื่อพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ ๔ นี่ มันบ่แม่น มันบ่ถูก สูไม่รู้ ไม่มี แต่ก่อนไม่มีด้วย ธรรมยุตก็ไม่มี มหานิกายก็ไม่มี เค้าว่าสงฆ์ไทยๆ ครูบาอาจารย์นั่นอาจารย์นี่ มาเกิดขึ้นในร. ๔ นี่เอง เป็นผู้ตั้งขึ้น ตั้งขึ้นว่าคณะนี้ยึดเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เป็นฐานเป็นปฏิบัติ เรียกว่าธรรมยุต อย่างนี้เป็นต้น หมู่นั่นหมู่มากหมู่หลาย มหานิกายเพิ่นว่า 

ฉะนั้นผู้ใดมีศรัทธามีปัญญา เพิ่นก็ยึดเป็นตัวอย่าง เดินกรรมฐานธุดงค์ภาวนา ร.๔ นั่นแหละ เดินธุดงค์กรรมฐานภาวนาไปภาคเหนือโน่น ถึงสวรรคโลก เมืองสุโขทัยสุโขลาวนี่แหละ ไปวิเวก ไปเดินธุดงค์กรรมฐานภาวนา จึงไปพบของดีวิเศษ วัดร้างเยอะ จึงได้ขนมาไว้วัดบวรฯน่ะของศักดิ์สิทธิ์ อันนี้เป็นต้น ภาคกลางก็เดินถึงเพชรบุรี ภาคอีสานก็ถึงนครราชสีมา อย่างนี้เป็นต้น เดินธุดงค์กรรมฐานภาวนา กินข้าวมื้อเดียวเทียวจงกรม พายบาตรไป เดินธุดงค์กรรมฐานไป ปฏิบัติศีลธรรมกรรมฐานเนี่ย เนี่ย ร. ๔ เนี่ยเป็นหลัก เป็นปฏิบัติศีลธรรมกรรมฐาน เหตุนั้นสืบมาเป็นลำดับๆ ต่อมาครูบาอาจารย์ในยุคนี้ก็ปฏิบัติถูก มีเจ้าคุณอุบาลี มีหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เต็มประเทศไทย ที่มีพระธุดงค์กรรมฐานภาวนาปฏิบัติบูชาในทางที่ถูกสืบมาเป็นลำดับๆ 

ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายก็ได้มาพบปะธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า คือครูบาอาจารย์ชี้ช่องบอกทางแนวทางปฏิบัติ ทางนี้มันผิด อย่าไปทำ โลกาธิปไตยนั้นน่ะ มันไม่ดี โลกาธิปไตยนั่นมันมันไปในทางที่ไม่ถูก ไปในทางที่ไม่ดี ให้ละเสีย ไม่เที่ยงแท้แน่นอนหรอก กฏหมายโลกตั้งขึ้น ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ฉะนั้นกฏหมายของพระพุทธเจ้านั้นน่ะ คือศีลธรรมกรรมฐานเป็นของแน่นอนที่สุด อย่างศีล ๕ อย่างเนี้ย ศีล ๕ ก็ดี ศีล ๑๐ ศีลกรรมบถ ๑๐ ก็ดี อย่างนี้เป็นต้น 

บัดนี้ธรรมของฆราวาสก็ดี ธรรมของศรัทธาญาติโยมก็ดี ธรรมของชาวบ้านเพิ่นตั้งไว้ ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ คือมีความหมั่นขยันในการประกอบกิจการงาน แล้วก็รักษาทำการงานนั้นในทางที่ดี เมื่อหาเงินหาทองมาได้แล้วก็รักษาไว้ในทางที่ดี รักษาไว้ในทางที่ถูก แล้วกัลยาณมิตตตา อย่าคบเพื่อนคนไม่ดี สัมมาชีวิตตา เลี้ยงชีวิตชอบ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อบุคคลผู้ใดทำตามคำสอนพระพุทธเจ้านี่ โห รับรองมีความสุข มีความสุขในโลกนี้แน่นอน แต่ว่าบุคคลที่มีความหมั่นความขยันอันนี้ ทางไสยศาสตร์เขาก็นำไปเป็นคาถามหานิยม อุ (อุฏฐานสัมปทา) อา(อารักขสัมปทา) กะ(กัลยาณมิตตตา สะ(สมชีวิตา) คาถามหานิยมเพิ่นว่า เสกคาถาจะได้เป็นเศรษฐี อย่างนี้เป็นต้น อุ อา กะ สะ เนี่ยคาถามหานิยม จะได้เป็นเศรษฐีเพิ่นว่า อย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นเศรษฐีจริงๆ 

มีอยู่คนนึงอยู่เมืองนนท์เนี่ย เป็นจีนหาบของขาย ต่อมาไปหาพญานันทะ ให้ของดี อุ อา กะ สะ นี่เอง แกก็ทำตามหลักอุ อา กะ สะ ก็ได้เป็นเศรษฐีจริง พ้นจากการหาบของขายเลยอย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นของแท้ของจริง 

เช่นว่า อุ อุฏฐานสัมปทา มีความหมั่นความขยัน 

อา อารักขสัมปทา รักษา คือว่ารักษา อารักขแปลว่ารักษาคุณงามความดีได้ รักษาตัวของเรา รักษาชีวิตของเราในทางที่ดีที่ถูก คำว่ารักษานี่ รักษาตัว รักษาสมบัติด้วยอย่างนี้เป็นต้น 

สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตชอบด้วย ไม่ลักไม่ขโมย ไม่ปล้นจี้มากินมาใช้

กัลยาณมิตตตา มีเพื่อนที่ดีด้วย เพื่อนดีนี่เป็นของที่มีความสุขแท้ เพื่อนดีมีความสุข นำมาซึ่งความสุขความเจริญได้ เพื่อนไม่ดีก็นำไปซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อน ที่เราก็รู้กันอยู่ว่า คบคนดีมีศรีแก่ตัว คบคนชั่วพาตัวยากจน คบคนไม่ดี อัปรีย์จัญไร อย่างนี้เป็นต้น

อันนี้มันก็เป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้านั่นแหละชี้ไว้ เหตุนั้นบุคคลที่ไม่ดี บุคคลที่เดือดร้อนก็เพราะไม่ฟังคำสอนพระพุทธเจ้านั่นเอง เอาอัตตาธิปไตย เอาตนเป็นใหญ่ เอาโลกาธิปไตย เอาโลกเป็นใหญ่ อย่างนี้เป็นต้น มันก็ไปเดือดร้อนดังที่กล่าวนั่นแหละ ไปกันหมด เดือดร้อน ปีใหม่ก็ไหลกันไป แย่งกันไป แย่งกันขับรถ แย่งกันไปแย่งกันมา ชนกันวุ่นวะวุ่นวายตายกันหลายพัน ปีนี้ก็หลายพัน เจ็บหลายหมื่น อย่างนี้เป็นต้น ทนทุกขเวทนา แทนที่จะได้ความสุขความสบาย เปล่า ธรรมเป็นโลกีย์ว่าโลกาธิปไตยมันไปอย่างนั้นแหละ อัตตาธิปไตย ไปอย่างนั้นแหละ เหตุนั้นไม่เอาธรรมาธิปไตยเป็นใหญ่ก็ได้ความทุกข์ความเดือดร้อน

เหตุนั้นพวกเราทั้งหลายเกิดมาในยุคนี้ได้มาพบปะธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้า มีความเชื่อความเลื่อมใส มีความตั้งอกตั้งใจสร้างคุณงามความดี ตั้งใจให้ทาน ตั้งใจรักษาศีล ตั้งใจเจริญกรรมฐานภาวนา ไหว้พระสวดมนต์ มีฟังเทศน์ฟังธรรม นำมาซึ่งความสุขความเจริญในปัจจุบันในโลกหน้า