Skip to content

พุทโธเป็นที่พึ่งสูงสุด

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

บริกรรมพุทโธคำหนึ่งนั้นถือว่ามีอานิสงส์มากมาย เราบริกรรมไปหลายครั้ง นับครั้งไม่ถ้วน อานิสงส์นี้ก็เพิ่มพูนยิ่งขึ้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในมหาสมัยสูตรว่า

พุทฺธํ สรณํ คตาเส

น เต คมิสฺสนฺติ อปายภูมึ

ปหาย มานุสํ เทหํ

เทวกายํ ปริปูเรสฺสนฺติ

แปลเป็นใจความว่าเมื่อบุคคลผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งโดยการบริกรรมพุทโธ บุคคลผู้นั้นละจากอัตภาพนี้แล้วก็จะได้ไปเป็นอัตภาพเทวดา ข้อนี้เป็นความจริงที่ว่าเราพากันบริกรรมพุทโธนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อข้อที่ ๑ อานิสงส์ ข้อที่ ๒ เพื่อทำจิตของตนให้สงบ 

ความสงบของจิตนั้นถือว่าเป็นอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ดังที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี เราจะไปแสวงหาความสุขอื่นนั้น สู้ความสุขที่เกิดขึ้นจากเวลาที่จิตมันรวม เวลาจิตมันสงบ ไม่ได้ เพราะว่าความสุขที่เกิดมาจากจิตนั้นเป็นความสุขที่เรียกว่า นิรามิสสุข เป็นความสุขที่ปราศจากอามิสทั้งปวง ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิเท่านั้นที่จะพากันได้รับรสพระสัทธรรมนี้ 

นอกเหนือจากผู้ที่ทำสมาธิแล้ว จะไม่มีใครได้รับรสพระสัทธรรมอย่างนี้เป็นอันขาด เพราะอะไร เพราะว่าแม้ว่าคนนั้นจะทำบุญทานการกุศล บริจาคทานอย่างใดอย่างหนึ่ง รักษาศีลไปตามปกติ เขาก็คิดเอาว่าได้บุญ บุญก็เกิดขึ้นแก่เขาไปตามภาวะ แต่ว่าเขาจะมาได้รับความสุขเหมือนกันกับบุคคลผู้ที่ทำสมาธินั้นย่อมไม่ได้ บุคคลผู้ทำสมาธินอกจากว่าจะได้อานิสงส์แล้ว ความสุขก็เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้นอย่างที่หานับประมาณมิได้ 

จิตใจของคนเรานั้นมันอยู่ไม่เป็นสุข ท่านจึงเปรียบเหมือนกันกับลิง ลิงนั้นแม้มันจะนั่งอยู่เฉยๆ คิ้วมันก็กระดก มันจะอยู่เฉยไปไม่ได้ จิตของคนเราก็เป็นเช่นเดียวกันกับลิง อยู่เฉยไม่ได้ นึกโน่นนึกนี่ เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะไปนึกสารพัดสารพัน เราก็มานึกซะแต่ที่พุทโธ ใจของเราก็จะเกิดเรียกว่าเกิดคุณธรรม หรือเรียกว่าเกิดอมฤตธรรม คำว่าอมฤต แปลว่าสิ่งไม่ตาย คือสิ่งที่ไม่สูญเสียและไม่สูญสลาย 

ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าหากว่าเราจะลองคิดดู แม้กระทั่งร่างกายของเราตลอดจนกระทั่งสรรพสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ เกิดขึ้นในเบื้องต้น คร่ำคร่าในเบื้องกลาง สลายตัวไปในที่สุดทั้งสิ้น อันนั้นเรียกว่าสูญเสีย ทุกอย่างอยู่ในขั้นที่ว่าสูญเสีย เวลารับประทานอาหารก็ดูอาหารก็ตบแต่งมาก็สวยอยู่ รับประทานไปก็อร่อยอยู่ แต่ในที่สุดก็สูญเสีย กลายเป็นสิ่งที่ปฏิกูลไปอย่างนี้เป็นต้น แต่ส่วนการที่มีจิตใจที่สงบ มีจิตใจที่มีความปรกติแห่งความสงบนั้น มิได้สูญเสียไปเช่นเดียวกันกับสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตา 

ความที่เรามีจิตที่เรียกว่าคุณธรรมที่เกิดขึ้นจากสมาธิ อันที่เรียกว่าจิตรวมจิตสงบนั้น จะต้องฝังสนิทติดอยู่ในใจของเราตลอด เมื่อเราจะตายไปจากชาตินี้ไปถึงชาติต่อไป หรือจะไปถึงไหนก็ตาม สมาธิที่เราได้กระทำลงไปนั้น ย่อมจะต้องฝังสนิทติดอยู่ในใจของเราอยู่ตลอด ไม่ว่าเราจะทำน้อย ไม่ว่าเราจะทำมาก สิ่งนั้นก็จะต้องกลับคืนมาสู่ภาวะ คือกลับคืนมาฝังสนิทอยู่ที่จิตของเรานี่ เพิ่มพูนไปทุกกาลและเวลา เมื่อก่อนเราทำได้แค่ร้อย เดี๋ยวนี้เราทำพัน ต่อมาทำพันก็กลายเป็นหมื่น สิ่งเหล่านั้นก็จะไม่กลับมาเป็นพันเป็นร้อยอีก มันก็จะเพิ่มตัวเค้าเรียกว่าเพิ่มพูน 

เพราะฉะนั้นคำว่าที่ว่าบุญก็ดี วาสนาก็ดี บารมีก็ดี สิ่งเหล่านี้เกิดจากอมฤตธรรมทั้งนั้น เค้าเรียกว่าธรรมที่ไม่ตาย จะต้องเพิ่มคือจากนี้ เราทำมากี่ปี ๙ ปี ๑๐ ปี หรือกว่านั้น สิ่งเหล่านั้นก็ฝังสนิทติดอยู่ที่ใจของบุคคลผู้นั้นตลอดไป แล้วก็ไม่ใช่ว่าฝังสนิทติดอยู่เฉยๆ ยังคุณประโยชน์ให้แก่บุคคลผู้นั้น เหลือที่จะนับ เหลือที่จะประมาณ 

ในครั้งที่อาตมาเคยได้รับผลประโยชน์จากสมาธิเป็นครั้งแรก โดยที่ยังไม่ได้หัดนั่งสมาธิเลย เพียงแต่ว่านึกว่า “เราไม่มาอีกแล้ว ไม่มาอีกแล้ว” ไม่ได้นั่งสมาธิด้วย นั่งเฉยๆอยู่ในศาลาแห่งนึง เพราะเจ็บปวดเมื่อย ไม่เคยได้รับความทุกข์ทรมานมากขนาดนี้ ในสมัยเป็นเด็ก แต่ว่าในขณะนั้นสมาธิเกิดขึ้นมาอย่างที่น่าอัศจรรย์ จิตก็ได้รวมลงไป ปรากฏว่ามีความเยือกเย็นสบายมหาศาลเกิดขึ้น อันนั้นเองที่ว่าเป็นเริ่มแรกที่จะทำให้อาตมาได้พยายามทำเพื่อที่จะให้เกิดความสุขอย่างนั้นตลอดมาอีก 

อันที่เป็นเช่นนั้น อาตมาก็เข้าใจว่าอันความที่เป็นสมาธิขึ้นมาได้นั้นคืออดีต เราเคยทำมาแล้ว ชาติใดเรารู้ไม่ได้ เมื่อมาถึงปัจจุบันแล้วสิ่งนั้นมันได้ส่งผลมาให้ จนกระทั่งบังเกิดขึ้นความเชื่อความเลื่อมใสในศาสนา สามารถที่จะปฏิบัติจนกระทั่งมันเกิดผลขึ้นมาแก่ตนของตน ดังนั้นจึงกล้าพูดได้ว่า สามารถได้พูดอย่างเต็มคำว่า ผู้ที่ปฏิบัติธรรมต่างๆนั้นไม่ต้องไปพากันพะว้ากังวล คือไม่กังวลว่าเราจะได้ธรรมะแค่ไหน เราอาจจะคิดว่า “เอ๊ะ ทำเกือบล้มเกือบตาย ไม่เห็นมันได้ตรงไหน” อย่าได้ไปคิดอย่างนั้นเป็นอันขาด สิ่งที่ได้นั้นเราไม่รู้ตัว 

เหมือนกันกับเราที่เราโตขึ้นมานี่ ตั้งแต่ก่อนเราเป็นเด็ก อ้าว เดี๋ยวนี้เราเป็นหนุ่มมาได้ยังไง เป็นสาวมาได้ยังไง อ้าว เดี๋ยวนี้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้ยังไง อ้าว เดี๋ยวนี้เราแก่ขึ้นมาได้ยังไง เราไม่ได้รู้หรอกว่ามันจะยืดตัวขึ้นมาวันละเท่าไหร่ กี่เซ็นต์ กี่นิ้ว เหมือนกันกับเราปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้นั้น เราจะไปนั่งดูต้นไม้นี้ว่าวันนึงมันจะขึ้นกี่มิล กี่เซ็นต์ กี่นิ้ว เราไปดูเท่าไหร่ก็ไม่เห็น แต่ว่าถ้านานๆเราไปดูที มันก็ขึ้นศอกขึ้นแขน ฉันใดก็ดี สมาธิที่เรามีอยู่นั้น และที่เราพากันฝึกฝนและกระทำนั้น มันจะต้องสะสมไปในตัวของมันเองเสร็จ เมื่อมันสะสมไปสะสมไป ในที่สุดมันก็แก่กล้าขึ้น มันก็มากขึ้นตามลำดับ มากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว 

เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ต้อง คือไม่ต้องมีความวิตกและกังวล เพราะการทำสมาธินั่นท่านห้าม ไม่ให้เกิดความวิตกและกังวล ว่าเราจะได้หรือไม่ได้ ดีหรือไม่ดี เรียกว่าวางเป็นอุเบกขา เมื่อวางเป็นอุเบกขาแล้ว ความเคลื่อนไหวหรือความเป็นไปต่างๆนั้น มันจะเป็นไปตามภาวะที่ถูกต้อง เพราะว่าธรรมะก็เรียกว่าธรรมะอยู่แล้ว ธรรมะก็คือความเที่ยงตรง 

ความเที่ยงตรงก็คือว่าไม่มีเบนไปทางโน้นทางนี้ เหมือนกันกับคนที่คดในข้องอในกระดูก บางคนนั้นน่ะจิตไปอย่างนึง ใจไปอย่างนึง กายไปอย่างนึง ปากไปอีกอย่างนึง ไอ้อย่างนั้นมันก็เป็นธรรมชาติมนุษย์ แต่ว่าใจของเราที่เราพากันฝึกฝนและพากันทำนั้น ก็เรียกว่าธรรมะเที่ยงตรง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไม่ได้ปากอย่างหนึ่ง ใจอย่างหนึ่ง ย่อมจะต้องปรกติ เป็นไปตามปรกติ เมื่อเราทำขึ้นมาเท่าไร ก็จะต้องปรากฏผลขึ้นมาเท่านั้น แล้วก็ยังอยู่ในจิตอยู่อย่างนั้น แล้วก็เพิ่มพูนขึ้นไปอย่างนั้น ต่อเนื่องไปอย่างนั้น นี่คือลักษณะของการบำเพ็ญ 

เมื่อบำเพ็ญมากเข้าอย่างไร นั่นก็สุดแล้วแต่ผู้ที่มีศรัทธา ความศรัทธาที่จะเกิดขึ้นมานั้น อยู่ที่แต่ละบุคคล เมื่อแต่ละบุคคลนั้นมีศรัทธา ศรัทธาก็จะต้องเป็นผู้ชักจูงชักนำ ศรัทธานั้นหมายความว่าความเชื่อถือ ความเคารพ ความนับถือ ความมีความคิดที่ว่า มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้เกิดขึ้นในสิ่งนั้น เรียกว่าศรัทธา เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นมานี่ ไม่ว่าจะอยู่ไกลก็ตาม อยู่ใกล้ก็ตาม เราจะต้องเดินทางไปให้ได้ คือเดินทางไปถึงให้ได้ เพราะศรัทธามีแล้วใครจะขวางกั้นไม่ได้ คนเรานี่ถ้าลงมีศรัทธาแล้วไม่มีอะไรขวางกั้นได้ ศรัทธานี้จึงเป็นพลังมหาศาล เรียกว่าศรัทธานี้เป็นศรัทธาพละ กำลังแห่งศรัทธานี่เหลือจะนับ เหลือประมาณ 

เพราะฉะนั้นการที่ได้มาบำเพ็ญกุศลหรือจำศีลภาวนานั่งสมาธิกันนี้ ก็เพราะเหตุที่ว่าศรัทธานั้นเป็นตัวตั้งชักจูงให้เรามาว่า เราจะต้องมาที่นั้น เราจะต้องนั่งสมาธิอยู่นั่น เราจะต้องทำที่นั้นอย่างนี้เป็นต้น แล้วเราก็มาทำจริงๆด้วย หมายความว่าเราก็จะต้องไม่ยอมที่จะเสียเวลา เพราะอาศัยศรัทธาเป็นตัวตั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นจะยากลำบากแค่ไหนนั้น ไม่มีปัญหา จะต้องเดินทางมาพบความจริงนั้นให้ได้ นั่นคือศรัทธา 

และนอกเหนือจากนั้นเมื่อเรามาก็จะต้องมาพบสิ่งหนึ่ง ที่เราจะต้องต่อสู้ สิ่งนั้นคือมาร มารนั้นมีเยอะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าขันธมาร กิเลสมาร เทวบุตรมาร มารนั้นไม่ได้อยู่ที่อื่นไกล อยู่ที่แต่ละบุคคล อยู่ในตัวแต่ละบุคคล ต่างคนต่างมีมารด้วยกันทั้งนั้น เราไม่ต้องไปโทษคนอื่น ตัวเรานี่แหละที่เป็นมารแก่ตัวของเราเอง เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อเราเจ็บเราปวดเราเมื่อยเราเหนื่อยเราหิว เราก็ไม่ทำซะแล้วสมาธิ เราก็ไม่พยายามที่จะรักษาศีลซะแล้วเมื่อเห็นความลำบาก นั่นคือมาร พวกมารเหล่านี้เยอะ 

แม้กระทั่งเวลาจิตสงบลงไปแล้ว มารมันก็ยังตาม ตามไปจนกระทั่งถึงไหนถึงกัน เพราะฉะนั้นในการที่เราจะแก้ไขตัวมารนี้ได้นั้น อยู่ที่ความเอาจริง อยู่ที่ขันติความอดทน วิริยะความพากเพียร อุตสาหะความบากบั่น ที่เราจะต้องต่อสู้ให้ชนะ อย่างที่เรานี้เคยชนะมาแล้ว ท่านทั้งหลายเคยชนะมาแล้ว นั่นคือชนะเป็นขั้นเป็นตอน ขั้นตอนแห่งความชนะนั้นมันมีหลายขั้นตอน 

จากบ้านเราก็จะมาวัด ถ้าหากว่าเราไม่ชนะ เรามาไม่ได้ พอเราชนะ เราก็มาได้ นี่เรียกว่าขั้นตอนหนึ่ง เมื่อมาถึงวัดแล้วก็อยากกลับบ้าน เราก็ชนะอีก แล้วเราก็อยู่ อยู่แล้วทีนี้เราก็จะต้องรักษาศีล เราก็คิดว่ารักษาศีลก็มากแล้ว เอาไว้วันพระอื่นเถอะ ถอยซะก่อนวันพระนี้ อ้าว มารผจญ แต่ทีนี้เราไม่เชื่อ เราก็จำศีลต่อไป ก็เรียกว่าชนะมาอีกขั้นหนึ่ง เมื่อผ่านการจำศีลมาแล้วก็มาถึงการฟังเทศน์ เมื่อมาถึงการฟังเทศน์ก็คิดว่าเมื่อไรก็เทศน์อย่างนี้ เมื่อไรก็เทศน์อย่างนี้ ในที่สุดฉันก็ไม่อยากฟังอีกหละ หนีไปดีกว่า นอนดีกว่า หลีกเลี่ยงซะดีกว่า แต่ทีนี้เมื่อมันคิดอย่างนั้นเราก็ไม่ได้ทำตาม เราก็นั่งฟังเทศน์ต่อไปจนกระทั่งได้ฟังเทศน์หนึ่งจบสองจบ กี่กัณฑ์ๆ นับกัณฑ์มากันไม่ถ้วน อันนี้เราก็ชนะมาอีกขั้นตอนหนึ่ง 

และต่อไปเราก็จะต้องนั่งสมาธิ เราก็คิดว่านอนดีกว่า เพราะนั่งมันเจ็บโน่นเจ็บนี่ นอนมันสบาย ก็เลยนอน นั่นแพ้ แต่พอเรามาคิดว่า เอ๊ะ นั่งสมาธิ มันอยากจะให้เรานอน มันอยากจะให้เราเลิก มันจะอยากจะให้เราไม่อยากทำ เราก็ฝืน นอนเราก็ไม่นอน เราก็นั่ง มันอยากจะให้เลิก เราก็ไม่ยอม ในที่สุดเราก็ชนะมันอีกขั้นตอนหนึ่ง นี่เรียกว่าครั้งที่หนึ่ง ต่อไปครั้งที่สอง เราทำแล้วเราก็คิดว่า “เราก็ทำมาตั้งเยอะแล้ว เราอย่าทำเลย เราทำมาเนี่ยมากี่ปีแล้วนี่ ห้าปี เจ็ดปี สิบปี โอ้ย ตั้งเยอะแยะ พอแล้ว” นั่นก็เรียกว่า ถ้าหากว่าพอจริงๆก็เรียกว่าแพ้ แต่ว่าเราไม่พอ เราก็ตั้งใจทำมันต่อไปอีกอย่างนี้ ก็เรียกว่าชนะ ก็เรียกว่าชนะมารไปอีกตามขั้นตอน 

เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็ต้องสู้กันไปเรื่อยน่ะ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราก็สู้กับมารกันไปอย่างนี้ แล้วการสู้นั้นผลออกมายังไง มันก็เหมือนกันที่เขาไปต่อสู้อะไรต่างๆอย่างนี้ แล้วผลออกมาไง ออกมาแพ้ ใช้ไม่ได้ ออกมาชนะ ใช้ได้ อย่างนี้ เพราะฉะนั้นอย่างที่เราพากันมาบำเพ็ญทุกวันพระก็ดี อะไรก็ดี ทุกวันก็ดี อันนั้นล้วนแล้วแต่ว่า เราอยู่ในฐานะชัยชนะแล้วผลที่ออกมาเป็นเงินเป็นทองเป็นข้าวเป็นของ นี่หมายความว่าสำเร็จ ค้าขายสำเร็จ ทำนาสำเร็จ ทำราชการสำเร็จ นั่นเรียกว่าชัยชนะ เขาได้เงินเดือนตอบแทน และเขาก็ได้กำไรตอบแทน แล้วเขาก็ได้ผลิตภัณฑ์อาหารตอบแทนอย่างนี้ นั่นคือผลตอบแทนของการชนะ 

สำหรับที่เราพากันทำกันสมาธิ ผลการตอบแทนคืออริยทรัพย์ หรือเรียกว่าคุณธรรม หรือเรียกว่าอมฤตธรรม อันนี้เป็นสิ่งที่ตอบแทนเรา ถึงแม้ว่าจะเป็นนามธรรม เรามองไม่ค่อยเห็นเท่าไร แต่ว่ามันก็มีความรู้สึก ความรู้สึกที่มีอยู่ในใจของเรานี่ อันนั้นแหละ แสดงให้เห็นถึงว่าเราได้ผล 

อันคนเรานั้นไม่ใช่ว่าเราจะไปมีความสุขเพราะวัตถุนั้นวัตถุนี้ก็หาไม่ ความสุขที่เกิดขึ้นจากใจ อย่างคนได้เงินมาเยอะๆก็มีความสุข ไม่ใช่สุขอยู่ที่เงิน แต่ว่าสุขอยู่ที่ใจ บางคนได้สิ่งที่สมความปรารถนามา มีความสุขก็ไม่ใช่สุขที่เราไปเจอสิ่งที่ปรารถนา แต่ว่าสุขอยู่ที่ใจ เราได้บ้านหลังหนึ่ง ไม่เคยได้แต่มันก็มีความสุข ความสุขมันก็ไม่ได้อยู่ที่บ้าน แต่ความสุขมันก็อยู่ที่ใจ ลงผลที่สุด ถ้าหากว่าใจมันออกจากร่างไปแล้ว เอาอะไรมาเป็นความสุข มันก็ไม่มี เรามีบ้าน นอนตายแล้วจะมีประโยชน์อะไร เรามีเงินกองท่วมเป็นร้อยล้านพันล้าน แต่เราตายซะแล้ว จะมีประโยชน์อะไร เราได้ข้าวได้ของต่างๆมาเยอะแยะ แต่เราก็ตายซะแล้ว มันจะได้ประโยชน์อะไร ร่างกายที่ใจออกจากร่างไปแล้วนั้น มันไม่มีความรู้สึก ตาก็ไม่เห็น หูก็ไม่ได้ยิน ร่างกายก็ไม่รู้สัมผัสอะไรทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าตายแล้ว คือใจออกไปซะแล้ว 

ทีนี้เมื่อใจยังอยู่ ใจมันยังไม่ทันออกไปจากร่าง เมื่อเราจะได้รับผลอันใดนั้น ผลอันนั้นเกิดขึ้นจากความสบายใจ เกิดขึ้นจากใจ อย่างความเป็นทุกข์เดือดร้อน เงินไม่มี ไม่พอใช้ บ้านไม่มี ไม่มีที่อยู่อาศัย เกิดความเป็นทุกข์ เป็นหนี้เป็นสิน เกิดความเป็นทุกข์ ผู้ที่เรารักเราชอบใจเกิดตายไป เกิดความเป็นทุกข์ ทุกข์ก็ทุกข์ที่ไหนหละ มันไม่ได้ทุกข์ที่คนตาย มันไม่ได้ทุกข์ที่ไม่มีเงิน มันไม่ได้ทุกข์ที่มันเป็นหนี้ แต่ว่ามันทุกข์อยู่ที่ใจ ใจเป็นผู้รับทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เดือดร้อนอะไรต่างๆนั้น เกิดขึ้นจากใจ 

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะเสวยสุขจากการบำเพ็ญสมาธิกรรมฐานภาวนา มันก็มีความสุขอยู่ทางใจ แล้วจะเอายังไง มันก็มีอยู่แค่นี้ ถึงยังไงก็ตามมันก็มีอยู่แค่นี้ อย่างคนที่ว่าแต่ก่อนได้เงินแสนก็สุข ต่อมาได้เงินล้านก็สุข ต่อมาได้เงินร้อยล้านก็สุข อันความสุขเหล่านั้นมันก็มีอยู่แค่ที่ใจเท่านั้นหละ ใจมันมีความสุข เมื่อเราทำสมาธิเกิดขึ้น เราได้สมาธิ เรามีสมาธิ ความสุขก็เกิดที่ใจ มันก็อยู่กัน ก็เหมือนกัน ความสุขอันนี้เป็นที่เราต้องการแต่เราก็ได้จากการทำสมาธิ อย่างนี้อันมันเป็นความสุข เมื่อเป็นความสุขอย่างนี้เราก็ถือว่าถูกต้องแล้ว แม้เราจะเหน็ดเหนื่อยเพียงใด เราได้อย่างนี้ก็ถูกต้องแล้ว 

ถ้าเราจะเปรียบเทียบกับที่เราพากันสร้างสรรค์ฐานะสมบัติ ที่เราพยายามกระทำมันขึ้น เราได้ใช้ร่างกายและจิตใจนี้ไปอย่างมหันต์อนันต์ บางคนอย่างนี้ทำจนกระทั่งไม่รู้กลางวันกลางคืน ทำงานเหน็ดเหนื่อย อาบเหงื่อต่างน้ำ สารพัดที่ทำขึ้น อันนั้นก็หมายความว่าใช้ความพยายามที่จะกระทำขึ้น ในที่สุดต้องการอะไร ก็ต้องการความสุขที่ใจนั่นเองแหละ แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนแต่ความสุขที่มีอยู่ในใจ ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติทั้งหลายแหล่ เราจึงมีความมั่นใจในตนของตนเองและเป็นผู้ที่เข้าใจแล้วว่า อันการกระทำเช่นนี้นั้นก็คือการทำความสุขอันที่เรียกว่าถูกต้องที่สุด 

ความถูกต้องนั้นเราหาได้ยาก เราจะไปหาความถูกต้องที่ไหน มันก็หาได้ยาก แต่ถ้าหากว่าเราทำความสงบขึ้นมาในใจได้แล้วนั่น เป็นความถูกต้องที่เราหาได้มาแล้ว แม้สิ่งนั้นจะยาก แต่เกิดขึ้นมากับเรา เพราะฉะนั้นคนที่มีความเฉลียวฉลาด คือหมายความว่ามีความมั่นคงภายในจิตอย่างเหนียวแน่น เรียกว่ามั่นคงที่สุดนั้น เขาจึงไม่มีความหวั่นไหว เรียกว่า อจลศรัทธา มีศรัทธาที่มั่นคงแข็งแรงเป็นประดุจว่า ศิลาทั้งแท่งหมายความว่าหินนี่มันก้อนใหญ่เบ้อเริ่ม ฝังลงไปในดินนับเป็นร้อยเมตร อะไรมาพัดมันก็ไม่มีความหวั่นไหว ลมมาพัดมันก็ไม่รู้สึก 

เหมือนกันกับคนที่เขาทำประโยชน์ขึ้นมาแก่ตนได้แล้ว เขาไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมต่างๆมันมีอยู่ เพราะว่าไม่ว่าจะทำอะไรทั้งหมด มันหนีคนนินทาไปไม่ได้ นินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน นับประสาอะไรมนุษย์เดินดิน พุทธนาคินยังต้องถูกนินทา อันนี้เค้าเรียกว่าโลกธรรม โลกธรรมนั้นมันเป็นสิ่งที่จะต้องพัดสู่จิตใจของมนุษย์ 

จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ (จากมงคลสูตรข้อที่ ๓๕ ผุฏฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ) ผุฏฐสฺส โลกธมฺเมหิ โลกธรรมถูกต้องแล้ว จิตฺตํ ยสฺส น กัมฺปติ จิตก็ไม่ได้หวั่นไหว ไม่เกิดความหวั่นไหว อย่างนี้ เมื่อไม่เกิดความหวั่นไหวก็เหมือนกันกับว่า ลมที่พัดหิน อันหินนั้นมันจะพัดเท่าไหร่ หินก็ไม่เคลื่อน มันฝังรากแน่นเหลือเกิน เหมือนกันกับผู้ที่มีจิตเหมือนหิน เค้าเรียกว่าจิตนี้มันแข็งเหมือนหิน ฉะนั้นใครจะมาอะไรถูกต้องนั้น ไม่มีปัญหาเลย กระทบถูกต้องมาเถิด สู้ได้ สู้กันจนกระทั่งถึงขั้นที่ว่ามันจะมาเอาชีวิตก็ช่าง แต่ว่าเราก็จะต้องทำในสิ่งที่มันถูกต้องให้เกิดความสุขเกิดขึ้นมาภายใน 

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความคิดวิปริตอย่างใด จึงไม่แปลกใจแต่อย่างใด ในเมื่อพระเถระองค์หนึ่งที่ท่านปล่อยให้เขาทุบ เค้าจะทุบซักเท่าไหร่ก็ทุบไป แต่ท่านจะนั่งสมาธิ คือท่านเป็นคนรวยตั้งแต่สมัยยังไม่ได้บวช และท่านก็มีน้องสาวที่จะต้องเป็นพี่น้องกัน แล้วก็ถ้าท่านมาบวชแล้ว ท่านก็ยังไม่ได้สละสมบัติเหล่านั้นให้น้องสาว เมื่อเป็นเช่นนั้นน้องสาวก็คิดอยากจะได้สมบัติ จึงได้จ้างโจรมาให้มาฆ่าพระพี่ชาย 

ในขณะนั้นพระพี่ชายจะไปนั่งสมาธิอยู่ในป่าช้าแห่งนึง ในขณะนั้นจิตก็ไม่รวม ทำยังไงก็ไม่สงบ จิตมันฟุ้งซ่าน ทันใดนั้นคนที่รับจ้าง โจรที่รับจ้างน้องสาวมาก็ถือตะบองมาสี่คน ที่จะมาตีพระองค์นั้นให้ตาย เมื่อพระองค์นั้นลืมตามาก็เห็น ก็ถามว่าพวกแกมาทำไม ทั้งสี่ก็บอกว่า น้องสาวท่านจ้างฉันมา พูดกันตรงๆ ให้มาฆ่าท่าน ตีท่านให้ตาย บอกว่า “เออ เราไม่ว่า ตีให้ตายก็ไม่ว่า แต่อย่าไปตีทีเดียวตายก็แล้วกัน” ก็บอกว่าให้ตีหัวเข่าข้างซ้ายแตกละเอียดไป สมาธิเข้าไปแล้ว ทีนี้จิตมันชักจะเข้าแล้ว แล้วก็บอกให้ “เอ้า ต่อนี้ไปตีหัวเข่าข้างขวาแตกละเอียดไป” จิตก็เข้าไปอีกแล้ว ลึกลงไปอีก ต่อไป “อ้าว ตีไหล่ซ้ายหลุดไปเลย” ท่านก็ทำจิตลึกเข้าไปอีก 

ทันใดนั้นไอ้หมอสุดท้าย ไอ้คนสุดท้ายมันก็ตีไหล่ขวาพร้อมที่จะตีศีรษะ พอตีลงไปไหล่ขวาพับเดียวเท่านั้น ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านก็เรียกกระดูกที่มันละเอียดนั้นกลับมาสู่ความเป็นปรกติ แล้วท่านก็ถามว่า “พวกแก น้องสาวจ้างมาคนละเท่าไหร่” บอกว่าจ้างมาคนละพัน แกจงไปบอกน้องสาวเราว่า “สมบัตินั้นเราสละหมดแล้ว แต่ว่าให้เพิ่มค่าจ้างพวกแกเป็นคนละสองพัน” 

อันนี้แสดงถึงว่าเมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆแล้ว สละชีวิตเพื่อที่จะทำจิตนี้ให้ถึงขั้น ก็มีพระอยู่องค์หนึ่งเดินจงกรมอยู่ในป่า เดินไปเดินมา เท้าแตก เท้าแตกก็ไม่ยอมหยุด ก็เลยเอาหัวเข่าคลาน คลานจงกรม ไอ้นายพรานมาจากไหนไม่รู้ มองมาแต่ไกล นึกว่าพระนั่นมันเป็นอีเก้ง ก็เลยเอาหอกซัดลงไป พุงทะลุไส้ไหล ท่านก็ไม่โกรธ แล้วท่านก็สมาธิของท่านต่อไป เมื่อท่านสมาธิของท่านต่อไป ไอ้นายพรานก็รีบกระโดดมาถึงก็รูดใบไม้อุดไส้ของท่าน ไม่ให้ไส้ทะลัก ในที่สุดท่านก็บอกว่าให้แบกอาตมาไปหาอาจารย์ที นายพรานก็แบกพระองค์นั้นขึ้นบ่าไป เมื่อแบกขึ้นบ่าไป ท่านก็เจริญกรรมฐานอยู่บนบ่าของนายพราน ในที่สุดท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์บนบ่านายพรานอย่างนี้ 

เพราะฉะนั้นอันการที่เราพากระทำนี้ เราก็พยายามตั้งใจให้แน่วแน่ อย่าพากันทำจิตใจให้วอกแวกแล้วอานิสงส์ก็จะเกิดขึ้น ทำสมาธิกันต่อไปอีกพัก