Skip to content

อย่าให้เสียโอกาสสันติภายใน

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก

| PDF | YouTube | AnyFlip |

อันดับต่อนี้ไปให้พากันตั้งใจฟัง และก็ตั้งใจทำความสงบให้พร้อมไปกับการฟังไปด้วยกัน เพื่อเป็นการสะดวกในการปฏิบัติ เพราะการที่เราจะปลีกตัวออกไปปฏิบัติมันเป็นของที่ทำได้ยาก เป็นของที่ลำบากที่เราจะมีโอกาสไป เราจึงมาอาศัยการฟังและก็จัดเป็นพิธีกรรมขึ้น แล้วก็นัดหมายกันมาประชุมกันตามวันเวลาเหมือนกับวันนี้หละ เราก็ได้พร้อมกันมาและก็ได้นัดหมายกันมาเพื่อฟังธรรม ทีนี้การฟังของเรา เราก็อาศัยการปฎิบัติไปด้วย 

คำว่าการปฏิบัติเราจะทำยังไงที่ว่าปฏิบัติ คนทั้งหลายก็จะเข้าใจว่าพิธีกรรมต่างๆที่เราจะควรนำมากระทำน่ะ นับตั้งแต่ไหว้พระสวดมนต์หรือเดินจงกรม หรือทำอะไรในพิธีกรรมต่างๆนั้น เขาก็ถือว่าการปฏิบัติคืออย่างนั้น ทีนี้การปฏิบัติมันไม่ใช่เฉพาะแต่ที่จะทำอย่างนั้น อันนั้นเป็นพิธีกรรม เป็นศาสนพิธี ทีนี้การปฏิบัติจริงๆน่ะเค้าไม่ได้มุ่งในพิธีกรรมอย่างนั้นมาก เค้ามุ่งประเด็นในทางความสงบเป็นส่วนมาก 

ทีนี้ความสงบมันควรจะทำอย่างไรในความสงบนั้นมันจึงจะเกิดขึ้น ถ้าเราไปทำอย่างนั้น หลักของความสงบก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็มีแต่พิธีกรรมต่างๆ ก็ได้แต่ทำพิธีกรรมก็พอเป็นกิริยาแห่งความเป็นกุศล แต่สำหรับความสงบที่จะเกิดขึ้นนั้นน่ะ เรานี่ต้องฟังไปด้วยและก็กำหนดจิตไปด้วย จิตของเรามันอยู่ตรงไหนหละ เราทราบว่าจิตของเรามันอยู่ตรงไหนและอยู่ที่ไหนเราก็ต้องรับทราบ 

จิตของเรามันไม่ใช่อยู่ข้างนอก มันไม่ใช่อยู่นอกตัว มันก็อยู่ในตัวเราทุกคนนั่นน่ะ ตัวก็คืออะไร ตัวก็คือร่างกาย พูดแล้วก็เรียกว่าอยู่ในร่างกายทุกคน ทีนี้มันอยู่ยังไง จิตอยู่ยังไง คืออะไรเป็นจิต ก็สภาพที่รู้ที่มาอยู่ภายในอยู่ในร่างเราที่เรียกว่าจิตที่เรียกว่าใจ ก็หมายถึงว่าผู้รู้ ก็ท่านผู้รู้นี่หละซึ่งเป็นเจ้าของร่างกาย ซึ่งอยู่ภายในร่างกาย 

ทีนี้เราจะเอาความสงบ เอาใครสงบ สองอย่างนี้หละที่สงบแท้ที่เราต้องการ ส่วนร่างกายของเรามันก็สงบแล้ว คือเราไม่ได้ทำอะไรแล้ว เราพักแล้ว งานการอะไรเราก็ไม่ได้ทำ ส่วนวาจาของเราก็สงบแล้ว คือเราก็เลิกพูดแล้ว เราก็ไม่ได้พูดอะไร เราระงับและเราเลิก เราพักหมดแล้ว ความสงบสองอย่างนี้หละ ซึ่งเรียกว่าสันติภายนอก ความสงบอันนี้มันมีและมันทำได้ง่าย แต่ผลน่ะมันยังไม่เกิด พระพุทธเจ้ายังไม่รับรองว่าผลจะเกิด เพราะสิ่งนี้ที่จะนำประโยชน์อันใหญ่หลวงให้แก่ตัวเอง แต่ความประสงค์ของพระพุทธเจ้าน่ะท่านต้องการความสงบภายใน เรียกว่าสันติภายใน ก็ได้แก่ใจน่ะ 

ทีนี้เราจะทำยังไงหละที่จะทำใจของเราให้สงบได้ พร้อมไปด้วยการฟังน่ะ เราจะทำยังไง ถ้าเราจะมัวแต่มานึกมาคิดมาปรุงมาแต่ง ตามเรื่องตามราวตามเหตุการณ์อะไรต่างๆ และมักจะสร้างปัญหาขึ้นให้ตัวเอง ทีนี้เราจะไปเอาความสงบโดยลักษณะนั้นน่ะ มันก็เป็นไปได้ยาก ความสงบนั้นน่ะมันไม่ได้เป็นไปในทางนึกคิดและปรุงแต่ง ความสงบนั้นเค้าพัก พักในการปรุงการแต่ง พักในการสร้างปัญหา พักในการที่ใคร่ครวญอะไรต่างๆ ให้มีเฉพาะตัวรู้ตัวเดียว รู้โดยที่ว่าไม่เกี่ยวกับเรื่อง เรื่องอะไรต่างๆ ไม่ต้องเกี่ยว รู้กับสิ่งที่เราจะยึดว่าเป็นอารมณ์ของสมถะอันที่จะนำให้เราเกิดขึ้นซึ่งความสงบ 

อย่างเรามากำหนดลม เบื้องต้นก็มากำหนดลม อันท่อนที่สองเราก็บริกรรม ก็บริกรรมตามลมนั่นหละ หายใจเข้าพุท หายใจออกโท นี่เราเรียกว่าบริกรรม ทีนี้เราก็รู้จำกัดสิ ถ้าว่าพุทโธ ก็พุทโธนั่นหละ ให้ยึดเอาพระพุทธเจ้ามาเป็นหลัก คือให้เอาอย่างเดียว การปรุงแต่งในปัญหาต่างๆซึ่งมันจะเกิดขึ้นกับโลก เราก็พักไว้ก่อน เราเอาเฉพาะตัวรู้นี่น่ะ คือเอาความสงบซะก่อนเถอะ ทีนี้ส่วนความรู้ของพวกเราน่ะ ก็พูดกันแล้วว่าเรารู้แล้วน่ะ จะเป็นธรรมะข้อไหนก็ตามหมวดไหนก็ตาม เราก็รู้กันแล้ว ก็พอเข้าใจกันอยู่บ้าง 

แล้วผลลัพธ์มันอยู่ตรงไหนไอ้ความรู้อันนั้น มันก็ยังไม่มีอีกน่ะ ถ้ามันมีผลลัพธ์เพราะความรู้อย่างที่เรารู้มา ทีนี้เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาทำอย่างนี้ และไม่จำเป็นจะต้องมาฟัง ไม่จำเป็นจะต้องมาปฏิบัติ เรายังมาปฏิบัติอยู่ การปฏิบัติอยู่ก็เรียกว่า ยัง ผลก็มันก็ยังไม่เกิด จนว่าผลของการปฏิบัติที่มันจะเกิด ผลของการปฏิบัติจะทำยังไงหละ อะไรมันเกิดขึ้นจากผลของการปฏิบัติ ก็นอกเหนือไปจากความสงบน่ะจะมีอะไร 

ความพินิจพิจารณาหรือการปรุงการแต่งนั้นน่ะ มันเป็นผลของความรู้ที่เรารู้มา แล้วเอามาใคร่ครวญเฉยๆ แล้วผลลัพธ์ที่จะนำความสุขมาให้ก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน มีแต่เฟ้อความคิดตัวเอง ฟุ้งเฟ้อไปหมด ทีนี้จะหาความสุขอะไรก็ไม่ได้ หาความสุขก็ไม่มี เพราะอะไรหละ ก็เพราะมันปรุงแต่งมาก ก็เพราะมันเฟ้อนั่นน่ะ ทีนี้มันก็แห้งใจสิ มันก็ร้อนใจสิ ใจมันก็เหี่ยวแห้ง ทีนี้เราจะไปเอาความสุขตรงไหนหละ มันก็ไม่มี 

ถ้าเรามาทำความสงบนั่นหละให้มันเกิดขึ้น ก็ลองดูซิ จะสงบน้อยก็ตามเถอะ ผลจะเกิดขึ้นทันที คือเราเอาผลนะเดี๋ยวนี้ เราหาผล เหตุของเรามันมีแล้ว ทีนี้เราจะหาผล ผลที่มันจะเกิดขึ้นจากเหตุนั้นมันอยู่ตรงไหน อะไร ความสงบน่ะมันอยู่ตรงไหน อันที่มันเป็นผลของเหตุน่ะ ที่เราหากันอยู่เดี๋ยวนี้น่ะ เราจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องการกระทำของตัวเอง อย่ามาเอาแต่คิด มันเป็นของเมา เมาคิด เมานึก เมาปรุง เมาแต่ง แล้วพูดไปตามความคิด มันก็ไม่รู้จักหยุดอีกหละ แล้วทำไปตามความคิดใครจะไปทำไหว มันทำไม่ไหว อย่าไปพูดตามความคิด คิดอะไรก็คิดว่าตัวเองจะถูกไปหมด แล้วก็พูดอะไรก็คิดว่ามันจะถูกไปหมด 

ทีนี้ไอ้ความสงบมันอยู่ตรงไหนทีนี้ นี่มันไม่ได้ตามสงบสิ มันก็ไปตามความคิด ก็ควรจะสำนึกกันบ้าง ไอ้เรื่องคำที่เราจะพูด หรือจะทำ ก่อนจะทำท่านก็ว่ามีสติ เรากำลังพูดก็ต้องมีสติ ก็ต้องสัมปะชัญญะ ควรหรือไม่ควรมันก็มี ที่ท่านห้ามอย่างนี้เพราะอะไร ท่านให้รู้อย่างนี้เพราะอะไร เพราะต้องการความสงบนั่นหละ เพราะยังความสงบให้มันเกิดขึ้น เกิดขึ้นจากจิตเรา ทำจิตเราให้สงบ 

เมื่อจิตของเรามีความสงบหละ ลองดูซิว่าความสุขมันจะมีมั้ย ผลมันจะมีมั้ย ลองดูซิ ทีนี้เราก็คอยแต่ความคิดนั่นน่ะ คอยแต่ใช้ความคิดอยู่ตลอด ทีนี้คอยจะให้แต่คนอื่นช่วย เข้าไปหนุนความสุขให้มันเกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วก็ทั้งๆที่ตัวเองก็คิดอยู่ แล้วจะให้คนอื่นเค้าไปช่วยหนุนที่จะให้ความสุขเกิดขึ้นจากความคิดของเราซึ่งจิตของเรากำลังที่จะคิดอยู่น่ะ แล้วมันจะเป็นไปได้ยังไง ใครจะไปสนับสนุนหรือใครจะไปหนุนได้ ถ้าตัวเองไม่ทำให้มันสงบหละ ต่อเมื่อความสงบมันเกิดขึ้นด้วยการระงับ ด้วยสติที่เราจะนำเอามาใช้ และสัมปะชัญญะที่เราจะนำเอามาใช้ ก็มีธรรมสองอย่างนี้หละเป็นอุปการะที่จะทำจิตของเราที่จะให้มีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้

ธรรมสองอย่างเราก็เอามาใช้สิ ก็ตั้งเอาไว้นั่นน่ะ ถ้าว่าพุทโธก็ให้อยู่กับพุทโธ ก็อย่าไปสับสนสิ แล้วก็อย่าไปหลายสำนัก เดี๋ยวก็ติดสำนักนั่น เดี๋ยวก็ติดสำนักนี่ เดี๋ยวก็สำนักนั้นว่าอย่างนั้น สำนักนี้ว่าอย่างนี้ มันมีสำนักเดียวนั่นน่ะ โอปนยิโกน้อมเขามาสำนักเดียว ก็สำนักอยู่ในท่ามกลางหน้าอกเรา เรียกว่าสมถะ ก็สมถะะมันตั้งอยู่ตรงไหนหละ สำนักไหนหละ ก็ตั้งอยู่ในสำนักตัวเองเนี่ย ก็วิปัสสนาก็ตั้งอยู่ตรงนี้ ตั้งอยู่ในสำนักตัวเอง ก็สำนักเดียวนี่หละ ก็อย่าไปหลายสำนัก 

ทีนี้มันหลายสำนักมันเลยไม่ได้อะไรกันอยู่เดี๋ยวนี้นะ ต่างคนมีกันหลายสำนัก ไม่รู้จะเอาสำนักไหน และเอาลงตรงไหน ถ้าลงไปแล้วก็ไม่รู้จะเอาอะไร แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้นในตรงนั้น ในสำนักนั้น ที่ได้มามากๆก็ไม่รู้อีก ก็โดยมากก็มักจะไปเอาแต่สำนักภายนอก ไอ้สำนักภายในน่ะที่มันมีอยู่กับตัวเองทำไมไม่พากันรักษา ทำไมไม่พากันดูแล และทำไมไม่พากันเอาหละ ทำไมไม่พากันกำหนดหละ ก็กำหนดลงสำนักนี่สิ สำนักสมถกรรมฐานนี่ และวิปัสสนากรรมฐาน มันอยู่ตรงไหนหละ มันจะไปอยู่นอกตัวของเราหรือ มันอยู่ในท่ามกลางหน้าอกเรานี่หละ อยู่ในท่ามกลางทรวงอกของเรา จะไปอยู่อะไรนอกหละ

ถ้าไปอยู่ข้างนอกเราก็ไม่จำเป็นต้องบริกรรมกำหนดลมหายใจเข้าออกสิถ้ามันอยู่ข้างนอก เราก็เดินไปเอาซะสิ แล้วก็ขี่รถไปเอาซะสิ ถ้ามันมีอยู่ตรงไหน ถ้ามันอยู่ในสำนักไหนก็ขี่รถไปเอาสิ เอาแล้วก็เอามา แล้วก็แล้วไปแ ไม่ต้องมาทำสิ ทีนี้มันไม่มีอย่างนั้น เราก็ไปเอาแต่สำนักนอก แต่สำนักในเนี่ย มันมีหมดนั่นหละ ฌาณจะมีกี่ฌาณก็อยู่ในตรงนี้หละ สมาบัติ ๘ ก็อยู่ในนี้ ญาณมันก็อยู่ในนี้หละ อะไรก็อยู่ในนี้หละ ว่าแต่เข้าไปอยู่เท่านั้นหละ ทีนี้เราไม่ค่อยเข้าไปน่ะสิ ก็มีแต่หาข้างนอก 

ทีนี้เราก็ไปอ้างแต่ความวุ่นวายน่ะของโลก เราก็เอาอันนี้หละมาอ้าง เราก็รู้กันทุกคน ใครก็รู้ว่าโลกมันก็วุ่นวาย ก็รู้ว่าวุ่นวาย จะไปทำมันทำไมหละ ก็ปล่อยไปตามโลกซะสิ ในเมื่อเราปฏิบัติธรรม เราก็เอาธรรมะซะก่อนสิ โลกมันก็เป็นโลกนั่นหละ ก็รู้อยู่น่ะว่าโลกมันวุ่นวาย แต่เราจะตัดกระแสโลกคือตัดกระแสความวุ่นวาย เราอย่าเข้าไปติดในอารมณ์อันที่เราได้ยินได้เห็นแล้วก็ดี ได้ฟังแล้วก็ดี ได้ทราบแล้วก็ดีฉันนั้น 

นี่มุนีท่านไม่ได้ติดในอารมณ์ทั้งที่ท่านก็อยู่ในโลกนั่นหละ ในขณะที่ท่านยังไม่ปรินิพพานนั่นน่ะ ท่านก็ยังอยู่ในโลก แต่กิเลสนิพพานแล้ว แต่ขันธนิพพานมันยังอยู่ แต่ท่านก็ยังอยู่ได้ ก็อยู่กับโลกนั่นหละ ถึงโลกจะวุ่นวายแต่ท่านก็ยังสงบ คือพระมุนีนั่นน่ะคือผู้ที่สิ้นอาสวะ พระมุนีไม่เข้าไปติดในอารมณ์ อันที่เห็นแล้วก็ดี อันที่ได้ฟังแล้วก็ดี ที่ทราบแล้วก็ดี ทีนี้เราจะทำยังไงหละ ตาเราก็ไปเห็นมาแล้ว หูเราก็ไปได้ยินมาแล้ว และเราก็ทราบเรื่องอะไรต่างๆมาแล้ว แทนที่จะทิ้งเอาไว้ มันไม่ใช่อย่างนั้นสิ มันก็เลยติดเป็นอารมณ์มา 

เดี๋ยวก็ว่าตรงนั้น เดี๋ยวก็ว่าตรงนี้ ทีนี้มันก็ติดสิ ทีนี้มันจะไปสงบตรงไหนหละ ก็วางไว้ซะก่อนสิ อย่าเอามาพูดมาก เรื่องของคนอื่นที่เขาไม่รู้ด้วย เราก็อย่าไปพูดอะไรให้มันมาก ถ้ามันเป็นอารมณ์น่ะมันแก้ไขยาก แทนที่เราจะนำความสงบมาให้กันที่เรามาทำความสงบ แล้วก็กลับไปเอาความวุ่นวายมาให้กัน ทีนี้ไม่รู้ความสงบอยู่ตรงไหนและเมื่อใดมันจะได้ ตกลงก็มีแต่ปฏิเสธว่ามันจะไปได้ยังไง มันจะเป็นไปได้หรือ ก็ไปกันโน่น ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ตัวเองก็ยังมาทำแล้วก็ยังพากันทำอยู่ ก็แสดงว่ามันต้องได้สิ มันต้องมีส่วนได้สิจึงได้พากันทำ ถ้าไม่ได้หละ เราจะมาทำทำไม นี่ความคิดของพวกเรา เราคิดว่ามันจะได้ ก็จึงได้พากันมาทำ แต่ทำก็ให้เข้าใจกันบ้างสิ อย่านำเอาเรื่องต่างนั้นน่ะเข้ามารบกวนความสงบของตัวเองและคนอื่นกันเสียบ้าง 

เราพยายามที่จะต้องแก้ไขปัญหา ช่วยกันนั่นน่ะ พยายามนำความสงบเข้ามา อย่างไรที่จะสงบได้ให้หามาเถอะ อารมณ์อะไรที่มันเป็นไปเพื่อความเยือกเย็น อารมณ์ใดอันที่มันเป็นไปเพื่อความสงบ ให้หามา ให้เอามารวมกันเถอะ ทีนี้พวกเราจะคอยไปไหนกันน่ะ จะคอยกันไปถึงไหน คอยวันคอยคืนไปถึงไหน ชีวิตของพวกท่านทั้งหลายน่ะรับรองกันแล้วหรือว่ามันจะไปถึงไหน และไปถึงจุดนั้นมันจึงจะได้ แล้วไปถึงสถานที่นั้นจึงจะได้ และจะไปถึงอายุเท่านั้นมันจึงจะได้ มันมีกำหนดหมายแล้วหรือ ทำไมถึงจะพากันเพลิดเพลิน ทำไมถึงจะพากันมัวเมาจนเกินไป แล้วจะคอยวันคอยคืน 

โลกเราก็มีอยู่แล้ว เราก็ทำอยู่แล้ว ไอ้ความสงบนั่นน่ะ ก็ทำตามโลกไปเท่านั้นน่ะ ก็แฝงๆกันไปบ้าง มันพอจะได้ก็ให้มันได้ มันก็ไม่ได้ผิดอะไร เราเอาความสงบไปเท่านั้นหละ ก็คิดว่าความสงบมันจะพูดอะไรไม่ได้ มันก็ไม่ใช่อีกหละ คิดว่าความสงบจะทำอะไรไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ ให้มันสงบดูซิว่ามันจะทำได้มั้ย ให้มันสงบดูซิ ว่ามันจะพูดได้มั้ย อันนี้หละมันมาหาความสงบอะไรไม่มีในตัวของตัวเองเลย ถ้ามาหละก็มีแต่พากันคิด เดี๋ยวก็เรื่องโน่น เดี๋ยวก็เรื่องนี้ เดี๋ยวก็เรื่องคนนั้น เดี๋ยวก็เรื่องคนนี้ เดี๋ยวก็คนเกิด เดี๋ยวก็คนตาย เดี๋ยวก็คนไอ้นั่นไอ้นี่ ทีนี้ไอ้ความสงบมันอยู่ตรงไหนหละ ทั้งๆที่เราหาความสงบ มันก็รู้อยู่เรื่องของโลกนี่ มันไม่ต้องพูดมันก็รู้อยู่แล้วหละ แต่ว่าเราหาความสงบอันที่มันจะเกิดขึ้นเพราะการกระทำของเราซึ่งเราได้พากันมากระทำ 

เราต้องการเท่านั้นน่ะ คือไม่ต้องการอะไรหรอก ที่มาแสดงธรรมนี่ไม่ต้องการอะไร ต้องการอยากให้พวกท่านทั้งหลายมีความสงบ ถ้ามันมีความสงบหละมันจะมีอะไรเกิดขึ้นจากความสงบนั้น ถ้ามันไม่มีความสุข จะพาเลิก จะไม่ได้ทำอีก ถ้าสงบแล้วมันไม่สุขอะไรเลย มันไม่ดีอะไรเลย จะไม่พาทำและก็จะไม่บอกอีกด้วย เราต้องการให้ท่านทั้งหลายเนี่ยน่ะ ให้เข้าไปสู่ระบบความสงบแล้วก็ยังความสุขให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตอันความเป็นอยู่ของตัวเองกันเสียบ้าง แล้วก็ให้มันเป็นประโยชน์สมกับว่าเราที่ได้มาพบพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาพุทธอันที่เราควรปฏิบัติที่จะยังให้เกิดขึ้น อันประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากเรา คือเราต้องการที่จะให้มันเกิดอย่างนี้ 

เมื่อเราต้องการให้มันเกิดอย่างนี้ เราจะไปมัวอะไรหละ ไปเมาอะไรหละ เอาให้มันได้ ได้เดี๋ยวนี้มันผิดใครหละ มันไม่ได้ผิดนะ มันมีแต่ถูกทั้งนั้นนะ เราเอาเลย! ไม่มีใครว่า มีแต่คนเค้าจะยกย่องสรรเสริญ มีแต่คนจะปีติยินดีด้วย ได้ความสงบเท่านั้น เพราะอย่างอื่นไม่ต้องการหรอก อย่างอื่นเค้าพอแล้ว ความรู้เรามีแล้วในตำราน่ะในตู้พระไตรปิฎกไปค้นเถอะ อยากได้น่ะ ความรู้มันเยอะแยะ แม้แต่บาลงบาลีเค้าก็มีอยู่ในนั้นหม๊ด จะแปลยังไง อะไรยังไง อยู่นั่นหมดหละ ไปเอาเถอะ เค้ามีพร้อม อย่ามาถามเถอะ 

เราต้องการที่จะให้สงบ ไอ้ความรู้เราไม่มีความจำเป็นที่ไปสอนพวกท่าน มันรู้แล้ว มีอย่างเดียวคือจะนำพาที่จะเข้าไปสู่หลักแห่งความสงบ แล้วความรู้ที่จะเกิดขึ้นจากความสงบมันจะเป็นอย่างไร จะเหมือนกันมั้ยกับที่มันมีอยู่ในตู้พระไตรปิฎกกับจิตของเรามันเหมือนกันมั้ย อยากจะให้ทราบตรงนี้เท่านั้นหละ อยากจะให้รู้ตรงนี้ แล้วมันจะเป็นอะไร แล้วคุณค่าของมันจะเป็นยังไง ก็อยากจะให้รู้เนี่ย จึงได้นำพา จึงได้ชี้แนะ จึงได้บอกวิธีการกระทำ ไม่ใช่ว่าจะมาให้ทำภายนอกแล้วให้เดินตรงนั้น ให้เดินตรงนี้ ให้ทำอันโน้น ให้ทำอันนี้ ก็ไม่เอา ทำมาจนพอแล้ว สวดก็สวดจนพอแล้ว ปากก็จนแฉะก็ยังอยู่เท่านั้นน่ะ ก็ได้อยู่อานิสงส์ข้างหน้าแต่จะเมื่อไหร่เท่านั้นหละ อานิสงส์น่ะ 

แต่เราต้องการปัจจุบันนี่ ต้องการความสงบสุขในปัจจุบันที่เราต้องการ อยากให้ได้ตรงนี้หละ แล้วจึงจะสมกับว่าเราชาวพุทธ ก็พุทธะก็แปลว่าผู้รู้ ก็ต้องรู้ด้วยความสงบบ้างซี่ ก็รู้ความดีอันที่เกิดขึ้นจากพุทธบ้างซี่ หรือจะไปรู้อะไร หรือได้แต่แปลว่าพุทธะแปลว่าผู้รู้ ก็จะรู้ไปเลยเหรอ จะเอากันแค่นั้นเหรอ พุทธะผู้เบิกบาน ก็จะเอาเบิกบานไปเลย คือจะเอาอะไรเบิกบาน ทีนี้เราก็หาได้รู้ไม่ ทั้งที่ใจของเราที่จะฟุ้งเฟ้อ ทั้งที่ใจของเราขุ่นมัว ทั้งที่ใจของเราเศร้าหมอง ทั้งที่ใจของเรามันเหี่ยวแห้ง เราก็ยังหาได้คิดไม่ ที่จะมาปรับปรุงจิตใจของเราที่จะให้มีความสดชื่นเพื่อจะให้มีความรู้และความสดใสในอันที่มันเกิดขึ้นจากความสงบนั้น เราไม่ได้พากันคิดหาเลย มีแต่พากันหาข้างนอก มีแต่หาสำนักหวะ ไม่รู้จะเอาสำนักไหนแน่เดี๋ยวนี้ ออกจากสำนักนี้ก็จะไปสำนักอื่นอีกอ้ะ ทีนี้สำนักไหนมันแน่ ที่มันได้ประโยชน์กันแน่ มันก็อยู่เท่าเดิม 

ก็ให้มันแน่นอนบ้างซี่ สมกับว่าชีวิตของเราที่มันหมดไปๆทุกวันๆๆ แล้วให้มันเป็นประโยชน์กับตัวเองบ้าง มันจะไม่ดีกว่าหรือ คิดมั้ยหละ ชีวิตมันเป็นของไม่แน่นอน เราก็ทราบอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าเราจะพิจารณาก็ตาม ไม่พิจารณาก็ตาม ไอ้ความไม่แน่นอนมันมีอยู่แล้วหละ ความเป็นอนิจจังมันแน่นอนอยู่แล้วนี่ เราก็พิจารณาก็ตาม ไม่พิจารณาก็ตาม มันเปลี่ยนแปลงของมันอยู่โดยธรรมชาติ รู้แล้วว่ามันแน่นอนแล้ว มันเปลี่ยนแปลงแน่นอนแล้ว หาที่พึ่งอันตัวเองที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยธรรมชาตินั้น ที่พึ่งอันประเสริฐสุดก็คือความสงบสุข 

อะไรจะเหนือจากความสงบสุขก็ไปหาเถอะ ใครจะว่าติดสุขก็ขอให้มันติดมาเถอะ ขอให้สุขมาติดมากๆเถอะ ใครจะว่าติดสงบ ขอให้มีความสงบมาติดมากๆเถอะ กลัวอย่างเดียวคือไม่ติด มันไม่มีติดนั่นน่ะเดี๋ยวเนี้ย ติดแต่ตำราแล้วก็พากันวิ่งหา แล้วก็คอยถามแก่กัน ถามแล้วแทนที่จะได้อะไรมันก็ไม่ได้ จะได้แต่แค่ถาม ทั้งๆที่รู้อยู่หละแต่ก็ถาม ก็ไม่รู้จะถามเอาอะไรซี่ แทนที่นำความสงบเข้าไปสู่ดวงจิตดวงใจของตัวเองเสีย 

เมื่อความสงบเกิดขึ้นภายในจิตใจตัวเองแล้ว ไอ้เรื่องความสงสัยหละ มันหายของมันเอง แล้วมันไม่จำเป็นจะต้องไปถาม ถามทำไม ก็มันรู้แล้ว มันมีความสงบในตัวเอง มันมีความสุขในตัวเอง มันก็ไม่รู้ว่าจะไปถามเอาอะไรอีก ว่าบุญอยู่ตรงไหน แล้วบาปอยู่ตรงไหนอย่างเนี้ย ก็มันเห็นแล้ว ถ้ามันมีความสงบมันก็มีความสุข ก็ความสุขนั้นน่ะเป็นชื่อของบุญเป็นตัวของบุญ แล้วจะได้ไปถามใครอีก ความทุกข์ที่มันผ่านมาน่ะ มันมีสับสนกันน่ะ ทุกข์บ้างสุขบ้าง นั่นก็บาป มันก็ตัวทุกข์น่ะหละ แล้วมันก็รู้หละ พอมันรู้อย่างนี้ไปถามอะไรใคร 

ทีนี้จะไปเอาบาลีไปถามเหรอ ที่ไม่ได้ศึกษาบาลีมาเราจะไปแก้ได้ยังไง หลักธรรมะก็ที่ตัวเองเคยดูมา ก็รู้มาแล้วน่ะ แล้วจะมาถามเพื่อจะให้ตอบไปอีก ก็ทั้งๆที่มันรู้มาแล้ว ก็ตอบไปแล้ว ได้ฟังการตอบแล้วมันได้อะไร ทีนี้ไอ้ความสุขแทนที่มันจะเกิดขึ้นจากการที่เราตอบกันมันก็ไม่มีอีกหละ ก็ได้แต่เพียงว่าเข้าใจว่า เออ รู้แค่นี้ ถ้ารู้ไม่ถึงตัวเองก็มักจะตำหนิในใจอีก นี่มันไปกันทำนองนี้นะ เดี๋ยวก็เกิดความเศร้าหมองขึ้นมาอีก 

ถ้าเรารู้แล้ว เข้าใจแล้ว สันติภายในนั้นน่ะให้ทำกันให้มาก สันติภายนอก กายของเราก็ไม่ต้องทำอะไร วาจาเราก็ไม่พูดอะไร เราก็ทำได้ นี่เรียกว่าสันติภายนอก แต่ผลลัพธ์มันก็เป็นแต่เพียงว่าสงบกันเฉยๆ สงบภายนอกเฉยๆ แต่ภายในมันยังวุ่น ถ้าสันติภายใน ให้สันติด้วยองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สันติด้วยพุทโธ พุทโธนั่นอย่าให้อยู่ข้างนอก พุทโธนั่นให้อยู่ใน ในไหนหละ ก็ในสำนักของตัวเอง สำนักสมถะตัวเอง สำนักสมถะตัวเองมันอยู่ตรงไหนน่ะ ก็อยู่ในท่ามกลางหน้าอกน่ะ พออยู่ในสำนักสมถกรรมฐานของตัวเองแล้ว อยู่ข้างในแล้ว ก็สำนักวิปัสสนาหละอยู่ไหนหละ มันก็อยู่ในนั้นน่ะ ก็อยู่ด้วยกัน 

อย่าไปเอาป่ามาเป็นสำนักตัว มันยุ่งกัน มันแย่งกัน มันอวดกัน เดี๋ยวนี้จะไปเอาสำนักในป่า เอาป่ามาเป็นสำนักน่ะมันยาก แผ่นดินเค้าก็หวง มันก็แคบเข้าไปแล้ว ป่าเค้าก็หวง แล้วก็ไปเอาแต่ป่าเขามาเป็นสำนัก ก็ไปเอาแต่ดินของเขามาเป็นสำนัก พอตั้งเสร็จแล้วก็ไม่เห็นว่าสำนักมันจะมีประโยชน์อะไรขึ้นเท่าไหร่นัก สมถะไม่รู้มันอยู่ที่ไหน วิปัสสนาไม่รู้มันอยู่ที่ไหน ก็มีแต่สำนัก นี่เป็นสำนักนอก 

แต่ส่วนสำนักในนี่มันอยู่ตลอดนี่ ทุกระยะลมหายใจเข้า ทุกระยะลมหายใจออก หายใจออกก็อยู่นี่หละ หายใจเข้าก็อยู่นี่หละ อยู่ในสำนักนี่ เวลามันสงบไปแล้วมันวางลงเองหรอก มันวางลง เหมือนกับว่าไม่หายใจนี่ก็มี แม้แต่พุทโธมันก็หาย แล้วก็อย่าไปคิดว่ามันลืมคำบริกรรมแล้วก็กลับคืนมาตั้งใหม่อีก ก็อย่าไปทำแบบนั้นน่ะ ถ้าทำแบบนั้นก็เรียกว่าตั้งอยู่แล้วไม่เป็น ไม่ไปหน้าไม่มาหลัง เคยแต่อยู่อย่างนั้นน่ะ อยู่กับลมมันก็อยู่กับลมอย่างนั้นน่ะ อยู่กับบริกรรมก็อยู่กับบริกรรมอย่างนั้นน่ะ เวลามันได้ผลขึ้นมา เวลามันสงบลงมา มันจะลงไปสู่ฐานที่ตั้งของเขาแล้วก็ไม่ยอมรับเอา ตกลงก็เลยทำอยู่ของเก่า แต่อยู่แค่ปลายจมูกกับบริกรรม ก็อยู่แค่นั้นน่ะ 

ที่เลยนั้นไปมันมีอะไรบ้าง เลยลมไปนั้น เลยคำบริกรรมไปนั้นมันมีอะไรบ้าง ก็ไม่ได้พากันสำนึกอะไรเล้ย ไม่ได้พากันคิดอะไรเลย ก็ได้แต่เพียงว่าแค่นั้นก็แล้วก็แล้วกันไป แล้วกำหนดแค่นั้นก็แล้วก็แล้วกันไป แล้วเวลามันจะสงบ เอ้า ก็ดึงขึ้นมาอีก ก็มาตั้งแค่ปลายจมูกของตัวเอง แล้วไม่เป็น เดือนนี้ก็ทั้งเดือน เดือนหน้าก็ทั้งเดือน เอ้า ไปๆมาๆก็ปีทั้งปี ปีหน้าก็ของเก่าอีก จิตไม่รู้ว่าจะไปไหนมาไหน 

ตกลงก็มาวุ่นอยู่กับเขานี่หละ วุ่นอยู่กับโลก ไอ้โลกนี่มันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ไอ้เรื่องวุ่นน่ะ แล้วเราจะไปปราบเขา เราจะไปห้ามเข้า อย่าไปคิด ห้ามคิดปราบ คิดอะไรเลย มันเป็นหน้าที่ของเขาที่เขาจะต้องทำไป ก็ให้เขาทำไป เราก็ลอดสอดเข้าไปนั้นหละ ความสงบก็ลอดเข้าไปนั้นน่ะ อยู่กับเขาไปนั่นน่ะ สงบอยู่ในนั้นน่ะ สุขมันก็สุขอยู่ในนั้น นี่เค้าเรียกว่าสุขในศีลในธรรม แต่สุขมีคุณค่า ชีวิตมันมีคุณค่า เมื่อเวลาอนิจจัง แก่ เจ็บ ตาย มาถึงแล้ว นั่นหละมันมีคุณค่า คุณค่ามันไปดีตรงนั้นนะ มันไม่ได้เสีย มันไม่ได้ขาดทุน มันมีแต่กำไร ชีวิตมีแต่กำไร กำไรในศีลในธรรม กำไรในบุญในกุศล กำไรในธรรมะ กำไรในศาสนา มันไปดีตรงนั้นนะ 

จึงอยากให้เราชาวพุทธทั้งหลายนี่หละ ให้ยืนอยู่ด้วยความสงบ แล้วก็ให้นั่งอยู่ในความสงบ ให้เดินอยู่ในความสงบ นอนอยู่ในความสงบ ชีวิตพวกเราทั้งหลายจึงจะมีคุณค่า สมกับว่าเราเป็นชาวพุทธ สมกับพุทธศาสนามาถึงเราแล้ว แล้วเราก็มาถึงแล้ว ยังไงจะให้ได้ก็ให้รีบเอาเถอะ เดี๋ยวต่อไปนี่จะลำบากนะ ใครหละจะเป็นผู้มาพาเราทำ ใครหละจะมาพูดให้เราฟัง พวกเราพูดกันเองมันฟังกันหรือเปล่า มันไม่ได้ฟังกันนะ คิดเอาหน่อยนะ 

ถ้าพอจะได้ก็ให้มันได้ซะนะ พอจะดีก็ให้มันดีซะนะ พอจะแน่นอนก็ให้มันแน่นอนซะนะ ไปข้างหน้า ต่อไปมันไม่มีอะไรแน่นอน การเปลี่ยนแปลงแปรผันในสภาพต่างๆมันเป็นไปโดยธรรมชาติของเขา ส่วนความเป็นจริงอันที่มันจะเกิดขึ้นในตัวเอง ซี่งมันมีของจริง แทนที่มันจะได้ มันอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นก็ได้นะ มันก็เนื่องมาจากคนนั่นหละ ก็เพราะความคิดของคนมันหลายคิด มันคิดไปได้สารพัด แต่สำหรับความดีนั่นน่ะ มันจะดีเหมือนความคิดหรือไม่ มันก็อีกประเด็นหนึ่ง เราต้องเข้าใจนะ ความดีทั้งหลายมันจะสู้ความสงบน่ะมันหายาก สู้ความสุขอันที่มันเกิดจากความสงบนี่มันหายาก มันไม่มีอะไรจะมาเปรียบเทียบหรอก 

อันที่เขาว่าติดสุขติดสงบนี่หละ ให้มันติดเถอะ ให้มันมีมาเถอะ ที่เขาว่าหลงเนี่ยหละ ให้มันมีมาเถอะ กลัวอย่างเดียวคือมันไม่มีนี่ มันเลยมายาก มันเลยมาคิดคาดหมายมาก่อน หาว่ามันเป็นโทษ ทั้งๆที่มันเป็นประโยชน์ ทั้งๆที่มันเป็นสุข ทั้งๆที่มันเป็นของที่ควรจะให้เกิดให้มีขึ้น ก็เลยไปโทษมันซะ ทีนี้ไม่รู้ว่าเราจะเอาอะไรมาเป็นผลลัพธ์ของการปฏิบัติของพวกเราท่านทั้งหลาย 

ภาวนาก็ภาวนา ฟังธรรมเราก็ฟัง ผ่านมาเป็นปีๆ ก็ไม่รู้ว่ากี่ปีมาแล้ว ก็ผ่านมาแล้ว ความสมบูรณ์พูลผลของธรรมะกับจิตของเรามันอยู่ตรงไหน ปีนี้ก็จวนแจไปแล้ว จะสิ้นปีไปแล้ว ก็เหลืออีกไม่เท่าไหร่ ชีวิตของเราหละมันยังอยู่ตามเดิมหรือเปล่า มันไม่ได้อยู่ตามเดิมสิ มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามปีตามเดือน ทีนี้ผลลัพธ์ของเรามันสมบูรณ์หรือยัง ที่เราพากันกระทำมา อันนี้ก็เป็นข้อคิด ขอฝากความคิดเอาไว้ให้เราท่านทั้งหลายไปพิจารณาด้วยตนเอง 

รู้แล้วว่ามันไม่แน่นอน รู้ว่าไม่แน่นอนจะทำยังไงหละ ก็อะไรเป็นที่พึ่ง ก็คือบุญกุศลเป็นที่พึ่ง บุญกุศลจะเกิดจากอะไร ก็เจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานเสียก่อน เอาอย่างอ่อนๆเสียก่อน เอาพอความสงบมันเกิดขึ้น พอเป็นบุญเป็นกุศลก่อน แล้วจึงค่อยไต่เป็นระยะๆ ค่อยฝึกให้มันแก้ได้ขึ้นเป็นลำดับๆขึ้น สมถะมันก็แก่กล้ามันก็แน่นอนขึ้น แล้ววิปัสสนามันก็สดใสขึ้น และมันก็ดีขึ้น มันต่อกันไปนะ สมถะเป็นเหตุนะ วิปัสสนามันเป็นผล ถ้าไม่มีสมถะหละ จะเอาวิปัสสนามาจากไหน ก็จะเอาแต่ความคิดอย่างเดียวน่ะ มันก็ได้แต่ความคิด ก็หาว่ามันวุ่นวาย เพราะฉะนั้นมันจึงมาจากสมถะคือต้นเหตุ แล้วเอาผลมันจะเกิดขึ้นคือวิปัสสนา ก็เราก็พิจารณากันบ้างสิ 

อันนี้เอาไปอ่านเอา อันนี้เอาไปพิจารณาเอา ไปใคร่ครวญดูเอา อย่าไปถามแต่คนอื่น อย่าให้แต่คนอื่นเขาตอบ ตัวเองตอบตัวเอง ตัวเองถาม ตัวเองตอบตัวเองบ้าง รู้ด้วยตัวเองมั่ง จึงได้เรียกว่า ปัจจตัง หัดรู้เฉพาะตนบ้าง เมื่อไหร่เราจะรู้เฉพาะตนหละ ตกลงก็หาความรู้เฉพาะตนไม่มี ได้แต่แค่สวด ทางสวดน่ะเก่งนัก แต่ว่าส่วนที่จะเป็นไปตามสวดน่ะมันอยู่ตรงไหน นี่! เราก็ควรจะคิดกันบ้าง นี่ให้สำนึกกันบ้าง ตามสติและปัญญาของตัวเองเท่าที่ตัวเองจะมีสติปัญญารู้เท่าเอาทัน แล้วก็จะได้แก้ปัญหา ในเมื่อบั้นปลายแห่งท้ายชีวิตตัวเองมาถึง แล้วเราก็จะได้หอบหิ้วเอาสิ่งเหล่านั้นไป เราจะเอาอะไรไม่ได้หรอก โลกนี้มันเอาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น 

เพราะฉะนั้นแหละท่านทั้งหลายที่ได้ฟังมา และที่ได้นำมาเล่าให้ฟัง ที่นำมาให้คำแนะนำในทางปฏิบัติ ก็พอที่จะเป็นที่เข้าใจ คือพูดกันอย่างง่ายๆ ไม่ต้องไปพูดกันแบบลำบาก พูดกับแบบง่ายๆว่ามันอยู่กับตัวเราก็ง่ายๆนี่หละ ของง่ายๆนี่ไปทำให้ยากอยู่น่ะ แต่ว่าของยากมันอยากไปทำ แต่ของง่ายมันไม่อยากทำ นี่ๆ ให้เราคิดเอาตรงนี้หละ พอเรารู้ว่ามันมีอยู่กับตัวเราอย่างนี้ เราจะทิ้งตัวเราไปโดยไร้เหตุผลเหรอ ข้อนี้ก็ให้พากันพินิจพิจารณาด้วยตนเอง 

เพราะฉะนั้นการแสดงมาก็สมควรแก่กาลเวลา จึงขอยุติเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้