หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก
อันดับต่อไปจงพากันตั้งใจ ตั้งใจสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนา อันเป็นโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเคารพและก็ด้วยความเป็นบุญและเป็นกุศลแต่ละท่าน การตั้งใจเป็นหลักสำคัญของนักการปฏิบัติ เพราะเราจะปฏิบัติธรรม เราก็จะต้องอาศัยใจเป็นหลัก ถ้าขาดใจเป็นหลักแล้ว คุณธรรมจะไปเกิดและเกิดขึ้นที่ไหน แม้กระทั่งความดีของเราท่านทั้งหลายที่ได้กระทำมา และความดีนั้นจะไปตั้งไปอยู่ที่ตรงไหน นอกจากจิตและใจของพวกเราแล้ว ไอ้ความดีทั้งหลายจะไม่มีที่ตั้ง คือตั้งอยู่ที่หัวใจของเราท่านทุกคน
เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำอะไรก็ดี จะเป็นกิริยาภายนอกในเรื่องของการบำเพ็ญกุศล เราก็จะต้องอาศัยใจเป็นหลัก เราจะทำภายใน เราก็จะต้องอาศัยใจเป็นหลัก เพราะใจนี้เป็นสาระและเป็นแก่นสารและเป็นเป้าหมายของธรรมะ เราจึงละทิ้งไม่ได้ และจะเมินเฉยไม่ได้ เพราะฉะนั้นการฟัง เราก็ควรจะประคับประคองใจของตัวเอง และให้ตั้งอยู่ด้วยความเคารพและก็ด้วยความเป็นบุญและเป็นกุศล จึงจะเหมาะสมกับเราท่านทั้งหลายที่ได้พากันมาประกอบพิธี พิธีในทางพระพุทธศาสนา
ก็อย่างวันนี้เราก็ถือว่าเป็นวันสำคัญ สำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาของเรา เมื่อเราได้ถือว่าเป็นวันสำคัญเช่นนั้น ทุกท่านทั้งบรรพชิตและทั้งอุบาสกอุบาสิกา ได้เวลาแล้วก็พร้อมกันมาสู่ที่ศาลาบำเพ็ญ ครั้นเมื่อมาถึงแล้วและได้เวลาแล้วต่างก็พากันทำพิธีก็คือการไหว้พระ เมื่อการไหว้พระ สวดสาธยาย คำสรรเสริญเยินยอแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสร็จแล้ว นอกจากนั้นเราก็ยังมีการทำพิธี พิธีขอร้องวิธีการปฏิบัติเอาข้อปฏิบัติอันที่องค์พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเอาไว้ ก็ได้แก่องค์ศีล ผู้ที่ได้สมาทานศีล ๕ ก็ได้ขอสมาทานศีล ๕ ก็คือได้รับศีล ๕ ไป ผู้ที่สมาทานอุโบสถศีล สิ้นวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ก็สมาทานไป และผู้ที่รักษาอุโบสถศีลเป็นอาจิณเรียกว่าอยู่เป็นประจำตลอดไป อันนี้ก็ได้ขอร้อง หรือว่าขอสมาทาน ในพุทธบัญญัติของพระพุทธเจ้าเมื่อเราได้สมาทานและร้องขอ และก็ได้รับไปแล้ว เราก็ได้นำเอาข้อบทและกฏพุทธบัญญัตินั้นไปประพฤติและปฏิบัติตามประเพณีนิยมซึ่งเราได้พากันประพฤติและปฏิบัติมา
เมื่อเราท่านได้ประพฤติและปฏิบัติกันมาเป็นประจำเช่นนี้ ก็ถือว่าเราเป็นผู้ตระหนัก ตระหนักไปในทางความประพฤติที่จะเป็นประโยชน์และเป็นการที่จะแสวงหา หาหนทางอันที่เราจะออกจากทุกข์ ความมุ่งหมายของการกระทำ การกระทำของพวกเรานั้นก็คือว่าเป็นการกระทำเพื่อเป็นการแสวงหา หาหนทางอันที่จะออกจากทุกข์ ก็เรียกว่าหาความสุขใส่ตัวเองนั้นแหละ
ทีนี้อันส่วนประเพณีอันที่เราได้กระทำก็เป็นเหตุที่จะให้มีการชักนำพวกเราเข้ามาสู่วัด หรือว่าเข้ามาสู่สถานที่บำเพ็ญกุศล ถ้าไม่มีพิธีหรือไม่มีประเพณี การกระทำของพวกเราก็ไม่รู้จะไปทำกันอย่างไรและจะทำกันอะไรที่จะให้มันเกิดผลขึ้น เพราะฉะนั้นปราชญ์บัณฑิตในสมัยครั้งโบราณ ท่านมีความฉลาดปราดเปรื่อง จึงได้หาพิธี พิธีการกระทำ เป็นประเพณีประจำ คือในเมื่อถึงวัน ๘ ค่ำก็ดี ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำก็ดี ให้เป็นประเพณีอันหนึ่ง แล้วก็ดึงพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาและผู้มีใจบุญ แล้วก็มาทำพิธี เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วก็พากันรักษาพิธีอันนั้นต่อๆไป ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุที่จะให้เกิดขึ้นซึ่งความเป็นบุญและเป็นกุศลทั้งสิ้น
ทีนี้ส่วนที่เรามาสมาทานซึ่งองค์อุโบสถศีล เมื่อเราได้สมาทานไปแล้ว ก็ขอให้เราเข้าใจในข้อบทบัญญัติ เราควรจะรักษาอย่างไรที่มันจะตรงกับเป้าหมายหรือคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือความประสงค์ของพระพุทธเจ้า นั้บตั้งแต่ข้อต้น คือปาณาฯ อทินนาฯ จนตลอดถึง อุจจาฯ (อุจจาสะยะนะ มหาสะยะนา เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่งที่เท้าสูงเกิน ภายในมีนุ่นหรือสำลี) ไอ้เรื่องเหล่านี้ท่านทั้งหลายนี้ท่านก็ทราบกันดีอยู่แล้วแต่ละหัวข้อๆ มีอย่างเดียวก็คือเรามาปรับปรุงตัวของเราให้อยู่ด้วยความเป็นศีล เรียกว่ารักษาศีล การรักษาศีลก็คือรักษาตัวเรา รักษาตัวของเราก็คือรักษาศีล มันก็มีอยู่แค่นั้นน่ะ อันนี้สำหรับการรักษาศีล
เมื่อเราอยู่ในศีล และเป็นผู้ที่มีศีล ศีลนั้นเป็นสิ่งที่จะปกป้องความชั่วร้ายหรือว่าโทษบางอย่าง ไม่ให้มาถึงตัวเรา เมื่อเรามีศีลสมบูรณ์และบริบูรณ์แล้ว เราก็หาได้เฉพาะแต่รักษาศีลเท่านั้นไม่ ยังมีพิธีกรรมอันที่เราจะต้องกระทำกันอยู่ และที่ได้ทำกันมาโดยตลอดมิได้ขาด ก็ได้แก่การปฏิบัติธรรม ทีนี้การปฏิบัติธรรมกับการรักษาศีลและมันเป็นกันอย่างไร แต่ว่าการรักษาศีล เราก็ถือว่าเป็นแผนกหนึ่ง ก็คือรักษากายกับรักษาวาจา ทีนี้การปฏิบัติธรรม เราก็ถือว่าเป็นแผนกหนึ่งแต่เมื่อมาพิจารณาดูแล้วก็เป็นของที่ว่าถ่ายทอดกันมาโดยลำดับนั่นแหละก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติอีกขั้นหนึ่ง ศีลก็คือธรรม ธรรมก็คือศีล เรียกว่ารักษาศีลก็เพื่อความเป็นธรรม
ทีนี้เมื่อเรามาสมาทานศีลก็เพื่อเรามาสมาทานธรรม และมันก็เป็นของที่อยู่โดยอันเดียวกันนั้นแหละแต่มีส่วนแยกกันนิดหนึ่ง ถ้าเรามาพิจารณาก็มีส่วนแยก ถ้าหากว่าประมวลเข้ามาแล้ว มันก็เป็นอันเดียวกัน คือกายกับใจ อันหนึ่งก็รักษากาย อันหนึ่งก็รักษาใจ ทีนี้การปฏิบัติธรรม ที่เราจะนำธรรมะที่จะให้มันเกิดและที่จะให้มันเป็นผลตามความประสงค์จงจิตของพวกเรานั้น ก็คือว่ามารักษาหัวใจและก็มาฝึกฝนอบรมในทางด้านจิตใจ เหมือนอย่างเราๆท่านๆ ซึ่งได้พากันกระทำมาทุกคืนมิได้ขาด แม้ว่าเราไม่ได้มาสู่สถานที่คือศาลาก็ตาม เราอยู่ที่บ้านหรือว่าบ้านพักของเรา เราก็ปฏิบัติได้ เพราะการปฏิบัติธรรมะก็ไม่ได้เป็นของที่หนักหนาอะไร
ตามคำนักปราชญ์โบราณท่านว่า นอน ท่านก็ว่าทำได้ เดิน ท่านก็ว่าทำได้ นั่งก็ทำได้ ยืนก็ทำได้ เรียกว่าในอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ยืน เดิน นั่ง นอนนี้หละเรากำหนดได้ และเราก็นึกได้ เรียกว่านึกในธรรม และก็กำหนดในธรรม กำหนดคำอันที่เราบริกรรมนั้นแหละ เราบริกรรมอะไร เราก็กำหนดและนึกอันนั้น แม้แต่จะยืนก็ตาม เดินก็ตาม นอนก็ตาม นั่งก็ตาม ก็เรียกว่าทำได้
แต่ว่าเมื่อเรามาถึงสถานที่ส่วนรวม อันนี้มันจำเป็นที่เราจะต้องรักษาระเบียบ คือระเบียบส่วนรวมนี้จะต้องเพียบพร้อมไปด้วยความเรียบร้อย และจะเพียบพร้อมไปด้วยความสุภาพ เพราะคนหมู่มากถ้าเราจะไปทำเกะกะ ก็เรียกว่ามันก็ขัดต่อสังคม ในสังคมนั้นก็จะหาความเรียบร้อยไม่ได้ จำเป็นเราก็จะต้องอยู่ในความเป็นระเบียบ และอยู่ในความสุภาพและความเรียบร้อย ก็เพื่อความงามในหมู่ในขณะ ก็คือจะต้องมานั่งสำรวมกัน และทั้งที่มีการกำหนดภายในจิตของตัวเองและพยายามที่จะต้องสอดส่องมองดูจิตของตัวเองซึ่งมันมีลักษณะกิริยาอาการอย่างไร และมันจะมีความนึกคิดปรุงแต่งไปในทางชั่วร้ายหรือจะไปในทางที่ดี เราคอยที่จะสอดส่อง มองดูจิตของตัวเองอยู่เสมอ อันนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการยังธรรมะคือความรู้นั้นน่ะให้เกิดขึ้นจากตัวเอง
ทีนี้คนเรานั้นน่ะจะเข้าใจว่าไปปฏิบัติธรรม ก็เหมือนกับว่าจะไปทำงานหนัก เหมือนกับว่าเราจะไปแบกไปหาม เหมือนกับว่าจะไปขุดดิน หรือเหมือนกับว่าจะไปยกของหนัก อันนั้นมันไม่ใช่ งานของการปฏิบัติเป็นของที่เบา แต่ว่าเป็นของที่เอาได้ยาก เป็นของที่ทำได้ยาก คือมันเป็นงานของตัวเองนี้มันเป็นงานที่เอายาก คือเราจะมาปฏิบัติตัวเอง จะมารักษาตัวเอง จะมาประคับประคองตัวเอง จะมาทำตัวเองให้มันดีขึ้น อันนี้หละมันยาก งานตัวเองนี่รู้สึกว่ามันยาก คือเราจะมาประคับประคอง มายังจิตของตัวเองที่จะให้เกิดความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิและจะให้มันเกิดความรู้แจ้งแสงสว่างคือให้มันเกิดปัญญาขึ้นในตัวเองเพื่อจะให้รู้ธรรมเห็นธรรม อันนี้มันรู้สึกว่ามันยาก
ทีนี้การที่เราจะมาประคับประคอง การที่เราจะมาทำจิตของเราให้อยู่เป็นปกติ เอ…มันก็ยาก ถ้าพูดถึงเรื่องของจิตแล้วน่ะ มันปฏิบัติยาก บอกอย่างหนึ่งมันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วให้ทำอย่างหนึ่งมันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง มันพูดอย่างหนึ่งมันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ให้คิดอย่างหนึ่งมันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่ามันไม่ตรงกับเจตนา เรียกว่ามันยังแย่งกันอยู่ และมันก็ไม่ยอมรับฟัง อันนี้หละจึงเป็นการที่ว่าปฏิบัติได้ยาก แต่เราก็ทำกันอยู่และก็ปฏิบัติกันอยู่ ถึงจะยากจะง่าย เราก็จะต้องทำ แต่มันก็จะต้องมีโอกาส ก็เรียกว่าโอกาสที่จะทำได้
สิ่งที่เราจะนำจิตของเราเข้ามา สิ่งที่จะล่อมันก็มี ก็ได้แก่พวกกรรมฐานทั้งหลาย และอุบายทั้งหลาย อันที่เราจะนำจิตของเราเข้ามา อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็บอกให้พิจารณาในธาตุ ธาตุทั้ง ๔ หรือว่าธาตุกรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทันตา อย่างนี้ ก็เรียกว่าให้ลวงมันมา ก็เพื่อจะมาให้มันมารู้ เพื่อจะให้มันมาอยู่ ไอ้สิ่งเหล่านี้มันเป็นอุบายสำหรับที่จะนำจิตของตัวเองกลัยคืนมาสู่ตัวเองเท่านั้น
แต่เมื่อเราน้อมนำมาสู่กรรมฐานแล้ว ทีนี้เราก็หาหนทางที่จะต้องให้ลงเข้าไปสู่สถานคือฐานที่ตั้ง เรียกว่าสภาพเดิมของจิต ไม่ใช่ว่าจะให้มาอยู่ในกรรมฐาน ถ้าจะให้มาพิจารณาผม ก็จะให้อยู่กับผมตลอดไป ก็หาใช่ไม่ ให้มาพิจารณาขน ก็จะให้อยู่กับขนนี่ตลอดไป ก็หาใช่ไม่ ให้มาพิจารณาหนังเนื้อ ก็จะให้มันอยู่กับหนังกับเนื้อตลอดไป ก็หาใช่ไม่ อันนี้มันเป็นอุบายของนักปราชญ์บัณฑิต ผู้ฉลาดคิดเพื่อจะนำจิตให้เข้าสู่ความสงบ เมื่อนำมันเข้ามาแล้ว เมื่อมาถึงแล้ว ทีนี้เราก็จะต้องหาหนทางให้เขา ให้เขาลง ลงไปสู่สภาพความเป็นจริงของเขา หรือว่าให้ลงไปสู่สภาพตัวของเขานั่นแหละ เรียกว่ามันให้ตรงเข้าไป ตรงเข้าไปหาตัวต้นตอของเขานั่นหละ ให้มันเป็นอุชุปฏิปันโน คือเป็นผู้ปฏิบัติตรง เรียกว่าให้มันตรงเข้าไปสู่จุด คือจุดที่ตัวรู้
ไอ้ตัวรู้น่ะมันออกจากไหน และมันเกิดขึ้นที่ตรงไหน ให้เราตรงเข้าไปตรงนั้น นั้นหละเรียกว่าอุชุปฏิปันโน ทีนี้ไม่ใช่ว่าจะให้มาอยู่กับกรรมฐาน ถ้าเอามาอยู่กับผม จะมาพิจารณาแต่ผมอยู่นั่นตลอด แต่ก็เมื่อไหร่เล่ามันจะสงบหละ ก็เราต้องการความสงบ เราก็จึงได้เรียกมันมา เราเรียกให้มาอยู่กับเนื้อกับหนังกับกระดูก ก็จะให้มันอยู่กับเนื้อกับหนังกับกระดูกนั้นตลอดไป ให้อยู่กับกรรมฐานตลอดไป ทีนี้เราต้องการความสงบหละ แล้วมันจะสงบได้อย่างไร
ทีนี้เราต้องหาหนทางให้มันเข้าไปสงบบ้าง อันนี้มันเป็นเครื่องล่อ เมื่อเราล่อมันมา เราดึงมันมา เรากำหนดมาที่ปลายจมูก ก็ลมหายใจเข้าใจออก อันนี้ก็เป็นกรรมฐานชนิดหนึ่ง เรียกว่าอานาปานสติคือกำหนดลมหายใจเข้าออก เราก็นำจิตของเรามาตั้ง เมื่อเขามีลักษณะแห่งความสงบของเขาแล้ว จำเป็นที่เราจะต้องปล่อยจิตนั้น ให้มีความสงบโดยมีความสะดวกและสบาย เรียกว่าอย่าไปเป็นอุปสรรค หรือว่าอย่าให้มันมีอุปสรรค และก็อย่าไปกลัว และอย่าไปตกใจ เรียกว่าเราก็ปล่อยและก็ค่อยตาม ตามความสงบและลักษณะอาการของจิตนั้นให้ได้ เรียกว่ามีสติให้เพียบพร้อม เมื่อมีสติเพียบพร้อมมันก็ตามเข้าไป เมื่อตามเข้าไปแล้วจิตมันไปถึงที่ มันก็หยุดของมันเอง คือมันไม่ได้เลยตัวของมันไปได้หรอก และมันก็ไม่ได้ออกที่จะไปท่องเที่ยวหนีจากตัวเราไปได้ มันก็ไปสู่จุดของมันนั่นแหละ
เมื่อไปสู่จุดคือต้นตอของเขาแล้ว มันไม่มีการเคลื่อน มันก็อยู่ของมัน เมื่อมันอยู่ของมันแล้ว ผลของการที่มันอยู่นั้นน่ะ มันจะมีอะไร นั้นน่ะเราคอย(ดู)ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น นี่เราฟังผล เมื่อเราได้รับผลแห่งความสงบแล้ว ผลของความสงบนั้นจะมีปฏิกิริยาอาการอย่างไร อันนี้เค้าเรียกว่าเป็นปัจจตัง คือเราจะต้องรู้โดยเฉพาะ เราก็จะต้องเห็นโดยเฉพาะ เพราะการปฏิบัติซึ่งได้รับผลมันก็จะย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัตินั้นจะต้องรู้ผลงานของตัวเอง จะน้อยหรือมาก จะมากหรือน้อยก็เป็นหน้าที่ของตัวเอง อันนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรม ผลของการปฏิบัติธรรม ธรรมมันก็จะต้องเกิดอย่างนี้ นี่เรียกว่าผู้ที่จะต้องให้ผล
ทีนี้ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ เรียกว่าจิตมันกำลังกังวล แล้วว่ายังรวมตัวไม่ได้ มันยังอยู่ในความปลิโพธกังวล เดี๋ยวมันติดโน่น เดี๋ยวมันก็ติดนี่ อันนี้มันเป็นสภาพธรรมดาของจิต มันก็จะต้องเป็นอย่างนั้นหละ อันนี้เราก็จะต้องค่อยๆประคับประคอง และค่อยๆดู ค่อยๆสังเกต ค่อยๆทำ และก็ต้องมีความพยายามและความขยันให้ทำไป
และการกระทำของเรานั้นแต่ก็จะต้องเพียบพร้อมไปด้วยปัญญา ถ้าขาดปัญญามันก็ไปยาก ถึงจะได้มา ถึงจะเป็นมา ถ้าขาดปัญญามันก็ได้ยาก และมันก็เป็นยาก เพราะฉะนั้นจึงได้อาศัยปัญญาให้มีความรอบรู้และให้มีความรู้เท่าทันแห่งอาการของจิต คือจิตของเราน่ะมันชอบอะไร มันมีความประสงค์อะไร และมันมีปฏิกิริยาอย่างไร ให้เราคอยสังเกตและให้คอยรู้ และเมื่อมันมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น สติและปัญญาของเรานั่นน่ะ ให้มันพร้อม แล้วก็ให้เข้าไปตัดปัญหา คือเรียกว่าแก้ปัญหาของตัวเอง
ถ้ามันไม่เป็นของจำเป็น ก็อย่าให้มันได้ยืดยาว ถึงมันจะเกิดอารมณ์ขึ้นมา เรียกว่าจะเป็นอารมณ์ดีก็ตาม อารมณ์ที่ไม่ดีก็ตาม ถ้ามันเป็นอุปสรรคของความสงบและเป็นสิ่งที่รบกวนของความสงบแห่งจิตแล้ว เราอย่าได้ไปติดตามหรืออย่าได้ไปให้มันยืดยาวไปเนิ่นช้า เรียกว่าให้สติและปัญญาของเรานั้นน่ะให้ตัด เรียกว่าตัดกระแสอารมณ์เหล่านั้น แล้วก็ให้ตั้งตัวรู้นั่นลงไป คือรักษาเฉพาะตัวรู้ และก็ให้มันอยู่กับตัวรู้ และก็ให้มันรู้อยู่ จะมีพุทโธ หรือไม่มีพุทโธ ก็แล้วแต่ แต่ว่าขอให้มีตัวรู้ ไอ้ตัวรู้นั่นหละคือตัวพุทโธ เราจะบริกรรมก็ตาม ไม่บริกรรมก็ตาม ถ้าเรารู้อยู่มันก็เป็นพุทโธ เราก็พยายามรักษาและใช้ปัญญาของตัวเองให้รอบคอบอยู่อย่างนี้
ถ้ามันเป็นอย่างนี้ ก็คิดว่าก็คงจะได้รับผล คือความสงบนั้นก็จะบังเกิดขึ้นแก่เราท่านทั้งหลาย ผู้ที่มีความสนใจในความสงบแห่งการปฏิบัติธรรม ก็คงจะไม่เหลือวิสัย ก็ไม่มาก ก็คงจะน้อย และคงจะเกิดขึ้น ทีนี้เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว สำหรับจิตที่มันจะต้องแสดงออกซึ่งความดีของเขานั่นน่ะ มันมากแสนที่จะมาก คล้ายๆกับว่า สิ่งที่เรายังไม่เคยเห็น แต่มันก็เห็น สิ่งที่เรายังไม่เคยมี แต่มันก็มี แต่มันมีมาได้อย่างไรในจิตนั้น เราก็หาทราบไม่ แต่มันก็มีของมัน นี่เค้าเรียกว่าคุณสมบัติมันมีในตัวมาแล้ว แต่เราท่านทั้งหลายนั้น ก็ยังหาได้ค้นพบของดีอันที่มันมีอยู่ในตัวของตัวเอง
เราเห็นแต่ของดีคือของภายนอก แต่ของภายในคืออยู่ที่ใจของตัวเองนี้ เรายังหาไม่พบ ถ้าจิตของเรามีความสงบแล้ว ไอ้ความดีอันที่มันมีในตัวเองนั้น เราก็จะได้ประสบด้วยตนเอง สุขมันก็สุข สบายมันก็สบาย เย็นมันก็เย็น รู้มันก็รู้ เรียกว่ามันเพียบพร้อมไปหมด และทั้งสติและปัญญาอะไรมันก็เพียบพร้อมไปหมด ไอ้ตัวปัญญามันก็จะบังเกิดขึ้น ก็บังเกิดขึ้นในความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธินั่นแหละ จิตมันก็จะเกิดการรู้แจ้งแสงสว่างขึ้น
เมื่อเกิดความรู้แจ้งแสงสว่างขึ้นในตัวเอง ไอ้ตัวปัญญามันก็จะต้องตามรู้ตามเห็น ที่ว่ามันตามรู้ตามเห็น มันเห็นอะไร มันก็ไม่ได้เห็นนอกเหนืออะไรหรอก มันก็เห็นอยู่ภายในตัวเองนี่น่ะ ที่ว่าตามรู้ตามเห็นก็คือเห็นตัวของตัวเองนั้นแหละ เห็นตัวของตัวเองมันเป็นอะไร ตัวของตัวเองนี่ที่เราถือว่ามันเป็นสาระแก่นสาร ถือว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นของๆเรา เป็นตัวเรา เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นเส้น เป็นเอ็น เป็นกระดูก เป็นของๆเรา ที่ว่ามันเห็นที่ว่ามีความยึดมั่นมา มันก็จะมาเห็นกันตรงนี้
ถ้ามันมาเห็นอันนี่แล้วว่ามันเราอยู่ที่ไหน อะไรอยู่ที่ไหน อันไหนมันเป็นสาระแก่นสาร เมื่อมันมารู้มาเห็นด้วยปัญญาของมันอย่างนี้แหละ ซึ่งปัญญาอันที่ว่าเกิดขึ้นจากสมาธิและประกอบไปด้วยวิปัสสนาคือความรู้แจ้ง ทีนี้มันก็จะได้รู้จริงและเห็นแจ้ง เมื่อรู้จริงเห็นแจ้ง มันก็จะได้ค้นคิดและพิจารณา เมื่อค้นคิดพิจารณา จิตมันก็จะได้รู้และก็จะได้เห็นมาก เมื่อได้รู้มากเห็นมาก มันก็บอกว่ามันหาสาระอะไรไม่ได้ และมันก็เป็นของที่น่าเบื่อ จิตมันก็เลยเบื่อหน่าย ไอ้ความเบื่อหน่ายนี้ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเราธรรมดาซึ่งเบื่อหน่ายกัน อันนั้นเค้าเรียกว่าเบื่อหน่ายด้วยปัญญา คือปัญญามันพิจารณาเห็นแล้ว มันเกิดความเบื่อหน่ายในตัวเอง เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายในตัวเองน่ะเรียกว่า นิพพิททา
เมื่อมันเกิด นิพพิททา มันก็หน่ายซะเท่านั้นหละ หน่ายอะไร มันหน่ายในทุกข์ และมันก็เห็นความทุกข์คือทุกข์ของตัวเองนั้นน่ะซึ่งได้เกิดมา ไอ้เกิดมาแล้ว ไอ้เรามาอยู่ทรมานน่ะ ในการครองสังขารนี่มันก็ลำบาก ทั้งที่เรามาเลี้ยงดูในสังขาร มันก็ลำบาก เรามาพิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าว่ามันเป็นทุกข์ เราก็เลยมาเห็นความเป็นทุกข์เหมือนกับพระพุทธเจ้าว่า และเราก็รับความเป็นจริงอย่างที่พระพุทธเจ้าว่า ทีนี้เราก็จึงออกจากทุกข์สิ มันก็เห็นความเป็นทุกข์ และมันก็เห็นความทุกข์จริง ที่มันเห็นนั้นก็เพราะอะไร ก็เห็นเพราะปัญญา
เมื่อมันเห็นเพราะปัญญา ปัญญานี้มันจะต้องใช้ยังไง ปัญญานี้จะต้องพิจารณาค้นเข้าไปหารากฐาน คือฐานความเป็นจริง อันที่เราได้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏนี่มันมีอะไรบ้าง และมันทำให้เรามาเกิด มันทำให้เรามาแก่ มันทำให้เรามาเจ็บ ทำให้เรามาตาย มันมีอะไรเป็นสาเหตุ จิตมันจะต้องทำงานของมันโดยลำพัง ถ้าไม่มีใครรบกวนและถ้ามันสงบแล้ว พอมันทำงานของมัน มันทำงานแบบสบาย เรียกว่าทำงานแบบไม่เป็นทุกข์ ทำงานด้วยความสุข และทำงานด้วยความร่มเย็น เรียกว่าทำงานในภายใน อันนี้เรียกว่าทำด้วยปัญญา เพราะมันปัญญามันเกิดขึ้นในตัวเอง
เมื่อมันทำงานด้วยปัญญา จิตมันก็จะบริสุทธิ์สะอาด สะอาดปราศจากมลทิน ก็เพราะปัญญาเป็นผู้ที่เข้าไปรู้ และไปเห็น และไปกำจัด เมื่อจิตมันบริสุทธิ์สะอาดก็เพราะปัญญา เพราะฉะนั้นปัญญานั้นน่ะจึงเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็จึงได้ทรงบรรหารพุทธภาษิตหรือคำสอนไว้ว่า ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ก็เพราะปัญญา นี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างนี้
เมื่อพระองค์สอนไว้อย่างนี้แหละ ขอบรรดาท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เพราะว่าสำนักของเรานี้มันเป็นสำนักปฏิบัติ เรียกว่าเป็นสำนักที่แก่กว่าเขา ไอ้เขาน่ะมันก็เรียกว่าธรรมดาๆ วันพระหนึ่งของเขาก็ไปอีกครั้งหนึ่งเท่านั้นหละ แต่เรานั้นน่ะไม่มีวันพระ จะเป็นวันไหนก็ตาม สำนักของเรานั้นมีการปฏิบัติกันอยู่ตลอดมาทุกคืน ถ้ายิ่งเป็นวันสำคัญแล้วก็ยิ่งมีการกระทำกันมาก
ทีนี้ถ้าเรามีหลักการของการปฏิบัติอยู่อย่างนี้หละ เราก็ควรที่จะรับทราบ รับทราบคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าพระองค์มีความประสงค์อะไร และคนเราจะบริสุทธิ์ก็เพราะอะไร และบุคคลจะเข้าไปถึงซึ่งความดีได้ก็เพราะอะไร อันนี้เราก็ควรที่จะรับทราบ ทราบในหลักของการปฏิบัติเพื่อจะได้ประคองตัวของตัวเองอยู่ในการปฏิบัติที่จะให้มันถูกต้อง จึงสมกับว่าสุปฏิปันโน คือเป็นผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ อันนี้หละให้มันตรงกับหลัก หลักของการปฏิบัติ
และเราก็ควรรับทราบ เรียกว่าอย่าอยู่กันไปโดยที่ว่าไม่รู้เรื่อง เราเป็นคนชาวพุทธ และเราก็เป็นลูกศิษย์ของตถาตต ตถาคตน่ะไม่ใช่เป็นคนโง่ ตถาคตน่ะเป็นคนฉลาด พุทธะคือพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เลิศด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าเป็นคนโง่ พระพุทธเจ้าเป็นคนฉลาด เมื่อเราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นศิษย์ของตถาคตเราจะต้องเป็นผู้ฉลาด และจะต้องเป็นผู้มีปัญญา อย่าเป็นคนโง่ เรียกว่าให้รู้รอบคอบทั้งภายนอกและทั้งภายใน ภายนอกเป็นยังไง ภายในเป็นยังไงก็ให้รู้เท่าเอาทัน เรียกว่า ให้แก้ปัญหาตัวของตัวเอง
ที่แก้ปัญหาตัวของตัวเอง แก้เพื่ออะไร ก็แก้เพื่อความบริสุทธิ์ ก็แก้ด้วยปัญญา เรียกว่าความไม่ดีนั่นอย่าให้มันเข้ามาถึงตัว ถึงแม้ว่าส่วนภายนอก เรียกว่าความชั่วในด้านภายนอกซึ่งเรายังไม่ละกิเลสได้ แต่ก็อย่าให้มันมาถึงตัว เรียกว่าให้ความบริสุทธิ์ภายนอกให้มันมีไว้บ้าง ก็มีด้วยปัญญา ก็มีด้วยความฉลาดของตัวเองนั้นหละ ให้เราทำตัวของเรานั้นน่ะให้เหมาะสม ก็เราเป็นลูกศิษย์ของตถาคต และเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เพราะพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ฉลาดและก็เป็นผู้ที่มีปัญญา เราก็จะต้องเป็นผู้มีปัญญาแก้ไขปัญหาสิ่งที่ชั่วร้ายอันบังเกิดขึ้นกับจิต
สิ่งไหนที่เราจะชำระจิตและแก้ไขจิตของตัวเองได้ ก็แก้ได้ด้วยตัวเอง ก็แก้ด้วยสติปัญญานั่นแหละ แก้ด้วยความรู้นั่นแหละ คือให้เบรคทันที มันจะเกิดโทสะขึ้นมา เราพิจารณาตัวโทสะ มันมีแต่เสียกับเสีย ไอ้ความโกรธนั่นมีแต่เสียกับเสีย มันไม่มีอะไรจะได้นะ อันนี้เราก็ต้องเบรคทันที พอมันจะผุดขึ้นมา พิจารณารู้ให้เบรค เรียกว่าตั้งสติของเราลงแก้ไขปัญหา แล้วให้เข้าสงบ เดี๋ยวมันก็หายของมันเอง
อันนี้มันเป็นพิธีของเราชาวนักปฏิบัติที่จะต้องควรรู้และควรที่จะต้องแก้ปัญหาตัวของตัวเอง เพื่อจะได้ให้เกิดความสุขและความสบายในความเป็นอยู่ นี่เรียกว่าการปฏิบัติธรรม จะพูดเรื่องของการปฏิบัติธรรมมันก็สุดไม่เป็นหรอก มันมีมาก แต่เราก็ฟังเอาพอที่จะเข้าใจ เข้าใจเพื่อจะนำไปเป็นข้อคิด
ทีนี้เรื่องรักษาศีลเราก็รักษากันมามิได้ขาด ไอ้เรื่องของศีลมันก็มีอยู่อย่างนี้หละ จะให้บริสุทธิ์แค่ไหน ก็มันก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องวัดหรอก ก็เรียกว่ารักษากันไปตามธรรมเนียม แต่การปฏิบัตินู่นหละจะเป็นเครื่องวัด ต่อเมื่อจิตของเรามีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว เมื่อมันเกิดความรู้แจ้งแสงสว่างขึ้นมาในตัวเอง ก็จะมองเห็นความบริสุทธิ์ และมองเห็นความดีของตัวเองซึ่งได้สมาทานศีลมา รักษาศีลมา ตลอดถึงการบำเพ็ญบุญกุศลในการให้ทาน มันจะมาประสานกันในตรงนั้นหละ มันจะไปรู้ตรงนั้นหละ อันนั้นหละมันจะต้องตัดสินให้เราจะบริสุทธิ์แค่ไหน ไม่บริสุทธิ์แค่ไหน แต่การรักษานี่ รักษาธรรมดาๆ ก็รักษากันมาอย่างนี้แหละ แต่ว่าส่วนภายในมันตัดสินของมันเอง
เพราะฉะนั้นขอให้เราท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมะอุบายที่จะได้ชี้แจงแสดงไปใน ณ โอกาสบัดนี้ แต่ว่าการที่เราจะมาแสดงธรรมในโอกาสนี้ที่จะให้มันละเอียดไปหมดทุกอย่างก็เห็นจะเป็นไปได้ยาก ก็เพราะเวลามันจำกัด และเราก็มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและงานการบางอย่างของเราที่เราจะต้องทำมันก็มี จึงขอยุติในการอภิปรายและแสดงพระธรรมเทศนา เอาไว้แต่เพียงเท่านี้
ขอให้ท่านทั้งหลายจงนำและจงกำหนดและจดจำนำไปพินิจและพิจารณา เมื่อเห็นจริงแจ้งโดยประการใดแล้ว ก็ขอให้พากันประพฤติและปฏิบัติตามคำที่ชี้แนะแนวทางมานี้ ถ้าหากว่าโอกาสหลังมี เราก็จึงค่อยอภิปรายและพิจารณาอธิบายกันใหม่เพื่อทำความเข้าใจแก่ท่านผู้ฟังอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นแหละ ก็จะได้ขอหยุดไว้แต่เพียงเท่านี้ที่ได้แสดงมา ก็สมควรแก่กาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้