Skip to content

ความสงบเป็นบารมี

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก
เทศน์ที่ กรมพลศึกษา วันที่ ๒๕ ต.ค. ๒๕๔๓

| PDF | YouTube | AnyFlip |

อันดับต่อนี้ไป ให้พากันตั้งใจฟังและตั้งใจภาวนาทุกคน เพราะใจเรามันเป็นของที่ทำได้ยาก คนเรามันมีความกังวลอยู่ในตัวแต่ละคนๆนั้น ไม่มีอะไรที่จะไปแก้ไขมันได้ มันก็กังวลอยู่ตลอด แล้วแต่เหตุการณ์ที่มันจะเกิดขึ้น ก็ทำให้มันกังวล มันก็กังวลในสมบัตินี่หละอันหนึ่ง มันก็กังวลในบริวารนี่อันหนึ่ง มันเป็นปลิโพธ กังวล คือกังวลในบริษัท กังวลในบริวาร แล้วก็กังวลในสมบัติพัสถานของตัวเองนั้นหละ 

ทีนี้จะหาความสงบคือความสุขในตัวเองมันยาก ถึงเราจะได้สมบัติตามความประสงค์ของตัวเองก็ตาม เราคิดว่าสมบัตินั้นน่ะจะนำความสุขมาให้ มันก็หาไม่ กลับมาเป็นสิ่งที่จะทำความกังวลให้เราอีกครั้ง กลัวสมบัตินั้นมันจะหาย กลัวสมบัตินั้นมันจะเสื่อมสูญไป กลัวสมบัตินั้นมันจะวิบัติไป หรือว่ากลัวเราจะวิบัติจากสมบัตินั้นไป มันก็กังวลอยู่นั่นน่ะ แม้แต่บริวารเราก็ยุ่งกับบริวาร กังวลกับบริวาร จะทำอะไรกลัวจะไม่ดี หรือจะทำอะไรก็กลัวจะไม่ถูกใจเขา เขาก็ไม่ถูกใจเรา เราก็ไม่ถูกใจเขา มันก็กังวลน่ะ ก็เพราะมันมีเรื่องเกิดขึ้นในวงการบริษัทบริวารนั้นด้วย มันก็เป็นเรื่องที่จะให้เรากังวลทั้งนั้นหละ 

ทีนี้เราก็แก้ปัญหาด้วยสุปฏิปันโน เราเอาธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติดี ให้มันหายกังวล เราอย่าไปยุ่งกับสิ่งดังที่กล่าวมานั้นน่ะ เราจะหวังพึ่งใคร เราก็หวังพึ่งพระพุทธเจ้า นี่ทางหัวใจนะ ส่วนภายนอกเราก็พึ่งสมบัติ ส่วนภายในเราพึ่งพระพุทธเจ้า และพึ่งพระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า เราเอาสุปฏิปันโน คือปฏิบัติดี การปฏิบัติเราก็ไม่ได้ทำอะไร เราก็นั่งอยู่เฉยๆ ไปลงแรงอะไรที่ไหนหละ ก็ไม่ได้ลงแรงอะไร เราก็อยู่ของเราเฉยๆ ความอยู่เฉยๆนี่แหละเรียกว่าปฏิบัติ นั่งอยู่เฉยๆเนี่ย 

นั่งดูลมตัวเอง นั่งกำหนดลมตัวเอง กำหนดเข้าไปข้างใน เวลาหายใจเข้าหายใจออก เราก็ตรงเข้าไปน่ะ ตรงเข้าไปข้างในเรียกว่าอุชุปฏิปันโน ก็เป็นผู้ปฏิบัติตรง ก็ตรงเข้าไป ตรงเข้าไประงับความกังวล มันจะกังวลชนิดไหนก็ตาม มันจะฟุ้งซ่านชนิดไหนก็ตาม มันจะวุ่นวายชนิดไหนก็ตาม เราต้องเข้าไป อย่านำความอยากไปให้เขา ไปถอนความอยากนั้นออก ไประงับความอยากนั้นไว้ ให้มันมีแต่ความไม่อยาก ความเฉยๆเข้าไปน่ะ ด้วยความเป็นผู้ปฏิบัติดีเข้าไปและปฏิบัติตรงเข้าไป เข้าไปก็เพื่อความเป็นธรรม ไม่ใช่เข้าหาอะไรนะ เข้าไปหาธรรมะ ที่ว่าธรรมะอยู่ที่ใจ ธรรม ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์อยู่ที่ใจ เราก็ตรงเข้าไปนั่นน่ะ 

พอตรงเข้าไปแล้วก็ไปเจอธรรมะ ก็คือเจอความสงบนั่นน่ะ ก็ได้แก่ความสงบนั่นน่ะ ก็เป็นญายะ เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นธรรม ก็ธรรมะมันก็อยู่ตรงนั้น เมื่อเราปฏิบัติเป็นธรรม แล้วเราก็ได้ธรรมะ เรียกว่าญายะปฏิปันโน เมื่อได้ธรรมะแล้วผลของธรรมะที่มันจะเกิดขึ้นมันก็เป็นสามีจิปฏิปันโน เราตรงเข้าไปนี่หละ เรารักษาอยู่นี่หละ การปฏิบัติมันไม่ได้ไปทำอะไรมาก มีแต่นั่งเท่านั้น มานั่งกำหนดหัวใจตัวเอง มานั่งหาหัวใจตัวเองเท่านั้น มานั่งรู้หัวใจตัวเองเท่านั้น ไม่ได้ไปหาอะไร หาธรรมะ เราฟังธรรมะก็คือฟังเทศน์นั่นหละ ก็ฟังเทศน์ก็คือคำพูด คำพูดก็คือนำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาพูดให้ฟังก็เพื่อผู้ฟังจะได้ปฏิบัติตามและจะได้กำหนดตาม 

แล้วพอกำหนดตามเข้าไป ส่วนภายนอกเราก็อย่าไปกังวลมันมากนักในขณะที่เรานั่ง เรากำหนดให้มันสงบซะก่อน ความรู้ในความสงบนั้นน่ะ มันจะเป็นประโยชน์อย่างไร และมันจะมีอะไรเกิดขึ้นให้เรารู้ได้หรือไม่ในขณะที่มันมีความสงบนั้นน่ะ เราจะต้องทดสอบดูสิ เราอย่าไปเข้าใจว่ามันสงบแล้วมันจะไม่ได้อะไร และมันจะไม่รู้อะไร ก็โดยมากก็มักจะเข้าใจกันไปในทำนองนั้น ทีนี้เราลองสงบดูซิ แล้วในความสงบนั้นมันจะมีอะไร แต่ให้มันสงบไปทุกครั้ง แต่ละครั้งมันจะมีอะไรรู้ขึ้นมา ครั้งนี้มันรู้อย่างนี้ขึ้นมา ครั้งต่อไปแล้วมันจะรู้อะไร เราก็ทำให้มันสงบไปเรื่อยๆสิ 

บางคนน่ะสงบครั้งเดียวก็จะให้มันรู้ไปหมด อะไรๆก็จะให้มันเกิดไปหมด จะให้มันเป็นไปหมด เหมือนกับตัวเองที่จะรับรองความสำเร็จในเมื่อมันจะสำเร็จมาจริงๆ เราจะรับรองหรือไม่ เราไม่ได้คิดไปในทำนองนั้นสิ เราคิดแต่ว่าอยากจะให้มันรู้หมด ถ้ารู้หมดมันก็สำเร็จหมด ก็เมื่อมันสำเร็จมันจะทำยังไง ความสำเร็จมันจะไปอยู่กับชาวโลกเขาได้เหรอ ก็ตัวเองหาได้คิดไม่ 

เราเอาแต่ความสงบสำรองจิตสำรองใจของเราไปก่อน ให้มันเป็นพื้นฐานได้เสียก่อน พื้นฐานแห่งความเป็นอยู่ของเราซึ่งเราได้อยู่ต่อไป พอให้เราเป็นสุขประจำวัน พอมันจะได้หายกังวลบ้าง มันจะได้หายความวุ่นวายบ้าง แล้วมันจะมีความสุขกับตัวเองบ้าง เราก็เอาเพียงแค่นี้ก่อน เป็นสุปฏิปันโนไปก่อน คือเราปฏิบัติดีของเราไปก่อน เราก็เป็นผู้มีสติควบคุมดูแลกายวาจาของตัวเองให้ปราศจากโทษ ก็นั่นหละเป็นผู้ปฏิบัติดี ก็ปฏิบัติอยู่ในองค์ศีลนั่นหละ ก็ศีลนั่นแหละปฏิบัติกายวาจาให้เรียบร้อย ให้ปราศจากโทษ ก็เป็นศีลในตัว แล้วมันก็เป็นธรรมะไปในตัว รักษาศีลก็เหมือนปฏิบัติธรรม ปฏิบัติก็เหมือนรักษาศีลนั่นหละ แล้วก็คิดให้มันเข้าใจให้มันสอดคล้องกันบ้าง ก็ศีลก็คิดว่าจะเป็นแต่ศีล ธรรมก็เป็นแต่ธรรม มันก็ไม่ใช่ ของที่มันเนื่องถึงกันอยู่แล้ว ของที่อยู่ด้วยกันอยู่แล้วน่ะ เราไม่ต้องไปคิดแยกอะไรให้มันมากภายในหัวใจน่ะ รวมเข้ามาเป็นสามัคคีเป็นอันเดียว 

ทำยังไงมันจะเป็นอันเดียวได้ เดี๋ยวนี้เราจะหาหนึ่ง หาหนึ่งในหัวใจ หาหัวใจให้มันเป็นหนึ่ง เดี๋ยวนี้ไม่รู้กี่หัวใจ มันกี่ความคิด มันสารพัดสารเพ แต่มันจะคิดไป เราจะมาทำให้มันเป็นหนึ่งเท่านั้นน่ะ มันก็ทำไม่ได้ พอทำมันเป็นหนึ่งได้มันจะเป็นอะไร ความรู้ในใจที่ใจมันเป็นหนึ่งมันจะมีอะไรให้รู้มั้ย ก็ลองดูซิ สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็เพราะใจมันเป็นหนึ่ง 

อันนี้พระพุทธเจ้าได้ทำมาแล้วน่ะ พระองค์ได้ทำมาตั้งแต่สมัยพระองค์ที่ตรัสรู้น่ะหรือว่ากำลังตรัสรู้ไปในคืนวันเพ็ญเดือนหก ก็พระองค์ได้นั่งขัดสมาธิ แล้วมากำหนดจิตของพระองค์ แล้วให้จิตพระองค์มีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็ทำใจของพระองค์ให้เป็นหนึ่ง เมื่อใจของพระองค์เป็นหนึ่งน่ะ อะไรมันเกิดจากความเป็นหนึ่งของใจ ก็ญาณทั้ง ๓ ไม่ใช่หรือ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ความระลึกชาติได้ จุตูปปาตญาณ รู้จักจุติของสัตว์ได้ อาสวักขยญาณ ลุความสิ้นไปแห่งกิเลสของตัวเอง ก็เพราะใจมันเป็นหนึ่งไม่ใช่หรือ เพราะหนึ่งในใจไม่ใช่หรือ 

แต่เราก็คิดให้ดีนะ ทีนี้มันก็ไม่ใช่มีเฉพาะญาณ ๓ นะ ญาณอย่างอื่นอีกหละ ในบุพเพนิวาสานุสติญาณนี่ก็มาเทียบกับ อตีตังสญาณ ก็ญาณในอดีต ทีนี้ส่วนที่เป็นอนาคตเรียกว่า อนาคตังสญาณ ก็ญาณในอนาคต ปัจจุปานังสญาณ ก็ญาณในปัจจุบัน ก็รู้ในปัจจุบันน่ะ ก็รู้จักความเป็นหนึ่งนั่นหละ ไม่ใช่ว่ารู้ด้วยความวุ่นวายนะ พระองค์ไม่ได้ตรัสรู้ด้วยความวุ่นวาย พระอรหันต์ที่ได้สำเร็จเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาน่ะ ก็ไม่ได้สำเร็จด้วยความวุ่นวาย สำเร็จด้วยความสงบ 

คุณค่าของความสงบนี่เหลือที่จะพรรณนา พิจารณาให้ดีนะพวกเรานะ สงบตั้งแต่เบื้องต้นจนตลอดถึงบั้นปลายน่ะ จนตลอดถึงความสำเร็จน่ะคือบั้นปลาย เบื้องต้นก็ยังความสุขให้เรานั่นน่ะ ให้เรามีความสุข สุขกายสบายจิต สุขจิต สบายกาย ก็ทำจิตของเราให้สงบสุขดูซิ ก็ไม่ได้ไปทำอะไรที่ว่าทำจิตให้เป็นสุข ทำจิตให้สงบ ไม่ได้ทำอะไร เดินก็ไม่ได้เดิน ยืนก็ไม่ได้ยืน มีแต่นั่ง นั่งฟังแล้วก็กำหนดจิตเราตามไปด้วย ตามไปไหนหละ ก็ตามเข้าไปข้างในของตัวเองนั่นน่ะ ไม่ให้ตามออกมานอก ไม่ให้ตามมาหาคำพูดที่พูดอยู่นี่ ให้ตามเข้าไปข้างใน ตามเข้าไปหาความเป็นหนึ่ง ตามเข้าไปหาหนึ่งในหัวใจ ทำใจให้เป็นหนึ่ง 

ถ้าเป็นหนึ่งได้มันได้หมด เราคิดให้ดี ไม่ต้องไปกังวลหรอกว่าจะได้บรรลุตรงนั้น จะได้ธรรมะตรงนี้ สถานที่นั้น สถานที่นี้ ก็อย่าไปคิด ถึงจะบรรลุจริงๆ ถึงจะสำเร็จจริงๆน่ะ ความสำเร็จจริงๆมันไม่ใช่ไปสำเร็จภายนอก ก็สำเร็จอยู่ในตัวของตัวเอง จะไปชาติไหนก็ตาม ภพไหนก็ตาม ถ้าชาตินี้ยังไม่สำเร็จในตัวเองแต่ก็เป็นบารมีต่อไป ก่อนที่มันจะสำเร็จในชาติไหนก็ตาม ชาติข้างหน้าจะเป็นสิบชาติก็ตาม เจ็ดชาติก็ตาม สามชาติก็ตาม หนึ่งชาติก็ตาม มันก็สำเร็จอยู่ภายในน่ะ 

มันไม่ใช่ว่าถ้ำสำเร็จน่ะ ไม่ใช่ป่าสำเร็จ ป่ามันสำเร็จเอาไว้ ถ้ำมันสำเร็จอรหันต์เอาไว้ เมื่อใครคนใดคนหนึ่งเดินผ่านไป คนนั้นก็สำเร็จตามถ้ำก็ดี หรือตามป่าก็ดี ก็มันไม่มีนะ มันเป็นไปไม่ได้ แต่ความสำเร็จนั้นมันอยู่ที่เรา ถึงแม้จะอยู่ในป่าในถ้ำก็ตาม เวลาสำเร็จไม่ใช่ถ้ำสำเร็จ เวลาสำเร็จไม่ใช่ป่าสำเร็จ ความสำเร็จมันอยู่กับตัวเรา ตัวของตัวเอง ทีนี้เราจะสำเร็จที่ไหนมันก็ได้ ไม่จำกัดเฉพาะแต่ในถ้ำ มันอยู่ที่ตัวเอง จะไปจำกัดอยู่ในถ้ำได้อย่างไร ใครจะเอาถ้ำที่ไหนมาให้คนสำเร็จมาก จะเอาป่าที่ไหนให้คนสำเร็จมาก มันก็เป็นไปได้ยาก 

อย่างพระพุทธเจ้าออกประกาศพระศาสนาน่ะ พระองค์ไปประกาศในถ้ำเหรอ พระ องค์ก็ไม่ได้ไปประกาศในถ้ำ พระองค์ก็ไปประกาศครั้งแรก ไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แถวเมืองพาราณสี มันก็เป็นแต่เพียงว่าป่า ป่าก็คงไม่รกเท่าไหร่ ก็เป็นแต่เพียงว่าธรรมชาติ แล้วพระองค์ก็ทรงสอน สอนแล้วก็ไม่ใช่ว่าป่านั้นจะทำความสำเร็จให้แก่อัญญาโกณฑัญญะ อัญญาโกณฑัญญะได้มาพิจารณาไปตามกระแสธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พิจารณาไปแล้วก็เกิดญาณปัญญาขึ้น แล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรมก็คือได้ปัญญาญาณขึ้นมา สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลก็ล้วนดับเป็นธรรมดา ก็เท่านั้นนะปัญญา พระพุทธเจ้าก็ยังรับรองว่า อัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ รู้แล้วหนอ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ก็ได้สำเร็จโสดาบัน 

ที่นี้มันสำเร็จในถ้ำเหรอ ก็ไม่ใช่ สำเร็จในหัวใจของอัญญาโกณฑัญญะ นั่นน่ะ แม้แต่ท่านทั้ง ๔ พระองค์ก็แสดงธรรมเทศนาโดยปกิณกะธรรมต่างๆนั่นน่ะ แล้วก็ได้สำเร็จโสดาบัน แล้วก็จึงมารวมกันฟัง อนัตตลักขณสูตร เป็นครั้งที่สอง พอจบธรรมเทศนาน่ะ ท่านทั้งห้าก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทีนี้บรรลุในถ้ำเหรอ ป่าบรรลุเหรอ ไม่ใช่ใจเหรอที่บรรลุธรรมที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าไปสมมุติป่าเป็นอรหันต์เหรอ พระพุทธเจ้าไปสมมุติถ้ำเป็นอรหันต์เหรอ ก็ไม่ใช่ 

ก็ท่านทั้งห้านั่นหละ ที่ได้สำเร็จตามหัวใจของท่านทั้งห้านี่หละ ท่านทั้งห้าก็ได้สำเร็จตามหัวใจของท่านแต่ละองค์ๆ ก็ถือว่าสิ้นอาสวกิเลส ก็เลยได้เป็นอรหันต์ พอได้เป็นอรหันต์แล้วได้สำเร็จแล้ว พระองค์ก็อุปสมบทก็คือบวชให้ บวชก็บวชไม่ยาก แต่ก่อนพระพุทธเจ้าบวช บวชด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์ว่าท่านก็เป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยของเราได้กล่าวมาดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด เท่านั้นก็สมบูรณ์ ก็ไม่สมบูรณ์ยังไงก็สำเร็จแล้ว ไม่ได้บวชยาก ไม่ได้สวดยาก ไม่ได้สวดญัตติ ไม่ต้องรับศีล ไม่ต้องอะไรยาก บวชสมัยพระพุทธเจ้าที่บวชครั้งแรก ก็เพราะท่านสำเร็จก่อนบวช ท่านก็เลยบวชง่ายสิ 

ทีนี้ส่วนใจนั่นน่ะ ความสำเร็จในใจนั่น นั้นหละคือว่าบวชแท้ เรียกว่าบวชใน บวชนอกก็เป็นแต่เพียงว่าพูดนิดเดียว แต่บวชในนั้นน่ะพระพุทธเจ้าบวชไว้ก่อนแล้วตั้งแต่ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วก็มาอนัตตลักขณสูตร บวชภายใน ไม่มีการสึกขาลาเพศ พอพระองค์บวชภายในได้แล้ว จบบริบูรณ์ทุกอย่างแล้ว พระองค์ก็จึงให้ไปประกาศพระศาสนา ก็ต่างคนต่างไป ไม่ให้ไปด้วยกัน นี่ก็เพราะความเป็นหนึ่ง ไม่มีความเป็นสอง มีหนึ่งอันเดียว เพราะฉะนั้นน่ะทีนี้เรามาทำใจของเรานี่ ให้เป็นหนึ่ง ทีนี้ส่วนเป็นหนึ่งเราก็เอาหนึ่งในหัวใจเราไว้ก่อน เอาความสงบไว้ก่อน เราก็อย่าเพิ่งอะไรให้มากนัก ไม่ใช่ว่าจะไปสำเร็จในป่าในเขา ไม่ใช่ว่าเอาความสงบป่าเขามาเป็นที่พึ่งของตัวเอง เอาใจของเรานั่นน่ะให้เป็นหนึ่ง เอาใจของเรานั้นให้สงบ 

ความสงบมันไม่ได้เลือกสถานที่ ที่ภายนอกอย่าไปเลือก เราจะมีเวลาไปหรือภายนอก ภายในมันจะไปเลือกอะไร มันเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบกาลเวลา ไม่ประกอบกาลสมัย ได้ทุกสมัย ได้ทุกกาล ได้ทุกเวลา มันว่าแต่ว่ามันสงบได้ กาลนี้สมัยนี้มันก็สงบได้ มันจะเป็นอะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้เลือก แม้ถึงทุกวันนี้ก็อยากเป็น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ว่าอะไร และเวลานี้ก็เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ว่า สมัยนี้ก็เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ว่า แล้วแต่ใจของเราจะมีความสงบนั่น 

ถ้าเรามีความสงบแล้ว มันจะไปเลือกอะไร มันเว้นไว้แต่ใจของเราไม่สงบนะสิ มันก็มีแต่ความกังวล ไม่รู้ว่ากังวลเอาอะไร ไม่รู้ว่ากังวลอะไรที่ไหนก็ไม่รู้ มันจะได้อะไรก็ไม่รู้ แต่เวลามาทำก็ทำเพื่อความสงบ แต่เวลาไปทำก็ไปทำความวุ่นวายให้ตัวเองซะ ก็ไปกังวลซะ ทีนี้มันจะไปสงบได้ยังไง มันจะมีผลลัพธ์ได้ยังไง แล้วมันจะเป็นหนึ่งได้ยังไง หนึ่งในหัวใจตัวเองก็ยังไม่ได้ เราไม่ต้องกังวลหรอก จะสวดมนต์ได้หรือไม่ได้ มันก็เรื่องหนึ่ง คนที่สวดได้เค้าก็สวดไปสิ แต่ว่ามันสงบหรือไม่ ความสงบมันไม่ได้เกี่ยวกัน เกี่ยวกับการท่องบ่นสาธยายจดจำอะไรหรอก ความสงบมันเป็นเรื่องของความสงบ ความจดความจำมันก็เป็นเรื่องของความจดความจำ คนละเรื่อง เรื่องของความสงบนี่มันไม่ได้เกี่ยวหรอก 

แต่เราก็อย่าไปยุ่งกับของภายนอกเมื่อเวลาเราทำ มั่นใจในสิ่งที่เราทำนั่นน่ะ มั่นใจในความสงบ ตั้งใจเพื่อความสงบ ตั้งใจเพื่อความสันติสุขในตัวเอง เราอย่าไปยุ่งอย่างอื่นสิ ถ้าเราต้องการความดีในตัวเอง เพราะความดีมันมีอยู่แล้วนะ ดีกับชั่วมันมีอยู่แล้ว เราจะเอาดีหรือเราจะเอาชั่ว เวลาเราอยู่ด้วยกันน่ะมันมีทั้งสอง บางครั้งมันก็ดี บางครั้งมันก็ชั่ว จิตมันเป็นอยู่อย่างนั้น มัวหมองมันก็มี บางครั้งมันก็สดใส บางครั้งมันก็สะอาด มันก็มีของมัน ถ้าเราจะเอาดีในตัว เอาอย่างเดียว ก็เอาสงบสิ เอาความสงบซะก่อน เอาให้มันสงบอย่างเดียวนั่นหละ ก็อย่าไปกังวลกับอย่างอื่น ส่วนอื่นๆนั้นปล่อยมันไว้ก่อน เพราะว่าเราต้องการความสงบ เราจะไปกังวลกับอย่างอื่น ทีนี้ความสงบมันจะไปอยู่ตรงไหน มันจะเป็นไปได้ยังไง 

เรามุ่งประเด็นความสงบซะก่อน มุ่งอย่างเดียวซะก่อน แล้วความสงบมันจะเป็นยังไง ถ้าไม่มีประโยชน์พระพุทธเจ้าพระองค์ก็คงจะไม่สอน คงจะไม่ตรัสธรรมะคือการปฏิบัติเพื่อความสงบขึ้นมาหรอก พระองค์ก็คงจะตัดทิ้งไปแล้ว อันนี้พระองค์ทรงบัญญัติเอาไว้ ปัสสัทธิก็คือความสงบ ธัมมวิจยก็สอดส่องแห่งธรรม สติก็ความระลึกได้ พระองค์ก็บอกไว้หมดในนั้นนี่นะ สติก็ความระลึกได้ ธัมมวิจย ก็สอดส่องหาธรรม ก็เรากำลังสอดส่องหาธรรม สอดส่องหาความสงบ ปัสสัทธิก็คือความสงบ ก็ผลสุดท้ายก็คือตั้งใจมั่น สมาธิน่ะ นี่ ก็พระองค์บัญญัติเอาไว้แล้วนี่ ตั้งเอาไว้แล้ว 

ทีนี้เราท่องได้แล้ว แต่เราเป็นไปตามที่เราท่องได้หรือไม่ ก็ไม่ได้อีกหละ ก็นอกจากว่าเราจะมาทำเอาเท่านั้น เราทำเอา ของมันอยู่กับใจเรา ธรรมทั้งหลายอยู่นี่หมดหละ สติก็อยู่ตรงนี้ ธัมมวิจยก็อยู่ตรงนี้ ปัสสัทธิก็อยู่ตรงนี้ สติปัญญาอะไรก็อยู่ในนี้หมด อยู่ในที่เดียวนี้หมด หาเอาท่านผู้เดียว หาเอาท่านองค์เดียว แล้วไม่ต้องไปกังวลหรอก ไม่ต้องไปวุ่นวี่วุ่นวายอะไรให้มากนัก มันไม่จำเป็นนะ เราพยายาม พยายามดูหัวใจของตัวเองเท่านั้น คือมันไม่มีอะไรหรอก ก็คือใจตัวเดียวนั่นหละ ก็ใจตัวเดียวมันยาก 

ทีนี้ความกังวลมันก็คือใจ ก็นอกจากใจมันก็ไม่กังวล ความฟุ้งซ่านมันก็คือใจ ก็นอกจากใจแล้วมันก็ไม่มีอะไรฟุ้งซ่าน ความวุ่นวายมันก็คือใจ พอนอกจากใจแล้วมันก็ไม่วุ่นวาย ความเกียจคร้านมันก็เรื่องของใจ ถ้าไม่มีใจมันก็ไม่เกียจคร้าน มันก็อยู่อันเดียว ความขยันความเพียร ก็อันเดียวกันนั่นน่ะ มันก็อยู่ที่เดียว ก็อยู่กับคนๆเดียว ก็เหมือนเราน่ะ บางทีก็เกิดความขี้เกียจมา บางทีก็เกิดความขยันมา บางทีก็เกิดความขันติก็คือความอดทนมา ทนเอา 

ก็อย่างนี้เราสู้มาแล้วไม่ใช่หรือ ก็ล้วนแต่ธรรมะไม่ใช่หรือ ก็ธรรมะมันอยู่ในตัวของตัวเองไม่ใช่หรือ สติของเราก็รอบคอบเวลาเราทำ เวลาเรามีความพากความเพียรจะทำงานทำการอะไร เราก็มีสติรอบคอบ ขันติมีความอดความทนต่อสู้กับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น สติของเรามันก็เพียบพร้อม มันก็อยู่กับคนๆเดียวไม่ใช่หรือ หรืออยู่ที่ไหน คิดหรือยัง หรือจะมีแต่พากันหา หรือจะท่องสาธยายจดจำให้มันได้มากๆ ถ้าได้มากแล้วก็จะสำเร็จไปเลย ก็เอาซี่ ก็ไม่มีปัญหา เราจะไปศึกษาตามตำรับตำราให้มันสำเร็จได้มันก็ไม่มีปัญหา 

แต่มันก็วุ่นวายอีกหละ ก็เกิดความสงสัยในตำรานั้นอีก มันก็แล้วไม่เป็นอีกหละ ถึงยังไงก็เอาใจเราไปเลยดีกว่า ทำยังไงมันจะสงบได้ ทำญาณปัญญาให้มันเกิดขึ้น ทำความสว่างไสวให้มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นในตัวมันเองหละ มันเกิดขึ้นในความสงบนะสิ เราก็ดูความสงบนะสิ ดูใจนั่นน่ะ ใจของเรามันเป็นยังไงตอนนี้ มันมีความฟุ้งซ่านยังไง แล้วมันมีความวุ่นวายยังไง มันมีความร้อนยังไง ก็สังเกตดูสิ แล้วมันสงบหรือไม่สงบ ก็สังเกตดูสิ 

เรื่องความสงบไม่ต้องถามใครหรอกถ้ามันสงบ มันมีอาการเบาตน เบาตัว เบากาย เบาใจ แล้วมันก็มีความสุข ความเยือกเย็นในจิตในใจของตัวเองน่ะ มันรู้แล้วหละน่ะ มันแสดงแล้ว ยี่ห้อมันบอก คือมันบอกในตัวมันแล้ว ก็มันมีในตัวของมันอย่างนั้นเราจะไปถามใคร ทีนี้เราจะไปเอากับใคร ทีนี้เราจะไปแลกเปลี่ยนกับใคร แลกเปลี่ยนไม่ได้ ทีนี้ความสว่าง ถ้ามันสงบมันเกิดของมันเอง มันเกิดในตัวของมันนั่นน่ะ ถ้ามันสงบมันเกิดในตัว เมื่อมันเกิดมันจะรู้อะไร 

ทีนี้มันหาอะไร มันก็หาบุญในตัวไม่ใช่หรือ ก็ต่อเมื่อมันเห็นบุญน่ะ มันรู้บุญน่ะ เมื่อมันเห็นบุญในตัวเอง มันก็เห็นความดีในตัวเอง มันก็เห็นบาปในตัวเองเท่านั้น พอเห็นบุญมันก็เห็นบาป พอเห็นความดีมันก็เห็นความชั่ว ทีนี้มันจะไปทางไหนพอมันเห็นอย่างนั้นแล้ว ทีนี้มันก็จะต้องละชั่วและก็ประพฤติดี มันก็ต้องไปตรงนั้นอีก ก็เพราะมันเห็นดีแล้วมันจึงจะปฏิบัติดีได้ ตามความดีอันที่มันเกิดขึ้นในตัวเองนั้น แล้วก็ละความชั่วอันที่ตัวเองได้ปรากฏนั้น แล้วมันเกิดขึ้นเพราะอะไร และสาเหตุมันมาจากไหน และต้นเหตุแห่งความชั่วอยู่ตรงไหน มันก็จะได้ค้นหากัน 

เราจะมาตัดตั้งแต่ปลายมัน แต่ต้นมันหละ ก็ไม่ได้เข้าไปดู ถ้าเรามีความสงบเราก็เข้าไปดูได้ มันก็เห็นได้ เห็นต้นเหตุ ต้นเหตุของความดี ต้นเหตุของความชั่ว ต้นเหตุของบุญ ต้นเหตุที่จะให้เกิดบุญ และก็ต้นเหตุของบาปและต้นเหตุที่จะให้เกิดบาป มันอยู่ในตัวมันน่ะ 

ทีนี้เราจะไปค้นในตำรา ตำรานั่นน่ะ เล่มนั้นว่าอย่างนั้นอยู่หน้านั้นและก็อยู่ในระหว่างแถวนั้น มีกี่แถวน่ะ เราก็จะไปรู้ได้แต่เฉพาะนั่นน่ะ ว่าโบราณเค้าเขียนไว้ชัดเจนตรงนี้ๆๆ แต่ส่วนใจของตัวเองหละที่ได้ไปรู้อย่างนั้น มันจะละได้หรือไม่ ก็ได้แต่จำเท่านั้น จำตำรา อยู่หน้านั้น หมายเลขเท่านั้น และเล่มนั้น และก็อยู่แถวนั้น จดเอามามันก็ได้ แต่ว่าใจของเราน่ะมันจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ อันนี้หาได้คิดไม่ 

เพราะฉะนั้นเรานั่นน่ะควรที่จะสนใจให้มาก บ้านเมืองมันกำลังวุ่นวาย และความวุ่นวายของบ้านเมือง คำว่าบ้านเมืองมันก็หมายถึงว่าทั่วๆไป แล้วก็รวมเราไปด้วย ไม่ใช่ว่าแต่เขา มันวุ่นวาย เราพยายามจับความสงบเอาไว้นะ เลี้ยงน้ำใจของตัวเองไว้ก่อน ก่อนที่มันจะหายความวุ่นวาย จะหายความยุ่งยาก ระยะนี้มันกำลังยุ่งยาก อะไรมันก็ป่วนปั่นกันไปหมด แล้วมันใครทำขึ้น มันก็มนุษย์น่ะทำขึ้นเอง มันก็ไม่มีใครหรอกจะทำขึ้น ก็มนุษย์ต่อมนุษย์ทำขึ้นมาเอง ทีนี้เราหาความสงบซะ ต่อเมื่อเค้าหามาแล้ว ต่อเมื่อมันมีมาแล้ว มันก็ต้องวุ่นวาย ก็เมื่อมันวุ่นวายมาแล้วเราจะไปทำยังไง มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็มีอย่างเดียวคือสงบเท่านั้นหละ 

ปลง ถ้าปลงได้ก็ปลง ให้สู้ก็สู้ไม่ได้ สู้ไปก็สู้ไปอย่างนั้นน่ะ แต่ผลสุดท้าย ปลงซะนั่นน่ะ เอ้า วาง แล้วแต่มันจะเป็น เพราะฉะนั้นเราเอาความสงบนี่ เอาไว้ให้ดี เอาใจของเรานี่ให้สงบเท่านั้น อย่างอื่นไม่ให้ ไม่รู้จะเอาไปทำไม ไอ้เรื่องความร่ำความรวย ร่ำรวยแล้วมันก็ลำบากอีกหละ มันก็ยากอีกหละ เราเอาความสงบไปก่อน ก่อนที่จะร่ำรวยนะ ถ้ามันสงบมาแล้ว มันร่ำรวยมา มันก็ไม่มีปัญหา มันสามารถระงับยับยั้งชั่งจิตของตัวเองได้ แล้วมันก็ไม่ได้ดิ้นรนกับสิ่งที่มันได้มา และมันก็ไม่ได้ทำกระวนกระวายให้ มันมีปกติ เหมือนกับมันไม่ได้ แต่ความดีใจเป็นของธรรมดา ก็มีเท่านั้น ทีนี้มันก็สบายสินั่น 

ถ้ามันไม่ร่ำรวย เราก็รวยภายในสิ รวยภายในก็คือใจเรามีความสุขตลอด ใจมันอิ่มตลอด ใจมันรวยอยู่ตลอด เราก็คิดเอาอย่างนี้เถอะ ไหนๆเราก็เกิดมาแล้ว เกิดมาแล้วไปไหนหละ เราจะไปไหนเกิดมาแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าไปไหนหละ มีเกิดแล้วมันก็มีความแปรปรวนในท่ามกลาง แล้วก็มีความแตกดับในที่สุด นี่พระพุทธเจ้าบอก มันมีเกิดมาแล้ว เราก็ได้เกิดมาแล้ว ผลสุดท้ายก็ตายกันทั้งนั้นหละ หนีไม่พ้นหรอก รวยก็ตามเถอะ จนก็ตามเถอะ จะพอปานกลางก็ตามเถอะ ไม่พ้นหรอก จะเลิศประเสริฐอะไรมาจากไหนก็ตาม หนีไม่พ้น คิดเอาอย่างนี้ก็พอ 

ทำยังไงเราจะเป็นสุข ก่อนที่เราจะลงเอยในบั้นปลาย เอาแค่นี้หละดี เอาอย่างนี้ดี หาความสุขไปเถอะ สุขก่อนที่จะถึงบั้นปลาย เพราะมันเกิดมาแล้ว ก็มันเกิดมาแล้วมันหนีได้เหรอ มันหนีไม่ได้หรอก หนีอนิจจังน่ะ หนีแก่ หนีเจ็บ หนีตาย หนีไม่ได้หรอก หาความสุขไว้เถอะ ในระยะกำลังจะแก่อยู่นี้หละ นี่หาความสุข หาความดีเอาไว้ แก่กับเจ็บมันอยู่ด้วยกันนะหละ มันก็แยกกันเฉยๆหรอก แยกคำพูด มันพูดคำเดียวไม่ได้ ถ้ามันแก่มันก็ต้องเจ็บหละ ลุกโอย นอนโอยหละ ต้องเจ็บต้องปวด มันมีมาแต่ไหนแต่ไรก็ตั้งแต่แรกเกิด ก็ความแก่ก็ตั้งแต่แรกเกิดน่ะ 

ทีนี้ความตายในวันสุดท้าย หมดลม เราจึงถือว่าลมหมด เราจึงถือว่าตาย อันนี้มันเป็นของแน่นอนกับชีวิตเราทุกคนนะ อย่าไปว่าคนใดคนหนึ่งไม่ได้ จะมีเฉพาะคนใดคนหนึ่งไม่ได้ หนึ่งเรา สองเราอยู่นั่นน่ะ มันไปไหนไม่ได้ เพราะความตายมันอยู่กับเรา รีบหาความสุข รีบหาความสงบ อย่างอื่นไม่อยากให้ทำเท่าไหร่หรอก อยากให้ได้ความสงบ ถ้ามันสงบมันเป็นสุข ถ้ามันเป็นสุขแล้วมันปลงได้ มันยังมีส่วนวางได้บ้าง เจ็บมามันก็ยังไม่ได้ตีโพยตีพาย เป็นอะไรมามันก็ยังมีข้อคิดบ้าง ถ้ามันสงบสุขน่ะ 

ทีนี้ถ้ามันไม่สงบสุข มีธรรมะเท่าไหร่ก็มีไปเถอะ ท่องบ่นสาธยายมาเท่าไหร่ก็ท่องบ่นมาเถอะ มันระงับยับยั้งหัวใจตัวเองไม่ได้เลย นี่มันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันสู้ความสงบไม่ได้ แม้แต่เราแตกตายทำลายขันธ์ อันนี้มันเป็นของแน่นอน แตกตายทำลายขันธ์เป็นแน่นอนนะ ผู้ที่อยู่ข้างในนั้นจะไปไหน ถ้าเขามีความสุขไว้แล้วหละ สุคติ มันก็ต้องเป็นผู้เสด็จไปดี เสด็จไปไหน ก็ไปสู่สุคตินั่นหละ ก็เพราะมันสุขแล้ว 

นี่เราต้องการอะไรที่เราทำกันอยู่ ถ้าไม่ต้องการสิ่งนี้อย่างนี้นะ ก็ไม่รู้ว่าจะมาทำกันทำไม ที่เราทำเราก็ต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว เสียสละเวลามาเพื่อฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่ออบรมจิตใจของตัวเองที่จะให้เกิดความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วก็เพื่อความสุขของตัวเอง เมื่อเวลาแตกดับไปแล้วมันจะได้ไปสู่สุคติบ้าง ความหมายมันไปอย่างนั้นน่ะ ไม่ใช่ว่าจะไปหาแต่ความรู้นะ จะให้รู้หมดมันเป็นไปไม่ได้หรอก จะไปให้ท่านบอกไปหมดหัวข้อธรรมะทุกหัวข้อน่ะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ไอ้เราก็จำไม่ได้อีก มีอย่างเดียวคือรวมสงบ รวมความสงบอันเดียวพอน่ะ จะเป็นก็ตาม จะตายก็ตาม ดีก็ตาม ร้ายก็ตาม ขอให้สงบ และความสุขอันมันเกิดขึ้นจากความสงบนั้น นั้นเป็นคุณสมบัติอันยวดยิ่ง เป็นของที่ยิ่งใหญ่ เป็นบารมีอันยวดยิ่ง 

นี่หละที่เราท่านทั้งหลายซึ่งมีความต้องการที่ได้พากันมากระทำ ธรรมะที่ได้บรรยายมานี้ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้พากันกำหนดและจดจำ นำเอาไปเป็นข้อคิดพิจารณาของตัวเองแล้วให้พากันประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนดังที่กล่าวมานั้น ไม่ได้ไปทำอะไรมาก ก็คือนั่ง นั่งมันจะยากซักแค่ไหน นั่งนิดเดียวก็เหมือนว่ามันจะเป็นจะตายนะ เวลาทำอย่างอื่นทำได้หมดวันหมดคืน เวลาไปนั่งแค่ห้านาทีใจจะขาดบางครั้ง สิบนาทีเท่านั้น มันยากนะ นี่ทนเอาหน่อย นั่งก็เพื่อรู้จักความสุขอันที่มันจะเกิด ผลประโยชน์ที่จะเกิดจากตัวเองบ้างนั้นหละ ถ้ารู้อย่างนี้เราก็นั่งได้นาน ดังที่ได้พรรณนามา ก็สมควรแก่กาลเวลา ขอยุติเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้