Skip to content

ความตายเป็นของที่แน่นอน

หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก
(เทศน์ให้คนไทยในต่างแดน)

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ความตายน่ะเป็นของที่แน่นอน อะไรจะไปแน่นอนเหมือนความตายไม่ได้ แต่ความตายมาจากไหน ถ้าไม่มีความเกิด ความตายมันก็ไม่มี ก่อนจะมีความตายก็เพราะมีความเกิด ความเกิดเป็นต้นเหตุ ทีนี้พวกเราก็เกิดกันมาแล้ว มีชีวิตคือความเป็นอยู่กันทุกคนแล้ว ทีนี้สิ่งที่จะเป็นไปข้างหน้าก็ดังที่กล่าวมานั้นน่ะ คือความตาย มันเป็นของที่แน่นอน ท่านตายแน่ รู้ว่ามันตายแน่ เราก็เกิดมาแล้ว เราก็มีชีวิตอยู่แล้ว แต่ความตายเป็นของแน่นอนแล้ว 

ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นี่ เราควรทำอะไร เราควรหาที่พึ่ง เหมือนกับที่เราสวดไปน่ะ ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นสรณะ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้าเราก็ว่ากันไปแล้ว พระธรรมก็เป็นที่พึ่งหรือว่าเป็นสรณะเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า พระอริยสงฆ์สาวกก็เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า พระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ว่าเป็นที่พึ่ง ทีนี้เราจะพึ่งท่านโดยวิธีไหน และท่านจะมาให้เราพึ่งโดยวิธีไหน เหมือนกับที่เราสวดไปแล้วว่าพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้าเป็นสรณะเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า พระองค์จะเดินมาให้เราพึ่งหรือยังไง พระธรรมจะเป็นวัตถุเดินมาให้เราเป็นที่พึ่งหรือยังไง พระอริยสงฆ์สาวกที่ท่านปรินิพพานไปแล้วก็จะเดินมาให้เป็นที่พึ่งของเราหรือยังไง เราพากันคิดหรือไม่ว่าเป็นที่พึ่ง เราจะพึ่งท่านโดยวิธีไหน และท่านจะให้เราเป็นที่พึ่งโดยวิธีไหน 

พระพุทธ พุทโธน่ะคือพระพุทธเจ้า ธัมโมก็คือพระธรรม สังโฆก็คือพระสงฆ์ รัตนตรัยเจ้าทั้งสามประการนี่เป็นที่พึ่ง ทีนี้เราจะพึ่งท่านโดยวิธีไหน ตัวตนท่านก็ไม่มี แต่ขณะนี้เราก็มีตัวตน เมื่อเรามีตัวตน ท่านก็จะมีตัวตนให้เราพึ่งหรือยังไง เราคิดพิจารณากันหรือไม่ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ พระพุทธเจ้าเป็นสรณะและก็เป็นที่พึ่ง ทีนี้เราว่ากันไปแล้วนะ ก่อนจะรับศีล ก่อนเราจะบวช หรือก่อนที่เราจะสมาทานอะไรก็ตาม จำเป็นเราจะต้องกล่าว จะต้องเอ่ยถึงพระพุทธ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ อันนี้คงจะทิ้งไม่ได้ ว่าท่านจะมาเป็นที่พึ่ง แล้วเราจะไปพึ่งท่านน่ะ จะเอาอะไรไปพึ่ง จะเอาร่างกายไปพึ่ง ท่านมีร่างกายมาให้เราเห็นหรือเปล่า ท่านก็ไม่มีร่างกายที่จะเป็นที่พึ่งนะ 

ที่พึ่งของข้าพเจ้าไม่มีนอกจากพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า ไม่ใช่ว่าเราจะพึ่งตัวของท่าน แต่สำหรับตัวของพระองค์เอง พระองค์ก็ปรินิพพานไปนานแล้ว แม้แต่พระอริยสงฆ์สาวก ท่านก็ปรินิพพานไปหมดแล้ว เหลือแต่พระธรรม พระธรรมนั่นน่ะหมายถึงอะไร หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นน่ะ ท่านสอนใคร คำสอนอยู่ที่ไหน ต้นของคำสอนอยู่ที่ไหน 

ในตำราท่านเขียนเอาไว้น่ะ ก็เขียนแต่เป็นคำสอนนะ แต่ตัวคำสอนแท้ๆน่ะ ตัวจริงของคำสอนแท้ๆน่ะ แขนสอง ขาสอง หัวหนึ่ง นั่นน่ะ นั่นน่ะต้นของพระธรรม ต้นของธรรมะ ต้นของคำสอน ก็คือกำลังนั่งกันอยู่เนี่ย เรากำลังนั่งกันอยู่ นี่เรียกว่าต้นของพระธรรม ต้นของคำสอน ก้อนศีลก้อนธรรม ตัวศีลตัวธรรม ก็พูดแล้วก็ได้แก่ตัวเรา หันเข้ามาก็มาอัตตาหิ อัตโน นาโถ ก็ตนแลเป็นที่พึ่งของตน 

พระพุทธเจ้าก็ตัวจริงของท่านปรินิพพานไปนานแล้ว พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านก็นิพพานไปนานแล้ว พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นน่ะ ก็ยังอยู่น่ะ ก็คือตัวเราน่ะ ทีนี้เราจะมาพึ่งใครหละ ก็พระธรรมอยู่กับเรา เราจะไปอ้อนวอนเพื่อจะให้พระพุทธเจ้าเสด็จมา อ้อนวอนให้พระสงฆ์หรือพระอริยสงฆ์ท่านเสด็จมา ท่านจะมาหาเรา อันนั้นมันเป็นไปไม่ได้ 

มี อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน สร้างคุณธรรมนั้นให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นในตน แล้วก็จะได้มาเป็นที่พึ่งของตน เดี๋ยวนี้เรามาทำเพื่อเป็นที่พึ่งของตนนะ พระพุทธ ก็ได้แก่อะไรหละ ก็ได้แก่พุทโธ พุทโธก็ได้แก่อะไร พุทโธก็ได้แก่ใจน่ะ นั่นน่ะ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์นี้หละ องค์ที่พากันนั่งอยู่นี่หละ แต่ละองค์ๆน่ะ แต่ตัวจริงนั้นน่ะท่านปรินิพพานแล้ว เรามาสร้างพุทธะเกิดขึ้นในตัวของตัวเองไม่ใช่หรือ 

ก่อนพุทธะจะเกิดขึ้นได้น่ะ จะเกิดขึ้นได้โดยวิธีไหน ที่จะมาเป็นที่พึ่งของเราได้ และเราก็จะเป็นที่พึ่ง พึ่งของตัวเองได้ ก็ควรทำยังไง ก็เหมือนกับเรามานั่งอยู่นี่ นั่งก็ไม่ใช่ว่าเรานั่งอยู่เฉยๆน่ะ ลมหายใจมันก็มีนะ ถ้าไม่มีลมมันก็นั่งไม่ได้นะ ที่เรานั่งนี่ก็เพราะเรามีลมนะ ลมน่ะมันออกตรงไหน แล้วมันเข้าที่ไหนออกที่ไหน ลม ลมมันก็เข้าที่จมูก ออกมันก็ออกที่จมูก ที่เรียกว่าพระธรรม หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นน่ะ ก็คือตัวพระธรรมน่ะนี่นะ ไม่ใช่ว่าเพียงแต่คำสอนนะ ตัวจริงของพระธรรมนะ มีลมน่ะ 

ลมน่ะใครมาสร้างสรรค์มัน จมูกใครแต่งมันน่ะ แล้วลมใครไปแต่งมันมาจากไหน มันมาโดยธรรมชาติ ธรรมชาติเค้าสร้างสรรค์มาแล้วหละ ไม่ได้แต่งยาก เราก็ไม่ได้แต่งจมูกยาก เราก็ไม่ได้ปรุงแต่งลมยาก ทีนี้เขาก็เข้าของเขาเอง เขาก็ออกของเขาเอง โดยไม่ต้องไปเอาลมมาจากไหน โดยไม่ต้องไปเอาจมูกมาจากไหน ไม่ได้ยืมจมูกของคนอื่นมาหายใจ ของของเราโดยแท้นะ นี่พึ่งเรามั้ยนี่ อัตตาหิ อัตโน นาโถ มั้ยนี่ มันพึ่งตนแล้วนะนี่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี่มันพึ่งแล้วนี่ 

รู้ว่าเรามาพึ่งตนได้อย่างนี้ สิ่งที่เราจะมาพึ่ง พึ่งได้อีกหละ เราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากลม เป็นที่พึ่งของตนเองอีกหละ คือใครหละจะมารับรอง รับรองว่าลมเข้าลมออก ผู้ที่รู้ลมคือใคร ผู้ที่รู้ลมนั่นน่ะ คืออยู่ภายในนั่นน่ะคือตัวใจ เราจะเอาใจนั่นมารับรอง มารู้ว่ามันเข้า มารู้ว่ามันออก แต่ผู้ที่เข้าออกเขาไม่ได้รู้เขานะ แม้แต่จมูกมันก็ไม่รู้ว่าลมเข้า แม้แต่ลมมันก็ไม่ได้รู้ว่าจมูก มันไม่รู้กันทั้งนั้นนะ แต่มันเข้าของมันเองนะ ผู้ที่รู้น่ะ คือใครหละ ผู้ที่รู้นั่นน่ะ คือผู้ไม่มีจมูก ผู้ไม่ใช่ลม จมูกก็ไม่ใช่ ลมก็ไม่ใช่ ไม่มีจมูก แล้วก็ไม่มีลม คือใคร ใครหละรู้อยู่เดี๋ยวนี้ ดูซิ ใครเป็นผู้รู้ เราหาคนที่รู้นั่นน่ะ รู้ลมเข้านั่นน่ะ แล้วรู้ลมออกน่ะ ต้องหาผู้นั้น มันอยู่ตรงไหนเดี๋ยวนี้ หาดูซิ 

ที่ว่าจะมาเป็นที่พึ่ง ทีนี้เราจะพึ่งอะไร ก็พึ่งลม ถ้าลมหมด ถ้าหมดลม ไอ้เจ้าผู้ที่รู้ลมหละ จะไปพึ่งอะไรอีกหละ ก็ไม่มีที่พึ่งอีกนะ ตัวเขาจริงๆเขาจะพึ่งอะไรกันแน่ ถามมันดูซิ พึ่งพระพุทธ ก็พระพุทธอยู่ที่ไหน พึ่งพระธรรม พระธรรมก็ที่ไหน พึ่งพระสงฆ์ ก็พระสงฆ์อยู่ที่ไหน ก็ถามมันดูซิ เรานั่นหละทำให้สมบูรณ์หรือยัง พุทธัง สรณัง คัจฉามิ มันสมบูรณ์หรือยัง เราจะพยายามที่จะยังพุทโธนั้นให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นในตัวเองนั่นน่ะ ที่มันเกิดขึ้นก็เรียกว่าพระธรรม ก็พระธรรม เมื่อมีพระธรรม รู้พระธรรมน่ะ ก็พระสงฆ์หละ พระสงฆ์ก็เป็นผู้ปฏิบัติตามพระธรรมน่ะหละ นั่น พระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ก็มารวมอยู่ใจของเราอันเดียว ตกลงก็คือใจนั่นน่ะเป็นพระพุทธ ตกลงก็คือใจน่ะเป็นพระธรรม ตกลงคือใจน่ะเป็นพระสงฆ์ พุทธ ธรรม สงฆ์ ก็เลยมาอยู่ที่ใจ 

ทีนี้เมื่อเรามาทราบว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาอยู่ที่ใจนี่ เราจะทำอย่างไร ท่านทั้งสามนี้หละ จะเกิดมาเพื่อครองจิตของเรา เพื่อประทับจิตของเรา เราจะเอาจิตของเรานั้นน่ะมารับรอง เพื่อจะให้ท่านทั้งสามมาประทับ เราควรทำยังไงหละ ก่อนที่จะให้ท่านมาประทับ เพื่ออะไร ถ้าท่านทั้งสามเป็นที่พึ่งไม่ได้ ในข้างหน้า ในปรโลกเบื้องหน้า ทีนี้เราจะเอามารับรองท่านทำไม แม้กระทั่งถึงเราจะมาทำบุญสุนทาน แม้แต่เราจะมาสมาทานศีล แม้แต่เราจะมาเจริญสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ถ้าเราไม่ถือว่าท่านพึ่งได้ เราก็คงไม่ทำ และเราก็จึงพากันทำ ก็เพราะว่าเราพึ่งท่านได้ ท่านพึ่งภายใน ไม่ใช่พึ่งภายนอก เราต้องทำความเข้าใจนะ 

ของนอกน่ะมันเป็นวัตถุนะ เค้าเรียกว่า อามิสสุข มันสุขอิงอามิส เหมือนกับเราทำกันอยู่ เหมือนกับเรานั่งกันอยู่ นี่ก็อิงอามิส อิงวัตถุ ที่นั่ง ที่หลับ ที่นอน ที่อยู่ ที่กิน นี่เรียกว่าอามิสสุข คือสุขอิงอามิส สุขที่ไม่อิงอามิสน่ะ สุขที่เราจะเอาไปได้น่ะ สุขที่เราจะเอาไปด้วย เรียกว่า นิรามิสสุข สุขไม่เกี่ยวกับวัตถุ ได้แก่สุขใจเฉพาะ คือสุขล้วนๆ ไม่มีวัตถุอันใดเจือปน เมื่อใจมันเป็นสุขหละ มันไม่ได้กลัวอะไร ตายมันก็ไม่ได้กลัวหละ อะไรมันก็ไม่ได้กลัวหละ เพราะมันสุขแล้ว ก็ปรโลกมันก็ต้องหวังได้สิ ก็เพราะจิตของเรามันเป็นสุขน่ะ 

สุขก็เนื่องมาจากไหนหละ ก็เนื่องมาจากภาวนา ภาวนาก็เนื่องมาจากไหน เนื่องมาจากเราสะสม สะสมเอาซึ่งพระพุทธ สะสมเอาซึ่งพระธรรม สะสมเอาซึ่งพระสงฆ์ แล้วก็มารวมมาเป็นอันเดียวกัน ก็อยู่ภายในหัวใจ ใจนั้นก็เลยเป็นสุขเพราะอำนาจพระพุทธ​ เพราะอำนาจพระธรรม เพราะอำนาจพระสงฆ์ ก็เรียกพระไตรสรณคมณ์ ใจมันก็มีคมนะสิทีนี้ มีใจมันมีสองคม เหวี่ยงหน้าเหวี่ยงหลัง ชำระกิเลส ตัดกิเลสได้ ตัดได้อย่างสบายทีนี้ ก็เพราะมันคม ทีนี้เราก็มีแต่ว่าเฉยๆ ไตรสรณคมณ์ๆ ไม่รู้ว่ามันคมขนาดไหน ว่ามันคมอย่างไร เราก็ได้แต่เพียงว่า แต่ว่าความเป็นจริงนั้นน่ะ มันคมขนาดไหน แล้วจะเอาไปทำไม ไตรสรณคมณ์น่ะ แล้วเป็นที่พึ่งก็ไปพึ่งยังไง เราก็ยังไม่ได้เข้าใจ ก็มีแต่เขาว่า 

เมื่อเป็นอย่างนั้นน่ะ ทีนี้เราทำใจของเรานั่นน่ะ ให้เป็นที่พึ่งของตนเองด้วยสรณะทั้งสามประการนี่ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กลืนเข้าไปสิน่ะ กลืนเข้าไปไว้ข้างในนั่น อย่าปล่อยออกไปข้างนอกสิ ให้ทวนกระแสเข้าข้างใน อย่าไปตามกระแสของโลก กระแสของโลกมันมีที่สิ้นสุดที่ไหนหละ มันไปสิ้นสุดที่ไหน 

กระแสของโลก แม้แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า นับตั้งแต่พระองค์ได้รับการพยากรณ์มาจากพระทีปังกร ที่พระองค์ไปหาพระพุทธเจ้าในสมัยนั้น แล้วพระทีปังกรน่ะพยากรณ์ให้พระพุทธเจ้าว่าจะได้ตรัสรู้ข้างหน้า จากนั้นมา มันกี่อสงไขยหละ มันสี่อสงไขย กำไรแสนมหากัปป์นะ ไม่ใช่ว่าพยากรณ์แล้วปีนี้ แล้วปีหน้าก็จะได้ตรัสรู้ มันไม่ใช่สิ คิดดูซิ การมาของพระองค์น่ะ มาเท่าไหร่ เกิดแล้วก็ไม่รู้ว่าเกิดเท่าไหร่ ที่มันน้อยเมื่อไหร่หละ ไม่ใช่น้อยนะที่พระองค์ได้เสวยพระชาติ ความทุกข์ก็อยู่กับพระองค์ 

แม้แต่พระองค์มาสร้างบารมีหละ อ่านดูมั้ยหละในสิบชาติ เรียกว่าทศชาติ เอ้า ชาติไหนเป็นสุข ได้อ่านหรือยัง ดูหรือยัง ชาติไหนเป็นสุข ไม่มี ไล่ไปตั้งแต่เวสสันดรชาดกไปหละ ไม่มีเป็นสุข ขึ้นต้นมาตั้งแต่เตมีย์ใบ้ ก็ไม่อยากเป็นพระราชาน่ะ แสดงเป็นใบ้ ก็จนเขาจะเอาไปฝังทิ้ง หรือว่ามโหสถบัณฑิตหรือว่าสุวรรณสามอย่างเนี้ย ก็ล้วนแต่ว่าชาติที่สร้างบารมีน่ะ แต่ชาติไหนหละที่เป็นสุขในสิบชาติ ไม่มีนะ มีแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้น แต่พระองค์ทำไมถึงทนทำมาได้ จนถึงว่าเป็นเมตตาบารมี อุเบกขาบารมี เป็นสัจจะบารมี อธิษฐานบารมี วิริยะบารมี เป็นทานบารมี ศีลบารมี สมบูรณ์มาได้ยังไง ทั้งที่เป็นทุกข์อยู่มหาศาล 

ถ้าเราอ่านแล้วมีแต่ทุกข์ แต่พระองค์ก็ยังฝ่าฟันมาได้ พระองค์ท่องเที่ยวมา ตามมาๆๆ ก็ตามจิตของตัวเองนั่นหละ นั่นมันมาเกิดตรงไหน ให้มันเป็นยังไง เรื่องราวมันเป็นยังไง เรื่องเวสสันดรชาดก พระองค์ก็ไม่ได้ไปเขียนเอง ไม่รู้ว่าทิ้งกันมาเท่าไหร่แล้ว ตั้งแต่เป็นเวสสันดรมาจนมาถึงเป็นสิทธัตถะนี่ ทิ้งกันมาเท่าไหร่ 

แต่พระองค์นั่นน่ะ มานั่งขัดบัลลังก์ ขัดสมาธิ นั่งบัลลังก์ขัดสมาธิที่ใต้ต้นมหาโพธิ์ จิตของพระองค์มากำหนดอานาปานสติ แล้วก็เกิดความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็เกิดปัญญาญาณทั้งสามขึ้น คือบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวขยักญาณ ก็ญาณในเบื้องต้นน่ะ นั่นน่ะก็ทำให้พระองค์เห็นชาติของตัวเองที่เรียกว่า บุพเพนิวาสานุสติญาณ รู้ชาติของตัวเองได้ ตั้งแต่ตัวเองที่ได้ตรัสรู้นี่แหละ ย้อนคืนไปถึงตัวเองที่ได้รับพยากรณ์มาจากพระพุทธเจ้าทีปังกร แล้วหลังจากนั้นก็ตามมาๆ จนมาถึงบัดนี้น่ะ ถึงชาติสิทธัตถะราชกุมาร แล้วก็จึงได้มาเจอ แล้วก็จะได้รู้ว่าตัวเองมาเป็นมายังไง พระองค์ก็ยังรู้ ที่ท่านรู้ รู้โดยวิธีไหน 

อย่างเวสสันดรชาดก ก็เป็นนิมิตเครื่องหมายนั่นหละบอก นิมิตเป็นนั้น เป็นนั้นๆๆ อันนั้นชื่ออย่างนั้น ตัวของตัวเองก็ชื่ออย่างนั้น ก็เป็นนิมิตขึ้นมาบอก ก็ว่านิมิตไม่ดี พระพุทธเจ้าเอานิมิตมาใช้ทำไม มโหสถบัณฑิต ก็พระพุทธเจ้าเอานิมิตมาใช้ อะไรๆก็เป็นนิมิตทั้งนั้น จะว่านิมิตไม่ดียังไง ที่ว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณ ก็รู้ระลึกชาติได้ เราก็ยังเอามาใช้ได้ ในเวสสันดรชาดก ก็เพราะพระองค์ระลึกชาติได้ ก็เป็นนิมิตเครื่องหมายบอกพระองค์ นั่นน่ะพระองค์มาตามทัน แล้วก็เลยรู้ย้อนหลัง รู้เรื่องอดีตที่มันเป็นมายังไง พระองค์ก็เลยจะทบทวนมา แม้แต่ตัวเองไปมีกรรมมีเวรกับใคร ไปทำอะไรมาพระองค์ก็ทรงทราบ 

จนเข้าจุตูปปาตญาณ ญาณที่สอง ก็รู้จักกรรมของสัตว์ สัตว์มันทำกรรมยังไงมันก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น ทำชั่วก็ได้ชั่ว ทำดีก็ได้ดี มันก็เนื่องมาจากกรรมเวร พระองค์ก็มารู้จุติของสัตว์ก็เนื่องมาจากกรรม แม้แต่พระองค์ก็เนื่องมาจากกรรม ก็สร้างกรรมมาสร้างเวรมาเช่นเดียวกัน ทีนี้กรรมเหล่านี้มันมาจากไหนทีนี้ ท่านก็มาค้นหาต้นกรรม ค้นหาเหตุ เหตุของกรรมมันอยู่ที่ไหน เหตุของกรรมพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ไปหาอะไรที่อื่นอีก ก็หาในอาสวกิเลส ก็คือกิเลสนั่นน่ะมันเป็นต้นเหตุ 

ก็เหมือนพวกเราทุกวันนี้หละ เราก็ทำมาหากินอยู่นี่ก็เพราะอะไร ก็เพราะกิเลส ความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง ก็มีธรรมดาอย่างนี้ ท่านก็ทำมาอย่างนั้นน่ะ ทีนี้ท่านก็มาสืบสาวเรื่องราวว่ากิเลสพวกนี้มันอยู่ตรงไหน กิเลสคือความโลภ กิเลสคือความโกรธ กิเลสคือความหลง กิเลสคืออวิชชา กิเลสคือตัณหา กิเลสคือมานะ กิเลสคือทิฐิ กิเลสคือกรรมคือเวร อยู่ตรงไหน มันมาจากไหน ท่านก็มาค้นหาสิ ค้นก็ไม่ได้อยู่ไกลสินี่ ค้นเข้าไปจริงๆ อ้าว! มันอยู่ที่หน้าอกเรานี่ มันอยู่ที่ท่ามกลางหน้าอกเรานี่ ในพระอุระ มันอยู่ตรงนี้ 

พระองค์ก็มาค้นคิดพิจารณาอยู่นี่สิ ใช้ปัญญาญาณของพระองค์น่ะเข้าไปกำจัด ก็ใช้ปัญญาญาณของพระองค์เข้าไปกำจัด พอกำจัดแล้ว พวกอาสวกิเลสทั้งหลายน่ะ มันก็ขาดสะบั้นหั่นแหลกออกมา พอขาดสะบั้นหั่นแหลกออกมา นั่นหละ ตอนที่พระองค์สะดุ้งมาร หรือว่าตอนที่พระองค์ได้มารวิชัยน่ะ ได้ชัยชนะมาร เรียกว่าสะดุ้งมาร มือสะดุ้งออกมาอย่างนี้ ออกมาวางที่หัวเข่า นั่น เขาก็เลยเรียกว่าสะดุ้งมาร แต่แท้ที่จริงก็คือมารวิชัย ได้ชัยชนะมาร มือท่านก็เลยออกมา เท่านั้นหละ 

นั้นท่านก็เลยได้ตรัสรู้ ตรัสรู้เป็นอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ได้ธรรมของจริงขึ้นมา ๔ อย่าง ธรรมของจริง ๔ อย่างก็คืออะไรหละ ก็พากันท่องได้แล้วนี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นหละ สัจจ์ของจริง ๔ อย่าง ก็เลยได้ประกาศตนว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ เราตรัสรู้เองโดยชอบ นี่ 

นี่เรื่องของพระพุทธเจ้า ที่ท่านได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นแบบนั้นนะ ทีนี้ส่วนพระพุทธเจ้าของพระอริยเจ้า ก็ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างท่าน เพราะว่าท่านจบแล้ว ท่านก็มองหาอุปนิสัยบุคคลผู้พอที่จะสอนได้ก็รู้แล้ว รู้แล้วก็ไปสอน ไปสอนแล้วก็ได้ทันที นั่นเรียกว่าสาวกภูมิ พุทธภูมิน่ะมันยาก กว่าจะได้สำเร็จ ทีนี้พวกเราน่ะ เมื่อได้ทราบซึ้งถึงวิธีการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์เสียสละชีวิตของพระองค์เพื่อพวกเราอย่างนั้นแล้ว แล้วท่านก็ให้แนวทางแห่งการกระทำไว้แล้ว สมควรหรือเราจะเป็นคนประมาท สมควรหรือเราจะเป็นผู้ประมาท ประมาททำไม 

พระองค์ก็บอกว่ามันเป็นของของพวกเธอนะ ตอนที่จะปรินิพพานก็ยังสั่งพระอานนท์เอาไว้ ธรรมวินัยของเราได้บอกเอาไว้แล้วนะ ธรรมวินัยของเราได้ตั้งเอาไว้แล้วนะ ธรรมวินัยของเรานั่นนะเป็นใหญ่นะ ให้พากันรักษาพระธรรมวินัยนะอานนท์ ถึงตถาคตจะล่วงไป ก็พระธรรมวินัยยังอยู่ ธรรมวินัยนั้นตถาคตไม่ได้เอาไปด้วย ให้ถือเป็นแบบฉบับเป็นหนทางสำหรับที่จะดำเนินเข้าไปสู่ความพ้นทุกข์ พระองค์ก็บอกเอาไว้แล้ว ก็บอกไว้จนกระทั่งถึงพวกเรานี่หละ 

เมื่อรู้ว่าท่านบอกมาหละ ทีนี้เราจะทำยังไง จะไม่ทำตามท่านบ้างหรือ จะไม่สงสารจิตของตัวเองบ้างหรือ เกิดมาแล้วนะ ที่มันเกิดมามันมาจากไหนยังไม่รู้นะ ที่มันมาน่ะ มาเป็นคนอยู่เดี๋ยวนี้นะ มันมาจากไหน ใครไปอาราธนามันมา เราได้เชื้อเชิญมาหรือเปล่า เราก็มาด้วยความหลง ถึงมาอยู่ก็อยู่ด้วยความหลง ก็อยู่เป็นมนุษย์นั่นน่ะ ก็เป็นหญิงเป็นชายน่ะ ก็อยู่ด้วยความหลง ทีนี้เมื่อมันออกจากนี้หละ ที่ว่าตายน่ะ เกิดมาแล้วก็มีตายเป็นที่สุด เมื่อมันออกจากนี่หละตายแล้ว แล้วมันจะไปไหนอีก คิดกันแล้วหรือยัง 

แล้วที่พึ่งของเรามันเพียบพร้อมหรือยัง ถามกันหน่อยซิ มัวแต่จะไปเมาอยู่อย่างอื่นมันไม่ได้นะ มันไม่ทันมันนะ ถามมันดูซิ ก่อนจะถามมันได้ จะถามแบบไหนหละ อยู่ๆจะไปถามมันเลย มันจะตอบยังไงหละ มันจะเอาความจริงมาตอบหรือ ถ้าเราไม่ตั้งหลักปักฐานให้มันมั่นคงเสียก่อนแล้วเราก็ถามอะไรไม่ได้เรื่อง ถามมันก็ตอบสะเปะสะปะไปตามภาษามันน่ะ ว่ามีที่พึ่งหรือยัง มันก็ว่ามีแล้ว มีอยู่ไหน ก็มีอยู่ในนี้ เดี๋ยวมันก็วิ่งหนี หาความสุขไม่ได้ เดี๋ยวมันก็หลอกตัวเอง มันหลอกตัวเองนะนั่น ถ้าเราถามมันน่ะ ก่อนจะถามเอาความเป็นจริงกับเขานั่นนะ ตั้งหลักปักฐานให้มันมั่นคง ยังศีล ยังสมาธิให้มันมั่นคง

สมาธินี่อย่าไปทิ้ง ศีล สมาธิ ปัญญาอย่าไปทิ้ง จะปฏิบัติธรรมอะไรก็ตาม อย่าเอาไปทิ้ง ยึดเอาเป็นหลักซะ เอาให้มันสงบเถอะ เอาให้มันตั้งมั่นเถอะ ตั้งหลังปักฐานเอาไว้เถอะ ตั้งเอาไว้ข้างในนี่ อะไรจะพาให้มันไปตั้งหละ ก็เบื้องต้นก็คือลมนั่นหละ พระพุทธเจ้าก็อาศัยลมน่ะหละครั้งแรกที่ว่าอานาปานสติ ตั้งไว้ที่ปลายนาสิก ก็ปลายจมูกนั่นหละ ปลายนาสิก แล้วก็หายใจเข้าไป ก็ไปถึงทรวงอก ก็คงจะปอดนั่นน่ะ หายใจเข้าไปมันก็ไปสู่ปอด ออกจากปอดมันก็ไปปลายจมูก ออกจากปลายจมูกมันก็กลับคืนเข้าไปหาปอด ออกจากปอดมันก็ไปปลายจมูก 

ท่านก็เดินอยู่เพียงแค่นี้ เดินจงกรมนะ ทีนี้เราเดินจงกรมยังไงก็ไม่รู้นะ พระพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่แค่นี้นะ เลยได้ปัญญา ๓​ ได้ญาณทั้ง ๓ ขึ้น ก็ได้เพราะการเดินจงกรมนี่หละ เดินจากปลายจมูกนี่ แล้วก็ลงไปหาท่ามกลางหน้าอกนี่ หาปอดนี่ ย้อนมาน่ะ นี่เดินธุดงค์ ท่านไม่ได้ไปเดินไกล ไม่ได้ไปเดินให้มันเมื่อย นั่งเดินเนี่ยหละ แล้วของดีทำไมถึงเกิดขึ้น ของดีเกิดจากพระพุทธเจ้า เกิดเพียงแค่นี้นะ ทำเพียงแค่นี้นะ พระองค์ไปไหว้พระสวดมนต์ที่ไหน พระองค์ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่ไหน พระองค์ไปทำวัตรที่ไหน แม้แต่พระอริยสงฆ์สาวกที่สำเร็จไปแล้วน่ะท่านไปทำวัตรที่ไหน 

อย่างพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็พระองค์ตามเสด็จไปโปรด ก็ยังไม่ได้ทำวัตรเช้าวัตรอะไรเป็นนะ หลังจากนั้นก็พระยสะ ก็หนีออกจากปราสาท หนีมาด้วยความเร่าร้อน โดยไม่รู้ว่าจะไปไหน แต่ก็บังเอิญมาถึงพระพุทธเจ้า แล้วก็บ่นมาว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ พระพุทธเจ้าก็ได้ยินอย่างนั้น ก็บอกว่า “ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่ไม่วุ่นวาย ท่านลงมาที่นี่เถิด” ก็จึงงงอยู่ยกหนึ่ง เอ๊ะ ใครมาพูดอยู่ตรงนี้ แล้วก็จึงเดินเข้ามานะ ก็จึงมาเห็นมหาบุรุษนั่งอยู่ แล้วก็ถอดรองเท้าเอาไว้ แล้วก็ไปนั่งที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็รู้แล้ว ก็เข้ามาหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมเทศนา อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ก็เทศน์เท่านั้นหละ พอจบพระธรรมเทศนา เอ้า ได้พระโสดาบันแล้ว พ่อตามมาทีหลัง เห็นลูกชายนั่งอยู่ข้างหลังพ่อ ก็เข้าไปหา พระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมอันเดียวกันนะหละ อนุปุพพิกถา ๕ กับอริยสัจ​ ๔ ให้กับเศรษฐีผู้เป็นบิดาฟัง เศรษฐีก็ได้โสดาบัน ผู้เป็นพ่อ แต่ผู้เป็นลูกน่ะ พระยสะอยู่ข้างหลัง ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว แน่ะ!

ทีนี้ไปสวดอะไรที่ไหนหละทีนี้ ไปเจริญพุทธมนต์ที่ไหนมา แล้วจึงได้ง่าย นั่น นั้นผู้ที่จะสำเร็จก็ไม่ได้มีอะไร วัดก็ยังไม่มีในสมัยนั้น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะไปบวชตรงไหน ว่ามีพระองค์ใดองค์หนึ่งเป็นครูบาอาจารย์ องค์ใดองค์หนึ่งตั้งวัดไว้ สร้างวัดไว้แล้ว แล้วพระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่วัดนั้น แล้วก็มีพระสงฆ์มาฟังเทศน์ให้สำเร็จเป็นอรหันต์ มันไม่มีนะ อันดับแรก ไม่มี! ก็มีแต่ว่าสำเร็จแล้วไล่หนี ไล่หนีไปเลยนั่น ที่ไล่หนีก็เพราะอะไรหละ รับรองแล้วว่ามันไม่สึก ก็เพราะสำเร็จแล้วจะไปสึกได้ยังไง สีกงสีกาจะมาล่อ ก็ล่อยังไง มันตายแล้ว สิ่งเหล่านั้นไม่มี กิเลสไม่มี มันจะไปสืบพันธุ์อะไรได้หละ มันไม่มีเครื่องสืบพันธุ์แล้ว เพราะกิเลสมันหมด 

นั่นหละท่านจึงไล่หนีไปทีละองค์ องค์นี้ไปทางนี้ องค์นี้ไปทางนี้ องค์ไปทางนี้ ไม่ให้ไปซ้ำกัน ให้ไปประกาศพระศาสนา พออยู่มาสมควร ก็วันเพ็ญเดือน ๓ ก็ได้พระอรหันต์ ๑๒๕๐ ก็เลยบันดาลไปโน่น โดยไม่ต้องนัดหมาย โดยไม่ต้องได้บอก แล้วก็ไปประชุมกันโน่น สวนเวฬุวัน สวนไม้ไผ่ สวนพระพิมพิสารที่ถวายพระพุทธเจ้า นั่น ก็ไปกันเอง ก่อนที่ได้นั่นน่ะ พระองค์ก็ไปทรมานพวกชฏิล ๓​ พี่น้อง มีแต่คนโหดร้ายทั้งนั้นนะ ไม่ใช่ว่าสร้างวัดไว้ก่อนนะ แต่ยังเอามาเป็นพระอรหันต์ได้ นั่น! 

พระพุทธเจ้าต้องสอนให้รวดเร็ว จะไปสอนช้าก็ไม่ได้ เสียเวลาสิ อายุมันสั้น เดี๋ยวจะไม่ได้บริษัทมาก จะรื้อขนสัตว์ถอนขนสัตว์ไม่ทัน ต้องรีบ รีบเอาๆๆ ขนาดนั้นก็ยังไม่พออยู่นะ ยังเหลือตกค้างมาจนถึงทุกวันนี้เห็นมั้ย สมัยนั้นถ้าเราเชื่อท่านมันก็ไปกันแล้วหละนี่ มันไม่เชื่อ มันยังดื้อ มันยังเล็ดลอดออกมาอยู่นี่ ถ้าไปเชื่อท่านในสมัยนั้นน่ะ คิดว่าคงไปแล้วหละ ก็เพราะความดื้อของตัวเองนั่นหละ มันไม่รับฟังท่าน ถ้าไม่ฟังก็ไม่เป็นไร ผ่านมาแล้วก็ไม่เป็นไร ไม่ได้เป็นมาแล้ว 

ทีนี้เราก็พากันรู้แล้วสินี่ แล้วก็ตกมาต่างถิ่นอีกแล้ว ตกมาต่างถิ่นน่ะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จะมีหรือไม่ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้าไม่ได้เลือกที่ ไม่ได้เลือกชาติ วรรณะ ไม่ได้เลือกเพศ จะเพศหญิงก็ตาม เพศชายก็ตาม จะหนุ่มก็ตาม จะเด็กก็ตาม พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้าไม่ได้เลือก ข้อสำคัญว่าทำได้ ได้กันทั้งนั้น ไม่มีการอคติ และก็ไม่มีการลำเอียง ใครทำได้ก็ทำได้ ใครทำได้ก็คนนั้นหละได้ ไม่ว่าขณะไหน จะเป็นพระสงฆ์ คณะธรรมยุติหรือ จะเป็นคณสงฆ์มหานิกายหรือ ไม่จำเป็น คือเป็นได้ ถ้าได้เท่านั้น ถ้าละกิเลสได้เท่านั้น มันไม่ได้เลือก จะเป็นผู้หญิงหรือ ก็ผู้หญิงละกิเลสได้หละ ก็จะเป็นอรหันต์ไม่ได้เชียวหรือ ก็พระอ้ะ ไม่มีกิเลสมันก็เป็นพระอรหันต์ได้ 

ฉะนั้นคำพูดของพระพุทธเจ้าหรือว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงไม่ลำเอียง จึงไม่มีการยกเว้นใคร ถ้าใครทำได้ถือว่าได้ทั้งนั้น นี่หละมันยังเหลืออยู่พวกเรานี่หละ มันจึงทุกข์จึงยากจึงลำบาก โอ้ย ทำมาหาอยู่หากิน ไกลแสนไกลขนาดไหนก็ยังอุตส่าห์พยายามดิ้นรนมา ที่ว่ามาได้ก็ว่าตัวเองดีก็ไม่ใช่นะ อย่าเข้าใจว่าดีนะ มันก็มาด้วยความทุกข์ทั้งนั้นนะ มาแล้วก็อยู่ด้วยความทุกข์ทั้งนั้นนะ ก่อนที่จะพ้นทุกข์นี่ก็ไม่ใช่ง่ายนะ พิจารณาให้ดีนะ อย่าประมาทนะ 

คนเราที่จะได้พ้นทุกข์มันไม่ใช่ง่าย แต่ว่าอาศัยว่าบุญญาบารมีชนิดหนึ่งส่งเสริมให้เรามา พอให้พ้นจากอันตรายมาได้ พ้นทุกข์พ้นยากจากสถานที่นั่นมา แล้วมาเอาสมบัติข้างหน้า สมบัติข้างหน้ามันรอเราอยู่ตรงนี้ ที่เกิดของเรามันเป็นที่หนึ่ง สมบัติมันอยู่ที่หนึ่ง อย่างนี้มันก็มี ก็เทียบแล้วก็เหมือนกับพวกเรานั่นน่ะ ที่เกิดของเราอยู่โน่น แต่สมบัติของเรามันอยู่นี่ ก็ตามสมบัติมา เมื่อตามสมบัติมาแล้วก็ได้สมบัติตามสมควรแก่กาล ตามฐานะของความเป็นมนุษย์ แต่สำหรับที่พึ่ง ที่พึ่งข้างในน่ะ ก็ให้มันมีบ้างสิ ที่พึ่งข้างนอกก็พอทำเนาหละ พอได้อาศัยหละ พึ่งข้างในนี่ อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน 

เมื่อเราเข้าถึงไตรสรณคมณ์เมื่อไหร่ เราก็ถึงเมื่อนั้นน่ะ เราก็พึ่งตนได้เมื่อนั้น ศาสนาพุทธเราให้พึ่งตนนะ ท่านไม่ให้เป็นชาวเกาะนะ ไม่ให้เป็นคนชาวเกาะนะ พระองค์ให้เป็นอิสระ ให้เป็นผู้มีอิสระคือพึ่งตนได้ เมื่อพึ่งตนแล้วจะไปไหนก็ไปสิ คำว่าไปร้ายไม่มี มีแต่ไปดีทั้งนั้น นี่หละคำสอนของพระพุทธเจ้า คุณค่าของพระพุทธเจ้า คุณค่าของศาสนาของเรา ไม่ให้ไปพึ่งพระเจ้าองค์นั้น ไม่ให้ไปพึ่งพระเจ้าองค์นี้ ให้พึ่งตัวเอง พุทธัง สรณัง คัจฉามิ พระพุทธเจ้าเป็นสรณะและก็เป็นที่พึ่งของเรา ธัมมัง สังฆัง ก็มารวมอยู่ที่เดียว พอได้แล้ว กลับมาเป็นอัตตาหิ อัตโน นาโถ มองให้มันลึกนะ มองธรรมะน่ะอย่าไปมองตื้นๆ มองให้เข้าไปถึงแก่นมันน่ะ แก่นมันคือหัวใจเรานั่นน่ะ 

ก่อนที่เราโยกย้ายมานี้ มาสู่ถิ่นนี้มันมาได้ยังไง ก็คิดดูซิ อันนี้ก็เป็นบุญญาธิการอันหนึ่งเหมือนกันที่มาได้ มาก็ไม่ใช่ว่ามาทุกข์มายาก ความทุกข์ความยากความลำบากก็เป็นธรรมดาเหมือนเราอยู่ แต่มันก็มีส่วนดีอยู่ แต่เรามาได้ยังไง ก็น่าคิดนะ ก็เนื่องด้วยปุพเพกตปุญญตา บุญเก่านั่นน่ะ ของเก่าน่ะมันพาให้มา ผู้ที่มาอยู่นานเป็นปีขึ้นไป ถึง๑๐ปี ๒๐ปี ๒๐กว่าปี ๓๐กว่าปีก็มี แต่ก็ยังอยู่กันมาได้ ก็ด้วยสมบัติของเขาอยู่ทางนี้ เขาก็ได้มาเอาทางนี้ ถ้าคนไหนไม่มีสมบัติ มันมาไม่ได้หรอก มามันก็อยู่ไม่ได้ มันไม่มีสมบัติ หาดูแล้วมันก็ไม่มี นั่น!

นั่นหละพวกเราทั้งหลายน่ะ เมื่อได้มา มาอยู่วางรากฐานพุทธของเราอยู่ตรงนี้ ก็ให้รากฐานมั่นคงของพุทธนั่นน่ะให้แน่นหนา ให้ช่วยกันประคับประคองทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้ แล้วก็ยังพุทธนั้นให้เกิดขึ้น ด้วยประสิทธิภาพคือความเจริญรุ่งเรือง ก็อย่ามารุ่งเรืองแต่ภายนอกแต่อย่างเดียว ให้รุ่งเรืองทางภายในด้วย เพื่อจะได้เป็นสักขีพยานในการที่เรานำเอาพุทธมา พุทธนั้นก็จะได้เป็นประโยชน์ต่อเรา เราก็จะได้พึ่งพุทธที่มีคุณภาพนั้น แล้วก็จะได้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป ส่วนข้างหน้ามันเป็นเพียงข้างหน้า ส่วนข้างนอกเราก็มองเห็นกันอยู่อย่างนี้ 

นี่มันความดีมันบอกแล้วนี่ บอกว่าไปข้างหน้ามันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ก็ต้องดีกว่านี้ อันนั้นมันดีด้วยคุณธรรมอันที่เราปฏิบัติไว้แล้ว เชื่อเถอะนะ เชื่อคุณธรรมเชื่อไปเถอะ เชื่อธรรมในทางจิตทางใจ อันที่มันปฏิบัติแล้วเกิดขึ้น เชื่อเถอะ เห็นผลทันทีน่ะ เห็นในปัจจุบันนะ บาปก็บาปในปัจจุบันนะ คุณก็คุณในปัจจุบันนะ อานิสงส์ก็อานิสงส์ในปัจจุบันนะ ให้เราคิดเอาอย่างนี้ พวกเราจึงจะมีความพอใจ ภูมิใจกับการกระทำของพวกเรา 

อีกไม่กี่วันหรอก อีกไม่กี่ปีหรอก ต่างคนก็จะต่างพลัดพรากจากกันและกันไปหรอก ก็คงจะอยู่กันไม่ถึงร้อยปีหรอก ต่างคนต่างหล่น นิมิตเครื่องหมายมันบอกในการภาวนาน่ะ นี่หละชีวิตเบื้องต้นมันเป็นอย่างนี้ บั้นปลายน่ะมันแสดงออกซึ่งความตายนั่นน่ะ แสดงความอด ความอยาก ความทุกข์ ความยาก ซึ่งบั้นปลายแห่งชีวิต นั่นบั้นปลายมันถึงตรงนั้นๆ แล้วเราจะไปเอาอะไรให้เป็นสมบัติอะไรให้มาก ถึงเอาไปแล้วมันก็เป็นทุกข์เป็นยากเหมือนอย่างเราๆนั้น 

นั่นนิมิตมันบอก เขาไม่ต้องการให้เราเอาไป เขาก็แยกเราออกไปนั่นสิ ตัวของเรานั่งอยู่นี่ มันก็แยกตัวของเราไปนอนให้เราเห็นอีก ไปนั่งให้เราเห็นอีก แล้วก็ไปเห็นทุกข์เห็นยากของตัวเองตรงนั้นอีก นั่น! ทุกขัง อริยสัจจัง ทุกข์มันเป็นของจริงอย่างนี้ๆๆๆ เค้าบอกชัดๆอย่างนั้น จะเอายังไง จะเอายังไงก็เอา อันนั้นเป็นเรื่องตนเองตัดสินด้วยตัวเอง ในเมื่อที่มันเป็นมา มันปรากฏอย่างนั้นสิ นั้นน่ะเค้าเรียกว่าธรรมแท้ ให้พากันจำเอาไว้ 

ภาวนาเวลามันเป็นไปน่ะ ตีนิมิตเครื่องหมายของตัวเองให้ออก ตีให้เป็น มันจะได้เกิดศรัทธา วันนี้น่ะเล่าให้ฟัง จะเชื่อก็เชื่อ ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร บอกให้ฟังแล้ว ต่อนี้ไปก็พากันตั้งใจนั่งสินี่ นั่งไปซักพักหนึ่งเสียก่อน ไม่มีงานอะไรทำหรอก อยู่เฉยๆ นั่งภาวนาน่ะดี ดีกว่าอยู่เฉยๆ มันจะได้ประโยชน์ หาที่พึ่งให้มันได้

หมายเหตุ:

อนุปุพพิกถา 5 (เรื่องที่กล่าวถึงตามลำดับ, ธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ — progressive sermon; graduated sermon; subjects for gradual instruction)

       1. ทานกถา (เรื่องทาน, กล่าวถึงการให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน — talk on giving, liberality or charity)

       2. สีลกถา (เรื่องศีล, กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม — talk on morality or righteousness)

       3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์, กล่าวถึงความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกาม ที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น — talk on heavenly pleasures)

       4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษแห่งกาม, กล่าวถึงส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้ — talk on the disadvantages of sensual pleasures)

       5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งความออกจากกาม, กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น — talk on the benefits of renouncing sensual pleasures)

       ตามปกติ พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษ ทรงแสดงอนุปุพพิกถานี้ก่อน แล้วจึงตรัสแสดงอริยสัจจ์ 4 เป็นการทำจิตให้พร้อมที่จะรับ ดุจผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้ว ควรรับน้ำย้อมต่างๆ ได้ด้วยดี

(คัดลอกมาจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต))