หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ณ โอกาสต่อไปนี้จะได้แสดงพระธรรมเทศนาพรรณนาศาสนธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นประโยชน์แก่เราพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้เราทั้งหลายได้พร้อมใจกันมา บำเพ็ญกองการกุศลเพื่ออุทิศถวายพระบูรพาจารย์ บูรพาจารย์หมายถึงอาจารย์ผู้เกิดก่อนเรา ท่านเกิดก่อนเรา ท่านบวชก่อนเรา ท่านสอนเรามาก่อน จึงได้ชื่อว่าพระบูรพาจารย์
อันดับของพระบูรพาจารย์ในภาคอีสานอันดับแรก ท่านอริยกวี (อ่อน) ได้ไปอุปสมบทในสำนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ซึ่งสมัยนั้นพระองค์ยังอุปสมบทอยู่ ยังไม่ทรงลาผนวชออกมาครองเมือง แล้วท่านผู้นั้นก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม เรียนรู้พระธรรมวินัย แล้วก็นำธรรมวินัย ซึ่งถอดแบบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ไปประดิษฐานคณะพระธรรมยุติ ตรงที่วัดศรีทอง จังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อสิ้นบุญบารมีของท่านอริยกวี (อ่อน)ก็ตกทอดมาถึงท่านพันธุละซึ่งเป็นสหธรรมิกของท่านพันธุละ ซึ่งเป็นสหธรรมิกของท่าน ถัดจากนั้น ก็มาถึงยุคของพระเดชพระคุณ เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ท่านบริหารกิจการพระศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและทั้งฝ่ายปฏิบัติ ภาษากฎหมายเขาว่า คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ
คันถธุระ มีหน้าที่จัดการบริหาร ปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ตราเป็นกฎหมายสงฆ์ขึ้นมาเรียกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และก็จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม คือ สอนนักธรรม สอนบาลี สอนทั้งการปฏิบัติธุดงคกรรมฐาน
พระคุณเจ้าพระมหาเถระรูปนี้ เรียกว่าเป็นพระเถระที่ครบเครื่อง มีทุกอย่าง ถ้าจะพูดถึงสำนวนโวหารของท่าน ท่านเป็นผู้ชำนิชำนาญ นอกจากจะชำนาญในหลักวิชาการทางศาสนา แล้วยังเป็นนักกวี แต่งกลอนแต่งโคลง อ่านแล้วฟังซาบซึ้ง อาตมายังได้จำคำสอนซึ่งเป็นคำกลอนของท่าน ท่านว่าเป็นภาษาอีสาน ท่านบอกว่า
กัมมัฏฐานโกแก้วแถวทำบ่เตื้องต่อ
กัมมัฏฐานพ่อว่อมาขี้ให้หมู่เหม็น
เขาก็ลือมันแล้วกัมมัฏฐานหมูเถือน
ได้อาหารอิ่มทั้งนอนมุ้งนั่งธรรม
(คำแปล: กรรมฐานถ้วยแก้วขาดความสนใจในพระธรรมวินัย กรรมฐานไปโผล่ตรงนั้นตรงนี้ แล้วไปปะรพฤติเสียหายให้หมู่เหม็นเบื่อ คนเขาเล่าลือว่าเป็นกรรมฐานเดินป่าเดินดง กินแล้วนอนไม่สสนใจข้อวัตรปฏิบัติ)
อันนี้จำติดตาติดใจ ปลืมจั๊กเทื่อ อีกอันหนึ่งท่านว่า
อัศจรรย์ปลาไหลลดหลาน
น่าอนาถหนีหน่ายวังตม
ผู้เป็นสมณ์สืบวงศ์บ่อมั่ว
(คำแปล: ปลาไหล ปลาดหลด ปลาหลาด น่าอนาถเบื่อหน่ายวังตม ผู้เป็นสมณะ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ทิ้งจารีตประเพณีต่างๆหมด)
มาถึงยุคผู้เป็นสมณ์สืบวงศ์มั่วแล้วกระมัง
อาตมาไปเยี่ยมไข้หลวงปู่ฝั้น ก่อนหน้าที่ท่านจะมรณภาพเพียง ๓ วันเท่านั้นเอง ท่านกำลังนอนคุมโปงอยู่ พอไปกราบท่าน แล้วก็โบกมือห้ามพระไม่ให้รบกวนท่าน ท่านก็บอกว่า “เอาลุก เอาลุก เอาลุก” ถึง ๓ ครั้ง พระขัดไม่ได้ก็พยุงท่านลุกขึ้นมา พอท่านลุกขึ้นมาแล้วพอท่านมองเห็นมือสั่นๆยกขึ้นมาอย่างนี้ “นี่อะไรครูบาอาจารย์ก็ถ่ายทอดให้หมดแล้ว ทำเก่งด้วย เสียดายอย่างเดียวมันยังขี้เกียจอยู่เท่านั้น ต่อไปขยันๆเข้าหน่อย กรรมฐานในสายนี้ถ้าหมดรุ่นพวกเธอแล้ว มันจะหมดนะ”
คำพูดของครูบาอาจารย์นี่ย่อมเป็นประกาศิต พูดคำไหนเป็นคำนั้น วันนี้จึงได้นำคำเตือนของครูบาอาจารย์มาเล่าให้สู่ท่านทั้งหลายฟัง เผื่อเราจะได้จดจำเอาไว้ว่าครูบาอาจารย์บอกว่า “กรรมฐานในสายนี้หมดรุ่นพวกเธอแล้ว มันจะหมดนะ จะไม่มีใครสืบต่อ ต่อไปขยันๆเข้าหน่อย” อันนี้เป็นคำเตือนของหลวงปู่ฝั้น ส่วนในเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ จะมีอันเป็นไปอย่างไรนั้น ไม่ค่อยได้สนใจ เกิดมาเป็นหลวงพ่อ หลวงพี่ ไม่เคยหวั่นวิตกว่าใครเค้าจะลงนรก กลัวแต่ตัวเองจะลงนรก เราดูหน้าใครแล้วก็ไม่เหมือนหน้าพ่อหน้าแม่เราซักคน ใครจะสร้างบาปกรรมลงนรก เราก็ไม่อัศจรรย์ เราจะสร้างแต่ความดี สร้างแต่ความดี ถ้าไม่สำเร็จมรรคผลนิพพาน ตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์ สมบัติบนสวรรค์เป็นของเราคนเดียวหมด นางฟ้า นางเทวดา ไม่มีใครแย่ง อุ้ย! อยู่ในเมืองมนุษย์นี่มันอัปรีย์จัญไร เพียงจะเป็นสมภาร ยังมีผู้อยากมาแย่งเป็นใหญ่ ให้ลองคิดดูซิ ญาติโยมทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นได้พูดมาถึงตอนที่ว่า เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์เป็นพระเถระที่ทรงคุณวุฒิทั้งฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ทำหน้าที่สองทาง สอนหนังสือธรรมะ สอนนักธรรม สอนบาลี สอนจนกระทั่งสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นนักปฏิบัติที่ยอดเยี่ยม ขนาดขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ พอขยับตัว ขาหัก ยังนั่งเทศน์เฉย เอาสิ จนกระทั่งเทศน์จบแล้วไม่ยอมลงธรรมาสน์ “เอ้า! พระเดชพระคุณ ทำไมไม่ลงธรรมาสน์ซักที” “มันจะลงได้อย่างไรหละ ขาหักแล้ว” ดูสิ ถ้าเป็นอย่างเรา จะว่ายังไง ขาหักทั้งขานี่ไม่ร้องโอ้ยๆ นี่แสดงว่า คุณสมบัติความเข้มแข็งของจิตใจของนักต่อสู้เช่นเจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์เนี้ย หาได้ยากที่สุดในโลกนี้
ท่านผู้นี้แหละ ท่านมีลูกศิษย์สององค์ องค์หนึ่งคือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสฺสมหาเถระ ตอนนี้มาแยกสายกัน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสฺสมหาเถระเป็นผู้ทำธุระในฝ่ายคันถธุระ แล้วลูกศิษย์อีกองค์หนึ่งคือพระเดชพระคุณหลวงปู่เสาร์ กันตฺสีโล หลวงปู่เสาร์ กันตฺสีโลนี่ทำหน้าที่เฉพาะฝ่ายปฏิบัติฝ่ายเดียว พระธุดงค์ในภาคอีสานที่ออกเดินธุดงค์ไปตามหัวเมืองน้อยเมืองใหญ่ ตามป่าตามชนบทเป็นองค์แรก เท่าที่รู้มาคือหลวงปู่เสาร์ กันตฺสีโล
หลังจากที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษูแล้วประมาณ ๖ พรรษา ก็มาได้ลูกศิษย์องค์สำคัญคือพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตนี่เป็นกำลังสำคัญ ถ้าจะเปรียบเทียบผู้สอนหนังสือ หลวงปู่เสาร์สอนได้เฉพาะแต่ระดับประถมและมัธยม แต่หลวงปู่มั่นสอนถึงระดับมหาวิทยาลัยจนถึงปริญญาเอก
ลูกศิษย์ทีแรกหลวงปู่มั่นมาเรียนกับหลวงปู่เสาร์ แต่บุญบารมีของหลวงปู่มั่นนั่น บุญวาสนาของท่านมีปฏิภาณรวดเร็ว การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าได้ดี แล้วลงผลสุดท้ายขั้นสมถะ พระอาจารย์เสาร์สอนพระอาจารย์มั่น ขั้นวิปัสสนานี่ พระอาจารย์มั่นย้อนกลับมาสอนพระอาจารย์เสาร์ อาจารย์กลับเป็นลูกศิษย์ ลูกศิษย์กลับเป็นอาจารย์ แต่ท่านก็ยังมีความเคารพต่อกันอย่างสุดซึ้ง ซึ่งหาความเคารพจากภิกษุสามเณรปัจจุบันนี้มีต่อครูบาอาจารย์นั่นจะเปรียบเทียบอย่างท่านไม่ได้เลย แม้ว่าท่านจะเก่งกว่าอาจารย์ในทางภูมิจิตภูมิธรรม ท่านก็ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่นอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่าน เคารพปรนนิบัติอยู่จนกระทั่งมรณภาพ ตายจากกันไป อันนี้คือจุดเริ่มของพระธุดงค์ของพระกรรมฐานในสายภาคอีสาน
อยู่มาภายหลังก็มาได้ลูกศิษย์คือพระอาจารย์มั่นเป็นกำลังสำคัญ มาภายหลังพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ไปเรียนหนังสืออยู่ที่วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี พอดีในพรรษานั้นพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่วัดบูรพาซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ไม่ทราบว่าพ.ศ.เท่าไหร่ ทีนี้พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล กับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโมนี่ เวลาว่างจากเรียนพระปริยัติธรรม ว่างจากการสอนหนังสือ เมื่อก่อนนี่โรงเรียนชั้นประถมนี่อยู่ในวัด พอตกตอนค่ำก็ไปเฝ้าพระอาจารย์มั่น ไปเรียนกรรมฐาน ไปฟังเทศน์ฟังธรรมพระอาจารย์มั่นในทางปฏิบัติสมาธิสมถะภาวนา แล้วมาปฏิบัติตาม เกิดผล จิตสงบเป็นสมาธิ มีสภาวะรู้ตื่นเบิกบาน มีปีติ มีความสุข ทั้งสองพระองค์ท่านก็เลยตัดสินใจเลิกเรียนปริยัติธรรม ติดตามพระอาจารย์มั่นเป็นลูกศิษย์ เดินธุดงค์ไปทั่วภาคอีสาน ไม่ทราบว่าเริ่มต้นแต่เมื่อไหร่
จำได้ว่าเคยไปกราบพระอาจารย์มั่น ในงานศพอาจารย์สอน ที่วัดบ้านหนองดินดำ ตอนนั้นอาตมาอายุเพียง ๘ ขวบ แต่ไม่ทราบว่าเป็นปีพ.ศ.เท่าไหร่ คงจะประมาณ ๗๑ ๗๒ อยู่ในระยะนี้ ทีนี้ในเมื่อได้หลวงปู่ดูลย์และพระอาจารย์สิงห์มาเป็นลูกศิษย์ พระอาจารย์สิงห์นี่ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าเป็นเสนาธิการทหารบก ทหารอากาศ ทหารเรือ เป็นกำลังในการเผยแพร่พระธรรมวินัยในสายพระธุดงคกรรมฐาน เริ่มจุดตั้งแต่จังหวัดสกลนคร นครพนม อุบลราชธานี จังหวัดเลย จนกระทั่งไปถึงเชียงใหม่ จนกระทั่งมีลูกศิษย์ลูกหาตั้งวัดตั้งวากันมากมายก่ายกอง เมื่อก่อนวัดคณะธรรมยุติในประเทศไทยมีเกือบจะไม่ถึงร้อยวัด แต่เวลานี้เรามีวัดคณะธรรมยุติมากมายก็เพราะเนื่องจากผลงานพระเถระทั้งหลายดังที่กล่าวมา
เมื่อสมัยที่เป็นสามเณรเด็กๆ ไปธุดงค์เดินตามหลังครูบาอาจารย์ห่มผ้าจีวรดำๆ ไปที่ไหนเพื่อนเค้าถุยน้ำลาย อาจารย์บางองค์ท่านไปธุดงค์ ท่านชอบเอาแม่ขาวแม่ชีเดินตามหลังไปด้วย เดินไปห่างๆ ทีนี้ชาวไร่ชาวนาเค้าไม่เคยเห็นพระแบกกลดตะพายบาตร แล้วเค้าก็ตะโกนถาม “เจ้าผู้เอ้ย จะพาลูกพาเมียไปสร้างบ้านสร้างเมืองที่ไหนหนอ” เค้าว่าอย่างนี้สิ ผ้าจีวรดำๆอย่างที่เห็นอยู่นี่ เมื่อก่อนนี่เดินไปที่ไหนเค้าถุยน้ำลาย แต่มาปัจจุบันนี้ผ้าจีวรดำนี้กลับมีราคา เสียดายที่อาตมาไม่ได้เอาจีวรผืนที่เคยห่มแล้วโดนเค้าด่า แล้วเค้าถุยน้ำลายไล่ เก็บไว้เป็นอนุสรณ์
เอาละ เอากันเพียงแค่นี้ พูดมากไปเดี๋ยวมันจะออกนอกลู่นอกทาง ก็เป็นอันว่าเราจะนับอันดับของพระธุดงคกรรมฐาน ซึ่งเป็นผู้นำในการเดินธุดงค์ในป่าในเขาเนี่ย อันดับหนึ่ง หลวงปู่เสาร์ อันดับสอง หลวงปู่มั่น อันดับสาม หลวงปู่สิงห์ อันดับสี่ หลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ฝั้น ทีนี้ครูบาอาจารย์ท่านว่า รุ่นของพวกอาตมานี้เป็นอันดับห้า แล้วก็ยังเป็นห่วงวิตกอยู่ที่ครูบาอาจารย์ท่านทักว่า ต่อไปนี้กรรมฐานถ้าหมดรุ่นพวกเธอแล้ว มันจะหมด อันนี้ขอฝากให้เพื่อนสหธรรมิกและญาติโยมทั้งหลายเอาไว้พิจารณา
เอาละวันนี้เรามาทำบุญอุทิศถวายพระบูรพาจารย์ บูรพาจารย์ได้ทราบแล้วว่าบูรพาจารย์ของเราเป็นนักปฏิบัติกรรมฐาน ปฏิบัติกรรมฐานก็คือนั่งสมาธิภาวนานั่นเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระบูรพาจารย์ของเรา อาตมาจึงขอเชิญท่านทั้งหลายเตรียมนั่งสมาธิ
การสอนสมาธิภาวนาตามแบบฉบับของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น ท่านให้เริ่มต้นด้วยการภาวนาพุทโธ เคยได้ยินหลวงปู่เสาร์เมื่อมีคนมาถาม หลวงปู่เสาร์นั่นเค้าเรียกว่าญาท่าน ญาท่านนี่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่เขาเคารพนับถือ เวลาผู้สนใจในการปฏิบัติสมาธิภาวนาเค้าจะไปถามว่า “ญาท่าน อยากจะภาวนา ทำอย่างไร” “พุทโธซี่ ภาวนาพุทโธแล้วมันจะได้อะไรดีขึ้น อย่าถาม พุทโธแปลว่าอะไร ถามไปทำไม ฉันให้ภาวนาพุทโธ” แค่นี้เป็นอันจบการเทศน์หลวงปู่เสาร์
ทีนี้เมื่อเราหัดภาวนาเป็นหน่อย ปัญหามันก็เกิดขึ้นว่าทำไมหลวงปู่เสาร์จึงสอนให้ภาวนาพุทโธ ก็มาได้ความว่า พุทโธแปลว่าผู้รู้ ผู้รู้นี่เป็นภาษาภาคกลาง แต่ภาษาอีสานเค้าเรียกว่า ผู้ฮู่ ผู้ฮู่นี่คือผู้ไม่ดื้อ ผู้เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ยึดมั่นในคุณพระรัตนตรัย คือคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่สรณะอย่างเหนียวแน่น
แล้วก็สำรวมละบาปกรรมตามกฏของศีล ๕ ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก ไม่อิจฉาตาร้อน กายวาจาสงบท่านเรียกว่าผู้ฮู่ คือผู้ไม่ดื้อ ทีนี้ภาษาภาคกลางเค้าว่าผู้รู้ ผู้รู้ก็คือผู้รู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เมื่อมีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีก็กลายเป็นผู้ไม่ดื้อนั่นเอง เพราะฉะนั้นหลักการปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้ไม่ดื้อนี่เราจะทำอย่างไร ขอให้พิจารณาหลักห้าประการคือศีล ๕ ที่ได้สมาทานมาแล้ว นั่นแหละคือกฏเกณฑ์ที่ฝึกอบรมจิตใจของเราไม่ให้เป็นผู้ดื้อ
ทีนี้เมื่อกายก็ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ดื่มน้ำดองของเมา วาจาก็ไม่โกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ไม่พูดยุยงส่งเสริมให้ใครต่อใครเค้าแตกสามัคคีกัน ในเมื่อเราปฏิบัติได้เราก็เป็นผู้รู้ คือเป็นผู้ฮู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นเหตุผลที่พระอาจารย์เสาร์ให้ภาวนาพุทโธก็เข้าใจว่าจะเป็นอย่างนี้ ทีนี้พุทโธแปลว่าผู้รู้ แปลว่าผู้ตื่น แปลว่าผู้เบิกบาน รู้ด้วยความมีสติสัมปะชัญญะ ตื่นอยู่ด้วยความมีสติสัมปะชัญญะ เบิกบานอยู่ด้วยความมีสติสัมปะชัญญะ
เมื่อทุกคนมีสติสัมปะชัญญะเตรียมพร้อมอยู่ที่จิตตลอดเวลา สติวินโย สติเป็นผู้นำ ผู้ที่มีสติเป็นผู้นำย่อมเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เมื่อทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งพระธรรม คือพระธรรมที่ทำจิตของเราให้เป็นพุทธะผู้รู้นั่นเอง เมื่อทรงไว้ซึ่งพระธรรมโดยธรรมชาติของผู้ที่มีคุณธรรมในจิตในใจ มีสติสัมปะชัญญะเตรียมพร้อม เขาจะต้องตั้งใจให้แน่วแน่อยู่เสมอว่า ฉันจะละความชั่ว ประพฤติความดี ทำใจให้บริสุทธิ์สะอาดอยู่เสมอ นี่คือเหตุผลที่พระอาจารย์เสาร์สอนให้ภาวนาพุทโธ
ทีนี้ในเมื่อเรามีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีสติเป็นผู้นำ ถ้าหากว่าใครจะสงสัยต่อไปอีกว่า ภาวนาอย่างอื่นได้มั้ย ได้ ได้เหมือนกัน หลักของการภาวนาอยู่ที่ การทำจิตให้มีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก จะเป็นอะไรก็ได้ ไม่เฉพาะแต่ที่เราจะมาเถียงกัน พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนออยู่นี่ เสียเวลาเปล่าๆ ถ้าจะถามว่าภาวนาพุทโธดีมั้ย ยุบหนอพองหนอดีมั้ย สัมมาอรหังดีมั้ย พระองค์นี้ขอตอบว่าดีหมด ที่ดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่การสงสัยข้องใจ การลังเล การติด ตัดสินใจไม่แน่ และการทำไม่ถึง พอภาวนาพุทโธๆๆๆไป ว้า! มันจะได้มั้ยน้อ สำเร็จมั้ยน้อ อาจารย์องค์นั้นท่านว่าพุทโธนี่ได้แต่สมถะ ไม่ถึงวิปัสสนาเด้ เราภาวนาพุทโธไปนี่จะไม่เสียเวลาหรือ อ้าว ถ้ามาสงสัยอย่างนี้ จ้างสิ ต่อให้อายุยืนแปดหมื่นปี มาภาวนาด้วยความข้องใจสงสัย ท่านจะไม่บรรลุผลสำเร็จอะไรเลย
อาตมาขอบอกว่าภาวนาพุทโธก็ดี สัมมาอรหังก็ดี ยุบหนอพองดีก็ดี ขอให้เอาจริงซะอย่าง ถ้าไม่เอาจริงแล้วทำด้วยความข้องใจสงสัยรวนเรอยู่อย่างนี้ ต่อให้มีอายุยืนตั้งแปดหมื่นปี ภาวนาไปเถอะ ไม่มีทางได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงขอเตือนว่า ใครจะท่องคำไหนเป็นคำภาวนา เอาให้มันแน่วแน่ ไม่เฉพาะแต่ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง พุทโธดอกพี่น้องเอ๋ย ขนาดทำภาวนา เยซูๆๆๆ ก็ยังสามารถทำจิตให้สงบนิ่งสว่างรู้ตื่นเบิกบานได้
ทีนี้ผู้ขี้เกียจท่องภาวนาหน่อย กำหนดสติรู้จิตของตนเองเฉยอยู่ ถ้าจิตมันนิ่งอยู่ปล่อยให้มันนิ่งไป ถ้ามันคิดปล่อยให้คิดไป ถ้ามันว่างปล่อยให้มันว่างไป เราเอาสติตัวเดียวเป็นที่ตั้ง สติกำหนดรู้จิตเรียกว่าอะไร ในหลักกรรมฐานเรียกว่าอะไร สติกำหนดรู้จิตในหลักกรรมฐาน เรียกว่าจิตตานุปัสสนา การกำหนดสติตามรู้จิต ถ้าจิตนิ่งก็รู้ จิตคิดก็รู้ จิตเดือดร้อนวุ่นวายก็รู้ จิตสงบสุขสบายก็รู้ เมื่อเรามีสติกำหนดจิตแล้วเรารู้หมดทุกอย่างภายในจิตของเรา แล้วปฏิบัติแบบนี้ก็สามารถที่จะทำให้ได้สมาธิรู้ธรรมเห็นธรรม
เพราะฉะนั้นพี่น้องทั้งหลายเอ๋ย เรื่องหลักและวิธีการภาวนา นี่ เลิกเถียงกันเสียเถิด สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนที่พระองค์แสวงหาโมกขธรรม แสวงหาทางตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นั่น ก่อนหน้านั่นคำว่าพุทโธก็ไม่มี สัมมาอรหังก็ไม่มี ยุบหนอพองหนอก็ไม่มี แล้วพระองค์เอาอะไรมาเป็นอารมณ์ท่องภาวนากรรมฐาน ลองคิดให้ดูซิ พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าแต่พระองค์เดียว เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เกิด สมเด็จองค์ชายสิทธัตถะเอาอะไร คำใดมาท่อง ลองคิดดู เข้าใจว่าพระองค์จะจนปัญญาเหมือนกัน เพราะว่าพระองค์ไปภาวนาท่องมนต์ในสำนักฤาษีมาหมดทุกสำนักแล้วในประเทศอินเดีย ไปที่ไหนก็ให้ท่องแต่มนต์ๆ พอไปนั่งภาวนาเข้า โอมมมม พระศิวะ โอมมมม พระโน่น พระนี่ พระพรหมอะไรต่อมิอะไร แล้วทีนี้ไปภาวนาแบบท่องมนต์นั่น จิตของพระองค์ก็สงบได้สมาธิ ได้สมาบัติ แต่มันไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้ ทีนี้ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพระองค์ท่องมาหมดแล้ว พอพิจารณาเห็นว่าลัทธิการปฏิบัติของท่านทั้งหลายเหล่านั้นมันไม่ใช่ทางที่จะให้ตรัสรู้ (เทปขาดตอน)
…สมัยโน้นที่พระองค์ประสูติจากพระครรภ์จากพระมารดาไม่กี่วัน พระบิดาทำพิธีแรกนาขวัญ พระพี่เลี้ยงนางนมผูกพระอู่ให้บรรทมอยู่ใต้ต้นหว้า ในขณะที่ชาวบ้านเขาพากันสนุกเพลิดเพลินเกี่ยวกับพิธีการแรกนาขวัญ เขาทั้งหลายก็ทอดทิ้งให้พระองค์ทรงบรรทมอยู่ใต้ร่มหว้า ในพระอู่ใต้ร่มหว้าแต่พระองค์เดียว
และในขณะนั้นแหละพระวิสัยของพระสัพพัญญูทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเอง สมาธิพระองค์เคยปฏิบัติมาแล้วตั้งแต่ชาติปางก่อน ทารกตัวเล็กๆนอนอยู่ในอู่ สามารถภาวนาเป็น พระองค์กำหนดพระสติรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก นัยว่าได้บรรลุปฐมฌาณ ผู้ภาวนาได้ปฐมฌาณนี่มันเป็นอย่างไร จิตสงบนิ่งรู้อยู่กับลมหายใจ การที่จิตสงบนิ่งรู้อยู่ที่ลมหายใจ ไม่ทอดทิ้งลมหายใจ ลมหายใจไม่ได้ผละจากจิต จิตไม่ได้ผละจากลมหายใจ อารมณ์กับจิตกลมกลืนกัน สัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน อันนี้เรียกว่า วิตก พระสติสัมปะชัญญะที่ประคับประคองจิตให้รู้อยู่ที่ลมหายใจเรียกว่า วิจาร
เมื่อสมาธิมี วิตก วิจาร สมาธิมีอารมณ์เป็นสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก ย่อมสามารถที่จะทำให้จิตมีพลังงานเพิ่มขึ้น คือความมั่นคงได้แก่สมาธิ สติสัมปะชัญญะแน่วแน่ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง จิตรู้อยู่ที่ลมหายใจ นี่พอพระองค์มาทรงรำลึกถึงในตอนนี้ พระองค์ก็พบต้นอ้อทันที อ๋อ มันอยู่ที่ตรงนี้เอง พระองค์ก็ตีความหมายว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อจะให้บรรลุมรรคผลนิพพานกันจริงๆนี่ ต้องพยายามศึกษาให้รู้ธรรมชาติและกฏธรรมชาติ ธรรมชาติคือกายกับใจของเรา หรือกายกับจิต จิตกับกาย ธรรมชาติของกายย่อมหายใจ มีลมหายใจเท่านั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ถ้าหยุดหายใจเมื่อไหร่ ตาย ลมหายใจที่ว่าเป็นธรรมชาติก็เพราะว่าเราตั้งใจก็หายใจอยู่ ไม่ตั้งใจก็หายใจอยู่ นอนหลับแล้วก็ยังหายใจ จึงชื่อว่าเป็นธรรมชาติของร่างกาย
ส่วนจิตนี่ เราจะต้ังใจคิด ก็คิด ไม่ได้ตั้งใจคิด ก็คิด แม้แต่นอนหลับแล้วยังคิดคือต้องฝันไป อันนี้คือธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในกายกับใจของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นในเมื่อพระองค์นึกหาคำใดที่จะมาท่องคำบริกรรมภาวนา หรือท่องมนต์ ไม่มี มันจนใจจริงๆก็เลยทรงกำหนดพระสติรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกเฉยอยู่เท่านั้น ทีนี้เมื่อพระองค์มีสติกำหนดรู้ลมหายใจ จิตของพระองค์สงบละเอียดๆลงไปเรื่อย
ในที่สุดวิ่งเข้าไปสงบสว่างอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย ทำให้พระองค์มองเห็นอวัยวะภายในกายนี่ทั่วหมดภายในขณะจิตเดียว ซึ่งเรียกว่ารู้อาการ ๓๒ พระสูตรที่เราสวดทำวัตร สวดมนต์กันอยู่ทุกวันนี้
อะยัง โข เมกาโย
อุทธัง ปาทะตะลา
อะโธ เกสะมัตถะกา
ตะจะปะริยันโต
ปุโรนานัปปะการัสสะ อะสุจิโน
เกิดขึ้นก่อนการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์กำหนดรู้ลมหายใจ จิตตามลมหายใจเข้ามาสงบนิ่งสว่างในท่ามกลางของร่างกาย แผ่รัศมีสว่างไสวมาครอบคลุมกายหมด ถ้ามองๆดูอย่างตาเราธรรมดานี่ เราจะตกใจว่า โอ้ ไฟลุกไหม้พระ! เพราะมันแสงสว่างมันออกมารอบกาย ถ้าเราเห็นอย่างธรรมดา เราจะตกใจ โอ้ย! ไฟไหม้พระตายแล้ว ประเดี๋ยวก็วิ่งหาน้ำไปดับ อันนั้นคือรัศมีของจิตของพระองค์ที่พุ่งออกมารอบกาย
เมื่อจิตไปสงบนิ่งอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย จิตสงบละเอียดๆลงไปทีละน้อย ละน้อย และในที่สุดร่างกายหายขาดไปปุ๊บ ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวนิ่งสว่างไสวลอยเด่นอยู่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเด้ เป็นแต่เพียงว่าจิตเข้าไปอยู่ในฌาณขั้นที่ ๔ เรียกว่าจตุตฌาณ พอไปถึงฌาณขั้นที่ ๔ แทนที่จะไปอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ตามคัมภีร์ของพวกพราหมณ์ พอขยับจะออกจากฌาณขั้นที่ ๔ จิตของพระองค์วกเข้าไปเข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งเรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ
สัญญาเวทยิตนิโรธนี่แหละเป็นฐานสร้างพลังงานเพื่อกระโดดเข้าไปสู่ภูมิธรรมขั้นโลกุตตระ พระเข้านิโรธนี่มันเป็นอย่างไร จิตอยู่ในนิโรธสมาบัติมันเป็นจิตเล็กนิดเดียว แทบจะไม่รู้สึกตัว แต่มันก็ยังมีอยู่ ทีนี้ในเมื่อจิตของพระองค์มีพลังพร้อม แล้วก็เบ่งบานออกมาอีกทีหนึ่ง แผ่รัศมีครอบคลุมจักรวาลทั้งหมด ไม่มีอะไรจะปิดบังดวงจิตของพระองค์ได้ ทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็น โลกะวิทู คือว่าในขณะจิตเดียวนั่นน่ะ จิตลอยเด่นสว่าง มองลงไปสุดโน่น เห็นนรกอยู่โน่น เอ้า มามองสำรวจดูกลางๆ โอ้! นี่มีแต่มนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน มองขึ้นเหนือหัวไปโน่น เห็นแต่เทวดาเต็มไปหมดเลย อันนี้เรียกว่าตรัสรู้เป็นโลกะวิทูผู้รู้แจ้งโลก คือรู้โลกนรก โลกภูติผีปีศาจ โลกเปรต โลกอสุรกาย แล้วก็มาโลกมนุษย์ แล้วก็โลกเทวดา อินทร์ พรหมทั้งหลาย เต็มไปหมด รู้ในขณะจิตเดียว
และในขณะจิตเดียวนั้นแหละ พระองค์ก็สามารถรู้ในทีว่า สัตว์ทั้งหลายนี่มันมีประเภทต่างๆกัน สิ่งที่มีชีวิตมีกายกับใจเนี่ย เอ้า พอมองลงมา ทำไมหมอนี่มันสองขาวะ เอ้ย ทำไมหมอนั่น ทำไมมันสี่ขาวะ มีหางด้วย หมอนั่นทำไมมันไม่มีแข้งมีขา มันเลื้อยไปตามพื้นดิน อันนี้มันเป็นไปเพราะอะไร จิตของพระองค์รู้อยู่ในทีว่ากฏของกรรม แล้วก็สามารถรู้ต่อไปอีกว่า ทำไมสัตว์ทั้งหลายมันจึงทำกรรมต่างๆกัน แล้วไปเกิดในภพภูมิต่างๆกัน เพราะอาศัยอวิชชาคือความรู้ไม่จริง ธรรมดาที่เรารู้ไม่จริงเนี่ย เราจะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เราเข้าใจว่ามันถูกต้อง แต่สิ่งที่เราเข้าใจว่ามันถูกต้องนั่นแหละแต่มันผิดศีลธรรมตามหลักของธรรมชาติ ในเมื่อทำลงไปแล้วมันก็ได้รับผลของกรรม รับผลของกรรมแล้วก็เกิดอีก เกิดอีกก็มาอาศัยกิเลสตัวเก่านั่นแหละ ทำกรรมแล้วทำกรรมอีก เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่รู้จักจบจักสิ้น
เรื่องบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ พระองค์ตรัสรู้ในขณะจิตเดียวตั้งแต่ปฐมยาม แล้วก็ตรัสรู้ในขณะที่จิตอยู่ในสมถกรรมฐาน จิตอยู่ในสมถกรรมฐานนี่ท่านเคยเจอหรือยัง ท่านนักภาวนาทั้งหลาย จิตอยู่ในสมถกรรมฐานขั้นสูงสุด จิตมันไปอยู่ตรงที่ร่างกายตัวตนไม่มี ถ้าจิตของท่านผู้ใดเดินเข้าไปสู่ภูมิสมถกรรมฐานอย่างแท้จริง จะรู้ว่ามีแต่จิตของตัวเองดวงเดียวเท่านั้น สว่างไสวอยู่เหนือจักรวาล จะมีความรู้สึกคล้ายๆว่าในจักรวาลนี้มีแต่จิตเราดวงเดียวเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมันหายหมด อันนี้เรียกว่าสมาธิขั้นสมถะอันสูงสุด
เพราะฉะนั้นพี่น้องทั้งหลาย ใครอย่ามาบังอาจกล่าวนะว่าสมาธิขั้นสมถะไม่เกิดภูมิความรู้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในขณะที่จิตอยู่ในสมถกรรมฐานแท้ๆ แต่ความรู้ความเห็นในภูมิของสมถกรรมฐานนี่ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น รู้เห็นเฉยๆ แต่พูดไม่เป็น เหมือนคนใบ้ ทำไมจึงคิดหรือพูดไม่เป็น เพราะว่าในขณะนั้นร่างกายไม่มี มีแต่จิตอันเป็นนามธรรมอย่างเดียว จิตนี่มีแต่ตัวจิตอย่างเดียว สามารถรู้เห็นได้แต่คิดไม่เป็น เพราะไม่มีเครื่องมือ เครื่องมือที่จะช่วยให้เราเกิดความคิดนี่มันอยู่ที่ประสาทสมองนี่ โยมทั้งหลาย
ทีนี้เมื่อจิตของพระองค์ไปตรัสรู้เป็นโลกะวิทูแล้ว เมื่อย้อนกลับมาสัมพันธ์กับร่างกายอีกครั้งหนึ่ง พอรู้สึกว่ามีกายเท่านั้น จิตดวงนี้จึงได้ปฏิวัติตัวไปพิจารณาทบทวนสิ่งที่รู้เห็นซ้ำเติมอีกทีหนึ่ง เรียกว่าเจริญวิปัสสนา พระองค์พิจารณาเรื่องบุพเพนิวาสานุสติญาณเนี่ย คือการระลึกชาติหนหลังได้ คือระลึกได้ว่าชาติก่อนที่เราจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้านี่ เราเป็นพระเวสสันดร ก่อนจะมาเกิดเป็นพระเวสสันดร เป็นวิธูรบัณฑิตหรือเป็นมโหสถบัณฑิตตามลำดับที่พระองค์ได้เวียนว่ายตายเกิดมา อันนี้เรียกว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณระลึกชาติหนหลังได้ พระองค์พิจารณาทบทวนแล้วมันจบลงในปฐมยาม
ทีนี้พอพิจารณาเรื่องบุพเพนิวาสานุสติญาณจบลงในปฐมยาม ก็มาพิจารณาเรื่องการจุติและเกิดของสัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกฏของกรรม จบลงในมัชฌิมยาม ไอ้คำภาษิตที่ว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่างๆกัน เกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยนั้น เมื่อพระองค์พิจารณาเรื่องนี้จบลงไปแล้ว ก็มาพิจารณากิเลสอันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายต้องทำกรรม คืออวิชชา ความรู้ไม่จริง ทีนี้พระเจ้าผู้สร้างมนุษย์นี่คืออวิชชาความรู้ไม่จริง กิเลสตัวนี้แหละเป็นผู้สร้างมนุษย์ กิเลสตัวนี้แหละเป็นผู้สร้างสัตว์ กิเลสตัวนี้แหละเป็นผู้สร้างภูตผีปีศาจ เปรต อสุรกาย เพราะอาศัยความรู้ไม่จริง มันจึงทำกรรมไปตามที่ตนชอบใจ เมื่อทำไปตามที่ตนชอบใจแล้ว มันก็ได้รับผลของกรรม ได้รับผลกรรมแล้วก็บังเกิด บังเกิดในภพภูมิต่างๆกัน
เพราะฉะนั้นพระองค์จึงมีคำเทศน์ว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้มีประเภทต่างๆกัน อันนี้พระองค์พิจารณาจบลงในปัจฉิมยาม ในเมื่อพิจารณาจบลงไปแล้ว จิตยอมรับสภาพความจริง อรหัตตมัคคญาณจึงบังเกิดขึ้น แล้วก็ตัดกิเลสอาสวะขาดสะบั้นไปในปัจฉิมยาม คือจวนใกล้รุ่ง จึงได้พระนามว่า อรหังสัมมา สัมพุทโธ ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ที่เราเอามาเป็นคำไหว้พระอยู่ทุกวันนี้ อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา มันเกิดขึ้นตอนพระพุทธองค์ตรัสรู้ ทีนี้การตรัสรู้ของพระองค์เนี่ย
การตรัสรู้นี่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะกิเลสยังไม่หมด พระองค์ตรัสรู้ตั้งแต่หัวค่ำ แต่มาเป็นอรหันต์ในเมื่อจวนสว่าง ญาติโยมทั้งหลาย ความแตกต่างของศาสนาอยู่ที่กฏหรือระเบียบที่ศาสดาแต่ละองค์บัญญัติขึ้นตามที่ตนเห็นว่าถูกต้อง แต่การตรัสรู้ของแต่ละศาสดานี่ต่างกัน บางศาสดานอนหลับ หรือเกิดเหตุบังเอิญ แล้วมีคนหลงเชื่อ วิ่งไล่ตามหลัง ขอเป็นบริวาร เมื่อมีบริวารมากก็ตั้งเป็นศาสนา ทีนี้ภายหลังก็อาศัยความคิดอ่านของตัวเองหรือสังคมที่เขาชอบใจ สิ่งใดที่สังคมเค้าชอบใจก็บัญญัติเป็นระเบียบหรือเป็นกฏเกณฑ์ขึ้นมา คล้ายๆกับว่านอนหลับฝันไป ตื่นขึ้นแล้วก็มาเผยแพร่ศาสนา แต่ศาสนาของพระพุทธเจ้าของเราเนี่ย มันเกิดจากเรี่ยวแรงของวีรบุรุษที่ยอดเยี่ยมในโลก ท่านทั้งหลายที่เคยได้ศึกษาเรื่องพุทธประวัติมาแล้วย่อมทราบดีว่าพระองค์เนี่ยสร้างบารมีมาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม หรือเพื่อการตรัสรู้เพื่อนำธรรมะมาสอนพวกเราทั้งหลาย นี่มันลำบากยากเย็นเพียงแค่ไหน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระองค์นำมาสอนเรานี่ที่ว่าฆ่าสัตว์เป็นบาป พระองค์เคยฆ่าสัตว์แล้วไปตกนรกมาแล้ว อาศัยที่พระองค์รู้ชาติในอดีต พระองค์ไปเกิดเป็นโน่นเป็นนี่เพราะกรรมอะไร พระองค์ก็รู้มาแล้ว จึงได้ว่าลองของมาทุกอย่างแล้ว แล้วก็เอาความจริงที่พระองค์ได้รู้นั่นแหละมาสอนพวกเรา ดังนั้นธรรมะคำสั่งสอนเนี่ย แบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทหนึ่ง ธรรมะเป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติของพระพุทธเจ้า ได้แก่กายกับใจมนุษย์ สถานการณ์และสิ่งแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ตั้งแต่มวลสารที่เล็กที่สุด ตั้งแต่อณู ปรมาณู ตลอดทั้งสิ่งที่เกาะกลุ่มเป็นก้อนใหญ่โต นี่คือธรรมชาติ ได้แก่ดิน ฟ้า อากาศ ต้นไม้ ภูเขา รถเรือนและสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ อันนี้เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติอันนี้เป็นอารมณ์จิตของผู้ปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เนี่ย คือรู้ความจริงของสิ่งเหล่านี้ว่าสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ในจักรวาลนี้ แล้วก็รู้กฏธรรมชาติของสิ่งที่มีอยู่ในจักรวาลนี้
กฏความจริงของทุกสิ่งที่มีอยู่ในจักรวาลนี้คืออะไร คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่เป็นตัวของตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่เสมอ เกิดขึ้น ทรงอยู่ สลายตัว เกิดขึ้น ทรงอยู่ สลายตัว สภาวธรรมทั้งหลายเค้าเป็นไปตามกฏธรรมชาติของเค้า แล้วทำไม๊ เราเป็นมนุษย์จึงจะต้องไปเดือดร้อน
ที่ไปเดือดร้อนก็ไม่ใช่อะไรหรอกญาติโยม มนุษย์เรานี่มันทนงตัว ทนงตัวว่าตัวเป็นผู้มีใจสูง ในเมื่อทนงตัวว่าเป็นผู้มีใจสูงแล้วมันก็ ก็สำคัญว่าตัวเป็นผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ แล้วก็ใช้จิตของตนเองนี่ไปเกี่ยวข้อง จะไปบังคับสิ่งที่ไม่เป็นไปได้ตามความต้องการ เช่นทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะมี มันก็มี มันจะเป็น มันก็เป็น เวลามันตั้งขึ้นอยู่แล้ว มันทรงอยู่แล้ว มันก็สลายตัว ในเมื่อเราเกิดไม่ชอบขึ้นมาแล้วก็จะบังคับมันให้มันเป็นไปตามใจของเรา ทีนี้เราบังอาจไปบังคับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามใจของเราได้เนี่ย พอมันขัดใจเราปั๊บ เราก็เกิดโทมนัสน้อยใจ เกิดเสียใจแล้วก็เกิดทุกข์ นี่สาเหตุมันเป็นอย่างนี้
ทีนี้ทุกข์ตัวที่เป็นไปตามกฏธรรมชาตินั้น เรียกว่าทุกข์ในพระไตรลักษณ์ แต่ทุกข์ที่มนุษย์อวดดี เอาอำนาจของตนเองไปขัดสิ่งที่มันจะเป็นไปไม่ได้ แล้วตัวเองก็เป็นทุกข์ ทุกข์ตัวนี้คือทุกข์ใจ ทุกข์ใจนี่เรียกว่าทุกขอริยสัจ อย่าไปเข้าใจกันสับสนนะ
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ทรงอยู่ สลายตัว เกิดขึ้น ทรงอยู่ สลายตัว นี่กิริยาแห่งความทุกข์ สิ่งนี้แหละ มันเป็นทุกข์ของกฏธรรมชาติ แล้วมนุษย์ทั้งหลายจะไปห้ามสิ่งนี้แหละ จะไม่ให้มันเป็นไปในทางที่ตัวไม่ชอบ จะให้มันเป็นไปในทางที่ตัวชอบ แต่เสร็จแล้วมันหาได้แยแสต่ออำนาจของเราไม่ ในเมื่อเราอยากไปแหย่มันเข้า มันขัดใจเรา เราก็เกิดโทมนัสน้อยใจแล้วก็เกิดทุกข์ ลูกเต้าลูกหลานเกิดมากำลังน่ารักน่าใคร่ อยู่ๆมันก็ล้มหายตายจากไป ทีนี้พอเราไปยึดว่าลูกเราหลานเรา เราก็เสียใจ ในเมื่อเสียใจแล้วเราก็เกิดทุกข์ แต่ไอ้หนูน้อยน่ะมันไปไหน มันก็ไปตามกฏของกรรมหละสิ มันมาทวงหนี้เรานิดหน่อย พอได้หนี้มันแล้วมันก็หนีไป
พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย ใครเป็นพ่อเป็นแม่ ใครๆก็อยากได้ลูกได้เต้า ลูกเต้าที่มาเกิดกับเรานี่แหละคือเจ้าหนี้เราหละ เราสร้างกรรม สร้างเวรต่อเนื่องกันมา เช่นอย่างลูกหลานบางคนนี่มาเกิดแล้ว มาเจ็บกระเสาะกระแสะออดๆแอดๆ เลี้ยงยาก เสียแต่เงินแต่ทอง นั่นแหละเจ้าหนี้รายใหญ่ของเรา มันมีอย่างนี้เด้อ
เคยได้ยินจำคำเทศน์หลวงตาเพ็งได้หรือเปล่า หลวงตาเพ็งเทศน์ว่ามีเด็กน้อยคนหนึ่งมันมาเกิดกับพ่อกับแม่มัน พอมันอายุห้าขวบ มันเห็นชาวบ้านเค้าเป่าแคนมันก็อยากเป่ามั่ง มันขอเงินพ่อบาทนึง พ่อมันไม่ให้ พ่อมันบอกว่าเจ้ายังไม่ใหญ่ไม่โต อย่าเพิ่งเป่าเลย อยู่มาภายหลัง อายุมันได้สิบห้าปี มันขออีกทีนึง พ่อมันก็บอกว่ายังไม่ใหญ่เต็มที่อย่าเพิ่งเป่า มันเกิดตรอมใจตาย
พอตายไปแล้ว มันก็ไปอยู่กับแม่ มันอยู่ในเมืองผี แล้วมันไปเล่าให้แม่มันฟังว่าอีตาเนี่ย หมอเนี่ยมันใจโหดเหี้ยม มันเป็นหนี้เราบาทเดียว เราไปทวงมัน มันไม่ให้เลย เจอมันที่ไหนจะฆ่ามันทิ้ง พอเสร็จแล้วภายหลังมานี่ เจ้าพ่อนี่โอดครวญคิดถึงลูกถึงเต้า โศกเศร้าเสียใจ
อยู่มาวันหนึ่ง ตาผ้าขาวคนหนึ่งไม่ทราบว่ามาจากไหน มาถามว่า “เจ้าอยากเห็นลูกเจ้าเหรอ” “อยากเห็น” “เอ้า ถ้าอย่างนั้นหลับตาซะ ข้าจะพาไป” พอหลับตาปั๊บ ก็ไปถึงเมืองผี พอไปก็ไปเจอแม่มัน แต่ไอ้หนูน้อยมันหนีออกไปธุระข้างนอก พอไปถามหาไอ้เจ้าลูกชายที่มาเกิดกับเราเนี่ย แม่มันก็บอกว่า “โอ้ย ไอ้นี่มันใจโหดเหี้ยมนะ มันว่าเจ้าเป็นหนี้มันบาทเดียว มันไปทวง เจ้าไม่ให้มัน มันเจอเจ้าที่ไหนมันจะฆ่าเจ้าแหละ เดี๋ยวมันก็จะกลับมาแล้ว มันไปธุระข้างนอก เจ้าไปอยู่ในสุ่มขังไก่ไป๊” เค้าก็เอาสุ่มขังไก่นี่ครอบเอาไว้ ซักพักหนี่งไอ้หนูน้อยมันก็มา แม่มันก็บอกว่า พ่อเจ้าในเมืองมนุษย์มาเยี่ยม “เอ้อ ไหนหละ มันอยู่ไหนหละ จะฆ่ามันทิ้ง ไอ้นี่มันใจโหดเหี้ยม เป็นหนี้แล้วไปทวงมันแล้วไม่ให้เลย” อ้อ พ่อก็ได้ยินกับหู พอกลับมาแล้ว โอ้ เพราะมันเป็นอย่างนี้เนาะ ซักพักหนึ่งก็หนีไป อีตาผ้าขาวก็มา “ไป กลับบ้านเราเถอะ” หลับตาแพล็บเดียวก็ถึงบ้าน
อันนี้การเทศน์หลวงตาเพ็งเทศน์ให้ฟัง จำมาเล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้นลูกเต้าทั้งหลายที่มาเกิดกับเรานี่คือเจ้าหนี้รายใหญ่ของเราหละ เพราะฉะนั้นใครๆก็ตาม ในเมื่อเค้ามาเกิดกับเราแล้ว ดีมันก็คือของเรา ไม่ดีมันก็คือของเรา ประคับประคองมันไป ใครมีครอบครัวไปด่าภรรยาว่าไม่ดี ตัวเองนั่นแหละไม่ดี อยากเอาคนไม่ดีมาเป็นเมีย ภรรยาคนใดด่าสามีว่าไม่ดี ตัวเองนั้นน่ะไม่ดี อยากจะเอาคนไม่ดีมาเป็นสามีตัวเอง เพราะฉะนั้นในเมื่อเรามาร่วมสุขร่วมทุกข์กันแล้ว เราก็ต้องประคับประคองกัน ดีก็ของเรา ชั่วก็ของเรา ไม่ใช่ว่าจะเก็บเอาแต่สิ่งดีโดยไม่ประคับประคองกัน ทำอะไรผิดพลาดนิดหน่อยก็ไล่หนีตีส่ง อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นหลักที่เราควรจะยึดถือ พระพุทธเจ้าสอนให้สร้างความรัก ความเมตตาปราณีต่อกัน มีอะไรเป็นหลักฐาน มีศีล ๕ ข้อ พระองค์จะสั่งว่าอย่าฆ่ากันนะ อย่าเบียดเบียนกัน อย่าข่มเหงกัน อย่ารังแกกัน อย่าอิจฉาตาร้อนกัน ให้ทุกคนนึกเสมอว่า ขอเพื่อนมนุษย์เราจงมีความสุขกายสุขใจ อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงมีสุขรักษาตนให้พ้นภัยทั้งปวงเถิด อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
ทีนี้เราจะเอาดีอย่างพระพุทธเจ้า จะเอายังไง เราก็เอาอย่างนี้สิ พระพุทธเจ้าฆ่าไม่เป็น เราอย่าไปฆ่า พระพุทธเจ้าลักขโมยฉ้อโกงไม่เป็น เราอย่าไปทำ พระพุทธเจ้าไม่ไปขโมยลูก ขโมยเมียใคร ขโมยไม่เป็น เราก็อย่าไปทำสิ พระพุทธเจ้าโกหกหลอกลวงใครไม่เป็น เราอย่าไปโกหกหลอกลวง พระพุทธเจ้าไม่อิจฉาตาร้อนใคร เราก็เอาอย่างท่านสิ ถ้าเราจะเอาดีกับท่าน ในเมื่อเราเป็นศิษย์ของครูที่ไม่เชื่อฟังครู เราจะเอาดีได้อย่างไร
อันนี้ขอฝากญาติโยมทั้งหลายไปคิดดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ วิกฤตการณ์ของพระศาสนาเนี่ยมีอันเปลี่ยนแปลงไปทุกระยะ เพราะฉะนั้นจุดยืนของชาวพุทธ อยู่ที่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ทางปฏิบัติบทสวดมนต์ อิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน เจริญพรหมวิหารแผ่เมตตา ภาวนาพุทโธ ให้พุทโธเข้าถึงจิต อันนี้เป็นจุดยืนของชาวพุทธ ใครจะว่าอย่างไร เราเอาอันนี้ไว้ก่อน ถ้าหากว่ามีใครเค้ามาว่าภาวนาพุทโธไม่ดี อย่างนั้นจึงดี อย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี เราอย่าไปเชื่อคนภาวนาไม่เป็น ถ้าคนภาวนาเป็นแล้วจะเอาคำไหนมาบริกรรมภาวนา จิตเป็นสมาธิได้ทั้งนั้น
หลวงพ่อได้ทดสอบมาแล้วที่วัดวะภูแก้ว นักเรียนฝ่ายหนึ่งเป็นชาวคริสต์ ฝ่ายหนึ่งเป็นชาวพุทธ ชาวคริสต์ให้มันภาวนา เยซู ชาวพุทธภาวนา พุทโธ แต่ทั้งสองฝ่ายจิตสงบนิ่ง สว่าง รู้ตื่นเบิกบานเหมือนกัน คือจิตมันได้สมาธิ เพราะสมาธิมีหนึ่งเดียวเป็นสัจธรรม มันจะต่างกันแต่วิธีการกับคำบริกรรมภาวนา หรืออารมณ์จิตเท่านั้น เมื่อเราตั้งใจจริงทำจริง เอาชีวิตเข้าแลกก็ว่าได้ นั่นเราย่อมจะประสบผลสำเร็จ
เอาละวันนี้ขอบรรยายธรรมะพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา ในท้ายที่สุดนี้เรามาบำเพ็ญกองการกุศล เพื่อบูชาพระคุณของพระบูรพาจารย์ ขอให้สำรวมจิตสำรวมใจ ประมวลมาซึ่งบุญกุศลที่เราบำเพ็ญมาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน น้อมถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาแด่ครูบาอาจารย์ ขอบารมีของครูบาอาจารย์จงคุ้มครองปกป้องจิตใจของพวกเราให้ดำรงมั่นอยู่ด้วยความมีสติสัมปะชัญญะ บรรลุถึงสภาวะที่รู้ตื่นเบิกบาน นิพพานะ ปัจจโย โหตุ จงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่พระนิพพานในปัจจุบันและอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้น โดยระยะบรรยายมา เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้