Skip to content

ปฎิปทาของครูบาอาจารย์สู่ทางพ้นทุกข์

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

| PDF | YouTube | AnyFlip |

โอกาสต่อไปนี้ขอท่านผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลายจงตั้งใจฟังธรรม การฟังธรรมสำคัญอยู่ที่การฟังหัวใจของตัวเอง หลวงปู่แหวนท่านเทศน์ว่า ให้กำหนดดูที่ใจ เพราะถ้าเรารู้ใจของเราเองแล้ว มันหมดปัญหาทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะความดีก็เกิดที่ใจ ความชั่วก็เกิดที่ใจ บาปก็เกิดที่ใจ บุญก็เกิดที่ใจ ใจเป็นผู้ก่อ ใจเป็นผู้สั่งสม ใจเป็นผู้ดิ้นรน ใจเป็นผู้แสวงหาซึ่งโดยธรรมชาติของใจแต่ดั้งเดิม 

เมื่อคืนนี้มีผู้เขียนปัญหารอถามเอาไว้ว่า จิตกับอวิชชาใครเกิดก่อนหลังกัน ก่อนที่จะตอบปัญหาคำนี้ ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ไอ้สิ่งที่เราเรียกกันว่าจิตๆใจๆเนี่ย ดั้งเดิมมันไม่ใช่จิตไม่ใช่ใจ มันเป็นธาตุอันหนึ่งซึ่งเรียกว่าธาตุรู้ ท่านอาจารย์มั่นท่านว่ามันเป็นมโนธาตุ เป็นมโนธาตุซึ่งมันมีหน้าที่พร้อมที่จะน้อมไปสู่อารมณ์ ในเมื่อมันน้อมไปสู่อารมณ์แล้วเพราะอาศัยอวิชชาคือความไม่รู้ มันจึงเป็นผู้ดิ้นรนก่อสั่งสม เกิดตัวสังขารขึ้นมาปรุงเป็นโน่นเป็นนี่ 

ปรุงเป็นผู้ชาย ปรุงเป็นผู้หญิง ปรุงเป็นคน ปรุงเป็นสัตว์ แต่แท้ที่จริงมันก็เป็นธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ไม่เห็นว่าอะไรจะมีอะไร ในจักรวาลนี้มันมีแต่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟก็สมมุติบัญญัติเรียกกันพอรู้เรื่องกันเท่านั้นเอง แต่เสร็จแล้วไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไรทั้งสิ้น ที่มันจะเกิดมีอะไร มิอะไรขึ้นมาเพราะอวิชชาความไม่รู้มันจึงเป็นเหตุให้ปรุง ปรุงว่าอันนี้มันก็ดี ปรุงว่าอันนี้มันก็เลว ปรุงว่าอันนี้มันก็เป็นที่พอใจและไม่พอใจ 

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาความไม่รู้เป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขาระแปลว่าปรุง แปลว่าแต่ง เมื่อคืนนี้ได้พูดฝากๆเอาไว้แล้วว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เค้าเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่โดยธรรมชาติของเค้า เค้าเป็นกลางๆ เค้าจะดีจะชั่วจะปราณีตละเอียดอย่างไร ก็ไอ้เจ้าใจที่มีอวิชชาห่อหุ้มเนี่ยแหละ มันจึงไปเที่ยวปรุงว่าให้เค้าดี เค้าชั่ว เค้าเลว แต่แท้ที่จริงมันไม่ชะโงกดูเงาหน้าของตัวเอง ไปเที่ยวตู่สิ่งโน้น ตู่สิ่งนี้ ว่าเค้าเป็นอย่างนั้น เค้าเป็นอย่างนี้ แต่แท้ที่จริงไอ้เจ้ามโนธาตุที่มันน้อมออกมาสู่อารมณ์นี่ พอมันมาสัมผัสอารมณ์ปั๊บเข้ามารู้อารมณ์เข้า ตัวอวิชชาความไม่รู้ มันก็วิ่งเข้ามา 

ผู้ถามถามว่าอวิชชากับจิต อันไหนเกิดก่อนหลังกัน ไอ้เจ้าอวิชชาเนี่ยหละมันอาศัยแฝงอยู่ที่จิต ถ้าจิตใจไม่มีอวิชชา มันจะไปเกิดที่ไหน โดยธรรมชาติของจิตใจมนุษย์นี่ เรามีความรู้สึกนึกคิดเฉพาะเวลาที่เรามีส่วนประกอบคือร่างกาย บางทีอาตมาได้หัดตายเล่นๆลองดู ในเมื่อมันตายจริงลงไปแล้ว ปฏิสนธิวิญญาณที่มันครองอยู่ในร่างนี่ มันหนีออกจากร่างกายไปลอยเด่นอยู่เฉพาะตัวมัน จะว่าเฉพาะตัวมัน มันก็ไม่เข้าท่า เพราะมันไม่มีตัว มันมีแต่ธาตุรู้ปรากฏเด่นชัดอยู่เท่านั้น แต่เสร็จแล้วมันก็ไม่มีปฏิกิริยาอาการใดๆที่จะแสดงความหวั่นไหว มันมีแต่แน่นิ่งอยู่เฉยๆ แม้มันจะมองเห็นโลกทั่วหมดทุกมุมโลก มันก็เฉยอยู่อย่างนั้น โดยที่สุดแม้แต่ร่างกายคือตัวมันที่เคยอาศัยอยู่ มันก็ไม่ได้นึกว่าตัวมัน แม้ร่างกายมันจะเน่าเปื่อยผุพังไปประการใดก็ตาม มันก็นิ่งเฉยของมันอยู่อย่างนั้น 

ถ้าไม่เชื่อ ท่านทั้งหลายถ้าหากเป็นนักปฏิบัติ สามารถทำจิตให้บรรลุถึงขั้นที่เป็นสมถะอย่างละเอียดจนตัวหาย ท่านจะรู้ได้ทันทีว่า จิตในเมื่อมันเข้าไปสู่ภพเดิมของมัน ซึ่งเป็นธาตุแท้ของมโนธาตุ เป็นปฐมวิญญาณ มันจะไม่มีปฏิกิริยาอาการอันใดแสดงออก อย่างดีมันก็เพียงแต่ไปนิ่งว่างสว่างอยู่เฉยๆ ที่มันไม่มีปฏิกิริยาอาการอย่างนั้น เพราะมันไม่มีเครื่องมือ ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีเครื่องใช้ แม้ว่าไอ้เจ้าจิตหรือมโนธาตุตัวนี้ มันจะเก่งวิเศษซักปานใดก็ตาม 

เมื่อมันมาสัมผัสกับร่างกายซึ่งมีความเป็นปกติ ความผิดปกติทางประสาทสั่งการ เช่นคนที่เป็นบ้าวิกลจริต มันจะแสดงความเป็นบ้าเฉพาะเวลาที่มโนธาตุตัวนี้มันมาสัมพันธ์กับร่างกายเท่านั้นเอง แต่เมื่อมันออกจากร่างกายที่พิกลพิการอันนี้ไปแล้ว ความเป็นบ้ามันก็หายไป อย่าว่าแต่ว่าความเป็นบ้ามันจะหายไป แม้แต่ความสำคัญมั่นหมายว่าผู้หญิง ผู้ชาย ว่าตัวว่าตนมันก็ไม่มีทั้งนั้น เพราะมันไม่มีอวัยวะประกอบซึ่งจะเป็นสิ่งให้เกิด หรือเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้แสดงกิริยา เปลี่ยนแปลงจากสภาพปกติ 

เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติของจิต ถ้าหากผู้ปฏิบัติมัวแต่จะไปงมเอาแต่ส่วนที่จิตมันสงบนิ่งแน่เป็นสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ โดยไม่มีปฏิกิริยาอาการใดๆบังเกิดขึ้น เอากันแต่เพียงแค่นี้ ภาวนากันทีไรก็เอาแต่สงบนิ่งๆๆ นิ่งอย่างไม่มีตัวมีตนปรากฏ โดยที่สุดแม้ว่าโลกคือแผ่นดินอันนี้ก็หายสาบสูญไปหมดสิ้น ในจักรวาลนี้มีแต่จิตดวงเดียวซึ่งปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว 

แต่ความปล่อยวางของจิตในขั้นนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจว่าท่านถึงขั้นความบริสุทธิ์สะอาดแล้ว แต่แท้ที่จริงมันเปรียบเหมือนดังว่า เมล็ดในของผลไม้ ในเมื่อก่อนที่มันจะหล่นจากต้นของมัน มันได้เก็บอวัยวะต่างๆเข้าไปรวมอยู่ในเม็ดในมัน ในเมื่อเราผ่าออกมาแล้ว เราจะไม่มองเห็นอะไร ไม่มองเห็นอวัยวะซึ่งเป็นส่วนประกอบขอมัน รากแก้ว รากฝอย เปลือก แก่น ใบ ดอก ผล ไม่ปรากฏในเม็ดในของผลไม้ แต่เมื่อท่านเห็นแล้วท่านจะปฏิเสธได้หรือว่าอวัยวะส่วนประกอบส่วนอันเป็นต้นผลไม้นั้น เปลือก แก่น ใบ ดอก ผล มันจะไม่มี แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นก็ตามแต่ เชื้อแห่งรากแก้ว แก่น ใบ ดอก ผล มันเก็บรวมรวมเอาไว้ในแก่นในของมันหมดแล้ว 

สภาพจิตที่เราสามารถภาวนาแล้วเก็บทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปบรรจุเอาไว้ข้างใน แม้มันจะเหลือแต่แกนในของมัน คือความเป็นหนึ่งของจิตซึ่ง เรามองเห็นแล้วว่ามันใสสะอาดสว่างไสวอยู่ อย่าไปเข้าใจว่ามันหมดกิเลสแล้ว แต่แท้ที่จริงมันเก็บเอาเชื้อของอวิชชาตัณหาอุปาทานไปรวมไว้ในแก่นของจิตของใจ ของมโนธาตุปฐมวิญญาณ และตัววิญญาณอันนี้ซึ่งมันไม่มีอวัยวะส่วนประกอบที่จะแสดงปฏิกิริยาอันใด ออกมาให้เรามองเห็นในแง่ที่เป็นกิเลสโลภ โกรธ หลง เราจึงเข้าใจผิดว่าจิตใจของเราบริสุทธิ์ สะอาดแล้ว 

ถ้าหากเราจะมาสำคัญมั่นหมายเอาเพียงแค่นี้เป็นผลสำเร็จ ถ้าจะสำเร็จได้อย่างดีก็ถึงแค่พระนิพพานพรหมเท่านั้นเอง นี่คือขั้นตอนแห่งศาสนาพราหมณ์ที่เขามีความเข้าใจว่า เมื่อเขาทำจิตใจให้เข้าไปถึงจุดที่สงบนิ่งสว่างโดยไม่มีอะไรเหลือ มีแต่จิตดวงเดียวล้วนๆแล้วเขาก็เข้าใจว่า ของเขาสำเร็จพระนิพพานแล้ว 

เพราะฉะนั้น การที่เรามาทำสมาธิภาวนา ถ้าเราไปติดอยู่แต่เพียงความสงบของจิต จิตนิ่งๆ แล้วนิ่งอย่างไม่มีอะไร ร่างกายตัวตนหายไปหมด สติปัญญาหายไปหมด ความรู้สึกนึกคิดใดๆไม่มีเหลืออยู่แล้ว แล้วก็ไปเข้าใจว่าเพียงแค่นี้เป็นจุดสำเร็จพระนิพพาน เหลวไหลทั้งเพ อันนี้เป็นแต่เพียงแค่ว่า ความสงบของจิตซึ่งปราศจากความคิด ทำไมมันจึงไม่คิด เพราะมันไม่มีเครื่องมือ จิตมันไม่มีตัว มันจะเอาอะไรไปคิด แต่ถ้าเผื่อว่ามันมาสัมผัสกับร่างกาย มันก็เอาร่างกายนี่เป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องใช้ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆมันจะเกิดขึ้นมาทันที 

ในเมื่อมันมีตัวมีตนแล้ว มันต้องมีตา ถ้าตาเห็นรูป ถ้ามันยังมีกิเลสอยู่ มันก็ยังรู้สึกชอบ หูได้ยินเสียง ถ้ามันยังมีกิเลสอยู่ก็รู้สึกยินดียินร้าย ในส่วนอื่นๆ ถ้ามันยังมีกิเลสอยู่ มันประสบเข้าแล้ว มันก็พอใจไม่พอใจ 

ดังนั้นในลัทธิศาสนาพราหมณ์ ที่เขาเข้าใจว่าเขาสำเร็จพระนิพพานแล้ว ก็เพราะเค้าทำจิตไปถึงจุดดังที่กล่าวนี้ ในเมื่อจิตอยู่ในจุดที่กล่าวนี้ ความรู้สึกในอาการของกิเลส และความรู้สึกนึกคิดใดๆมันไม่มีจริงๆ จึงเป็นเหตุให้คนที่มีปัญญายังอ่อน เข้าใจว่าตัวเองนี่สำเร็จมรรคผลนิพพานไปซะแล้ว แต่ลืมนึกถึงว่า เมื่อเขาออกจากสมาธิในขั้นนี้มาแล้ว ในเมื่อมามีตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เขาลืมนึกไปว่า เขายังมีความยินดียินร้าย ถึงแม้ว่าเค้าจะมีความรู้สึกว่าเค้ายังมีความยินดียินร้ายอยู่ เค้าก็ยังชะล่าใจ ยังนึกว่าจะตายเมื่อไหร่ ก็รีบเข้าไปสู่พระนิพพานในจุดดังกล่าว แล้วก็นิพพานหมดกิเลสไปเลย ไม่ต้องมาเกิดอีก อันนี้คือความเข้าใจของผู้มีสติปัญญาน้อย 

แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์เคยทำจิตของพระองค์ให้ถึงขั้นนี้ ทดสอบไม่รู้กี่พันครั้งหมื่นครั้ง เมื่อจิตบรรลุถึงขั้นนี้ ออกมาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจยังมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ผ่านเข้ามา พระองค์จึงเอาเป็นปรอทเครื่องวัดว่าสภาพจิตที่มันเป็นอย่างนั้นแต่ก่อนมันยังคงสภาพเดิมอยู่หรือเปล่า พระองค์ก็มาทราบว่าในเมื่อประสบสิ่งเหล่านั้นแล้ว อวิชชาความไม่รู้ หรือความรู้เท่าเอาทันมันยังไม่ดพียงพอ คือสติปัญญายังอ่อน ความรู้สึกยินดียินร้าย ความชอบไม่ชอบมันก็ยังเหลืออยู่ ถ้าเราจะไปรอเอาต่อเมื่อว่าเราใกล้จะตายแล้วรีบเข้าสมาธิ ทำจิตให้มันไปบรรลุคุณธรรมถึงขั้นนี้แล้วนิพพานไป ถ้าเผื่อว่าเราเผลอไปแล้ว เราเข้าฌาณหรือเข้าสมาธิขั้นนี้ไม่ทัน ตายเสียระหว่างกลางคัน เราจะไม่ตกนรกหรือ อันนี้เป็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้า 

ถ้าในจุดที่มันมีความละเอียดสุขุม จนกระทั่งตัวหาย ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีแล้วในโลกนี้ จักรวาลนี้มีแต่จิตของเราอันเดียวเท่านั้น ถ้าหากว่าออกมา ที่เราอยู่ข้างในสภาพจิตมันเป็นอย่างไร เมื่อออกมาข้างนอก มาเห็นสิ่งต่างๆ มาประสบกับสิ่งต่างๆแล้ว ถ้าความรู้สึกในด้านกิเลสมันไม่มีปรากฏขึ้นมาซักนิดหนึ่ง ก็แสดงว่าจิตใจของเรานี่มันบริสุทธิ์สะอาดตลอดกาล แม้ว่าอยู่ในข้างในซึ่งไม่มีตัวมีตน ความเป็นของจิตในแง่ความยินดียินร้ายทุกสิ่งทุกอย่างมันหายไปหมดแล้ว เมื่อออกมาสู่บรรณโลกนี้ เรามีสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ผ่านเข้ามาทุกลมหายใจ ถ้าสภาพจิตของเราหมดกิเลสจริงๆแล้ว มันก็ไม่มียึด ไม่มีปรุง ไม่มีความยินดียินร้าย มันก็ยังคงสภาพปกติอยู่ตลอดเวลา อันนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้สำเร็จแล้ว 

ดังนั้นปัญหาที่ว่าอวิชชากับจิต ใครเป็นผู้เกิดก่อนหลังกัน อวิชชาเป็นเจตสิกอันหนึ่งซึ่งมันคอยติดตาม เพราะเจ้าดวงจิตดวงนี้มีอวิชชา อวิชชาความไม่รู้เป็นเหตุให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้วได้รับผลของกรรม รับผลของกรรมแล้วต้องเป็นเหตุให้มาเกิดอีก เมื่อเกิดอีกก็อาศัยอวิชชาตัวเดียวนั่นแหละ แล้วก็หลงทำกรรมต่างๆตามความเข้าใจของตัวเอง กรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง ทำกรรมดีก็เรียกว่าทำบุญ ทำกรรมไม่ดีก็เรียกว่าทำบาป สิ่งที่เรียกว่าบุญและบาปสองอย่างนี้เป็นผลซี่งเกิดโดยกฏขอวธรรมชาติ 

คนเรามีกายมีใจ ในกายของเรามีใจเป็นใหญ่ ในเมื่อไอ้เจ้าใจนี้มันสั่งให้เราไปตีหัวคนซักโป๊กหนึ่งลงไป เค้าตายลงไป ภายหลังมันมานึกว่า โอ้ย เผลอไป ฉันทำเล่นๆ ไม่ต้องการผลตอบแทน จ้างอีก มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอันนี้มันเป็นผลที่จะพึงได้รับโดยกฏของธรรมชาติ ความยุติธรรมอันใดในโลกนี้ จะไปยิ่งใหญ่กว่าความยุติธรรมที่ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ในเมื่อไอ้เจ้าใจนี่มันสั่งกายให้ทำอะไรลงไป ให้พูดลงไป จะเป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม เขาจะหลีกเลี่ยงผลงานที่เขาสั่งการลงไปไม่ได้เลย เขาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ รับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่าง ปฏิเสธไม่ได้เลยเป็นอันขาด อันนี้คือกฏธรรมชาติที่เราจะต้องยอมรับ 

ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงกระตุ้นเตือนให้เราพิจารณาอยู่บ่อยๆ ว่าเรามีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน จริงหรือไม่จริงก็ขอให้ผู้ฟังไปพิจารณาเอาเอง อย่างบางทีก็มีเด็กหนุ่มๆ เด็กวัยรุ่นมาเคยถามว่า พระคุณเจ้า ฆ่าสัตว์นี่บาปมั้ย บาปมันจะเห็นทันตาหรือเปล่า หลวงพ่อก็ถามว่า มนุษย์ก็สัตว์ประเภทหนึ่งใช่มั้ย เค้าก็บอกว่าใช่ หนูจะทดลองหรือเปล่า ถ้าอยากรู้ก็ทดลองดูเอาเอง หลวงพ่อรับรองว่ายืนยันว่าต้องเป็นบาป และเห็นบาปทันตาด้วย เอากันอย่างนี้ ถ้าจะพิสูจน์กันให้เห็นจริงกันในปัจจุบันนี่ หนูออกจากกุฏิหลวงพ่อไปแล้ว เดินออกไปถนนใหญ่ เห็นคนเดินมาก็กำหมัดแน่นๆ ซัดปากมันเข้าไปซักหมัดสองหมัด ลองดูซิมันจะมีอะไรโต้ตอบหรือเปล่า ถ้าหากว่าหนูต่อยปากเค้าแล้ว เค้าเดินหนีเฉยไป ก็แสดงว่าการทำร้ายร่างกายเขามันไม่เกิดบาป แต่ถ้าเค้าซัดคืน ก็แสดงว่ามันจะต้องบาปแน่ๆ อันนี้มันพิสูจน์ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงผลบาปกรรมที่จะต้องไป…พูดถึงในสิ่งเราไม่เห็น 

อย่างในปัจจุบันนี้ เราด่าเค้า เค้าด่าตอบ เราตีเค้า เค้าตีตอบ เราร้ายต่อเค้า เค้าร้ายตอบ เราดีต่อเค้า เค้าดีตอบ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แหละเป็นสิ่งที่เราจะต้องหยิบยกมาพิจารณาเพื่อเปรียบเทียบ เพื่อจะยังศรัทธาคือความรู้สึกของเราให้มีความเชื่อมั่นและเลื่อมใสในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

การกล่าวธรรมะอันเกี่ยวด้วยภูมิจิตภูมิใจ เพราะว่าในงานนี้เราก็ได้อาราธนาพระเถรานุเถระในระดับคณาจารย์ชั้นสูงซึ่งเคยเป็นที่เคารพบูชา เป็นครูบาอาจารย์ของผู้แสดงธรรมก็หลายท่าน พูดไปพูดมาก็รู้สึกว่าหนาวๆในใจ เพราะโดยวิสัยของพระธุดงคกรรมฐานแล้ว จะต้องมีความเคารพบูชาในครูบาอาจารย์ของตนเป็นอย่างยิ่ง 

ในขณะที่ท่านทั้งหลายอาราธนามาแสดงธรรมนี้ ก็อดที่จะคิดไม่ได้ว่า เราอยู่ในสภาพที่ไม่ดีกว่าไก่ป่า ไก่ป่าเค้ามีนิสัยเป็นอย่างไร สมมุติว่าในป่าหนึ่ง มีไก่ป่าตัวผู้มีจำนวนอยู่ ๑๐​๐ ตัว ๑๐๐๐ ตัว เราจะได้ยินเสียงไก่ตัวที่เป็นหัวหน้าเท่านั้นขัน ถ้าไก่ตัวอื่นขันแทรกแซงขึ้นมาแล้ว หมู่พวกของไก่ทั้งหลายมันจะรุมจิกจนตาย อันนี้วิสัยไก่ป่ามันเป็นอย่างนั้น วิสัยของพระนักปฏิบัติซึ่งมีความเคารพและบูชา บูชาในครูบาอาจารย์ ถ้าพูดมากนักก็มีความรู้สึกหนาวในจิตในใจ กลัวว่าเราจะเป็นบาป ซึ่งมันอาจจะเป็นการล่วงเกินก้าวก่ายครูบาอาจารย์มากเกินไป 

ในสมัยปัจจุบันนี้ท่านสหธรรมิกผู้เป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย บางทีอาจจะเผลอลืมตัวไปบ้างก็ได้ เราไปที่ไหนเห็นแต่พระธุดงคกรรมฐานขันแข่งกันอยู่ไม่หยุด บางทีบางครั้งลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์บางองค์ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาแล้ว มือไม้มันแข็งไปหมด กราบไหว้ครูบาอาจารย์ก็ไม่ลง ตีตนเสมอกับครูบาอาจารย์ 

จึงใคร่ที่จะขอนำประวัติการปฏิบัติของครูบาอาจารย์ตั้งเริ่มต้นแต่ท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นเป็นต้นมา ซึ่งสมัยนั้นเป็นสามเณรน้อยๆ อายุเพียง ๑๔ ๑๕ ปี เคยอยู่ร่วมกับครูบาอาจารย์ ถ้าหากว่าครูบาอาจารย์นั่งประชุมกันอยู่ หรืออยู่ในอาวาสนั้นๆ หน้าที่ของการถกปัญหา แก้ปัญหาจะต้องเป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้า ไม่ใช่ว่าเราจะต่างคนต่างมานั่งเทศน์แข่งกันอยู่อย่างในสมัยปัจจุบันนี้ 

แม้แต่การถือนิสัยครูบาอาจารย์ตามระเบียบพระธรรมวินัย ตามระเบียบวินัยก็ตาม เราอยู่ในสำนักของครูบาอาจารย์ เราไม่ได้นับอายุพรรษาครบ ๕ ว่าเราพ้น นิสัยมุต (นิสัยมุตตกะ) เพราะว่าเราถือว่าการพ้นนิสัยมุตนั้นจะต้องเป็นหน้าที่ของอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้ยกให้ เช่นอย่างหลวงตาพร ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาตมา ในสมัยที่ท่านออกจากฆราวาสไปบวชทีแรก ก็ไปอาศัยอยู่ในสำนักของท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์มั่นบังคับให้บวชเป็นตาเถรชีผ้าขาวอยู่สามปี อบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติจนจิตมีความสงบรู้ธรรมเห็นธรรม รู้ธรรมวินัย ระเบียบปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์และพระศาสนาเป็นอย่างดี แล้วท่านก็ให้เปลี่ยนจากเพศชีเป็นเพศสามเณร คือให้บวชเป็นเณรใหญ่อยู่อีกสามปี 

พอครบสามปีแล้วท่านอาจารย์มั่นได้พาไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดปทุมวนารามในจังหวัดกรุงเทพนี่เอง ซึ่งท่านอาจารย์มั่น อาจารย์เป็นผู้นำมา มามอบให้พระปัญญาพิศาลเถร ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของอาตมาเอง เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบทให้ ในเมื่ออุปสมบทแล้วก็อยู่ในสำนักของท่านอาจารย์มั่น เอาใจใส่ปรนนิบัติครูบาอาจารย์มิให้เดือดร้อน อาจาริยวัตร อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติอย่างถูกต้องตรงตามพระวินัยทุกประการ จนกระทั่งท่านอาจารย์มั่นพิจารณาดูอุปนิสัยและการประพฤติปฏิบัติว่าสมควรพอที่จะออกไปบำเพ็ญเพียรโดยลำพังตนเองได้แล้ว ท่านจึงเรียกมาสั่งว่า “พร เอ้ย เจ้าก็ฝึกฝนอบรมกับครูบาอาจารย์มาตั้งพ้นนิสัยมุตแล้ว พอจะช่วยตัวเองได้ หลีกออกไปหาวิเวกเฉพาะตัวก่อนเถิด ให้โอกาสองค์อื่นเค้าเข้ามาปรนนิบัติครูบาอาจารย์บ้าง” นั่นแหละถึงจะได้ออกสำนักครูบาอาจารย์ นี่คือจารีตประเพณีของพระธุดงคกรรมฐานที่ปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ในสมัยอดีต ในสมัยที่ท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นยังดำรงชีวิตอยู่ 

และอีกอย่างหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพลง แล้วก็ได้ทำฌาปนกิจคือถวายเพลิงเผาศพท่านอาจารย์เสาร์ ในงานนั้นท่านอาจารย์มั่นก็ไปร่วมในงานด้วย ในฐานะที่ท่านก็เป็นอันเตวาสิกของท่านอาจารย์เสาร์ ซึ่งอยู่ในระดับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ในขณะที่ท่านแสดงธรรม ท่านอาจารย์มั่นแสดงธรรมว่า “เมื่อสมัยท่านอาจารย์เสาร์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนเรา บัดนี้ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่เราคือพระอาจารย์มั่น จะเป็นครูบาอาจารย์หมู่ในสายนี้ต่อไป ดังนั้นท่านผู้ใดสมัครใจจะเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่น ต้องปฏิบัติตามปฏิปทาของอาจารย์มั่น ถ้าใครไม่สมัครใจหรือปฏิบัติตามไม่ได้ อย่ามายุ่งกับอาจารย์มั่นเป็นอันขาด” 

โอวาทครั้งสุดท้ายที่ท่านอาจารย์มั่นได้ประทานเอาไว้ ไม่ทราบว่าสหธรรมิกซึ่งเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นจะจำได้หรือเปล่า ถ้าหากจำได้ก็ขออภัยด้วย ถ้าหากจำไม่ได้ก็ลองเอาไปคิดเป็นการบ้านดูซิ ว่าปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่นท่านปฏิบัติอย่างไร และเราควรจะดำเนินตามแนวทางของท่านอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น 

บางสิ่งบางอย่างที่เราอนุโลมตามความต้องการของชาวโลกแทบจะไม่ปรากฏ แม้แต่การทำบุญมหาชาติ การจัดงานวัดมีมหรสพต่างๆ เราไม่เคยมี มาสมัยปัจจุบันนี้ ครูบาอาจารย์ก็พาเป็นนักธุรกิจ ไปกันซะไม่ได้หยุด จากเหนือไปใต้ จากใต้ไปเหนือ ไปเที่ยวโปรดญาติโยม แต่ไม่แน่นักว่าไปเที่ยวให้ญาติโยมโปรด หรือว่าไปโปรดญาติโยมกันแน่ก็ไม่ทราบ อันนี้ก็ขอฝากให้ลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ได้นำไปพิจารณาเป็นการบ้าน 

ครั้งสุดท้ายที่ได้เข้าไปกราบท่านอาจารย์ฝั้น ทั้งๆที่ท่านก็ยังป่วยมีอาการร่อแร่เต็มที ก่อนหน้าที่ท่านจะสิ้นใจประมาณสามวัน พอไปกราบแล้ว พยายามที่จะไม่ให้ท่านรู้สึกตัว แต่แล้วท่านก็สั่งให้พระเวรที่ปรนนิบัติอยู่ให้เอาท่านลุกขึ้น พระก็เรียนท่านว่า หมอไม่ให้ลุก หมอไม่ให้ลุก ท่านก็ย้ำอยู่ว่า “เอาลุกขึ้น เอาลุกขึ้น” ในเมื่อลุกขึ้นมาแล้ว แทนที่ท่านจะพูดอะไร มือไม้ที่ยังสั่นเทาอยู่นั่นแหละ อุตส่าห์พยายามพยุงยกขึ้นมาแล้วก็ชี้หน้าผู้ไปกราบ แล้วก็บอกว่า “นี่ อะไรครูบาอาจารย์ก็ถอดแบบสั่งสอนให้หมดแล้ว สามารถทำได้ดีด้วย แต่เสียอย่างเดียว มันยังขี้เกียจอยู่ ต่อไปเพิ่มความขยันมากขึ้น เพราะเมื่อมันหมดรุ่นของพวกเธอแล้ว พระธุดงคกรรมฐานมันจะไม่มีเหลือ” อันนี้ก็เป็นโอวาทของท่านอาจารย์ฝั้น ซึ่งท่านประทานไว้เป็นครั้งสุดท้าย อันนี้ก็ใคร่ที่จะขอฝากเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลาย เอาไปพิจารณาเป็นการบ้าน เพื่อเป็นการเปรียบเทียบกับการประพฤติปฏิบัติของเราในสมัยปัจจุบันนี้ ว่าเรากำลังเดินหน้าเข้าคลองหรือว่ากำลังถอยหลังเข้าคลอง 

การถือธุดงควัตรต่างๆ เรามีความเคร่งครัดเพียงใด แค่ไหน อย่างไร ถ้าสนใจในปฏิปทาหรือชีวประวัติของท่านอาจารย์มั่น เราจะได้เครื่องวัดว่าความประพฤติของเราในปัจจุบันนี้มันย่อหย่อนหรือมันตึงขึ้น เท่าที่สังเกตโดยทั่วๆไปแล้ว บรรดาพระภิกษุสามเณรที่อุปสมบทมา อายุพรรษายังไม่ครบห้า ระเบียบวินัยยังไม่รู้ การแสดงอาบัติก็ยังว่าไม่ถูก แล้วก็เที่ยวตะพายบาตรเดินธุดงค์จากเหนือไปใต้ จากใต้ไปเหนือ ในฐานะที่เรายังไม่เข้าใจวินัยเพียงพอ ไม่ได้ฝึกหัดนิสัยจากครูบาอาจารย์ เราก็นำลัทธิการปฏิบัติผิดๆไป ไปให้ชาวบ้านทั้งหลายเค้าเข้าใจว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แท้ที่จริงแล้วเรายังไม่ได้ฝึกฝนอบรม 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกราบพระ เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ของเรานี่ถือเคร่งนัก ท่านจะต้องฝึกสอนให้กราบให้ไหว้ให้ถูกต้องตามระเบียบเบญจางคประดิษฐ์ โดยเอาหัวเข่าข้อศอกต่อกัน วางมือลงราบกับพื้น นิ้วมือไม่ให้ถ่าง เว้นระยะห่าง พอหน้าผากลงไว้ได้ ระหว่างคิ้วกับหัวแม่มือจรดกัน ทำหลังให้ตรง ไม่ทำโก้งโค้ง แสดงกิริยามารยาทอันเรียบร้อยงดงาม อันนี้เป็นวิธีกราบที่ครูบาอาจารย์ของเราถือนัก มาในสมัยปัจจุบันนี้เท่าที่ชำเลืองดูแล้ว การกราบการไหว้นี่ห่างไกลจากครูบาอาจารย์เหลือเกิน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่น่าจะนำมาพูด แต่ว่าโอกาสนี้เรามาประชุมกันมากๆ เผื่อหากว่ามันอาจจะเป็นประโยชน์แก่หมู่คณะของเราบ้าง ถ้าหากใครจะนึกว่าเป็นเรื่องนำมา เป็นเรื่องประจานต่อหน้าธารกำนัล ก็ไม่ควรอาย เพราะว่าเราหวังดีต่อกัน เผื่อมันจะได้เป็นประโยชน์แก่ญาติโยมผู้มาฟังเทศน์ฟังธรรมกันบ้าง 

นอกจากเรื่องการกราบ รองลงไป อันดับต่อไปก็คือการว่าอักขระขานกลอนให้ถูกต้องตามอักขระภาษาบาลี ให้ถูกต้องตามสำเนียงมคธภาษา แล้วรองๆลงไปก็เรื่องระเบียบวินัยเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการรับประเคนสิ่งของ ของอันใดที่เป็น ยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เอกลาภผลอันใดที่มันเกิดขึ้นมา ครูบาอาจารย์ท่านเคยให้เฉลี่ยแจกแบ่ง สงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรผู้ขาดตกบกพร่องเพราะเราถือว่าเป็นสมณะศากยบุตรด้วยกัน เราจะต้องดูแลสุขทุกข์ซึ่งกันและกัน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย พระภิกษุสงฆ์อาพาธเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรในอาวาสนั้นจะต้องเอาใจใส่ดูแลรักษา แต่เท่าที่สังเกตมาก็รู้สึกว่า ท่านผู้ใดไม่มีบุญบารมี เป็นหลวงพ่อหลวงตาไม่มีบุญบารมีมาก ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยลง ตกอยู่ในตาลำบาก จะต้องพึ่งพาอาศัยญาติโยม 

ยกตัวอย่างเช่นอาจารย์องค์หนึ่งเจ็บป่วยมาจากนครพนม ชื่ออาจารย์ทอง อโสโก เป็นอาจารย์ผู้ทำกิจพระศาสนา ทำกิจธุระ ฟื้นฟูหมู่คณะ เป็นมือขวาของท่านอาจารย์เสาร์เหมือนกัน ภายหลังมาท่านป่วยอาพาธลงไป ทีแรกก็ไปอาพาธอยู่ที่วัดเกาะแก้วอัมพวัน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ภายหลังญาติโยมก็นำมาที่วัดป่าบ้านสวนวัว อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลฯ ในขณะที่ท่านมาถึงก็มีพระธุดงคกรรมฐานเฝ้าวัดอยู่นั่นเจ็ดแปดองค์ พออยู่มาไม่ถึงอาทิตย์ ครูบาอาจารย์ผู้ที่มาพึ่งพาบารมีของพระคุณเจ้าเหล่านั้น ท่านจะเห็นว่าการอุปัฏฐากพระภิกษุไข้เป็นการลำบาก เป็นภาระหรืออย่างไรไม่ทราบ พระเณรทั้งนั้นตะพายบาตรแบกกลดหนีไปหมด ทิ้งพระอาจารย์ทองซึ่งอาพาธเป็นโรคอัมพาต ให้นอนแอ้งแม้งอยู่ในวัดป่าบ้านสวนวัวเพียงองค์เดียว 

ในที่สุดต้องเดือดร้อนถึงเจ้าคุณชินวงศาจารย์ในพรรษานั้น จำสัตตาหะไปปรนนิบัติตลอดพรรษา ในพรรษา ๙๐ วัน มีเวลาได้นอนวัดเพียง ๑๒ วันเท่านั้นเอง นอกนั้นไปจำพรรษาที่อื่น จนกระทั่งท่านอาจารย์องค์นี้ถึงแก่มรณภาพลงไป จัดการศพเสร็จ จึงได้หมดภาระ อันนี้ก็เป็นสิ่งบกพร่องอันหนึ่งสำหรับลูกศิษย์นักปฏิบัติของเรา 

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าเป็นข้อวินัยอันเคร่งครัด ภิกษุสงฆ์อาพาธเกิดขึ้นในอาวาสใด ต้องเป็นหน้าที่ของภิกษุสามเณรในอาวาสนั้น จะต้องอุปัฏฐากดูแลรักษา หาหยูกหายา หาหมอมาพยาบาลรักษา ถ้าภิกษุรูปใด ในเมื่อเห็นสหธรรมิกของตัวเองเจ็บไข้ได้ป่วยอาพาธลง ถ้าหากคิดว่ามันจะเป็นภาระยุ่งยาก รีบออกหนีไปจากอาวาสนั้นเสีย พระวินัยท่านปรับอาบัติ เพราะขาดความเอื้อเฟื้อไม่เอาใจใส่ 

แม้ในสมัยที่พระพุทธเจ้ากำลังจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ยังมีพระภิกษุองค์หนึ่งมาคิดว่า เรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลอันใด เราจะรีบเร่งปฏิบัติให้เพื่อให้ได้อรหันต์ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์และพระปุถุชนทั้งนั้นซึ่งสนใจในการที่จะปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นว่านวกะภิกษุองค์นั้นไม่สนใจกับกิจการของสงฆ์ จึงได้ยกเป็นอธิกรณ์ขึ้นมาถือว่าท่านทำผิด แล้วก็นำข้อความไปกราบทูลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า 

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เรียกมารับสั่งถามว่าเธอปฏิบัติอย่างนั้นจริงหรือ มีเหตุผลอันใด พระภิกษุใหม่องค์นั้นก็ทูลว่าข้าพระองค์ได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่ข้าพระองค์ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลใดๆทั้งสิ้น จึงตัดสินใจเด็ดเดี่ยวจะบำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อให้ได้อรหันต์มาบูชาพระพุทธเจ้าก่อนที่จะเสด็จปรินิพพานจากไปเสีย ในเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงทราบเช่นนั้นก็ยกย่องสรรเสริญพระภิกษุองค์นั้นว่าดีแล้วภิกษุ ดีแล้วภิกษุ ขอให้พระภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่พึงเอาตัวอย่างพระองค์นี้ แล้วเราจะได้ดิบได้ดี 

นี่ในสังคมของพระอรหันต์ต่อหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านก็ยังยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นเป็นอธิกรณ์ ทีนี้ถ้าหากในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าหากสหธรรมิกของเราไปทอดทิ้งพระภิกษุอาพาธโดยไม่เอาใจใส่อุปัฏฐากดูแลรักษาพยาบาล เราสมณะศากยบุตรจะหันหน้าไปพึ่งพาอาศัยบารมีของใครหนอ อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งครูบาอาจารย์สายนี้ที่ท่านถือเป็นเรื่องเคร่งนักหนา อย่าว่าแต่ในอาวาสเดียวกัน แม้ภิกษุในอาวาสอื่นเกิดอาพาธลง ท่านจะต้องส่งพระภิกษุสามเณรองค์ใดองค์หนึ่งไปช่วยพยาบาลรักษาซึ่งมันเป็นกิจธุระหน้าที่ 

แม้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังทรงรับสั่งสรรเสริญว่า ผู้ใดอุปถัมภ์อุปัฏฐากพระภิกษุอาพาธมีอานิสงส์เท่ากันกับอุปัฏฐากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือเราตถาคต ที่ท่านทรงยกย่องไว้ถึงขนาดนั้น ก็เป็นการกระตุ้นเตือนใจพระภิกษุสงฆ์มิให้ทอดทิ้งกันในยามยาก 

ดังนั้นในปกติแล้ว เรามีปัจจัย ๔ เกิดขึ้น พระภิกษุสงฆ์จะต้องพิจารณาแจกแบ่งกันไปตามฐานานุรูป คือแจกแบ่งกันใช้ แจกแบ่งกันฉัน พอให้มีชีวิตอยู่ มีกำลังพอประพฤติพรตพรหมจรรย์ มิใช่ว่าจะแจกแบ่งเอาไปเพื่อความร่ำรวย หรือไปสะสมเอาไว้ให้มันบูดมันเน่าโดยปราศจากประโยชน์ เพราะฉะนั้น โภชเนมัตตัญญุตา การปฏิบัติธรรมต้องถือหลักโภชนะ โภชนะรู้จักประมาณในการบริโภค การบริโภคนี้ไม่จำเพาะแต่บริโภคปัจจัย ๔ แม้แต่การประพฤติวัตรข้อวัตรปฏิบัติก็ควรจะรู้จักประมาณ 

ดังนั้นในธัมมจักกัปวัตตนสูตร สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า เทวฺเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดสองอย่าง อันบรรพชิตไม่ควรซ่องเสพ คือ กามสุขลฺลิกานุโยโค การประกอบตนให้พัวพันในความสุขมากเกินไป คือเกินพอดี อันนั้นเป็นเรื่องของปุถุชน เป็นเรื่องของชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องของสมณะ อตฺตกิลมถานุโยโค การประพฤติตนเพื่อทรมานตนเพื่อให้ได้รับความลำบาก โดยเข้าใจว่ากิเลสมันจะเหือดแห้งไปเพราะการทรมานตน อันนี้บรรพชิตก็ไม่ควรซ่องเสพเพราะมันเป็นเรื่องที่เป็นการทรมานโดยปราศจากประโยชน์ ถ้าอย่างนั้นเราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา ทางสายกลางคือศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติพอดิบพอดี ไม่ยิ่งนักและไม่หย่อนนัก เป็นทางสายกลาง เป็นแนวทางที่ดำเนินไปสู่ความสำเร็จ อริยมรรค อริยผล 

ดังนั้นตัวอย่างแห่งการถือเนสัชชิกธุดงค์ตามแบบเจ้าคุณพระอุบาลีสิริจันโท จันทร์ ท่านเจ้าคุณอุบาลีสิริจันโท จันทร์ สอนให้ลูกศิษย์ให้ถือธุดงควัตรเกี่ยวกับการอยู่เนสัชชิก ท่านบอกว่าใครสามารถที่จะอดนอนตลอดคืนย่ำรุ่งก็เป็นการดี แต่ถ้าอดด้วยการประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนา แต่ถ้าอดนอนด้วยการคุยกันให้สนุกเพื่อฆ่าเวลาแก้ง่วง มันก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด ท่านจึงสอนให้ลูกศิษย์ของท่านถือธุดงค์อย่างหนึ่งให้เคร่งครัด คือฝึกหัดนอนเวลาสี่ทุ่ม แล้วก็ตื่นเวลาตีสาม ฝึกหัดให้ได้ทุกวันๆ จนเป็นนิสัย จนกระทั่งว่าถึงเวลาสี่ทุ่มแล้ว ไม่อยากนอนมันก็ง่วงหลับไปเอง พอถึงเวลาตีสามแล้วไม่อยากตื่น มันก็ตื่นเอง ตื่นแล้วนอนลงไม่ได้ เพราะนิสัยมันเคยชิน 

ท่านอาจารย์เสาร์ในฐานะที่ท่านมีสัมพันธ์กับเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจันโท จันทร์ ท่านก็ย้ำสอนลูกศิษย์ลูกหาในเบื้องต้น ให้ฝึกฝนอบรมตัวเอง ฝึกหัดตัวเอง ให้จำวัดเวลาสี่ทุ่ม ก่อนจะถึงสี่ทุ่มให้เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาหรือศึกษาข้อวินัย ในสำนักครูบาอาจารย์ ท่านไม่นิยมในการที่จะคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ด้วยการคุย ด้วยการสนุกเพลิดเพลิน หรือด้วยการอยู่การกินใดๆ การหลับการนอน ให้เคร่งครัดในการปฏิบัติ เดินธุดงค์นั่งสมาธิภาวนา พอถึงสี่ทุ่มแล้วก็จำวัด หลับไม่หลับก็นอนมันอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งถึงตีสาม ตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีสามนอนไม่หลับทั้งคืน พอถึงตีสามแล้วไม่ยอมนอนต่อไป ลุกขึ้นมาเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ฝึกหัดนิสัยจนมันเคยชิน จนคล่องตัว 

ถ้าใครปฏิบัติตามโอวาทที่ท่านแนะนำ อันนี้เป็นการฝึกหัดลูกศิษย์ในขั้นต้น ถ้าใครปฏิบัติได้แล้วทุกสิ่งทุกอย่างท่านจะเปิดเผยออกมาสอน ถอดให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีปิดบัง ปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่นก่อนที่จะรับลูกศิษย์เข้าอยู่ในสำนัก ใครเข้าไปอยู่ในสำนักของท่านในตอนแรกๆ ท่านจะมีแต่ดุกับดุ ด่ากับด่า ทำผิดท่านก็ดุ ทำถูกท่านก็ด่า ทำผิดท่านก็ดุ ทำถูกท่านก็ดุ ดุเอาอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งบางครั้งบางทีผู้ที่จะไปอาศัยอยู่ในสำนักของท่านทนไม่ไหว ตะพายบาตรแบกกลดหนีไป ถ้าหากเวลาล่วงเลยไปหนึ่งปี มีอะไรอาจารย์มั่นจะสอนให้หมด ท่านถือว่าท่านได้กลั่นกรองแล้ว (เทปขาดตอน) คนๆนี้เป็นคนที่จะอบรมสั่งสอนได้ เป็นคนมีอุปนิสัย ครั้นต่อไปแล้วท่านมีอะไรดีๆ ท่านก็สอนให้หมด 

อย่างครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านมาแสดงธรรมให้ฟังเช่นหลวงปู่สิม หลวงปู่แว่น หรือท่านอาจารย์เหรียญ ท่านอาจารย์บัวพา เคยผ่านสำนักของครูบาอาจารย์มั่นอาจารย์เสาร์มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ต้นของท่านอาจารย์เสาร์ที่ยังเหลือค้างอยู่เวลานี้คือท่านอาจารย์บัวพา เพียงองค์เดียว นอกนั้นก็สึกหาลาเพศ ล้มหายตายจากไป ถ้าจะนับอีกองค์ที่สองคือเจ้าคุณชินวงศาจารย์ ท่านอาจารย์บัวพาก็ไม่ค่อยเทศน์ ไม่ค่อยพูด เพราะติดนิสัยของท่านอาจารย์มั่น แต่ที่แหวกแนวกว่าหน่อยคือเจ้าคุณชินวงศาจารย์ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่านอาจารย์เสาร์ อันนี้เป็นปฏิปทาย่อๆของครูบาอาจารย์ที่นำเล่าเพื่อจะเป็นประโยชน์แก่สหธรรมิก 

ทีนี้หลักการสอนกรรมฐานของท่านอาจารย์เสาร์ ท่านเริ่มต้นด้วยการให้ภาวนาพุทโธ เมื่อบริกรรมภาวนาพุทโธ ทำจิตให้เป็นสมาธิคล่องตัวจนชำนิชำนาญพอสมควรแล้ว เพื่อจะให้จิตมีสติปัญญาก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา 

อันดับที่สองท่านสอนให้พิจารณากายคตาสติ ให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ให้มองเห็นเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก การพิจารณากายคตาสติ ท่านถือคติเป็นสองอย่าง อย่างหนึ่ง พิจารณาไปโดยอนุโลมปฏิโลมไปตามลำดับจนครบอาการ ๓๒ อีกอย่างหนึ่งท่านให้พิจารณาเพียงอย่างเดียวคือให้กำหนดจดจ้องมองดูที่บริเวณหน้าอก แล้วกำหนดจิตลอกหนังออก เถือเนื้อออก มองให้มันถึงกระดูก พิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้นจนจิตมันเชื่อมั่นว่ามีกระดูกอยู่ที่ตรงนี้ 

ในอันดับต่อไปท่านก็ให้บริกรรมภาวนา อัฐิๆ แล้วก็ให้จ้องความรู้สึกของจิตลงไปบริเวณหน้าอก พยายามทำบ่อยๆ ทำเนืองๆ ทำให้มากๆ ในที่สุดเมื่อจิตสงบลงไปแล้วจะได้นิมิตมองเห็นโครงกระดูกบริเวณหน้าอก หรือมองเห็นโดยทั่วตัว และเมื่อเห็นโครงกระดูกขึ้นมาแล้ว ก็เพ่งจ้องมองดูที่โครงกระดูก จนกระทั่งโครงกระดูกมันแหลกละเอียด สลายตัวไป หรือได้อสุภกรรมฐาน ในเมื่อพิจารณาอสุภกรรมฐาน รู้จริงเห็นจริง อันเป็นอุบายระงับราคะความกำหนัดยินดีไม่ให้เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ เพื่อจะได้มีโอกาสบำเพ็ญเพียรภาวนาในขั้นต่อไป 

เสร็จแล้วพระอาจารย์เสาร์ท่านสอนให้พิจารณาร่างกายให้มองเห็นโดยความเป็นธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือแยกออกไปว่าร่างกายนี้มีแต่ดิน แต่น้ำ แต่ลม แต่ไฟ ในเมื่อแยกออกไปแล้วก็ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา พิจารณาให้มองเห็นเป็นนิมิตว่าร่างกายนี้มีแต่ดิน น้ำ ลม ไฟ กันแท้จริง จนกระทั่งจิตยอมรับว่า สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ในดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มี ความเป็นคน เป็นสัตว์เพราะอาศัยดิน น้ำ ลม ไฟ ยังคุมกันอยู่ มีปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองโดยความเป็นเจ้าของ เพราะอาศัยกิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม จึงทำให้เราเกิดยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตาตัวตน ยึดว่าของเราของเขา ร่างกายของเราของเขา ในเมื่อเห็นว่าร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ในเมื่อเป็นเช่นนั้นจิตของผู้ภาวนาก็ได้อนัตตานุปัสสนาญาณ เห็นว่าร่างกายเป็นอนัตตาหมดทั้งสิ้น ภูมิจิตภูมิใจก็ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาเองโดยอัตโนมัติ 

อันนี้เป็นปฏิปทาของท่านอาจารย์เสาร์และอาจารย์มั่น ที่เคยได้ยินได้ฟังมาเพียงเล็กๆน้อยๆ นำมาเล่าเพื่ออาจจะเกิดประโยชน์แก่วงการนักปฏิบัติบ้าง ดังนั้นการแสดงธรรมะอันเป็นคติเตือนใจในบัดนี้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา เวลาผ่านไปถึง ๕๓ นาทีก็เห็นว่าพอสมควร ถ้าจะแสดงไปมากนัก ท่านก็เพลี่ยงพล้ำเกี่ยวกับการฟังธรรมซะจน บางทีอาจจะนึกว่าเป็นการรบกวนโสตประสาท จึงใคร่ที่จะขอสมมุติยุติลงด้วยประการฉะนี้ 

การรู้ธรรมเรียนธรรมก็เพื่อประโยชน์เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้นทั้งนี้มีถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นแต่เพียงหลักวิชาการ เป็นทฤษฏี เป็นสูตร ที่ให้เราอาศัยเป็นเครื่องมือเพื่อค้นคว้าหาความจริงตามกฏธรรมชาติ กฏธรรมชาติที่เราจะพยายามทำจิตใจให้ยอมรับก็คือกฏธรรมชาติที่เป็นผลเกิดจากการกระทำ 

คนเรามีกาย วาจา และใจ ไตรทวารทั้งสามเป็นบ่อเกิดแห่งบุญแห่งบาป ในเมื่อเราทำอะไรลงไปด้วยกาย วาจา และใจ ทำลงไปแล้วย่อมโต้ตอบ คือเราจะต้องรับผลกรรมนั้นอย่างแน่นอน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว พระพุทธเจ้าสอน อันนี้เป็นกฏธรรมชาติซึ่งเกิดจากกระทำของเราเอง แต่กฏธรรมชาติอีกส่วนหนึ่งคือความยักย้ายเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมที่เราได้ยินได้ฟังว่า อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ให้เราพิจารณาบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ ทำสติตามรู้สิ่งเหล่านี้ให้มากๆ จนกระทั่งสร้างสมรรถภาพทางสติให้มีความเข้มแข็งพอสมควรที่จะประคับประคองจิต 

ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมีอันเปลี่ยนแปลงไปตามกฏธรรมชาติ สภาพจิตของเราจะได้ยอมรับสภาพความเป็นจริง แล้วจะไม่ปฏิเสธความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเราไม่อาจสามารถที่จะคัดค้านหรือปฏิเสธได้โดยประการทั้งปวง เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตของเราก็จะรู้ซึ้งเห็นจริง ดำรงตัวอยู่ในความปกติภาพ ไม่หวั่นไหว เราก็จะมีความสุขกายสุขใจ ได้โอกาสที่จะบำเพ็ญเพียรภาวนาด้วยความสบายใจเป็นอย่างยิ่ง 

การแสดงธรรมอันนี้เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังอยู่บ้าง หรือจะถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล ขออุทิศถวายเป็นดอกไม้บูชาบุรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการขอขมาครูบาอาจารย์ที่ยังดำรงชีวิตอยู่ การแสดงธรรมถ้าหากว่าผิดพลาดด้วยประการใด ขอฝากไว้กับท่านปัญญาชนได้ช่วยพิจารณา 

ถ้าใครจะฝึกหัดตนเป็นพระโสดาบัน ต้องเป็นผู้รับฟัง มีปัญหายังตกค้างอยู่อีกอันหนึ่งว่า สักกายทิฐิ มีผู้ถามว่า พระโสดาบันละสักกายทิฐิได้แล้ว ทำไมจึงต้องมีราคะอยู่ การละกิเลสของพระโสดาบันในขั้นนี้ เป็นแต่เพียงละมิจฉาทิฐิ สักกายทิฐิคือความเห็นเข้าข้างตัว หรือพระพุทธเจ้าสอนว่า เบญจขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พระโสดาบันแม้จะยังละขันธ์ ๕ ไม่ได้ แต่ก็ละความเข้าใจผิด คือยอมเชื่อคำเทศน์ของพระพุทธเจ้าว่า รูปัง อนัตตา เวทนา อนัตตา สัญญา วิญญาณ อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พระโสดาบันฟังแล้ว พระโสดาบันก็ไม่เถียงพระพุทธเจ้า ถ้าพระโสดาบันองค์ใดยังเถียงพระพุทธเจ้าในข้อที่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา ถ้าผู้นั้นว่าไม่ใช่ๆ คือไม่ยอมรับ และไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าผู้นั้นไม่ใช่พระโสดาบัน การละสักกายทิฐินี้เป็นแต่เพียงละความเห็นเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายถึงการละกิเลส ไม่ได้หมายละรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเด็ดขาดลงไป พระโสดาบันยังยึดถือในเบญจขันธ์อยู่ ยังถือว่าเบญจขันธ์นี่เป็นเรา เป็นของเรา แต่ไม่ปฏิเสธคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นพระโสดาบันแม้ละสักกายทิฐิแล้ว ก็ยังต้องมีราคะความกำหนดยินดีอยู่ ปัญหานี้ขอให้คำตอบเพียงแค่นี้ 

และท้ายที่สุดนี้ด้วยอำนาจบุญบารมีของท่านเองด้วย ของครูบาอาจารย์ด้วย และด้วยอำนาจบุญของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อันเป็นสรณะที่พึ่ง จึงช่วยเป็นปัจจัยอุดหนุนเกื้อกูลพลังจิตของท่านทั้งหลายให้บรรลุถึงคุณธรรมอันสูงสุดคือมรรคผลนิพพานโดยทั่วกันทุกท่านเทอญ