Skip to content

นั่งสมาธิแบบหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น

คาถาพระเจ้าเปิดโลก ดูนรกสวรรค์

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ในฐานะที่อาตมาเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์ก็จะได้นำเรื่องการปฏิบัติสมาธิตามสายของท่านอาจารย์เสาร์มาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง ท่านอาจารย์เสาร์เป็นพระเถระที่ไม่ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมมากมายกว้างขวาง ท่านเรียนรู้เฉพาะข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติโดยตรง ท่านอาจารย์เสาร์ไม่ได้ สอบนักธรรมตรีก็ไม่ได้ เพราะท่านไม่สอบ แต่ความเข้าใจในพระธรรมวินัยซึ่งเป็นข้อปฏิบัตินั้น รู้สึกว่าท่านมีความเข้าใจละเอียดละออดีมาก และท่านอาจารย์เสาร์สอนพระกรรมฐานหรือสอนคนภาวนานั้น มักจะยึดเอาหลักการภาวนาพุทโธเป็นหลัก 

ยกตัวอย่างในบางครั้ง มีผู้ไปถามท่านว่า อยากจะเรียนกรรมฐาน อยากจะภาวนา จะทำอย่างไร ท่านอาจารย์เสาร์ท่านจะบอกว่า ภาวนาพุทโธสิ ภาวนาพุทโธแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ท่านจะบอกว่า อย่าถาม พุทโธแปลว่าอะไร ถามไปทำไม และท่านจะย้ำว่าให้ภาวนาพุทโธๆๆ อย่างเดียว แล้วก็ให้ภาวนาให้มากๆ กระทำให้มากๆ ทำให้ชำนิชำนาญในเมื่อตั้งใจทำจริง ผลย่อมเกิดขึ้นเองไม่ต้องถาม ทีนี้เราไปถามว่าภาวนาพุทโธแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งๆที่เรายังไม่ลงมือทำ แม้ว่าผู้ที่ท่านทำเห็นผลมาแล้ว ท่านให้คำตอบไป มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรสำหรับเราผู้ถาม เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องถาม 

ถ้าหากว่าท่านอาจจะไปเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งที่ท่านสอนให้ภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ถ้าท่านยังมีความลังเลสงสัยในโอวาทคำสอนของท่านอาจารย์ของท่านอยู่ ท่านจะภาวนาไปสักเพียงใดแค่ไหน ท่านจะไม่ได้รับผลสำเร็จ เพราะฉะนั้นท่านจะไปเรียนกรรมฐานจากสำนักไหนก็ตาม เช่นจะไปเรียนจากสำนักสัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ หรือกำหนดนามรูปอะไรก็ตาม ในเมื่อท่านเรียนมาแล้วท่านต้องตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์ของท่านอย่างจริงจัง คือว่าเอาจริงเอาจัง เชื่อฟังกันจริงๆ 

อย่างสมมุติว่าอาจารย์ของท่านอาจจะ หลังจากสอนบทภาวนาให้แล้ว อาจารย์ของท่านอาจจะสั่งว่าให้ท่านไปนั่งสมาธิบริกรรมภาวนาวันละ ๓ ครั้งหรือ ๔ ครั้ง แต่ขอให้ทำให้ได้ครั้งละ ๑ ชั่วโมง อ้าว ถ้าท่านปฏิบัติตามคำสั่งของท่านได้ จะเป็นอาจารย์ใดก็ตาม ผลย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากท่านมีความรู้สึกว่าเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ทำไปแล้วก็ไม่ได้ผล อย่าทำดีกว่า 

ทีนี้ใคร่ที่จะขอทำความเข้าใจกับบรรดาท่านผู้สนใจในการภาวนาทั้งหลาย ท่านอาจารย์เสาร์สอนให้บริกรรมภาวนาพุทโธๆ พุทโธๆ นี่เป็นบริกรรมภาวนา ในอนุสติ ๑๐ ข้อ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ หรืออนุสติอื่นๆที่มีคำบริกรรมภาวนา ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึง ข้อ ๘ เรียกว่าต้องใช้คำบริกรรมภาวนาตามบทหรือตามแบบการภาวนาในข้อนั้นๆ การภาวนาอะไรที่นึกคำบริกรรมภาวนาในใจเมื่อเราทำแล้วจิตจะสงบลงไปเพียงแค่อุปจารสมาธิ ใครจะภาวนาแบบไหนอย่างไรก็ตาม ในเมื่อนึกบริกรรมภาวนา จิตจะสงบลงไปเพียงแค่อุปจารสมาธิ 

อุปจารสมาธิมีความหมายเพียงใดแค่ไหน มีความหมายเพียงแค่ว่า บริกรรมภาวนาแล้ว จิตมีอาการสงบ เคลิ้มๆลงไปเหมือนจะนอนหลับ แล้วจิตเกิดมีความสงบนิ่ง สว่างขึ้นมา แต่ยังมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องของกาย ของลมหายใจอยู่ เรียกว่ากายยังปรากฏมีในความรู้สึก พอมีอาการเคลิ้มๆลงไปเท่านั้น คำบริกรรมภาวนาหายไปแล้ว เช่นอย่างภาวนาพุทโธๆๆๆ หรือยุบหนอพองหนอก็ตาม ในเมื่อจิตสงบเคลิ้มๆลงไป เกิดความสว่างขึ้นมา จิตมีอาการนิ่ง พอนิ่งปั๊บ คำบริกรรมภาวนาหายไปหมด เพราะฉะนั้นบริกรรมภาวนาทุกอย่างจึงทำจิตให้สงบนิ่งลงไปแค่อุปจารสมาธิเท่านั้น ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ 

ในเมื่อจิตไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ก็ไม่ถึงสมถกรรมฐาน เพราะฉะนั้นผู้ที่กล่าวว่าภาวนาพุทโธหรือบริกรรมภาวนา จิตสงบลงไปได้เพียงแค่สมถกรรมฐานเท่านั้น จึงเป็นการเข้าใจผิด ขอทำความเข้าใจกับนักภาวนาทั้งหลายไว้อย่างนี้ ทีนี้เมื่อบริกรรมภาวนาแล้ว จิตไม่ลงไปถึงอัปปนาสมาธิ เราจะทำอย่างไร 

ในตอนนี้สิ่งที่จะปรากฏขึ้นในความรู้สึกอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือความรู้สึกว่ามีกาย นอกจากความรู้สึกว่ามีกายจะปรากฏขึ้นแล้ว ลมหายใจจะปรากฏขึ้นมา ถ้ากายปรากฏขึ้นมาให้เพ่งดูกาย เรียกว่ากายคตาสติ ถ้าลมหายใจปรากฏขึ้นในความรู้สึก ให้กำหนดรู้ลมหายใจ แล้วจิตของผู้ภาวนายึดเอาอารมณ์สองอย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ปรากฏขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติ แล้วจิตตามรู้ในอารมณ์ดังที่กล่าวนั้น เช่นอย่างกายปรากฏก็ยึดเอากายคตาสติ กำหนดดูส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือจะกำหนดดู ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไปจนครบอาการ ๓๒ ก็ได้ แล้วจะเป็นอุบายทำจิตให้สงบลงไปคือสมถกรรมฐาน คืออัปปนาสมาธิ 

ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ทำอย่างนั้น ลมหายใจปรากฏขึ้นในความรู้สึก ก็กำหนดลมหายใจเข้าออก เข้าออก ตามรู้ลมหายใจไปจนกว่าลมหายใจจะละเอียด แต่ถ้าลมหายใจละเอียดแล้วลมหายใจหายไป จิตจะสงบเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ โดยปราศจากความรู้สึกนึกคิดมีแต่จิตนิ่งอยู่เฉยๆ อันนี้จิตเข้าไปสู่สมถะ จิตอยู่ในจิต รู้อยู่เฉพาะในจิตอย่างเดียว สิ่งที่เรียกว่าความรู้ย่อมไม่ปรากฏขึ้น เพราะในขั้นนี้ความรู้สึกว่ามีกายก็ไม่มี ความรู้สึกว่ามีลมหายใจก็ไม่มี เจตนาที่จะน้อมนึกถึงอะไรในขณะนั้นไม่มีทั้งสิ้น เป็นสภาวะจิตที่ไร้สมรรถภาพโดยประการทั้งปวง อย่างดีก็เพียงแค่ทรงตัวอยู่ในความสงบนิ่ง 

ถ้าผู้ภาวนามาติดอยู่ในช่วงนี้ จิตของท่านจะติดอยู่ในอัปปนาสมาธิ ถ้าหากมีสมรรถภาพพอที่จะก้าวหน้าไปหน่อย ก็อย่างดีก็เดินแบบฌาณสมาบัติ ไป อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไปเดินสายศาสนาพราหมณ์ไป แต่พุทธกับพราหมณ์ก็อาศัยกัน ถ้าใครสามารถทำได้ก็ดีเหมือนกัน อย่าไปปฏิเสธว่าไม่ดี แต่เมื่อทำได้แล้วอย่าไปติด เพราะการเล่นฌาณนี่ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ทำให้ติด ถ้าไปติดสมาธิในขั้นฌาณแล้ว ภูมิจิตภูมิใจจะไม่เกิดความรู้ หรือไม่เดินขั้นวิปัสสนา อันนี้คือทางแวะ 

ทีนี้ถ้าหากว่าจิตในเมื่อดูลมหายใจละเอียดยิ่งลงไปทุกทีๆ ตามหลักปริยัติท่านเตือนไว้อย่างหนึ่งว่า เมื่อลมหายใจทำท่าจะหายขาดไป ให้นึกว่าลมหายใจยังมีอยู่ ถ้ากายจะหายไป ท่านให้นึกว่ากายยังมีอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่ออะไร เพื่อให้จิตของเรานั้นไม่ปราศจากสิ่งที่รู้ ในเมื่อจิตเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิอย่างไม่มีอะไร มีแต่ความรู้สึกภายในจิตเป็นหนึ่งอย่างเดียว จิตไม่มีเครื่องรู้ ในเมื่อจิตไม่มีเครื่องรู้ จิตก็ไม่มีฐานที่ตั้ง ในเมื่อจิตไม่มีฐานที่ตั้งก็ขาดมหาสติปัฏฐาน เพราะมหาสติปัฏฐานเท่านั้นจะเป็นฐานสร้างพื้นฐานของจิตให้มีความมั่นคงในการปฏิบัติ 

ทีนี้เมื่อจิตเข้าไปอยู่ในจิต กายก็ไม่มี ลมหายใจก็ไม่มี มันก็เลยไม่มีที่ตั้ง จิตไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่ระลึก ไม่มีเครื่องรู้ สมรรถภาพทางจิตแม้จะนิ่งได้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นท่านจึงให้นึกว่ากายจะหายไป ก็นึกว่ากายมีอยู่ ให้จิตมารู้อยู่ที่กาย กายเป็นเครื่องรู้ของจิตเป็นเครื่องระลึกของสติ ในเมื่อจิตมีกายเป็นเครื่องรู้ สติมีกายเป็นเครื่องระลึก ระลึกอยู่อย่างนั้นเป็นฐานที่ตั้งของสติ เมื่อจิตมีความรู้ซึ้งเห็นจริงในเรื่องของกายขึ้นมาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นมหาสติปัฏฐานก็เกิดขึ้น เรียกว่ามีสติสัมปะชัญญะสมบูรณ์ อันนี้คือแนวทางที่ท่านอาจารย์เสาร์ได้สอนมา 

และอีกอย่างหนึ่งในตอนต้นๆ อาตมาได้พูดถึงอุปจารสมาธิ ในเมื่อผู้บริกรรมภาวนา จิตมีอาการสงบเคลิ้มๆลงไปแล้วเกิดสว่าง ตรงนี้สำคัญมาก เพราะการบริกรรมภาวนาถ้าจิตสงบแล้ว มีอาการเคลิ้มๆลงไป จิตเกิดสว่างขึ้นมา ความสว่างในขั้นนี้จะมีความรู้สึกว่า แสงสว่างมันพุ่งออกไปทางตา ออกจากตา แล้วความสว่างจะมุ่งตรงไปด้านหน้า ในขณะที่จิตสงบลงไปอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ ส่วนมากจะมีลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น มีสติบ้าง ไม่มีสติบ้าง บางทีก็หลงๆลืมๆ แล้วก็มีความสว่างเป็นเครื่องหมาย ความสว่างนี้มีความรู้สึกส่งกระแสออกไปจากทางตา ทีนี้เมื่อความสว่างมันส่งกระแสออกไปถึงไหนถึงไหน จิตก็พุ่งไปตามแสงสว่างนั้น 

เมื่อจิตออกไปตามแสงสว่างย่อมเกิดภาพนิมิตต่างๆขึ้นมา บางทีในตอนนี้เราอาจจะเห็นภาพคนภาพสัตว์ หรือบางทีเห็นภูติผีปีศาจ ในเมื่อเห็นรูปภาพต่างๆ เราก็จะไปสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งเหล่านั้นมาขอส่วนบุญ แล้วก็จะไปตั้งอกตั้งใจแผ่ส่วนบุญให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น ในเมื่อเกิดมีความตั้งใจขึ้นมา สภาพจิตที่กำลังเริ่มจะสงบ มันก็เปลี่ยน คือเปลี่ยนจากการเป็นสมาธิ จากความสงบมาเป็นความไม่สงบ คือสมาธิถอนนั่นเอง เมื่อสมาธิถอนขึ้นมาแล้ว ภาพนิมิตต่างๆก็หายไปหมด แม้ว่าเราจะนึกแผ่ส่วนกุศลให้เค้าเหล่านั้น มันจึงมีลักษณะคล้ายๆกับว่า เค้ากลัวบุญเรา เค้าเลยไม่ยอมรับ เลยหายไปเฉยๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาพนิมิตต่างๆที่เรามองเห็นนั้นไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมาแสดงให้เราเห็น เป็นจิตของเราปรุงแต่งขึ้นมาเอง 

ทำไมจึงต้องปรุงแต่งขึ้นมาอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่าเราภาวนาแล้วเราอยากเห็น และโดยส่วนมากครูบาอาจารย์ที่สอนกรรมฐาน สอนให้ลูกศิษย์นั่งภาวนา พอเลิกภาวนาแล้วมักจะถามว่า “เห็นอะไรบ้าง” ทีนี้คำว่า “เห็นอะไรบ้าง”เนี่ย มันก็เลยไปฝังอยู่ในความรู้สึก ในเมื่อภาวนาลงไปแล้ว ทุกคนจะต้องเห็น ถ้าภาวนาไม่เห็นแล้ว แสดงว่าภาวนา(เทปขาดตอน) เพราะฉะนั้นในเมื่อเรามีอุปาทานอยากรู้อยากเห็นอยู่อย่างนี้ เมื่อภาวนาจิตสงบลงไปแล้วสัญญาในอดีตที่อยากรู้อยากเห็นมันก็ผุดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เสร็จแล้วมันก็แสดงภาพต่างๆให้เราเห็น อันนี้คือประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายในจิตของผู้ภาวนา 

ทีนี้ถ้าหากว่าผู้ภาวนานั้นเห็นนิมิตแล้วไปเอะใจ สมาธิถอนภาพนิมิตนั้นหายไป ก็เป็นอันว่าแล้วไป แต่ถ้าต่างว่า ในเมื่อเห็นภาพนิมิตเช่น เห็นเทวดาเป็นต้น แล้วจิตไปติดอยู่กับเทวดา ไปเห็นความสวยงามของเทวดา แล้วจะรู้สึกว่าธรรมดาเทวดานั้นจะต้องอยู่บนสวรรค์ ในเมื่อนึกว่าเทวดาอยู่บนสวรรค์ เราก็อยากจะไปดูเทวดาบนสวรรค์บ้างหละ ก็เลยติดสอยห้อยตามเทวดานั้นไป ซึ่งสุดแท้แต่เทวดาเค้าจะพาไปที่ไหน ถ้าหากสมาธิถอนขึ้นก็เป็นอันว่าแล้วไป แต่ถ้าสมาธิไม่ถอน ก็ไปติดกับภาพนิมิตของเทวดานั้น แล้วก็ตามหลังเทวดาไป ในที่สุดผู้ภาวนาจะมีความรู้สึกคล้ายๆกับเราเดินตามหลังเทวดาไป เมื่อเทวดาเค้าพาไปไหน เราก็ตามไป 

ถ้าจิตใจของเรานึกว่าเราจะไปดูสวรรค์ ภาพนิมิตของสวรรค์ก็จะเกิดขึ้น เลยกลายเป็นเรื่องไปเที่ยวสวรรค์ ถ้านึกถึงนรก ภาพนรกก็จะเกิดขึ้น แล้วก็กลายเป็นว่าไปเที่ยวไปดูนรก สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทางผ่านของนักบำเพ็ญจิต บำเพ็ญภาวนาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านจึงแนะนำสั่งสอนว่า ในขณะที่เราทำสมาธิภาวนาอยู่นั้น ให้กำหนดรู้ลงที่จิต นิมิตภาพอะไรต่างๆเกิดขึ้น อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของจริง เป็นแต่ภาพนิมิตหลอกลวงเท่านั้น 

แต่สำหรับผู้ที่มีสติปัญญาพอสมควร ก็สามารถที่จะน้อมเอานิมิตนั้นๆมาเป็นเครื่องรู้ของจิต มาเป็นเครื่องพิจารณา เป็นเครื่องระลึกของสติ ก็สามารถทำสติ สมาธิ ปัญญาให้เกิดขึ้นได้ มีความมั่นคง มีความเฉลียวฉลาดในการปฏิบัติได้เหมือนกัน แต่ส่วนมากนั้นมักจะหลง หลงนิมิตต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น สำคัญว่าเป็นจริงเป็นจัง และยิ่งกว่านั้นบางทีอาจจะคิดว่า ภาพนิมิตต่างๆที่เห็นเหล่านั้นเราจะสำคัญว่าสิ่งเหล่านั้นคือเจ้ากรรมนายเวรที่เขาจะต้องมาทวงหนี้อะไรต่ออะไรทำนองนั้น ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติทั้งหลายขอให้มีสติสัมปะชัญญะระมัดระวังเรื่องภาพนิมิตต่างๆ 

ขอยืนยันว่าภาพนิมิตต่างๆเหล่านั้น ไม่ใช่ของจริง เป็นมโนภาพที่เราสร้างขึ้นเอง มโนภาพอันนั้นเราตั้งใจจะสร้างขึ้นหรือเปล่า ไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างขึ้น แต่เรามีอุปาทานอยากรู้อยากเห็น เมื่อจิตสงบลงไปสู่ระดับอุปจารสมาธิ แล้วจิตของเราอยู่ในลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น บางครั้งก็มีสติสัมปะชัญญะสมบูรณ์ บางครั้งก็ขาดสติ ในช่วงที่เราขาดสตินั้นภาพนิมิตจะบังเกิดขึ้น และภาพนิมิตอันนั้นไม่ใช่ของจริง ทำไมจึงยืนยันว่าไม่ใช่ของจริง บางทีในตำรับตำราท่านก็ยืนยันว่าเป็นของจริง แล้วพระองค์นี้ทำไมจึงยืนยัน ปฏิเสธว่าไม่ใช่ของจริง 

ที่กล้าปฏิเสธว่าไม่ใช่ของจริงเพราะเหตุว่า ในบางครั้งอาตมาได้เคยพิจารณาดูความตายในตัวของตัวเอง ว่าอยากจะรู้ว่าความตายมันคืออะไร คนเราเกิดมาทั้งทีนี่ไหนๆเราก็จะต้องตายอยู่แล้ว ควรจะรู้ว่าความตายคืออะไรก่อนที่มันจะตายจริง พอเสร็จแล้วก็มาพิจารณากำหนดดูความตาย ในเมื่อความตายมันปรากฏขึ้นโดยลักษณะที่ว่าจิตมันออกจากร่าง แล้วก็ไปลอยอยู่เอกเทศส่วนหนึ่งซึ่งห่างจากร่างกายประมาณ ๒ เมตร พอเสร็จแล้วจิตมันก็ส่งกระแสลงมาตรวจดูร่างกาย ร่างกายที่นอนเหยียดยาวอยู่นั้นก็ค่อยขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพังไปตามขั้นตอนของมัน ในที่สุดก็สลายตัวไม่มีอะไรเหลือ ยังเหลือแต่ความว่าง 

พอเสร็จแล้วไอ้ความว่างอันนั้นมันก็กลับมาเป็นขึ้นมาอีก เป็นกระดูก เป็นโครงกระดูก เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นรูปเป็นร่างสมบูรณ์กลับคืนมาอีก แล้วก็สลายตัวไปอีก กลับไปกลับมาอย่างนั้น ทีนี้สิ่งที่เป็นเครื่องหมายของความตายที่ทำให้เรารู้ว่าตายนั้นก็คือร่างกายของเรา เพราะร่างกายมันนอนเหยียดยาวอยู่ ไม่ไหวติง และสิ่งที่มันรู้ว่าร่างกายสลายผุพังไป แต่เมื่อจิตมันออกจากความเป็นอย่างนั้นมาแล้ว มันก็กลับมาเป็นตัวเป็นร่าง เป็นตัวเป็นตนอย่างเดิม แล้วร่างกายที่มองเห็นว่ามันสลายตัวไปนั้น มันก็ยังอยู่อย่างเก่า หาได้สลายตัวไปไม่ 

เพราะฉะนั้นจึงยืนยันได้ว่านิมิตทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นกับผู้ภาวนาในขั้นต้นนี้คือนิมิตซึ่งจิตของเราปรุงเป็นภาพขึ้นมาเองต่างหาก ไม่ใช่เรื่องอื่นมาแสดงตัวให้เราเห็น แม้แต่ร่างกายที่ตายแล้ว เน่าเปื่อยผุพังลงไปก็ตาม ไม่ใช่ร่างกายเป็นตัวแสดง แต่จิตตัวสังขาร ตัวปรุงนี้ต่างหากที่มันปรุงแต่งให้เป็นไปอย่างนั้น ทำไมมันจึงปรุงแต่ง เพราะเราอยากรู้อยากเห็น อยากให้มันเป็นอย่างนั้น อันนี้มันเป็นอุปาทานเดิมที่เราตั้งใจเอาไว้ว่า เราอยากจะรู้เห็นเป็นจริงอย่างนี้ 

ในเมื่อเราฝึกหัดจิตให้เป็นสมาธิ มีสติปัญญาพอที่จะน้อมนึกสิ่งเหล่านั้นให้เป็นไปได้ด้วยความแน่วแน่ เมื่อทำชำนิชำนาญแล้ว มันก็ย่อมเป็นไปได้ตามที่เราต้องการ เราสร้างมโนภาพเหล่านั้นขึ้นมาทำไม ก็เพื่อเป็นอุบายจะสอนใจของเราให้มันรู้จริง รู้ว่าเราจะตายจริง ตายแล้วมันจะต้องเน่าจริง เน่าแล้วมันจะต้องสลายตัว สาบสูญไปจริง เพื่อให้จิตมันรู้สึกสำนึกว่าความตายเนี่ย ใครจะเสียใจก็ตาม ไม่เสียใจก็ตาม ใครจะชอบก็ตาม ไม่ชอบก็ตาม ใครจะยินดีก็ตาม ไม่ยินดีก็ตาม ในเมื่อถึงวาระที่เขาจะต้องมีอันเป็นไป เขาจะต้องไปตามกฏธรรมชาติของเขา 

พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาความตาย ก็เพื่อมุ่งประสงค์ที่จะให้ทุกคนยอมรับสภาพความเป็นจริง ว่าเราจะต้องตายกันจริงๆ ที่เรากลัวตาย กลัวความเจ็บ กลัวความแก่ ความตายอะไรต่างๆหมู่นี้ ที่เรากลัวก็เพราะว่า เรายังไม่รู้ซึ้งเห็นจริง ในเมื่อเราไม่รู้ซึ้งเห็นจริง เราก็ไม่ยอมรับสภาพเป็นจริง เมื่อเราไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง เราก็ยังปฏิเสธของจริงอยู่นั่นแหละ ตราบใดที่ เราก็ยังปฏิเสธของจริง เราก็เป็นทุกข์วันยันค่ำ 

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนี่เรามีจุดมุ่งประสงค์ หนึ่ง เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ ประการที่สอง เพื่อให้เกิดสติปัญญา ซึ่งเกิดจากสมาธิเรียกว่าสมาธิปัญญา สมาธิปัญญานี่คือปัญญาที่เกิดจากจิตสงบเป็นสมาธิ สามารถที่จะบันดาลจิตให้เกิดความรู้ภูมิจิตภูมิธรรมเป็นลำดับ ซึ่งสุดแท้แต่สมรรถภาพของผู้บำเพ็ญนั้นจะสามารถทำให้เป็นไปได้เพียงใดแค่ไหน 

การทำสมาธิโดยทั่วๆไป เราไม่จำเป็นจะต้องมีศีลก็ได้ แต่สมาธิของผู้ไม่มีศีลนั้น ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้มรรคผลนิพพาน เช่นสมาธิของนักไสยศาสตร์ เค้าอาจจะบริกรรมภาวนาคาถาของเค้าแล้ว สามารถปล่อยตะปูหรือทอกหนังบังฟันอะไรทำนองนั้น ทำให้คนเจ็บ คนไข้ คนตายได้ อันนี้ก็คืออำนาจสมาธิ ถ้าสมาธิไม่มีแล้ว หนังแผ่นโตๆเบ้อเร่อจะครอบลงมาให้เล็กนิดเดียวได้อย่างไร ตะปูซึ่งมันไม่มีจิตมีใจมีวิญญาณ แล้วจะไปปล่อยเข้าท้องเข้าไส้คนได้อย่างไรถ้าไม่มีสมาธิ แต่สมาธิที่เป็นไปเพื่อความทำลายเนี่ย มุ่งที่จะทำลายเนี่ย เป็นมิจฉาสมาธิ 

อย่างญาติโยมทั้งหลายที่พากันทำสมาธิภาวนาเนี่ย พอตั้งใจจะภาวนาลงไปแล้วเนี่ย สาธุๆๆ ข้าพเจ้าภาวนาแล้วพรุ่งนี้ขอให้ถูกหวยเบอร์…มิจฉาสมาธิ ขอให้ข้าพเจ้ามีคนนิยมนับถือมากๆ…มิจฉาสมาธิ 

สัมมาสมาธินั้นก็มุ่งให้จิตสงบตั้งมั่นให้รู้จริงเห็นจริงภายในจิตในใจของตนเอง อย่างน้อยก็ให้รู้ว่าใจของเราจิตของเรานี่มันเป็นอย่างไร มันเป็นคนขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง หรืออะไรก็แล้วแต่ อ่านตัวเองให้มันออก นี่คือจุดที่เราจะต้องการรู้ 

รู้สิ่งภายนอกนั้น รู้มากมายก่ายกองสักเพียงใดก็ตาม ไม่เกิดประโยชน์สำหรับผู้รู้ ยิ่งรู้มากก็ยิ่งยากนาน ท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นท่านได้ทดสอบดูแล้ว ความรู้ที่ท่านเคยทำมานั้น เช่นอย่างสมมุติว่าทำสมาธิได้ดีแล้ว เกิดมีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ทำเครื่องลางของขลังก็วิเศษ สามารถรู้กระทั่งจิตใจของคน และบางทีสามารถที่จะนึกภาวนาอยู่ที่คติ แล้วจะนึกให้ใครเป็นอย่างไรๆก็ได้ แต่เสร็จแล้วยิ่งเก่งก็ยิ่งกิเลสตัวโตขึ้น ท่านจึงเห็นว่ามันไม่ถูกทาง 

เพราะฉะนั้นสมาธิที่จัดว่าเป็นสัมมาสมาธินั้น คือมุ่งตรงต่อสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง ญายะปฏิปันโน ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบยิ่ง ตามแนวทางแห่งสังฆคุณจึงจะได้ชื่อว่าเป็นสัมมาสมาธิ 

ทีนี้ตอนที่อาตมากล่าวว่า การทำสมาธิไม่จำเป็นจะต้องมีศีล สมาธิที่ไม่มีศีลเป็นหลักประกันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ผู้ภาวนาแล้วมักจะกลายเกิดเป็นสัญญาวิปลาส นักภาวนาที่ภาวนาเก่งๆแล้วบางทีเสียสติสตังเป็นบ้าเป็นบอไปเพราะศีลไม่บริสุทธิ์ ถ้าหากว่ามีศีลบริสุทธิ์สะอาดดีแล้วภาวนาอย่างไร ไม่เกิดความเห็นผิด สัญญาวิปลาสไม่มี เพราะศีลตัวเดียวเท่านั้นเป็นเครื่องประกันความบริสุทธิ์ของผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นสาธุชนผู้มุ่งที่จะบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อให้บรรลุมรรคผลกันจริงจัง จะต้องมั่นใจหรือจะต้องตั้งใจให้แน่วแน่ว่า เราจะต้องเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ตามขั้นภูมิของตัวเอง เพราะความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์นั้นเป็นการตัดผลเพิ่มของกรรม 

อย่างเมื่อวานนี้เราอาจจะตบยุงอยู่หลายตัว แต่วันนี้เรามีศีล เราก็เลิกการฆ่าสัตว์ เมื่อเราเลิกการฆ่าสัตว์แล้ว ผลบาปที่จะเกิดจากการฆ่าสัตว์เป็นอันยุติตั้งแต่เวลาที่เราสมาทานศีลมา เพราะฉะนั้นศีลเนี่ยนอกจากจะเป็นขอบเขตของการใช้กิเลสของคนแล้ว ยังเป็นหลักประกันความบริสุทธิ์ เป็นการตัดผลเพิ่มของบาป 

คนเรานี่สามารถที่จะคิดได้ทั้งดีและชั่ว แต่เมื่อเราคิดดี เราทำดีนั้นเป็นผลดี แต่ถ้าเราคิดชั่วแล้วทำชั่วด้วย อันนั้นเป็นผลเสียหาย ไอ้เรื่องของความคิดนี้เราห้ามไม่ได้ เพราะมันคิดมาเสียจนเป็นนิสัยประจำสันดานแล้ว แต่เมื่อเราคิดแล้ว เราก็นึกถึงศีลที่เราสมาทาน คิดจะฆ่า นึกถึงปาณาติบาท คิดจะลัก นึกถึงอทินนาทาน คิดว่าจะละเมิดข้อไหน นึกถึงศีลข้อนั้น แล้วเราก็ไม่ทำลงไป เป็นอันว่ายุติการทำความชั่วทางกาย ทางวาจาเสียที 

ในเมื่อเราไม่มีการทำชั่วทางกายทางวาจา ผลวิบากที่จะเพิ่มปริมาณขึ้น เรียกว่าเป็นบาปกรรมที่เราจะต้องตามไปรับผลสนองนั้น ย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น ส่วนของเก่านั้นปล่อยให้มันมีอยู่อย่างนั้น แล้วเราก็ทำความดีใหม่เรื่อยไป เมื่อความชั่วที่เราไม่ได้ทำนั้นมันห่างกันไปนานๆเข้า จิตใจของเรามันก็ไม่นึกถึงบ่อยนัก มันก็ห่างจากความชั่วที่มีอยู่ เป็นโอกาสที่จะให้เราทำดี ทำดี ทำดี ทำดีเรื่อยๆไป 

การทำดีเนี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการภาวนานี่ ถ้าหากใครไม่สามารถที่จะเข้าใจในเหตุผลอะไรต่างๆ ก็ทำไปเถอะ ทำไปอย่างที่ท่านอาจารย์เสาร์ว่า ภาวนาพุทโธสิ ในเมื่อตั้งใจภาวนาพุทโธอย่างจริงจังแล้ว อย่าไปกลัวว่าจิตมันจะไม่สงบ อย่าไปกลัวว่าวิปัสสนากรรมฐานมันจะไม่เกิดขึ้น ขอให้มันมีสมถะกันเอาไว้ก่อน อย่าไปกลัวสิ่งที่เรายังไม่มี ถ้าหากสมมุติว่าเราจะหาเงินหาทองให้มันร่ำรวย แต่เรากลัวเป็นเศรษฐี เมื่อไหร่มันจะได้เป็นซักที ทีนี้เราจะภาวนาให้จิตสงบ กลัวแต่ว่าเราจะไปติดสมถะ ทั้งๆที่จิตของเราไม่เคยผ่านสมถะเลย แล้วเมื่อไหร่มันจะถึงสมาธิสมถะกันเสียที เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัว ขอให้ทำจริง 

นอกจากที่จะกล่าวถึงเรื่องการทำสมาธิตามแบบของท่านอาจารย์เสาร์แล้ว อาตมาใคร่จะแทรกๆอะไรเข้ามาพอเป็นเครื่องพิจารณาสำหรับท่านบางท่านอาจจะมีความสนใจ ไอ้เรื่องที่ท่านทั้งหลายอาจจะมีความสงสัยอย่างมากทีเดียว ก็คือเรื่องมโนมยิทธิ มาพูดกันเรื่อง มโนมยิทธิ แต่ว่ามโนมยิทธิคืออะไรนั้น อาตมาจะไม่ขออธิบาย เพราะความเข้าใจในเรื่องมโนมยิทธิ ขอออกตัวว่ายังไม่เข้าใจ แต่วิธีการที่จะทำให้คนไปดูนรกดูสวรรค์ได้นั้น เข้าใจและเคยทำมาแล้ว และบางทีอาจจะทดลองดูก็ได้ แต่สำหรับวันนี้เวลาไม่พอ ไม่ทดลอง 

วิธีการไปดูนรก ดูสวรรค์นั้นเค้ามีไปกันได้หลายวิธี หนึ่ง ภาวนาพุทโธแล้วน้อมใจไปดูนรกดูสวรรค์ เมื่อจิตสงบลงเป็นอุปจารสมาธิตามที่กล่าวแล้ว ไปดูนรกดูสวรรค์ได้ ประการที่สอง ภาวนาคาถาพระเจ้าเปิดโลก ประการที่สาม ภาวนาคาถาปลุกพระคือ นะ มะ พะ ทะ ประการที่สี่ใช้วิธีการสะกดจิตแบบชาวตะวันตกเขาใช้ สามารถที่จะส่งคนไปดูนรกดูสวรรค์ได้ 

ถ้าหากบรรดาท่านที่นั่งฟังเทศน์อยู่นี่ ถ้ารู้จักวิธีการทำเพียงนิดเดียว ท่านสามารถที่จะควบคุมคนนั่งไปดูนรกดูสวรรค์ได้ แต่เมื่อเรายังไม่รู้จักวิธีการที่จะทำคนให้ไปดูนรกดูสวรรค์ได้ เราไม่รู้วิธีการ และไม่รู้ข้อเท็จจริง เราอาจจะเห็นเป็นเรื่องอัศจรรย์ อาตมาจะขอแนะวิธีการเอาไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ทดสอบมาแล้ว วิธีการไปดูนรกดูสวรรค์ด้วยการภาวนาคาถาพระเจ้าเปิดโลก คาถานั้นมีอยู่ว่า ท่านผู้มีเทปอาจจะไม่ลำบากในการจดจำ วิธีการในเบื้องต้นให้หาดอกไม้คู่หนึ่ง เทียนคู่หนึ่ง เอามาเสกด้วยคาถาพระเจ้าเปิดโลก แล้วนำผู้ที่จะให้นั่งภาวนานั้นไหว้พระอรหัง สวากขาโต สุปฏิปันโน นำว่า นะโมตัสสะ แล้วก็เอาดอกไม้ใส่มือให้เค้าประนมเอาไว้อย่างนี้ แล้วก็บอกเค้าว่า 

พุทโธ ทีปังกะโร โลกะทีปัง อากาสะ กะสิณัง วิโสทะยิ 

ธัมโม ทีปังกะโร โลกะทีปัง อากาสะ กะสิณัง วิโสทะยิ

สังโฆ ทีปังกะโร โลกะทีปัง อากาสะ กะสิณัง วิโสทะยิ

พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้าเป็นดวงประทีปแก้วส่องโลก ขอจงโปรดส่องสว่างทางนรก ทางสวรรค์ให้ข้าพเจ้าเห็นจริงแจ่มแจ้งในกาลบัดนี้ด้วยเถิด” 

แล้วก็ให้คนถือดอกไม้บริกรรมภาวนา ถ้าจะให้ไปดูสวรรค์ ก็ให้ภาวนาว่าสวรรค์ๆๆ แล้วก็คอยสังเกตดูว่าคนภาวนานั้นมีอาการสั่นๆๆขึ้น พอสั่นขึ้นแล้วแสดงว่าจิตของเขานี่กำลังเริ่ม มีอาการเคลิ้มๆ แล้วเราก็ออกคำสั่งได้ทันที ว่าทำใจให้อ่อนๆ ทำใจให้สว่าง แล้วก็มองไปไกลๆ ถ้าเห็นเทวดาให้เทวดาพาไปดูสวรรค์ ถามทางเค้าไป ทีนี้ในเมื่อเค้าเห็นเทวดาแล้ว เค้าจะบอกกับเราว่าเห็นแล้ว เอ้า ขอไปกับเทวดา แล้วเทวดาจะพาไป ในขณะที่เขาไปนั่น แสดงอาการไปเขาจะสั่นแรงขึ้น ถ้าไปเร็วก็ยิ่งสั่นแรง ถ้าเดินไปธรรมดาก็สั่นไปธรรมดาๆ นี่ถ้าเหาะไปเค้าจะกางปีกออก ทำท่าเหาะ อันนี้ไปทดลองดูได้ 

และอีกวิธีหนึ่งนั้น อันนี้เป็นวิธีสะกดจิตแบบฝรั่ง อันนี้จับเด็กมา เด็กอายุประมาณ ๑๒ ขวบถึง ๑๕ ขวบ หรือจะเป็นใครก็ได้ เอามาแล้วก็บอกเค้าว่าบัดนี้ฉันจะสะกดเจ้าให้ไปดูนรกดูสวรรค์ ถ้ามีอะไรที่มีแสงมีเงา มีเงาสะท้อนก็เอายื่นใส่มือให้เค้า บอกว่านี่ของวิเศษ ถ้าจะมองดูของสิ่งนี้ แล้วจะมองดูของสิ่งนี้แล้วเจ้าจะนอนหลับ แล้วก็บอกให้เค้าหลับซะ หลับๆๆ พอสังเกตดูหนังตาเค้าหนักลงๆๆ แล้วทีนี้เราก็โบกมือบอกให้เค้าหลับ เอ้า นอนหลับซะ พอเค้าหลับตา แล้วปล่อยให้เค้าหลับอยู่ซักพักนึง แล้วก็ไปบอกกับเค้าว่าบัดนี้ฉันจะสะกดเจ้าให้ไปดูนรก ดูสวรรค์ ฉันจะปลุกเสกเจ้าให้เป์นผู้มีฤทธิ์มีอิทธิพล สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ สามารถจะไปไหนมาไหนได้ทุกหนทุกแห่ง ตามที่ฉันจะสั่งให้เจ้าไป เอ้า เจ้าไปดูนรกได้ นรกอยู่ทางทิศโน้น มองไปไกลๆ แล้วเจ้าจะเห็นนรก เจ้าเห็นอะไรแล้ว เจ้าพูดกับฉันได้ บอกฉันได้ พอเค้าไปเห็นแล้ว เค้าจะบอกว่า โอ้ เห็นแล้ว ยมบาลมีรูปร่างลักษณะอย่างนั้น สัตว์นรกมีลักษณะอย่างนี้ หม้อนรกใหญ่ขนาดโน้นขนาดนี้ เค้าจะเล่าให้เราฟังทันที อันนี้คือวิธีการไปดูนรกสวรรค์ 

ใครจะว่าเป็นมโนมยิทธิหรือไม่ อาตมาไม่สนใจ แต่ถ้าใครสามารถทำได้ ดี! อย่าไปตำหนิท่านผู้ทำได้ ในฐานะที่เรายังไม่รู้แจ้งเห็นจริง อย่าไปตัดสินว่าของใครผิด ของใครถูก อันนี้อาตมาเป็นห่วง อย่างมีครูบาอาจารย์บางท่านที่ท่านทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เราต้องพยายามพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ท่านผู้ทำ การศึกษาเนี่ยไม่ว่าทางโลกทางศาสนา เรามีโสตศึกษา ทัศนศึกษา การเทศน์ว่านรกเป็นอย่างนั้น สัตว์นรกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สวรรค์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เทวดามีรูปร่างลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ นี่เป็นโสตศึกษา เป็นแต่เพียงได้ยินได้ฟัง แต่ถ้าใครสามารถสะกดจิตคนให้ไปดูหน้าเทวดา ให้ไปดูหน้าสัตว์นรกได้เป็นดีวิเศษ ได้ทั้งโสตศึกษา ทั้งทัศนศึกษา 

ที่ว่าได้นั่นคือได้อย่างไร คนที่ไปเห็นสัตว์นรกตกนรกอยู่ในนรกเนี่ย มันเป็นสถานที่ทรมานเหลือเกิน ไปเห็นแล้วอยู่ในสภาพที่น่ารำคาญ น่าเบื่อ เพราะมันทุกข์จริงๆ ทีนี้เสร็จแล้วเค้าก็ไปรู้ว่าสัตว์ที่มาตกนรกเนี่ยทำบาปอะไร พอเค้ารู้แล้วว่าทำบาปอย่างนี้มาตกนรก พอเค้ากลับมาแล้วทีนี้เค้าก็กลัวบาป เค้าไม่ทำบาป ทีนี้คนที่ไปเห็นเทวดา เห็นวิมานสมบัติของเทวดาแล้ว อยากเป็นเทวดา อยากได้สมบัติของเทวดา กลับมาแล้วก็ทำบุญ นี่คือผลที่จะพึงได้ 

เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นอุบายสอนคนให้รู้จักศีล รู้จักธรรม ให้รู้จักทำบุญสุนทาน อย่างอาตมามาเทศน์ให้ท่านทั้งหลายฟังนี่ว่าทำสมาธิแล้วจิตเป็นอย่างนั้นๆๆ อาตมาก็ไม่สามารถที่จะเอาจิตของอาตมาออกไปให้ญาติโยมดูได้ และบางครั้งญาติโยมบางคนก็อาจจะไม่เคยผ่านความเป็นสมาธิมา เราก็ได้ยิน ได้ฟังแต่เสียงพูด ก็ได้แต่โสตศึกษา แต่ทัศนศึกษานี่เรายังไม่ได้เพราะเรายังไม่ได้เป็นสมาธิ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมเนี่ยหรือการสอนธรรมเนี่ยแล้วแต่อุบาย การทำให้คนไปดูนรกดูสวรรค์ได้นี่ ขอยืนยันว่าเป็นของดี ใครสามารถที่จะทำได้เชิญเถอะ บางทีอาจจะทำให้พวกเด็กๆได้เชื่อว่านรกสวรรค์มีบ้าง คนทุกวันนี้ส่วนมากไม่เชื่อว่านรกมี สวรรค์มี เพราะฉะนั้นถ้าใครหยิบเอานรกมาตีแผ่ให้เค้าดูได้ เชิญเลย จะเป็นประโยชน์แก่สังคมไม่น้อยทีเดียว 

สำหรับการกล่าวธรรมะพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของบรรดาท่านผู้ฟัง ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา การพูดมาก็โกหกมาก การพูดมากก็ผิดพลาดมาก ดังนั้นอะไรที่มีความผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่อง อาตมาก็ถือโอกาสนี้ขออภัยท่านผู้ฟังด้วย ถ้าหากว่าสิ่งใดพอที่จะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติก็ให้น้อมไปพินิจพิจารณา แล้วก็พยายามพากเพียรปฏิบัติตาม บางทีก็จะเกิดผลแก่ผู้ปฏิบัติบ้างตามสมควร 

ในท้ายที่สุดนี้ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย คุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์จงช่วยเป็นสื่อดลบันดาลจิตใจของทุกท่านให้ดำเนินเข้าไปสู่ความตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะธรรมตามความเป็นจริง สามารถที่จะละกิเลสอันเป็นสิ่งซึ่งเป็นข้าศึกรบกวนความสุขภายในจิตใจ ให้จิตใจมีความสงบสว่าง และบรรลุผลสำเร็จคือมรรคผลนิพพานโดยทั่วกันทุกท่านเทอญ

https://youtu.be/2Qp8fQ47dvk