หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ณ โอกาสนี้จะได้บรรยายธรรมะอันเป็นคำสอนของพระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ เรามาฟังธรรมเพื่อให้มีความรู้ เพื่อจะได้นำไปฏิบัติ ดังนั้นถ้าเราฟังธรรมไปด้วย นั่งปฏิบัติไปด้วยจะดีมั้ย ถ้าดีก็เชิญท่านกำหนดจิต ทำสมาธิในท่าที่ท่านเห็นว่าสบาย นั่งขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย มือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก
ท่านผู้ใดจะกำหนดอารมณ์อะไรได้ ไม่ขัดข้องตามที่ตัวชำนาญและคล่องตัว เคยภาวนาพุทโธก็พุทโธไป กำหนดลมหายใจออกเข้าก็กำหนดไป สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอก็กำหนดไป หรืออารมณ์อื่นๆที่ท่านถนัดใจก็ว่ากันไปไม่ขัดข้อง เพราะธรรมชาติของจิตถ้ามีอารมณ์สิ่งรู้แล้วเรามีสติควบคุมรู้อยู่ให้จิตมีสิ่งรู้ ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติสมาธิ และไม่จำเป็นจะต้องไปบังคับจิตให้หยุดนิ่ง เพียงแต่หาอารมณ์มาป้อนให้จิตของเรานึกบริกรรมภาวนา หรือพิจารณาอยู่เท่านั้น แต่หากท่านผู้ใด จิตของตนสามารถหาอารมณ์มาป้อนให้ตัวเองได้ คือมีความคิดปรุงแต่งขึ้นมาเอง ให้กำหนดทำสติรู้อยู่ที่ความคิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ ไม่ต้องไปฝืนกฏธรรมชาติ
ธรรมชาติของจิตย่อมมีความคิดเพราะความคิดเป็นอาหารของจิต ธรรมชาติของจิตย่อมบริหารตนเอง ความคิดเป็นการบริหารจิต ผู้ปฏิบัติธรรมจะเอาดีกับความคิดกับการบริหารจิต กับการที่จิตบริโภคอาหารต้องปฏิบัติตนให้มีสติสัมปะชัญญะที่รู้พร้อมอยู่ทุกขณะจิตที่มีความคิดหรือจิตว่าง นี่เคล็ดลับสำคัญของการปฏิบัติธรรมอยู่กันที่ตรงนี้
และท่านทั้งหลายไม่จำเป็นจะต้องไปกังวลในการที่จะละกิเลสที่มีอยู่ในจิตของตนเอง โลภ โกรธ หลง ไม่มีใครในโลกนี้สามารถที่จะขจัดหรือละได้โดยเจตนาอย่างไม่มีเหตุผล หรืออย่างไม่มีพลังผลักดัน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าละกิเลสโลภ โกรธ หลงนั้นเป็นเพียงโวหารการพูดเท่านั้น แต่แท้ที่จริง ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นตัวสำคัญ ที่เราฝึกฝนอบรมให้มีพลังพร้อม ศีลก็ให้เป็นอธิศีล สมาธิก็ให้เป็นอธิจิต ปัญญาก็เป็นอธิปัญญา
ศีลเป็นอธิศีลนั้นเป็นอย่างไร ในขั้นต้นเราตั้งเจตนางดเว้นจากโทษนั้นๆตามที่นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ว่าทำลงไปแล้วมันเป็นบาป เช่นการฆ่า การลัก การขโมย จี้ปล้น ประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุราเป็นต้น เราตั้งเจตนางดเว้น งดเว้นปฏิบัติจนกระทั่งคล่องตัว จนชำนิชำนาญ จนรู้สึกว่ากาย วาจา และใจ จิตของเรามีความเป็นปกติ กายก็เป็นปกติคือไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก วาจาก็เป็นวจีสุจริต ส่วนจิตก็มีแนวโน้มที่ดำรงอยู่ในความเป็นปกติซึ่งเป็นพลังแห่งศีล ซึ่งจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เราจะตั้งใจมีศีล ศีลก็มี ไม่ตั้งใจมีศีล ศีลก็มี แต่เจตนาก็มีศีล ไม่เจตนาก็มีศีล เพราะใจเป็นตัวปกติแล้ว กาย วาจาก็กลายเป็นตัวปกติ เป็นเองทุกอย่าง
เมื่อศีลมีความเป็นปกติ จิตสมาธิเพราะอาศัยความเป็นปกติ กาย วาจา ก็เป็นศีล เป็นตัวปกติ ก็สนับสนุนให้จิตเป็นปกติขึ้นมาด้วย ในเมื่อจิตเป็นปกติ ตัวปกตินั่นแหละคือศีล สีเล นะ สุคติง ยันติ ถ้าจิตเป็นปกติ สุขมั้ย ดูให้ดีสิ สีเล นะ นิพพุติง ยันติ ถ้าจิตเป็นปกติแล้ว มีสุขมั้ย ดับทุกข์ได้หรือไม่ เพราะกายวาจาและใจของเราเป็นปกติ เรามีศีล ความหวาดระแวงภัยต่างๆก็ดับไป ความกลัวตายก็ดับไป กลัวคนอื่นจะมาประทุษร้ายทำร้ายตัวเองก็ดับไป เรียกว่ามันดับสิ่งที่หวาดกลัว
ในตอนต้นๆมันดับสิ่งที่หวาดกลัวก่อน แต่เมื่อจิตหรือสมาธิกลายเป็นอธิจิต จิตมีความมั่นคง มั่นคงต่อการที่จะประพฤติปฏิบัติดำเนินไปสู่ความเกิดสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ สมาธิที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ สังเกตได้หรือยังว่า สมาธิอัตโนมัติ มันเป็นอย่างไร ในเมื่อจิตเป็นสิ่งที่เป็นปกติ สติสัมปะชัญญะก็รู้พร้อมอยู่ที่จิต สมาธิเป็นกิริยาของจิต เมื่อจิตเป็นปกติแล้ว จิตสงบ ความสงบเพิ่มพลังงานขึ้นเป็นความมั่นคง ความมั่นคงที่ไม่รู้จักเสื่อมถอยสามารถที่จะทำจิตของเราให้มีความเป็นสมาธิอยู่ตลอดเวลา
เราจะนั่งสมาธิมันก็เกิด ไม่นั่ง…สมาธิมันก็เกิด บางทีเดินผิวปากไปเฉยๆ สมาธิมันก็เกิด บางทีหูได้ยินเสียงอะไร ได้ยินเสียงชาวบ้านเค้าด่ากันอยู่ข้างถนนโน่น หูมันได้ยิน จิตมันรับเอามาพิจารณาถึงความดีและความชั่ว แล้วมันจะปลงตกลงไปว่า สัตว์ทั้งหลายยังขัดข้องหมองใจกัน ยังทะเลาวิวาทกันเพราะกฏของกรรม แล้วจิตมันจะรู้แจ้งเห็นจริงลงไป มันจะเกิดความสงบเป็นสมาธิ ทั้งที่เราไม่ได้ตั้งใจ ธรรมชาติของจิตที่เราฝึกสมาธิจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญแล้ว จงสังเกตให้ดี เค้าจะเป็นสมาธิได้ตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูดและคิด มีสมาธิอยู่ตลอดเวลา เพราะตัวสติสัมปะชัญญะตัวนี้ปรากฏเด่นชัดอยู่ทุกขณะจิต จิตมีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอด
ดังนั้นสมาธิจึงสามารถบังเกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เมื่อจิตมีความมั่นคงคือสมาธิ และมีสติรู้พร้อมอยู่ที่จิตทุกขณะจิต อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ อะไรเกิดขึ้นมาเป็นสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลก็รู้ สิ่งใดที่จะเป็นเหตุแห่งความสุข สิ่งใดจะเป็นเหตุแห่งความทุกข์ จิตก็รู้เพราะมีสติ สติตัวที่มีพลังงานแก่กล้าเช่นนั้นเองจะสามารถกำหนดรู้ทุกสิ่งทุกอย่างภายในจิตของเราเนี่ย ให้รู้แจ้งชัดเจนลงไปว่าสิ่งนี้เป็นบาปอกุศล สิ่งนี้เป็นบุญเป็นกุศล สิ่งนี้ควรประพฤติ สิ่งนี้ควรปฏิบัติ สิ่งนี้ควรปล่อย สิ่งนี้ควรวาง สิ่งนี้ควรละเว้น ซึ่งเค้าจะมีปัญญาพิจารณารอบรู้ของเค้าไปเอง นั่นก็คือตัวปัญญาที่เกิดจากสมาธิ
ถ้าเรามีสติสัมปะชัญญะกำหนดจดจ้องรู้อยู่ที่จิตของเรา แล้วก็มีสติควบคุมอยู่ เราก็จะค่อยรู้จักความจริง รู้ความจริงของกายและใจของเรา รู้ความจริงของสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เวลานี้ถ้านั่งอยู่ กายของท่านก็ปรากฏในความรู้สึก จิตของท่านก็รู้อยู่ที่กาย มองเห็นกายรึยัง ในเมื่อเรามองเห็นว่ากายของเรายังมีปรากฏอยู่ในความรู้สึก เราเห็นอะไรบ้าง
ความเหน็ดเหนื่อยในการนั่ง ความสบายในการนั่ง ความทุกข์ที่เกิดเพราะการนั่งทรมานนาน อันนั้นเรียกว่าเวทนา เวทนาเกิดที่ไหน เกิดที่กาย เวทนาทุกข์ก็เกิดที่กาย เวทนาสุขก็เกิดที่กาย เวทนาที่เป็นกลางๆ อพฺยากตา เวทนาก็เกิดที่กาย รวมความแล้วว่า ความทุกข์ทั้งหลายเกิดที่กาย ความสุขทั้งมวลเกิดที่กาย ความอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น ความทะเยอะทยานดิ้นรน มันเกิดขึ้นได้เพราะเรามีกาย ความแก่ความเจ็บและการตายเกิดมีขึ้นได้เพราะเรามีกาย
ถ้าหากว่ากายของเราไม่มี เราไม่มีสิ่งตาย ที่ตายๆที่เราพากันกลัวกันนักหนานั่นน่ะ มันเป็นความสิ้นสุดแห่งอายุขัย ซึ่งแต่ละบุคคลได้มาจากผลของบุญกรรม ใครจะมีอายุสั้นอายุยืนแล้วแต่กรรมของตนเองที่ทำมาไว้ เพราะจิตดวงนี้อาศัยอยู่ในกายนี้ จนมันติด ติดแน่นถอนตัวไม่ออก ในเมื่อมันติดแน่นเช่นนั้น ในเมื่อรู้ว่ากายมันจะแตกสลาย มันก็เกิดกลัวตาย แต่แท้ที่จริงผู้ที่กลัวนี่มันไม่ได้ตายหรอก ผู้ที่ไม่รู้สึกกลัวต่างหากที่มันตาย
กายของเราเปรียบเหมือนบ้านที่อยู่อาศัย บ้านเค้าไม่รู้สึกสุข ไม่รู้สึกทุกข์ ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรทั้งสิ้น ใครสร้างขึ้นแล้ว จะเอาสีแดงๆดำๆไปแต้มไปเขียนวาดรูปอะไรต่างๆ รูปพระพุทธรป รูปเทวดา รูปโป๊อะไรต่างๆ เขียนใส่ให้ฝาผนัง บ้านมันก็ไม่ต่อว่าใคร เพราะมันไม่รู้เรื่องอะไร แต่เราผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านนี่ไปยึดว่าบ้านนี้เป็นของเรา ถ้าเกิดมีอะไรผุพังสลายตัวไป เราก็เกิดเสียใจเสียดาย เพราะเรายึดว่าเป็นเจ้าของ ข้ออุปมาอุปไมยอันนี้ก็เหมือนกัน ใจที่จิตของเรามายึดกายนี้ว่าเป็นบ้านของตัวเอง ยึดจนกระทั่งว่า เป็นตัวของตัวเอง ในเมื่อยึดเข้าถึงส่วนลึกของจิตของใจ มันถอนไม่ขึ้นเพราะบ้านหลังนี้คือกาย มันทำท่าจะสลายตัวไป ไอ้เจ้าจิตก็กลัว เกิดความดิ้นรน วิ่งหาทางป้องกันที่จะไม่ให้ตาย แต่แล้วกฏของธรรมชาติมันก็ต้านทานไม่อยู่ ลงผลสุดท้ายเมื่อตายจริงๆ ไอ้ตัวผู้ที่มันกลัวนี่มันไม่ตายเลย
อาตมาเคยตายเล่นๆอยู่หลายทีแล้ว ในขณะที่ตายลงไปนั้น ไม่เห็นมีอะไรที่จะน่ากลัว แต่มันกลัวก่อนที่จะตาย เช่นอย่างเรานั่งสมาธิภาวนา พอจิตสงบลงไป ลมหายใจละเอียดๆลงไป หายใจแผ่วๆๆ ร่างกายทำท่าจะหายไป ลมหายใจทำท่าจะหายไป นั่น เรากำลังจะถึงจุดแห่งความตายแล้ว ถ้าหากว่าเราไม่ตกใจเสียก่อน พอลมหายใจหายขาดไป ร่างกายหายไปในความรู้สึก จิตได้ปรากฏตัวเด่น ลอยเด่นเฉพาะตัว ไม่มีรูปมีร่าง มีความสว่างไสวลอยเด่นอยู่ในท่ามกลางความเวิ้งว้าง เราก็จะรู้ทันทีว่านี่คือเราตายแล้ว ส่วนร่างกายก็ถูกทอดทิ้ง บางทีก็เกิดนิมิตมองเห็นว่าร่างกายเน่าเปื่อยผุพัง สลายตัวไปจนไม่มีอะไรเหลือ นั่นแหละคือการตาย
ใครนั่งสมาธิทำจิตให้สงบจนกระทั่งตัวหาย หรือไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าทำจิตให้มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ทำฌาณที่ ๑ ให้บังเกิดขึ้นอย่างมีพละกำลังอย่างมั่นคง จิตดำรงอยู่ในฌาณจนเหนียวแน่น ในขณะนั้นจิตปราโมทย์บันเทิงอยู่กับอารมณ์จิตคือตัววิตกและวิจาร บันเทิงอยู่กับปีติและความสุขซึ่งเกิดจากสมาธิ เกิดจากความสงบ แล้วเป็นหนึ่งอยู่ที่อารมณ์จิตในปัจจุบัน ลืมแล้วซึ่งความเป็นมนุษย์ ไปจุติอยู่ในภพของพรหม ถ้าจิตเจริญอยู่ในฌาณที่ ๑ นั่น อยู่ในภูมิของรูปพรหม จิตอยู่ในฌาณที่ ๑ นั่นมันตายไปแล้วจากมนุษย์ แต่ไปเกิดเป็นพรหม นี่ถ้าใครทำจิตให้บรรลุถึงฌาณที่ ๑ ได้ คนนั้นเคยตายมาแล้ว แล้วเราจะต้องตายไปตามลำดับๆ ตายจนกระทั่งว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข มันหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว มีแต่เอกัคคตา ร่างกายหายสูญ สาบสูญไปหมด อันนี้คือการตาย ผู้ที่เคยทำสมาธิจิตสงบมาแล้วอย่างที่กล่าวนี้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตายเล่นๆ หรือหัดตายไว้ก่อนที่จะตายจริง อันนี้ขอฝากนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายไว้พิจารณา
ทีนี้มีปัญหาหนึ่ง ในเมื่อเราตายไปแล้ว เรานั่งสมาธิอยู่ ๓๐ นาที ถ้าจิตสงบอยู่ในดังที่กล่าว เราก็ตายไปแล้ว ๓๐ นาที ทีนี้ถ้าตายไปแล้ว จิตมันนิ่งๆอยู่ มันก็ได้แต่สว่าง รู้อยู่แต่เฉพาะที่ แต่ถ้าหากว่ามันตายไปแล้ว อ้าว สมมุติให้ได้ใช้ความตาย ก็ว่าตายซะ จิตเข้าสู่สมาธินี่คือความตาย เพราะมันปล่อยวางความรู้สึกว่ามีกาย พอจิตสงบมาลงสู่สมาธิ มันเป็นอาการแห่งความปีติ หรือความเคลื่อน ความปีติหรือความเคลื่อนนั้นคือความตาย ว่ากันโดยตรงเป็นอย่างนี้ เวลานี้เราเป็นมนุษย์ ถ้าเราตายแล้ว จิตวิญญาณของเราจุติจากร่างมนุษย์ เมื่อจากร่างมนุษย์จะไปเกิดเป็นร่างอะไรแล้วแต่บุญแต่กรรม ถ้ากรรมเป็นบาป ไปเกิดเป็นผี กรรมเป็นบุญ ไปเกิดเป็นเทวดา ถ้าจิตของผู้นั้นทรงสมาธิ ทรงฌาณเอาไว้ ตายในขณะที่อยู่ในฌาณก็ไปเกิดเป็นพระพรหม ซึ่งแล้วแต่บุญกรรมจะหนุนส่งให้เป็นไป
ทีนี้ถ้าเราอยู่ในสมาธิได้นานๆ จิตของเราส่งกระแสออกไปเที่ยวข้างนอก บางทีมันก็จะได้เที่ยวกับไปคุยกับผี ไปเที่ยวคุยกับเทวดา ไปเที่ยวคุยกับเปรต บางทีดันทุรังลงไปถึงนรกและไปนั่งคุยอยู่กับยมบาล บางทีเผลอ จิตของเราสงบแล้ว ลงไปเที่ยวนรก พอไปถึงแล้วยมบาลก็รีบเปิดบัญชีทันที พอเปิดบัญชีแล้วก็ถามว่าคุณชื่ออะไร ฉันชื่อนาย ก อ้อ นาย ก ยังไม่สิ้นอายุ กลับไปก่อน วันนั้น เดือนนั้น ปีนั้นจึงค่อยมา ทีนี้ถ้าหากว่าใครไปจับนาย ก มา ยมบาลจะสั่งให้เอาไปส่งคืน
ยกตัวอย่างเช่นครั้งหนึ่ง อาตมานอนเฝ้าภิกษุไข้อยู่ใต้ต้นไม้ มีญาติของคนไข้คนหนึ่งซึ่งมานอนเฝ้าเป็นเพื่อนกันเกิดนอนหลับแล้วละเมอไป ส่งเสียงร้อง ทีนี้ใครๆเค้าก็เที่ยวกันปลุกให้แกตื่น พอแกตื่นมาแล้วแกก็เล่าให้ฟัง แกบอกว่ามีคนร่างอ้วนๆ ดำๆ ถืออาวุธมาจับ แกลากไปโน่น ไปทางทิศตะวันตก ทีนี้พอไปถึงที่แห่งหนึ่งเหมือนๆกับศาล คนที่ประจำอยู่นั่นเหมือนกับตุลาการ พอไปถึงเค้าเปิดดูบัญชี เค้าบอกว่า อ้าว เอาคนมาผิดแล้ว อันนี้มันไม่ใช่ พระคำ แต่เป็นนายคำ พระอาพาธที่อาตมานอนเฝ้าอยู่นั่นชื่อพระคำ แต่คนที่ถูกจับไปเป็นนายคำ เค้าบอกว่าเอานายคำนี่ไปส่งก่อน พรุ่งนี้บ่ายสี่โมงจึงค่อยไปเอาพระคำมา ถ้าไม่รู้ ไปถามมหาพุธ นอนเฝ้าอยู่ร่มไม้นั่น เค้าว่าอย่างนั้น เค้าเล่าให้ฟัง ทีนี้ก็มาคอยดูว่าวันหลังวันพรุ่ง พอวันรุ่งขึ้น เพราะบ่ายสี่โมงปั๊บ พระคำใจขาดทันที ถูกยมบาลมาเอาไปแล้ว
ทีนี้เรื่องที่เรานั่งสมาธิภาวนา ถ้าจิตของเราสามารถไปส่งกระแสไปในที่ต่างๆได้ บางทีก็ไปถึงนรก บางทีก็ไปถึงสวรรค์ แล้วก็ไปรู้เรื่องนรก เรื่องสวรรค์มา มาเล่าให้หมู่ฟัง ถ้ายิ่งคนที่สลบไปเป็นเวลานานๆนั่น ยิ่งไปเที่ยวอย่างสนุกสนานได้เรื่องได้ราว พอฟื้นขึ้นมาแล้วก็มาเล่าให้เพื่อนฝูงฟัง เป็นหลักฐานพยานว่านรกมีมั้ย สวรรค์มีมั้ย คนที่ไปรู้ไปเห็นมาแล้วเค้าก็ว่าสวรรค์มี นรกมี แต่ผู้ฟังจะเชื่อหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่คนที่เค้าไปเห็นรู้แล้วเค้าก็ว่าเชื่อ
เช่นอย่างบางครั้งบางที อาตมาไปอยู่ป่า อยู่ดง โดนผีมันหลอก โดนผีมันตบหน้า บางทีมีใครเค้ามาถามว่าผีมีมั้ยหลวงพ่อ อาตมาก็บอกว่า เออ ถ้าใครไม่เห็นผี จะว่าผีไม่มีก็สมควรอยู่ แต่อย่าไปกลัวผี แต่คนที่เชื่อว่าผีไม่มี แล้วยังกลัวผีอยู่ อันนั้นหลอกตัวเอง อาตมาเคยโดนผีมันหลอก โดนผีมันตบหน้าแล้ว ก็ขอยืนยันได้ว่าผีมันมี เพราะเราเห็นแล้ว เห็นด้วยตา สัมผัสได้ด้วยใบหน้า มีหลักฐานยืนยันเพราะเราได้สัมผัสมาแล้ว ก็ยืนยันได้ว่าผีมี ทุกวันนี้ใครมาถามก็ตอบว่าผีมี เพราะเราเห็นมันอยู่แล้ว
ทีนี้ถ้าใครมองเห็นผี รู้ว่าผีมี เห็นผีแล้วก็จะกลัวก็สมควรอยู่หรอก แต่คนที่กล่าวว่าผีไม่มี แต่เสร็จแล้วก็อดที่จะกลัวไม่ได้ มันจะกลายเป็นการหลอกตัวเอง เพราะฉะนั้นในทำนองเดียวกัน การทำสมาธิภาวนานี่ ในเมื่อจิตมันสงบลงไปแล้ว มันก็เหมือนกับตายแล้วครั้งหนึ่ง ถ้าจิตอยู่ในระดับอุปจาระสมาธิ หรืออยู่ในระดับฌาณที่ ๑ ถ้าหากว่าจิตไม่เข้าอยู่ ไม่รู้อยู่ในจิต ส่งกระแสออกไปนอก พอไปเกิดนิมิตต่างๆขึ้นมาแล้ว จิตของเราจะทิ้งฐานเดิม ไปยึดฐานใหม่ หมายความว่าทิ้งร่างกายเดิม แล้วไปเกิดเป็นร่างกายใหม่ขึ้นมา ร่างกายใหม่นั้นจะเดินไปในที่ทุกหนทุกแห่ง บางทีก็ไปพบเทวดา บางทีก็ไปพบผี บางทีก็พบพระอินทร์ พระพรหม ยม ยักษ์ แล้วแต่นิมิตภาพมันจะปรุงให้เป็นไป
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ความรู้สึกจะรู้สึกว่าเรานี่ เดินไปเที่ยว ไปดูนรก ไปดูสวรรค์ ได้ไปคุยกับเทวดา คุยกับยมบาล นอกจากจะรู้กำหนดวันตายของตัวเองแล้ว ยังพกเอากำหนดวันตายของเพื่อนฝูงมาด้วย อุตส่าห์มาเล่าให้หมู่ฟัง นี่มันเป็นไปได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องพันเอกพิเศษเสนาะ ที่ตายไปสองครั้งสองคราแล้วนำเรื่องมาเล่าให้หมู่ฟัง ก็เช่นเดียวกันกับผู้เข้าสมาธิภาวนาแล้ว จิตส่งกระแสออกไปนอก ไปรู้เห็นในที่ต่างๆ ก็จดจำไว้ แล้วก็มาเล่าให้หมู่ฟังได้ ที่เรามองเห็นได้ชัดๆในปัจจุบันนี่ ความเป็นไปของหลวงปู่ฤาษีลิงดำ นำคนไปฝึกมโนมยิทธิ ดูนรก ดูสวรรค์ ก็มีลักษณะความเป็นไปแบบเดียวกันกับเรื่องของพันเอกพิเศษเสนาะ ผู้ที่นั่งดูนรก ดูสวรรค์ มโนมยิทธินี่ ไปดูนรกได้ ไปดูสวรรค์ได้ ไปติดต่อกับวิญญาณในโลกอื่นได้ ปู่ย่าตายายของใครตายลงไปแล้ว ไปอยู่สุขทุกข์อย่างไร ไปติดต่อเชิญมาคุยกันได้ นี่คือสิ่งที่เป็นไปได้ คนตายโดยบังเอิญ สลบไปแล้วก็ฟื้น ในขณะที่สลบไปอยู่นั่น ก็ไปเที่ยวในที่ต่างๆ เหมือนกับที่เราเดินๆไปเที่ยวเมืองโน่นเมืองนี่อย่างนั้นแหละ
ทีนี้คนที่อยู่ในสมาธิ นั่งสมาธิพอจิตสงบเคลิ้มๆลงไป สว่างขึ้นมา กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก ก็ไปเที่ยวดูโน่นดูนี่เหมือนกับคนตาย สรุปแล้วไปเที่ยวในที่ต่างๆเหมือนกัน อันนี้มันเรียกว่าเป็นสภาพจิตที่ถอดร่างออกไปจากร่างกายเดิม บางท่านบอกว่ามันเกิดเป็นกายทิพย์ขึ้นมา ทิ้งกายเดิมแล้วเกิดเป็นกายทิพย์ กายทิพย์สามารถไปเที่ยวในที่ต่างๆได้ จะไปเที่ยวนรกก็ได้ ไปเที่ยวสวรรค์ก็ได้ ไปเที่ยวที่ไหนๆ อังกฤษ อเมริกาต่างประเทศ ออสเตรเลีย ไปไหนได้ทั้งนั้นใน
เมื่อถอดร่างออกไปแล้ว ญาติโยมผู้ฟังเคยเห็นผีเดินมาหรือเปล่า ข้อสังเกตร่างกายคนกับร่างกายผีนี่มันต่างกัน แต่รูปทรงมันเหมือนกัน แต่ความหนาความบางมันคนละอย่าง ร่างกายของคนมันเป็นร่างกายทึบ ถ้ามันบังดวงไฟแล้วมองไม่ทะลุ ถ้าบังดวงไฟแล้วจะมองไม่เห็นดวงไฟ เห็นแต่กายดำมืดอยู่ แต่ถ้าร่างกายผีมันไปบังดวงไฟ เราจะมองทะลุเห็นดวงไฟ นี่ข้อสังเกตมันเป็นอย่างนี้
บางทีไปภาวนาอยู่ในป่าในดง อ้าว เห็นเพื่อนฝูงเดินมา ก็จะเข้าใจว่าผีปู่ผีภูเขามาหลอกมาหลอนอะไรทำนองนั้น ถ้ามองดูร่างทึบดำๆแล้วก็ไม่ใช่ร่างผี แต่มองทะลุแล้ว เป็นร่างผี นี่ข้อสังเกตมันเป็นอย่างนี้ อาตมาเคยเห็นมาแล้ว นำมาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง
เอาหละ การบรรยายธรรมก็รู้สึกว่าจะออกนอกลู่นอกทางเพราะกลอนมันพาไป แต่จะด้วยประการใดก็ตาม สิ่งที่กล่าวมานี้มันเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับการทำสมาธิทั้งนั้น จุดประสงค์ของการทำสมาธิการภาวนานี้ เพื่อให้จิตของเรารู้เห็นเป็นไปเช่นนั้นหรือ หรือว่าเราต้องการอะไร สิ่งที่รู้เห็นเป็นไปดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นแต่เพียงผลพลอยได้ซึ่งเกิดจากภาวนา ผู้ที่ทำสมาธิภาวนา สิ่งเหล่านี้จะเป็นทางผ่านของจิต แม้เราทำสมาธิลงไปแล้ว เมื่อจิตสงบสว่างลงไป สิ่งเหล่านี้ไม่อยากจะรู้ มันก็รู้ เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมดา ไม่อยากจะเห็น มันก็เห็น เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมดา
แต่ผู้ที่ภาวนาทำสมาธิไปจนกระทั่งจิตคล่องตัวแล้ว สมาธิมีพลัง สติแก่กล้า ภาวนาแล้วทีหลังนิมิตจะไม่ค่อยเกิด แต่จิตของเราจะสงบเข้าไปรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว ถ้าในขณะใดที่กายยังปรากฏอยู่ จิตสงบเป็นสมาธิแล้ว มันจะไปท่องเที่ยวอยู่ในกาย กำหนดรู้อยู่ในกาย แล้วมีความรู้เตรียมพร้อมอยู่ที่จิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกาย ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนาที่เกิดขึ้น จิตสามารถกำหนดรู้ได้โดยอัตโนมัติ ทุกข์เกิดที่กาย สุขเกิดที่กาย ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดที่กาย กายเป็นแดนเกิด ถ้ากายไม่มี สุขทุกข์ไม่มี
ทีนี้สุขอันบังเกิดแต่สมาธิ ปีติและความสุขเกิดจากการบำเพ็ญสมาธิ ก็เกิดที่กายเหมือนกัน ลองสังเกตดูถ้าเราภาวนาแล้ว ปีติมันบังเกิดขึ้น ตัวโยก ขนหัวลุกหัวพอง มีจิตใจลิงโลด มีกายเบาใจเบา กายสงบใจสงบ เหมือนกับจะลอยขึ้นสู่อากาศ อาการเช่นนั้นปรากฏอยู่ในขณะที่เรารู้สึกว่ามีกาย แต่ถ้ากายดับหายไปจากความรู้สึกแล้ว อาการเหล่านั้นก็หาย วิตก วิจาร ปีติ สุขก็หายไปหมด ยังเหลือแต่จิตเป็นหนึ่งซี่งเรียกว่า เอกัคคตา จิตเป็นหนึ่ง หนึ่งอยู่ที่จิต ไม่มีสอง ที่ว่าไม่มีสองเพราะกายไม่มี จิตสงบเป็นอัปปนาสมาธิขั้นละเอียดแล้วกายไม่มี มีแต่จิตสงบสว่างไสวเหมือนดวงไฟที่ลอยอยู่ หรือเหมือนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ที่ลอยอยู่เหนือโลกอย่างนั้น ร่างกายตนตัวไม่มีแล้ว ทีนี้ในขณะนี้เรียกว่าจิตอยู่ในอัปปนาสมาธิ เป็นอัปปนาจิต และก็เป็นสมถกรรมฐาน ถ้าจะว่าโดยฌาณ ก็อัปปนาฌาณ ว่าโดยจิตก็ อัปปนาจิต ว่าโดยสมาธิก็ อัปปนาสมาธิ เป็นความสงบของจิตอันเป็นเบื้องต้น เรียกว่าสมาธิเบื้องต้น
ทีนี้สมาธิเบื้องต้นเนี่ยแหละ ผู้ภาวนามาฝึกฝนบ่อยๆ ทำให้คล่องทำให้ชำนิชำนาญ แล้วสมาธิที่มันอยู่ในวงแคบๆ สงบรู้อยู่ที่จิตนี่ มันจะค่อยขยายวงกว้างออกไป จิตสงบแบบนี้เป็นจิตสมถะ เป็นสมาธิขั้นสมถกรรมฐาน ซึ่งนักภาวนาในสมัยปัจจุบันนี้ เค้ากลัวกันนักกลัวกันหนา กลัวว่าจิตจะไปติดสมถะ ท่านผู้ฟังทั้งหลาย นักภาวนาทั้งหลายเคยกลัวมั้ยว่าจิตจะไปติดอยู่ที่สมถะ เรากำลังเริ่มจะปฏิบัติ กำลังเริ่มภาวนาเพื่อให้จิตมีสมาธิ แต่เสร็จแล้วเราไปกลัว ไปกลัวว่าจิตมันจะไปติดสมถะ แล้วเมื่อไหร่จิตมันจะสงบเป็นสมาธิได้ซักที มันจะมิเป็นในทำนองที่ว่า เราทำมาค้าขายอยากจะเป็นเศรษฐี พอลงมือทำงานแล้ว กลัว กลัวว่าเราจะเป็นเศรษฐี เลยหยุดทำงาน เมื่อไหร่เราจะได้เป็นเศรษฐีกันซักที
เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติไม่ต้องกลัว สมาธิเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายต้องการ สมาธิเป็นสิ่งที่เป็นคุณธรรมที่เป็นพื้นฐานให้เกิดสติปัญญา เป็นคุณธรรมที่เป็นพื้นฐานให้เกิดพลังทางสติสัมปะชัญญะ ทำให้จิตมั่นคง เป็นที่รวมของจิต โดยปกติแล้วจิตของเรามันแส่ส่ายอยู่รอบทิศ เมื่อสามารถทำจิตให้สงบ มารวมอยู่ในสมาธิเป็นจุดหนึ่ง แม้เพียงห้านาที สิบนาที เป็นชั่วโมงได้ยิ่งดี จะไม่ดีหรือ เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัว ถ้าจิตสงบได้แล้ว ปัญญามันจะเกิดขึ้นมาเอง
แม้ว่าปัญญาจะไม่เกิดในขณะที่จิตสงบนิ่งก็อย่าไปตกใจ เมื่อเราออกจากความนิ่งมาแล้ว สมาธิ สติ ปัญญาของเรามันจะมาอยู่กับ ยืน เดิน นั่ง นอน รับทาน ดื่ม พูด คิด ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ มันจะได้ประโยชน์ในตอนนี้ ตอนที่เข้าไปนิ่งอยู่เฉยๆ ก็เปรียบกันกับการนอนหลับ การนอนหลับท่านได้อะไรดีขึ้น ธรรมชาติของร่างกายมันก็ได้พักผ่อน เมื่อนอนหลับแล้วร่างกายก็ได้พักผ่อน ในเมื่อร่างกายได้พักผ่อนอย่างพอสมควรหรือเต็มที่ตามที่ต้องการ ก็ทำให้เกิดกำลังกาย ในเมื่อเกิดกำลังกาย ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพจิตมันก็ดีขึ้น
เพราะฉะนั้นการที่จิตเข้าไปสงบอยู่ในสมาธิขั้นอัปปนาแม้ว่ายังจะไม่เกิดปัญญาความรู้ใดๆก็ตาม ร่างกายของเราก็ได้พักผ่อน จิตของเราก็ได้พักผ่อน ได้พักผ่อนแล้วมันก็ทำให้เกิดพลังงาน ในเมื่อเกิดพลังงานแล้วกายก็แข็งแรง จิตก็เข้มแข็ง ในขณะที่เราทำงานทำการ ความแน่วแน่ของจิตของสติมันจะมีความมั่นคงยิ่งขึ้น แม้ว่าในขณะที่จิตนิ่งรู้อยู่ที่จิตนั้นมันจะไม่เกิดความรู้อะไรก็ตาม อย่าไปตกใจ ขอให้มันนิ่ง รู้อยู่ในจุดๆเดียวซึ่งเรียกว่าสมถะหรืออัปปนาสมาธิ เป็นชั่วโมงๆ เป็นปีก็ปล่อยให้มันเป็นไปเถอะ แต่ว่าเมื่อลืมตาออกมาแล้ว จะมองเห็นประโยชน์ของมันได้ทันที
อีกอย่างหนึ่งมีผู้กล่าวว่า สมาธิขั้นสมถกรรมฐานไม่เกิดความรู้ ความรู้มันไม่เกิดขึ้น จริง! ความรู้มันไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ามันมีสิ่งรู้หละ เช่นอย่างเวลาท่านเพ่งอสุภกรรมฐาน พอจิตมองเห็นกระดูก โครงกระดูก อ้าว ถ้าใครเคยทำกรรมฐาน มองเห็นนิมิต เห็นโครงกระดูก ในขณะที่ท่านมองเห็นโครงกระดูกนั่น จิตของท่านว่านี่คือโครงกระดูกหรือเปล่า อาตมาเข้าใจว่ามันไม่เรียก มันแต่เพียงเห็นอยู่รู้อยู่เท่านั้น
ทีนี้สมาธิขั้นสมถะหรือว่าอัปปนาสมาธินี่มันยังมีเหนือ สมถะยังมีเหนือสมถะขึ้นไปอีก สมถะที่เหนือสมถะท่านเรียกว่า โคตรภูญาณ หรือโคตรภูฌาณ มันเกิดกับภูมิจิตของผู้ที่พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง จนแตกฉานคล่องตัวชำนิชำนาญแล้ว ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิขั้นอัปปนาไปสู่จุดว่าง ไม่มีอะไร ทีนี้เมื่อจิตไปยับยั้งอยู่ในจุดว่างไม่มีอะไร พอสมควร ปัญญามันผุดโผล่ขึ้นมา ปัญญาอันนี้มันจะเป็นปัญญาขั้นโลกุตตระ จิตมันจะไปลอยเด่นอยู่เหนือโลก แล้วมองเห็นโลกทุกส่วน เหมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงลงมายังโลกให้เกิดความสว่างไสว และกระทบต้นไม้ภูเขาเหล่ากาสัตว์บุคคลอะไรต่างๆทั่วไปหมด ข้ออุปมาอุปไมยอันนี้ฉันใด ในเมื่อจิตของผู้ที่ผ่านสมถะสมาธิขึ้นไปอยู่เหนือสมถะอยู่ขั้นหนึ่งซึ่งเรียกว่า โคตรภูฌาณ หรือ โคตรภูญาณ จิตดวงนี้สามารถที่จะส่งกระแสมามองดูโลกได้ทั่วถ้วนแล้วแต่พลังจิต
ถ้าเป็นพลังจิตของพระพุทธเจ้านี่ เข้าใจว่ารัศมีแห่งความสว่างไสวแห่งจิตของพระองค์ท่าน จะแผ่คลุมโลกโดยไม่มีส่วนมืดปิดบัง แต่วิสัยของอริยะซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้านี่ บางทีก็มองเห็นบางส่วนบางซีกเท่านั้น ไม่แผ่คลุมไปถึงทั่วโลกเหมือนอย่างพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นภูมิแห่งพระสาวกจึงแคบกว่าพระพุทธเจ้า สำหรับพระพุทธเจ้านี่รู้รอบโลก โลกะวิทูรู้แจ้งซึ่งโลก เมื่อจิตของพระองค์ไปลอยเด่นอยู่เหนือโลก สามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แผ่นดินต้นไม้ภูเขาเหล่ากาก็มองเห็นหมด สัตว์ทุกชนิด มองเห็น มนุษย์ก็เห็น ผีก็เห็น เปรตก็เห็น เทวดาก็เห็น เห็นหมด
ในเมื่อเห็นความจุติของสัตว์ทั้งหลายเป็นไปต่างๆกัน พระองค์ก็สามารถมองรู้เหตุที่จะให้สัตว์ทั้งหลายเกิดเป็นเช่นนั้น เพราะอะไร เพราะกฏของกรรม ในเมื่อพระพุทธองค์รู้แจ้งในกฏของกรรมแล้วจึงมาสอนว่า กัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสะระณา สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ยัง กัมมัง กะริสสันติ กัลยาณัง ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภาวิสสันติ สัตว์ทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน นี่เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า
ท่านเชื่อหรือเปล่าว่าพระพุทธเจ้าสอนถูกต้อง ทำกรรมดีได้รับผลดี ทำกรรมชั่วได้รับผลชั่ว ดังนั้นพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าสอนให้ละความชั่วแล้วประพฤติความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด เราจะละความชั่วกันที่ตรงไหน ศีล ๕ ที่ได้สมาทานมาแล้วนั้น ละลงไป ไม่ต้องกังวลสิ่งอื่น ศีล ๕ ข้อเท่านั้นเหลือกิน ขอให้มันเด็ดขาดลงไป ทีนี้ทำความดี พยายามปลูกฝังจิตใจให้ซึ้งให้มั่นคงในการละความชั่วดังที่กล่าว ในเมื่อละความชั่วดังที่กล่าว จิตมีความมั่นคงต่อการละความชั่ว จิตของเรามีแนวโน้มในการชำระตัวเองให้บริสุทธิ์สะอาด มีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาต่อหน้าที่ของตัวเอง เช่นอุบาสกอุบาสิกาทำหน้าที่ของตนตรงไปตรงมาไม่บิดพริ้ว เป็นพระภิกษุสงฆ์ทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมาไม่บิดพริ้ว แล้วก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำจิตทำใจให้ซื่อสัตย์สุจริต ความซื่อสัตย์สุจริตคือความสะอาดแห่งจิต จึงได้ในคำว่าชำระจิตของตนเองให้สะอาด
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตให้บริสุทธิ์ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยประการะฉะนี้ ได้บรรยายมาพอเป็นเวลาอันสมควรแล้ว จึงขอยุติการบรรยายธรรมลงเพียงแค่นี้