Skip to content

สังขารเกิดที่ใจ ดับที่ใจ ไม่มีใจสังขารเกิดไม่ได้

หลวงปู่แบน ธนากโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ฟังดูข้างนอก ฟังดูภายนอก เงียบสงัดไปหมด ฟังดูภายใน มีแต่ใจอันเดียวเท่านั้น ฟังดูภายใน มีแต่สังขารอันเดียวเท่านั้น มันปรุงอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน สังขารทั้งหลายดับไป ความปรุงความแต่งทั้งหลายดับไป ตัวสมุทัยดับไป ทุกข์ทั้งหลายก็ดับไปด้วย ความปรุงความแต่งก็เป็นความปรุงความแต่ง สังขารก็เป็นสังขาร สังขารเป็นของเกิดดับ ความปรุงความแต่งไม่ใช่เรา สังขารทั้งหลายดับไป อยู่เป็นสุข ให้พากันปล่อยวางสังขารนั่นเสีย เพราะเราไปยึดมันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร 

สังขารทั้งหลายเหมือนฟองน้ำ สังขารทั้งหลายเหมือนพยับแดด เราไปยึดฟองน้ำ เราไปยึดพยับแดด ไม่ได้ประโยชน์อะไร พยับแดดมันมีประจำ ฟองน้ำก็มีอยู่เป็นประจำ ไม่ขาดจากโลก แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่สอน ไม่ใช่การที่จะไปห้าม ไม่ให้พยับแดดเกิดขึ้น ไม่ให้ฟองน้ำเกิดขึ้น เพียงแต่สอนว่า พยับแดดสักแต่ว่าพยับแดดเท่านั้น ฟองน้ำก็สักแต่ว่าฟองน้ำเท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นสารตัวตนอะไร ทั้งๆที่ไปยึดแล้ว สร้างปัญหาให้แก่เจ้าของเองด้วย ปล่อยวางสังขารเสีย ปล่อยวางปัญหาทั้งหลาย ปล่อยวางสังขารได้ ปัญหาทั้งหลายหลุดจากใจ อยู่เป็นสุข 

เราฟังดูข้างนอก หาแต่มีเสียงอะไร ไม่มี เงียบสงัดไปหมด จะฟังดูภายในเข้ามา ตาเค้าก็เงียบของเขา หูเค้าก็เงียบของเขา จมูกเค้าก็เป็นจมูกอยู่อย่างนี้ ลิ้นเค้าก็เป็นลิ้นอยู่อย่างนี้ กายหาตรงไหน ที่จะสับสนวุ่นวายไม่มี ผมทุกเส้น ตั้งแต่เกิดมาอยู่ที่เก่า ขนก็เช่นเดียวกัน ไม่เห็นว่าเค้าอยากได้อะไร ไม่เห็นเขาจะเสียอะไร เล็บก็เป็นเล็บอยู่อย่างนี้ เป็นเล็บตั้งแต่เป็นเล็บมา ถึงเดี๋ยวนี้เค้าก็เป็นเล็บเหมือนเดิม ใครจะตัด ใครจะแต่ง เล็บไม่รู้เรื่อง เล็บไม่สนใจ ฟันก็เป็นฟันอยู่อย่างนี้ อยู่กับที่อยู่อย่างนั้น ไม่เห็นมีการสับสน ย้ายที่อยู่ ย้ายที่ไปที่มา ถึงจะมีการหลุดการร่วงการหล่น โยกเค้าก็โยกอยู่กับที่ หลุดเค้าหลุด อยู่ตรงไหน เค้าก็อยู่ตรงนั้น 

ใจ มาดูใจเข้าไป ใจ เราดูเข้าไปหมายถึงความรู้ ใจเราสบาย ใจเราก็รู้ ใจเราไม่สบาย ใจเราก็รู้ ทุกข์ก็รู้ สุขก็รู้ ใจสงบก็รู้ว่าสงบ ใจไม่สงบก็รู้ว่าใจไม่สงบ ให้ดูอยู่ที่ใจที่รู้นั้น สติให้แน่วแน่มั่นคง อยู่จุดเดียวคือความรู้ที่มีอยู่ในเรา อย่าไปทางซ้าย อย่าไปทางขวา หลงเรื่องไม่ได้ คิดเรื่องไม่ได้ มันเกิดขึ้น เกิดขึ้นที่ใจเนี่ยแหละ สังขารทั้งหลายคือความคิด เกิดขึ้นที่ใจ สังขารทั้งหลายดับ ก็ดับไปที่ใจอันนี้ เราอยู่กับใจ อยู่กับความรู้ เห็นความกระเพื่อม เห็นสังขารเค้ามีการไหวตัว ถ้าหากว่าเราไม่แน่วแน่อยู่กับจิตของเรา สังขารไหวตัวเราไม่รู้ สังขารปรุงแต่งเราก็ไม่รู้ ไม่เห็น ถ้าหากว่ารู้ รู้จนกระทั่งผลงานของสังขารเค้าปรากฏขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน เป็นทุกข์ เป็นสุข เป็นกิเลสตัณหาราคะขึ้นมา อันนั้นเป็นผลงานของสังขารเนื่องมาจากใจของเราไม่มีสติแนบแน่นอยู่กับใจ 

ใจของเรามีความสติแนบแน่นอยู่กับใจ สังขารไม่มีโอกาสที่จะแสดงบทบาท สังขารมีการเริ่มที่จะแสดง เรียกว่าไหวตัวขึ้นมา เรารู้ทันที เรารู้ทันที เรารู้ทันที รู้ขณะใด รู้ทันขณะใด สังขารที่เริ่มมีการไหวก็ดับไปในขณะนั้น สังขารที่เริ่มมีการไหวตัวก่อตัว ก็ดับไป ผลงานของสังขารที่ก่อความสับสนวุ่นวาย ก่อบ้าน ก่อเมือง ก่อโลก สร้างโลก สร้างสงสาร สร้างความสับสนวุ่นวาย ไม่มีโอกาสที่จะสร้างเป็นผลงานขึ้นมาได้ ใจของเราหยั่งเข้าหาความสงบยิ่งๆขึ้นไป ใจของเราหยั่งเข้าหาใจ แนบแน่นอยู่ที่ใจนั้นอาศัยสติเป็นหลัก ควบคุมกำกับ 

ท่านจึงว่า เตสัง วูปะ สโม (เตสํ วูปสโม สุโข) ความสงบระงับของสังขาร สังขารทั้งหลายสงบไปแล้ว อยู่เป็นสุข จึงหาความสุขไม่ต้องไปหาไกลอย่างชาวโลกเขา ชาวโลกเค้าหาความสุขก็คือหาความทุกข์นั้นเอง หาลาภก็ทุกข์เพราะลาภ ได้ก็ทุกข์ ไม่ได้ก็ทุกข์ หาก็ทุกข์ ได้ยศ หาก็ทุกข์ ได้ก็ทุกข์​ไม่ได้ก็ทุกข์ หาเงินหาทอง หาก็ทุกข์ หามาได้ก็ทุกข์ หาไม่ได้ก็ทุกข์ หาลูกหาเมีย หาลูกหาผัว ได้มาแล้วเหมือนกับไฟไหม้ ไฟไหม้คน กระสับกระส่ายร้อนรนอยู่อย่างนั้นในเรื่องผัวเรื่องเมียนั่น 

เรื่องการแสวงหาของใจที่หิวทั้งหลายก็คือแสวงหาฟืนหาไฟมาเผาเจ้าของ เพราะหลงความปรุงความแต่ง หลงสังขารอันเดียว เป็นเหตุ ท่านจึงให้คำว่าปัญญาๆ รู้สังขาร รู้รอบในกองสังขาร ก็คือกองจิตกองใจของเรานี่หละ เพราะสังขารเกิดก็เกิดที่ใจ ดับก็ดับที่ใจ เกิดก็เกิดที่ใจ ดับก็ดับที่ใจ ไม่มีใจ สังขารเกิดไม่ได้ สังขารไม่มีใจจะเกิดได้อย่างไร เกิดจากตอไม้ก็ไม่ได้ เพราะตอไม้จะคิดจะปรุงอะไรเป็น จะไปปลูกเป็นสังขารก็ไม่สำเร็จเป็นสังขารขึ้นได้ จะเกิดในแผ่นดิน เอาสังขารไปปลูกในแผ่นดินก็ปลูกไม่ได้ สังขารไม่ต้องไปปลูก ในเมื่อไม่มีสติ ใจไม่มีสติ สังขารเค้าจะเกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นตรงไหนมันก็เหมือนกับไฟเกิดขึ้นตรงนั้น 

พระพุทธเจ้าท่านจึงให้รู้ แล้วปล่อยวางสังขารนั้นเสีย พ้นจากทุกข์คือพ้นจากกิเลสตัณหานั่นเอง ทุกข์ๆนี้ส่วนมากทุกข์เพราะเสียข้าวเสียของ ทุกข์เพราะการพลัดพราก ทุกข์เพราะอยากได้แล้วไม่สมหวัง ทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้น ทุกข์เพราะคนนั้นๆ จนมากมายถึงอย่างนี้ แต่ความจริงแล้ว ทุกข์เพราะไม่รู้เท่าในตัวปรุงตัวแต่ง ไม่รู้เท่าในตัวสังขาร ที่มันเป็นตัวนำฟืนนำไฟ เป็นตัวเพาะเชื้อ คือฟืนไฟ มันทุกข์เพราะอันนี้ ทุกข์เพราะตัวกิเลสตัณหา กิเลสตัณหาก็เกิดจากความปรุงความแต่ง ตัวสังขารนี่แหละเป็นเหตุ ทุกข์เพราะอันนี้ ในเมื่ออันนี้ไม่มีแล้ว ได้ก็ไม่ทุกข์ เสียก็ไม่ทุกข์ ไม่มีอะไรก็ไม่ทุกข์ มีอะไรก็ไม่ทุกข์ เพราะสิ่งที่มีนั้น มีลาภก็ไม่ทำให้เป็นทุกข์ ไม่มีลาภ เสื่อมลาภก็ไม่ทำให้เป็นทุกข์ มียศ ก็ไม่ทำให้เป็นทุกข์ ยศเสียก็ไม่ทุกข์ เพราะฐานตัวที่ทำให้ทุกข์เกิดมันได้ดับไปแล้ว 

จึงให้พากันตรวจดูให้กว้างขวาง ความสับสน ความวุ่นวาย ความฟุ้งซ่านอยู่ตรงไหน แก้ตรงสับสนวุ่นวายฟุ้งซ่านนั้น วิธีแก้มีหลากหลาย แก้ด้วยเหตุด้วยผล เอาความจริงยกขึ้นมาให้ความฟุ้งซ่านยอมรับ ให้ใจยอมรับ ในเมื่อใจยอมรับ ใจก็สงบ ไม่ต้องเอาเหตุเอาผลอะไร เอาสติจ่อลงที่ความฟุ้งซ่านนั้น เอาสติจ่อแนบแน่นลงไปจุดฟุ้งซ่านนั้น ตรงไหนตรงฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่าน จิตไม่ฟุ้งซ่าน มีแต่จิตอันเดียวเท่านั้น ฟุ้งซ่านเป็น ไม่ฟุ้งซ่านเป็น ขณะเค้าฟุ้งซ่าน จ่อลงไปที่นั้น มีสติตั้งมั่นอยู่ที่จิตอันเดียว เพราะจิตเท่านั้นเป็นผู้ที่ฟุ้งซ่านเป็น มีสติให้มั่นคง ไม่ให้ตัวปรุงมันปรุงขึ้น ไม่ให้ตัวคิดมันคิดขึ้น ดูอย่างเดียว เอาจิตดู ฟังอย่างเดียว เอาจิตฟัง เอาสติตั้งอยู่ ไม่ให้คิดให้ปรุง ความคิดความปรุงเป็นเรื่องของตัวสังขาร นี่บังคับอยู่อย่างนั้น 

ในเมื่อบังคับไม่ให้ปรุง ไม่ให้คิด ให้รู้ให้เห็นจิตอยู่อย่างนั้น ในเมื่อจิตไม่ปรุง จิตไม่คิด แล้วความฟุ้งซ่านจะมาจากไหน ตัวปรุงตัวแต่ง ไม่ปรุงไม่แต่ง แล้วจะเอาอะไรมาฟุ้งซ่าน จิตเค้าก็เป็นจิตอยู่อย่างนี้ จิตเค้าไม่ฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านเป็นเรื่องของกิเลสต่างหาก ไม่ใช่จิตฟุ้งซ่าน กิเลสเค้าเป็นกิเลสอยู่อย่างนี้ ความฟุ้งซ่านเป็นความฟุ้งซ่านอยู่อย่างนี้ มีแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ โลกก็ยังไม่ได้ขาดความฟุ้งซ่าน สังขารก็ยังเป็นสังขารอยู่อย่างนั้น 

แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ยึดสังขาร สักแต่ว่าสังขารเท่านั้น และสามารถเอาสังขารนั้นเป็นประโยชน์ในการประกาศพระศาสนา 

พระพุทธเจ้าใช้สังขารนั้น ใช้ตัวจิต ตัวคิด ตัวเคลื่อนไหวนั่นหละมาเป็นตัวทำงานการประกาศพระศาสนา แต่ทำงานอยู่ในกรอบ ในกรอบอะไร ในกรอบของความเป็นธรรม กรอบของความชอบธรรม กรอบของความบริสุทธิ์ยุติธรรมในใจของพระพุทธเจ้าใช้สังขารประกาศพระศาสนา ใช้สังขารเป็นสื่อสาร อย่าไปเป็นบ้า ยึดสังขารเป็นตัวเป็นตน ถ้าไปยึดสังขารเป็นตัวเป็นตน มันก็คนบ้า บ้าน้ำลายเจ้าของ 

สติมีความจำเป็นทุกระดับทุกขั้นตอน การปฏิบัติก้าวหน้ามากเท่าไหร่ สติยิ่งมีความจำเป็นและสติก็ก้าวหน้า เท่าความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าหากว่าสติไม่ก้าวไป ก็หมายถึงความถอยหลังของการปฏิบัตินั้น จิตเริ่มถอยหลัง พยายามฝึกสติๆ เดินมีสติ นั่งมีสติ นอนมีสติ เคลื่อนไหวอย่างไรมีสติ กินถ่ายมีสติ พูดจาปราศรัยมีสติ เกี่ยวข้องกับใครมีสติ คิดอ่านอะไรมีสติ ถ้าหากว่าคิดอ่านไม่มีสติ ผลออกมามีแต่ทำลายเจ้าของเอง จะไปหาที่ไหน หาความสงบ ไปที่ไหนก็แบกตัวความไม่สงบไป ไปที่ไหนก็แบกตัวความไม่สงบไป อยู่ที่ไหนก็แบกความไม่สงบเอาไว้ แล้วจะหาความสงบเจอได้อย่างไร เหมือนกับนั่งเอาไฟมาถือเอาไว้ในกำมือ ไม่ยอมปล่อยแล้วจะไม่ร้อนได้อย่างไร อยู่กับวัดก็ร้อน ออกไปป่าก็ร้อน ไปที่ไหนก็ร้อน ร้อนเพราะการไม่ยอมปล่อยไฟที่กำอยู่ในมือ 

ในโลกอันนี้ไม่มีอะไรร้อน ดูจริงๆเลย สรุปลงในโลก ดิน น้ำ ลม ไฟ เห็นดินร้อนซักทีมั้ย เห็นน้ำร้อนซักทีมั้ย ถึงน้ำจะต้มเดือดอยู่ก็ช่าง น้ำไม่เคยพูดว่าร้อน ลม ไฟ ไฟจะลุกขนาดไหนก็ช่าง ความร้อนจะจำนวนวัดได้เท่าไหร่ๆ ความร้อนเอานั้นเขาไม่เคยเผาเขาเอง แล้วเขาก็ไม่เคยว่าเขาร้อน ทุกอย่างเค้าเป็นธรรมชาติของเค้า ทุกอย่างเป็นปกติของเค้า ใจของเราก็เหมือนกัน ให้เขาเป็นธรรมชาติของเขาน่ะอยู่เป็นสุข ตาร้อน รูปร้อน ร้อนเพราะการสัมผัสแล้วก็เกิดความยินดียินร้ายจึงร้อน รูปก็เพราะรูป ตาก็เพราะตา หูก็เพราะหู เสียงก็อยู่อย่างเสียง นี่! ไม่สัมผัสกันแล้วมันจะเกิดเป็นฟืนเป็นไฟได้ยังไง ถึงจะมีสัมผัสกัน มีสติรู้รูปก็สักว่ารูป หูสักแต่ว่าหู เพียงแต่ว่าสัมผัสกันเท่านั้น เค้าก็ไม่เกิดความร้อนอะไร 

ในอาทิตต (อาทิตตปริยายสูตร) ท่านแสดงถึงหูร้อน ตาร้อน รูปร้อน เสียงร้อน จมูกร้อน กลิ่นร้อน ลิ้นร้อน รสร้อน ร้อนเพราะยึดการสัมผัสเป็นตัวเป็นตน สิ่งสัมผัสเป็นตัวเป็นตน ร้อนเพราะยึดสังขารตัวปรุงตัวแต่งอันเกิดจากการสัมผัสนั้น ว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นหญิงเป็นชาย เป็นตัวเป็นตน เผากันมา มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ อยู่เป็นสุข มีสติเป็นธรรมเครื่องอยู่ อยู่เป็นสุข มีความสงบเป็นเครื่องอยู่ อยู่เป็นสุข ถ้าหากไม่มีสติ ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ หาความสุขไม่เจอ ดิ้นรนตะเกียกตะกาย อยากจะเปรียบเหมือนสุนัขขี้เรื้อนแสวงหาความสุข ไม่มีโอกาสที่จะเจอสถานที่ที่ไม่คันได้ เพราะความคันไม่ใช่คันอยู่กับสถานที่ มันคันอยู่กับขี้เรื้อนนั้น 

จิตก็เช่นเดียวกัน เปลื้องคำว่ารูปออกไปเสีย โลกดีโลกชั่ว โลกทุกข์โลกสุข โลกรักโลกชัง เปลื้องออกไปเสีย อยู่เป็นสุขสมกับการที่เรามุ่งมั่นปรารถนากัน ถ้ายังจะตะครุบแต่เงา มันก็จะเหมือนกับสุนัขคาบเนื้อเดินสะพาน มองเห็นเงาของเนื้อที่อยู่ในน้ำ ไม่คิดว่าเงานั้นก็คือเนื้อที่คาบอยู่ ลืมตัวก็อ้าปาก โฮ่งๆ ขู่สุนัขตัวที่มันคาบเนื้อตัวที่เป็นเงานั้น ไอ้เนื้อที่อยู่ในปากมันก็หลุดไป ผลออกมาเป็นยังไง นั่น! ตะครุบเงามันเป็นอย่างนั้น คือได้แต่ของว่าง ได้แต่ของไม่มีอะไร แล้วก็ไปตะครุบต่อ ตะครุบต่อไป เงามันจะหมดไปที่ไหน อยู่ตรงไหนมันก็มีเงา นั่งตรงไหนมันก็มีเงา นอนมันก็ยังมีเงา จะคิดไปทางไหน คิดไปทางไหน ล้วนแต่เป็นเงาทั้งนั้น แล้วตะครุบแต่เงาอยู่ แล้วจะได้อะไร 

อย่าตะครุบ หยุดเลิกในการตะครุบ สติๆๆๆ หยุดๆ เลิกๆ หยุดๆ เลิกๆ ไม่คิดไม่ปรุงไม่แต่ง ไม่คิดไม่ปรุงไม่แต่งไม่คิดไม่ปรุงไม่แต่ง อยู่กับจิตที่ประกอบด้วยสติ ไม่ให้แว้บ ไม่ให้วอบๆแว้บๆ ไม่ให้ขยับให้เคลื่อน จิตเป็นจิต โลกเป็นโลก ธรรมเป็นธรรม ต่างคนต่างอยู่ ถึงจะมามีการเกี่ยวข้องกัน มีสติธรรมเป็นธรรมกำกับ ไม่ทำให้เกิดความสับสน เหมือนกับช่างไฟ สามารถที่จะเอาไฟมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้โดยไม่เป็นอันตราย ถ้าคนไม่เป็นช่างไฟ กว่าไฟจะเป็นประโยชน์ ไม่มีความรู้เรื่องไฟ จะเอาไฟมาเป็นประโยชน์ ไฟช็อต อันตรายอันเกิดจากไฟนั้น 

ของในโลกนี่มีประโยชน์ทั้งนั้น มีสติในการเอามาใช้ มีแต่ได้ประโยชน์อย่างเดียว ไม่มีสติ ไม่มีความฉลาดพอ ของในโลกล้วนแล้วแต่เป็นอันตราย มีตา ตาของเราก็เป็นอันตรายกับเรา มีหู หูก็ยังเป็นอันตราย ทั้งๆสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่มีค่า เป็นสิ่งที่มีคุณ แต่กลายเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายเพราะอะไร เพราะใจขาดธรรม เพราะใจขาดสติ ใจมีสติ ใจมีธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น การฝึกใจให้มีสติ ใจมีสตินั้นคือใจมีธรรม สติรวมไว้ทั้งสมาธิก็ไม่ผิด จะว่าศีลก็ไม่ผิด จะว่าปัญญาก็ไม่ผิด รวมอยู่คำว่าสติอันเดียว ไม่มีสติ ศีลจะมีได้ยังไง จะเอาอะไรเป็นธรรมเครื่องสำรวม ไม่มีสติ สมาธิจะแน่วแน่มั่นคงได้ยังไง ไม่มีสติ ปัญญาจะแยบคายแหลมคมได้ยังไง จะไม่มีปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ยังไง จึงว่าธรรมคือสติ บำเพ็ญให้ยิ่ง บำเพ็ญให้ยิ่ง บำเพ็ญให้ยิ่งทุกขณะ นั่งได้ นอนได้ บำเพ็ญได้ทั้งนั้น ยืนได้ รับประทานขับถ่ายอยู่ในอิริยาบถใดๆ บำเพ็ญสติให้เกิดให้มีขึ้นได้ทุกขณะทีเดียว 

ท่านจึงว่าอกาลิโก ทุกกาล ทุกสถานที่ อยู่ในสถานการณ์เหตุการณ์อย่างไร มีสติระลึก มีสติสำรวมเป็นเครื่องประดับของสมณะ เป็นส่วนประกอบของนักบวช สมณะนักบวชไม่มีสติ หาความงดงามไม่ได้ เกสา​ โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นเครื่องอยู่ ผมเป็นผม ตัดก็เป็นผม โกนก็เป็นผม ทิ้งไว้ตรงไหนก็เป็นผม ไม่ตัดไม่โกน ก็เป็นผม ขนก็เช่นเดียวกัน ไม่ตัดไม่โกนก็เป็นขน ถึงจะตัด จะโกน จะหลุดจะลุ่ยก็เป็นขน เล็บก็เหมือนกัน ฟันก็เหมือนกัน หนังก็เหมือนกัน ลอกออกไป น้อยออกไปก็เป็นหนัง อยู่ในตัวก็เป็นหนัง เนื้อก็เหมือนกัน อยู่ในตัวก็เป็นเนื้อ ถึงจะออกไปตรงไหน วางตรงไหนก็เป็นเนื้อ ผมเส้นไหน ขนเส้นไหน เล็บเกล็ดไหน ฟันซี่ไหน เค้าไม่รู้ว่าเค้าเป็นอะไร แต่ละอย่างเค้าไม่ได้มีกิเลสตัณหาอะไรเลย กระดูกชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ตับไตไส้พุง เค้าไม่รู้ว่าเค้าเป็นอะไรทั้งนั้น 

นี่ จึงว่ามีสติ ปัญญามีปัญญาเกิด ไม่มีสติซะอย่างเดียว สมาธิไม่มี ไม่ได้ แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นให้แยบคายได้อย่างไร ไม่ต้องไปหาที่ไหน หาธรรม สติธรรมไม่ต้องไปหา พร้อมที่จะเกิดขึ้น พร้อมที่จะเกิดขึ้นทันทีในขณะที่เรามีการกระทำนั้น สมาธิธรรมก็ไม่ต้องหาที่ไหน พร้อมที่จะเกิดขึ้นการกระทำของเรา ปัญญาธรรมก็เช่นเดียวกัน ไม่ต้องไปหาที่ไหน พร้อมที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากว่าเหตุผลที่จะทำให้เกิดมันพอ ปัญญาพร้อมที่จะเกิด เกิดจากไหน เกิดจากสติ พระพุทธเจ้าท่านว่า ธรรมทั้งหลายเกิดจากสติอันเดียว 

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องหา ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเนี่ย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ตรงนี้ สรีระ ร่างกายทั้งหมดนี่คือกองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องไปหาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่ไหน อยู่ที่นี่ อยู่กับกองไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ที่นี้ อยู่กับอนิจจัง อยู่กับทุกขัง อยู่กับอนัตตา แล้วก็ไม่ยึดติด แล้วก็ไม่หลง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ถ้าหากว่าไม่มีสติ กองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้เป็นกองฟืนกองไฟ เผาไหม้จิตใจของเราและของสัตว์โลกทั้งหลาย มีอะไรที่จะเป็นฟืนเป็นไฟเผาจิตใจของสัตว์โลก มีแต่กองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ 

คำสอนพระพุทธเจ้าจึงสอนให้รู้ สอนให้พิจารณา ให้รู้ความเป็นจริงของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วของในโลกทั้งหมดจะไม่เป็นข้าศึก เพราะของในโลกทั้งหมดก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง ดูธรรม ดูธรรม ดูธรรมก็คือเอาใจดู ฟังธรรม ฟังธรรมก็คือเอาใจฟัง พิจารณาธรรม พิจารณาธรรม พิจารณาธรรม ก็คือเอาใจของเราพิจารณาธรรมที่เรามีอยู่ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กองอยู่ตั้งแต่ศีรษะลงไปหาเท้า เท้าขึ้นไปหาศีรษะนี้ คือกองขันธ์ รู้อันนี้ เรียกว่ารู้ รู้อันนี้แล้วไม่หลง เพราะในโลกทั้งหมดนี่ไม่แตกต่างอะไร เพราะมันกองเกิด กองแก่ กองตาย กองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน ไม่หลงในกองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่กองอยู่ในเรา แล้วเราจะไปหลงกองไหน เห็นกองมูตร เห็นกองคูถอย่างนี้ เรารู้ว่าอันนี้มันเหม็นแล้ว เราจะไปคิดว่ากองขี้กองอื่นมันหอมได้ยังไง มันกองมูตรกองคูถเหมือนกัน กองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน สรุปแล้วเป็นผู้ที่น้อมจิตน้อมใจ มีสติน้อมใจ มีสติน้อมจิต มาอยู่กับกองเรา กองทุกข์ กองเกิด กองแก่ กองตาย กองอริยสัจกองนี้ 

นี่คือหลักของการปฏิบัติ หลักของการดำเนินเพื่อถึงจุดหมายปลายทางคือมรรคผลพระนิพพาน อย่าไปกระโดดโน่น กระโดดนั่น กระโดดไปซ้ายไปขวา กระโดดไปหน้า กระโดดถอยหลัง มีสติรู้อยู่เสมอ เป็นผู้ที่ไม่กระโดดหน้ากระโดดหลัง อันนี้เป็นความถูกต้องในหลักการปฏิบัติ เอ้า เลิกกันเท่านี้หละ 

(พูดท้ายเทศน์)

ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็น อากาศเย็น ริ้นยุงก็ไม่รบกวน นั่งภาวนาตามต้นไม้ นั่งภาวนาอยู่ข้างทางเดินจงกรมดี มีเสื่อ มีแท่น มีร้านนั่ง นั่งบนแท่น นั่งบนร้าน ไม่มี เอาเสื่อเอาอะไรไปปู พับครึ่งเข้า นั่งสบาย นอนอยู่ร่มไม้ก็ยังได้ นอนข้างทางเดินจงกรมก็ได้ อย่าไปหาแสวงความสุขการหลับการนอนในที่หลับที่นอนที่สบาย แสวงหาที่หลับที่นอนที่สบายนั่นคือการแสวงหาทุกข์ ทุกข์และสุขไม่ขึ้นอยู่กับการที่หลับที่นอนดี ขึ้นอยู่กับความสงบไม่สงบของใจ อะไรที่จะเป็นไปเพื่อความสงบของใจ พยายามให้ยิ่ง จะเจอความสุขที่เราปรารถนากัน