หลวงปู่แบน ธนากโร
ชนะตนนั่นแลเป็นดี ละความอยากก็คือการชนะตนนั่นเอง เวลาความอยากมันเกิดขึ้น ความอยากนั้นมันเป็นตน ความอยากนั้นเป็นเรา พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ละความอยากก็คือสอนให้ชนะเรานั่นเอง ในเมื่อเราชนะเราได้ เราละความอยากได้ เราอยู่เป็นสุข
อะไรมันอยาก ดินมันอยากมั้ย น้ำมันอยากมั้ย ลมมันอยากมั้ย ไฟมันอยากมั้ย ลมหายใจเข้าออกมันอยากมั้ย ถามมัน ลมหายใจออกมันอยากมั้ย ตั้งใจถามทั้งลมหายใจ ตั้งใจถามทั้งลมหายใจออกว่ามันอยากอะไรบ้าง อันนี้ก็หมายถึงธาตุลม ธาตุน้ำก็เหมือนกัน น้ำดี น้ำตา น้ำมูก น้ำเสลด น้ำลาย น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำเหล่านี้ น้ำอะไรมันอยากบ้าง เราไม่ต้องไปถามหลายอย่างดอก ถามแต่เพียงน้ำเหงื่ออันเดียวก็พอ หรือจะถามเพียงแต่น้ำตาอย่างเดียวก็พอ ถามเพียงแต่น้ำเลือดอย่างเดียวก็พอ
ในเมื่อเราถามอย่างใดอย่างหนึ่งได้คำตอบออกมาชัด น้ำส่วนอื่นๆ ก็เป็นอันว่าตอบออกมาด้วยกันเพราะน้ำทั้งหมดนั้นๆ ก็เป็นน้ำอันเดียวกัน ต่างกันแต่รูปร่างลักษณะ แล้วก็สมมุติเรียกกันเท่านั้นเอง ต่างๆกันไป หรือก็เรียกว่าธาตุน้ำอันเดียวกัน ในเมื่อลมก็ไม่มีความอยาก น้ำก็ไม่มีความอยาก ทีนี้พูดถึงธาตุดิน นับตั้งแต่ผม แต่ขน แต่เล็บ แต่ฟัน แต่หนัง เราไม่ไปจะถามหลายอย่างก็ได้ จะถามเพียงอย่างเดียวก็ได้ ถามหลายอย่าง อย่างไหนตอบก็เป็นอันว่าตอบไปหมดทุกอย่าง จะถามอย่างเดียวก็ได้
ในเมื่ออย่างเดียวเราได้คำตอบชัด สิ่งที่เราไม่ถามก็ชัดออกมาเหมือนกัน เพราะส่วนไหนๆ มันก็ดิน ส่วนไหนๆมันก็ธาตุดิน ดินก็เหมือนกัน น้ำก็เหมือนกัน ลมก็เหมือนกัน แม้แต่ไฟก็เหมือนกัน ไฟตรงไหนมันอยากบ้าง ไฟในตะเกียง ไฟในเทียน หรือว่าไฟในหลอด ไฟในหลอดนีออนอะไรก็ช่าง หรือไฟที่มีอยู่ตามร่างกายของเราที่ทำให้เกิดความอบอุ่น ไฟที่มีอยู่ในโลก ที่ทำให้โลกมีความอบอุ่น ไฟตรงไหนเค้ามีความอยากบ้าง ไฟตรงไหนก็ไม่มีความอยากแม้แต่น้อย
ทีนี้พูดถึงดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีความอยากเค้าจะมีความอยากอะไร แม้แต่ความรู้เขาก็ไม่มี ดินเขาก็ไม่มีความรู้ น้ำ ลม ไฟ ไม่มีความรู้ อากาศธาตุตรงไหนก็ไม่มีความรู้ทั้งนั้น มีแต่ใจ ใจ มีแต่จิต จิต มีแต่ความรู้เท่านี้ มีความรู้ ถามใจ ถามใจ ถามความรู้ ความรู้มีความอยากหรือ ความรู้อันนี้อยากอะไร ความรู้อันนี้มีความอยากหรือ เราก็ถามความรู้ลงไปจริงๆ ถามความรู้ลงไปจริงๆ แล้วก็เอาใจอยู่กับความรู้ แล้วก็เอาใจฟังคำตอบมาจากความรู้ เอาใจของเราฟังคำตอบจากใจ ว่าใจมันอยากหรือ
ระหว่างที่ฟังคำตอบนั้น เราอย่าไปคิด เราอย่าไปด้นเดา เราอย่าไปคิด อย่าไปปรุงไปแต่งอย่าไปด้นเดาอะไรทั้งหมด ตั้งใจแต่ฟังใจของเราตอบมา ใจเขาจะอยู่เฉยๆ ใจเขาจะไม่บอกว่าข้าพเจ้าเป็นใจ ข้าพเจ้าอยาก ดินก็ไม่อยาก น้ำก็ไม่อยาก ลมก็ไม่อยาก ไฟก็ไม่อยาก ใจก็ไม่อยาก แล้วอะไรมันอยาก ความอยากก็คือความอยาก ความอยากเกิดมาจากไหน ความอยากเกิดมาจากใจของเราที่ว่างจากธรรมะ
ในเมื่อใจของเราว่างจากธรรมะขณะใด ความอยากมันเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาทันที ใจของเราว่างจากธรรมะคืออย่างไรเล่า คือว่างจากสติ ว่างจากสมาธิ ว่างจากปัญญา สติของเราก็จดจ่อหาความอยาก ทั้งผม ทั้งขน ทั้งเล็บ ทั้งฟัน ทั้งหนัง ทั้งดิน ทั้งน้ำ ทั้งลม ทั้งไฟ สติของเราก็จ้องถามหาความอยากจากจิตจากใจ หาความอยากจากใจ หาความอยากจากใจ ตั้งใจถามมันอยู่ อย่างนี้เรียกว่าใจของเรามีธรรมะประจำอยู่ สติก็เป็นธรรม สมาธิก็เป็นธรรม วิริยะก็เป็นธรรม สัมปะชัญญะก็เป็นธรรม ปัญญาก็เป็นธรรม ใจของเรามีแต่ธรรมะ
ในเมื่อใจของเรามีธรรมะ ความอยากมันก็ไม่กล้าโผล่หัวขึ้นมา หรือความอยากมันก็เกิดขึ้นมามิได้ เหมือนกับโจรผู้ร้าย ถ้าหากว่าอยู่ในสายตาของตำรวจ สายตาของเจ้าหน้าที่ โจรผู้ร้ายไม่กล้าจะแสดงความเป็นโจรเป็นผู้ร้าย คำว่าความอยากก็เหมือนกัน ในเมื่อเรามีสติธรรม มีสัมปะชัญญะธรรม มีปัญญาธรรมอยู่ในจิตในใจของเรา ความอยากมันไม่มีโอกาสที่จะแสดง ไม่มีโอกาสที่จะเกิดมาให้เป็นความอยากรบกวนจิตใจของเรา ให้กระสับกระส่ายวุ่นวาย ไม่มีโอกาสที่จะเกิดจะเป็นจะมีขึ้นมาได้
จึงว่าต้องมีสติ ต้องมีสัมปะชัญญะ ต้องมีสติ ต้องมีปัญญาสอดส่องอยู่เสมอ ท่านจึงว่าพิจารณา ท่านจึงว่าวิจัยวิจารณ์ ท่านจึงว่าการพิจารณานี้จึงมีความจำเป็นในการปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดกาล การปฏิบัติธรรมไม่ใช่จะมุ่งแต่ให้ใจสงบ มุ่งแต่ให้ใจสงบแล้วพอใจในความสงบ พอใจในความสบายอันเกิดจากใจสงบนั้น อันนี้ก็ถูกต้องแต่ถูกเพียงแต่ว่าเป็นบางส่วนเท่านั้น จะถูกอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ ถูกอย่างสมบูรณ์ต้องมีทั้งสติ ต้องมีทั้งสมาธิและต้องมีทั้งปัญญาด้วย
สติก็เป็นตัวศีล สติก็เป็นตัวสมาธิ สติก็ต้องเป็นตัวปัญญา สติเป็นพื้นฐานของศีล สติเป็นพื้นฐานที่ตั้งของสมาธิ สติเป็นพื้นฐานที่ตั้งของปัญญา เราจะต้องฝึกสติของเราให้มีกำลังยิ่งขึ้นไป มีกำลังยิ่งขึ้นไป สติของเรามีกำลังมากเท่าไหร่ ศีลของเราก็เป็นพลัง มีกำลังมากเท่านั้น สมาธิของเราก็มีพลัง มีกำลังเพิ่มขึ้น ปัญญาของเราก็มีพลัง มีกำลังยิ่งขึ้น นี่!
ในเมื่อจิตของเราเป็นศีลที่มีกำลัง เป็นสมาธิที่มีกำลัง เป็นปัญญาที่มีกำลัง อาศัยสติมีกำลังสมบูรณ์ อยู่ประจำจิตประจำใจของเราอยู่ กิเลสหมายถึงความโลภ กิเลสหมายถึงความอยาก กิเลสหมายถึงความโกรธ นี่ กิเลสเหล่านี้ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาได้ เพราะธรรมคือสติ คือสมาธิ คือปัญญา เป็นธรรมที่จะกำจัดข้าศึกคือความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่แล้ว หรือความอยากใดๆ อยากในลักษณะไหน อยากอะไร อยากต่ออยากอะไร ไม่มีโอกาสที่จะแสดงเกิดขึ้นมีขึ้นในจิตในใจของเราได้
จึงให้พากันมีความสำรวมในตัวในกายในใจของเราให้ดี พยายามทำสติให้มีความแน่วแน่อยู่กับจิต พยายามเอาจิตที่มีความแน่วแน่นั้นเอามาค้นคว้าศึกษา ในกองดินก็ดีให้แจ่มแจ้งว่าเป็นธาตุดินจริงๆ กองน้ำก็ดีให้พิจารณาให้แจ่มแจ้งเป็นธาตุน้ำจริงๆ กองลมก็ดี กองไฟก็ดีพิจารณาให้แจ่มแจ้งลงไป เห็นชัดว่าเป็นธาตุลมและธาตุไฟจริงๆ ในเมื่อเห็นชัดว่าเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ร่างกายของเราเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ อันเราเอาดิน เอาน้ำ เอาลม เอาไฟมาสมมุติว่าเป็นร่างกาย นี่ จะสมมุติซักเท่าไหร่ ดินก็เป็นดิน น้ำก็เป็นน้ำ ลมก็เป็นลม ไฟก็เป็นไฟ จะเป็นร่างกายของเราอย่างที่เราสมมุติ เป็นไปไม่ได้ ถึงเราจะได้แง่คิดว่าเป็นของเรา ถึงเราจะคิดว่าเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา ดินก็เป็นดิน ลมก็เป็นลม น้ำก็เป็นน้ำ ไฟก็เป็นไฟ ดินจะเป็นคนไม่ได้ น้ำจะเป็นคนไม่ได้ ลมจะเป็นคนไม่ได้ ไฟจะเป็นคนไม่ได้ เราจะว่าเป็นซักขนาดไหน เขาก็เป็นดินเหมือนเดิม เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เหมือนเดิม นี่ อาศัยใจของเรามีสติ อาศัยใจของเรามีสมาธิ อาศัยใจของเรามีปัญญาสามารถศึกษา
นี่ ความเกิด สามารถพิจารณาชาติ ความเกิด นี่ กองเกิดก็คือกองดิน กองน้ำ กองลม กองไฟ ชาติความเกิดก็คือดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกันเข้าเหมือนกับฟองน้ำนั่นเอง เรียกว่าความเกิด ในเมื่อความเกิดเหมือนกับฟองน้ำ ความเกิดจะเป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งที่เป็นสาระเป็นแก่นสารได้อย่างไร นี่ เรื่องเหล่านี้เราจะต้องศึกษาพิจารณา ถ้าหากว่าเราไม่ศึกษา ไม่พิจารณา ความจริงอย่างนี้มันมีอยู่ แต่เราไม่แจ่มแจ้ง เราก็หลงดิน หลงน้ำ หลงลม หลงไฟว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา เป็นหญิงเป็นชาย เป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาขึ้นมา ทั้งๆที่ความจริงอันนี้ก็คือ ของที่เกิดมาตาย
อันนี้ก็อุปมาเหมือนฟองน้ำ มีเป็นฟองขึ้นมาแล้วก็สลายไป ถึงจะเป็นฟองมากมายก่ายกองขนาดไหน ฟองน้ำเกิดขึ้นแล้วไม่สลายไม่มี ใบไม้ทั้งหมดในโลก ที่เกิดเป็นใบไม้แล้ว ที่จะไม่ร่วงหล่นไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลกทั้งหมดจะสมมุติกันว่าเป็นสิ่งใดๆ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องมีการสลายไปทั้งนั้น นี่สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายหาอะไรที่จะเป็นตัวเป็นตนไม่ได้ คำว่าอนิจจัง ก็หาคำว่าจริงจังไม่ได้ คำว่าทุกขัง มันทุกข์จนกระทั่งมันทนไม่ได้ คำว่าอนัตตามันก็แตก มันก็พัง อนิจจังก็คือหาความจริงจังไม่ได้ ทุกขังมันก็ทนอยู่ไม่ได้ มันจึงแตก มันจึงพัง อนัตตาหมายความว่ามันก็คือความแตกความพัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็คืออันเดียวกันนั้นเอง คือสิ่งที่เกิดมาแล้วก็ตาย
นี่เราจะต้องพิจารณาให้มาก พิจารณาให้แจ่มแจ้ง พิจารณาของเก่า พิจารณาของพิจารณาของเก่า! นี่ตามธรรมดา อาหารที่เรารับประทาน เราก็รับประทานอาหาร มื้อไหนเราก็รับประทาน แต่รับประทานมันก็อิ่มขึ้นทุกวัน รับประทานวันไหนก็อิ่ม ทั้งที่เป็นของเก่านั่นหละ มันก็รับประทานมันก็อิ่ม รับประทานมันก็อิ่ม เหมือนคล้ายๆกับชาวไร่ เค้าก็ทำไร่ ชาวนาเค้าทำก็นา ถึงปีเค้าก็ทำที่ดิน ถึงปีมาเค้าก็ทำกับที่ดิน แล้วเค้าก็ได้รับประโยชน์อันเกิดจากการทำไร่ทำนาในที่ดินนั้น การที่จะชำระสะสาง การที่จะได้ขจัดขัดเกลาความลุ่มหลง ความมืดที่มีอยู่ในจิตในใจ เราก็ต้องทำลงในจุดนี้ เพราะจุดนี้เท่านั้นเป็นจุดที่เราติด เป็นจุดที่เราลุ่มหลงและมัวเมา ยินดียินร้ายกันก็จุดอันนี้ เราก็ต้องเอาจุดอันนี้หละ เอามาแก้ความลุ่มหลงมัวเมาของเรา
จึงอย่าพากันลูบคลำ อย่าพากันลังเลสงสัย ธรรมที่จะเป็นธรรมเครื่องขัดเกลาความลุ่มหลงของเราก็คือจุดที่เราลุ่มหลงมัวเมานั่นเอง ธรรมที่จะเป็นธรรมเครื่องขจัดกิเลสตัณหาราคะที่มีอยู่ในจิตในใจของเรา ก็ต้องเอาสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดกิเลสตัณหาราคะ อันนั้นหละให้เอามากำจัด หนามยอกก็ต้องหนามนั้นน่ะมาบ่ง จึงให้พากันเข้าใจกันอย่างนี้ แล้วก็พากันตั้งอกตั้งใจมีความเพียรความพยายาม มุ่งมั่นจริงจังในการที่จะพิจารณาให้แจ่มแจ้ง แจ้งชัดอย่างไม่ลูบคลำ อย่างไม่ลังเลสงสัย นี่ แล้วมันจะหลุดออกไป คำว่าสักกายทิฐิจะไม่มีตกค้างในจิตในใจ จะไปตกค้างได้อย่างไรเล่า เพราะมันไม่มีกาย มันจะไปยึดกายว่าเป็นเราได้อย่างไร
จึงให้พากันขยันขันแข็ง เรื่องพูดถึงจิตก็เหมือนกัน พิจารณาให้แจ่มแจ้ง พิจารณาให้แจ่มแจ้ง พิจารณาให้แจ่มแจ้งเพราะคำว่าจิตๆนี่ คำที่เรียกว่าอาการของจิตก็ยังเต็มอยู่ในจิตในใจ ในเมื่อเราแจ่มแจ้งในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ดี จะเป็นสิ่งเราพอใจ สิ่งที่เราไม่พอใจ อันนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งนั้น คำว่าสังขารทั้งหลายที่เป็นส่วนรูป สังขารทั้งหลายที่เป็นส่วนนาม สังขารก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นรูป สามารถที่จะเห็นด้วยตา จะเป็นสังขารที่ไม่สามารถจะเห็นด้วยตา แต่สามารถที่จะสัมผัสได้ด้วยใจอันนั้นก็เป็นสังขาร สังขารเหล่านี้จะต้องเป็นอนัตตา หาตัวหาตนไม่ได้ทั้งนั้น ฟองน้ำเป็นอย่างไร สังขารที่เกิดขึ้นมาทั้งรูปทั้งนามที่เราสัมผัสได้ทางใจ
อันนั้นก็เหมือนกับฟองน้ำนั้น นี่ อย่างพระท่านไปฟัง ท่านไปดูฝนตก เห็นเป็นฟองแล้วละลายเป็นน้ำ เห็นเป็นฟองแล้วก็ละลายเป็นน้ำ ท่านก็ยังปลงธรรมที่ฟองน้ำอันนั้น นั้นเป็นธรรม กิเลสของท่านก็หมดก็สิ้น และสามารถที่จะสำเร็จเป็นอรหัตอรหันต์เพียงแต่ว่าดูฟองน้ำที่เกิดขึ้นเป็นฟองแล้วก็สลายไปเท่านั้น
จึงว่าธรรมเป็นธรรมแก้เครื่องกิเลสมีอยู่เต็มโลก ธรรมที่เป็นธรรมเครื่องแก้กิเลสก็คือสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับนั่นเอง สังขารที่เป็นภายใน สังขารที่เป็นภายในคือเกิดขึ้น เกิดขึ้นๆๆ จะเกิดขึ้นอย่างไรก็ช่างเถอะ สิ่งที่ได้มาเกิดขึ้นแล้ว เราจะต้องว่าอันนั้นเป็นเรา อันนั้นเป็นเรา อันนั้นเป็นตัวตน อันนั้นเป็นจิตเป็นใจ หรืออันนั้นเป็นเรา สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเราจะว่าเราซักเท่าไหร่ ไม่ใช่ดอก คือสังขารเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป นี่ ท่านพระพุทธเจ้าท่านให้รู้ชัดในกองสังขารทั้งหลายแล้วก็ปล่อยวางไปตามธรรมชาติของเขาเสีย นี่จิตของเราก็ตื่นขึ้นมาเป็นพุทโธในเมื่อปล่อยวางสังขารได้แล้ว
ถ้าหากว่าจิตของเรายังไม่รู้สังขาร ยังไม่ชัด ไม่สามารถที่จะปล่อยวางสังขารได้ จิตของเราก็ยังไม่เป็น ไม่เบิกบานเพราะยังยึดสังขารเป็นตัวตน ยึดสังขารเป็นจิตเป็นใจ ในเมื่อเราเห็นสังขารชัดตามความเป็นจริงแล้ว นี่ เราจะไปยึดสังขารเป็นจิตเป็นใจ ยึดสังขารเป็นตัวเป็นตน ไม่ไปยึด จะไปยึดไม่ได้ จะไปยึดได้ยังไง เพราะอันนั้นเค้าเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ เห็นชัด เห็นชัดนี่ ในที่สุดก็ปล่อยวางไปตามสภาพของเขา
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมะที่เราจะต้องศึกษาให้แจ่มแจ้งกัน ถ้าหากเราไม่ศึกษาให้แจ่มแจ้งแล้ว เราจะไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ในเมื่อเราไม่เข้าใจธรรมะมีอยู่ในเราเหล่านี้แล้ว เราก็จะเรียกว่าหลงธรรมะที่มีอยู่ในเรา แล้วเราก็จะหลงสมมุติ หลงธรรมะที่มีอยู่เต็มโลก ในเมื่อเราหลงธรรมะที่มีอยู่เต็มโลกคือสังขารที่เกิดมาตาย สังขารที่เกิดมาดับ กองดิน กองน้ำ กองลม กองไฟที่เกิดมาแล้วสลายตัวเราก็จะหลง ถ้าหากว่าเราหลงกองดิน กองน้ำ กองลม กองไฟ หลงสังขารเกิดดับที่มีอยู่ในเราแล้ว เราก็จะต้องหลงสังขารภายนอกนี่
วิธีแก้ความหลง แก้กิเลสที่มี คือความหลงที่มีอยู่ในจิตในใจของเราให้มันเหือดแห้งไป ต้องแก้โดยการพิจารณาสิ่งที่เราหลงให้แจ่มแจ้ง จะแก้โดยวิธีใด แก้โดยวิธีอื่น ไม่มี ไม่มีทาง ไม่มีวิธี อย่าไปคลำหาอันอื่น คลำหาจุดที่เราหลง คลำหาจุดที่เราติดเราข้อง ในเมื่อเราคลำแล้ว ตรงไหนเราหลงเราก็รู้ ตรงไหนเราติดเราข้องเราก็รู้ ตรงไหนที่เราไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงเราก็รู้ แล้วก็พยายามทำให้แจ่มแจ้ง ทำให้แจ้งให้ชัดตามความเป็นจริง ในเมื่อแจ้งชัดตามความเป็นจริง เราก็สามารถที่จะรู้ชัดแจ้งชัดตามความเป็นจริงนั้นได้ แล้วเราก็ไม่หลงอีกต่อไป
ธรรมไม่ใช่มีอยู่ที่อื่น ธรรมมีอยู่ในเราสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ดินก็มีอยู่ในเรา น้ำก็มีอยู่ในเรา ลมก็มีอยู่ในเรา ไฟก็มีอยู่ในเรา ความเกิดก็มีอยู่ในเรา ความแก่ก็มีอยู่ในเรา ความตายก็มีอยู่ในเรา ความเกิด ความดับ ของสังขารที่เป็นส่วนนามธรรม ความเกิด ความดับ ของสังขารที่เกิดที่ดับภายในจิตในใจก็มีอยู่ในเรา จึงว่าธรรมเหล่านี้ ถ้าหากว่าเราศึกษาให้แจ่มแจ้งเห็นชัดตามความเป็นจริงของเขาแล้ว เราจะไม่ยึดถือสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเราเป็นเขา ไม่มีอะไรดอกที่จะเป็นธรรม ที่จะมาปลดเปลื้อง มายก มาทำลายความลุ่มหลงที่มีอยู่ในเราให้หมดให้สิ้นไป มีแต่สิ่งที่เรามีอยู่นี้หละ
แต่สิ่งที่เรามีอยู่นี้เราไม่ค่อยจะสนใจกัน สนใจแต่อะไรต่อมิอะไรที่โลกเค้าสมมุติว่าดี โลกเค้าสมมุติว่าดี โลกเค้าสมมุติว่าดี โลกเค้าสมมุติว่ามีค่า โลกเค้าสมมุติว่ามีราคา ใจของเราพากันมุ่งไปในจุดที่โลกเค้าสมมุติกันว่าดีมีราคา ถึงโลกเค้าจะสมมุติว่าเป็นของดี ของมีราคาก็จริง จริงอย่างที่สมมุติ แต่ไม่จริงโดยหลักธรรมชาติ จริงอย่างสมมุติเรียกว่าไม่จริงโดยธรรมชาติ ถึงสมมุติถึงสิ่งนั้นจะมีค่าจริง ก็มีค่าอย่างสมมุติ มีค่าอย่างสมมุติใครเอาไปเกี่ยวข้องแล้ว อันนั้นมันผูก ใครเอาไปเกี่ยวข้องแล้วอันนั้นมันผูก อันนั้นมันมัด สิ่งที่โลกเค้าสมมุติว่าดี มีค่ามีราคา อันนั้นใครไปเกี่ยวข้อง ใครไปเกี่ยวข้องแล้วอันนั้นมันผูก อันนั้นมันมัด
ถ้าหากว่าเป็นของดีโดยธรรมชาติ ของดีโดยธรรมชาติก็คือสัจธรรมของจริง เรียกว่าอริยสัจ เป็นสัจจะอันประเสริฐนี้เป็นของดีโดยธรรมชาติ ถ้าหากว่าจิตดวงใดเข้ามาสัมผัส จิตดวงใดเข้ามาเกี่ยวข้อง สัจธรรมอันนี้จะไม่ผูกท่านผู้หนึ่งผู้ใด สัจธรรมของจริงนี้มีแต่จะปล่อยจิตใจดวงนั้นให้ออกไปสู่ความเป็นอิสระ ของดีใครไปติดแล้ว มันผูก อันนั้นเป็นของดีอย่างโลกเค้าสมมุติ ของดีโดยธรรมชาติ ใครไปเกี่ยวข้องแล้ว ของดีนั้นมีแต่จะปลดปล่อยบุคคลผู้นั้นให้เข้าถึงความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์
ให้พากันเข้าใจแล้วก็พากันเลือกเกี่ยวข้อง เอาอะไรที่จะทำให้เราเข้าถึงความเป็นอิสระ พ้นจากเครื่องผูก ที่ผูกเรามามากมายก่ายกอง มากภพมากชาติ แล้วก็ยังจะผูกต่อไป ไม่ได้อะไร กระดูกมันก็ยังไม่ได้ เกิดมาแล้วก็ตาย เกิดมาแล้วก็ตาย เกิดมาแล้วก็ตาย มันไม่มีใครได้อะไร แต่สิ่งเหล่านั้นมันผูกเราให้ไม่ให้ไปไหน ให้มาเกิดมาตายอยู่อย่างนั้น เป็นเรื่องที่เราน่าสลดใจ ให้พากันมีจิตมีใจที่จะทำลายความติดความข้อง ที่มาติดมาข้องมานานนั้นน่ะ ให้มันลดน้อย ให้มันเบาบางหมดสิ้น การที่จะทำลายความติด การติดข้องที่ติดมานานให้มันลดน้อย ให้มันบางหมดสิ้นนั้น ก็อาศัยการเอาใจของเรามาเกี่ยวข้องกับสัจธรรมของจริงนี่เอง