Skip to content

อัปปมัญญา ๔

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ฟังเทศน์อัปปมัญญาต่อไป อัปปมัญญาคือพรหมวิหาร ๔ แต่ว่าอัปปมัญญานั้นกว้าง มีความกว้างกว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานั้นน่ะ พรหมวิหาร ๔ เป็นเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ท่านว่างั้น คือผู้ปกครองหมู่เพื่อนก็ต้องมีธรรมะสี่ประการนี้เป็นเครื่องอยู่ ถ้าไม่งั้นก็ผู้อยู่ใต้บังคับปกครองจะต้องเดือดร้อน อัปปมัญญาในที่นี้ก็อยู่ในสี่จำพวกนี้แหละแต่กว้างกว่าเก่า

พรหมวิหาร ๔ นั้น เมตตา ปรารถนาให้เกิดความสุขแก่คนอื่น นั่นอันหนึ่ง ข้อที่สอง กรุณา เมื่ออยากจะให้คนอื่นได้พ้นจากทุกข์ อันเดียวกันนั่นแหละ อยากจะให้พบความสุข อยากจะให้พ้นจากทุกข์ อันเดียวกันน่ะแหละ มุทิตา เมื่อเค้าพ้นจากทุกข์แล้วก็ดีใจ พอใจ อย่างเดียวกันนั้นแหละ คราวนี้อุเบกขา มันมีอีกชั้นนึง อุเบกขาคือวางเฉยได้ คนที่จะวางเฉยได้ต้องมีปัญญา สัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งปวงหมด ไม่ใช่วางอุเบกขาเฉยๆ คือมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เราช่วยอยากจะให้เขารับความสุข ให้เขาพ้นจากทุกข์แล้ว ก็มีความพอใจยินดีกับเขาพ้นจากทุกข์นั้น ส่วนอุเบกขานั้นที่จะให้วางเฉยได้มันยาก ผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตามันยากนัก ยาก

อย่างว่าเรามีลูกมีหลาน มีเพื่อนมิตรสหาย เมื่อเค้าพ้นจากทุกข์แล้วก็พลอยยินดีที่เค้าพ้นจากทุกข์นั้น มันไม่ใช่ของง่ายที่จะดึงอุเบกขา มันต้องความยินดีพอใจอยู่นั่นร่ำไป ต้องมีปัญญาพิจารณาถึงกัมมัสกตา พิจารณาถึงเรื่องกรรมของสัตว์ที่เป็นอยู่อย่างนั้น เค้าได้ความสุข พ้นจากทุกข์แล้วก็พลอยยินดีแล้วก็มีความพอใจเลื่อมใสแล้วให้พิจารณาอีก ไม่ให้มันวาง ถ้าไม่มีปัญญาก็วางไม่ได้ สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาต้องมีความดีความชั่ว มีบุญวาสนาบารมีและมีบาปติดตามมาทุกคน เราอย่าไปพะว้าพะวงกับเขา ไปห่วงใยอะไรกับเขา เมื่อเขาพ้นจากทุกข์แล้วก็ไม่ได้ เป็นห่วงใยอะไรก็แค่นั้น ไม่ห่วงใยอะไรก็แค่นั้น พิจารณาเห็นอย่างนี้ กัมมัสกตา สัตว์ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วของเขาต่างหาก เราเพียงแต่ช่วยอุปการะเล็กๆน้อยๆ ถ้าหากว่าบุญบารมีวาสนาของเขาไม่มี จะช่วยซักเท่าไหร่มันก็ไม่พ้นจากทุกข์ จะให้เค้าดิบดี มันก็ดีไม่ได้ ที่เราช่วย เราช่วยวาสนาบารมีของเค้า เค้าไม่ได้ความดีก็เพราะวาสนาบารมีของเค้า พิจารณาอย่างนี้มันค่อยวางลงไปได้

เมตตาคือมิตรนั่นแหละ ผู้ที่มีเมตตาคือมีมิตร ตัวเขาตัวเราฉันใด ตัวเราเป็นฉันใดตัวเขาก็ให้เป็นเช่นนั้น อันนั้นเรียกว่าเมตตา เราเมตตาลูก เมตตาหลาน เมตตาญาติพี่น้องหรือว่ามิตรสหายของเราเป็นเฉพาะ มันใกล้นิดเดียว อันนี้เรียกว่าพรหมวิหาร ความสุขความทุกข์ของเขาเช่นใดก็ให้เหมือนของเรา ของเราเช่นใดก็ขอให้เหมือนกับเขาได้เช่นนั้น จึงว่ามิตร เมตตาคือมิตร เราได้ความสุขเพียงแค่นี้ ก็จะให้เค้ามีความสุขยิ่งกว่านี้แหละ อยากให้เค้าพ้นจากทุกข์ คือเค้าทุกข์ทรมานอยู่นั่น ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคลอะไรหมดเหมือนกัน เค้าพ้นจากทุกข์เราก็ดีใจพอใจ หมดห่วงหมดกังวล อย่างเล่าให้ฟังมาแล้ว คือพิจารณาเห็นกัมมัสกตา จึงจะปล่อยวางลงไปได้ กรุณา ความสงสารเอ็นดู อยากจะให้เค้าพ้นจากทุกข์ เค้าทนทุกข์ทรมานก็อยากจะให้พ้นไป เมื่อเค้าพ้นแล้วก็ยินดีพอใจ อิ่มเอิบในใจของเรา อันนี้เป็นพรหมวิหาร 

ส่วนอัปปมัญญา ไม่เลือกคนคราวนี้ ทั่วไปหมด มนุษย์สัตว์เหมือนๆกัน มีวิญญาณขึ้นมาเกิด มีวิญญาณแล้วเหมือนกัน มีสุขมีทุกข์เสมอเหมือนกันหมด มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ไม่เลือกชั้นวรรณะบุคคลใดทั้งหมด สัตว์ทั้งปวงหมดเหมือนกันทั้งนั้น อัปปมัญญาท่านบอกไว้อย่างนั้น ให้มันเสมอภาค ปรารถนาจะให้เขาได้ความสุข ตอนนี้มันต้องมีสมาธิภาวนาเป็นเครื่องอยู่ ถ้าไม่มีสมาธิภาวนา ไม่ได้เด็ดขาด เอาความสุขสบายเพราะเหตุที่เราได้ความสุขอันนั้น มันเป็นสมาธิภาวนาแล้ว มันจะค่อยวางเสมอภาคหมด ถ้าไม่มีสมาธิภาวนาก็เป็นเพียงแต่เมตตา ปรารถนาอยากจะให้ได้ความสุขคือพี่น้องญาติวงศ์ของเรา ถ้าไม่ใช่ญาติพี่น้องก็ไม่ปรารถนาจะให้ความสุข หรือสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้ปรารถนาจะให้ความสุข บางทีหากว่า ปรารถนาเช่นนั้นแล้วอยากให้ความสุขเช่นนั้นแล้ว เมื่อเขาทำไม่ดีก็ไปโกรธเขา ความที่อยากจะให้เค้าได้ดิบได้ดีก็เลยหายสูญไป มันเมตตาได้เพียงแค่นั้น 

ส่วนอัปปมัญญาไม่ใช่อย่างนั้น เค้าทำดีก็ดี ทำชั่วก็ดี พูดว่ากล่าวตักเตือนด้วยประการต่างๆ ให้เค้าดิบเค้าดี ถ้าเค้าทำไม่ดี ก็ยังมีเมตตาอยู่ อย่างเค้าพูดประชดประเชยกับเราก็ดี พูดหยาบคายก็ดี เกิดเอ็นดูสงสารเค้าซะ อยากจะให้เค้าได้ดิบได้ดีร่ำไป ไม่คิดว่าเค้าด่า ไม่คิดว่าเค้าเหยียดหยามดูถูกเรา อัปปมัญญาเลย เอ็นดูสงสาร ปรารถนาอยากจะให้เค้าได้ความสุขอย่างเดียว อันนี้จึงว่ามันถึงใจ มันถึงสมาธิภาวนา แล้วมันก็เป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าแกล้งให้มันเป็น เมตตาโดยมากมันแกล้งให้เป็น อยากจะให้เค้าได้ความสุขอันนี้ มันเห็นความทุกข์ของเขาเกิดขึ้นมาแล้วก็อยากจะให้ความสุข มันเฉพาะเจาะจง ส่วนอัปปมัญญาหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ มันเสมอทั่วกันหมด ไม่ว่าสัตว์บุคคลอะไรทั้งปวง ปรารถนาอยากจะให้ความสุขจริงๆ

เมื่อเขาได้ความสุขก็ยินดีพอใจ อาการที่ยินดีพอใจกับความสุขของเขาที่เขาพอใจ ความทุกข์น่ะเมื่อเขาได้รับความสุขแล้ว ก็ยินดีพอใจในความสุขของเขานั่น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วพิจารณาทวนทบกลับคืนไปถึงสัตว์ทั่วไปหมด มีกรรมเป็นของๆตน ทำดีก็ย่อมได้ดี ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว ที่เราปรารถนาจะให้เขารับความสุขแล้วเขาพ้นจากทุกข์นั้นไป ยินดีพอใจแล้วนั้น เราก็พอใจกับเขา พอดี พอใจ อิ่มใจพอใจแล้ว อยากจะให้คนอื่น สัตว์ตัวอื่น ก็ยินดีพอใจแล้ว ถ้าหากว่าเขาไม่พ้นจากทุกข์ เราก็ปล่อยวางได้ ไม่ติดพัน อัปปมัญญาไม่ติดพัน เห็นกัมมัสกตา สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน ปล่อยวาง เจ้าของก็ลงเป็นสมาธิภาวนาตามเดิม

คนเราถ้าหากไม่มีเมตตาเสียเลย ในโลกนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ มีเมตตาน้อยก็มีหมู่น้อย พวกน้อย พรรคพวกน้อย มีเมตตามากก็กว้างขวางเข้าไปอีก มนุษย์สัตว์ที่เค้าพูดให้เรียกว่า มนุษยธรรม คือมีมนุษยธรรม อย่างพวกเขมรตกทุกข์ได้ยาก ลำบากระกำเพราะหนีตาย เพราะหนีสงครามมา อดอยากด้วยประการต่างๆ ชาวโลกทั้งปวงหมดช่วยเหลืออุ้มชูทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้าเห็นตาเล้ย บางคน ก็ยังมีเมตตาปรารถนาอยากจะให้เค้าได้พ้นจากทุกข์ได้ร่วมมาเป็นมนุษย์ด้วยกัน แล้วอยากให้ได้ความสุขเหมือนกัน แต่เฉพาะเจาะจง พวกเขมรเท่านั้น แต่พวกชาติอื่นเราก็ไม่เมตตาอย่างนั้น อันนั้นจึงเรียกว่าเป็นมนุษยธรรม เรียกว่า พรหมวิหารเหมือนกัน อันนั้นก็ดี เรียกว่ากฏสากลของโลกของเขา วางไว้ปูวางไว้ ให้มีอิสระเสรีทุกผู้ทุกคนในความเห็นซึ่งกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันทั่วไปหมด อันนั้นก็เป็นพรหมวิหารเหมือนกัน 

มีทหารไม่มีพรหมวิหารเสียแล้ว โลกฉิบหายหมด อย่างพวกเขมรหรือพวกญวณน่ะ ไล่ส่งหนีจากประเทศของตนไป ขับไล่ไสส่งไปด้วยประการต่างๆ ไม่มีเมตตาปราณี ทุกข์ยากลำบาก ส่งไปกลางทะเลบางทีเรือไปล่มจมเป็นเหยื่อปลาหมด ไม่มีมนุษยธรรม ชาติอื่นๆก็ยังเอ็นดูเมตตา ปรารถนาหวังดี แต่ชาติของตนเองไม่ปรารถนาหวังดีต่อชาติของตนเล้ย ก็ถ้าเป็นอย่างญวนทั้งหมดก็ฉิบหายหมดเลยสิ ไทยก็เป็นอย่างญวณ มาก็เอาแล้ว ไม่ใช่คนชาติของเรา ชาติอื่นก็ไม่เอาเราไปหมด มนุษยธรรมไม่มี

อันนี้หากมีมนุษยธรรมในชาตินะช่วยเหลือกัน ช่วยสงเคราะห์ให้พอลืมหูลืมตาได้บ้าง ธรรมะเหล่านี้เป็นของมีมาแต่ไหนแต่ไร พรหมวิหารสี่ก็มีอย่างนั้น อัปปมัญญาธรรมก็มีอย่างนั้น เค้าหยิบยกขึ้นมาใช้แต่ละอย่าง แต่เราหัดไม่ทั่วหมด คือธรรมดาของสัญชาติญาณมนุษย์เรา เกิดขึ้นมาต้องเป็นอย่างนั้น ก็ดีเหมือนกันผู้คิดทีแรก คิดให้มีกฏสากล กฏมนุษยธรรม กฏสากลของโลก เค้าไปคิดเห็นอย่างนั้น ก็เรียกว่าเค้าไปหยิบยกเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้หน่อย ไม่ใช้หมดก็มาใช้นิดๆหน่อยๆ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เอามาจากอื่นไกล เอาธรรมชาติของจริงนั่นแหละ เอามาจากธรรมชาติของจริงมาเทศน์ให้คนฟัง คนที่มันคิดทีแรกก็เอาธรรมชาติของจริงน่ะแหละ ก็ไม่ใช่ของอื่นของไกล ของเป็นจริงอย่างนั้นทุกคน

เราพิจารณาถึงเรื่องธรรมะที่พระองค์เทศนาไว้ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแต่เป็นของจริงทั้งนั้น เพราะเฉพาะส่วนตัว พิจารณาเข้ามาเฉพาะส่วนตัว แล้วพระองค์จะค่อยเห็นของเหล่านั้น พรหมวิหาร ๔ นี่ถ้าหากภาวนาเป็นไปด้วยใจของตนเองแล้ว มันเมตตาเองหรอก มนุษย์สัตว์ทั้งหลาย พรหมวิหาร ๔ ก็ดี อัปปมัญญาก็ดี ถ้าไม่เกิดในที่นี่ ที่นี่ไม่สงบซะแล้ว แล้วกันนั้น ระงับความโกรธด้วยความเมตตา ด้วยพรหมวิหาร ๔  เค้ามาโกรธแล้ว อย่าไประงับเล้ย มันระงับไม่ลงหรอก จะหาความดิบความดีมาพูดมาคุยยังไง ไม่หายซักที (เสียงเทปไม่ชัด)

ถ้าหากใจว่าเป็นธรรม และใจสงบเป็นสมาธิแล้ว พูดออกมาภายนอกมันก็สงบเรียบร้อย ถึงพูดคำหยาบมันก็กลายเป็นของดี เพราะฉะนั้นในเมื่อจะพูดจะคุยกัน ตั้งจิตให้สงบเสียก่อน หายจากความโกรธเสียก่อน พูดก็ค่อยๆได้ฟัง เป็นไปด้วยความสุขสงบ อันนี้เรียกว่าพรหมวิหาร หรืออัปปมัญญาก็อยู่ในนี้ เอาหละเทศน์เท่านั้นหละ