Skip to content

อวิชชา

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

| PDF | YouTube | AnyFlip |

การปฏิบัติก็เหมือนๆกับที่เค้าทำสวนทำของภายนอก คือธรรมดาเค้าปลูกพืชผลต่างๆ สมมุติว่าปลูกน้ำเต้าก็ดีฟักแฟงก็ดี สมมุติว่าฟักทอง เค้าเอาเม็ดเอามาปลูกลงขี้ดิน มันก็ขึ้นทีแรกมันก็แตกออกไปนิดเดียว แตกแยกออกไปแล้วมันก็เป็นใบ เป็นต้นเป็นลำต่อไป ต่อไปก็เป็นเครือๆ ยืดยาวไปทั่วหมด คลุมหมดเลย นานนักเข้ามันก็เป็นลูกเป็นผล ไอ้เมล็ดมันก็เกิดขึ้นมาในผลอันนั้น มันแก่มาแล้วเค้าก็เอาเม็ดนั้นเก็บไว้ เค้าไปปลูกอีก เอาเมล็ดนี่ไปปลูกอีก มันก็แยกออกมาแตกออกมา มีใบแล้วก็มีเครือ เป็นต้นเป็นเครือไป จนกระทั่งเป็นลูกเป็นผล แก่มาก็ เม็ดมันแก่มาแล้ว ถือว่าคนไม่กินมันก็เปื่อยเน่าไปเอง อันใดเนื้อหนังของลูกของผลก็เลยเน่าผุพังไปเอง แต่เม็ดมันยังเหลืออยู่ อันนี้อุปมาเปรียบ 

เราผู้ปฏิบัติกรรมฐานก็ทำนองเดียวกันอันนั้น อย่างนี้เราแก่แล้ว แต่มันไม่ทันเป็นเม็ดเป็นผล เม็ดมันยังไม่ทันมี ผลยังไม่ทันเกิดก่อน คือว่าเกิดขึ้นมาแล้วมันเกิดจากเม็ด จากเม็ดเล็กๆน้อยๆเกิดมาก็เป็นแตกแยกออกเบื้องต้น ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความรัก ความชัง ทิฐิมานะมันก็ไม่มี ก็เหมือนกับฟักทองนั่นน่ะ เกิดมาทีแรกไม่เห็นหรอก ลูกก็ไม่มี ผลก็ไม่มี เม็ดมันก็ไม่เกิด จนกระทั่งมันเติบโตขึ้นมา มันแก่มาเนี่ย เม็ดไม่ทราบมาจากไหน ผลมันเกิดมาจากไหนก็ไม่ทราบ มันเป็นผลขึ้นมาก็เป็นเมล็ด เอาเมล็ดนั้นก็จะเอาไปเพาะอีกต่อไป เหมือนกับกิเลสของคน

แต่ก่อนมาก็ไม่ทราบว่ามันเกิดมาจากไหน กิเลสนั้น มันฝังอยู่ไหนก็ไม่รู้ตัว จนกระทั่งเติบโตขึ้นมา ความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธ และความอาลัยอาวรณ์มากขึ้นทุกทีๆ จนกระทั่งคลุมหมดไปทั้งไร่ เครือมันยืดยาวครอบหมดเลย คนผู้ที่หลงมัวเมา ไม่เข้าใจถึงหลักของธรรมะ เป็นค้นคว้าหาธรรมะเลยหลงตามเครือที่มันคลุมปกหมดทั้งวัดและทั้งกุฏิ ในทั้งไร่นั่นเอง หาไปที่ใดก็ไม่ถึงที่สุด ยืดยาวไปตลอดเวลา 

ผู้มีปัญญาสาวหาต้นมัน ต้นมันอยู่ตรงไหน สาวเข้าไปๆ เลยไปพบต้นมันนิดเดียว อันนิดเดียวเท่านั้น ไม่กว้างขวางอะไรหรอก เมื่อจะถอนก็ถอนราก ถอนเหง้ามันขึ้นมา เมื่อถอนออกไปนั้น เอากินผลมันซะก่อน กินลูกมันซะก่อน จนกระทั่งอิ่มหนำสำราญเพียงพอแก่ความต้องการ เวลาจะถอนทิ้ง ถอนรากหละหมดเลย  ไม่ต้องไปตัดให้มันงอกขึ้นมาอีก ไม่ต้องไปตัดมันที่อื่น ตายโม๊ด คนไม่เข้าใจ ต้องการอยากจะดับ ต้องการอยากจะชำระ ต้องการอยากจะฆ่ามัน ไปเด็ดอยู่โน่น ยอดมันโน่น อันที่มันเลื้อยยาว เด็ดกันสองสามวัน เกิดขึ้นมาอีก งอกขึ้นมาอีก สองสามวันงอกขึ้นมาอีก เลนไม่ตาย ตายแล้วสิ

กิเลสของคนเราก็เหมือนกัน เหตุนั้นจึงอธิบายให้ฟังว่าต้นตอของมัน ของกิเลสคือใจอย่างที่อธิบายให้ฟัง ใจคือความกลางๆ วางเฉยๆ ตั้งเป็นกลางวางเฉยๆว่าอย่างนั้น ให้เห็นตัวกลางเสียก่อน ตัวกลางนั่นแหละเป็นบ่อเกิดของสิ่งทั้งปวงหมด ถ้าเราวางเป็นกลางลงไปแล้ว มันคิด มันนึก มันส่ง มันส่าย อันนั้นไม่ใช่ใจ มันเป็นกิเลส พูดง่ายๆว่ากิเลส ถ้าพูดตามนั้นเรียกว่า จิต มันคิด มันนึก มันส่ง มันส่ายอะไรต่างๆ มันปรุง มันแต่งสัญญาอารมณ์ มันเกิดขึ้นมาเป็นเรื่องของกิเลส ถ้าหากจับต้นตอมันได้ คือความเป็นกลางเสร็จแล้ว สิ่งทั้งหลายนั้นเกิดมาเกิดจากตัวกลางนั่นน่ะ ที่มันยืดยาวกว้างขวางออกไปก็เกิดจากตัวกลางตัวเดียวนั่น ที่มันเกิดมา ไม่เกิดมาจากไหนหรอก ถ้าหากเข้าถึงกลางแล้วหมดเรื่อง 

ที่มันไม่ถึงตัวกลางซักทีอ้ะสิ หาเด็ดแต่ยอดกันอยู่ มันงอกขึ้นมาเรื่อย ไม่เข้าถึงตัวกลางซักที มันเข้าถึงตัวกลางแล้วน่ะ กิเลสทั้งหลายเห็นหมด มันออกมาจากนี้ทั้งนั้นน่ะ ไม่ออกมาจากที่อื่นหรอก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังกล่าวสารพัดทุกอย่าง ทิฐิมานะ อาสวะทั้งหลาย ความรัก ความชังก็เหมือนกัน มันเกิดจากตัวกลางเท่านั้น มันไม่มีบิดามารดา ไม่มีญาติพี่น้องหรอก กิเลสอันนั้นไม่มี อย่างมันโกรธให้เขา ตีศีรษะเขานี่ ไม่มีใครมาช่วยมันหรอก มันโกรธขึ้นมาก็โกรธไปฆ่าไปแกงเขาเท่านั้นเอง ความโกรธนั้นเราไปรักไปชังเค้าก็ดี รักก็ความโกรธนั่นแหละ ชังก็ความโกรธนั่นแหละ รักก็ความพอใจ ความยินดีนั่นแหละ ชังก็ความไม่พอใจ ความไม่ยินดี แต่ว่าใครเป็นญาติเป็นพี่น้อง เค้าไม่มี 

ถ้าจะว่ามีก็มีหรอก ความโกรธเกิดจากความดำริผิด นั่นเรียกว่าต้นตอของมัน จะเรียกบิดามารดาก็ได้ ความโกรธเกิดจากความไม่พอใจ ฉะนั้นจะเรียกบิดามารดาก็ถูก ความโกรธเกิดขึ้นมา ความไม่พอใจเกิดขึ้นมา ประหัตถ์ประหารฆ่าฟันคนอื่นก็ได้ ความโกรธ ไม่มีพี่มีน้องอย่างที่อธิบายให้ฟัง ใครเป็นพี่ใครเป็นน้องก็ไม่ทราบ มันเกิดมาจากไหนก็ไม่ทราบ ที่ท่านเรียกว่าอวิชชาหนะ อะไรเป็นต้นเหตุ อวิชชา ไม่มีต้นมีปลาย คือความไม่รู้จักต้นจักปลายของอวิชชานั่นเอง มันโกรธขึ้นมาแล้ว เวลามันหายมันไปไหน มันก็ไม่มีที่อยู่อีกอ้ะ ถ้าหากไม่มีที่อยู่ ความโกรธมันหายไปแล้ว มันไปอยู่ตรงไหน เป็นบ้านเป็นเรือนอยู่ มีพี่มีน้องอยู่ โอ้ย ไม่มีที่อยู่หรอก เต็มหมด 

ความรักก็เหมือนกัน เวลามันเกิด มันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความพอใจ ความยินดี ความพอใจ ก็เกิดความรักขึ้นมา แต่เวลามันหายไปไหน ไม่ทราบ ไปอยู่ไหน ถ้าหากมีที่อยู่แล้ว มีบ้านมีเรือนอยู่ คนเราอยู่ไม่ได้หรอก ความรักกับความชังนี่เต็มหมดในโลกอันนี้ แต่ความรักและความชัง ความเกลียด ความโกรธ หายไป เงียบไป เวลามันเกิด มันเกิดขึ้นมาเอง

ท่านจึงให้รู้เท่า รู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ผู้ที่มีปัญญาพิจารณาถึงต้นตอก็คือความเป็นกลาง มันออกมาจากกลางอันนั้น นั่นน่ะต้นตอ มูลเหตุของความเกิด ออกมาจากกลางนั้น ความเป็นกลางแต่ก่อนเวลาโกรธปุ๊บขึ้นมา มันเอนเอียงไปแล้ว เวลามันรัก มันเอนเอียงไปแล้ว ความรักกับความโกรธมันอยู่คู่กัน ด้วยใจเป็นกลาง ถ้าหากมันโกรธ มันเกิดความชังขึ้นมา มันรัก มันเกิดความรัก เกิดมาจากความชอบใจ เกิดมาจากตรงนั้นน่ะ ความเป็นกลางน่ะ

นี่ที่เกิดของมันอยู่ตรงนั้น แต่ไม่มีบิดามารดา ไม่มีญาติมีพี่น้องของมันหรอก มันเกิดมาจากไหนก็ไม่ทราบ จึงว่าไม่มีต้นมีตอ ไม่มีต้นมีปลาย ผู้ที่มีปัญญาทั้งหลาย รู้เท่าเรื่องของความโกรธ ของความไม่พอใจ ความรักกับความพอใจ ความที่ไปยึดเลยเป็นเรื่องใหญ่โตรโหฐาน ขยายกว้างขวางออกไป ถ้าไม่ไปยึดไปถือมัน อันนั้นก็หายไป นั้นเรียกว่าที่สุดของความยึดความถือ ถ้าไม่ยึดไม่ถือก็หมดเพียงแค่นั้น เลยเป็นลมไปแล้วไป เลยไม่อยู่ในตัวของเรา หายไปไหนก็ไม่ทราบ 

มาคิดดูว่า เราโกรธจัดๆ เคยมีมั้ย ต้องมีทุกคน เวลานี้ไปอยู่ไหนน่ะ ความรัก ความชอบใจต่างๆ แต่ก่อนเก่าน่ะมีมั้ยแต่ก่อน บอกว่ามี แต่เวลานี้ไปอยู่ไหน มันเกิดขึ้นมาก็หายไปเอง มันเกิดขึ้นมาก็ดับไปเอง ฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป ให้รู้เท่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นมาต้องดับไป จึงไม่เป็นเหตุให้ยึดให้ถือ 

นั่นแหละผู้มีปัญญาทั้งหลาย พิจารณาถึงเหตุถึงผล ถึงความยึดความถือ เหตุที่มันเกิดขึ้น เหตุที่มันจะดับไป ให้พิจารณาอย่างนี้ เรียกว่าพิจารณาธรรมะเป็น ที่เป็นบัณฑิตทั้งหลาย ท่านสอนอย่างนั้น ผู้ที่เป็นบัณฑิตทั้งหลายต้องรู้เหตุรู้ผลอย่างนั้น มีทางที่จะดับเป็น ใครไม่รู้เหตุรู้ผล ดับไม่เป็น อะไรเกิดขึ้นมาก็ยึดถือ อันนั้นเรียกว่าไม่รู้จักพิจารณาทั้งเหตุทั้งผล เวลามันดับ ดับไปจากไหนหละ ก็ดับไปจากใจนั่นแหละ ตัวกลางๆ มันดับก็ดับจากใจ ดับที่ใจ ที่กลางนั้นน่ะ มันเกิดก็เกิดที่ใจตรงกลางๆ มันปรากฏขึ้นมาก็ดับไป ปรากฏขึ้นมาก็ดับไป ไม่มีอะไรเป็นสาระ  

ท่านจึงให้มีสติทุกเมื่อ คือเห็นความเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้ามีสติควบคุมมันก็ดับอีก ถ้าไม่มีสติรู้เท่ารู้เรื่อง มันก็ปรุงแต่งไป สติความรู้ สติรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่รู้สึก ก็สัมปะชัญญะรู้ตัว สติความระลึกได้ สัมปะชัญญะรู้ตัว รู้ตัวคือมีปัญญา สติระลึกได้ สัมปะชัญญะรู้ตัว รู้ตัวปัญญานั่นน่ะ อยากจะหาแต่ปัญญา มีปัญญาแล้วก็มารู้ตัว ระลึกได้ในที่ใด รู้ตัวในขณะนั้น ในขณะที่ระลึกได้นั้น ว่าเวลานี้เราโกรธ เวลานี้เราโกรธก็รู้ตัวว่าโกรธ มันหายไปแล้วโกรธน่ะ เรียกว่ามีปัญญา มันจึงหายไป ถ้ามันไม่มีปัญญา เพียงแต่โกรธก็ยึดแต่ความโกรธ เลยไม่รู้ตัว เลยไม่มีปัญญา ยิ่งโกรธใหญ่ ถ้ารู้ตัวแล้วหายทันที จึงให้มีสติน่ะเป็นเครื่องอยู่ ใครจะปฏิบัติฝึกหัดที่ไหนก็เอาเถอะ นอกจากสติสัมปะชัญญะแล้วไม่มีอะไรหรอก นอกเหนือจากนี้ไม่มีอะไรเล้ย การปฏิบัติธรรมต้องเป็นอย่างนี้

ท่านให้มีสติทุกเมื่อ ให้มีสติอยู่เสมอ ขาดสติเท่านั้นเผลอเวลาใด ความหลงมัวเมาเกิดขึ้นมา ความหลงคือไม่รู้ตัวนั่นเอง คือไม่มีปัญญานั่นเอง สัมปะชัญญะรู้ตัวน่ะ หายหมด ของอะไร ไม่มีหรอก ให้พิจารณาอย่างที่อธิบายให้ฟัง ทุกๆคนน่ะพากันเคยเป็นชาวสวนชาวนามาแล้ว เคยปลูกฟักปลูกแฟงมาแล้วหล่ะ เปรียบเหมือนกับปลูกต้นฟักทองนั่นน่ะ ทีแรกมันออกนิดเดียว ตอนมันแพร่หลายไป เราจะไปยึดถือให้มันแพร่หลายไปนั้น เราต้องเข้าถึงตัวใจกลางนั้น ตัวต้นน่ะ ไอ้ที่มันเกิดเม็ดน้อยๆ มันแพร่หลายไปแล้ว มันก็รวมไปอีกเข้าไปสู่เม็ดทั้งหมด ครั้นเอาเม็ดไปปลูกมันก็แพร่ออกไปอีก สาขากว้างขวางออกไป เมื่อเติบโตขึ้นมาแก่ขึ้นมา มันก็รวมไปอยู่ในเม็ดนั้นอีก เม็ดนั้นน่ะเป็นที่รวมของพืชพันธุ์ มนุษย์เราชาวโลกทั้งปวงหมด มันเกิดจากเม็ดอันเดียวเหมือนกันนั่นน่ะ คือเกิดจากใจ ที่มันจะแพร่หลายออกไปก็เกิดจากใจ ที่มันจะดับก็ดับตรงใจ ให้อุปมาเปรียบเทียบอย่างนั้น เอาละอธิบายแล้ว