Skip to content

หญ้าปากคอก

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

| PDF | YouTube | AnyFlip |

วันนี้จะเทศนาถึงเรื่องหญ้าปากคอกให้ฟัง คำว่าหญ้าปากคอก มันอยูใกล้ๆนี้หรอก ที่เทศนาธรรมะต่างๆมากมายทั้งหลายไปนั้นเป็นการกว้างขวางต่อออกไป แต่แท้ที่จริงไม่ใช่กว้างอะไรหรอก ไม่ใช่อื่นไกล ธรรมดาหญ้าปากคอก วัวแก่มันพาเล็มเลียกินตรงปากคอกนั้น มันอิ่ม วัวหนุ่มวัวฝูงพากันแล่นตุ๊กๆๆๆ วิ่งหากิน ต่างคนต่างวิ่ง ต่างตัวต่างวิ่งหากินไปทั่ว ชิงกัน เลยไม่ได้กินอิ่มเท่าวัวแก่ วัวแก่มันรู้จักสภาพของตน ไปกับเขาก็ไม่ทันแล้ว มันหาเล็มเลียกินตามหญ้าปากคอก มันพอใจยินดีกับหญ้าปากคอกนั่น มันก็เลยอิ่ม มันอิ่มกว่าไอ้พวกไปไกลๆนั้นอีก แล้วมันก็ไม่ได้ไปไกลด้วย กินอิ่มแล้วก็นอนตรงนั้น ลุกขึ้นมาก็หากินต่อไป สบายดีเหมือนกันวัวแก่ๆ 

คนที่ไม่เข้าใจถึงเรื่องธรรมะก็เช่นกันกับวัวฝูงวัวหนุ่ม วิ่งหาแต่หญ้าอื่นไกล เข้าใจว่าจะมีในที่อื่น จะมีในที่ไกล จะมีในสถานที่นั้นๆ ความเป็นจริงแท้มันมีอยู่ทั่วไป คนวิ่งมาแต่อื่นแต่ไกล มาถึงอุดร ขอนแก่นก็มี มาฟังเทศน์ มาไกลแสนไกล เข้าใจว่าธรรมอยู่ในวัดนี้ ที่จริงธรรมมันวิ่งมากับตัวนั่นหละ มันมากับตัวเอง มานี่ก็เอาธรรมะนั่นน่ะมาฟังเทศน์ อยู่โน่นก็เอาธรรมะน่ะฟังธรรม ไม่ใช่มานี่จะมีธรรม ที่โน่นก็มีเหมือนกัน 

คนมีในที่ใดมีธรรมในที่นั้น คนไม่มีก็ไม่มีธรรม คนมี พระพุทธเจ้าก็เทศนาให้คนฟัง คนมีจิตมีใจไปเทศนาให้คนมีจิตมีใจนั้นฟัง ต้นไม้ภูเขา พระองค์ไม่ได้เทศนาให้ฟัง ฟังมันก็ไม่รู้เรื่อง คนเรานี่มีจิตมีใจ พระองค์ยังเทศน์ให้ฟัง คนมีโลภ มีโกรธ มีหลง อยู่ในตัวของตน พระองค์เทศน์ให้รู้จักโลภ โกรธ หลง เพราะมันเป็นภัยแก่ใจของตน พระองค์สอนให้ละ พระองค์สอนให้ทิ้ง สิ่งไม่ดีพระองค์ไม่เอา ไม่ให้เอาไป พระองค์สอนให้รู้จักคนนั้นน่ะรู้จักตนของตนเองนั่นเอง สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม มันเกิดขึ้นในที่นั่น ไม่ได้มีในที่อื่น ให้ปล่อยให้ทิ้งเสีย อย่าไปถือเอามาเป็นตนเป็นตัว คนที่ถือเอาของไม่ดีมา มาใส่ตัวของตน มันก็เลยยุ่งใหญ่ วุ่นวายใหญ่โตรโหฐาน 

พระองค์สอนของมีอยู่ ไม่ใช่สอนของไม่มี ของไม่มีน่ะไม่ทราบจะเอาอะไรมาสอน จึงว่าพระองค์สอนธรรมะคือของมีอยู่ พระพุทธเจ้าท่านเทศนาในโลกอันนี้ที่มีโกรธ มีโลภ มีหลง ที่มีรัก มีชัง อยู่ในโลกอันนี้ หรือโลกอื่นก็ช่าง โลกไหนๆก็ตาม ถ้ามีความรัก ความชัง ความรักเรียกว่าราคะ ความชังเรียกว่าโกรธ​โทสะ โมหะความหลงมัวเมาก็มา ทั้งสามกองนี้เรียกว่าธรรมปากคอก เป็นหญ้าปากคอก ไม่ต้องไปหาที่อื่นหรอก เห็นที่นี้แหละ ที่ปากคอก เห็นที่ตัวของเรานี่แหละ 

ที่เรียกว่าธรรม ธรรมะนั้น พระองค์สอนว่าธรรมคือราคะก็เรียกว่าธรรม โทสะก็เรียกว่าธรรม โมหะก็เรียกว่าธรรม เข้าใจว่าธรรมน่ะลึกสุขุมไกลลิบ เราไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมได้ ธรรมอยู่ไกลจากตัวของเรา หรือธรรมอยู่โน่น ตัวครูบาอาจารย์โน่น ไม่เข้าใจว่าธรรมอยู่ในตัวของเรา มันเกิดขึ้นที่นี่ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ธรรมเกิดขึ้นที่ใด ธรรมย่อมดับลงในที่นั่น ไม่ได้ไปดับในที่อื่น มันเกิดขึ้นที่นั่นก็ดับลงที่นั่นน่ะ มันก็หมดเรื่องกัน 

ธรรมเป็นที่คู่เป็นของเดือดร้อน ธรรมเป็นเอกเป็นไปด้วยความสุข ธรรมอันเดียวน่ะเป็นสุข ธรรมเป็นคู่นี่เป็นทุกข์ ในโลกนี้ก็ลองดูสิ ถ้ามีคู่แล้วต้องกระทบกัน ถ้าเป็นเอกหละไม่กระทบ เป็นเอกถ้าหาเอาคู่มาใส่ มันก็ต้องกระทบ เรียกว่าอย่าให้มันมีคู่ พระมหาชนกท่านเป็นกษัตริย์เสด็จออกบวช ท่านออกบวชเพราะธรรมเป็นคู่นั่นน่ะ คือมีคู่ผัวเมียอยู่ ท่านอยากไปออกบวชไปหาวิเวกบำเพ็ญภพพรหมจรรย์ พระมเหสีวิ่งตาม เสด็จออกบวช ไปเห็นเค้าทอหูก มันฟัดจิ๊งจั๊งๆอยู่ นั่นแหละดูเอาเถอะ ธรรมเป็นคู่มันเป็นงั้นน่ะ ท่านสอนให้มเหสีท่านรู้จัก ให้รู้จักธรรมคู่ กำไลมือมันใส่ข้างเดียวแล้วใส่สองอัน มันก็เคาะกันจิ๊งๆจั๊งๆ นั่นหละธรรมเป็นคู่ให้ดูเอา มันอยู่อย่างนั้นแหละ มันต้องฟัดกันอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งพระมเหสีเห็นดีเห็นชอบเลยแยกทางกัน นั่นก็เป็นธรรมเหมือนกัน กำไลมือก็เป็นธรรม เค้าทอหูกก็เป็นธรรม ไม่ใช่อื่นไกล อันนี้หญ้าปากคอกแท้ๆ เรานั้นไม่รู้เรื่องของธรรม ไปมองดู อะไรน๊อ เป็นธรรม โน่นก็เป็นธรรม นี่ก็เป็นธรรม เอาตำรับตำรามาว่ากันไป อ่านกันไป เรื่องพละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อัฏฐังคิกมรรค ๘ อะไรต่างๆ โน่นไปอยู่โน่นเลย ธรรมไม่ได้อยู่ในที่นี้แหละ

ศรัทธาพละความเชื่อมั่นว่าอันนี้แหละเป็นของจริง คือธรรมะในที่นี้แหละเป็นของจริง เราเห็นชัดเห็นแจ้งลงไป วิริยะก็พากเพียรมั่นคงถาวร ทำความเพียรไว้ภาวนามั่นคงถาวร พละทั้ง ๕ ครบบริบูรณ์หมดในที่เดียว อันเดียวนั่นแหละ เห็นชัดแจ้งในที่เดียวนั่นเลย ความเชื่อเป็นของสำคัญ ถ้าไม่เชื่อเสียอย่างเดียว หมดเรื่อง ความสงสัยหลั่งไหลมาอีก ความลังเลสงสัย ความวุ่นวาย ส่งส่ายมากขึ้นไปอีก ความเชื่อว่านี่แหละเป็นธรรมแน่วแน่ลง สัจจะ วิริยะอยู่ในที่นั้นหมดครบบริบูรณ์ คนที่ไม่เห็นนั่นน่ะ คนที่ไม่เห็นธรรมจึงคอยหลงมัวเมา คว้านั่นคว้านี่ ตัวของเราเป็นธรรมอยู่ทั้งตัว เป็นธรรมหมดทั้งตัว 

อย่างที่สวดทุกวันๆ อิมัสมิง กาเย เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น เป็นต้น เป็นธรรมทั้งหมด เราจะไปหาอะไรอีก เราไม่เชื่อธรรมในที่นี่มันก็ไม่เห็นน่ะสิ ไปหลงมัวเมาแต่โน่นตามตำรับตำราน่ะว่าจึงค่อยเป็นธรรม พิจารณาเห็นตัวของเรานี่เป็นธาตุ ๔ นั่นธรรมธาตุ เห็นขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ เป็นอายตนะนั้นก็เป็นธรรมแล้วนั่น พระองค์เทศน์ว่า ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ทั้งนั้นนั่นเป็นธรรมทั้งหมด สัจจะเห็นจริงตามความเป็นจริงของมัน อันนั้นเป็นธาตุ ๔ จริงจังแน่นอนทีเดียว 

เช่นผมอย่างนี้เป็นต้น ผมที่เราเห็นว่าเป็นเส้นๆนั่นน่ะ มันเป็นธรรมแล้ว ผมนั่นน่ะมันเกิดในตัวของเรา เกิดขึ้นมาแล้ว งอกขึ้นมายาวมา แล้วก็ตัดทิ้งลงไป อันนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง งอกขึ้นมาอีก ตัดออกไปอีกก็เป็นของไม่เที่ยง มันงอกอยู่มาแล้วซักปี มันงอกจากดิน เหมือนกับหญ้าที่มันเป็นวัชพืช ที่มันเป็นหญ้าที่มันรกขึ้นมามันทับถมเป็นวัชพืช แต่อันนี้มันงอกขึ้นมาในดินคือบนศีรษะ ยาวขึ้นมาก็ปกคลุม ศีรษะมันรกรุงรัง จึงค่อยดายทิ้ง ตัดทิ้งทีหนึ่ง แล้วมันก็งอกขึ้นมาใหม่ ผมเส้นเดียวน่ะ ตัดทิ้งแล้วไปไหนหละคราวนี้ ก็ตกไปเป็นดิน ผมเส้นเดียวนั่นหละ มันมีทั้งน้ำ มันมีทั้งไฟ มันมีทั้งลม ผมเส้นนั้นถ้าหากว่าไม่มีน้ำ มีไฟ มีลมเสียแล้ว มันก็ไม่งอกขึ้นมา ความอบอุ่นคือไฟ มันจึงค่อยงอกขึ้นมา ถ้าไม่มีความอุ่นมันก็ไม่งอก มันก็หลุดร่วงไป น้ำมันหล่อเลี้ยงอยู่ ลมมันก็อยู่กับไฟนั่นน่ะ มันอยู่ด้วยกันนั่นน่ะ มันหล่อเลี้ยงกันอยู่ซึ่งกันและกัน มันก็เลยงอกขึ้นมาได้ ซึ่งทั้งปวงหมด ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งเสียแล้ว มันไม่เจริญงอกงามขึ้นมาใหม่ มันต้องพร้อม ทั้งสี่อย่างทุกอัน

อันนี้ผมเส้นเดียว ผมมันหลายเส้นคราวนี้ พิจารณาไปเถิด ขนก็หลายเส้น ทั้งหนังทั้งเอ็นก็เยอะ ที่เราจะพิจารณาให้มันเห็นเป็นธรรม ใจไม่เป็นธรรมเดี๋ยวนี้ มันก็ไม่เห็นธรรม ถ้าใจเป็นธรรมแล้วคือมันเป็น คือมันแน่วแน่เป็นสมาธิแล้ว มันค่อยเห็นเป็นธรรม จึงค่อยพิจารณาธรรมได้ ถ้าใจไม่เป็นสมาธิ มันก็เป็นโลกไปหละสิ เป็นโลกคือเป็นยังไง แต่ง ตบแต่งสวยงามผิวพรรณทุกประการต่างๆ แต่งเล็บ แต่งฟัน แต่งเนื้อ แต่งหนัง ผิวพรรณต่างๆ ลอกหลุดออกไป ให้มันงอกขึ้นมาใหม่ แต่งด้วยของอบของย้อมต่างๆ นั่นหละเรื่องเป็นโลก อันนี้เรื่องเป็นธรรมมันจะเห็นของจริง ไม่ต้องแต่ง ให้เห็นตามเป็นจริงจึงเรียกว่าเป็นธรรม นี่หละธรรมะ ไม่ต้องอื่นไกล 

เราพิจารณาให้เป็นธรรมะ อยู่ไหนก็เป็นธรรม อย่าไปหาฤกษ์ หาอื่นไกล หาที่ไหนก็ไม่เห็นหรอก ถ้าหากเราไม่พิจารณาเป็นธรรม ถ้าพิจารณาเป็นธรรม อยู่ไหนก็เป็นธรรม ของสกปรกเลอะเทอะเหลวไหลทั่วไปหมด กลายเป็นธรรมหมด ของดิบของดีก็กลายเป็นธรรม ของหยาบๆ ที่ว่าของหยาบ เราไม่พิจารณาเฉยๆนะ พิจารณาแล้วก็เป็นของละเอียด กลายเป็นธรรมหมด จึงว่าธรรมอยู่ทั่วไปหมด ทุกขุมขน ทุกต้นหญ้าใบไม้ ทุกสถานที่ ทุกแห่งทุกหน พิจารณาเป็นธรรมอยู่เสมอๆ ด้วยความมีสติ รักษาใจตัวนั้น ให้พิจารณาอยู่เฉพาะอันเดียว นั่นหละเป็นสมาธิ นั่นหละจะเป็นธรรม จิตเดินคิดหลงมัวเมา ลุ่มหลงด้วยประการต่างๆ อันนั้นน่ะเป็นโลกไปเสีย ผู้ที่สำเร็จมรรคผลนิพพานก็จะได้ฌาณสมาธิสมาบัติ ท่านก็เอาธรรมหมู่นี้แหละมาพิจารณา จึงค่อยได้มรรคผลนิพพาน ท่านเอาอันไหนหละมาพิจารณา เอาของมีอยู่ทั้งนั้น 

คนที่เป็นโลก ที่เป็นโลกๆ เปลือกๆตื้นๆ คือหลงมัวเมา ความมัวเมาเหล่านี้เอง ไม่ได้เมาที่อื่นหรอก หลงแต่กับรูปก็อย่างที่อธิบายให้ฟังมาแล้ว เห็นรูปไม่สดสวยงดงาม ก็แต่งให้มันสวยงดงาม หรือเสียงเพราะๆ ดัดแปลงซะเพราะเอาซะจน เพราะพริ้งด้วยประการต่างๆ กลิ่นไม่หอมก็เอาตกแต่งให้ เอาน้ำอบน้ำหอม เอาดอกไม้อะไรต่างๆมากั้นมาแต่งให้มันหอมขึ้นมา เอามาทา เอามาประมาพรม ตัวเหม็นๆนั่นน่ะ เค้าก็เอาของหอมๆมาประมาพรม เค้าจึงเรียกว่าน้ำอบ คือมันิบไว้ต่างหาก อบของเหม็นนั่นต่างหาก รสที่มันไม่ดี ไม่เอร็ดอร่อยก็เอาเครื่องมาปรุงมาแต่งให้มันเอร็ดอร่อย ให้มันถูกอกถูกใจ ชอบใจ โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็เช่นเดียวกัน อันนั้นเรียกว่าโลก แต่งเอาพิสดารกว้างขวางออกไป 

แล้วแต่งเราก็หลงตามอันที่แต่งนั่นแหละ ไม่ได้หลงอันอื่น หลงอันนั้นแหละ มัวเมาอันนั้นแหละ ถ้าเห็นตามเป็นจริงแล้วไม่ต้องแต่ง ให้เห็นสภาพของจริง จะแต่งมันทำไม๊ มันนั้นเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น แต่งก็เท่านั้น มันก็ไม่มาทำให้วิเศษวิโสอะไร นี่นอกจากจะมัวเมาแล้ว แต่งใจของเรานั่น มันเห็นชัดเห็นจริงลงไป เห็นแจ้งประจักษ์ลงไป สภาพความเป็นจริง ใจของเราเบิกบาน ใจของเราผ่องใสบริสุทธิ์หมดจดสะอาด อันนั้นต่างหากที่ท่านฝึกฝน ที่เรียกว่าธรรมะ ไอ้การแต่งน่ะเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส จิตใจหดหู่ พอเขายกโทษนินทา พอเขาว่าไม่ดีก็เลยโกรธเขา ถ้าเขาชมก็ค่อยยังชั่วหน่อย ดีอกดีใจ อาศัยคนอื่น ไม่อาศัยตนเองและพึ่งตนเอง ถ้าความเห็นของตนบริสุทธิ์หมดจด ใครจะว่าอะไรก็ว่าไปสิ ในกายของเราเป็นอยู่อย่างนี้ ใครจะว่าดีมันก็อยู่อย่างนั้น ใครจะว่าไม่ดีก็อยู่อย่างนั้น ใครจะว่าเลวว่าร้ายมันก็เท่าเก่า มันก็อยู่สบาย

ความประสงค์ของพระพุทธเจ้า ท่านเทศนาประสงค์ตรงนั้นหรอก ไม่ได้ประสงค์อะไร คือให้มันสบาย ไม่หวั่นไหว ใครจะยกโทษนินทา ใครจะสรรเสริญด้วยประการต่างๆ ให้เห็นตามเป็นจริงแล้วไม่หลงใหลตามคนพูดคนว่าตรงนั้นต่างหาก ความสุขอยู่ตรงนั้น คนเราทุกคนเกิดมาก็หาความสุขไม่ใช่หรือ ถ้าหามาแล้ว ความสุขเกิดมาจากไหน มันสุขนิดเดียว อย่างตบแต่งกายนี่แหละ ต้องเสียเสียทอง เสียค่าตบแต่ง ซื้อเครื่องตบแต่งหลายอย่างหลายประการ เสร็จแล้วมันก็ไม่มีความสุข สุขนิดเดียว เพราะเค้าพูดเท่านั้น เค้าพูดเค้าชมเชยเท่านั้น ก็อยากให้คนชมเชย เรื่องมันไม่มีอะไรหรอก ถ้าเค้าชมเชยก็ชอบใจก็น้อยใจ เท่านั้นหละ มันทำมามากมายหลายหละ เสียเงินเสียทองมากมาย อยู่กับความพอใจอยู่กับความดีใจอันเดียว ความพอใจอันเดียว 

อันนี้เราไม่ต้องตบแต่ง ให้เห็นสภาพตามเป็นจริงในสังขารร่างกายของตน เห็นตามเป็นจริง ใครว่ายังไงก็อยู่อย่างนั้น ใครว่าอะไรดีก็ยินดีพอใจ อิ่มเอิบกับความดีของเราที่เราเห็น ใครว่าดีไม่ดีก็อยู่อย่างนั้น ความสุขสบายนั้นก็ถูกเรื่องที่พระพุทธเจ้าเทศน์สอนไว้ แล้วก็ถูกตามประสงค์ของคนทั้งโลกด้วย ใครๆก็ต้องการความสุขอย่างนั้นเหมือนกัน ความสุขตรงนี้ที่ปฏิบัติธรรมน่ะ ปฏิบัติมามากมายเข้าไปเหอะ ประสงค์ตรงนี้ต่างหาก เอาละ