Skip to content

ใจ

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ฟังเทศนาต่อไป วันนี้จะเทศน์เรื่องเครื่องขยายเสียง คือตัวของเรานี่แหละ เป็นลำโพงอันหนึ่งสำหรับรับเครื่อง เครื่องของเรามันยิ่งร้ายกว่าลำโพงไปเสียอีก มันยิ่งร้ายไปกว่าเครื่องขยายเสียงเสียอีก เพราะตัวของเรามีความรู้สึกแล้ว ได้ยินและรู้สึกแล้ว ลำโพงมันไม่มีความดีใจเสียใจใดเล้ย ตั้งตัวเฉยๆเป็นกลางๆอยู่ 

แต่ใจของเรานั้น ตัวของเรานั้นได้ยินเสียงและเห็นรูป ได้ยินเสียง ถูกกลิ่น ลิ้นถูกรสกายถูกสัมผัสแล้ว มันจะต้องดีใจเสียใจ เกิดกิเลสขึ้น อันนี้มันยิ่งร้ายกว่าลำโพงเสียอีก ประสาทหรือเซลที่มันอยู่ในกายของเรา ทั่วสรรพางค์หมด อยู่กายในกาย ก็เรียกว่ากายประสาท อยู่ทางตาก็เรียกว่าจักษุปสาท ที่เกิดทางหูก็เรียกว่า โสตปสาท ที่เกิดทางจมูกก็เรียกว่า (ฆานปสาท)ประสาททางจมูกอันนั้น เกิดทางลิ้นเรียกว่าชิวหาปสาท กายปสาท มโนประสาท อันนี้เฉพาะตัวใหญ่ๆมันที่มันรู้ทางประสาททั้ง ๖ แต่ตัวปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆทั่วสรรพางค์กาย เรียกว่าประสาท มันรับได้ทั่วทุกแห่งรอบด้านเลย ส่วนลำโพงนั้นมัน ถ้าหากคลื่นไปเสมอ มันก็ไม่รับ แต่นี่มันรับได้หมด จึงว่ามันร้ายกว่า 

จักษุปสาท ตาเห็นรูป เมื่อสัมผัสถูกต้องประสาทเค้า แล้วมันนำไปรายงานตัวใจ ใจนั่นรับรู้แล้วออกมา มาคิดมาพิจารณาวิเคราะห์ มันวิ่งออกวิ่งเข้า ทั้งสองหนสามหน มันจึงค่อยไปรู้สึก มิใช่ว่าความรู้อันนั้น จักษุปสาทมันไปเห็นรูปแล้ว ไม่ใช่มันจะรู้ว่ารูปดีรูปชั่ว รูปหยาบรูปละเอียด มันวิ่งเข้าไปรายงานใจ ใจตัวนั้นจะออกมาคิดค้น มาคำนึง แล้วก็ยังวิ่งเข้าไปอีก วิ่งเข้าให้เกิดความรู้สึก เกิดสัญญา เกิดสังขาร เกิดวิญญาณ มันปรุงมันแต่งไปตามลำดับ 

ถ้าหากเราไปตามรู้เท่ารู้ทันของพวกนี้เสีย พอกระทบปั๊บเท่านั้นน่ะ มันวิ่งเข้าไปรายงาน แล้วไปรับรู้แล้วก็แล้วกัน ไม่ต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องออกมาคำนึง ไม่ต้องมาปรุงมาแต่ง มันก็หมดเรื่อง ใจของเรามันเร็วแสนเร็ว ไม่ทันมัน มันจึงสามารถจะเกิดกิเลสได้ หูได้ยินเสียง จมูกถูกกลิ่น ลิ้นถูกรสก็ทำนองเดียวกันนี้ มันสะสมไปด้วยประการต่างๆ มันจึงสามารถให้เกิดกิเลส ที่เรียกว่าปสาท 

สมัยใหม่วิทยาศาสตร์เค้าเรียกว่าเซล เค้าเอาแต่เซลอันเดียว เค้าไม่ได้พูดถึงเรื่องใจ พระพุทธเจ้าท่านพูดถึงเรื่องใจ ทั้งประสาททั้งใจ ถ้าไม่มีใจซะแล้ว มีแต่ประสาท มีแต่เซลอันเดียว ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ อย่างคนตาย จิตใจมันหนีจากร่างแล้ว มันเซลหรือประสาทมันจะใช้อะไรได้ มันก็หมดเรื่องกัน อันนี้หากว่ามันมีประสาทหรือเซลนั้นอยู่ ทำการทำงานร่วมกัน พูดกันง่ายๆเรียกว่าใจเป็นตัวกลาง เรื่องมันนี่วิ่งว่อนอยู่นั่น ใจเป็นตัวกลาง ประสาทรายงานไปถึงใจ มันจึงค่อยออกมาคิดค้น พิจารณาให้เกิดสัญญา สังขาร ขึ้นโดยลำดับ  

ใจนี่หละเพราะตายแล้วไปเกิดใหม่ได้ ผลของการกระทำร่วมกันทั้งกายทั้งประสาท เมื่อประสาทดับแล้ว ยังเหลือแต่จิต จิตมันเป็นคนคิด คนปรุง คนแต่ง จิตนี้เป็นคนรับกรรมดีกรรมชั่ว จิตนั้นเป็นคนรับไปต่างหาก เมื่อไปเกิดใหม่ ไม่ได้เอาเซลเก่าไป หรือประสาทเก่าไป มันไปเอาประสาทใหม่ต่างหาก ออกเกิดมาต่างหาก ออกเกิดแล้วก็ใช้ได้ตามเดิม ใจมันไม่จน ใจไม่ทุกข์ เซลหรือประสาทมันคอยรอรับให้เกิดใหม่อยู่เรื่อยไป ถ้าไปเกิดที่ไหนก็มีที่นั่น 

ความพิสดารของพุทธศาสนามันต้องมีอย่างนี้ ทางวิทยาศาสตร์เค้าจะพิสดารซักเท่าไร พิสูจน์ซักเท่าไรก็เอาเถอะ พิสูจน์ได้แต่ตัวเซลและตัวธาตุ ไม่สามารถจะพิสูจน์ใจได้ ทางวิทยาศาสตร์เค้าพูดว่า ธาตุนี้ไม่มี เค้าก็เรียกว่าธาตุอันหนึ่งซึ่งเป็นของใหญ่โตรโหฐานที่สุด ธาตุอันนั้นแตกออกไปเป็นโลกเล็กโลกน้อย เป็นดวงเดือนดาวต่างๆ มันก็ธาตุทั้งนั้นแหละ มันจะเอาอะไรมาพูดนอกจากธาตุแหละ สิ่งที่เห็นที่รู้นอกจากธาตุแล้วไม่มีอะไรทั้งหมด สิ่งที่ไม่เป็นตนเป็นตัว คือวิญญาณความรู้สึกอันนั้น เอาอะไรมาพิสูจน์ได้ 

พระองค์ยังพิสูจน์ได้ว่า มโน วิญญาณธาตุ ต้องรู้สึกอันนี้เป็นธาตุอยู่ ธาตุนี้แหละเกิดดับๆอยู่อย่างนั้น เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับลงไป สลายเป็นของเดิม ท่านอุปมาเปรียบเหมือนกับคลื่นกระทบฝั่ง มาเป็นตัวเป็นก้อนเป็นลูกคลื่นมา พอมากระทบฝั่งแล้วก็สลายเป็นน้ำไปตามเดิม ธาตุนั้นก็มาเป็นตนเป็นตัว ผลที่สุดก็สลายออกเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ตามเดิม โลกนี้หาก (เทปขาดตอน) ท่านสอนให้พิจารณาอย่างท่าน ท่านพิจารณามาแล้ว เห็นแล้ว ชัดแล้ว จึงสอนให้พวกเราพิจารณาตาม เพื่อจะให้เป็นอย่างนั้นตามท่าน 

อย่างพิจารณาเห็นธาตุเป็นธาตุหละคราวนี้ มันจะเป็นประโยชน์อะไร ทำอะไรได้รึ มันหากมีส่วนนึงซึ่งจะยึดสมมุติบัญญัติ ตามสมมุติบัญญัติอันนั้นมีส่วนอยู่ต่างหาก ถึงแม้จะเห็นเป็นธาตุก็ตาม มันจะต้องออกมาใช้กายนี่แหละคือสมมุติบัญญัติอันนี้แหละ อยู่ธรรมดานี่แหละ ไม่เห็นแปลกอะไรเล้ย ก็ธรรมดาๆ แต่ใจนี่มันไปเข้าไปยึด ใจนี้มันเข้าไปถือ ปัญญานั้นรู้เท่ารู้ตัวที่มันเข้าไปยึดไปถือ คนนะกลัวนักกลัวหนา กลัวเห็นจะเป็นธาตุแล้ว กลัวจะทำอะไรไม่ได้ เห็นแล้วไม่สักแต่ว่า ลองคิดดูสิ สักแต่ว่า ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา มันจะพูดกันได้หรือคนเรา พูดก็ไม่รู้ภาษากันนะสิ ถ้าถามถึงตัวคน เช่นนางนั้น นายนี้อะไรต่างๆ ก็เลยไม่รู้จะพูดอะไรกัน 

อาตมาเคยเป็นเด็กเป็นเล็กอยู่ เล่นกับหมู่กับเพื่อน บางคนนะใจดี๊ใจดี ใครๆก็เรียกแต่ชื่อๆ ชื่อมัน ชื่อ แพ แต่หากว่าคนใจดี หมู่เพื่อนเรียกมัน มันก็เลยไม่ขาน ถ้าจะพูดกับใคร คนอื่นเค้าจะเสียใจเดือดร้อน แล้วมันก็ไม่พูด ไม่พูดแล้วก็หมดเรื่องกัน ไม่พูดทำไมจึงว่าไม่พูด มันชอบกลอยู่ เค้าเรียกว่า แพๆ กัน ไม่พูด ท่งนั้นก็ไม่พูด ทำไมจึงไม่พูด ความข้อนั้นฉันใด สมมุติบัญญัติ เรานี้ยังต้องใช้อยู่ ถ้าไม่ใช้ก็อย่างว่าน่ะแหละ จะเรียกอะไร อย่าไปกลัว กลัวจะพูดไม่ถูก สมมุติบัญญัติมันมีอยู่นั่นน่ะ แต่ตัวจิตไม่ไปยึดไปถือ มันก็เลยไม่มีตนมีตัว ก็เลยไม่มีเรามีเขา ก็เป็นสักแต่ว่าธาตุ ตรงนั้นจึงต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ อย่าไปกลัว เพียงแต่กลัว แต่เราไม่ทำ กลัวจะเป็นอย่างนั้นแต่เราไม่ทำ ทำให้เป็นอย่างว่านั้น ก็เลยไม่กลัว มันเป็นจริงแล้วหรือเลยไม่กลัว สมมุติบัญญัติก็เลยเป็นตามความจริงของมัน ก็หมดเรื่องกัน นี่หละพุทธศาสนา สอนสลับซับซ้อนลึกซึ้งมาก ฉ ปัญฺญตฺติโย บัญญัติ ๖ ท่านว่างั้น 

ขันธบัญญัติ บัญญัติเป็นขันธ์ ไม่ใช่สมมุติ สมมุติกับบัญญัติต่างกัน สมมุติคือเรื่องโลกเค้าสมมุติไว้แล้ว เรียกไว้แล้ว เรียกชื่อไว้แล้ว ส่วนบัญญัตินั้นพระพุทธเจ้าบัญญัติทับสมมุตินั้นไปอีก เรียกว่าบัญญัติ เรียกว่าขันธบัญญัติ ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่าขันธ์ ๕ ขันธบัญญัติ อายตนะบัญญัติ อายตนะ ๖ บัญญัติทับสมมุติลงไป ที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกว่าคน ตาของคน หูของคน จมูก ลิ้น กาย ของคน ไม่ต้องว่าคนแล้ว บัญญัติเป็นอายตนะ ไม่ใช่ของใคร เป็นอายตนะ สัจจะบัญญัติ ของจริงของแท้ไม่แปรปรวนไปไหน ใครจะว่าไงก็อยู่อย่างนั้น ไม่ว่าก็อยู่อย่างนั้น เป็นจริงอยู่อย่างนั้น สัจจบัญญัติ ขันธบัญญัติ อายตนะบัญญัติ อินทรียบัญญัติ อินทรีย์ก็เรียกว่าบัญญัติเหมือนกัน อินทรีย์ก็อายตนะทั้ง ๖ นั่นเอง อายตนะอินทรีย์ สมมุติบัญญัติ สมมุติของคนที่เค้าสมมุติไว้แล้ว มันก็เป็นอย่างเค้าว่าจริงๆ แต่หากไม่เป็นจริง เป็นจริงอย่างเค้าว่าจริง แต่ไม่เป็นจริง คือมันไม่เป็นจริงตามของจริง แต่เป็นจริงตามสมมุติ พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้อย่างนี้ 

จึงว่าธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนหลายอย่างหลายนัย มันเป็นเหตุให้คนไม่ประพฤติปฏิบัติ สงสัยลังเลมาก คนประพฤติปฏิบัติแล้ว ธรรมคำสอนของพระองค์สอนของจริงทั้งหมด หมดสงสัย หมดลังเล ให้เข้าใจโดยนัยนี้ที่อธิบายมาก็สมควรด้วยกาลเวลา ด้วยประการฉะนี้