หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
พวกท่านทั้งหลายที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือเป็นบรรพชิตก็ดี ที่เราได้พากันตั้งจิตตั้งใจ ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในการประพฤติปฏิบัติหัดตนเองเพื่อต้องการความสุขความสบาย ทั้งกายและทั้งใจนั้น เหตุฉะนั้นการที่นักปฏิบัติทั้งหลาย ทั้งอุบาสก อุบาสิกาก็ดี ทั้งบรรพชิตทั้งหลายก็ดี ที่การเสาะแสวงหาซึ่งได้เจริญเมตตาภาวนาตามถ้ำตามเหวก็ดี ขึ้นภูเขาเหล่ากาที่ไหนก็ดี แสวงหาครูบาอาจารย์ไปตลอด เป็นผู้มีศรัทธาอยู่เพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้สงบระงับเป็นสมาธินั้น
แต่หากเราทุกคนไม่ตั้งจิตตั้งใจจริงๆแล้ว มีแต่ศรัทธาเฉยๆ ถ้าเห็นคนอื่นกล่าวว่าอย่างนั้นอย่างนี้ การทำสมาธิเพื่อจะทำให้จิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ ตนเองก็อยากทำอยู่ ก็อยากสงบอยู่ มีศรัทธาอยู่ แต่ไม่ได้ตั้งจิตตั้งใจมีความเพียรขยันขันแข็งอะไร แล้วมันก็เป็นไปไม่ได้
การทำด้านจิตใจนี่ต้องมีความพากความเพียรจริงๆ เอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ของทำเล่น จึงจะเป็นสมาธิได้ จิตใจของเรา ทุกคนนั่นแหละไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ หากไม่ทำเอาจริงเอาจังแล้ว ทำความเพียรแล้ว มันจะไปได้ที่ไหน เหมือนกับบุคคลที่เราคิดจะไปหาจุดหมายปลายทางที่โน่นที่นี้ เราคิดอยากไปเฉยๆ แต่แล้วไม่ได้ก้าวขา ไม่เดินออกไป หรือไม่นั่งรถนั่งเรือไปในสถานที่เราต้องการนั้น ไม่มีความเพียรพยายามที่จะเดินไปนั้น มันก็ไม่ถึงจุดหมายปลายทางซักที
นี่เป็นเพราะเหตุนี้แหละการทำความเพียร เรามีแต่เพียงศรัทธาอยากทำ แต่เราไม่ได้มีความเพียรเพื่อจะพยายามทำในจิตนั้น เหตุฉะนั้นความเพียรของเรานี่แหละมันไม่เพียงพอ มันไม่ติดเนื่องกัน เราก็อยากพากันให้มันสงบเฉยๆ มันเป็นไปไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าไม่ทำ กิจการงานใดทั้งภายนอกก็ดี ถ้าเราไม่มีความเพียรการกระทำแล้ว มันก็ไม่สำเร็จได้รับผลอะไรเหมือนกัน
การทำด้านจิตใจก็เหมือนกัน ถ้าหากเราไม่นั่งเจริญเมตตาภาวนาเดินจงกรม ตั้งจิตตั้งใจใส่ความเพียรประโยคพยายามจริงๆ ใจของเรามันก็ไม่สงบเป็นสมาธิเหมือนกัน จิตที่ต้องการมันก็ไม่สงบ ไม่สำเร็จ ไม่สำเร็จประโยชน์ที่จะทำให้เป็นสมาธิได้ อันนี้แหละเป็นกิจสำคัญที่เราทุกคนหากมีศรัทธาเฉยๆ ไม่ตั้งใจทำความเพียรแล้ว แม้จะปรารถนาหรือมีศรัทธาเพียงใดก็ตาม มันก็ไม่สงบสมความปรารถนาของตนเองนั่นแหละ นี่เป็นหลักสำคัญอยู่ตรงนี้
เหตุฉะนั้นพวกเราท่านทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชายก็ดี บรรพชิตก็ดี ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติจริงๆ เราก็หาโอกาสซิ บางคนก็อ้างกาลอ้างเวลาบ้าง อ้างยังหนุ่มยังแน่นบ้างอย่างนั้น อ้างการอ้างงานว่าตนมีการมีงานมาก ไม่มีเวลาที่จะทำ ถ้ามัวไปทำ หลงแต่ทำสมาธิอยู่จะได้อยู่ได้กินอะไร บางคนก็คิดอย่างนี้ บางคนก็คิดว่าไม่มีครูบาอาจารย์เป็นผู้ควบคุมแล้วนั่งสมาธิมันก็ไม่ได้ผล แล้วกลัวจิตหลงไปทานโน้นนี้ นี่ก็มี บางคนอ้างอย่างนั้นก็มี นี่แหละ ทั้งอ้างกาลอ้างเวลา ถ้าหากมีเวลาว่าง คนทำงานทำการมันต้องมีเวลาว่าง มีเวลาที่จะพักงาน พักผ่อน เวลาเราว่างเราก็จะทำได้ถ้าคนมีความเพียร อันนี้มีเวลาว่างก็ไม่ทำ คือไปเพลิดเพลินอย่างอื่น ความเพียรไม่มีแต่อยากได้จิตใจสงบ มันก็ไม่สงบแหละ นี่อย่างนี้แหละคนอ้างกาลอ้างเวลาอย่างหนึ่ง
อีกข้อสอง เรามาพิจารณาดูแล้วว่า อ้างว่าตนเองยังหนุ่ม ไม่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็มี นี่ เป็นอย่างนี้ ว่ากระทั่งท่ามกลางคนก็ว่าเราก็ยังขยันแข็ง ยังไม่ทำ นี่คนอ้าง บางคนก็เฒ่าแก่เสียก่อน การภาวนาก็เป็นของคนเฒ่าแก่ ไม่ใช่ของหนุ่มที่จะไปทำการอบรมจิตใจ บางคนก็อ้างว่าอย่างนี้อีก เมื่อมาถึงเฒ่าถึงแก่ก็หาว่าตนเองเฒ่า ตนเองแก่ไปวัดไปวา นั่งเจริญเมตตาภาวนาไม่ได้ เจ็บแข้งเจ็บขา ลุกก็ยาก นั่งก็ยาก เดินไปที่โน้นที่นี้ก็ยากลำบาก ก็มาอ้างเฒ่าอ้างแก่อีกแหละ อย่างนี้ เมื่ออ้างเฒ่าอ้างแก่แล้วก็ตายไปเฉยๆไม่ได้อะไร นี่ การอ้างกาลอ้างเวลาเสียเวลาเปล่าประโยชน์ เหตุฉะนั้นแหละ เมื่อเราอ้างกาลอ้างเวลาอยู่ เรามีศรัทธา เราไม่ตั้งใจทำความเพียร เมื่อไรจิตใจเราจะสงบเป็นสมาธิได้ เป็นไปไม่ได้
ครูบาอาจารย์ท่านทั้งหลายที่ได้มาแนะนำสั่งสอนเราท่าน ใช้ความเพียรประโยคพยายาม ขวนขวายอุตสาหะ วิริยะประกอบความเพียรอยู่ตลอดไม่ขาดสายเป็นวสีเนืองนิจอยู่ เหมือนน้ำไหลรินอยู่ไม่ขาด ท่านทำทุกวันถ้ามีโอกาสมีเวลา ช่องว่างท่านก็หาเวลาทำความเพียรของท่าน ท่านจึงได้ธรรมะมาพูดให้เราฟัง ท่านทำจริงทำจังท่านจึงได้ ได้ตามกำลังที่ท่านปฏิบัติได้ ที่จะมาแนะนำสั่งสอนให้พวกเราปฏิบัติตามไปสู่จุดหมายปลายทางคือความสงบได้ นี่มาพิจารณาดูซิ ครูบาอาจารย์ที่เราไปกราบไปไหว้ ที่เราเลื่อมใสเคารพบูชาอยู่ตลอด ระลึกถึงอยู่ตลอดนั่น ท่านทำจริงกันทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่ทำเล่น ทำความเพียร
เหตุฉะนั้นความเพียรของเรานี่แหละ เราไม่ก้าวขาเดิน เราจะไปที่ไหน เดินไปที่ไหน เราไม่ก้าวขาแล้วมันก็ไม่ถึงที่นั่น หรือเราไม่นั่งรถนั่งเรือไปแล้วก็ไม่ถึงที่นั่น นี่ เราขาดตรงนี้ ความเพียร เหตุฉะนั้นขอให้พวกเราท่านทั้งหลายต้องตั้งจิตตั้งใจให้มีความเพียรประโยคพยายาม การอบรมจิตใจของเรา เราก็จะทำจิตใจของเราให้สงบ ใจของเรามีความสงบ มันจะมีความสุขความสบาย นี่ ถ้าหากจิตใจไม่สงบแล้วจิตใจฟุ้งซ่านรำคาญอยู่แล้ว ทำอะไรมันไม่เป็นชิ้นเป็นอัน หรือจิตของเรามันมีความทุกข์ ไม่มีความสุข นี่แหละจิตไม่ปกติ เหตุฉะนั้นเราต้องการอยากอบรมจิตใจของเราให้ปกติต้องมีความเพียร เพียรพยายามที่จะได้ประกอบจิตใจของเราให้มันสงบระงับเป็นสมาธิ เพราะเราต้องการความสุขอย่างนี้
นี่ เป็นนักปฏิบัติให้รู้จักความเพียรของตนเอง เดี๋ยวนี้ทุกคนมันความเพียรมันไม่เพียงพอ ความเพียรยังไม่แก่กล้า ยังไม่สืบเนื่องติดต่อกันทุกวันแล้ว ทำความเพียรอันนี้ นั่งภาวนาวันนี้ เดินจงกรมวันนี้ สามวัน สี่วันก็ไม่ทำ ขาดวรรคขาดตอน บางทีก็ห้าวัน หรือสิบวันก็ไม่นั่งภาวนาซักที อบรมจิตใจให้จิตใจของตนเองอยู่กับข้อธรรมกรรมฐาน ก็ไม่ทำซักทีนึง ห่างๆจึงทำ มันก็ขาดวรรคขาดตอน มันก็ไม่สงบ
ก็เหมือนเราถางป่า ถ้าเราถางเดินไปได้ แล้วหลายวันเราไม่ได้ถาง เราไม่ได้เดิน ก็รกรุงรัง ยิ่งลำบากกว่าเดิม ป่าหญ้าหรือต้นไม้ แตกกิ่งแตกแหนงออกมาทึบปิดหนทางของเรา เราก็เดินไปไม่ได้ นี่แหละเราไม่เดินทุกวัน หากเราเดินทุกวัน เดินไปทุกวันๆ ที่นั่นก็จะเป็นทางได้ ถ้าเดินชำนาญแล้ว วิ่งก็ได้ ไม่ชนต้นไม้ ไม่ตกหลุมตกบ่อเพราะชำนาญเดินไปเห็นอยู่ทุกวัน เหมือนกับคนขับรถเคยวิ่งรถอยู่สายนั้นสายนี้ มันจะโค้งนั้นเลี้ยวนี้ก็ดี ขึ้นเขาลงเขาก็ดี สะพานอยู่ที่โน่นที่นี่ก็ดี ได้ชำนาญวิ่งทุกวันๆแล้ว ก็วิ่งได้เร็ว คนวิ่งเร็ว คนวิ่งช้า มีความสามารถวิ่งไปจนถึงจุดหมายปลายทางไม่เสียหาย
ก็ฉันใดก็ดี เราทำความเพียรนั้นก็เหมือนกัน หากเราทำทุกวันๆแล้ว ฝึกฝนอบรมจิตใจ ควบคุมจิตใจของตนเองให้อยู่กับข้อธรรมกรรมฐานอยู่บ่อยๆ หาอุบายอยู่ไม่หยุดไม่ยั้ง ด้วยความเพียรของตนเองแล้ว มันก็จะสงบระงับเป็นสมาธิอยู่กับข้อธรรมกรรมฐานจนได้ ไม่เหลือวิสัยไปที่ไหน จิตใจของคนเรา จิตที่ว่าจิตคิดนั่นแหละ เราจะคุมตัวคิดๆน่ะ ไม่ใ้ห้มันคิดมาก ให้มันอยู่เป็นสมาธิ แต่ต้องการความสุขจิตสุขใจ นี่ ดูพิจารณาดูตนเอง ขาดความเพียรมั้ย ต้องขาดความเพียรซิ จิตมันจึงไม่สงบ
นี่นักปฏิบัติทั้งหลาย บัดนี้ถ้าเรามีความเพียรจริงๆอีก เอาจริงเอาจัง นั่งภาวนาก็ดีเมื่อมีโอกาสเวลาไหนก็ดี อยู่ที่แห่งหนตำบลใดก็ดี ที่ทำการทำงานก็ดี ในป่าในดงในเขา หรือไปพักอยู่กับครูบาอาจารย์ในป่าก็ดี ในวัดวาที่ไหนก็ดี อย่างนี้ เราทำจริงทำจัง แต่เราอย่าไปอยากทำความเพียร อยากเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ อย่าไปอยาก ให้พยายามประคับประคองจิตใจของเราให้อยู่กับข้อธรรมกรรมฐานเท่านั้น จะเอาลมหายใจเข้าออกก็ดี หรือจะเอาพุทโธก็ดี ธัมโม สังโฆอันใดก็ดี ก็ให้ตั้งจิตตั้งใจ ใช้ความเพียรประโยคพยายาม ประคับประคองจิตใจให้อยู่กับข้อธรรมกรรมฐานนั้น
เมื่อมันวิ่งออกไปก็ให้ใช้สติปัญญาดึงเข้ามา นี่หากความเพียรของเราแก่กล้า เราทำอยู่ทั้งเดินจงกรมก็ดี ทั้งนั่งภาวนาก็ดีสืบเนื่องกันไปในอิริยาบถทั้ง ๔ ยืนก็ดี เดินไปก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี มีความเพียรติดต่อ หาเหตุหาผลค้นคว้า เพื่อจะควบคุมจิตใจของตนเองให้อยู่เป็นสมาธิแน่วแน่อย่างนี้เรียกว่าตนเองมีความเพียรอยู่ แต่เมื่อเรามีความเพียรทั้งแก่กล้า ทั้งนั่งภาวนาทั้งเดินจงกรมก็ดี เอาจนสุดความสามารถทำอยู่อย่างนั้นไม่ขาดซักวัน มีเวลาว่างเวลาไหนเราก็ทำอยู่เสมอ
แต่จิตของเรายังไม่สงบระงับเป็นสมาธิตามความปรารถนาของตนเองว่าจะให้สงบเป็นสมาธิ นั่นมันก็ยังไม่สงบ เราก็ไม่มีสติอีกแหละ สติของเรายังไม่แก่กล้า ไม่สามารถที่จะควบคุมจิตใจของเรา ได้รู้จิตความคิดของเรามันวิ่งไปโน้นไปนี้ ยังไม่ทันสติปัญญาของเรา สติคือความระลึกได้ ยังระลึกไม่ได้ว่าจิตของเรามันออกคิดกับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ อย่างนี้เราก็ขาดสติ สติของเรายังไม่มีกำลัง ยังไม่เพียงพอ ยังระลึกไม่ติดกันสืบเนื่องอยู่ตลอด ยังรักษาไม่ดีอย่างนี้ จิตของเราก็ยังไม่สงบ ยังไม่รู้จิตของเราคิดอันโน้นอันนี้ เราก็ยังไม่สงบ อย่างเนี้ยมีความเพียรแก่กล้า ศรัทธาก็แก่กล้าเพียงใดก็ตาม หากสติของเรายังอ่อน ยังไม่มีกำลังสามารถที่จะดูจิตใจของเราว่ามันเคลื่อนไหว มันคิดไปกับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้เพื่อประคับประคอง หรือดึงเอาจิตของตนมาอยู่กับข้อธรรมกรรมฐานแล้ว จิตของเราก็ยังไม่สงบอยู่นั่นแหละ นี่ เราก็ขาดสติ
เหตุฉะนั้นผู้มีสติคือความระลึกได้อยู่ ยืนอยู่ก็ให้ระลึกว่าตนเองมีสติระลึกอยู่ในข้อธรรมกรรมฐานของตนเอง คุมจิตใจอยู่ เดินไปก็ดีก็ให้มีสติดูจิตดูใจของตนเองอยู่ เพื่อจะควบคุมให้อยู่กับข้อธรรมกรรมฐาน ระมัดระวังอยู่ มีความระลึกอยู่ สัมปะชัญญะความรู้ตัวอยู่ตลอด ดูจิตใจที่มันคิด นั่งอยู่ก็ดี นั่งทำสมาธินั่นก็ดี ให้มีสติดูจิตของตนเองอยู่ ควบคุมจิตใจของตนเองอยู่ มีความรู้สึกอยู่อย่างนั้น เรานอนอยู่ก็ดี นอนด้วยความพิจารณา ด้วยตั้งจิตระลึกไว้ ดูจิตใจของตนเองอยู่ มันอยู่กับข้อธรรมกรรมฐานมั้ย หรือมันคิดอยู่กับอารมณ์อันใดที่ไปเกาะเกี่ยวอยู่จิตใจคือความคิดอันนี้ นี่เราอบรมสติของเราให้แก่กล้าในอิริยาบถทั้ง ๔ นี้เพื่อจะควบคุมจิตใจของตนให้เป็นสมาธิ อยู่กับข้อธรรมกรรมฐานจนได้
นี่แหละ ถ้าเรามีศรัทธาแก่กล้าแล้ว มีวิริยะความเพียรประกอบอยู่ แต่จิตใจของเรายังไม่สงบ เพราะเราขาดสติ สติเราอ่อน สติเราไม่รู้ทันจิตของเรา ที่มันคิดไปโน้นไปนี้ คำว่ามันอ่อน มันไม่มีกำลัง ไม่มีความสามารถรู้จิตว่ามันออกไปคิดกับอารมณ์ต่างๆ จิตมันก็วิ่งไปได้ ไปตามสัญญาอารมณ์ภายนอก ให้กิเลสหลอกลวงเอาไป ถึงที่ไหนก็ไม่ทราบ คิดไปนั่งอยู่วัดก็คิดเข้าบ้าน นั่งอยู่บ้านก็คิดไปวัด คิดไปหาการหางาน หาลูกหาหลาน หาสถานที่ต่างๆ ที่เที่ยว ที่ไปที่โน่นที่นี่ คิดไปได้ทั่วโลก ไปถึงเมืองนอกเมืองนา รอบฟ้ารอบแผ่นดินไม่รู้ว่าไปทางไหน นี่จิตมันไปอยู่ตลอด เพราะสติของเราไม่เพียงพอจึงทำให้จิตใจของเราไม่สงบ
ถ้าจะเปรียบเทียบสติของเราอ่อน สติของเราไม่มีกำลัง สติของเรายอมแพ้แก่จิตใจที่มีกิเลสควบคุมหนาแน่นด้วยโลภะ โทสะ โมหะครอบงำอยู่นั้น ถ้าเปรียบเทียบถึงภายนอกเสมือนบุคคลที่ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญาจะผูกสัตว์ในป่า เป็นช้างก็ดี เป็นโคกระทิงก็ดี ควายป่าก็ดี หรือสัตว์พวกอีเก้งก็ดี สัตว์ที่อยู่ในป่า เราจับมาได้ เราใช้เชือกเล็กๆไปผูกคอช้างอย่างนี้ ไปผูกโคกระบือนั่นก็ดีที่เป็นสัตว์ป่า เมื่อเชือกเล็กๆโคมันมีกำลัง กระบือมีกำลัง ช้างมันมีกำลัง แล้วมันวิ่งไป เราเอาเชือกนี่ไปผูกมัน ผูกใส่ต้นไม้ อย่างนี้ ต้นไม้ก็ต้นไม้เล็กๆ เราไม่มีปัญญา สติของเราไม่เพียงพอ ก็เหมือนกับเชือกเส้นเล็กๆไปผูกช้างตัวใหญ่ๆ เมื่อช้างวิ่งไป เชือกมันก็ขาด วิ่งหายเงียบเข้าป่า ไม่รู้ไปที่ไหน หายเงียบเลย นี่อย่างนั้น นี่อย่างหนึ่ง
หรือว่าบุคคลที่มีกำลังแข็งแรงเหมือนกับจิตใจที่มีกิเลส สติของเราเหมือนกับเด็กเล็กๆที่ไม่มีกำลัง ถ้าไปจับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เค้าวิ่งไปอย่างนี้ มันก็หลุดมือไปซิ ถ้าไม่วางเราก็จะตายเพราะเราไม่มีกำลังอย่างนี้ อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเทียบข้างนอก ถ้าเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่ง การแข่งม้าก็ดี หรือวิ่งแข่งกันนั้นก็ดี หรือนักมวยก็ดี หรือยกของก็ดี ถ้าหากเราไม่มีกำลังพอ เราก็ยกของหนักไม่ได้ นั่นอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่มีกำลังพออย่างนี้ การวิ่งแข่งกันก็ดี เราก็วิ่งไม่ทันเค้า เค้าก็วิ่งไปก่อนอย่างนี้ เราไม่มีกำลังพอ คือสติเปรียบเทียบเหมือนคนกำลังอ่อน ไม่มีกำลังพอก็วิ่งตามหลังเค้า
ม้าก็ดี ถ้าไม่มีกำลังพอ ตัวไหนเค้ามีกำลังเค้าก็วิ่งออกหน้า เค้าก็มีชัยชนะ ตนเองไม่มีกำลังก็วิ่งตามหลังเค้าไป ตามหลังเค้าไปก็ยอมแพ้เค้าซิ ก็มันว่าม้าตัวนั้นชนะเค้า มันเป็นม้าที่แพ้เค้าวิ่งตามหลังเขา อย่างนี้ เราก็เหมือนกันถ้าไปวิ่งแข่งกัน เค้ามีกำลัง เค้าก็วิ่งออกหน้า ก็มีชัยชนะ ตนเองไม่มีกำลัง ก็วิ่งตามหลังเขา ก็ยอมแพ้เขาตลอด นี้สติของเราก็เหมือนกัน มันยอมแพ้ ก็ไม่ว่าชนะ เค้าว่ายอมแพ้ วิ่งตามหลังเค้าก็แพ้ซิ ม้าก็แพ้เขา ถ้าวิ่งตามหลังเขา
สติก็เหมือนกัน ตามจิตไม่ทัน รู้จิตไม่ทัน ความรู้สึกระลึกได้ไม่ทัน ในจิตที่มันออกเคลื่อนไหวไปตามอารมณ์ ไปคิดสิ่งโน้นสิ่งนี้ คิดไปถึงโน้นถึงนี้ คิดไปถึงเมืองนอกเมืองนาก็วิ่งไปทั่วโลก อยู่ในบ้านไปวัด อยู่ในวัดวิ่งเข้าบ้านหาลูกหาหลาน วิ่งถึงการถึงงานไปคิดรอบโลก ไม่รู้มันคิดอะไร มันคิดไปทั่วโลกจนมันเหน็ดมันเหนื่อยอยู่อย่างนี้มันก็คิดไม่หยุดไม่หย่อน ปล่อยจิตไปล่องลอยไปเสีย ไปตามอำนาจของกิเลส เพราะอะไร เพราะสติของเรารู้ไม่ทัน คือรู้ตามเค้าจนมันเหน็ดมันเหนื่อย ไปคิดอยู่โน้นเมืองนอกเมืองนาหรือกิจการงาน ไปคิดอยู่โน่นอยู่นี่ ไปเกาะเกี่ยวจนจิตมันเหนื่อยแล้ว มันคิดมากจนมันอ่อนมันเพลียอยู่ จึงไปรู้ตามเขาว่าเขามาคิดอยู่โน้น
พอไปรู้ตามเขาอีก ว่าจะจับเขา เขาก็วิ่งไปคิดเรื่องอื่นอีก หายเงียบไปอีกแหละ ตามก็ไม่ทัน โน้นพอจะมีความรู้สึก ก็คิดอยู่กับ เรื่องอื่นอีก แน่ะ จิตของเราเป็นอย่างนั้น สติของเราตามไม่ทัน วิ่งตามเรา ตามเค้าเรียกว่ารู้ตาม รู้ตามหลังเขาก็ยอมแพ้เค้าอยู่ตลอด สติยอมแพ้จิตอยู่ตามจิตไม่ทัน กิเลสมันหลอกไปที่ไหนก็ตามไปอยู่ นี้ มันเป็นอย่างนี้ สติของเรามันไม่เพียงพอ มันไม่มีกำลัง อันใดก็รู้ตาม อันใดก็รู้ตามหลังเขาอยู่ตลอด ไม่รู้ทันเขา รู้เท่ารู้ทันเค้าเมื่อไหร่ มันก็ไม่รู้เท่ารู้ทัน กำลังมันไม่พอกัน สติของเราไม่พอมันก็คุมจิตไม่อยู่ซักทีนี่แหละ มันจึงนั่งทำสมาธิคุมให้จิตไม่เป็นสมาธิซักที นี่สติของเรามันอ่อน มันไม่มีกำลัง มันรู้ตามหลังจิตตลอด
นี่แหละ มันเป็นอย่างนี้พวกเรา เป็นนักปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ จิตใจมันไม่สงบเพราะสติของเรามันอ่อน มันไม่มีกำลัง นี่เราควรจะอบรมสติของเราด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ควรพิจารณาดูจิตของเราเองตลอด เราจึงจะคุมจิตของเราได้ว่าเดี๋ยวนี้จิตของเราคิดอยู่กับอารมณ์อันใด อยู่กับข้อธรรมกรรมฐานมั้ยที่เราตั้งใจให้มันอยู่ เอาความคิดคิดนั้นมาอยู่กับข้อธรรมกรรมฐาน หรือมันวิ่งไปตามสัญญาอารมณ์ ฟุ้งซ่านรำคาญตลอด เราก็พยายามระลึกให้รู้สิ
รู้ความคิดนั่นด้วยสติของตนเองตลอด มันอยู่กับอารมณ์อะไร อะไรมากระทบกระเทือน มาดึงรั้งมันไปที่ไหน ไปคิดอยู่ที่ไหน เราพยายามที่จะให้รู้ทัน สติคือความระลึกได้ ระลึกว่าจิตนี้มันอยู่กับอารมณ์นี้ อยู่กับข้อธรรมกรรมฐานมั้ย จิตใจของเรา เราจะให้อยู่กับข้อธรรมกรรมฐานเป็นอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว ยึดอยู่กับข้อธรรมกรรมฐาน เมื่อไรสติของเรารู้ รู้เท่ารู้ทันกับความคิดของเรานั่นแหละ เราจึงจะทำจิตใจของเราให้สงบระงับเป็นสมาธิได้
นี่พวกเราท่านทั้งหลายต้องพากันตั้งจิตตั้งใจ ใส่ความเพียรพยายาม ให้มีสติให้แก่กล้า ให้มีกำลังเท่าทัน เท่าเทียม รู้เท่ารู้ทันกับความคิดของตนเองว่ามันวิ่งไปที่ไหน มันอยู่กับอารมณ์อันใด แล้วมันจะเคลื่อนออกจากอารมณ์นี้ไปหาอารมณ์ไหน ใช้ความเพียรพยายามจับจิตให้ได้ด้วยสติปัญญาของตนเอง เอาอยู่อย่างนี้แหละด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ พิจารณาอยู่อย่างนี้แหละ จิตของเรามันไปตามนิวรณธรรมทั้งหลายหลอกลวงเอาไป
ด้วยกามฉันทะนิวรณ์ เพลิดเพลินไปทางกามก็มี พยาบาทนิวรณ์ เพลิดเพลินไปทางพยาบาทเบียดเบียน อยากทุบตีฆ่าฟันรันแทงผู้อื่น นี่ให้รู้จักจิตของตนเอง มันไปคิดอยู่อย่างนั้น ถีนะมิทธิ ความง่วงเหงาหาวนอนซบเซา อยากแต่ง่วงเหงาหาวนอน นั่งเข้าไปอย่างนี้จิตใจซบเซาง่วงเหงาอยู่ตลอด ก็ให้รู้ว่าจิตใจของตนไม่แช่มชื่น ง่วงเหงาซบเซา ก็ปลุกขึ้นให้ตื่นด้วยสติของตนเอง นี่ให้รู้อย่างนั้นด้วยความระลึกได้อยู่ตลอดอย่างนี้
จิตใจของเราฟุ้งซ่านรำคาญไปตามสัญญาอารมณ์ภายนอก ทำให้อารมณ์ของกิเลสหลอกลวงเอาไปไม่หยุดไม่หย่อน คิดอารมณ์นี้ ดับอารมณ์นั้น เกิดอารมณ์นี้ ดับอารมณ์นั้น เกิดไปอยู่เรื่อยๆ จนสติของตนเองรู้ตามจิตที่มันคิดไปตามอารมณ์นั้นไม่ทัน ก็ให้รู้ว่าจิตใจของตนเองฟุ้งซ่านรำคาญไม่สงบ เหมือนน้ำกระทบฝั่งอยู่ตลอด ลมพัดน้ำให้มีคลื่นอยู่ตลอดอย่างนี้ ให้รู้สิ รู้ด้วยสติของตนเองอย่างนี้ พยายามใช้ความเพียรอย่างนี้แหละ ให้ระลึกดูให้เข้าใจอย่างนี้ จิตของเราจึงสงบระงับเป็นสมาธิจึงจะควบคุมได้
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย บางทีนั่งเข้าไปในข้อธรรมกรรมฐานอันใดอย่างนี้ นิวรณ์ในข้อนี้ก็มาสงสัยอยู่ กังขาลังเลสงสัย เอาข้อไหน เอาพุทโธ ธัมโม สังโฆอันใด ลมหายใจเข้าออกก็ดี หรือระลึกถึงความตายนั้นก็ดี อย่างนี้หรือจาคานุสติกรรมฐาน สีลานุสติกรรมฐานก็ดีเพื่อระลึกอยู่ แต่จิตใจของตนไม่รู้ว่าจะเอาข้อธรรมกรรมฐานอันใด จิตใจลังเลสงสัยเป็นเหตุไม่แน่นอนอยู่ตลอดอย่างนี้ นิวรณธรรมข้อนี้ก็เป็นเครื่องกั้นกางไม่ให้จิตใจสงบเหมือนกัน ให้รู้ซิ รู้ว่าจิตของเรามันกังขาลังเลสงสัย ก็ตั้งใจจะเอาข้อธรรมกรรมฐานข้อใดก็ตั้งจิตตั้งใจ เอาข้อธรรมกรรมฐานข้อนั้นด้วยความเพียรประโยคพยายามอยู่ตลอด
นี่ ให้รู้จักนิวรณธรรมทั้ง ๕ ข้อนั้น ตั้งแต่กามฉันทะนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ก็ดี ถีนะมิทธินิวรณ์ก็ดี อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ จิตใจฟุ้งซ่านนั้นก็ดี วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยเป็นเหตุให้ไม่แน่นอนก็ดี ก็ให้รู้สิ ใช้สติของตนเองระลึกดูว่าจิตของตนเองมันตกอยู่ในนิวรณ์ข้อไหน ก็จะได้ถอดถอนออกจากนิวรณ์ข้อนั้น ให้เอาจิตใจของตนเองมาตั้งอยู่กับข้อธรรมกรรมฐานที่ตนเองต้องการให้จิตสงบนั้น ก็ให้รู้จิตของตนเองด้วยความระลึกได้ โอ๋ จิตมันอยู่ในนิวรณธรรมข้อนี้ หลอกลวงมันอยู่ ติดอยู่ในนิวรณธรรมข้อนี้ จิตของเราจึงไม่อยู่กับข้อธรรมกรรมฐาน
ให้ตั้งจิตตั้งใจสิ ตั้งสติของตนเองระลึกให้เข้าใจ ก็ให้วางซิ วางจากนิวรณธรรม ทั้งนิวรณธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ มารบกวนอยู่ข้อใดข้อหนึ่งแล้วก็เป็นเครื่องสะกัดกั้น ให้จิตของเราสงบเป็นอารมณ์ที่กระทบกระเทือนอยู่ตลอด ไม่สงบ จิตของเราไม่สงบ เราก็ไม่เห็นมองเห็นคุณงามความดี ที่จิตไม่เป็นสมาธิ นี่ ก็เหมือนน้ำกระทบฝั่ง น้ำกระเพื่อมอยู่ก็ไม่สามารถที่จะเห็นตะกอนที่อยู่ในน้ำในก้นโอ่ง ตะกอนในก้นโอ่งก็ดี ถ้าน้ำอยู่ในโอ่ง ถ้าน้ำมันนิ่ง เราก็สามารถจะมองเห็นความสกปรกหรือตะกอนอยู่ที่ก้นโอ่งได้ ฉันใดก็ดี ถ้าจิตใจของเราสงบเป็นสมาธินิ่งอยู่ เราจึงจะมีพิจารณาอันใดได้ ทำอันใดได้มันจึงเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นของที่สำเร็จประโยชน์ได้
นี่ เราให้เห็นโทษในนิวรณธรรมทั้ง ๕ ที่พาเอาจิตใจของเราวิ่งว่อนอยู่ตลอด มันไม่สงบนั่น ให้เห็นโทษของมันซิ ถ้าเราเห็นโทษ จิตใจของเราจึงจะสงบ จึงจะวางจากนิวรณธรรมทั้ง ๕ นั้นได้ นี่ พวกเราท่านทั้งหลายต้องคิดอย่างนี้ ต้องพิจารณาเข้าใจอย่างนี้ นี่แหละเราอบรมสติของเราให้มากๆ ให้มีอยู่ทุกอิริยาบถ ระลึกตรึกตรองอยู่ นี่เรียกว่าคนมีความเพียร ความพยายาม สร้างสติให้มีกำลัง เรามันขาดสติจึงปล่อยจิตของเราไปคิดทั่วโลก
คนคิดทุกข์คิดยาก คิดโศกคิดเศร้า ร้องห่มร้องไห้อันใดก็ดีเหมือนกัน ที่ไม่มีความสุขก็เพราะอะไร เพราะเราขาดสติไม่ระลึกถึงโทษในสิ่งเหล่านั้น เราก็ไปยึดมั่นถือมั่นทำให้เป็นเวทนา จึงมีทุกขเวทนา ให้เป็นนิวรณธรรมครอบงำจิตใจของตนเอง ให้เศร้าหมอง นี่ จิตใจก็ไม่เป็นสมาธิ นี่แหละ เป็นเพราะเหตุนี้ เอาจริงเอาจังซิ นั่งภาวนา เอาจริงเอาจังพิจารณาด้วยสติของตนเอง จิตใจจึงจะสงบระงับเป็นสมาธิ
เหตุฉะนั้นพวกท่านทั้งหลาย แม้จะมีศรัทธาก็ดี มีวิริยะความเพียรก็ดี ทำความเพียรมาก ทั้งเดินจงกรม นั่งภาวนาก็ดี แล้วหากสติของเราไม่เพียงพอ เราก็ไม่จดจ่อ มุ่งหน้าดูจิตใจของตนเองที่ว่าความคิดนั้น เราอยากดับความคิดไม่ให้คิดมาก ให้คิดอยู่ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียวเราจึงจะมีความสุข จิตของคนคิดมาก คิดหลายอารมณ์มันมีความทุกข์มาก มีความวุ่นวายมาก ความกระสับกระส่ายมาก ของไม่อยู่ปกติเรียกว่าของมีความทุกข์ ของดิ้นรน ของกระวนกระวาย มีความร้อน มีความทุกข์ นี่!
หากเปรียบเทียบข้างนอกก็เหมือนร่างกายของเรานี่ ทำงานหลายหน้าที่ ตอนเช้าก็ทำงานหนึ่ง ตอนเที่ยงก็ทำงานหนึ่ง ตอนบ่ายก็ทำงานหนึ่ง ตอนเย็นก็ทำงานชิ้นหนึ่ง ร่างกายอย่างนี้แหละ ทำหลายสิ่งหลายอย่างมันก็อ่อนเพลียเสีย กายมันก็มีความทุกข์ความเหนื่อยความลำบาก นี่บุคคลขับรถก็ดี ขับไปไกลๆ ขับไปหลายกิโล ขับไปหลายจังหวัดอย่างนี้วันหนึ่ง มันก็มีความอ่อนเพลียมีเหนื่อยเพราะทำงานมากเกินไปอย่างนี้ ฉันใดก็ดี จิตใจของเราก็เหมือนกัน มันรับหลายอารมณ์ อารมณ์นี้เกิด อารมณ์นี้ดับ ฟุ้งซ่านรำคาญวิ่งอยู่ตลอด ไม่รู้ไปแห่งหนตำบลใด ประเทศใด เมืองใด จิตอันนี้ยิ่งไปคิดอยู่ทั่วโลก มันก็ทุกข์สิ จิตมันเหนื่อย มันอ่อนมันเพลีย รู้คนคิดคนปรุงคนแต่งคนฟุ้งซ่านจนจะเป็นโรคประสาท เจ็บปวดศีรษะ หนักหน้าอกแน่นไปหมด อึดอัดไปหมด อย่างนี้แหละคนคิดมาก จิตมันไม่สงบเป็นสมาธิ มันมีโทษอย่างนี้
ถ้าเรามาเข้าจิตเข้าใจ มันมีโทษเช่นนี้ แต่นี้ต่อไปอบรมสติของเราซิ คุมจิตให้อยู่กับข้อธรรมกรรมฐานให้เป็นอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว เมื่อจิตของเราสงบระงับเป็นสมาธิมั่นคงแล้วนั่นแหละ เราจึงจะได้พิจารณา ทำกิจอะไรถ้าจิตเป็นสมาธิจะเรียนหนังเศษหนังสือก็ดี มันก็จะเข้าใจง่าย เขียนหนังสือก็ดี มันก็จะจบ ถ้าจิตของเราเป็นสมาธิ นี่เราทำกิจการงานอะไรมันก็สำเร็จ ด้วยที่จิตจดจ่ออยู่ อย่างนี้แหละ บัดนี้จิตจดจ่อมันเป็นสมาธินิ่งอยู่ เราก็เห็นอะไรเกิดขึ้น พิจารณาอะไรก็จะเข้าใจในสิ่งนั้น ก็จะรู้แจ้งในสิ่งนั้น ชัดเจนว่าสิ่งนี้ทำอย่างนั้นๆ สิ่งนั้นเกิดมาอย่างนั้น ตั้งอยู่อย่างนั้น ดับไปอย่างนั้น จึงจะเข้าใจ เป็นผู้รู้ธรรมะธรรมโม จึงจะเป็นผู้มีปัญญาได้
นี่แหละเหตุฉะนั้นพวกท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตที่เป็นนักปฏิบัติทั้งหลายก็ให้พากันตั้งจิตตั้งใจอบรมสติของตนเองให้มากๆ เพื่อจะได้สอดส่องมองดูจิตของตนเองที่จิตคิดนั้น ให้นิ่งอยู่ให้มั่นคงเป็นสมาธิ เราจึงจะได้จิตใจที่มั่นคง ทำอะไรจึงจะเป็นชิ้นเป็นอัน เมื่อเราจะพิจารณาธรรมะข้อใดข้อหนึ่งเราจึงจะเข้าจิตเข้าใจในธรรมะข้อนั้นอันชัดแจ้งชัดเจน เราจึงจะมีปัญญาและความสุขความสบายต่อไป
เหตุฉะนั้นการแสดงธรรมในวันนี้ที่เรื่องการหาอุบายควบคุมจิตใจของตนเองให้สงบระงับเป็นสมาธิก็เห็นจะเวลาพอสมควร ก็ขอยุติเพียงเท่านี้