Skip to content

ความว่าง

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ณ บัดนี้พวกเราท่านทั้งหลายมาถึงกาลถึงสมัย ถึงเวลาจะได้พากันตั้งจิตตั้งใจเจริญเมตตาภาวนา ฝึกฝนอบรมจิตใจให้สงบระงับเป็นสมาธิที่ทุกคนมีความต้องการ ในวันนี้จะอธิบายเรื่องความว่าง 

ความที่ทำให้จิตใจว่างเปล่าจากกิเลสตามขั้นตอนที่เราจะประพฤติปฏิบัติได้นั้น จิตใจของคนเรานั้นมันไม่มีเวลาว่าง มีตั้งแต่อารมณ์เป็นเครื่องทับถมอยู่หรือมีตั้งแต่อารมณ์ทั้งหลายนั้น ทำให้เป็นภาระหนัก จิตใจก็เลยหนักหน่วง จิตใจไม่มีเบาไม่มีว่าง แต่ถ้าหากพวกเราท่านทั้งหลายได้สติปัญญามองดูจริงๆแล้ว มันก็มีว่างแต่มันว่างน้อยที่สุด แต่มันรับภาระมากที่สุด มันมีความหนักมากกว่า จึงส่อแสดงให้เห็นว่ามันมีความทุกข์ได้โดยเฉพาะภายในจิตใจ 

ในที่นี้ไม่เกี่ยวถึง พรรณนาถึงร่างกายของเราทุกคน จะพรรณนาเรื่องระบบจิตใจที่จะเหินห่างหรือว่าละปล่อยวางจากอารมณ์ต่างๆที่เข้ามาแทรกแซงภายในจิตใจของเรา ไม่ให้จิตใจของเรามีความว่าง เหตุฉะนั้นการที่จะทำจิตใจให้ว่างนั้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราจะได้พากันขวนขวายพินิจพิจารณาด้วยเป็นผู้มีสติปัญญาสอดส่องมองดูจิตของตน ให้จิตของตนนั้นมีอารมณ์เกิดขึ้น หรือมีความยึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ ผูกขังไว้ในใจของเรา แบกหามไว้ในใจของเรานั้น มีความหนักเพียงไหน เราละปล่อยวางออกจากจิตใจของเราได้ด้วยวิธีใดจึงทำให้มันว่างจากสิ่งที่มันยึดอยู่ 

นี้ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านจึงกล่าวว่าได้ว่างเป็นตอนๆเป็นเวลา เหมือนพวกเราพากันนั่งเจริญเมตตาภาวนานี่แหละ ตั้งแต่จิตของเรายังไม่สงบเป็นสมาธิอยู่ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียวได้ จิตที่มันวิ่งอยู่ไปตามสัญญาอารมณ์ภายนอก รับอารมณ์ทางภายนอกอยู่ ส่งออกไปภายนอกอยู่นั้น วุ่นวายวิ่งเต้นไปที่ไหนอยู่นั้น จะเรียกว่าจิตยังไม่มีความว่างปล่อยวางจากอารมณ์นั้นไม่ได้ เหตุนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะพากันทำอย่างไร เราได้เป็นนักปฏิบัติที่เค้าสมมุติให้ว่านักกรรมฐาน กรรมแปลว่าการกระทำ ฐานแปลว่าที่ตั้ง อันพวกเราทุกคนพากันตั้งใจกระทำอยู่ จุดมุ่งหมายต้องการอยากจะรู้และปล่อยวาง และให้จิตใจของเราเบาบางจากกิเลส ได้รับซึ่งความสุขได้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ 

เหตุฉะนั้นปลิโพธ กังวล อันที่เราจะปล่อยวางออกไปนั้นก็คืออะไร องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านว่าปลิโพธ คำว่าปลิโพธก็คือ ถ้าพูดออกมาให้เห็นชัดว่าคือความกังวลอยู่กับสิ่งที่เราต้องการอยู่นั้น นั้นอย่างหนึ่ง หรือสิ่งที่เราไม่ต้องการแต่มันเกิดกังวล ทำไมจึงพูดอย่างนี้ บางสิ่งบางอย่างที่เราต้องการสมหวังสมปรารถนา มันก็เป็นกังวลอยู่เหมือนกัน บางสิ่งบางอย่างที่เราไม่พอใจ เราอยากทิ้งอยากปล่อยอยากวางไป มันมาทำให้จิตใจเศร้าหมอง มันก็เป็นกังวลเหมือนกัน อันนี้เรียกว่ากังวลทั้งดีและไม่ดี เหตุฉะนั้นพวกเราจะมีสติปัญญาอย่างไร ว่องไวเฉลียวฉลาดเพื่อจะให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ เพื่อได้ลดละปล่อยวางออกไปให้จิตใจของเรานั้นได้เบา ได้ว่างออกจากอารมณ์ห่างๆไป เพราะจิตใจมันคิดหลายอารมณ์อยู่ตลอด มันไม่น้อยอารมณ์ลงไป มันไม่ว่าง ไม่ห่าง นี่แหละจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ 

คำว่าปลิโพธกังวล ตามนักปราชญ์ทั้งหลายท่านกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่านิวรณธรรมนั่นเอง ปลิโพธกังวล ก็อันเดียวกันเอง เหตุฉะนั้นท่านจึงให้ปล่อยทั้งอดีตและอนาคต ปลดปล่อยออกจากดวงใจของเรา บางคนนั้นปลิโพธกับทรัพย์สมบัติทั้งหลาย บางคนก็ปลิโพธกับการที่จะเดินทางไปที่โน้นที่นี่ ไปสถานที่ต่างๆหรือไปเมืองนอกเมืองนา หรือไปทำการทำงานที่โน้นที่นี้ หรือการศึกษาเล่าเรียนอะไรในสิ่งที่เรากระทำอยู่ หรือการที่เราจะไปทำบุญทำทานการกุศลทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นปลิโพธกังวล เรียกว่าปลิโพธกังวลกับกิจการงานบ้าง กับทรัพย์สมบัติบ้าง ปลิโพธกังวลนั้นบางทีก็คิดถึงเพื่อนถึงฝูงจะอยู่กันอย่างไร ไปยังไง สุขสบายมั้ย ก็เป็นปลิโพธกังวล อันนี้มันทำให้จิตใจของเรามีภาระหนัก ปลิโพธกังวลมาหาตนเอง บางทีก็เจ็บไข้ไม่สบาย มีความวุ่นวายอยู่ ปลิโพธกังวลกับโรคภัยไข้เจ็บกับร่างกาย อันนี้แหละบางคนปลิโพธกังวลน้ำร้อนน้ำหนาว เจ็บแข้งเจ็บขา อะไรเกิดขึ้น 

การปลิโพธกังวลกับทั้งบุคคลอื่นและตนเองและทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้ ทั้งการเดินทางไปที่ใดก็ดี บัดนี้เราทุกคนที่นั่งอยู่นั้น มีการปลิโพธกังวลอย่างนั้นแล้ว ถ้าหากมีก็รีบปลดปล่อยออกไปว่าเดี๋ยวนี้กำลังนั่งทำคุณงามความดีอยู่ ปลดเปลื้องออกไปเสียก่อน อย่าเอามาคิด อย่าเอามายุ่ง แยกความกังวลนั้น ปลิโพธกังวลไปทางข้างหน้ามันเป็นอะไร มันก็เป็นอนาคต มันไปคิดกับอนาคตนั่นเอง ท่านจึงให้ปลดปล่อยออกไปว่าทั้งอดีตสิ่งที่ล่วงไปแล้วก็ให้ปล่อยวางไปเรื่องราวสิ่งใด สิ่งที่เป็นอนาคตที่ยังไม่มาถึงเราจะกระทำอยู่ เราก็ปล่อยวางออกไปเหมือนกัน ท่านไม่ให้มีปลิโพธกังวล เมื่อทุกคนได้พากันใช้สติปัญญามองเห็นโทษสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาปกปิดบังจิตใจของเราไม่ให้สงบ ไม่ให้บรรลุคุณงามความดีเป็นปลิโพธกังวลเช่นนี้แล้ว เราก็ควรที่จะละถอดถอนปล่อยวางออกไป อย่าให้มันมายุ่งในจิตใจของเรา 

เรามาพิจารณาในปัจจุบัน คำว่าพิจารณาในปัจจุบันนั้นก็คืออารมณ์ทั้งอดีตอนาคตนั่นเอง มันเกิดมาในจิตของเรา เราจึงไปกังวลเช่นนั้น ท่านจึงให้หาวิธีปล่อยในปัจจุบัน ว่าจิตของเราอยู่ในปัจจุบันนี้มันมีความกังวลอยู่กับอะไร ควรที่เราจะปล่อยสิ่งนั้นออกไป ถ้าหากเราปล่อยได้ ท่านจึงเปรียบเทียบเหมือนปล่อยอดีตอนาคต หรือปล่อยนิวรณธรรมทั้ง ๕ ไม่มารบกวนราวีจิตใจของเรา มันสงบอยู่ เมื่อสิ่งเหล่านั้นเราปล่อยออกไปได้หมด ไม่ยุ่งเหยิงแล้ว จิตก็เลยสงบนิ่งอยู่ คำว่าจิตสงบนิ่งอยู่ระงับจากปลิโพธกังวลและนิวรณธรรม จิตอยู่นิ่งเป็นอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียวนั้น ท่านจึงจัดว่ามีความว่างจากอารมณ์นั้น มาอยู่ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว 

นี่ในเบื้องต้นในจิตว่าง ก็ทำให้พวกเรามีความสุขได้แล้ว นี่ก็ว่าง จิตว่างชนิดหนึ่ง พูดถึงว่าจิตว่างชนิดนี้ก็เราไม่เกี่ยวถึงกับขณิกสมาธิ ว่างนิดๆหน่อยๆจิตก็ออกไป ถ้าหากเราคิดถึงขณิกสมาธิ จิตของเราสงบนิดหน่อยมันออกไปแล้ว ก็เอาขึ้นมาหาข้อธรรมกรรมฐานมาสงบอีก นั่นมันก็ว่างนิดหน่อยถ้าพูดถึงว่างอย่างนั้น ถึงอุปจาระสมาธิมันสงบถึง ๓๐ นาที มันก็ว่างจากนิวรณธรรมเหมือนกัน แต่มันก็ว่างนานกว่า บัดนี้มันถึงอัปปนาสมาธิ จิตแนบแน่นมั่นคงดำรงอยู่ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว มีความรู้อยู่ แต่มีความรู้อยู่ในอารมณ์ มันจะมีแต่ความสุขอยู่ในอารมณ์นั้น ว่าไม่มีนิวรณธรรมมากั้นกางจิตใจมารบกวนอะไร จิตก็เลยกำลังนิ่งอยู่มีความว่างอยู่ เหมือนกับธงอยู่บนยอดเสาไม่มีลมอะไรมาพัด ธงก็ย่อมนิ่งอยู่ ฉันใดก็ดี จิตของบุคคลนั้นสงบระงับจากนิวรณธรรมแล้ว มีความนิ่งอยู่ก็มีความว่าง ทำให้เหินห่างจากนิวรณธรรม เราจะนำจิตของตนเองประคองไว้ในอารมณ์อยู่ ก็เลยมีความสุขความสบาย นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ 

บัดนี้เมื่อจิตของเราเป็นสมาธิแล้ว เราปล่อยวางได้ว่างกว่านั้น ละสัญญาได้ ไม่สนใจกระทั่งเสียง เสียงก็ไม่ได้ยิน ดับเสียงได้ ดับสัญญา หลบเข้าลึกลงไปอย่างนี้ ท่านเรียกว่าคนหลบเข้าไปถึงในฌาณได้ ปล่อยวางได้หมดจากทุกขเวทนาและเสียงทั้งหลาย สัญญาไม่รับทางภายนอก จิตก็หลบเข้าไปอยู่ในชั้นลึก มีตั้งแต่ความว่างๆของร่างกายเหมือนไม่มีร่างกาย ว่างเบื้องต้นมันเห็นกายอยู่ ว่างที่สองนี้ คนเข้าอยู่ในฌาณ ตรงนั้นเราจะมองเห็นได้ชัด เรานั่งอยู่ร่างกายมันก็ไม่มี มันว่างเปล่า ไม่มีแข้งมีขามีมือ มีแขนอะไร ไม่มีหูมีตา มองหาไม่เห็นร่างกาย นั้นก็เรียกว่าเบากาย เพราะอะไร เพราะจิตไม่สนใจ จิตปล่อยวาง ก็เบาใจด้วย เบาใจอะไรทำไม คือเสียงไม่มารบกวน ปล่อยเสียงได้ ก็เลยว่างทั้งเสียง นั้นแหละสงบระงับจากนิวรณธรรมในเบื้องต้น 

บัดนี้มันสงบระงับลงไป ลึกเข้าไปกว่านั้น เรียกว่าคนนั้นอยู่ในฌาณ จึงมองดูแล้วเห็นแต่ความว่างๆอยู่ในร่างกาย ใจก็เลยสบาย เรียกว่าเบากายเบาใจ นั่งอยู่เท่าไรก็ได้ เพราะมีแต่ความสุขและความว่างๆเป็นที่อยู่ของผู้อยู่ในฌาณ อันนี้ไม่รับรู้จากสิ่งภายนอก ไม่รับรู้จากเสียงภายนอก ไม่รับรู้กับร้อนกับหนาว ไม่รับรู้กับเจ็บกับปวดอะไร เพราะร่างกายเหมือนกับหายไปแล้ว เหมือนกับเป็นลมหรือเบาๆเหมือนอย่างสำลีอยู่ 

บางบุคคลนั้นมาตรงนี้อาจจะเห็นว่าร่างกายเหมือนจะลอยขึ้นไปบนอากาศได้ หรือมันลอยอยู่ยังไง จะมองหาไม่เห็น แต่เรามีความสามารถที่จะมีสติปัญญามองเห็นความว่างคือจิต ไม่รับเสียงด้วย ไม่รับทุกขเวทนาด้วย ไม่รับมีตนมีตัวด้วย จิตก็เลยเบาๆอยู่ จึงจะเห็นว่าอารมณ์ที่มันยึดเป็นกังวลทั้งหลายในร่างกายมันก็ปล่อยไปหมด อารมณ์ที่มันยึดกับเสียงที่จะมารบกวนมันก็ปล่อยไปหมด อารมณ์ที่เป็นภาระหนักที่มารบกวนชั้นลึกลงไป มันก็ไม่ยึดไม่ถือไม่เกี่ยว มันก็เลยวางทั้งร่างกายให้ว่างๆ 

ว่างตรงนี้เรียกว่าว่างอยู่ในฌาณลึก ไม่สนใจ เสียงอะไรดังอยู่ในโลก ไม่รับรู้ ไม่เกี่ยว ใครพูดอยู่ที่ไหนก็ไม่รับรู้ ไม่เกี่ยว ปล่อยวางอยู่ตลอด เรียกว่าคนดับสัญญา อันนี้แหละเรามาพิจารณาดูความว่าง ยิ่งสุขลึกลงไปกว่าอัปปนาสมาธิ เมื่อเราเพ่งตกลงอยู่ในฌาณ เมื่อทุกคนมาเห็นตรงนี้จะเข้าใจได้ชัดว่า หนึ่ง พระอริยเจ้าทั้งหลายเมื่อท่านเข้าฌาณได้จริงๆ ท่านจึงออกเหาะเหินเดินอากาศไปได้เหมือนอย่างนกอย่างสบาย นั้นหนึ่ง สองเราจะมั่นใจในความสงบนั้นเป็นความสุข โดยไม่มีความกังวลนั้นน่ะ สาม ตนเองนั้นจะเห็นว่ามั่นใจในความสงบนั้น ปล่อยวางนั้น เป็นทางที่ถูกที่ควร จึงเห็นว่าความสงบเป็นความสุขแท้ นั้นอีกอย่างหนึ่ง นี่! 

แต่แม้จิตจะไปติดอยู่ในความว่างก็ตาม แต่มันก็ติดอยู่ในสุขคือความว่างนั้น แต่เราก็จะมีความสามารถแก้ไขกันได้ จิตไม่มีวุ่นวายและมีความกังวล และไม่ร้อนไม่หนาว ไม่เจ็บไม่ปวดที่ไหน เหมือนกับไม่ได้รับ มีทุกขเวทนาอันใดมาแย่งชิงภายในจิต เห็นแต่ความว่างและความสุขเป็นหลักของจิตอยู่ นี้ก็นำความสุขมาให้ มองเข้าไปจริงๆแล้ว จะเข้าใจได้ชัดว่าเมื่อตนเองนั่งอยู่นั้น เห็นกายว่างๆมันไม่มี ไม่เห็นแข้งเห็นขา เห็นหูเห็นตาทั้งใด มั่นใจที่จะนั่งได้เป็นวันๆคืนๆ 

มั่นใจอีกอย่างหนึ่งเราก็จะแน่ใจว่าเดี๋ยวนี้เราเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย จิตจะไม่สนใจว่าตนเองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่สนใจตรงนั้นไม่สมมุติขึ้นมาเลย เพราะเขาไม่สมมุติทั้งเสียงภายนอก เขาไม่สมมุติทั้งร่างกาย ตรงนี้เราจะเห็นชัดว่าไม่มีผู้หญิงผู้ชาย จิตจะมีแต่ความสุขและความว่างอยู่เฉยๆ เราจะมั่นใจได้ว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายนั้น เมื่อหากท่านเข้าไปถึงขั้นลึกแล้ว จริงๆผู้ที่เข้าไปอยู่ในฌาณนั้น จะไม่หมายว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย จึงพอสรุปได้ว่าเป็นเราๆหรือว่าทุกคนก็ให้พากันภาวนาไปก่อน จะมองเห็นได้ชัดว่าตกในกระแสตรงนี้ จึงไม่มีฆราวาสหรือพระ เมื่อภาพออกมานั้นจะเป็นคนที่เป็นพระกันไป ผู้หญิงก็เหมือนเป็นพระ ผู้ชายก็เหมือนเป็นพระ ญาติโยมพระก็เหมือนเป็นพระ รูปภาพจะออกมาเป็นผู้มีศีลเหมือนกับพระ เหตุฉะนั้นพวกเราเหล่านี้หากเมื่อล่วงลับดับไปแล้วจึงจะไปอยู่ในพรหมโลก เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะอะไร เพราะไม่มีสมมุติผู้หญิงผู้ชาย อยู่ในฌาณในความสงบ ตรงนี้แหละเป็นความว่างอีกชนิดหนึ่ง 

เหตุฉะนั้นครูบาอาจารย์นักปราชญ์ราชบัณฑิตเมธีทั้งหลาย ท่านว่าอยู่ในฌาณชั้นลึก ทำให้ติดเหนียวแน่น บางองค์จะติดเป็นสิบๆปี กว่าจะมีสติปัญญารู้ดีหรือรู้ชั่ว รู้ว่าตนเองติดอยู่ในฌาณ มันจะสมมุติตนเองว่าบรรลุธรรมแล้ว ข้อนี้เป็นข้อที่ต้องใส่ใจให้ดีทุกคน เมื่อภาวนาไปถึงว่าตนเองบรรุลสำเร็จ โลกนี้ไม่มีใครจะรู้เหมือนอย่างเรา ระวังให้ดีตรงนี้ เป็นเรื่องที่เราจะมีความระวังเมื่อภาวนาไป เมื่อไปถึงตรงนี้แล้วมองร่างกายมันไม่เห็น เหมือนตนเองนี้วางขันธ์ ๕ วางรูปขันธ์ได้อย่างดีแล้ว มันจะสมมุติตนเองว่าตนเองสำเร็จมรรคผล 

นี่ทุกคนเป็นนักปฏิบัติควรจดจำ นำไปพินิจพิจารณาให้ดี ให้รอบคอบ เมื่อมันสมมุติขึ้นมาว่า​ โอ้ย มันละได้ รูปขันธ์หาย ไม่มีเลย จะให้มันมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เสียงก็ละได้ ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีเกี่ยวข้อง ทุกขเวทนาทั้งหลายไม่มีเสียแล้ว เพราะไม่มีร่างกาย เราละได้ ไม่มีอะไรมายุ่งจิตใจ นี่ ตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญ หากมันสมมุติขึ้นว่าตนเองนี่บรรลุมรรคผลแล้ว ในโลกนี้ใครจะเห็นอย่างเราบ้างมั้ยหนอ นั่งภาวนาไปเห็นความว่างความเปล่าอย่างนี้ ไม่มีอะไรยุ่งจิตใจ มีแต่ความสุขความว่างๆอยู่อย่างนี้ เราคนหนึ่งหละเป็นคนที่บรรลุมรรคผล ถ้ามันคิดขึ้นมาอย่างนี้ ทุกคนควรเป็นผู้มีสติปัญญาตักเตือนจิตใจของเรานั้นให้รวดเร็ว เดี๋ยวนี้เธอสำเร็จมรรลผลหรือยัง ละกิเลสได้สิ้นหมดหรือยัง เธอยังไม่สำเร็จ เธอกล่าวว่าเธอสำเร็จทำไม ตรงนี้ต้องใช้สติปัญญาตักเตือนจิตใจของมันเอง 

ที่มันถอดถอนออกจากรูปร่างกายนั้น มันว่าง มันไม่ยึด มันไม่เกี่ยว แต่มันยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงหมด ธาตุ ๔ มันยังไม่ได้ขยายอะไร เพราะมันปล่อยเร็วเฉยๆ ปล่อยวางให้สงบเฉยๆ มันไม่ยุ่งเฉยๆ แต่มันยังไม่ได้เรียนรู้ บัดนี้ตนเองติดอยู่ในความว่างว่ามันมีความสุข ติดอยู่ในสุขยังไม่รู้ตัวว่าตนเองติดอยู่ในกิเลส ยังไม่ได้ละ นี่สิมันยังไม่พ้นทุกข์ เป็นสิ่งที่สำคัญ ว่างตรงนี้เป็นว่างที่สำคัญมาก ว่างอยู่ในฌาณ ในฌาณขั้นลึกเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนควรพากันพิจารณาให้ดี จะมาหลงอยู่ตรงนี้ 

นักปฏิบัติทั้งพระทั้งเณรก็ดี นั่งกันสิบชั่วโมงก็ดี มันติดตรงนี้เป็นส่วนมาก ระวังให้ดี แต่มันมีสุขมากแหละ ดีกว่าคนไม่ได้ แต่มันจะติด มันจะไม่ก้าวหน้าเท่านั้นเอง บางท่านบางองค์ก็เลยมาสมมุติว่าติดสมาธิ แท้ที่จริงพูดอย่างธรรมดาเรียกว่าติดอยู่ในความสงบดีกว่า ความสงบกับสมาธิ แต่ความสงบนั้นพูดตามความจริงแล้ว มันลึกกว่า ความสงบมันลึกกว่า ลึกกว่าสมาธิ ถ้าเรามาคิดอีกชั้นหนึ่งพิจารณาดูให้ดีอย่างนี้ นี่แหละความว่างที่ครูบาอาจารย์ท่านทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติมาบางท่านบางองค์ว่า ทำให้จิตว่าง ทำให้จิตว่าง ก็เพราะอะไร มันว่างอยู่เป็นบางครั้งคราว มันไม่ได้ว่างหมด 

บัดนี้มันมาว่างตรงนี้ ถ้าเรามาค้นคว้าให้ดูดีๆแล้วว่า เราติดอยู่ในสุข เราต้องดูสุขนั้นเข้าไป ดูสุขนั้นเข้าไป เรียกว่าจิตมีความสุข ความว่างๆ ใครมาว่ามันว่างๆ ใครมาพูดว่ามันสุขๆอยู่นี้ ก็ต้องพิจารณาด้วยเป็นผู้มีสติปัญญาดูจิตเข้าไปอีกที จิตของเราไปติดความสุขเสียแล้ว ความสุขอันนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นของละเอียด ยังไม่ยกไตรลักษณ์ขึ้นมาพิจารณาให้เห็นว่า เออ นี่ มันมายึดอยู่นี่ มันยังหลงอยู่ ยังไม่เข้าใจ 

ความพาหลงก็คืออะไร เราควบกันก็เรียกว่าจิตตวิญญาณ เป็นวิญญาณเครื่องหมายรู้ความสุขนั้น เครื่องหมายรู้ความว่างนั้น เป็นตัวยึด เป็นตัวอวิชชา เป็นตัวกิเลส ทำให้ยึดติดกับความสุขนั้นอยู่ มันไม่ว่าง มันไม่ว่างจริงๆ มันยังติดอยู่ แต่ยังไม่มีสติปัญญารู้ จิตก็ยังไม่รู้ว่าตนเองติด ต้องเป็นผู้ใช้สติปัญญาสอดส่องมองเข้าไป ให้เห็นว่าตนเองติดอยู่ในความสุข ความทุกข์เหมือนจะไม่มี แท้ที่จริงมันอยู่ในความสุข มันเปลี่ยนแปลงอยู่ มันมองไม่เห็นเพราะมันละเอียด มันก็มีทุกข์มีสุขอยู่นั่นแหละ แต่มันอย่างละเอียด อย่างบุคคลที่ไม่มีปัญญาก็มองไม่เห็น ต้องเป็นผู้มีสติปัญญามองเห็นเป็นไตรลักษณ์ จึงจะได้พิจารณาตรงนี้ให้เข้าใจ เพื่อจะได้ปล่อยวางออกไปให้เห็นเป็นกลางๆ เพื่อจะให้จิตของเราว่างออกจากยึดความสุขและความทุกข์ละเอียดนั้นลงไป เรียกว่ากิเลสละเอียดเป็นอนุสัย ติดอยู่ในดวงใจของเรา นอนมาหลายภพหลายชาติก็ตรงนี้เอง ก็มาหลงอยู่ตรงนี้ 

แต่มาหลงอยู่ตรงนี้ก็ไม่เสียเปรียบ ตายก็ไปพรหมโลก แต่มันก็มาเกิดอีกอยู่นั่นเอง เพราะมันยังติด มันติดชั้นลึก นี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะได้พากันดู ควรที่เราจะย้อนมาดูถึงไตรลักษณ์ ดูให้ถ่องแท้ถึงรูป ร่างกายก็ดี เลี้ยงเป็นธาตุ ๔ อยู่ยังไงให้เข้าจิตใจแจ้งชัด แล้วก็มาดูเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในสิ่งเหล่านี้เพื่อจะยกขึ้นมาพิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ให้ได้ เราจึงจะปล่อยวางได้ ต้องให้เห็นโทษสิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ เรายังติดอยู่ สุขเวทนาก็คือเวทนานั่นเอง จะยกให้เป็นไตรลักษณ์ได้ยังไง นี่จะได้พิจารณาให้เข้าใจว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างไร 

สัญญาความจำนั้นก็เหมือนกัน จะยกขึ้นมาเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างไร ควรที่จะได้ใช้สติปัญญาพิจารณา สังขารการปรุงแต่ง ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร ปรุงทางดีก็ดี ปรุงทางไม่ดีก็ดี เวลาเป็นกลางๆอยู่ การปรุงมันอยู่ในส่วนกลางก็ดี เราก็จะใช้สติปัญญามาดูให้ถี่ถ้วนด้วยดีๆว่า ยกลงขึ้นมาเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน 

บัดนี้วิญญาณ เครื่องหมายรู้นั้น เราก็จะให้มันรู้โกหก มันทำให้ยึดหน่วงเหนี่ยวอยู่เป็นอุปาทาน เราก็จะได้ดูมัน ดูให้เข้าใจ ดูให้เข้าใจ เอ๊ะ ไอ้เจ้าเครื่องหมายรู้ว่าตนเองว่ารู้แล้วๆนี่ มันรู้ด้วยอะไร รู้ด้วยสัญญารึ รู้เผินๆ เค้าเรียกว่ารู้ด้วยสัญญา อันนี้มันรู้ด้วยวิญญาณ มันว่าตนเองมันรู้ มันฉลาด เหมือนกับพวกเราท่านทั้งหลายรู้มันเป็นทุกข์ เวลามันมีความทุกข์เกิดขึ้น ร่างกายและจิตใจวุ่นวายไปเห็นว่าเป็นทุกข์ เวลามันหายไปแล้ว เราก็ว่าไม่เป็นทุกข์ นี้แหละตรงนี้เป็นโลกิยะปัญญาอยู่ ไม่ใช่เป็นโลกุตระปัญญาอะไร เพราะมันยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในตามความเป็นจริงตามสภาวะธรรม นี้แหละเราจึงนำจิตของเราให้หลุดพ้นไม่ได้ ก็ติดอยู่ตรงนี้เอง นี้เราจะได้ศึกษาอยู่ตรงนี้ 

เหตุฉะนั้นองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนั้น ท่านที่ได้หลุดพ้นไปแล้ว และพระอริยสาวกทั้งหลายที่ท่านรู้แจ้งเห็นจริงนั้น ท่านจึงมาพินิจพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์หมดลงมานี่ รวบรวมอยู่ตรงนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งภายนอกก็รวมลงมาตรงนี้ ทั้งภายในทั้งขันธ์ ๕ รูป ธรรม รูปก็มี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมผสมกันอยู่ ท่านก็เรียนรู้จริงเห็นแจ้งตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น ตั้งอยู่เห็นชัด นี่!

อันนี้เวทนาก็ดี ท่านเข้าใจทั้งสุขและทุกขเวทนา มันเกิดขึ้นมาอย่างไร อยู่อย่างไร ดับไปที่ไหน ท่านเข้าใจอย่างนี้ 

สัญญาก็ดี ความจำความหมายรู้ สิ่งนั้นรู้อันนั้นอันนี้ก็ดี มันอยู่เพียงผิวเผิน ท่านก็เข้าใจได้ ท่านก็ยกขึ้นมาหาไตรลักษณ์หมด 

สังขารการปรุงแต่งทั้งดี และทั้งไม่ดีก็ดี อยู่โลกนี้โลกหน้าทางไหน ไปอยู่ทางใดก็ดี ห่างไกลแค่ไหน สังขารอยู่ที่ใด ท่านก็ทำความเข้าใจในสังขารนั้น แม้จะไปเห็นอยู่ที่ใดก็ดี สัมผัสอยู่ที่ใดทั้งเย็นร้อนอ่อนแข็งที่ใดๆก็ตาม ทุกข์สุขอยู่ที่ไหนก็ตาม อันนี้การสัมผัสในสังขาร การปรุงแต่งขึ้นภายในจิตว่ามันยึดเหนี่ยวอยู่ตลอด มันปรุงอยู่ตลอด เกิดๆดับๆอยู่อย่างนี้เป็นธรรมดาสังขารการปรุงแต่ง ทั้งปรุงทั้งทุกข์ ปรุงทั้งสุข ปรุงทั้งดีทั้งชั่ว คิดดูๆทุกวันนี้มันปรุงอยู่อย่างนี้มันก็ยังไม่พ้น ทำอย่างไรเราจะใช้สติปัญญาให้รู้ว่านี่มันเป็นไตรลักษณ์ลงได้อย่างแท้จริง 

บัดนี้วิญญาณเครื่องหมายรู้ รู้แนบแน่นยึดมั่นถือมั่น เห็นมั้ยบางคน เวลามันโกรธ มันโกรธอยู่สองปีสามปีก็ดี ยึดบางสิ่งบางอย่าง ยึดเหนียวแน่น ทั้งดีและทั้งไม่ดี มันยึดเหนียวแน่นอยู่ มันยึดทางดีก็มีความสุข ยังเบาไปหน่อย แต่มันก็ติด ยึดทางไม่ดีมันทำให้จิตใจเศร้าหมอง ท่านจึงว่าเป็นกิเลสทั้งสองอย่างอยู่นั่นเอง นี่แหละมันหลงเป็นธรรมดา เรียกว่าวิญญาณเครื่องหมายรู้ มันหมายเหนียวแน่นจริงๆ ท่านจึงเรียกว่าอนุสัย เรียกว่ากิเลสเป็นยางอยู่ การยึดนั่นเรียกว่าเหมือนกับยางคือกิเลส เหนียวแน่นอยู่ภายในใจของเรา ก็เลยทำให้ใจเรานี่หลงไปตามวิญญาณ มันหลอกลวงให้หลงก็ตามมัน มันยึด มันพายึดไว้ มันพาเกาะไว้ เกี่ยวไว้ เราก็เลยยังไม่พ้นจากวัฏสงสารไป จึงได้มาเกิดอีกอย่างนี้แหละ 

แม้จะเป็นหญิงเป็นชายก็ดี ก็มาด้วยความดี ก็เลยเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ยังโชคดีหน่อย ดีกว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย โชคดียังไงมาเกิดเป็นมนุษย์ โชคดีได้พบพระพุทธศาสนาก็โชคดีอีก โชคดีที่มีพระผู้มีพระภาคเจ้ามาตรัสขึ้นในโลกก็โชคดี โชคดีอีกกึ่งหนึ่งยังมีครูบาอาจารย์นักปราชญ์ทั้งหลาย บวชสืบๆมา นำคำสอนของพระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาเอาไว้ มาแจกจ่ายแบ่งปันให้พวกเราท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟัง โชคดีเหลือเกินพวกเราท่านทั้งหลาย ควรที่ของที่มีอยู่ ควรจะปลุกตนเองให้ตื่นขึ้น ทำคุณงามความดีเพื่อจะให้เข้าใจในสิ่งนี้ 

หากทุกคนได้มีสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนี้แน่นอนแล้ว นั่นแหละจิตของเราจึงจะได้ว่าง ว่างตรงนี้ว่างสุดท้ายเราตรงการความว่างสุดท้าย ว่างไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ไม่ว่าเป็นตนเป็นตัวนั้นจะทำกันอย่างไร มันจึงจะว่าง มันก็ต้องเรียนเป็นผู้มีสติปัญญาว่องไวเฉลียวฉลาดสอนจิตของตนเองให้รู้โทษของเหล่านี้จึงปล่อยวางได้ ท่านจึงบอกว่า การบุคคลใดที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ในขันธ์ ๕ ในอุปาทานขันธ์ จิตบุคคลนั้นแลจะหลุดพ้นไป เข้าสู่เมืองนฤพานได้ อันทุกคนมีความปรารถนา อยากไปเมืองนิพพานกับองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เราต้องการความว่างอันสุดท้ายนั้นเอง 

เหตุฉะนั้นหละ การเล่าเรื่องจิตว่างนั้นมันมีอยู่ ๓ ว่าง มันจะว่างอะไร ว่างทำกิจการงานด้วยจิตว่างอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ง่ายๆ มันว่างชั่วครู่ชั่วคราว ว่างอยู่ในความสงบ มันก็ว่างเป็นตอน ว่างอยู่ในฌาณ ว่างที่มันรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตาเห็นอยู่ก็ว่าง นอนอยู่ก็ว่าง ยืนอยู่ก็ว่าง เดินไปไหนก็ว่าง นั่งอยู่ก็ว่าง ว่างเพราะผู้นั้นเป็นผู้มีสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะธรรมทั้งหลาย ตั้งอยู่ในโลกนี้เรียกว่าธรรมฐิติ ธรรมนิยามสภาวะธรรม โลกนี้ตั้งอยู่อย่างนี้เองแล้วก็ดับไปตามสภาวะ โลกนี้ย่อมนิยมเป็นอยู่อย่างนี้เอง โลกนี้มีความร้อนความหนาว มีความเกิด ความแก่ ความตายอยู่อย่างนี้เป็นธรรมชาติของโลก เรียกว่าเรียนโลกให้เข้าใจ โลกนี้เป็นด้วยสภาวะธรรม เป็นธรรมดาของเค้า เราเกิดมามันก็เป็นอยู่อย่างนี้ เราไม่เกิดมันก็เป็นอยู่อย่างนี้ แม้เราเฒ่าแก่ตายไปมันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ เรียกว่าสภาวะธรรม 

ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ให้จิตรู้แจ้งเห็นจริงอย่างนี้ ด้วยเป็นผู้มีมหาสติ มหาปัญญา สอนจิตของตนเองให้ถอดถอนออกจากสิ่งเหล่านี้ แล้วก็จะว่างได้ ว่างตรงนี้ซิ ว่างมันจะสุขอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน เรียกว่าจิตว่างด้วยเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ปัญญาสมบูรณ์ เรียกว่าจิตผ่องใส จิตรู้เห็นตามความเป็นจริง เหตุฉะนั้นพวกเราท่านทั้งหลายเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ขอจงจดจำนำเอาข้อธรรมนี้ไปประพฤติปฏิบัติฝึกหัดตนเอง ด้วยเป็นผู้มีสติปัญญาตามกำลังความสามารถแล้วก็ขอให้อำนาจของกุศลจงอำนวยอวยพรให้ผลแก่คณะศรัทธาทุกคนได้เป็นผู้มีสติปัญญาแก่กล้าด้วยอำนาจบุญทั้งหลายนั้น ให้ทุกคนมีปัญญายกตนให้ว่างพ้นจากวัฏสงสารไป เข้าสู่เมืองนฤพานเป็นเมืองที่ว่างเปล่าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นอะไร ได้รับแต่ความสุขเป็นฝ่ายเดียว ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ฉะนั้นก็ขอให้พากันทุกคนทำจิตสงบสักนิดหน่อย หมดเวลาก็ตาม และจึงค่อยๆออก