Skip to content

แสวงบุญละบาป

หลวงพ่อชา สุภัทโท

| PDF | YouTube | AnyFlip |

เอ้า ญาติโยมทั้งหลายให้นั่งตามสบายนะ เออ เคารพทางกายเราก็เคารพมาแล้ว ต่อนี้ไปก็วางมือตามสบายเลย นั่งสมาธิเลย นั่งสมาธิ วันนี้การแสดงธรรมวันนี้จงพากันตั้งใจพาใจให้อยู่ในความสงบทุกคน วันนี้เป็นวาระที่สุดท้ายของเราแล้วนะ เหลือเท่านี้แหละ เหลือแต่ฟังเทศน์เท่านี้ แล้วก็ขอขอบคุณที่ญาติโยมทั้งหลายที่ได้อุตส่าห์พยายามมา ก็มีคุณอาคมเป็นหัวหน้ามาทุกปี เป็นหัวหน้าที่มาที่นำญาติพี่น้องมาชมในป่านี้ แต่จุดประสงค์นั้นก็มีอยู่ว่า จะพยายามกันมาทำบุญ ทุกเวลาทุกครั้ง มาก็มาทำบุญกัน ไม่ใช่จะมาเล่น อาตมาเห็นประโยชน์นี้ เรียกว่ามาทำบุญกัน มาเอาบุญกัน มาเอาบุญกัน เป็นผู้ที่รู้จักบุญ มาเอาบุญมันถึงได้บุญ 

วันนี้ก็พากันได้บุญแล้ว ตั้งใจมาเคารพคารวะพระเจ้าพระสงฆ์ในป่า เป็นเอก ก็ คุณอาคมผู้อำนวยการสั่ง เป็นประธานมาทุกครั้งเพื่อจะมาสมทบสร้างพระอุโบสถในวัดหนองป่าพง ซึ่งเป็นพระอุโบสถที่แปลกเค้า แต่ว่ามันไม่สวยไม่งามหรอก แต่ว่ามันแปลกเค้า ตัวเค้าเองก็ไม่คือใคร ใครก็ไม่คือเค้า อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดมาโดยวิธีอะไรก็ไม่รู้ หรือว่าจะเป็นเพราะเหตุการณ์อะไรต่างๆก็ไม่รู้ วัดป่าพงที่มีพระเมืองนอกมาอยู่เยอะเลย ผสมผเสกันเข้า มาสร้างโบสถ์ขึ้นมาก็แปรไปอย่างอื่นซะ อันนี้เป็นจุดสำคัญของพุทธศาสนา เป็นมูลฐานที่จะสร้างพระขึ้นในพระอุโบสถ ทุกคน กุลบุตร กุลธิดาเราทั้งหลายนั้นน่ะ จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานี้ จะต้องอาศัยอุโบสถ โรงอุโบสถที่เรียกว่าเสมา 

อันคนไทยเราทั้งหลายทั่วประเทศ ทั่วอาณาจักรไทย มีความรู้สึกว่าได้กระทำบุญ ได้สร้างโบสถ์นี้ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มา ก็ดีอกดีใจนึกว่าได้บุญ เพราะว่าเราทุกคนนับถือพุทธศาสนาอยู่แล้ว ก็เรียกว่าสร้างวัตถุส่วนหนึ่งไว้ สมมุติเป็นวัตถุส่วนหนึ่งที่เป็นรากฐาน กุลบุตร กุลธิดาทั้งหลายอยากจะมาบวช อยากจะมาอุปสมบทตรงนี้ก็ง่าย สบาย เป็นของสาธารณประโยชน์ ใครมีศรัทธา มีความปรารถนาจะมาอุปสมบทในที่นี่ ไม่มีเรื่องจะขัดขวางอะไร ยินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บวชในวัดป่าพงเนี่ย อาตมาเลยทำให้มันง่ายขึ้น ให้มันง่ายขึ้น คือใครอยากจะสร้างกองบวชก็เอาปัจจัยมา จบแล้วจบอีกแล้วก็ว่า ข้าพเจ้าขอจะสร้างกองบวชเท่านี้ก็เป็นกองบวชแล้ว ส่วนที่จะบวชเป็นพระเป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ อาตมาอยากจะบวชไวๆมันซะ ไม่ต้องแห่ ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากมายเลย ง่าย ง่ายที่สุด โดยมากอาตมาบวชไม่ค่อยบอกใครด้วย สองทุ่มสามทุ่มก็นิมนต์พระบวชกันเงียบๆอย่างเนี้ย บวชให้มีความบริสุทธิ์ ไอ้บวชมันไม่สำคัญหรอก มันสำคัญที่บวชมาแล้ว 

ดังนั้นให้เข้าใจทุกคนว่าชาวญาติโยมในพระนครหลวงมาวันนี้ ก็นึกว่ามาสร้างวัตถุอันหนึ่งซึ่งเป็นรากฐานของพุทธศาสนานั้น ได้บุญ ทำแล้วก็ได้บุญ เมื่อจะมาก็มีบุญ เมื่อมาถึงแล้วก็มีบุญ เมื่อทำไปแล้วก็มีบุญ คือใจสบาย ใจดี ใจปลอดโปร่ง ไม่สงสัย พรรณนาถึงการให้ทานนี้ มันได้บุญ ถ้าเราเอาของให้คน สงเคราะห์คน ช่วยคน ทำแล้วก็ดีใจ บุญที่เราเห็นง่ายๆ ถ้าเราไปขโมยของเค้ามานั้นได้บาป ไม่สบายใจ ต่างกัน เมื่อคิดจะทำก็เป็นบาป เมื่อทำอยู่ก็เป็นบาป เมื่อทำไปแล้วก็เป็นบาป คือมันเดือดร้อนไม่สบายใจนั่นเอง เรียกว่าบาป 

อันนี้การกระทำบุญวันนี้ วันนี้เรียกว่าการกระทำบุญกัน คนรู้จักบุญจึงทำบุญ จึงได้บุญ คนไม่รู้จักบาป ละบาปไม่ได้ ก็ได้ความว่าพวกชาวนครหลวงนั้นเป็นผู้มีหูดี ตาดีในสมัยนี้ สมัยก่อนตั้งแต่ออกปฏิบัติใหม่ๆ กรรมฐานอยู่ในป่าตั้งแต่พระอาจารย์มั่นเป็นหัวหน้ามาแล้วน่ะ ไม่ค่อยมีใครเข้ามาในป่า ไม่รู้จักอยู่ในป่า ถึงบัดนี้พวกชาวนครหลวงเราเข้าป่ากัน เข้าป่ากัน ป่าเนี่ยมันเป็นเหตุอันหนึ่งเช่นญาติโยมมาวัดป่าพงวันเนี้ย เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้ยินสิ่งที่ไม่เคยได้ยิน แปลกหูแปลกตา เห็นมั้ยใบไม้น่ะ มันเรี่ยราดอยู่ในวัด เราเห็นมั้ย ในกรุงเทพมีหรือเปล่าก็ไม่รู้ เรามาเดินในป่า จิตเรามันก็แปลก พอมาอยู่ในป่าเห็นสภาพต่างๆมันเปลี่ยนไปๆนั้น จิตเราก็เปลี่ยนไปด้วย สถานที่ในป่านี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าของเรานั้นอุบัติเกิดขึ้นมา แล้วตรัสรู้ก็ในป่า แสดงธรรมจักรเป็นไปก็ในป่า นิพพานก็ในป่า ป่านี้เป็นสถานที่ทางพุทธบริษัทเราทั้งหลายคือตามมาตั้งแต่พุทธกาลมาแล้ว 

บัดนี้ฉะนั้นวันนี้ขอโยมทุกๆคนจงให้มีความดีอกดีใจว่าเราได้มาทำบุญกัน มันเป็นบุญ โดยมากทุกวันนี้คนทำบุญไม่ค่อยรู้จักบุญกัน ทำเพื่อความสนุก ทำเพื่อความสนาน หาว่ามันได้สนุกสนาน ได้รื่นเริงบันเทิงใจแล้ว ก็เรียกว่าบุญ บุญนี้ไม่ใช่อย่างนั้น บุญนี้เมื่อการกระทำที่ถูกต้อง มันถึงเกิดบุญเกิดกุศล ดีก็ดีที่ถูกต้อง การกระทำก็ทำที่ถูกต้อง ดีที่ไม่ถูกต้องมันก็เป็นโทษ ไม่ใช่การกระทำบุญ ดีที่ไม่ถูกต้องมันเกิดโทษ ดีที่ถูกต้องเป็นดีที่ปราศจากโทษ เป็นดีในพุทธศาสนา มิฉะนั้นการกระทำบุญก็ได้บุญแล้ว บัดนี้อาตมาจะอธิบายธรรมะให้ฟังต่อไป ให้สร้างกุศล บุญมันก็เป็นอย่างหนึ่ง กุศลมันก็เป็นอย่างหนึ่ง เรารวมเรียกกันว่าบุญกุศล บุญนี้มันมีความสงบในวงแคบ บุญนี้ มันมีความสงบในวงแคบ มันมีประโยชน์อยู่ก็จริงแต่อยู่ในวงอันแคบ โดยมากคนทำบุญก็มุ่งบุญเท่านั้นแหละ คือหาสิ่งที่ชอบใจ หาสิ่งที่สบายใจ ไอ้ความสบายใจนี้ มันผิดแต่เราชอบอยู่ แต่เราทำแล้วเราก็สบายใจ อันนั้นมันก็ไม่ใช่บุญแล้ว ฉะนั้นถ้ารวมเรียกชื่อว่าบุญกุศลนี้ ให้สาธุชนเราทั้งหลายนั่นน่ะ ให้ทำควบกันไป 

กุศลนั้นคือฉลาด บุญเกิดจากศรัทธา บุญเกิดจากศรัทธา กุศลเกิดจากความฉลาดคือปัญญา เรียกว่าบุญกุศล ทั้งเราหาความฉลาด ทั้งเรามีบุญ คนไม่รู้จักบุญ ทำบุญก็พบแต่บาป คนไม่รู้จักบาปก็เห็นบาปนั้นเป็นบุญ คนไม่รู้จักผิดก็เห็นผิดนั้นเป็นถูก มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นทุกๆคนจะทำบุญถึงบุญจริงๆน่ะน้อยเหลือเกิน เอาไปทิ้งอย่างอื่นเสียมาก สิ่งที่เป็นบุญน่ะนิดเดียว แล้วไม่รู้จักด้วย แต่เอาชื่อของบุญน่ะไปป้ายเข้าไปว่าเป็นบุญ อันนี้มันก็ลำบากอยู่เหมือนกันแหละ เราเป็นพุทธบริษัท ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เป็นผู้มีศรัทธาน้อมความเชื่อความเข้าใจในพุทธศาสนานี้ จงเป็นผู้ฉลาดในการกระทำ เมื่อเป็นคนฉลาด รู้จักผิดจักถูกนี่แหละ มันมีความสงบอย่างที่หวังเลยทีเดียว บุญคือความสุข กุศลคือความฉลาด ถ้าพวกเราทุกๆคนจะประกอบกิจการงานอันใดก็ตาม ถ้าปราศจากปัญญาแล้ว การงานอันนั้นไม่สัมฤทธิ์ประโยชน์ หรือสัมฤทธิ์ก็ไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ เพราะปราศจากปัญญา การกระทำบุญนี่ก็เหมือนกันฉันนั้น เป็นผู้มีศรัทธาแล้ว ศรัทธานั้นต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ก็เป็นศรัทธาที่โง่ เป็นศรัทธาที่ปราศจากปัญญา เป็นศรัทธาที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของพุทธศาสนา โดยมากเป็นอย่างนั้น เมื่อปัญญาเกิดเป็นบุญ บุญเป็นเหตุให้เกิดกุศล มีความฉลาดในการกระทำ รับรองในการพูด ในการกระทำ ในการคิดของเจ้าของให้รู้จัก 

ดังนั้นวันนี้เป็นวันที่พวกญาติโยมทั้งหลายชาวพระนครมาทำบุญกัน มุ่งมาทำบุญกัน มุ่งมาสร้างกุศลขึ้นมาในจิตใจของเจ้าของ ทำไมเราถึงทำบุญกัน ทำไมท่านจึงให้ทำบุญ ทำไมท่านจึงให้มีความฉลาด เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นน่ะซึ่งเราประกอบมาในบ้านของเรา ในเมืองของเรา สิ่งที่เราเกิดมานี้มันเป็นวิบาก กรรมเก่าที่เราสร้างไว้ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่พร้อมมานี้มันเป็นวิบากคือกรรมเก่า เช่นพวกเราทุกๆคนนั้นน่ะ เราจะเห็นกันได้ง่ายๆ ทำไมไม่เหมือนกัน ทำไมมีความสุขทุกข์ไม่เหมือนกัน เพราะอะไร นี้เราจะสังเกตได้ง่ายๆ เราก็เป็นคนเหมือนกัน มีตาเหมือนกัน มีหูเหมือนกัน มีสภาวะร่างกายเหมือนกัน ทำไมมีความสุขต่างกัน มีความทุกข์ต่างกันนี่เพราะอะไร ใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนแต่ง เราจะเห็นได้ง่ายๆเท่านี้แหละ จะไปดูที่อื่นก็ไม่เห็นด้วย ดูที่ตัวเรา ให้ดูที่จิตใจของเจ้าของเนี้ย มันจะเห็น 

ฉะนั้นบรรพบุรุษท่านเคยกล่าวว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจนี้ ถ้าฟังเผินๆเราก็ไม่รู้เรื่อง ถ้าหากว่าเรามาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงแล้วว่า ญาติโยมเราทุกคนเคยมีความสุขมั้ย เราเคยมีความทุกข์มั้ย เคยมีทุกคน อาตมาตอบก่อนเลยว่าเคยทุกข์ เคยสุขมาแล้ว มันสุขอยู่ที่ตรงไหน เคยเห็นที่มันอยู่มั้ย ใครเป็นคนสุข เราเคยมีความทุกข์มั้ย นั่นมันทุกข์อยู่ที่ไหน ใครเป็นคนทุกข์ สองอย่างนี้มันเกิดที่ไหน มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ต้นไม้เหรอ อยู่ที่ยอดไม้ อยู่ที่อากาศเหรอ อยู่ในแม่น้ำเหรอ มันทุกข์ที่แม่น้ำเหรอ หรือต้นไม้เหรอ อยู่ที่อากาศ เปล่าทั้งนั้นแหละ มันสุขขึ้นที่ใจเรานี่เอง เมื่อทุกข์มันก็ทุกข์ขึ้นที่ใจเรานี่เอง มันไม่ได้เกิดอยู่ที่ไหน ดังนั้นโบราณาจารย์ท่านกล่าวว่า สวรรค์ในอก นรกในใจนี่ถูกแล้ว ไม่ใช่พูดเล่นๆนะ

คำที่ว่าสวรรค์อันนี้เป็นภาษาคำพูดของคน คำที่ว่าสวรรค์นี่คือความสุข สัคคะ คืออารมณ์อันเลิศ อารมณ์ที่พอใจ เลยมีความสุข แล้วอารมณ์ที่พอใจที่มีความสุขนี่ก็ไม่แน่นอนนะ ยังไม่เป็นธรรมะ ถ้าไม่มีความฉลาดแล้ว มันก็ไปยึดเอาของผิดๆนั่นน่ะมาเป็นถูกด้วย ของเป็นโทษถือว่าของสนุกสุขสบายอย่างนี้เป็นต้น อันนี้เรียกว่ามันมีความสุข สุขจริงแต่ไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ตามธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าของเรา สุขเพราะมันพอใจเรา สุขเพราะมันได้ตามปรารถนาของเราเท่านี้เอง อันนี้ไม่เป็นประมาณ เป็นประมาณในหลักพุทธศาสนาว่าสุขนั้นถูกต้องมั้ย มันมีความสบายและถูกต้องมั้ย มันมีความดีและมันถูกต้องมั้ย เบียดเบียนตนมั้ย เบียดเบียนคนอื่นมั้ย 

ถ้าเราพูดตามหลักปรมัตถ์แล้ว เราจะรู้จักว่า เราจะเห็นตัวบุญ เราจะเห็นตัวบาปอยู่ที่ใจของเรา เพราะมันเกิดที่นั่น มิฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจะให้ฝึกจิต ฝึกจิตที่มันหลงนี่ให้มันรู้จัก ไอ้ทุกวันนี่น่ะ บางคนน่ะไม่รู้จักนรก มันตกนรกหมกไหม้กันทั้งวันและทั้งกลางคืนก็ไม่รู้เรื่องว่ามันตกนรก นรกก็คือสถานที่ที่มันเป็นทุกข์ เมื่อคนไปทำแล้วมันเป็นทุกข์ สัตว์นรกก็คือคนผู้ทุกข์ คือบุคคลที่ไปทำผิดนั่นแหละ สถานที่ทำผิดนั้นก็คือนรก ผู้ไปตกนรกก็คือผู้ไปทำผิดน่ะ ก็ทุกข์ อันนั้นท่านเรียกว่าตกนรกทั้งเป็นแต่เราก็รู้ว่ามันเป็นทุกข์เฉยๆ เมื่อพูดถึงนรก เราก็ชี้ไปที่พื้นปฐพีโน่นแน่ะ เมื่อพูดถึงสวรรค์ก็ชี้ขึ้นไปบนอากาศนั่นแน่ะ ไม่รู้จักว่าใจของเรามันเป็นสุข ไม่รู้จักว่าใจเรามันเป็นทุกข์ ปราชญ์ที่ท่านกล่าวว่าจะมีปัญญามากทีเดียวว่า สวรรค์ในอก นรกในใจนี้ พวกเราทั้งหลายนั้นควรมาแต่งใจ แต่งใจของเราเนี้ย รักษาจิตของเราเนี้ย 

จิตของเราเนี้ยมันเหมือนเด็กๆ เด็กน้อยๆไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ภาษาอะไร จะปล่อยไปเล่นมัน ไปพบไฟมันก็ตะครุบไฟ ไปพบอะไรมันก็ตะครุบอันนั้นแหละ อย่างนั้นก็เหมือนกัน จิตที่ไม่ได้ฝึกก็เป็นอย่างนั้น จิตที่ไม่ได้ฝึกก็เป็นอย่างนั้น เหมือนเด็กที่ไม่รู้เดียงสา ไม่รู้เรื่องอะไร ไปพบน้ำก็ตะครุบน้ำ ไปพบไฟก็ตะครุบไฟ นี่ มันก็เกิดโทษอยู่เรื่อยไม่ได้ขาดเลยทีเดียว จิตอันนั้นจิตไม่ได้ฝึก จะเอาใครมาฝึกมันเล่า เหมือนเด็กในบ้านเรา เหมือนกับลูกเราน่ะ จะเอาใครมารักษามันเล่า เราก็ต้องถามว่าเด็กมันเกิดมาจากไหน ลูกของใคร ถามมันไปซะว่าลูกใคร พ่อแม่มันอยู่ที่ไหน ก็พ่อแม่มันต้องตามดูลูก พ่อแม่ก็ต้องรักษาลูก ใครเป็นพ่อ ใครเป็นแม่ก็ต้องรักษาเด็กคนนี้ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น พ่อแม่ก็ผู้รู้ทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาตามรักษาจิตของตน ผู้ใดตามรักษาจิตของตน ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร นั่น ใครตามรักษาจิต ก็ให้เรารู้จักผู้รู้ทั้งหลาย 

จิตของเรานี้ท่านจึงให้ภาวนาพุทโธๆ เป็นต้น เพื่อเรียกจิตเราเข้ามา ให้ดูลมหายใจให้เป็นอารมณ์อันเดียว เมื่อเรามีสติจดจ่ออยู่ในที่อันเดียว เราก็เห็นจิตเราเข้ามา ถ้าเราไม่ลืมพุทโธ มันก็เห็นจิตเราตลอดกาลตลอดเวลา นี้แต่วิธีฝึกจิต ฉะนั้นจิตที่ไม่ฝึกนี้ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ก็ยังไม่เป็นคน ถึงเป็นคน ก็เป็นคนที่ไม่รู้ เป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ ถึงเป็นพุทธบริษัท แสดงตัวเป็นพุทธบริษัทก็ยังไม่เป็นพุทธบริษัทที่สมบูรณ์ ฉะนั้นเรื่องที่สุดนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านให้ฝึกจิต จิตอันนี้มันอยู่ที่ไหน จิตนี้มันคืออะไร จิตนี้มันคืออะไร จะว่ามันไม่มีหรือ มันก็มีอยู่ แต่เราไม่เห็นด้วยตาของเรา มันมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดกาลตลอดเวลานี้ นี้เป็นของมีอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องของมันอยู่อย่างเนี้ย 

ฉะนั้นพวกเราทุกคนมีกาย แล้วก็มีวาจา แล้วก็มีใจ พร้อมทั้งสามประการนี้ แม้จะเดินไปที่ไหนก็ตามกันไป จะนั่งอยู่ที่ไหน ก็ไปด้วยกันทั้งนั้นน่ะ นั่งด้วยกัน นอนด้วยกัน ไปด้วยกันทั้งนั้นน่ะ สามประการนี้ กาย วาจา จิตนี้ ฉะนั้นเมื่อเราอยากจะประพฤติปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธเจ้าของเรานั้น จะปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติที่ตรงไหน ทำที่ตรงไหนเล่า ว่าตัวในเรานี้ ตัวเรานี้มันมีอะไรมั่ง มีมั้ย อะไรบ้าง มันมีมั้ย มันมาทำชั่วหรือทำผิดเป็นสุขทุกข์นั่น ใครทำมัน เกิดมาจากไหน ใครเป็นคนรับมา ผลที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไร มีกาย มีวาจา ใจ สามสถานนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติ เป็นสถานที่ฝึกจิตของเจ้าของ ให้รู้ให้เห็นตามเป็นจริง 

ถ้ามีความรู้ความเป็นจริงด้วยกาย วาจา จิตของเรานี่แล้ว ไอ้ความต้านทานอารมณ์ต่างๆซึ่งมันเกิดขึ้นมาภายในจิตก็ดี จรมาก็ดี แล้วก็รู้เรื่องของอารมณ์ทั้งหลายตามความเป็นจริง โดยมากคนเราไม่ค่อยดูตัวของตัว ไม่ค่อยดูตัวของตัว ไม่ค่อยสังวรณ์และไม่ค่อยสำรวมกาย วาจา ใจของเจ้าของนี้ การประพฤติปฏิบัตินี้มันจึงเป็นหมัน มันจึงเกิดขึ้นไม่ได้ มันถึงไม่เป็นคนโดยสมบูรณ์ เพราะมันมีการบกพร่อง คุณสมบัติของมนุษย์ทั้งหลายนั้นก็อยู่ที่กาย วาจา จิตของเจ้าของนี่เอง 

ที่พวกเราทั้งหลายนั้นได้สมาทานกันบ่อยๆซึ่งศีล ๕ ประการ หรือศีล ๘ ประการนี้ แล้วผลที่สุดท่านก็บอกอานิสงส์ให้ว่า สีเล นะ สุคะติง ยันติ สีเล นะ โภคะสัมปะทา สีเล นะ นิพพุงติงยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย ทุกครั้ง เมื่อสมาทานแล้ว บอกเลย บอกอานิสงส์ของศีล ศีลนั้นแหละมีความสุข ศีลนั่นคือพ้นจากความผิด ไม่พูดผิด ไม่ทำผิด คนไม่ทำความผิดมันก็เย็นใจ เย็นกายเย็นใจ จะนั่งก็เป็นสุข จะนอนก็เป็นสุข จะไปที่ไหนมันก็เป็นสุข ท่านจึงเรียกว่า สีเล นะ สุคะติงยันติ มันเป็นสุข เพราะจิตนี้มันปราศจากโทษ จิตไม่มีโทษ ไม่เดือดร้อน มันก็เป็นสุข 

สีเล นะ โภคะสัมปะทา บุคคลผู้มีศีลนั้นเป็นโภคะ โภคะภายนอกก็คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มาเลี้ยงชีพ เป็นสัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะหามาได้ทางสัมมาอาชีวะแม้ถึงน้อย มันก็มาก มันมากเพราะว่ามันมีคุณค่า มันเป็นสัมมาอาชีวะ ท่านจึงจัดเป็นโภคะสัมปะทา ถึงพร้อมด้วยโภคะ อย่างเพชรนิลจินดาของพวกเรานั้นน่ะ ก้อนนิดเดียวก็มีราคามาก เพราะมันปราศจากสิ่งที่ไม่มีราคา ไอ้สิ่งทั้งหลายที่เรามาเลี้ยงชีวิตของเรานั้นมันปราศจากสิ่งที่เป็นโทษแล้ว มันก็เป็นราคา เป็นโภคะ แม้โภคะภายในมันก็ยังเป็นสมบัติด้วย จักขุสมบัติ โสตะสมบัติ ฆานะสมบัติ ชิวหาสมบัติ แต่ละอย่างนี้มันก็เป็นสมบัติทั้งนั้นน่ะ เป็นสมบัติที่สมบูรณ์ ไม่พิการ ร่างกายไม่พิการ ตาไม่พิการ หูไม่พิการ จมูกไม่พิการ ทุกสิ่งทุกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว นั่นเรียก โภคะสัมปะทา ถึงพร้อมด้วยโภคะอันนั้น 

สีเล นะ นิพพุติงยันติ เมื่อเรามีความสุข เมื่อเรามีโภคะ ความเยือกเย็นก็เกิดขึ้นมาในที่นั่น เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมะจะไปนิพพาน มันก็เป็นรากฐานที่มั่นคง เป็นรากฐานที่ดี อันนี้เป็นอานิสงส์ เป็นสมบัติ เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ พูดง่ายๆเลยว่าผู้มีศีล ๕ ประจำตัวอยู่แล้ว ให้เข้าใจเถิดว่า พวกท่านทั้งหลายนั้นมีคุณสมบัติมนุษย์สมบูรณ์แล้ว ถ้าหากว่ายังไม่มีศีล ๕ ประจำตัว ประจำใจของเจ้าของแล้วนั่นน่ะ ก็ให้เข้าใจเถิดว่าคุณสมบัติของมนุษย์ไม่สมบูรณ์ ยังไม่สมบูรณ์ที่จะเป็นมนุษย์ อันนี้เข้าใจง่ายๆเลยทีเดียว 

มิฉะนั้นสิ่งทั้งสามอย่างนี้ มันจึงเป็นอานิสงส์ของผู้ที่รักษาศีล ผู้ที่พร้อมแล้วด้วยกายก็ดี พร้อมด้วยวาจาก็ดี พร้อมด้วยใจก็ดี เตรียมตัวได้แล้ว จะไปพระนิพพานก็ได้ มีโอกาสแล้ว หูได้ยินแล้ว ตาเห็นได้ จมูกก็ใช้ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมแล้ว จะไปได้ ดังนั้นพวกเราๆท่านทั้งหลายในวันนี้ ก็เป็นผู้มาประพฤติปฏิบัติสร้างกุศลผลทานอันนี้เพื่อให้สมบูรณ์ที่จะเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์สมบัติ สมบัติของมนุษย์ ใจก็เป็นสมบัติของมนุษย์ กายก็เป็นสมบัติของมนุษย์ ตา หู จมูก ลิ้นก็เป็นสมบัติของมนุษย์พร้อมกัน ไม่ใช่ว่ากายเป็นสมบัติของมนุษย์ ใจเป็นอย่างหนึ่ง กายเป็นอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้น อันนั้นมันไม่สามัคคีกัน ไม่สมบูรณ์จะเป็นมนุษย์ได้ ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัตินี้ มันจึงเนื่องอยู่ในจิตเจ้าของนี้นั่นเองแหละเป็นต้น อย่างวันนี้ได้กระทำบุญครบ ให้ทาน เป็นทานมัยก็มี ศีลมัยก็มี ภาวนามัยก็มี ทั้งสามประการนี้พร้อม 

ฉะนั้นในส่วนกาย ส่วนวาจาในตัวของเรานี้ ของดีมีอยู่ในนี้ อย่าไปมองที่อื่นเลย อยู่ในที่นี้เอง ที่กายกับจิตของเรานี้ ฉะนั้นหลักการประพฤติปฏิบัตินี้ ท่านจึงให้มีการปฏิบัติ ทำไมถึงปฏิบัติ ก็เพราะว่า เราเกิดมานั้นน่ะ ไม่มีอะไรมามาก เห็นมั้ย เกิดมาไม่ค่อยมีอะไรมาก มีร่างกายเรานี้หละมา บุญบาปมันอยู่ที่ไหน สะพายมามั้ย ไม่เห็น ไม่เห็น ผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี เกิดมามีร่างกายเท่านั้นแหละ กางเกงก็ไม่เคยมี เสื้อก็ไม่เคยมี ผ้าห่มก็ไม่เคยมี มาแต่ร่างกายเท่านั้นแหละ เปลือยกายมา แสดงว่าของในโลกอันเนี้ย เราจะเก็บไปสู่โลกหน้าด้วยมือของเราไม่ได้ ฉะนั้นเด็กๆมาเกิดมันถึงไม่ได้ถืออะไรมา แต่ว่ามันรวมไว้ มันรวมไว้ที่อื่น มันรวมไว้ที่จิต 

จะยกตัวอย่างให้เห็นว่า เม็ดมะม่วง เมล็ดลำไยนะ เป็นต้น ถ้ามันเป็นเมล็ดอยู่นะ เราจะพิจารณาดูหาต้นมันไม่มี ดอกมันก็ไม่มี เมล็ดมะม่วงน่ะ มันก็เป็นสิ่งที่ละเอียดอันหนึ่งเท่านั้นแหละ อยู่ในนั้นแหละ อันนี้ก็เหมือนกันฉันใด ถึงแม้ว่าบุคคลไม่ได้ถืออะไรมาก็ตาม ไม่ได้แบกหามอะไรมาก็ตาม เมื่อธรรมะธาตุมันแก่กล้าขึ้นมาแล้วนะ มันเป็น มันเป็นของมัน มันจะมีปัญญามันก็เป็นของมัน มันจะไม่มีปัญญามันก็เป็นของมัน มันจะเป็นคนจนมันก็เป็นของมัน มันจะเป็นคนรวยมันก็เป็นของมัน เพราะว่าอันนั้นมันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่ เหมือนเม็ดมะม่วงนั่นแหละ ต้นมะม่วงก็อยู่ในเม็ดมะม่วง ใบมะม่วงก็อยู่ในเมล็ดมะม่วง กิ่งก็อยู่ในเมล็ดมะม่วง แต่ยังไม่แสดงออกมา ไม่มีไม่รู้ มันไม่รู้จัก มันไม่รู้จัก เมื่อหากว่าเราเอาไปเพาะลงในดิน ได้กินอาหาร ตามธรรมชาติของเมล็ดผลต้นไม้ มันจะเกิดเป็นลำต้นขึ้นมา มันจะเกิดเป็นใบขึ้นมา มันจะโตขึ้นมา มันจะเป็นเหมือนต้นมะม่วงธรรมดาของเรานี่เอง อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น 

ฉะนั้นพระพุทธองค์ท่านจึงสอนว่าการกระทำกรรมนี้แหละ กรรมนี่เป็นผู้แจกหรือเป็นผู้แบกให้ดีชั่วต่างๆกัน ไม่มีอะไรแล้ว คือการกระทำของเรานี้ มิฉะนั้น เห็นเรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของแปรเปลี่ยน ไม่คงเส้นคงวา ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วเราก็จากมันไป ถ้าเราไม่จากมันไป มันก็จากเราไป เป็นของไม่แน่นอน เป็นของไม่ยั่งยืน มิฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ให้หลง เมื่อจนก็อย่าลืมจน เมื่อรวยก็อย่าลืมรวย ทั้งรวยทั้งจนนี่แหละ เราจะหนีจากมันทั้งนั้นแหละ หาได้มาก เราก็ทิ้งไว้มาก หาไว้น้อย เราก็ทิ้งไว้น้อย ดังนั้นเราจึงเก็บเอาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มาสร้างประโยชน์ให้อยู่ในเจตนาของเจ้าของในดวงวิญญาณของเรานี้ 

เมื่อจิตในดวงวิญญาณของเรานี้ถึงแม้ว่ามันจะเปลือยกายมาเกิดก็ตามทีมันเหอะ มันยังมีเหตุ มันยังมีปัจจัยอยู่ มันมีอยู่ อันนี้ท่านเรียกว่ากรรมวิบากมันยังมีอยู่ ฉะนั้นการกระทำบุญ การกระทำกุศลของเรานี้เราจะมองเห็นบุญได้ง่ายๆ เห็นกุศลได้ง่ายๆ ทำชั่วเห็นบาปได้ง่ายๆ ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป บางคนว่าทำบุญน่ะ ได้เงินมาถึงจะได้บุญ ไม่ได้เงินมันไม่ได้บุญหรอก อย่างนี้เป็นต้น ไอ้ความเป็นจริงการกระทำบุญ มันเจตนาที่ทำ เมื่อไหร่ เมื่อนึกขึ้นมามันดีแล้ว มันเป็นบุญแล้ว ต้นก็เป็นบุญ เมื่อการกระทำอยู่ก็เป็นบุญ ทำเสร็จแล้วมันก็เป็นบุญ 

มิฉะนั้นพวกญาติโยมเราทั้งหลายวันนี้ ให้เป็นผู้รู้จักบุญ จงเป็นผู้รู้จักบาป ทำบาปก็ให้รู้จักว่าเป็นบาป ทำบุญให้รู้จักว่าบุญ อันนั้นคือมีอกุศล มีกุศลแล้วจึงฉลาดเช่นนั้น กุสโลผู้ฉลาด ไอ้ความฉลาดนั้นเองเป็นต้น จะทำกิจการอันใดเป็นต้นก็เรียบร้อยด้วยความฉลาด ฉะนั้นจึงเป็นการกระทำบุญเพราะเรื่องทั้งหลายเหล่านี้น่ะ พระพุทธเจ้าเห็นว่ามันเป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่แน่นอน ส่วนลึกก็จริง แต่ท่านพูดง่ายๆ ท่านเรียกว่าร่างกายของเรานี้ไม่ใช่ตัวของเรา หรือสิ่งของอันนี้ไม่ใช่ของเรา ตัวนี้ก็ไม่ใช่ตัวของเราดังนี้ พูดเช่นนี้ก็เป็นความจริง มันเป็นความจริง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันจัดว่ามี ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้นแหละ อย่าไปไว้ใจมันเลย เมื่อจะเป็นเมื่อไรมันก็เป็นไปได้ หูเราดีอยู่ มันจะหนวกเมื่อไหร่ก็ได้ ตาเราดีอยู่ มันจะบอดเมื่อไหร่ก็ได้ อวัยวะร่างกายเราแข็งแรง มันจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บมาเมื่อใดก็ได้ มิฉะนั้นไม่น่าไว้ใจมันเลย 

พวกเรา ใครมีอะไรก็สร้างเสีย สร้างคุณงามความดี สร้างแต่เมื่อมีชีวิตอยู่นี่แหละ มันดีมากที่สุดเลยทีเดียว บางคนก็คิดว่าตายสร้างบุญ ตายจึงทำบุญกัน ให้ลูกหลานทำบุญซะเมื่อตายเป็นต้น เมื่อมีชีวิตอยู่ไม่รู้จักบุญเลย ไม่รู้จักกุศล ไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักถูก คนไม่รู้จักบุญมันจะเอาบุญได้ยังไง คนไม่รู้จักบาปนั้นจะละบาปไปไม่ได้ เช่นนี้เป็นต้น คนรู้จักบุญ เอาบุญได้ คนรู้จักบาป ละบาปไปได้ อันนี้เรียกว่ากุศลธรรมเกิดขึ้นมาแล้ว เกิดความฉลาดขึ้นแล้ว 

ฉะนั้นบรรดาพวกญาติโยมเราทั้งหลายมาวันนี้ก็จงเป็นผู้ตั้งอกตั้งใจได้กระทำบุญแล้วในวันนี้ ให้เป็นผู้มีบุญ เดินไปก็ให้เป็นผู้มีบุญ นั่งอยู่ก็เป็นผู้มีบุญ นอนอยู่ก็ให้เป็นผู้มีบุญ คือให้มีความสุขกายสบายใจ ให้รู้ตามความเป็นจริงของมันเสีย สิ่งทั้งสองอย่างนี้ ก็คือมีกายมีใจสองอย่างเท่านี้แหละ ไม่มีอื่นไกลแล้ว ทุกคนก็เอามาด้วย กลับไปกรุงเทพก็เอากลับไปด้วย มันอยู่ด้วยกันทั้งนั้นแหละ มีของดีทั้งนั้นอยู่ที่กายที่ใจของเรานี้ อย่าไปมัวหาที่อื่นเลย ที่คำสอน ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้มันถูกแล้ว มันถูกแล้ว 

มิฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลายซึ่งเป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีปัญญา มากระทำการกุศล ณ วันนี้ จงเป็นผู้มีวาสนาบารมี ในการกระทำของพวกท่านทั้งหลาย ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ด้วยอำนาจของการกระทำนี้ ด้วยอำนาจของคุณพระศรีรัตนตรัยซึ่งอุตส่าห์พยายามมาถึงวัดหนองป่าพงเนี้ย และวาระที่สุดก็ได้ฟังธรรม ต่อนี้ไปก็ได้จากวัดป่าพงไป ขอบุญกุศลอันนี้บารมีอันนี้จึงคุ้มครองท่านทั้งหลายทุกๆท่าน จงเป็นผู้ไม่มีภัยไม่มีอันตรายในการเดินทางกลับไปกลับมา ด้วยอำนาจของคุณพระศรีรัตนตรัยนี้จงปกปักษ์รักษาพวกท่านทั้งหลายนี้ จงมีความสุข จงมีความสบาย จงเป็นผู้มีความรุ่งเรืองถาวรในกิจการของพวกท่านทั้งหลายทุกๆท่านเทอญ