หลวงพ่อชา สุภัทโท
ตอนนี้เป็นตอนเฉพาะพุทธบริษัทฝ่ายพระเราซึ่งเป็นพระเก่าและพระใหม่ในสถานที่ต่างๆปะปนกัน เป็นท้ายของการฟังปาฏิโมกข์เสร็จแล้วจะได้รับโอวาทพอสมควรแล้วก็เหนือนอกนี้ไปเป็นเวลากลางคืน จะมีทายกทายิกาทั้งหลาย ข้าราชการ พวก ส.อ.ๆทั้งหลายก็จะได้มารวมกัน ฉะนั้นเราจึงถือโอกาสประชุมกันโดยเฉพาะกับเวลา เฉพาะพระเรา
ในเวลานี้ทุกปีสมัยก่อนวัดหนองป่าพงนี้มีสาขาน้อย วันมาฆะบูชา วันวิสาขะบูชา นัดหมายกันมารวมที่นี่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ต้องมาที่นี่ สาขาทั้งหลายทั้งปวงนั้นต้องมารวมที่นี่ทั้งหมดทั้งพระภิกษุ สามเณร และญาติโยม ดังนั้นจึงรู้สึกว่ามีพระภิกษุสามเณร มีญาติโยมมามาก มารวมกันในสถานที่นี้ ต่อมา ต่อมาจำเนียรกาลที่ต่อมานั้น สาขาเรายื่นออกไปหลายแห่งแล้วก็มีพระภิกษุหลาย มีทายก ทายิกามากขึ้น มิฉะนั้นผมจึงเห็นว่า การทำมาฆะบูชาก็ดี การทำวิสาขะบูชาก็ดีนั้นเป็นส่วนรวมกัน ถ้าหากว่าเรามารวมที่นี้ก็เห็นความลำบากกับภิกษุ สามเณร ทายก ทายิกาทั้งหลายผู้ที่อยู่ห่างไกล ยานพาหนะไปมาก็ลำบาก จึงได้ขออนุโลมให้สาขาทั้งหลายซึ่งที่ตั้งตัวดีแล้ว ปกครองกันได้พอสมควรจะมีบริษัทบริวารมาก ให้อยู่เป็นเอกเทศ ให้ทำส่วนตัว หมายความว่าให้ทำมาฆะหรือวิสาขะบูชาเฉพาะตัวเองในสำนักนั้น นอกนั้นไปจะมีพระซักองค์หนึ่งเข้ามาแทรกในศูนย์นี้พอดีเพื่อจะรู้ว่าอะไรมันเป็นอะไรที่เราได้ประชุมกันปีหนึ่งๆนั้น ก็จะดีมาก ไม่มีองค์หนึ่งหรือสององค์มารวม ก็ได้ฟังอะไรต่ออะไรจากการที่ประชุมใหญ่ๆเนี้ย เพื่อจะได้รู้เรื่องอะไรต่างๆนี้ให้
ดังนั้นวันนี้ ภิกษุบริษัทก็น้อย ทายก ทายิกาซึ่งเป็นบริษัทนั้นก็น้อยลง แต่ว่ามันก็ยังเหลืออยู่ มันมากอยู่ คือหมายความว่ามันแยกการประชุมกัน ไม่ได้ประชุมแห่งเดียว ฉะนั้นใครมีความอุตสาหะ อยากจะได้รู้ อยากจะได้เห็น อยากจะได้ยินอะไรต่างๆจากที่การประชุมใหญ่ในศูนย์กลางนี้ ก็จัดในสาขาทั้งหลายเหล่านั้นมา สาขาหลักวงศ์ก็ได้ ผมได้อนุญาตให้ ส่วนพระภิกษุ สามเณร ส่วนทายก ทายิกาทั้งหลายนั้นก็ให้อยู่เป็นปกติก็ดี หรือใครอยากจะจรมาที่นี่ก็ได้ ไม่ได้ห้าม นี่คือให้ความสะดวก ให้ความสบายกับสาขาทั้งหลาย ดังนั้นทุกปีสาขาที่มารวมกันที่นี่ จะมีพระหลายร้อย มีโยมตั้งหลายร้อย ปีนี้หรือปีที่ต่อๆมาก็น้อยลง คืออนุโลมให้ทำมาฆะบูชาหรือวิสาขะบูชาตามลำพัง ดังนั้นถึงน้อยลง
ธรรมดามาฆะบูชาหรือวิสาขะบูชานั้น พระภิกษุสามเณรเรา ทายก ทายิกาทั้งหลายมาร่วมฟังธรรมกัน เวียนเทียนกันตอนย่ำค่ำ แล้วก็เวียนเทียน เสร็จแล้วก็สวดมนต์ทำวัตรฟังธรรมกัน โดยถือเป็นเนสัชชิกธุดงค์ เนสัชชิกธุดงค์ก็หมายความว่าไม่มีใครหลับนอนกัน ทั้งทายก ทายิกาทั้งหลาย ทั้งพระภิกษุสามเณรทั้งหลายนั้น พยายามนั่งกันตลอดคืน แล้วก็มีการฟังธรรมกันพอสมควร สมัยก่อนมีพระอาจารย์หลายองค์ก็มาเทศน์ การเทศน์มันก็สว่างเหมือนกัน ก็เรียกว่าหมายความว่าฟังธรรมกันตลอดคืน นั่งเนสัชชิกกัน ธุดงควัตรกันตลอดคืน อันนี้เป็นหลักการและวิชาการที่ทำมาในวัดหนองป่าพงนี้
ทุกวันนี้มันแยกกันออกไป ก็ไม่รู้ว่าใครจะทำกันแค่ไหนไม่รู้ เฉพาะวัดหนองป่าพง ต่อมาก็มีการอะไร…คล้ายๆว่ามีการเสื่อม คือไม่ได้นั่งตลอดคืน และไม่ได้ฟังธรรมตลอดคืนอันนี้ แล้วมันเสื่อมก็มันจะเป็นเหตุสองประการ หนึ่ง ส่วนตัวผมเองนะ มันอายุไขมันแก่แล้ว นั่งไม่ไหว ประมาณหกทุ่มหรือตีหนึ่งก็พักนะ ลูกศิษย์ทั้งหลายก็แก่ตามผมไปเหมือนกัน ผมแก่ ลูกศิษย์ก็แก่ไป พระแก่ แล้วเณรก็แก่ พระแก่ เณรแก่ ญาติโยมก็เลยแก่กันไป ตามๆกันไป เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้นะ ที่มันตั้งตัวไม่ได้ โดยมากก็ต้องเป็นอย่างนี้ อันนี้มันก็เป็นของจำเป็นของมันเอง อันนี้ก็แล้วแต่บุคคลที่จะมีปัญญา คล้ายๆที่ว่าท่านสอนเรา เราก็ฟัง ฟังแล้ว เราก็เอาไปสอนตัวเราอีก อย่างนี้เป็นต้น มันจะเป็นการดี เป็นผู้มีปัญญา
สมัยก่อนที่ผมนั่งอยู่ตรงนั้นน่ะ ถ้าผมไม่ลุก พระเณรก็ไม่ลุกอ่ะ อยู่นั่นแหละ ตายมันตายอยู่นั่นน่ะ ข้อวัตรอันนี้บังคับไปในตัว ทุกวันนี่ มันไม่สบายมาแล้ว บางทีผมเลิกไปซะ ห้าทุ่ม หกทุ่ม ตีหนึ่งเลิกไป ไฟก็ติด แล้วก็ปล่อยให้พระ ให้เณรและญาติโยมนั้นอยู่ ไปพักอยู่ซักชั่วโมงหนึ่ง ผมออกมามองๆดูอีก หมดเหมือนกัน หมด พระก็ไปหมด เณรก็ไปหมด ญาติโยมก็นอนกันเลย ผมก็ออกมายืนดู โอ้ อันนี้มันก็ดีเหมือนกันนะ อันนี้เรียกว่ามันเป็นเหตุอย่างนี้ ไม่รู้มันเป็นไงนะ
ดังนั้นพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว มันก็อาจจะเสื่อมลงได้ พ่อแม่เราเสียไปยังตระกูลของเราไว้ได้ยาก ครูบาอาจารย์ที่เสียไปแล้วน่ะ โดยมากสานุศิษย์รักษาสถานที่ รักษาข้อปฏิบัติไว้ได้น้อย ก็เพราะมันเป็นอย่างนี้เอง จะปรับปรุงยังไงก็ไม่ได้ ลำบากเหมือนกัน ถ้าปรับปรุงก็คงต้องเอาคนแก่มานั่งตลอดคืนอย่างเก่านะ ไอ้เราก็ไปไม่ไหวเหมือนกันนะ จำเป็นเมื่อมันเป็นอย่างนี้อีก ฉะนั้นโดยมากลูกศิษย์กับอาจารย์ก็คอยจะทำตามอาจารย์อย่างเนี้ย ค่อยๆจะทำตามอาจารย์ ไม่ให้เกินไป คล้ายว่าผู้ที่นั่งตามอาจารย์อย่างนี้ ชอบอยากจะเป็นอย่างนั้น โดยมากชอบ พ่อแม่เหมือนกัน มีพ่อแม่อยู่เราก็ทำงาน ทำหน้าที่การงานที่บ้าน หรือครูบาอาจารย์อยู่ เราก็ทำงานสม่ำเสมอ โดยมากถ้าพ่อแม่เราจากไป ครูบาอาจารย์เราจากกันแล้ว ชอบอยากจะเปลี่ยนแปลง ชอบอยากจะเปลี่ยนแปลงกัน โดยมากก็ชอบอยากจะแยกทางกัน พูดไม่ลงคอกัน ลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ก็จำเป็นต้องแยกกัน เป็นอย่างนี้ ไอ้ใครที่ตั้งอยู่เนี่ยก็แยกไปที่อื่น ไปตั้งใหม่ ทำให้ดีขึ้น มันก็ดีขึ้นได้อย่างนี้นี่เป็นต้น
ถ้าอยู่รวมๆก็ต่างคนต่างเห็น นี่เพราะอะไร เพราะขาดการเคารพคารวะต่อพระพุทธเจ้านั่นเองเป็นต้น ไม่สมกับนักปฏิบัติของเราว่าบวชมาทำไม ปฏิบัติไปทำไม เมื่อโลภมันเกิดขึ้นมาก็วิ่งไปตามมันเสีย เมื่อโกรธมันเกิดขึ้นมาก็วิ่งไปตามมันเสีย เมื่อหลงมันเกิดขึ้นมา มันจึงมีโลภมีโกรธ ก็วิ่งไปตามมันเสียอย่างนี้เป็นต้น มันก็เป็นไปได้ยาก ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครถึงแก่นของธรรมะที่แท้จริง ธรรมะที่แท้จริงนั้นมันก็เป็นของจริงนั่นเองน่ะ มันไม่วิ่งไปตามอะไรๆทั้งนั้นหละ ถ้ามันถึงจุดอันนี้ มันก็เป็นระเบียบสูงสุด เป็นระเบียบที่ดีสูงสุด เฉพาะเป็นธรรมะ ถ้ายังไม่ถึงธรรมะก็เป็นอย่างนั้นน่ะ แข่งกันไปแข่งกันมาอยู่อย่างนั้น อันนี้มันก็เป็นของยาก มันเป็นของลำบากอยู่เหมือนกัน
ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมะ อันนี้ถ่ายทอดออกมาจากครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็ถ่ายทอดมาจากครูบาอาจารย์อย่างนี้ มันถ่ายทอดกันมาเรื่อยๆๆๆมา ไอ้ความจริงมันอยู่ที่ตรงไหน ไอ้ความจริงมันไม่อยู่กับใคร มันอยู่ที่ความจริงของมันนั่นเอง ถ้าเรานับถือครูบาอาจารย์ ก็นับถือไม่ถึงธรรมะ ถ้าเห็นครูบาอาจารย์ก็กลัว จึงทำหน้าที่ของเจ้าของให้แข็งแรงขึ้น นี่เพราะอะไร เพราะนับถือครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์เลิกหนีแล้ว หน้าที่การงานก็หย่อนลงไป ผมก็ชอบจะเป็นอย่างนี้อยู่ ไม่รู้พวกท่านเป็นยังไง มันต้องเป็นอย่างนี้ ชอบแต่เป็นอย่างนี้ อยู่กับเพื่อนฝูงทั้งหลายโดยมาก ทำอะไรไม่ค่อยเต็มมือ ไม่ค่อยเต็มมือและไม่ค่อยเต็มใจ ไม่เต็มตามความสำคัญของตนเองอย่างนี้ คล้ายๆกับที่ว่าเราไปเป็นคนงานในโรงงานแห่งหนึ่งเสีย เอ้า ไปมัดกอให้เขาเสีย หรือไปรับจ้างอะไรอย่างหนึ่งเค้าซะ โรงงานเป็นบริษัท เราไปทำงานเอาเงินของบริษัทอย่างนี้เป็นต้น แล้วคิดอย่างนี้เป็นต้น ไม่เต็มใจเท่าไหร่ ไปทำน่ะเพราะมันได้เงิน ถ้าบริษัทเผลอไปหน่อยก็หย่อน เมื่อนั้นก็เลยวุ่น มันชอบเป็นอย่างเนี้ย ฉะนั้นมันไม่ถึงธรรมะ
อะไรทุกอย่างทุกสิ่งก็เหมือนกัน ตัวอาศัยครูบาอาจารย์เป็นอยู่อย่างนี้มันเป็นนับถือขั้นนึง เราจะถามว่าเมื่อไรพวกเราจะถึงธรรมะ เช่นว่ามันเป็นพูดตามธรรมะ ทางธรรมของพระพุทธเจ้า ทำไมใจเรามันถึงจะน้อมไป โสตะ ก็น้อมไปแล้ว โสตะปฏิปัณโณ หรือว่าโสดาบันซะ ตกกระแส เป็นผู้ตกกระแส จิตนี้มันตกกระแสแล้ว เป็นผู้ไม่กลับ ถึงว่ามันจะโกรธ มันก็ไม่กลับ ไปตามความโกรธ มันจะโลภ มันก็ไม่ตามความโลภ คือมันรู้ความโกรธหรือความโลภนั้นอย่างแท้จริงแล้ว แต่ว่ามันรู้ธรรมและมันก็เห็นธรรมด้วย แต่มันยังไม่เป็นธรรม เห็นโลภมันไม่ดี บางทีโลภก็จะมาอยู่ บางทีก็ยังไปปฏิบัติตามอยู่ มันรู้ธรรมแต่มันก็เห็นธรรมอยู่ แต่ว่ายังไม่เป็นธรรม จิตยังไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นฝึกธรรมะไม่ได้ เห็นธรรมะก็ได้ แต่ไม่เป็น…เป็นธรรมะไม่ได้ เรียนธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม ปฏิบัติธรรมได้ แต่รู้ว่าจะเป็นธรรมนี่มันยากเหมือนกันนะ
รู้ว่าที่จะเป็นธรรมมันเรื่องของบุคคลแต่ละคนมันรู้เห็นเอง ที่จะแก้ไขมันไปได้ เช่นว่ามันโกหกไม่ได้ มันโกหกไม่ได้ เช่นผมเคยเล่าให้ท่านฟังว่า ถ้า พูดถึงธรรมะหละโกหกไม่ได้ ขโมยไม่ได้ ที่เราโกหกคนได้นี่ โกหกคนอื่น ไม่ให้คนอื่นเค้ารู้ ไม่ให้คนรู้ว่างั้นน่ะ จะทำความผิดมาให้คนรู้ไม่มี มันมีแต่บุคคลที่ไม่รู้เรื่อง เราทุกคนจะไปอยู่ในน้ำก็ดี บนอากาศก็ดี อยู่ในทุ่งก็ดี อยู่ในป่าก็ดี อยู่คนเดียวก็ดี หลายคนก็ดี จะไปทำความผิดไม่ให้คนรู้น่ะไม่มี ไม่มี นี่เรียกว่ามันตกกระแสแล้ว จะไปทำความผิดเนี่ย ไม่ให้คนรู้เนี่ยไม่มีทั้งนั้นน่ะ แต่ว่าคนที่ยังไม่ตกกระแสนั่นมีน่ะ ไปแอบทำอยู่คนเดียวก็ได้ ไม่ให้คนรู้ นี่คือมันดูถูกเจ้าของอยู่ มันไม่เห็นธรรมะ ใครเห็นธรรมะ จะไปโกหกใคร ไปโกหกคนทุกคนไม่ได้ จะไปทำอะไรผิดถูกที่ไหนไม่ได้ โกหกไม่เป็น เช่นว่าบัดนี้เราจะโกหกเพื่อนในวัดเราเนี่ย หรือโกหกข้อวัตรที่ครูบาอาจารย์สอน ไม่ต้องทำมัน เป็นต้น เพื่อนก็ไม่เห็น ครูบาอาจารย์ก็ไม่เห็น แต่เราไปหาเลือกสถานที่ทำ ไม่ให้คนเห็นเรา คำที่ว่าคนเห็นเราคือครูบาอาจารย์ก็ไม่อยู่ที่นั่น เพื่อนก็ไม่อยู่ที่นั่น ใครก็ไม่อยู่นั่น เรียกว่าเรากลัวธรรม ทำแบบนี้นึกว่าคนไม่เห็นเรา ถ้าเราย้อนกลับมาถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นก็ ธรรมอยู่ตรงนั้นแหละ คนเห็น ใครหละเห็น ตัวเรานั่นแหละคือคน คนหนึ่ง
ฉะนั้นธรรมะนี้พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกมันเป็นของแจ้ง เป็นโอกาสที่มนุษย์ทั้งหลายที่ตกกระแสแล้วจะต้องเห็นตน เมื่อเห็นตนก็เห็นธรรมะ เมื่อเห็นธรรมะก็ต้องเห็นตน เมื่อต้องเห็นตนก็ต้องเห็นธรรมะ เมื่อเห็นธรรมะก็เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าก็ต้องเห็นธรรมะ คนๆนี้คือคนที่ตกกระแสแล้ว โกหกไม่ได้ ไปอยู่ที่ทุ่งนาก็ตาม ในป่าก็ดี คนน้อยก็ดี คนมากก็ดี ถ้าเราอยู่ที่ไหน มันก็มีคนที่นั่น จะทำอะไรนั้นไม่มีที่คนจะไม่รู้ไม่มี จะต้องรู้ ถ้าบุคคลคิดว่าไปทำที่คนไม่มีนั้น คนนั้นก็ไปทำความผิด คนนั้นก็ดูถูกตัวเอง ถ้าเราชี้ว่าไอ้ตัวเรานี้ไม่เป็นคนหรืออย่างนี้ ตัวเราไม่เป็นคนหรืออย่างนี้ เราก็จะมีความเสียหาย เราบกพร่องว่าคนไม่มี ไอ้คนไม่มีเราก็ดูถูกเรา งั้นเราก็ไม่เป็นคนเว้ย
มันผิดความหมายที่พระพุทธเจ้าน่ะ สิขีภูโต เอาตนเองเป็นพยานของตน ถ้าเอาตนเองเป็นพยานของตนแล้วนะ มันจะโกหกพกลมไม่ได้ จะปฏิบัติตรงไปตรงมาเสมอ เหมือนกันกับเราเข็มทิศอันหนึ่งที่ชี้ไปตามทิศใต้ทิศเหนืออยู่ เราเข้าไปในป่า ถือเข็มทิศเข้าไปในป่านั้นน่ะ เข็มทิศเนี่ยมันจะชี้ทิศใต้ทิศเหนืออยู่ แต่เข้าไปในวันหนึ่ง เราเปิดดู อ้าว ทิศใต้มันเป็นทิศตะวันตกเสียแล้ว ทิศเหนือมันเป็นตะวันออกเสียแล้ว อันนี้มันรู้ว่ามันเป็นความคิดของเรา คิดผิด แต่เข็มทิศน่ะมันชี้ไปทางทิศเหนือทิศใต้ตลอดเวลา แต่เราเข้าใจว่ามันไปดูเข็มทิศ มันไปทิศตะวันตก มันไปทิศตะวันออก มันรู้ แต่มันรู้อย่างนี้ก็ตามมัน แต่ว่ามันเป็นเรื่องความคิดของเรา เนี่ยเราจะละลายมันได้ เป็นความรู้สึกของเรา เราจะละลายมันได้ ถ้าความจริงของเข็มทิศมันจะชี้ไปทิศใต้ทิศเหนือตลอดเวลา เรารู้สึกว่ามันไปทางตะวันตก ตะวันออกนี่มันเป็นความผิดของเรา มันเป็นความรู้สึกของเรา มันผิดเท่านี้ เช่นนี้เป็นต้น
ไอ้ความผิดทั้งหลายนั้น ที่มันมีอยู่นั้น มนุษย์ทั้งหลายก็ยังอยากจะเอาความผิดอยู่ แต่ไม่ชอบความผิด แต่อยากจะทำผิด อยากจะทำผิด นี่ แต่ความผิดนั้นผลมันเกิดมา ไม่ชอบ ชอบแต่ว่าอยากจะทำผิด แต่ไม่ให้มันผิด นี่ อยากจะทำไม่ถูก แต่จะให้มันถูก ผลเกิดมาจะให้มันถูกอย่างนี้ อันนี้มันเป็นมิจฉาทิฐิ มันเป็นมิจฉานี่ มันธรรมะมาเกิดมาจากเหตุจากปัจจัยของมัน ไม่ใช่มันเกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ใช่ว่ามันเกิดขึ้นมาเฉยๆ ความผิดถูกดีชั่วทั้งหลายนี้ มันเกิดมาจากเหตุ เหตุถูกมันก็ถูก เหตุผิดมันก็ผิดอย่างนี้ เราอยากจะไปตัดเหตุอย่างนั้นมันไม่ได้ เราอยากทำอย่างนี้แต่เหตุไม่มี เหตุไม่ดี แต่ใจเราอยากจะให้มันดี เช่นว่าทำงานนิดเดียวแต่อยากจะได้มากๆอย่างนั้น อยากไปมรรคผลนิพพาน แต่ความเพียรไม่อยากจะทำอย่างนี้เป็นต้น ทางโลก เค้าอยากจะมีเงินมีทอง แต่ไม่อยากจะทำงาน อยากมีความรู้ แต่ไม่อยากจะเรียน อยากสอบได้ แต่ไม่อยากจะดูหนังสือ เห็นมั้ยทุกวันเนี้ย เมื่อจะสอบ ไปหาหลวงพ่อรดน้ำมนต์ ดูสิ รดทำไมน้ำมนต์เนี่ย รดอยากจะให้มันสอบได้ มันไม่ใช่สอบได้ที่รดน้ำมนต์ตรงนี้ มันต้องขยันหมั่นเพียรเรียนหนังสือ อย่างนั้น เค้าก็ว่าช่วยกัน หลวงพ่อก็ช่วย เช่นนี้เป็นต้น แต่ว่ามันก็อยากจะเป็นอย่างนั้น มันอยากจะให้เป็นอย่างนั้น แต่ว่าการกระทำเช่นนี้มันได้ผล มันได้ตรงความมันมีกำลังใจเท่านั้นแหละ ตามภาษาของคนนั้นไม่ถึงธรรมะ อย่างนี้มันก็เป็นอย่างหนึ่งอีก
อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น การประพฤติธรรมการปฏิบัติธรรมะนี้มันต้องมีเหตุ มันต้องมีผล จะปราศจากเหตุไม่ได้ ฉะนั้นผู้ตรงต่อธรรมะแล้ว จึงเป็นผู้หมดปัญหา แก้ปัญหา ตัดปัญหา ไม่สงสัยปัญหาในที่นี้ จะไม่มีอะไรมาต่อสู้มันกับปัญหาอันนี้ ก็ตัวอย่างเช่นว่าไอ้เข็มทิศมันตรงทิศใต้ทิศเหนือ แต่เรามาดูบางครั้งเข้าไปในป่าหละ ไอ้ทิศเหนือทิศใต้มันเป็นทิศตะวันตกตะวันออกซะแล้ว นี่ เพราะความหลงของเรานั่นเอง ไม่ได้เป็นที่เข็มทิศ ไอ้ความตรงไปตรงมานั้นมันเป็นอยู่อย่างนั้นเป็นต้น มันไม่ไปที่ไหน นั่นเรียกว่าสัจธรรมคือความจริง ฉะนั้นการปฏิบัติในธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วท่านจึงว่ามันไม่ผิด ทำไม่ผิด เหตุมันไม่ผิด ท่านบอกว่าสัมมาทิฐิคือความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิความเห็นผิด อันนี้เป็นต้น เป็นราก เป็นตัวประธานใหญ่มันทั้งนั้นแหละ
พระพุทธเจ้าน่ะ ทางมีสองอย่างเท่าเนี้ย สัมมาทิฐิคือความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิคือความเห็นผิด สองอย่างเท่านี้ แต่เมื่อมันเป็นมาแล้ว มันไม่รู้จักมิจฉาทิฐิ ไม่รู้จักสัมมาทิฐินะ มันเป็นมิจฉาทิฐิมันก็ไม่รู้นะ มันไม่รู้มิจฉาทิฐิ มันก็เห็นว่ามันดี เห็นว่ามันถูกอย่างนั้นแหละ มันจึงถกจึงเถียงกันตลอดกาลตลอดเวลา ถ้าความเป็นจริงแล้วธรรมะที่แท้จริงน่ะ ไม่ใช่เป็นบทเรียนอะไรมากมายอ้ะ มันเป็นข้อปฏิบัติซึ่งมันมีอยู่แล้ว คือของมันมีอยู่แล้ว เรามากระทำปฏิบัติให้มันรู้ ให้มันเห็นตามที่นี้เท่านั้นแหละ
ไอ้ที่เราเป็นบทเรียนต่างๆก็คือ เราจะต้องคิดอย่างนี้ จะต้องทำอย่างนี้ มันจึงตรงไปที่นั้น เท่านั้นหละ เป็นเรื่องอันนึงอีกต่างหาก ถ้าเป็นเรื่องของมันเช่นมะม่วง มะม่วงต้นเนี้ย ทุกอย่างมันเป็นของมันอยู่แล้ว มันจะเปรี้ยว มันจะหวาน มันจะเล็ก มันจะโต มีอยู่ทุกอย่างในนั้นแหละ ถ้าเรามาศึกษาในมะม่วงต้นนั้น หรือในมะม่วงผลนั้น หรือผลไม้อันนั้นน่ะ ไอ้ความเป็นจริงเรียกว่า ศึกษาในที่นั้น มันก็รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงซึ่งมันมีอยู่ในที่นั่นหมดทุกอย่าง
ฉะนั้นการภาวนาของพวกพุทธบริษัททั้งหลายมันก็ต่างกัน บางคนมันต้องเรียน มันต้องเรียน ถ้าไม่เรียนไม่รู้ คำที่ว่าไม่เรียนนั่นก็เรียนเหมือนกันนั่นเองแหละ ทำไมไม่เรียนน่ะ เรียนเหมือนกัน คือเรียนด้วยการปฏิบัติไปตามกาล มันมีเรียนอยู่สองอย่าง เรียน ก ไก่ ข ไข่ แล้วก็เรียนไปตามแบบตามวิธีการของมัน ถ้าเราไม่เรียน เราก็ดูกำเนิดสิ ที่มันเกิดความเป็นอยู่มันนี่ เช่นว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจเนี่ย ไอ้ธรรมชาติของมันมันเป็นของไม่แน่นอนอยู่แล้ว มันเป็นของไม่เที่ยงอยู่แล้ว มันเป็นของไม่สวยงามอยู่แล้ว มันเป็นของไม่สะอาดอยู่แล้วอย่างนี้เป็นต้น ถ้าเรามาเรียนเราก็ยกขึ้นมา ถ้าไม่เรียน มันก็ไม่รู้ ถึงเรียนว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ไม่สวยไม่งาม มันก็ยังงามอยู่นั่นแหละ ไม่รู้อะไรปิดบังของมันอยู่ มันเป็นของมันอยู่อย่างเนี้ย
ไอ้ความเป็นจริงน่ะมันมีอยู่แล้ว ลักษณะขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลมเนี่ย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเนี่ย มันเกิดแล้วมันก็ดับไป มันเกิดแล้วก็ดับไป เกิดมันก็แค่นั้นเอง มันมีอยู่เท่านั้น เรื่องที่ไม่สะอาด เรื่องที่มันไม่แน่นอน เรื่องที่มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง มันเต็มอยู่ในนั้น เต็มอยู่ในนั้นอยู่แล้ว ถ้าเราไปว่า รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญานัง อนิจจัง เราก็รู้สูตรมันว่า รูปัง อนิจจัง เมื่อถึงคราวรูปมันเป็นอนิจจังจริงๆ ไม่รู้ เมื่อรู้สิ มันเจ็บปวดขัดยอกกันมา มันเสียใจแล้ว แหม มันเป็นอะไรตรงนี้นะ นั่นคืออนิจจัง แต่เรามาเรียนว่า รูปัง อนิจจัง มันรู้เพราะการเรียน มันเรียนที่ว่าสภาวะรูปมันเป็นอย่างนั้น จริงๆน่ะมันไม่ชัด เรียนรู้ว่ารูปังอนิจจัง เวทนาอนิจจา สัญญาอนิจจา สังขาราอนิจจา วิญญาณังอนัจจัง เรียกว่าสูตรมันน่ะ มันเป็นไปอย่างนั้นเรื่องเนี้ย แต่เราเอาสูตรมาเรียน เรียนไปเรียนได้แต่สูตรมา ได้สวดให้เพราะไปเลยนะ ดูไปแล้วก็คล่องกับการสวด เออเพราะ สวดถูกๆมีจังหวะกันดี ลืมไปซะ บางทีพูดถึงตับ ไต ไส้ พุง ไส้น้อย ไส้ใหญ่อะไร บางทีก็นึกอยากด้วย นึกไปถึงตับไก่ ไตไก่ ตับหมู ไตหมู ไปโน่น มันไปกันซะอย่างนั้นซะ มันนานเข้าจริงๆนะ แต่ว่าความจริงของมันมีหมดแล้วอยู่ในนั้นน่ะ ไม่ต้องไปขยายขนาดนั้น ที่อยู่ของมัน สัณฐานมัน มันมีหมดแล้ว
ฉะนั้นในทางธรรมะท่านจึงว่าภาวนา การมานั่งภาวนา เห็นตัวจริงมั้ยเนี่ย นั่งภาวนาดูซิ ภาวนาคือทำให้เกิดขึ้น ถ้าศัพท์ ทำให้มันมีขึ้น อะไรมันไม่เกิดขึ้น ทำอันนั้นให้มันเกิดขึ้น อะไรไม่มี ทำให้มันมีขึ้น อันเนี้ย การกระทำในหลักพุทธศาสนานี้ ก็มาทำกาย วาจา ให้บริสุทธิ์เสียก่อน ซึ่งจะเรียกว่าศีลเนี่ย พูดง่ายๆ ถ้ากาย วาจา เรามันบริสุทธิ์นะ มันก็สงบเท่านั้นแหละ มันก็เป็นสมาธิ แน่ะ นี่พูดมันง่ายนะ มันง่าย พูดมันง่ายๆ เมื่อสมาธิมันคือความสงบ ทำไมมันถึงสงบ ก็เราไม่ไปขโมยของเขานี่ เราก็รู้สึกว่าเราสบายนี่ เจ้าหน้าที่ตามจับกันอยู่ เราก็สบาย เราไม่ได้ขโมยเขานี่ คล้ายๆว่าเราสงบ เรามีกาย มีวาจา ไม่ฟั่นเฟือน จิตใจเราก็สงบ เมื่อใจเราสงบก็ไม่มีอะไรมีปัญหา จิตใจเราก็ยังความสงบ อะไรเกิดขึ้นมาก็รู้ เสียงอะไรมาก็รู้ รูปอะไรมาก็รู้ มันได้มีใจพิจารณารู้เรื่องของมันนี้ มันเป็นอาการอย่างนี้ มันรวมกันอยู่ ท่านจึงเรียกว่าศีล เรียกว่า สมาธิ ท่านจึงเรียกว่าปัญญา
ทีนี้มาถึงมาเรียน นี่ผมจะเล่าให้ฟังเรื่องผมไปเรียนมานะ จะไปทำจิตให้เป็นสมาธินี่ต้องมีครูนะ ต้องมีครู สมัยก่อนมีครูนะ มีเทียน มีดอกไม้ มีอะไรต่างๆ ไปขึ้นครูว่างั้นนะ แล้วก็ไปท่องเอา ไปเรียน และขอนมัสการ ขออ้อนวอน ขอให้เป็นอย่างนั้น ขอให้เป็นอย่างนี้ สมาธิไม่มีก็ขอให้มี ศีลไม่บริสุทธิ์ก็ขอให้ศีลบริสุทธิ์ ต้องเชิญสมาธิเข้ามาตั้งอยู่ในใจของเรา นี่ผมก็เรียนมาเหมือนกัน เรียนแล้วก็สวด สวดหมดนะ เชิญขุททกาปีติ ขณิกาปีติ ผรณาปีติ ปีติสมาธิเชิญมาซะก่อน นั่ง ไม่เห็นมันเข้ามาซักที มันเดือดร้อน ก็มาคิด เอ๊…อันนี้มันไม่ใช่เรื่องละมั้ง ถ้าไปเชิญศีลเข้ามาได้อย่างนั้น ถ้าไปเชิญสมาธิเข้ามาได้อย่างนั้น มันก็ง่ายนี่ อันนี้มันไม่ใช่เรื่อง มันเรื่องเรากับธรรมก็ให้มันเป็นจริงๆอย่างนี้ ความคิดไอ้ที่มันเกิดขึ้นมา ก็เอาอันนั้นทิ้งไป เอานี้ทิ้งไป สารพัดอย่างนี้
ฉะนั้นการปฏิบัตินี้มันจึง บางคนก็เห็นได้ง่ายๆ บางคนก็เห็นได้ยาก แต่อย่างไรก็ช่างมันเถอะ มันจะยากหรือมันจะง่ายก็ตาม พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่าประมาทนะ อย่าประมาท อย่าประมาททั้งนั้นน่ะ ทำไม่ถึงไม่ให้ประมาท เพราะมันไม่แน่นอน ก็เพราะว่ามันแน่ มันไม่แน่อยู่ที่ตรงนั้น มันไม่แน่ ท่านว่าอย่าประมาท ถ้าเราประมาทเราก็ไปยึด ยึดมั่นไอ้นี่มันแน่นอนเลยนะ ไอ้ไปแน่นอนไปยึดมั่นเอาของที่ไม่ควรยึดว่ามันแน่นอน ก็เรียกว่าเราไปเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่มันไม่จริงไม่จัง ไม่งั้นมันอาจจะกัดเราอีกหนึ่งก็ได้ นะ มันเป็นซะเช่นนี้ ฉะนั้นทุกอย่างหละจะดีชั่วประการใดก็ตามมันเถอะ เราจะเออ อันนี้พอใจ อันนี้ไม่พอใจ ช่างมันเถอะ
เราจะต้องสอนให้มันไปโดยที่ถูกทาง คือสัมมาทิฐิ อย่าประมาทเลย อย่าจะไปส่งเสริมอะไรมันมาก จนให้มันหลงผิดไป ถ้ามันน้อยใจเป็นทุกข์ ก็ให้รู้จักว่ามันเป็นทุกข์ อย่าให้มันเป็นทุกข์เกินความจริงไป ถึงแม้ว่าอันนี้มันชอบใจ ก็ให้มันชอบใจ อย่าให้มันชอบใจเกินความชอบใจไป อย่าให้มันมากไป หรือพูดตามภาษาเรานี่ อย่าให้มันเมา เมื่อเป็นทุกข์ อย่าให้มันเมาในทุกข์ เมื่อมันไปเป็นสุข ก็สุขอย่าให้เมา คือเรียกว่าไม่ให้เมา ไม่ให้เมานั่นก็เรียกว่า ไม่ให้เกินไป ให้มันพอดีๆนั่นเอง ถึงมันจะอยู่กับเราก็ได้ ถึงมันจะวิบัติจากเราไปก็ได้ ถ้าเราไปเมากับมันซะแล้ว มันจะหนีจากเรา เราก็เป็นทุกข์ หรือทุกข์อยู่กับเรา มันไม่หนีจากเรา เราก็เป็นทุกข์ สิ่งที่สุขมันหนีจากเราไปเราก็เป็นทุกข์ สิ่งที่ทุกข์ที่มันอยู่ในเรา ไม่หนีจากเราไป เราก็เป็นทุกข์ มันเป็นเสียอย่างนี้
ถ้าเราไปยึดมันเข้า ไปมั่นมันเข้าอันนั้น มันก็เกินความจริง ไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม มันเกินไป มันไม่ถูกทาง มันไม่ถูกทางมันก็เป็นมิจฉาทิฐิ มันก็ทุกข์มันก็เกิดขึ้นมา ไอ้ความเห็นเช่นนั้นคือเหตุให้ทุกข์เกิด การปฏิบัติ การอธิบายให้จิตอย่างเนี้ยเรียกว่า การรู้จักความดับทุกข์ แล้วก็ปฏิบัติไปตามที่เรารู้สึกอย่างนั้นเรียกว่า ปฏิบัติไปเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ถ้าเราเห็นเช่นนี้เราก็เห็นทุกข์ เห็นทุกข์เราก็เห็นตัวที่มันเกิดมาจากทุกข์น่ะ คือเกิดมาที่ตรงไหน แล้วถ้าเกิดแล้วจะรู้จะปฏิบัติอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น มันเกิดตรงนี้ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี่เรียกว่าความรู้ในพุทธศาสนา ไม่ใช่รู้อย่างอื่น
ถ้าเราไม่รู้จักทุกข์ เราก็ไปหมายมั่นในทุกข์นั้นอยู่ แต่ไม่รู้จักประมาณ เช่นว่าเราชอบอันนี้ เราก็ชอบจนเกินไปซะ ใครห้ามก็ไม่ฟังหละ ฉันชอบอย่างเนี้ย อย่างนี้เป็นต้น ถึงแม้อาหารการขบฉันก็เหมือนกัน เออ ท่านอย่าไปฉันมากเลยนะ อันนี้ไม่ค่อยดีน่ะ ดีครับ ไม่เป็นไรครับ รับรอง นี่เรียกว่าเราชอบมันนะ ตอนบ่ายๆมาท้องมันอืดแล้วมันจะงงหละสิ เออ นะ ตกใจ มันเป็นซะอย่างนี้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านให้รู้จักว่าอันนี้มันทุกข์เกิด อันนี้มันเป็นทุกข์ อันนี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด อันนี้ความดับทุกข์ อันนี้เป็นข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ อย่างที่เรารู้ อย่างที่เราเห็น อย่างที่เราพิจารณามานี้ การปฏิบัติทั้งหมดนี้ก็รวมว่าให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติของความดับทุกข์ มันก็มีเท่าเนี้ย
ในธรรมะย่อๆท่านว่า อะไรทุกข์มันก็เกิดขึ้นแล้วทุกข์ก็ดับไป นอกเหนือไม่มีอีกแล้ว มีแต่ทุกข์น่ะมันเกิด แล้วทุกข์มันก็ดับไป ทุกข์มันก็เกิดแล้ว มีเท่าเนี้ย เราจึงทุกข์ เราจึงวุ่นวายในวัฏสงสารนี้ ทำไมถึงวุ่นวายนี่ เพราะเราไม่รู้จักอันนี้ตามเป็นจริงของมัน ไม่รู้จักทุกข์ ก็ไปจับเอาทุกข์มาเลี้ยงนึกว่ามันจะสุข ต่อมาก็กัดเอาเข้าอีกหละ มันเป็นทุกข์ คล้ายๆกับงูเห่ากับชาวนาน่ะ มันนอนตัวแข็งอยู่ ก็สงสารมันนะ ก็นึกว่าเรามีเมตตาพอสมควร จะช่วยสัตว์ตัวนี้ให้มันมีความสบายอย่างเนี้ย คือไม่รู้จักมันเท่านั้นเอง ไม่รู้จักว่าไอ้นั่นตัวงูนะ มันจะกัดคน ไม่รู้จัก ก็เลยไปอุ้มเอางูขึ้นมา เมื่อมันมาถึงความอบอุ่น ตัวอุ่นๆขึ้นก็กัดตัวของเราเสียอย่างนี้เป็นต้น นี้ก็เพราะความหวังดีนั่นแหละ แต่เราไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์
ทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นเหตุ แล้วก็มาเพราะเหตุ แล้วก็ดับไปเพราะมีเหตุ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงน่ะ มันเกิดเพราะเหตุ ทางถูกมันก็เกิดจากเหตุ ทางสุขมันก็เกิดจากเหตุ ทางทุกข์มันก็เกิดจากเหตุ เรามารู้สิ่งทั้ง ๔ ประการนี้ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักที่ว่าข้อถึงความดับทุกข์นี้ เท่าเนี้ย ธรรมะอย่างอื่นนั้นก็เรียกว่ามันไม่ต้องซะแล้ว ก็เพราะมันรวมอยู่ที่นี่ จะพูดถึงเครื่องรับ มันก็เป็นตา เป็นหู เป็นจมูก เป็นลิ้น เป็นกาย เป็นจิต ถ้าจิตมันรู้ว่าทุกข์ตัวนี้ รับมาดูแล้วมันก็ปล่อยวาง มันวิ่งถึงกันหมดเลย อันนี้ มันวิ่งถึงกันเลย
ถ้านั้นเราผู้ประพฤติปฏิบัติเนี่ย มาดูในอันเนี้ยให้มันชัดเจนสำคัญ แล้วก็ตัดผลเจ้าของได้ พูดถึงการหลักการ หรือวิชาการที่จะแยกแยะที่จะให้คนสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันมากต่อมากเหลือเกิน เรื่องจิตเนี่ยก็ให้ท่านทั้งหลายคงจะทำน่ะ คงจะดูพระไตรปิฎก คงจะดูพระอภิธรรมมั้งน่ะ ไอ้พูดเรื่องจิตนี่ โอ้โหย บางคนก็คิดว่าจะให้รู้ทุกอย่างขนาดนั้น ก็เรียนกันไปจนนั่นแหละ ติดอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ไป ไม่ถูกไม่ไป ไม่ถูกไม่เอา ขัดอะไรไม่ได้ อันนั้นไม่รู้จักสูตรของมัน สูตรนี้บอกอย่างนั้นๆๆ นั่งเฉยๆ
ยกตัวอย่างง่ายๆว่า วิชาเลขเรา มันมีบวก มีลบ มีคูณ มีหาร ทุกประการเราก็ไปเรียนกัน เมื่อทำแล้วก็ได้จำนวนพอดี ทีนี้มีอีกคนหนึ่งนะ ที่ไม่ต้องไปเรียนอย่างนั้น ปัญญามันเร็วนะ ไม่ต้องทำวิธีบวก วิธีลบ วิธีคูณ วิธีหาร ทำวิธีนึกคิดให้มันรู้ อันนั้นเท่าอันนั้น อันนี้ก็พลุบเดียว ได้จำนวนขึ้นมา เท่ากันกับคนมีวิชาทำเลขดีๆ อย่างนี้ พูดด้วยผลมันพลุบขึ้นมาเลย เช่นนี้มันก็มีราคาเท่าๆกัน ได้ศึกษาเหมือนกัน สัมฤทธิ์ประโยชน์ด้วยกัน แต่ว่ามันไม่มีหลักการและวิชาการ ก็เรียกว่ามันไม่มียี่ห้อ ง่ายๆ มันไม่มียี่ห้อ เพราะมันขาดการเรียนบทบาทการสูตร แต่ว่าพูดจุดรวมแล้วมันก็มีราคาเท่ากัน มันมีวิชาที่ถูกต้องเหมือนกัน ดีเหมือนกัน จบก็อันเดียวกัน
ดังนั้นอย่างที่ท่านยกตัวอย่างเช่น พระปัจเจกโพธิเป็นต้น รู้แต่ว่าสอนใครไม่ได้ แต่สอนเจ้าของได้ แต่พูดกับคนอื่นไม่ได้ อ้าวทำไมมันถึงเป็นงั้นน่ะ ไม่รู้อ้ะ มันเป็นอย่างนั้น อยู่ที่ไหนท่านก็สบาย แจ่มใส แต่สอนคนอื่นไม่ได้ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นน่ะ ไม่รู้จะว่ายังไง คล้ายๆกับคนใบ้ คนใบ้มันฝันไป นอนก็ฝัน ฝันไปเห็นทุ่งนาบ้าง เห็นไร่บ้าง เห็นภูเขาบ้าง สัตว์ต่างๆบ้างๆ ฝันเรื่อยๆเปื่อยไปเรื่อยๆ แต่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วพูดความฝันให้คนอื่นฟังไม่ได้ นะ เรียกว่าคนใบ้ ไอ้คนหนึ่งฝันไปเห็นงู ก็พูดงูฟังให้ได้ ไปเห็นวัว ก็พูดเรื่องวัวให้คนอื่นฟังได้ พระปัจเจกโพธินี่เหมือนคนใบ้นอนฝัน รู้ทุกอย่าง ถึงท่านไม่โลภ ถึงท่านไม่โกรธ ถึงท่านไม่ลง ผลที่สุดแล้ว ท่านรู้อย่างนั้นก็พ้นจากวัฏสงสาร ภาระมันน้อย คนที่ฝันไปเห็นวัว เห็นควาย เห็นสัตว์ต่างๆ เอาเรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้เพื่อนฟัง ก็รู้เรื่องเหมือนกัน มันก็เท่ากัน มันก็ไม่แปลกอะไรกัน มีจุดอันเดียวกัน รวมอันเดียวกันฉันนั้น อันนี้เป็นต้น
ฉะนั้นการทุกสิ่งทุกอย่างนั้นน่ะ อะไรๆมันมีในตัวของมันอยู่นั่นแหละ พระพุทธเจ้าท่านอยากจะให้ค้นหาความจริง คือมันมีจริงอยู่ตรงนั้นน่ะ คล้ายๆว่า ไอ้ของสกปรกมันอยู่ตรงเนี้ย มันสกปรกเป็นต้น เราก็เห็นว่า ที่นี่สกปรก ก็หนีไป ตัวนี้สกปรกก็หนีไป แล้วแต่มีปัญหาว่าที่นี่มันสกปรก เราจะทำให้มันสะอาด จะทำยังไง ปัญหามันมีอย่างเนี้ย ก็ต้องเอาน้ำมาล้างตรงนั้นน่ะ มาเช็ดตรงนั้นน่ะ ตรงที่สกปรกนั้นน่ะออกไป มันก็เห็นความสะอาดอยู่ตรงนั้นน่ะ ไม่สะอาดที่อื่น มันเห็นที่ตรงนั้น ถ้าเราไม่พิจารณาเห็นว่าสกปรก ก็อย่างเนี้ย ไม่เช็ดมัน ไม่ล้างมัน มันก็สกปรกอยู่นั่นแหละ ก็ไม่เห็นความสะอาด ไอ้ความเป็นจริง ความสะอาดกับความสกปรกมันปนกันอยู่
ปุถุชน อริยชน มันปนกันอยู่ ความรู้ ความไม่รู้มันปนกันอยู่ เมื่อมันปนกันมันแยกกันไม่ได้ มันก็ยังไม่ชัดเจน ไม่แจ้งชัด เรียกว่าไอ้ความรู้ทางโลกีย์อย่างพระพุทธเจ้าตามประวัติของท่าน ไม่ใช่ย่อยเหมือนกันนะ ไม่ใช่ย่อยเหมือนกัน เก่งมากที่สุดเหมือนกัน แต่ว่ามันยังไม่จบทางด้านจิตใจ ว่าของนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ชอบใจมัน มันเสียไป ทำไมมันถึงเสียใจ สิ่งที่มันไม่ชอบ เราทิ้งไป ทำไมมันเสียใจอะไรเงี้ย มันเป็นธรรมดา มันเป็นธรรมดาเหลือเกิน ธรรมะให้เห็นทุกสิ่งทุกส่วนมารวมเป็นจุดอันเดียวกันอย่างพวกเราทั้งหลายอยู่ด้วยกันเนี้ย จะอยู่คนละทิศละทาง อยู่คนละจังหวัดก็ตามทีเถอะ มาเข้าข้อวัตรปฏิบัติให้มีความเห็นถูกต้องเสมอกันซะแล้ว ไม่กลับ
อย่างโสตะ(โสดาบัน) ผู้ที่น้อมไป ทุกคนนี่ถ้าน้อมไปเอง ถ้าความเห็นมันน้อมไปในที่นั่นทุกคนนะ ไอ้ความเกะกะระรานนี่มันน้อย ปัญหาที่ยุ่งๆนี่มันน้อยเหลือเกินน่ะ แต่มันรวมถึงจุดเดียวกันน่ะ ใครๆทุกคนรวมอย่างเนี้ย ถ้ามีความหยุดลงไปตรงนั้นจริง ถึงใครจะมาพูดที่เราไม่ชอบใจอ้ะ เราก็ไม่ไว้ใจของเราน่ะ เราก็ถือตัวโน้นเป็นเกณฑ์ ไม่ได้ถือเอาใจของเรา ทุกคนถ้ารู้สึกรู้จักความผิดชอบอยู่อย่างเนี้ย พวกเราทั้งหลายจะไม่โกหกพกลมอ้ะ จะไม่อิจฉากัน จะไม่พยาบาทกัน จะไม่มีการถกเถียงกัน จะไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะน้อมไปแล้ว มันน้อมไปแล้ว จิตมันน้อมไปสู่ภวังค์นั่นน่ะ น้อม ท่านจึงเรียกว่าบุคคลผู้ที่น้อมไปนี่มาจากไหน มาจากบุคคลที่ไม่น้อมไป เป็นปุถุชน เป็นปุถุชนคนหนา จะไม่น้อมเหมือนกัน แต่ที่จะมาน้อมไปนี้ ก็คือคนจำพวกไหน ก็คือคนจำพวกที่เป็นปุถุชน มันเป็นกัลยาณชน เป็นอริยชนก็คือคนพวกนี้ ไม่ใช่พวกอื่น ไม่ใช่พวกอื่น พวกนี้เอง พวกปุถุชนนี้ อันนี้ที่เราปฏิบัตินี้ถ้าเรามารวมกันเข้าไปท่านเรียกว่าสุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายะปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน คุณสมบัติทั้งสี่ประการนี้มันรวมไปจุดอันเดียวกัน ใครก็ปฏิบัติดี ใครก็ปฏิบัติตรง ใครปฏิบัติเพื่อพ้นจากวัฏสงสาร ใครปฏิบัติถูกต้องทางกาย วาจา จิตของเราแล้ว มันก็รวมเข้าไปอันเดียวกัน จึงเป็นคุณสมบัติอันนี้