Skip to content

สมาธิจิต

หลวงพ่อชา สุภัทโท

| PDF | YouTube | AnyFlip |

อดทนต่อการฝึกฝน ให้นักเรียนทั้งหลายพึงทราบว่าวันนี้จะทำธุระทางจิต โดยมากชาวนักเรียน นักศึกษา หรือประชาชน โดยมากไม่ค่อยจะรู้จัก ว่าการทำสมาธินี่คือทำอย่างไร แล้วก็ทำให้เป็นประโยชน์อะไรต่อไปอย่างนี้ พุทธศาสนิกชนเราทั้งหลายโดยมากไม่รู้จัก แต่รู้อย่างอื่นมากกว่านี้ แต่สิ่งนี้ไม่ค่อยจะรู้ เพราะว่ามันเป็นงานที่นั่งหลับตา คล้ายๆกับคนโง่อย่างนี้ เอ้า ตั้งใจฟังกันต่อไป 

การทำสมาธิวันนี้ สมาธินี้เป็นหลักอันหนึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าของเราที่ได้บรรลุธรรมะอันเป็นธรรมที่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายนั้นหาพบไม่ได้ ซึ่งเป็นอาการที่ต่อต้านกิเลสมาตลอดทุกวันนี้ ยังมีเชื้อสายมาอยู่ ติดตามมาอยู่นั้น ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นแก่นของพุทธศาสนา แต่ว่าวันนี้จะไม่พูดถึงศีล ไม่พูดปัญญา พูดแต่เพียงว่าสมาธิ ปัจจุบันนี้จะนำนักเรียนทำสมาธิ เรื่องศีลเรื่องปัญญานั้น เพื่อจะอธิบายภายหลัง ในปัจจุบันนี้ก็นึกว่าทำเลย ทำเลย เข้าที่เลย หนึ่งให้รู้จักว่า กายของเราอย่างหนึ่ง รู้มั้ย กายนี่กาย กายคือก้อนที่มานั่งอยู่นี่ ส่วนหนึ่ง ไอ้ความรู้ที่กายทรงไว้ในกายนี่ส่วนหนึ่ง เท่านี้ข้อปฏิบัติของเรา 

บัดนี้ สำหรับจิตของเรานี่ควรฝึกเพราะอะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเรื่องของจิตทั้งนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งทั้งหลายมันรับรู้ มันถึงส่งมาถึงจิต จิตเป็นผู้ทำงานใหญ่มหาศาล ตาเห็นรูป ก็มาเหวี่ยงให้ หูฟังเสียงก็มาเหวี่ยงให้ จมูกดมกลิ้น ลิ้มรส โผฏฐัพพะก็มาเหวี่ยงให้จิตเป็นคนทำงาน ฉะนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเห็นว่าถ้าจิตไม่ฉลาดแล้วก็เสียทีเข้าหละ เพราะชุมนุมงานทั้งปวงมันอยู่ที่จิตเรา 

จิตของเรานี้ทำไมถึงจะทำเป็นสมาธิ จิตของเรานี่มันหลายอารมณ์มาก จนเกือบจะรวมว่า แหม มันหลายจิตหลายใจเหลือเกิน ไม่ใช่อย่างนั้น จิตใจมันไม่หลายจิตหลายใจหรอก อารมณ์มันหลายอารมณ์ต่างหาก จิตมันก็อันเดียวเนี่ย คือผู้รู้อันเดียวเท่านี้แหละ บางทีคิดไปโน้น บางทีคิดอยากได้อันนี้ บางทีคิดอยากทิ้งอันนั้น ก็นึกว่าหลายจิตหลายใจ อันนั้นเราพูดผิด เราเข้าใจผิด จิตใจไม่หลายอย่างนั้น ไม่มาก อันนั้นมันวิ่งไปตามอารมณ์มาหลอกมันไป ฉะนั้นเมื่อเราแบกของหนักๆหลายอย่าง มาพะรุงพะรัง มันลำบากมาก บัดนี้เรามาทิ้งมันซะ เอาเหลือชิ้นเดียว เราก็แบกง่าย 

วันนี้ก็ต้องการอย่างนั้น ต้องการให้ทิ้งอารมณ์ทั้งหลายที่มาพัวพันในจิตเราทุกอย่าง วันนี้จึงเอาแต่กายกับจิตนี่มาฝึก ฝึกฝนจิต เรียกว่าทำสมาธิ คือทำให้จิตที่เรามีอยู่นี้ให้เกิดกำลัง ในส่วนทางจิตให้เกิดกำลังนี้ ไม่ใช่คิดให้มันมาก คือมาทำจิตให้หยุดนิ่ง เพราะสภาพที่จิตหยุดนิ่งนั้น พวกเรายังไม่เคยพบ มีแต่คิดไปตามอารมณ์เรื่อยเปื่อยไปเท่านั้นแหละ อย่างนั้นปัญญาถึงไม่ค่อยมี ถึงมีก็เป็นปัญญาหยาบ เอาตัวไว้ไม่ได้ ถึงแม้มีความผิดเกิดขึ้นมา ก็ชอบความผิดอันนั้น จะไม่ทำความผิดนั้นไม่ได้ เพราะกำลังจิตเรามันน้อย ต้านทานไม่ไหว ฉะนั้นวันนี้จะให้ทิ้งอารมณ์ทั้งหมด จะให้เหลืออารมณ์อันเดียว ถ้ามีอารมณ์อันเดียว นี่มันก็สงบจากอารมณ์หลายๆอย่าง เป็นอันเดียว เราจะเห็นจิตของเรานี้ 

การนั่งให้ตรง จะพับเพียบก็ตาม นั่งให้สบาย เอ้า ทำนั่งเลย เอามือขวาทับมือซ้าย ฟังไปเรื่อยๆไป เออ นั่งกายให้ตรง นั่งกายให้ตรงนะ ให้นั่งให้เสมอพระประธาน ดูพระประธานข้างหน้าเรานั้น ท่านนั่งอย่างไร ท่านก้ม ท่านเงยขึ้นแค่ไหน อะไรเป็นอย่างไร นั่นเอานั้นเป็นตัวอย่าง แล้วก็หลับตา อย่าไปเม้มตาให้มันแรงนะ หลับพอสบาย อย่าให้มันรำคาญ วันนี้ให้ปล่อย วันนี้ให้ปล่อยภาระทุกอย่าง ให้คิดว่าเรานั่งในศาลานี้ เรียกว่าเรานั่งคนเดียว ไม่มีหลายคน นั่งคนเดียว คล้ายๆเรานั่งคนเดียวในกลางป่ากลางดงอะไรทั้งหลายนะเนี่ย ว่าเราทำความสงบ ไม่ต้องรำคาญคนอื่นเค้า 

แล้วก็หลักการที่จะปฏิบัตินั้นก็คือ ลม เมื่อเรานั่งตรงนี้แล้ว ไม่ให้มันกระทบข้างหน้าข้างหลัง ตรง หลับตาลงซักนิดหน่อย แล้วก็ก้ม เหมือนพระประธานพอดี แล้วก็ลมหายใจ เอ้า หายใจดูซิว่ามันยังไง เห็นมั้ยลมหายใจ กำหนดว่าลมหายใจเป็นยังไง มีมั้ย เราหายใจให้มันสบาย อย่าให้มันยาวเกินไป อย่าให้มันสั้นเกินไป มันสบายยังไง เอาอย่างนั้น เอาตรงที่มันสบาย ใครมันชอบยาวหน่อย ก็ยาวหน่อย ชอบสั้นหน่อยก็สั้นหน่อย อย่าให้มันแรง 

แล้วก็กำหนดลมหายใจ หนึ่ง ลมหายใจ หายใจเข้าไป ต้นลมคือที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากข้างบน ลมส่วนไหนมันถูกต้องก็กำหนดตรงนั้นรู้ นี่เบื้องต้นของลมที่จะเข้าไป ตอนที่สองก็คือ หทัย หัวใจ มันต้องผ่านมาหัวใจ นี่ตอนสองนี่กลางลม ปลายลมอยู่ที่ไหน สะดือ ปลายลม สะดือ นี่ลมเข้ามา ปลายลม สะดือ ต้นลมอยู่ปลายจมูก กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่สะดือ กำหนดให้รู้จักไว้ ทีนี่เมื่อเราจะหายใจออกไป ต้นลมอยู่สะดือ กลางลมอยู่หทัย ปลายลมอยู่จมูก กำหนดสามครั้ง ๑ ๒ ๓ นี่ลมเข้าไป ลมออก ๑​ ๒ ​๓ พอจะว่ากำหนดว่ารู้ว่าที่นี่ๆๆ เท่านั้นแหละ เอาความรู้สึกของเรานั่นน่ะกำหนดตามลม ๑ ๒ ๓…๑ ๒ ๓ ให้กำหนดรู้ว่า ที่นี้ก็รู้ๆๆ เรียกว่าเรากำหนดลมหายใจ คำว่ากำหนดนั้นก็คือให้รู้ตามลมที่มันเข้าไป ว่าต้นลมมันอยู่ตรงนี้ว่ามันเข้าไป กลางลมอยู่ที่หทัย ปลายลมอยู่ที่สะดือนี้ เมื่อหายใจออกให้กำหนดเฉยๆว่า ต้นลมอยู่ตรงนี้ กลางลมอยู่ตรงนี้ ปลายลมอยู่ตรงนี้ ทีนี้ต่อไปนั้น ถ้าหากว่าเราอยู่ที่นี่ นี่ก็รู้ นี่ก็รู้ นี่ก็รู้ นี่ก็รู้ นี่ก็รู้ ชัดเจนในความสงบนะ มีสติสัมปะชัญญะ มันติดต่อกันตรงนี้ ก็รู้ มันรู้ทั้งสามกาลนี้ตามสบายแล้ว 

ต่อไปทำไง อันนี้ท่อนที่สอง ต่อไปให้กำหนดที่เดียว กำหนดที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปาก ไม่ต้องตามกันไป ให้รู้ที่นี่ว่ามันออก ให้รู้จัก มันเข้า ให้รู้จัก ไม่ต้องวิ่งไปตามมัน นี่ตอนที่สอง ที่มันสงบที่ว่า ไอ้ตอนนี้มันก็รู้ นี่ก็รู้ นี่ก็รู้ จนมันคล่องตัวแล้วนะ ทีนี้ก็ไม่ต้องตามมันไปอย่างนั้นก็ได้ จับอยู่เนี่ย ลมอยู่ปลายจมูกหรือริมฝีปากเนี่ย มันออกไปก็ตามมันเหอะ ให้รู้อยู่ตรงเนี้ย มันเข้าไปก็ช่างมัน ไม่ต้องตามมัน ทีนี้สบายกว่าเก่าทีนี้ งานนี้ละเอียดกว่าเก่าแล้ว จ้องอยู่ตรงนี้ พอเรารู้สึกมีสติ สติคือความระลึกได้อยู่ สัมปะชัญญะคือความรู้ตัวอยู่ เดี๋ยวนี้เราทำอะไรอยู่ เดี๋ยวนี้ลมเข้าเรารู้มั้ย ลมออกเรารู้มั้ย มีสติระลึกได้อยู่ในปัจจุบันนี้ มันวิตกไปอย่างอื่นไปอีก ก็กำหนดมันตรงนี้ ไอ้ความคิดว่าทำอะไรอย่างนี้ ถ้ามันคิดขึ้นก็อย่ารับรู้มัน ว่ามันจะรู้อะไรอย่างนี้ มันจะคิดอย่างนี้ อย่า ไม่ใช่หน้าที่ของเรา มันจะเห็นอะไรมั้ย ทำอย่างนี้ เมื่อมันคิดขึ้นอย่างนี้ ไม่ต้องรับรู้ ไม่ใช่หน้าที่การงานของเราในเวลานี้ การงานในเวลานี้คือให้เรารู้เฉพาะลมเข้าออกเท่านั้น เรียกว่าปล่อยให้สบาย 

นั่งทำได้แล้วต่อไปนี้ ทำเลย จะอธิบายเสียหน่อย ฟังๆไปด้วย แนะนำไปด้วย ทำไปด้วย เอ้า ทำเลย ก็นั่งสบายให้มันตรง อย่าให้มันกดอวัยวะอันใดอันหนึ่งเสีย ให้เงียบๆ เอ้า กำหนดเลย ๑ ๒ ๓ ให้กำหนดลงเฉยๆเสียก่อน เพื่อเราจะรู้ว่า ขนาดไหนมันจะเหมาะ ยาวแค่ไหน สั้นแค่ไหน มันจะเหมาะกับจริตของเรา เหมือนกับเราฝึกเหยียบจักรใหม่ๆ ไม่ต้องเย็บผ้า เอาเท้าเราถีบจักรเปล่าๆเฉยๆก่อน มันคล่องตัวเสียก่อน นี่เราก็หายใจเฉยๆเสียก่อน ให้มันคล่องตัวเสียก่อน ว่ามันพอดีแค่ไหน เอาขนาดไหน แล้วก็เอาสติมาวางลง ตามลม ใต้จมูกนี้ หทัย สะดือ…สะดือ หทัย จมูก เรื่อยไปจนมันคล่องตัวแล้วก็ปล่อย ไม่ต้องตามมัน ให้รู้จักลมออก ลมเข้าเท่านั้น ลมหยาบ ลมละเอียด เท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องคิดอย่างอื่น ตอนนี้ให้ทำงานอย่างเดียวเท่าเนี้ย ไม่ต้องคิดไปถึงบ้านถึงช่อง ไม่ต้องคิดไปถึงการงานทุกอย่าง ทิ้งมันหมดเสีย ว่าจะเป็นอะไรมายังไงก็ช่างมันเถอะ ให้เราเข้าใจว่าวันนี้เราจะทำเท่านี้วันนี้ ก็เตรียมทำกันไปเรื่อยๆ อย่าไปกั้นลมนะ ปล่อยลมให้สะดวกนะ ปล่อยลมให้สะดวก ให้มันสะดวกถึงที่มัน ใครชอบยังไงก็เอาอย่างนั้น ปล่อยให้สะดวกเดี๋ยวเนี้ย กำหนดความรู้ไว้เฉพาะริมฝีปากในเฉพาะรอบๆด้านหน้าของเรานี้ มีความรู้สึกไว้ 

เอ้า เตรียมทำให้เต็มที่ นี่แหละให้เข้าใจว่าขั้นตอนครั้งแรก บางคนก็ถามว่านั่งสมาธิแล้วเห็นอะไรมั้ย…ไม่เห็นอะไร คือไม่เห็นทุกข์ นี่แหละคนเรานะ เดินไปเดินมา เราทุกวันนี้เราอมทุกข์ไว้ ไม่เห็นมัน ถ้าหากว่านั่งอย่างนี้มันทุกข์ เราก็พลิกทางนี้เสีย ทุกข์ก็หายไป สุขก็เกิดมาก เราก็ประมาทกันแล้ว นึกว่าเราไม่มีทุกข์ เมื่อนั่งไปพักหนึ่งอีก มันเกิดทุกข์ขึ้นมา เราก็พลิกไปทางนี้เสีย ทุกข์มันหายไป ก็นึกว่าเราไม่มีทุกข์ เนี่ยทุกข์มันตามพวกเราอยู่อย่างเนี้ย แต่เราก็ไม่ค่อยเห็นทุกข์กัน 

เนี่ย อย่างย่อยๆมันอย่างเนี้ย ถ้านั่งพุกลงไปหละ ทุกอิริยาบถนี้มันบังทุกข์ การนั่ง การยืน การเดิน การนอน เนี่ยเรียกว่าบังทุกข์ไว้ เดินเกินไปไหนมันทุกข์ก็หยุด นอนซะเกินไปซะแล้วมันทุกข์ แล้วก็ลุกขึ้นมา มันก็หายทุกข์ มันก็มีสุข แล้วมานั่งอยู่ก็เป็นสุข นั่งนานๆก็ทุกข์อีก ก็พลิกข้างนี้ไปอีก ทุกข์ก็หายไป พลิกข้างโน้นข้างนี้ ทุกข์มันก็มีอยู่นั่นแหละ แล้วก็รำคาญอีก ลุกเดินไปอีก ก็สบายไป เดินให้มากก็ทุกข์อีก แล้วไปหยุดอีกก็สบายอีก อย่างนี้แหละ อาการทั้งหลายเหล่านี้น่ะมันปิดทุกข์ไว้ที่พวกเราทั้งหลายมีความประมาทอยู่ ไม่เห็นทุกข์ ขนาดทุกข์ขนาดนี้ก็ยังไม่เห็นแล้ว อย่างอื่นนอกนี้ไป มันบังอยู่อย่างนี้ อิริยาบถมันบังทุกข์ไว้ ทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้เพราะเราบังคับเปลี่ยนมันซะ มันก็มีแต่สุข เราก็เผลอไป ไม่มีทุกข์อะไร นี่อันนี้มันบังไว้ เราไม่เห็นว่ามีอะไรบังเราอยู่ เราก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เมื่อนั่งมันทุกข์ก็พลิกไป ก็หายไปแล้ว สุขเกิดขึ้นมาก็เพลินไปอีก เมื่อนั่งเป็นอันทุกข์เกิดมาก็พลิกอีกอันนี้สุขเกิดขึ้นมา ทุกข์หายไป ก็เพลินเรื่อยไป นี่เรียกว่าเราไม่เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เครื่องปกปิดมันเป็นอยู่อย่างนี้เอง เป็นเหตุให้คนลืมตัว เหมือนกันกับความหนุ่ม มันปิดความแก่ไว้ในเวลานี้ น้อยๆหนุ่มๆเกิดขึ้นมาก็ไม่นึกว่าเราแก่ ไอ้ความแก่มันซ้อนอยู่ในนี้เมื่อเรามองไม่เห็น พออยู่ไปนานๆจึงจะโผล่ขึ้นมาให้เห็นแล้ว ใจก็เพลินไปตามรูป เสียง กลิ่น รส อย่างนี้ เรามาเห็นอันนี้ พูดถึงสิ่งมันบัง 

อันนี้จะพูดถึงการทำสมาธิอันนี้ มันก็คล้ายๆจิตเราเนี่ยมันเหมือนกับปลามันอยู่ในน้ำ เมื่อเราจับมันเหวี่ยงขึ้นบนบก มันก็ตะเกียกตะกายไปหาน้ำ เพราะมันไปอยู่ในน้ำ พอเราปล่อยร่างกายให้ตามสบายตามอิริยาบถ มันก็ไม่เห็นทุกข์ มันก็สบาย เมื่อเอามานั่งอย่างนี้มันก็ทำเราเอาสิ เป็นโน้นเป็นนี้สารพัดอย่าง นี่ มันเป็นซะอย่างนี้แหละ การทำสมาธินี่แหละท่านเรียกว่าทำจิตของเราให้มีกำลัง ที่ท่านทำฌาณ ทำสมาบัติก็ทำรูปนี้เป็นเบื้องแรกมัน จนจิตของท่านมันหยุดดิ่งอยู่ในที่อันเดียว นั่นไม่กี่ชั่วโมงได้ มันจะเป็นยังไง เรานั่งขนาดนี้แล้วก็ยัง มันยังไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยเห็นอย่างเนี้ย ถ้าหากว่าเรานั่งไปนานๆจนจิตของเราสงบ ไม่มีอะไรเลย มันดิ่งตลอดเนี่ย มีความรู้อยู่ตั้งชั่วโมงสองชั่วโมงเนี่ย มันจะเป็นยังไง ขนาดเรานั่งประเดี๋ยวประด๋าวนี่ ทุกข์มันกวนเราเหลือเกิน ถ้าเรานั่งไปได้ตั้งชั่วโมงสองชั่วโมง ทุกข์ไม่กวนท่าน จิตของท่านจะเป็นอย่างไร นี้เราคำนวณเอานะ แต่เรานั่งประมาณเท่าไหร่นี่ ไม่ถึงสามสิบนาทีมั้งเนี่ย ค่อกแค่กๆๆๆ มันเป็นยังไง ก็เท่านี้แหละ เราไม่มองเห็นตัวของเราเนี้ย ทุกข์มันเพิ่งจะโผล่ขึ้นมาอยู่เรื่อย 

จิตนี้ เราฝึกจิตนี้ จิตคืออะไร จิตนี้มันคืออะไร จิตนี้คือผู้รู้สึก จะไปถามหาตัวหาตนมันจริงๆ มันก็ไม่มี มันคือผู้รู้สึก รู้สึกอารมณ์ ผู้ที่รู้สึกอารมณ์นี่เรียกว่าจิต แต่จะถามไปจริงๆ จิตนี้มันคืออะไร จิตนี้มันก็ไม่คืออะไร เห็นมันคืออะไรมั้ย นั่งเมื่อกี๊ เห็นมันคืออะไรมั้ย แต่มันเป็นผู้รับรู้อารมณ์สารพัดอย่าง คือผู้รับรู้สิ่งทั้งปวง จิต ลักษณะจิตเป็นอย่างนั้น ถ้าถามเข้าไปจริงๆ จิตนี้มันคืออะไร จิตนี้ไม่คืออะไร มันเป็นอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีใครเห็นมันหรอก แต่เป็นแต่ความรู้สึกขึ้นมาอย่างนั้น ในผู้รู้สึกนั้นมันจะเป็นอย่างไร มีความรู้สึกขึ้นมาแล้ว ในผู้รู้สึกนั่นมันมีอะไรบ้าง มันไปเกาะเกี่ยวอะไรบ้าง นี่ ตัวนี้แหละมันทำให้พวกเรามันเป็นประสาทไม่หยุด วิ่งไปวิ่งไปตามอารมณ์แล้วก็หลงบ้านเท่านั้นหละ แล้วก็ทิ้งการเรียนเท่านั้นแหละ ในอารมณ์ที่ชอบใจมันก็วิ่งไปตามอารมณ์เตลิดเปิดเปิงไปเลย 

ไหนๆมันก็มาดูหนังสือ มีแต่ตากับหนังสือจ่อกันเท่านั้นแหละ ไอ้ตัวที่มันรู้มันวิ่งไปที่ไหนก็ไม่รู้ มันก็หาวนอนเท่านั้นแหละ มันจะไปได้เรื่องอะไร จิตไม่อยู่กับเราเนี่ย สงสารตามั่งสิ เอามันไปจ่อหนังสือ มันจะรู้อะไร มันก็เห็นเฉยๆเท่านั้น มันจะมีปัญญาที่ตาเหรอ เอาหนังสือมาจ่อกับตานี่ จิตมันไปดูที่ไหนก็ไม่รู้ มันเพลินตรงไหนก็ไม่รู้ นานๆก็มาทีหนึ่ง มันจะไปสอบอะไรได้ที่หนึ่งที่สองกับเขาหละ ก็นึกว่าเราบุญไม่มี อะไรไม่มี ดวงไม่ดี ดวงมันจะดียังไง ดวงไปเที่ยวอยู่ในป่าจะดียังไงกันนะ จะต้องไปหาดูตา หลงไปผูกดวงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันดวงไม่ดี บ้าๆบอๆไป ก็เราตั้งสติไม่ดี ตั้งใจไม่ดี มันจะดีที่ตรงไหนแล้ว ดวงที่ไหนมันจะดีกว่าความดีไปได้ มันมีมั้ย มันก็เพ้อฝันกันไปอย่างนั้นแหละ 

เมื่อหากว่าจิตนี้แหละมันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จิตนี้มันสามารถฆ่าตัวตายได้ เอาตนพ้นจากอันตรายได้ เราจะดูอย่างสัตว์ป่าที่อย่างมันเชื่องเราเช่นไก่ป่า มันกลัวมากที่สุดนะ ถ้าเราไปตะครุบจับมันมาได้ เอามาดูหน้าดูตาเท่านั้นแหละ เดี๋ยวตายแล้ว ใครไปฆ่ามัน นี่แหละ ลักษณะจิตร้ายนี่มันฆ่ามัน ถ้ามันกลัว มันกลัวจนตาย เหมือนมนุษย์เราทั้งหลายแหละ เมื่อมันเสียใจ ร้องไห้เท่าไหร่ น้ำตามันไหลออก เมื่อมันดีใจเกินไป น้ำตามันก็ไหลเอาอีก ใช่มั้ย คือมันไม่อยู่สภาพอันพอดี ฉะนั้นทำอย่างนี้เรียกว่าทำจิตให้มีกำลัง จิตที่มีกำลังจิตต้องถูกหยุดจากอารมณ์ เงียบสงบอยู่ นี่จิตทำกำลังให้มีกำลังขึ้น ไม่ใช่ว่าปล่อยจิตคิดไปสารพัดอย่าง อันนั้นทำลายจิตเจ้าของ ไม่ให้มีกำลัง เมื่อเราคิดก็ให้มันคิด เมื่อเราหยุดก็ให้มันหยุด เมื่อทำการงานอันนี้ ก็ทำการงานอันนี้ เมื่อเลิกอันนี้ก็เลิกอันนี้ ทำอย่างนี้ ถ้าเราหยุดแล้ว เวลานี้เราทำอันนี้อยู่ มันก็อยู่กับการงานอันนี้ เมื่อเราเลิกอันนี้เราก็เลิกอันนี้ ไม่ใช่ว่าเราทำอย่างหนึ่งอยู่ แต่ไปคิดถึงอย่างหนึ่ง อย่างนั้นมันจิตไม่ได้ฝึก ปัญญาไม่เกิดแล้ว 

นี่แหละทำจิตให้หยุดนิ่งในอารมณ์อันเดียว มันเกิดประโยชน์มากทีเดียวแหละ จิตนี้ ทุกอย่างถ้านี่กาย ถ้ากายมีกำลัง ไม่ต้องทำอย่างนี้ ตอนเช้ามันต้องออกวิ่งหลายกิโล ต้องยกของหนัก ยกขึ้นยกลงให้มันเคลื่อนไหว นั่นทำกายให้มีกำลัง ต้องทำอย่างนั้น ทำจิตให้มีกำลัง จะไปนั่งคิดนอนคิดอะไรวุ่นวายนะ แล้วก็เสียคนเท่านั้นแหละ แล้วก็เสียคน คิดไปคิดมาๆๆ ก็วิ่งไปตามเท่านั้นแหละ เนี่ยทำจิตที่ไม่มีกำลัง กายหนึ่ง เราอาศัยกายกับจิตเท่านี้ อาศัยอยู่ทุกวันนี้ ทำจิตให้มีกำลัง กับทำกายให้มีกำลังเท่านั้น การงานของจิตนี่มันมากต่อมากเหลือเกินเลย มันทำงานในโลกให้ทั้งหมดรอบตัวของมันเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีใจเป็นผู้ทำงานอย่างเดียวที่สุด รับรอง ฉะนั้นจิตได้ไปจดจ่อในอารมณ์อื่น นอกจากอารมณ์นี้ จิตนั้นไม่มีกำลัง 

ฉะนั้นอานาปานสตินี้เป็นกรรมฐานที่เป็นอารมณ์ เรียกว่าอารมณ์ของกรรมฐาน นี่อานาปานสติที่ทำจิตให้สงบนี้มีหลายอย่าง คือเป็นอุบายทำจิตให้สงบเท่านั้น เราจะยกอะไรก็ได้ ยกพุทโธ ธัมโม สังโฆ บริกรรมก็ได้ เรียกว่าอานาปานสตินี่มันสบายมาก เราอยู่ที่ไหนก็ต้องหายใจอยู่ เรานั่ง เรายืน เราเดิน เรานอน นั่งเขียนหนังสืออยู่ก็ตาม นั่งพักผ่อนอะไรก็ตามเถอะ ลมมันมีอยู่ เรากำหนดลมเท่านั้น นั่งในเก้าอี้ก็ได้ กำหนดลมหายใจเข้าออกเฉย กำหนดวางข้างนอกหมด จิตมันมีกำลังมากอันนี้ นี่ทำที่ไหนก็ได้ ทำที่โรงเรียนเวลาว่างๆก็ได้ สมาธินี่เป็น เดี๋ยวปัญญาเกิดเท่านั้นแหละ 

เคยมั้ยหละ เราเขียนข้อความอะไรต่างๆ มันติดขัด ไม่ได้ บางทีเราก็สะกดผิดไปหมด บางทีนั่งคุยกันหลายๆคนมันรำคาญ มันจะทำอันนั้นไม่ได้ ก็แหงนหน้าออกไปกำหนด นั่นแหละทำสมาธิแหละ เดี๋ยวก็คิดขึ้นมาได้แล้ว นั่งเขียน เนี่ย อย่างกำหนดอย่างเดียวกันนั่นแหละ ทีนี้ถ้าหากว่าเราเป็นนักเรียน เราประกอบสมาธินี่เข้าไปนะยิ่งว่องไวเลย ขนาดที่เราคิดปัญหากำหนดอันนี้ มันก็ยังมีผลนะ ดูธรรมดานี่ เรากำหนดให้มันซึ้งอยู่ตรงนั้น มองเห็นเข้าไปอีกอย่างนั้น อันนั้นเรียกว่าเราคิดค้น มันฟูขึ้นมา อันนั้นเรียกว่าเราทำความรู้อันหนึ่ง แต่เราไม่รู้หรอก เราทำความรู้อันหนึ่งให้เกิดขึ้นมาเหนือรู้ที่มันมีอยู่ ปัญหาอันนี้เราจึงแก้ได้ 

ถ้าหากว่าปัญหาอันนี้ถ้าความรู้ขนาดนี้มันแก้ปัญหานี่ไม่ได้ อย่างเรานั่งอยู่เฉยๆดู คิดไม่ออก เรากำหนดลงไปอีก ความรู้อันหนึ่ง เรียกว่าเราสร้างความรู้อันหนึ่งขึ้นมาอีก ในทางพุทธศาสตร์แล้ว สร้างญาณใหม่ขึ้นมา สร้างความรู้ใหม่ขึ้นมา เพราะความรู้อันนี้มันแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว มันได้มาอย่างนั้น แต่น้อยเท่านั้นหละแล้วก็มีปรากฏการณ์อยู่ แต่เราไม่พิจารณา เดี๋ยวเราออกไปในที่วุ่นวายแล้วเป็นต้น เรากำหนดมันก็คิดง่ายๆ เพราะคนไม่วุ่นวาย เราจะทำเลข คิดเลขอะไรต่างๆนี่ คนตั้งห้าคน สิบคนพูดกันอะไรวุ่นวายอยู่ คิดได้ง่ายๆมั้ย ถ้าเราออกไปข้างนอกซักพักหนึ่ง เงียบ ตั้งใจอยู่คนเดียวน่ะ ปัญญามันเกิดเทียว 

ฉะนั้นศีลนี้ก็มีอาการอย่างนั้น คือทำกาย จิต ของเราไม่ให้มีความผิด ไม่ให้เคลือบแคลงสงสัย ทีนี้เมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่มีความผิดในกายวาจาเราแล้ว จิตมันก็สงบ จิตไม่มีเรื่องอะไร จิตก็สบาย เพราะความผิดไม่มีแน่ ศีล ปัญญานี้ถ้าเรากล่าวเป็นบทบาท มันก็คนละอย่าง เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ถ้าหากเรากล่าวให้มันรวมกันแล้วก็คือ มีหลักสามหลักอันเนี้ย สามก็จริงแต่ว่ามันทำงานรวมกันอย่างเนี้ย ทำงานอันเดียวกัน ชิ้นเดียวกันนี้ ให้ความสงบเกิดขึ้นมา ให้ปัญญาเกิดขึ้นมา มันชิ้นเดียวนี้ เหมือนที่ไม้เราสามไม้ สามเส้าเนี่ย เอาอันเดียวก็ไม่ได้ สองก็ไม่ได้ สาม แต่ว่าเป็นสามก็จริง เป็นศีล ก็จริง เป็นสมาธิ ก็จริง เป็นปัญญาคือชื่อมัน แต่ว่าสามอย่างนี้มันทำงานรวมอันเดียวกันแล้วเกิดผลขึ้นมา เราจะเห็นว่าอันนี้มันทำงานร่วมกันอันเดียวนี้ เราจะเรียกธรรมะอันเดียวก็ได้ ศีลก็ช่วยกำลังหนึ่ง สมาธิก็เป็นกำลังหนึ่ง ปัญญาก็เป็นกำลังหนึ่ง มาทำงานร่วมแรงเดียวกันกลมเกลียวก็เป็นอันเดียวกัน ก็เรียกว่า มรรคสามัคคี คือความสามัคคีเกิดขึ้นเมื่อไหร่เป็นต้น นั่นแหละ ไอ้การตรัสรู้ธรรมเมื่อไหร่มันก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น 

เมื่อความสามัคคีเกิดขึ้นมา เหมือนพวกเราท่านทั้งหลายเหมือนกัน เมื่อมีความสามัคคีกันเมื่อไหร่สบายเลย อย่างนักเรียนหรือครูโรงเรียนเรานั่นแหละ เมื่อครูสามัคคีกัน นักเรียนสามัคคีกันในโรงเรียนนั้น เกิดความสบายขึ้นเดี๋ยวนั้น เมื่อนักเรียนไม่สามัคคีกัน ครูไม่สามัคคีกัน ไปคนละทิศละทาง มันจะสามัคคีกันยังไง มันก็ไม่สงบเท่านั้นแหละ มีแต่ครูก็ดี นักเรียนก็ดีเป็นต้นให้กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ครูก็รู้จักหน้าที่ของครู นักเรียนก็รู้จักหน้าที่ของนักเรียน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ปัญหามันก็ไม่เกิดขึ้นเท่านั้นแหละ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น การทำสมาธินี่เหมือนกันเป็นต้น มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาแล้วนะ ไอ้ความดีทั้งหลายมันก็เด่นเกิดขึ้นมาตรงนั้นแหละ ตรงที่มันช่วยกันสามัคคีนั้น 

ไม่พูดถึงอย่างอื่น ย่อเข้ามาอีกทีหนึ่ง ย่นมาเป็นตัวของเรานี้ เมื่อดิน เมื่อน้ำ เมื่อไฟ เมื่อลม เมื่อธาตุทั้งสี่เนี้ย มันรวมสามัคคีกันเป็นอันเดียวกันแล้ว ร่างกายนี่ก็สดใสสบาย นี่เพราะความสามัคคีในร่างกาย ถ้าร่างกายไม่สามัคคีกันแล้ว ไฟมันแรงไป ลมมันน้อยไปซะ ดินมันมากไปซะ อะไรไปมั้ย อย่างนั้น มันสามารถทำอะไรไม่สำเร็จขึ้น เหมือนกันกับมนุษย์เราทั้งหลาย คนซัก ๑๐ คนนี้ ช่วยยกหินซักก้อนหนึ่ง หรือท่อนไม้ซักท่อนหนึ่งซะ ๑๐ คน ถ้ามันช่วยกันทุกคน มันก็ยกขึ้นเท่ากำลังแรงมี ๑๐ คน ยกขึ้น ถ้าหากว่ามีคน ๕ คน มีแต่บอกว่า เอ้าๆ แต่ ๕ คนไม่ยก แต่ว่า เอ้าๆ หมดทั้ง ๑๐ คน ลงกำลังเพียง ๕ คน จะยกขึ้นมั้ย มันก็ขึ้นไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่สามัคคีอย่างนั้น 

ธรรมะนี้มันก็แฝงไปอย่างนี้ทุกก้าวกับชีวิตของมนุษย์เราทั้งหลาย อันนี้ธรรมะประจำชีวิตของพวกเราทั้งหลาย อย่าประมาท จะทำอะไรก็ทำให้มันจริงๆ มันถึงไม่เสียผลประโยชน์ จะเป็นนักเรียนก็เป็นนักเรียนจริงๆ เป็นคนว่าง่าย เป็นคนสอนง่าย ใครจะว่าอะไรก็ช่างมันเถอะ เอาแต่ความรู้เราเท่านั้นแหละ ให้มันได้เถอะ ครูก็เหมือนกันไม่ต้องไปทำอะไรอื่น พยายามสอนนักเรียนให้เข้าใจ ให้ข้ออรรถต่างๆเป็นต้น ตั้งอกตั้งใจ ครูก็ตั้งใจสอน นักเรียนก็ตั้งใจฟัง เท่านั้นแหละ ลองสิถ้าไม่ดี ไปทำดูเถอะ โรงเรียนนารีนี่ ลองซิ มันก็ดีเท่านั้นแหละ ไอ้ความดีนี่มันดีทุกคน มันก็น่าเอาไปพิจารณาวันนึง ไอ้ความดีทุกคน ต้องการความดีทุกคน นักเรียนก็ต้องการความดี ความรู้ ครูก็ต้องการความดี ความรู้ แต่ความดีนั้นมันเกิดจากความสามัคคี ถ้าสามัคคีไม่พร้อมกันเถอะ มันจะดีเท่าไหร่มันก็ดีไม่ได้เท่านั้นแหละ 

นี่คือธรรมะมันเป็นอย่างนี้ อันนี้ในหน้าที่ของแต่ละหน้าที่ อันนี้นักเรียนก็ต้องพยายามทำ พยายามทำ เคารพในการเรียน ครูก็ต้องเคารพในการระเบียบวินัยของเราทุกคน อีกอย่างนะ มีคุณวิเศษอย่างหนึ่งนะ ครู บางทีพูดแรงไปบ้าง เราก็ให้อภัยแก่ครูมั่ง เพราะว่าท่านเป็นครูเรา แต่ว่าครูก็อย่ารุนแรงเกินไป เห็นเราเป็นครูเขา อย่าให้รุนแรงเกินไป ให้มันพอเหมาะพอสมกัน นักเรียนก็เอาอำนาจเสมอกับครูก็ไม่ได้หรอก เราเป็นเด็กน้อย คารโว จะ นิวาโต จะ สันตุฏฐี จะ กตัญญุตา สรุปไปมั่ง อย่างคนแก่ พูดผิดๆถูกๆก็ให้ไปเถอะ คนแก่ อย่างนี้มันก็สบายไปแล้ว ทำงานหลงหน้าหลงหลังไป ก็ให้เถอะ คนแก่ เรารู้จักอย่างนั้น กำลังของคนแก่เพียงใด เราก็รู้จักกำลังของคนแก่ คนหนุ่มวิ่งไปแปดกิโล จะให้คนแก่วิ่งไปได้แปดกิโลเหมือนกัน มันก็สู้ไม่ไหวแล้ว ให้รู้จักกำลังอย่างนี้ 

หรืออีกประการหนึ่งเช่นว่าถ้าหากว่าดีที่สุดเป็นธรรม พ่อบังเกิดเกล้าของเรานะ เป็นพ่อเรา สมมุติให้ฟัง เลี้ยงเรามาจนใหญ่ จนเติบโต จนได้การศึกษาเล่าเรียนเต็มที่ แต่แกเป็นคนกินเหล้า แกเป็นคนกินเหล้า ไปที่ไหนก็โลเลที่นั่น ห้ามก็ไม่ฟัง แกก็เอาของแกอย่างนั้นน่ะ เราจะเอาไงถ้าพ่อเราเป็นงั้น เอาไปฆ่าทิ้งเหรอ เราก็คิด มันก็เรื่องของแกนะ เรื่องแกกินเหล้าก็เรื่องของแก ก็กรรมของแก เรื่องคุณของแกนั่น เลี้ยงเรามาก็ทิ้งไม่ได้เหมือนกัน เราต้องยกไว้เป็นพ่อเราอย่างเก่า อันนี้คือทางดีที่สุด ทีนี้เมื่อครูผิดพลาดไปบางครั้ง ก็ให้อภัย อันนี้ก็เป็นครูเรา หวังดีต่อเรา อย่างนี้เป็นต้น เราเป็นนักเรียนกับครู ก็เหมือนพ่อกับลูกนั่นเอง ให้อภัยกันได้ อย่างนี้มันก็เป็นธรรมะ 

อันนี้ก็เหมือนกัน ปัญญาที่จะเกิดเช่นนี้ก็เพราะการมีธรรมะ การฝึกธรรมะอย่างนี้ ไอ้ผลงานที่จะเกิดขึ้นที่ดีนั้น อันนี้ก็เพื่อรากเหง้าเค้ามูลมันก็คือศีล คือสมาธิ มีปัญญา ถึงแม้จะเป็นธรรมะเป็นต้น นี่เรียกว่าศีลธรรม เรียกว่าศีลธรรม ไม่ได้พูดถึงว่าละอะไรทั้งหมด ละแต่สิ่งที่มันไม่ดี ถ้าหากว่าผลที่สุดในทางพุทธศาสตร์นั้นดีชั่วท่านให้ละให้หมด เราไม่ถึงขั้นนั้น เราถึงขั้นทำจิตใจของเราให้เยือกเย็น ให้เป็นกุศล ให้มีความเมตตาสงสาร ให้อภัยกันได้ เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น เรียกว่าศีลธรรมให้มันถูกต้อง เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้สอนง่าย ท่านให้สำนึกในตัวบ่อยๆ ถ้าหากว่ามันไม่ค่อยสบาย ก็มานั่งสมาธิเสีย กราบพระ ไปนั่งสมาธิ กำหนดลงไป ครูก็ตาม นักเรียนก็ตาม แล้วจึงไปเรียน ไปสอนนักเรียน ให้ไปโรงเรียนทุกวัน ถ้ามาก็ให้กราบพระ ไปก็ให้กราบพระ ตอนกลางคืนมาก็ให้เวลานั่งสมาธิซักพักหนึ่ง ให้มันพยายามติดต่อกัน เมื่อเราเดินไปเดินมาก็ให้มีสติสตังไว้ อะไรมันผิด พูดผิดมั้ย พูดอย่างนี้ถูกมั้ยผิดมั้ยเป็นต้น คนอื่นรังเกียจมั้ย อะไรมั้ย ต้องมีสติสัมปะชัญญะควบคุมตัวอยู่เสมอนะ ดังนั้นจึงเป็นจิตที่ผู้รู้ตามรู้ตามเห็น เป็นผู้ภาวนาอย่างนั้น มันถึงดีได้ ต้องให้รู้สึกตัวอยู่ทุกอย่าง อย่าไปเข้าใจอย่างอื่นนะ 

ถ้าเรามีธรรมะจริงๆแล้วเราไปไม่ได้หรอก มันทำชั่วไม่ได้ สถานที่ทำชั่วไม่มี สถานที่ทำผิดไม่มี เรื่องธรรมะ เราจะทำชั่วอยู่ที่ไหน คนทุกๆคนมันชอบเห็นอย่างนี้นะ ไปหลบๆทำซะ บางทีมันคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมา กลัวพ่อจะเห็น กลัวแม่จะเห็น กลัวครูจะเห็น กลัวนักเรียนจะเห็นอะไรเนี่ย ไปแอบทำซะ พลางๆ ที่คนไม่เห็นน่ะ แอบทำอยู่คนเดียว ไม่รู้ว่าทำอะไร ทำผิดๆน่ะ กลัวคนจะเห็น กลัวครูจะเห็น กลัวนักเรียนจะเห็น กลัวพ่อแม่จะเห็น กลัวคนอื่นจะเห็น หากว่าจะทำความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง คิดอย่างนี้ ตอนนี้ไปหาสถานที่ ไม่มีใครเห็น เราก็ทำ ทำแล้วนึกว่าไม่มีใครเห็นเราก็ดีใจ แน่ะ นี่คือคนโง่เป็นอย่างนั้น ทำไมคนจะไม่เห็นหละ ใครเป็นคนทำหละ ที่ทำไม่ใช่คนเหรอ เราไม่ใช่คนเหรอ นี่มันดูถูกตัวเราเกินไป หือ ไปหาที่ไหนคนไม่เห็นถ้าเราทำ หลบไปทำคนเดียว ไม่ให้ครูเห็นได้มั้ย ไม่ให้คนเห็นได้มั้ย จะอยู่ในดินฟ้าอากาศที่ไหนก็ตามเถอะ ที่ลับมันไม่มีแล้ว นี่ถ้าเราเป็นธรรมะ ฉะนั้นถ้าคนรู้จักธรรมะแล้ว จึงไม่กล้าทำความชั่ว ในที่ลับในที่แจ้ง ต่อหน้าลับหลัง ไม่เคยทั้งนั้นแหละ ที่ไหนมันรู้ทั้งนั้นแหละ นี่มันเป็นอย่างนี้ธรรมะมันเป็นอย่างนี้ คือทำความผิดไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น 

ทีนี้พวกเราทั้งหลายนั้นทุกๆคนที่เป็นนักเรียนนะให้เข้าใจว่าในเวลานี้ เราเป็นลูกคน ถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้สักขนาดไหนก็ช่างเถอะ แต่ว่าความฉลาดยังไม่พอ ไม่พอ ความฉลาดไม่พอ อย่างวันนั้นก็ไปในวัง เจ้าฟ้าชายก็มาเฝ้า ท่านเรียนว่า เอ ทำยังไง ลูกชายมันใจร้อน คนอายุขนาดนั้นมีความรู้จริง แต่ความฉลาดไม่พอ อาตมาก็ตอบว่า จริง ความรู้มาก แต่ความฉลาดไม่พอเพราะว่าอายุ วัยเรายังไม่ครอบที่สูงแล้วมันก็เป็นอย่างนี้ทุกคน แต่ก็ให้ทำเพียรไป ให้นั่งสมาธิไป ให้อาศัยธรรมะเรื่อยๆไป ถ้าหน้าร้อนนี่ ลูกชายนี่ใจร้อนมาก จะทำยังไงดี ก็แอบอิงธรรมะเรื่อยไป อย่าตามใจเจ้าของเกินไป ให้ระมัดระวังตัว แต่อายุมาครอบขึ้นมาสูงแล้ว มันค่อยเป็นไป ความฉลาดมันเกิดมีมาเองมัน 

อย่างพวกเราก็เหมือนกันนั่นแหละ เด็กๆอายุรุ่นนี้รู้เท่าไหร่ก็ช่างมันเถิด แต่มันไม่ฉลาดที่จะต้องทำงาน มันจึงต้องมีอยู่นั่นเอง มันขาดอุปกรณ์ในหลายอย่าง บัดนี้เราเป็นลูกคน เราก็ไม่รู้ว่า พ่อแม่เราเป็นยังไง พ่อคนแม่คนเป็นยังไง เดี๋ยวนี้เราเป็นเด็ก ผู้ใหญ่เป็นยังไงอย่างแท้จริงเราไม่รู้จัก บัดนี้เราเป็นนักเรียน เราเป็นผู้เรียนหนังสือ ว่าหน้าที่แท้จริงของครูอย่างแท้จริงนั่นคืออะไรเรายังไม่รู้ ทุกคนยังไม่รู้ เพราะว่าเรายังไม่เคยเป็นครู เรายังไม่เคยเป็นพ่อแม่คน พ่อแม่คนเราก็ไม่รู้จักตามเป็นจริง เพราะเราเป็นลูกคนอยู่ เรายังไม่เคยเป็นครู เรารู้จักครู แต่ไม่รู้ถึงครู มันเป็นซะอย่างนี้ เหมือนกันกับเราเห็นคนแก่ ไม่รู้จักคนแก่นะ เห็นคนแก่ ไม่รู้จักคนแก่ เห็นแต่คนอื่นเค้าแก่ เราจะแก่อะไรก็ไม่รู้เรื่อง เมื่อโน้นเมื่อฟันมันโยกน่ะ เออ คนแก่เป็นอย่างนี้นะ เมื่อหลังหง่อมๆ คนแก่เป็นอย่างนี้ เมื่อเราเป็นหนุ่มอยู่ ไม่รู้จักคนแก่ รู้แก่แต่ไม่รู้ เห็นคนแก่ ไม่รู้คนแก่ ถ้าเราเป็นคนแก่ รู้หละทีนี้ ตาก็ไม่สว่างแล้ว หูก็ไม่ได้ยินแล้ว หลังก็ง่อมไปแล้ว รู้เลย อ้อ คนแก่เป็นอย่างนี้ ไอ้คนหนุ่มนั้นไม่รู้จัก แต่คนแก่มาบรรยายถึงเรื่องคนหนุ่มนั่นรู้จัก เพราะมันผ่านมาแล้ว อย่างนี้ทุกอย่าง ไอ้ความฉลาดที่เรามีอยู่ในใจนี้ไม่พอ ไม่พอ ฉะนั้นบัดนี้เราเป็นเด็กนักเรียน ต่อไปเราจะเป็นผู้ใหญ่ ไปเป็นครู เป็นคนสอนคน เราจะต้องพยายามสอนตัวเรา เก็บทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เราเป็นนักเรียนขึ้นไปจนตลอดเป็นครู ให้รู้จัก วิสัยเราเป็นเด็กเป็นยังไง เป็นนักเรียนยังไง ความรู้ทั้งนั้นนะให้ขึ้นไป

วิธีการเรียนการสอนคน เราสอนคน ทำไมคนไม่เชื่อเรา พูดกับนักเรียน นักเรียนก็ไม่เคารพไม่ค่อยเชื่อเราว่ายังมีเหตุอยู่ ว่ามันมีอะไรมั้ย มันจะต้องมีอะไรอยู่ ไอ้นักเรียนไม่เคารพเรา พูดไม่ค่อยฟังเรานี่ เรามันมีอะไรอยู่ มันมีอะไรอยู่ในตัวของเรานั้น ที่ยังไม่พร้อม เราควรแก้มันเสีย นักเรียนการเรียนเรายังไม่ดีอยู่ สอบไม่ค่อยได้ดี ความรู้ไม่ดีน่ะ นี่มันเพราะอะไร ไม่ใช่ว่าบุญวาสนาบารมีของเราอะไรหรือ การกระทำเราเป็นยังไง การเรียนเราเป็นยังไง การขยันเราเป็นยังไง การเคารพในการศึกษาเล่าเรียนเราเป็นยังไง อย่างนี้ดีกว่า ไม่ต้องหาผูกดวงน่ะ มันติดอะไรอยู่ เนี่ย มันเป็นซะอย่างนี้ซะ มันเป็นอย่างนี้ ถ้าเรามาฝึกฝนเช่นนี้แล้วนะ ไอ้ความรู้อันนี้มันจะกลมเกลียวเกิดธรรมขึ้นมา เป็นธรรมชาติที่ดีมาก ต่อไปเราจะเป็นคนปกครองคน เป็นผู้ใหญ่นะ เป็นเจ้าเป็นนายนะ รักษาผืนแผ่นดินเมืองไทยเรานี้ไว้ เพราะว่ารุ่นทำมาก่อนๆ เดี๋ยวเค้าก็ไปแล้ว แก่แล้ว ถ้าเราทำไม่ดี ก็พาลูกหลานของเราวอดวายแล้ว ไม่เหลือแล้ว 

นี่ เราต้องเรียนทางธรรมะ ธรรมะนั้นน่ะเหมือนเกลือ ไอ้ความรู้ของพวกเราทั้งหลายน่ะเหมือนกับเนื้อหรือปลา มีปลา เนื้อมันอร่อยอยู่ จะเก็บไว้ไม่ได้ เพราะอะไร มันเน่า จะต้องมีเกลือใส่เข้าไป แล้วจะเก็บไว้นานๆก็ได้ ความรู้เรามีอยู่ ธรรมะไม่มี ความรู้เรามีอยู่ ความดีไม่ดี เรียนรู้ก็ดี ความรู้ก็ดี พูดก็ดี อธิบายก็ดี แต่ทำไม่ดี มีประโยชน์มั้ย นี่ ให้เราคิดอย่างนี้ ถ้าเราคิดส่วนตัวของเราแล้วก็คิดถึงครอบครัว บ้านเมืองของเรา คิดถึงผืนแผ่นดินของเรา กุลบุตรกุลธิดาของเราทั้งหลายนั้น ให้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นั้น อย่าไปว่าคนยังไม่ทำ คนนี้ยังไม่ทำ คนนี้ยังไม่เอา คนนี้ยัง…อย่าไปพูดอย่างนั้น พูดอย่างนั้นมันหมด มันหมดไป ไอ้ความชั่วทั้งหลายเห็นง่าย ไอ้ความดีมันเห็นได้ยาก ก็ต้องพยายามอดทนฝึกฝน อย่างเราเรียนวิชาความรู้นี่ก็เหมือนกันฉันนั้น แต่เรารู้ให้มันดี รู้ไม่ดีแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่เหมือนกับเรามีกำลัง เอาไปรบราฆ่าฟันกันอย่างอื่น มันก็ไม่ดีนั่นแหละ เอาไปทำการทำงานที่ถูกต้อง มันก็เกิดประโยชน์เท่านั้น ไอ้ความรู้นี่ก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้าหากว่าไปตั้งอยู่ในคนอันธพาลแล้ว ก็เหมือนเอาไอ้อาวุธใส่มือโจรเท่านั้นแหละ ไอ้ความรู้ไปตั้งในคนพาลแล้ว ทำอะไรให้วอดวายหมด ความรู้สิ ไปตั้งนักปราชญ์ซะแล้วเป็นต้น จะทำประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญขึ้น จะต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา 

นี้เมื่อเรามีทำสมาธินี้ มีเหตุผลอย่างนี้ ปัญญามันจะเกิดอย่างนี้ มันจะออกความคิดอย่างนี้ มันจะละความโลภ โกรธ หลง ลงไปทีน้อยๆ ความเมตตาอารีย์เกิดขึ้นมา มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ถ้าอะไรมันสามัคคีพร้อมเพรียงกันขึ้นมาแล้ว มันก็เกิดประโยชน์ ในหมู่นั้นในคณะนั้น ในชาติที่เราเกิดมานี้ก็มีประโยชน์ ไอ้ความดีของคนนั่นน่ะ มันดีที่การกระทำดีนี้ ไม่มีอะไรจะไปที่ไหนหรอก หอบไปไม่ได้หรอก ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี เคหะสถานบ้านช่องก็ดีนะ ไอ้ความดีนี่แหละมันช่วยเรา เราทำความดีมาแต่เมื่อวานนี้ก็ดีเถอะ มาดีมาถึงวันนี้ วันนี้เราก็ทำความดีต่อไปถึงพรุ่งนี้ ปีนี้เราทำความดีอยู่เป็นต้น มันก็เจือจุนไปถึงปีหน้า ต่อๆไปเรื่อยๆไป ชาตินี้มีอยู่ ก็ชาติหน้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีอย่างอื่น นอกจากทำใจนี้ให้สงบระงับ อดทน เมื่อถูกอารมณ์มาวุ่นวายมานิดๆหน่อยๆ ก็อดทนเอา ไอ้ความโกรธก็ดี มันไม่โกรธอยู่กันทั้งปีกันทั้งชาติหรอก มันโกรธประเดี๋ยวประด๋าวมันหิวข้าว มันก็ไปกินข้าวแล้วมันก็หายแล้ว อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น อย่าทำตามอารมณ์ของเจ้าของ ให้มองข้างหน้าข้างหลัง จะเป็นครูก็ดี จะเป็นนักเรียนก็ดี โรงเรียนที่เราอยู่นั้นจะสามัคคีกัน จะเจริญ ปัญญามันจะเกิดขึ้นมา 

นี่การรักษาศีลนี้ มันมีดีอย่างนี้ เรียกว่าศีลธรรม การทำสมาธินี่ มีจิตสงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็เห็นชัด เมื่อเห็นชัดแล้ว ปัญญามันก็เกิด ปัญญาเกิดก็ไปเห็นสิ่งที่ผิดที่ถูก เมื่อเห็นสิ่งที่ผิดที่ถูกแล้ว มันก็ละสิ่งที่มันผิด มันก็ประพฤติสิ่งที่มันถูกเท่านั้น เมื่อมันถูกแล้วมันก็ดี มันก็ชอบเท่านั้น ตรงนั้นคือผลที่เกิดขึ้นมา 

วันนี้นักเรียนและครูทั้งหลายนั้นมาอบรมศีล อบรมสมาธิ อบรมปัญญา แต่ว่าถ้าหากว่าใคร จะเป็นครู หรือเป็นนักเรียนก็จริง ถ้าใครจะมีส่วนตัวมาเป็นเวลาพักร้อนหรือเวลาใดต่างๆนั้น จะมาขออาศัยอยู่วัดหนองป่าพงก็ได้ มาทำกรรมฐานกับเขาซักอาทิตย์หนึ่ง สองอาทิตย์ สามวันสี่วันก็ได้ ให้โอกาส 

ทีนี้ไอ้ความวุ่นวายของพวกเรามันมากขึ้นมา ต้องมาสร้างกำลังจิต อาตมาไปยุโรปแล้วก็มาฝึก มาฝึกกันอย่างนี้ มันวุ่นวายมากบ้านนั้น จนมันไม่อยากเอาบ้านเอาช่อง เอาเงินเอาทองซะแล้ว มันวุ่นวาย มันเหนื่อย พอไปตั้งกรรมฐานขึ้น มาเต็มมานั่ง เค้านั่งทนกว่าคนไทยเรานะ คนไทยเรานั่งไม่ถึงสามสิบนาที อึอะๆแล้ว ทำยังไง ไปฝึกฝรั่งครั้งแรก สามสิบนาทีนะ ต่อไปอีกไม่ถึงอาทิตย์เลย เอาให้มันถึงชั่วโมงหนึ่งนะ ได้ชั่วโมงหนึ่งต่อไปอีก ขออีก ชั่วโมงสามสิบนาที มันนั่งกันดีนะ เค้าไม่รู้จักอะไรนะ ไม่รู้จักอะไร เค้ารู้จักแต่จิตเค้าวุ่นวายเท่านั้น ไม่รู้จักสิ่งที่ระงับสงบแล้ว ไปถึงที่ โอ้โห พวกนี้มากเหลือเกิน พวกนี้มาก พวกนักเรียน พวกครู พวกนางพยาบาลนี่ เบื่อแล้วก็นี่เบื่อแล้ว หาทางความสงบทางจิตใจแล้ว ไปตั้งเป็นกลุ่ม ไม่รู้ใครเอามาตั้ง แต่เค้าทำดีนะ เค้ามาทุกวัน 

เค้าไม่รู้จักวันพระวันเจ้า แต่เค้าดีกว่าเราที่รู้จักวันพระวันเจ้า คือเค้ามาทุกวัน เราบ่นกันว่า เอ้ย เอ็งมันนี่ไม่รู้จักวันพระวันเจ้า มันเป็นเปรตเป็นผีซะแล้ว เราก็นึกว่าเราดีเต็มที่แล้ว เมื่อไปถึงที่เขาไม่รู้จักวันพระวันเจ้าจริงๆแล้ว มันดีกว่าเราอีก มาทุกวัน มันไม่คอยวันพระเนี่ย นั่งกันเป็นแถว ผู้หญิงผู้ชาย สงบระงับ แล้วเข้าใจ พูดเรื่องจิตใจ เข้าใจ จิตสงบระงับมาก ไปคราวนี้ถึงสองเดือนกว่า ได้ประโยชน์มาก ได้ประโยชน์มากปีนี้ ไปโปรยธรรมะได้ประโยชน์มาก ตั้งเป็นสาขาอยู่ในกรุงลอนดอนหนึ่งสาขาแล้ว กรุงปารีสหนึ่งสาขาแล้ว ได้สองสาขาแล้ว เมืองนอกน่ะ จับฝรั่งให้เค้าอยู่นั่นแหละ ดีมาก สนใจมาก กำลังสนใจ 

ไอ้คนที่มันจมอยู่ในโคลนมันก็จมจริงๆ ไม่รู้เรื่อง ไปเห็นพระไม่รู้จักว่าเป็นผู้หญิงผู้ชายเป็นพระ มันมองนะ มันมอง เจ้าคุณท่านไป จะไปห้องสุขา ถ้าห้องสุขาผู้ชายแล้ว ไม่ให้ มันไล่ไปห้องสุขาผู้หญิง มันไม่รู้จักเลย ไม่รู้จัก อันนี้ก็ตามคนที่ไม่รู้จักก็ไม่รู้จักจริงๆ ไม่รู้จัก ไม่รู้จักว่านี่ตัวอะไรก็ไม่รู้เรื่อง เพราะเราไปห่มผ้า เราไม่เคยเห็นนี่ ประเทศเค้ามันหนาว จนผมหนวดรุงรัง มันหนาวเราไปโกนหมดด้วยซ้ำ มันก็ล้างกันนี่ มันก็ไปคนละทิศละทาง เค้าก็ดูนี่ตัวอะไร คนมาจากไหน เป็นอะไร ท่านเป็นอะไร ผู้หญิงผู้ชายไม่รู้เรื่อง ถึงขนาดนั้น 

ที่คนมันเบื่อมันแสวงหาความสงบแล้ว ก็ดีมากที่สุด มันกลับกัน แต่สนใจมาก และง่ายด้วย ง่าย พูดง่ายด้วย มันถึงจิตแล้วมันก็ไปทำ สอนแล้วมันก็ไปทำ เกิดความสงบ เกิดสมาธิขึ้น มันก็เห็นความสงบในที่นั้น ไอ้พวกนั้นสอนสมาธิก่อน ศีลไม่ต้องสอน คือศีลเค้าไม่ต้องอะไรแล้ว มันพอแล้ว ไปหาคนฆ่าสัตว์มันไม่มีหรอกทางโน้น ไม่มีอ้ะ เรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนี่อย่าไปนั่นน่ะ มันเป็นที่ๆของเขาเป็นบริษัทอยู่ อย่างหากินสัตว์เล็กสัตว์น้อย กระรอก กระแตนี่ไม่มีแล้ว กระต่ายนี่กินอยู่เป็นฝูงๆนานๆ บ้านเรา มาคิดถึงบ้านเรา โอ้ย มันดันกันไปถึงกุดจี่ขี้ควายน้อ มันนึกถึงกันไม่ได้ ลำบาก นี่ เค้าสอนความสงบไปเลย 

พวกเราทั้งหลายก็ตั้งใจเถอะ ตั้งใจสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นในพุทธศาสนานี้ มีประโยชน์มาก โรงเรียนเราจะสบาย ครูจะสบายใจ นักเรียนสบายใจ คือมันปล่อยมันวางให้กัน มันให้อภัยกัน มันมีเหตุผลในธรรมะ ไม่ใช่มีเหตุผลในทางโลก มีเหตุผลในทางโลกนี่มันไม่จบหละ มันไม่จบ เหตุผลในทางธรรมนี่มันจบ เช่นอาตมากล่าวให้ฟังว่า การทำความชั่วความดีนี่ ทำแล้วไม่เสียหาย ทำแล้วต้องเห็น ต้องเป็น ไปทำที่ไม่มีคนเห็นไม่มีถ้าเราทำ ทำดีตรงไหนก็ได้ดีตรงนั้นหละ คนไม่เห็นเราก็ดีอยู่ คนไม่เห็น เราก็เห็นเรา เราก็เป็นคน เราทำดีเราเห็นอยู่นี้ อาศัยความดีอย่างนี้ เราทำความชั่วก็เหมือนกัน มีคนเห็นอยู่ ถ้าคนอื่นไม่เห็น เราก็เป็นคน เราก็เห็นเราอยู่ เนี่ย เหตุผลอย่างนี้มันหนีไม่ได้แหละ มันต้องทำดีทั้งนั้นแหละ ถ้าเราเห็นตัวของเราอย่างนั้น 

เอาหละวันนี้ การอบรมศีล อบรมสมาธิ อบรมปัญญา ถ้าหากว่าจะทำสมาธิทุกครั้งตามบ้านของเรานั้น ก็ทำแบบนี้ ถ้าหากว่าใครสนใจ มาโดยส่วนตัวก็ได้ มาศึกษาใหม่ ทำได้ แต่ว่าอย่าลืมนะ อย่าลืมว่าสมาธินี้คือความตั้งใจมั่น ใจมั่นอะไร ไปที่ไหนเดินจงกรม หรือเดินไปโรงเรียน มาจากโรงเรียน ทำการงานน่ะ อย่าลืมความตั้งใจมั่นนะ ใจมั่นอะไร ใจมั่นจะไม่ทำความชั่ว จะไม่ทำความผิด จะไม่ทำความเหลวแหลกอันใดแก่ตนเองแก่บุคคลอื่นนี้เรียกว่าสมาธิ ยืนก็ให้พิจารณา นั่งก็พิจารณา อยู่ที่ไหนก็ให้รู้จักตัวอยู่อย่างนั้น รู้จักความผิดชอบเราอยู่เสมอว่าบัดนี้เราคิดอะไรอยู่ เราทำอะไรอยู่ เราเป็นอะไรอยู่ เราทำผิดหรือเราทำถูกเดี๋ยวนี้ นี่ อย่าลืมนะ อันนี้ให้ภาวนาไปเรื่อย พิจารณาอันนี้เป็นสมาธิ นี่เรียกว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม 

อันนี้โอกาสทั้งหลายนี้ที่กล่าวมานี้ ขอฝากครูทั้งหลายและนักเรียนทั้งหลายที่มีศรัทธามาอบรมในวันนี้ เวลานี้ก็เห็นจะพอสมควรกับกาลกับเวลาแล้ว ผลที่สุดนี้ก็จึงมอบให้ครูกับนักเรียนทั้งหลายนี้ มาวันนี้มีศรัทธา นำตัวเองมา แล้วก็นำนักเรียนมาเพื่ออบรมบ่มนิสัย เพื่อฝึกฝน การฝึกฝนอบรมบ่มนิสัยนี้ ไม่ใช่แต่ว่าพระพุทธเจ้าของเรานะ ท่านทำให้เรานะ ไม่ว่าจะครูนะหรืออาตมานะ อาตาอบรมให้เพียงแค่นี้ การกระทำเป็นของพวกครูและนักเรียนทั้งหลายที่จะทำเอาเอง ถ้าหากอาตมาอบรมแล้ว ก็อบรมตัวของเราต่อๆไป นักเรียนทุกคนก็ฉันนั้นเหมือนกัน ขอฝากธรรมะอันนี้ ขอฝากการกระทำอันนี้ ขอฝากข้อประพฤติอันนี้ ปฏิบัติอันนี้ เมื่อมาฟังธรรมแล้ว จะต้องมีธรรมะติดไปให้มันเกิดประโยชน์ ท่านอบรมเราแล้ว เรารับรู้แล้ว เราก็มาอบรมเราต่อไป นี่เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า พระสาวก สาวกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็สอนให้เท่านั้นแหละ ท่านจงทำอย่างนี้ ท่านจงทำอย่างนี้ เท่านี้เอง รู้เอาเอง เห็นเอาเอง รู้จักเอาเอง เป็นอย่างนี้ ถ้าหากอาศัยแต่พระพุทธเจ้าบอกเท่านั้น ไม่ทำตามมันก็ไม่ได้เท่านั้นแหละ 

วันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น อันนี้เอาเป็นอนุสรณ์ไว้ในใจของเจ้าของ ยืนอยู่ที่ไหน ว่าระลึกอย่างไรเดี๋ยวนี้ นั่งอยู่เราทำอะไรทั้งหลายเดี๋ยวนี้ ที่เราทำเรานี้ เราพูดอยู่เดี๋ยวนี้มันผิดหรือถูกมั้ย ชอบมั้ย หรือไม่ชอบมั้ย ต้องรู้จักเจ้าของ ต้องสอนเจ้าของอยู่อย่างนั้น นี้ท่านเรียกว่าเป็นคนมีเจ้าของ เป็นคนมีที่พึ่ง มีพระพุทธเป็นที่พึ่ง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ถ้าคนไม่มีสติสัมปะชัญญะตรวจตราดูอยู่อย่างนี้ ท่านเรียกว่าคนไม่มีเจ้าของ คนหมดเจ้าของ เห็นมั้ย คนเป็นโรคประสาทอยู่ตามตลาดน่ะ เห็นมั้ย นั่นคือคนไม่มีเจ้าของน่ะ ไปพกกระป๋องมั่ง หอบของ ไปพกผ้าขาด มันก็หอบเอา มันยิ้มไปตลอดเวลาของมัน มันเพลินอยู่ มันสนุกสนานกับคนอยู่ในเมืองอุบลน่ะ นั่นคือคนไม่เจ้าของ ให้เป็นคนมีเจ้าของ ถ้าพูดคำหยาบก็ว่าคนเป็นบ้า เสียสตินี้ การไม่มีสติ การไม่รู้จักเจ้าของ มันเสียอย่างนั้น อย่าให้เป็นอย่างนั้น 

จงระลึกได้ว่าวันนี้เราได้อบรมวัดหนองป่าพงแล้ว ให้มีอะไรติดตีนติดมือไป ติดจิตติดใจ ไปประพฤติปฏิบัติ อันนี้แหละโอกาสเวลาก็พอสมควร ด้วยอำนาจของพระศรีรัตนตรัยคือพระพุทธหนึ่ง พระธรรมหนึ่ง พระสงฆ์หนึ่ง จงปกปักษ์รักษาของพวกท่านทั้งหลายผู้มาอบรมในวันนี้ นำธรรมะไปประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้เกิดกำลังกาย กำลังวาจา กำลังปัญญา ให้เป็นผู้ถึงความสงบระงับด้วยข้อวัตรปฏิบัติอันถูกต้องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลที่สุดนี้ขอพวกท่านทั้งหลาย ทั้งครูด้วยทั้งนักเรียนด้วย ทั้งหมดนี้ จงเป็นผู้มีความสุข ความเจริญงอกงามในหน้าที่การงานของตนทุกๆคนเทอญ