Skip to content

หลักการทำสมาธิ

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

| PDF | YouTube 1 (start 23:58) | YouTube 2 (Second Part) | AnyFlip |

ใครที่นำมาใช้กับจิต ถ้าเราจะตรวจดูศีลก็เป็นกุศล ตรวจกาย ตรวจวาจา เมื่อเรารู้ว่ากายของเราไม่เคลื่อนคลาดจากมรรค จากหนทาง วาจาของเราไม่เคลื่อนคลาดจากหนทาง นี้ก็เป็นความสงบอันหนึ่ง เป็นความดีอันหนึ่ง สงบในทางอกุศลไม่ก่อกวน อกุศลทางกาย กายทุจริตไม่มี วจีทุกจริตไม่มี คราวนี้มาตรวจใจ ตรวจใจของเรา อกุศลที่เกิดขึ้นในใจที่จะขัดขวางสมาธิ ไม่ให้สงบ กามะฉันทะ จิตมันปรุงมันแต่งรกเรื่องไปตามกามารมณ์ ทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส คำว่ากามารมณ์ ไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว กามคุณ ๕ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับสัมผัส นี่ เรามีสติ เราเห็นโทษ เห็นทุกข์ เห็นภัยในอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดปัญญา ให้เกิดความมัวเมา เกิดความลุ่มหลง ให้รู้ผิด ให้คิดผิด ให้สำคัญผิด มันไม่ชอบ เมื่อเห็นทุกข์ทั้งหลายก็มีอันนี้แหละเป็นสมุทัย ความหลงอันนี้แหละเป็นตัวอวิชชา อวิชชา อาสวะ เมื่อเราต้องการทำลายอาสวะ ก็ต้องทำลายความหลงอันนี้ ต้องทำความรู้ความจริงขึ้นมา ระวังจิตของเรา รักษาจิตของเรา ไม่ให้มันปรุงไปทางนั้น ให้ปรุงในทางมรรค 

ถ้าจะคิดให้คิดออกความดำริชอบ ดำริเนกขัมมะ คือออก คือออกก็คือเห็นโทษรูปเสียงกลิ่นรสเนี่ย มันก็หมุนอย่างนี้แหละปัญญา ไม่ใช่อื่นไกล ออกจากสมุทัยนี่ ให้เห็นโทษสมุทัย ให้ละสมุทัยก็แปลว่ามันออกจากกัน ใจกับสมุทัยมันออกจากกัน เรียกว่าละบ้าง ตัดบ้าง ทิ้งบ้าง ไม่ยินดีบ้าง แล้วแต่จะเรียก เข้าสู่องค์ฌาณได้ เข้าสมาธิได้ ขั้นสมาธิได้ ถ้าเราไม่เห็นโทษอันนี้ เราก็ต้องพยายาม เมื่อจิตไม่เข้าสมาธิ ต้องมีองค์ใดอันใดอันหนึ่งมาขัดขวางในเวลาปัจจุบันที่เรานั่งอยู่ เราก็ตรวจกามะฉันทะ เมื่อชำระแล้ว เราก็ตรวจพยาบาท มีอยู่ในจิตใจหรือไม่ ปองร้ายสิ่งที่เราชอบไม่ชอบนี่ แท้จริงนั่น กามะฉันทะกับพยาบาทนี้ถ้าเราเอาปัจจุบัน ที่ครูบาอาจารย์ท่านแก้ปัจจุบัน คือสิ่งที่เราชอบ ไม่ว่าสิ่งใดที่เราชอบมันก็ทำให้จิตปรุงโน้มไป มีอคติไปแล้ว ตั้งอยู่ในความสงบไม่ได้ สิ่งที่ไม่ชอบ เช่นสมมุติว่า พอนั่งไปได้ความสบายสงบวิเวก พอใจอันนั้นก็หลับไปเลย นี่กามะฉันทะก็ว่าได้ คือมันพอใจ หลับไปเลย 

ทีนี้พยาบาท พอนั่งไป มันเจ็บมันปวดก็ฟุ้งซ่านไปเลย ท่านเรียกอย่างหนึ่งว่า อภิชฌาโทมนัส คือใจไม่ดึง เกิดฟุ้งซ่านไป เกิดพยาบาทขึ้นมา เพราะฉะนั้นพยาบาทกับอุทธัจจะกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญ มันเป็นประเภทอันเดียวกัน ทีนี้กามะฉันทะกับถีนมิทธะ ความหดหู่จิตไปหลง ไม่มีปัญญา เห็นอนิจจัง เห็นไตรลักษณ์ เห็นทุกขัง เพราะฉะนั้นไม่มีอันอื่นที่จะละนิวรณ์นี้ได้นอกจากสติในปัจจุบันในการบริกรรม อันนี้ละได้ทุกอย่าง คือละนี่ไม่ใช่ว่าตัดขาดนะ ฌาณนี้พึงแต่ผ่านไป แก้เฉพาะหน้าๆ กามะฉันทะแก้เฉพาะหน้า พยาบาทก็แก้เฉพาะหน้า ถีนมิทธะอะไรก็แก้เฉพาะหน้า เอาปัจจุบันที่เรียกว่าบริกรรมนี่เอง 

หากบริกรรมให้หนักแน่นให้มั่นคงอยู่ติดต่อเนื่องกันไประยะหนึ่ง มันปักไปมั่นไประยะหนึ่งแล้วมันก็ผ่านไปๆ จนจิตได้เข้าฌาณได้ละเอียด ได้เข้าขั้นสมาธิแล้ว มันผ่านไปแล้ว นี่ความสงบ มันมั่นคง สติมันมั่นคงแน่นหนา ทีนี้ตัวโมหะความเผลอความหลงลืมที่เป็นปัจจัยที่ให้นิวรณ์อื่นๆเกิดมา มันก็เกิดไม่ได้ เพราะสติมันเป็นธรรมปฏิบัติ เพราะกิเลสทั้งหลายอาศัยความเผลอ เหมือนกับคนที่มาขโมยของอย่างนั้นน่ะ อาศัยเจ้าของเผลอ อาศัยเจ้าของมืดไป อาศัยที่มืด อาศัยคนไม่เห็น อาศัยที่กำบังหลบซ่อน เวลาเราไม่อยู่ เค้าก็ออกมาทำงาน กิเลสประเภทนี้ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสตินี่ บริกรรมภาวนานี่เพื่อกำจัดนิวรณ์นี่เอง เพราะเอาแต่ปัจจุบัน เมื่อนิวรณ์เกิดไม่ได้ สติกับสมาธิกับความเพียรของเรามันทำงานร่วมกัน อันนี้ฝ่ายกุศล ความเพียรก็เป็นกุศลเจตสิก สติก็เป็นกุศลเจตสิก สมาธิก็จิตเป็นที่ตั้ง ตั้งมั่น ทำงานอยู่ด้วยกัน

ความตั้งมั่นถ้าหากว่าเราบริกรรมพุทโธ แล้วก็ไม่หานิมิต ที่ตั้งไม่ได้ ลมหายใจเข้าออก มันก็เข้าออกๆ มันตั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะสร้างสติกำหนดกายของเราทั้งหมด คล้ายกับว่า แบบหลวงปู่ฝั้นท่านว่า เปรียบเหมือนหินยาว เสาหินยาวสี่ศอก ฝังแต่สองศอก ยังเหลือสองศอก ลมมาจากทิศไหนๆก็ไม่กระเทือน จะแรงขนาดำหนก็ไม่กระเทือน ไม่หวั่นไหว คราวนี้ถ้าเราต้องตามจิตตั้งมั่น เรากำหนดกาย กายมันไม่ได้คิด ให้นั่ง มันก็นั่งอยู่ มันไม่คิดอะไร แล้วกำหนดกายเหมือนกับเสาหิน จิตของเราก็เหมือนในเสาหิน แล้วสติก็กำหนดรักษา ให้มั่นอยู่ในที่นั่น เพื่อให้ได้นิมิตก่อน 

นิมิตก็ตั้งให้มันมั่น  คือสมาธิแรกๆนี่ต้องอาศัยนิมิต อาศัยภาพ แต่ภาพมันเป็นธรรม มันเป็นกุศลธรรม เป็นเครื่องหมาย เพราะฉะนั้น บางแห่งจึงตั้งกสิณสีขาวบ้าง ปฐวีกสิณบ้าง เอาน้ำบ้าง เอาไฟบ้าง เอาสีต่างๆบ้าง เพื่อให้ได้นิมิต ได้ภาพ ให้มั่นนิ่ง สิ่งเหล่านั้นล้วนมันเป็นภาพเป็นนิมิตได้ แต่ครูบาอาจารย์บางท่านนี่ สีขาวท่านก็เพ่งกระดูกก็ได้ นะ สีขาว สีแดงก็เพ่งเลือดเพ่งเนื้อก็ได้ภายใน เอาอย่างนั้นก็ได้ กำหนดเพ่งอย่างไหนก็ได้ เพ่งกระดูกไปมันก็ไม่กระดุกกระดิก มันไม่ไปไหน ตั้งตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น ถ้าเพ่งกระดูกภายใน นี่ถ้าหากว่าจิตสงบในกระดูกอันนั้นแล้ว เพ่งอันนั้น พอจิตรวมไปแล้ว มันจะเห็นสังขารไม่เที่ยงด้วย มันจะเห็นอสุภะก็ได้ มันจะเห็นไม่เที่ยงก็ได้ เห็นกายนี้แตกดับ เห็นกระดูกเป็นกองเนื้อกองใหญ่ ก็เห็นร่างกายเป็นเรือนของกระดูก เรือนที่ตั้งด้วยกระดูกที่จิตอาศัย ถ้ามันเห็นชัดแล้ว กิเลสที่จะสร้างความยินดีก็ไม่มีแล้ว กามะฉันทะไม่ทราบจะมายินดีอะไร โครงกระดูก โครงเนื้อ มันพอใจอะไร โลภได้วัตถุข้าวของมา ก็โลภมา เอามาทำอะไร พิจารณาเป็นธาตุแตกสลายไป ก็พิจารณาไปได้ 

เพราะฉะนั้นให้ได้นิมิต ได้ภาพซักอย่างหนึ่ง เป็นหลักให้จิตมีที่ตั้งที่ยึด เหมือนกับนิมิตก็คือสัญญานั่นเอง อสุภสัญญา อนิจจสัญญา อาทีนวสัญญา บางคนกลัวว่าสัญญา มันจะได้สัญญา เท็จจริงอันสัญญาในภาวนา สัญญาก็เป็นนิมิตอันคิดรู้ มันไม่ใช่สัญญานี่ ไอ้ตัวนี้ตัวจิตมันจะได้ปัญญา ส่วนสัญญามันก็สัญญาอยู่ในนิมิต มันอนิจจัง ทุกขัง มันจะละลายไปตามนิมิตอันนั้น สัญญา มันไม่ใช่ สัญญาไตรลักษณ์นี่มันทำให้จิตสงบจิตบริสุทธิ์ มันไม่ใช่สัญญาที่เราไปยึดด้วยกิเลสเป็นผู้นำ ด้วยโมหะเป็นเจ้าเรือนเป็นผู้นำพารู้พาเห็น 

ต้องให้มันมีหลัก เอาอะไรเป็นหลัก เอาอนิจจังก็ได้ ว่าอนิจจังก็มันเป็นตัวธรรมไม่มีรูป เราก็เอารูปของเรานี่แหละ ตัวของเรานี่แหละเป็นเครื่องหมาย นี่ อนิจจัง ถ้าเราไม่เห็นในรูปที่นี่เราจะไปเห็นที่ไหน ทุกขังถ้าไม่เห็นอยู่ในรูปนี่จะไปเห็นที่ไหน อนัตตาถ้าไม่เห็นรูปนี้จะไปเห็นที่ไหน เพราะจิตสติของเรามันยังไม่ละเอียด พอไปเห็นนามธรรมส่วนละเอียดพอ เราก็ต้องดูอันที่ตาเห็นจากภายนอก จำได้ แล้วก็มาดูภายใน มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่เราได้เรียนสรีระวิทยาในนี้แล้ว เราก็พิจารณา เมื่อเห็นชัดแล้วเราก็จะแยกไปวิปัสสนา มันง่าย มันสะดวก เราตรงไหน ถามดู มันก็ไม่เห็นเป็นเรา ของเราตรงไหน ก็ไม่เห็น กองกระดูกมีแต่ทิ้งเท่านั้น ไม่เห็นเอาซักอย่าง เมื่อเห็นแยกไปเป็นเนื้อเป็นหนัง มีแต่ของทิ้งทั้งนั้น มันก็ปล่อยวางได้ สละได้ อุบายต้องอย่างนี้ถ้าเราอยากพ้นทุกข์จริงนะ 

เรามีจิตศรัทธาอยากจะพ้นทุกข์ แต่เราปฏิบัติเพียงว่ามนุษยสมบัตินี่ เราก็ภาวนาพอให้จิตเป็นกุศลมันก็ได้มนุษยสมบัติ ไม่ใช่ว่าไม่ได้อะไร การมาปฏิบัติ ได้เกิดปัญญาเกิดฉลาดในมนุษย์นี่ อยู่ในกามาวจรนี่ กามสุขนี่พระพุทธเจ้าก็เรียกว่ามีอยู่ กามสุข ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่กามสุขนั้นพระองค์ก็พิจารณา พระองค์ดูแล้วมันเป็นสมุทัยถ้าเราไปหลง ที่เราได้ทุกข์ฆ่าฟันรันแทงกันเบียดเบียนกัน โรคภัยทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะอันนี้เอง พระพุทธเจ้าพระองค์มีคล้ายกับว่าญาณดูตั้งแต่มันดีใจจนถึงเห็นโทษ จนถึงสุดทางของมัน พระองค์ไม่ได้ดูแต่เฉพาะเห็นชอบแล้วก็ไปหลงเพียงแค่นั้น พระองค์ยังถามว่าทำไมเราจึงชอบ ทำไมเราจึงหลง ทำไมเราจึงยินดี อันนี้มันเป็นอะไร มันต้องมีปัญหาในใจ เราก็ตามเรื่องเหล่านี้จนให้มันสุด 

ทีนี้เกลียดก็เหมือนกัน ทำไมเราจึงเกลียด เช่นว่าทุกข์มันเกิดขึ้นในใจ เอ๊ะ ทำไมใจของเรา ทำไมถึงมีอคติ อารมณ์ชนิดนี้ทำไมมันถึงไม่ชอบ ก็หงุดหงิดขึ้นมา อารมณ์อีกอย่างหนึ่งทำไมมันถึงชอบ ทำไมมีอคติ สิ่งเหล่านี้มันอะไรกับใจ สิ่งนั้นกับใจเป็นอะไรกัน ก็ดูให้มันชัด แยกกันดูไปขึ้นมา จะได้ความรู้ ได้ความฉลาดจากความรักและความชังนี่เอง 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างน่าจับใจตอนหนึ่งที่ว่า ที่เราได้ตรัสรู้ธรรมก็เพราะของ ๓ อย่างเกิดขึ้นหรือมีขึ้น เราจึงได้ตรัสรู้ธรรม จึงได้บรรลุธรรม ธรรมคำสอนของเราที่ตั้งอยู่ได้นานก็เพราะธรรม ๓ อย่าง ธรรม ๓ อย่างคืออะไร บอกภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างคือ ชาติ ชรา มรณะ นี่ ธรรม​ ๓ อย่างนี้เราจึงได้ตรัสรู้ธรรม ได้บรรลุธรรม ธรรมที่อยู่ยืนยาวทุกวันนี้เพราะมีธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ พวกเราทั้งหลายจึงได้ศึกษา จึงได้มาปฏิบัติ จึงได้อบรม เพราะชาติ เพราะชรา เพราะมรณะ นี่ พระองค์พูดอย่างนี้เราลองเอาไปคิด ลองดู ธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ จริงอยู่เพราะอะไร เพราะพระองค์ทิ้งราชสมบัติ ก็เพราะอันนี้เอง เพราะไปเห็นคนแก่ชรา พระองค์เห็นคนชราแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้หยุดแต่เพียงเห็นชราเท่านั้น จิตพระองค์ก็ประหวัดไปถึงต้นตอของความแก่ชรามาจากไหน ก็มาที่ภพเกิดนี่เอง ถ้าไม่เกิดแล้วจะเอาอะไรมาแก่ ถ้าไม่เกิดแล้วจะเอาอะไรมาตาย เมื่อพระองค์ตั้งหลักอันนี้แล้ว พระองค์ก็ดำเนินการ เรียกว่า วิจัย คือความสอดส่อง เพราะฉะนั้นท่านจึงจัดว่าสัมมาทิฐิ เพื่อหาความเห็นให้มันถูกต้อง ให้มันได้ผลออกมาที่ถูกต้อง 

เมื่อพระองค์ได้ผลถูกต้องแล้วพระองค์จึงจัดสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป ปัญญาความเห็นตรงชอบ เพราะอะไร…เพราะอบรมจิตด้วยสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีวะ อันนี้เอามาอบรมจิตด้วย ถ้าอันนี้ไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง มันก็เป็นอุปสรรคในการละ ความถอน สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ พระองค์เลือกสำคัญๆอย่างรักที่สุด เพราะทุกข์ภัยในวัฏฏะ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตที่ทำให้ทุกข์เกิดมันมีมาก ปัญญาของพระองค์เท่านั้นพระองค์จึงสามารถบรรยัติมรรค ๘ ได้อย่างย่อ อย่างที่คนธรรมดาอย่างเราจะเข้าใจได้ รู้ได้ ปฏิบัติตามได้ พระองค์ย่อเข้ามา ย่อเข้ามาอีก มรรค ๘ ก็ กาย วาจา ใจ ศีล สมาธิ ปัญญา มาอบรมกายวาจาใจ ของ ๓ อย่าง อบรม ๓ อย่าง 

เพราะฉะนั้นสมาธิตั้งมั่น ดูกายเสียก่อนก็ได้ กายเป็นธาตุเปรียบเหมือนเสาหิน แล้วก็ตั้งกำหนดเป็นเครื่องหมายให้เที่ยง ไม่ให้จิตส่งไปที่ไหน ให้อยู่ในนี้ก่อน จะบริกรรมอะไรก็ได้ ถ้ามันจะหลับเราก็กำหนด โอภาสนิมิต ให้สว่างเหมือนกลางคืนเพราะมันหลับมันมืด ทำความสว่างหมายสัญญาโอภาส ทำความสว่าง จะไปฟุ้งซ่านเราก็ยึดกายคือหลักนั่นเอง ไม่ไปไหน หุ้มอยู่นี่แหละ ถ้ามันจะกลัวตายก็ อ้าว ลมหายใจเข้าออกเรามีอยู่ ไม่ตายหรอก คนตายไม่มีลม ให้มันทันกิเลสที่มันอ้างขึ้นมา มันเชื่อว่าลมหายใจสบาย ไม่เห็นขัดข้องอะไรมันก็ไม่ตาย คนตายไม่มีลม มันไม่ทุกข์หรอก ถ้ามีลมหายใจอย่าไปทุกข์ เมื่อไม่ทุกข์เราก็สงบละเอียดๆไป เราก็กำหนดให้มันตั้งมั่นก่อน เรียกว่าสมาธิ เหมือนกับเสาที่ว่าน่ะ อย่าเอาเหมือนกะเอาไม้ไปปัก ใส่ขี้ควายไม่ได้ วางมือไม่ได้ วางมือก็ล่มน่ะ ไปหาหลวงพ่อบัวบ้านหนองแซงท่านก็พูดอย่างเดียวกัน สมาธิต้องปักให้มั่น เราไปจับหลักอันนั้นปฏิบัติมา อย่าทำหลวมๆท่านว่า 

คลุกคลีชุลมุนวุ่นวายกันแต่เช้า จะนั่งสงบสบายๆก็ต้องลุก จิตจะสงบจะสุขจะสบายก็มีเครื่องดีด เครื่องเกี่ยวข้องให้ได้ลุกได้ไปได้ทำ นั่งอยู่สบายๆไม่ได้ เพราะอะไร เพราะขันธ์ที่เรารับภาระ ถ้าไม่ลุกมาทำมันก็ยิ่งจะทำร้ายอีก เพราะทุกข์คือความหิว ทนไม่ได้ คำว่าทุกข์มันทนไม่ได้ เมื่อหิวขึ้นมาจะไม่ให้กิน มันก็ตายจริงๆ เรียกว่าทนไม่ได้ ได้กินเข้าไปแล้ว ถ้ามันไม่ย่อยก็ทุกข์อีก หรือถ้าไม่ออกมา ไปกองอยู่นั่นก็ทุกข์อีก การรู้ทุกข์ทำให้จิตใจของเราเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่หลง ให้รู้ความจริง จิตจะไม่ยึดมั่นในสิ่งที่เป็นทุกข์ คำว่ามัชฌิมานี่จิตของเราไม่มีอคติ ไม่มีฉันทาคติในขันธ์ของเรา รักจนเกินไป โทสาคติ บางทีก็โกรธ เวลาทุกข์เกิดขึ้นเวลาไม่ดี ได้สิ่งที่ไม่ดีไม่พอใจหงุดหงิดในตัวของเราเอง โทสาคติที่ในตัวของเราเองจิตก็เลยตั้งเที่ยงตรงไม่ได้ มันมีอคติ 

ผู้ต้องการความสงบภาวนาต้องรู้จักอคติ ๔ อย่างคือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ภยาคตินี่มีอคติเพราะกลัว ไม่ใช่อคติกับคนอื่น เราจะไปเพ่งเอาอคติกับคนอื่น อคติในธาตุในขันธ์ของเราเองเนี่ยแหละ บางทีเรารักตัวเราเองจนเกินไปจนสร้างความไม่สงบ สร้างความมัวเมา สร้างความเพลิดเพลิน ไม่เกิดปัญญา เราผิดก็เราเกลียดตัวเราเวลาไม่ดี เวลาเจ็บ เวลาป่วยไม่สบายเป็นไข้ หรือมีเรื่องปัญหาเกิดขึ้น น้อยใจทุกข์ใจเสียใจตัวเอง โกรธ ความโกรธนี่มันมีอยู่ ๒ อย่าง ความโกรธถ้าหากว่าเอาชนะได้ เราก็จะเอาชนะ ถ้าเอาชนะไม่ได้ก็เริ่มงอแงขึ้นมา หดหู่ ทำความน้อยใจเสียใจ นี่ก็ล้วนแต่ความโกรธ เพราะฉะนั้นความโกรธก็มีอคติทำให้จิตไม่อยู่ในท่ามกลางมัชฌิมาปฏิปทา หรือทำให้จิตไม่อุเบกขา เมื่อจิตมันอุเบกขาไม่ได้มันก็สงบไม่ได้ เมื่อจิตมันหวั่นไหวเพราะความรักความโกรธก่อกวน โมหาคติ ความหลง อันนี้สำคัญมาก ไม่สามารถจะตั้งสติตั้งสมาธิได้เพราะความหลง หลงรักหลงโกรธเนี่ยแหละ มันสลับกันในนี้แหละ หลงผิดนี่แหละ ภยาคติก็กลัว อันนี้ก็ทำให้จิตหวั่นไหวเหมือนกัน ความกลัวจะเป็นอย่างนั้นกลัวอย่างนี้ให้เกิดวิตกกังวลต่างๆ 

อคติ ๔ อย่างนี้แหละก่อกวนจิตใจของเราที่เรานั่งอยู่นานไม่ได้ สงบอยู่นานไม่ได้ ให้มีความสุขอยู่นานไม่ได้ ให้หวั่นไหวอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นผู้อบรมจิตก็ต้องการสมาธิเพื่อนั่งอยู่สบายเพื่อให้สงบสบาย ต้องตรวจอคติทั้ง ๔ ว่าจิตเรามีอคติในขันธ์ของเราหรือไม่ เช่นเราตรวจดูรูปขันธ์ ตลอดถึงผิวพรรณวรรณะ ร่างกายทรวดทรง อาหารการกินทุกส่วนของรูป เรายึดเรารักเราหลงรักตัวเราเองมากไปหรือเปล่า เคารพมากไปก็กลัวจะแดดจะร้อนกลัวอย่างโน้นกลัวอย่างนี้ กลัวจะหนาว กลัวจะโรค ทั้งๆที่มันไม่เป็นอะไร เรากลัวไปก่อนแล้วไม่ได้ทำจิตที่ควรทำให้มั่นคง เพราะโกรธก็เช่นเดียวกัน เราโกรธเราเหยียดหยามตัวเรามากไปหรือเปล่า เราเหยียดหยามดูถูกโกรธ ก็คิดไม่พอใจในรูปในความเป็นอยู่ของเรา ไม่ใช่แต่รูปอย่างเดียว เราตรวจถึงเวทนาคือความสุขความทุกข์ เรารักความสุขมาก เราเกลียดความทุกข์มาก ก็ทำให้ก่อกวนจิตใจเหมือนกัน 

เพราะฉะนั้นต้องใช้ปัญญาพิจารณา ความสุขความทุกข์มันเป็นเวทนาขันธ์ ให้รู้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเช่นเดียวกันกับรูป ต้องให้รู้เท่าสิ่งเหล่านี้อีก สัญญาขันธ์เราก็ตรวจดูความหมายความจำ เราจะไปหลงผิด หมายสวย หมายไม่สวย หมายสกปรก หมายสะอาด หมายสุข หมายทุกข์ต่างๆอันนั้นเกิดขึ้น แล้วเกิดความหวั่นไหว ความจำความหมายของเรา ต้องให้รู้เท่า ตรวจดูสังขารก็เหมือนกัน จิตที่มันปรุงมันแต่งเราก็ตรวจดูจิตอีก มันปรุงหาอะไรแต่งอะไร เมื่อเราต้องการความสงบแล้วเราก็พยายามที่จะปล่อยวางสัญญา สังขาร ตลอดถึงวิญญาณ ไม่ให้มันซ่านไปอย่างอื่น ให้อยู่ในอุเบกขาทุกส่วน อะไรเสนออะไรเข้าอะไรมาปรากฏเข้ามาเราก็ผ่านไป เราก็เฉย ผ่านไปๆ จิตก็ให้อยู่กับที่งานที่เราภาวนา เราเอาอะไรเป็นงาน เอาลมหายใจเป็นงาน ก็ให้อยู่ในงาน ไม่ทอดทิ้งงาน จะเป็นพุทโธก็อยู่ในพุทโธ อย่าทิ้งพุทโธ จะดูอาการในร่างกาย ๓๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งเราก็ดูสำรวจดูแล้วเราจะยึดอันไหน ดูเพ่งดูเราก็ยึดจับอันใดอันหนึ่ง 

โดยส่วนใหญ่ในสมัยพุทธกาล ดูตามตำรับตำราโดยมากเค้าท่องอาการ ๓๒ จำได้คล่องปากจนสามารถที่จะสร้างภาพ ผม ก็สร้างภาพในใจให้ปรากฏชัดได้, ขน ก็สร้างภาพในใจให้ปรากฏชัดได้ อาการ ๓๒ ให้มันมีภาพมีนิมิตปรากฏในจิตในใจ แลัวเราก็เพ่ง เพ่งให้มันอยู่ ไม่ให้มันเคลื่อนที่ ให้มันอยู่ด้วยความสุข เราก็ตั้งความหมายว่าเราจะได้ความสุขเพราะไม่วุ่นวาย เพราะไม่กระทบกระเทือน เราก็จะได้สงบแน่วแน่ ให้เอาอันนี้เป็นหลัก เราก็กำหนดเพ่งดู ในขณะที่เพ่งอยู่นั้นเราก็เพิ่งด้วยความรู้สึกว่าไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่เราไม่ใช่ของใคร นี่สักแต่ว่าธาตุ แล้วกำหนดไปๆ ผ่านไปเพ่งอยู่ในนั้น ดูอยู่ในนั้น จิตเมื่อมันขาดจากอารมณ์ภายนอกที่มันเคยคิดเคยนึกมันตัดขาดไปแล้วมันก็จะรวมพลังอยู่ในงานที่เราทำโดยเฉพาะโดยจำกัด ถ้ามันทำงานโดยเฉพาะแล้วมันจะเปลี่ยน รู้สึกทันที ตัวเบาทันที แม้แต่เราเดินอย่างตรงเหมือนกัน ถ้ามันตรงอยู่ในขอบเขต ไม่ซ่านไปที่อื่นแล้วการเดินก็มันตัวเบา แล้วมันคล่องตัว รู้สึกว่ามันไม่เหนื่อย เดินมันดูดดื่มทำความเพียรให้ได้ อย่างเราจะยกเรื่องอะไรมากำหนด มันก็เห็นชัด เห็นชัดจริง ให้เกิดความเลื่อมใสและความพอใจและสุขใจในงานที่เราทำขึ้นมา เห็นผลของงาน ศรัทธาของเราก็เพิ่มขึ้นอีก ความเคารพ ความอ่อนน้อมในธรรมในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม พระสงฆ์ก็เพิ่มขึ้นอีก นั่น ปฏิบัติได้ผล เกิดความสงบความสุข 

อันนี้ต้องนักสังเกต นักสอดส่องดูใจของเราว่ามีอคติในขันธ์อันนี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ในอคติ ๔ อย่าง เรารักมันเกินไปหรือไม่ หรือเราชอบ หรือเราเกลียด บางครั้งก็เกลียดเวทนาอย่างนั้น ชอบเวทนาอย่างนี้ เราก็ตรวจดูว่ามีอคติหรือไม่ ถ้าอคติลำเอียงไปทางไหนจิตจะไม่เที่ยงตรงสงบไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราพยายาม สมัยครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าพาประพฤติปฏิบัติ เมื่อได้อาหารพอสมควรแล้วก็แยกกันอยู่ในที่ของเรา จะอยู่โคนไม้ จะอยู่เรือนบ้าน จะอยู่เงื่อมผา จะอยู่ตรงไหนก็พอได้สถานที่แล้ว ก็อุชุกายัง ปะณิธายะ ตั้งกายให้ตรง ปะริมุขัง สะติง ให้มีสติเฉพาะหน้ากำหนดอาการ ๓๒ ทำให้เห็นความเสื่อม ความเกิด ความดับของสังขารคือร่างกาย ให้เห็นชัด และสงบอยู่ มีวิหารธรรมความสงบความสุขนี่เป็นเครื่องอยู่ จิตก็ผ่องใส เบิกบาน เมื่อจิตผ่องใส กายก็ผ่องใส กายก็มีความสุข จิตก็มีความสุข ถ้ามีความสุข อยู่ได้ด้วยอย่างนี้เพราะไม่มีสิ่งก่อกวนด้วยอุบายปัญญาอันชอบ ด้วยสติระลึกชอบ ด้วยความเห็นอันชอบอันถูกต้องมาทำให้ได้ผลขึ้นมา เพราะฉะนั้นได้ยินได้ฟังแล้วก็นำไปปฏิบัติจะได้ปรากฏชัดในตัวของเราเอง เอ้า ตั้งใจรับพร
ที่มา: https://youtu.be/PfUa3iTXIjE เริ่มนาทีที่ 23.58 และต่อด้วย https://youtu.be/nmu-BNgpZF4 จบที่นาทีที่ 32.05