Skip to content

ภาวนาแยก กาย เวทนา จิต

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ก็ตั้งใจ ความตั้งใจคือความเตรียม เตรียมใจของเราในการปฏิบัติ ถ้าความตั้งใจมีแล้วความพยายามก็มี ความพยายามมีแล้วความอดทนก็มี สิ่งเหล่านี้เป็นคุณธรรมของการประกอบกิจการงานเพื่อจะได้บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง การงานใดๆ ถ้าหากความตั้งใจแล้ว การงานเหล่านั้นไม่แน่นอนให้ล้มเหลวเปลี่ยนแปลงไปได้หลายอย่าง ถึงแม้ว่าตั้งใจแล้วก็ยังผิดพลาด เพราะเหตุนั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้ประมาท คือความตั้งใจทำอะไรก็ไม่ให้ประมาท ทอดธุระ อย่านึกว่าง่าย อย่านึกว่าสะดวก แต่เราต้องทำ งานบางอย่างสำเร็จด้วยการกระทำทางกาย งานบางอย่างก็เพียงวาจาก็สำเร็จ งานบางอย่างเพียงแต่ใจคิดนึกก็สำเร็จ เพราะเหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงจัดธรรมไว้ถึง ๓ ประเภท จะเป็นส่วนกุศล จะเป็นส่วนอกุศลก็มีในงานเหล่านี้ สำเร็จจากงานเหล่านี้ งานทางกายก็สำเร็จแสดงออกมาทางกาย งานทางใจก็สำเร็จขึ้นทางใจ ให้ผลแก่ทางใจ งานทางกาย ทางวาจา ให้ผลทางกายด้วยทางใจด้วย งานทางวาจาให้ผลทางใจ ทางวาจาด้วยทางใจด้วย ทางกายด้วย เพราะฉะนั้นงานทุกประเภทเมื่อรวมยอดแล้วอยู่ที่ใจเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องใจให้ได้ความรู้ความเข้าใจในจิตใจของเรา

พระพุทธเจ้าท่านตั้งหลักว่า ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน สำเร็จแล้วด้วยใจ ไม่ใช่สำเร็จด้วยที่อื่น ถ้าใจไม่สำเร็จ ทุกอย่างก็ไม่สำเร็จ ถ้าใจสำเร็จ ทุกอย่างก็สำเร็จไปด้วย เพราะฉะนั้นใจจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ท่านทั้งหลายควรทะนุถนอมควรรักษา ควรทะนุบำรุงจิตใจของเราให้มีกำลังเข้มแข็ง ด้วยอาศัยสติอาศัยปัญญา จิตจึงมีความสามารถ สติความระลึกรู้ ให้มันนึกไป ถ้าสติไม่ค่อยมีความพลั้งเผลอ ใจก็มีกำลังในทางที่รู้เข้าไปหาความจดจำ เข้าไปหาความจริง เข้าไปหาเหตุให้ระลึกได้อยู่เสมอ เข้าใจกันตรงถูกต้อง เป็นกำลังทางจิตใจในส่วนหนึ่ง 

ส่วนปัญญาการสอดส่องวิจัย สิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดข้องก็ดี เราจะได้วิจัยวิจารณ์ให้เข้าใจทั้งเหตุและทั้งผล เพราะผลที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ ต้องมีเหตุ หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงยกเหตุ พระองค์ทรงแสดงจากครั้งแรกที่เดียว พระองค์ทรงแสดงเหตุกับผล เหตุทางดีเหตุทางไม่ดี ผลทางดี ผลทางไม่ดี พระองค์ได้บรรลุเรียกว่าอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ข้อ ทุกข์ นั่นมาจากเหตุคือสมุทัย ทุกข์กับสมุทัยสำเร็จมาจากไหน ต้องสำเร็จมาจากใจ มีอะไรถึงก่อน ต้องมีใจถึงก่อน ถ้าไม่มีใจแล้ว ทุกข์มันจะเกิดขึ้นได้ตรงไหน ถ้าไม่มีใจแล้ว เหตุที่ให้ทุกข์เกิดมันจะมีมาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเวลาทุกข์เกิดขึ้น ก็เราก็ดูไปถึงใจว่าเพราะใจของเรามันมีเหตุคือสมุทัยเรียกว่าตัณหา อวิชชาตัณหาอุปาทาน แล้วกรรม เหตุที่อยากนี่จะเป็นปัจจัยให้ได้ผลคือทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดขึ้น เรามามีสติมีปัญญาสอดส่องด้วยเรียกว่าภาวนา 

เวลาจะกำหนดจิตลงไป ทีแรกมันรู้สึกเจ็บปวดก็ดี รู้สึกอย่างไรอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ค่อยสบายก็ดี ท่านว่าทุกข์ควรกำหนดรู้ ควรมีสติ การมีสติระลึกทุกข์ ท่านก็ว่า เวทะนาสุ เวทะนานุปัสสี วิหะระติ เรากำหนดรู้เวทนาในเวทนาอยู่ก็คิดว่าเราเจริญมหาสติปัฏฐานเช่นเดียวกัน เวทนานี้รู้ว่าสักแต่ว่าเวทนา ให้รู้ธรรมดาของเวทนา มันต้องมีเป็นธรรมดา ความแก่ ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ก็คือเวทนานั่นเองเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มันอยู่ในรูปแล้วก็มีเวทนาอยู่ซ่อนอยู่ในกาย เรียกว่ากายในกาย ไม่ใช่มีแต่กาย ยังมีเวทนาในกาย ยังมีผู้รู้เวทนาอยู่ในกายอีก มันซ้อนกันอยู่ในนี้ แต่เราจะพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งแยกกันให้เห็นชัด ส่วนกายคืออะไร ส่วนเวทนาคืออะไร 

ทีแรกก็รู้จักว่าส่วนกายคือรูปธรรมก่อน เป็นส่วนรูปมีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง มีเนื้อ ส่วนนามธรรมมีจิตเป็นประธาน มันสำเร็จมาจากจิต แม้แต่เวทนาคือความสุขความทุกข์ มันก็ต้องมีจากจิตนามธรรมอันเดียวกัน นามธรรมอันนี้มันอุปาทาน ยึดกายนี้เป็นตัวตน เป็นของตน เมื่อมันยึดถือแล้ว มันก็มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีภพ มีชาติตามลำดับ เพราะฉะนั้นเวลานอนหลับ กายก็ยังมีอยู่ จิตก็ยังมีอยู่ แต่ทำไมไม่มีเวทนา อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะพินิจพิจารณา เพราะการนอนหลับนั่นคือผัสสะมันดับ เวทนา อายตนะมันดับ ผัสสะจึงไม่เกิดขึ้น ผัสสะมันดับเวทนาจึงไม่เกิด คือมันไม่รับสัมผัสสิ่งเหล่านั้น ถึงจะเสียงมีอยู่มันก็ไม่ได้ยิน เหงื่อแตกๆมีอยู่มันก็ไม่รู้ถ้านอนหลับ หนาวมีอยู่มันก็ไม่รู้ ยุงกัดก็ไม่รู้ เว้นไว้แต่ตื่น อะไรก็ไม่ค่อยรู้ เจ็บปวด ป่วยอยู่ไม่สบายอยู่ ถ้าหลับแล้วมันก็เหมือนไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้จึงได้ความว่าไม่ใช่อันเดียวกัน รูปก็เป็นรูป ไม่ใช่เวทนา เวทนาก็ไม่ใช่รูป เวทนาก็ไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่เวทนา เวทนาก็ไม่ใช่รูป รูปก็ไม่ใช่เวทนา ท่านจึงจัดเป็นขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาเป็นเวทนาขันธ์ รูปเป็นรูปขันธ์ เป็นคนละกอง 

เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่ได้สดับ  ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง เรานึกว่าเป็นอันเดียวกันอยู่ในแห่งเดียวกันเพราะมันอยู่ในกายของเราทั้งนั้น มีอยู่กายในกาย มีในตัวของเรา ถ้าเราไม่ได้ภาวนาให้จิตใจออกพิจารณาแล้ว แยกกันไม่ออก ถ้าเราพิจารณาสอดส่องดูให้ชัดเห็นดูตามเป็นจริง รูปมันทุกข์จริงเหรอ มาดูๆแล้วมันไม่มีอะไรทุกข์นี่ ผมมันทุกข์หรือ ไล่ๆไป มันปวดหรือ มันไม่มีอะไรปวด เวทนาก็เพียงแต่ความรู้สึกเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรามามีสติกำหนดรู้ กำหนดรู้นึกให้ผ่านไป ถึงแม้ว่าเจ็บปวดเท่าไหร่เกิดขึ้นก็ตาม พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เวทนา อนิจจา มันไม่เที่ยง ไม่ใช่ว่าเกิดแล้วมันจะอยู่อย่างนั้นตลอดไป มันหมดเหตุปัจจัยมันก็เปลี่ยนไป ดับไปเหมือนกัน เหมือนกับรถจะวิ่งที่เอารถใส่ยางต้องเปลี่ยนด้วยมันจึงวิ่งไปได้ ถ้าใช้สักปีเดียว ใช้ไปถึงไหน มันต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ เวทนาเหมือนกัน เวทนาแสนเดียวมันอยู่ไม่ถึงไหน ร่างกายอันเนี้ยมันแตกพังไปนานแล้ว แต่มันเปลี่ยนสลับกันทำงาน พอมีแรงก็เอานี่มาทำอีก พอมันเหนื่อยมันก็หยุด มันก็ให้อันอื่นโอกาสมาทำงาน แต่พออันนี้ไม่ได้อันนั้นก็ทำงานแทน แล้วจึงอยู่ได้ไม่ใช่จะมีแต่ทุกข์อย่างเดียว 

ส่วนสุขก็มีที่ต่ออายุให้คนมัวเมา ให้คนเพลิดเพลินให้คนมีความพอใจ พอที่จะมีอยู่ได้ แต่สุขจริงๆก็มีทุกข์มาพาลมากระทบกระเทือนให้มีอีก มันทำงานขึ้นมาอีก มันดับไปมันเปลี่ยนกันทำงาน เหมือนกับขา ๒ ขาเนี่ยแหละ ถ้ามีแต่ขาเดียวหละ เดินไม่ถึงไหนหละ มี ๒ ขาหละก็เหมือนเสียดกันไปเสียดกันมาก็จะไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นเราพิจารณา แยกออก ทำจิตใจให้สงบ ปล่อยวางกายไว้ กายเป็นสักแต่ว่ากายไม่ใช่สัตว์ตัวตนบุคคลเราเขา เรารู้จักกายมานั่งอยู่นี่ กายมันอยู่นี่แหละ 

เรามาพุทโธๆรักษาจิตให้มีพระพุทธเจ้าอยู่ในจิตระลึกไว้ ระลึกไปๆ ระลึกไปไม่ให้เผลอ ไม่ได้อะไรก็ได้แต่พุทโธอย่างเดียวก็พอใจแล้ว เพราะเราอยากพิสูจน์ อยากรู้ว่าพุทโธกับจิตอยู่ด้วยกันแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ไม่ให้เผลอ รักษาทำจิตใจให้ดี มันจะเป็นอย่างไร เราก็ระลึกพุทโธ ระลึกไป ระลึกไป กำลังระลึกอยู่นั้นสำหรับผู้อบรมใหม่ ให้ระวัง มันจะง่วงจะหลับ เราต้องการจิตของเราให้เป็นสมาธิ ไม่ต้องการหลับ และไม่ต้องการให้ฟุ้งซ่าน คืออยู่ในระหว่างกลางๆ ไม่ฟุ้งไปโน่นไปนี่แล้วก็ไม่หลับเสียเลยเพียงแต่รู้ว่าเป็นหนึ่ง เพราะฉะนั้นท่านว่าสมาธิมีเอกัคคตา อารมณ์เป็นหนึ่งแน่วแน่ จิตตั้งมั่นเรียกว่าสมาธิ เพราะฉะนั้นลักษณะจิตรวมเป็นหนึ่ง ไม่ใช่หลับ แต่ก็ไม่ใช่จิตฟุ้งซ่านแยกออกไปเลื่อนลอยตามอารมณ์ต่างๆ รวมอยู่ในผู้รู้คือพุทโธ พุทโธก็แปลว่าผู้รู้ เตือนให้เรารู้ๆเท่านั้น เราก็เพียงแต่รู้ๆอยู่ในรู้ กำหนดรู้ผู้รู้ กำหนดรู้อยู่ในรู้ สิ่งที่ไม่รู้เราก็ปล่อยวางไว้ก่อน รักษาผู้รู้เพื่อให้เป็นหนึ่ง มันจะเป็นอย่างไร 

ถ้าเราไม่รู้ว่าความสุข ความสงบ สมาธิเป็นอย่างไร เราไม่รู้แหละ ฝึกใหม่ แม้แต่อาตมาเองก็เหมือนกันแหละ ฝึกไปอย่างนั้นแหละ ฝึกไปสังเกตไป ฝึกไปสังเกตไป มันก็ค่อยรู้ค่อยเข้าใจ เวลาจิตมันป่วนมันก็รู้ขึ้นมา อะไรมันมีอยู่ในนั้นมันก็ค่อยรู้เอง จิตมันปล่อย มันวาง มันสงบ เวลามันพ้นจากการเจ็บการปวด มันก็รู้ไปตามลำดับ บางครั้งก็ปวดจนเหลืออดเหลือทน ถึงกระดูกเจ็บ แสนเจ็บก็พลิกไป อ้าว ภาวนาอีก ก็ปวดอีกก็เหลืออดเหลือทนก็พลิกไป บางครั้งเราระลึกขึ้นมาแล้วก็ภาวนามาทุกวันนานพอสมควร เราจะไม่มีบุญไ่ม่มีวาสนาจะพ้นจากทุกข์ หลวงปู่ฝั้นก็เทศน์ให้ ท่านบอกภาวนาไปถึงแต่ทุกข์ก็ได้แต่ทุกข์ เอามันก็มีแต่ทุกข์ เราต้องปฏิบัติให้พ้น พอถึงหยุดแต่ตัวทุกข์จะหยุดอยู่แค่นั้น จะหยุดอยู่เพียงแค่นั้นไม่ถอย ได้แต่ทุกข์ก็ถอย ได้ถึงแต่ทุกข์ก็ถอย ท่านว่าคำว่าพ้นทุกข์ก็มันต้องข้าม มันต้องไม่หยุด ถ้ามันข้ามไป ทุกข์อยู่ข้างหลัง จึงเรียกว่าพ้นจากทุกข์ ยังอยู่ข้างหน้าแล้วก็ยังไม่พ้น 

ไอ้เราก็หยิบยกคำสอนของท่านมาพิจารณา เอ้ย จิตของเรานี่มันอ่อนแอ มันไม่กล้า มันกลัวเจ็บมันกลัวทุกข์ พอมันพิจารณาหลายวันหลายเดือน จนมันเห็นเหมือนไม่ได้อะไร อ้าว ตายเป็นตายสิ จะตายก็แล้วแต่ ถ้าเราตายเพราะภาวนา เราก็ยังดี ตายในการนั่งภาวนา เรามอบกายถวายชีวิต บูชาพระธรรม ถ้าจะได้รู้ ตายก็ตาย ปวดก็ปวด ยอมให้มันเป็น พอตกลงใจยอมให้มันเป็นภาวนาบางทีตั้งแต่คืนนี้ไม่นอน จะนั่งไม่ลุกเสียด้วยนะ จะไม่ยอมลุก จะนั่งอยู่ในอิริยาบถเดียวเนี่ย เมื่อตั้งสัจจะแล้วต้องเอา จะทำอะไรถ้าหากว่าเรากลัวแล้วเราไม่ต้องตั้งสัจจะ พอเรายอมเท่านั้นหละไม่มีคู่ต่อสู้ ทุกข์มันก็ไม่อยู่ได้เท่าไหร่ มันก็พอเรายอมให้มันเป็น ปล่อยให้มันเป็นอย่างเดียวก็คอยคลายไปๆๆ 

เวลาจิตเค้าไปตั้งมั่นเที่ยงอยู่ตอนนั้นนะ ที่มันทุกข์มากๆ ที่เราพยายามสอดส่องตั้งสติระลึกรู้ให้มาก เวลามันผ่านพ้นไป มันได้ความสงบความสุข เราก็พอที่จะรู้ได้ว่าทุกข์คืออย่างไร เราข้ามทุกข์กันดารขนาดไหน เราก็รู้นี่เพราะเราได้ปฏิบัติ ได้จนถึงความสงบ ได้ถึงความสุข ความสงบมันอยู่ได้นาน เวลามันเอาจริงๆมันเป็นอัตโนมัติเหมือนกับเครื่องขับรถเครื่องยนต์ เวลาเราสตาร์ทติดแล้วมันก็เดินเอง เราไม่ต้องสตาร์ทเอง มันก็ทำงานของมันเอง เราก็ได้คอยแต่ดูพวงมาลัยว่ามันไปทางไหนๆ เราก็เพียงแต่ดูเท่านั้น จิตถ้าตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วที่มันติดต่อกันแล้ว ที่มันนี่กำลังมันมีมากเท่าไหร่มันก็อยู่ทำงานให้เราได้ ชื่นชมได้ รับรสของสัทธรรมเหล่านั้น แม้แต่เดินแม้แต่ยืนแม้แต่นั่งไปที่ไหน มันก็จะไปเสวยผล 

จึงระลึกได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆพระองค์อยู่ในปิติสุข นั่งอยู่ ๗ วัน เดินอยู่ ๗ วัน  ยืนอยู่เพ่งดูต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยที่พระองค์ได้ตรัสรู้ถึงความปิติอยู่ ๗ วัน หมุนเวียนกลับไปอยู่ที่นั่น เสวยวิมุตติสุขที่พระองค์ได้ทำทุกรกิริยาต่อสู้กับพญามาร จนชนะขันธมารและกิเลสมารที่มันเกิดขึ้น ที่พระองค์ต่อสู้อาศัยบารมีธรรม บารมีสุดท้ายพระองค์ระลึกถึง ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท พระองค์ทรงชนะพญามารพร้อมด้วยเสนาด้วยการเสียสละ เราทั้งหลายถ้าอยากชนะ เราเสียสละลองดูซิ เอากระดูกเลือดเนื้อนี่ เราจะเสียสละบูชาพระธรรม เวทนานี่ก็บูชาพระธรรม ขันธ์ ๕ เนี่ย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราเสียสละบูชาพระธรรม เราจะเอาพุทโธอย่างเดียว ลองนั่งดูซะ ไม่ต้องกระดุกกระดิก ทีแรกก็เริ่มดูหละ ถ้าเราเคยนั่งนี่เริ่มชั่วโมงหนึ่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ขยับเข้าลองดูซักคืนหนึ่ง ไม่ต้องกระดุกกระดิก ไม่ต้องลุก ถ้าทำได้อย่างนั้น ทดลองได้ซักคืนหนึ่งเราจะเห็นชัยชนะ จะเห็นที่ว่าจะข้ามกันดารได้บ้าง 

การทำนี่ไม่ใช่ทำในหมู่มากๆอย่างนี้นะ ไม่มีใครรู้หรอก เราต้องอธิษฐานคนเดียว ทำคนเดียว ตั้งใจคนเดียว ไม่ได้บอกใครให้รู้ บอกเราคนเดียวพอ จะตั้งใจคนเดียว เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายทีแรกเราฝึกเป็นอุปนิสัย ฝึกถัดไป ฝึกถัดไป เราก็ขยับไปๆตามลำดับ เหมือนกับเราเรียนหนังสือเนี่ยแหละ ทีแรกก็เรียนแบบง่ายๆพื้นๆเสียก่อน พอได้ไปแล้วก็เลื่อนชั้นไปตามลำดับ เลื่อนไปตามลำดับ การปฏิบัติอบรมจิตใจของเรา ก็เราต้องเลื่อนชั้นของเรา เลื่อนวิธีการของเราที่เรากำหนดรู้ส่วนใด แต่ก่อนที่เราเคยกำหนดหยาบๆ อันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าต่อเราจะเอาจริงๆเนี่ย กำหนดอย่างเดียว เรียกว่า วิจัย ธัมมวิจย เราแบบวิจัยทีเดียว เหมือนกับนายแพทย์วิจัยโรคหรือวิจัยยา วิจัยยาแพทย์ต่างๆมีส่วนผสมมีอะไรอยู่ที่นั่นบ้าง เรามาวิจัยธรรมะที่มีอยู่ จะเป็นส่วนรูปธรรมเราก็มาวิจัยอย่างนั้นหละ รูปมีอะไรบ้าง เป็นของเราตรงไหน อย่าวิจัยรูปแบบหมอ เราวิจัยรูปแบบพระพุทธเจ้า วิจัยรูปแบบธรรม เพื่อให้รู้ความจริงว่าเราตรงไหน ตัวตนตรงไหน สัตว์บุคคลตรงไหน หญิงชายตรงไหน สิ่งเหล่านี้เป็นธาตุอะไร สิ่งไหนเป็นธาตุอะไร เมื่อเราเห็นเป็นธาตุเป็นนี่ตามความจริง เราจะหลงตรงไหน เค้ามาด่า เราจะโกรธตรงไหน เราจะถือสา เค้าดูถูกเราแล้ว เค้าเหยียดหยามเราแล้ว เค้าด่าเราแล้ว ผูกพยาบาททำให้จิตมัวหมอง พระพุทธเจ้าพระองค์ไม่มี 

แต่ถึงอย่างนั้นพระองค์ก็ถูกด่าเหมือนกัน ธรรมดาคนทั่วไป เพราะเกิดมาในโลก ขนาดพระพุทธเจ้ายังถูกด่าเลยแล้วภาษาอะไรเรา จะไม่มีคนตำหนิติเตียน จะไม่มีคู่แข่ง จะไม่มีคนด่า จะไม่มี พระพุทธศาสนาก็ยังมีพวกเดียรถีย์เป็นคู่แข่ง คอยแข่งกับพระองค์ ยกวาทะของตนว่าสูงกว่าพระองค์อยู่อย่างงั้น สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ประจำโลกแต่พระองค์จะหวั่นไหวอะไร เหมือนว่าสุนัขเห่าเครื่องบิน มันจะไปกัดตรงไหน คนที่เกลียดพระพุทธเจ้าก็เหมือนกันแหละ พระองค์ไม่ได้หวั่นไหว 

เราจะพิจารณาให้ถึงธรรมดังกล่าวมานี้ดูเป็นวิจัย คำว่าวิจัยอย่างละเอียด ถึงขั้นตอนวิจัยเรียกว่าวิปัสสนาก็ต้องวิจัยหละ เมื่อจิตได้สงบได้กำลังพอสมควร ให้รู้จักมา เราก็เข้าวิจัย วิจัยสอดส่องไป วิจัยไปๆ รู้สึกว่าจิตจะฟุ้งซ่านไปไม่แน่นอน เราก็สงบ คอยรวมๆสบายสงบไปไว้ก่อน เมื่อสงบแล้วเราก็วิจัย การวิจัยนี้วิจัยไม่ใช่เฉพาะแต่การนั่งอย่างเดียว แม้แต่เรายืนเราเดิน ทำการงานเมื่อมีโอกาสเมื่อไหร่เราก็วิจัยต่อเนื่องให้รู้จริงขึ้นมา เพราะเราต้องการรู้เนื้อแท้ธาตุแท้ คือธาตุความจริง ถ้าจิตใจมันชัดในธาตุความจริงแล้ว มันจะลบล้างสมมุติ ลบล้างโลภ ลบล้างคำว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หญิง ชาย ไม่มี นั่นของเรา นี่ของเรา เพียงแต่สมมุติมันรู้เท่า แต่ในใจนี่มันปล่อยว่างไม่ให้เป็นภาระ แต่เมื่อมีชีวิตอยู่ในโลก โลกเค้าเคยมาอย่างไรท่านก็ไม่แสดงอย่างนั้น ท่านก็อยู่แบบโลกธรรมดานี่แหละ แต่ไม่มีกิริยา ความสำคัญมั่นหมายในสิ่งนั้นๆ ถึงแม้ร่างกายจะมีกระทบกระเทือนเหมือนกับโลกธรรมดา แต่จิตใจเนี่ยมันเปลี่ยน มันเปลี่ยนจิตใจเพราะมันสำเร็จมาจากใจไม่ใช่สำเร็จมาจากกาย ท่านแต่งแต่ใจของท่าน เป็นผู้สำเร็จเป็นผู้ตรัสรู้ เป็นผู้เห็น ผู้สิ้นกิเลส ผู้สิ้นอาสวะ จิตดวงเดียวเท่านั้น 

ส่วนขันธ์ ๕ มันไม่รู้อะไร มันไม่สิ้นอะไร เพราะฉะนั้น เราทั้งหลาย สติของเราก็มีแล้ว ปัญญาของเราก็มีแล้ว ถ้าเรามาปรับปรุงให้มีกำลังขึ้นมา เป็นมหาสติ มหาปัญญาขึ้นมา เราก็สามารถที่จะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่ว่าเป็นของไม่มี มันมีอยู่แล้ว แต่สติปัญญาของเรายังไม่มีกำลังเฉียบแหลมพอ หรือแหลมคมพอ เพราะฉะนั้นจึงพากันอบรมสมาธิเพื่อให้จิตใจหนักแน่นแหลมคม สามารถวิจัยวิจารณ์สิ่งใดให้มันรู้ความจริง ให้เข้าเกณฑ์กับความจริง ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ จิตใจของเราก็หนักแน่นมั่นคง รู้เหตุรู้ผล เชื่อในเหตุในผล ปฏิบัติต่อเหตุผลตามความเป็นจริง เราก็จะได้สงบระงับดับจากทุกข์จากเวรจากภัยทั้งหลายทั้งปวง เราจะได้ถึงซึ่งความสุขที่แท้จริง เพราะฉะนั้นการบรรยายธรรมอบรมสมาธิในวันนี้จึงสมควรแก่เวลาหยุดเท่านี้ก่อน กำหนดจิตภาวนาต่อไป