Skip to content

ทุกข์ทั้งหลายมาจากเหตุ

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ปฏิบัติภาวนาที่เราได้กระทำมาทุกวันๆให้ถือว่า เป็นความสำคัญยิ่ง ควรระลึกนึกตรวจตรอง นำมาทำความเข้าใจในจิตใจของเรา เพราะจิตใจของเรานั้นไม่แน่นอน บางทีมันไปคลุกคลีในเรื่องไม่ดีอย่างอื่นๆ มันก็ติดเรื่องไม่ดีเข้ามา ไม่มองเห็นความดีที่เรากระทำเลย นึกแต่เรามีแต่ความวุ่นวาย เรามีแต่ความขัดข้อง เรามีแต่ความไม่สบาย เพราะจิตไปผูกพันเรื่องที่ติดมาที่เราไม่ได้ชำระ เราไม่ได้เลือก เพราะฉะนั้นก่อนจะภาวนานี่ เรามาตรวจตรองให้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติของเราให้ตรงให้ถูกต้องตามทางที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงได้วางไว้ ได้พาประพฤติปฏิบัติมา ไม่ใช่เรานึกทำตามลำพังของเราเอง หรือไม่ใช่ครูบาอาจารย์คิดคาดคะเนหรืออนุมานว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว นำมาใช้มาปฏิบัติ 

การปฏิบัติจิตภาวนานี้เป็นการกระทำมาแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับแต่พระองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ปฏิญาณว่าพระองค์ได้รู้แล้ว พระองค์ก็ได้จาริกเที่ยว สั่งสอนประชาชนเหล่าพุทธบริษัทในสมัยนั้น ให้เกิดความศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส มีจิตใจน้อมไปเพื่อประพฤติ เพื่อปฏิบัติ เพื่อเจริญรอยตามทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์พาดำเนินปฏิบัติมา เราทั้งหลายก็ได้มีโอกาสมาอบรมในทางที่พระพุทธเจ้า เป็นทางพระอริยเจ้าท่านเดิน ไม่ใช่ทางธรรมดาปุถุชนพาเดิน ไม่ใช่ทางโลกพาเดิน เป็นทางที่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่พระองค์ชี้แนะนำให้เราเดินเข้ามาดูจิตใจของเรา 

ส่วนวิชาการทางโลกนอกนั้นเค้าไม่ได้ชี้ลงในใจ เค้าชี้ลงที่วัตถุ ไปเห็นแต่ข้างนอก ไปรู้แต่ข้างนอก มีแต่ที่พึ่งข้างนอก เพราะฉะนั้นจิตใจจึงไม่ได้ความฉลาด จึงไม่ได้ความเข้าใจอันถูกต้อง สามารถรักษาตนให้หมดจดผ่องแผ้วสะอาดบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากความทุกข์เวรภัยได้ มีทางพระพุทธเจ้าเป็นทางอริยะเท่านั้น ที่พระองค์ชี้ลงว่าทุกข์ทั้งหลายมาจากเหตุ คือใจของเรานี่แหละ มันมีเหตุฝังไว้อยู่ในจิตใจของเรา แล้วผลิตผลออกมาสู่จิตใจของเราให้แสดงออกมาให้ปรากฏทางกายและทางวาจามาตามลำดับ 

เพราะฉะนั้นเรามาภาวนา คือมานั่งรักษาจิตใจของเราให้ดี เพราะว่าจิตใจของเรานี้มีลักษณะอยู่สองอย่าง ถ้าหากการใดเมื่อจิตใจมีความดีเป็นลักษณะ ในการนั้นจิตใจของเราก็มีความสุข ในการใดจิตใจเราไม่ได้คุ้มครอง เราปล่อยให้กระทบกระเทือนอารมณ์ต่างๆ จิตใจของเราก็ไม่ดี จิตใจก็ได้รับความทุกข์ขึ้นมา บางครั้งจิตใจของเรามีพื้นฐานอันดีแล้ว ถึงมีเรื่องไม่ดีจรมาให้ได้รู้ได้ยินได้เห็นก็ตาม แต่มันก็ไม่เก็บเอา มันก็ไม่ทุกข์ เพราะมันมีสติ มีปัญญา มีเครื่องรักษาคือธรรมะ ที่เราได้ปฏิบัติ ที่เราได้ฝึกหัด ได้อบรม ธรรมะเหล่านั้นมาช่วยปกป้อง ไม่ให้จิตใจของเราหลงไปเอาสิ่งที่ไม่ดีนั้นเป็นอารมณ์ให้ได้รับความกระทบกระเทือนใจ เราปลอดภัยผ่านพ้นจากทุกข์ไปได้ ได้ถึงซึ่งความสุข เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ที่ธรรมะช่วยปกป้องเรา ที่อาศัยเราศึกษารู้ดีแล้ว พระธรรมที่เราปฏิบัติเท่านั้นจึงนำความสุขมาให้ 

เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายที่ได้มีความเพียรพยายามปฏิบัติฝึกหัดอบรมมาสม่ำเสมอ บางครั้งถึงไม่ได้มาในวัด เราก็ทำอยู่ในบ้าน ไม่ให้ขาด ถือว่าเป็นกิจวัตรของเรา อันนี้นับว่าเราสืบมรดกตกทอดจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เอามาเป็นสมบัติของเราเพื่อจะได้ยึดเป็นที่พึ่งให้เกิดความสุขทางจิตใจ เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายควรพยายามอบรมจิตใจนั่น ให้ออกจากสิ่งที่ไม่ดี ให้สลัดออกจากสิ่งไหนที่ไม่ดี นำทุกข์มาให้ เราก็ควรพยายามศึกษาให้รู้จักสิ่งนั้นๆ สิ่งที่ไม่ดีที่ผ่านมาแล้วก็ให้แล้วไป ให้ทำความรู้ไว้ในใจว่าสิ่งไม่ดีเหล่านั้นเราจำหน้าจำตามันได้ ถ้ามันวกวนกลับเข้ามาอีก เราก็ไม่หลง ถึงแม้ว่าจะมาในรูปไหนก็ตาม มาหลอกลวงมายาอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่หลง เรารู้จักตัวลักษณะของมันชัดแจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งในสิ่งที่เราได้ผ่าน ได้ยิน ได้เห็นมาแล้ว เราก็ไม่ยึดมั่น ไม่หลงเข้าใจผิด ให้สิ่งเหล่านั้นมาหลอกลวงเราได้ 

เราพยายามรู้ในสิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่ ทั้งอย่างกลาง ทั้งอย่างละเอียดที่เกิดขึ้นในทางกายก็ดี เราก็พยายามรู้ เราพยายามศึกษาก็เพื่อให้รู้สิ่งที่ไม่ดีนั่นแหละ เพราะสิ่งที่ไม่ดีมันก็เป็นธรรมเหมือนกัน แต่เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนให้ละ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนให้กำหนดรู้ ให้รู้ตามความเป็นจริง เพราะส่วนที่ไม่ดีนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นความสัจจ์ความจริงอันมั่นคง เหมือนกับทุกข์ในอริยสัจที่พระองค์ทรงแสดงไว้ เป็นของที่มีจริงอยู่ทุกคนทุกสัตว์ ทุกสังขารทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าไม่มี ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เพราะฉะนั้นเมื่อมีทุกข์จึงมีการปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ ถ้าไม่มีทุกข์แล้ว ก็พระพุทธเจ้าพระองค์ก็ไม่ได้ตรัสรู้ธรรม ไม่ได้บรรลุธรรม พระองค์ก็ไม่ได้ออกปฏิบัติเพราะทุกข์ไม่มี 

ที่พระองค์ได้ปฏิบัติเพราะพระองค์ก็มีทุกข์มาก่อนเรา เช่นเดียวกันเหมือนกับเราทั้งหลาย พระองค์ก็อยู่ในหลักธรรมดา พวกเราทั้งหลายมีความเกิดมาเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าของเราในเบื้องต้นที่พระองค์ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ก็มีความเกิดมาเช่นเดียวกันเหมือนกับเรา ดำรงวงศ์ตระกูลอยู่ในฆราวาสเหย้าเรือนเหมือนกับเราทั้งหลายทั่วๆไป พระองค์ก็มีความเกิดเป็นธรรมดาเหมือนกะเรา เมื่อเกิดมาแล้ว สัตว์ทั้งหลายมีความชราคร่ำคร่าทรุดโทรมเป็นอย่างไร แม้เราก็มีความคร่ำคร่าเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์ เมื่อพระองค์ยังไม่ได้ตรัสรู้แต่กาลก่อน วิบากขันธ์ หรือพระองค์ตรัสรู้แล้วแต่ยังทรงพระชนม์อยู่ อาศัยความเกิดยังมีอยู่ สิ่งที่เกิดอันเป็นธาตุอันหยาบนั่น ก็มีความแก่ชราคร่ำคร่าทรุดโทรมเหมือนกับเราทั้งหลายเช่นนี้แหละ เราทั้งหลายมีความเจ็บไข้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มีอยู่ในขันธ์ในอัตภาพอย่างไร เมื่อพระองค์ทรงวิบากขันธ์อยู่ พระองค์ก็มีความชราคร่ำคร่าทรุดโทรมเหมือนกับเรา ส่วนธาตุเหมือนกันหมด มรณะคือความแตกดับของธาตุของขันธ์ของสัตว์ทั้งหลายมีเป็นธรรมดา มีทั้งเราทั้งคนอื่น สัตว์ทั่วๆไป พระองค์เมื่อทรงวิบากขันธ์อยู่ ขันธ์อันนั้นก็มีความแตกดับเช่นเดียวกัน เป็นธรรมดา 

สิ่งใดเล่าที่พระองค์ว่ามีความสุข สิ่งที่มีความสุขไม่ใช่ขันธ์ ไม่ใช่รูป ไม่ใช่ร่างกาย สิ่งที่พระองค์ได้บรรลุ ไม่ใช่รูป ไม่ใช่ร่างกาย สิ่งที่พระพุทธเจ้าพระองค์อบรมให้ฉลาด ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่รูปขันธ์อันนี้ สิ่งนั้นคือจิตใจ จิตใจอันนั้น เป็นผู้ตรัสรู้ธรรม เป็นผู้เห็นธรรม เป็นผู้บรรลุธรรม เป็นผู้ถึงซึ่งธรรม จิตใจเท่านั้นเป็นผู้ผลิตปัญญาออกมาเพื่อจะได้สอดส่องมองธรรม ไม่ใช่สิ่งอื่นผลิตออกมา เหมือนกับมนุษย์เราทั้งหลาย อยากเห็นรูปตาของเราเอง ก็มนุษย์เนี่ยแหละสอดส่องหาวัตถุมาสร้างขึ้นเป็นแว่นขึ้น เป็นกระจกเงาขึ้นมาแล้วก็มาส่องดูตาของเราเอง ไม่ใช่สิ่งอื่น ก็ตานั่นแหละเป็นผู้ส่อง วัตถุก็เพียงแต่รับรองให้เครื่องรับให้เห็นเท่านั้น ฉันใดก็ดี ส่วนปัญญานั่นเป็นเครื่องส่องธรรมให้ปรากฏเข้ามาในมโนจักษุคือในใจ ให้ปรากฏขึ้นมาจากใจใสสะอาด ให้เห็นรู้เห็นตามความเป็นจริง 

เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่เป็นสิ่งที่เหนือวิสัยที่เราทั้งหลายจะทำไม่ได้ ไม่ใช่เป็นสุดวิสัยที่ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น แสดงไปตามลำดับตั้งแต่ชั้นธรรมดาจนถึงขั้นสูงขึ้น ปานกลางสูงขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่บุคคลฆราวาสครองเรือน พระองค์ก็วางสัทธรรมของฆราวาสเท่าที่ทำได้ เช่นสอนให้เป็นคนขยันหมั่นเเพียร พระองค์สอนให้คบเพื่อนที่ดีงาม พระองค์สอนให้รู้จักรักษาวัตถุที่ได้มา พระองค์สอนให้รู้จักใช้จ่ายวัตถุที่มีอยู่แล้ว พอประมาณเหมาะสม นี่ สอนสดับบุคคลผู้ต้องการความสุขในการครองเรือน แล้วก็สอนศีล ๕ ให้ปฏิบัติอยู่ร่วมกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ประพฤติล่วงใจกัน ไม่กระทำกรรมอันทำจิตใจมัวเมาหลงใหลเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อาจจะผิดพลาดเสียหาย ทำกรรมที่ไม่ดีได้โดยง่าย พระองค์ก็สอนตั้งแต่ตามลำดับที่เป็นสวากขาโต 

สิ่งเหล่านี้ทุกคนชักนำไปพินิจพิจารณาแล้วปฏิบัติได้ทุกคน เพราะทุกคนต้องการ เราเกิดมาแล้ว ไม่ต้องการให้ใครเบียดเบียนชีวิตของเรา หรือคนอื่นเล่าเมื่อเราไปเบียดเบียน ใครบ้างต้องการ ไม่มี เราเกิดมาแล้ว หาทรัพย์สมบัติได้มา ไม่ต้องการให้ใครมาลักมาขโมย มาโกงมาล่อลวงเอาไป ทุกคนก็ต้องการอย่างนั้นเหมือนกับเรา ถ้าเราไปทำอย่างนั้นเข้า การกระทำนั่นชื่อว่าผิดปกติธรรมดา คำว่าธรรมดานั่นคือเราก็มีความรักของเราเป็นธรรมดา คนอื่นก็มีความรักสิ่งของของคนอื่น ตลอดถึงชีวิตของคนอื่นเป็นธรรมดา 

แม้แต่ข้ออื่นๆพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ได้ตามความประสงค์ ตามที่เราต้องการ ไม่ใช่สอนสิ่งที่เราไม่ต้องการ ถ้าเราตรวจดูแล้ว สิ่งที่ทุกคนปรารถนา เมื่อเราปรารถนาเป็นผู้ไม่ให้ใครเบียดเบียนชีวิตของเรา ให้ชีวิตของเราอยู่ยืนนาน พระองค์ก็บอกให้ ถ้างั้นก็อย่าไปเบียดเบียนชีวิตคนอื่น ถ้าเราไม่เบียดเบียนกันแล้ว เราก็อยู่เป็นสุข ไม่มีใครมาเบียดเบียนเรา ไม่มีเวรมีภัย ข้อต่อไปเราก็พิจารณาอย่างนั้นด้วยการภาวนา หยิบยกข้อใดข้อหนึ่งมาวิจัย เห็นความเป็นจริงที่ไม่เบียดเบียนกัน การเบียดเบียนกันไม่มีความสุข เราก็จะได้เห็นการกระทำไม่ดีขึ้นมา นำทุกข์นำเวรนำภัยขึ้นมา เห็นชัดขึ้นในใจ ไม่ใช่ได้ยินแต่ท่านพูด แต่เพียงท่านพูด แต่เราไม่นำมาภาวนา ตรวจพิจารณาให้เข้าใจลึกซึ้งชัดแล้ว มันก็ลืมไป มันถูกอารมณ์อันอื่นมาปรุงมาแต่งมาชักกระชากลากไป ชักชวนไปหมกมุ่นในอารมณ์อย่างอื่น เราก็ลืมไปหมด 

ถ้าหากว่าจิตใจของเรามีความพอใจ มีความสนใจน้อมไปเพื่ออยากรู้ธรรม อยากเห็นธรรม เพื่อต้องการประพฤติธรรม เอาพระธรรมนำมาเป็นที่พึ่งทางจิตใจของเราแล้ว เราก็มีโอกาสที่จะศึกษาธรรมะได้มาก เราก็จะได้รู้ธรรมได้มาก เราศึกษาในศีล เราก็มีความฉลาดในเรื่องศีล รู้ในเรื่องศีล เราก็สามารถรักษาศีลได้ ปฏิบัติได้อย่างไม่ขัดข้อง เราศึกษาเรื่องทำบุญให้ทาน ก็พินิจพิจารณา เราก็มีความรู้ ความเข้าใจ เราก็สามารถจะทำบุญทำการกุศลมาเป็นสมบัติของตน ยึดความดีสิ่งนั้นๆไว้เป็นสมบัติของเรา เป็นเครื่องประดับตัวของเรา ยิ่งอบรมจิตใจในทางสมาธิ เราก็มีความรู้ในเรื่องสมาธิ เรื่องจิตใจของเรา 

เมื่อเรารู้เรื่องจิตใจแล้ว เราก็มีศรัทธาในการที่จะทำสมาธิ พวกที่ไม่รู้ พวกที่ไม่มีศรัทธาการปฏิบัติ เพราะความไม่รู้ในเรื่องศีลนั่นเอง เพราะไม่รู้ในเรื่องสมาธินั่นเอง เขาจึงไม่มีความพยายามที่จะปฏิบัติทำสมาธิ อบรมจิตภาวนา เมื่อเขาไม่รู้ เขาก็ทำไม่ได้ ไม่มีจิตใจที่จะทำ เมื่อเขาไม่ทำ เขาก็ไม่มีความรู้ ไม่มีความสนใจ เพราะเหตุนั้นเมื่อเรารู้ในเรื่องสมาธิก็เป็นเหตุให้เราทั้งหลายตั้งใจปฏิบัติสมาธิยิ่งๆขึ้นไป 

เมื่อเราศึกษาจิตใจให้มีปัญญา เราก็จะได้รู้เรื่องปัญญาว่ามีประโยชน์แก่ตัวของเราอย่างไร เป็นที่พึ่งแก่เราอย่างไร เราก็สามารถเข้าใจว่าปัญญานี่สามารถจะช่วยเหลือเป็นที่พึ่งแก่เราได้ ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ คนจะได้ความบริสุทธิ์ด้วยปัญญา ที่ช่วยโดยย่อๆ คือปัญญากายของเราให้สะอาด ทำวาจาของเราให้สะอาด ทำจิตใจของเราให้สะอาดหมดจดเหมือนกับพระพุทธเจ้า เหมือนกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านอบรมสมาธิจิตและใจให้หนักแน่นตรงในเหตุในผลดีแล้ว จิตใจนั่นผ่องใสสะอาดด้วยความสงบส่องให้เห็นรูปธรรม นามธรรม เห็นความไม่สะอาดของธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ประจำในกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ตลอดเวลา เราก็จะได้หลีกเว้นสิ่งที่ไม่สะอาด เราก็จะได้ปฏิบัติแต่ในสิ่งที่สะอาด ก็ได้ความบริสุทธิ์หมดจด ยิ่งปฏิบัติมีปัญญาเห็นชัดในธรรมเท่าไหร่ เราก็มีโอกาสที่จะทำจิตของเราให้สงบได้มากยิ่งขึ้น เราก็จะมีโอกาสที่จะมีความสุขที่เกิดขึ้นจากจิตใจสงบ 

ถ้าเราสามารถกำจัดสิ่งที่มาก่อกวนจิตใจได้ตามเวลาเราต้องการ ต้องการความสงบเมื่อไหร่ จิตใจของเราก็สงบได้ ต้องการพักผ่อนเมื่อไหร่ จิตใจของเราก็พักผ่อนได้ จิตใจของเราอ่อน จิตใจของเราน้อมในการประพฤติธรรม พร้อมที่จะสงบ พร้อมที่จะได้ความสุขความผ่องใส เมื่อเราประพฤติปฏิบัติเป็นไป ผลที่สุดความสงบนั่นกลายเป็นนิสสัย อุปนิสัย เป็นปัจจัยประจำนิสัยของเรา เลยเกิดความเบื่อหน่าย สิ่งที่ทุกข์เพราะอาศัยความไม่สงบ เห็นชัดแจ้งในจิตในใจ จิตใจก็หลีกเว้นเด็ดขาดในทางที่ทำความเดือดร้อนให้แก่จิตใจของตนเอง 

พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงชอบอยู่ในที่สงบ ชอบปฏิบัติตั้งอยู่ในความสงบ ไม่ประพฤติสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบมัวหมองตลอดชีวิต พระอริยเจ้าทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ผู้เป็นอริยสาวก ทั้งอุบาสก อุบาสิกา พุทธบริษัททั้ง ๔ มีความงามไปด้วย จริยานุวัตร ปฏิบัติน้อมจิตน้อมใจ อยู่ในความสงบ อยู่ในสมาธิ อยู่ในปัญญา มีความพร้อมที่จะกำจัดสิ่งที่ไม่ให้เกิดประโยชน์ ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับความสุข เห็นชัด เกิดความเบื่อหน่าย นิพพิททาจริงๆ ไม่ใช่สักแต่รู้เดาคาดคะเนตามอาการ เห็นแจ้งประจักษ์ด้วยอาศัยธรรมที่นำไปพินิจพิจารณาจนเกิดปัญญารู้ความจริงขึ้นในจิตใจของเรา 

เพราะฉะนั้นมีทางเดียวเท่านั้นที่เราทั้งหลายที่ควรยึดมั่น นำมาปฏิบัติให้เกิดความสุข เอกายโน อยัง มัคโค วิสุทธิยา เป็นทางอันหมดจด นี่ทางอันเอก คือทางอันเดียว กาเย กายา การมาปฏิบัติศึกษาให้รู้กายในกาย เราจะปฏิบัติศึกษาให้รู้กายในกายด้วยอาศัยการภาวนาที่เรากำลังทำอยู่ในบัดนี้ เราจะเจริญทางความสงบ ก็มาสงบอยู่ที่กายที่นี่แหละ ถ้าที่กายมีใจครองนี่ไม่สงบแล้ว จะไปหาความสงบที่ไหน ไม่มีเลย ในป่าเขาก็สงบอยู่แล้ว ไม่ต้องหา เขาก็เป็นอยู่อย่างนั้น ในภูในเขา ในที่ไหนก็ตาม แต่มนุษย์เราเนี่ยแหละ ไปเกี่ยวข้องในสิ่งใด เมื่อมนุษย์มีจิตใจอันไม่สงบแล้ว ไปเกี่ยวข้องสิ่งใด สิ่งนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่สงบ สถานที่นั้นๆก็เป็นสถานที่ไม่สงบ เมื่อกายมนุษย์คนเรานี่ เป็นกายที่สงบแล้ว จิตใจที่สงบแล้ว อยู่ที่ไหนก็สงบ เพราะเหตุนั้นความสงบก็ส่องมาดูที่กาย มีใจเป็นผู้ครองอยู่ ณ ภายใน 

ถ้าใจนี้สงบแล้ว ทุกอย่างก็สงบ เรียกว่าเราจะเจริญความสงบด้วยเรียกว่าสมถภาวนา สมถภาวนานี่เราภาวนาเพื่อให้จิตใจสงบ แล้วเราพยายามละอย่างเดียว ถึงแม้ว่าความรู้จะไม่กว้างขวาง ส่งไปข้างนอก ให้อยู่เฉพาะจิตใจ แต่ก็เป็นกำลังที่รวบรวมได้ รวมมั่นคงแน่วแน่ แนบเนียบเท่าไหร่ ยิ่งมีพลังมาก จิตใจ เพราะฉะนั้นจิตใจจะรวมได้ เราต้องละ ไม่ให้จิตใจสัมปยุตในอารมณ์ข้างนอก ให้สัมปยุตในธรรมอันเดียว ที่เราตั้งไว้ ที่เรียกว่ากรรมฐาน นำมาบริกรรม ระลึกพุทโธๆ ก็อยู่อันเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ต้องยินดีอย่างอื่น ว่าที่พึ่งของเราอย่างประเสริฐคือพุทโธ ไม่มีสิ่งอื่นที่จะพึ่งอย่างประเสริฐ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าให้ถึงพุทโธ ให้ไปตั้งอยู่ในพุทโธให้จริงๆ 

คำว่าพุทโธก็คือผู้รู้ ผู้รู้ที่นามว่าพุทโธนั่น มีสมาธิอันมั่นคง สะอาดหมดจดผ่องใสบริสุทธิ์ ถ้าเราไปถึงพุทธะแล้ว จิตจะต้องผ่องใสปภัสสร พระพุทธเจ้าพระองค์สะอาด เพราะฉะนั้นเราพยายามละสิ่งที่หยาบๆ ให้เข้าไปถึงพุทธะอันเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เราจะถือสิ่งหยาบไปเข้าไปไม่ถึง เราจะต้องถอดทิ้ง เหมือนกับเข้าไปในเจดีย์ รองเท้าก็ถอดทิ้ง ไม่ให้เข้าไปเพราะไม่มีความเคารพพอ จะไม่เป็นบุญกุศล แล้วก็กิริยามารยาทที่ไม่ดีก็ถอดทิ้ง ตั้งใจ กิริยาอ่อนน้อม ไปเพื่อกราบเพื่อไหว้เพื่อความเคารพ เข้าถึงพระเจดีย์ ถ้าเข้าถึงพระเจดีย์คือพระพุทธเจ้า เราก็พยายามละสิ่งที่หยาบๆ อารมณ์ที่หยาบออก ให้เหลือแต่อารมณ์ที่ความเคารพ ความเลื่อมใส เรียกว่าศรัทธา พอใจแน่วแน่ในจิตใจใจอันมั่นคง แล้วระลึกพุทโธๆ มุ่งมั่น ปล่อยวางตามลำดับ สถานที่อยู่ของพุทโธนั้นเป็นสถานที่วิเวกสงบสงัด ถ้าจิตใจของเราไปคะนองเอิกเกริกอย่างอื่น ก็เข้าไปไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราก็เตรียมพร้อมที่จะปล่อยวางให้จิตใจของเราสงบสำรวม ให้วิเวกด้วย ละทุกอย่าง เพื่อให้เกิดความสงบวิเวกในใจ ใจจะได้ละเอียดเข้าไปถึงพุทธะ นี่เรียกว่าสมถภาวนา 

เราเดินสายทางสมถะ เมื่อจิตใจของเราเข้าไปสงบ มีกำลังสุข มีกำลังผ่องใสสะอาดแล้ว แต่ก็มีความสุขเป็นครั้งคราว เมื่อจิตถอนออกมาแล้ว ส่วนทุกข์อย่างไรที่เคยมีอย่างไร มันก็กลับคืนมาอีกเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้เจริญสายวิปัสสนา เข้ามาอีก สายวิปัสสนานั่นเพื่อจะได้รู้เอง เพราะจิตใจสมถะ สายสมถะนั่นเพียงแต่สงบชั่วคราว เหตุไม่กำเริบถ้าหากว่าเราเป็นไข้ คล้ายกับว่าเราบริโภคยาระงับปวด เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้ว โรคก็กำเริบขึ้นอีก 

ส่วนเดินสายวิปัสสนานั้นก็เป็นวิธีการเพื่อให้กำจัดโรคเพื่อให้ได้ความสงบเหมือนกัน แต่ความสงบนิรันดร คือสงบจากไม่มีกิเลสก่อกวน เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องเจริญปัญญาเพื่อให้รู้เหตุที่ให้ทุกข์เกิดคือสมุทัย ที่เรียกว่ากิเลส สมุทัยนี่อาศัยขันธ์ ๕ อาศัยรูป อาศัยเวทนา อาศัยสัญญา อาศัยสังขาร อาศัยวิญญาณ อาศัยกายของเรานี่แหละ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้สิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นสมุทัยในสิ่งนั้น เราจำเป็นจะต้องรู้จักในส่วนกาย กายในกาย เราไปรู้อย่างอื่น ไม่พ้นทุกข์ ไม่เป็นวิปัสสนา ส่องมารู้ในกายของเรา เกศา ผม เราก็รู้จัก ถ้าเรารู้จักความจริงของผม สีของผม ที่เกิดของผม พิจารณาจนถึงมันดับสลายไป ใครเป็นเจ้าของมาจากไหน อยู่อย่างไร พิจารณาให้ละเอียด

มีหลวงตาองค์หนึ่งชื่อว่าหลวงตาบุตร เคยภาวนาอยู่ ไปเลื่อมใสกับหลวงปู่มั่น ไปฟังเทศน์เป็นครั้งคราว ท่านก็อายุแก่มากแล้ว ท่านทำข้อวัตรไม่ทันกับเค้า ก็ออกมาอยู่หมู่บ้านข้างๆใกล้ๆ ท่านขยันทำความเพียรภาวนา พอดีตอนนั้นอาตมาเข้าไปหาท่าน เลยศึกษาธรรมะในท่าน ท่านก็เทศน์ให้ฟังอย่างอาจหาญ ท่านว่าขอให้รู้จริง ให้เห็นจริง เห็นจริงซักอย่างหนึ่งก็พอแล้ว ไม่ต้องรู้มาก เช่นเราพิจารณาผม ให้รู้เข้าถึงธาตุแท้ของผมจริงๆ มันก็พ้นทุกข์ได้ ท่านว่า จิตได้รับความสุขได้ ได้รับความสงบได้ กำจัดกิเลสได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเกี่ยวเนื่องถึงกันหมดเมื่อรู้อันหนึ่งแล้ว เมื่อยกขึ้นมา มันก็รู้ได้ทั้งหมด มันมีลักษณะอาการอย่างเดียวกัน ทีนี้เราที่ปฏิบัติยังไม่ได้ เพราะยังไม่รู้อันหนึ่งนี่แหละ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปอยากรู้มากเลย จะดูสิ่งใด ถ้าเราเจริญในด้านทางวิปัสสนาแล้ว จิตยกในกายนี่ ส่วนใดส่วนหนึ่ง เรียกว่ากายในกาย พิจารณาเห็นชัด เห็นลักษณะอนิจจังในสิ่งเหล่านั้นอันเดียว เห็นทุกขังในสิ่งนั้น เห็นอนัตตาในสิ่งนั้นให้ชัด แล้วจิตก็ถอดถอนได้ เมื่อท่านแสดงแล้ว เราได้ฟังรู้สึกปลื้มใจกับท่านที่ท่านองอาจ ท่านอายุมาก ท่านสามารถค้นมาแสดงให้เราฟัง เป็นความชัดความจริงของท่านตามกาลเวลาสติปัญญา เราอยากแต่รู้มากๆ เราจะได้มากๆ ทำอะไรก็ไม่จริง เลยไม่ได้ซักอย่าง เห็นอะไรก็ไม่จริง เลยไม่ได้ซักอย่าง ท่านว่าขอให้เราทั้งหลายเอาอุบายนี้มาปฏิบัติลองดู อาจจะเป็นประโยชน์แก่เรา จะไม่เสียเวลา เราจะได้เห็นจริง

ทีนี้สำหรับหลวงปู่มั่นท่านบอกว่าในกายอาการ ๓๒ คือมีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ธาตุดินน่ะ มีอยู่ ๒๐ ธาตุน้ำ ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ที่เราสวดทุกวันน่ะ มี ๑๒ รวมทั้งหมดเป็นอาการ ๓๒ นี่เป็นกายในกาย มีอยู่ในกายของเรา ท่านว่าให้ตรวจดูทั้งหมดนั่นแหละทีแรก ดูผม ดูขน ดูเล็บ ดูฟัน ดูหนัง มันอยู่ตรงไหน เราก็พยายามหยิบยกขึ้นมาดู เราดูให้ชัด ส่องกระจกดูให้ชัด แล้วจำได้ก็มาดูอย่างเดียว ฟัน ก็เรียกว่าทันตาๆก็ได้ หรือบริกรรมว่าฟันๆ ดูลักษณะให้พร้อม ทำช้าๆ ตรวจทานสติอยู่ที่นั่น ถ้าเราต้องการความสงบ บริกรรมไปๆๆ มันตัดอารมณ์ภายนอกขาด จิตไม่สัมปยุตเรื่องอื่น มันก็สงบได้ 

ถ้าเราบริกรรมสิ่งใด จิตนั้นสงบในสิ่งนั้น บางทีนิมิตที่เราเพ่งไว้จะปรากฏขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ครั้งหนึ่งเมื่อจิตสงบ เมื่อนิมิตมันเกิดขึ้น ทีนี้มันชัดกว่าที่เราเพ่งบริกรรมตั้งแต่แรก เพราะมันเป็นขึ้นมาเอง เราไม่ต้องเพ่ง มันปรากฏให้เราเห็น บางทีเราวิตกอยากรู้ อยากเห็นส่วนลึกที่มันฝังไปลึกๆ มันก็ถอดออกมาให้เห็น เราอยากจะรู้ว่ามันสลายไปอย่างไร บางทีก็อยากรู้ ถูกไฟเผาแล้วก็แล้วแต่จิต อำนาจพลังจิต พลังสมาธิด้วยบุคคลผู้นั้นที่จะมีอภินิหารในทางสมาธิอย่างไร ก็สามารถที่แสดงเห็นชัดด้วยสติปัญญา ให้สิ้นสงสัยในเรื่องอนิจจัง เรื่องทุกขัง อนัตตา ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ เกิดนิพพิททา จิตใจสงบอย่างยิ่ง 

ฉะนั้นเราทั้งหลายอย่าพึ่งท้อใจ เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ สติของเราก็มีอยู่ ปัญญาของเราก็สามารถที่จะสอดส่องได้อยู่ เราก็คนหนึ่งควรที่จะรู้จะเห็น ควรที่จะเข้าถึงธรรม แต่ก็ต้องอาศัยพยายาม ท่านเรียกว่า วิริเยนฺ ทุกฺขมจเจติ จะพ้นจากทุกข์ได้ด้วยเพราะความพยายามของบุคคล ไม่มีใครนั่งๆนอนๆแล้วก็พ้นทุกข์ แม้แต่สมัยก่อน พระองค์ก็พ้นทุกข์ด้วยความพยายามของพระองค์ สาวกก็พ้นทุกข์ด้วยการพยายามของสาวก ครูบาอาจารย์ท่านพ้นทุกข์ได้ก็ด้วยความพยายามของท่าน เราทั้งหลายก็จะพ้นได้ด้วยความพยายามของเรา ใครแทนเราไม่ได้ เราจะต้องทำด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว กำหนดจดจำไว้ให้ดี ปฏิบัติอยู่อย่างนี้เราก็จะได้ประสบความสุขความเจริญ ดังบรรยายมายุติแต่เพียงเท่านี้