หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
ได้เวลาแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้ให้รู้ธรรม เห็นธรรม และถึงธรรม ที่เราควรรู้ที่เราควรเห็นและธรรมที่เราควรถึง ถ้าเราได้ถึงธรรมะแล้ว เราก็จะได้สัมผัส ได้รับรสแห่งพระสัทธรรม ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่ารสแห่งพระสัทธรรมชนะเสียซึ่งรสทั้งปวง เรียกว่าธรรมรส ใครได้ดื่มธรรมรสเป็นอมตะ เรียกว่ารสอมตะ เป็นที่พึ่งได้ตลอด กำจัดทุกข์ กำจัดภัยได้สิ้นเชิง เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านได้รับรสพระสัทธรรมแล้ว ท่านไม่ยินดีรสอย่างอื่นซึ่งเป็นวัตถุหรือเป็นอามิส เพราะรสเหล่านั้นมันก็รู้สึกแต่เพียงลิ้นนิดเดียวเท่านั้นเอง แล้วก็จืดจางหายไปๆ ไม่ตั้งมั่น ไม่มั่นคง ไม่ถาวรเหมือนกับรสพระสัทธรรม ไม่เคยมีหายไปไหน ถ้าเราได้เข้าถึงแล้ว เพราะเหตุนั้นเราทั้งหลายควรจะอยากให้รู้ปฏิบัติ ให้รู้ธรรม
คำว่ารู้ธรรมนั้นคือรู้ธรรมไหนเป็นธรรมอย่างต่ำ พระองค์จัดกองธรรมไว้ ๓ กองหรือ ๓ กลุ่ม ธรรมอย่างต่ำ ธรรมอย่างกลาง ธรรมอย่างสูงหรือธรรมอย่างปราณีต ธรรมอย่างต่ำนั้นได้แก่ ธรรมที่เป็นทุจริตที่เป็นอกุศลอันลามก เรียกว่าธรรมลามก ธรรมสกปรก ธรรมเผ็ดร้อนหรือธรรมเจ็บแสบ ผลของธรรมเหล่านี้ไม่เกิดประโยชน์ นี่เป็นธรรมกลุ่มหนึ่งให้เรารู้จักเพื่อจะได้ละได้เว้น ธรรมเหล่านี้ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต นี่เรียกว่า หีนาธรรมา ธรรมในส่วนเลว ส่วนต่ำ กายทุจริต ธรรมในส่วนต่ำนั้น เมื่อเกิดขึ้นในใจแล้ว มันจูงใจให้เกิดความยินดีความพอใจในการกระทำทุจริต มันเกิดจูงใจให้ไปพอใจในการฆ่าสัตว์ จูงใจไปให้ลักทรัพย์ จูงใจไปให้ยินดีในเสพเมถุน จูงใจให้ใช้วาจาพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ แล้วทำใจให้มีพยาบาท ทำใจให้เบียดเบียนทรมานผู้อื่นสัตว์อื่น ทำใจให้มีความเห็นอันไม่ถูกต้อง มีความคิดในทางที่ชั่วที่ไม่ดี นี่เป็นธรรมฝ่ายต่ำ เพราะฉะนั้น นักภาวนาต้องรู้จัก ธรรมฝ่ายต่ำถ้าเกิดขึ้นในกาย ถ้าใช้ทางกายก็ไปในทางที่ไม่ดี
ส่วนธรรมอย่างกลาง ธรรมปานกลาง ละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต นี่ธรรมอย่างกลาง ละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต ละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต นี่ธรรมอย่างกลาง บุคคลผู้ประพฤติธรรมอย่างกลาง ท่านว่าเป็นมนุสสธรรม ธรรมในชั้นมนุษย์ ชั้นกามาวจรกุศล ได้ความสุขในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะตามวิสัยกำลังที่เป็นกามาวจรแบบมนุษย์ธรรมดา แต่ไม่ได้ความสุขละเอียดปราณีตมั่นคงกว่านั้นอีก
ธรรมอย่างสูงนับตั้งแต่ฌาณสมาบัติขึ้นไป คือละนิวรณ์ ๕ อย่าง ละกามะฉันทะได้ ละพยาบาทได้ ละถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจะ กุกกัจจะ ละวิจิกิจฉา คือละกามฉันทะ จิตใจไม่พัวพันพอใจในทางกามเพราะปัญญาเห็นโทษของกาม เป็นทุกข์ของกาม ของรูปของเสียงของกลิ่นของรส คือละอารมณ์ มีปัญญาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รักษาสำรวมระวังไม่หลง ไม่เกิดความพอใจ เรียกว่ากามารมณ์ กามะฉันทะคือพอใจ พยาบาทด้วยอำนาจแห่งความไม่ชอบ ความโกรธ ความไม่พอใจ ละความพยาบาทได้ จิตเคยพยาบาท เห็นโทษของพยาบาทละได้ขาด ถีนมิทธะ ความหดหู่เคลิบเคลิ้ม ท่านละได้จิตหดหู่ไม่ขวนขวาย จิตประมาท ไม่ระลึกเห็นทุกข์เห็นภัย ไม่เห็นทุกข์ที่จะเกิดขึ้นคือความชราคร่ำคร่าในอัตภาพ เราถึงความเจ็บปวด เราถึงความแตกดับ ไม่เตรียมหาที่พึ่ง จิตหดหู่ อยู่ได้ กินได้อยู่ สักแต่ว่ากินสักแต่ว่าอยู่ ท่านละธรรมเหล่านี้ได้ จิตฟุ้งซ่านรำคาญ ท่านเห็นโทษ ท่านสำรวมระวังมีสติรักษาจิตไม่ให้ฟุ้งซ่านรำคาญ พยายามแก้ไขวิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลไม่แน่นอนในจิตในใจ มันเข้าหาผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ที่เรียกว่าบัณฑิตผู้ตั้งอยู่ในธรรม สนทนาฟังธรรมโดยเคารพ สนทนาธรรมโดยเคารพ รู้จักธรรมควรละ ธรรมควรเจริญ เข้าใจในธรรม มีความรู้ความฉลาดขึ้นมาแก้ความวิจิกิจฉาความสงสัยได้ สิ้นความสงสัยเพราะมารู้ความจริง เพราะฉะนั้นธรรมนี้จึงเป็นธรรมชั้นสูง ถึงแม้ว่าจะละได้ชั่วคราว แต่ก็ยังมีอานิสงส์เรียกว่าธรรมชั้นสูงเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของชั้นพรหม จิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่วิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ของชั้นพรหม
นี่ขั้นสูงอย่างต่ำ อย่างเพลา ส่วนชั้นสูงอย่างประณีตก็หมายถึงอริยมรรค อริยผล นับตั้งแต่โสดาบัน ขึ้นไปจนถึง สกิทาคา อนาคา อรหัตต์ สูงไปตามลำดับ เรียกว่าธรรมชั้นสูง เพราะฉะนั้นเราต้องศึกษารู้ตัวกำหนดว่าจิตใจของเราอยู่ในชั้นใดภูมิใด เราต้องการชั้นใดภูมิใด เราก็ปฏิบัติในชั้นนั้นๆ ชั้นเลวชั้นต่ำชั้นหยาบนี่เป็นชั้นอบายภูมิ เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่ต้องการอบายภูมิ เราก็เห็นโทษของการทุติต กายทุจริต วจีทุจริต ตลอดถึง มโนทุจริต แล้วมาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เราต้องการปราณีตกว่านั้น อบรมจิตภาวนา เหมือนเรากำลังปฏิบัตินี่เป็นการปฏิบัติสร้างกุศลอย่างสูง เราต้องการความสุขในทางธรรมโดยตรง
เราจึงพยายามสันโดษในอามิสในเครื่อง ในปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยเลี้ยงชีพแล้วมาปฏิบัติเอาความสุขในทางธรรม เราพยายามละอารมณ์ภายนอก กามฉันทะด้วยการมาสำรวมให้สงบจากกาม วิวิจเจวะ กาเมหิ สงัดจากกาม คือสิ่งที่เราชอบใจพอใจ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น สิ่งเหล่านี้เป็นต้น ต้องใช้ปัญญาพิจารณาเห็นโทษสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่มีแต่คุณอย่างเดียว ถึงแม้ว่าตาจะเห็นแล้วมันชอบก็ตาม หูได้ยินเกิดความชอบ จมูกได้กลิ่นมันชอบก็ตาม หรือรสที่มันชอบก็ตาม สัมผัสที่มันชอบที่มันยินดีก็ตาม แต่ปัญญานั้นไม่มองเห็นแต่ความดีอย่างเดียว มองเห็นโทษสิ่งเหล่านั้นด้วย เพราะเหตุใดจึงมีโทษ เพราะมันไม่เที่ยง มันไม่ตั้งอยู่ได้นาน เมื่อไม่เที่ยงแล้วของนั้นจากไปแล้ว หมดไปแล้ว ก็ทุกข์เพราะเราติด เพราะเราหลง ต้องดูให้ละเอียด อย่าไปคิดว่าเราชอบแล้วจะมีความสุขเสมอไป ไม่ใช่ สิ่งที่เราชอบแล้วอาจจะมีความสุขแต่ครั้งแรก แต่เหมือนกับได้ของปลอมเนี่ยแหละ ดูใหม่ๆก็สวยงามแต่นานๆไปแล้วก็หมดค่าหมดราคา รูปเสียงกลิ่นรสก็เหมือนกัน มันนานไปแล้วก็หมดค่าหมดราคา เพราะฉะนั้นนี่โทษ…รู้จักคุณรู้จักโทษ
เมื่อเรารู้จักอย่างนั้นแล้ว มันก็ยึดเป็นที่พึ่งไม่ได้ เราพึ่งทางธรรมมาอบรมจิตใจของเราให้ฉลาด ยึดธรรมอันเป็นกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล เสร็จแล้วถึงโลกุตตระกุศล อบรมจิตให้ฉลาด กุศลแปลว่าฉลาด รูปาวจรกุศลก็ฉลาดในการทำสมาธิ อบรมจิตให้มีนิมิตหมายความสงบ ให้ตั้งมั่นในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเครื่องหมายนิมิตหมาย เราจะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ก็ได้ มาเพ่งมากำหนดเพื่อให้จิตนั่นตั้งมั่น ตั้งมั่นตั้งตัวซะก่อน เพราะโดยปกติแล้ว จิตมันหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่เรียกกิเลสมันปรุงไปให้เกิดฟุ้งซ่าน เมื่อฟุ้งซ่านแล้วมันก็มีความรำคาญ เมื่อยิ่งความรำคาญก็ยิ่งดิ้นหาความเพลิดเพลินเพื่อความพอใจ ความเพลิดเพลินนั้น มันก็ไม่ได้สิ่งที่คงที่ มันเลื่อนลอยไม่มีหลัก เพราะฉะนั้นท่านจึงจัดเข้าในสมุทัย ไม่ควรหลง ควรจิตเป็นสมาธิตั้งมั่นเป็นมรรค สติก็เป็นมรรค วิริยะคือความเพียรชอบก็เป็นมรรค เป็นหนทางออกจากทุกข์ จิตตั้งมั่นชอบก็เป็นมรรค เพราะฉะนั้นความเพียรชอบ สติระลึกชอบ สมาธิตั้งมั่นชอบ ๓ อย่างนี้เป็นปฏิปทาให้ได้ถึงธรรมอันชั้นสูง
นับตั้งแต่รูปฌาณไปตามลำดับ จิตสงัดจากกาม จิตสงัดจากอกุศลคือนิวรณ์ ๕ อย่างดังกล่าวมาแล้ว จิตเข้าสู่ความวิเวก กายวิเวก จิตตวิเวก พอจิตเข้ารวมวิเวก สงัดจากภายนอก กิเลสภายนอกคือกามารมณ์ กิเลสภายในคือนิวรณ์ที่ปรุงขึ้นภายในจิต เมื่อมันปล่อยอารมณ์ก่อกวนทั้งภายนอกทั้งภายในแล้ว จิตก็เข้าสู่ความสงบสงัด เพราะไม่มีอะไรปรุงไปในทางก่อกวน กายก็รู้สึกเบาๆ เหมือนกับไม่นั่งติดพื้น จิตก็เบา กายลหุตา จิตตลหุตา กายปัสสัทธิ จิตปัสสัทธิ กายก็สงบ จิตก็สงบ นี่ ถ้าจิตรวมมันไม่มีการรู้สึก ถึงใครไม่บอก มันรู้เพราะมันสงบ มันได้สัมผัสเรียกว่าจิตมันเข้าถึงธรรม จิตมันเข้าถึงธรรม มันก็ต้องรู้ธรรมเห็นธรรม เพราะมันได้สัมผัสแล้ว มันต้องเกิดขึ้น ต้องรู้จัก มันเปลี่ยนจากความรู้สึกเมื่อยังเข้าไม่ถึง จากปกติธรรมดามาทำให้กายสงบ จิตสงบ กายเบา จิตเบา มีความปรากฏขึ้นในจิตในใจ กายก็อ่อน จิตก็อ่อน แต่ไม่ใช่อ่อนแอ แต่มันอ่อน มันนิ่มนวลต่อธรรม มันอ่อนต่อธรรม อ่อนต่อพระพุทธเจ้า อ่อนต่อพระธรรม อ่อนต่อพระสงฆ์ มันอ่อนต่อให้ควรแก่การงาน กายกัมมันยตา จิตก็กัมมันยตา มันอ่อนทำให้ทำคล่องทำการงานคือควรแก่งานคือสมาธิสมาบัติ เราจะนั่งอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้นึกจะออกเมื่อไหร่ก็ได้
เมื่อจิตเข้าถึงขั้นนี้แล้วต้องฝึก หัดเข้าหัดออกให้ชำนาญ เรียกว่า วสีทั้ง ๕ คือชำนาญในการคิด สมบูรณ์ในการคิดว่าจะเข้าเมื่อไหร่ ไม่ต้องคิดสับสนวุ่นวาย พอคิดจะเข้ามันก็ได้ เข้าได้เลย ชำนาญในการปฏิบัติเข้าสมาธิ เมื่อสมบูรณ์ด้วยความคิดแล้ว การเข้าสมาธิก็เข้าได้เลย ไม่ต้องรีรอตามเวลาที่ตั้งใจ เข้าเวลาไหนก็ได้ ตามใจกำหนดไว้ในเวลานั้นน่ะ ชำนาญในการอธิษฐาน เมื่อเข้าจิตรวมสงบแล้วจะอยู่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ จะอยู่นานเท่านั้นชั่วโมงหรืออยู่ทั้งวัน มันก็อยู่ได้ทั้งวัน จะอยู่ได้กี่ชั่วโมงก็ได้เท่านั้นตามที่กำหนดไว้ ชำนาญในการออก ออกได้ตามเวลา แม้จะเข้าเวลาไหนต้องตั้งจิตไว้จะออกแล้ว ถึงเวลาก็ออกตรงกับเวลา อยู่นานเท่าไหร่ตามแล้วแต่กำหนด ชำนาญในการพิจารณา ปัจจเวกขณวสี เวลาออกแล้วก็พิจารณาทางที่เราออกทางที่เราเข้าตามลำดับ เป็นภาพเป็นนิมิตหมายไว้ในจิตในใจเหมือนกับเรากรุยทาง เวลาจะเข้าอีกก็เข้าได้ตลอดเวลา เรียกว่าเข้าได้โดยไม่ยาก นี่ ให้ชำนาญในวสี ออกไม่ยากเข้าไม่ยาก อยากเข้าเวลาไหนก็เข้า อยากออกเวลาไหนก็ออก ชำนาญแม้แต่คิดจะเข้ามันก็พร้อมด้วย มันสมบูรณ์ด้วยความคิด มันถึงพร้อม สมบูรณ์ด้วยการเข้าดำเนินเข้าสู่สมาธิ สมบูรณ์ด้วยการอยู่ในสมาธิ จะอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ แล้วก็ออกได้ตามกำหนด เพราะพิจารณา อาศัยปัจจเวกขณะพิจารณา มันไม่เสื่อม
เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกอยู่เสมอ จะต้องยินดีในความสงบ ยินดีในความวิเวก น้อมไปสู่ความวิเวก เพราะได้ผลคือได้ดื่มรสพระสัทธรรมคือความสงบ เป็นรสอันเลิศอันประเสริฐกว่ารสใดๆทั้งหมด ชนะเสียซึ่งรสทั้งปวง เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายควรพยายามตั้งใจภาวนา ใครเคยได้ความสงบด้วยวิธีไหน เราก็ทำตามทางที่เราเคยทำ เมื่อถึงความสงบแล้ว เราก็อยู่ในความสงบ จะอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ เพื่อให้จิตใจผ่องใสสะอาด พักผ่อนเพราะเราทุกข์มาเป็นเวลายาวนานแล้วตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเข้าสมาธิสมาบัติ ไม่เคยเข้าใจ เมื่อมันเข้าได้แล้วก็ควรอยู่ในความสงบไประยะหนึ่ง แล้วก็ให้ชำนาญ ฝึกจนว่าให้เข้าเวลาไหนก็ได้ ออกเวลาไหนก็ได้ อยู่นานเท่าไรก็ได้ หัดเข้าหัดออกจนชำนาญ พอเข้าแล้วหัดถอยออกมาแล้วก็เข้าอีก เข้าแล้วก็ถอยอีก ตั้งใจว่าจะอยู่สามชั่วโมง สี่ชั่วโมง ห้าชั่วโมง อยู่เท่าไหร่ก็ให้อยู่ หัดไปเรื่อยๆ บางคนนะเมื่อไปสงบแล้วทำยังไงอีก…ไม่ต้องทำอะไรแล้วเพราะเราต้องการความสุขความสงบ แต่มีแต่ฝึกเข้าฝึกออกฝึกก็อยู่นานแล้วน่ะ ปัญหาจะมีขึ้นให้เกิดปัญญาไปนี่ เพราะมันไม่ใช่จะสะดวกอย่างนั้นเสมอไป ปัญหาอุปสรรคที่เราออกมาแล้วไปทำการทำงาน มีเรื่องมีราวกระทบกระเทือน อันนี้เป็นปัญหาที่เราเข้าอีกไม่ได้ นี่จะต้องใช้ปัญญา แล้วจะได้ใช้ปัญญาวิปัสสนาเข้าไปช่วย เพื่อจะได้เห็นโทษว่าที่มันเข้าไม่ได้เพราะอะไร มีอะไรเกิดขึ้นในจิตในใจ คราวนั้นทำไมเข้าได้ คราวนี้ทำไมเข้าไม่ได้ เราก็จะได้ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไปเมื่อเห็นโทษ แล้วก็สำรวมระวัง ตัดทางนั้นออก ก็จะได้แก้ไขไปตามเรื่อยๆจนกิเลสมันหมดไป เพราะกิเลสนั่นเองที่เข้าไม่ได้ ไม่ใช่อันอื่น กิเลสเมื่อได้ช่องว่างมันเกิดขึ้นมาขัดขวางอีก มันป่วนอีก ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องปัญญาในเรื่องกิเลสอันนี้ที่มันขัดขวาง มีหลายประเภทที่มาขัดขวาง ต้องใช้สติใช้ปัญญาในตอนนี้ ได้ยินได้ฟังแล้วกำหนดจดจำให้ดี
ที่มา: https://youtu.be/PfUa3iTXIjE จบที่นาที 23.57