หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
เอ้า ใครได้ความสุข เราพยายามรวบรวมความสุขในทางธรรม ทำให้สมบูรณ์บริบูรณ์ ให้มันเพียรพยายามจนถึงความสุข ทำให้พ้นทุกข์ ก็ไม่ต้องถอย สำเร็จด้วยความพยายามชอบ เรียกว่าสัมมาวายามะ อันนี้ต้องกำกับมีในจิต
สัมมาวายามะนี่เพียรพยายามอบรมจิตใจของเราให้มีกำลังในทางธรรม เพราะกำลังในทางโลกนั้นเค้ามีมายาวนานแล้ว แต่ก็เท่าที่เราเห็นนี่ รู้ๆอยู่นี่ โลกยังพร่องอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยเต็ม เพราะอะไร เพราะสังขารมันไม่เที่ยง ทั้งสังขารภายนอกก็ไม่เที่ยง สังขารภายในก็ไม่เที่ยง เราจะเอาความสุขกับสิ่งที่ไม่เที่ยงนั่น อฐานะ คือเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นสังขารที่ไม่เที่ยงนี่น่ะ พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ ให้สร้างปัญญาขึ้นมาให้รู้ อย่าไปยึดติด อย่าไปหลงสังขาร เพราะสังขารนั่นมีมูลฐานมาจากอวิชชา เป็นผู้คุ้มครอง เป็นผู้บำรุงสังขารให้ไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด เพราะเมื่อมันไม่เที่ยงแล้ว มันจะพอได้อย่างไร มันก็ต้องบกพร่องอยู่ตลอด ต้องหิวโหยอยู่ตลอด ต้องขาดอยู่ตลอด
เมื่อบกพร่องอยู่ตลอด ก็ตัณหาความอยากด้วยอำนาจแห่งความหลงอวิชชามีอยู่แล้ว เลยต้องเที่ยวอยู่ อวิชชานี่เป็นกิเลส กิเลสวัฏฏ์ ทำจิตให้เศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วมันก็เที่ยวหาความสุข ทำกรรมขึ้นมา เป็นกัมมวัฏฏ์ เมื่อทำกรรมขึ้นมาแล้ว ผลของกรรมเรียกว่าวิปากวัฏฏ์ เสวยทุกข์ เสวยสังขารที่ไม่รู้จักเต็ม ไม่รู้จักพอนั่นเอง เมื่อทุกข์ครอบงำแล้วมันก็เกิดกิเลสวัฏฏ์ขึ้นมา เกิดตัณหาอยากเพื่อแก้ทุกข์อันนั้น แก้ทุกข์แบบโลกด้วยวัตถุ สร้างให้เจริญขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งปัญหาก็ตามมา ก็ปัญหาของโลก สมัยนี้โลกเจริญคนมีความสุข แต่ได้ความสะดวกในการที่ดิ้นรนไปมากนั่นเอง ถ้าพูดถึงสภาพจิตใจคนปัจจุบันแล้ว ไม่ค่อยจะเป็นสมาธิ ไม่ค่อยจะเป็นตัวของตัวเอง เพราะอะไร เพราะความเจริญของโลกนี้เอง ทำให้คนดิ้นรนกัน ทำให้คนขาดหลักจิตหลักใจที่มั่นคง ปัญหาของโลกเกิดมาตามลำดับ ไม่ใช่ว่าจะพ้นจากโลก
ปัญหาของโลกต่อไปอีกที่จะเกิดขึ้นแก่โลกคือปัญหาคนแก่ ใครก็พยายาม ไม่อยากตาย ก็หายามาบำรุง คิดค้นหายา ไม่อยากตาย เมื่อคนแก่มีอายุยืนแล้ว คนแก่ไม่ได้ผลิตผลของงาน ใช้แต่งานเก่า ทีนี้คนจะเกิดใหม่ก็ถูกควบคุม เกิดไม่ได้ นี่พลังงานของประเทศ ของชาติ เกิดขึ้นน้อย คนแก่ยังเหลืออยู่มากแต่ไม่มีพลังงานใช้ต่างๆ นี่ปัญหาของโลกจะมีต่อไปอีก ก็เรื่องคนอายุยืน คนอายุยืนไม่ใช่ว่าจะมีพลังงาน ไม่ใช่ว่าจะทำอันนี่ เรื่องปัญหาก็จะมีขึ้นตามลำดับ
ปัญหาอันอื่นๆตามมาอีกร้อยแปด ทางหนึ่งเจริญ ทางหนึ่งเสื่อม เพราะมองดูสิ่งที่ปรุงแต่งสังขารขึ้นมานั้นเจริญ ส่วนวัตถุที่สังขารจะต้องอาศัย เอามาปรุงมาแต่งมันหมดไปหายไปสูญไป เมื่อสิ่งเหล่านี้สูญไปแล้ว ถูกมนุษย์ทำลายไปหมดแล้ว น้ำก็ถูกทำให้เสียไป หมดคุณภาพ อากาศก็ทำให้เสียไปด้วยวิทยาการของมนุษย์ที่ฉลาด ส่วนสัตว์อื่นเค้าไม่ได้ทำอะไร ทำลายโลกเท่าไหร่ มนุษย์นี่ทำลายโลก ก็มองดูแต่ความเจริญ ส่วนที่ทำลายไม่มีใครเห็น
ส่วนพระพุทธเจ้า พระองค์มีตาทั้งสอง เห็นทั้งความเสื่อม เห็นทั้งความเจริญ เห็นส่วนที่ถูก เห็นส่วนที่ผิด เพราะฉะนั้นพระองค์จึงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา พระองค์จึงวางหลักเกณฑ์ให้แบบอยู่ง่ายเลี้ยงง่าย หาความสงบสุขทางความสงบ นี่การประพฤติธรรมนำมาซึ่งความสุข เพราะฉะนั้นเราทั้งหลาย โลกของเราก็เท่ากับรู้นี่ เราเกิดมาอีกก็เป็นอย่างนี้แหละกี่ร้อยชาติก็เป็นอย่างนี้ พันชาติก็อยู่อย่างนี้ เกิดแก่เจ็บตายอยู่อย่างนี้แหละ ไม่เห็นโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างอื่น ถึงแม้ว่าจะได้รับความเจริญที่เรียกว่าในด้านวัตถุ แต่อันความหายนะของบุคคลก็ยังมีอยู่ คนแต่ก่อนไม่เจริญ มีการประพฤติเป็นไปตามอำนาจของกิเลสอย่างใด คนสมัยนี้ก็ไม่ใช่ว่าเจริญแล้วก็จะรักษาศีล ๕ ได้ จะไม่เบียดเบียนกัน ไม่แข่งดีกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน เพราะความเจริญของโลก ยิ่งเบียดเบียนกอบโกย เห็นแก่ตัวมากขึ้นๆ ความกระทบกระเทือนระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เป็นไประหว่างมนุษย์ด้วยกัน ก็มีอยู่รอบด้าน
เพราะเหตุนี้ จึงมีธรรมคำสอนวางไว้เพื่อจะดับไฟคือความเร่าร้อนแผดเผาที่มีอยู่ในโลก ถ้ามนุษย์ทั้งหลาย ไม่หันเข้าหาธรรมะแล้ว ความร้อนก็จะยิ่งทวีขึ้นตามลำดับๆ จะหาความสุขได้ก็ยาก ถึงผู้อื่นเขาไม่ปฏิบัติ แต่เราทั้งหลายผู้รู้ ผู้ใกล้ชิดธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าที่ได้นามว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา ควรจะหันหน้าเข้าหาธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งนำความสงบสุขเย็นใจมาสู่จิตใจสู่ตัวของเรา ปัจจุบันนี้ยังทำได้ ยังปฏิบัติได้ เหมาะสมที่จะสามารถที่จะทำความสงบเย็นใจให้แก่เราได้ แต่การปฏิบัติสงบเย็นใจนั้นจะต้องอาศัยเราด้วย จะต้องอาศัยกัลยาณมิตร
กัลยาณมิตรน่ะสำคัญมาก เพราะเราเป็นคนเรียกว่าแบบสาวก เราไม่สามาถจะมองเห็นหน้าตาของเราได้ด้วยตาของเราเอง ฉะนั้นต้องอาศัยกัลยาณมิตร พระพุทธศาสนาเจริญขึ้นมา ต่อเนื่องกันมาเพราะกัลยาณมิตร คือกัลยาณมิตรคือเพื่อนที่ดี การที่จะได้เพื่อนที่ดีนั้น เราก็ต้องตั้งอยู่ในฐานะที่ดี พยายามที่ประพฤติดี คนดียังมีอยู่ในโลก ยังไม่หมด มีทุกกาลทุกสมัย แต่รวมกำลังกันไม่ค่อยได้ กระจัดกระจายอยู่ทั่วๆไป ถ้าคนดีในโลกรวมกำลังกันมาสร้างความดี ตามหลักธรรมคำสอนพระพุทธเจ้า โลกนี้ที่ร้อนอยู่ก็จะค่อยเย็นขึ้นมา โลกนี้ที่วุ่นวายไม่สงบ ก็จะสงบขึ้นมา โลกนี้จะแห้งแล้ง จะเกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา เพราะการประพฤติธรรมและปฏิบัติธรรมของประชาคมชาวโลก
เพราะฉะนั้นกัลยาณมิตรถือว่าสำคัญ พระพุทธเจ้าพระองค์บอกต่ออานนท์ ทีแรกพระอานนท์ไปกราบทูลกับพระพุทธเจ้าว่า กัลยาณมิตรเป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าบอกอานนท์ ไม่ใช่ครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ ทั้งหมดเลย เพราะได้เพื่อนที่ดี มีเพื่อนที่ดี เป็นเครื่องดึงดูดซึ่งกันและกัน พากันประพฤติปฏิบัติ สร้างนิสัยของกันและกันขึ้นมา เปรียบเหมือนเรามีสองขา ดีกว่ามีขาเดียว คีมมีอยู่สองขาจึงหนีบได้กว่าอันเหล็กแท่งเดียวเอามือไปกด การได้กัลยาณมิตรที่ดี เพราะฉะนั้นเราพึงตั้งใจ ทุกคนที่อยู่รวมกันว่า เราจะเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน กัลยาณมิตรนั้นคือผู้มุ่งหวังต่อความสงบ มุ่งหวังต่อความสงบ มุ่งหวังต่ออรรถต่อธรรม เพื่อความรู้ธรรมเห็นธรรม จะนำมาประกอบกับจิตใจของเราให้ได้ความสงบ
ถ้าหากเราได้กัลยาณมิตรพร้อมเพรียงกัน ประพฤติปฏิบัติเป็นไปเพื่อความสงบแล้ว เป็นเครื่องดึงดูดซึ่งกันและกัน หนึ่ง สถานที่เหมาะสม สอง มีกัลยาณมิตร สำคัญก็คืออาจารย์ ผู้นำ นี่สำคัญมาก เป็นตัวอย่างของหมู่ของคณะของพวก ลำดับที่สองก็พระภิกษุสามเณร ถ้าเป็นกัลยาณมิตรของกัน มีจุดประสงค์อันเดียวกัน ความตั้งใจอย่างแน่วแน่เพื่อความสงบความสุขในทางธรรม ต่อไปอีกก็อุบาสก อุบาสิกา ถ้าได้สำนักที่ดี ได้อาจารย์พาปฏิบัติที่ดีแล้ว สังเกตดูบริษัทนั้นก็เรียบร้อย ญาติโยมก็ได้ความรู้ความฉลาด ได้ฝึกได้ฝน ได้อบรม ได้ความเรียบร้อย ดูบริษัทไหนไม่มีหัวหน้าที่ดี ไม่มีอาจารย์กัลยาณมิตรที่ดีแล้ว เค้าไม่มีโอกาสได้อบรม เค้าก็ไม่ได้รู้ เพราะไม่มีตัวอย่างให้ดู เพราะฉะนั้นกัลยาณมิตร ตัวอย่างให้ดู ให้เราได้เห็น ให้เราได้ยิน ในทางที่ชอบ ที่ประกอบไปด้วยประโยชน์ จึงว่ากัลยาณมิตรน่ะสำคัญมาก เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายพึงทำตัวให้เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน
ธรรมที่บุคคลให้เป็นกัลยาณมิตรก็ไม่ใช่อื่นไกล คือศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นจุดยืน เป็นหลักร่วมกัน ถ้าหากทุกคนมุ่งหวังต่อการรักษาศีล มุ่งหวังต่อการสมาธิ มุ่งหวังต่ออบรมจิตใจให้มีปัญญาแล้ว ก็กลายเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน กลายเป็นบริษัทที่เจริญ ที่รุ่งเรืองไปด้วยคุณธรรม ไปด้วยคุณสมบัติ ถ้าเราอบรมอย่างถูกต้องแล้ว เราจะมองดู ไม่มีบริษัทไหนที่จะงามเหมือนกับพุทธบริษัท เพราะงามทั้งเบื้องต้น งามทั้งท่ามกลาง งามทั้งที่สุด งามในเบื้องต้น คือเป็นผู้มีศีล มีมารยาทเรียบร้อย นี่เป็นความงามของพุทธบริษัทของเรา งามท่ามกลางละเอียดลึกไปกว่านั้นก็คือสมาธิ ทำให้บุคคลงาม งามในที่สุดก็คือปัญญา เพราะปัญญานี้สามารถชำระสะสางสิ่งที่เป็นมลทินออกให้ได้ ให้เป็นผู้หมดจดจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง ให้เป็นคนเปล่งปลั่งผ่องใส น่ากราบไหว้บูชา คบค้าสมาคม ทั้งมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เพราะความงามอันนี้เอง
เพราะฉะนั้นขอให้พุทธบริษัทของเราทั้งหลายพยายามยึดหลัก พยายามจนกว่าจะพ้นทุกข์ ถ้าไม่พ้นทุกข์ตราบใด เราจะไม่ถอย เราจะไม่เลิก เราจะไม่ท้อถอย ทำความเพียร ไม่เลิกถอยจากศีล ไม่เลิกถอยจากสมาธิ ไม่เลิกถอยจากการภาวนา ถ้าหากว่าเรายังไม่พ้นทุกข์ชาตินี้ ตั้งใจว่า ทุกชาติถึงแม้จะไปได้สมบัติ ก็ไม่ให้หลงสมบัติ จะได้มนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ ได้อะไรก็ไม่หลง ให้มีปัญญารู้ธรรม เห็นธรรม ให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร ถ้าหากว่าเห็นความไม่เที่ยงของสังขารเป็นนิมิตติดอยู่ในจิตใจแล้วจะได้สมบัติประเภทไหนก็ไม่หลง เพราะสมบัติล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น แม้จะอยู่สวรรค์ แม้จะอยู่พรหมโลกที่ไหนก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเกิดแล้ว มันก็เป็นเรื่องสังขารทั้งนั้น เมื่อสังขารมีแล้วมันก็ไม่เที่ยงด้วยกัน เพราะฉะนั้นจะเกิดไปในชาติไหน ถ้ามีปัญญารู้เท่าสังขาร อย่าให้หลง…หลงติด อย่าให้สิ่งที่อกุศลอันลามกครอบงำจิตใจเราได้ ให้ได้ปฏิบัติจนกว่าจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ได้ความสุขนิรันดร เพราะฉะนั้นได้ยินได้ฟังแล้ว กำหนดจดจำให้ดี ตั้งใจปฏิบัติตาม ต่อไปตั้งใจรับพร