Skip to content

เสียงโลกกับเสียงธรรม

หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร

วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๔

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ตั้งสติให้ดีเพราะว่ามันมีเสียงโลก เสียงโลกที่เราได้ยินอยู่นี่ เสียงโลกน้ำมันขึ้นไปข้างบนอากาศ มันลอยไปแล้วมันตกลงมาใส่แผ่นดิน นี่ก็เลยเป็นเสียงโลก ทำให้มีเสียง เหตุนั้นคนเราที่เข้ามาปฏิบัติธรรม มาฝึกภาวนาหาความสงบคือทำความสงบให้จิตของเราแต่ละคนก็ต้องหาที่หลีกจากเสียงโลก อย่างพวกโยมพากันมาอบรมมาปฏิบัติธรรมในวัดนี่ก็เห็นเสียงโลกเต็มบ้านเต็มเมืองที่เราอยู่กันแล้วก็เป็นเสียงโลก คือเสียงธรรมแท้ๆมันสงบ มันไม่ได้รบกวนสิ่งภายนอก มันเข้าไปสงบอยู่ในจิตในสมาธินี่ เหตุนั้นเราต้องรู้จักการปฏิบัติเพื่อให้ความสงบเกิดขึ้นในจิตของเรา ถ้าโลกมันเป็นเจ้าของอยู่ เป็นเจ้าของรบกวนมันก็ไม่สงบ มันดัง คือเราต้องการให้สงบ เราก็ต้องมาทำสติมาทำความสงบ มีสติน้อมเข้ามาภายในมารับรู้เฉพาะจิต เฉพาะความสงบ สิ่งที่ไม่สงบมันอยู่รอบนอกมันอยู่ในวงโลก วงโลกที่เราได้อยู่ได้ยินนี่ มันก็เลยต้องหาที่หลีกที่หลบ มันมีมุมสงบมันมีที่ไม่มีสิ่งกระทบ มันก็เป็นความสงบ เราก็อาศัยไปใช้สถานที่อย่างที่เราปฏิบัติกันอยู่เป็นส่วนตัวเป็นที่เฉพาะองค์ เราก็ได้ความสงบเพราะไม่มีการกระทบเสียงก่อกวน มันเป็นแต่เสียงของเราชีวิตเดียวที่รู้จัก เสียงที่มีในตัวเราน่ะ มันก็ไม่เป็นอันตรายแก่ความสงบ 

เหตุนั้นเราอยู่ในโลกที่ไม่สงบแต่จิตดั้งเดิม จิตที่ต้องการความสุขความสงบก็มีอยู่ในทุกคนคือหาความสงบเป็นเครื่องอยู่ หาที่สงบเป็นที่พักผ่อน ฉะนั้นความสุขที่เกิดจากความสงบเป็นความสุขที่ว่าไม่อาศัยสิ่งภายนอก ไม่อาศัยวัตถุ ไม่อาศัยอามิสเครื่องบำรุงบำเรอ เป็นความสุขล้วนๆเฉพาะจิต ไม่ได้มาเกี่ยวข้องภายนอกหละทีนี้ ไม่เหมือนอย่างที่เรามีความสุขอยู่กับการได้ของ การได้กินได้ดื่มรสอาหาร ได้ใช้บริโภคของสิ่งๆต่างๆ มันไม่เหมือนอย่างนั้น มันเป็นความสุขที่ปราศจากสิ่งของหรืออามิส สิ่งปรุงแต่งภายนอก มันเป็นความสุขเกิดจากจิตสงบดังที่เคยเทศน์คราวก่อนว่า ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ท่านเป็นภาษาบาลีว่า นัตถิ สันติ ปรมังสุขัง ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี เพราะความสงบนี่ให้ความสุข ให้ความไม่กระวนกระวาย เพราะความสงบทั้งกายทั้งจิต ถ้าเราพร้อมทั้งกายทั้งจิตก็เรียกว่าความสุขไม่มีอาการเกี่ยวกับอามิส เกี่ยวกับวัตถุสิ่งต่างๆของใช้ของวัตถุภายนอก เหตุนั้นเราได้ความสุขทางโลกดังที่ว่าเป็นความสุขที่อาศัยปัจจัย อาศัยเครื่องใช้ อาศัยความได้สิ่งต่างๆมาเป็นสมบัติที่เราต้องการ 

ถ้าเรามาเอาความสงบสุขทางธรรม เราไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายทีนี้เราปฏิบัติ เรามาฝึกจิต ฝึกภาวนา ฝึกทำความสงบให้จิตของเรา พยายามที่จะแก้ไขจิตของเราที่มันติดกับความสงบภายนอก อย่างติดวัตถุติดอามิสติดปัจจัยภายนอกอย่างนี้ เราก็จะได้ไม่มาเกี่ยวข้อง จิตมันก็เข้าไปภายใน น้อมจิตเข้าไปอยู่ในความสงบ เข้าไปรู้ความเงียบ ความสงบของจิต มันไม่มีเสียงกระเทือนเหมือนโลกหละทีนี้ มันก็สงบนิ่ง อย่างที่เราทุกคนมีชีวิต เวลามันสงบ เวลามันพักผ่อน เราก็จะได้รู้สึกว่าเกิดความสุขในการให้ความสุขทางจิตทางกาย คือไม่มีสิ่งก่อกวน ถ้ามีสิ่งก่อกวนมีสิ่งกระทบมันทำให้การพักผ่อนหรือสติของเรามันสะดุ้ง มันก็ไม่มีความสุข มันมีอารมณ์ภายนอกเข้าไปกระทบเกี่ยวข้อง หรือมีอารมณ์ปรุงแต่งไม่ยอมสงบ ไม่ยอมอยู่กับสมาธิภาวนา มันมีอาการความสะดุ้งความกลัวต่างๆอย่างนี้ ฉะนั้นมันก็ไม่มีความสุข เพราะว่ามันมีเสียงโลก มันมีสิ่งกระทบ มันมีอารมณ์รบกวนซึ่งมันเป็นข้าศึกแก่ความสงบ คือมันรบ รบอยู่ในจิตในอารมณ์ของเรา มันสู้กัน สู้กันกับความสงบ ความสงบกับความไม่สงบมันเป็นคู่ต่อสู้ มันเป็นศัตรู มันเป็นข้าศึกท่านว่าอย่างนี้ ทางธรรมท่านก็เรียกว่าเป็น นิวรณธรรม คือมันเป็นตัวมาเรียกร้อง มาก่อกวน มาวิงวอน จึงว่านิวรณ์ 

อย่างพวกนิวรณ์ข้อหนึ่งก็คือ กามะฉันทะ ความที่รักใคร่ ความพอใจในกามคุณ ในความรักความหลงของกายเรา เรียกว่ากามะฉันทะ คือความรักใคร่ความหลงใหลในร่างกายของเราเอง แล้วก็ส่งจิตหลงไปหาร่างกายของคนอื่น เหมือนอย่างเป็นผู้ชาย เพศผู้ชายอย่างนี้ก็หลงกายของเรา ไม่รู้ หลง เมื่อเราส่งออกไปข้างนอกอื่นเราก็ส่งไปทางเพศที่ตรงกันข้ามอย่างนี้ อย่างผู้ชายก็หลงผู้หญิง ผู้หญิงก็หลงตัวของเราเองแล้วก็ส่งไปหลงคนตรงข้ามอีกคือผู้ชายอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นกามะฉันทะ

นอกนั้นก็ พยาบาท ก็เป็นนิวรณ์ตัวหนึ่งทีนี้ มันทำให้เราลำบาก ลำบากกับเรื่องความรักความใคร่ความพอใจในร่างกายในความหลงกายอะไรต่างๆ ท่านก็ว่าพยาบาท 

ถีนมิทธะ จิตที่เราอยู่ในที่ความรักความใคร่ความหลงร่างกาย นี่เป็นเครื่องครอบจิตใจเรา ท่านบอกว่าถีนมิทธะ ถิ่นๆนั้นมันเป็นที่มืด มันเป็นอารมณ์มืด มันเป็นความมืดของกิเลสของจิต มันปิดบัง มันไม่ให้เราเห็น เป็นความดำของจิตคนเราและสัตว์ ท่านว่า ถีนมิทธะ

นอกนั้นก็ อุทธัจจะ กุกกุจจะ พอจิตมันไม่มีความสงบ ไม่มีความร่มเย็น ไม่มีความรู้ความสว่าง ทีนี้มันก็เป็นที่มืด แล้วก็เป็นที่ฟุ้งซ่านรำคาญหงุดหงิดอึดอัด เหมือนเราอยู่ในที่ไม่ปลอดโปร่ง อยู่ในที่บังคับท่านว่า อุทธัจจะ กุกกุจจะ

นอกนั้นนิวรณ์ตัวสุดท้ายก็เรียกว่า วิจิกิจฉา เราเป็นมาจากข้อต้นคือข้อกามะฉันทะ ความหลงกายของเรา ความรักกายของเรา จึงว่ากามะฉันทะ ทำให้เกิดวิจิกิจฉาในที่สุด คือหลงความรักความใคร่ความสวยความงาม แล้วก็เพลินก็ติดก็มีความถูกใจในอารมณ์ ท่านจึงบอกว่า มันเป็นพวกอารมณ์ของโลกกิเลส เป็นนิวรณ์เป็นตัวที่มาไหว้มาวอนมาหลอกลวง เป็นมารยา เรียกว่าเป็นมารยาของจิต ที่มันแฝงมากับจิตกับกิเลส มันเป็นเชื้อที่อยู่ด้วยกันมา ท่านจึงว่ามารยา มารยาก็คือเป็นพวกมารของจิตของสมาธิ มันเกิดมาด้วยกัน มันแฝงหลบซ่อนอยู่ด้วยกัน ก็เป็นเรื่องของตัวเราทุกคนหละทีนี้ มันอยู่ด้วยกัน เกิดมาด้วยกัน อาศัยเจริญอยู่ด้วยกัน แล้วก็ติดพันไปด้วยกันอย่างนั้น ก็เอาความหลงเป็นเครื่องผูกมัดกันไป 

ฉะนั้นท่านจึงให้มาหาความสงบ มาตั้งสติ มาเจริญภาวนาให้เกิดความรู้ ให้เกิดสติปัญญาขึ้นจากการปฏิบัติ ไม่ใช่เรามาคิดนึกเอาธรรมดา เราต้องมาฝึกมาปฏิบัติด้วยตัวของเรา ด้วยใช้ร่างกายของเราทำเอา ถ้าเรามาเอาตามตัวหนังสือ ตามความรู้ทางพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ได้แนวทางในเบื้องต้นแต่มันก็ไม่ใช่เป็นความรู้ของเรา มันเป็นแนวทางเบื้องต้น มันเป็นสัญญาความจำที่จะนำเราเข้าไปเป็นหลักปฏิบัติ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อแก้ เพื่อแก้สัญญาที่เรานำเข้าไปเป็นตัวอย่าง หรือเป็นคำสอน มันเป็นสัญญาอยู่ ถ้าเรามากลั่นกรองมาภาวนามาปฏิบัติธรรมให้มันได้ผ่านความสงบ ให้มันได้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของหลักของกิเลสของนิวรณ์ ของตัวร่างกายของเราอย่างนี้ให้เข้าใจ พอเราเข้าใจแล้วก็จะเกิดความรู้มาจากส่วนความสงบส่วนภายใน เกิดมาจากปัญญา เราก็ได้แก้ไขมาจากพวกสัญญาที่เรานำไปเป็นแนวทางก่อน เป็นข้อคิด 

แต่เราไปพิจารณาเกิดความรู้ความเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น เราเกิดปัญญาขึ้น ก็เปลี่ยนแปลงจากความจำสัญญาที่เรานำไปแต่เรามาแก้ไข เอามาปฏิบัติ แก้เรื่องรูป เรื่องนิวรณ์ต่างๆ ที่มันมีประจำ ทำให้เราเกิดขึ้นมาในโลก ก็มาจากพวกนิวรณ์พวกกรรมต่างๆที่เราไม่ได้แก้ เราไม่ได้ปฏิบัติให้รู้จัก ถ้าเรารู้จักทางแก้ รู้จักเจริญปัญญามาให้เกิดความรู้ ทำสติให้มีกำลังแก่กล้า ทำสติให้มั่นคง ทำสติให้เจริญก้าวหน้าเรียกว่าเราทำเพื่อไม่ให้พวกมารพวกกิเลสพวกนิวรณ์ต่างๆที่มันเป็นตัวมาร ที่มันจรอยู่ในจิตของเรา ที่มันเที่ยวมาหลอกเรา 

ดังนั้นกิเลสมันก็เป็นผี เป็นผีหลอก คือมาหลอกคนที่กลัว คนที่กลัวให้ตกใจ ให้สะดุ้ง เหมือนอย่างที่จิตใจของเราไม่มีกำลังเข้มแข็ง พอมันหลอกเอาเราก็สะดุ้ง เราก็พะวง เราก็เพ้อ จากที่จิตของเราไม่เข้มแข็งไม่แน่นหนา เหมือนเราถูก เราตื่นเสียงเตือนเรื่องต่างๆ ถูกหลอกอย่างนี้ เราก็สะดุ้ง กิเลสมันหลอกจิตให้กลัว ให้สะดุ้ง มันมาเหนี่ยววอน มันมาแสดงเป็นเรื่องสอนจิตให้เรารู้ เค้าก็มีหน้าที่ อย่างมารยาอย่างกิเลสอย่างนี้ ชื่อก็ชื่อว่ามาร เป็นมารยา การตกแต่งการแก้การวิธีทำ วิธีปรุง วิธีคิดต่างๆนี่ ทำแปลกปลอก ทำให้หลงใหล ทำให้ติดใจจึงว่ามารยา ผู้ที่มีมารยาของกิเลส ดังนั้นมารจึงเป็นคู่ศาสนามาตั้งแต่พระพุทธเจ้าของเรา การที่เราสร้างอะไรใครๆก็พบปะแล้วก็พูดกันอยู่ตลอดว่า เอ้อ ทำดีก็ยังมีมาร คือว่ามันไม่ได้เลือกใครทีนี้ ใครจะทำอย่างไรเขาก็ต้องมีมารเข้าไปขวาง ทำดีก็ยังมีมาร เพราะว่ามันเป็นของมีประจำโลกมาแต่กาลไหนๆแล้ว ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้นแล้ว เราก็ไม่บ่นไม่ทุรนทุรายหละทีนี้ ว่ามันก็มีทำยังไงไม่ให้มันมี มันก็มี 

ถึงเราปฏิบัติก็เหมือนกันแหละ สิ่งที่ไม่ดีเราไม่อยากให้มันเป็น แต่มันก็เป็นไปได้ มันไปบังคับไปแยกมันออกไม่ได้ เราก็ถือว่ามันเป็นหลักของกิเลสของธรรมะ มันอยู่ด้วยกัน มันแก้กันอยู่อย่างนี้ จะไปว่าให้ใครก็ไม่ถูกหละทีนี้ เราต้องว่าให้จิตที่เราหลงว่าไป ผู้หลงต้องเอาผู้รู้ไปบอกไปสอนเอาว่าเรื่องทำอะไรมันก็มีสิ่งขัดข้องมีมารมีสิ่งมาขวางกั้น แต่ก็เพื่อให้เราแก้สิ่งที่มันมีการติดขัด มีการไม่สะดวก มีการลำบากต่างๆนี่ มันก็เป็นการสร้างการปฏิบัติเพื่อแก้ แก้สิ่งที่มันขัดข้องสิ่งที่มันไม่ดี อย่างความที่เราไม่เข้มแข็ง เราอ่อนแรง เราเหนื่อยล้า เราเกิดความระอาใจ เกิดความขี้เกียจ เราก็ต้องแก้ให้หมด เราไม่แก้มันก็ไปไม่ได้ 

ท่านจึงบอกว่าอย่างทำดีมันก็มีมาร มีพวกนิวรณ์ มีพวกสิ่งต่างๆ เอากลับมาสอนหละทีนี้ มาสอนจิตให้รู้จักแก้ไข ให้รู้จักหาทางหลบหลีกไป ให้ได้ความสงบ ไม่ให้พวกมารพวกกิเลสเป็นเจ้าของ เราเป็นผู้แก้ไขผู้ปฏิบัติอยู่ เราก็มีความเพียรพยายามมีความขยันอดทน มีกำลังใจที่จะแก้ไขเรื่องที่มายุ่งเกี่ยวกับความสงบที่เราปฏบัติอยู่ไม่ให้มันขุ่นมัว ไม่ให้มันกระทบกระเทือนภายในจิตของเราผู้ปฏิบัติ อันนี้เรียกว่ามารที่มีอยู่กับโลกประจำ มันอยู่กับศาสนาเป็นคู่เป็นธรรมะที่จะทำให้ชาวพุทธของเราได้รู้จักทำความดี ได้รู้จักหาวิธีแก้ รู้จักเจริญความดีให้มาก ถ้าเรารู้ว่าเรายังสู้ไม่ได้ เรายังมีความเหนื่อยละอายใจ เราก็ใช้การแก้ไข เราก็เพียรพยายาม เราเพิ่มความดีขึ้นทุกที ตั้งแต่เล็กไปถึงมาก ไปถึงโตจนสมบูรณ์แบบนั่น เราก็อาศัยการปฏิบัติที่เรามาดู เรามาดูเรื่องธรรมะกับพวกมารกับพวกกิเลสทั้งหลายที่มันทำงานอยู่ในโลก แล้วเราก็มาอาศัยเกี่ยวข้องอยู่แล้วก็มาดิ้นรนวิ่งวนอยู่เหมือนกัน เรียกว่าเราวิ่งหา…หารู้ หาหลัก หาที่พึ่งน่ะ 

อย่างชาวบ้านอย่างนี้ อย่างฆราวาสนี่ก็ทำอยู่เหมือนกันหมดหละทีนี้ ต้องทำมาหากินเอง ต้องพึ่งตัวเอง ไม่เหมือนพระสงฆ์ที่มาบวช พระสงฆ์ที่มาบวชท่านสละไว้ให้ทางบ้านหมดแล้ว ท่านก็เอาแต่ตัวออกมาอยู่ปฏิบัติ อาศัยบุญเกิดจากปฏิบัติเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่ต้องไปทำไปปลูกไปสร้างไปตากแดดตากฝน ผลบุญก็เกิดขึ้นเพราะว่าท่านได้เสียสละไป ก็เกิดเป็นผลบุญขึ้น เรียกว่าทำนาบุญ ไม่ได้ทำนาบาป นาข้าว นาหว่าน นาดำอย่างทางโลกทีนี้ ก็มีกินมีใช้เพราะว่าได้ทำนาบุญส่วนที่เป็นผล เกิดจากการปลูกทำไว้ถึงจะมีชีวิตถือศึลปฏิบัติธรรมอยู่ ไม่ได้เอาร่างกายทำแต่ก็เอาจิตใจทำเป็นนาบุญ บุญก็เจริญก็มีอยู่ตลอด ก็มี ไปอยู่ที่ไหนก็มีคนเกิดดลใจ เกิดอยากได้บุญก็อยากถวายให้เป็นบุญ อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เราได้อาศัย อย่างชาวบ้านนี่เราไม่ได้เสียสละมาบวชทีนี้ เราต้องเอาแรงเอาสติปัญญาของเราทำเองคิดเอง ปลูกดูแลทุกอย่าง ก็ต้องเป็นของตัวเองหมด จึงต้องอยู่นิ่งๆไม่ได้ มันจะต้องวิ่งจะต้องหาจะต้องอดทนการหาอยู่หากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่แล้วก็เลี้ยงชีวิตไว้ให้มีอยู่ในโลกเหมือนกันหละทีนี้ แต่ว่าเป็นทางลำบากแตกต่างกันเพราะการทำบุญมันก็ลำบากแต่มันก็ไม่ได้ลำบากตรากตรำเหมือนเราทำกับงานทางโลก มันก็ผ่อนคลายก็เบาบางลง อย่างเรารักษาศีลอย่างนี้ เราก็ไม่ได้ลำบาก ไม่ต้องแบกไม่ต้องใช้แรงหอบหิ้วอะไร เรามีแต่ตัวเปล่าๆอย่างนี้ เราก็มารักษามาจำศีลอย่างวันพระ มันก็ไม่เห็นความลำบาก นี่ว่าความแตกต่างกัน 

ฉะนั้นเรารู้จักว่าหนทางที่เราเดินที่เราปฏิบัติมันเป็นทางลำบากทางไม่ลำบาก เราก็มีทางศาสนาให้เราดู ให้เรามีศรัทธามีความเชื่อในการถือการปฏิบัติถือทางสมาทานที่เจริญในศาสนานี่ อย่างที่ว่าเรามาจำศีลมาภาวนา มาทำความเพียร มาทำการหมุนเวียนศรัทธาของเราให้มันเข้าแน่นในพุทธศาสนา ให้มีความเชื่อมั่นคง ก็อาศัยเราเลือก เราหาที่หาทาง หาทางเดินที่ดี หาทางที่จะไปสู่ความสุขในชีวิตของเราแต่ละคนทั้งปัจจุบันและอนาคต ฉะนั้นเรื่องการที่เราเป็นชาวพุทธ เราก็มารู้เรื่องการที่มาปฏิบัติต่อตัวเราเอง แล้วก็รู้จักการที่จะมาแก้กิเลส แก้ความไม่ดี แก้สิ่งที่ไม่สงบภายนอกออกจากจิตของเราให้ได้รับความสงบ ไม่ให้มีเสียงรบกวน ไม่มีเสียงกระทบ อย่างเสียงโลกอย่างที่ว่า มันก็จะสงบอยู่ในจิต และสิ่งอื่นๆที่มันเป็นสิ่งมากระทบในรูปในร่างกายของเรา เรามีสติรับรู้ เราไม่ไปถือเอามาเป็นอารมณ์ เรามากำหนดรู้อยู่ที่จิต ที่ความสงบ ที่เรามีสมาธิภาวนาเป็นเครื่องระลึกเป็นเครื่องบริกรรม เราน้อมสติน้อมจิตเข้าไปมาดูให้จิตอยู่ในความสงบได้ คือไม่ไปเกิดความรำคาญกับเสียงโลก เสียงถึงโลกภายนอก 

แต่ถ้ามันมีเสียง มันมีสิ่งปิดบังจริงๆก็กันไม่ค่อยอยู่ต้องอาศัยหลบ อย่างเสียงเนี่ย แต่อย่างรูป อย่างนี้มันก็กันง่าย เพราะมันมีที่ปิดเปิด อย่างเปลือกตานี่ หนังตานี่ หูมันไม่มีที่ปิดเปิด เป็นโล่ง มันถึงหลบยาก ถ้าไปเป็นแบบธรรมชาติแบบหูหนวกหูตึงมันก็ไม่ดี ไม่ถูกอีกหละทีนี้ มันก็เกิดความรำคาญเกิดทุกข์ ฉะนั้นเรื่องสิ่งกระทบภายในกับภายนอกมันก็มีในตัวของเราทุกคนแต่เราก็รับรู้ รับกันไว้ กระทบแล้วไม่ให้มันเป็นรอยช้ำ มันเป็นรอยตำหนิ ไม่ให้เป็นเครื่องหมาย คือไม่ให้ติด ไม่ให้หลง อย่างตากระทบรูปอย่างนี้ หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายถูกต้องสัมผัสอะไร สิ่งต่างๆก็ให้รู้จักทีนี้ ให้รู้จักกันรู้จักแก้เพราะมันมากระทบแล้วมันก็หายไป 

อันนี้เรื่องที่เราจะรักษาจิตให้อยู่ในธรรมในความสงบได้ ไม่ให้มาร ไม่ให้นิวรณ์ ไม่ให้กิเลสของโลกต่างๆมารบกวน มาเป็นข้าศึก มาเป็นมาร เราก็เป็นผู้รู้แล้วก็รู้เรื่องมัน รู้จักที่เกิดที่มาที่แก้ของมันอย่างนี้ เราก็ว่าเป็นผู้รู้ ถ้าเราไม่รู้เราเป็นผู้หลง เราก็เกิดความติดขัดเกิดความทุกข์เกิดความไม่สงบใจเกิดนิวรณ์ต่างๆ คือไม่มีปัญญาจะไปแก้ให้มันสงบได้เพราะว่าเราไม่ได้ฝึก เราไม่ได้รู้จักที่เกิดที่มาของมัน แล้วเรารู้จัก มันก็สงบเข้าหาความรู้ของเราได้ ท่านจึงว่าเป็นผู้รู้ ไม่หลง คือเห็นแล้วก็รู้ อย่างเห็นรูปก็รู้ว่าเป็นรูป แต่ถ้ากิเลสก็จะว่าต่อไปว่ารูปสวย รูปไม่สวย มันก็ว่าไปอีกหลายเรื่องหละทีนี้ แต่ว่าถ้าความรู้ธรรมดาก็รู้ว่าเป็นรูป รูปอะไร ก็คือรูป ทั่วโลกก็คือรูป โลกก็คือรูปโลก เสียงก็เหมือนกัน ก็มีเสียงเดียวเท่านั้นคือเสียงที่มันดังให้กระเทือน จะเป็นเสียงอะไรก็ตามก็คือเสียงแต่ละอย่างๆ ก็รู้ว่าไม่มีหลาย ไม่มีมากมายอะไร มันมีอย่างเดียวทีนี้ ให้เราเข้าใจ เรารู้ เราก็ไม่ไปวุ่นวายกับสิ่งที่มากระทบเรา จะเป็นรูปก็รูปเดียว ก็ดูคนๆเดียวก็กี่ล้านในโลกก็คนๆเดียว จะเป็นเสียงก็เหมือนกัน จะกี่ล้านเสียงเท่าไหร่ก็เสียงเดียว ก็มีหมด ดังนั้นมันจะมากมายก็คนเรานับไปขยายไป ก็เลยเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าเรารวมลงมาให้เป็นหนึ่ง เป็นความสงบอันเดียวซะแล้วมันก็ไม่มีหละทีนี้ มันก็มีเฉพาะเรื่อง เฉพาะอันเดียว ก็รู้ ก็ไม่ต้องไปไล่นับไล่นึกมาก ก็ดูอยู่ที่เดียวดูอันเดียว มันก็รู้แล้วว่ามันเหมือนอันเดียวกัน ความแตกต่างกันสีสันวรรณะอะไรก็เราก็ดูๆแล้วก็อันเดียวกัน

ดังนั้นการที่สอนจิตของเราให้รู้เรื่อง รู้โลก รู้สิ่งหลอกลวงของโลก รู้มารโลก รู้กิเลสโลกต่างๆ แล้วเราก็แก้ไข เราก็ดัดแปลงให้เป็นความรู้แก่ใจเรา เราก็เป็นผู้รู้ทีนี้ เป็นพุทธศาสนา เป็นพุทธบริษัทขึ้นมา มีความศรัทธาเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า คือท่านสอนให้เป็นพุทธะ ให้เป็นผู้รู้ ใ้ห้เป็นผู้ทำกิจให้…ปฏิญาณจิตให้เข้าถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คือเป็นผู้รู้เพื่อแก้ความหลงที่เราหลงอยู่ในโลกที่ไม่รู้จักทางแก้ อย่างว่าเราได้ทำความรู้มาสู่จิต ทำจิตเราให้เข้าถึงภูมิผู้รู้ ปฏิญาณตนเข้าเป็นพุทธบริษัท เป็นผู้หนีจากความหลง เราจะมีความรู้เป็นผู้รู้ตื่น เป็นผู้รู้สงบ เป็นผู้รู้เบิกบานเพราะว่าอยู่ที่เราปฏิบัติเข้ามาหาจิตเราให้ได้ แล้วกิเลสมันจะหอบเข้ามา เราก็แหวกก็กันมันไว้ เพราะว่ากิเลสนี่มันเป็นของที่อยู่กับ…ฝังใจ อยู่ในส่วนที่ลึกลับของอารมณ์ เหมือนกับจอกกับแหน พอว่ายออกไปหน่อยเดียว พอเราหยุดมันก็หุ้มเข้ามาปิดอีก มันบอกว่าเราต้องขยัน เราขยันแหวกออก ว่ายออก กันไว้ไม่ให้มันหุ้มเข้ามา

นี่แหละเรื่องศาสนาเป็นเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า ศาสนาของท่านผู้รู้ เราเป็นชาวพุทธเป็นพุทธบริษัทก็ให้ปฏิบัติตามแนวของพระพุทธองค์ ก็จะได้เกิดสติปัญญาเป็นผู้รู้เรื่องศาสนาขึ้นมา ก็จะเป็นผู้มั่นคงในศาสนา การให้อุบายธรรมะมาก็พอสมควรแก่กาลเวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้