Skip to content

เทศน์วันวิสาขบูชา

หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร

เทศน์วันที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๔๖

| PDF | YouTube | AnyFlip |

เป็นหวัดเลยแบบไม่กินยา เอาธรรมรักษาเอา ฉันแต่น้ำอุ่นมันก็ยังไม่หายอยู่ เสียงมันน่ะ นึกจะกินยาก็ไม่กิน ยาก็มีเยอะแยะ มันเคยหาย มันเคยหายมาก่อนก็เลยไม่ต้องกินยา รักษาโดยธรรม คือวันนี้เป็นวันที่เรากล่าวเราบูชากันละก็เราว่าตัวบาลีนำไปก่อนแล้วก็ว่าคำแปลเป็นภาษาไทยของเราให้เข้าใจกัน คือเข้าใจในเรื่องของวันวิสาขาเนี่ยแหละ เรียกว่าเป็นวัน…เป็นวันวิเศษหรือเป็นวันพิเศษของโลกซึ่งในพระพุทธศาสนาของเรา พระพุทธเจ้าของเราน่ะมีครั้งเดียวคือท่านได้ประสูติครั้งเดียวคือครั้งสุดท้าย เรียกว่าสุดท้ายไม่ใช่ครั้งแรกที่นับหนึ่งนะ คือสุดท้าย คือท่านเกิดมามากมายาวนาน ท่านประมาณโดยการนับแล้ว สี่แสนอสงไขย นี่ท่านประมาณโดยรวมๆ อสงไขยเป็นคำนับแบบโบราณ อสงไขยถ้าแปลความหมายแล้วว่า นับไม่ถ้วน อสงไขยหนึ่ง สี่อสงไขยนี่ก็จะมากซักเท่าใด เช่นนั้นพระพุทธเจ้าของเราได้มาเวียนว่ายมาตายมาเกิดเนี่ยภพชาติมากมายยาวนาน แต่ว่าวันนี้นี่เป็นสุดท้าย เป็นที่หนึ่ง คือเรียกว่าสุดในความเกิดของท่านละก็ความตายก็มาตรงวันนี้ที่ว่าประสูติ ปรินิพพานนี่ คือความเกิดกับความตายนั่นแหละถ้าพูดภาษาของเรา ก็มาตรงกับวันนี้ วันนี้จึงวันพิเศษนี่แหละ แล้วก็ยังเป็นวันที่พระพุทธเจ้านั่งสมาธิภาวนาปฏิบัติได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนวันนี้ 

เหตุนั้นพวกเราชาวพุทธหรือพุทธบริษัทนี่ถ้าเราเข้าใจเรื่องประวัติของพระพุทธเจ้า เข้าใจเรื่องประวัติเรื่องความเป็นมาของพระพุทธศาสนา เราก็จะมีความศรัทธาคือความเชื่อในธรรมะของพระพุทธเจ้าแน่นหนามั่นคงในจิตในสันดานของเรา เพราะว่าความเป็นมาของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของง่าย และอย่างคืนวันนี้ถ้าเรานึกตามประวัติความเป็นมาแล้วเรานึกย้อนอดีตไปย้อนหลังไป ๒๕๔๖ ปีอย่างนี้ ไกลมากยาวนานมาก ๒๕๐๐กว่าปี ความเปลี่ยนแปลงหรือวันวิสาขะนี่จะมาได้เท่ากับที่พ.ศ.นั่นแหละ คือพ.ศ.คือพุทธศักราชที่นับลำดับมา ถ้าเรานับมาถึงปัจจุบันอย่างนี้แล้วบางทีถ้าเราเกิดความศรัทธาความเคารพความที่เห็นความเหนื่อยยากลำบาก เห็นพระพุทธเจ้าที่ท่านสร้างพระบารมีมายาวนาน แล้วพระพุทธเจ้าท่านสร้างมาเพื่อกู้สัตว์โลกให้ออกจากวัฏสงสารให้พ้นเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่ เราก็จะละอายพระพุทธเจ้าทีนี้ อย่างเรามัวเมาประมาท กินๆ นั่งๆ นอนๆ หลับๆ ตื่นๆ อย่างนี้ 

เหตุนั้นสมัยก่อนสมัยที่อยู่กับหลวงปู่ที่อุดรฯน่ะ หลวงปู่อ่อน ท่านนำปฏิบัติเป็นประจำ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาวอย่างนี้ ในวันสำคัญท่านก็จะอยู่ตลอดรุ่ง อยู่หมดน่ะแหละ ในวัดทั้งศรัทธาผู้มาปฏิบัติญาติโยมนี่ ท่านมองเห็นคุณความดีบุญบารมีของพระพุทธเจ้า บารมีของพระพุทธศาสนาที่ได้เจริญแผ่มาถึงพวกเรานี่ เรานี่อยู่สุดท้ายภายหลัง ๒๕๔๖ ปีแล้วนี่ ไกลมาก พระพุทธศาสนายังยืดมาถึงพวกเราก็ถือว่าเรานี่มีบุญ หรือความดีคุณของพระพุทธเจ้ายังคุ้มครอง ความดีของพระพุทธศาสนายังยืดมาถึงพวกเราเพราะว่าศาสนาก็มาด้วยความยุ่งยากผ่านอุปสรรคต่างๆมากมาย หลายยุคหลายสมัยถูกทำลายถูกก่อกวนอย่างนี้ ศาสนาเป็นของที่มีคุณค่ามีอำนาจมีคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่แหละ เป็นคุณที่สูงกว่าสิ่งใดๆในโลก ก็อยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบันนี้ เหตุนั้นท่านระลึกถึงที่นี่ ระลึกถึงว่าที่มาต้นแล้วมาถึงปัจจุบันนี่มันยาวนานมาก แล้วเราก็เกิดมาเราก็นับย้อนไปไม่ถ้วนหละทีนี้ เบื้องหลังน่ะ นอกจากว่าเราจะเอาธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นแหละมาวัดมาหยั่งดู เราถึงจะรู้ว่าการเกิดการตายนี่มันมาก เราก็นับไม่ถ้วนหละทีนี้ เราก็ยังไม่รู้จัก ไม่รู้จักเรื่องการเกิดการตายนี่ แต่เรารู้จักอยู่ แต่เราไม่รู้จักแก้ด้วยแล้วบางทีเราก็มีความอยากซึ่งเป็นเชื้อที่ให้เราต้องเกิดต้องกินต้องหิวไปในชาติหน้าอีก ท่านว่าอย่างนี้

แล้วก็เมื่อความเกิดมันเกิดขึ้น ความตายมันก็มีพร้อมทีนี้ เพราะความเกิดกับความตายนี้มันเป็นอันเดียวกัน อย่างที่พระพุทธเจ้าถือว่าวันวิสาขะเป็นวันประสูติและวันปรินิพพาน เพราะมันเป็นวันเดียวกัน จึงมาตรงวันเดียวเดือนเดียวกันเพราะว่ามันเป็นเรื่องมาจากความเกิด แต่ท่านมารู้ความเกิด มาตัดความเกิด ความตาย การปรินิพพานก็ไม่มี วันนี้จึงได้เป็นวันพิเศษ หรือเป็นวันวิเศษซึ่งพระพุทธเจ้าของเราท่านได้มาทำความดี ได้มานั่งปฏิบัติและได้ตรัสรู้ในคืนวันนี้ คือเป็นวันที่ชำระ วิสาขะคือชะล้างสิ่งสกปรก กิเลสทั้งหลายหลุดจากใจพระองค์หมดเลย สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส เราเป็นผู้เคารพนับถือ เรากราบไหว้ เราบูชา เรายอมรับนับถือคารวะตลอดมาเพราะว่าเป็นคุณความดีหรือว่าเป็นแก้วสารพัดนึกหรือเป็นพระรัตนตรัยอย่างนี้ เพราะว่าความดีที่พระองค์ขัดเกลากิเลสออกไปเกิดความสว่างผ่องใสขึ้นมา ท่านก็เหมือนดวงเดือนบนท้องฟ้า ที่มาถึงรอบเดือนเพ็ญอย่างนี้ เดือนก็เต็มดวง เป็นเดือนเพ็ญสว่างจ้า ในคืนเดือน ๖ เพ็ญอย่างวันนี้ ท่านจึงว่าเป็นวันวิเศษ 

ถึงเราไม่ได้ตรงกับวันพระพุทธเจ้าแต่เราก็เคารพนับถือหรือบูชาคุณของพระองค์ด้วยความเลื่อมใส อย่างที่เราปฏิบัติ บางทีเรานึกเราก็มีความละอายต่อใจของเราที่เรารู้ ก็เหมือนกับว่าพระพุทธองค์ก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ หรือไม่ได้อยู่แบบสบาย ท่านนั่งต่อสู้กับพวกกิเลสมารต่างๆในคืนวันตรัสรู้คล้ายๆวันนี้ ถึงว่าไม่ใช่วันนี้แต่เป็นวันคล้าย แต่ว่าความที่แตกต่างคือระยะกาลที่มันยาวนาน กาลเวลาที่มันยาวนานนี่ความเสื่อมความเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งในโลกมันก็เปลี่ยนไปหมดหละทีนี้ เหตุนั้นเราพูดถึงความเจริญเบื้องต้นของศาสนาที่เราได้มากล่าวมาบูชากันอย่างพระพุทธเจ้านี่ แต่ก็ล่วงมาตั้งยาวนาน แต่พระคุณที่มีแก่โลกก็ยังไม่ดับไม่สูญไปทีนี้ มีผู้ที่ปฏิบัติ มีผู้ที่รู้เห็นธรรมะ สัจจธรรมตามพระองค์มาตลอดและก็เป็นผู้ที่รับรองความรู้ความจริงของพระพุทธเจ้ามาตลอดอย่างนี้นะ เรียกว่าไม่มีการเสื่อมการสูญไปตามกาลเวลาทีนี้ 

แล้วสิ่งที่มันเสื่อมสูญก็คือสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นธรรมที่มีอยู่กับโลก มันเสื่อมมันสูญไป อย่างเฉพาะที่นับสั้นๆ ไม่ถึงพัน ไม่ถึงร้อยปี เราก็จะยังพอที่จะนึกย้อนไปหากาลเวลาอายุของเราแต่ละคนที่เกิดมานับเป็นสิบ หลายสิบปีอย่างนี้ ไล่ไปตั้งแต่อายุ ๘๐ ไล่ไปจนถึง ๑๐ ๒๐ ปีนี่ เรานับย้อนหลังไป เราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ความเสื่อมโทรมตามสภาพของโลกของธรรมนี่เราก็จะเห็นอยู่ มันแสดงหรือว่ามันมีให้เราเห็น แต่เราก็จะต้องจำมาจะต้องสังเกตเราต้องเทียบดู อย่างที่วันวิสาขะ อย่างทุกปีเบื้องหลังก็จะไม่ร้อน และก็จะไม่…ฟ้าก็จะไม่โปร่งอย่างวันนี้ เพราะว่ามีฟ้ามีฝนตกหนักอย่างนี้ เมื่ออดีตโบราณหลายๆปีผ่านมาน่ะ แล้วก็ขับพวกควันขี้เมฆต่างๆออกจากท้องฟ้าอากาศให้มันสดใส แต่ว่ามาถึงปัจจุบันอย่างปีที่เราอยู่นี่ มันก็ไม่เป็นหละทีนี้ มันเปลี่ยนไป มันก็ไม่มีฝนตก แล้วก็ไม่เย็นอย่างนี้ เพราะว่าความเปลี่ยนไปความเสื่อมมันมีให้เราเห็นอย่างนี้ ถ้าเรานึกย้อนหลังจำสิ่งที่เรารู้ผ่านมา เราก็จะได้รู้จักว่ามันเสื่อม มันเปลี่ยนแปลง ไอ้ส่วนธรรมส่วนพื้นที่น่ะ แต่ส่วนสัจธรรมของพระพุทธเจ้ามันยั่งยืนนะทีนี้ มันไม่เสื่อมไม่เปลี่ยนไปซักอย่าง สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้ปฏิบัติได้ตรัสรู้ ก็ยังอยู่เหมือนเดิมทุกอย่างอย่างนี้แหละ 

อย่างที่วันนี้เราก็มีการสวดอะไรที่ให้เป็นสูตรพิเศษ อย่างสูตรธรรมจักรอย่างนี้ แล้ววันพระธรรมดา เราสูตรทั่วๆไป ก็ให้มันเป็นไปตามวันตามกาลที่พวกเราปฏิบัติ เพราะว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้านั่งตรัสรู้ และก็เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติและปรินิพพาน ทั้งสามกาลคือตรงวันเดียวกัน ตรงวันเดียวและก็ตรงเรื่องเดียวกัน ไม่ได้แยกกันเป็น ๓ ทีนี้ ดังนั้นจึงว่าเราสวดธรรมจักรก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรม หลักปฏิบัติทั้งหมดนั่นแหละทั้งหมดน่ะ ที่ความหมายอ้ะคือไม่เสื่อม คือพระพุทธเจ้าได้เทศน์ไว้อย่างไร พระพุทธเจ้าได้รู้อย่างไร สิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าได้รู้มาสองพันกว่าปีก็ยังมียังปรากฏครบทุกอย่างหละทีนี้ 

อย่างที่ว่าอริยสัจ ๔ อย่างนี้ คือทุกข์ ก็ทุกข์มันเป็นอริยสัจข้อแรกหรือเป็นความจริงของพระพุทธศาสนาอย่างนี้ ก็มี ที่จริงๆหละทีนี้ ใครจะไปว่าเป็นความสุขมันก็ไม่เป็นถ้ามันเป็นเรื่องความทุกข์หละ อย่างที่พวกเรามีร่างกายทุกคนนี่ บางคนก็ทนไม่ได้ก็บ่นออกปากให้คนอื่นได้ยินว่า โอ้ย ไม่ไหว ปวดขา ท้องไม่สบายอะไรอย่างเนี้ย เจ็บโน่น เจ็บนี่ นี่ถือว่าทนไม่ได้แล้วต้องบ่น ต้องบ่นออกมาทางนอก ต้องดันออกเป็นคำพูดออกมาอย่างนี้ แล้วเราไม่ไปถามว่าที่คนเขาไม่พูดเขาไม่เจ็บ เราก็ต้องคิดว่าเขาไม่เจ็บ แต่ในตัวของเขานั้นมันไม่มีเว้นหละทีนี้ แต่มันที่มันไม่มีเสียงบ่นเพราะว่ามีความอดทน มีธรรมเป็นเครื่องระงับ เราอย่าไปว่าเลยว่าไม่เห็นท่านบ่น ร่างกายมันไม่มีอะไรแตกต่างกัน มันไม่ใช่แร่ธาตุ เป็นของที่เราแยกเราบังคับไปเองได้หรอกทีนี้ มันเป็นเชื้อโรค มันเป็นกองทุกข์แต่ว่าอย่างไรฉะนั้นมันไม่เว้นสัตว์บุคคล แต่ว่าที่บ่นไม่บ่นนี่มันอยู่ที่ธรรมทีนี้ 

อย่างพระพุทธเจ้านี่ ท่านทน ทนต่อทุกข์หละทีนี้ จึงว่าทุกข์เป็นอริยสัจ เป็นความจริง เป็นของดีในพระพุทธศาสนาถ้าว่าถูกว่าตรงน่ะนี่ เป็นของดีในพระพุทธศาสนา คือพระพุทธศาสนาไม่ได้มีของอื่นดีนอกจากทุกข์ คือมันเป็นความจริงเป็นสัจธรรมที่ทุกตัวสัตว์มี พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็มารู้ทุกข์ รู้อริยสัจอย่างเดียวกัน ไม่ใช่ต่างกันหละทีนี้ เหตุนั้นอย่างที่ท่านพูดไปในธรรมจักรก็ไม่มีผิดหละทีนี้ แล้วตัวของเราทุกคนก็มีพยานรับรองด้วยว่าท่านพูดก็ถูก ตัวของเราก็ถูก ที่เราคิดว่าความสุขนั่นความผิด เราไม่ได้กำหนดไม่ได้ภาวนาเข้าไปส่วนลึก มันไม่เห็นทีนี้ มันไม่ได้กำหนดรู้ให้มันชัดเจน คืออาศัยความเราชินเคยบ้าง บางทีเราผ่อนคลายบ้าง เราอาจจะเปลี่ยนท่าอิริยาบถ เราอาจจะคลายด้วยการบริหารบ้าง มันก็เบาไป แต่ทุกข์ที่เป็นธาตุแท้มันไม่มีเคลื่อน ไม่มีขาด ไม่มีหายหละทีนี้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านรู้เข้าไปส่วนละเอียดที่มันมีอยู่ในจิตโน่น มันไม่ได้มีอยู่ในร่างกายหละทีนี้ ส่วนเชื้อส่วนละเอียดมันน่ะ มันอยู่ในจิต มันจึงมาเกิด มาขยายร่างกายขึ้นมาใหญ่โต สร้างความทุกข์มากมาย กิ่งก้านสาขาแยกออกมาเป็นลูกเป็นหลานเป็นบ้านเป็นเมือง ก็มาจากคนคนเดียวนะแหละ มันก็มาจากคนเดียวคนทุกข์นะแหละ มันก็เลยเป็นเรื่องที่เรามาทางธรรมเหมือนกันหมดหละทีนี้ คือทุกข์นะแหละมันมาทางเดียวกันหมด มันไม่ได้มาทางความสุขหละทีนี้ ถึงมันสุขมันก็ไม่ใช่สุขถูกทำหละทีนี้ มันสุขด้วยความทุกข์อย่างนี้ 

อย่างเราสุข เกิดเป็นคนก็หาความสุข เครื่องใช้ปัจจัยของกินก็เอาความสุขเป็นเครื่องที่จะสร้างขึ้นมา อย่างเราทำอาหารก็เอาไฟต้ม ปิ้ง ย่างขึ้นมาอย่างนี้ แต่มันไม่ใช่ความสุขหละเนี่ย มันไฟมันร้อน แล้วเราก็ถือว่ามันสุขจริงๆมันร้อน แต่ว่าความทุกข์น่ะมันทำให้ ดังนั้นสิ่งที่เราไม่รู้จักทุกข์นั่นแหละ เวลามันเกิดทุกข์ขึ้นมา เราก็ตื่นทีนี้ เราก็เลยสติของเราก็เลยสู้ไม่ไหว มันจะตาย มันทุกข์ถ้าไม่แก้ ไม่รีบแก้มันจะตายจริงๆ แต่บางทีเราแก้ไม่ทันไม่ไหวมันก็ตายให้เราเห็นจริงๆ อย่างคนตายที่ตายไม่เคยหยุดเคยหย่อนอย่างนี้ ไม่ว่าตัวของเรา พี่น้องของเรา พ่อแม่ ญาติ เพื่อนร่วมชาติ ร่วมโลกเราอย่างนี้ ไม่มีที่ไหนว่าง ตายกันเต็มไปหมด นี่เรียกว่ามันเป็นสิ่งที่มีหมดทุกคนคือไม่เว้น แต่ว่ามันเป็นมากเป็นน้อยเรื่องร่างกายน่ะ เพราะว่ามันมารู้ด้วยใจของเรา เป็นผู้รับรู้เป็นเจ้าของมันทีนี้ เหตุนั้นเราต้องมาฝึกใจ มาปฏิบัติใจให้มีความรู้ธรรมะ ให้มีขันติความอดทนต่อทุกข์ที่มันมีอยู่หละทีนี้ ไม่ให้มันทุกข์มาก ไม่ให้มันทำลายสติปัญญาของเรา แล้วเราก็ฝึกให้มันได้ต่อสู้ ได้ทนต่อความทุกข์อย่างนี้น่ะ 

เหตุนั้นอย่างพระพุทธเจ้าของเราอย่างนี้ ท่านไม่ใช่คนธรรมดาอย่างเรา ท่านเป็นเชื้อชาติตระกูลของกษัตริย์เรียกว่า สุขุมาลชาติ คือเป็นชาติสุขุมละเอียด ไม่เคยทุกข์ลำบากเหมือนคนบ้านนอกบ้านนาอย่างนี้ เวลามาปฏิบัติมานั่งตรัสรู้ มาทำความเพียรมากๆนี่ มันก็ทุกข์มากกว่าคนทุกข์คนยากธรรมดา เพราะว่าร่างกายไม่เคยกระทบกระเทือน ไม่เคยโดนแดดฝนทนทุกข์อย่างคนชาวไร่ชาวนาก็ยิ่งได้รับความทุกข์มากขึ้น ทำให้ความทุกข์ที่มีอยู่นี่สอนชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ว่าจะนิดหน่อยหละทีนี้ เพราะว่าความนิ่มนวล ความสุขุม ความที่ไม่เคยต่อสู้กับแดดฝนธรรมชาตินี่ ร่างกายมันจะให้เวทนา คือจะส่งไปหาจิตที่จะทุกข์มากขึ้น แต่พระองค์ก็ต้องมีบารมีหละทีนี้ คือบารมีที่ปฏิบัติที่สั่งสมอบรมมา คือจะต้องต่อสู้ เหตุนั้นต่อสู้พญามารตลอดคืนรุ่งจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาก็ไม่ใช่ทุกข์น้อยหละทีนี้ ทุกข์กันว่าสุด ไม่มีทุกข์ไหนจะมาเทียบเท่า สุดๆก็คืออะไร สุดก็คือตายนั่นแหละ ทุกข์ที่สุดก็คือตายคือร่างกายมันลมหายใจมันดับ อันนั้นคือทุกข์ที่สุด ส่วนทุกข์ที่เรายังมีชีวิต มันยังไม่ถึงที่สุดหรอกทีนี้ มันยังพอทนพอยืดไปได้ ลมหายใจยังเข้าออกได้ แต่ถ้าทุกข์ที่สุดเนี่ย ไม่มีหละทีนี้ ไม่มีการเข้าการออก ลมหายใจก็หยุด เหตุนั้นท่านจึงทุกข์ที่สุดหละทีนี้ อย่างนั่งปฏิบัติตรัสรู้นี่ เรียกว่าได้เข้าสู่ปรินิพพานเพราะจนไปตามเส้นทางทุกข์นี่แหละ เรียกว่าเป็นอริยสัจ เป็นของดีในพระพุทธศาสนาเนี่ย มันเป็นของดีในพระพุทธศาสนาหรือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่จะรู้ได้ด้วยใจ แต่ถ้าไม่มีใจมันรู้ไม่ได้หรอก ถ้ามีแต่ร่างกาย…อย่างคนตายอย่างนี้เราก็เห็น มันไม่รับรู้ไม่สัมผัสอะไรแล้ว มันนิ่ง อันนี้เราก็จะเคยเห็นมาทุกคน

ดังนั้นเรื่องทุกข์มันจึงเป็นเรื่องของดีและเป็นเรื่องที่ทำให้เราผู้เข้ามานับถือพระพุทธศาสนานี่ได้เอามาเป็นหลักเป็นธรรมเป็นเครื่องที่จะนำให้เราสร้างความดีทีนี้เพื่อจะหาทางแก้ทางหนีทุกข์ เพราะว่าใครเกิดมามีรูปมีร่างกายผู้ชายผู้หญิงนี่ก็ไม่ต่างกัน เราก็จะต้องมาได้ทุกข์ เมื่อมีทุกข์เพราะสิ่งที่มันทำให้เกิดให้มี อย่างที่ว่ามันมาจากเหตุ มาจากตัณหาที่ทำให้ทุกข์อย่างนี้ ท่านจึงว่าท่านถามไปว่ามันมาจากไหน มันมาจากเหตุที่จะทำให้ทุกข์เกิดคือพวกตัณหา ตัณหาคือความอยาก ความหิว ความดิ้นรนต่างๆที่มันจะเพิ่มทุกข์ขึ้น ทุกข์มันมีน้อยแต่เราเอาตัณหามาเพิ่มให้มันมากขึ้น อย่างความร้อนของโลกนี้มีน้อยแต่เอาความร้อนของตัณหามาเพิ่มขึ้น ทีนี้มันร้อนมาก มันร้อนเข้าในใจเผาหัวใจโน่น มันไม่ใ่ช่ร้อนแต่ผิวร่างหายหละทีนี้ มันร้อนมากที่จะเหลือทนอยู่ได้ เรียกว่าตัณหา ความดิ้นรน ความที่มันหิวกระหาย เรียกว่าตัณหา ท่านก็รู้จักเหตุที่มาของมันที่ทุกข์น่ะ จึงว่า นันทิราคะ สหคตา ตัตตระตัตตราภินันทินี คือมันเป็นความทุกข์ยิ่ง หรือเป็นความทะเยอะทะยาน ความกระสันต์ปั่นป่วนอย่างยิ่งของอารมณ์ของจิตผู้ที่ยังมีตัณหาอยู่ จึงว่า นันทิราคะ สหคตา ตัตตระตัตตราภินันทินี นี่ก็เป็นเรื่องธรรมจักรที่ท่านเทศน์ท่านสอน แล้วท่านก็ท่องจำสวดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันน่ะ นี่เรียกว่าเป็นธรรมที่เป็นหลักในพระพุทธศาสนาหรือเรียกกันว่าปฐมเทศนา คือเทศนาครั้งแรกหรือกัณฑ์แรกของพระพุทธองค์ เรียกว่าปฐม เช่นนั้นพวกตัณหากระทำทุกข์ให้เกิดขึ้นน่ะทีนี้ ความอยาก ความหิว ความดิ้นรน ความที่จิตเราไม่สงบนั่นแหละ เรียกว่าตัณหา เรียกว่าเป็นของดำพวกนี้มันเป็นของทำให้จิตใจของเรามืดดำขุ่นมัวคือมองไม่เห็นที่มาของมันอย่างนี้หละ มันมืด ตัณหาเรียกว่ามันเป็นอารมณ์ที่ปิดบังจิตใจไม่ให้มองเห็นความสว่าง เรียกว่าตัณหาทีนี้ นี่ก็เป็นของดีที่มีในพระพุทธศาสนาหละทีนี้ 

นอกนั้นพวกนิโรธ ความรู้ ความสว่าง ความสงบที่เกิดจากเราฝึกเราปฏิบัติจิตของเรา หรือเราได้กำหนดทุกข์ รู้จักโทษของตัณหาก็เกิดความรู้ขึ้นมาหละทีนี้ เรียกว่าเป็นนิโรธ เครื่องแก้ เครื่องดับความทุกข์ความร้อน ความมัวหมอง ความมืดดำต่างๆคือตัณหานั้นออกจากใจ จิตก็ได้ความสว่างหละทีนี้ รู้ว่ามันเกิดอยู่ที่ไหน มันมาจากเหตุอะไรที่มันทำให้เกิดทุกข์นี่ ก็ไล่ไป ไล่ไปหาตัวของเราหละทีนี้ ไล่ไปหาความคิดของเราหละทีนี้ ที่มันคิดผิดหลงผิดมา ที่มันหลงทำหลงทางนั่นน่ะ เราก็ไปเข้าทางถูกทีนี้ ท่านจึงว่าเข้าทางถูก เข้านิโรธ เข้าความสว่างความรู้ เข้าดับพวกกิเลสตัณหาที่มันมืดปิดบังในจิตใจ 

นอกนั้นก็มรรคข้อปฏิบัติ ข้อปฏิบัติที่จะกำจัดพวกกิเลสพวกตัณหาที่มันมีในร่างกายของเรา มันก็ใจทีนี้ ใจมันรู้ขึ้นว่าอันนี้มันเป็นทางทุกข์ ทางที่มาของบาปของตัณหาของความมืดดำของความเดือดร้อนวุ่นวายดิ้นรนต่างๆ เราจะแก้อย่างไร ใจก็เกิดความคิดเกิดความรู้เกิดปัญญาขึ้นมาทีนี้ เกิดอะไร สัมมาทิฐิ เกิดปัญญาขึ้น เห็นธรรมเพื่อเป็นที่เกิดที่มาหละทีนี้ เห็นขึ้นมาในจิตได้ เกิดปัญญาทีนี้ มันมาจากความไม่รู้ จากตัณหา มาจากทุกข์ ก็ไล่ไป เรากำหนดพิจารณาไป กำหนดเข้ามาหาตัวร่างกายเราก็เห็นหละทีนี้ มันเกิดอยู่ที่ตัวเรานี่ ถึงว่ามันมีอยู่ภายนอกรอบตัวเราแต่มันก็ไม่ได้เกี่ยว ส่วนที่มันรวมมา ส่วนที่มันให้ทุกข์ทรมานมันก็อยู่ที่ตัวของเรา เฉพาะในตัวของเราในผิวหนังของเราเนี่ยแหละ มันไม่ได้มีส่วนนอก มันก็เป็นส่วนของโลกส่วนกว้าง มันก็จะได้คืนมาดูตรงนี้ทีนี้ มาดูตรงที่มันเกิดทีนี้ ตรงที่มันเป็น เค้าว่าแก้ แล้วก็รู้จัก…รู้จักว่ามรรคคือทางจิต หนทางปฏิบัติ มันก็รู้ขึ้นมา อย่างเรารู้เราก็เดิน อย่างเดินมรรคคือเดินจงกรมอย่างนี้ มันรู้มรรคหละทีนี้ ถ้ามันไม่รู้มรรคผลมันก็ไม่เดินหละจงกรม มันก็เดินไปแบบมันไม่ได้เกิดได้เห็นได้รู้อะไร ถ้ามรรคมันเกิดมันก็บอกให้เดินว่าอันนี้คือมรรค คือทางเดิน มรรคาแปลว่าหนทาง ทางเดิน แต่ถ้ามรรคยังไม่เกิดนี่มันเดินยาก เราจะบังคับมันเดินมันก็ฝืนไปแต่ใจมันก็ไม่สงบ ถ้ามรรคมันเกิดนี่ มันไม่ต้องไปบอกมัน มันเดิน เพราะมรรคมันเป็นตัวนำทางส่งทางไปทีนี้ ที่ไหนมันเกิด เกิดให้มีทางเดิน เกิดเป็นทางแก้ทางออกกิเลสได้ เพราะถือว่าทางอื่นไม่มีในโลกคือมีทางเดิน ไม่ใช่แต่เรา พระพุทธเจ้าท่านก็เดิน พระอริยเจ้าทุกสมัยอะไรท่านก็เดิน เพราะว่าท่านเห็นมรรคเหมือนกัน คือเห็นทางเดินเหมือนกัน ถ้าไปทางอื่นก็ไม่มี แต่มันมีก็ไปทางกิเลสทางหลงอย่างนี้ เดินไปเพื่ออย่างอื่น เดินไปเพื่อหากิน เดินไปเพื่อเที่ยวเล่นก็มีเยอะแยะ แต่มันไม่ใช่มรรค มันไม่ใช่เดินปฏิบัติใจของเรา มันเดินไปหากิเลส ถ้ามรรคเกิดขึ้นมันก็รู้จักทางคือทางเดินจงกรม ทางแก้กิเลสนั่นหละทีนี้ท่านรู้จัก

เหตุนั้นเราต้องสังเกตเข้าใจดูตัวเราบ้างว่ามันเดินเพื่ออะไร มันเดินด้วยปัญญามั้ย หรือมันเชื่อมั้ยว่ามรรคคือทางออกจากทุกข์คือเดินนี่ มันจะออกได้มั้ยอย่างนี้เราต้องดู เหตุนั้นเมื่อใจมันรู้ มันเห็นทางแล้วมันก็เดินตามความรู้ จึงว่า สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป ความดำริ ความดำริความคิดขึ้นในใจว่าทำอย่างไรเราถึงจะหนีจากกิเลส จากทุกข์ได้ นี่เรียกว่าสัมมาสังกัปโป คือดำริ คือคิดขึ้นมาในใจ ทำอย่างไร พระพุทธเจ้าทำอย่างไร เพราะเรามีประวัติมีตัวอย่างไว้พร้อมคือพระพุทธเจ้าทำไว้อย่างไร พระอริยเจ้าทำไว้อย่างไร พุทธบริษัท ๔ สมัยก่อนท่านทำไว้อย่างไร ทางเดินข้อปฏิบัติอย่างใดนี่อันนั้นเราไม่ต้องไปสงสัย คือท่านทำถูก คือท่านเลือกถูก แต่ถ้าเราไม่ทำตามก็ถือว่าความผิดมาอยู่ที่เราหละทีนี้ ใจเราก็ผิดด้วยคือมันไม่สงบมันไม่ร่มเย็นด้วยเพราะว่ามันไม่ถูกทางนั่นแหละ เหมือนอย่างคนที่เดินไม่ถูกทางอย่างนี้มันก็จะต้องลำบาก เหยียบตอเหยียบหนามอะไรต่างๆแล้วก็มีรกรุงรังอะไรอย่างนี้ ถ้าคนเดินทางถูกทางสะดวกปลอดโปร่งมันก็ไม่มีอะไรกระทบ 

เราก็จะเห็นหละทีนี้ อันนี้คือว่าความถูกหรือความผิด เหตุนั้นถ้าจิตเราไม่ถูก กิเลสตัณหามันบังคับมันลงโทษ แต่เราไม่ตั้งใจแก้มันนี่ มันก็ผิดทางทีนี้ มันไม่เดิน ถึงมันเดินมันก็เดินหลง แต่กายมันเดินไป แต่ใจมันหลง มันไม่ไปตามทางหละทีนี้ มันส่งไปถึงที่ไหนไม่รู้ นอกนั้นยังดี นอกนั้นมันก็จะไม่เดินน่ะถ้าเหนื่อยหละทีนี้ มันจะเดินเพื่ออะไรมันไม่มีประโยชน์ ไปเดินเล่นเดินดูอะไรดีกว่า มันก็จะสอนไปโน่นกิเลสน่ะ ไปเดินทำไม เดินหลบไปหลบมา ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร กิเลสมันก็สอนไปหละทีนี้ ไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่นั้นมันดีกว่ามันก็พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องทำสิ เพราะใจมันไม่เชื่อ ทำไมพระพุทธเจ้าก็ต้องโง่หละสิ พระพุทธเจ้าต้องมาเดินจงกรม นั่งภาวนา ทำจิตส่วนตัวอยู่ 

เหตุนั้นถ้ามรรคยังไม่เกิด สัมมาทิฐิยังไม่เกิด สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจามันก็ไม่เกิด ลำดับมันหละทีนี้ คือวาจานี้มันเป็นความคิด มันเป็นอารมณ์จิต ไม่ใช่วาจาที่เราจะมาพูดภายนอก คือจิตมันพูดไปนี่เรียกว่าวาจามันสงบอยู่ในจิต มันไม่ได้พูดออกมาให้คนอื่นน่ะ แต่มันพูดให้จิตเราได้ยินน่ะทีนี้ มันจะพูดอยู่อย่างที่มันไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดมรรคแล้วนี่ สัมมาทิฐิมันไม่เกิด มันไม่เห็น มันไม่ชอบแล้ว ว่าทำไปมันก็ทำไปแบบกิเลสมันบังคับไปอย่างนี้นะ มันทรมานมันลงโทษไป มันไม่ใช่ทำไปตามปัญญาทางพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นสัมมาทิฐิ ไม่ใช่เป็นสัมมาสังกัปโป แล้วความคิดมันก็ไม่เป็นวาจานึกคิดในสัมมาวายาโมความเพียร สัมมากัมมันโตการงานก็เป็นการงานที่เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความเพียร เพื่อจะรักษาจิตรักษาอารมณ์ รักษาร่างกายของตนให้อยู่ในความสงบ สัมมาอาชีโวคืออาชีพ การที่ปฏิบัติอยู่คือการรักษาชีวิตการเลี้ยงชีพด้วยการทำจิตปฏิบัติในพุทธศาสนาเป็นอาชีพที่บริสุทธิ์ คือไม่ได้คิด ไม่ได้มีความอยาก ความหิว ความต้องการในวัตถุภายนอกหละทีนี้ เป็นจิตที่มีความดีมีความสงบร่มเย็นมีความอิ่มในบุญกุศลที่ตนมีอยู่จึงว่าสัมมาอาชีโว 

นอกนั้นก็สัมมาสติ สัมมาสมาธิอย่างนี้ มันเป็นความรู้ความเห็นชอบ มีสติระลึกอยู่ คืออยู่กับกายกับจิตของเราเองทีนี้ มันสัมพันธ์กันอยู่ มันไม่ได้แยกไม่ได้หลงกันน่ะทีนี้ มันไม่ได้ถกเถียงกัน คือมันเห็นดีเห็นชอบ รับความปฏิบัติรับความคิดความรู้ไปด้วยกัน คือว่าสัมมาสติ สัมมาสมาธิอย่างพระพุทธเจ้าของเราก็เรียกว่านั่งเจริญสติทำสมาธิในคืนวันวิสาขะนั่นน่ะ ตลอดคืนรุ่ง เพราะว่าถึงเวลา ถึงกาลเวลาที่บรรจบมากับโลกซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดที่ตายของร่างกายของสัตว์ทุกประเภท นี่ที่นี่ ไม่ได้นอกโลกไปหละทีนี้ มันก็จะต้องเกิดต้องตายอยู่ในโลก แต่สถานที่ไกลๆที่กรรมมันจำแนกแจกไปนี่เราก็ไม่รู้หละทีนี้มันมาก ฉะนั้นในพื้นโลกที่กว้างใหญ่ ที่ไหนมันจะว่างจากสัตว์จากความเกิดความตาย…ไม่มีทีนี้ มันเต็มไปหมด เหตุนั้นพระพุทธเจ้าเมื่อท่านเกิดท่านท่องเที่ยวไปทั่วหมดแต่เมื่อมาถึงวาระที่กาลเวลาโลก หมุนวงจรของโลกที่ว่าถึงเข้านี่ก็มาบรรจบกับบารมีที่พระพุทธองค์ได้สร้างสมอบรมมาจนสมบูรณ์หละทีนี้ เพื่อจะมารับรู้ รับรู้โลกแล้วก็โลกก็จะมาเต็มมารอบหละทีนี้ แต่ส่วนเบื้องหลังที่การที่สร้างที่ปฏิบัติมามันเป็นต้นทาง มันเป็นอริยสัจธรรม อย่างที่ว่าทุกข์ สมุทัยอย่างนี้ นิโรธ มรรค ถ้าเราว่าย่อๆ ทุกข์ก็คือร่างกาย สมุทัยก็คือใจที่เป็นไปกับกิเลสกับอารมณ์ นิโรธคือความรู้ที่สว่างขึ้นมาจากรู้จากสมมุติรู้จากกิเลสรู้จากทุกข์ ก็เกิดความสว่างขึ้นมา นอกนั้นมรรคหนทางเดินของจิต หนทางเดินของกายก็รู้จักนำไปทีนี้ นำไปเดินในทางถูก ไม่เดินไปทางผิดทางกิเลสทางบาป ไม่ไปทำความชั่วความเดือดร้อน ความมืดดำให้จิตของเราได้รับวิบากผลอีกแล้ว มันก็จบกันทีนี้ อย่างพระพุทธเจ้าท่านจบ เพราะท่านไม่ไปเดินทางผิดทางบาปต่อแล้ว ท่านเดินไปทางบุญทางถูกหละทีนี้ ไม่หลง ไม่หลงไปทางผิดทางบาป จึงว่าเมื่อถึงกาลเวลามาบรรจบครบรอบอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็เลยได้มาอุบัติตรัสรู้ในโลกแล้วก็มาถึงรอบของโลกที่มาบรรจบ คือโลกที่มาครบเดือนเพ็ญ แล้วกลางของปีด้วย อย่างเดือน ๖ ก็เป็นกลางปีเพราะปีหนึ่งมันก็มี ๑๒ เดือน แต่เดือน ๖ก็เป็นกลางปีและก็เป็นกลางของเดือนด้วยคือเป็นเดือนเพ็ญด้วยอย่างนี้ 

อย่างว่าความดีเราก็อาศัยชีวิตที่เรามีอยู่ในโลกนี่ทำกันสร้างกันอย่างนี้ เราไม่ได้ไปสร้างโลกอื่นมา เราสร้างอยู่ในร่างกายปัจจุบันเรานี่ เราไม่ได้ไปสร้างที่ไหน แต่ว่าโลกที่อยู่รอบนอกที่หุ้มเราอยู่มันเป็นส่วนประกอบที่ให้เราได้เทียบเท่ากับรูปร่างกายที่เรามีเฉพาะ เฉพาะชีวิตที่เราเป็นเจ้าของ มันเป็นส่วนที่เราจะต้องแบ่งกรรมสร้างกรรมเฉพาะตัวที่นี่ เราก็ได้เป็นส่วนที่แยกมาตรงนี้ มาสร้างมาทำเอา มาปฏิบัติตรงนี้ เมื่อเราทำให้ถูก ทำให้สมบูรณ์ให้เป็นไปตามโลกมันก็จะมีผลในทางความที่เรียกว่าสงบร่มเย็น หรือว่าเป็นความดีที่ให้เราเห็นขึ้นมาทางจิตเรา นั้นคือบารมี พอเราทำความดีมันเป็นความดี เป็นบารมีเกิดขึ้นทางจิต มันเกิดขึ้นมาให้เราเห็น อย่างที่ว่าเราทำบุญ ทำสิ่งที่ถูกที่ดี เราเห็นผลบุญนี่ก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่ให้เราเห็นความดีในศาสนาแต่เราก็เชื่อผลของความดี ผลของบุญที่เราทำดีทำถูกไว้ ถ้าใครทำดีทำถูกอย่างนั้นมันก็มีผลได้รับเหมือนกัน แต่ว่าถ้าทำไปแต่ว่าเราไม่ได้ดูใจเราว่าดีหรือไม่ดี ใจเรามันตั้งอยู่กับความดีอย่างนี้ เราไม่ได้คิดหนีไปทางอื่น แต่ถ้าเราทำอยู่ กายเราทำแต่ใจเราไม่ตั้งอยู่ในความดีอย่างนี้ ผลมันก็ไม่ได้หละทีนี้ เพราะว่าผู้รู้ธรรมรู้ผลนี่มันเป็นเรื่องของจิตหละทีนี้ มันไม่ได้รับเพราะจิตมันไม่ได้กำหนด ไม่ได้รู้ 

ฉะนั้นเราต้องดู บางทีเราจะไปว่าความดีของเรา ตำหนิบุญของเราบ้าง บางคนก็บ่นไปว่ามีแต่ทำดีๆ หรือทำไว้มาก ไม่เห็นมีผลบุญอะไรตอบแทน นี่เราทำไม่ถูก พูดไม่ถูก ถ้าเราพูดถูก ทำดีถูก มันก็มีผลดีทุกอย่างทีนี้ ให้เราได้รับผลเห็นไป อย่างพระพุทธเจ้าท่านสร้างบารมีอย่างนี้ ก็มีมาตลอด มีมาตั้งแต่เริ่มปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็แก่กล้าขึ้นมาทุกภพทุกชาติสมบูรณ์ขึ้นมา ตั้ง ๑๐ชาติใหญ่ๆอย่างนี้ก็สมบูรณ์ขึ้นมาทีนี้ เพราะจนได้สมบูรณ์จนเป็นชาติสุดท้ายอย่างวันนี้นี่ ที่พระองค์นั่งสมาธิภาวนารวมบุญ รวมบารมีต่างๆที่สร้างมาเบื้องหลังเอามารวมผลในวันนี้ เราก็เลยถือว่าเป็นวันที่วิเศษ เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ในพระพุทธศาสนานั่นแหละ 

ไอ้เราก็พูดกันอยู่ว่าโลกก็รู้จักคุณค่าของพุทธศาสนามากขึ้น เขาก็เลือกชื่อใหม่ขึ้นว่าเป็นวันสากลของโลก แต่ก่อนเราพูดกันแค่วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแต่นี้เค้าบอกว่าเป็นวันสากลของโลก คือเรียกว่าโลกทั้งหมดที่อยู่รวมกันจำนวนร้อยกว่าประเทศนี่เค้ายอมรับ ยอมรับพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าของเราว่าเป็นเอกในโลก แล้วก็สอนศาสนาถึงที่สุด เพราะศาสนามีมากมายแต่คำสอนแตกต่างกัน คือให้ประโยชน์ถึงที่สุดอย่างที่เรากล่าวในคำถวายบูชานั่น คือประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในเบื้องหน้า และก็ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ประโยชน์ทั้งปัจจุบันและประโยชน์ทั้งอนาคตข้างหน้าที่จะมาถึงอย่างพรุ่งนี้ ผลความดีที่เราได้ทำก็จะมาถึง ถึงว่าประโยชน์ทั้งวันนี้พรุ่งนี้ ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน คือพ้นจากกิเลส พ้นจากทุกข์เครื่องดองในสันดารของมนุษย์ทั้งหลาย เรียกว่าประโยชน์อย่างยิ่งหละทีนี้ ไม่มีที่ไหนจะยิ่งกว่า คือเราทำประโยชน์ ที่เราเรียกพูดประโยชน์ๆกันเป็นความประเมินผล ประเมินคุณความดีต่างๆ แต่ก็พอประมาณ แต่ประโยชน์พระนิพพานนั้นอย่างยิ่ง คือไม่มีประโยชน์อื่นที่จะไปเทียบเท่าได้ 

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าท่านได้ให้ประโยชน์อย่างยิ่งแก่โลก แก่มนุษย์ แก่พุทธบริษัททุกถ้วนหน้า คือว่าพระองค์ไม่ได้ปิดบัง ไม่ได้หวงไว้ เรียกว่าเปิดใจให้รู้ ถ้าพูดถึงพระองค์ยังอยู่ ก็จะเอามือชี้ถึงหัวใจของเรานี่ อย่างปางพระพุทธรูปแสดงธรรมจักรที่ประเทศอินเดียน่ะก็เห็นอยู่ คือเขามีปางเดียวที่เขาเคารพบูชามาก เขาไม่มีหลายปางอย่างเมืองไทยว่า ปางสะดุ้งมาร ปางถวายเนตร ปางห้ามญาติเขาไม่มี อินเดียเขามีปางเดียว คือปางแสดงธรรมจักรคือชี้ใส่หัวใจ ชี้ใส่หัวใจพระปัญจวัคคีย์ก่อน ก็มาชี้ใส่หัวใจของอุบาสก อุบาสิกา พระสาวกมากมายนั่น ชี้ตรงหัวใจน่ะ ว่าทำไมมันไม่ดู ไม่รู้ ไม่เห็น ก็มันบอกชัดๆเจนๆอยู่อย่างนี้ ก็บอกกันแบบใกล้ๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า เป็นปางที่บอกหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะคือยกมือใส่อกแล้วก็เอามือหงายมือชี้ ก็ชี้บอก เหมือนเราพูดกันธรรมดาอย่างนี้ ว่าทำไมไม่รู้เพราะหัวใจมีอยู่ ไม่ใช่ใจดับไป ความรู้ขาดไปไม่ขาด มันมีอยู่ สิ่งที่มันจะให้รู้มันก็ติดอยู่กับใจเรา ทำไมไม่รู้ไม่ดูไม่ถามมันดูว่าใจมันเป็นอย่างไร นี่

เหตุนั้นเรื่องภาวนาถ้าพูดถึงปรมัติ พูดถึงปัญญาวิปัสสนามันก็ชี้บอกหัวใจหละทีนี้ อย่างที่ว่าพุทโธนี่ไม่ใช่ว่าคำบริกรรมให้ใจสงบ คือเป็นคำพูดถามใจ จึงว่าพุท พุทธะแปลว่าผู้รู้ โธแปลว่าธรรม ต้องถามใจดูว่าอะไรเป็นธรรม สิ่งที่ทำอยู่ทำเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อใจ ใจเป็นผู้ที่จะบอก ใจเป็นผู้ที่จะเรียกร้องเพราะใจนี่มันได้รับทุกข์ เพราะกิเลสนี่มันเป็นเรื่องที่จะลงโทษหัวใจ เผาผลาญหัวใจ หรือทำลายหัวใจให้มันย่อยยับไป ทำไมมันไม่แก้ จะต้องเอาพุทโธ จะต้องพูดด้วย จะต้องถามด้วย จึงว่าพุทโธ ต้องโธดู ถามเราใจของเรานี่แหละ ถามย้อนไปย้อนมาว่าทำไม อย่างที่ว่าความทุกข์นี้ มันจะนึกเป็นความสุขมันก็ไม่เป็นหละทีนี้ ใจจริงใจเดิมนี่มันก็ว่าทุกข์อยู่อย่างนั้นน่ะ มันไม่ว่าหละ ถึงว่าไปมันก็ผิด ผิดธรรมผิดคำสอนพระพุทธเจ้า เช่นนั้นสิ่งที่มันมีตัวชี้ตัวบอกเราคือใจนี่แหละ คือความที่มันบอกความเป็นกลางก็คือใจ เพราะใจนี้มันเป็นตัวกลางที่จะไม่ไปอยู่ข้างไหน ข้างทุกข์ ข้างสุข ข้างบุญ ข้างบาป ก็คือใจมันก็เป็นตัวที่หมายตรงกลางอย่างนี่ มันเป็นกลาง ถ้ามันไม่เป็นกลาง มันเอียงไปข้างไหน คือว่ามันผิดที่แล้วเราต้องแต่งมัน จะต้องดัดให้มันไป ไม่ใช่ว่าปล่อยมันไว้อย่างนั้น จะต้องแต่งต้องดัดออกไป ถ้ามันไม่แต่ง มันเป็นธรรมชาติมันก็ไปอีกอย่างหนึ่งคือยังไม่ได้แก้ไข 

แต่ส่วนที่ปฏิบัตินี่ตกแต่งแก้ไขให้เป็นไป ให้เป็นไปตามมรรค ตามอริยสัจของพระพุทธเจ้าอย่างที่อธิบายนั่น อย่างที่ว่าให้มันตามไปรู้เรื่องทุกข์ รู้เรื่องสมุทัย เรื่องหัวใจที่มันคิดมันปรุงมันก่อความเดือดร้อนวุ่นวายความดิ้นรนกระสับกระส่ายขึ้นมาให้ใจเราไม่สงบ มันต้องไล่ไปหามันทีนี้ พอไล่ไป มันรู้มันสงบมันนิ่ง มันไม่รบกวนแล้ว มันเกิดความรู้ความสว่างขึ้นมา ดังนั้นข้อปฏิบัติมันก็เห็นหละทีนี้ เห็นทางแล้ว เห็นทางจิตแล้ว เห็นทางที่จะเดินแล้ว เห็นๆ เราก็ต้องให้มันเดินไป ให้มันเดินทางเนี่ย แล้วให้มันกำหนดทางนี้ไว้เป็นหลัก ท่านว่าเส้นทางของชีวิต เส้นทางของกาย ให้มันเดิน เหมือนอย่างเดินจงกรมนี่ก็เป็นเส้นทางของกาย ถ้าเส้นทางของชีวิตก็คือสติจะต้องควบคุมจิตไปกับหนทางด้วย ไม่ใช่ว่าเดินเฉพาะตัว จิตก็ต้องกำหนด ก็ต้องมีสติเดินด้วย ไม่ให้มันหลงมันลืมมันพลาดมันเผลอหละทีนี้ 

นี่เรียกว่าถ้าเรารู้จักข้อปฏิบัติ รู้จักเรื่องธรรม เรื่องจักรที่จะพาให้เราหมุนไปนี่ อย่างว่าธรรมจักร เรียกว่าธรรมเครื่องที่พาหมุนออกจากทุกข์ ออกจากกิเลส ออกจากบาป จากกรรมต่างๆ ออกจากความเกิดความตาย ก็ไปตามธรรมตามอริยสัจ ๔ หละทีนี้ ซึ่งจะเป็นเครื่องที่จะนำไป แต่ถ้าเราไม่ไปตามนี่ เราก็ไม่มีทางหละทีนี้ คือไปก็มีไปทางนรก คือไปผิดทาง คือไปเพิ่มทุกข์ไปหลงไปเสียเวลาอย่างนี้ ก็เรียกว่าเสียเวลาก็หลง เราเดินทางเสียเวลาก็หลง เราทำงานเสียเวลา งานเราก็ช้า ทุกอย่างนั่นแหละ ทำความผิดความหลงนี่มันไม่คุ้มค่า เวลาหรือชีวิตเรามีอยู่อย่างนี่ แล้วอายุชีวิตของเรานี้เรากำหนดไม่ได้ด้วย เรียกว่าแต่ละคนเราจะกำหนดให้มันยืนยาว มันทนทานอย่างนี้มันก็ว่าเอาไม่ได้ นี่เรียกว่าธรรมที่พระพุทธเจ้านำมาสอน นำมาเป็นหลักพระพุทธศาสนา นำมาเป็นจักรเครื่องหมุนให้พุทธบริษัทนี่ได้เป็นไปตามธรรมะปฏิบัตินี่ ทว่าอาศัยธรรมจักร จึงเป็นเครื่องที่จะพาเราหมุนไป คือใจของเรานี่แหละจะพาหมุนไป ถ้าไม่งั้นก็ติดอยู่กับที่ มันไม่รู้จักมีจักร มีเครื่องพาไปหละทีนี้ แต่ถ้าเราปฏิบัติเรารู้ความหมายของธรรมของจักรของใจเรานี่ เราก็รู้จักที่กำหนด รู้จักทิศทางเดินอย่างนี้ เช่นนั้นอย่างวันของพระพุทธเจ้าเป็นวันดีวันวิเศษ เป็นวันที่โลกเราได้เคารพนับถือมายาวนาน ไม่จืดจางก็เพราะคุณค่าความดีในพระพุทธศาสนาของเรานั่นแหละ ของพระพุทธเจ้า ของพระอริยเจ้า ของอุบาสก อุบาสิกา พุทธบริษัท ๔ ได้ปฏิบัติเทิดทูนสืบทอดกันมายาวนาน ท่านไม่เสื่อม ไม่เสื่อมธรรม 

พอมาถึงเราปัจจุบันหละทีนี้ เราต้องดู ดูว่าสิ่งของโลกที่มันเสื่อมไปแต่ว่าธรรมหรือพระพุทธศาสนาไม่เสื่อมไปตาม อย่างที่ว่าพระธรรมจักรนี่คำบาลีสูตรยังไง ความหมายที่พระพุทธเจ้าได้จารึกลงในหัวใจพระปัญจวัคคีย์แล้วนี่ ก็ไม่คลาดเคลื่อนหละทีนี้ ยังสมบูรณ์อยู่ ถึงจะมาสวดมาปฏิบัติให้ถูกความหมายอย่างทุกวันนี้มันก็เป็นผลสมบูรณ์อยู่ ก็เห็นตามรู้ตามแล้วก็ละกิเลสได้ตามอยู่อย่างนั้น คือว่าไม่จืดจาง ยังมีคุณค่าเต็มสมบูรณ์เหมือนพระพุทธเจ้าที่มีพระชนม์อยู่นั่นแหละ ไม่ได้เสื่อมไปตามโลกภายนอก แต่โลกภายนอกนี่มันเสื่อมให้เราเห็นทีนี้ เสื่อมให้เราเห็นด้วยรูปด้วยร่างกายของเราที่เกิดมานั่นแหละ นี่เรียกว่าของที่มันเสื่อมและของที่ไม่เสื่อม มันเป็นของภายใน ของภายนอก ถ้าของภายนอกอย่างโลกนี่มันเสื่อมให้เราเห็น แต่ของภายในส่วนธรรมนี่มันไม่เสื่อมหละทีนี้ มันเห็นใจจิตของผู้ที่มีดวงปัญญา มีดวงตา มีแสงสว่าง เห็น…ถ้ามันมีขึ้น มันไม่ได้หลงหละทีนี้ 

นี่เรียกว่าจึงเป็นวันวิเศษ ก็เลยให้ชื่อมีความหมายว่าวันวิเศษน่ะวันวิสาขะ นี่เมื่อพวกเราได้มาปฏิบัติ เราได้มาทำการบูชาด้วยการเวียนเทียน ด้วยการสวดมนต์ ด้วยการแผ่เมตตา เราก็ถือว่าเคารพ รักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาและรักษาไว้ในใจของพวกเราทุกคนหละทีนี้ อย่างที่เรานึกถึงอดีตที่ล่วงมา ๒๐๐๐กว่าปี เราก็จะมีความดีใจ และจะเกิดความเคารพเลื่อมใส สลดสังเวชในกาลเวลาที่ผ่านมายาวนานด้วย ก็จะเกิดเป็นธรรมะเตือนใจของพวกเราทุกคน นี่บุญกุศลที่เราได้จากวันวิสาขะในรอบที่หนึ่ง ก็เป็นเครื่องเตือนจิตของชาวพุทธให้ตื่นขึ้นจากความหลับหลงจากความที่ไม่รู้คุณค่าของดีในพุทธศาสนาทีนี้ เราก็จะมีหูตาสว่างขึ้นไม่มืดอยู่กับโลกกับกิเลสตัณหา นี่เรียกว่าธรรมะ ธรรมเตือนใจให้เรานำไปพิจารณาน้อมเข้ามาหาใจของเราทุกคนที่นี่ให้รู้จักทางธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างนี้ เราก็จะเป็นผู้สว่างร่มเย็นสงบในพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้อธิบายมาก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้