Skip to content

ธรรมเทศนา (ปริวัฏฏ์ทั้ง ๓)

หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร

วันที่ ๑๓ ก.ค. ๒๕๔๖

| PDF | YouTube | AnyFlip |

วันนี้เราได้ธรรมะ ได้สวดมนต์ ได้เจริญเมตตาภาวนา และตอนนี้ข้างบนฝนก็ตกก็หล่นลงมาใส่เราน่ะ เราก็ถือว่าเป็นฤกษ์ เป็นฤกษ์ชุ่มเย็นและก็เป็นธรรมะ เป็นธรรมะที่จะน้อมเข้าไปสอนใจของเรา เราจะภาวนาฟัง คือกำหนดจิต ทำความสงบฟัง ฟังเสียงฝน มันก็เป็นเสียงที่ไม่มีอารมณ์ ไม่มีเรื่องในเสียงของธรรมนั่นน่ะ แต่ว่ามันจะมีเสียงดัง คือเสียงที่มันสะท้อน อย่างมันตกใส่ของแข็ง ตกใส่หลังคานี่ เพราะว่าของแข็งมันก็สะท้อน มันก็ดัง แต่ว่าเสียงนั่นมันไม่มีสัญญา ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับทำให้เราเกิดอารมณ์กำหนัดยินดีแล้วก็เป็นเสียงที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย 

ฉะนั้นการที่พวกเราได้มาทำบุญเข้าพรรษา ได้มาฝึกอบรมภาวนาเป็นกิจทางพระพุทธศาสนาของเรา หรือว่าเป็นกิจที่ควรทำในพระพุทธศาสนา คือการภาวนานั่นมันเป็นการนึกกำหนดและก็บริกรรม คือบริกรรมก็คือบริการ บริการให้จิตของเราน่ะคือว่ากำหนดจิตของเราให้มันสงบอยู่กับคำบริกรรม คำภาวนาอย่างเนี้ย ธรรมดาจิตของเรานี่มันมีอารมณ์เป็นเครื่องนำมา เป็นเครื่องอยู่ เป็นอาหารของจิตของคนเราน่ะ มันก็เป็นธรรมที่นำชีวิตเรามาเกิดน่ะ แล้วทีนี้ท่านให้เปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนจากอารมณ์ความคิดในเรื่องโลกเรื่องอารมณ์ที่ไม่ใช่เป็นธรรม ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศลน่ะ ท่านให้เรามาเปลี่ยนมานึกมาฝึกให้จิตของเรานั่นได้เอาอารมณ์ที่เป็นกุศลเป็นอารมณ์ที่ดีเป็นอารมณ์ที่ร่มเย็นสงบอย่างนี้ ก็เหมือนกับที่เราได้สัมผัสอยู่เวลานี้ 

อย่างที่ว่าก่อนที่เราบูชาเทียนแล้วก็เวียนเทียนรอบศาลาพระประติมากรเราน่ะ ตอนนั้นเป็นการเริ่มทำบุญ เริ่มบูชา ฝนก็ยังไม่ตกมา อากาศก็ร้อน อากาศก็ร้อนกระทบตัวของเราทุกคนนั่นแหละ มันจะอ้าวๆร้อนๆเหนียวๆตัวเรา ก็มันก็เตือนเราหละทีนี้ คืออากาศนี่มันเตือนก่อน อย่างคนที่เกิดมาในโลกนานนี่ อย่างคนโบราณ พูดถึงคนสมัยก่อนเค้าจะมีร่างกายเป็นเครื่องปฏิบัติ เป็นเครื่องวัด เป็นเครื่องสัมผัสธาตุที่มีในโลกนี่แหละ อย่างที่ว่าถ้าอากาศมันเปลี่ยนคืออากาศมันแปรปรวน ฝนจะตกอย่างนี้ บางคนก็จะมีโลกบางอย่างประจำตัว บางคนก็จะมีอาการเตือนในร่างกายหละทีนี้ มันจะร้อน มันจะอ้าว มันจะมีอาการที่ไม่ปกติ เขาก็รู้แล้วว่า ร่างกายก็เป็นกรมอุตุฯบอกว่าฝนจะตก บางคนก็จะมีอาการเพลีย บางคนก็จะมีโรคผิวหนังเป็นผื่นคัน เป็นผิวร้อน อันนั้นมันเป็นเครื่องบอกนั่นน่ะ เป็นเครื่องบอกซึ่งธาตุที่มีอยู่กับโลกกับตัวเรานั่นน่ะ มันจะบอก แต่ถ้าคนไม่สังเกตทีนี้ ไม่สังเกตร่างกายนี่ ไม่กำหนดร่างกายของเรานี่ มันก็ไม่รู้ มันไม่รู้ มันรู้แต่ว่าไม่ดี ไม่สบายแค่นั้นแหละ และไม่รู้ว่าเหตุที่มันเป็นเพราะอะไร ไม่เหมือนคนโบราณ คนสมัยก่อนมีจิตรับรู้ มีจิตสังเกตสิ่งต่างๆที่มันมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงหรือว่าผลกระทบต่างนี่ก็มีจิตรับรู้ มีร่างกายเป็นเครื่องสัมผัส แล้วก็มีจิตสังเกตว่าอะไรที่มันเกิดขึ้น แล้วมันเปลี่ยนไป แล้วมันดับไปอย่างนี้ รู้ ความรู้อันนี้ก็เลยเป็นธรรมทีนี้ มันเป็นธรรมที่ให้เราทำปฏิบัติทำจิตทำร่างกายของเรานั่นน่ะ ให้รู้จักทำ

อย่างที่ว่าเรื่องทำไร่ทำนาก็เหมือนกัน ก็ให้รู้จักทำ คือทำการปฏิบัติจิตปฏิบัติกายนั่นแหละ คือธุระที่เราต้องทำเป็นหลักอย่างนี้ เราก็ต้องมีจิตทำจิตสังเกตคือสังเกตทุกอย่าง สิ่งที่มันมีมันแสดงอยู่กับตัวเรา กับสิ่งภายนอกใกล้ตัวเราอย่างนี้ เราจะได้ทำ จะได้ความรู้ ตัวอย่างฝนตกหรือว่าอากาศมันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ มันก็จะเป็นเครื่องสะท้อนมาถึงร่างกายของเรา หรือบางทีนี่ก็จะเป็นการเตือนการสอนธรรมให้จิตเราได้กำหนด ได้น้อมนึก ได้น้อมนึกไปเป็นธรรม เป็นธรรมนั่นคือเอาไปทำเป็นการสอนใจ คือสอนใจให้เราได้ความรู้ คือได้สติปัญญาขึ้นมาทางใจเรา ให้เราได้ไปสอนใจ สอนอารมณ์ที่มันเป็นกิเลสอยู่ในใจ คืออารมณ์ที่มันมีอยู่ในใจของเรานั่น มันไม่ใช่มีแต่สิ่งที่เป็นของรู้ของดี แต่สิ่งที่มันไม่ดีทีนี้ก็คือกิเลส ก็คือความไม่รู้นั่นแหละคือกิเลส ไม่ใช่อื่นทีนี้ 

เหตุนั้นเราต้องมาทำความดีทำบุญนี่ก็ทำความรู้ มาภาวนานี่ก็มาบำเพ็ญความรู้ให้เกิดขึ้น แต่ความรู้มันมีอยู่แต่มันมีน้อย มันไม่พอที่จะไปรู้ไปถึงจิตหละทีนี้ มันมีขั้นมีสิ่งปกป้องปิดบังจิตอีกทีหนึ่ง มันรู้แต่ว่ามันรู้ไปไม่ถึงทีนี้ เหมือนแสงไฟอย่างนี้ แสงไฟมันดวงน้อย มันส่องไปไม่ได้ไกล ไปไม่ถึงที่ที่เราต้องการ มันไม่ใช่ไม่มีหละทีนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้กระแสหรือให้ พลังที่เราจะสั่งสม อย่างที่ว่าเทียนนี่เราทำอย่างไรมันจะทำให้เล่มใหญ่ได้ เราใช้มันใหญ่ ดวงมันจะได้กว้างไกล นั่นคือการที่เราจะต้องทำ จะต้องบำเพ็ญกุศลเข้าไปช่วย ไปช่วยกิจของเรานี่ ท่านบอกว่ามันไม่พอ แต่มันไม่ใช่ไม่รู้แต่มันรู้ไม่พอ ความไม่พอ เราก็จะต้องรอ จะต้องหลง หรือมันเห็นไม่ชัด มันก็หลง คือเรามาฝึกมาปฏิบัติอย่างนี้ ความดี บุญกุศล ความรู้ สติปัญญาอย่างนี้ มันเป็นทรัพย์ภายใน มันเป็นเครื่องที่จะนำความสว่าง ความผ่องใสเข้าไปให้ใจเรา หรือว่าธรรมที่เราได้อยู่ได้กระทบ 

อย่างน้ำอย่างนี้ ถ้าน้ำนี่มันก็เป็นธรรมธาตุอันหนึ่ง หรือว่ายิ่งน้ำฝนนี่ก็ถือว่าเป็นน้ำที่สะอาดที่ไปกรองจากอากาศและก็มีอากาศเย็นอากาศบริสุทธิ์ปรับให้เป็นก้อนลงมา แล้วทีนี้โดนลมไล่รบกวน มันก็ตกลงมาน่ะ ตกลงมาเป็นฝนน่ะ ฉะนั้นมันเป็นน้ำที่ไม่ใช่น้ำธรรมดาอยู่กับพื้นดินทีนี้ มันเป็นน้ำที่ไปปฏิบัติอยู่บนอากาศ ก็น้ำดินเนี่ยแหละมันระเหยขึ้นไป มันลอยขึ้นไป เพราะมันอยู่ในดินมันอยู่ไม่ได้ ถูกความอบอ้าว ถูกแสงพระอาทิตย์แผดเผามันก็ต้องลอยขึ้นไป ถ้าลอยขึ้นไปมันก็อยู่ข้างบนไม่ได้อีกหละทีนี้ เพราะมันไม่มีที่รองรับ มันก็เป็นธรรมของมัน คือมันทำกิจทำกรรมทำธุระที่มันทำอยู่นั่นน่ะ อย่างที่เราได้ยินได้เห็นมันตกอย่างนี้ ที่มันนานๆมันก็ตกค่อยตกแรงตกน้อยตกมาก มันจะเป็นอย่างนี้ มันก็อยู่ที่การปฏิบัติหละทีนี้ การปฏิบัติของส่วนประกอบที่จะทำให้มีแรง คือการที่ขับไล่ การที่ไปปรับให้มันรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนอย่างนั้น มันก็จะเป็นธรรมอันหนึ่ง แล้วตัวธาตุน้ำก็เป็นธรรมอันหนึ่ง คือเป็นธรรมที่…ธาตุที่ละเอียดเละเหลว แล้วก็มีธาตุเย็นอยู่ในน้ำ อย่างนี้แหละ แล้วก็สะอาดเป็นธรรมชาติ นอกจากเราจะเอาสีเอาสิ่งสกปรกหรือมันไม่แช่ไปดองอยู่ที่ไหน มันก็จะเปลี่ยนเป็นสีเป็นกลิ่นไป แต่ถ้าเป็นธาตุของน้ำไม่มีเจือปนก็สะอาดบริสุทธิ์

เหตุนั้นจิตใจของคนเรานี่มันไม่มีรูป มันไม่มีเครื่องที่เราจะเอามาดูเหมือนร่างกายทีนี้ ท่านก็มีแต่สอนเปรียบเทียบให้เราเห็น อย่างให้เทียบให้เห็นเป็นน้ำอย่างนี้ อย่างที่เราพูดกันว่า คนมีน้ำใจ คนมีน้ำใจ คนเปี่ยมด้วยเมตตา มันก็หมายถึงน้ำเนี่ยแหละคือน้ำที่สะอาดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ที่ถูกกลั่นกรองไปจากไต ปาก อวัยวะต่างๆแล้วหละ ทีนี้มันก็ไปเก็บเป็นน้ำดี น้ำบริสุทธิ์ น้ำสะอาด ว่าเป็นการรักษาร่างกายของคนเราหละทีนี้ มันเป็นอย่างนี้เรื่องของน้ำของธาตุที่มันมาเป็นธรรม มาเป็นคุณทีนี้ เหตุนั้นถ้าน้ำในร่างกายในที่ไหนกลั่นกรองหรือปรับให้เป็นน้ำสะอาดได้ดีให้มันเย็นสนิทอย่างนี้ เดี๋ยวฝนมันก็ออกมาทีนี้ มันก็จะเย็นจะชุ่มชื่น ไม่แห้งแล้ง อย่างที่เขาว่ามีน้ำใจ ไม่แล้งน้ำใจ และก็มีจิตเมตตา มีความสงบร่มเย็น ไม่แห้งแล้ง 

มันก็มาจากการปฏิบัติทั้งนั้นหละทีนี้ คือร่างกายเนี่ยแหละเป็นตัวปฏิบัติ ปฏิบัติให้ร่างกายก็เป็นตัวกรรมน่ะทีนี้ แต่เราแต่งเอาไม่ได้ มันเป็นธรรมเป็นส่วนกุศล เป็นการปรุงแต่งมาให้เรา เราเป็นแต่เพียงเป็นผู้แก้ไขที่มันไม่ดี ไม่เป็น ติดขัดอะไรอย่างนี้ นี่เราก็แก้ไขคือช่วย คือช่วยส่วนที่เราจะดัดแปลงไปหละทีนี้ อย่างเราปฏิบัตินี่ก็เหมือนกัน เราแก้ไขดัดแปลงทำจากรูปที่ได้มาเดิมนั่นแหละ ให้มันกลายไป ให้มันเปลี่ยนเป็นของที่ดีที่ควรอย่างนี้ อย่างที่เราเอารูปคนน่ะ เอารูปคนเอามาแปลงเป็นพระ เอามาบวชนุ่งเหลืองห่มเหลือง โกนผมโกนคิ้ว แล้วก็ฝึกสอน ฝึกสอนให้อยู่ในหลักศีล หลักธรรม หลักธุดงค์ ข้อวัตรปฏิบัติ มันก็เอามาจากคนจากร่างกายเนี่ยแหละ จากชาวบ้านธรรมดา เอามาฝึกมาดัด มาแต่ง แต่งให้มันเป็น นี่แหละแล้วส่วนที่แต่งก็คือกุศลที่จะแต่งให้ เราไม่มีวิธีอื่นหละจะแต่งได้ คือกุศลเป็นผู้แต่ง ท่านจึงให้ชื่อกุศลว่า กุสลา…กุสลา ธัมมา กุศลคือกายที่จิตที่มีความฉลาด คือเป็นช่าง เรียกว่าจิตของเจ้าของร่างนั้นเป็นช่าง เป็นช่างที่จะมาดัดแปลงมาแต่งรูปบ้านของตัวเองร่างกายตัวเองน่ะให้มันเป็น อย่างที่เราที่ว่าเอาคนมาบวชเป็นพระ ลูกหลานเรามาบวชให้เห็นกับตานี่ ก็ไม่กี่วันก็เป็นเป็นฆราวาสเป็นโยมอย่างนี้ มาบวช วันสองวันก็เห็นเป็นพระขึ้นมา มันก็เปลี่ยนทุกอย่างหละทีนี้ เป็นสีผ้าสีผมปลงออกอะไรต่างๆนี่ แต่สิ่งที่เราต้องทำก็คือปฏิบัติ ก็คือบำเพ็ญกุศลคือเจริญกุศล ถ้าเราไปอยู่แค่นั้นมันก็ไม่เป็นหละทีนี้ มันก็ปลอมอยู่นั่นน่ะ เพราะเราไม่เป็นกุศล ไม่ทำกุศลไปสร้างไปดัดไปแปลงหละทีนี้ 

เหตุนั้นการที่เราหรือพระสงฆ์ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนานี่มันไม่ได้มีจุดอื่น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอื่น นอกจากมาปฏิบัติมาดัดมาฝึกอบรมตัวเองอย่างนั้นน่ะ ถ้าเราคิดไปเรื่องอื่น เราคิดว่าบวชหาความสุขสบาย ไม่ต้องมีสิ่งบังคับภายนอกอย่างนี้ คือเราว่าไม่ได้ลำบากเรื่องชีวิตเรื่องปัจจัยใช้สอย มันก็ไม่ถูกจุดมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าหละทีนี้ คือจุดมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าจริงๆนี่ ท่านบวชเพื่อมาปฏิบัติมาดัดมาแต่งกายแต่งจิตอะไรนี่ ให้เป็นของบริสุทธิ์ เป็นของสะอาดปราศจากเชื้อโรค สิ่งสกปรกมัวหมอง มันเป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่ที่จะเป็นไปอย่างที่เราเห็นเราคิดไป มันไม่เป็นอย่างนั้น เหตุนั้นใจท่านตื่นเมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ตื่นทีนี้ ไม่ได้หลับ ไม่ได้ประมาท ไม่ได้เอาวันเวลาเอาร่างกายไปเสียหายในทางอื่น คือจิตมุ่งมั่นที่จะเจริญกุศลให้ตน สร้างตนฝึกหัดดัดแปลงขัดเกลาร่างกายจิตใจของตนอย่างเดียว 

แต่ถ้าเราเป็นฆราวาสนี่เราไม่มีเวลาพอ เพราะเราต้องไปประกอบอาชีพทำมาหากิน แล้วก็ยิ่งเป็นพวกชาวนานี่ ก็งานไม่มีว่าง แล้วเป็นงานลำบากตรากตรำมาก ต้องใช้แรงมาก ต้องสู้แดดสู้ฝน เวลาเราจะไปปฏิบัติมันก็หมดไป เหตุนั้นเวลาที่ได้มาบวชเนี่ย มันเป็นเวลาเต็มทั้งหมดที่ให้เราสร้างกุศลปฏิบัติตนได้อย่างเดียว คือไม่ได้มีฝ่ายบาปฝ่ายชั่วเลย คือสร้างแต่ความดีตลอด นับวันเวลาเรียงลำดับหละทีนี้ ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นมันไม่ได้หละ ความที่ไม่รู้ไม่เป็นช่าง ไม่รู้จักกิจการงานที่เราต้องทำอะไรเนี่ย ไม่ได้ เราก็อยู่อย่างนั้นทีนี้ นิสัยจิตใจเราเคยเป็นอย่างไร อย่างเคยเป็นฆราวาสนี้ก็ไม่เปลี่ยน ก็จะเป็นอย่างเดิมหละทีนี้ จะมีความโลภความโกรธความหลง จะมีนิสัยจิตใจที่ไม่เรียบร้อยไม่สำรวมก็เป็นไปตามทีนี้ เพราะว่าอำนาจของบาปของอกุศลของกิเลสน่ะแหละมันดัดแปลงไป ทางกิริยามารยาทของร่างกาย คำพูดอะไรต่างๆมันก็แสดงหมดหละ หัวเราะบ้าง เล่นบ้าง อะไรบ้าง อันนั้นมันก็ไม่ใช่ธรรมหรอกน่ะ กิเลสมันบังคับหรือว่ามันทำให้เราหลง ทำให้เราเพลิน เราต้องรู้จักตรงนี้ รู้จักว่าการปฏิบัติคือว่าเป็นการฝึกช่าง ฝึกกายฝึกจิตนั่นแหละ ไม่ว่าจะชาวบ้านหรือพระก็เหมือนกัน 

เหตุนั้นอย่างในธรรมจักรนี่ที่เรากล่าวคำบูชาธูปเทียนไปก่อน ซึ่งเป็นคำที่ท่านเขียนมาเพื่อความเคารพบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนานั่น แต่ส่วนพระสูตรที่ธรรมจักรที่เราสวด อันนั้นเป็นเรื่องธรรมะ เราเห็นตัวหนังสือเราอ่านออกเราท่องได้สวดได้ แต่ความหมายที่จะไปสอนใจเราอีกทีน่ะทีนี้ ต้องเอากลับมา ต้องเอากลับ ต้องเอามาแปล เหตุนั้นธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนี่ มันเป็นเรื่องปรับ มันเป็นเรื่องแก้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะหลงไปไกล ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะให้เราผูกพันหรือทำให้เรายุ่งยากอะไรน่ะ เป็นเรื่องแก้ทั้งหมด จึงเอากลับมา เหตุนั้นในธรรมจักรก็มีความหมายเป็นธรรมะทั้งหมดที่คัดออกมาแล้วเป็นสิ่งเครื่องแก้ แก้กรรมแก้กิเลสทั้งหมดน่ะ ฉะนั้นเราไม่ได้เรียนบาลี ไม่ได้แปลบาลีไวยกรณ์ เราไม่รู้คำแปลหมดแต่เราก็ได้ตัวอรรถตัวบาลีสวดท่องจำเป็นกุศล เป็นมงคลก็คือการที่ท่านสอนให้เราเป็นช่าง คือทำกุศลให้เกิด บำเพ็ญกุศลให้แก่กล้า 

อย่างในที่ว่า จิตในปริวัฏฏ์ ๑๒ ในอริยสัจนั่น มีอย่างละ ๓ ละ ๓ คือทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มัคคสัจ ท่านเรียกปริวัฏฏ์มี ๑๒ คือ ๑๒ นี่ท่านแบ่งออกเป็นอย่าง ๓… ๓ × ๔ ๑๒ ปริวัฏฏ์คือการที่เราจะต้องทำให้เป็นวัตร เป็นกิจวัตร ต้องปฏิบัติเป็นนิจ จะต้องเอาจิตจดจ่อ ไม่ใช่ว่าปล่อยละเหลิงหละทีนี้ ในธรรมนั้นถึงจะเป็นไปใจถึงจะหมุนเป็นจักร ธรรมจักรคือจักรคือธรรมที่จะหมุนออกไปจากกิเลสทีนี้ และหมุนไปตามธรรม ตามกุศลธรรม ไม่ได้ไปทางฝ่ายบาปฝ่ายอกุศลฝ่ายไม่รู้อ้ะ เรียกว่าไปในฝ่ายกุศล 

ในปริวัฏฏ์ที่ ๓ นั่นท่านก็บอกว่า กิจอันหนึ่ง เรียกว่ากิจจญาณ กิจจญาณนี่ก็คือกิจก็คือร่างกายก็คือกิจของเรานั่นหนะให้มีความรู้ยานพาหนะเป็นเครื่องนำไป มีรถอย่างนี้ทีนี้ ให้มีกิจจญาณ กิจจญาณคืออะไร กิจจญาณคือมรรคข้อปฏิบัติหละทีนี้ อย่างที่ว่าเราปฏิบัติศีล อย่างศีลของโยม ศีลของพระเนี่ยเป็นกิจจญาณที่เราเริ่ม นอกนั้นก็เป็นพวกสมาธิอย่างนี้ก็เป็นกิจเป็นกุศลทั้งหมดหละนี่ แล้วก็พวกปัญญาก็เป็นเครื่อง เป็นพลังของญาณของจิตที่ทำให้เราหมุนให้เรารู้ไปในกายในจิตของเราติดตามกันตลอดน่ะ ที่เรามีสติมีชีวิตอยู่น่ะ นี่ก็เรียกว่ากิจจญาณ 

แล้วนอกนั้นก็ยังมีสัจจะญาณอีก สัจจะญาณคือจะต้องมีสัจจ์ความจริง เมื่อทำกิจทุกสิ่งจะต้องเป็นไปด้วยความสัจจ์ จะต้องประกอบด้วยความสัจจ์ที่ตั้งลงที่ใจว่าเราจะทำอะไร เราจะเดินจงกรม เราจะท่องสวดมนต์ เราจะท่องให้ได้เท่านี้ นั้นเรียกว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องมีสัจจญาณ ก็ชาวบ้านจะทำกิจการงานอาชีพก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีหลักอย่างนี้ ไม่เจริญ ทำไปก็ทำได้ แต่มันไม่เจริญไม่ยั่งยืน เพราะมันขาดหลักธรรม หลักธรรมที่ว่ากิจจญาณอย่างนี้ ที่ทำไปอยู่แต่ไม่รู้ว่าเรื่องที่เราทำ หรือเราจะทำเพื่ออะไรอย่างนี้ ขนาดไหนเราไม่รู้ เราจะทำอย่างเดียว มันไม่มีหลักธรรม หลักธรรมจักร ไม่มีปริวัฏฏ์เข้าไปเป็นเครื่องแบบเครื่องแปลนไม่ได้หละทีนี้ ก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานทางโลกหรืองานทางศาสนาเหมือนกัน อย่างเราคิดอยากทำเราก็ทำ เราขี้เกียจเราเบื่อเรามีอะไรติดขัด เราก็ทิ้ง บางทีเราคิดมาใหม่เราก็ทำไป อันนี้ขาดทีนี้ มันไม่ไปตามธรรมจักรของพระพุทธเจ้าแล้วหละทีนี้ มันไม่หมุนทีนี้ มันติดขัดแล้ว แล้วมันก็หมุนไปทางผิดทางบาปทางฝ่ายอกุศลน่ะ มันไม่หมุนไปทางกุศล จึงว่าสัจจญาณ สิ่งต่างๆที่คนทำกิจการทำความดี สร้างสรรค์ชีวิตทุกอย่าง ทำจิตใจให้เป็นความสงบร่มเย็นได้ก็อาศัยสัจจญาณ มีสัจจะว่าจะทำสิ่งใด ทำเท่าไร กำหนดเวลาจะให้ได้ให้ถึงให้เสร็จ มันต้องมีพร้อมหมดทีนี้ ถ้าไม่มีอย่างนี้ทำไปได้ แต่มันไม่เป็นผลดี ถึงออกรูปร่างมามันก็ไม่เป็นดี เพราะมันขาดกุศล ขาดช่าง ขาดธรรมตัวนี้ 

เหตุนั้นเราสอน…ตัวเรานี้ก็ไม่ใช่วิเศษ แต่เราสอนเสมอๆว่าคนที่ไม่รู้ไม่เป็นก็มีมากก็อยากจะฝึกจะสอนให้เป็นแต่เราก็สอนการทำ วิธีทำให้เป็นด้วยว่าจะทำในสิ่งที่มันถูกมันดีเนี่ย เราเมตตาสงสารที่สุด เราอยากจะช่วยจะสอน เราก็บอกตรงว่าเนี่ย เราจะทำอะไรเราก็ถือหลักจิต เอาหลักจิตเป็นเครื่องกำหนด ไม่ใช่ว่าเราคิดจะทำก็ทำไปด้วยว่าวัตถุมันมี ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีการวางแปลนวางแบบอย่างนี้ ไม่มีตัวอย่างมาก่อนนี่ เราจะต้องมีพร้อม การปฏิบัตินี่ อย่างพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าเป็นตัวอย่างที่เป็นมาทางพระพุทธศาสนาเรานั่นน่ะ ต้องถือเอา ต้องดู เหตุนั้นเราต้องเอาตามแบบท่าน อย่างเราจะทำอะไรก็เหมือนกันหละทีนี้ เราคิดอารมณ์หรือจิตที่ลงฤกษ์ลงแรก ต้องคิดว่าจะทำให้ดี จะทำอะไรทุกอย่างที่จะเป็นกิจการงานนี่จะคิดว่าต้องทำให้ดี มันจะดีได้ขนาดไหน ถ้ามันไม่ดีเราก็แก้ไข แล้วเราก็เปลี่ยนที่เปลี่ยนทิศเปลี่ยนทางให้มันเป็นดีได้ คือมันแก้ไขได้ มันทำให้ดีได้ มันไม่เหลือวิสัย จะทำอะไรก็เหมือนกัน เหตุนั้นครูบาอาจารย์พระกรรมฐานพระธุดงค์ ท่านไม่หนีแบบอะไร เพราะท่านเห็นว่าผู้ที่ท่านเป็นแบบนั่นท่านไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว ท่านทำไว้น่ะ เราไปสังเกตดู ดูทุกอย่างในตัวท่านในที่อยู่ในอะไรดูในกิริยามารยาทที่มีในร่างกายนั่นต้องดูว่าเป็นเพราะอะไร ก็จิตฝึกจิตเป็นหละทีนี้ เพราะว่ามีกิจจญาณ และก็มีสัจจญาณด้วย 

แล้วปริวัฏฏ์ที่ ๓ ก็คือ กตญาณ จะต้องรู้จักกำหนดตัว กำหนดร่างกายเราด้วยว่าเราจะให้ได้ประมาณหรือให้พอดีกับแรงกับกำลังที่เรามีอยู่ หรือว่าเรามีตาเป็นผู้ที่พาให้ดูงานดูความดีความถูกต้องของจิตที่เราทำขึ้นนั่นน่ะ คือว่าเป็นผู้ที่ตรวจงานตรวจผลงานน่ะคือตา เหตุนั้นจึงว่า กตญาณคือวัดด้วยตาว่ามันถูกมันเป็นมั้ย ตาเรามี ตาเราไม่บอด เราดูได้ คนเราก็มีเหมือนกันหมดอ้ะทีนี้ ไม่มีว่าใครบกพร่อง จะมีบ้างก็…คือสติปัญญาซึ่งเป็นกระแสตาในที่จะมาดู ถ้าคนตาดี มีช่างในจิต เค้าก็ไม่ต้องไปถามหละทีนี้ ตาเค้าทะลุไปเห็นแล้ว 

เหตุนั้นปริวัฏฏ์ทั้ง ๓ เนี่ยแหละมันเป็นสิ่งประกอบในธรรมจักร พระพุทธเจ้าท่านก็เทศน์อบรมนิสัยของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๔ องค์ที่ไม่ได้บรรลุธรรม ส่วนพระอัญญาโกณฑัญญะนั้นท่านมีบารมีพอ บารมีถึงท่านรู้ได้ทีนี้ รู้ได้ก็คืออะไร คือเรื่องที่เราได้เห็นได้ยินอยู่เนี่ยแหละ คือมันเกิดมันดับให้เห็นนี่ ก็เหมือนอย่างฝนนี่ มันเกิดตกมาเวลามันจะหยุด มันก็ดับนิ่ง นั่นท่านรู้ แต่ไม่ได้รู้ตามสัญญาที่ฟังจากเสียงภายนอก รู้จัก รู้ทางใจท่าน ไม่ใช่รู้ตามสัญญา ท่านได้รู้ รับรองได้รู้ ตามพระองค์ได้ถึงพระองค์ แต่ส่วนที่พระองค์นี้ท่านก็มีสติปัญญามากแต่ยังต้องมาทำกิจ จะต้องมารอเวลาอยู่ อย่างที่ว่าจะต้องมาบำเพ็ญพวกกิจจญาณ สัจจญาณ กตญาณอย่างนี้ คือญาณทั้ง ๓ นี่มันเป็นตัวที่จะเป็นพลังเข้าไปเสริมสร้างสติปัญญาหละทีนี้ คือการทำของร่างกายก็จะต้องเอามาทำกุศล เอามาบำเพ็ญมาภาวนามารักษาศีลให้เต็มที่หละทีนี้เพื่อจะให้มันเกิดผลขึ้นมาทางจิต แล้วก็สัจจญาณก็เหมือนกัน คือมันไม่มีความสัจความจริงกับตัวเองเนี่ย บางทีมันก็หลอกตัวเองบ้าง บางทีมันก็ว่าเลื่อนนั่นเคลื่อนนี่ เรียกว่ากิเลสคือมันเลท (late) เราต้องเข้าใจคือมันเลทเรื่องความจริงนั่นแหละ มันไม่เอา เราจะรู้เลยว่าถ้าไม่เอาไหนเราก็รู้ ไม่ต้องไปถามหละ ตัวเราก็รู้มันไม่เอาไหน สิ่งมันไม่เอาเพราะอะไร มันกลัวทุกข์ ไปเห็นความลำบากเท่านั้นแหละก็ทิ้ง ทิ้งหละทีนี้มันก็ไม่ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าคือทุกข์ ผู้ที่ได้ธรรมคือได้ทุกข์ มันไม่ใช่เหมือนว่าโยมเค้าคิดว่าเค้าปรารถนาความสุข ไม่อยากกระทบอะไร แต่ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่เป็นอย่างนั้น คือทุกข์ ท่านได้ทุกข์ แต่ถ้าคนยังกิเลสยังพาให้หลงไปก็ มันก็ไม่รู้หละ มันก็ว่าจะเอาความสุขแหละ มันไม่ได้ 

อย่างนั้นถ้าเราเข้าใจถูกอย่างนี้ เราก็จะได้เห็นกุศล เห็นธรรม เห็นสิ่งที่มีในตัวเราทุกคนนั่นแหละ แต่ว่ามันไม่รับทีนี้ ใจมันไม่รับ…ไม่รับเอาธรรม มันทิ้ง พอมันทิ้งมันก็เลทเราไปเรื่อย วันนี้เดือนนี้ปีหน้าชาติหน้า มันก็เอาอีกอย่างเก่าเพราะมันได้ใจ มันเคยแล้ว เราก็ฝึกไม่ได้ ขับไม่ได้เหมือนช้างม้าที่ฝึกไม่ได้ จะเอาไปอะไร ที่สุดก็คือเขาเอาไปฆ่ากินเนื้อ คือไม่มีคุณค่าทั้งร่างกายและชีวิต เหตุนั้นเราต้องรู้ว่าธรรมพระพุทธเจ้านี่ก็เป็นเรื่องของเราที่มีการทำกันอยู่ แต่เราจะต้องมาเพิ่มมาเร่งมารู้จักแก้ไข ก็คือเรื่องของใจนั่นแหละ แล้วเราก็ต้องดูต้องตรวจผลของเราด้วย อย่างพระสงฆ์สามเณรก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่า เออ อย่างที่ว่าเราเอาคนมาแต่งเป็นพระเป็นเณรหละทีนี้ แล้วสิ่งที่เราจะแต่งใจเราอีกอ้ะ เราจะต้อง…เราจะต้องปรารถนาจะต้องมีความมุ่งหมายตรงนั้น สิ่งใดที่เราเข้ามาใหม่เราไม่เป็นไม่รู้อะไร อย่างนี้แหละทีนี้ เหมือนเราเกิดใหม่ เกิดแค่ไม่กี่วันกี่เดือน แต่สมัยนี้เค้าก็มักจะเอาความสุขก่อน คือไม่ต้องทำ คือเอาความสุขที่ว่าไม่ต้องทำหละทีนี้ ก็สบายเลย มันไม่ได้ทีนี้ พอเกิดมาก็เกิดมาทำมาสร้างเท่านั้นแหละ ทำก็ทำให้เราเกิดอยู่แล้ว ถ้างั้นเราก็ต้องทำเพื่อทำนั้นจะได้สมบูรณ์ ทำนั้นจะได้มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เราจะให้มันเกิดเองเป็นเองไปนั่งคิดนอนคอยไม่ได้ทีนี้ มันเป็นเพราะทำ

เหตุนั้นจึงว่าเรื่องช่างเรื่องกุศลเรื่องช่างไตรลักษณ์ช่างจิตของเราทุกคนน่ะ เป็นบารมี เป็นพวกปฏิวัติพวกปฏิบัติหละทีนี้ที่จะทำให้เป็น แต่ว่าเป็นมาเป็นน้อยนี่มันก็อยู่ที่พลังหละทีนี้ อยู่ที่แรงบุญ อยู่ที่ความเป็นช่าง อยู่ที่ธรรมจักร อย่างเครื่องจักรมันจะแรงนี่ก็เพราะว่าเครื่องมันตึงมันสมบูรณ์ ถ้าเครื่องมันหละหลวมมันเสื่อมโทรมมันก็ไม่มีแรงเหมือนกัน เราก็จะรู้จักเหมือนกัน จะต้องมาอยู่ในความตึงความแข็งแรง ความเคร่งนี่ อย่างพระนี่ก็ถือเคร่ง ปฏิบัติเคร่งอย่างที่เขาว่า มันถึงจะมีกำลังทีนี้ มีความแข็งแรงขึ้น ถ้ามันหย่อนยานมันก็เอาหละทีนี้ มันไม่มีแรงหละนี้ มันไม่หมุนไม่ไปแล้ว กิเลสมันมัดเอาไว้หละทีนี้ มันก็เลท ถ้ามันเลทเราไปนานๆนี่ยิ่งหลายเดือนหลายปีไป เวลาที่มันเสียไปมากมันไม่ผลอะไรกับจิตใจเราเลย เพราะว่ามันไม่ได้นั่น คือกิเลสมัน…เราไม่มีส่วนได้ เรามีแต่เสีย ถ้ากุศลหรือว่าธรรมเนี่ย เราเป็นส่วนได้ ถึงเวลาน้อยเราก็ได้มาก อย่างที่คนทำงาน คนที่มีช่างมีกำลังก็จะได้มากกว่ากัน คนทำนาก็จะได้ผลมากกว่ากันเพราะว่ากำลังหรือความเพียร ความอุตสาหะมาก ทุกอย่างเลือกสรรสิ่งที่ดีมาผูกมาสร้างมาทำน่ะ มันจะได้มีผลมากทีนี้ ต่างกันตรงนี้ 

เหตุนั้นเราเป็นผู้ที่ปฏิบัติ คือปฏิบัติตามหลักตามมรรคตามทางของพระพุทธเจ้าน่ะ ที่ว่าธรรมจักรน่ะ ไม่ใช่ว่าเราจะมาคิดมาค้นเองได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านตัดเส้นทาง ท่านรักษาเส้นทางไว้ให้พุทธบริษัทอย่างพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเนี่ยน่ะ ได้ดูเส้นทางดูรอยก้าวว่าท่านก้าวไปอย่างไรที่ท่านไปนี่ เหตุนั้นการไปของจิต การไปของญาณ เราไม่รู้ เพราะว่าความลึกลับความละเอียดหละทีนี้ คนเราที่ยังโง่เขลา ยังตามืดก็ไม่เห็นหละทีนี้ เพราะว่ามันไม่ใช่เป็นเส้นทางอย่างถนนนี่ มันเป็นทางจิต ทางความรู้ท่าน ท่านวางไว้ความรู้ตรงนี้ ถ้าเรายกจิตของเราขึ้นไปสู่เส้นทางหละทีนี้มันถึงจะรู้ ท่านจึงเปรียบว่าเรายังอ่อน บารมีเรายังต่ำยังช้า เราก็ต้องสำนึกตัว ได้แต่ต้องสงสารตัวเอง สิ่งที่ควรจะทำน่ะ ควรจะแก้ไขควรจะเพิ่มอะไรให้มันมีขึ้นมาอย่างนี้น่ะ อย่างที่ว่าพวกโยมทำบุญก็รู้ว่าสิ่งที่เราบกพร่องอะไร เรายังขาดปัจจัยสิ่งเครื่องไทยทานอะไร เราก็ทำลงไปให้มันมีขึ้น อย่างที่ว่าปฏิบัติก็เหมือนกัน เราก็รู้ว่าข้อสิ่งไหนที่มันหย่อนมันอ่อน เราก็เพิ่มเข้าไป เราก็จะได้มีพลังกุศล และจิตของเราก็จะได้เป็นช่างขึ้น มีความฉลาดแหลมคมรอบรู้ รอบรู้ในการที่จะสร้างเครื่องอยู่ของตัวเอง หรือการรักษาสถานที่ของตัวเอง อย่างรักษาร่างกายอย่างนี้ ที่เรามาถือศีลรับศีลเราก็รักษาร่างกายเราอย่างเดียวนั่นแหละ ไม่ได้ไปเพื่ออย่างอื่น อย่างศีลพระก็เหมือนกันคือรักษาร่างกาย ให้มันปราศจากโลก ปราศจากบาปกรรมเวร ความพิกลพิการต่างๆที่มันจะเป็นผลมาจากความผิดศีลหรือเป็นบาปนั่น ก็มารักษาตัวร่างกายของเรา ตัวบ้านของเรา รักษาให้มันปลอดจากบาปจากสิ่งไม่ดีโรคภัยไข้เจ็บหละทีนี้ นอกนั้นความรู้ต่างๆ เราก็มารักษาจิตของเราหละทีนี้ ไม่ให้โลก อารมณ์ คือกิเลสต่างๆที่มันจะมาฟักเชื้อจะมาเรื้อรังในจิต จะต้องมีฝึกปัญญาปกติรักษาหละทีนี้ เราถึงจะไม่มีโรคมีภัยมาเกิดมากวนเราทีนี้ ถ้าเราไม่รักษา โลกคือกิเลสนี่มันก็ลงโทษ มันก็กวนเราหละทีนี้ มันก็เห็นอยู่ทีนี้ มันไม่ดี 

เหตุนั้นการฝึกการทำทุกอย่างนี่ มันเป็นหลักธรรมหลักที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนในหลักธรรมจักรทั้งหมดหละทีนี้ สอนไว้ ไม่ใช่เฉพาะปัญจวัคคีย์ พุทธบริษัททั้ง ๔ ก็เรียกว่าจะต้องถือเอาหลักทั้งหมดหละทีนี้ ให้ถูกมรรคถูกทางหละทีนี้ ถ้าเราปฏิบัติทางนั้น เราก็เป็นผู้ที่มีบารมี มีสติปัญญา มีความดีที่มาแก้ไขร่างกายจิตใจเราหละทีนี้ ก็ว่าเปลี่ยนไปจากที่ว่าสิ่งที่เราไม่เคยมีเคยเป็น ไม่เคยรู้เคยเห็น สิ่งที่เราทำไม่ได้ไม่เป็นมันก็มีขึ้น ถ้าอย่างนั้นมันไม่เป็น ถ้าเราไม่แก้ไขมันน่ะ ไม่ฝึกมัน อย่างที่ว่ามันมีอยู่กับที่กับตัวเรา มันก็ไม่เป็นเพราะเราไม่ได้ดูด้วยตาด้วยปัญญาของเราน่ะ อย่างที่ว่ามันไม่มีพวกกตญาณอย่างนี้ คือไม่มีการดูการกำหนด ถึงมันติดตัวอยู่ใกล้ตัวเราก็ไม่เห็น เพราะว่ามันบังอยู่ มันบังความคิดความรู้เรานิดเดียวมันไม่เห็นแล้ว เหตุนั้นเราต้องมีกุศลกรรม มีธรรมเครื่องช่วยสร้างบารมี สร้างความดีจากการบำเพ็ญภาวนาของเราหละทีนี้ให้มันเป็นขึ้นมาได้ แล้วการทำนาของเรามันก็เป็นหน้าที่หรือว่าเป็นสถานที่ที่เราจะต้องทำให้ได้มีข้าวมีของที่เราต้องการ ซึ่งเป็นกิจที่เราควรทำ ถ้าเราไม่ทำเราไม่มี ก็เหมือนคนไม่มีข้าวกินอย่างนี้ ร่างกายชีวิตมันก็จะไม่มีกำลังไม่มีสิ่งที่มาหล่อเลี้ยงหละทีนี้ เหตุนั้นการที่เราทำก็มันเป็นกุศลฝ่ายร่างกาย มันเป็นกุศลส่วนที่ไปเป็นภายในเป็นสติปัญญาที่จะไปเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจเราทีนี้ ที้งสองอย่างนี้ เรียกว่าเป็นนา เป็นนาใจนากายของเรา เป็นนาถะ เป็นที่พึ่งของเราทุกคน จะต้องมีการทำ มีการปฏิบัติกัน จะต้องมีสมบัติมีมรดกหละทีนี้ เราถึงจะเป็นคนมีพออยู่พอกิน ถ้าพูดถึงตามภาษาเราก็ไม่ยากไม่จนหละทีนี้ เหตุนั้นถ้าเราปฏิบัติเราก็ไม่ยากไม่จน เพราะมีศีลมีความดี แค่มีศีลไม่มีทรัพย์ มันก็ดีกว่าทรัพย์อีกอ้ะท่านว่า เพราะมีศิลปะ ไม่มีเงินลงทุน แต่ศิลปะเค้าอย่างเดียวเค้าก็แลกเป็นเงินเป็นทรัพย์ได้หละทีนี้ คนก็ต้องให้เขาต้องจ้างเขาอะไรอย่างนี้แหละ เหตุนั้นจึงมีค่ากว่าเงินอีกอ้ะ ศิลปะ ศีลธรรม มีค่ากว่าเงินที่เราแลกเปลี่ยนกัน 

นี่เรียกว่า เราฝึกฝน เราเข้าฤดูฝน เราสละออกมาจากบ้านจากสถานที่ที่เรามีกิจยุ่งยากลำบากอย่างนี่แหละ บางทีเราก็ต้องทำบาปมากกว่าอย่างนี้ อย่างที่พระมาบวชก็เท่ากับว่าการมาบวชก็เป็นอุบายการออกจากบ้าน คือเป็นการที่เปลี่ยนเพศ เปลี่ยนอุบายออกจากบ้าน  คือออกจากที่เป็นบาปนั่นเอง เมื่อเรามาถึงที่เป็นบุญที่สร้างบารมีสร้างสติปัญญาให้เป็นช่างขึ้นมา มันเป็นสถานที่เป็นโอกาสและเป็นเวลาที่ได้เต็ม เราจะต้องเริ่มต้องสำนึกมาเตือนมาสอนเรา ถ้าเราไม่นึกอย่างนั้นน่ะ เราก็เพลินก็หลง คล้ายๆว่ามันไม่มีสิ่งกระตุ้นแล้วทีนี้ ถ้าว่าเป็นพระที่ไม่ปฏิบัติทั่วไป ที่เราเห็นที่เราตำหนิกันก็จะเป็นอย่างนั้นน่ะทีนี้ เค้าก็ว่า เอ๊ะ ทำไมเป็นพระ ทำไมไปทำไม่ดี ทำไมต้องมีเรื่องผิดกฏหมายบ้านเมือง แน่ะ มันไม่สำนึกตัว แล้วสิ่งอื่นที่ไม่ดีก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติไม่ดี จิตเราไม่ดีอะไรไม่ดีก็เหมือนกันคือความผิดของเรานี่เองอ้ะ ไม่ใช่ใครไปทำให้เรา เราต้องหาค้นดูที่มันผิด จุดที่มันผิดในจิตเราให้ได้ ถ้าเราไม่ค้นไม่หาไม่รู้จักแก้ตรงความผิด แล้วมันก็ไม่ดีทีนี้ มันก็ยังจะต้องบังคับจิตใจของเราให้มันเป็นความไม่ดีไปตามอยู่ 

นี่เรียกว่าธรรมที่มันมี มีอยู่กับโลกกับตัวอย่างฟ้าฝนที่มันทำอยู่กับกาลเวลา แล้วความเป็นของฝนมันก็เป็นของดีทีนี้ เป็นของเย็นของบริสุทธิ์ ของสะอาด ปราศจากพวกสิ่งสกปรกหละทีนี้ ถึงจิตใจคนถ้ามาฝึกฝนมาซักฟอกมาปฏิบัติ ปรับให้มันสะอาดให้มันเย็น มันก็เป็นไปหละทีนี้ แต่ถ้าไม่ปรับไม่ทำไม่นั่นก็ไม่เป็นหละทีนี้ มันก็เป็นน้ำเน่าน้ำสกปรกคือตามหนองตามพื้นดินอย่างนี้ นี่เรียกว่าเป็นคำเตือนใจเมื่อเราได้เตรียมเข้าพรรษาหน้าฝน เราน้อมนำไปเป็นธรรมะปฏิบัติไปพิจารณาเพื่อเป็นนาบุญนาธรรมของเราทุกคนก็ตั้งใจปฏิบัติกันอยู่ตลอดก็จะเป็นผู้มีความสงบร่มเย็นอุดมสมบูรณ์อยู่ในพระพุทธศาสนา สติปัญญาความรู้ต่างๆก็จะเกิดมาในจิตของเราทุกคน ก็จะเป็นผู้มีความสว่างไสวมีความเฉลียวฉลาดแหลมคมไปข้างหน้า ก็จะเป็นผู้ได้เห็นหนทางพ้นทุกข์ตามพระพุทธเจ้าอย่างนี้ นี่เป็นธรรมเตือนใจ ขอยุติไว้เพียงเท่านี้