Skip to content

งานทำบุญหลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป (เรื่องจิตไม่มีรูป ไม่มีตัวตน)

หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร

เทศน์วันที่ ๑๕ พ.ย. ๒๕๕๐

| PDF | YouTube | AnyFlip |

วันนี้เป็นวันทำบุญวันเกิดของพระอาจารย์เปลี่ยนของพวกเรา ทุกปีเราก็ได้มาร่วมทำบุญมากราบเคารพสักการะคารวะต่อท่าน แต่บางคนก็อาจจะได้มาบ้างไม่ได้มาบ้าง เรื่องวันเกิดคือเรื่องร่างกายเกิด ตัวของเราทุกคนก็มาจากความเกิด มีพ่อมีแม่ทำให้เกิดทุกคน เกิดมาในโลก เกิดมาในรูปร่างกาย มีจิตเข้าอยู่อาศัยร่างกาย แต่จิตนั้นเป็นของไม่มีตัวดังที่ยกเป็นภาษิตขึ้นไว้นั้นว่า เอกะจะรัง อะสารีรัง จิตของเราทุกคนไม่มีตัวตน ใครที่มีชีวิตมาอยู่ในโลกหรืออยู่ปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ใครปฏิบัติธรรมเจริญกรรมฐานซึ่งเป็นการที่ทำจิตให้ความสงบเกิดเป็นสมาธิ ก็ไม่มีตัวตนให้เห็น แต่มันมีรู้เป็นตัวบอกตัววัดท่านว่า จึงว่า เอกะจะรัง อะสารีรัง จิตหนึ่งมันไม่มีรูป แต่ส่วนที่รูปก็เป็นร่างกายของเราทีนี้ เป็นเครื่องอยู่อาศัยของจิต 

เช่นนั้นเรื่องศาสนาของพระพุทธเจ้าท่านจึงเอาหลักจิต หลักสัจธรรม มานำสอนพวกเราผู้มุ่งที่จะทำจิตให้เข้าสู่ความสงบ ทำจิตให้เป็นสมาธิตั้งมั่นในใจของเรา ให้มาฝึกหัดปฏิบัติมาฝึกเจริญสติกำหนดรู้ดูจิตที่มันบอกอยู่ในตัวในร่างกายของเราทุกคน มันมีเครื่องรู้คือจิตแต่มันไม่มีร่างกายให้เราหมายเอา พระพุทธเจ้าจึงเอาร่างกายนี้มาเป็นตัวสอน มาเป็นรูปคำสอนให้เราได้กำหนด อย่างกำหนดเรื่องการเจริญกรรมฐานอย่างนี้ท่านก็ให้กำหนดเอาร่างกายเป็นรูป เป็นรูปธรรม รูปกรรมฐาน ถ้าไม่เอาร่างกายมาเป็นเครื่องหมายเครื่องสอนเครื่องกำหนดนั่น มันไม่มีที่จะสอน มันไม่มีที่จะบอกว่าอย่างไรเพราะว่าจิตมันไม่มีตัว ท่านให้เอาจิตนี่แหละมาตั้งในตัว ดูในตัว 

อย่างเรื่องที่ว่าความเกิดหรือวันเกิดอย่างนี้ เราทุกคนเกิดมาแล้วก็เกิดทางเดียวกันแล้วก็เหมือนกัน มาจากคลอดมาจากท้องแม่ และการเกิดมาเราก็มีสมบัติเท่ากันคือได้ร่างกายสมบูรณ์มีหูตา มีหัวหนึ่ง แขนสอง ขาสอง นี่ ท่านบอกว่ามีศีล มีศีล๕มาแต่เกิดที่เรามารับสมาทานนี่มันเป็นเรื่องพิธีที่เรากำหนดขึ้น อย่างที่ทำพิธีทุกครั้ง แต่ศีลดั้งเดิมมันเกิดมา มาแรกเริ่มทุกคนโดยไม่ต้องขอเพราะศีลขอนี่มันเป็นศีลที่คนไม่รู้ เป็นคนจนอดอยาก ไปขอท่านแต่ท่านก็เอาศีลให้เราไม่ได้เพราะศีลมันมีเฉพาะตัว ท่านให้ได้ก็คือท่านบอก ท่านบอกว่า ปาณาติปาตาเวรมณี ไปจนครบ๕ข้อน่ะ คือเวรมณีนี่ให้เว้น ให้เว้นการกระทำในศีลทั้ง ๕ ข้อนั้นให้งดเว้น อย่าไปทำ อย่าไปขืนทำให้มันล่วงเกินให้มันขาด นี่ท่านก็สอน ไม่ใช่ท่านเอาให้หละทีนี้ แต่ท่านก็สอนให้คือสอนให้เราได้รู้ได้รับ เราก็ตั้งจิตรับแล้วก็นำไปปฏิบัติ แล้วก็เป็นศีลสมบูรณ์ขึ้นมา ไม่ให้ทำผิดพลาดล่วงเกิน 

อันนี้ท่านก็บอกว่าความเกิด เราได้สมบัติมาครบถ้วนทุกคนไม่มีใครบกพร่อง แต่ว่าส่วนคนที่บุญไม่สมบูรณ์หรือมีบาปปะปนมาก็จะมีเครื่องหมายที่รูป คือหมายว่ารูปไม่สมบูรณ์นั่นน่ะ อย่างที่เราเห็นร่างกายบางคนพิการก็เห็น แล้วก็เห็นบางคนสัดส่วนอะไรต่างๆอย่างนี้มันไม่สมบูรณ์ อันนั้นท่านบอกว่ากรรมที่นำมาตกแต่งมาเกิดนั่นมันไม่สมบูรณ์ ก็วิปริตไป พิการไป แต่ส่วนคนไหนที่มีบุญกุศล มีความดีที่ได้อบรมมาสมบูรณ์ก็จะเป็นรูปผลออกมาสมบูรณ์ทีนี้ ยกตัวอย่างอย่างรูปพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ในพุทธประวัติ ในพุทธลักษณะซึ่งเราไม่ได้เห็นกับตาแต่เราก็ได้ศึกษาได้รู้ทางพุทธประวัตินั่นน่ะ ท่านเป็นมหาปุริสลักขณะอย่างสมบูรณ์ เพราะพระองค์สร้างบารมีมาสมบูรณ์ครบทุกๆอย่าง ครบทั้ง ๑๐ ทัศน์ ทั้ง ๓๐ ทัศน์อย่างนี้ ท่านสร้างมาครบไม่มีบกพร่อง ไม่มีตำหนิ แต่นี่เราแต่ละคนก็สร้างกรรมทำความดีมาบางทีก็ทำความชั่วปนมาอย่างนี้ เพราะว่าเรารักษาจิต รักษาศีลของเราไม่ได้ดีเต็มที่ บางทีเราหลงเผลอไปหรือเราเห็นแก่ความอยากของใจ เราก็ทำผิดศีลให้ล่วงให้ขาดไป นี่แหละก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกันทีนี้ ก็จะรู้ได้ว่าคนนั้นเป็นรูปร่างกายคนแต่ไม่เหมือนกัน เพราะว่ากรรมแต่งให้ เราแต่งเองไม่ได้ทีนี้ เป็นกรรมเป็นผู้จำแนกเป็นผู้แต่งมา 

เหตุนั้นเราจะต้องปฏิบัติ ปฏิบัติเรื่องรูปเรื่องร่างกายที่เราได้มาเป็นสมบัติประจำตนทุกคน คือแบบว่ารู้คุณค่า รู้สิ่งที่เราได้มาด้วยการสร้างการทำ รู้ด้วยการรวบรวมมาหลายครั้งหลายคราวอย่างนี้ เพราะว่าการเกิดการตายนี่เรานับที่จะหมายเอายาก ท่านบอกว่ามันเป็นการมาที่ทุกข์ยาก มันเป็นการมาที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต อย่างการเกิดอย่างนี้ ยิ่งสมัยก่อนนี่บ้านเมืองของเราไม่เจริญ ไม่มีการรักษา การพยาบาล การช่วยเหลือในเรื่องการเกิดอย่างนี้ คนก็ตายมากอยู่เพราะว่ามันทุกข์อย่างนี้ เค้าบอกว่ามันเป็นทางที่ลำบากในเรื่องการเกิดตายของคนเรา มันเป็นทางที่มาแห่งทุกข์อย่างนี้ ก็คนที่เกิด คนที่ให้เกิด อย่างลูกที่มาเกิดและก็พ่อแม่ให้เกิดอย่างนี้ก็ ทนไม่ไหวก็ตายหละ ไม่มีหมอ ไม่มีเครื่องมือช่วยผ่าออกอย่างนี่ ตาย! เหตุนั้นโบราณท่านจึงพูดว่าอันตรายของชีวิตของคนเราที่เสี่ยงต่อความตายก็คือหนึ่ง หมอผึ้ง สองหมอตาล สามแม่มาน สี่ควาญช้าง นี่ท่านบอกว่าคือหมอผึ้งมันก็อันตราย เพราะว่ามันขึ้นที่สูง ไม่มีสิ่งที่จะรองรับถ้าเกิดมันพลาดลงมา มันตกกระทบพื้นหรือถูกอะไรตายได้ หมอตาลก็เหมือนกันมันสูงอันตราย แม่มานคลอดลูกเกิดลูกก็ตายง่ายๆ ควาญช้างอย่างนี้ ช้างมันเป็นสัตว์ที่รู้เหมือนคน มันเป็นสัตว์ที่มีคุณกับคน เราไม่รู้ใจมัน เพราะใจมันไม่มีตัวทีนี้ เวลามันโกรธมันจะฆ่า หรือเราทำผิดไม่รู้ ช้างมันรู้ เราไม่ได้เตรียมตัวไง มันพลั่วหรือตีนเหยียบตายทันที 

ดังนั้นท่านจึงบอกความเกิดก็ไม่ใช่ง่าย มันเกิดทุกข์เกิดยากเกิดเสี่ยงตาย เรารอดพ้นมาได้ก็เป็นบุญหละทีนี้ เราโผล่มาในโลก ลืมตาเห็นโลกว่าโลกนี่มันกว้างใหญ่ มันมีเพื่อนมนุษย์สัตว์ทุกประเภทอาศัยอยู่ เราก็มาท่องเที่ยว มาสร้างกรรม ปฏิบัติธรรมกันทีนี้ แต่ว่าใจนั้นมันไม่มีตัวให้เราเห็น เราเห็นแต่เครื่องรู้ เห็นแต่ความรู้ที่มีอยู่ประจำที่นำมาเกิดนั่นน่ะท่านหมายเอา เป็นผู้รู้ แต่ว่าท่านให้เอาผู้รู้ตัวนี้แหละมาปฏิบัติ มาดูรูป มาทำรูปที่ทำให้เราได้มาอยู่อาศัย ให้เรามาหลงตามอยู่ นับพบนับชาติไม่ถ้วน เพราะเราทำมาถึงปัจจุบันอย่างเดี๋ยวนี้เราก็ไม่รู้ ไม่รู้ใจ เพราะว่ามันไม่มีตัวให้เราเห็น ถ้าเรารู้ดูใจอยู่ในร่างกายนั้นก็ไม่ใช่ใจ มันเป็นหทัยวัตถุ มันเป็นเครื่องอยู่ของร่างกายเป็นที่อาศัยอยู่ของใจต่างหาก ก็เรื่องใจจริง ใจที่แท้เนี่ยมันไม่ใช่ทีนี้ อันนั้นมันเป็นหัวใจ มันที่ใจของเราไปอาศัย มันเป็นเครื่องอยู่ของชีวิตที่เราอยู่ได้ มันทำงานให้ร่างกายมีความเป็นอยู่ เหตุนั้นการที่เราจะมาฝึกใจ มากำหนดใจ มารักษาใจของเราให้เข้าสู่ความสงบ เราก็ต้องอาศัยการปฏิบัติเกี่ยวกับรูป เกี่ยวกับร่างกายซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของใจให้รู้จักว่าอันนี้เป็นที่เราได้มาอาศัยได้มาอยู่ได้มาสร้างความดี สร้างความรู้ และสร้างสติปัญญาเพื่อจะส่งคืนไปหาใจของเรา ให้ใจของเรานี่ได้มีความรู้ รู้เรื่องการที่เราเกิดมาแล้วเรามาอยู่ในร่างกายมามีชีวิตอยู่ในโลกเราจะทำอย่างไรที่จะให้ใจของเรานี้ได้รู้จักการมาการไปของพวกเรา หรือการอยู่ในปัจจุบันของพวกเรา เราจะอยู่อย่างไร เราไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราเข้าใจแล้วทีนี้ เราก็จะไม่หลง…หลงเรื่องความเกิด เรื่องใจ เรื่องปัจจัยทีนี้

อย่างสำหรับชาวบ้านนี่ ก็รู้กันอยู่ว่ามันเป็นเรื่องมัวเมา เรื่องความหลง ความอยากปัจจัย แต่ปัจจัยนี่แปลเป็นภาษาชาวบ้านเรียกว่าเงิน มัวเมาแต่เงิน แต่ใจของรูปมันไม่รู้จักที่จะไปปฏิบัติใจที่ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่รูป คือใจธรรม ใจศาสนานั่นน่ะ เราไม่ค่อยเข้าใจ เราไม่อยากไปด้วย บางทีก็ไปยากด้วย เพราะว่าใจนอกใจร่างกายนี่มันดึงดูดหรือว่ามันดันให้เราเป็นไป อย่างที่ว่าใจคือเงินอย่างนี้ ปัจจัยก็คือเงินทีนี้ เงินก็คือเป็นของที่เราใช้เราต้องการ เราปรารถนาอย่างนี้ แต่ถ้าเรามารู้คุณค่าในร่างกายของเราว่า เงินก็คือร่างกายของคนเรา เงินที่เราใช้อยู่ทุกวันก็คือรูปในหลวง รูปพระเจ้าแผ่นดิน ที่เอามาทำเพื่อแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นของมีคุณค่าในประเทศชาติเรา ก็ไม่ได้เป็นอย่างอื่นทีนี้ ก็เป็นเรื่องบุญ เป็นเรื่องสิ่งที่เกิดมาจากบุญ แล้วก็เอามาแทน เอาแลกเปลี่ยน เอามาให้ค่าทุกสิ่งทุกอย่างหละทีนี้ จึงเรียกว่าทางศาสนาก็ปัจจัย แต่ชาวบ้านก็เรียกว่าเป็นเงินหละทีนี้ ถ้าขาดเงินหรือทุกข์เงินอย่างนี้ เราก็ไม่สงบจิตแล้ว ต้องคิด ต้องเดือดร้อน เพราะเราไม่รู้จักที่เงินเกิด เงินอยู่ เงินมี เงินมีในตัวของเรา จึงว่าถ้าเรารู้จักตัวของเราหละทีนี้ ปัจจัยหรือเงินมันเกิดอยู่ในตัวนี่ เราทำให้เกิดให้มีได้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มาด้วยกัน อย่างที่เรามีตัวอย่างนี้ เราเอาตัวทำตัวคิดตัวหาก็มี แต่เรื่องความอยากของกิเลสของโลกอย่างนี้ มันมากทุกคนหละทีนี้ถ้าไม่มาปฏิบัติ ไม่มาฝึกจิต ไม่มาทำสมาธิภาวนาให้เกิดสติปัญญาขึ้นในทางธรรมนั้นนะ มันก็จะหิวอยู่ตลอด มันก็ทำให้เรารู้จักหาความสงบ หาทางแก้ทีนี้ 

อย่างที่ว่าเรื่องจิตอย่างนี้เราก็ต้องหาเครื่องรู้ หาเครื่องวัด หาเครื่องดู ว่ามันเป็นอย่างไร มันอยู่ที่ไหน มันดีหรือไม่ดี มันผ่องใสหรือมันเศร้าหมองอย่างนี้ เราก็จะต้องมาภาวนามาปฏิบัติ มาฝึกสติทำสมาธิให้เกิดมีขึ้น ให้ใจมันสงบนิ่งแน่วแน่ลง มันจะได้ไม่ส่ายไม่เอียง มันจะสงบอยู่กับที่ มันสงบกับที่มันก็เที่ยงตรงหละทีนี้ อย่างที่ว่าใจนี้ถ้าพูดถึงความเป็นอยู่หรือว่าเป็นกลางอย่างที่สิ่งของบางอย่างที่เรามีสัดส่วนเนี่ย ตรงไหนที่มันกลางในของนั้นก็ชื่อว่าใจ ต้นไม้ที่มันอยู่กลางของต้นมัน ก็เรียกว่าใจ ใจกลางมันอย่างนี้ ทุกอย่างนั่นแหละ ถ้าตรงไหนอยู่กลางนี่ก็เรียกว่าศูนย์กลางหรือใจ ใจที่อาศัยร่างกายเราอยู่ก็เป็นกลางทีนี้ เป็นศูนย์กลางของร่างกายอย่างหัวใจ หทัยวัตถุอย่างนี้ หัวใจที่อยู่ในตัวแต่ละคน ท่านก็กำหนดว่าเป็นส่วนกลางของร่างกายที่ได้มาจากการเกิดน่ะ มันตั้งมาจากอันเป็นศูนย์กลาง 

ดังนั้นถ้าเราคิดอะไรเราต้องดูใจเป็นหลัก ต้องดูศูนย์กลางเป็นเครื่องหมาย อย่างชาวบ้านนี่เหมือนกัน เราคิดอะไรมากมายทั่วโลกเนี่ย เราก็ดูศูนย์กลางคือใจ คือใจนั้นมันเป็นศูนย์กลางของโลกทีนี้ ของตัวของเรา มันจะอยู่ในตัวเราต้องกำหนดคืนเข้าไปหาตรงกลางมัน ไปรู้ไปอยู่ที่ใจ อย่าไปอยู่รอบนอก ไปอยู่ข้างๆมัน ไปอยู่ภายนอกมันอย่างนี้มันไม่ถูกที่ มันไม่ตรงกลาง เราก็ต้องแต่งมากำหนดน้อมเข้ามา มาให้มันอยู่ มันไม่อยู่ง่ายๆเพราะมันเคยถูกกิเลสถูกลมพัดเป่าอยู่ตลอดทีนี้ มันจะเป่าให้โยกให้เคลื่อนไหว บางทีมันก็ปลิวไปมุมนั้นมุมนี้ความคิดมันน่ะ อันนั้นท่านบอกว่ามันเป็นพิษของกิเลส เราก็ต้องกำหนดหลักใจให้มันอยู่ได้ อันนั้นเราต้องรู้ว่า อันนั้นมันเป็นกิเลส มันเป็นความไม่เที่ยง มันเป็นความไม่ตรง มันคิดออกไปนอก มันส่งไปนอก มันเห็นโน่นเห็นนี่มันก็ติดไป อันนั้นท่านบอกว่าไม่ใช่ศูนย์กลาง เราจะต้องกำหนดคืนมา จะต้องน้อมตั้งสติให้นิ่งให้แน่นหนาขึ้นมา ดึงเข้ามาหาใจกลางมันอย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้ตลอดหละทีนี้ ไม่ใช่ว่าทำทีเดียวแล้วมันเสร็จมันอยู่ มันไม่อยู่ ต้องทำตลอดทำบ่อยๆ ขยันทำ ท่านบอกนั่นคือความเพียร คือการปฏิบัติ ไม่ยอมปล่อยให้เผลอ เราไม่ประมาท เราดูให้รู้ใจ รู้ที่ไว้ตลอดหละทีนี้ เวลากิเลสมันจะโผล่จะขึ้นมาอย่างไร มันจะงอกไปอย่างไรเนี่ย เราก็ต้องดู ดูที่มันออกจากใจนั่น มันจะแผ่ไปทางไหน มันจะมีอะไรทำให้เราหลง เราก็ต้องดู ดูตรงใจตรงศูนย์กลางอย่างนี้ตลอด ดูไปตลอดจนมันอยู่เป็นที่ทีนี้ มันได้ที่ มันแน่นหนามันรู้ มันเที่ยวไปทั่วโลกแล้วว่าที่ไหนๆ อะไรต่ออะไร หรือการเกิดอย่างนี้มันก็รู้ มันเกิดอย่างเดียวกันเหมือนกัน มาที่เดียวกันมันก็เห็นอยู่ เราก็เอาความรู้มาสอนใจอีกทีหนึ่งให้มันรู้ว่าเรื่องความเกิด เรื่องความทุกข์ เรื่องที่มาสู่รูปร่างกายสู่โลกมนุษย์เราเนี่ยมันไม่ใช่มาอยู่แบบสบายทีนี้ มันจะต้องมาสร้างกรรมทำทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้หยุดนิ่ง 

นี่แหละพระพุทธเจ้าท่านมารู้ทีนี้ มารู้เรื่องการเกิด เรื่องร่างกาย เรื่องการที่จะปฏิบัติใจให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของง่ายนะทีนี้ นับเป็นแสนๆชาติ หลายแสนชาติที่พระองค์สร้างมา นี่พวกเราท่านทั้งหลายก็เดินตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสเป็นหนทางปฏิบัติไว้ ให้เราปฏิบัติตามพระพุทธองค์เพราะว่ามันมาทางเดียวกัน มันมาจากความเกิด มาจากภพจากชาติที่กิเลสมันบังคับมาให้เราหลงมาทีนี้ หลงมาแล้วจะต้องแก้จะต้องปฏิบัติ จะต้องแต่งใจ จะต้องทำใจ จะต้องฝึกฝนใจ ทำใจให้เป็นสมาธิภาวนาให้ได้ เราทำได้ขนาดไหน ได้เล็กน้อยเราก็ต้องพลอยยินดีในการทำให้เกิดให้มีในใจของเรา 

แต่บางคนนี่เห็นแก่ความอยากเห็นแก่กิเลสอย่างนี้ อย่างปฏิบัตินี่ก็ไม่อยากลำบาก ไม่อยากลำบากร่างกาย คืออยากจะให้มันตรัสรู้ ให้มันจิตพ้นทุกข์ง่ายๆอย่างนี้ บางคนคือคิดเอาแล้วก็หาวิธีอย่างนี้ บางทียังถามว่าวิธีที่ง่ายๆ วิธีที่ลัด ทางลัด มันก็ไม่มี ถ้ามันมีพระพุทธเจ้าท่านก็พบมาก่อน อันนี้ท่านบอกว่าความคิดในทางกิเลสมันคิดอย่างนั้น เป็นความคิดของโลกของสัตว์ทั่วไปที่ยังมีกิเลสยังมีความหลง ก็คิดเหมือนกันคือไม่อยากลำบากนั่นแหละ อยากเอาง่ายๆ แต่พระพุทธเจ้าท่านค้นคว้ามาหมด มันไม่มีทางง่าย มันจะต้องทางลำบาก จะต้องทางทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์มันก็ไม่รู้จักธรรมทีนี้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้ามันเป็นทุกข์น่ะที่นำมาสอนเรา ที่เราหลงอยู่ เราก็หลงความสุขในโลก ความสุขในร่างกาย เห็นว่ามันมีความสุข มันมีความสุขอยู่คือว่าความสุขเป็นแต่เพียงภายนอก มันสุขให้เราได้สัมผัสแต่ในใจจริงๆมันไม่มีหละทีนี้ มันจะมีความทุกข์ ถ้าเราปฏิบัติเข้าไปถึงน่ะ มันจะบอก ถ้าเรายังมีความสุข เรายังอยากมาเกิด เรายังอยากได้ความสุขมากขึ้น บางทีเรามีความทุกข์ เรามีโรคภัยไข้เจ็บ เราก็เสียใจ เราภาวนาก็ทำความสงบไม่ได้ เพราะว่าเรากลัวร่างกาย เราไม่ได้รู้จักเรื่องทุกข์ของร่างกาย แต่เราก็กลัว กลัวว่ามันจะเจ็บมากกว่านี้ กลัวมันจะตายไปจากเรามันก็คิดไปตามความหลงของโลก 

แต่ถ้าเรารู้ธรรม รู้จักทางมาเกิดของพวกเรา รู้จักเรื่องของจิตที่ว่ามันไม่รูปนั่นหละ เอกะจะรัง อะสารีรัง ถ้าใครมารู้ มาปฏิบัติ มาทำจิตให้สงบลงเป็นหนึ่งได้ เป็นสมาธิแน่วแน่ลง ไม่มีเรื่องอารมณ์อะไรภายนอกมาเกี่ยวข้องนั่นน่ะ ท่านบอก เย จิตตัง สัญญะเมสสันติ สงบ…มีความสงบจิต นั้นน่ะว่าถูกธรรมถูกทางพระพุทธเจ้า เป็นการสงบระงับความเกิดภพชาติของเรา ที่เราไม่ต้องมาเกิดแล้วก็มาสืบต่อ เราก็จะไม่มาวน ไม่มาเข้าท้องแม่นั้นคนนี้ หลายที่หลายครั้งหลายคราว ไม่มา เพราะว่ารู้จักแล้ว คือปิดหนทางกันหนทางท่านว่า คือเป็นทางนรกก็ปิดหนทาง ไม่หลงไปตกแล้ว รู้จักว่าทางนี้มันเป็นทางให้หลงมา ให้เราติด ให้เราหลงในจิต หลงภายนอก หลงปัจจัย หลงเงิน หลงตัวเองนั่นแหละ ก็เลยเป็นเรื่องหลงไปทั่วโลกหละทีนี้ 

ถ้าเรามารู้ตัว เราเข้ามาหาจิต หาความสงบเราได้ เราไม่หลงทีนี้ เพราะเรารู้ว่ามันอยู่ศูนย์กลางที่นี่ มันไม่ไปไหน มันอยู่กับเรา เราเป็นเจ้าของ เราจะต้องรักษาดูแลจะต้องปฏิบัติให้ดี เราไม่ทำให้ผิดพลาด ไม่ให้สั้วให้เสีย ให้มีแต่ความดี สิ่งที่คิดไม่ดี คิดเป็นบาปเราก็ห้ามจิตเราได้ เราฝืนไม่ให้ทำบาป ทุกสิ่งทุกอย่างท่านบอกว่า เรื่องจิตที่ยังมีกิเลส ยังมีบาป ยังไม่รู้จักความดีความสุข ไม่รู้จักส่วนที่เป็นกุศลน่ะ มันก็จะดึงเราไปทางบาปทีนี้ ดันเราไปทางทุกข์ แต่ถ้าเรามารู้แล้วเราก็ฝืน ฝืนจิตเรา ไม่ปล่อยให้มันดึงเราไป เราดึงมันมาอยู่ตรงกลางมาอยู่ความสงบได้มันก็…เราก็มีหลักทีนี้ เรียกว่ามีหลักจิตหลักธรรมประจำตน มีคุณความดีที่เราทำจิตในพระพุทธศาสนาให้มีในตน ให้มีความมั่นคงในตน แล้วก็มีเป็นคนไม่จนทีนี้ เป็นคนที่เรียกว่าไม่ต้องวิ่งต้องหาเงิน ก็เจอเงินเจอความดี บารมีต่างๆที่เราเอามารวมไว้ในจิตของเรา มันมี มันไม่จน 

เหตุนั้นคนที่มีศีลก็คือคนมี ไม่จนหละทีนี้ ศีลอย่างที่ว่าศีลที่เกิดมาพร้อมการเกิดของเรานั่น อันนั้นมันไม่จน เพราะว่าศีลแท้ ศีลดั้งเดิม ศีลไม่ต้องมาขอธรรมทานเอา ศีลที่เกิดมาพร้อม เราเอาศีลต้นนั้นน่ะทีนี้ ตัวของเรานั่นแหละ มันเป็นต้นไม้ต้นศีล ๕ กิ่งมาอยู่แล้ว แล้วมาปฏิบัติมาบำรุงรักษาให้เจริญเติบโตเต็มที่สมบูรณ์ ออกดอกออกผลให้เราได้กินได้ใช้ ท่านว่านั่นน่ะ ท่านผู้รู้จัก ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านนำมาสอนใจของพวกเราชาวพุทธให้รู้จักเรื่องศาสนาที่เกิดอยู่ในท่ามกลางโลก ในท่ามกลางจิตของพวกเรา ไม่ใช่ว่าเราจะนึกไปกลางโลกที่ประเทศอินเดียนะ…ไม่ใช่ คือท่ามกลางร่างกายของเรานั่นน่ะ ที่มัชฌิมประเทศ แล้วการปฏิบัติเราก็น้อมนำมาให้เป็นกลาง ให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือไม่ไปข้างสุข ข้างทุกข์ ข้าง…ในที่เราอารมณ์ที่เป็นอยู่ เราก็พยายามที่จะทำความรู้ ทำจิตให้เป็นกลางตลอด นั้นหละท่านบอกว่าเป็นการเดินทางถูก ถูกทาง ถูกมรรค ที่จะมุ่งไปสู่ผลให้พวกเราทุกคนได้ถึงอย่างที่เราปรารถนาถึงความพ้นทุกข์ เราก็จะได้ดูไป เราพ้นไปถึงไหน เราพ้นขั้นใด ใกล้ไกลเท่าไร่ เราก็จะดูจะวัดใจ คือวัดที่ไหน วัดที่จิตของเรานั่นแหละ ผู้รู้ ผู้วัดน่ะ รู้ อย่างที่ว่าระหว่างทางที่เราเดิน เราผ่านความเกิดภพชาติ ผ่านกิเลส ความโลภของเรา ความโกรธของเรา ความหลงของเราอย่างนี้ เราปฏิบัติไป เราลบล้าง เราชำระออกไปนี่ มันได้มากน้อย ใกล้ไกลขนาดไหน เราก็วัดด้วยใจเราได้ทีนี้ เพราะใจเราเป็นเครื่องวัดเครื่องรู้ ถ้ามันเกิดอะไรมากระทบอย่างนี้เราก็ดู ความเป็นกลางของเราวัดดูว่ามันเอียงไปข้างนั้นเท่าไหร่ มันไปได้ไกลใกล้ขนาดไหน มันรู้ได้ ถ้าเรายังไม่ไปถึงไหน เรายังหลงทางไปคนละทิศละทางอยู่ก็ถือว่าเรายังไม่รู้จักทางทีนี้ ยังไม่คืนมาหาทาง เราก็หลงไปไกลหละทีนี้ 

ดังนั้นเรื่องที่เราเกิดมาสู่โลก เกิดมาได้รูปร่าง ได้สมบัติทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเราผู้หญิงผู้ชายทุกคนก็มาทางเดียวกัน อย่างครูบาอาจารย์พระพุทธเจ้า อย่างพระอาจารย์เปลี่ยนของเราก็เหมือนกัน ท่านก็เกิดมามีวันเกิดเหมือนเรานั่นแหละ แต่ว่าต่างวันเวลากันอย่างนี้ คือว่าทางเดียวกันหมด แต่มาพบพระพุทธศาสนาแล้วเราเข้าใจหลักธรรมคำสอนข้อปฏิบัติของพระพุทธเจ้าที่จะนำมาปฏิบัติใจเรา ทำความดีให้ใจเรา ทำใจเราให้มั่นคงสงบ ทำจิตใจของเราให้เข้มแข็งแก่กล้าไม่กลัวในการที่จะแก้กรรมแก้กิเลสในแต่ละคน ไม่กลัว ถึงมันจะเหนื่อยยากลำบาก เราจะต้องแก้ไขไปตามกำลังตามเวลาที่เรามีอยู่ก่อนที่เราตายไปจากร่างกายของพวกเรา แต่ถ้าเราตายไปนี่ เราก็ไม่ได้หละทีนี้ มันหมด สิ่งที่เราได้มามันก็ไปไม่ได้ มันก็หมด 

ฉะนั้นเมื่อเราได้ที่มาด้วยบุญ ได้มาปฏิบัติ ได้มาฟังเรื่องปฏิบัติจิตของเราซึ่งเป็นตัวที่ไม่มีรูป แต่ให้มีความรู้ให้มีหลักเกิดขึ้นในจิตของเรา ให้จิตของเราเป็นกลางขึ้นได้ เราก็จะเป็นผู้ที่เที่ยงตรง เป็นผู้ที่มั่นคง กิเลสทั้งหลายที่มันมีอยู่ในตัวเรามันก็มีอยู่ มันก็ไม่ได้มาทำให้เราเสียหายเดือดร้อนหละทีนี้ เพราะเรารักษา เรารู้จักไม่ให้กิเลสที่จะมาทำพิษทำภัยให้เรา อย่างที่ความอยากอย่างนี้ เราก็มารู้ มารู้ตัวเรา รู้สมบัติมีในเราทั้งหมด มันไม่ได้มีอยู่ทางนอกหละทีนี้ มันรวมเข้ามาใส่ใจได้ทั้งหมดหละทีนี้ ศาสนาก็รวมเข้ามาใส่ใจหมด จิตก็ตั้งมั่นลงที่ใจ มีความเที่ยงตรงผ่องใส เข้มแข็งแก่กล้า สิ่งอะไรที่เกิดมาในรูปในร่างกายเราก็ไม่ตกใจ ไม่กลัว ถ้าอย่างนั้นเราก็หลงไปทางนอก ไปขอไหว้ขอวอนขอพรขอเป่า โอ้ สารพัดนั่นหละ มันก็ไม่ช่วยไม่ได้หละทีนี้ถ้าเราไม่ปฏิบัติใจ 

แต่เรื่องที่เราได้มาร่วมทำบุญวันเกิดวันนี้ และได้มาฟังพระสัทธรรมเทศนาตั้งแต่กัณฑ์แรกมาแล้วก็มาถึงกัณฑ์สุดท้ายคือเทศน์เรื่องธรรมปฏิบัติ เรื่องหลักพระกรรมฐานที่พวกเราท่านทั้งหลายซึ่งเป็นศิษย์พระกรรมฐานเกือบทั้งนั้นที่ได้มาร่วมกัน มาทำบุญวันเกิดท่านพระอาจารย์เปลี่ยนของพวกเราเนี่ย เราก็ได้มารับฟังเรื่องการที่จะปฏิบัติทำใจของพวกเรา ที่จะมาขัดใจของพวกเราให้ผ่องใสบริสุทธิ์ขึ้นอย่างพระพุทธเจ้าพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อเราได้ฟังเข้าใจ นำไปพิจารณา ไปปฏิบัติแก้ไขอยู่ด้วยความเชื่อมั่นในศาสนา ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญในพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่ได้อธิบายมาก็พอสมควรแก่กาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้