Skip to content

มรณานุสติ

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

เทศน์วันที่ ๒๑ เม.ย. ๒๕๒๗

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ต่อนี้ไปก็ท้าวมหาพรหมอาราธนาแล้ว แล้วทีนี้เราท่านทั้งหลายก็ให้พร้อม ผู้นอนอยู่ก็ให้ตื่นลุกขึ้น ผู้ง่วงเหงาหาวนอนอยู่ก็ห้ามง่วงเหงาหาวนอน ทำจิตใจให้ชื่นบาน แล้วอย่าลืมว่าให้พากันนั่งขัดสมาธิเพชรก่อน ถ้าหากว่าไปตั้งนโม พุทธังไปแล้ว ก็ไม่เห็นแล้วก็ไม่ได้นั่ง ให้เอาขาซ้ายขึ้นมาทับขาขวาก่อน เอ้า ทำเลยๆทุกคน นั่ง เอาขาซ้ายขึ้นมาทับขาขวาก่อน ไม่ต้องดูคนอื่นดูตัวเราเอง ไม่ต้องพูดกัน ไม่ต้องหัวเราะ เอาขาซ้ายขึ้นมาทับก่อนแล้วก็เอาขาขวาขึ้นมา แล้วให้เปลี่ยนจากการนั่งพับเพียบเป็นนั่งขัดสมาธิเพชร ถ้ายังไม่เสร็จก็ให้รีบนั่ง นั่งแล้วก็ให้หลับตา ไม่ต้องดูหลวงปู่ หลวงปู่ไม่ไปไหน นั่งอยู่นี่แหละ เมื่อเรานั่งขัดสมาธิเพชรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็หลับตา หลับตานี้เพื่อไม่ให้จิตใจฟุ้งซ่านออกทางตา หลับตาแล้วก็งับปาก ไม่ต้องพูดกัน ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องพูดกัน ตั้งตัวกายให้ตรง ว่าให้เราตั้งใจของเราให้ดี การนั่งสมาธินี้เรียกว่าแสดงความองอาจกล้าหาญ ไม่ให้จิตใจท้อแท้อ่อนแอ กลัวความเหน็ดความเหนื่อยเมื่อยหิวเจ็บปวดทุกขเวทนา ข้ามให้พ้น รวมจิตรวมใจของเราเข้าไปภายใน ไม่ให้จิตใจคิดไปภายนอก จะมีความห่วงอาลัยอยู่ในบ้านเรือนของเราก็ตาม เวลานี้เป็นเวลาตัดให้มันขาด ใครจะเป็นใครจะตายอยู่บ้าน ช่างมัน ให้เรานึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ทั้ง ๓ องค์เนี่ยแหละรวมเข้ามาพุทโธคำเดียว ลมหายใจเข้าออก 

แต่ว่าวันนี้จะได้สอนมรณกรรมฐานให้เราท่านทั้งหลายระลึกถึง มรณภัยคือความตายที่จะมาถึงตนทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าจะแช่งให้เราตายง่าย ความตายนั้นมีเหตุการณ์ต่างหาก แม้จะไม่เทศน์เรื่องตายคนมันก็ตายอยู่ทุกวันทุกเวลา แต่เราไม่คิดไม่อ่านก็เลยเข้าใจว่าความตายนั้นมันอยู่ห่างไกลตัวเราออกไป ความจริงมันไม่ได้ไกล มันเป็นได้ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องเจ็บปวดทุกขเวทนาใดๆก็ตายได้ บาลีที่จะต้องนึกนี้ท่านว่า มรณัง เม ภวิสสติ 

มรณัง เม ภวิสสติ อันนี้เป็นภาษาบาลีให้เรานึกเป็นคำบริกรรมแทนพุทโธ กัณฑ์นี้เอา มรณัง เม ภวิสสติ เป็นอุบายภาวนา คำว่ามรณะ มรณัง หมายถึงว่าความตาย คนเราและสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้วต้องมีความตายเป็นผลที่สุด หนีไม่พ้น เม ก็หมายถึงเรา ตัวเรานี่แหละ รูปขันธ์ร่างกายที่เราเรียกว่าหญิงชาย ก้อนธาตุอันนี้ ผลที่สุดแก่หรือไม่แก่ เด็กหนุ่มแก่อะไรก็เมื่อถึงเวลาแล้วตายแน่ๆ ใครจะแก้ไขอย่างไรไม่ได้ แต่ที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆน้อยๆหามา อันนี้คือว่ายังไม่ถึงเวลา ถ้ามันถึงเวลาจริงๆแล้ว นั่งอยู่ดีๆก็ตายได้ นอนหลับสบายอยู่ก็ตายได้ บางคนเราเคยเห็นอยู่ เมื่อยังไม่นอนก็พูดจาปราศรัยอะไรไม่มีผิดปกติ เวลาหลับใหลไปแล้ว ตื่นเช้า ไม่รู้ว่าตายแต่เมื่อไหร่ แข็งโด่หมด นี่ อย่างนี้ก็มี 

มรณกรรมฐานนี้ไม่ใช่หลวงปู่เป็นผู้เทศน์ พระพุทธเจ้าเป็นผู้เทศน์ไว้ก่อนแล้ว คือวันหนึ่งเวลาพระพุทธองค์อยู่ในวิหาร มีพระอานนท์พุทธอุปัถฐากนั่งอยู่ใกล้ๆ พระพุทธองค์ท่านก็ตรัสแก่พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากว่า ดูก่อนอานนท์ วันนึงคืนนึง อานนท์ได้นึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง ท่านพระอานนท์ก็ทูลตอบพระองค์ว่า ข้าพระองค์นึกถึงความตายวันละหลายพันครั้ง พระองค์ก็ย้อนพระอานนท์ว่าอันวันนึง คืนนึง ๒๔ ชั่วโมงนั้น นึกถึงความตายวันละหลายพันครั้งนั้นยังประมาทอยู่ ต่อไปให้อานนท์พร้อมทั้งพุทธบริษัททั้ง ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้พากันนึกถึงความตายที่จะมาถึงตนทุกคนให้ได้ทุกลมหายใจเข้า ให้ได้ทุกลมหายใจออก จึงจัดว่าไม่ประมาท ถ้ายังนับได้อยู่แล้วว่ายังประมาทอยู่ ตรงนี้แหละที่เรามักจะคิดในใจว่า ทำไมหนอ เราฟังเทศน์ฟังธรรมฟังคำสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กแต่เล็กจนแก่ชราจึงไม่ค่อยได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็คือความประมาทเนี่ยแหละ ไม่ได้นึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าทุกลมหายใจออก 

ด้วยเหตุนี้ให้เราทุกคนผู้ได้ยินได้ฟังอยู่นี่แหละ ให้นึกให้ได้ทุกลมหายใจเข้าทุกลมหายใจออก ทำไมท่านจึงตรัสอย่างนั้น ก็เพราะว่าคนเราไม่ว่าจะตายด้วยเหตุการณ์ใดๆกับ มนุษย์เค้าต้องดูที่ลมหายใจเข้าออกนี่แหละ ถ้าคนนั้นร่างกายจะนิ่งแน่ไปแล้วก็ตาม ถ้ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ก็ยังไม่เรียกว่าศพ ยังไม่เรียกว่าตาย แต่ถ้าลมหายใจเข้าไปแล้ว ออกมาไม่ได้ เงียบหายไป ทีนี้ก็ให้ชื่อว่าตายหละ ออกมาแล้วเข้าไปไม่ได้ก็ตาย เข้าไปแล้วออกมาก็ตาย ให้ทุกคนระลึกได้ว่า อันความตายนี้เหลืออยู่แค่ลมหายใจเข้าออกเท่านี้ ต่อนี้ไปเราจะไม่ประมาทว่าเรายังเด็กยังหนุ่มอยู่ ไม่ได้ทั้งนั้น เด็กๆก็ตายได้ คนหนุ่มแข็งแรงก็ตายได้ ยิ่งคนแก่คนชรายิ่งตายเร็ว 

ฉะนั้นเวลานี้เราอย่าได้ประมาท ตั้งใจรวมจิตใจเราเข้าไปภายใน เรื่องราวอะไรที่เป็นอดีตกาลล่วงมาแล้ว ดีก็ตามชั่วก็ตาม ไม่ให้เก็บมาคิดนึกในเวลานี้ เดี๋ยวนี้เวลานี้ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ให้นึกถึงว่าความตายไม่เฉพาะแต่ตัวเราตายเท่านั้น คนอื่นสัตว์อื่นก็ตายได้เหมือนๆกัน ฉะนั้นต่อนี้ไปเราจะไม่ประมาทจะตั้งใจรวบรวมกำลังจิตใจให้สามารถอาจหาญ ทำใจของตนให้มั่นคงหนักแน่นเหมือนพื้นพสุธาหน้าแผ่นดิน อย่างว่าระยะนี้เป็นระยะฤดูร้อน ความร้อนอบอ้าวเข้ามาถึงร่างกาย ก็ไม่ให้จิตใจไปข้องแวะยึดว่าตัวเราร้อน รูปขันธ์ร่างกายเขาร้อนต่างหาก ช่างมันเถิด เวลาร้อนมันก็ยังมีลมมาพัดให้ ดีขนาดไหนแล้ว อย่าไปบ่นว่าร้อนไม่ดี ร้อนก็เป็นบทสอนใจของเราอย่างหนึ่ง คือในโลกมนุษย์นี้เขามีร้อนอย่างนี้แหละ เมื่อถึงฤดูร้อน เมื่อถึงฤดูหนาวที่เราผ่านมา ก็หนาวอย่างนี้แหละ เราผ่านไปไม่ได้ เมื่อถึงฤดูหนาวก็หนาว ถึงฤดูร้อนก็ร้อน ถึงฤดูฝนก็ฝน เปียก ให้เตือนว่า มรณัง เม ภวิสสติ ความตายนี้ไม่เลือกว่าฤดูร้อน ถามใจของเราดูว่าคนเราฤดูร้อนตายได้ไหม ตายได้ทุกลมหายใจ ฤดูหนาวแล้วคนเราตายได้ไหม ตายได้เหมือนกัน ฤดูฝนเล่า ฤดูฝนก็ตายได้เหมือนกัน ดูฤดูนี่ฝนคนเราจะตายมากเสียด้วยเพราะอะไร เพราะว่าฤดูฝนนั้น อาหารการบริโภคของคนเรา ฤดูฝนมันชักจะมากไปหน่อย ยอดไม้เถาวัลย์ ปูปลาอะไรในฤดูฝนมันก็มากไปหน่อย ทีนี้เจ้าโลภะในจิตนี้กินไม่มีประมาณ เลยตายง่าย 

มรณัง เม ภวิสสติ อย่าได้ลืม จิตเราให้นึกอยู่อย่าได้ประมาท เราจะนั่งภาวนา ภาวนา มรณัง เม ภวิสสติอยู่ตลอดเวลา นั่งก็แบบไหนก็ตาม​โดยเฉพาะเวลาเรานั่งขัดสมาธิเพชรนี้ ยิ่งตั้งจิตตั้งใจอยู่ในมรณัง เม ภวิสสติ หรือนึกเป็นภาษาไทยเราๆว่า เราตายนะ ตายๆทุกลมหายใจเข้าออก มันอยากได้อยากดี อยากเป็นอะไร เกินความจำเป็น เกินที่จะได้จะถึง ก็ให้นึกถึงในใจของตัวเองเตือนใจว่า เราได้อย่างนั้นมาแล้วมันไม่ตายหรือ หรือตายได้ มันตายได้เหมือนกัน จิตใจที่มันโกรธให้คนโน้นคนนี้ เมื่อคนตายมาถึงเข้ามันก็ตายได้เหมือนกัน นี่แหละมรณภัยคือความตายนี้เราอย่าได้ประมาท 

ถ้าพุทธบริษัททั้งหลายนึกได้ซึ่งความตายนี้ว่า นั่งอยู่ก็ตายได้ นอนอยู่ก็ตายได้ ยืนอยู่ก็ตายได้ ความตายนี้ไม่ได้เลือก นับตั้งแต่ท้าวพญามหากษัตริย์ลงมา จนถึงเศรษฐี มหาเศรษฐี ธรรมดาสามัญคนทั่วไป จนถึงคนทุกข์ไร้ อนาถา สมณชีพราหมณ์ พระภิกษุสงฆ์สามเณร ผ้าขาว นางชี ฤาษี ตายทั้งนั้น เมื่อถึงเวลาต้องตายแน่ๆ เมื่อเรานึกเจริญอยู่ จิตใจเรายังประมาทอยู่ก็ให้นึกถึงว่า ตัวเรานี้เกิดมามีบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้า มีพี่น้องร่วมท้องกันกี่คน แล้วคนอื่นเขาตายไปมีไหม ญาติกาวงศาคนเราที่เกิดในท้องแม่อันเดียว มีเยอะแยะนับไม่ถ้วน นี่แหละคนอื่นเขาตายไปๆทุกคนญาติพี่น้องที่ตายไปเป็นธรรมะเตือนจิตใจของเราให้ตั้งใจบำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา ไม่ให้ท้อถอยเพราะว่า มรณะความตายนี้ไม่ได้เป็นพี่น้องใคร ได้เวลาถึงเวลาแล้วมันเข่นฆ่าไปให้ตายได้จริงๆ หรือว่าบิดามารดา ปู่ย่าตายายของเราในเวลานี้ยังมีครบถ้วนทุกคนอยู่หรือ ก็จะมีผู้ที่ตายไป บางคนพ่อแม่ก็ยังอยู่ก็มี ลูกตายไปก่อนก็มี บางคนพ่อแม่ตายไปหมดแล้ว ปู่ย่าตาทวดยิ่งร้าย ตายแต่เมื่อไรไม่รู้ จนพวกเราที่เป็นลูกหลานจำหน้าตาของปู่ย่าตาทวดไม่ได้เลย เพราะเขาตายไปก่อนแล้ว 

นี่หละ มรณะภัย คือความตายเป็นของจริง จริงหรือไม่จริงให้เราพินิจพิจารณาในใจของเราขณะนี้ ให้น้อมนึกรำลึกถึงว่ามรณะภัย คือความตายนี้หนีไม่พ้น เมื่อหนีไม่พ้นแล้วเราจะหนีไปที่ไหน ไม่ต้องหนีไปที่ไหนแล้ว หนีเข้ามาภาวนาทุกลมหายใจเข้าออกว่ามรณะ มรณัง ความตาย ตายได้ทุกเวลา นั่งอยู่ก็ได้ตายได้ นอนอยู่ก็ตายได้ ยืนอยู่ก็ตายได้ เดินไปมาที่ไหนยังดีๆอยู่ เวลามันจะตายขึ้นมาเกิดเป็นลมเป็นแร้งขึ้นมา หรือเส้นโลหิตในสมองแตกเมื่อใดเวลาใดก็ตายได้ทั้งนั้น จงนึกเตือนจิตเตือนใจผู้รู้อยู่ภายในนี้ให้รู้สึกสำนึกตัวว่า มรณัง เม ภวิสสติ เราต้องตายแน่ๆ จะไปแก้ว่าเราไม่ยอมตาย แม้พญามัจจุราชมาเราจะต่อสู้ด้วยอาวุธยุทธพันธ์ ด้วยธรรมะธรรมโม อะไรมันสู้ไม่ได้ทั้งนั้น แม้เราไปหาครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงพ่อ หลวงตา ก็ถามว่ามียาปวดหัว ปวดหลัง ปวดเอวมั้ย หลวงปู่ หลวงตา ก็ไม่ต้องไปถาม ถามก็แก้ไม่ได้ แก้ได้ที่ภาวนา มรณัง เม ภวิสสติ 

เห็นว่าความตายมันใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาโดยลำดับ อย่าเข้าใจว่าเราไกล ห่างไกลต่อความตาย วันหนึ่งล่วงไปก็คือว่าหมดไปสิ้นไปอายุของเรานั้น คืนหนึ่งผ่านพ้นไปอายุของเราก็หมดไปคืนหนึ่ง ใกล้ต่อมรณภัยคือความตายอย่างนี้อย่าได้ประมาท คนอื่นผู้อื่นเค้าประมาทมัวเมาช่างเขา จิตใจของเราอย่าได้ประมาท จงเป็นผู้นึกให้ได้ เจริญให้ได้ว่า มรณัง เม ภวิสสติ เดี๋ยวนี้ขณะนี้เราต้องตายแน่ๆ ดูคนเราในสมัยนี้นั้น อายุกี่ปีกี่เดือน บางคนเกิดวันนั้นตายวันนั้นก็มี เกิดเดือนนั้นตายเดือนนั้นก็มี เกิดปีนั้นตายปีนั้นก็มี สิบปีก็ตายได้ ยี่สิบก็ตายได้ สามสิบปีก็ตายได้ สี่สิบปีก็ตายได้ ห้าสิบปียิ่งครึ่งร้อยแล้วอะไรๆก็ตายด้านไปตามลำดับๆ ธรรมดากิเลสไม่ได้นึกถึงความตาย อายุมากเท่าไร ความโกรธก็มากเท่านั้น ความโลภความอยากได้ก็มากขึ้นไป อันนี้เรียกว่าคนไม่ภาวนาละกิเลส ถ้าผู้ภาวนาละกิเลสแล้ว อายุร้อยปีก็เรียกว่าเตือนจิตเตือนใจของตนให้ลุกขึ้นภาวนาแล้วว่ามรณภัยคือความตาย เขายกเว้นมาครึ่งร้อยแล้ว เรายังจะมาห่วงลูกห่วงหลานห่วงกินห่วงนอน ห่วงเล่นสนุกเฮฮาไปถึงไหน หกสิบปีก็ตายได้ บางคนไม่ถึงหกสิบปีก็ตายแล้ว เจ็ดสิบปีก็ตายได้ ยังไม่ถึงเจ็ดสิบปีก็ตายก็มี แปดสิบปีก็ตายได้ ยังไม่ถึงแปดสิบปีก็ตายได้ เก้าสิบปีก็ตายได้ ๙๗ ๙๘ ก็ตายได้ ร้อยปียิ่งตายเร็ว ฉะนั้นอย่าได้ประมาท แม้พระท่านให้ศีลให้พร ท่านก็ให้ว่าให้อายุญาติโยมได้ร้อยปี ยังไม่ถึงร้อยปีอย่าเพิ่งแตกอย่าเพิ่งตาย พญามัจจุราชคือความตายมันก็ไม่ฟัง ได้เวลาตายมันก็ตายทั้งนั้น 

นี่แหละเราท่านทั้งหลายอย่าได้พากันประมาทมัวเมา จงระลึกถึงมรณภัยคือความตายนี้ให้ได้ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก พระพุทธเจ้าของเราพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า อันเราตถาคต มรณภัยคือความตายนี้ พระองค์นึกได้ เจริญได้ เตือนใจของพระองค์ได้ทุกลมหายใจเข้า ว่าเราตถาคตตายได้ทุกลมหายใจเข้าไป ลมหายใจออกมาเราตถาคตก็ตายได้ทุกลมหายใจออกมา แม้เราท่านทั้งหลายยังไม่ได้พ้นทุกข์ภัยในโลกในวัฏฏสงสาร ยิ่งจะต้องนึกถึงมรณภัย คือความตายนี้ให้มากกว่าพระพุทธเจ้าเข้าไป แล้วจิตใจเราจะไม่เป็นคนประมาทมัวเมาทุกขณะทุกเวลาจะเป็นคนตั้งกายตั้งใจ ประพฤติคุณงามความดี รักษาจิตใจของตนให้สงบระงับตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนา 

แม้ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวจะบังเกิดมีขึ้นในรูปนามกายใจของเราก็อย่าไปยึดถือเอา หรือบางคนนั้งถ้านั่งสมาธินิดๆหน่อยๆก็ว่า ไอ้โน้นก็ไม่สบาย ไอ้นี่ก็ไม่สบาย ขัดนั้นขัดนี้เพราะเหตุนั้นเหตุนี้ อันนี้เรียกว่าจิตใจของคนเรานี้ท่านแบ่งภาคไว้เป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งก็คือจิตใจบำเพ็ญทาน รักษา ศีลภาวนาปฏิบัติบูชา มุ่งหวังความพ้นภัยในวัฏสงสาร เรียกว่าจิตใจเป็นบุญ ทีนี้จิตใจอีกดวงหนึ่งเป็นใจมากใจสังขารใจกิเลสราคะใจกิเลสโทสะ ใจกิเลสตัณหานี้ไม่รู้สึกตัว มักจะคิดไปปรุงไปแต่งไปว่าเรายังอยู่ดีสบายอยู่เสมอ บางคนแก่ชราแล้ว จิตใจก็ยังไม่แก่ ยังสำคัญผิดคิดว่าเรายังไม่แก่อยู่ตลอดเวลา ครั้นเจ็บไข้ได้ป่วยมาถึงเข้า แทนที่จะนึกถึงว่า เอ มรณะ ความตายมันใกล้มาเป็นเทวทูต ทูตเทวดามาบอกแล้ว ปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ไม่สบาย แต่ไม่สน คิดฟุ้งซ่านไปอย่างอื่น จะหาทางแก้ ครั้นเจ็บมานิดหน่อยก็เข้าโรงพยาบาล เข้าใจว่าเข้าไปโรงพยาบาลแล้ว หมอจะรักษาได้ บางคนมันแทนที่เข้าไปแล้วจะได้ออกมาเลย เลยไม่ได้ออกมา ไปโรงพยาบาลก็เลยไปป่าช้าทีเดียวก็มี นี่แหละเราท่านทั้งหลายอย่าพากันประมาท เดี๋ยวนี้เราตั้งอยู่ในความประมาท ความประมาทนั้นถ้าใครไม่นึกมองเห็นมรณภัยความตายทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว ประมาททุกคนไป ทั้งผู้เทศน์และผู้ฟัง ถ้าหลงลืมเมื่อใดเวลาใดก็เรียกว่าเป็นผู้ประมาท 

พระศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย พระองค์ไม่ประมาทมัวเมา พระองค์นึกได้เตือนใจของพระองค์อยู่เสมอว่ามรณภัยคือความตายนี้หนีไม่พ้นแน่ๆ พอถึงวัยแก่วัยชรา อายุสังขารของพระองค์ได้ ๘๐ บริบูรณ์ ก็อยู่ไม่ไหว อยู่ไม่ได้แล้ว ดับขันธ์เข้าสู่นฤพาน แม้จะอยู่ต่อไปก็โดยความลำบาก ถ้าเลย ๘๐ปีไปแล้วมักจะล้มลุกคลุกคลาน อะไรต่อมิอะไร มีมากมายหลายอย่างหลายประการ พึ่งตัวเองก็ล้ม เป็นลมลงมาก็มี นี่แหละ ได้ ๘๐ ก็ตายได้ ๙๐ ปีก็ตายได้ ๑๐๐ปีก็ตายได้ ๑๒๐ก็ไม่พ้นจากความตาย เมื่อไม่พ้นอย่างนี้จะให้พ้นอย่างไร พ้นด้วยการมากำหนดพิจารณามรณภัยคือความตายนี้ให้แจ้งในจิตในใจของเรา ให้แจ้งในตา ตาได้เห็นคนตาย สัตว์ที่ไหนก็ให้เอามาเตือนใจของเราในเวลานี้ขณะนี้หรือในเวลาที่เราเห็นนั้นว่าสัตว์อื่นคนอื่นเขาตายนั้น ไม่ใช่แต่ตายคนอื่นนะ ตัวเราผลที่สุดก็ต้องตายเหมือนเขา เดี๋ยวนี้เราได้ภาวนาทำใจให้สงบระงับตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนาแล้วหรือยัง ถ้าหากว่ายังไม่ทำจิตทำใจแล้ว จะไม่นิ่งนอนใจไม่ได้ จะไปรอให้ลูกคนนั้นใหญ่เสียก่อน เรียนหนังสือจบเสียก่อน ให้มีเหย้าเรือนเสียก่อน ไม่ไหว ต้องภาวนาในใจว่า ความตายมันไม่ได้ว่าอย่างเราเมื่อถึงเวลาแล้วมันตายแน่ๆ เหมือนกำปั้นทุบดิน 

ฉะนั้นเราจะมามัวเมาเข้าใจผิดคิดหลงว่าเรายังไม่ตาย ถ้าพบกันเข้าก็ว่า สบายดีหรือ ก็ตอบกันว่า สบายดีอยู่ แต่ความจริงภายในร่างกายสังขารของคนเรานั้น ไม่ใช่มันสบายเลย เจ็บปวดทุกขเวทนาเล็กๆน้อยๆมันมีอยู่เสมอๆ แต่ว่าเราเข้าใจผิดคิดว่าสบายดี สบายดีอย่างไร ไม่สบายเลย ก็ดูน่ะนั่งนานๆหน่อยก็เกิดเจ็บปวดทุกขเวทนา เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาแล้ว จำเป็นต้องเคลื่อนไหวไปมา ยืนบ้าง เดินบ้าง นอนบ้าง นี่ก็คือว่าร่างกายสังขารมันไม่สบาย ทำไมเราบริโภคอาหารวันนึงหลายเวลา ก็เพราะว่าโรคภัยไข้เจ็บมันเกิดขึ้นในร่างกายสังขารตัวตนคนเรานั่นเอง พยาธิโรคามีอยู่ตลอดเวลา 

ถ้าเราจะมาเยียวยาพยาบาลให้ความสุขความสบายในรูปร่างกายแล้ว ไม่เพียงพอซักที พระพุทธเจ้าท่านให้เอาสงบระงับในหัวใจคือให้ใจภาวนานึกถึงมรณภัยคือความตายให้ได้ เอาจนก่อนความตายจะมาถึง ให้เราเริ่มละกิเลสความโกรธในใจให้หมดไปสิ้นไป เลิกละกิเลสความโลภ ราคะตัณหาในใจของเราให้หมดไปสิ้นไป ให้ใจของเรามีความเพียรความหมั่นความขยันเพิ่มเติมขึ้นไปทุกวันทุกคืนทุกเดือนทุกปี เป็นผู้มีสติ มีสติปัฏฐานอยู่ในใจ เมื่อมีสติปัฏฐานอยู่ในใจเป็นมหาสติ นั่งก็มีสติ นอนก็มีสติ ยืนก็มีสติ เดินก็มีสติ ทำอะไรทุกอย่างมีสติอยู่ทุกเวลา ทุกลมหายใจ แล้วก็เตือนใจของเราให้รู้สึกสำนึกตัวว่า มรณะ มรณังความตายนี้ ไม่ว่าใคร ใครจะไปอวดดีกับพญามัจจุราชคือความตายไม่ได้ทั้งนั้น เพราะว่าพญามัจจุราชนี้ใครจะรบราฆ่าฟันต่อสู้กับพญามัจจุราชนั้น ไม่มีทางที่จะเอาชนะได้ พ่ายแพ้ตลอดเวลา 

แต่ถ้าผู้ใดมาบำเพ็ญทานการกุศล ประกอบคุณงามความดี ให้บังเกิดที่กาย วาจา จิตของเรา มีการสดับรับฟังพระธรรมคำสั่งสอนในทางพุทธศาสนา เอาใจใส่ในการสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานไม่ให้จิตใจของเราฟุ้งซ่านรำคาญไปหาคนอื่นสัตว์อื่น จงให้จิตใจของเรามีความเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส อกผายไหล่ผึ่งหน้าตาเบิกบาน มีสติทุกเวลา มีสมาธิจิตตั้งมั่นทุกเวลา มีปัญญาพิจารณารูปนามกายใจของตนอยู่ทุกขณะทุกเวลาว่า โลกเรานี้คือรูป นาม กาย ใจ คนสัตว์วัตถุธาตุทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะเที่ยงแท้แน่นอนยั่งยืนเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า โลกนี้เป็นโลกอนิจจังคือความไม่เที่ยง ดูกิจกรรมการงานที่เราทำมาตลอดมาตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ ดูซิมันเที่ยงแท้แน่นอนที่ไหน ทีแรกเรานอนอยู่ในท้องแม่ก็คลอดออกมาก็เพราะความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงมีอยู่ที่ไหนความเป็นทุกข์ก็มีอยู่ที่นั่น 

เมื่อความไม่เที่ยงเป็นทุกข์มีอยู่ที่รูป นาม กาย ใจตัวตนคนเราแล้ว ก็ชื่อว่ามีความไม่ใช่ตัวตนของเราอยู่ที่นั่น การที่เรามายึดหน้าถือตา มายึดตัวถือตน ยึดเรายึดของๆเราว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ สิ่งเหล่านี้ให้เราเพ่งเล็งพิจารณาดูให้ดี ตัวกูของกู ตัวข้าของข้า ตัวเราของเราน่ะมันจริงไหม บอกได้ว่าฟังที่ไหน ถ้าบอกได้ว่าฟัง ก็ไม่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ต้องแก่ชรา คนที่มีฟันอยู่ก็ไม่ให้เจ็บ เพราะว่าเจ็บฟันมันเป็นความลำบาก เราบอกว่าอย่าเจ็บเลยได้ไหม ไม่ได้ บอกว่าอย่าแก่เลย เราไม่ต้องการเป็นคนแก่ มันก็แก่ไปทุกวันทุกเดือน ผลที่สุดความตายก็มาถึงเข้า เมื่อความตายใกล้เข้ามาจิตใจเรายิ่งวุ่นวายใหญ่ เพราะอะไร ก็เพราะว่าไม่ได้พิจารณา มรณัง เม ภวิสสติไว้ให้พร้อมมูล ถ้าเรานึกได้เจริญได้อยู่ว่า อยู่ดีๆก็ตายได้ นั่งดีๆก็ตายได้ นอนดีๆก็ตายได้ เด็กหนุ่มแก่ชราตายได้เท่าๆกัน เราจะมาหวั่นไหวทำไม พุทโธ ธัมโม สังโฆ มีอยู่ในจิตในใจของเราก็รีบภาวนาเข้า หรือเตือนใจของเราว่า อันความตายเขาไม่ได้ยกเว้นให้บุคคลผู้ใด เราจะมายินดีพอใจอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ในทรัพย์สินเงินทองวัตถุข้าวของในความอยากได้อยากดีอยากเป็นอยากมีอย่างเดียวหรือ ทำไมเราไม่คิดว่าเมื่อความตายมาถึงเข้า สิ่งเหล่านี้เอาไปไม่ได้ทั้งนั้น ตายเมื่อใดก็ทิ้งเมื่อนั้นหรือบางคนยังไม่ตาย ทรัพย์สินเงินทองบ้านเรือนเคหะสถานก็เกิดอันตรายก่อนเจ้าของก็มี 

นี่แหละท่านว่าอนิจจัง โลกนี้มันไม่เที่ยงอย่างนี้ ทุกขัง เป็นทุกข์เมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามใจหวัง จิตใจคนเราก็เป็นทุกข์เป็นร้อนตามอาการเหล่านั้น เพราะว่าไม่ได้ภาวนา ไม่ได้ทำความเพียรละกิเลส จนให้กิเลสหลุดออกไปพ้นออกไปเสียก่อน เมื่อกิเลสราคะ โทสะ โมหะเลิกละออกหมดในจิตใจแล้ว ความตายมาถึงก็เห็นว่า รูป นาม ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เค้าตายต่างหาก จิตใจมันไม่ตาย เราจะไปทุกข์ร้อนทำไม เราก็เร่งภาวนาในใจของเราทุกลมหายใจเข้าออก ยิ่งเจ็บปวดทุกขเวทนาอันใดเกิดขึ้นเราก็จะได้เพียรเพ่งดูวันนี้แหละ เป็นเทวทูต ทูตเทวดา เป็นเทวธรรม เป็นธรรมที่มาตักเตือนให้เราทุกคนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ผู้ไม่ประมาทคือว่ามองเห็นมรณภัยตายได้ทุกลมหายใจ เมื่อผู้ใดนึกได้ทุกลมหายใจว่าจำเป็นเราต้องตายได้ทุกเวลาเมื่อถึงเวลานั้น จิตใจที่อยากได้อยากดีอยากเป็นอยากมีอะไรทุกอย่างมันก็ถอนออกได้ เพราะมองเห็นว่าเมื่อเราเกิดมา ไม่มีสมบัติพัสถานอันใดเกิดมานั้น มีอยู่แต่หนังหุ้มกระดูกเท่านี้เอง เมื่อเกิดมาใหญ่แล้ว กิเลสตัณหามันเกิดขึ้นจึงได้วุ่นวายดิ้นรนไปหากิเลสเหล่านี้ให้มันเพิ่มเติมขึ้นมา แล้วผลที่สุดจะมีเงินหมื่นเงินแสนเงินล้านเงินร้อยล้านพันล้าน ถ้าความตายมาถึงเข้า บุคคลผู้นั้นก็เอาไปไม่ได้ ตายแล้วก็ทิ้งเปล่าๆ 

ส่วนว่าผู้ใดภาวนาทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งในจิตในใจนั้น ยังมีชีวิตอยู่ก็จิตใจเยือกเย็นสบาย พุทโธอยู่ในดวงใจ ธัมโมอยู่ในดวงใจ สังโฆอยู่ในดวงใจ มรณะ มรณัง ความตายนึกได้ทุกลมหายใจ ชื่อว่าเราเคารพพระพุทธเจ้า เราเคารพพระธรรม เราเคารพพระอริยสงฆ์สาวก ผลที่สุดจิตใจของผู้เจริญมรณกรรมฐานคือความตายนี่แหละ จิตใจก็จะสงบตั้งมั่น เมื่อจิตใจสงบตั้งมั่นก็จะเห็นแจ้งในหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะได้ละสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลพตปรามาส ในจิตใจของตนออกไปได้ โมโหโทโสฟุ้งซ่านรำคาญก็จะลดน้อยถอยลงไปโดยลำดับ 

นี่แหละเราท่านทั้งหลายอย่าได้พากันประมาท เดี๋ยวเราประมาทมัวเมามาในโลกวัฏฏสงสารนี้นับไม่ถ้วนแล้ว เชื่อว่าทุกคนเคยเกิด เคยแก่ เคยเจ็บ เคยไข้ เคยตายอยู่ในสังสารจักรอันนี้ นับเป็นอเนกชาติ นับเป็นอเนกภพ ไม่รู้ว่ากี่กัปป์ กี่กัลป์ที่เรามาเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ มาถึงวันนี้เดี๋ยวนี้สมควรแล้วที่เราทุกคนจะต้องลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กิเลสในหัวใจของตน ให้เอาชัยชนะในใจของตนให้ได้ คือเตือนใจของตนให้รู้มรณภัย คือความตายนี่ได้ทุกเวลา เมื่อใจเรานึกได้เจริญได้อย่างนี้ จิตใจก็ย่อมสงบระงับ รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติก็ย่อมไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา วันไหนคืนไหนเวลาใดก็ทุกลมหายใจ เป็นผู้นึกได้เตือนใจของตนได้อยู่ จิตใจก็ย่อมเย็นสบายทั้งกลางวันกลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ ฉะนั้นอุบายต่างๆที่กล่าวมานี้เป็นอุบายปฏิบัติธรรมะในทางพุทธศาสนา เมื่อว่าเราท่านทั้งหลายพากันได้ยินได้ฟังแล้วก็ให้กำหนดจดจำกันไปปฏิบัติ ก็คงได้รับความสุขความเจริญ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้