Skip to content

ป่าช้าในกาย

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ต่อนี้ไปเป็นการปฏิบัติบูชานั่งสมาธิภาวนา การนั่งขัดสมาธิเพชรนั้นให้จำให้ดี แล้วก็ฝึกหัดให้มันได้ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายนั้นต้องอยู่ที่การฝึกการหัดการดัดแปลง เมื่อเราฝึกหัดดัดแปลงได้แล้วก็เป็นที่สบายของเรานั่นเอง เมื่อถึงเวลานั่งสมาธิภาวนา ไม่ว่าในกลางหมู่คณะก็ตาม อยู่ที่อยู่อาศัยของตนก็ตามให้พยายามฝึกหัดนั่ง คือเป็นของง่ายถ้าเรานั่ง มันเคยชิน เอาขาซ้ายขึ้นมาทับขาขวาก่อน แล้วก็เอาขาขวาขึ้นมาทับขาซ้าย เอามือข้างขวามาทับมือข้างซ้าย เมื่อตั้งใจทำจริงๆ เรียกว่าสบายมาก ไม่ยุ่งยากประการใด 

พระพุทธเจ้าของเราพระองค์เป็นลูกท้าวพระยามหากษัตริย์ ถ้าจะยึดถือแล้ว พระพุทธเจ้าท่านยึดถือก่อน ขัตติยมานะ ขัตติยะทิฐิ พระองค์เลิกละออกไป พระองค์ก็นั่งขัดสมาธิเพชรได้โดยไม่ต้องลำบาก คือใจมันยอมเท่านั้นหละ เราทุกคนไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องใจมันยอม หรือว่าใจเกิดศรัทธา ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเกิดศรัทธาขึ้นมาจึงทำได้ปฏิบัติได้ ถ้าไม่เกิดศรัทธา จิตมันก็คัดค้านในตัวอยู่ ต้องสร้างศรัทธาขึ้นมา ศรัทธาท่านแปลว่าความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อ ศรัทธาความเลื่อมใสในการประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราเชื่อแน่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์นั่งขัดสมาธิเพชรใต้ร่มไม้โพธิ์ ผินหลังให้ต้นไม้โพธิ์ ผินหน้าไปทางทิศตะวันออก พระองค์นั่งขัดสมาธิเพชร เมื่อนั่งขัดสมาธิเพชรแล้ว ท่านก็ตั้งจิตตั้งใจลงไป ว่าการนั่งสมาธิภาวนาครั้งนี้จะมาให้เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต ถ้าหากว่านั่งสมาธิเพชรพร้อมกับการปฏิบัติภาวนาไม่สำเร็จดังความมุ่งมาดปรารถนา คือพระองค์ต้องการความตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แต่ถ้าหากว่าไม่เป็นการสำเร็จ พระองค์ก็จะเอาที่นั่งนั้นแหละเป็นที่ตาย ตายทื่ร่มไม้ต้นนี้แหละ ไม่โยกย้ายไปที่ไหน 

ถ้าเราฟังธรรมข้อนี้ให้ดี ก็แสดงว่า พระองค์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้นั้นคือว่าสละชีวิตลงไป ว่าแม้จะเลือดเนื้อเชื้อไขจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามที เราจะไม่ลุกจากที่นี้เป็นอันขาด แสดงว่าพระองค์สละชีวิต ถ้าไม่สำเร็จไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ต้องไปบิณฑบาตรมาเลี้ยงชีพอีกแล้ว จะให้เป็นครั้งสุดท้าย นั่นแสดงว่าพระพุทธเจ้านั้นท่านทำจริง นับตั้งแต่พระองค์ได้ตั้งปณิธานความหมายมั่นเพื่อพระโพธิญาณ จิตใจของท่านก็ไม่ท้อถอย ไม่ว่าจะเกิดมาภพใดชาติใด พระองค์ก็มีความมั่นอกมั่นใจในการทำบุญให้ทาน ในการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ในการไหว้พระสวดมนต์เจริญภาวนา พระองค์ตั้งใจประกอบกระทำทุกภพทุกชาติ จนกระทั่งว่าชีวิตแตกดับไปในชาติหนึ่งๆก็แล้วไป ถ้าเกิดมาชาติใหม่ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นเทวดา อินทร์ พรหม เป็นอะไรก็ตาม ท่านไม่ลืมในทาน ศีล ภาวนาของท่าน ท่านทำจริง ท่านนึก ท่านเจริญจริง เรียกว่าจิตใจเช่นนี้หาได้ยาก เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วจึงเป็นที่สักการะบูชาของมนุษย์ในสมัยนั้นจนต่อมาถึงสมัยนี้ก็ยังมีผู้สักการะบูชาคุณพระพุทธเจ้าอยู่ ก็เพราะว่าพระองค์ท่านทำจริง ปฏิบัติจริงเอาจริง สิ่งใดที่พระองค์จะทำจะปฏิบัติแล้ว สิ่งนั้นย่อมสำเร็จ สำเร็จได้ด้วยการกระทำ ถ้าไม่กระทำไม่มีความพากเพียรพยายาม ไม่ว่ากิจกรรมการงานใดๆในโลกนี้โลกหน้า ไม่สำเร็จถ้าไม่ทำ ถ้าลงมือทำลงมือปฏิบัติแล้ว แม้จะไม่ได้มากก็ได้น้อย 

การภาวนาในจิตในใจนี้ก็เหมือนกัน เราต้องตั้งใจรวมจิตรวมใจเข้ามาภายใน คือให้ถือการเวลาปัจจุบันเป็นหลัก คำว่าปัจจุบันหมายถึงเดี๋ยวนี้ขณะนี้ กลางวันที่ผ่านไปมาแล้วนี้คือว่าเป็นอดีต เป็นอดีตกาลล่วงไปแล้วก็ไม่ต้องมาคิดอีก ส่วนพรุ่งนี้มะรืนนี้เป็นอนาคตกาลก็ไม่ต้องไปเป็นทุกข์เป็นร้อน ท่านให้ถือเวลานี้บัดนี้ขณะนี้คือตัวปัจจุบันธรรม เมื่อผู้ใดรู้ธรรมอันเป็นปัจจุบันธรรมแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เรียกว่าตัดขาดๆในที่นี้ๆ คำว่าที่นี้ ที่นี้ๆคือจิตใจดวงที่มีความรู้อยู่ ดวงจิตดวงใจที่มีความรู้อยู่ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ เวลานี้นั่นแหละ เรายกเอาจิตใจดวงนี้มานึกมาเจริญขึ้นมาในคุณพระพุทธเจ้า แล้วที่ท่านย่อมาจากพุทธคุณมาเป็นพุทโธคำเดียวเพื่อสะดวกสบายในการนึกการเจริญ เมื่อเรานึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พุทโธ ก็ให้ถือว่าพระธรรมก็ต้องอยู่ที่เดียวกัน พระสงฆ์ก็อยู่ที่นั่นแหละ เรานึกพุทโธคำเดียวก็ให้ใจเราแน่วแน่ไม่ให้มันไปทางไหน จะมีความปรุงแต่งอะไรเกิดขึ้นก็ละทิ้งไม่ตามมันไป เอาสิ่งที่เรานึกเราน้อมอยู่ให้ได้ทุกลมหายใจ หรือก็เหมือนกับลมหายใจเข้าไปออกมาอย่างนั้นแหละ 

การนึกการเจริญการภาวนา ไม่ให้มีความสงสัยในสิ่งที่เรานึกเราเจริญนั้น คือให้ใจของเราแน่วแน่มั่นคงลงไป พระพุทธเจ้าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไม่ใช่ว่าอยู่ๆก็มาตรัสรู้เอาเอง โดยที่ไม่ได้ทำบุญให้ทานรักษาศีลภาวนา ไม่ได้ พระองค์ทำมาหมดทุกอย่างทุกประการ ขึ้นชื่อว่าบุญ ขึ้นชื่อว่าคุณงามความดี พระองค์ไม่ได้ทอดธุระ ไม่ว่าจะเกิดในชาติใดภพใดพระองค์ก็ตั้งอยู่ในทานในศีลในภาวนา มีจิตใจแน่วแน่มั่นคงอย่างนั้น เมื่อมาปัจจุบันพระองค์ก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่งว่ากำหนดความลุ่มหลงมัวเมาของพระองค์แก้ไขเลิกละออกไป ความมายึดมั่นถือมั่นในชาติในตระกูล พระองค์ก็แก้ไขออกไป ไม่ให้มีในใจของพระองค์ จิตใจของพระองค์ชื่อว่าปล่อยวางได้ เราทุกคนจะปล่อยได้แค่ไหนเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการนึกการเจริญการพิจารณาของเรานั่นแหละ ถ้าเราทุกคนทุกดวงใจมานึกมาเจริญให้ลงสู่หลักปัจจุบันเดี๋ยวนี้เวลานี้แล้ว จิตใจทุกคนก็ย่อมสงบระงับได้ เราไม่ต้องไปสงสัยในทาน ในศีล ในภาวนาที่อื่น คือถือกาลเวลาปัจจุบันนี่แหละ ไม่ให้จิตมันหวาดระแวงต่อสิ่งใดๆ 

คำว่าศีล ศีล​ ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ไม่ให้มันแส่ส่ายไปที่อื่น ให้ถือว่าเวลานี้เราไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกามกล่าวมุสาวาทหรือกินสุราเมรัย ในหลักศีลประเภทใดก็ตามให้ถือว่าปัจจุบันที่เรานั่งภาวนาอยู่ เราไม่ได้ไปล่วงเกินศีลข้อไหน เรานั่งหลับตาภาวนานึกพุทโธๆอยู่ ก็ให้ถือว่าเดี๋ยวนี้เวลานี้ ศีลวิสุทธิ ศีลบริสุทธิ์ ก็คือเราไม่ได้ทำอะไรให้ผิดศีลผิดธรรมผิดคำสั่งสอน จิตตวิสุทธิ จิตบริสุทธิ์ จิตจะบริสุทธิ์ได้ก็อยู่ที่จิตเราสงบระงับรวมจิตรวมใจเข้ามาในหลักปัจจุบันนี้ ไม่มีความสงสัยประการใด คือเราไม่ตามไปสู่อารมณ์กิเลส ธรรมดาอาการในจิตมันหลงใหลไปตามอำนาจกิเลสความโกรธ มันก็ส่งแส่ออกไปหาเรื่องราวความโกรธนั้น จิตที่มันมีโลภะ ราคะ ตัณหา มันก็แส่ส่ายออกไป ในขณะที่เราภาวนาไม่ให้มันไป ให้อยู่ทุกลมหายใจ 

พระองค์ว่าให้นึกอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก คำว่าพุทโธก็ดีหรืออุบายใดก็ตาม ให้นึกให้เจริญได้ทุกลมเข้าออก หรือว่าหยั่งลมหายใจเข้าหายใจออกเสมอ ส่วนคนอื่นผู้อื่นเค้าจะทำไม่ทำเค้าจะละไม่ละเราไม่ต้องไปสน เอาเรื่องของตัวเองดีกว่า เพราะว่าผู้อื่นจะไปทำจิตใจของผู้อื่นให้บริสุทธิ์ย่อมไม่ได้ แม้องค์พระพุทธเจ้าของเราพระองค์ก็ทรงตรัสว่า เราตถาคตเป็นแต่ผู้ตรัสผู้ชี้แจงแสดงความจริงไว้ให้สาวกทั้งหลายเท่านั้นเอง ส่วนสาวกของเหล่าตถาคตนั้นจะต้องจดจำเอาไปประพฤติปฏิบัติทรมานสั่งสอนจิตใจของตน พร้อมด้วยกายวาจาจิต จนถึงขั้นเลิกละกิเลส ราคะ​ โทสะ โมหะได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่เราตถาคตไปละกิเลสให้ ถ้าเราฟังคำข้อนี้ให้ดี เราก็จะเข้าใจได้ทีเดียวว่า ความจริงมันต้องเป็นเรื่องของเราเท่านั้น คนอื่นจะมาทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้ พระองค์เป็นผู้ชี้แจงแสดงสิ่งใดที่เป็นบาป ท่านก็แสดงว่าบาป อย่าได้ทำเพราะว่าบาปนั้นเมื่อให้ผล มันมีแต่เรื่องเดือดร้อน อย่าไปทำอีกต่อไป แม้จะทำมาแล้วก็ตาม พูดมาแล้วก็ตาม คิดมาแล้วก็ตาม อย่าไปทำอีกเป็นอันขาด เพราะว่าบาปนั้นเมื่อมันให้ผลก็ย่อมเดือดร้อนเมื่อภายหลัง เดือดร้อนตัวเอง ไม่ใช่ไปเดือดร้อนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่ไหน เราต้องรู้ในใจของเราได้ จึงให้รวมจิตใจเข้ามาตั้งมั่นภายในใจของเราให้ได้ 

ถ้ามันเกิดสงสัยเรื่องการทำบุญให้ทานของตนเองก็ตาม ก็ให้ถือกาลเวลาปัจจุบันนี้แหละเป็นหลัก ว่าทานมีมากน้อยขนาดไหนเราก็ดูใจของเรานั่นแหละ ถ้าใจของเรามีการเสียสละในสิ่งที่เสียสละได้ เราก็เสียสละเรียกว่าทาน ทานออกไป สละออกไป แล้วมันก็เกิดเป็นบุญเป็นกุศลในใจของเรานั่นเอง มันไม่ใช่มาจากที่อื่น เมื่อเรารักษาศีลได้แล้ว ศีลที่เรารักษามันก็กลับเข้ามาสู่จิตใจของเรานั่นเอง ให้ใจนั้นแหละเป็นสุขสบาย เมื่อเราตั้งจิตตั้งใจรวมจิตรวมใจลงไปในปัจจุบันจนจิตใจสงบระงับตั้งมั่นได้ ความสงบสุขในการภาวนาทำจิตทำใจให้สงบนั้นมันก็ไม่ไปที่ไหนก็มาให้จิตใจเราผู้ภาวนาผู้รักษาศีลนั่นแหละ มีความสุขจิตสุขใจ มีความปิติยินดีในธรรมปฏิบัติ การที่เรามีชีวิตมาได้เกิดในโลกยุคนี้สมัยนี้ ยังมีพุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ อยู่ในพุทธศาสนาของพระองค์อยู่ เราก็ให้ทำความปีติยินดีว่าการเกิดมาชาตินี้เราไม่เสียที ไม่เสียทีที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา พร้อมด้วยการประพฤติปฏิบัติที่เราตั้งใจกระทำอยู่ จนกระทั่งถึงขึ้นรักษา ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ตลอดจนการฟังเทศน์ฟังธรรมปฏิบัติบูชาไม่ท้อถอย สิ่งเหล่านี้ก็คือว่าแสดงถึงว่าบุญกุศลของเรามีอยู่พอแล้ว

 ยังเหลือแต่เราจะต้องรวมจิตรวมใจให้มันเป็นหนึ่ง ไม่ให้มันกระจัดกระจาย ให้มันรวมเป็นก้อนเป็นหน่วย คือรวมจิตรวมใจเข้ามาอยู่ในกายในจิตของตัวเอง ไม่ต้องให้ใจไปพะว้าพะวงกับคนโน้นคนนี้ ดีใจก็ไม่ให้ดีใจภายนอก เสียใจก็ไม่ให้ไปเสียใจกับเรื่องภายนอก เมื่อเราตั้งจิตเจตนาในใจของเราแน่วแน่มั่นคงอยู่ในจิตในใจแล้ว สิ่งภายนอกมันก็จืดไปเอง จางไปเอง ปล่อยไปเอง วางไปเอง เพราะจิตใจมันรู้เข้าใจ ทำอะไรมันก็มีความรู้ในใจของคนเราทุกคน แต่ถ้าเราทำไม่จริง ไม่สงบระงับ มันก็ไปอีกเหลี่ยมหนึ่ง แต่ถ้าเรารวมใจเข้ามาสู่หลักปัจจุบันคือในเวลานี้เดี๋ยวนี้แล้ว ก็จะเห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัยในรูปนามกายใจของเราทีเดียวว่า อันธรรมดาร่างกายสังขารนี้จะให้มันอยู่ดีสบายจนกระทั่งว่าไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีแก่ชรา และไม่มีตายนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะธรรมดาสังขารนี้มันเอามาใช้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้นเอง ชั่วระยะที่ยังมีชีวิตอยู่ ชีวิตของคนเราในระยะกาลเดี๋ยวนี้นั้นก็ไม่นาน คืออยู่ในกรอบร้อยปี ร้อยปีก็ไม่ค่อยจะถึง อย่างขนาดหนักก็หลวงปู่แหวน ก็ได้ ๙๙ปีเท่านั้นก็อยู่ไม่ได้แล้ว พวกเราทั้งหลายเข้าใจว่ายากจะถึงขนาดนั้นได้ เพราะร่างกายสังขารก็เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บแล้วจิตใจก็มีแต่ความท้อแท้อ่อนแอ สติก็ขาดไป สมาธิก็ขาดไป ปัญญาก็ยังไม่เต็มที่ มีแต่ความท้อแท้อ่อนแอในหัวใจ มีแต่ทางจะท้อถอย อันนี้แหละมันเรียกว่าไม่แก่กล้า เราต้องทำเสมอๆให้มันแก่กล้าสามารถขึ้นมา 

ถ้าหากว่าสิ่งใดเราสู้ไม่ได้ เราก็หาทางอื่นเหลี่ยมอื่นสู้ อย่างบางคนนั่งมากก็มักจะมีความง่วงเหงาหาวนอน ก็อย่าไปนั่งมาก ให้เดินจงกรม ยืนภาวนาหาทางแก้ไขทางอื่น จนกว่าจะได้สติ สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นในจิตในใจของตน เมื่อสมาธิภาวนาเกิดขึ้นในจิตในใจของตนแล้ว ความง่วงเหงาหาวนอนมันจะหายไปเอง ความโกรธมันก็ค่อยเบาบางไปหมดไปสิ้นไปโดยลำดับ ความโลภะในจิตก็จะได้เบาไปบางไปหมดไปสิ้นไป โมหะอวิชชา โมหะท่านแปลว่าหลง อวิชชาแปลว่าไม่รู้ ผู้ไม่รู้ก็คือใจไม่ภาวนา ใจไม่หยุดใจไม่อยู่จิตใจไม่รู้ภายในใจตัวเอง แต่ไปรู้ใจของคนอื่นได้ว่าคนนั้นมีใจเป็นอย่างนั้น คนนี้มีใจเป็นอย่างนี้ อันรู้คนอื่นไม่สำคัญให้มารู้ตัวเราเอง 

กายเราเอง จิตเราเอง โดยเฉพาะคือรูปขันธ์ ร่างกายของเรานี้ มีขา ๒ แขน ๒ ศีรษะ ๑ ให้เรามารู้ที่นี่ มารู้ที่นี่ มาเห็นที่นี่ มาภาวนาที่นี่ ดูตัวของเราเองให้ทั่วถึง ว่าภายในหนังหุ้มเข้าไปมีอะไรบ้าง เราเห็นตัวเราเห็นแต่ผิวหนังภายนอก หรือเห็นคนอื่นก็เห็นแต่ผิวหนังภายนอก ภายในเราไม่เห็น เพราะเราไม่เอามานึกมาเจริญพิจารณาให้รู้ให้เข้าใจ ถ้าเรามานึกน้อมดูร่างกายสังขารของเราทุกคนแล้ว ไม่ว่าเด็กหนุ่มแก่ชรา ก็มีหนังหุ้มอยู่เป็นสุดรอบ หนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ เรายังไม่ได้ถลกหนัง ยังไม่ได้ลอกหนังตัวเราเอง ก็มักจะเห็นว่าหนังของเรายังสวยยังงามอยู่ 

แต่ถ้าหากว่าเราลอกหนัก ถลกหนังออก เหมือนชาวบ้านเวลาสัตว์ตาย เขาก็เอาหนังออก เมื่อเขาเอาปาดเอาหนังออกแล้วก็จะเห็นเนื้อ เมื่อเห็นเนื้อๆนั่นแหละ เนื้อกับผิวหนังไม่เหมือนกัน คนเราถ้าเห็นแต่ผิวหนังไม่เห็นเนื้อ ก็เท่ากันกับไม่รู้ เพราะเนื้อนั้นมันสีน้ำเลือด เลือดซึมซาบไปหมด ดูเวลาคนเรามีอะไรมาถูกต้อง มีคราดจอบเสียมกระทบเข้าหรือว่าของคมต่างๆมาโดนเข้า ที่แข้งที่ขาที่ใดก็ตาม เลือดมันจะไหลออกมา แล้วเนื้อมันก็แสดงให้ตัวเราเห็น เป็นเนื้อแดงไปไม่สวยงาม จะแต่งอย่างไรๆมันก็ไม่เปลี่ยนที่ เนื้อมันแดง เลือดมันแดง เนื้อก็เลยแดงไปหมด เวลามันหยดลงมา ไหลออกมาก็แดงไปทีเดียว นั่นแหละสีเลือดเป็นสีแดงเข้มแสดงให้เราเห็น ว่าไม่ใช่ตัวเรามองเห็นผิวหนังของเราโดยที่ไม่ได้ถลกหนังออก ถ้าถลกหนังออกแล้ว คนเราหรือว่าตัวเราเองก็ช่างเถอะ จำตัวเราเองไม่ได้เลย อันนี้จำผิวหนังต่างหาก ผิวดำ ผิวขาวอย่างไรก็จำภายนอก แต่ถ้าถลกหนังออกแล้วจำไม่ได้หละ ยังไม่ถึงกระดูกหละ แค่เอาหนังออกเท่านี้ก็จำไม่ได้แล้ว จำสีไม่ได้แล้ว สีใดหละ มันเป็นสีแดงไปหมด 

ฉะนั้นต้องกำหนดพิจารณาหาอุบายธรรมมาสอนตนให้ได้ สอนจิตสอนใจให้ได้ ท่านจึงให้ภาวนาบริกรรมบทนั้นบทนี้ เพื่อให้ใจสงบตั้งมั่น เมื่อจิตใจสงบตั้งมั่นได้ดีแล้ว จะเอาบทใดข้อใดธรรมอะไรมาพิจารณาก็แจ่มแจ้งชัดเจนได้ทั้งนั้น เพราะจิตมันหยุด จิตมันอยู่ จิตไม่ไปที่ไหน เมื่อจิตไม่ไปที่ไหนนั่นแหละ จิตใจมันก็ย่อมรู้ได้เข้าใจว่า ชาติ ความเกิดขึ้นมาแล้วมันมีการเจริญขึ้น เมื่อเจริญหมดขีดแล้ว มันก็ชำรุดทรุดโทรมแก่ชราไปตามหน้าที่ของสังขาร จิตใจของคนเราก็เป็นอยู่อย่างนี้เราต้องกำหนดรู้ให้แจ้งในใจให้เห็นตามภาวะความเป็นจริง ความเป็นจริงมันเป็นอยู่อย่างไร ความเป็นจริงนั้นท่านว่าร่างกายสังขารของเรานั้นไม่ใช่เป็นของสวยสดงดงามอย่างชาวโลกเห็น 

ร่างกายสังขารนี้ พระพุทธเจ้าพระองค์ว่าเป็นปฏิกูลคือว่าไม่สวยไม่งาม ความจริงในตัวเราก็เหมือนกับป่าช้าผีดิบ ทำไมจึงว่าเป็นป่าช้าผีดิบ เพราะว่ามนุษย์คนเรานั้นตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้วนับแต่ปู่ย่าตาทวดเราท่านทั้งหลาย เกิดมาแล้วก็ต้องมีอาหารหล่อเลี้ยงรูปร่างกาย ถ้าหากว่า ทานแต่ข้าว กินแต่ข้าวอย่างเดียวมันก็ไม่เอร็ดอร่อย มันจะต้องหาเนื้อหาปลาหาสัตว์ต่างๆมาประกอบให้เป็นอาหาร แล้วที่เรากลืนลงไปก็คือกลืนลงไปในหลุมป่าช้านั่นเอง เราไปเห็นป่าช้าที่เขาเอาคนไปเผาไปฝังว่านั้นเป็นป่าช้า แล้วการไปป่าช้าก็มักจะกลัวผี ความจริงนั้นในร่างกายเรานี่แหละป่าช้าใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าป่าช้าที่เราเห็น เค้าเอาไปฝังไปเผาคนนั้น ป่าช้าตัวเรานี้เป็นป่าช้าผีดิบ นับไม่ถ้วน ไข่มันกินเข้าไปเท่าไร ปลามันกินเข้าไปเท่าไหร่ ปูมันกินเข้าไปเท่าไร สัตว์บกสัตว์น้ำมันกินเข้าไปเท่าไร ใหญ่เท่าช้างมันก็เอามากิน ก็คือในท้องในไส้ในตัวเรานั้นมันเป็นป่าช้าช้างก็ว่าได้ ม้ามันก็กิน วัวมันก็กิน ควายมันก็กิน หมูมันก็กิน เป็ดมันก็กิน ไก่มันก็กิน ห่านมันก็กิน กินหมดทุกอย่าง จนนับไม่ถ้วน นี่หละป่าช้าผีดิบ ผียังไม่ตายแต่เป็นป่าช้าจนนับไม่ถ้วนที่มันกินลงไป 

สิ่งเหล่านี้ก็ให้เอามาคิดมาอ่านมาพิจารณาเตือนใจของตัวเอง อย่าแต่เพียงว่ามายึดว่าตัวเราของเรา ตัวข้าของข้า ตัวกูของกู ข้าเป็นนั้นข้าเป็นนี้ไม่กำหนดพิจารณา กิเลสความโกรธ ความโลภ ความหลงมันก็ลุกขึ้นมาทำให้จิตใจเราว้าวุ่นไปหมด ฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมอย่าเป็นคนจน อะไรๆก็ธรรมทั้งนั้น เกิดก็เป็นธรรม แก่ก็เป็นธรรม เจ็บก็เป็นธรรม ตายก็เป็นธรรม ตายแล้วก็เกิดมาก็เป็นธรรม ถ้าเราตั้งจิตเจตนาให้ดีแล้ว นี่แหละก้อนพระธรรม รูปนี้ก็เรียกว่ารูปธรรม จิตใจนั้นก็เป็นนามธรรม รูปธรรม นามธรรม โดยสมมุติก็ว่าเป็นตัวเราของเรา ทางวิมุตติแล้วท่านว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา เพราะว่าบอกไม่ได้ ว่าไม่ฟัง เกิดมาแล้วบอกไม่ให้แก่มันก็แก่ไป บอกไม่ให้เจ็บมันก็เจ็บได้ เวลามันจะแตกจะตายว่าอย่าไปตายเลย ข้าพเจ้ายังไม่อยากตาย มันก็ตายไปได้เหมือนคนทั้งหลายเค้าตายไปให้เราเห็น นี่แหละผู้ปฏิบัติภาวนา จงพากันกำหนดพิจารณาให้รู้ให้เข้าใจภายในจิตใจของเราอีกส่วนหนึ่ง ดังแสดงมาก็สมควรด้วยกาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้