Skip to content

จิตผู้รู้

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ณ บัดนี้ ถึงเวลานั่งสมาธิภาวนาให้พากันตั้งใจนั่งขัดสมาธิทุกๆคน การนั่งสมาธินี้ให้เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือข้างขวาทับมือข้างซ้าย ตั้งตัวตั้งกายให้เที่ยงตรง หลับตานึกภาวนา เอาพุทธคุณเป็นอารมณ์คือพุทโธ พุทโธคำเดียวก็ให้ถือว่า​ธัมโม สังโฆ รวมอยู่ในพุทโธนั้น ธรรม ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ให้รวมลงไปที่พุทโธนั้น ถ้าไม่มีพุทโธ ไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในโลกเป็นองค์พุทโธ อะไรๆทั้งหมดกิจกรรมในทางพุทธศาสนาก็ไม่มีทั้งนั้น นี่ที่มีทุกสิ่งทุกอย่างก็มาจากพุทโธ พุทโธแปลว่าพระพุทธเจ้า แปลว่าผู้เบิกบาน แปลว่าดีทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญมา สิ่งที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทั้งหมดก็คือว่า บารมี ๓๐ ทัศน์ บารมี ๑๐ ประการนั่นแหละ แม้เราตั้งใจนึกบริกรรมภาวนาพุทโธ ก็จัดเข้าในบารมี ๓๐ ทัศน์ บารมี ๑๐ นั่นเอง เมตตาภาวนา เราตั้งจิตเจตนาภาวนาอยู่ ก็คือในบารมีนั่นแหละ อะไรทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อรวมเข้ามาแล้ว มันก็อยู่ที่พุทโธ 

พระพุทธเจ้า พุทโธ พุทธะก็หมายถึงจิตใจของมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย คือคนๆหนึ่ง สัตว์ตัวหนึ่ง ก็มีพุทธะอยู่ในตัว มีพุทธะคือจิตผู้รู้อยู่ในตัวในใจ คนเราถ้าไม่มีจิต ร่างกายนี้จะอยู่เป็นอย่างนี้ไม่ได้ สรีระร่างกายจะตั้งอยู่ได้ก็ต้องอาศัยจิตผู้รู้ จิตพุทโธอยู่ภายใน ถ้าจิตนี้ออกจากร่างนี้ไป อะไรๆก็เสียหมด ใช้ไม่ได้ ลมหายใจเข้าออกก็ไม่ได้ ร่างกายสังขารที่จะเป็นอยู่ต่อไป มีชีวิตสืบเนื่องไปก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าขาดองค์พุทธะ จิตผู้รู้อยู่ในตัวในใจ พุทโธ พุทธะนี้จึงเกี่ยวโยงทั้งหมด ถ้าเราไม่ได้ภาวนา แต่ว่าพุทโธ พระพุทธเจ้าโน้น ครั้นไปเห็นว่าพระพุทธเจ้าโน้นท่านดับขันธ์เข้าสู่นฤพานไปแล้ว เราผู้อยู่ภายหลังก็ไม่ตั้งใจภาวนาอีก เพราะว่าพระพุทธเจ้าเอามรรคผลนิพพานขนไปหมด ไม่เหลือไว้ให้พวกเราทั้งหลาย ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น พระธรรม พระวินัย พระวินัยก็คือว่าข้อห้าม หลักศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ห้ามไม่ให้คนทำชั่ว ไม่ให้ประพฤติเหลวไหล เรียกว่าข้อห้าม ข้อห้ามนี้เรียกว่าพระวินัย พระวินัยข้อห้ามเหล่านี้ก็จำเป็นทุกคนจะต้องมี จะต้องรักษา ถ้าไม่มีการรักษา อยากทำอะไรก็ทำไป อยากพูดอะไรก็พูดไป อยากคิดอะไรก็คิดเรื่อยเปื่อยไป ไม่ตั้งใจภาวนา ก็เลยทุกสิ่งทุกอย่างก็เลยหละหลวม ท้อถอยไปหมด จิตก็ฟุ้งซ่านรำคาญ ความประพฤติการกระทำของตัวเองก็เลอะเทอะไปหมด 

นี่แหละจึงว่ามันเกี่ยวโยงถึงกันหมด อะไรทุกอย่าง เหมือนกับว่าร่างกายสังขารของคนเรานี้ ว่าเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย มันก็หมายถึงไม่สบายทั่วไปหมด ทั้งกายด้วยทั้งจิตด้วย ถ้าว่าคนนั้นอยู่ดีสบาย ความเจ็บไข้ได้ป่วยยังไม่บังเกิดดีขึ้น ก็หมายถึงบุคคลผู้นั้นมันสบายหมดทุกอย่าง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง มันก็สบายไปหมด ถ้าหากว่าพุงแตกข้างในหละ ตาย! มันต้องดีทุกอย่าง จึงมีคำว่า “สบายดี” ถ้าอันใดอันหนึ่งมันไม่สบาย มันเสีย มันเสียไปหมด จึงต้องคิดให้เห็น ภาวนาให้รู้ว่าดีก็ดีทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าไม่ดีทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ก็ไม่จัดว่าดี ไม่จัดว่าดีหนึ่ง มันดีสาม ดีสี่ไป ดีหนึ่งก็คือว่าคนใจดี ใจเมตตาภาวนา ใจไม่มีโมโหโทโส แม้คำพูดจะไปอย่างไรก็ตาม ถ้าใจดีก็ใช้ได้ ความประพฤติการกระทำมันจะผิดพลาดไปบ้าง ถ้าใจดีก็ใช้การได้ คำว่าใจดีนั่นแหละ มันจะดีออกไปได้ทุกอย่างทุกประการ เพราะว่ามันสำคัญอยู่ที่ใจ 

คนเราทุกคนนั้นอยู่ที่ใจ ฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิตท่านตรัสไว้ว่า อะไรๆมันก็ขึ้นกับใจ ขึ้นกับจิตกับใจทั้งนั้น ถ้าหากว่าใจไม่ดีหละ อะไรก็เสียหมด ถ้าลองร่างกายจะดีขนาดไหน มีอาการ ๓๒ ครบถ้วน แต่ว่าถ้าใจเสีย ใจเป็นบ้า ใจเสียจริตผิดมนุษย์ เอาหละทีนี้ กายจะดีเท่าไรก็ใจเสียแล้ว ใจเป็นใบ้เป็นบ้า ไม่รู้ว่าอะไรต่อเป็นมิอะไร ถ้าใครเกิดเป็นคนใบ้บ้า เสียจริตผิดมนุษย์แล้ว ก็เรียกว่าเสียไปหมด จึงสำคัญอยู่ที่ดวงใจ ทีนี้ใจจะสำคัญ จะดีก็ต้องเป็นใจของผู้ตั้งจิตเจตนาบำเพ็ญภาวนาให้ใจดี เมื่อทำดีได้ ประกอบการกุศลได้ทุกอย่างทุกประการ ท่านก็ว่าคนเรานั้นมันสำคัญที่ใจ เรียกว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นใหญ่ในโลกมนุษย์ก็ว่าได้ ใจเป็นใหญ่ในรูปในตัวนี้ก็ได้ เมื่อใจนี้หละเป็นใหญ่ เป็นประธาน ใจเป็นใหญ่เป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยดวงใจ ถ้าใจไม่ตั้ง ใจไม่เอาถ่าน ใจไม่ภาวนา ใจขี้เกียจ ใจมักง่าย ใจโลเล ไม่มีหลัก ไม่มีฐาน เอาหละทีนี้มันก็เสียไปหมด ท่านจึงตรัสว่าภาวนาให้ดี ทำใจให้ดี เพราะอะไร ก็เพราะใจมันเป็นใหญ่ เป็นประธาน ทำอะไรจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ก็เพราะใจเป็นใหญ่ เป็นประธาน 

พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอรหันตาเจ้า พระโสดาฯ พระสกิทาคา อนาคา ทั้งคฤหัสถ์และญาติโยม ภิกษุสามเณร ผ้าขาว นางชี จะดีได้ก็อยู่ที่ใจ ใจนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆมันดีเอง ไม่ได้ ต้องมีตัวเอง เจ้าของใจนั่นแหละ คือจิตใจของเรานั่นเอง สติ สมาธิ ปัญญา ในตัวในใจนั่นแหละ ควบคุมรักษา ละชั่ว บำเพ็ญดี ที่ให้ภาวนาพุทโธๆ รวมใจให้สงบตั้งมั่นก็คือว่า ให้ละความชั่ว ความไม่ดี ออกไปให้มันหมด มันสิ้น มันใส แล้วใจก็จะตั้งมั่นในข้อวัตรปฏิบัติ เป็นใจที่ซื่อตรงต่อศีล สมาธิ ปัญญาในทางพุทธศาสนา ไม่เป็นใจคดในข้อ งอในกระดูก ใจคดในข้องอในกระดูกนั้นคือว่า ใจไม่ตรงในทาน ใจไม่ตรงในหลักศีล ๕ ศีล ๘ ใจไม่ตรงในไหว้พระสวดมนต์ภาวนา ใจขี้เกียจขี้คร้าน ท้อถอย ท่องบ่นสาธยายพระธรรมคำสอนไม่ได้ แต่คิดฟุ้งซ่านรำคาญไปตามอำนาจกิเลสราคะ โทสะ โมหะได้ ตลอดคืนก็ได้ ตลอดวันก็ได้ นี่แหละคือมันคดในข้อ คดในข้อ งอในกระดูก ไม่ใช่กระดูกร่างกายมันงอ ใจมันงอ ใจงอแง ใจไม่ตั้งมั่น ใจไม่เอาจริง ใจมันคด ไม่ซื่อตรง ไม่เป็นสุปฏิปัณโณ ไม่เป็นอุชุปฏิปัณโณ ไม่เป็นญายะปฏิปัณโณ เมื่อใจมันคดมันงอแล้ว ในใจในตัวของบุคคลผู้นั้น มันเกิดเป็นใจดำขึ้นมา ใจดำบ้าง ใจด่างบ้าง ใจเขียว ใจขาว ใจอะไรมันมีทุกอย่างนั่นแหละ คือว่าเวลาจะทำดี เวลาจะภาวนา มันมีข้ออ้อแอ้แก้ตัวอยู่เสมอ นั่นแหละเพิ่นว่าใจมันไม่ตั้ง ใจมันไม่ดี ใจมันด่าง ใจมันสกปรก คือทำดี ภาวนาให้ใจดีไม่ได้ แต่คิดชั่วเหลวไหล คิดได้ทำได้ นี่แหละเรียกว่าใจไม่ดี เราต้องละทิ้ง เอาใจดี 

ใจดีเป็นใจอย่างไร ใจดีก็ใจพระพุทธเจ้า ใจพระปัจเจกพระพุทธเจ้า เพิ่นไม่โกรธให้ใคร เพิ่นไม่โลภอยากได้ของใคร สมบัติของใคร ท่านก็เห็นว่าเป็นสมบัติของแต่ละบุคคล ไม่ล่วงเกินใคร ท่านมีเมตตา เมื่อใครมีความสุขกายสบายใจ ในทางที่ดี ท่านก็ส่งเสริม แต่ว่าเมื่อบุคคลใดทำบาปอกุศลไม่ดี ท่านก็ตักเตือนว่าอย่าได้ทำบาป เพราะว่าบาปนั้นเมื่อทำไปแล้วมันเดือนร้อน เดือดร้อนตั้งแต่เวลาทำ จึงให้ชื่อว่าเดือดร้อนภายหลัง ใจบาปใจอกุศล ใจไม่ละความโกรธ ความโลภ ความหลง นี่ว่าเพิ่นว่าใจบาป ทำบาป คิดบาป ถ้ามันได้โกรธให้ใคร ใจอันนั้นมันโกรธ ใจดำอยู่นั่นแหละ เพิ่นยังไม่ถึงเวลาตาย ก็อยากให้เพิ่นตาย เมื่อไรมันจะตายเสียที เราจะได้สบาย มันจะสบายอย่างไร ก็เขาตายทางโลกอยู่ ยังเหลือเราอยู่มันก็ยังเห็นว่าสบายอย่างไร สบายมันต้องละความโกรธ ละความอิจฉาพยาบาท ความอาฆาตจองเวรแก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย 

เมื่อภาวนาเห็นแล้วก็รีบละ อย่าไปรอว่าพระศรีอาริย์มาจึงจะละ อย่างนี้ไม่ทัน พระไหนก็ละได้ เมื่อเราเห็นความชั่ว ความไม่ดีของตัวแล้ว ก็รีบละ สร้างคุณงามความดีให้มันเกิดขึ้นที่กาย วาจา จิตของเรา ใจโกรธให้ละ ใจพระให้เจริญ เจริญภาวนาพุทโธๆในใจ อย่าให้มันหลงลืม มันกระทบอารมณ์ใดๆก็ตาม พุทโธในใจไม่ให้ไหวหวั่น พุทโธ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าหมายถึงผู้ห้ามทัพ ห้ามกิเลส ห้ามกิเลสแล้วก็ตัดกิเลส ฆ่ากิเลสด้วย ใจพระพุทธเจ้าฆ่ากิเลสให้ตาย คายกิเลสให้ออก ทำลายรากฐานกิเลสราคะโทสะโมหะจนหมดสิ้น จนอยู่ไม่ได้ในกาย วาจา จิตของพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านฆ่าทิ้ง คือท่านละทิ้ง ท่านประหารทิ้ง ท่านไม่ต่อเติมส่งเสริม เมื่อไม่ต่อเติม ไม่ส่งเสริม มันก็อยู่ไม่ได้ ก็งอกงามขึ้นมาไม่ได้ มันก็รอวันตาย ผลที่สุดก็ตาย กิเลสมันตาย ไม่ใช่ร่างกายมันตาย ร่างกายมันตายนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่กิเลสมันตาย กิเลสความโกรธในใจเนี่ย ให้มันตายไป ภาวนาให้มันตายไป มันจะไปที่ไหนช่างหัวมัน ภาวนาพุทโธให้กิเลสความโกรธมันตาย มันหมดไป ให้ใจมันใสสะอาด 

เมื่อใจใส ใจตั้งมั่น ใจเย็น ใจสบาย ใจเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว มันมองเห็นได้หมดหละ อะไรดีอะไรชั่ว อะไรผิดอะไรถูก มันเห็นในจิตนะ เพราะมันใส ดูเวลาเราดูกระจกเงา ดูแว่น ดูกระจกเงา เมื่อเช็ดให้ดีแล้วมันใส ใสก็มองเห็นหน้าเห็นตา เห็นเปื้อนเปรอะเลอะเทอะ ที่นี้ถ้ามันไม่ใส มองก็ไม่เห็น หรือว่าน้ำที่เราตักมา น้ำใสดีอ้ะ ถ้าเรามอง มันไม่สั่นสะเทือน น้ำธรรมดามันก็เป็นกระจกเงา เป็นแว่นส่องดูเงาหน้าได้ มันไม่สั่นสะเทือน เหมือนสมาธิภาวนาของผู้ภาวนา รวมจิตใจสงบ เลิกละภายนอกออกไป จิตมันก็แน่วแน่มั่นคง ไม่หลงใหล เมื่อจิตไม่หลงใหล มันก็ใส ใสก็ว่า สะอาดก็ว่า ผ่องใสก็ว่า อันนั้นมันเป็นภาษา ส่วนจิตผ่องใส จิตสะอาด จิตสบาย จิตเป็นดวงหนึ่งดวงเดียวนั้น อะไรผ่านมา มันก็รู้หละ ดีมามันก็รู้ ชั่วมามันก็เห็น ผิดมันก็รู็ ผิดแล้วมันเป็นอย่างไร ทำบาปแล้ว บาปมันอยู่ที่ไหนท่านก็มองเห็น ทำแล้วมันก็ตามให้ผล บาปนั้นมันมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า ถ้าใครทำแล้วมันก็เดือดร้อน บุญก็มีเต็มโลก ไม่ใช่ว่าบุญอยู่ตรงนั้นตรงนี้ 

เมื่อเราตั้งจิตเจตนาให้เป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ที่ไหนก็เป็นบุญ ทำทานที่ไหนก็เป็นบุญ รักษาศีลที่ไหนก็เป็นบุญ นั่งกรรมฐานภาวนาที่ไหนก็เป็นบุญ มันบุญอยู่ที่จิต บุญอยู่ที่ใจ บุญอยู่ที่ตัว บุญมันมีอยู่ทั่วไป ถ้าเราทำเมื่อไรมันก็เกิดเป็นผลบุญขึ้นมา แต่ว่าผลบุญนั้นมันละเอียดหน่อย ปัญญาไม่ถึงก็มองไม่เห็น ไม่เหมือนบาป บาปมันหยาบช้าทารุณ เมื่อทำแล้วมันก็สนองเลย ให้ปรากฏการณ์เป็นทุกข์เป็นร้อน จนเจ้าตัวบ่นเพ้อรำไรเลยทีเดียวว่า กรรมอย่างนี้ บาปอย่างนี้ ความทุกข์อย่างนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเลย ทำไมหนอข้าพเจ้าจึงได้รับ นั่น สิ่งใดที่ตัวเองได้รับนั้นให้เข้าใจเสียเถิดว่า เราได้ทำได้พูดได้คิดมาแล้ว แต่ว่าคนเรามันไม่รับรู้ในสิ่งที่ไม่ดี ถ้าดีแล้วเรามักจะชอบอันมันดีนั้น อันมันชั่วเป็นทุกข์ไม่บอก เราทำบาป ไม่เห็นคนใดว่าข้าพเจ้าทำบาปอย่างนั้นอย่างนี้ ไปบอกคนอื่น ไม่มี ปิดบังไว้ ไม่ให้ใครเห็น ให้คนอื่นรู้เห็น แต่ถ้าสิ่งที่ดี ถ้าเขาไม่รู้ก็มักจะยกยอตัวเอง เป็นธรรมดาของใจหลง ก็เพิ่นเป็นอย่างนั้น ให้รู้ไว้ให้เข้าใจไว้ 

บาปก็ตาม บุญก็ตาม มันมีเหตุมีปัจจัยด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่มันเลื่อนลอยมา โดยไม่มีเหตุมีปัจจัย มันมีทั้งนั้น ทำไมคนเราจึงตาบอด บางคน ทำไมจึงเป็นคนหูหนวก ทำไมจึงเป็นคนปากแหว่ง ทำไมจึงเป็นคนขี้ร้ายขี้เหล่ ทำไมจึงเป็นคนดำ ทำไมจึงเป็นคนขาว มันมีเหตุมีปัจจัยทั้งนั้น มันมาจากผลกรรม อันบุคคลนั้นทำมา เมื่อเราใจคิดบาปโกรธให้คนอื่น ให้ตาเค้าบอด กี่ภพกี่ชาติมาแล้วก็ตาม ผลกรรมอันนั้นมาถึงเข้า ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดวัยใด มันก็ได้รับผล อย่าว่าแต่คนเราธรรมดา แม้พระอรหันตา สมัยก่อนโน้นเพิ่นมีพระจักขุบาล คือว่าแต่ก่อนยังไม่ได้บวชนั้น หลายภพหลายชาติมาแล้ว เป็นหมอยา เป็นหมอยาตา ยาทุกอย่างนั้นแหละ แต่ว่าบังเอิญมันมีเหตุเกิดขึ้น คนที่หมอยาไปยาหายแล้วมันไม่ให้สตางค์ มันไม่ให้สตางค์ก็เฉยไว้ คราวหน้ามันก็เจ็บขึ้นมาอีก มันหายเป็นคราวๆ ทีนี้ก็เอายาตาบอดใส่ให้หละ ตาเขาก็แตก เป็นคนตาบอดไป ผลกรรมอันนั้นแหละ เมื่อท่านจักขุบาลภาวนา ไม่หลับไม่นอน บันดลบันดาลให้เป็นไป จนตาแตก ตาเมินดูโลกนี่แหละมันแตก พอแตกก็พร้อมกับตาแตก การภาวนาท่านก็ปล่อยวางได้ เป็นพระอรหันตาขีณาสพ กิเลสราคะโทสะไม่มีแล้ว รูปนี้แตกดับเมื่อไรก็เข้านิพพาน แต่ว่าเสวยกรรมตาบอดไปก่อน เพราะว่าทำตาคนอื่นให้บอดด้วยความโกรธความไม่พอใจ นี่แหละมันมีเหตุมีปัจจัยทุกอย่าง 

แต่คนเรามันไม่ได้คิด ไม่ได้นึก เมื่อตัวเองไม่พอใจแล้วก็ว่า กรรมอย่างนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ทำ ไม่ได้ทำชาตินี้ ชาติก่อนทำ ชาติก่อนไม่ได้ทำ ชาติก่อนๆโน้นมันก็ได้ทำเพราะมันเกิดมันตายมาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายนั้น ท่านระลึกได้ในกรรมที่ตนกระทำ เมื่อกรรมชั่วมาถึงตัวท่านก็ยอมรับ ไม่ปฏิเสธ ส่วนกรรมดีให้ผลท่านก็รู้ แม้องค์พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่คนเคารพนับถือ ทำบุญให้ทานอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านตามระลึกได้ว่า ผลกรรมที่ทำเมื่อไรเวลาไหนได้รับนี้ท่านก็รู้ อะไรที่เป็นทุกข์เป็นร้อนท่านก็รู้ มันมาจากเหตุปัจจัยทั้งนั้น การภาวนาทำใจของเราให้สงบระงับตั้งมั่นในธรรมปฏิบัตินี่แหละ เราต้องทำเหตุทำปัจจัยอันนี้ให้เพียงพอ อย่าไปมักง่าย ให้เจริญให้มาก ภาวนาให้มาก ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำดีได้ และอย่าไปรอให้ ผู้ยังเด็กอย่าไปรอว่าให้แก่เสียก่อนจึงทำ อันนั้นก็ไม่ถูก การปฏิบัติภาวนา ทำคุณงามความดีนั้น เมื่อมันมีช่องว่างที่เราจะต้องประกอบกระทำน่ะ ให้รีบทำ 

ดูพุทธสาวกในครั้งพุทธกาล ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย ไม่ว่านักบวช นักบ้าน เมื่อท่านเกิดศรัทธาความเลื่อมใสขึ้นมาแล้ว คิดดูว่าเด็กๆอายุเจ็ดขวบ พ่อแม่พาไปฟังเทศน์ฟังธรรม เพิ่นก็ภาวนาทำความเพียรละกิเลสได้ เหมือนคนใหญ่ ละกิเลสได้แต่อายุเจ็ดขวบ เป็นพระโสดาก็มี เป็นพระสกิทาคา เป็นพระอนาคา ทั้งๆที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์ เป็นถึงพระอรหันต์ บวชหรือไม่บวชไม่สำคัญ มันอยู่ที่ใจท่านเลิกได้ ท่านละได้ต่างหาก เจ็ดขวบก็ละกิเลสได้ เพราะท่านตั้งใจทำ ตั้งใจภาวนาจริงๆ ทีนี้ที่เราไม่ได้ไม่ถึง เป็นไปไม่ได้ คือว่าไม่ตั้งใจ ไม่ภาวนา อย่างคนไปมาหาสู่มาฟังเทศน์ฟังธรรมก็มักจะถามว่า หลวงพ่อหลวงปู่หลวงตาท่านจะแนะนำให้ใจของผมสบาย ใจสงบ ให้ผมละกิเลสราคะโทสะโมหะได้ มันว่าเอาอย่างนั้น ท่านก็บอกว่าต้องภาวนา ต้องทำดีสิ มันจะดีได้ ไม่ใช่คนอื่นทำให้ มันก็ไม่ฟัง มันจะเอาแต่ง่ายอย่างเดียว เอาง่ายว่า ขอให้ได้ง่ายๆก็พอแล้ว ทีนี้การฟังเทศน์ฟังธรรมฟังคำสั่งสอน ไม่ภาวนาพุทโธในใจ ก็มักจะไปฟังเอาว่า ท่านองค์นั้นองค์นี้ในสมัยครั้งก่อนนั้น พอฟังธรรมก็ได้สำเร็จไปนิพพานเลย ลอยฟ้าไปเลย เอาหละ อยากได้อย่างนั้น นั่งหลับตาภาวนาเป็นทุกข์เป็นร้อนไม่เอา ข้าจะเอาอย่างง่าย เวลาทำมันไม่ใช่ของง่าย มันต้องทำ 

ปฏิบัติภาวนาอย่าได้มีความท้อถอย พุทโธในใจ เรียกว่าหยั่งไว้ ยึดไว้ในใจ มันจะโกรธ มันก็โกรธไม่ได้ มันคาพุทโธ มันจะโลภ อยากได้นั่นได้นี่ มันก็โลภไม่ได้ มันคาพุทโธ เรานึกพุทโธอยู่ คำว่าพุทโธมันหมายไปได้ทุกอย่างทุกประการ เมื่อมีพระพุทธเจ้าเตือนอยู่ เรานึกถึงท่านอยู่ พระพุทธเจ้าก็มาบอกมาสอน เรียกว่าพระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้านั่นแหละมันมาตักมาเตือน ในพุทธศาสนาเพิ่นยังมีว่าสามพระพุทธ ก็หมายถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมก็หมายถึงพระธรรมวินัย สัตถุศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านเอามาชี้แจงแสดง หรือท่านจะไปสู่นิพพานแล้ว พระธรรมนั่นก็มีอยู่ มีอยู่ในโลกเนี่ยแหละ หรือว่าศาสนามันเสื่อมไปแล้วก็ตาม พระธรรมนั่นก็มีอยู่ในโลกแต่ว่าคนไม่มีปัญญาเอามาใช้การ เอามาสั่งสอน เอามาละกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ของตนไม่ได้ แต่มันมีอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้ามาตรัสมาชี้แจงมาแสดงเป็นหมวดเป็นหมู่ไว้แล้ว เอามาฝึกฝนอบรมตัวเอง จิตใจตัวเอง มันก็ได้ผลง่ายขึ้น 

ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูที่ชีวิตของคนในโลกสมัยนี้ อย่างวิชาความรู้ที่เอาเหล็กเอาหลาเอาโลหะมาประดิษฐ์ประดอยเป็นรถยนต์ก็พาวิ่งไปได้ กี่ร้อยกี่พันไมล์ก็ไปได้ เอาเหล็กเอาหลาเอาน้ำมูกน้ำมันมาทำเป็นเครื่องบิน ลอยฟ้า บินไปในอากาศได้ วิชาเหล่านี้มันก็มีอยู่ แต่ว่าสมัยใดคนโง่เขลาเบาปัญญา (เทปขาดตอน) แสดงมาแก้มาไขให้มันเกิดประโยชน์มันก็ไม่ได้ แต่มนุษย์สมัยนี้เขามีการศึกษา จนมีความรู้ความศึกษาดี เรียนต่อกันมา ก็รู้จักเข้าใจ อย่างว่าเอาไฟฟ้ามาใช้ มันก็ใช้ได้ มันมีวิชาความรู้ เมื่อไฟฟ้าไม่มี มันก็มีอยู่ในโลกนี่หละ ไฟฟ้าน่ะ แต่ว่าคนฉลาด คนรู้ คนเข้าใจไม่มี ก็เลยเอาขึ้นมาใช้ไม่ได้ ถ้าคนฉลาด คนมีปัญญา คนมีอัฐมีสตางค์ เอามาขึ้นภูเขามันก็ขึ้น เอามาในถ้ำมันก็มีไฟ ไฟฟ้ามันก็ใช้ได้ 

นี่แหละพระธรรมวินัย สัตถุศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีอยู่ แต่ว่าถ้าไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสมาชี้แจงแสดงคือว่าเสียก่อน มันเอามาใช้ไม่ถูก เหมือนทรัพยากรในโลกนั่นแหละ เมื่อคนไม่ฉลาดเกิดขึ้นมา มันมีอยู่แต่ไม่รู้จะเอามาใช้อย่างไร ถ้าคนเฉลียวฉลาด คนศึกษาดีมีทรัพย์สินเงินทอง มีอุปกรณ์ต่างๆครบครันทั้งคนทั้งวัตถุ มันก็เอามาใช้ได้ ในสิ่งสมัยโบราณไม่ได้ไม่มี สมัยนี้เค้าก็ทำให้เกิดให้มีขึ้นมาได้ เพราะคนมีปัญญา การภาวนาเพื่อทำความเพียรละกิเลส แม้จะภาวนาพุทโธๆก็ตาม เอาจริงๆมันก็ได้ทั้งนั้น อะไรมันจะเป็นพุทธะ พุทโธได้ มันขึ้นอยู่ที่ว่าใจเอาจริง เมื่อใจเอาจริงแล้วได้หมด ถ้าใจไม่เอาจริงหละอะไรก็ไม่ได้ ถ้าใจถอยหละ ถอยหมด 

ท่านจึงว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน จะสำเร็จลุล่วง งานต่างๆจะลุล่วงไปได้ก็ด้วยกำลังใจ ร่างกายสังขารอันนี้มันเป็นเพียงเครื่องใช้ไม้สอยของบุคคลของจิตใจนั้น ใจมันเป็นใหญ่เป็นประธาน สำเร็จแล้วในดวงใจ จิตใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว เหมือนสมัยราชาธิปไตย พระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะฆ่าให้ตายก็ได้ เพราะท่านเป็นใหญ่ บอกราษฎรให้ทำให้อะไรได้หมด เหมือนกายกับใจของเราทุกคน มันครองอยู่ในตัวของเรานี่แหละ แต่ว่าถ้าใจไม่ตั้ง ใจไม่ดี ใจเสีย ก็เลยพาตัวพากายให้เสียไป จึงเกิดมาเป็นคนใบ้บ้าง เป็นคนบ้าบ้าง เสียจริตผิดมนุษย์บ้าง ใจไม่ตั้ง ใจเลื่อนลอย ใจฟุ้งซ่านรำคาญ ใจไม่ดี เมื่อใจไม่ดี ก็คือว่าใจไม่เป็นแก่นเป็นสาร ศีล สมาธิ ภาวนา มันไม่มีในใจ ใจมันเสีย ใจเน่า เหมือนไม้เป็นเน่า ไม้ที่เป็นเน่าเป็นโพรงน่ะ เอามาทำบ้านทำเรือนอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม้ไม่มีแก่น จิตใจของเราที่ให้ภาวนาพุทโธ หรือภาวนาอะไรให้ใจมันเป็นแก่น แก่นศีล แก่นธรรม แก่นคำสั่งสอนให้มันอยู่ในใจ ไม่ให้เป็นใจเหลวไหลใช้การไม่ได้ ให้ใจดี ใจดีก็คือว่าศีล สมาธิ ภาวนานั่นเอง ใจดีก็คือทาน ศีล ภาวนานั่นแหละ ผลที่สุดมรรคผลนิพพานมันก็ไปถึงได้ รู้ได้ เข้าใจ เพราะว่าใจดี เพราะว่าใจมีความพาก ใจมีความเพียร ใจมีความหมั่น ความขยัน ใจมีความอดความทน หนักก็เอาเบาก็สู้ ตั้งใจประกอบกระทำอยู่เสมอ ไม่ใช่จะเอาแต่ความสะดวกสบาย ไม่ตั้งใจให้แน่วแน่มั่นคงย่อมไม่ได้ 

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าของเราในวันเวลาที่พระองค์จะเอาชนะกิเลสในจิตใจของท่าน ท่านจึงมีการตั้งสัจจ์อธิษฐานใจลงไป ว่าแม้เลือดเนื้อเชื้อไข มันจะเหือดแห้งไป มันจะตายก็ช่างมัน ใจพระองค์ไม่หวั่นไหว ตั้งใจกำหนดภาวนาอานาปา ลมหายใจ จนจิตใจสงบตั้งมั่น จึงได้ปัญญาวิชาความรู้แจ้งในรูป แจ้งในนาม แจ้งในกาย ในจิต เห็นแจ้งในหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งรูปนามกายใจทั้งโลกภายนอกด้วย ทั้งคนทั้งสัตว์ ทั้งวัตถุธาตุทั้งหลาย ทั้งท้องฟ้าดินฟ้าอากาศอะไรๆพระองค์ก็แจ้งหมด รู้ได้เข้าใจหมด จึงเลิกได้ จึงละได้ จึงตรัสรู้ได้ ตัดขาดแล้วก็รู้ เรียกว่าตรัสรู้ ตัดแล้วก็รู้แจ้งแทงตลอด ตัดไม่ขาด ตัดไม่ขาดละไม่ออก มันก็ไม่แจ้งใจ ท่านว่าอย่างใด ก็ฟังไป เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่ภาวนาให้รู้ตามเห็นใจ ท่านว่าดีก็ดี ท่านว่าชั่วก็ชั่ว ท่านว่า เมื่อกิเลสความโกรธโลภหลงมันเกิดขึ้น เราก็ไปตามมัน ไม่ได้ ต้องให้มันแจ้งอยู่ในจิตในใจว่าอะไรมันผิด ผิดแล้วก็ไม่ต้องทำ ละทิ้ง บาปเมื่อรู้เข้าใจหละ ไม่คิดทำอีกต่อไป ไม่พูดอีกต่อไป ไม่ทำอีกต่อไป บาปนั้นก็ไม่เกิดขึ้น คนไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นบาป อะไรเป็นบุญ ทำสุ่มๆไปอย่างนั้นแหละ ครั้นให้นั่งสมาธิภาวนาแล้วก็ฟุ้งซ่านรำคาญ ง่วงเหงาหาวนอน ท้อแท้อ่อนแอ กลัวตาย มันเป็นเสียอย่างนี้ 

ดังนั้นให้พากันลุกขึ้น ตื่นขึ้น อย่าให้จิตใจท้อแท้อ่อนแอ จงเตือนใจของตัวเองอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่อ่อนแอท้อแท้เหมือนเรา ท่านทำบุญให้ทานเต็มที่ จิตใจของท่านก็สามารถอาจหาญ ท่านรักษาศีลของท่านให้บริสุทธิ์ จิตใจของท่านก็สามารถอาจหาญ ท่านทำสมาธิภายในจิตใจของท่านมั่นคงหนักแน่น จิตใจของท่านก็สามารถอาจหาญ จนถึงขั้นตัดกิเลสความโกรธออกจากใจ ตัดกิเลสความโลภออกจากใจ ตัดกิเลสความหลงออกจากใจ ได้เด็ดขาดแล้วก็ยังสอนผู้อื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่น ผู้อื่นได้ นั่นแหละคือว่าน้ำพระทัยใจพระพุทธเจ้า พุทโธ เป็นผู้สามารถอาจหาญ เราก็ให้ตั้งใจลงไป อย่าเข้าใจว่าเป็นแต่พระพุทธเจ้า ตัวเราเองก็เอาชนะใจของเราเอง พระพุทธเจ้าท่านก็เอาใจชนะใจกิเลสของท่านเอง เราทุกคนก็เอาชนะกิเลสความโกรธ ความโลภ ความหลงของใจตัวเองให้ได้ทุกคน ก็ย่อมได้ชัยชนะทั้งนั้น 

เหตุนั้นผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ในทางพระพุทธศาสนานี้ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดมันขึ้นกับความตั้งใจของผู้ปฏิบัติ เมื่อผู้นั้นตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ประกอบแต่สิ่งที่เป็นบุญกุศล ละบาปบำเพ็ญบุญอยู่ในตนทุกวันเวลา ก็จะมีแต่ความสุขกายสบายใจ ฉะนั้นเมื่อว่าเราท่านทั้งหลายพากันได้สดับรับฟังแล้ว เข้าใจแจ่มแจ้งในใจของตนอย่างใด จงนำไปประพฤติให้ดี ปฏิบัติให้ชอบ ประกอบในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ก็จะได้ความรู้ความฉลาดความสามารถอาจหาญ ดังแสดงมาก็สมควรด้วยกาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้