Skip to content

ความมหัศจรรย์ของลมหายใจ

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

| PDF | YouTube | AnyFlip |

ณ บัดนี้ถึงเวลานั่งสมาธิภาวนา การนั่งสมาธิภาวนานี้จงระลึกถึงพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ในวันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้พระองค์นั่งสมาธิภาวนาใต้ต้นไม้โพธิ์เราทุกคนที่นั่งสมาธินี้ก็ให้ระลึกถึงพระองค์เพื่อใจของเราจะได้มีกำลังตั้งมั่นในธรรมะปฏิบัติ อันการนั่งนี้เป็นการแสดงออก เป็นเพียงระเบียบหนึ่งเท่านั้น ระเบียบทางรูปร่างกาย ท่านให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือข้างขวาทับมือข้างซ้าย ตั้งกายให้เที่ยงตรง หลับตานึกภาวนาพุทโธ อันนี้เป็นเพียงระเบียบ 

จุดมุ่งหมายของพระพุทธเจ้านั้น มุ่งหมายเพื่อให้จิตใจของแต่ละคนมีความสงบตั้งมั่นมุ่งมั่นเพื่อจะทำความเพียรละกิเลส คำว่ากิเลส กิเลสความโกรธ ความโลภ ความหลงนั้น ไม่ใช่มันเพิ่งมาเกิดมามีขึ้นในภพนี้ชาตินี้ กิเลสในใจของมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายนั้นมันมีมาก่อน มีมากับจิตใจอยู่อย่างนี้ ท่านจึงทรงตรัสว่ากิเลสเหล่านี้มันดอง ดองอยู่ในสันดาน ดองอยู่ในจิตในใจของคนเรา หรือมันแทรกซึมไว้ไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติหละ นับไม่ถ้วน มีจิตใจอยู่ที่ไหนก็มีกิเลสราคะ โทสะ โมหะแทรกซึมอยู่ในใจมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่สัตว์ตัวเล็กๆ ยังไม่ได้มาเกิดเป็นคน กิเลสความโกรธ ความโลภ ความหลงน่ะมันก็มีเต็มตัวของมัน มาเกิดเป็นคนแล้วกิเลสเหล่านี้ก็ยังเต็มตัวเต็มใจอยู่ 

ทีนี้ทำอย่างไรกิเลสเหล่านี้จะเบาบางหมดสิ้นไป ก็มีการปฏิบัติบูชาภาวนาทำใจให้สงบตั้งมั่น กายตั้งคือกายนั่งสมาธิภาวนาแล้วมันก็หมดเท่านั้นแหละ แต่ใจนั้นจะต้องตั้งมั่นจริงๆ ทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิภาวนาเมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วก็ปลดปล่อยอารมณ์ต่างๆที่มันมีอยู่ในจิตใจออกไป ไม่ให้จิตใจดวงนี้แส่ส่ายไปตามอารมณ์เรื่องราว สิ่งที่ผ่านมาแล้วหรือสิ่งที่จะต้องผ่านไปในอนาคตกาล ท่านให้รวมจิตใจเข้ามาภายใน คำว่าภายในมันเป็นคำสั่งคำสอนคำบอก ความจริงก็คือว่าตัวเราทุกคนนี้ที่มีขา ๒ แขน ๒ ศีรษะ ๑ มีจิตใจครองอยู่ในร่างกายอันนี้ จิตใจมันก็อยู่ภายในนี้แหละ แต่ว่าจิตมันอยู่ภายใน จิตสังขารมันชอบไปอยู่ภายนอก จิตสังขาร จิตตัณหา จิตกิเลส แม้จะนั่งอยู่ที่ถ้ำเป็นสถานที่สงบระงับก็ตาม แต่มันออกหากินทางนอก คิดไปหมายไปตามอำนาจกิเลสในใจของแต่ละบุคคล จิตใจอันนั้นแหละมันเป็นเหตุไม่ให้จิตใจรวม จิตใจสงบได้ คิดไป หมายไปปรุงไปแต่งไป มากเท่าไหร่เรื่องยุ่งยากมันก็เกิดมีขึ้นในจิตใจของมนุษย์ เมื่อถึงเวลานั่งสมาธิภาวนา ท่านจึงให้หยุด ให้หยุดให้สงบให้ละให้วาง แล้วว่าพอแล้ว คิดมาตั้งแต่อเนกชาติมันก็เท่านั้น กินนอนมาตั้งแต่อเนกชาติมันก็เท่านั้นแหละ ไปมาหาสู่ที่ไหนๆก็ตามมันก็เท่าเก่านั่นแหละ ถ้าเราไม่สงบจิตใจไม่รวมไม่สงบใจ เมื่อเอาจิตใจภายในไม่ได้ มันก็ไม่ได้อยู่ตลอดกาล 

ดูพระพุทธเจ้าของเรา วันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้ พระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อพระองค์ได้นั่งขัดสมาธิเพชรแล้ว ผินหลังให้ต้นไม้โพธิ์ ผินพระพักตร์หน้าไปทางทิศตะวันออก พระองค์ตั้งสัตย์อธิษฐานลงไปว่าการนั่งสมาธิภาวนาครั้งนี้จะให้เป็นครั้งสุดท้าย ถ้าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็แล้วไป ต่างหากว่าสู้กับกิเลสตัณหาในใจไม่ได้ พระองค์จะไม่ยอมลุกไปมาในที่ใดๆ ยอมตายในที่นั่งนี้ดีกว่า ไม่ต้องกินไม่ต้องนอน ไม่กี่วันมันก็ตาย พระองค์ปลงกรรมฐานมรณะความตายลงไป ว่าการนั่งสมาธินี้จะไม่หวั่นไหว แม้เลือดเนื้อเชื้อไขจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามที คือมันจะแตกจะตายก็ยอมตาย แต่จิตใจจะไม่หวั่นไหว จะภาวนาตั้งใจจริงๆ ทีนี้พระองค์ก็เลือกอุบายภาวนา ไม่ใช่ภาวนาพุทโธอย่างที่แนะนำนี้ คือพระพุทธเจ้าก็ยังไม่ได้มาตรัส พระองค์เองจะต้องตรัสแต่ว่ายังอยู่ในขั้นตั้งใจภาวนาอยู่ เมื่อพระองค์เลือกกรรมฐานทุกอย่างทุกประการก็ได้กรรมฐานคำว่าลมหายใจ 

พระพุทธเจ้าก็มีลมหายใจเหมือนคนเรา พวกเราทั้งหลายก็มีลมหายใจเหมือนพระพุทธเจ้า ลมหายใจนี้เป็นอาหารอันละเอียด ชีวิตของคนเรานั้นตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร อาหารเป็นคำๆเหมือนคำข้าวอันนั้นก็อาหาร น้ำก็เป็นอาหาร แล้วก็ธาตุลมนี้ก็เป็นอาหาร ถ้าเรากลั้นใจสักพักหนึ่งชั่วหายใจหนึ่งก็วุ่นวายเหมือนจะตายแล้ว นี่แหละมันเป็นอาหารละเอียด อาหารของลมนี้กินอยู่สูดเข้าไปออกมาอยู่ตลอดกาลไม่ได้หยุด ถ้าหยุดลมหายใจคนนั้นก็เป็นศพเป็นผีไป

เมื่อพระพุทธเจ้าเลือกได้ว่าลมหายใจนี่แหละจะเป็นอุบายสำคัญ จะได้หักห้ามจิตใจพระองค์ให้ยุติเสียที ท่านก็ตั้งใจกำหนดว่า ลมหายใจที่เข้าไปมีอะไรเป็นผู้รู้อยู่ เวลาลมหายใจออกมามีอะไรเป็นผู้รู้ ลมมันรู้หรือไม่ ลมมันไม่รู้จักรู้ ดินน้ำลมไฟมันเป็นธาตุ แต่ธาตุลมมันเป็นธาตุที่เคลื่อนไหวไปมาเข้าออก สังเกตได้ง่าย พระองค์ก็ตั้งสติระลึกขึ้นมา ตั้งใจลงไปให้มั่น อยู่ที่ลมหายใจผ่าน ลมหายใจผ่านเข้าไปก็ได้แก่จิตดวงผู้รู้นั่นเองอยู่ตรงนี้ ที่เราฟังธรรมได้ยินเสียง นี่แหละจิตดวงนี้แหละ ลมออกมาพระองค์ก็ตามรู้ทีนี้ว่า นี้เป็นลมออกมา ลมยาวเข้ายาวออกยาวพระองค์ก็รู้ เข้าสั้นออกสั้นพระองค์ก็รู้ ลมหยาบก็รู้ ลมอย่างกลางก็รู้ ลมละเอียดจนถึงขั้นลมนี่เหมือนกับว่าดับไป พระองค์ก็รู้ นี่แหละที่รวมใจของพระพุทธเจ้าครั้งแรก พระองค์รวมใจเข้าไปอานาปาลมหายใจ แม้เราทุกคนก็รวมได้ ตั้งใจกำหนดให้ทัน ไม่ให้หลงไม่ให้ลืม 

พระพุทธองค์เมื่อพระองค์ทำจิตใจให้รู้ลม จิตของพระองค์ก็รวมลงไปเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว เมื่อจิตรวมเป็นดวงหนึ่งดวงเดียวแล้วจึงได้ตรัสรู้เห็นแจ้งในหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นแจ้งในรูปนามกายใจตัวตนสัตว์บุคคล ว่ามีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์เป็นอนัตตา จิตที่ตั้งมั่นก็เห็นแจ้งชัด จนตัดขาดกิเลสความโกรธ กิเลสความโลภ กิเลสความหลงอันดองอยู่ในสันดาน ดองอยู่ในจิตนั้นเด็ดขาดลงไป จึงได้นามว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ละกิเลสพร้อมทางวาสนาได้แล้ว หลังจากนั้นพระองค์ก็โปรดปัญจวัคคีฤาษีทั้ง ๕ ต่อไป ช่วยสอนมนุษย์และเทวดา อินทร์ พรหม อยู่ตลอด ๔๕ ปี จนอายุพรรษาของพระองค์ได้ ๘๐ บริบูรณ์ จึงได้ดับขันธ์เข้าสู่นฤพาน ที่ว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุข นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานสูญกิเลสตัณหามานะทิฐิ ไม่ต้องมาเกิดมาตาย วุ่นว่ายอย่างชาวเราทั้งหลายอีก เป็นอันว่าจบสิ้นลงไปในจิตใจของพระพุทธเจ้า พระอรหันตาเจ้าทั้งหลาย นั่นคือว่ากิเลสราคะโทสะโมหะจะหมดสิ้นไปได้ด้วยการภาวนา 

คำว่าภาวนาจิตใจดวงที่รู้อยู่นี่แหละ มีสติความระลึกอยู่ ว่าเรานึกบริกรรมใด เรานึกลมหายใจ นึกถึงความตายนึกถึงความแก่ความชราอันใดก็ให้จิตใจรับรู้รับเห็นอยู่ภายใน และให้นึกให้เจริญพินิจพิจารณาอยู่ให้ได้ตลอดเวลา พระองค์จึงสั่งไว้ว่าอันความตายนั้นนึกให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออก เพราะว่าความตายนั้นมันต้องเป็นไปได้ทุกรูปทุกนามทุกผู้ทุกคน ไม่มีใครที่จะเกิดมาแล้วไม่ตาย ความตายนี้พระองค์จึงเตือนว่าเอาให้ได้ทุกลมหายใจ ถ้าเรานึกได้ทุกลมหายใจแล้ว นั่งก็ตามนึกได้เตือนใจให้สงบได้ ไม่ต้องไปวุ่นวายตามรูป ตามเสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่ให้จิตใจลุ่มหลงไปตามวัตถุภายนอก วัตถุนิยม ให้มารวมมาสงบตั้งใจของตัวเองให้มั่นคงอยู่ในตัวในใจ ให้เป็นจิตใจดวงเดียวแน่วแน่มั่นคงอยู่ภายใน เมื่อใจนี้ไม่หลงไปในที่ต่างๆ ชื่อว่าใจรวมเป็นสมาธิตั้งมั่น ไม่ออกไปตามอารมณ์กิเลส นั่งก็จิตใจนึกได้เจริญได้ เรียกว่าภาวนาทำใจให้สงบตั้งมั่น ยืนอยู่ก็ทำใจดวงนี้ให้สงบตั้งมั่น นอกจากการนั่งสมาธิท่านก็มีการเดินจงกรม คือกำหนดทางสั้นยาว แล้วก็เดินกลับไปกลับมาภาวนาพุทโธในใจ ภาวนาอานาปาในใจรวมจิตใจเข้าไปให้สงบตั้งมั่นให้ได้ เมื่อสงบตั้งมั่น สงบเป็นดวงหนึ่งดวงเดียวแล้วได้ชื่อว่าเดินทางถูก รวมใจเข้ามาภายในไม่ต้องไปหาที่ไหน สวรรค์ชั้นฟ้ามรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่ที่อื่น หากมีอยู่ในกาย วาจา จิต ของเราทุกคน มีอยู่ในลมหายใจเข้าออกของตัวเองทั้งนั้นแหละ 

ถ้ารวมธาตุสงบเข้ามาอยู่ในตัวในใจนี้ ก็จะเข้าใจในการปฏิบัติบูชาภาวนาละกิเลส ถ้ามัวจะไปหาที่อื่นไม่มีทางที่จะรู้ได้เข้าใจ หาไปที่ไหน มันก็ไปติดตัณหา ติดความอยาก ติดตัณหานั้น นัตถิตัณหาสมานาที แม่น้ำจะเสมอด้วยตัณหาไม่มี ความดิ้นรนวุ่นวายของคนเราภายนอกนั้นไม่มีที่จบที่สิ้น ตัณหาคือความอยาก ความทะเยอทยานนี้ พระพุทธเจ้าสอนให้ละให้วางใ้ห้ดับ คือว่าไม่ต่อเติม ไม่ส่งเสริม ไม่ไปตามอำนาจตัณหา นั่งก็ภาวนารวมใจให้เป็นดวงหนึ่ง ยืนก็ภาวนารวมใจให้เป็นดวงหนึ่ง เดินไปมาที่ไหนก็ภาวนา จะไปรถไปรากินนอนอะไรทุกสิ่งทุกอย่างก็ภาวนาในใจนั่นแหละ ระวังใจไม่ให้มันไปไหนที่ต่างๆ ให้มันมาสงบมาหยุดมาอยู่ในตัวในใจของเราให้ได้ เอาใจดวงนี้แหละให้สงบตั้งมั่นลงไป 

ทีนี้กิเลสความโกรธ กิเลสความโลภ กิเลสตัณหาทั้งหลายเนี่ยมันห่อหุ้มจิตใจดวงนี้อยู่ กิเลสต่างๆมันผูกมัดรัดตรึงจิตใจของมนุษย์คนเรานี่แหละ ให้ติดอยู่ให้ข้องอยู่ ให้หลงอยู่ให้มัวเมาอยูในรูปเสียงในกลิ่นในรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ กำหนดกายก็ไม่รู้ไม่เห็น กำหนดใจก็ไม่อยู่ คือว่ามันไม่รวมไม่สงบ ไม่ตั้งมั่นอยู่ได้ทุกลมหายใจ อาศัยตัณหาในใจมันพาว้าวุ่นอยู่ตลอด ทั้งกลางวันกลางคืน ยืนเดินนั่งนอนทุกอิริยาบท ตัณหาในใจมันก็ปิดบังจิตใจไม่ให้รู้ ไม่ให้เห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัยวัฏสงสาร พระพุทธเจ้าพระองค์จึงเตือนว่าให้เห็นทุกข์ คือว่าร่างกายสังขารรูปนามตัวตนคนเหล่านี้ ไม่ว่าเด็กหนุ่มแก่ชรา ไม่ว่าคฤหัสถ์และบรรพชิต ความทุกข์มันมีเท่าๆกัน ถ้ามันเจ็บกาย เจ็บไข้ป่วย จะรู้ได้ทีเดียวว่าไม่ว่าใครๆ มันเจ็บเท่าๆกัน ถ้ามันเจ็บน้อยมันก็หาย บรรเทาไปบ้าง แต่ว่าถ้ามันเจ็บมาก ไม่ว่าพระภิกษุสามเณรญาติโยมตายได้เหมือนกัน ถ้ามันมากก็ตายได้ ถ้ามันไม่มากเหมือนทุกวันนี้  มันก็พอแก้ไขไปได้ แต่ว่าเราจะมาแก้ไขแต่รูปร่างกายให้สบาย ไม่ภาวนาละกิเลสในใจนั้นไม่ได้ คือว่ารูปร่างกายนี้มันไม่ไปไหน มันเกิดมาในโลกมนุษย์มันก็อยู่บนผืนแผ่นดินนี้แหละ เมื่อมันแก่ชราหรือโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนมาก มันก็ตายอยู่บนแผ่นดินนี้ เอาไปไม่ได้ ไปสู่สวรรค์เทวโลกพรหมโลก ไปสู่นิพพาน ไม่ได้เอากายสังขารอันนี้ไป 

เอาจิตตาภาวนา เอาดวงจิตดวงใจดวงที่รู้ที่เห็นที่ได้ยินได้ฟังที่ภาวนาอยู่ในใจ ทุกลมหายใจเข้าออก เอาจิตดวงนี้จิตดวงนี้มันก็มีอยู่นี่แหละ แต่ว่าผู้ปฏิบัติในทางพุทธศาสนานี้ไม่รวมจิตใจของตัวเองเข้ามาอยู่ภายในนี้ ปล่อยให้จิตใจรั่วไหลไปอยู่ตามอารมณ์เรื่องราวภายนอกวุ่นวายไปอย่างนั้นเอง คือจิตใจมันติดอยู่ในอำนาจของตัณหา ตัณหานั้นมันคอยผูกมัดรัดตรึงจิตใจของมนุษย์ให้ข้องให้แวะอยู่อย่างนี้เอง โบราณาจารย์เจ้าทั้งหลายท่านจึงตั้งให้ชื่อว่าตัณหา ว่ากิเลสมันมีพันห้า ตัณหามีร้อยแปด คือมันมีมากมายนั้นเอง จะไปแก้ที่อื่นมันแก้ไม่ตก มาแก้ที่จิตที่ใจ นั่งภาวนาบริกรรมทำใจให้สงบ 

เมื่อใจสงบตั้งมั่นดีแล้วก็กำหนดรูปนามกายใจของตัวเองให้รู้ว่า รูปนามนี้มันไม่เที่ยง ไม่ว่ารูปเรา รูปเขา รูปคน รูปสัตว์ รูปวัตถุทั้งหลายก็ตามมันก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ถ้าหากว่ารูปนี้มันเที่ยงแท้แน่นอน เราไปมาเกิดชาตินี้ก็มาปฏิสนธิวิญญาณในท้องแม่ ทำไมจึงไม่อยู่ในท้องแม่ตลอดมา ก็เพราะว่าความไม่เที่ยงนั่นเอง มันอยู่ไม่ได้ เมื่อมันอยู่ไม่ได้มันก็คลอดออกมา คลอดออกมาแล้วก็จะมาอยู่อย่างทารกอย่างนั้นมันก็ไม่ได้ นานเข้าเคราะห์หน้ามีผู้ช่วยดูแลรักษาให้น้ำให้อาหาร รูปขันธ์อันนี้ก็จะเจริญวัยใหญ่โตขึ้นมาโดยลำดับ เมื่อใหญ่โดยลำดับขึ้นมา ถ้ามันไม่แตกไม่ตายก็ถึงขั้นวัยแก่วัยชราหมดแล้วก็ชำรุดทรุดโทรม มันจะไปไหนมันก็ไปสู่แผ่นดิน ตายแล้วก็ถมแผ่นดิน เรื่องมันก็มีเท่านี้ 

ผู้ภาวนาทั้งหลายจงรวมจิตรวมใจสงบจิตใจของตนให้แน่วแน่ มั่นคงรู้ความจริงในใจของตัวเองตรงนี้ จนเห็นความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ แล้วก็ความดับไป มันเป็นอยู่ มันแสดงอยู่ทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรทั้งหมด มันแสดงตัวให้จิตใจของผู้ภาวนารู้ แสดงถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ดูในใจของคนเรามันเที่ยงแท้แน่นอนไหม รูปมันเที่ยงไหม ครมันเที่ยงไหม สัตว์มันเที่ยงไหม ต้นไม้ภูเขามันเที่ยงไหม อะไรๆที่มันเกิดขึ้นมาในโลกนี้มันเที่ยงตรงคงที่อยู่อย่างนั้นไหม ดูในจิตเพ่งในจิตให้รู้ เมื่อรู้ว่ามันไม่เที่ยงจริง เป็นทุกข์จริง ไม่ใช่ตัวตนของเราแล้ว จิตอย่าไปหลงยึดเอาถือเอา ให้รู้แจ้งในจิตใจของตัวเองแล้วก็เลิกละอาการภายนอกทั้งหมด เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยงอย่าได้ไปยึดถือเอาสิ่งไม่เที่ยงนั้น ให้จิตใจรู้แจ้งเห็นจริงปล่อยวางความไม่เที่ยงแท้แน่นอนในจิตใจนั้นๆ ให้มันเด็ดขาดลงไป มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เราให้เห็นเพ่งดูให้รู้ มันสุขจริงทุกข์จริงหรือ ดูให้มันแจ้ง ความจริงคำว่า สุขนี้มนุษย์มันสมมุติขึ้นมา ธาตุแท้รูปนามกายใจตนเองของบุคคลนั้นมันทุกข์ เราอยู่ทุกวันนี้ก็ทนทุกขเวทนา แต่ว่าทุกขเวทนาที่มันเกิดขึ้น ถ้ามันไม่รุนแรงก็เลยเข้าใจว่าเป็นสุข ถ้ามันเกิดรุนแรงขึ้นมาแล้ว มันไม่ใช่สุข เมื่อความเจ็บเกิดขึ้นที่ไหน มันไม่ใช่เจ็บเฉพาะแต่มันที่มันเจ็บนั้น มันเจ็บหมดทั้งร่างกายแล้วก็เจ็บเข้าไปถึงดวงจิตดวงใจด้วย ใจก็ว้าวุ่นไปหมดเพราะว่าใจมันยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราตัวข้าของข้า ตัวกูของกู ยึดหมดแล้วก็ทุกข์ จิตมันก็แบกความทุกข์ในจิต 

เวลาภาวนาเราหลับตา ชำระจิตใจภายนอกไม่ให้มี ดวงจิตดวงใจดวงที่มีความรู้อยู่ในตัวในใจเห็นจิตสังขารวิญญาณ เห็นความสุขความทุกข์อันมันเป็นอยู่ในโลกนี้ และก็ดวงจิตดวงใจนี้ก็ไม่ต้องไปหาเป็นรูปร่างตัวตน รูปร่างตัวตนนั้นมันธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม คือตัวคนเรานั่นเอง ตัวเราที่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันปรากฏเห็นได้ด้วยตา ส่วนดวงจิตดวงใจนั้นไม่เห็นไม่มี ถ้าดูในจิต มันไม่มี เพราะมันเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ จิตนั้นเรียกว่า มโนธาตุ ธาตุรู้ มีความรู้อยู่ในตัวในใจจิตอันนั้น 

แต่รู้อันนี้นั้นแล้วนะ มันยังรู้หลงอยู่ รู้ยังไม่ภาวนาละกิเลส มันรู้ยึดรู้ถือ รู้เข้ามายึดไว้ถือไว้ อะไรต่อมิอะไรเป็นจิตใจที่ยังไม่ได้รู้แจ้งเห็นจริง ถ้าใจมันรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปนามตัวตน คนสัตว์ วัตถุธาตุทั้งหลายนี้ มันมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน จิตไม่ควรไปยึดเอาถือเอา เพียรเพ่งพิจารณาจนจิตใจดวงนี้ปล่อยวางความยึดความถือในความไม่เที่ยงนั้นได้จริง มันเป็นทุกข์ เมื่อสิ่งใดทุกข์เราจะไปยึดมั่นถือมั่นทำไม  เพ่งดูรู้ได้ว่าไม่ใช่ตัวเราจริง เราจะมายึดเป็นตัวเป็นตน เป็นเราสุขเราทุกข์ไม่ได้ เอาจนจิตใจดวงนี้คลายออกไป ตัวเราไม่มี สมมุติให้เป็นตัวเราของเราเท่านั้นเอง ความจริงมันไม่ใช่ตัวเรา จิตมันก็ไม่ใช่ตัวเรา กายก็ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าเป็นตัวตนของเราจริง เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วก็บอกให้มันหายเจ็บได้ไหม มันก็ไม่หาย หรือมันสุขแล้วก็ให้มีสุขยิ่งๆขึ้นไป อย่าได้กลับกลอกหลอกลวงให้เป็นทุกข์อีกได้ไหม…ไม่ได้ เมื่อไม่ได้นี่แหละท่านจึงให้กำหนดพิจารณาให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาอันชอบ 

เมื่อเห็นแจ้งด้วยปัญญาอันชอบในสมาธิภาวนาแล้ว จิตนี้มันจะได้ถอนได้ละได้วางออกไป ไม่มาเป็นทุกข์เป็นร้อนแทนรูปดินน้ำไฟลมอันนี้ มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ก็ภาวนาดูอยู่ มันแตกดับไปก็ภาวนาดูอยู่ ว่าอะไรมันแตกไปดับไป อะไรมันยังเหลืออยู่ ก็จะได้ภาวนาทำความเพียรละกิเลส เอาจนจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสสะอาด ไม่ยึดหน้าถือตา ไม่ยึดตัวถือตนไม่ยึดตัวเราของเราให้ปรากฏขึ้น ตั้งใจทำความเพียรภมวนา ละกิเลสทั้งกลางวันกลางคืน ยืนเดินนั่งนอนทุกอิริยาบถ วันไหนคืนไหนเวลาใดก็ตั้งจิตตั้งใจลงไปอย่างนั้น เอาจนจิตใจดวงนี้สงบระงับเย็นสบาย เห็นแจ้งในธรรมะปฏิบัติ เห็นแจ้งด้วยจิตด้วยใจของตัวเองว่า มันเป็นของไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์จริงๆ 

การเกิดมานี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ขึ้นชื่อว่าสังขารทั้งหลายมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างนี้ เตือนจิตเตือนใจดวงนี้จนจิตใจดวงนี้รู้แจ้งรู้จริง รู้แจ้งแสงสว่าง จนถึงขั้นละขั้นถอนปล่อยวางในจิตใจของตน จิตใจดวงนี้ก็จะมีความสุข มีความเย็น มีความสบาย อะไรมันเกิดขึ้นก็รู้ทันแก้ไข ไม่มาหลงยึดหน้าถือตาไม่หลงยึดตัวถือตน ไม่มายึดวัตถุข้าวของภายนอก ว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเรา มันไม่ใช่ของใคร เป็นของกิเลสตัณหามานะทิฐิเป็นตัวจริงนั้นเอง เมื่อมารู้เข้าใจอย่างนี้ก็เรียกว่าเร่งภาวนาทั้งกลางวัน กลางคืน ยืนเดินนั่งนอนทุกอิริยาบถ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เรียกว่าทำความเพียรพยายามอยู่อย่างนั้น นั่งก็เพียรภาวนาอยู่ ยืนก็เพียรภาวนาอยู่ เดินไปมาที่ไหนก็เพียรภาวนาอยู่ กลางคืนกลางวันก็เพียรภาวนาอยู่ ทำจิตใจดวงนี้ให้มีความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีความเพียรเพ่งอยู่ในจิตใจดวงนี้ จนแจ้งภายใน แจ้งภายนอกไม่มีอะไรที่เหลือจากทุกขัง อนิจจัง อนัตตาไป มันอยู่ในขั้นทุกขัง อนิจจัง อนัตตาทั้งนั้น 

ทีนี้เมื่อจิตใจของผู้ภาวนาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว หลับตาก็มองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลืมตาก็มองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันกระทบในอายตนะทั้งหลายก็เห็นแจ้งในหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างนี้ ความยินดียินร้ายย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ย่อมดับไป สิ่งที่จะมาเกี่ยวเกาะกังวลยินดีพอใจ เพลิดเพลิน เสียอกเสียใจก็ไม่มีเพราะภาวนาจนเห็นแจ้งแทงตลอดในรูปนามกายใจตัวตนสัตว์บุคคลแล้ว จึงได้ปล่อยวาง จึงได้ภาวนาทำความเพียรละกิเลส จิตใจก็ตั้งมั่นไม่ใช่ว่าจับตั้งมั่น มันตั้งลงไปเอง มันมีอยู่แล้วเรียกว่าตั้งถึงที่ฐาน เป็นธรรมฐิติ มันมีอยู่ในจิตในใจทุกๆคน แต่ว่าจิตมันไม่เข้า ไม่มา ไม่สงบไม่ตั้งมั่นลงไปสู่หลักนี้ มันจึงได้ดีใจเสียใจวุ่นวายภายนอก ยุ่งเหยิงอยู่ตลอดเวลาเพราะมันไม่ตั้งมั่นลงไปสู่จิตใจดวงนี้แหละ 

ถ้าผู้ปฏิบัติไม่เลือกว่าคฤหัสถ์และบรรพชิต นักบวช นักบ้าน ใครตั้งใจภาวนาทำใจดวงนี้ให้ตั้งมั่นลงไป จนไม่หวั่นไหวในที่ทั้งปวง สุขมาก็ไม่หลงในความสุขกายสบายใจนั้น ทุกข์เกิดขึ้นก็ไม่ไปยึดไปถือว่าตัวเราทุกข์ เราเป็นทุกข์เป็นร้อน ความทุกข์ทั้งหลายเป็นต้นว่ากายเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เป็นเรื่องของธาตุดิน ธาตุดินเขาเจ็บไข้ได้ป่วยต่างหาก ช่างมัน จิตเราอย่าไปทุกข์ตามเขาไป ธาตุน้ำมันเป็นทุกข์ ธาตุไฟมันเป็นทุกข์ ธาตุลมมันเป็นทุกข์ ธาตุทั้งหลายเค้าเจ็บไข้ได้ป่วย จิตใจของแต่ละดวงจิตดวงใจถ้าจิตใจมันรู้ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น จิตมันไม่มีรูปร่างสีสัณฐาน มันจะไปทุกข์อะไร ที่มันทุกข์นั้นก็เพราะว่าจิตมันไปยึด จิตไปยึดจิตไปถือ เหมือนกะว่าไฟมันมีอยู่ เราเอามือไปจับไฟ ไฟมันก็ไหม้ ความเดือดร้อนมันก็มีขึ้นที่มือที่ตัวเรานั่นเอง การปฏิบัติบูชาภาวนาในจิตใจของผู้ปฏิบัตินี้ก็คล้ายๆกัน อย่าไปยึดไปถือก็แล้วกัน 

ภาวนาพุทโธ เร่งพุทโธ เอาจนจิตใจสงบระงับ ภาวนามรณกรรมฐานก็เอาให้เห็นแจ้งในมรณกรรมฐาน เอาจนอารมณ์เรื่องราวภายนอกเข้ามาไม่ได้ เข้ามาไม่ถึง เพราะในจิตใจของผู้ปฏิบัตินั้นท่านว่า ศีลปรกติ กายวาจา สมาธิ จิตตั้งมั่น ปัญญาความรอบรู้ในกองสังขาร จิตใจดวงนั้นเมื่อเต็มที่เต็มฐานก็เกิดญาณอันวิเศษ ละกิเลสความโกรธให้หมดไป ละกิเลสความโลภให้หมดไป ละกิเลสความหลงให้หมดไปสิ้นไป เมื่อจิตใจของผู้ปฏิบัติเลิกละกิเลสตัณหาเหล่านี้ออกไปหมดสิ้นเชิง ก็ต้องเกิดความรู้ความฉลาดความสามารถอาจหาญขึ้นมาในจิตใจนั้น ก็จะหายความลังเลสงสัยในอดีต อนาคต ปัจจุบัน จิตใจก็ว่องไวไหวพริบไม่ลุ่มหลงมัวเมาเหมือนแต่เก่ามา 

ชื่อว่าทำสมาธิภาวนาได้ทุกวัน ทุกคืน ทั้งยืนทั้งเดินทั้งนั่งทั้งนอน ทุกอิริยาบถ ภาวนาอยู่ตลอดกาล เห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัย เห็นความยึดมั่นถือมั่นที่ไม่ปล่อยไม่วางเป็นก้อนทุกข์ กองทุกข์อยู่ในตัวในใจ จิตใจก็ได้ชื่อว่าเห็นแจ้งในธรรมปฏิบัติ แจ้งว่ามันไม่เที่ยง แจ้งว่ามันเป็นทุกข์แจ้งว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา จิตไม่ต้องไปยึดถือ มันอยู่ที่ไหนก็ให้อยู่ที่นั่น ตามรู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญา ด้วยวิชชา เลิกละ ปลดปล่อยอยู่ในดวงจิตดวงใจนั้นให้ได้ตลอดเวลา กำลังที่ภาวนาอยู่ก็มีกำลัง มีความสามารถ มีความอาจหาญ มีความตั้งมั่นในธรรมปฏิบัติ เป็นการเอาจริงเอาจังภายในจิตใจของตนนั้นได้ตลอดไป จิตใจก็ได้ความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเรียกว่าเจริญภาวนาไม่ท้อถอย ทำไปปฏิบัติไปรวมจิตใจของตนไป สิ่งใดไม่รู้มันก็ค่อยรู้ขึ้นมา สิ่งใดไม่เข้าใจมันก็ค่อยเข้าใจขึ้นมา สิ่งใดยังไม่แจ้งมันก็ค่อยแจ้งขึ้นมา เพราะมันมีหลักตั้งมั่นลงไปในกายวาจาจิตนั้นแหละ 

นี่แหละผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานในทางพุทธศาสนา จงให้มีความเพียรความหมั่นขยันขันแข็งในข้อวัตรปฏิบัติ เพราะว่าความเพียรเป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญ ความเพียรคือความไม่ท้อแท้ในดวงใจ ความไม่ท้อถอย ผู้มีความเพียรย่อมสำเร็จได้ มีความเพียรจะต้องมีปัญญา มีวิชชาความรู้ ก็คือความตั้งใจดวงเดียวนี้แหละให้ได้ เมื่อตั้งใจได้ มันก็ได้หมดทุกอย่าง มันอยู่ที่ความตั้งใจมั่น ตั้งใจมั่นตั้งใจไม่ให้หลงใหลไปกับเรื่องใดๆทั้งนั้น นอกจากจิตใจดวงที่รู้อยู่มีอยู่ภายในนี้ ทั้งหมดทั้งมวลออกไปทั้งหมดนั่นแหละ ไม่เที่ยงทั้งโลก ทั้งรูปนามกายใจของเราก็ไม่เที่ยง ของเขาก็ไม่เที่ยง ท้องฟ้าอากาศอะไรมันก็ไม่เที่ยงทั้งหมด ต้องมาตั้งมั่นอยู่ในจิตใจดวงที่มีความรู้อยู่ ตรงนี้ก็ชำระกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ จนหมดสิ้นไป จึงจะเที่ยงแท้แน่นอน 

ถ้ากิเลสเหล่านี้ยังดองอยู่ในสันดาน มันก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอนทั้งนั้น นอกจากนี้ออกไปไม่เที่ยง นอกจากจิตใจดวงที่รู้อยู่เป็นทุกข์ทั้งนั้น นอกจากจิตใจดวงนี้ออกไป ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ควรไปยึดเอาถือเอาอะไรเข้ามาอีก สิ่งใดเมื่อมันเกิดขึ้นได้ มันก็ตั้งอยู่แล้วมันก็ดับไป เป็นอยู่อย่างนี้ ให้รู้ให้เข้าใจอยู่ในจิตใจของผู้ปฏิบัติอย่างนี้ตลอดเวลา สติความระลึกได้ สมาธิจิตตั้งมั่น ปัญญาความรอบรู้ในกองสังขารให้มีในจิตใจของตนได้อยู่ตลอดเวลา ศีลก็หมายถึง ปรกติกายวาจา สมาธิก็จิตใจอันผู้รู้ผู้เห็นมีอยู่ภายในนี่แหละให้ตั้งมั่น ตั้งมั่นตั้งไว้อยู่ทุกเวลา ไม่ยอมให้ล้มลุกคลุกคลานไปตามอำนาจกิเลสตัณหามานะทิฐิ ปัญญามันก็เกิดขึ้นที่นั่น ญาณมันก็เกิดขึ้นที่นั่นแหละ มันไม่ได้มาจากที่อื่น

จึงให้พากันลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กิเลสในหัวใจของตนให้ได้ ให้ได้ไปทีละน้อยๆ หรือจะยกกำลังความสามารถอาจหาญ ทุ่มเทเลิกละปลดปล่อยตัดถอนทีเดียวก็ได้ เมื่อกำลังไม่พอก็เรียกว่าเลิกละไปทีละน้อยๆ ไม่ยอมให้กิเลสตัณหาเข้ามาทำบ้านทำเมืองอยู่ในใจ เพียรละออกไป เพียรวางออกไป มีสติอยู่ในใจ มีสมาธิอยู่ในใจ มีปัญญาอยู่ในหัวใจ เมื่อจิตใจดวงนี้ตั้งมั่นในธรรมปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมเจริญก้าวหน้าไปคือไม่หลงไม่ลืม ตั้งใจประกอบกระทำอยู่อย่างนี้ให้ได้ตลอดเวลา 

นี่แหละเราท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายก็ดี ท่านภาวนาละกิเลสในใจของท่านให้เบาบางหมดสิ้นไปได้ เราท่านทั้งหลายก็ให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนาละกิเลสในจิตในใจของเราให้เบาไป บางไป หมดไปสิ้นไป ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญในทางพุทธศาสนา ดังแสดงมาก็สมควรด้วยกาลเวลา เอวังก็มีด้วยประการะฉะนี้