หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร
ตามสบาย ถือว่าการนั่งแบบนี้มันสบาย กายสบาย จิตถ้ามีเวลาเกิดปวดเจ็บขึ้นมาก็พิจารณา มันก็นึกว่าท่าเนี้ยสะดวกสบาย ท่าอื่นสู้ท่านี้ไม่ได้ เวทนาที่มันเจ็บขึ้นมันปวดขึ้น มันมาจากที่ไหน ใครไปเอามันมา ถ้าเมื่อเวลาเรานั่งเบื้องต้น ทำไมไม่มีเวทนาส่วนนี้มาเกี่ยวข้อง มันเกิดขึ้นจากอะไร พิจารณาให้เกิดสติปัญญาจากการเจ็บการป่วยของตัว แล้วพิจารณาดูว่าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากตัวของเรา ไม่มีใครที่ถือมาให้ มันเกิดขึ้นได้ แล้วก็มีเวลาหายไป ใช่ว่าจะตั้งอยู่เรื่อยไป สู้ทนพินิจพิจารณา ดูเหตุเห็นผลจริงจัง ถึงเวทนาจะยังอยู่ในกาย จิตก็ไม่เกี่ยวข้อง
นี่อุบายที่สู้เวทนา เพราะจิตแยกแยะจากเวทนาได้ อีกอย่างเมื่อจิตลงรวม ไม่ยึดเกี่ยวกับเรื่องของกาย เวทนาก็หายไป เชื่อมั่นว่าสิ่งใดมีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นจะต้องมีการแปรปรวน แล้วก็แตกดับไปตามธรรมชาติของมัน นี่เวลามันปวดหนัก จิตใจไม่ฟุ้งปรุงส่วนอื่น จะต้องยึดหน่วงในเวทนา มันปวดอย่างนั้นมันเจ็บอย่างนี้ มันจะขาดจะแตก จิตอยู่ในเรื่องของความเจ็บความปวดของตัว นี่พิจารณาอะไรมันปวด หนังรึ เนื้อรึ เอ็นหรือกระดูกหรือที่ไหน กำหนดเพ่งที่มันปวดมากเข้าๆ คือจิตของเราแยกออกจากเวทนาได้ หรือไม่อย่างนั้นก็รวมลงไป เวทนาตัวนั้นก็หายขาด เป็นอุบายปัญญาแล้วก็กล้าหาญ
เวทนาเกิดขึ้นมาทีหลัง เราจะต้องมีการต่อสู้เอาชัยชนะจิตใจที่ต่อสู้เวทนา ในการนั่งภาวนารู้สึกว่าได้กำลังดีกว่าจิตใจรวมธรรมดา เพราะเราสู้กับข้าศึก ได้ชนะข้าศึก รู้สึกว่าจิตใจสูงเด่นขึ้นไป รวมธรรมดาที่ไม่เวทนาอีกเป็นอย่างหนึ่ง ถ้าสู้กับเวทนาเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง เรื่องของจิต แล้วก็ต้องสู้ทุกคนน่ะ ความทุกข์เจ็บปวดต่างๆ ถ้าหากเราไม่มีปัญญา ไม่ได้พิจารณา ตอนเราป่วยหนัก เจ็บหนัก เราก็ไม่มีปัญญาพิจารณาแยกแยะเวทนาออกจากใจ ถือว่าเวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา เวทนามีในเรา เรามีในเวทนา ก็เลยเป็นทุกข์กันใหญ่ ต่างคนที่ต้องมีการต่อสู้ เพื่อจะได้ทดสอบกำลังจิตใจของตัว ได้ชนะหรือแพ้เวทนา ก็จะรู้จักสู้ได้ มันจะเกิดขึ้นมาขนาดไหนในอนาคตตอนเราจะทำต่อไป ถ้าเราได้กำลังจากการต่อสู้เราก็มีจิตใจเข้มแข็ง เคยเห็น เคยเป็น เคยสู้ได้ชัยชนะ ก็อยากจะสู้ไม่ท้อถอย
คนที่ภาวนาไม่เป็น ไม่เห็น ไม่รู้ จิตใจไม่อยู่ ปรุงฟุ้งต่างๆ โดยมากพอไปโดนเวทนาเจ็บปวดนิดๆหน่อยๆ เค้าก็ เอ้า นั่งมานานพอสมควรแล้ว ปวดเหลือเกิน เปลี่ยนอิริยาบถใหม่เสีย ไปแบบนั้น จิตใจก็เลยเคยตัว พอนั่งไปนิดๆหน่อยๆ ไม่กี่นาที กี่ชั่วโมง ก็รู้สึกเจ็บปวดขึ้น ก็หลบ เอาละ วันใหม่เอา เอาอีก มักจะแก้ตัวไปแบบนี้ ก็เลยไม่มีเวลาผ่านเวทนา จิตใจก็เลยไม่กล้า
เวทนาเป็นหินลับของจิต ผู้ปฏิบัติที่ท่านเคยปฏิบัติมา ท่านเคยได้ปัญญาได้ความรู้ ได้ความดีความเด่นจากเวทนานับไม่ถ้วน เราทุกคนมี ไม่ใช่ไม่มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันมี ไม่อย่างนั้นขันธ์ทั้ง ๕ ก็ไม่ครบ นี่เป็นอุบายต่อสู้เวทนา แต่อย่าไปกำหนดให้มันเกิด อย่าไปกำหนดให้มันดับ มันจะเกิดก็ให้มันเกิด เรื่องของมัน เมื่อมันจะดับก็อย่าไปขับไล่มัน ถึงเวลามันพอตัวในเรื่องของจิต มันจะเห็นเอง จะรวมเอง แยกแยะกันออกได้
เจ็บก็เรื่องของเสียงอย่างกลอง เราไม่ตีมันไม่ดัง เราไปตีมันถึงดังขึ้น เสียงก็ไม่ใช่กลอง ไม่ใช่คนผู้ไปตี เป็นอีกอันหนึ่ง เรื่องธาตุขันธ์ที่ว่าเวทนาก็เหมือนกัน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต เป็นอันหนึ่งต่างหากซึ่งแฝงอยู่ในจิตในรูปในกาย เห็นประจักษ์ ไม่ใช่พูดเล่น เคยปฏิบัติมา รู้เห็นอย่างนั้น จึงกล้าท้าทายว่าเรื่องของเวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เป็นเรื่องที่เห็นประจักษ์ชัดเจนในจิตในใจ อุบายการพิจารณาธรรมะ ถ้าหากเราพิจารณาจริงจัง จิตใจจะเห็นจะรู้จนละจนถอนเอาความติดข้องยึดถือส่วนนั้น ถ้าหากเราทำเล่นๆ ผลจะเกิดจะเป็นก็เพียงนิดๆหน่อยๆ
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ต้องสู้พญามาร กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร เทวบุตรมาร มัจจุมาร มารเหล่านี้ไม่ใช่มีอยู่ที่อื่น กิเลสก็คือความใคร่ของใจไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ความใคร่ของใจที่ฟุ้งปรุงไปอย่างนั้น ไม่ทำจิตทำใจให้สงบสงัด ใคร่ปรุงไปเท่าไหร่ก็เกิดความกำหนัดยินดี เกิดความเพลิดเพลิน เกิดความลุ่มหลงมัวเมาไปเท่านั้น เหตุนั้นทางธรรมะท่านจึงว่าเป็นนิวรณ์ คือเป็นเครื่องกั้นไม่ให้จิตสงบลงรวม ไม่ให้เห็นอรรถเห็นธรรม ต้องกำจัดออกไปความคิด ความปรุงส่วนนั้น
เรื่องกิเลสมาร อย่าให้มาผ่าน อย่ามาให้เป็นเจ้าจิตเจ้าใจของเรา ขับไล่ออกไป ขันธมาร ก็ความยึดขันธ์ ยึดรูป ยึดสุขทุกข์ต่างๆ เรียกว่าเวทนา มีความหมายว่ากายเป็นเรา เราเป็นกาย เรื่องสัญญาความฟุ้งปรุงภายในใจ เรื่องสังขาร ความรู้ว่ามันอย่างนั้นอย่างนี้ เกิดขึ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย เรื่องวิญญาณ นี่ขันธมาร ถ้าหากคิดยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นคนเป็นสัตว์ การปฏิบัติมันก็ไม่สะดวก เมื่อเป็นอะไรขึ้นก็เราเป็น เห็นอะไรขึ้นก็เราเห็น ผลที่สุดก็เลย สิ่งที่ควรกลัวก็กลัว สิ่งที่ควรยึดก็ยึด จิตไม่เป็นกลาง วางเรื่องของขันธ์ไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เรียกขันธมาร คือมันมารบกวนจิตใจไม่ให้เข้าสู่อรรถธรรมจริงจัง
มัจจุมารก็คือความกลัวเรื่องตาย เราเจ็บ เราปวด เราเหน็ด เราเหนื่อยอย่างนั้นอย่างนี้ กลัวจะตาย มันมีเมื่อทำไป มารทั้ง ๕ ที่ว่ามันมาชวนจิตชวนใจของเราให้ลุ่มหลง มารอะไรเกิดขึ้นก็ช่างมันจะต่อสู้ด้วยขันติบารมี วิริยะบารมี ทานบารมี เราเคยสละให้ทานซักทีมั้ยร่างกายของเรา ไม่เคย วัตถุอันอื่นเราเคยได้บูชามั้ย เรื่องกาย วาจา ใจ บูชาพระรัตนตรัย บูชาส่วนดอกไม้ธูปเทียน เคยบูชามา แต่เราจะเสียสละ เอ้า เป็นตายอย่างไรก็จะเอากายอันนี้ตั้งบูชาพระรัตนตรัย อรรถธรรมที่ควรจะรู้จะเห็น ถ้าไม่รู้ไม่เห็นก็จะเอากายอันเนี้ยเป็นเครื่องประกัน มันจะตายไปเมื่อไรให้มันตายไป มันจะแตกที่ไหนให้มันแตกไป
นี่ใจของนับรบจริงจังเป็นอย่างนั้น ไม่ท้อถอย พินิจพิจารณาอย่างหนักแน่น เวลาจิตใจมันฟุ้งปรุง มันยึดถือต่างๆ ถ้าหากเราเสียสละได้จริงจังอย่างนั้น อรรถธรรมที่ท่านพูดไว้จะเห็นประจักษ์ในใจ คนที่กลัวตายนี้ตายไม่ได้เพราะกลัว คือไม่มีการต่อสู้ จะเอาชัยชนะจากตาย ไม่เคยมี อะไรมันตาย อะไรมันเหลืออยู่ สู้กันจริงๆจังๆ จะต้องเห็นเด่นขึ้น สิ่งที่เราว่าตาย เราก็พิจารณาแยบคายลงไป อะไรมันตาย กายนี้ก็เป็นธาตุผสมต่างหาก ดิน น้ำ ไฟ ลม มันก็จะไปตามธาตุของมัน แล้วจิตที่ไปยึดมั่นเกี่ยวข้องเราก็เห็น มันเป็นมันตายอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนั้นก็เชื่อมั่นว่าไม่มีอะไรตาย มีแต่สมมุติภายนอกที่เขาถือกันว่าตาย แต่ความจริงไม่มีอะไรตาย ยังคงอยู่ตามเรื่องแต่มันแยกออกไป เป็นตามธาตุของมันเท่านั้น เข้าใจชัดเจนเห็นประจักษ์
คนที่สู้จนรู้จนเห็น จนผ่านพ้นไปได้ คนนั้นแหละเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า สู้จริงๆ ทานแบบนี้เรียกว่า ปรมัตถบารมี คือทานยิ่ง ทานยอด ถ้าหากคนไม่ห่วงตายหละ ไม่มีอะไรจะกลัวโลกอันนี้ คนกลัวก็คือกลัวจะตาย ถ้าเสียสละให้ทานได้อย่างนี้ ตายมันจะเกิดขึ้นมาจากที่ไหนก็ให้มันไป สู้จนถึงขีดถึงขั้นอะไรตายอะไรเหลืออยู่ รู้เห็นประจักษ์ชัดเจนในตัว ในการกระทำของตัว
พระพุทธเจ้าสู้แบบนั้น ท่านจึงว่ามีนางธรณีมาช่วยเหลือ ว่าท่านระลึกถึงการนั่งของท่านเบื้องต้น ว่าเรานั่งเวลานี้ คราวนี้เป็นคราวสุดท้าย ถ้าหากไม่ได้ตรัสรู้เมื่อไร ความดีเด่นปนกิเลสไม่มี จะไม่หนีจากที่ เลือดเนื้อในตัวมันจะเหี่ยวแห้งไปเหลือแต่กระดูกก็ตามที ถ้าความดีไม่เกิดเห็นเป็นขึ้น จะไม่ยอมลุกจากที่ พอเกิดความเหน็ดเหนื่อยเจ็บปวดขึ้นมา เรียกว่าพญามารมารบเอาบัลลังก์คือที่นั่งของท่าน
คนเราโดยมากที่ไม่เห็นทุกข์ประจักษ์ชัดเจนก็เพราะอิริยาบถทั้ง ๔ ปกปิดเอาไว้ นั่งนานๆพอเป็นทุกข์หน่อยก็หนีไป เดินเสีย เดินนานๆก็เหนื่อยก็มานั่งเสีย อิริยาบถทั้ง ๔ ปิดเอาไว้จึงไม่เห็นทุกข์ประจักษ์ชัดใจ ถ้าหากเรานั่งนานๆหรือยืนนานๆเราจะเห็นก้อนทุกข์ กายอันนี้ เป็นทุกข์จริงๆจังๆ เพราะจิตยึดจิตถือ ถ้าจิตเห็นจิตรู้เรื่องทุกข์ ก็เห็นพิจารณาทุกข์ให้เห็นเป็นทุกข์ ให้เป็นเรา ให้เป็นของเรา มันเกิดขึ้นมาจากอะไร ความทุกข์เกิดขึ้นมาจากความอยากของใจ ไม่เกิดมาจากที่อื่น พิจารณาความอยากเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ นี่พิจารณาสมุทัย จิตใจเมื่อเห็นเด่นชัดมันก็ปล่อยวาง เรียกนิโรธคือความพ้นทุกข์ ทั้งๆที่กายมีจิตมีอยู่ แต่ทุกข์ไม่มีในความรู้ของบุคคลผู้ฝึกฝนรู้เห็นอย่างนั้น ท่านเรียกว่านิโรธ
การฝึกก็ไม่ใช่คนอื่นจะมาฝึกให้ พิจารณาต่อสู้จริงๆจังๆจะเห็นไม่เหลือวิสัย เรื่องจิตใจที่ดีเด่นเป็นสุข แล้วก็ไม่มีการติดข้องเพราะเรื่องของกายตัวเองก็ไม่ติดข้อง เรื่องสมบัติภายนอกจะไปห่วงใยอะไรทำไม เพราะพิจารณาเรื่องของกายแยบคายแล้ว ความยึดส่วนใหญ่ก็ยึดเรื่องของกาย พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พิจารณาเรื่องของกาย หลงก็หลงเรื่องของกาย ความสมมุติมั่นหมายต่างๆทับวิมุตติเอาไว้ เราพิจารณากายแยบคาย พิจารณาทุกข์ให้เห็นตามเป็นจริง ละความอยากของจิตที่ติดยึดต่างๆ ด้วยอุบายปัญญา มันก็หมดปัญหาเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องสั้นๆ มันมีความสุขวิเศษประเสริฐยิ่งกว่าความสุขส่วนอื่น
แต่พวกเราทุกคนเกิดมาก็ไม่ค่อยได้พิจารณาธรรมะอุบายที่จะซักฟอกจิตใจ ก็ไม่ค่อยได้ยินใครมาพูด จิตใจก็เลยลุ่มหลงไปตามลมปากของคนอื่นบ้าง ตามกิเลสตัณหาของตัวเองบ้าง ก็เลยไม่มีทางจะพินิจพิจารณา เหตุนั้นจึงถือว่าการภาวนาเป็นของยาก ความจริงถ้าหากมันยากก็ไม่มีใครที่จะผ่านพ้นไปได้ ถึงยากถึงลำบากก็ไม่เหลือวิสัย ผู้ทำได้ยังมี เราก็คนๆหนึ่งซึ่งเกิดมาในโลก สมควรที่จะทำได้อย่างคนอื่น
สอนตัวเองให้บากบั่นพยายามตามรักษาจิต กิเลสตัณหาที่หมุนหัวใจให้เฝ้าฝันรักใคร่ยินดีชอบใจ ก็พิจารณาเรื่องของกายอีก กำหนดดูทุกสิ่งทุกส่วนอะไรมันสวยสดงดงาม อะไรมันเป็นสิ่งที่น่าจูบน่าชม อะไรที่มันหอมหวล มันไม่มีในเนื้อในกายของมนุษย์ที่เค้าสมมุติว่าเป็นหญิงเป็นชาย แต่เราลุ่มหลงกันเพราะคนนั้นเค้าว่าสวยอย่างนั้นงามอย่างนี้ ไม่ได้พิจารณาตามความจริงของมัน ถ้าพิจารณาตามความจริงของมัน มันก็หายไป เหมือนมีมืดอยู่ที่ใด เอาไฟเข้าไปส่อง ความมืดก็หายไป ปัญญาธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เหมือนไฟ ธัมโม ปทีโป ส่องเข้าไป มันสงสัยอะไร มันเป็นจริงอย่างไร จะให้ทราบชัดภายในใจของเรา นี่อุบายที่จะพิจารณาแก้ไขกิเลสตัณหา ความติดข้องของใจ
ถ้าหากไม่ตั้งใจพินิจพิจารณา เอาธรรมะเข้าซักฟอกส่องทางแล้ว ก็นับวันจะลุ่มหลงขุ่นมัวสกปรกเรื่องของจิตใจ เป็นอย่างนั้น จึงไม่มีใครที่พระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสรู้จะออกจากโลกได้ จะเห็นภัยในการเกิดการตาย ถึงเห็นก็ไม่มีทางที่จะออกได้ โดยคิดปรุงฟุ้งไปต่างๆ ลัทธิศาสนาจึงเกิดขึ้นหลายอย่างหลายอัน เพราะความสงสัยลังเลในใจว่าอันนั้นจะถูก อันนี้จะผิด คิดเอา ไม่เห็นจริงรู้แจ้งเหมือนพระพุทธเจ้า พุทธศาสนา คำสอนของผู้รู้ ท่านรู้ท่านเห็น ท่านดีท่านเด่นจริงๆ ไม่ใช่ท่านโกหกพกลม พูดอะไรล้วนแต่เห็นด้วยใจจริงจัง ไม่ใช่คาดคะเนหรือสุ่มเดาคำนวณเอา พระพุทธเจ้าท่านรู้เห็นดีเด่นอย่างนั้น จึงน่ากราบน่าไหว้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านสอนมา
ที่เราสงสัยลังเลใจหรือไม่เชื่อก็เพราะความเห็นความเป็นของเรายังไม่ถึงขั้นของท่าน ถ้าหากถึงขั้นของท่าน จะกราบไหว้อยู่ทุกวันทุกเวลา หรือว่าคำสอนของท่าน ท่านรู้จริง พอเราประพฤติปฏิบัติเห็นไปเท่าไรก็ใจก็ยิ่งเชื่อยิ่งเลื่อมใส ยิ่งดึงดูดเข้าไปสู่ธรรมะของท่านที่แสดงเอาไว้ พวกเราทุกคนที่มุ่งมั่นมาประพฤติปฏิบัติก็รีบกระทำบำเพ็ญ ให้รู้ให้เห็น เพราะความตายไม่ว่าหญิงว่าชาย ว่าพระว่าเณร ว่าเด็กว่าหนุ่มสาวหรือเฒ่าแก่ มีประจำตัวอยู่ ก็ไม่รู้อีกว่ามันจะมาถึงเราเมื่อไร อยู่ดีๆตายไปก็เคยเห็น บางท่านบางคนว่าคนนั้นแก่แล้ว คงจะตายไปก่อน ความนึกคิดคาดฝันคิดอย่างนั้น แต่ความจริงเราผู้คิดตายไปก่อนเขาก็นับไม่ได้ มันมี
เหตุนั้นจึงไม่ควรนอนใจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ รีบประพฤติปฏิบัติอรรถธรรม ให้เห็นสิ่งที่ดีเด่นจริงจัง สิ่งที่ไม่ตายคืออะไร ยังยึดถือติดข้องกับอะไรในจิตในใจของตัว ชำระซักฟอกออกไปจนจิตใจบริสุทธิ์ จนหลุดออกจากสมมุติ เห็นเด่นชัดประจักษ์ชัดเจน ไม่ใช่คำนึงหรือสุ่มเดา ความรู้ที่หลุดลอยออกไปอย่างนั้นสมมุติทั่วไป หรืออากัปกิริยาท่าทีภายนอกเป็นอย่างไร มันเกี่ยวข้องกันมั้ย จะทำให้ความบริสุทธิ์ส่วนนั้นเสื่อมเสียไปได้หรือไม่ มันไม่มีอะไรที่จะสงสัย จะประพฤติปฏิบัติไปอีกขนาดไหน ความบริสุทธิ์ส่วนนั้นจะดีเด่นขึ้นอีกหรือไม่ ก็ไม่มีทางสงสัยอีก จึงหมดปัญหาสำหรับการประพฤติปฏิบัติ
แต่การประพฤติปฏิบัติเพื่อละถอนหมดปัญหา แต่ประพฤติปฏิบัติเป็นวิหารธรรมคือความเป็นอยู่สบายของกายและจิตที่ยังมีธาตุมีขันธ์อยู่ ท่านก็ทำไป จึงมีการเข้าสมาธิสมาบัติในครั้งพุทธกาล อรหัตอรหันต์ ไม่ใช่ท่านหมดสมมุติ เป็นผู้บริสุทธิ์แล้วจะทำอะไรทำไป ท่านก็มีขอบเขตของธรรมวินัยอีกเหมือนกัน ไม่ได้ทำสุ่มสี่สุ่มห้า รู้จักกาลรู้จักเวลาสถานที่บุคคล ท่านมีประมาณ เรื่องร่างกายสังขารของพวกเราก็เหมือนเครื่องใช้ภายนอก ถ้าหากใช้ไม่มีประมาณ มันก็เสียง่าย รถเกวียนเหมือนกัน เสื้อผ้าเหมือนกัน ถ้าหากใช้ไม่มีประมาณ ขาดง่าย เสียง่าย เงินทองของเราก็เหมือนกัน ถ้าจ่ายไม่มีประมาณก็หมดง่าย นี่สังขารร่างกายของพวกเราก็เหมือนกัน ต้องมีประมาณพอสมควร ต้องรู้จักรักษาร่างกายจึงจะอยู่ไปได้ตามสติวิสัยของมัน ไม่อย่างนั้นก็เสียหายไปง่าย
แต่ถ้าเราจะห่วงแต่เรื่องของกาย เราควรถนอมรักษา จะประพฤติปฏิบัติจริงๆจังๆ จะเอาอรรถเอาธรรมให้เห็นเด่นขึ้น ยังห่วงกาย มันก็ไปไม่ได้ ให้ไปถึงเสียก่อนที่เราต้องการแล้วจะปฏิบัติตามเรื่องของกายถูกต้องดี ถ้าหากเรายังห่วงเรื่องของกายว่ามันจะเป็นจะตายอย่างนั้นอย่างนี้ กลัวจะทุกข์จะยาก จะลำบากรำคาญ ถ้าหากล้มหายตายไปก็กลัวจะไม่ได้ความดีวิเศษ ถ้าคิดปรุงอย่างนี้อยู่ก็เป็นอุปกิเลส เป็นเครื่องขัดข้องทางประพฤติปฏิบัติ
ฉะนั้นเมื่อยังเราไม่เห็น ไม่เป็น ไม่รู้ สละต่อสู้จริงจัง ทำจิตทำใจให้แน่นหนาฝาครั่งเหมือนนางธรณีคือแผ่นดิน เค้าจะตำหนิติชมอย่างไร เค้าจะขุดจะเผา แผ่นดินไม่เคยมีการหวั่นไหว ไม่เคยชมคนนั้นว่าเอาเราไปปั้นเป็นเจดีย์หรือพระพุทธรูปกราบไหว้ ไม่เคยตำหนิคนนั้นว่าไปเผาไปขุดเรา แผ่นดินเป็นของหนักแน่นอย่างนั้น จิตใจของท่านผู้ภาวนาก็ต้องเป็นคนหนักแน่นอย่างนั้น ต่อสู้ทนทานจริงจังเพื่อความมุ่งหวังอรรถธรรม
เมื่อเห็นหรือระลึกได้ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงจังเรื่องของธาตุก็คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลมอย่างนี้ เพราะไม่มีอคติ เพราะไม่อยู่ในอำนาจของใคร เพราะเป็นไปตามหน้าที่ของเค้า แล้วก็ไม่เคยรักเคยชอบ ไม่เคยเกลียดชังใคร อยู่ตามเรื่องของเค้า ผู้ลุ่มหลงคือใคร พิจารณาให้เห็น ให้รู้ ที่ไปติดไปข้องไปชอบไปชมต่างๆ นี่เป็นอุบายเรื่องวิปัสสนา คือพิจารณาจิตใจของตัวเองด้วยอุบายต่างๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นเห็นขึ้น ความสว่างไสวของจิตของใจ เมื่อแก้ไขอะไรได้ก็เบาสบายไป เมื่อแก้ไขหมดมันก็พังเท่านั้น เรื่องสมมุติ
การแก้ไขก็เหมือนกันกับเรารื้อบ้านรื้อเกวียนของเรา ถอนน๊อตตัวนั้น ถอนตะปูตัวนี้ ออกจากกัน มันไม่อยู่ ที่มันเกาะกันอยู่ก็เพราะมีน๊อตมีตะปูผูกมัดมันไว้ จิตใจของพวกเราท่านที่มันยึดมั่นถือมั่นส่วนนั้นส่วนนี้ก็คือเรื่องของกิเลสตัณหา ของสมมุติต่างๆ ฉะนั้นการพิจารณากาย ท่านจึงให้พิจารณาให้แยบคายด้วยอุบายต่างๆ จะพิจารณาเรื่องน้ำเรื่องดินต่างๆที่ท่านสอนเอาไว้ อาการ ๓๒ พิจารณาออกไป ให้เห็นตามเป็นจริง หรือจะพิจารณาอสุภะอสุภัง พิจารณาความตายให้มันเห็น แล้วก็เผาด้วยไฟ ตั้งขึ้นใหม่ สมมุติขึ้น กำหนดขึ้น มันเป็นมันเห็นมันรู้ ไม่ใช่ความสุ่มเดาคาดฝัน จิตใจของท่านที่เห็นที่เป็นอย่างนั้น มันเป็นจริงๆ ท่านจึงละจึงถอนความยึดถือต่างๆได้
เมื่อละเมื่อถอนออกทุกสิ่งทุกอย่างก็พังลงเท่านั้น สมมุติอยู่ไม่ได้ เหมือนบ้าน ถอนน๊อต ถอนตะปูทุกตัวออกแล้ว เสาที่ฝังอยู่ผุดล้มลงไป ไม่มีอะไรเป็นบ้าน มันพังไปหมด สมมุติว่าหญิงว่าชายว่าสัตว์บุคคล ก็คือมันประกอบกันเข้า ถ้าหากเราแยกส่วนออกไปอ้ะ ไม่มีอะไรเป็นสัตว์เป็นบุคคล นี่การพิจารณาเรื่องธรรมะ พิจารณาทำนองนี้เพื่อจะถอดถอนความยึดมั่นสำคัญหมายว่าหญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่าแก่ต่างๆ จิตที่ยึดที่ถือก็จะค่อยละค่อยวาง ถอดถอนตัวออกไป เพราะไม่มีอะไรเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นหญิงเป็นชาย ถ้ามันเห็นประจักษ์ชัดเจนอย่างนั้น ใจมันจะไปกำหนดยินดี ชอบพออะไร มันก็จะต้องถอดถอนของมัน
นี่มันไม่เห็นอย่างนั้น มันสำคัญว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลอยู่ เพราะปัญญายังไม่เข้าไปถึงจริงจัง เป็นเพียงแต่สัญญาพูดจากันไปเท่านั้น ถ้าหากปัญญาไปเห็นจริงจัง แจ้งประจักษ์ในจิต ละได้ถอนได้ วางได้ ปล่อยได้ อุบายสอนใจมันมีหลายนัย แต่ใจที่จะไปรู้เห็นเป็นจริงอย่างนั้น จะต้องมีสมาธิคือความหนักแน่นของใจ ความสงบของใจ ถึงแม้ว่าจะฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ ไม่เคยอบรมมาก่อน ตอนฟังอยู่นั้น พิจารณาอยู่นั้น สมาธิ ศีล ปัญญามันเป็นอันเดียวกัน ติดกันไป ไม่ใช่จะทำสมาธิ จะทำศีล ทำปัญญา มันไม่เป็นอย่างนั้น
เหมือนกันกับแกงที่เรารวมใส่ในหม้อ รสชาติมันเป็นอย่างไร เราก็จะทราบ อะไรบ้างอยู่ในแกง มีพริก มีเกลือ มีน้ำปลา เนื้อ ผักต่างๆ ก็รวมแล้วเป็นแกง ถ้าแยกออก แยกยาก เมื่อมันแกงไปในหม้อเป็นอันเดียวกันแล้ว นี่จิตใจที่รวมเข้าไป พินิจพิจารณา ศีลของเราก็บริสุทธิ์ เพราะการรักษากาย วาจา กายวาจาของเราไม่ได้ไปทำอะไร บริสุทธิ์อยู่แล้ว จิตก็นิ่งแน่อยู่แล้วในการพิจารณา ปัญญาที่พิจารณาก็เป็นปัญญาที่จะละจะถอนอยู่แล้วพร้อมกัน เรียกมรรคสามัคคี มีอยู่ในจิตดวงเดียว เมื่อจิตรวมลงไปอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น การพิจารณาอะไรก็แจ่มใสชัดเจนเห็นประจักษ์
ถ้าหากไปคำนึงคำนวณถึงอดีตอนาคต เราจะเอาศีลของเรา บริสุทธิ์หรือไม่ หรือเป็นอย่างไร คิดถึงเรื่องศีล เรื่องสมาธิอยู่ มันก็รวมกันไม่ได้ เหมือนเรายังไม่แกง อันนึงอยู่ที่หนึ่ง อันนึงอยู่ที่หนึ่ง ก็เรียกว่าแกงยังไม่ได้ รสชาติของแต่ละสิ่งแต่ละอย่างก็ไปคนละรสละชาติอีก ยังไม่รวมกัน การพิจารณาธรรมที่รวมกันเข้า ถอดถอนกิเลสตัณหาก็คือศีล สมาธิ ปัญญารวมกันเป็นมรรคสามัคคี สามารถที่จะกำจัดความลุ่มหลงต่างๆ ความเพลิดเพลินต่างๆ ความติดข้องต่างๆ ออกจากจิตจากใจได้ ทำจิตของตนที่เคยมืดมนเศร้าหมองให้สว่างไสว ขับไล่เรื่องกิเลสตัณหาที่เคยนำพาจิตใจให้ลุ่มหลงตกออก
การพิจารณาที่ธรรมะมารวมกันเป็นอย่างนั้น แต่เรายังไม่เป็นอย่างนั้น ยังไม่เห็นอย่างนั้น ก็ฝึกอบรมไป ไม่เหลือวิสัย เพราะอะไร ทุกส่วนมีครบพอบริบูรณ์ในตัวของเรา ไม่มีอะไรบกพร่อง ถ้าไม่มีเรื่องกิเลสตัณหา ไม่มีข้าศึกก็จะไปเอาชัยชนะมาจากที่ไหน อะไรที่มันยึดมันถือ มันติดมันข้องอันนั้นหละเป็นข้าศึกของใจ เราจะต่อสู้พิจารณาแก้ไข จะเอาชัยชนะจากข้าศึกส่วนนี้ เราต้องรบ นักรบไม่ใช่นักหลบ พอไปโดนเค้าข่มขู่นิดหน่อย เจ็บปวดนิดหน่อย เอาแล้ว วันหลังเอาใหม่ ไปทีหลัง ไปเจอหน้าเค้าเข้าอีก หลบอีก ก็ไม่มีเวลาที่จะได้รบ จะได้ชัยชนะจากกิเลสตัณหา จากข้าศึกของใจ ให้พากันพิจารณาต่อสู้
ถ้าเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องถอยหลัง ตายก็ขอให้ตายในสงครามจึงจะได้ชื่อว่าเป็นทหารที่กล้า ตายดาบหน้า ไม่ต้องตายดาบหลัง บุกเรื่อยไป ไม่ตายก็จะได้ชัยชนะ ทหารที่ดีต้องเป็นอย่างนั้น นักภาวนาที่ดีก็เหมือนกัน พอไปถูกความเจ็บปวดเหน็ดเหนื่อยนิดๆหน่อย ก็หลบเสีย ผลที่สุดก็เลยเกิดสงสัย เป็นยังไง วาสนาบารมีของเราไม่มีมั๊ง ทำมาหลายปีหลายเดือนแล้ว ยังไม่เห็นอะไรดีเด่นอัศจรรย์ ก็ไปกลัวเรื่องกิเลสตัณหากระซิบ นิดหน่อยๆก็หลบเสีย มันจะได้อะไร ก็ไม่กล้าต่อสู้จริงจัง
เราได้ยินได้ฟังพระพุทธเจ้าทำมาอย่างไร ท่านมอบกายถวายตัว ทำจริงๆจังๆ ท่านจึงหลุดพ้นไปจากกิเลสตัณหา ทั้งๆที่ท่านสร้างบารมีมา ยังพอบริบูรณ์ ท่านก็จะต้องมีความเหน็ดเหนื่อย มีมารมารบกวน พวกเราท่านไม่มีปัญญาตราญาณอย่างนั้นว่าเราเคยมีบารมีเพียงพอบริบูรณ์หรือไม่ก็เลยเกิดสงสัยว่าท่านมีอะไร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกันกับพวกเราไม่ใช่หรือ เราจะไปสงสัยอะไร เรามีครบพอบริบูรณ์เหมือนกันกับท่าน กำหนดพิจารณาต่อสู้ดูจิตใจที่จะไปมั่นหมายต่างๆ มันจะออกแง่ไหน มุมไหน เอาปัญญาแนะสอนเอาไว้ ไม่ให้ใจปรุงคิด ตำหนิตัว พิจารณาธรรมะเข้าแนะสอน ฟอกจิตใจให้สะอาด หากเราทำไม่ได้ เราไม่เห็นไม่เป็น ก็จะไม่เชื่อใคร เพราะใจไม่เห็นไม่เป็น ถึงคนอื่นรู้เห็นเป็นมาบอกเล่าชักชวน ก็ไม่ยินดีเลื่อมใส ไม่มีความพอใจอยากกระทำ มันมืดมิดปิดบัง
ฉะนั้นคนสมัยปัจจุบันจึงไม่เชื่อว่ามีพระอรหัตอรหันต์ ผู้ดีวิเศษ ก็ตาเค้าไม่มี เค้าจะไปมองเห็นอะไร ก็เลยไม่เชื่อในจิตในใจ บาปบุญคุณโทษต่างๆ ไม่มี ยิ่งสมัยปัจจุบันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเหินห่างจากการประพฤติปฏิบัติกายใจทางศาสนา แล้วจะได้รับรสชาติของศาสนาอย่างไร เพราะการสนใจไม่มี ผู้แนะสอนก็ไม่ค่อยจะมีการแนะสอน ทั้งไม่ได้ฟัง ทั้งไม่ได้คิดจากตัวเอง ก็เลยห่างไกลไปใหญ่ เลยสงสัยว่าเรื่องศาสนาเป็นของครึ ของล้าสมัย คนเข้าวัดเข้าวาศึกษาศาสนาเป็นคนแก่ ความนึกคิดของเด็กปัจจุบันมักจะเป็นไปแบบนั้น ที่จะสนใจในอรรถธรรมมีน้อย เพราะผู้ใหญ่ที่จะไปแนะสอนก็ไม่ค่อยมี เพลิดเพลินตั้งแต่เรื่องของโลก เรื่องของอรรถของธรรมจริงจังไม่ค่อยเอาใจใส่ วันเสาร์ วันอาทิตย์ เป็นวันว่างจากการจากงาน ก็ไปเล่นไปเพลินส่วนอื่นเสีย จะมาฟังเทศน์ฟังธรรมอบรมจิตใจชำระสะสางความเศร้าหมองของใจไม่ค่อยมี เลยถือว่าเรื่องของโลกเป็นเรื่องสนุกสุขสบาย เห็นเรื่องโลกเป็นเรื่องดี เมื่อดีแล้วก็ละไม่ได้ ก็ยังติดในความดีของตัวอยู่ ยังหาสุขจากโลกได้อยู่
นี่พระพุทธเจ้าไม่เป็นอย่างนั้น ทั้งที่เป็นกษัตริย์ไม่ได้ติดได้ข้องในส่วนเหล่านั้น คิดดูพุทธประวัติ ก่อนจะเสด็จภิเนษกรมณ์ ทรงบรรพชา พอเปิดม่านออกมานางสนมจำนวนมาที่นอนหลับเฝ้าอยู่นั้น ท่านเห็นเป็นป่าช้าผีดิบ ไม่เห็นเป็นคนธรรมดา เพราะจิตของท่านพลิกขณะ ปกติจิตที่ไม่พลิก ยังคงที่ธรรมดาอยู่ เห็นคนก็เป็นคน เห็นว่าสวยก็สวยตามเรื่องของกิเลสตัณหา นี่จิตพลิกเข้าไปภายใน เห็นว่าเป็นป่าช้าผีดิบ ก็คนจะตายอยู่ทั้งหมดที่นอนอยู่นี้ ไม่มีใครที่จะเหลือหลอ จะไม่ใช่ป่าช้าอย่างไร คำว่าผีก็คือของที่ไม่ดีไม่งาม ก็อะไรมันงามอยู่ในกายของเราเป็นอย่างไร เค้าก็เป็นอย่างนั้น ท่านพิจารณาอย่างนั้น ท่านจึงเบื่อ เห็นปราสาทราชวังเป็นฟืนเป็นไฟ ต้องหนีไป หาอรรถหาธรรมเพื่อสงบระงับจิตใจ จึงตัดพระทัยไม่ลาใคร ขโมยหนีไปตอนกลางดึก นี่จิตใจของท่านเห็นเป็นอย่างนั้น
พวกเราท่านไม่เป็นอย่างนั้น เห็นเท่าไรก็ไม่มีการเบื่อในการดู ได้ฟังเท่าไรก็ไม่มีการเบื่อในเสียงที่ชอบจิตชอบใจ กิเลสมันผูกมัดดึงดูดอยู่ทุกวันทุกเวลา เพราะไม่ได้พิจารณาอรรถธรรม ธรรมเป็นแก้เรื่องแก้ไขกิเลส ความใคร่คิดติดข้อง ถ้าเราพิจารณาธรรม วกเข้ามาสอนใจ ความเพลิดเพลินพัวพันในเรื่องของโลกก็เบาไปสบายไป ไม่เห่อ ไม่หลง ทั้งๆที่สิ่งที่โลกของเค้าหลง แต่จิตของผู้คิดทำไม่หลงอย่างนั้น เค้าเพลิดเพลินยินดี ท่านสังเวชสลดใจ
อย่างอัครสาวกทั้งสอง อุปติสสะ สารีบุตร หรือ โกลิตะ โมคคัลลา ไปดูมหรสพทุกวัน เคยเพลิดเพลินเหินหันต่างๆ แต่ขณะจิตวันนั้นไปดูไม่เหมือนทุกวัน ดูแล้วคิดว่า เอ๊ะ นี่คนมันมาเล่นมาเพลินท่านั้นท่านี้ ไม่ใช่อันอื่น แล้วทั้งคนเล่นคนดูอยู่ในนี้ จำนวนมากขนาดนี้ ไม่ถึงร้อยปีจะต้องตายกันเพียบ ไม่มีใครเหลือหลอ เราจะมาคิดเพลิดเพลินทำไมในเรื่องเหล่านี้ พอจิตคิดได้เรื่องเหล่านี้ คิดขึ้นจากตัวเอง สอนตัวเองอย่างนี้ ก็เลยหมดความสนุกเพลิดเพลิน แล้วก็ชวนกันออกทั้งสอง คิดเหมือนกัน ไม่มีการสนุกเหมือนทุกวันที่เคยไปดู หาทางประพฤติปฏิบัติจิตใจให้พ้นทุกข์ เพราะอยู่ก็จะเป็นทุกข์อย่างนี้ มันเกิดขึ้นเป็นขึ้นในจิตในใจ ใช่ว่ามันจะหลงเรื่อยไปถ้าหากอาศัยธรรมเป็นแสงสว่างส่องทางแล้ว จิตใจที่เคยลุ่มหลงจะวกคิดมาทางใหม่ ที่เคยไปทางโลกก็จะกลับตรงกันข้าม หันเข้ามาทางธรรม
นี่โดยมากมันไม่ได้คิดวกกลับ ส่งนอกออกไปยิ่งไกลเหมือนวิ่งตามเงา ธรรมะของพระพุทธเจ้า โอปนยิโก น้อมเข้ามาภายในของตัว ไม่ได้ส่งออกไปข้างนอก อย่างพระพุทธเจ้าเห็นคนแก่ก็น้อมมาสอนตัว ว่าเราก็จะต้องแก่ เห็นคนเจ็บ เราก็จะต้องเจ็บ เห็นคนตาย เราก็จะต้องตาย พระพุทธเจ้าท่านนำมาสอนตัวของท่านอย่างนั้น เห็นสมณะท่านนั่งทำท่าเข้าฌาณสมาบัติ ท่านคงจะได้ความสุขความสบาย ท่านองค์นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใคร พิจารณาอรรถธรรมแจ่มใส ดีเด่น ไม่มีการกังวลเรื่องอื่น ความสุขคงจะมีอยู่ในจุดนี้ เกิดเลื่อมใส เกิดอยากออกบวชก่อนที่จะเสด็จออกบวชเห็นอย่างนั้น
ท่านจึงว่าเทวทูตคือผู้บอกอย่างเทวดา บอกของจริง ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันของจริง ไม่ใช่ของเล่น แต่เราเห็นเป็นใคร พระพุทธเจ้าเห็นว่าเค้าบอกแบบเทวดา ถ้าไม่มีส่วนเหล่านี้ ใครเล่าที่คิดหนีจากโลกจากสงสาร ใครก็จะต้องยินดีเพลิดเพลินในภพชาติของตนหนักแน่นเข้าไปเท่านั้น นี่มันมี ถึงจะเพลิดจะเพลิน จะสนุกขนาดไหน ความแก่ก็ไม่เคยไว้หน้า ถึงเวลาก็แก่ไป ความเจ็บก็เหมือนกัน จะรักษาขนาดไหนก็ยังมีเจ็บมีไข้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีตาย มันมี จึงเรียกว่าอริยสัจ ของจริงที่พระพุทธเจ้าตรัส ไม่มีโกหกพกลมใคร
สมัยใดก็ตาม วิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าขนาดไหน จะแก้ไขอริยสัจของพระพุทธเจ้า แก้ไขไม่ได้ จริงอย่างไรจะคงเส้นคงวาอยู่อย่างนั้น ใครจะฉลาดเฉียบแหลมขนาดไหนก็มาเถอะ จะทำเครื่องบินหรือจรวดดาวเทียมอะไร ขี่ไปเถอะ ขี่หนีความตาย จะไปโลกไหน โลกพระจันทร์พระอังคารก็ไปเถอะ เพราะจะต้องตายอยู่นั่นน่ะ ทุกข์เล่าติดตามไปมั้ย จะต้องติดตามไปอีก เค้าจะไปทิศใดทางใด ทุกข์ก็จะต้องติดตามไป ถ้าจิตใจไม่แก้ไขพิจารณาเห็นตามเป็นจริงแล้ว คนนั้นจะทุกข์ตลอดไปในสิ่งที่เค้าไม่สมหวังสมปรารถนาของเขา
นี่พระพุทธเจ้าท่านเห็นเป็นจริง ท่านจึงว่าเป็นอริยสัจ จะหนีไปทิศใดทางใดก็หนีไม่ได้ นอกจากจะพิจารณาเอาปัญญาแก้ไขให้เห็นตามเป็นจริงแล้ว ปล่อยวางตามสภาพของมัน มันเป็นอย่างไร เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น ไม่ยึดมั่นพัวพันลุ่มหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสต่างๆ วางได้ ปล่อยได้ ท่านถึงว่าการอยู่ป่าอยู่สงบวิเวก เป็นที่เยือกเย็น เป็นที่สบาย เป็นที่ของพระโยคาวจร คือผู้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติเพื่อจะข้ามพ้นไปจากวัฏสงสาร
ผู้ที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติอรรถธรรมจะต้องแสวงหาที่สงบสงัดปฏิบัติสะดวก ไม่ใช่คนมุ่งปฏิบัติอรรถธรรม สร้างอันนั้นก่ออันนี้ วิ่งเข้าสู่ตลาดลาดเล วิ่งไปสู่โรงหนังโรงละคร คนนั้นเป็นคนประพฤติอรรถปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ท่านไม่ว่าอย่างนั้น ท่านตำหนิเรื่องคลุกคลีตีโมงต่างๆ ท่านสรรเสริญความสงบสงัด สรรเสริญการอยู่โดดเดี่ยว ว่าเป็นทางที่จะพิจารณาแก้ไขกายใจที่ติดข้องง่าย จนได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังบัญญัติเสนาสนะห่างไกลจากหมู่บ้านซัก ๒๕ เส้น เป็นอย่างต่ำ เพราะอะไร เพราะเห็นว่ามันพอหลบหลีกจากเรื่องต่างๆได้ง่าย ถึงในจิตใจท่านไม่เกี่ยวข้อง ก็ในทิฐธรรมของท่าน อยู่แบบนั้นท่านสบาย เสือไม่ทิ้งลาย ถึงตายลายมันก็ยังอยู่ ท่านเคยรู้เคยเห็น เคยดี เคยเด่นด้วยเหตุใด ท่านก็ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น
ผู้ที่มาพึ่งพาอาศัยเมื่อได้อยู่ในที่สงบสงัดปฏิบัติสะดวกมันก็ง่าย จิตใจที่จะคลายกำหนัดยินดีต่างๆ ท่านไม่ได้สอนให้เข้าไปคลุกคลีตีโมงไปลุ่มไปหลงในเรื่องต่างๆ ท่านสอนให้แก้ไข เราทุกคนที่มาฝึกอบรมกายใจก็หมั่นพิจารณาธรรมะของพระพุทธเจ้าซักฟอกกายใจของตัว ที่ชั่วที่เสียต่างๆให้ตกออกไป ความดีเคยสงบสงัดอย่างไร เคยสว่างไสว เคยแก้ไขปลดเปลื้องจิตใจของเรา ห่างจากกิเลสตัณหาอย่างไร ก็หมั่นรักษาเอาไว้พิจารณาให้ก้าวหน้าขึ้นไป ผลที่สุดจิตใจที่เคยลุ่มหลงโง่เง่าเต่าตุ่นก็เป็นจิตใจที่ฉลาดเฉียบแหลมเข้า ละวางปล่อยเรื่องความยึดถือต่างๆจนหมดจากดวงจิตที่เคยติดข้อง ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนไปถึงที่สุดจุดหมายอย่างนี้
ฉะนั้นเมื่อพวกท่านทั้งหลายได้สดับรับฟัง แล้วจงนำไปพินิจพิจารณาฝึกกาย วาจา ใจของตน ต่อแต่นั้นไปก็จะมีความสุข ความเจริญในพระบวรพุทธศาสนา การอธิบายธรรมะก็เห็นว่าพอสมควร เสียเวลา ขอยุติธรรมะเพียงแค่นี้ เอวัง