Skip to content

สติปัฏฐาน ๔

หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร

เทศน์วันที่ ๒๙ ธ.ค. ๒๕๒๒

| PDF | YouTube | AnyFlip |

การพูดธรรมะ การฟังธรรมะ ทุกคนเคยได้ยินได้ฟังเรื่องการจะรักษาจิตใจของตัวนั้น ในระยะที่ท่านอบรมแนะสอนก็ต้องตั้งใจกำหนดรักษา ถือว่าการนั่งฟังนั้นไม่มีหน้าที่การงานอะไรที่จะยุ่งเกี่ยว ถือว่าเป็นการภาวนาในตัว ไม่เช่นนั้นจิตคิดปรุงยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนอก เรื่องของกายที่เกิดเจ็บปวด เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวต่างๆ จะได้รับผลจากการนั่งของตน การอบรมของตน ฉะนั้นทุกคนจงระวังรักษาจิตใจของตัว ส่วนกาย วาจา ไม่มีอะไรที่จะไปทำ ไปพูด นิ่งเฉยอยู่แล้ว รักษาแต่ใจภายใน ใจใคร่คิดติดข้องกับเรื่องข้างนอก ธรรมะที่แนะสอนโดยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้แนะสอนไปจากกายจากใจของคน ผู้สอนก็เอากายเอาใจมาสอน ผู้ฟังก็เอากายเอาใจมาฟัง เรื่องกายใจนี้เป็นเรื่องสำคัญ 

พวกเราท่านมันหลงใหลในเรื่องของกายของใจ ไม่ทราบอะไรเป็นอะไรกันแน่ ต้องอาศัยการฝึกอบรม การพินิจพิจารณาด้วยสติด้วยปัญญาของตัว จึงจะทราบเรื่องของกายตามเป็นจริงของมัน เรื่องของใจตามเป็นจริงของมัน กายใจนั้นมันอาศัยกัน แต่เราก็ยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ทราบว่าอะไรเป็นเรา ความคิดความนึกเป็นเรารึ เนื้อหนังเอ็นกระดูกเป็นเรา เลยเหมาเอาหมด ไม่เคยได้กำหนดพินิจพิจารณาแยกจากกัน เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ความหลงใหล ก็หลงใหลเรื่อยไป อะไรเกิดขึ้นทางกายก็ถือว่าเราเป็นความคิดนึกไปต่างๆ ก็ถือว่าเรานึกเราคิด มันมีความลุ่มหลงของคนทั่วไป ลุ่มหลงอยู่อย่างนั้น 

ผู้ที่ฝึกปฏิบัติใจของท่านในทางภาวนา ท่านจึงกำหนดเรื่องของกายให้แยบคายเข้าไป ตามทางที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนเรื่องสติปัฏฐาน ๔ คือให้พิจารณากายในกายของตัวว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา พิจารณาให้ทั่วให้เข้าใจอย่างนั้น เพราะกายอันนี้ที่เราสมมุติกันว่ากาย เค้าเองก็ไม่ทราบว่าเราสมมุติให้เค้าถูกต้องหรือไม่ เค้าไม่เคยต่อว่าต่อขาน จะสมมุติเป็นอะไรเค้าก็ไม่ถือสาคนสมมุติ หน้าที่ของเขาเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามหน้าที่ของเขา เขาไม่เคยลุ่มหลงเพลิดเพลินไปตามจิตตามใจที่ลุ่มหลงกับเขา หน้าที่จะแก่จะเฒ่า จะป่วยจะเป็น มันก็เป็นไปตามหน้าที่ของเขา แล้วเขาก็ไม่เคยคิดนึกว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ และไม่เคยห่วงเคยหวงว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ มันไม่ดีไม่งาม มันไม่เคยหึงเคยหวง มันเป็นไปตามเรื่องของมัน 

นี่คือเรื่องของกาย เรื่องของธาตุของขันธ์ พิจารณาให้จิตรู้เห็นตามเป็นจริงของมัน ว่ากายนี้หน้าที่ของมันเป็นอย่างนี้ ให้ทราบดีในจิตในใจ อย่าไปยึดว่ากายเป็นเรา เราเป็นกาย ผู้ไปเห็นจะรู้เรื่องของกายนั้นให้แยกออกจากเรื่องของกาย จะแยกออกนั้นถ้าหากจิตของเราไม่ละเอียด ไม่เห็นจริง มันก็แยกไม่ออกได้ ที่มันแยกออกได้ต้องจิตละเอียด จิตเป็นเองของมัน มันเห็น เรื่องของกายเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างนี้ เมื่อกายมันชำรุดทรุดโทรมไป มีการป่วยไข้มีการแตกสลาย ถ้าหากจิตเห็นเรื่องของกายตามความเป็นจริงของมัน ก็เหมือนกับบ้านของเราถูกไฟไหม้หรือถูกพังลงไป แต่ตัวของเรานั้นไม่ใช่บ้าน บ้านไม่ใช่เรา เข้าใจชัดเจนอย่างนั้น และไม่มีความเสียอกเสียใจอะไรกัน เพราะเรื่องอันนี้มันเกิดขึ้น มันแปรปรวน มันแตกสลายตามหน้าที่ของมัน ที่มันจะอยู่นานได้ก็เพราะอาศัยปัจจัยคือกรรมบำรุงเอาไว้ ที่มันพังไปง่ายก็เพราะอาศัยปัจจัยคือกรรมชั่วเสียถูกตัดรอน ให้มันพังมันทลายง่าย ให้พิจารณาทางธรรมะ พิจารณาให้แยบคายลงไปอย่างนั้น เรียกว่าเรามีสติอยู่ในกาย พิจารณากายเป็นเรื่องของกาย ไม่ใช่หญิงไม่ใช่ชาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ผู้มารู้มาเห็นเป็นอีกอันหนึ่ง สิ่งที่เรียกว่ากายเป็นอีกอันหนึ่ง นี่คือทางพิจารณาทางสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าสอนให้นักภาวนากำหนดพิจารณา 

เวทนาความสุขทุกข์เฉยๆนี่ก็มีอยู่ทุกระยะ เว้นแต่เราจะมีสติกำหนดดูแลหรือไม่ แต่ความจริงสิ่งเหล่านี้มีอยู่ทุกระยะทุกเวลา ไม่ว่าเราจะอยู่อิริยาบทใด ความสุข ความทุกข์ เฉยๆนั้นมันมีแต่มันเปลี่ยนหน้าที่กัน บางทีทุกข์เกิด สุขมันก็หายไป สุขเกิด ทุกข์มันก็หายไป เวลาไม่ทุกข์ไม่สุข เฉยๆมันก็เกิด มันมีอยู่อย่างนี้เรียกว่าเวทนา เวทนานี้ก็อาศัยกายอาศัยจิต ถ้ามีแค่กายถ่ายเดียว เวทนามันก็ไม่เกิดขึ้น มีแต่จิตถ่ายเดียว เวทนาก็ไม่เกิดขึ้น เหมือนกันกับเสียงต้องอาศัยมีสองอย่างกระทบกัน เสียงจึงเกิดขึ้น ถ้ามีอย่างเดียวเหมือนเราปรบมือข้างเดียว เสียงดังมันก็ไม่เกิดขึ้น ถ้าเอารับกันหละ เสียงดังมันเกิดขึ้น เสียงนั้นเหมือนกันกับเวทนา มีจิตมีกายอยู่ เวทนาจะต้องมี ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่อย่างนั้นก็เฉยๆ มันมีอยู่อย่างนี้ 

แต่เวทนานี้ก็เป็นแต่สักเวทนา ไม่ใช่ว่าเรา ไม่ใช่ว่าสัตว์ มันเป็นมาแต่ไหนแต่ไร สัตว์ที่มันพูดไม่รู้ภาษา ไม่เข้าใจภาษาของมัน มันก็มีเหมือนกันกับมนุษย์เรา เรียกว่าเวทนา แต่เวทนานั้นโดยส่วนใหญ่ ทุกข์ไม่ว่าคนว่าสัตว์ไม่ปรารถนา ชอบสุข ยินดีในสุข อยากจะให้สุข อยากจะให้สบายอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ท่านสอนก็สอนความจริง ไม่ว่าสุข ไม่ว่าทุกข์หรือเฉยๆเกิดขึ้น มันต้องแปรไป เปลี่ยนไป ดับไปตามหน้าที่ของมัน ไม่ใช่ว่ามันจะคงทนอยู่เรื่อยไป มันเป็นหน้าที่ของมันเป็นอยู่อย่างนั้น แต่เราไม่เห็นตามเป็นจริง จึงเกิดความดีใจเสียใจในสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรที่เราไปหลงใหลรักมัน ชอบมัน หรือไปเกลียดมัน มันก็ไม่ได้เสียใจ นี่คือเวทนา มันมีอยู่ทุกรูปทุกนาม คนจะประพฤติปฏิบัติตามอรรถตามธรรมก็ตาม คนที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติอะไรก็ตาม เวทนานั้นมีอยู่ด้วยกันทุกถ้วนหน้า ถ้าเกิดมาแล้วเวทนาต้องมี มีกายมีจิต นี่คือการพินิจพิจารณาเรื่องเวทนา เรียกว่าพิจารณาสติปัฏฐาน 

นอกจากนั้นพิจารณาจิต ความนึกคิด นึกคิดอย่างนั้น นึกคิดอย่างนี้ บางทีก็ไปในทางชั่วที่นักปราชญ์ทั่วไปตำหนินินทา คือคิดไปทางกิเลสตัณหา ทางโลภ ทางโกรธ ทางหลง บางทีก็คิดไปในทางดี ทางสุจริต บางทีก็คิดไปในแง่ที่จะแก้ไขจิตใจของตนให้พ้นทุกข์ มันคิดไปได้ทุกแง่ทุกมุม เรื่องของจิต จิตนี้ก็สักแต่ว่าจิต คือนึกคิดเท่านั้น คิดดี คิดชั่ว คิดผิด คิดถูก เป็นเรื่องของจิต มันคิดได้ปรุงได้ แต่เราก็คอยดีใจเสียใจในความคิดของตัว เพราะสติปัญญาของเราไม่เข้าใจเรื่องความนึกคิดว่ามันเป็นตัวของตัว ถ้าหากเราเข้าใจว่าความนึกคิดนี้ก็เพียงแต่ความนึกคิด เพียงแต่จิตปรุงทางสติปัฏฐานท่านเรียกว่าจิต ถ้าหากพูดถึงเรื่องของขันธ์ท่านเรียกว่าสังขาร ความปรุงคิด แล้วแต่จะสมมุติมัน จะว่าอะไรนั้นมันก็ไม่ดีใจเสียใจ นี่มันมีอยู่ด้วยกันทั้งนักบวชทั้งฆราวาส ความนึกคิดเรียกว่าจิตตานุปัสนา คือพิจารณาจิตตามสติปัฏฐาน 

นอกจากนั้นธรรมคือความดีชั่ว จะกุศลธรรม อกุศลธรรม หรือความเป็นกลางๆเรียกว่าอัพยากฤตธรรม เราก็คิดไปได้ พิจารณาไปได้ นี่สติปัฏฐานทั้ง ๔ ถ้าหากแยกออกไป มันเป็นอย่างนั้น รวมแล้วก็คือกายคือใจของเรา ไม่ได้มีอยู่ที่อื่น ผู้ที่กำหนดอยู่นี้พิจารณาให้รู้ให้เข้าใจตามเป็นจริงของมัน ท่านว่าเจริญสติปัฏฐาน คือพิจารณาคิดอ่านเรื่องของกายของใจให้รู้ให้เข้าใจให้ประจักษ์ อย่าไปยึดทั้งชั่วทั้งดี ให้ทราบตามเป็นจริงของมันแล้วปล่อยวางในสิ่งนั้นๆตามเป็นจริงของมัน อย่าให้จิตไปยึดไปถือ ไปแบกไปหาม ถ้าหากฝึกปฏิบัติมันจะเห็นเอง ความติดข้องละถอนของจิต เคยยึดเคยถือ เคยสำคัญมั่นหมาย แต่มาพิจารณาในธรรมะแยบคายลงไป มันจะถอดจะถอนเรื่องความยึดถือนั้นๆ เพราะเห็นตามเป็นจริงของมัน 

ผู้ที่พินิจพิจารณาในสติปัฏฐาน ๔ ตั้งหน้าตั้งตากำหนดรักษาดูแลเรื่องของจิต ไม่ให้คิดไปข้างนอกจากสติปัฏฐาน เบื่อในการพิจารณากาย ก็มากำหนดพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เบื่ออันหนึ่งมาพิจารณาอันหนึ่ง วกไปวนมา พิจารณาอยู่ในสติปัฏฐาน ไม่ให้ออกไปข้างนอก คนนั้นพระพุทธเจ้ารับรองว่าอย่างช้าที่สุดไม่เลย ๗ ปีจะมีคติเป็นสอง คือจะเป็น…พระอนาคา กับพระอรหันต์ โสดากับสกิทาคานั้นท่านไม่พูด คือมันต่ำเกินไป จะต้องเป็นพระอนาคากับพระอรหันต์ อย่างช้าที่สุดเพียง ๗ ปีเท่านั้น บางท่านบางคนไม่ถึง ๗ ปี หกปีห้าปีจนเจ็ดเดือนเจ็ดวันจะเป็นไปได้ 

นี่พวกเราท่านก็เคยพิจารณากันแต่มันไม่ติดต่อให้ โดยส่วนใหญ่พอกำหนดนิดๆหน่อยๆแล้วก็ออกไปคิดปรุงอันใหม่ สติปัญญาไม่มีที่จะกำหนดพิจารณาในกายในเวทนาในจิตในธรรม ปล่อยให้เที่ยวไปตามความอยากของใจ ทั้งๆที่เป็นนักบวชก็เหมือนกัน เหตุนั้นคุณค่าสาระของอรรถของธรรมจึงไม่เกิดขึ้นถึงบวชมาระยะยาวนานก็ตาม ถ้าหากคุมรักษาเอาไว้ ติดต่อกันไปมันก็เป็นไปได้ กิเลสตัณหาหน้าไหน มันจะมายั่วยุจิตใจให้ลุ่มหลง ถ้าหากพิจารณาตามธรรมะ มันไม่มีทางที่จะเข้าได้ เพราะธรรมะรักษาเอาไว้ จิตมีสติ จิตมีปัญญา อะไรผ่านมาทราบ มันแว้บออกไปจากกาย จากเวทนา จากจิต จากธรรม ถ้ารักษาเอาไว้ไม่ให้มันแว้บออกไป ใจอยู่ในวงของอรรถของธรรมจริงจังแน่นอนอย่างนั้น ความรู้ที่เป็นอรรถเป็นธรรมจะเกิดขึ้น ว่าอันนี้เป็นอันนั้น อันนั้นเป็นอันนี้ชัดเจนขึ้น 

และเมื่อจิตไม่ยึดถือกาย เวทนา จิต ธรรมแล้ว มันจะเป็นอย่างไร เราก็พอทราบได้ว่ามันไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะทำให้จิตหลงใหล ทำให้จิตข้องติดในสิ่งทั่วไป เพราะเรื่องของกายหรือเวทนานี้เป็นปัญหาใหญ่ ทุกคนลุ่มหลงกัน เรื่องหยาบๆ พอเราไม่เคยเห็นของละเอียด เห็นแต่ของหยาบๆ มันก็ติดแต่ของหยาบๆ กายนี่มันของหยาบ ถ้าหากพิจารณากายของตัวหยาบๆนี้ ทั่วถึงจริงจังแล้ว สิ่งภายนอกที่เป็นรูปเหมือนกัน มันก็เหมือนกันหมด กายของเรามันมีหน้าที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างไร รูปอื่น สัตว์อื่น คนอื่น ในอดีตอนาคตมันก็เหมือนเรากำหนดอยู่ในปัจจุบัน มันไม่อะไรกันที่จะทำให้ลุ่มหลง เพราะปัจจุบันเห็นประจักษ์อยู่อย่างนั้น มันแปรปรวนไปอย่างไร เราติดข้องในรูปของเราก็ติดข้องสิ่งของวัตถุต่างๆเรื่อยไป เมื่อเราเข้าใจรูปของเรา กายของเราแยบคายเท่าไร จนใจปล่อยเรื่องของกาย เห็นเป็นตามสภาพของมันแล้ว สิ่งอื่นทั่วไปนั้น ไม่ต้องไปละไปถอนมัน มันเข้าใจ เพราะมันเป็นรูปเหมือนกัน มันจึงไม่มีอะไรที่จะสงสัย

นี่การพิจารณาตามสติปัฏฐานมีคุณค่าอย่างนั้น ความสุขทุกข์เฉยๆเรื่องเวทนานั้นก็ทำนองเดียวกัน ถ้าหากมันไม่มีการสลายตัวมันไป เราเคยทุกข์หนักๆก็เคยทุกข์มา ถ้าหากมันเป็นอย่างนั้นอยู่ ไม่มีการสลายไป เป็นอย่างไรยังคงอยู่อย่างนั้น เราก็อยู่ไม่ได้ ตายไปนานแล้วเพราะเวลามันทุกข์มากๆ เราจะนั่ง จะยืน จะหลับ จะนอนอยู่อิริยาบถใดมันทุกข์อยู่ตลอดเวลา อยากรับประทานมันก็รับประทานไม่ได้ จะหลับนอน มันก็ไม่หลับให้เพราะทุกข์ แต่มันดับไป มันเกิดขึ้นแล้วมันดับไป สุขก็เหมือนกันบางทีมันสุขเอาจริงๆจังๆ มันเคยประสบพวกที่ไม่เคยภาวนาอยู่ในทางโลกก็เคยลุ่มหลงเพลิดเพลิน สุขเพราะเรื่องของโลก มันก็เคยประสบมา แต่สิ่งเหล่านั้นมันก็หมดไป หายไปของมัน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามอรรถธรรมภาวนานั้นก็เคยประสบพบเห็นอีกเหมือนกัน ความสุขความสงบของใจ สุขอย่างไรนั้นผู้เห็นจะทราบ จะเข้าใจในตัวเอง แต่สิ่งเหล่านั้นมันตั้งมั่นหรือไม่ หรือมันเกิดแล้วมันแปรปรวนแล้วแตกสลายไป มันก็พอทราบได้ว่าอะไรทุกอย่างที่มีการเกิดขึ้น จะต้องมีการแปรปรวนและแตกสลาย หน้าที่ของมันเป็นอยู่อย่างนั้น 

แต่จิตใจของพวกเราท่านมันไปยึด เมื่อสุขก็อยากจะให้สุขอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา กายก็อยากจะให้มันหนุ่มมันสาวอยู่อย่างนั้น ไม่อยากให้มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรมาเบียดเบียน มันปรารถนาอย่างนั้น ปรารถนาสิ่งที่มันไม่มี ปรารถนาสิ่งที่มันเป็นไม่ได้ จะปรารถนาเท่าไรก็ปรารถนาไป ผิดหวังอยู่ตลอดชีวิต ความผิดหวังนั่นแหละทำให้จิตของเราเศร้าหมอง ทำให้จิตของเราเดือดร้อนเป็นทุกข์เพราะมันไม่สมปรารถนาให้ มันฝ่าฝืนความจริง มันจึงเป็นอย่างนั้น การพิจารณาอบรมธรรมะ ปฏิบัติใจของตัวนั้นเพื่อให้เห็นสิ่งต่างๆตามเป็นจริงของมัน เมื่อเห็น เมื่อเข้าใจสิ่งต่างๆตามเป็นจริง มันจะไม่มีทางสงสัย มันจะละ จะถอน จะปล่อย จะวางความยึดถือที่เคยฝังในจิตในใจของตัวมา นี่คือการภาวนา การละถอนเรื่องกิเลสที่เคยข้องติดคิดแวะ 

ทุกคนมีหน้าที่ที่จะฝึกอบรม ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีวันเวลาที่จะสงบได้ เพราะโลกอันนี้มันมีอยู่ ไม่ว่าตั้งแต่สิ่งข้างนอกมายั่วยุ ในตัวของเรามันก็ยั่วยุอยู่เรื่อย เป็นอยู่เรื่อย เพราะกายมันมีอยู่นี้ ใจมันมีอยู่นี้ มันหลงอันนี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณา นี่คือการศึกษาธรรมะ การภาวนาละกิเลส ไม่ได้มีอยู่ที่อื่น ทุกคนมีกายมีใจที่จะประพฤติปฏิบัติ ที่จะรักษาละถอนสิ่งที่ชั่วเสียต่างๆ ไม่ใช่ว่าจะไปหาที่นู้นก่อน ที่นี้ก่อน เพราะธรรมเดี๋ยวนี้ไม่มี รูปธรรม นามธรรมมันมี สิ่งที่เป็นรูปมันก็มีอยู่ในเรา สิ่งที่เป็นนามเช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็มีอยู่ในเรา ตัวของเราจึงครบทุกสิ่งทุกอย่าง เรื่องของธรรมไม่ว่ารูปธรรม นามธรรม ถ้าพิจารณาลงไปในนี้ให้เห็นตามเป็นจริง อย่าเอากิเลสตัณหาเป็นศาสดา ให้เอาธรรมะ เอาของจริงอริยสัจเข้าตัดสิน จิตมันจะเห็น ไม่ตื่นเต้นเย็นสบายเพราะมันไม่หลงรูปกาย ไม่หลงนามธรรม สิ่งเหล่านั้นมันเป็นอย่างไร ผู้ไปรู้ไปเห็นไม่ได้เป็นอย่างนั้น 

ถ้าหากจิตของเราฝึกอบรมปฏิบัติแยกออกจากรูปจากนามส่วนนั้นได้ คือเข้าใจในตัวของตัวเอง แต่ก่อนเคยเป็นอย่างนั้นๆ แต่มาประพฤติปฏิบัติเห็นรู้ มันเป็นอย่างนี้ๆ มันก็ทราบ มันจึงไม่มีอะไรที่จะสงสัย นี่คือการปฏิบัติ ทุกคนมุ่งความสุขความสงบแต่ไม่ทราบว่าจะไปหาที่ไหน ความสงบภายนอกมันพอหาได้ แต่ความสงบภายในไม่รู้จักจะปฏิบัติรักษาตัวเอง ถึงข้างนอกจะสงบขนาดไหน แต่ข้างในมันไม่สงบให้ มันก็ไม่มีคุณค่าสาระอะไร ต้องให้สงบข้างใน คือจิตใจสงบรู้เห็นตามเป็นจริงในอรรถในธรรม ส่วนข้างนอกนั้นมันบังคับบัญชาไม่ได้ เราไม่ชอบ เค้าชอบ มันก็หาเรื่องมาให้ไม่สงบได้ เพราะรูปเสียงมันมีอยู่ในโลกแต่ไหนแต่ไรมา เค้าชอบ เค้าปรารถนาเค้าก็หามาเล่นมาดูกัน แต่เราไม่มีปัญญา ไม่มีธรรมะ พอกระทบสิ่งเหล่านั้น เราก็เกิดเดือดร้อน ถ้าหากสิ่งที่เราชอบเรายินดี เราก็สุขก็สบาย ถ้าสิ่งที่เราไม่ชอบไม่ยินดี เราก็ทุกข์ร้อนในจิตในใจของเรา นี่คือจิต คือใจภายในมันเป็นอย่างนั้น 

แต่ความจริงความชอบก็ดี ความไม่ชอบก็ดี มันเป็นสองฝั่งทาง กลางทางมันไม่เดิน อยู่ดีๆสบายๆมันไม่เอา วิ่งไปหาสิ่งนั้น วิ่งไปหาสิ่งนี้ ความสงบมันจึงไม่มี ถ้าหากรู้จักรักษาความสงบของตัว อารมณ์สัญญาต่างๆนานา ที่มันเกิดขึ้นผ่านมายั่วยุ ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับมัน สิ่งเหล่านี้มันมีมาแต่ไหนแต่ไร เราอยู่เฉยในความสงบ แล้วก็ดูสิ่งที่มันปรุงคิดต่างๆ เพียงแต่ดู อย่าไปเป็นคนเล่น มันจะต้องเห็น ถ้าไปเล่นกับมันหละมันทุกข์ นี่คือจิตของผู้ประพฤติปฏิบัติ ท่านนิ่งได้ทั้งๆที่รูปเสียงเรื่องนอกมันมี ท่านก็นิ่งได้ ท่านไม่ไปยุ่งเกี่ยว ไปลุ่มหลงกับเรื่องเหล่านั้น พยายามฝึกให้มันเป็นอย่างนั้น ให้มันสงบอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องมีการออกการเข้า ให้มันบริสุทธิ์ อย่าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันกับสิ่งต่างๆ ความจริงมันเป็นอย่างไร ให้เห็นจริงในจิตในใจ อย่าไปกั้นกางหักห้าม อยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ ทั้งๆสิ่งเหล่านั้นมันเป็นจริงอย่างนั้น เราจะให้มันเป็นไปตามความต้องการของเรา มันจึงเกิดลำบากเกิดทุกข์เกิดโทษ ให้พิจารณา 

เรื่องของกายของใจนั้นมันมีด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน มันมีกำหนดดูอยู่นั้น เมื่อจิตไม่หลงกาย ไม่หลงตัวของตัวแล้ว ไม่หลงจิตของตัวแล้ว มันสุขมันสงบอย่างไรนั้น ไม่ต้องไปถามถึง ตัวของตัวจะทราบเอง ความสงบความสุขที่เราเคยลุ่มหลงติดข้องมาก่อน กับความถอดความถอนความรู้ตามเป็นจริงในสิ่งต่างๆ แล้วจิตปล่อยวางอยู่สงบนั้น มันมีคุณค่าสาระต่างกันอย่างไร ผู้ประพฤติปฏิบัติจะทราบจะเข้าใจ ถ้าไม่พิจารณาภายในอย่างนี้ มันไม่มีทางที่จะแก้ไข ไม่มีทางที่จะสงบได้ ไปโน้นก็เป็นอย่างนั้น ไปนั้นก็เป็นอย่างนี้ เพราะจิตของเราเองไปยุ่งเกี่ยว ไปสมมุติ ไปผูกพัน ไปยึดถือ ถ้าหากทราบเรื่องของตัวตามเป็นจริงแล้ว สิ่งภายนอกมันเป็นอย่างไรนั้น เราไม่เห็น ไม่ได้ยิน มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น เราไปชอบกับมัน ไปตำหนิมัน มันเกิดรักความดีความวิเศษอะไรจากการไปชมไปตำหนิ มันก็จะทราบอีก เมื่อมันทราบทุกอย่างอย่างนั้น มันก็ไม่ไปข้องแวะไปยึดถือ พยายามพินิจพิจารณากำหนดรักษา 

โอกาสเวลาที่จะฝึกอบรมได้ก็เมื่อเรายังไม่ตาย คือกายกับจิตมันอยู่ด้วยกัน เมื่อตายไปแล้วถึงกายจะมีอยู่ทุกชิ้นทุกส่วน ไม่ว่าแข้งขา ตาหูอะไรมีอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้มันทำอะไรไม่ได้ แล้วมันก็ไม่โกรธใคร ไม่ชอบใคร ไปทิ้งไว้ที่ไหน จะหนาวขนาดไหน ไม่หาผ้าห่มไปให้ มันก็ไม่เคยบ่น นี่คือจิตไม่อยู่ในกาย คนตายจะร้อนขนาดไหน ทิ้งไว้ในไฟก็ไม่เคยบ่น ฝังดินไว้มันก็ไม่อึดอัดหายใจไม่ได้ มันก็ไม่ว่า นี่คือคนตาย หมดคุณค่า จะทำบุญทำบาปก็ไม่ได้ จะทำดีทำชั่วอะไรไม่เป็น ไม่ว่าคนตายสัตว์ตาย มันเป็นอย่างนั้น มันหมดคุณค่า แต่คนตายนั้นไม่มีคุณค่าเท่าสัตว์ตาย สัตว์ตายถ้าเป็นวัวเป็นควาย หนังมันก็ขายได้ เขามันก็ขายได้ กระดูกเนื้อมันก็ขายได้ แต่คนตายนี้ ไม่มีใครนิยมชมชอบกัน มีแต่เอาไปเผาไปฝังเท่านั้น คุณค่าไม่มี 

แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่าเหนือคน คนมีคุณค่ามาก สามารถที่จะสร้างอะไรต่ออะไรให้เป็นประโยชน์แก่โลกได้ และสามารถที่จะละจะบำเพ็ญความชั่วความดีในกายในใจของตัวได้ สามารถเป็นที่ตั้งของมรรคของผลได้ สัตว์ถึงหนังเขามันจะมีราคา เนื้อมันจะมีราคา แต่สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถที่จะชำระจิตใจของเขาให้บริสุทธิ์ เป็นอภัพพสัตว์ พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้แนะสอนขนาดไหน สัตว์เหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะได้มรรคผลให้ แต่มนุษย์นี่เป็นภัพพสัตว์ ถ้าหากตั้งใจตั้งจิตปฏิบัติจริงจังตามธรรมะของพระพุทธเจ้า พินิจพิจารณาใช้สติปัญญา บังคับกายวาจาใจของตัวให้อยู่ในขอบเขตของธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอน สิ่งที่ชั่วที่ผิดต่างๆ ท่านหักห้ามก็ระวัง อย่าไปแตะต้องไปทำ สิ่งที่ท่านว่าเกิดประโยชน์ถ้าทำไปก็พยายามบังคับกายบังคับใจของตัวทำ รักษาอารมณ์สัญญาต่างๆที่เป็นพิษเป็นภัยไม่ให้เกิดขึ้น ที่มีอยู่แล้วกำจัดขับไล่ไป นี่คือการปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธเจ้า 

ผู้ปฏิบัติอย่างนั้นก็สามารถที่จะรู้เห็นในมรรคในผล ท่านจึงเรียกว่าภัพพสัตว์ คือสัตว์ที่ควรตรัสรู้ ควรมีมรรคมีผลขึ้นในจิตในใจของตน ผิดกันกับสัตว์ สัตว์อื่นไม่มีทาง พระพุทธเจ้าจึงสอนมนุษย์เป็นสำคัญ ตัวของพระองค์ก็เป็นมนุษย์ แล้วก็มาสอนมนุษย์ที่ลุ่มหลงติดข้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ สอนก็ไม่เอาอะไรมาสอน เอาสิ่งที่มันเป็นจริงในพระทัยของพระองค์ ตอนที่ยังไม่ได้บำเพ็ญธรรมะ ไม่มีตปธรรมเผากิเลสตัณหา พระองค์เองก็เคยเป็นอย่างนั้น เมื่อพระองค์ได้บำเพ็ญตปธรรมแผดเผากิเลสด้วยสติด้วยปัญญาพินิจพิจารณาอย่างนั้นๆ ความปล่อยวางถอดถอนของใจเป็นอย่างไรๆ พระองค์ก็เอาอันนั้นน่ะมาสอนพวกเรา ไม่ได้เอามาจากที่อื่น 

เช่นนั้นคำสอนของพระองค์จึงมีอยู่ทุกกาลทุกเวลา ถ้าหากสัตว์ยังมีอยู่ คนยังมีอยู่ โลกยังมีอยู่ คำสอนก็ยังมีอยู่ แต่คนนั้นจะฉลาด นำคำสอนมาชำระกายวาจาใจของตัวที่ชั่วที่เน่าที่เหม็นออกไปนั้น แล้วแต่ผู้ฉลาดจะนำมาประดับชำระ ถ้าไม่ฉลาด คำสอนจะมีอยู่ก็ไม่เกิดคุณค่าสาระให้ เพราะไม่ฉลาด ความจริงมันมีธรรมะ แต่อาศัยความฉลาดของบุคคลที่จะนำมาฝึกฝนปฏิบัติตัว ถ้าไม่ฉลาดถึงสิ่งนั้นมันจะมีอยู่ขนาดไหน มันก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เหมือนกันกับไม้มันมีเต็มดงเต็มป่า แต่ไม่ฉลาดที่จะนำมาปลูกบ้านปลูกเรือน มันก็อยู่ในป่า ลมพัดใบอย่างนั้น เวลาฝนตกแดดออกจะพึ่งพาอาศัยให้สุขให้สบาย มันก็พึ่งพาอาศัยไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มาทำ แปรรูปมาทำเป็นบ้านเป็นเรือนให้ 

นี่ธรรมะมีอยู่ในโลกก็ทำนองเดียวกัน รูปธรรม นามธรรม แต่เราไม่นำมาสอนใจของเรา พิจารณาแก้ไขให้ใจเห็นจริง มันจึงไม่เกิดประโยชน์ให้ เค้าพูดอะไรหรือเห็นอะไรก็พลอยแต่จะหลงจะเชื่อไปในสิ่งนั้นๆ ถ้าหากเราฉลาด นำสิ่งนั้นๆมากำหนดพิจารณาเพื่อการละการถอนในความยึดความถือของตน จนจิตใจเห็นจริง มันก็ปล่อยวางไปได้ ถึงรูปเสียง เรื่องราวของโลกจะมีอยู่ ท่านก็ไม่ข้องติด ถ้าหากท่านรู้ท่านเห็นในอรรถในธรรมจริงจังอย่างนั้น เหมือนกันกับใบบัวที่มันอยู่ในน้ำ มันก็ไม่ได้เปียกชุ่มไปด้วยน้ำ ตกหยดหยาดลงมา น้ำค้างมันก็ไหลหนี นี่จิตใจของพระอริยเจ้าผู้ฝึกปฏิบัติจริงจัง ท่านมีความสงบเย็นอย่างนั้น ท่านจึงนำมาสอนพวกเราท่านที่ลุ่มหลง ให้รีบประพฤติปฏิบัติ เพราะชีวิตนี้เป็นของไม่แน่นอน ไม่ทราบว่าวันใดคืนใดเดือนใดปีใด มันจะหลุดร่วงไป ถ้าไม่รีบกระทำคุณงามความดีเอาไว้ ไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มันก็ลุ่มหลงเรื่อยไป ชาติใหม่จะเกิดเป็นอะไรก็สงสัย เพราะใจไม่สว่างไสว ใจไม่เห็นไม่รู้ 

ถ้าใจเห็นใจรู้ มันก็ไม่มีความสงสัยอะไร จากนี้ไปจะไปไหนเรารู้จักทิศทางอยู่แล้ว เราก็ไปถูก ถ้าเราไม่รู้จักว่าจะไปทิศใดทางใด มันก็ต้องสงสัย ต้องถามคนอื่น แล้วหนักใจไม่ทราบว่าจะไปอย่างไรจึงจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ นี่คือคนไม่รู้จักทาง คนมืดคนบอด ถ้าคนมีตาสว่างไสวรู้จักทาง จะไปทางไหน กำลังของกายที่จะพอไปได้ ก็ไปถูกจุดหมายปลายทางให้ นี่การศึกษา การปฏิบัติธรรมะก็เพื่อให้ใจของเรารู้จักสิ่งที่ถูกผิดดีชั่ว ภพชาติที่จะไป หมายถึงผู้ที่ข้องติดอยู่ในวัฏฏะ ยังออกจากวัฏฏะไม่ได้ ถ้าออกจากวัฏฏะได้ มันก็ไม่มีปัญหาอะไรที่จะสงสัย จะไปที่ไหน ภพชาติจะมีหรือไม่ พอมันบอกเสร็จ อยู่ในการประพฤติปฏิบัติ อยู่ในใจของตัว จึงไม่มีข้อสงสัยจะไปไต่ถามคนอื่น 

นี่การปฏิบัติธรรมะ มันรู้ภายในถึงจะไม่มีความรู้ภายนอกก็ตาม ภายในมันรู้ มันรู้อยู่เฉพาะในจิตในใจของผู้ประพฤติปฏิบัติ ถึงจะไม่รู้ ไม่มีประกาศนียบัตรเหมือนทางโลกก็ตาม แต่ความสุขความสบาย ความละความถอนของท่าน ท่านทราบ ท่านเข้าใจ ความสุขอะไรที่จะวิเศษยิ่งกว่าการละกิเลสตัณหาไม่มี ความสงบของใจนั้นมันสงบได้ เมื่อมันถึงความสงบ ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างตามเป็นจริงของมัน ท่านจึงว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสุขอื่นจะยิ่งกว่าความสงบ คือไม่ติดข้อง ไม่ตื่นเต้นในสิ่งใดๆ สงบอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย ไม่มีอะไรที่สงสัยว่าควรละควรบำเพ็ญ เพราะได้กระทำมาทุกอย่างจนถึงที่สุดคือวิมุตติ ความพ้นจากโลกไปแล้ว นี่เป็นนัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง คือสุขยิ่งสุขประเสริฐ ไม่มีสุขอะไรที่จะเทียมถึง 

แต่ความสงบอย่างนั้น ถ้าหากจิตไม่สงบ โลกอันนี้มันก็มีอยู่อย่างนี้ รูป เสียง กลิ่น รส หนาวร้อนต่างๆ มันจะสงบมาจากที่ไหนถ้าจิตไม่สงบ จิตสงบสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ แต่จิตไม่ติดข้อง ไม่ยึดถือ ทราบตามเป็นจริงของมัน นั่นท่านจึงว่า นัตถิ สันติ คือสงบจริง สงบตั้งแต่เพียงจิตของตัวไม่มีดีมีชั่ว ไม่มีติดมีข้อง ไม่มีลุ่มมีหลงกับอะไร เพียงเท่าเนี้ย สิ่งอื่นมันจะเป็นอย่างไรนั้น ทราบตามเป็นจริงของมัน แล้วจิตไม่หวั่นไหว จิตไม่ยึดเกี่ยวในสิ่งต่างๆเรียกว่า สันติ คือสงบทุกระยะ ทุกเวลา ไม่มีการออกการเข้า อยู่ก็สงบ ไปก็สงบ แม้แต่ตายก็ยังสงบ ทุกข์มันจะเกิดขึ้นมาขนาดไหนก็ทราบว่าเรื่องของทุกข์เป็นเวทนา ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ของใจ ไม่ใช่ความสงบที่ว่า นัตถิ สันติ ความสงบ นัตถิ สันติเป็นอย่างไร ใจของท่านที่บริสุทธิ์นั้น เวทนาจะเป็นเรื่องของเวทนา ความบริสุทธิ์นั้นจะไม่มีเวทนาหน้าไหนมาเกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์นั้นๆ ไม่มีทางสงสัยว่าทำไมจิตใจของเราจึงเป็นอย่างนี้ เมื่อเกิดเวทนาทุกข์โทษขึ้นมา มันไม่มีทางสงสัย ความสงบ ความบริสุทธิ์นั้นเป็นอย่างไร ท่านประทับในจิตของท่าน 

นี่คือเรื่องการประพฤติปฏิบัติเมื่อชำระจิตใจถึงความบริสุทธิ์อย่างนั้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงความสุขอันแน่นอนแท้จริง ไม่มีความสุขอื่นจะยิ่งไปกว่า จะอยู่ไปอีกแสนปีก็ไม่มีความสุขหน้าไหนจะมีมาอีก ตายไปในวันนี้ก็ไม่มีความทุกข์ความเสียหายอะไรที่จะเข้ามาทับถมความบริสุทธิ์นั้น นี่คือการประพฤติปฏิบัติตามอรรถธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน กำหนดสติปัฏฐานคือ กาย เวทนา จิต ธรรม จะเข้าไปถึงความเป็นจริงคือความบริสุทธิ์ สงบตลอดกาลตลอดเวลา ถ้าหากเรารักษา เราประพฤติปฏิบัติได้ มันเห็นอานิสงส์อย่างนั้น อย่าไปยุ่ง ไปเกี่ยว ไปติด ไปข้อง ไปเพลิด ไปเพลินจนลืมวันเวลา ลืมชีวิตของตัว 

เมื่อสิ่งที่เรายึดถือเกี่ยวข้องเพลิดเพลินนั้น ถึงกาลถึงสมัยกันจริงจัง มันพี่งพาอาศัยไม่ได้ ไม่เหมือนธรรมะที่เราฝึกปฏิบัติศึกษา มันไม่มีวันมีเวลาที่จะก่อกวนให้เกิดทุกข์อันนั้น เดี๋ยวมันก็หายไป เดี๋ยวมันก็มีใหม่ มันเป็นอยู่อย่างนั้นเรื่องของโลก แต่ก็หลงกันเพลินกันอยู่ ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่ จงพากันพินิจพิจารณาศึกษา ตั้งหน้าปฏิบัติ โอกาสเวลาที่จะได้กระทำบำเพ็ญของเรามันมีน้อย ไม่ทราบว่าจะล้มหายตายไปเมื่อไร ถ้าหากทุกคนตั้งจิตตั้งใจกำหนดพินิจพิจารณาชำระกิเลสตัณหาให้ตกให้หล่นออกไป ใจก็จะมีความสว่างไสว สงบเยือกเย็น 

การอธิบายธรรมะเห็นว่าพอสมควร เสียเวลา ขอยุติเพียงเท่านี้ เอวัง