หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
ให้พากันตั้งใจสำรวมใจของตนให้ดี ใจนี้เมื่อมันยังมีกิเลสรบกวนอยู่มันก็วอกแวก ถ้าละกิเลสได้เท่าไรมันก็สงบลงไปได้เท่านั้น ดังนั้นต้องให้เห็นความสำคัญของการละกิเลส คนเรานั้นน่ะ จะเป็นสุขก็เพราะฝึกฝนใจให้ดี จะเป็นทุกข์ก็เพราะไม่ฝึกฝนใจปล่อยให้กิเลสมันครอบงำเอา เราจะไปหาความสุขความทุกข์ที่อื่นมันไม่พบหรอก อย่าไปสงสัย นอกจากรู้จากทุกข์ดูที่ใจนั้น อยากรู้จักความสุขก็ดูที่ใจ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราภาวนาก็เพื่อที่จะให้รู้แจ้งในสุขในทุกข์นั้นแหละ
ถ้าใจกวัดแกว่งอยู่เนี้ยมันไม่รู้ เรื่องมันน่ะ มันไม่รู้ผิดไม่รู้ถูกซะเมื่อไร เมื่อใจมันกวัดแกว่งอยู่ สิ่งนี้เป็นโทษมันก็ไม่รู้ สิ่งนี้เป็นคุณมันก็ไม่รู้ อันนี้แหละสาเหตุนี้ให้คนเราทำความชั่วอยู่ในโลกนี้หละ ก็เพราะความไม่รู้นี่เอง ที่ไม่รู้เพราะไม่ฝึกใจให้สงบระงับ ปล่อยให้ตัณหามันครอบงำเอา ความอยากมันท่วมท้นจิตใจแล้วก็มันมีอวิชชากำกับด้วย อวิชชาคือความไม่รู้นั้นนะ ทั้งอยากทั้งไม่รู้อย่างนี้นะ มันจึงได้ทำชั่วลงไป ไม่รู้ว่า ความอยากได้อันนี้ อยากทำอันนี้มันเป็นคุณหรือเป็นโทษ มันไม่รู้อย่างนี้นะ มันถึงได้ทำลงไป จึงได้ทำชั่วไป ดังนั้นเรามาฝึกจิตนี้ให้เกิดความรู้ความฉลาดขึ้น ตามแนวทางที่พระศาสดาทรงแนะนำไว้
ความรู้ความฉลาดย่อมเกิดขึ้นได้ ๓ ทาง ทางนึงเกิดขึ้นได้ด้วยการเรียน การท่อง การจำ การฟังธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าจากนักปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย ทางที่สอง เกิดจากการดำริตริตรองคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ยินได้ฟัง ได้จดจำเอามาแล้วไว้ในใจของตน จะได้จำไว้เฉยๆ ถ้าไม่น้อมสติเข้าไปตริตรองพิจารณาอย่างนี้ก็ไม่สามารถจะรู้แนวทางปฏิบัติได้ เมื่อเราน้อมเข้าไปทำจิตให้ตั้งมั่นลงไปพิจารณา ไอ้ธรรมะข้อนี้มีความหมายอย่างนี้ คือมีความหมายในทางปฏิบัติอย่างนี้นะ อย่างนี้จะยกตัวอย่างให้ฟัง เหมือนอย่างเมตตาอย่างนี้นะ ความหมายคือว่าปรารถนาจะให้เป็นสุข ทีนี้มันก็มีเงื่อนไขอยู่ว่า ไอ้จิตใจของตนนี่น่ะ ตนปรารถนาให้คนและสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดเป็นสุขกันถ้วนหน้ากันหรือไม่ หรือว่าตนปรารถนาให้ตั้งแต่เป็นมิตรเป็นญาติของตนดีต่อตนเท่านั้นมีความสุข ถ้าผู้ใดไม่ทำดี ไม่พูดดีต่อตน แสดงเป็นศัตรูตน อย่างนี้ก็ปรารถนาอยากจะให้มันฉิบหายวายวอดลงไป ความคิดมีอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าความคิดเป็นไปอย่างนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นผู้เจริญเมตตาในพระพุทธศาสนา เมตตาในพุทธศาสนานี่เป็นอัปปมัญญา ทั่วไปแก่บุคคล ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดชาติ ศาสนา เรียกว่าคนดีคนชั่วปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุขทั่วหน้ากันหมดเลย ทั้งคนดีทั้งคนชั่ว ทั้งสัตว์เดรัจฉานที่มีพิษ ไม่มีพิษ ที่ดุร้าย ไม่ดุร้ายก็ตาม นี่ต้องวางใจให้เสมอในสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ คือมีความปรารถนาที่จะให้เขาเหล่านี้เป็นสุขทั่วหน้ากัน นี่อย่างนี้นะคำว่าเมตตามันมีความหมายอย่างนี้ แนวทางปฏิบัติน่ะ ถ้าเรารู้ความหมายนี้เราเจริญเมตตาภาวนานั่ง เราก็นึกคิดดำริตริตรองไปอย่างนี้ อย่างนี้แหละจึงเรียกว่าเป็นผู้รู้จักความมุ่งหมายของธรรมะ แต่ละข้อที่เราจะต้องลงมือปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในใจ
กรุณาความสงสารฉะนี้ อ้ะ สงสารยังไงนี่ นี่มันมีความหมายอ้ะ ก็เมื่อเห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยากลำบากเช่นนี้เราก็คิดช่วยเหลือเกื้อกูลเค้า ให้พ้นจากความทุกข์ยากลำบากนั้นไปให้เท่าที่เราจะช่วยได้ตามสติกำลังความสามารถ เห็นคนเจ็บอยู่หรือเห็นคนวิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเบือนหน้าหนี หนีไปเสียไม่เหลียวแลไม่ช่วยเหลือ อันนี้ท่านเรียกว่าคนใจดำ คนขาดกรุณา คนสงสารเอ็นดูในฐานะเป็นสัตว์โลกร่วมกันคือเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ธรรมดาผู้มีจิตใจประกอบไปด้วยกรุณาธรรมอยู่ในใจแล้ว เมื่อเห็นเพื่อนผู้อื่นตกทุกข์ได้ยากถึงความวิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างนี้เราอดไม่ได้ จะเบือนหน้าหนีไม่ได้ ถ้าพอช่วยได้ก็ช่วย ถ้าช่วยเหลือไม่ได้ก็นึกถึงกรรมถึงเวรของเขาที่เขาทำมาแต่ก่อนมันตามมาสนองเอา ใครก็ช่วยไม่ได้ เมื่อนึกถึงกรรมเวรของสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้แล้วก็วางจิตเป็นอุเบกขาลง นี่ท่านว่าวางเฉยลงไปไม่ต้องเสียใจไม่ดีใจ การเจริญพรหมวิหารน่ะ ต้องมีอุเบกขาเป็นที่สุด
ส่วนมุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี นี่คนผู้ที่มีกิเลสชอบอิจฉาริษยาผู้อื่นแล้ว พอเห็นคนอื่นเขาได้ดิบได้ดี มีคนยกย่องนับถือมีลาภมาก คิดอิจฉาในใจแล้ว อิจฉาอยากจะกดอยากจะข่มเขาลง ให้ยกตนขึ้น ให้เป็นผู้ดีมีผู้ยกย่องสรรเสริญเยินยอ เช่นนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่ขาดมุทิตา ความพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีมันก็เกิดความอิจฉา พยาบาทขึ้นมา หรือเกิดความโกรธ ความไม่พอใจขึ้นมาในบุคคลเหล่านั้น อันนี้มันก็เป็นการสะสมกิเลสให้หนาแน่นขึ้นในใจ เป็นอย่างนี้นะ นี่แหละความหมายของธรรมะแต่ละข้อ ต้องให้เข้าใจแนวทางปฏิบัติ
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากว่าจริตนิสัยของตนเคยเป็นมาเช่นนั้น เมื่อมาเรียนธรรมรู้ธรรมอย่างนี้แล้ว เราก็ละนิสัยอย่างนั้นนะ ข่มใจละเข้าไป เรียกว่าเป็นกิเลสที่เราจะต้องละ ถ้าไม่ละแล้วก็จะเป็นคนดีไม่ได้เลย จะไปเข้าอยู่กับสังคมใดเขาก็รังเกียจ สังคมที่เขาตั้งอยู่ในยุติธรรม เขาก็รังเกียจแหละ ทางที่ดีเมื่อเห็นเขาทำดีเขาได้ดีกว่า เขาได้รับความยกย่องจากสังคมมาก เราปรารถนาอย่างนั้นก็ทำดีเข้าไป คนเราน่ะมันจะทำดีอย่างเดียวกันได้ทั้งหมด ไม่ใช่หรอก มันก็ทำได้คนละอย่างกัน ผู้ใดมีความชำนิชำนาญอย่างไรก็พยายามทำการงานเกี่ยวแก่ความชำนิชำนาญของตนให้ดีขึ้น ให้คนทั้งหลายได้ยอมรับรู้ว่าผู้นี้ฉลาดงานอย่างนี้ อย่างนี้นะ เมื่อเห็นเค้าฉลาดกับงานการอย่างนั้นๆ เราก็ยกย่องเข้าไป เราก็แสดงความพลอยยินดีด้วย ไม่คิดอิจฉาริษยา อย่างนี้นะจึงเรียกว่าเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีก็พลอยยินดีไปด้วย ไม่อิจฉาริษยา นี่ความหมายของธรรมะมันเป็นอย่างนี้นะ
เมื่อเราปฏิบัติตามนี้แล้วมันก็เป็นไปเพื่อความสงบที่อยู่ด้วยกันหมู่มากก็ไม่ทะเลาะวิวาทกันไม่ขัดแย้งกัน ในหน้าที่การงาน อ้าวใครถนัดความรู้ในทางไหนมากก็ทำการงานอย่างนั้นตามความรู้ของตนให้มันเป็นไป แต่ถ้าผู้ใดไม่มีความรู้อะไรอย่างนี้ ก็ยอมตนลง ยกผู้ที่มีความรู้สูงกว่า ยกยอเข้าไป อาศัยปวารณาตัวให้เขาแนะนำ ไม่ถือตัวว่า ตนก็คนๆหนึ่งละ ไม่ยอมให้ใครสอน ไปถือเอาถือตัวอย่างนั้นก็ไม่มีความรู้อะไรเลย นี่มันเป็นอย่างนั้นคนเราน่ะ เมื่อตนไม่รู้ไม่ฉลาดอะไร เค้ารู้กว่าตนอย่างนี้ เราก็ต้องยอมลงให้เค้าสอน แม้เราจะมีอายุมากกว่าเค้าก็ตาม จะมีคุณวุฒิอื่นอย่างอื่นนั้นสูงกว่าก็ช่าง เราก็ยอมวางลงไป วางตนลงไป เมื่อผู้ใดทำได้อย่างนี้มันก็ได้ความรู้เพิ่มเติมสิ ความรู้ความฉลาดที่มันมีอยู่ในตัวของบุคคลอื่น เรายอมพูดง่ายๆว่า เรายอมเป็นศิษย์ของเขา เขาก็ถ่ายทอดความรู้นั้นมาให้เรา เค้าก็ฝึกเราให้รู้ให้ฉลาดในการงานอันนั้น เราก็ได้ความรู้ขึ้นมา มันก็ไม่เสียหายอะไรมีแต่ดีขึ้น อย่างนี้นะ แล้วคนอื่นเห็นเรามีความสามารถทำได้อย่างนั้นเค้าก็ยกย่องเหมือนกัน
ทีแรกนี่มันก็ธรรมดาแหละ เมื่อตนยังไม่มีความรู้ก็ถูกคนอื่นดูถูกดูหมิ่นเอามั่ง ตำหนิติเตียนเอามั่ง ก็อดเอาทนเอา ก็ทำยังไงตนมันไม่มีความรู้นี่ ก็ยอมให้เพิ่นว่าแหละ ให้เพิ่นว่าอย่างนั้นแสดงว่าให้เพิ่นเตือนนะ เตือนตนให้รู้สึกว่าตัวว่าตนนั้นไม่มีความรู้อะไร ทำอะไรก็ไม่เป็นอย่างนี้นะ อย่าไปถือว่าเพิ่นตำหนิติเตียนเหยียดหยามดูหมิ่นตน ถ้ามัวไปถืออย่างนั้นแล้ว ไม่มีความรู้ความฉลาดซักทีอย่างดังกล่าวมาแล้วแหละ แถมก็ยังเกิดการทะเลาะวิวาทอะไรต่ออะไรกันไป กลายเป็นคนไม่ดีไป นี่มันเป็นอย่างนี้นะ คนเราน่ะมัวแต่ถือเนื้อถือตัวในทางที่ผิดอยู่นั่นน่ะ มันไม่เป็นไปเพื่อความเจริญ ให้เข้าใจ ถ้าถือตัวในทางที่ถูกน่ะมันดี เช่นอย่างว่าเราไม่ยอมทำความชั่วแหละ
ถ้าเป็นพระภิกษุสามเณรอย่างนี้นะ เมื่อบวชเข้ามาแล้วต้องตั้งอธิษฐานใจลงไปว่าเราจะปฏิบัติตามธรรมวินัยให้ครบถ้วน เว้นเสียแต่มันพลั้งเผลอเท่านั้น เราจะไม่แกล้งล่วงสิกขาวินัยน้อยใหญ่ทั้งหลาย เพราะวินัยนั้นเป็นรากแก้วของพระศาสนา พุทธศาสนาจะตั้งยั่งยืนอยู่ได้ก็เพราะบุคคลมาสำรวมวินัย ไม่ล่วงละเมิดวินัยที่พระองค์เจ้าทรงบัญญัติไว้อย่างนี้ เราอธิษฐานใจลงไปอย่างนี้แล้ว บวชเข้ามาก็ตั้งใจเรียนตั้งใจดู พุทธบัญญัติต่างๆ ทรงห้ามไว้อย่างไร เรียนให้รู้ เมื่อรู้แล้วเราก็สำรวมระวังน่ะ มีสติสัมปชัญญะ ระมัดระวังไม่แกล้งล่วง ไอ้อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นผู้ที่ปรารถนาดีต่อตัวเอง จึงได้ชื่อว่าเป็นคนดีในโลก
บรรดาคนผู้ดีทั้งหลายในโลกนี่เค้าย่อมทำตามระเบียบของหมู่ของคณะ ไม่ว่าแต่ในพระธรรมวินัยนี้เลย แม้ในภายนอกผู้ที่เค้าได้เป็นใหญ่เป็นโตมีเกียรติมียศมีคนนับถือลือหน้ามากๆ ลองฟังดูสิ เค้าทำความดี เค้ามีความสามารถความฉลาดในหน้าที่การงานนั้นๆ เค้าทำให้จนปรากฏในคนหมู่มาก ได้เห็นยอมรับว่าผู้ที่มีความสามารถในหน้าที่อย่างนี้จริงๆ เช่นนี้นะ คนส่วนใหญ่เค้าก็ยกย่องขึ้น อย่างนี้แหละ อย่างเช่นยกตัวอย่างในบรรดาราชวงศ์ของพระมหากษัตริย์อย่างนี้นะ ในปัจจุบันนี้ พระราชโอรส พระราชธิดา ก็มีความสามารถในหน้าที่การงาน เรียนรู้ในหน้าที่การงาน เมื่อรู้แล้วก็ลงมือปฏิบัติ จนให้คนทั้งหลายยอมรับว่าพระองค์ได้มีความรู้จริง ความรู้ของท่านนั้นทำให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้จริงๆอย่างงี้นะ เพราะฉะนั้นเสด็จไปที่ไหนก็มีคนต้อนรับมากมายก่ายกอง ยังมีคนบริจาคเงินทองข้าวของให้เยอะแยะเลย แทนพระราชบิดา พระราชมารดาได้เลย นี่แหละให้ขึ้นชื่อว่าความรู้ความฉลาดนี่นะ รู้ฉลาดด้วยและตั้งใจดีด้วย ทั้งมีความอดทนต่อคำสรรเสริญและคำนินทาของคนทั้งหลายได้อีกด้วย
นี่คนเรามันจะดีได้นะมันต้องมีคุณธรรมเหล่านี้ อยู่ในใจให้พากันเข้าใจ ไม่ใช่ว่า เราจะดีเองโดยไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันก็ดีไปได้อย่างนี้ไม่ใช่นะ ดูซิ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าคนไทย คนต่างประเทศ ก็เบียดเบียนกัน ฆ่ากันตายอยู่อย่างนั้นน่ะ โดยเฉพาะคนต่างประเทศพวกนับถือลัทธิอื่น ถือกันเป็นก๊กเป็นเหล่า วันดีคืนดีก็ยกพวกตีกัน ถ้าคนของก๊กนั้นเหล่านั้นไปทำผิดหน่อยหนึ่ง ไปกระทบกระทั่งกับคนอีกพวกหนึ่งอีกเข้านิดหน่อยเท่านั้น แทนที่จะทั้งสองฝ่ายมาประนีประนอมกันให้ยกเลิกกันไป ไม่แล้ว ยกพวกมาตีกันเข้าไป จนล้มจนตายจนเจ็บจนปวด อย่างนี้มีในศาสนาอื่นลัทธิอื่นนะ นี่ยกให้ฟังว่าไอ้ความรู้ในลัทธิอื่นศาสนาอื่นน่ะ มันไม่เป็นไปเพื่อละกิเลสตัณหาพยาบาทอะไรเลย
สำหรับในพุทธศาสนานี่นั้นแหละอย่างว่าพุทธองค์ทรงแสดงธรรมไว้ ผู้ใดมาปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์แล้วย่อมไม่ทะเลาะกันเลย มันจะอยู่ด้วยกันหมู่มากก็อยู่ได้สบายๆ ผู้น้อยก็เคารพต่อผู้ใหญ่ ก็ให้พึงเข้าใจ เราบวชมานี่นะ เราจะได้บวชเป็นพระเป็นเจ้ามานี่นะก็เพราะสงฆ์ สงฆ์เห็นดีเห็นชอบด้วย การบวชนี่ในปัจจันตประเทศ ในประเทศนอกจากอินเดียออกมานี่นะ ทรงอนุญาตให้สงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป ทางส่วนมากไม่กำหนด มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ไปนั่งห้อมล้อมรอผู้บวช นี่อย่างนี้แหละ คอยสังเกตว่าการบวชมันถูกต้องหรือไม่ ถ้าหากว่าการบวชมันไม่ถูกต้องตรงไหน สงฆ์ที่นั่งอยู่ในที่นั้นก็มีสิทธิ์ทักท้วงได้ ตักเตือนได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การบวชนั้นน่ะ เป็นไปโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย
แล้วก็มีกรรมวาจา ผู้ชำนาญในการสวด ผู้มีพรรษานับแต่ ๕ ขึ้นไป สวดสมมุติให้เป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมาตามพระวินัยนิยม กว่าจะเป็นพระมาได้นะมันเป็นอย่างนี้ให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนให้เคารพในสงฆ์ เมื่อบวชเข้ามาแล้วนะ เมื่อสงฆ์มีความเห็นร่วมกันว่าพระรูปนี้น่ะประพฤติไม่ดี ล่วงธรรมล่วงวินัยอย่างนี้นะ ควรต้องสำรวมระวังต่อไปอย่าไปล่วงอย่างนี้ ตักเตือนอย่างนั้นก็ยอมรับยอมปฏิบัติตามด้วยดี ไม่โกรธ ไม่ตอบโต้ ไม่คัดค้าน ความเห็นของสงฆ์หมู่มากที่มีความเห็นตรงตามธรรมตามวินัย อย่างนี้นะ อย่าไปลืมตัว กว่าจะได้เป็นพระเป็นเจ้ามาน่ะ มันต้องมีกรรมวิธี มีอุปัชฌาย์เป็นประธานในการบวช มีสงฆ์เป็นคณะเป็นสักขีพยาน เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นผู้บวชเข้ามาใหม่น่ะ อย่าไปตีตนเสมอกับพระผู้บวชมาก่อน ให้ถือว่าเพิ่นเป็นอาจารย์ของเราโดยลำดับทีเดียว อุปสัมปทาจารย์ อาจารย์ผู้ให้อุปสมบทนี่ มันล้วนตั้งแต่คณะสงฆ์ทั้งนั้นแหละอันข้อนี้นะ และมีอีก ๒ รูป หนึ่งท่านเรียกว่ากรรมวาจาจารย์ อาจารย์ผู้สวด เป็นผู้สวดให้สมมุติขึ้นถามความดีความชั่วของตัวเอง ว่าตนน่ะมีความบกพร่องมั้ยเช่นเป็นขี้ทูดกุดถัง เป็นกลากเป็นเกลื้อน อย่างนี้นะ มีหนี้มีสินติดตัวมั้ย ได้เป็นโจรหัวไม้มั้ย อะไรอย่างนี้นะ นี่หละกรรมวาจาจารย์ได้ถามไถ่ เราก็ตอบว่า ถ้าไม่มีก็ตอบว่าไม่มี อย่างนี้แหละ ถ้าอันใดมันมีไม่ผิด เช่นบาตร จีวรมีแล้วมั้ย มีแล้ว อย่างนี้นะ กรรมวาจาจารย์ก็เป็นผู้ถามอย่างนี้ ไอ้เราผู้บวชเข้ามาต้องยกท่านเหล่านี้เป็นอาจารย์อีกชั้นนึง เรียกว่ากรรมวาจาจารย์ ต้องให้เข้าใจอย่างนั้น
แล้วสงฆ์ทั้งหมดที่ไปนั่งหัตถบาสเรียกว่า อุปสัมปทาจารย์ อาจารย์ผู้เป็นสักขีพยานให้ในการบวชของเราว่าเราบวชจริง มีอุปัชฌาย์จริง มีอาจารย์จริง เราก็เป็นที่ยอมรับของหมู่สงฆ์ทั้งหลายว่า ผู้นี้ว่าคำขอบวชก็ถูกอักขระพยัญชนะ ไม่ผิดเพี้ยน อย่างนี้นะ มันถึงเป็นพระเป็นเจ้ามา ต้องคิดให้เห็น เพราะฉะนั้นเมื่อพระอุปัชฌาย์ไม่อยู่ เช่นพระกรรมวาจาจารย์หรือ อุทเทศาจารย์ อาจารย์ผู้ฝึกผู้สอนคำบวช สำเนียงในการขานนาค ขออุปสมบทต่างๆอย่างนี้นะ ก็ให้ถือเป็นอาจารย์รองจากอุปัชฌาย์ลงมา ปวารณาตัวให้ท่านแนะนำสั่งสอนได้ เมื่อท่านแนะนำสั่งสอนอย่างใด เห็นเราทำผิดท่านตักเตือนอย่างนี้ก็ต้องเชื่อฟัง ต้องงด อย่าไปฝืน ถ้าหากว่าไปฝืน ไม่เคารพยำเกรงเช่นนั้นแล้ว การบวชของผู้นั้นก็ไม่เจริญไปได้ เต็มไปด้วยทิฐิมานะมีแต่กิเลสเต็มอยู่ในหัวใจ มันจะเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรือง เจริญด้วยบุญกุศลไม่มี ผู้ที่มีทิฐิมานะแข็งกระด้างกระเดื่องไม่เคารพต่อผู้มีอุปการะคุณแก่ตน ก็ให้พึงเข้าใจอย่างนี้
การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น แม้ว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์สวดให้สมมุติให้แก่เราเป็นพระก็อย่างที่ว่ามันนั้นน่ะ พวกคณะสงฆ์ที่นั่งเป็นสักขีพยาน ก็ถือว่าเป็นอาจารย์ชั้นนึง ผู้ให้โอวาทผู้ฝึกสอนในสำเนียงหางเสียงในการว่าคำบวช ผู้ฝึกสอนในระเบียบการกราบการไหว้ การบวช ทำยังไงๆเนี่ย ก็เป็นอุทเทศาจารย์ แปลว่าอาจารย์ผู้ให้โอวาทหรือผู้สอนธรรมสอนวินัยให้ อย่างนี้นะ ผู้แนะนำตักเตือนในทางที่ผิดทางที่ถูก ให้ตนได้รู้ทางผิดทางถูกอย่างนี้ท่านเรียกว่า อุทเทศาจารย์ อาจารย์ผู้ให้โอวาสแนะนำสั่งสอน เราต้องรู้เราต้องเคารพ นอกจากอาจารย์เหล่านี้แล้วก็เรียกว่าผู้ที่ได้รับนิมนต์ไปรับหัตถบาส ช่วยเป็นสักขีพยานให้ในการบวชของตนหมู่นี้ ให้ถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ทั้งนั้นแหละ อย่าไปล่วงเกินอย่าไปปรามาส อย่าไปตีตนเสมอ นี่ต้องถ่อมตนเสมอไป ให้เข้าใจไว้ ผู้ที่บวชเข้ามาแล้วก็ดี ผู้ที่กำลังจะบวชก็ดี ต้องให้เข้าใจในทางปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ เป็นหน้าที่ที่ของเรา ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม ต้องให้มีอยู่ในใจทั้งนั้นเลยนักบวชนี่นะ
ถ้าเป็นนักบวชนี่หากขาดพรหมวิหารธรรม ๔ ประการนี้แล้ว นั่นแหละมันแสดงบทบาทแข็งกระด้างกระเดื่องชอบเหยียดหยามดูหมิ่นผู้อื่น เห็นผู้อื่นเขาได้ดิบได้ดีก็เดือดร้อนใจ นี่ คอยกดเค้าลงให้ต่ำกว่าตน อย่าให้มันสูงขึ้นมาได้ อันนี้เป็นกิเลสจัดอยู่ในจำพวกอุปกิเลสนา กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมอง อุปกิเลส ๑๖น่ะ อิจฉาริษยาเห็นเค้าได้ดีทนอยู่ไม่ได้ แล้วก็มานะความถือตัวว่าตนนั้นดีกว่าเขา ตนนั้นมีความรู้สูงกว่าคนอื่นอย่างนี้นะ ปลาสะ ตีตนเสมอยกตนเสมอคือถือตัว ไอ้ตนนั้นนะมีคุณสมบัติน้อยกว่าเพื่อน มีความรู้ความฉลาดก็น้อยกว่า ถ้าเป็นนักบวชก็ตนก็เพิ่งบวชเข้ามาใหม่อย่างนี้นะ แล้วยังไปยกตนตีตนเสมอกับผู้ที่เค้าบวชมาก่อน แล้วไม่แสดงอาการเคารพทางกาย ทางวาจาอะไร อย่างนี้ได้ชื่อว่ามันไม่ถูกทางเสียแล้ว ไม่เป็นธรรมผิดธรรมให้เข้าใจ อย่าตีตนเสมอนั่นหมายความว่า เช่นอย่างว่านั่งกันนี่ นั่งเสมอกันเลย อย่างนี้นะ บางคนนั่งไขว่ห้างเอาขาขัดกันสั่นดิ๊กๆคุยกับผู้ที่เค้ามีอาวุโสสูงกว่าอย่างนี้ก็มีนิ นั่น ไอ้อย่างนี้ไม่ถูกนะอย่าไปทำกัน
ให้รู้ว่าใครเป็นอาจารย์ของเราในประเภทไหนอย่างที่แนะนำมานี่แหละ เพราะว่า อุปสัมปทาจารย์ หมายถึงอาจารย์ผู้ให้อุปสมบทรวมหมดเลยอันนี้น่ะ ก็ไปนั่งในโบสถ์นี่แหละ แต่ในทุกวันนี้เพิ่นให้จัดให้พระทั้งอุปัชฌาย์ด้วยรวมเป็น ๑๐ รูป เป็นสักขีพยานในการบวช ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้านู่น ไอ้พวกที่อยู่นอกประเทศอินเดียออกมาอย่างนี้ ทรงอนุญาตให้สงฆ์มักจะ ๕ รูป รวมทั้งอุปัชฌาย์ด้วยขึ้นไป บวชได้ แต่มาทุกวันนี้คณะธรรมยุติเราก็ถ้าหากว่ามันหาพระไม่ได้จริงๆ ๕ รูปก็ให้บวชได้ เพราะประเทศไทยก็อยู่นอกประเทศอินเดียมาแล้วนี่ แต่ถ้ามีพระพอหาได้อยู่ ไม่ควรที่จะไปบวช ๕ องค์เท่านั้น ต้องนับแต่ ๑๐องค์ขึ้นไปให้เข้าใจอย่างนี้
การบวชไม่ใช่ว่าทำได้ง่ายๆ มันต้องมีระเบียบแบบแผนมีกิจจะลักษณะ ทีนี้อุทเทศาจารย์ อาจารย์ผู้ให้ ผู้ฝึกปรือในการบวชอย่างที่ว่ามาแล้วนะ นี่ทบทวนอีก แล้วก็นอกจากนั้นก็ผู้แนะนำในทางธรรมทางวินัย ทำอย่างนี้ผิดธรรม ทำอย่างนี้ผิดวินัย อย่างนี้นะ ผู้ใดท่านมีความฉลาดในธรรมในวินัย ท่านแนะนำตักเตือนให้เราได้รู้ธรรมรู้วินัยนั่นชื่อว่า อุทเทศาจารย์ อาจารย์ผู้ให้โอวาท ต้องให้เข้าใจ อันเป็นบุคคลที่เราต้องเคารพนอบน้อมด้วยกายวาจาใจไม่ล่วงเกิน
กรรมวาจาจารย์ อาจารย์ผู้สวดสมมุติให้เราเป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนา โดยมากนิยม ๒ รูปดั่งที่กระทำกันมานั่นแหละ อุปัชฌายาจารย์ คืออาจารย์ผู้นำกุลบุตรผู้จะบวชนั้นมาเข้าหมู่ มาแจ้งต่อสงฆ์ ว่าบุรุษคนนี้แหละมีประสงค์อยากจะบรรพชาอุปสมบทในพุทธศาสนา ขอให้สงฆ์พิจารณาดู สมควรจะบวชได้หรือไม่ อย่างนี้นะ ถ้าสงฆ์ทั้งหลายนิ่งอยู่ ไม่มีใครคัดค้านในการบวชนั้นอย่างนี้ ก็ดำเนินในการบวชไปได้เรื่อยๆจนจบ
แล้วอุปัชฌายาจารย์นี่ยังจะต้องดูแล สัทธิวิหาริก ผู้ที่ตนนำเข้าหมู่สงฆ์บวชอย่างใกล้ชิด ดูแลความประพฤติที่ไม่ตรงต่อธรรมต่อวินัย แนะนำตักเตือนให้ประพฤติตรงต่อธรรมต่อวินัย อย่างนี้อย่างที่แนะนำอยู่เดี๋ยวนี้แหละให้เข้าใจ เมื่ออุปัชฌายาจารย์ไม่อยู่ก็ต้องเป็นหน้าที่อุทเทศาจารย์ หรือว่ากรรมวาจาจารย์นี้นะ เป็นผู้ทำหน้าที่แทนอุปัชฌายาจารย์ คือดูแลความประพฤติของพระเณรผู้บวชเข้ามาใหม่ นี่ ก็เห็นว่าไม่ดี ทำผิดวินัยยังไงก็ตักเตือนห้ามไม่ให้ทำ แต่บางคน บางรูปก็เพิ่นห้ามไม่ให้ทำยังฝืนทำก็มีนะ
เพราะฉะนั้นให้รู้ไว้ ไม่ได้นะ ไปขืนล่วงเกินคำตักเตือนของครูบาอาจารย์ ผู้ที่ท่านรู้ธรรมรู้วินัย ผู้ประพฤติต่อธรรมวินัยดีมาแล้ว อย่างนี้เรายังไม่เชื่อ ไม่ทำตาม ในวินัยท่านให้ถือว่าเป็นผู้ว่ายากสอนยาก ล่วงธรรมล่วงวินัยไม่ยอมปฏิบัติตามคำตักเตือนของครูบาอาจารย์ อย่างนี้ก็จะต้องเรียกผู้นั้นมา มาตักเตือนเสียก่อน ถ้าเตือนแล้วยังไม่ฟังก็จะประชุมสงฆ์ เรียกเข้าไปในสงฆ์ ไปสวดสมนุภาสน์ ตั้งกรรมวาจาจารย์สวดขึ้นเพื่อตักเตือนให้ผู้ทำความผิดนั้นได้รู้สึกตัว สวดจบไปลงไปครั้งที่หนึ่ง ถ้าผู้นั้นรู้สึกตัวแล้ว ยอมรับผิด ขอยอมสำรวมระวังต่อไป สงฆ์ทั้งหลายก็ยอมรับก็เป็นอันว่าเลิกการสวดสมนุภาสน์อันนั้น แต่ถ้าสวดจบไปครั้งที่หนึ่งก็ยังนิ่งอยู่ ไม่ยอมรับผิด อย่างนี้ก็สวดอีกครั้งที่ ๒ จบลงก็ยังนิ่งอยู่ไม่ยอมรับ ออกมาไม่สารภาพผิดด้วยวาจาอย่างนี้ พอกรรมวาจาจารย์สวดจบลงครั้งที่ ๓ ยังนิ่งเฉยอยู่ อันนั้นท่านก็ปรับเป็นอาบัติสังฆาทิเสส หมายความว่าเป็นบุคคลว่ายากสอนยาก สอนให้ประพฤติตามธรรม ตามวินัยไม่ได้ ก็ปรับอาบัติสังฆาทิเสสให้อยู่กรรม นี่แหละ ถ้าไม่ยอมทำตามอย่างนี้ เพิ่นก็อัปเปหิ ออกไปจากหมู่ ระเบียบพระวินัยมีอย่างนั้นนะ แต่โทษไม่ถึงให้สึก ก็ไม่สึกหรอก ต้องอาบัติปาราชิกนั่นมันถึงมีสิทธิ์บังคับให้สึกได้ หรือไปดื่มเหล้าเมาสุรากัญชาฝิ่นเฮโรอีน อย่างนี้ให้มึนเมา สอนก็ไม่ฟัง ไปติดของติดงอมแงมเนี่ย อันนี้บัญญัติพระราชคณะสงฆ์ยอมให้สึกได้เลย แต่ถ้าหากว่า ไม่ล่วงปาราชิก ๔ และ ก็ไม่ต้องเสพของเสพติดจนติดงอมแงมไม่ละได้อย่างนี้ ความผิดนอกนั้นน่ะ ถ้าดื้อดึงอย่างนี้ก็ท่านก็ให้ขับไล่หนีเสียจากวัดแล้วแต่จะไปไหน ตามพระวินัยเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นให้พากันเข้าใจไว้ เราบวชเข้ามานั้นมีระเบียบนะ ไม่ใช่บวชเข้ามาไม่มีระเบียบ บวชเข้ามาแล้วจะอยู่อะไรตามชอบใจของตนเองไป ไม่ยอมฟังคำตักเตือนของครูบาอาจารย์ยังนี้ไม่ได้ ขอให้เข้าใจ แล้วจะเป็นคนดีไม่ได้ ถ้าเพิ่นขับไล่ออกจากหมู่คณะไปแล้ว ให้ไปหาผู้อื่นยิ่งร้ายเลย ไม่เคารพนับถือใครแล้วตั้งแต่อุปัชฌาย์อาจารย์ของตน สอนอยู่แท้ๆยังไม่ทำตามอย่างนี้นะ แล้วจะไปอยู่กับสำนักอื่นที่อื่นซึ่งไม่ใช่เป็นครูเป็นอาจารย์นี่ จะยากอยู่นะเนี่ยมันจะทำตาม มันก็จะเลวร้ายไปเท่านั้นเอง จะเอาดีไม่ได้เลย ต้องให้เข้าใจนะ นี่ตักเตือนน่ะ ให้เข้าใจกัน
นี่หละเราบวชมาหวังเอาบุญเอากุศล หวังตอบแทนคุณมารดาบิดาที่ท่านมีอุปการคุณแก่เรา ท่านให้ข้าวฟ้อนน้ำนมแต่อ้อนแต่ออก ซักผ้าขี้ตีผ้าเยี่ยว โอ้ยตั้งแต่ไปนอนในท้องมารดาก็มารดาลำบากพอได้แล้ว จะกินเผ็ดกินเค็มอะไรก็ไม่ได้ กลัวลูกในท้องจะร้อนเอา จะไปไหนมาไหนต้องระมัดระวังกลัวจะหกล้มกระทบกระเทือนลูกอยู่ในท้อง ถ้าอย่างนี้นะต้องนึกถึงมารดาผู้ให้กำเนิดเราให้มากๆ เมื่อมารดาเรารักใคร่เอ็นดูอย่างนั้นเราก็จึงได้คลอดออกมา คลอดออกมาแล้วมาเลี้ยงกันแสนยากแสนลำบาก กว่าจะเจริญวัยใหญ่โตมาได้ บัดนี้ความมุ่งหมายของมารดาบิดาน่ะก็เพื่อให้ลูกตนน่ะเป็นคนดีกะเขา ได้สืบแทนตระกูล รักษาตระกูลไม่ให้เสื่อม ก็จึงได้ให้อายุ ๖ ขวบ ๗ ขวบให้ศึกษาเล่าเรียน ความรู้ในภาษาไทย ความรู้ในทางโลกในการทำมาหาเลี้ยงชีพให้รู้ให้เข้าใจ เผื่อว่าเจริญวัยใหญ่โตมาก็จะได้มีความรู้ความฉลาดทำมาหาเลี้ยงชีพ ดำรงวงศ์ตระกูลให้เจริญต่อไป พ่อแม่หวังดีต่อลูกจะได้ขวนขวายหาเงินหาทองมาส่งเสียให้ลูก ได้ศึกษาเล่าเรียน เอ้า มีความรู้ในทางโลกเท่านั้นยังไม่พอ เพราะมันยังกำจัดกิเลสอันชั่วร้ายบางอย่างไม่ได้เลย เอ้าพ่อแม่ผู้หวังดีต่อลูกมาแนะนำให้ลูกมาบวชเรียนในพุทธศาสนานี้ นี่นะ แล้วได้มามอบหมายให้อุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้แนะนำสั่งสอน ให้เป็นคนดิบคนดี นี่ เหล่านี้มันผ่านขั้นตอนมาอย่างนี้
คนเรานี่กว่าจะดิบจะดีได้ กว่าจะเป็นผู้รับความยกย่องสรรเสริญจากคนหมู่มากว่าคนนี้เป็นคนดีมีศีลมีธรรมได้น่ะ มันต้องผ่านการฝึกตนมาโดยลำดับ จนมาถึงขั้นอุดมเพศ เป็นเพศภิกษุสามเณร ขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ยังสอนไม่ได้ ยังกระด้างกระเดื่องอยู่ ประพฤติอะไรเอาตามใจชอบตัวเองอยู่อย่างนี้ ผู้นั้นมันไม่มีทางจะดีได้ต่อไปนะ จะบอกให้ทราบล่วงหน้าไว้เลย ก็ต้องมาเป็นพระเป็นเจ้าเป็นผู้มีเพศอันอุดมกว่าคฤหัสถ์ครองเรือน มีธรรมวินัยเป็นเครื่องบังคับกาย วาจา ใจอยู่ปานนี้ ยังทำดีไม่ได้ละก็ แม้นว่าสึกออกไปเป็นผู้ครองเรือนก็เอาดีไม่ได้ ถ้าไม่เชื่อลองสังเกตดูนะ ดู มันเอาดีไม่ได้หรอก มันเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นผู้ใดหวังดีต่อตัวเอง ได้บวชเข้ามาแล้วนั้น ให้เข้มงวดต่อธรรมต่อวินัยจริงๆต่อข้อวัตรปฏิบัติ อย่าไปเกียจคร้าน สำรวมในพระวินัยทุกสิกขาบทไปเลย อย่างนี้ถึงจะเป็นคนดีได้ แม้ว่าถ้าตนมีวาสนาน้อยอยู่ไม่ได้ในพระศาสนานี้ สึกออกไปก็จะต้องเป็นคนดี เพราะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ได้รับการฝึกปรือจากอุปัชฌาย์อาจารย์ ได้ฝึกตนตามธรรมตามวินัย มีกาย วาจา ใจ อ่อนน้อม อ่อนโยน ไม่กระด้างกระเดื่อง อย่างนี้นะ เมื่อไปเป็นคฤหัสถ์เข้าไปมันก็มีนิสัยดีติดตัวไป เข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีเกียรติมียศเท่าไหนก็เข้าได้ไม่เก้อไม่เขิน เพราะว่าตนได้ฝึกจรรยามารยาทมาแล้ว คนที่ไม่ได้ฝึกตนอย่างว่านี่ อาจจะไปเข้าใกล้ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฉลียวฉลาด ผู้มีคุณความดียังไงนี่ เข้าใกล้ไม่ได้เลย เก้อละอาย กระดาก ถือว่าตนนี้เป็นผู้ต่ำต้อยไม่มีความรู้อะไร นี่ ก็เลยเป็นคนป่าคนเถื่อนอยู่เรื่อยไป หากินอยู่ตามป่าตามดงไปอย่างนั้น จะไปสังคมกับคนผู้ดีในบ้านใหญ่เมืองใหญ่ไม่ได้เลย
นี่ต้องคิดให้รู้ให้เข้าใจนะ พระธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้านี่ ดีจริงๆ เราสมควรทำตามแท้ๆ เมื่อเราปฏิบัติตามได้ดี เราก็เป็นคนดีในโลกน่ะ ไม่เสียหายอะไร นี่ให้เข้าใจ โดยเฉพาะมาฝึกจิตใจให้สงบระงับให้ตั้งมั่นลงไปเป็นสำคัญน่ะ การสำรวมจิตนี่อย่าไปลืมน่ะ อย่างที่แนะนำมาแล้วหมู่นั้นแหละ เพราะฉะนั้นความสำรวมต้องมีสติสัมปชัญญะ สำรวมจิตใจทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน สำรวมยังไง สำรวมไม่ให้ความโลภครอบงำ แม้มันอยากได้อะไรต่ออะไรอันผิด ทำผิดวินัย สำรวมจิตไม่ให้ความโกรธครอบงำ เมื่อมีอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจอะไรกระทบกระทั่ง ก็อดกลั้นทนทานห้ามจิต ไม่ให้มันโกรธ ห้ามตนให้มันได้ ไม่แสดงกิริยาความโกรธออกมาทางกาย ทางวาจา นี่จึงเรียกว่าสำรวมใจ เพราะว่าใจเป็นใหญ่กว่ากาย กว่าวาจา เมื่อสำรวมใจให้ดีแล้ว เราก็ดี กายก็ดี วาจาก็ดี นี่ให้เข้าใจ ก่อนจะพูดอะไรกับใครที่ไหนก็ต้องคิดต้องตรองเสียก่อน เมื่อเห็นว่ามันไม่ผิดธรรม ผิดศีล ผิดวินัย แล้วก็จึงค่อยพูด ถ้าเห็นว่ามันผิดละก็ อย่าพูด นี่เพราะฉะนั้นการสำรวมใจฝึกใจจึงชื่อว่าเป็นความดีในพระพุทธศาสนา ดังแสดงมา