Skip to content

หลวงปู่เล่าถึงอัตชีวประวัติของท่าน

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

| PDF | YouTube | AnyFlip |

วันนี้ก็มาพร้อมหน้าพร้อมตากันแล้วนะ คนแก่มีอยู่บ้าง บางคนก็คนหนุ่ม คนแก่ไม่ทราบไปไหนหมด ยังเหลือแต่คนหนุ่ม คนวัยกลางคน คนแก่ไม่ทราบไปไหน น่าสังเวช บ่ได้คิดถึงชีวิตของตัวเอง ว่ามันเป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้ว เราจะต้องหาที่พึ่งทางจิตใจ มันไม่คิดกันเลยนะ ไม่คิด คล้ายๆกับว่าจะอยู่ยั่งยืนนาน จะได้อาศัยร่างกายนี้ไปนมนานกาเล ความเข้าใจ ความรู้สึกอันนั้น แท้ที่จริง ไม่แล้ว แม้ได้อยู่ไม่กี่ปีกี่เดือน ก็ต้องได้หนีจากกันแล้ว เพราะฉะนั้นให้พากันรีบเร่งสร้างที่พึ่งใส่ใจของตนเสียให้เต็มที่ 

วันนี้อาจารย์ทิพย์ก็มีความประสงค์ให้หลวงปู่เล่าชีวประวัติให้พุทธบริษัททั้งหลายฟัง ว่าความเป็นมาตั้งแต่เบื้องต้น เป็นมาอย่างไร ก่อนที่จะได้เข้ามาบวช บวชมาแล้วระยะแรกทำยังไง ระยะต่อไปทำยังไง อันนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ควรฟังอยู่เหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นคติธรรมสำหรับเกิดขึ้นในจิตใจของแต่ละคน ก็อาศัยบุญวาสนานั่นแหละไป มาดลบรรดาลให้เกิดความคิดความนึกขึ้นในทางที่ดี เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนบวช ใกล้จะได้มาบวชนี่น่ะ ตามธรรมดานี่ ไม่ได้เป็นคนเกียจคร้านเลย ก็เป็นชาวนาชาวสวน ถึงหน้าทำนาก็ทำนา ถึงหน้าทำสวนก็ทำสวน ด้วยความขยันหมั่นเพียร แล้วก็โรคภัยก็ไม่ค่อยเบียดเบียนด้วย พ่อแม่ก็ได้รับความสุขสบายด้วย พ่อแม่ไม่ได้ทำงานหนักอะไร ลูกๆทำแทน 

มานี่เมื่ออายุ ๑๙ ปีเข้ามาแล้วนี่ มันก็เกิดความคิดขึ้นมาในใจ ว่าการทำการทำงานต่างๆหมู่นี้ ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งนั้นเลย หาความสุขไม่ได้ ทั้งเป็นทุกข์ด้วยและทั้งไม่มีสาระแก่นสารด้วย เช่นทำนา ได้ข้าว ไปใส่ยุ้งใส่ฉาง ไว้บริโภคมั่ง ขายมั่ง พอถึงปีใหม่มา เอ้า ก็เริ่มจวนจะหมดอีกแล้วน่ะข้าว ก็ได้เริ่มทำนากันไปอีก ไถนา คราดนาไป เดินตามหลังควายไป ก็คิดดำริอย่างนี้แหละ คิดไปคิดมาก็มองไม่เห็นสาระแก่นสารอะไร ถ้าขืนอยู่อย่างนี้ก็เป็นทุกข์เปล่าๆ อ้าว ถ้าอย่างนั้นจะไปยังไง ถามตัวเองนะ…ก็บวชซิ ก็ว่า บวชแล้วจะพ้นจากเรื่องเหล่านี้รึ…พ้น เพราะเป็นนักบวชนี่มันย่อมเป็นผู้วางมือจากการงานต่างๆเหล่านี้ทั้งหมด จึงเป็นนักบวชได้ 

พอคิดอย่างนี้มันก็เกิดศรัทธาอยากบวชขึ้นมา นั่งบนหลังควายไปนี่นะ เพ่งพิจารณาดูร่างกายอันนี้แล้วปรากฏว่าร่างกายนี่มันแตกกระจายออกไปหมด สว่างโล่ไปทั่วเลยบัดนี้ มองไปไหนก็ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีแม้แต่ต้นไม้ มีก็แต่อากาศว่างเปล่าไปหมดเลย ว่า เอ้…โลกอันนี้มันไม่มีแก่นสารอะไรน้า มันว่างไปหมด เกิดแล้วก็ตายไป ไม่เห็นมีอะไรเป็นแก่นสาร มันก็เกิดเป็นแสงสว่างอย่างนั้นชั่วระยะหนึ่ง แล้วมันก็หายไป ได้ปีติในใจอย่างรุนแรงมานี่ โถ เมื่อเกิดแสงสว่างขึ้นในใจอย่างนั้นนะ ใจก็เบา ปลอดโปร่ง ทั้งที่ไม่เคยได้ไปฟังเทศน์ ฟังธรรม ไม่ได้เคยนั่งภาวนาซักทีเลย แต่เรานั่งบนหลังควายกลับบ้าน ไปไถนาตอนเย็นน่ะ นั่งพิจารณาไป แล้วก็เกิดปรากฏร่างกายแตกกระจายออกไปเลย เกิดแสงสว่างทั่วโลกอันนี้ มองไปไหนไม่เห็นสัตว์ ไม่เห็นบุคคลเลย อันนี้กายก็เบา ใจก็เบา เหมือนกันกับไม่มีกาย 

ตอนนี้น่ะ โอ้ ศรัทธา อยากบวชหลายบัดนี้นะ โอ้ เราต้องบวชแน่ๆ ก็ไม่ทราบว่าจะมาทำงาน ทำทุกข์ให้แก่ตัวเองอยู่อย่างนี้ทำไมอ้ะ ทำมาแล้วก็เป็นทุกข์ แล้วในที่สุดก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย แล้วอย่างนี้จะทำไปทำไมหละ พอคิดได้อย่างนี้แล้วก็อุตส่าห์ ทำสวนทำนา เลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่ เลี้ยงน้องไปอยู่ปีหนึ่ง อายุ ๒๐ เต็มบริบูรณ์ ก็จึงได้ร่ำลามารดาบิดาออกบวช ได้บวชอยู่วัดบ้านทีแรก เมื่อบวชแล้ว เกิดปีติ เอิบอิ่มใจ ว่าตนได้พ้นจากความทุกข์ ความลำบากต่างๆเหล่านั้นมาแล้ว นี่แหละ เกิดปีติขึ้นในใจ 

แล้วนี่ก็มีอาจารย์องค์หนึ่งไป เรียนกรรมฐานมา อยู่วัดนั่นแหละ คนบ้านเดียวกันนั่นแหละ บวชใหม่ๆนี่ไม่มีใครสอนนะ เรื่องมันน่ะ ก็ตอนค่ำมาเห็นอาจารย์องค์นั้นไหว้พระแล้วก็สวดอะไรมุมๆๆอยู่ ก็เลยถามท่าน “เอ๊ะ ท่านสวดอะไรอ้ะ” ท่านบอกว่าท่านภาวนา บอกอย่างนั้น “อย่างภาวนานี่น่ะมันดียังไง”…ว่างั้น “อ้าว ภาวนาก็ได้บุญสิ” ว่างั้น ได้บุญ แล้วเราก็อุทิศส่วนกุศลนั่นให้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไป ตอบบุญแทนคุณค่าข้าวฟ้อนน้ำนมที่ท่านเลี้ยงดูเรามา อธิบายให้ฟัง “อ้าว ถ้าอย่างนั้นผมก็เป็นหนี้บุญหนี้คุณพ่อแม่เหมือนกัน ขอให้สอนภาวนา สอนให้ผมด้วย ผมจะได้ภาวนาใช้หนี้บุญคุณพ่อแม่” ว่างั้น 

ท่านก็เลยสอนให้ท่องอนุสติ ๑๐ ประการ นี่แหละ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุสสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมานุสสติ อนุสติ ๑๐ ประการนี้ ให้ท่องเอาให้ได้ ว่างั้น แล้วก็ภาวนาเรื่อยไป ท่านบอก ต้องไปท่องเอา ได้แล้วก็บริกรรมเรื่อยไปแล้ว พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ไปเรื่อย จบแล้วตั้งใหม่อีก จบแล้วตั้งใหม่ เอ๊ะ รู้สึกว่าจิตใจสบาย ไม่ได้เพราะได้นั่งภาวนาบ่นี่ เดินเหินไปมาทางไหนก็ไม่ลืมมัน นึกภาวนาอยู่อย่างนั้น 

เมื่อนี้ พอถึงฤดู เดือน ๖ เดือน ๗ มา ก็คิดว่าเราบวชมาใหม่ยังไม่รู้ธรรม รู้วินัย ก็ควรจะไปศึกษาเล่าเรียนซะก่อน เมื่อเรียนได้แล้วจึงค่อยออกปฏิบัติกัน มันถึงจะได้บุญ ได้กุศลหลาย ถ้าบวชมาแล้ว ไม่เรียนธรรม เรียนวินัย ไม่รู้อะไรอย่างนี้ รู้ก็รู้งูๆปลาๆ ไปอย่างนี้ มันคงไม่ได้บุญหลายหรอก บวชนี่ว่างั้น ก็เลยชวนกันลงไปจำพรรษาอยู่ในจังหวัด ไปจำพรรษาอยู่วัดของเจ้าคณะจังหวัดเอง สององค์ด้วยกันกับอาจารย์องค์นั้นน่ะ ก็ไปเรียนพระธรรม เสร็จแล้วเดือนธันวาน่ะ สอบนักธรรม เสร็จแล้วก็ขึ้นมาอยู่วัดเดิม 

ในระหว่างที่เรียนนักธรรมอยู่นั้น ก็มีข้อปฏิบัติอยู่ บัดนี้ไปเรียนถามอาจารย์ที่อยู่ในวัดนั้นว่าผมภาวนาอนุสติ ๑๐ อย่างนี้จะถูกมั้ย ท่านอาจารย์องค์นั้นบอกว่า อันถูกนั้นก็ถูกอยู่หรอก แต่ว่ามันหากไม่รัดกุมพอ ถ้าไปบริกรรมมากอย่างนั้น จิตใจไม่สงบ ว่างั้น ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไร ภาวนาจึงจะดี จึงใจจะสงบได้ ท่านก็แนะนำว่า ให้บริกรรมพุทโธ เอาพระคุณของพระพุทธเจ้านี่ไปตั้งไว้ในใจอย่างเดียวเท่านั้น แล้วใจก็สงบได้ ว่างั้น อืม ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่ยากอะไรแล้ว ตอนหัวค่ำก็ท่องหลักสูตรนักธรรมไปจนเที่ยงคืน นาฬิกา ตี ๑๒ โมงแล้วก็เข้าห้องไหว้พระแล้วก็นั่งภาวนาบริกรรมพุทโธ จิตใจไม่อยู่นะทีแรก พุทโธมันก็วิ่งออกไปข้างนอกนู่น แต่สติก็ตามไป ตามไปแล้วก็พยายามนึกพุทโธใกล้ตัวเข้ามา ใกล้เข้ามาเรื่อยเข้ามา พอมาถึงตัวแล้วก็น้อมเข้าไปในจิต ให้พุทโธมาอยู่ในจิตโน่นบัดนี้ อ้าว พอให้พุทโธมาอยู่ในจิตเข้าไปแล้ว จิตก็สงบลงเป็นหนึ่ง ก็ได้ความสบายใจ เสร็จแล้วก็จึงค่อยหลับค่อยนอน 

นี่เป็นกิจวัตรเลยที่ทำกับบวชพรรษาแรก ต้องทำความเพียรอย่างนี้ทุกคืน ทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้วก็ไปนั่งท่องหนังสืออยู่ที่ลานวัด จนเที่ยงเมื่อไร เที่ยงคืนเมื่อไรจึงค่อยหยุดท่องบท แล้วก็เข้าห้อง ไหว้พระ นั่งภาวนา เสร็จแล้วจึงค่อยจำวัด พอตี ๔ เสียงระฆังดังขึ้นที่กุฏิเจ้าอาวาส ก็ตื่นลุกขึ้นมาล้างหน้าล้างตาแล้วก็ขึ้นไปกุฏิเจ้าอาวาส เอ้า ทำวัตรเช้า เสร็จแล้วก็สว่างพอดี สว่างมาแล้วก็ไปบิณฑบาตร จะยืน จะเดิน จะนั่ง นอนอะไรไม่ลืมพุทโธ เอาพุทโธเป็นอารมณ์อยู่อย่างนั้น บัดนี้การเรียนก็รู้สึกว่าคล่องตัวดีอ้ะ เมื่อใจเป็นสมาธิ ใจตั้งมั่น การท่องการจำเอาวิชาความรู้นี่ก็รู้สึกว่าได้ดี ในที่สุดสอบ ก็ได้นักธรรมชั้นตรีกับเพื่อน พออกพรรษาแล้ว สอบนักธรรมเสร็จแล้วก็ลาเจ้าคณะจังหวัด กลับวัดเดิม 

พอไปอยู่วัดเดิมแล้วบัดนี้ก็ โยมบิดาไปได้หนังสือหลวงปู่สิงห์ วัดป่าสาละวันนี่แหละ ท่านแต่งขึ้น เรียกว่าวิธีเจริญสมถะวิปัสสนาโดยสังเขป นี่หัวข้อ ท่านก็เลยอธิบายเรื่องสติปัฏฐานนี้ให้ ไว้ในสมุดนั่น เจริญสติปัฏฐาน เจริญอย่างนั้นๆ เริ่มจากพิจารณาร่างกายเนี่ยแหละไป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้นไป แล้วเพ่งให้เห็นอาการ ๓๒ นี้ด้วย ไม่ใช่นึกคิดเฉยๆว่างั้น แล้วก็เพ่งนะบัดนี้ ผมก็ให้เห็นผมอยู่ภายใน ขน เล็บ ฟัน หนัง อันใดก็ให้เห็น อวัยวะน้อยใหญ่ต่างๆนี่ ท่านแนะไว้ก็พยายามเพ่งตามที่ท่านแนะนำไว้ ก็เห็น พอเห็นร่างกายอันนั้นแล้วก็จิตใจมันก็สงบแน่วแน่ได้ แต่อยู่วัดบ้านน่ะ เสียงอะไรต่ออะไรรบกวน เอ๊ ภาวนาแล้วใจสงบลงแล้ว นึกถึงป่าแล้วบัดนี้ ไอ้การภาวนานี่เหมาะสมที่ไปอยู่ป่านะ ไม่เหมาะสมเลยที่จะอยู่บ้าน อยู่ใกล้บ้านอย่างนี้ 

เมื่อภาวนาไปมันได้ความรู้ ความสงบใจขึ้นมาอย่างนี้แล้วก็เลยรำ่ลาญาติโยมไปอยู่ป่าใกล้กับบริเวณสร้างวัดอยู่นี่แหละ ในขณะที่ยังไม่ทันออกปฏิบัตินั่น ก็บังเอิญมีแมลงบินเข้าตา แมลงปีกแข็งๆน่ะ มันไปแทงเอาตานั้นเลือดออก เจ็บตา รักษายังไงก็ไม่หาย ยาหยอดตาสารพัด ก็ไม่หาย ไม่หายมานี่มันมีศรัทธาแรงกล้าที่ออกปฏิบัติ เอาละ ตั้งแต่นี้ไปเราจะไม่หยอดตาเลย โยนยาทิ้งออกไปหมดแล้ว เข้าป่าไปแล้วบัดนี้ ไปนั่งภาวนาอยู่ในป่านั่น เอ้า ให้ตามันบอดอยู่กับป่านี้แล้ว เป็นยังไงก็เป็นกันหละว่างั้น พอนั่งภาวนาไปมาน่ะ ๗ วันนะ ตาหายไปเลย หายไป พอเวลาหยอดยาอยู่ที่วัดบ้าน ยังไง๊…ก็ไม่หาย ตั้งแต่ภาวนาปลงสังขารไปแล้ว หายภายใน ๗ วัน เป็นปกติตามเดิม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อันหนึ่ง อานิสงส์แห่งการเสียสละ ถ้าหากว่าเราไม่ยอมเสียสละว่า อ้าว ให้มันไปบอดอยู่ในป่านั่นหละ ว่างั้น มันก็มาไม่ได้ มันก็เข้ามาป่าไม่ได้ มันก็กลัวอย่างนั้น กลัวอย่างนี้แหละ แต่อันนี้เราเสียสละเอา ยาต่างๆนี่ใส่หมดแล้วนี่มันไม่หาย มันจะกรรมเวรของตัวเองก็มันแล้วกัน ให้มันไปบอดอยู่ในป่าโน่นนะ ในที่สุดแทนที่มันจะบอดก็หายซ้ำ เมื่อตาหายแล้ว ตั้งใจประกอบความเพียรภาวนา 

พระองค์ที่ไปด้วยกันน่ะ ท่านเรียนคาถาอาคมไปตั้งแต่วัดบ้าน เมื่อท่านไปนั่งภาวนาอยู่ในป่า ไม่มีกุฏิกุถัง ทำร้านไม้ไผ่อยู่กัน พอพ้นดินศอกกว่านี่เอง นั่งภาวนาไปมาน่ะ เกิดความกลัวขึ้นมา ท่านเล่าให้ฟัง ก็เลยสาธยายเวทมนตร์กลคาถานั่น ทันใดนั้นก็เกิดนิมิตขึ้น ปรากฏว่ามีรูปของกษัตริย์แต่งตัวเต็มยศ มีชฎาด้วย ถือดาบเดินเข้ามาหา มาถามว่ามาทำอะไรอยู่นี่ ท่านก็บอกว่ามาเจริญเมตตาภาวนา บอกอย่างนั้น “มันจะเมตตาภาวนายังไงแบบเนี้ย ท่านเจริญคาถาอาคมเหล่านั้นเพื่อปราบผีสางที่อยู่ในบริเวณเหล่าเนี้ย เจตนาของท่านเป็นอย่างนั้นนี่ ท่านจะมาเมตตาภาวนาอะไรอย่างนั้น” ว่างั้น “ชื่อว่าท่านเดินทางผิดแล้ว ไอ้คาถาที่ท่านเจริญอยู่นั้นข้าพเจ้ารู้หมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเจริญหรอก ขอให้หนีจากที่หนีซะ ถ้าไม่หนีหละจะเอาดาบเล่มนี้ตัดขอคอเลย” ว่างั้น ท่านว่าแล้วก็หายไป ท่านกลัวเหลือล้นแล้วบัดนี้ จนเกือบจะหายใจไม่ออก แต่ว่า เอ้า เจริญเมตตาเข้าไปอย่างนี้นะ เจริญเมตตาซักครู่นะ เสือใหญ่มา เอาข้างมาถูเสาร้านนั้นไหว หยุดๆอยู่ ตอนนี้ยิ่งกลัวใหญ่เลย แทบจะหายใจไม่ออก ก็นึกภาวนาเจริญเมตตา สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ ยื้ออย่างนั้น ว่างั้น สักครู่หนึ่งเสือก็หายไป เป็นอันว่านิมิตนั่นก็หายไปหมดแล้วนั่น แต่ความกลัวไม่หาย 

รุ่งเช้ามา ไปบิณฑบาตรด้วยกัน ท่านก็พูดให้ฟังว่า พูดเรื่องนิมิตต่างๆนั้นน่ะให้ฟัง ผมเห็นจะอยู่ไม่ได้หละ ว่างั้น ถ้าขืนอยู่นี่เห็นจะมีอันตราย ท่านว่า “อ้าว ทำไมจึงพูดอย่างนั้น ก็ท่านภาวนาผิดทาง เค้าก็ยังบอกอยู่แล้วน่ะเจ้าที่นั่นว่าท่านเดินผิดทาง เมื่อเรางดภาวนา เจริญคาถาอาคมเหล่านั้นเสียแล้ว มาบริกรรมแต่พุทโธๆเท่านี้หละ ไม่มีหรอก ผมรับรองว่าไม่มีอะไร ผมภาวนาอยู่นี่ ไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่ใจสงบสบายอยู่อย่างนั้น เอาเถอะท่านอย่าไปหวั่นไหวเลย อันนั้นให้ถือว่ามันเป็นความหลงผิดไปชั่วขณะหนึ่ง แล้วเราก็ตั้งใจภาวนาพุทโธ เสร็จแล้ว ผมว่าเรื่องเหล่านั้นไม่มี หายไปหมด” ว่างั้น จะทำยังไง เพื่อนก็ไม่ยอม จะกลับเข้าวัดบ้านอยู่ลูกเดียว ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง “เอ้า จะกลับก็กลับ แต่ผมน่ะไม่ยอมกลับ เป็นยังไงก็เป็นอยู่กับป่านี่น่ะผมน่ะ ผมจะไม่ยอมกลับไปวัดบ้านให้ขายขี้หน้าอีกแล้ว” ว่างั้น “เดี๋ยวพวกชาวบ้านเค้าจะหัวเราะเอานะ” ท่านแล้วไปบิณฑบาตมาฉันแล้วก็กลับวัดเข้าบ้าน อยู่ได้พรรษานึงก็สึกไป เท่านั้นแหละเรื่องมัน 

ไอ้เราภาวนาไปมาอยู่ก็มีครูบาอาจารย์มาเข้าก็อุ่นใจ ได้ภาวนาไป ในที่สุดก็เลยได้ไปบวชเป็นธรรมยุติ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี มีเจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีอาจารย์บุญมาเป็นผู้นำไปบวช บวชเสร็จแล้วก็กลับไปอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ท่านก็ถาม บอกว่าคุณจะเรียนหรือคุณจะปฏิบัติ ว่างั้น “ผมเอาทั้งสองอย่าง เรียนก็เรียน ปฏิบัติก็ปฏิบัติ ผมไปอยู่ป่าผมจะเอาตำราไปด้วย ก็จะไปดูตำราอยู่ในป่า เมื่อเหนื่อย เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนามาแล้วก็ดูตำรา ให้รู้จักธรรม รู้จักวินัย ให้ละเอียดละออเข้าไป” ว่างั้น อาจารย์ก็เห็นดีด้วย อ้าว ดีแล้ว ท่านว่าอย่างนั้น ก็เลย ดำเนินแบบนั้นแหละทีแรก ดูตำรับตำราไปบ้าง ภาวนาไปบ้าง 

บัดนี้ในพรรษาหนึ่งล่วงไปแล้ว พรรษาสองเข้ามา มาเกิดเป็นโรคอันบุคคลซึ่งไม่เป็น เราเป็นคนเดียว โรคที่ว่าฉันภัตตาหารแล้ว ไฟธาตุไม่ย่อยตลอดทั้งวันทั้งคืน แน่นท้องอยู่อย่างนั้น ไม่ย่อย ได้เสวยทุกขเวทนาเหลือล้น แต่ก็อดทน ไม่ถอย เดินรุมๆก็เดินไปอย่างนั้น ไม่ถอย แน่นท้องก็แน่นไป เวทนาก็เวทนาไป สู้ทนกันอยู่อย่างนั้นสามปี ตั้งแต่เป็นอยู่อย่างนั้น ปีที่สามนี่ นั่งภาวนาอยู่ ดูท่ากรรมเวรมันจะหมดลงนะ มันจึงบอกขึ้นในจิตนี้ว่า อ้าว ก็กรรมเวรที่เอาแมวไปปล่อยในป่านั่นแล้ว ว่างั้น พอนึกทบทวนคืนหลังดู โอ๊ จริงแล้ว เราได้เอาแมวผู้ตัวนึงไปปล่อยในป่า เนื่องจากว่ามันเป็นเวรอะไรมาแต่ชาติปางก่อนไม่รู้ กลางคืนมา ไปเที่ยว แมวผู้ตัวนั้นมันก็ถ่ายอุจจาระใส่ข้างหมอนเลย ไปเที่ยวกลับมาต้องมาชำระขี้แมวซะก่อน ไม่ใช่แต่คืนเดียวนะ เกือบจะทุกคนเลย เอ๊ แมวตัวนี้กับเรามันเป็นเวรอะไรกันหนอ อันนี้หนอ ถ้าเราจะฆ่ามันนี่ มันไม่ไหวหละ มันจะต้องเป็นกรรมเวร หนักเข้าไปอีก ว่างั้น อย่าไปฆ่ามันเลย เอามันไปปล่อยในป่าให้มันหากินเอง ว่างั้น ก็เลยอุ้มไปในป่านู่น เอาไปปล่อยไว้ เห็นไม้ต้นนึง มันเป็นโพรงอยู่ ก็เลยเอาปล่อยเข้าไปในโพรง มึงอยู่นี่นะ แล้วก็ไปเลี้ยงควาย กลับมาตอนเย็นก็ยังเห็นมันร้องแง้วๆ โอ้ย สงสารก็สงสารมัน แต่ไม่รู้จะทำยังไง ถ้าเอามันกลับคืนไปบ้าน มันจะขี้ใส่หัวนอนอีก เอาเหอะ มันคงไม่ตายหรอก มันจะต้องหากินมันหละ ว่างั้น สัตว์มันใหญ่แล้ว ว่างั้นเรา มันจะต้องหาเลี้ยงมันได้ ปานนั้นน่ะ เพียงแต่เอาไปปล่อย ไม่ได้ฆ่านะ กรรมเวรมันยังตามสนอง ได้รับทุกข์ทรมานอยู่ตั้งสามปี มันจึงหมดลง เมื่อรู้อย่างนั้นแล้วก็ ภาวนาทีไรก็อุทิศส่วนกุศลให้แมวตัวนั้นเรื่อยไป โรคแน่นท้องนั้นก็เบาลงๆ ในที่สุดก็หายเป็นปกติอย่างนี้น่ะ 

อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อันหนึ่ง ซึ่งมาทบทวนดูแล้ว แหม เรานี่มันอดทนเอาเสียจริงๆ ถ้าหากว่าความอดทนไม่เพียงพอนี่ อาจจะสึกขาลาเพศไปแล้วนะ ไปแล้ว แต่นี่ไม่นะ เอ้า ตายก็ตาย เป็นก็เป็น เกิดมาแล้วต้องตาย สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน เรามีกรรมมีเวรก็ต้องเสวยผลแห่งกรรมเวรไป แม้สึกออกไป มันก็ไม่พ้นหรอกเวร ถ้ากระทำกรรมเวรอันไม่ดีไม่งามมาแต่ก่อนแล้ว จะไปที่ไหน จะเป็นเพศอะไรมันก็ไม่พ้น ถึงเวลามันต้องให้ผลแน่นอน เช่นนี้แล้วก็อดทนสู้ไปอย่างว่านั่นน่ะ ในที่สุดมันก็หมดกรรมหมดเวรไปเองอย่างนี้นะ 

ได้โอกาสตั้งแต่นั้นมาก็ภาวนาปลอดโปร่ง ร่างกายมันปกติดีแล้ว ตั้งใจประกอบความเพียรบัดนี้ เดินธุดงค์ไป เลียบฝั่งแม่น้ำโขงนั้นไป ไปคำ่เอาซะบ้านหนึ่ง ไอ้แม่น้ำโขงเหนือขึ้นไปโน่นน่ะ ตีนภูเขามันจรดแม่น้ำโขงเลย มีคฤหัสถ์สองคนไปด้วย ไปๆถึงแล้วก็ ไปถึงบ้านนั้นก็ ไปขอร้องให้ญาติโยมบ้านนั้นน่ะไปหาที่พักให้ด้วย เค้าก็พาเดินเลียบตีนเขาไป ไปเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นพุ่มอยู่นั่นก็ เอานี่แหละ ว่างั้น เค้าก็ไปทำความสะอาดไปอะไรให้ ทำทางจงกรมให้ แล้วก็ส่วนคฤหัสถ์สองคนนั่น เค้ากลัวเค้าไม่มานอนด้วย เค้าก็นอนในบ้านโน่น ไอ้เราก็อยู่คนเดียว เค้าเลิกไปแล้ว เดินจงกรม เสร็จแล้วก็มานั่งภาวนาเข้าไป นั่งภาวนาประมาณสักสี่ห้าทุ่มนี่ก็ จำวัดนอนตะแคงข้างขวาลงไป เพ่งสำรวมจิตแน่วแน่อยู่ภายใน จิตก็ผ่องใสอยู่ 

พอเคลิ้มนี่แหละ เคลิ้มว่าจะหลับนี่ เสียงดังเหมือนฟ้าผ่านี่เปรี้ยงลงมาตรงไม้ต้นนั้นเองนะ แล้วจิตไม่สะดุ้งเลยหละนี่ สังเกตดูจิต จิตเป็นปกติอยู่ อ้าว ฟ้าผ่าแล้วมั๊ง นี่ว่างั้นนะ ก็ลุกขึ้นนั่งภาวนา นั่งภาวนาฟังดูว่าจะมีเรื่องอะไรหนอ ว่างั้น พอนั่งไปนั่งมามันนึกถึงเสือที่ว่านี้นะ เอ๊ะ อันผีนั่นมันไม่กลัวนะ แปลกจริงๆ ไม่นึกถึงผีหรอก นึกถึงเสือ นึกว่าเสือใหญ่มาหรือไงหนอ พอนึกพอดี ความกลัวเอาแล้ว กลุ้มหมดเลย เอ้า ได้สติระลึกได้ เราเสียสละชีวิตต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วไม่ใช่หรือ จึงมาอยู่นี่ จึงมาอยู่ป่าอยู่เขาอย่างนี้นะ ถ้าเราไม่เสียสละต่อพระรัตนตรัยอย่างนี้ เราก็ไม่มา ถ้าหากว่าคุณพระรัตนตรัยนี่รักษาชีวิตเราไม่ได้แล้ว ก็เป็นแต่กรรมแต่เวรของเราหละ อ๊ะ อะไรจะเอาไปกินก็เอาซะ พอนึกได้ความกลัวมันก็คลายออก หายไปๆ หน่อยนึงมันเอากลุ้มเข้ามาอีกแล้ว ไอ้เรื่องเสือของเก่านะ หาอุบายเตือนใจตนเองเข้าไปอย่างว่า อ้าว ความกลัวก็หายออกไป เป็นอยู่อย่างนั้น จะออกไปเดินจงกรมก็ไม่กล้าออกไป กลัวว่าเสือมันดักอยู่นั่นแล้ว มันจะตะครุบเอาไปกิน ตายอยู่กับกลดนี่ละ เอางั้น ก็นั่งภาวนาอยู่ เหนื่อยนั่งสมาธิแล้วก็เหยียดขาออกไป พอหายปวดแข้งปวดขาแล้วก็นั่งภาวนา บัดนี้ก็ดึกมา มันก็ง่วงซิบัดนี้ เอ้า นอนมันละวะ กินก็กินน่ะ อะไรกินก็กิน เรามอบกายถวายชีวิตต่อคุณแก้วสามประการแล้ว ว่างั้น ก็นอนลงไป นอนลงไปก็พอเคลิ้มนี่หละ มันก็รู้สึกขึ้นมาเลย เอ้า ไม่ดีน่า ถ้าเสือมาเอาเราไปกินเวลานอนหลับ มันไม่มีสติ ไม่ดีเลยว่างั้น ก็ลุกขึ้นภาวนา ไปๆมาๆก็สว่างเลย 

คืนนั้นแทบไม่ได้หลับเลย เพราะไอ้ตอนที่ชาวบ้านเค้ามาทำที่วัดให้น่ะ เค้าก็ยังบอกว่า “ท่านมาอยู่อย่างนี้ ท่านไม่กลัวหรือ” ว่างั้น “กลัวอะไรวะ” “อ้าว นี่มันทางเสือนะ เสือมาเอาหมูเอาไก่ของพวกผมไปกินอยู่บ่อยๆ” ว่างั้น “แต่ก่อนเป็นทางเสือ บัดนี้เป็นทางของเรานะ เอาละไม่เป็นไรหรอก เราจะอยู่ที่นี่หละ” รุ่งเช้ามาญาติโยมเค้าก็ถวายภัตตาหาร เค้าก็มาถามเลย “เป็นไงท่าน เมื่อคืนนี้เป็นไง อะไรมารบกวนบ้าง” เราก็ไม่บอกเค้า “ไม่มีอะไรหรอกโยม เป็นปกติอยู่ ไม่มีอะไร” แล้วก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอะไรเลยแหละ แต่เค้ามาก็เทศน์แนะนำสั่งสอนเค้า ให้พรเค้า แล้วเค้าก็ไป เราฉันเสร็จแล้ว เราก็เดินทางต่อ อันนี้เรียกว่าการที่เที่ยวธุดงค์ไป ได้ประสบกับภัยต่างๆเหล่านี้น่ะ นับว่าเป็นเครื่องมาส่งเสริม กำลังใจเข้มแข็งขึ้น แล้วก็ไม่กลัว ไม่กล้า เรียกว่าเราก็นึกว่าดีเหมือนกัน ถ้าเป็นอย่างนี้มันจะได้เพิ่มกำลังใจเข้มแข็งขึ้น

อีกคราวหนึ่ง นี่ก็ชาวบ้านเข้าไปทำไร่ในป่าโน่น แล้วเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วเค้าก็เข้าบ้าน ห้างที่เค้าปลูกไว้ก็ยังอยู่ ก็ไปกางกลดใส่ห้างเค้านั้นแล้วก็นั่งภาวนา ปฏิบัติอยู่นั่น ตื่นเช้ามาก็บิณฑบาตในวัด พอดีก็มีเณรวัดบ้านนั้นมาขออยู่ด้วย อ้าว ก็อยู่ มันมีห้างไร่เขาอยู่สองห้าง พอนั่งภาวนาอยู่คืนหนึ่ง พระจันทร์ขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้ว ก็พอสลัวๆแล้วมันมีเมฆบัง นั่งภาวนาอยู่ แล้วก็ลมพัดเอื่อยๆมา อ้าวจิตมันนึกแล้ว เอ๊ะ โบราณท่านว่าเมื่อเสือใหญ่มันจะไปทางไหนนี่ ลมมันจะไปก่อนนะว่างั้น อ้าว พอนึกอย่างนี้ ความกลัวเอาแล้ว กลุ้มในใจ อ้าว ภาวนาพุทโธเข้าไปเรื่อยๆ เราขอมอบกายถวายชีวิตต่อคุณแก้วสามประการ เอ้า อะไรจะเอาไปกินก็เอาไปซะ ร่างกายนี่เราไม่ถือว่าเป็นของๆเรา ภาวนาอยู่ พอนึกได้อย่างนี้ก็ความกลัวมันก็หายไป คลายออกไป รู้สึกอีกหน่อยหนึ่งก็ได้ยินเสียงดังข่าาา…อยู่ที่กิ่งไม้ อยู่ใกล้กับห้างนั่นแหละ อู้ว แล้วกันเสือมันกระโดดขึ้นกิ่งไม้นั้นแล้ว มันยิ่งกลัวใหญ่ กลัวใหญ่ก็ภาวนาพุทโธเข้าไปเรื่อยๆ สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ อันนี้ก็เอาเข้าไปแล้ว ภาวนาเมตตา ขอให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุขๆ อย่ามีเวรต่อกันและกันเลย ทั้งว่าเป็นคำอรรถด้วย ว่าเป็นคำแปลด้วย อ้าว พอภาวนาไปนั่น ความกลัวมันก็หายไปๆ 

ครู่หนึ่งเสียงดังข่าาาา เข้าที่ฟากปูนห้างอันที่อยู่นั่นน่ะ เพราะว่าไม่มีฝากั้นเลย โล่งๆ กางกลดใส่กลางนั้นแล้วมันก็ พอเสียงดังข่าาาในฟากนั้นแล้ว มันก็เต้นไปรอบๆมุ้ง ลืมตาขึ้นดูเลย โหย มันเจ้าบ่างบ่นี้ แม่นบ่าง โอ้ยตาย เรากลัวแทบลมหายใจหยุด นึกว่าเป็นเสือ มันบ่างแท้ๆว่างั้น ก็เลยสอด เอามือสอดออกไปจากตีนมุ้ง เอาตบฝ้านั้นปั้ง คราวนี้มันก็บินสิ ไปร้องอ้อกๆ อยู่ต้นไม้โน่น คราวนี้ก็หายกลัว หายกลัวก็นั่งภาวนาต่อ เอาจนว่าใจรวมลงได้แล้วจึงค่อยนอนหลับไปได้ 

อันนี้เรียกว่าไม่มีใครบังคับ มันต้องพอใจ พอใจไปหาที่สงบสงัดอย่างนั้น มันนึกว่าจะมีภัยอะไรก็ไม่กลัว ตายก็ตาย ถ้าบุญไม่มี บุญหมดแล้วก็ตายน่ะคนเรา ถ้าบุญยังมีอยู่ บุญก็รักษา ย่อมปลอดภัย เรามันเชื่อมั่นในบุญกุศล เชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัยอย่างนี้ อันนี้หละเป็นเหตุให้บุกป่าฝ่าดงเข้าไป ผู้เดียวก็อยู่ มันเป็นเช่นนั้นการบวชมาในศาสนานี้ เรามานึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์สละราชสมบัติออกบวชไปแล้ว พระองค์ก็ไปอยู่แต่ป่า แสวงหาทางตรัสรู้อยู่ถึง ๖ ปี ด้วยบุญญานุภาพที่พระองค์ได้สั่งสมอบรมมาแต่ก่อน ชีวิตของพระองค์ก็ไม่มีภัยอันตรายใดๆเลย เป็นอย่างนั้น 

ดังนั้นพุทธบริษัทควรจะพากันพิจารณา โดยดูใจความแล้วว่า ชีวิตของคนเรานี่มันเป็นอยู่ด้วยบุญด้วยบาป ดังที่เคยเทศน์ให้ฟังมาแล้วนั่นแหละ ถ้าเรามีบุญมากพอสมควร ติดตามมาเกิดในโลกนี้แล้ว บุญก็ตามรักษาชีวิตนี้ให้ตลอดปลอดภัย ไม่มีภัยพิบัติอันตรายอะไรเกิดขึ้น ถ้าเว้นเสียแต่บาปกรรมก็ติดตามมาด้วยอย่างนี้น่ะ เมื่อบาปกรรมนั้นมันได้โอกาสเวลาใด มันให้ผลเวลานั้น ชีวิตนี้ก็ย่อมถึงความวิบัติโดยประการต่างๆ จนกว่ามันจะหมดกรรมหมดเวรอันนั้นลงไป มันถึงจะหาย อันนี้เพราะฉะนั้นพวกเราไม่ควรที่จะหวาดกลัวอะไรมากมายนัก บางคนก็กลัวผี บางคนก็กลัวเสือ บางคนก็กลัวโจรขโมยจะมาจี้มาฆ่าอะไร กลัวช้างกลัวเสือสารพัดแหละ ความกลัวของคนเราน่ะ ไอ้ที่มันกลัวอยู่อย่างนี้ก็เพราะเหตุว่าไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรมดังกล่าวมาแล้วนั้น นั่นแหละ 

ถ้าผู้ใดเชื่อบุญเชื่อบาปอย่างที่ว่ามาแล้วนั้นนะ เราก็ฝากชีวิตไว้กับบุญกับกรรมอย่างนั้น เรานึกแล้วว่าไม่มีอะไรป้องกันได้เลย จะมีสมมุติว่าคฤหัสถ์นะ จะมีปืนติดตัวไปไหนต่อไหนก็ตาม ถ้ากรรมเวรมันมาถึงแล้วนะ ปืนมันก็ใช้ไม่ได้เลย เผลอไปแล้วเค้าก็ยิงตัวเองก่อน ตัวเองไม่ทันได้ตอบโต้เขา ตัวเองก็ตายก่อน กรรมมันปิดบังนิ มันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าคนไม่มีกรรมมีเวรมาแต่ก่อนหนหลังแล้ว ไปไหนมาไหน ไม่มีอาวุธยุทธภัณฑ์อะไรติดตัวอะไร ก็ไม่มีภัยอันตรายใดๆ ประกอบในปัจจุบันนี่ก็เป็นผู้รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ จะรักษากายวาจาของตนเสมอๆไป เมื่อเข้าสังคมใดๆก็ระมัดระวังความประพฤติทางกายทางวาจา ไม่ให้กระทบกระทั่งคนอื่น เจ็บอกเจ็บใจอะไร เห็นอย่างนี้แล้ว ไม่มี เวรภัยทั้งหลาย ศัตรูไม่มีเลย ประกอบกับภาวนา เจริญเมตตาเรื่อยๆไปอย่างที่ว่านี้แหละ แล้วเวรภัยทั้งหลายย่อมไม่มากล้ำกรายแก่ชีวิตของผู้ที่มีคุณธรรม มีศีลอยู่ในกาย วาจา ใจของตน 

ในพุทธศาสนามันเป็นอย่างนี้แหละ ศาสนาอื่นเขาไม่มีนะ ทำบุญแบบพุทธศาสนาไม่มี มีแต่เขาเรี่ยไรกัน บำรุงสุเหร่าเขาเท่านั้นแหละ ใครไปกราบไปไหว้ เขาก็เรี่ยไร อ้าว รวบรวมเงินไว้สำหรับบำรุงสุเหร่า เท่านั้นเองนะ มีแต่ในพุทธศาสนาเนี่ยแหละ มีการทำบุญทำทานกัน มีการกราบการไหว้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเหตุว่า พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งแล้วว่า มันจิตดวงเดียวเป็นเหตุอยู่เนี่ย จิตดวงนี้ไม่รู้มันจึงได้วนเวียนในวัฏสงสารอันนี้ เกิดมาแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย ระหว่างที่ยังไม่ทันตายนี่ก็ทนทุกข์ แสวงหาอะไรต่อมิอะไรมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอันนี้ แสนยาก แสนลำบากจริงๆ นี่ควรพากันพิจารณาให้มันเห็น แล้วความทุกข์ทั้งหลายแหล่เหล่านี้นะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าจะไปอาศัยสิ่งอื่นช่วยนั้น  ไม่มีทางพ้นไปได้ มีแต่บุญกุศลเท่านี้เอง 

ดังนั้นพระองค์เจ้าจึงได้สั่งสอนให้คนทำบุญนะ เรื่องมันนะ ขอให้เข้าใจความหมายมันแน่ชัดลงไปอย่างนี้ แล้วบุญนี้จะช่วยให้เราพ้นทุกข์ไปโดยลำดับๆไปอย่างนี้นะ พ้นทุกข์จากมนุษย์ก็ไปเป็นเทวดา พ้นทุกข์จากเทวดาก็มาเกิดในโลกนี้ มาพบพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็สามารถปฏิบัติไป บรรลุมรรคผลนิพพานได้ สัตว์โลกทั้งหลายส่วนมากนะมาบรรลุมรรคผลนิพพานในชมพูทวีปนี้ ในพื้นแผ่นดินอันนี้แหละ ในรูปร่างอันเป็นคนนี่เองนะ ไม่ใช่รูปร่างอื่นนะ ขอให้เข้าใจ ไอ้พวกเทวดานั้นยกไว้ อันนั้นเพิ่นมีบุญหลายแล้ว พระพุทธเจ้าแสดงพระอภิธรรมจบลงกัณฑ์หนึ่งๆนี่ มันว่าขนเป็นโกฏิ เพราะท่านเหล่านั้นมีบุญมากแล้ว เพราะฉะนั้นจึงได้สำเร็จมรรคผลได้รวดเร็วเหลือเกิน ไอ้พวกเราถ้าฝึกฝนอบรมตนไปอย่างนี้นะ ไม่ท้อไม่ถอยแล้ว กิเลสมันก็เบาบางไป บัดนี้เผื่อว่าตายลงแล้วไปสู่สวรรค์ เช่นนี้พระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมาแสดงพระอภิธรรม ได้ฟังพระอภิธรรมคำสอนอันลึกซึ้ง ก็สามารถรู้แจ้งแทงตลอดได้ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เป็นอย่างนั้นชีวิตของคนเราน่ะ ขอให้เข้าใจ 

ไอ้พวกที่นับถือลัทธิอื่นนั่น ไม่มีทางหรอกที่จะได้จะพบพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่พบแล้ว เค้าก็ไม่เลื่อมใส อย่างพวกเดียรถีย์เนี่ยครั้งพระพุทธเจ้านะ ถึงเกิดร่วมกันพระพุทธเจ้าแต่เขาก็ไม่นับถือพระพุทธเจ้า เค้าก็นับถือลัทธิของเขานั่นแหละ นั่น เป็นอย่างนั้น พระพุทธองค์พยายาม พยายามหาโอกาสติดต่อสังคม สนิทสนมกับเขา แต่บางพวกก็ได้ผล ผู้มีบุญวาสนาแรงกล้าก็รู้ตัวได้ กลับตัวได้ มานับถือพระพุทธศาสนา ปฏิบัติไปก็สำเร็จมรรคผลได้ตามวาสนาบารมีของตน เนี่ยเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพวกเรานั้นเรียกว่าละความหลงเห็นผิดต่างๆดังกล่าวมานี้ได้แล้ว เรามอบกายถวายชีวิตบูชาคุณแก้วสามประการนี้โดยส่วนเดียว เป็นหนึ่งไม่มีสองเลย ก็ขอให้ทำใจอย่างนั้น เพราะว่าลัทธิต่างๆในโลกมีเยอะแยะ ถ้าเค้าจ้างคนไทยนี่แหละเป็นตัวแทนโฆษณาชวนเชื่อต่างๆนานาหมู่นี้นะ มีถมไปทุกวันเนี้ย เพราะฉะนั้นพากันระวังตัวไว้ อย่าไปหลงคารมของลัทธิอื่น ลัทธิอื่นน่ะไม่เป็นทางพ้นทุกข์เลย ไม่เป็นทางพ้นทุกข์จริงๆ เช่นอย่างว่า ลัทธิโยเลอะไรอย่างนี้ ไอ้พวกที่เข้ามาเผยแผ่อยู่นี่ก็ล้วนแต่มีกิเลสตัณหาหนาแน่นอยู่ในจิตใจ ยังบริโภคกามคุณอยู่เหมือนกับคนทั่วๆไป แล้วอย่างนี้จะเป็นผู้วิเศษได้ยังไงอ้ะ 

ผู้วิเศษทั้งหลายท่านละกิเลสขาดจากสันดารแล้ว ทำตัวเป็นคนผู้เดียว นุ่งห่มผ้าสีเดียว อย่างพระพุทธเจ้าและสงฆ์สาวกนั้นนะ ท่านก็มีความประพฤติปฏิบัติ ความเป็นอยู่ เหมือนกัน ตรงกัน อันเดียวกัน แล้วก็นุ่งผ้าสีเดียวกันเลย ไม่หลายสี นี่แหละท่านผู้สิ้นอาสวะกิเลส ท่านผู้มีบุญญาบารมีแก่กล้านะ ไม่ว่าใครหละ ถ้าสร้างบุญบารมีไปๆแล้ว หากว่าบุญบารมีเต็มแล้ว ก็จะได้ออกบวช ถือผ้ากาสวพักตร์เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกนั่นเอง 

ถ้าเป็นผู้หญิงก็บวชเป็นนางภิกษุณี อย่างนี้ก็มีมาทุกยุคทุกสมัยแหละ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เพราะว่าผู้หญิงน่ะ ถ้าพูดแล้ว ก็ดูสมัยปัจจุบันนี้แล้ว ผู้เข้าวัด ผู้ฟังธรรม จำศีล ผู้สนใจทางการฝึกฝนอบรมจิตใจ มีแต่ผู้หญิงเป็นส่วนมาก ผู้ชายมีน้อยเต็มที ดังนั้นเมื่อผู้หญิงอยากบวช พระองค์เจ้าก็จึงบวชให้ เป็นนางภิกษุณี แต่ว่านางภิกษุณีนั่นน่ะอยู่ไม่นาน เนื่องจากว่า นิสัยผู้หญิงนั่นมันนิสัยอ่อน น้อมไปง่าย แล้วก็มักจะมีเรื่องวุ่นวายอยู่บ่อยๆ พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทไว้ถึง ๓๐๐กว่าข้อ บังคับกาย วาจา ไว้ แล้วปรากฏว่าตอนที่พระองค์เสด็จปรินิพพานนี่ ไม่ปรากฏว่ามีนางภิกษุณีไปชุมนุมที่เมืองกุสินารานั่นเลย ไม่มีเลย ในตำราไม่กล่าวไว้เลย เข้าใจว่านางภิกษุณีหมดก่อนพระองค์ปรินิพพานแล้ว เป็นอย่างนั้น ดังนั้นผู้ใดมีบุญวาสนาแรงกล้าจริงๆจึงได้บวชเป็นภิกษุณี 

เพราะฉะนั้นก็อย่างพวกเราปฏิบัติอยู่เนี่ย อานิสงส์อันนี้มันก็จะได้ให้เป็นนักบวชเนี่ยแหละในอนาคตเบื้องหน้าต่อไป หากบุญบารมีแก่กล้าเต็มบริบูรณ์ลงไปแล้ว ก็จะได้บวชในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ต่อไปแล้วก็จะทำอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป ได้เข้าสู่พระนิพพาน หมดทุกข์หมดยากในสงสารต่อไป