หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
พึ่งพากันตั้งใจให้ดี บัดนี้ถึงวาระที่เราจะต้องอบรมจิตใจของตัวเอง ให้เข้าถึงความสงบเพราะความสุขนั้นอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี หมายความว่าความสุขอย่างอื่นน่ะ มันจะไปยิ่งกว่าความสงบนั้นไม่มี ดังนั้นผู้ต้องการความสุขที่แท้จริงมันก็ต้องมาฝึกจิตใจนี่ให้เข้าถึงความสงบ ก็จะได้พบกับความสุขแท้จริง
ผู้ประพฤติธรรมในพุทธศาสนานี่ ก็ต้องให้มันมีจุดหมาย ถ้ามันไม่ตั้งจุดหมายไว้อย่างนี้ มันก็ไม่ได้ผล การปฏิบัตินั่นนะ จุดหมายคือมุ่งที่จะทำใจให้สงบ นั่นแหละคือจุดหมาย ในขั้นแรกนี่ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบลงไปได้ เราก็ทำลงไป ก็อาศัยสตินั่นแหละสำคัญมาก ถ้าสติเข้มแข็งแล้วก็สามารถที่สะกดจิตนี้ให้สงบลงไปได้ โดยเพ่งลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องดำเนินหมายความว่าอย่างนั้น เราจักไม่คิดไปในเรื่องอื่นใด จักดูแต่ลมหายใจเข้าหายใจออกเท่านี้ หายใจเข้าไปถ้าไม่ออกมาก็ตาย หายใจออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาก็ตาย ชีวิตของเรานี้มีน้อยนิดเดียวนึง ถ้าเพ่งดูให้จริงๆแล้ว มีอยู่แค่ลมหายใจเข้าออกแค่นี้เอง ลองสังเกตดู ลมหายใจเข้าออกมันก็มีอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น ไม่ใช่มีอยู่ในอดีตที่ล่วงแล้วมา ที่ล่วงแล้วมามันก็ดับไปแล้วนี่ ลมหายใจมันหายไปแล้ว ที่ล่วงแล้วมาน่ะ อนาคตลมหายใจก็ยังไปไม่ถึง มีอยู่แค่ปัจจุบันนี้เท่านี้เอง ที่ให้ตัวเองรู้ว่าตนยังมีชีวิตอยู่ก็เท่านี้แหละ
แต่มนุษย์เราส่วนมากมันไม่สำคัญว่าชีวิตมีเท่านี้ มันสำคัญว่าตนนั้นจะมีอายุยืนยาวนานไปอยู่ เหตุฉะนั้นจึงได้เพลิดเพลินมัวเมา จึงตั้งอยู่ในความประมาท ไม่รีบเร่งบำเพ็ญบุญกุศล อันเป็นหนทางแห่งความสุขให้แก่ตัวเอง เอาแต่เพลิดเพลินในการละเล่นต่างๆ ในการแสวงหาความสุขสนุกสนานชั่วคราว อันนี้นับว่าเป็นความประมาทของมนุษย์เรา สำหรับผู้ใดตื่นตัวได้ไม่ประมาทก็นับว่าเป็นวาสนาของผู้นั้น
เช่นอย่างว่าผู้ที่คิดบวชเรียนในพระพุทธศาสนานี้ ก็นับว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แต่บางคนในเบื้องต้นนะไม่ประมาท แต่ในท่ามกลางคือต่อไปเกิดความประมาทขึ้นก็มี ในขั้นแรกรู้สึกกะปรี้กะเปร่าทำความดี ขยันขันแข็งสำรวมตนด้วยดี ครั้นเมื่อไปๆกลายเป็นคนเลินเล่อเผลอสติ ไม่รู้จักสำรวมกายาจาใจให้เป็นปกติเหมือนแต่ก่อน ผู้นั้นก็เลยถึงซึ่งความเสื่อม การเป็นนักบวชเนี่ยนะ
เพราะฉะนั้นทุกคนต้องรักษาความไม่ประมาทไว้ให้ได้ คือรักษาสตินั่นเองน่ะ ตนพิจารณาเห็นร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้เห็นอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป อย่าให้มันเห็นเป็นอย่างอื่นไป เช่นร่างกายนี้เป็นอสุภะ คือไม่สวยไม่งามก็ให้พิจารณาเห็นว่ามันไม่สวยไม่งามอย่างนั้นเสมอไป เมื่อร่างกายนี้มันเป็นของไม่เที่ยง ก็ให้เกิดความรู้ความเห็นว่ามันไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้น เมื่อร่างกายนี้มันเป็นทุกข์ทนได้ยากลำบาก มันทนอยู่นิ่งๆไม่ได้ ก็ให้มันเห็นว่าเป็นทุกข์ทนได้ยากจริง เพราะว่าร่างกายนี่มันต้องได้เคลื่อนไหวอยู่เรื่อยไปจึงพอประทังได้ แต่ถ้าจะมานั่งนิ่งๆอยู่ตลอดเวลาเนี่ยไปไม่ได้เลย หรือจะต้องนอนตลอดเวลานี่ก็ไม่ได้อีก จะต้องเดินอยู่ตลอดเวลาก็ไม่ได้ จะต้องยืนอยู่ตลอดเวลาก็ไม่ได้ นั่นแหละมันทนอยู่ไม่ได้เลย มันทนอยู่ อยู่นิ่งๆไม่ได้เลยร่างกายนี้ ต้องเคลื่อนไหวไปมาอย่างนี้ มันจึงพอประทังอยู่ได้
นี่แหละลักษณะแห่งความทุกข์ของร่างกาย ให้พาพิจารณาดูให้มันเห็น อย่าไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปอย่างนั้นเปล่าๆโดยไม่มองเห็นลึกไปกว่านั้น ธรรมดาจริงอยู่ แต่ธรรมดาทุกข์ต้องให้เข้าใจอย่างนั้น ไม่ใช่ธรรมดาเฉยๆ การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูดจา ทำการงานต่างๆหมู่นี้นะมันเรื่องของความทุกข์ทั้งนั้นเลย เรื่องของความทนอยู่ไม่ได้ของร่างกายสังขารนี้ ต้องได้เคลื่อนไหวไปมาอยู่อย่างนั้น นี่ต้องพิจารณาให้เห็นอยู่อย่างนี้แล้วมันก็จะได้เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่าย ทำไมมันยังเป็นอยู่อย่างนั้น ก็มันบังคับไม่ได้ ไม่มีอำนาจใดๆในโลกจะมาบังคับร่างกายนี้อยู่นิ่งๆได้ หรือให้มันเที่ยงไม่ต้องแปรผันเป็นอย่างอื่นเลย อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ ธรรมชาติไม่ได้สร้างมาอย่างนั้น ธรรมชาติสร้างขึ้นมาแล้วมันก็ให้มันแปรผันไปในที่สุดก็มันแตกดับลง อันนี้ธรรมชาติมันสร้างมาอย่างนี้นะ สังขารร่างกายอันนี้ นอกร่างกายนี่ออกไปก็เหมือนกันหมดเลย ก็ต้องพิจารณาให้มันเห็นอย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาท คือเป็นผู้ค้นหาความจริงของชีวิตของอัตภาพร่างกายนี้อยู่
ถ้าบุคคลไม่มาเพ่งพินิจพิจารณาร่างกายให้เห็นตามสภาพความจริงอย่างว่านี้แล้ว เมื่อเวลาร่างกายมันวิบัติลง มันแปรปรวนไป ดวงจิตดวงนี้ก็เป็นทุกข์เป็นโศกแล้วบัดนี้ ทั้งสะดุ้งหวาดกลัวต่อความตาย จิตนี้ยิ่งเป็นทุกข์หลาย เมื่อไม่ได้พิจารณาให้รู้ล่วงหน้าไว้อ้ะ แล้วก็ตัณหามันก็ไม่บรรเทาลงเลย ผู้ใดพิจารณาเห็นว่าชีวิตนี้มีประมาณน้อยนิดเดียวอย่างว่านี้นะ มันก็ทำให้ตัณหาความทะเยอทยานอยากได้อะไรต่ออะไรในโลกนี้มันเบาบางลงไปเลย มันไม่ทราบว่าจะไปขวนขวายไปอะไรนักหนา
ในเมื่อชีวิตนี้มีน้อยนิดเดียวหนึ่ง ไม่ทันไรก็จะจากโลกนี้ไปแล้ว บางคนผู้มีกรรมมีเวรติดตามมาแต่ก่อน มาตัดรอนเอา อายุนี่ยังไม่ถึงอายุไขก็ตายก่อนแล้ว บางคนพอเกิดมาได้ไม่กี่วัน กี่เดือน ก็ตาย บางคนเกิดมาแล้วพอเป็นเด็กเป็นเล็กกำลังน่ารัก เอ้า ก็มาตายเสีย บางคนพอเกิดขึ้นแล้วพอมาเป็นเด็กนักเรียน เอ้า บางทีก็นั่งรถไปโรงเรียน รถคว่ำ รถชนกัน เอ้า ก็ตายหมู่อย่างนี้นะ บางคนก็กำลังอยู่ในวันหนุ่มวัยสาวก็มีอันเป็นไปมาตายไปเสีย บางคนก็อยู่ในวันกลางคน เอ้า กำลังแบกภาระของการเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย กำลังขวนขวายตั้งเนื้อตั้งตัวให้ร่ำให้รวยเป็นฝั่งเป็นฝาเหมือนเพื่อนทั้งหลาย ก็มีอันเป็นไป คือมาตายจากลูกจากเมียจากผัวไป เสีย…บางคนก็ถึงวัยแก่วัยชรา เอ้า ร่างกายก็ทรุดโทรมลงจะตายก็ไม่ตายก็ทนทุกข์ทรมาน เดินไปไหนมาไหนก็ลำบาก บางคนก็เป็นอัมพาต อัมพาตนี่นานตายกว่านี้ ทนทุกข์ทรมาน ข้าวน้ำก็ต้องให้ผู้อื่นป้อน จะไปไหนก็ต้องผู้อื่นได้ประคับประคอง ต้องเอาใส่รถเข็นไป นี่ ตายก็ไม่ตาย มันจะมีกำลังแข็งแรงขึ้นกว่าเก่าก็ไม่มี บางคนก็หูตึง บางคนก็ตามัวตาฝ้า มองอะไรก็ไม่เห็นชัด แต่ก็ไม่ตายง่าย
นี่แหละลักษณะแห่งความทุกข์ ให้พึ่งพากันพิจารณากันให้ดี มันทนได้ยากลำบากอยู่อย่างนี้แล้วจะไปเเพลิดเพลินไปเอาอะไรเล่า จะเพลิดเพลินได้กี่นานกี่เดือนกี่ปี ไอ้ร่างกายอันนี้มันจะมีกำลังวังชาพอที่ให้สนุกสนานไปนะ ลองบวกลบคูณหารกันดู น้อยเดียวหนึ่งนะ เพลิดเพลินมัวเมาความสุขสนุกสนานอันนั้นน่ะ มันแทรกอยู่ด้วยทุกข์ เหมือนดั่งยาพิษเคลือบน้ำตาลดังกล่าวให้ฟังมาแล้วน่ะ มีทั้งสุขมีทั้งทุกข์คลุกเคล้ากันไป ชีวิตของผู้ครองเรือน เอ้า ฝ่ายหนึ่งไปสนุกสนานดี ฝ่ายหนึ่งกลับเศร้าใจคับแค้นใจ บังเอิญเงินขาดมือลงไป ไม่มีเงินจะจ่ายยิ่งเดือดร้อนใหญ่ บังเอิญอันนั้นก็ขาดไป อันนี้ก็ไม่มี ซื้อรถมาขี่ เอ้า รถก็มาชำรุดลงไม่มีเงินจะซ่อมรถ เอาแล้ว ก็เดือดร้อนแล้ว ปลูกบ้านแปลงเรือนอยู่ อยู่ไปอยู่มา ตนมีเงินน้อยจะทำให้แข็งแรงก็ไม่ไหว บ้านเรือนก็ชำรุดลง ไม่มีเงินจะซ่อมแซม ไม่มีเงินจะสร้างใหม่ก็เป็นทุกข์
อันนี้ลองพิจารณาดู ชีวิตของคนเรานี่ มันมีแต่กองทุกข์แท้ๆน้า ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่เห็น เอ้า ถ้ามันทุกข์อย่างนั้นน่ะ คนเรามันจะไม่ฆ่าตัวตายหมดซะแล้วหรือ…ไม่ฆ่า เพราะมันมีสุขชั่วคราวนั้นเป็นเหยื่อล่อ เอ้า มันทุกข์ไปพักนึงน้อยนึงก็กลับสุขขึ้นมา อย่างนี้แหละ มันให้เพลิดเพลินสนุกสนานไประยะนึง ไปๆหน่อยนึงทุกข์ก็ประดังประเดขึ้นมา กลุ้มใจ บางคนทุกข์ติดต่อเนื่องกันไปนานก็ฆ่าตัวตายโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง มีอยู่ถมไปโลกอันนี้ นี่พรรณนาถึงความทุกข์แห่งชีวิตนี่ ก็ทำไมมันจึงเป็นทุกข์อย่างนั้น ก็มันเป็นอนัตตา มันบังคับไม่ได้ มันไม่อยู่ในบังคับบัญชาของผู้ใด ร่างกายสังขารอันนี้นะ นอกร่างกายนี่ออกไปก็เหมือนกัน เช่นแก้ว แหวน เงิน ทอง ของมีค่าต่างๆในโลกอันนี้ ได้มาแล้วก็สูญหายไป ได้มาแล้ว ใช้ไป จ่ายไป ก็หมดไป เอ้า ส่วนใดที่ไม่หมด โจรขโมยมันรู้เข้ามันมาลักเอาไป หรือมีการเอาปืนเอามีดมาจี้เอาเฉยๆนี่นะ พวกเจ้าของทรัพย์ก็ระทมใจ ช่วยกันพิจารณาความจริงของชีวิตนี้ให้มันรู้มันเห็น
ถ้าพิจารณาเห็นตามที่แนะนำมานี่นะ ตัณหามันต้องเบาบางลงแน่นอนเลยทีเดียว ความทะเยอทยานอยากในจิตใจก็เบาลง มันจักไม่แก่กล้าขึ้นไปได้เลย เพราะมองดูแล้วมันไม่มีอะไรเป็นแก่นเป็นสาร ถ้าขืนไปยึดไปถือเอาไว้เท่าไรมันยิ่งเป็นทุกข์หลายเท่านั้น ตัณหากับอุปาทานนะมันเป็นคู่กัน เมื่อไม่ละตัณหานี่ให้มันสงบลงมันก็ยึดถือบ่นี่ นั่นแหละ มันกลายเป็นอุปาทานไป เมื่อมันยึดถือไว้แล้ว มันก็เป็นเหตุให้แสวงหาในสิ่งที่ตนยึดไว้ในใจนั้น เมื่อแสวงหาไปไม่ได้สมหวังก็เอาแล้ว เป็นทุกข์แล้ว เดือดร้อน อย่างนี้แหละ
นอกจากจะเป็นทุกข์อยู่ในปัจจุบันนี่แล้วมัน ความยึดความถือนี่ยังเป็นตัวกรรม นำดวงจิตให้ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ต่อไป แต่เกิดในชาติใดก็ไปผูกพันกับของไม่เที่ยงนั่นแหละ ไปผูกพันอยู่กับสร้อยคอ ตุ้มหู แหวนเพชร นาฬิกาข้อ รองเท้าส้นสูง เสื้อคลุยสำหรับประดับเกียรติผู้เป็นบัณฑิต เรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท เอ้า ไปชื่นชมยินดีอยู่กับเครื่องห่มของผู้มีอำนาจเช่นตำรวจ ทหาร เค้าเอาเครื่องประดับมาติดตัวเข้าให้ ดีอกดีใจว่าตนมีเกียรติมียศ เวลาเกิดสงครามมาเค้าก็ใช้เราไปตายก่อนเพื่อน นี่แหละ ตัณหาน่ะ พิจารณาเอา มันยังว่าดีอยู่นี่ เค้ายกย่องว่าทแกล้วทหาร ทหารหาญของชาติ พอเค้ายกย่องเข้าไปก็ฮึกเหิม ฮึกเหิมขึ้นเลย ลืมตายไปนั่นแหละ ดังนั้นหมู่นี้มันต้องเก็บมาคิด มาพิจารณาคนเราน่ะ ถ้าไม่พิจารณาให้เห็นความจริงของชีวิตดังกล่าวมานี่แล้ว มันจึงติดจึงข้องอยู่ในโลกนี้แหละ มันจึงผูกพันอยู่ในโลกนี้ จึงไม่อยากหนีออกจากโลกนี้ เรื่องมันน่ะ จะเก็บเอามาคิดมากรองดูให้ดีแล้ว มันไม่เป็นสิ่งที่ควรจะปรารถนา อยากจะอยู่ อยากจะผูกพันกับมันเลย โลกอันนี้น่ะ
นักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ที่พระองค์ท่านพ้นไปแล้วนั้น หรือว่าพระอรหันต์ทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายที่ท่านพ้นไปแล้วนั่น ก็เพราะท่านมาพิจารณาเห็นความเป็นไปของชีวิตตามความเป็นจริงดังกล่าวมานี่เอง สรุปลงแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีเราไม่มีเขา เอ้า ถ้าไม่มีตัวไม่มีตนอย่างนั้นแล้ว จะทำบุญกุศลไปให้ใคร พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ละชั่วทำดีไปเพื่อใคร ไอ้ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ละชั่วทำดีนั่นน่ะ ก็เพราะว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั้นน่ะ เมื่อมันยังไม่รู้แจ้งในธรรมของจริงนะ มันก็ยึดเอาขันธ์ ๕ นี่มาเป็นตัว เป็นของของตน มันพาขันธ์ ๕ นี่ทำดีบ้างทำชั่วบ้างไป สะสมบาปกรรมใส่ตัวเอง นั่นแหละ บาปกรรมนั้นมันก็เลยฉุดคร่าไปสู่นรกอบายภูมิได้จนทุกข์ทรมานอยู่ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐในโลกพระองค์ได้สร้างบารมีมาก่อนคนอื่นสร้างบารมีมาเต็มแล้ว พระองค์พ้นแล้ว พ้นจากอำนาจแห่งตัณหานี่แล้ว ถึงสุญญตานุปัสนา คือเห็นแจ้งว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเรา โลกอันนี้นะ ท่านเห็นแจ้งด้วย ท่านพ้นด้วยนั่นแล้ว พระองค์เจ้าจึงมาแนะนำสั่งสอนให้พุทธบริษัทละชั่วทำดี เมื่อละความชั่วได้ ทำแต่ความดีใส่ตัว เช่นนี้ความดีคือบุญกุศลนี่มันก็ยกยอชีวิตให้สูงขึ้นไปตามลำดับ
นี่แหละทำไมพระศาสดาท่านสอนให้ละชั่วทำดีน่ะ ก็ทำดีเพื่อตัวเองนี่แหละ ตัวเองยังหลงยึดหลงถือของไม่เที่ยงอยู่ ยังปล่อยวางของไม่เที่ยงไม่ได้เพราะอะไรมันถึงปล่อยวางไม่ได้ ก็เพราะว่าบุญตัวมันน้อยสติปัญญาก็น้อย นี่ ต้องให้เข้าใจเหตุผลอย่างนี้ เหตุนั้นน่ะ เราจึงต้องสร้างบุญสร้างกุศลต่อไป บุญกุศลนี่แหละมันไปหล่อหลอมจิตให้เกิดปัญญาความรู้ความฉลาดขึ้นมา บุคคลผู้มีปัญญาแหลมคมเต็มที่เท่านั้นแหละ ถึงจะถอนตนออกจากโลกอันนี้ได้ ถึงจะอยู่เหนือโลกนี้ได้ จึงจะมองเห็นว่าทุกสิ่งไม่ใช่ของเรา แล้วก็ ทั้งเห็นด้วย ทั้งปลงทั้งวางลงด้วยทีนี้ นั่นแหละถึงจุดโน่นนะ มันถึงจะพ้นทุกข์ได้ ถึงจะเห็นอนัตตาแจ่มแจ้งได้ ถึงตรงนั้นแล้วก็ไม่ต้องทำอะไรแล้วบัดนี้ ไม่ต้องละชั่วทำดี เพราะว่ามันพ้นแล้วนี่ พ้นจากดีพ้นจากชั่วไปหมดแล้ว จิตมันอยู่เหนือความดีความชั่วทั้งหมดแล้ว ความดีความชั่วมันเป็นสมบัติของโลกนี้ จิตของผู้ใดยังไม่รู้แจ้งก็ต้องอาศัยดีกับชั่วอยู่ในโลกนี้ หมายความว่าอย่างนั้น เมื่อชั่วมันให้ผลก็เป็นทุกข์ทรมานไป เมื่อความดีมันให้ผลก็มีความสุขสบายไปชั่วระยะหนึ่ง เป็นอยู่อย่างเนี้ย ชีวิตปุถุชนเรานะ พิจารณาให้มันเห็น
ก็นักปราชญ์ผู้มีปัญญาท่านพิจารณาเห็นความสุขในโลกนี้นะ ว่ามีน้อยนิดเดียวหนึ่ง ไม่พอแก่ความประสงค์ของดวงจิตนี้เลย ความประสงค์ของจิตนี่มันต้องการมีความสุขสม่ำเสมอตลอดไปเลย ไม่ต้องการให้ความสุขอันนี้มันแปรผันเป็นอย่างอื่นไป แต่แล้วมันไม่เป็นไปตามใจหวังสิ เพราะความสุขในโลกนี้มันอิงอาศัยวัตถุสิ่งของ เมื่อวัตถุสิ่งของนั้นสูญสิ้นไป ความสุขอันนี้ก็สูญสิ้นไปตามกัน เช่นอย่างความสุขเกิดจากการมีเงินมาก การจ่ายเงิน การใช้จ่ายเงินมาบำรุงบำเรอชีวิตก็นับว่ามีความสุขแล้ว บัดนี้ถ้าเงินทองมันหมดไปเราจะว่าไงหละทีนี้ ความสุขนั้นมันก็หมดไปตามกัน อย่างนี้แหละลองคิดดู แม้สิ่งอื่นๆที่มันอำนวยความสุขให้ก็เหมือนกันนั่นแหละ เช่นรถราอย่างนี้นะ จริงอยู่หละมันพาให้วิ่งไปสู่จดหมายได้จริงแต่แล้ว ไปๆมาๆโน่นก็ชำรุดลงแล้ว เสียหายลงไปแล้ว ใช้การไม่ได้แล้ว อ้าว เจ้าของรถก็เสียดายเสียใจ ไอ้ความสุขที่มีรถมีรานั่นก็หายไปหมดเลย ความทุกข์เกิดขึ้นมาแทน ไม่มีรถขี่ วิ่งเต้นหาเงินหาทองมา ซื้อรถ นี่แหละ มันได้ทั้งทุกข์ได้ทั้งสุข โลกสงสารอันนี้นะ ชีวิตอันท่องเที่ยวอยู่ในสงสารนี้นะ แต่แล้วเมื่อสรุปลงสู่สุดท้ายแล้วมีแต่ทุกข์ อันสุขที่ว่านั่นหายหน้าไปแล้ว
ลองคิดดูเมื่อเวลาคนเรา คนจะตายนะ เราจะไปเรียกร้องหาความสุขที่ไหนมา ให้ได้ความอุ่นใจเล่า มีแต่ทุกข์นั่นแหละ มีแต่ความรู้สึกที่เป็นทุกข์อย่างเดียว เมื่อเวลาจวนจะตาย ไฉนจึงว่าอย่างนั้น ก็ว่าอย่างนั้นก็เพราะร่างกายนี่มันอาศัยไม่ได้แล้วนี่ มันจะแตกอยู่มะรอมมะร่อแล้วนี่ มันแปรปรวนไป พอแปลงแล้วนี่ แล้วจะไม่ให้จิตที่อาศัยอยู่นี่เป็นทุกข์เหลือล้นยังไงเล่า แล้วจิตนี้เมื่อไม่รู้เท่าร่างกายอันนี้ ไม่รู้เท่าขันธ์ ๕ นี่ ปลงไม่ตก วางไม่ลงละก็ นั่นแหละ เป็นทุกข์ใหญ่เลยจิตน่ะ นี่มันกระวนกระวายเดือดร้อนเลย ก็คิดดูชีวิตนี้น่ะ สรุปตอนสุดท้ายแล้วมีแต่ทุกข์อย่างเดียว สุขหายหน้าไปหมดเลย ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านได้เจริญวิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้นแล้ว มากำหนดรู้แจ้งในขันธ์ ๕ นี้ ตามเป็นจริง ท่านปลงท่านวางขันธ์ ๕ นี่เด็ดขาดลงไปแล้ว จิตของท่านอยู่เหนือขันธ์ ๕ แล้วบัดนี้ เวลาขันธ์ ๕ นี้มันแปรผันจวนจะแตกดับ ท่านก็ไม่เศร้าโศก จิตใจอันนั้นท่านก็ไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวาย เพราะว่าท่านปลงวางเด็ดขาดลงไปแล้ว มันขาดจากกันแล้ว มันไม่มีเยื่อใยเลย
นี่แหละการที่บุคคลจะหลุดพ้น จะเห็นอนัตตานุปัสนาได้โดยแจ่มแจ้งจริงๆน่ะ จะเห็นว่าทุกสิ่งไม่ใช่ของเรา มันก็ต้องทำความดีแล้วก็ละความชั่วโดยลำดับมา จนบุญบารมีแก่กล้า จนปัญญาบังเกิดขึ้น อย่างวิเศษเลยนี่ ปัญญานั่นแหละมาตัดโลกสงสารอันนี้ขาดออดจากดวงจิตนี้ ขาดตอนกันเลยบัดนี้ จิตนั้นก็เป็นโลกุตรธรรม แปลว่าจิตนั้นตั้งอยู่ในธรรมเหนือโลก ธรรมอันนั้นเป็นธรรมเหนือโลก ไม่ใช่อยู่ใต้โลก ไม่ใช่ปนอยู่กับโลก ที่ท่านกล่าวว่าพระนิพพานนั่นแหละ เพราะฉะนี้การที่คนเราจะมีจิตใจสูงอย่างว่านั่นนะ เราก็ต้องฝึกให้มันสูงไปแต่นี้แหละ อย่าให้มันคิดไปในทางต่ำ
เช่นบวชเข้ามาแล้วอย่างนี่นะ อย่าไปคิดสึกขาลาเพศไป เพราะการคิดสึกขาลาเพศไปอย่างนั้น ความคิดมันตกต่ำไปแล้วนั่นนะ มันถอยหลังเข้าคลอง แล้วจะไปคิดทำบาปสิ่งใดเป็นบาปเป็นกรรม อย่า ใจอย่าไปนึกหวนหาเรื่องเรื่องบาปเรื่องกรรม เพราะถ้าว่าจิตคิดหวนไปหาบาปกรรมที่ตนเคยทำมา ทำความพอใจกับบาปนั้นอยู่เรียกว่า จิตมันตกต่ำไปแล้ว มันไม่ได้อยู่เหนือโลก อย่างบาปกรรมเหล่านั้นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมันจะไปหมุนหาความชั่วได้อีกอย่างไรหละ จิตใจที่เป็นอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นน่ะการที่จิตจะอยู่เหนือโลกได้ เราก็ต้องฝึกตั้งแต่มันยังอยู่กับโลกนี่แหละ หัดพยายามประคองจิตนี้ไว้อย่าให้มันตกต่ำไป ถ้าเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนอย่างนี้ก็ พยายามประคองจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญในคุณให้ได้ อย่าให้จิตมันตกต่ำไปในทางบาปอกุศล อย่าให้จิตนี้ไปคิดเพ่งเล็งอยากจะได้สมบัติผู้อื่นมาเป็นของตน ตนแสวงหามาได้เท่าไหร่ก็ยินดีบริโภคใช้สอยอยู่เท่านั้น ประคองจิตนี้ไว้ให้ดี อย่าให้จิตนี้มันโกรธ อย่าไปสร้างความโกรธให้มันหนาแน่นขึ้นในจิตใจ พยายามตัดทอนให้มันเบาบางลงเรื่อยๆ ยกจิตนี้ให้สูงกว่าความโกรธนั้น อย่างนี้นะจึงเรียกว่ามันถึงจะอยู่เหนือโลกได้ มันถึงจะบรรลุถึงโลกุตตรธรรมได้ ถ้าไม่ฝึกจิตให้อยู่เหนือโลกไปแต่เวลาอยู่กับโลกนี้แล้ว ไม่มีทางหละ มันจะอยู่เหนือโลกได้ จะท่องเที่ยวเกิดตายในโลกนี่เกิดตายกี่ภพ ก็ไม่พบกับ โลกุตตรธรรมเลย
เพราะฉะนั้นถ้าใครได้มีโอกาสมาบวชเรียนในพระพุทธศาสนานี่ นับว่าเป็นบุญวาสนาของผู้นั้นอย่างสูง เพราะผู้นั้นจะมีโอกาสฝึกจิตของคนให้อยู่เหนือโลกไปเรื่อยๆ พยายามยกจิตของตัวเองให้อยู่เหนือโลกแห่งบาปกรรมความชั่วต่างๆ ความรักความใคร่ต่างๆ หมู่นี้นะ ให้มันห่างไกลไปเรื่อยๆ เรามีโอกาสที่จะได้ฝึกตนอย่างนั้นจริงๆเลย ถ้าไปครองเรือนแล้วนั่น ก็เหมือนกับปลามันไปแช่อยู่ในน้ำนั่นเองแหละ น้ำมันจะเย็นยังไงปลามันก็ทนทุกข์อยู่ไปอย่างนั้นแหละ เพราะว่ามันพอใจในน้ำมาแต่กำเนิดแล้ว ถ้ามีคนจับโยนบนบกนี่ดิ้นกระเสือกกระสนอยากจะลงไปหาน้ำ ก็อุปมาได้เหมือนกับ กุลบุตรกุลธิดาที่เกิดมาในโลกนี้แหละ สำหรับผู้นับถือพุทธศาสนา มารดา บิดาก็นับถือ พุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เมื่อตนได้ลูกได้หลานมาก็ประสงค์อยากให้ลูกหลานของตนสืบพุทธศาสนานี้ ก็จึงพยายามชักจูง แนะนำให้เกิดฉันทะพอใจในการบวชเรียนในพุทธศาสนา ฝ่ายลูกหลานขัดพ่อแม่ไม่ได้ก็ตกลงมาบวช พอมาบวชเข้าไปแล้ว เอ้า ร้อนไม่ได้อาบ อยากไม่ได้กิน เข้ามานี่อย่างนี้จิตก็ดิ้นไปเลย ดิ้นไปอยากแสวงหาสิ่งที่ต้องการเหมือนเดิม ร้อนให้มันได้อาบเลย อยากให้มันได้กินเลย เอาหละบัดนี้นึกหวนหานึกทบทวนหาความสุขชั่วคราวที่ตนได้สัมผัสกับมันมาแล้วก็ไม่เป็นอันนั่งสมาธิภาวนา ไม่เป็นอันเดินจงกรม วุ่นวายเดือดร้อนเหมือนกับเค้าจับปลาได้แล้วเค้าก็โยนขึ้นบนบกนั่นแหละ ดิ้นกระเสือกกระสนไป ก็เมื่อผู้ใดรู้ตัวอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรประมาทอย่างนั้นเพราะว่ามันมีแต่ทุกข์ในโลกนี้ดังพรรณนาให้ฟังมานั่นแหละ
แต่บางคนก็มีเจตนาศรัทธา อยากบวชให้ตนเองจริงๆก็มี เมื่อเวลาศรัทธามันยังเกิดปีติ มันยังเกิดอยู่ในใจนั่น กิเลสหยาบๆต่างๆมันก็บรรเทาลงไม่ปรากฏ อย่างนี้นะ ก็มาฝึกฝนอบรมตนอยู่ในวัด จนได้บวชได้เรียนเลยก็มี พอบวชเข้ามาแล้ว บัดนี้กิเลสเหล่านี้มันคอยเชิงอยู่นี่ เพราะว่าตนเผลอสติเข้าไป มันก็ครอบงำเอาทันทีเลย ตนไม่รู้มายาของกิเลสก็เลยดิ้นไปตามอำนาจของกิเลสแล้วบัดนี้ มันเป็นอย่างนั้น เรื่องมันน่ะ สาเหตุที่ผู้บวชเข้ามาในศาสนาจะอยู่ไปไม่ได้ก็เพราะเหตุผลดังกล่าวมาเนี่ย
เพราะฉะนั้นทุกคนน่ะจะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี่ไปได้ มันก็ต้องอาศัยการเจริญสมาธิภาวนา ได้มาเพ่งพิจารณาเหตุผลแห่งชีวิต ดังบรรยายให้ฟังมานี่นะ ให้มันเห็นแจ้งตามเป็นจริงไปแล้ว กิเลสมันก็จะไม่เป็นตัวมารมาคอยฉุดคร่าเอาดวงจิตนี้ให้ดิ้นไปแสวงหาของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนดังกล่าวมาแล้วนั้น ต่อไป เพราะฉะนั้นผู้ที่กำลังฝึกฝนอบรมตนจะบวชอยู่ก็พึงเข้าใจไว้อย่างนี้ ต้องระมัดระวังไอ้มารมันจะมาขัดขวางเอา การที่เพิ่นให้ฝึกคนซะก่อนให้นานพอสมควรก่อน จึงค่อยบวชนั่นนะ ก็เพราะต้องการให้ทดสอบกำลังใจตนเองว่าตนจะสู้กับกิเลสได้ไหม นั่นแหละ เพราะบางรายเห็นมาแล้ว พอมาฝึกตนเข้าไปหน่อยนึงสู้กิเลสไม่ได้ ลักหนีไปก็มี ลาหนีเอาซึ่งหน้าก็มี บางรายพอมาฝึกตนเอาเข้าวัดอยู่ไม่กี่วันก็ได้บวช พอบวชเข้ามาก็เดือดร้อนใหญ่ ดิ้นรนอยากสึกขาลาเพศไป อย่างนี้มันมีมาแล้ว
เพราะฉะนั้นแหละเมื่อมันเป็นบทเรียนมาอย่างนั้นแล้วนะผู้ใดมาสมัครขอบวชในวัดนี้นะ ก็จึงต้องให้ได้ฝึกฝนอบรมตนไปพอสมควรก่อน เห็นว่าใจคอหนักแน่นพอที่จะประพฤติพรหมจรรย์ไปได้ อย่างนี้แล้วจึงได้บวชให้เพราะอย่าให้มันเสียเวลา เตรียมบวชกันไม่ใช่ง่าย การตั้งกองบวชแต่ละกอง พ่อแม่พี่น้องต้องขวนขวายอะไรต่ออะไรเลี้ยงแขกเลี้ยงคน ต้องใช้จ่ายเงินทองไปไม่ใช่น้อยเหมือนกันนะ บวชลูกบวชหลานแต่ละครั้ง เพราะฉะนั้นผู้เป็นลูกเป็นหลานต้องคิดดูอย่างนี้ ต้องคิดเห็นอกพ่อแม่ลุงป้าน้าอา พวกเราสนับสนุนให้ตนได้มาบวช ไม่ควรที่จะไปทำใจให้เหลาะแหละอ่อนแอ ยอมพ่ายแพ้ต่อมาร ยอมเสียเกียรติยศชื่อเสียง ใครจะว่าไงก็ตาม บทมันจะลู่ บทมันจะพยศมาแล้ว เหมือนกับความพยศ วัวพยศ เอาลากครากลากไถไป ลากล้อลากเกวียนไป เดินไปดีๆบทมันจะพยศมันก็ทิ้งคนออกจากนอกทางเกวียนไปซะ ปลดแอก อย่างนี้นะ วัวอย่างนั้นนะ ควายอย่างนั้นนะ เค้าขายไปเข้าหลักไปเลย มันเป็นอย่างนั้นนะเรื่องมันน่ะ
ไอ้คนเรานี่นับว่ามีบุญกุศลถึงได้เกิดมาเป็นคน เราต้องรักษาความเป็นคนไว้ให้ได้ รักษาเกียรติของความเป็นคนไว้ให้ได้ เมื่อเราตัดสินใจลงว่าจะทำอะไร จะดำเนินชีวิตไปอย่างไรแล้วนี่ ต้องให้มันเด็ดขาดลงไป ตายเป็นตาย จะพบอุปสรรคอย่างไรมาก็สู้ มันต้องอย่างนั้น จึงเรียกว่าเป็นผู้รักษาเกียรติของความเป็นมนุษย์ไว้ ไม่ได้ร้อนก็เอาเย็น นี่ ธรรมดาบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย ต้องมีความพากเพียรเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ว่าการเข้ามาบวชนี่ จะไปคิดเสียว่า อยู่บ้านอยู่เรือนทำแต่การแต่งาน ไม่ได้พักผ่อนเลย ลำบากมาก หนีไปบวชแล้วจะได้พักผ่อนบ้าง คิดอย่างนี้แล้วเข้ามาบวช พอบวชเข้ามาแล้วไม่ทำอะไรแล้ว พักผ่อนจริงๆ เรียนธรรมเรียนวินัย ก็ไม่เรียน อ้าว เพิ่นจัดการให้ได้เรียนนักธรรมกันอย่างนี้ พอเรียนไปหน่อยนึงเห็นว่ามันยุ่งยาก หยุดเสียไม่เรียนเอาดื้อๆ ใครจะว่าไงก็ว่าไป อย่างนี่ อันนี้เค้าเรียกรักษาเกียรติของความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคนนะให้พึงเข้าใจ คือว่าถือโอกาสตักเตือนเวลาอย่างนี้ เพราะเวลามันหายากเหลือเกิน ที่จะได้มีโอกาสได้ตักเตือน ได้แนะนำภาระกิจอย่างอื่นก็มากมาย ดังนั้นให้เข้าใจตามที่พูดให้ฟังมานี่
เรื่องการบวชน่ะ ไอ้ชีวิตของคนสมัยนี้มันไม่เหมือนสมัยกับพระพุทธเจ้า คนสมัยนี้บุญมันน้อย แต่ครั้งพระพุทธเจ้านั้นท่านเป็นผู้มีบุญมาก พอไปขอบวชกับพระองค์ในเวลานั้น พระองค์ก็บวชให้เวลานั้นเลย เพราะพระองค์ทรงรู้แจ้งว่าคนเหล่านี้มีบุญมากแล้ว อย่างนี้นะ พอบวชเข้ามาแล้วตั้งอกตั้งใจทำความเพียร ไม่นานก็สำเร็จมรรคผลเข้าไปแล้ว อย่างนี้แหละ สำหรับคนเกิดมาในยุคนี้สมัยนี้นี่ สมองก็ทึบ เรียนอะไรก็จำไม่ค่อยได้ แล้วก็ไอ้ความฉันทะความพอใจในการกระทำคุณงามความดีก็อ่อนแอเต็มที ทำอะไรก็ไม่เข้มแข็งไม่เอาจริงเอาจัง ไม่ทำความพอใจให้ยิ่ง ศึกษาเล่าเรียนอย่างนี้นะก็ไม่เอาจริง อย่าว่าแต่มาเรียนธรรมะเรียนวินัย เมื่อเรียนภาษาของชาติ ภาษาไทยอ้ะ เรียนวิชาความรู้ในโลก ก็เหมือนกัน บางคนน่ะ ไม่เอาไหนเลย อยู่ไปกับเพื่อนไปยังงั้นนะ เล่นไป ไปโรงเรียนก็ดี พอหมดวันหมดเวลาไป อยู่ไปพออายุครบแล้ว เค้าก็จำหน่ายออกไปเลย ไม่ได้ก็ช่าง ทุกวันเนี้ย เพราะว่าเนื้อที่ของโรงเรียนมันจำกัด เดี๋ยวเอาคนอื่นเข้าไปเรียนแทน คนที่เรียนมาแล้วได้หรือไม่ได้ก็โละออกไป ผู้ใดสอบได้ผู้ใดได้ดีก็เป็นโชคของผู้นั้นไป ผู้ใดเกียจคร้านเฉื่อยชาก็เลยตกกระป๋องไป ไม่มีความรู้อะไีรติดตัวของตัวออกไปจากโรงเรียนเลย ไอ้อย่างนั้นมันมีอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นน่ะ มันส่อแสดงให้เห็นเลยว่าคนบุญน้อยมันเป็นอย่างนั้น
อันเข้ามาบวชในวัดวาศาสนานี้ ก็ยิ่งแล้วใหญ่เลยนี่ แนะนำให้ท่องนวโกวาท หลักสูตรนักธรรมอย่างนี้ ไม่อยากเอาเลย อันนี้ให้มากันเข้าใจไว้ เราได้เข้ามาบวชอย่างนี้นะ อย่าไปทำตนเป็นคนอ่อนแอท้อแท้อย่างนั้น ต้องทำคนให้เป็นคนเข้มแข็งจริงๆ ต้องเชื่อถ้อยฟังคำของอุปัชฌาอาจารย์ เมื่ออุปัชฌาอาจารย์แนะนำให้ปฏิบัติตนอย่างไร ทำอย่างไร ต้องตั้งใจทำตามจริงๆ ต้องทำความพอใจ ที่จะทำตามคำแนะนำสั่งสอนของท่านเต็มที่เลย มันต้องอย่างนั้นการที่เป็นคนดีอ้ะ เพราะว่าเราวาสนาบารมียังน้อยอยู่ สติปัญญาก็น้อย อย่างนี้ถ้าเราไม่เคารพต่อคำแนะนำสั่งสอนของอุปัชฌาอาจารย์เช่นนี้แล้วจะเป็นคนดีไม่ได้เลย คนเรามันทำดีได้นะ ทำไมจะทำไม่ได้ แต่ที่มันทำไม่ได้เพราะมันไม่เชื่อไม่เคารพต่อครูบาอาจารย์ อันนี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นจึงเตือนไว้ก่อน สำหรับผู้ที่เข้ามาขอบวชเรียนในวัดวาศาสนานี่นะ ถ้าคิดว่าตนจะไม่เคารพต่อ อุปัชฌาอาจารย์แล้ว อย่าบวชเลย บวชเข้ามาแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ฉะนั้นมันต้องตัดสินใจให้แน่วแน่ทุกคน ว่าท่านบอกเข้ารูก็จะเข้าเลยหละ ต้องต้ังใจลงอย่างนั้นจริงๆ มันถึงจะ…การประพฤติพรหมจรรย์นี้จึงจะมีอานิสงส์มาก จึงจะได้ผลคุ้มค่าที่เราเข้ามาบวช
พ่อแม่พี่น้องก็จะได้อานิสงส์ด้วย แล้วก็จะ…เราผู้เข้ามาบวชนี่ ก็ได้ตอบบุญแทนคุณมารดาบิดา ลุงป้าน้าอา ครูบาอาจารย์ผู้มีอุปการะคุณหลาย อย่าไปเข้าใจว่าเราไม่เป็นหนี้บุญคุณของท่านนะ เกิดมาแต่ละคนเนี่ย เอาหนี้ติดตัวมาพร้อมแล้วนะ หนี้บุญหนี้คุณเลย ไม่ใช่หนี้เงินทองหรอก ที่ท่านได้เลี้ยงดูเราน่ะนึกดูรึเปล่า มารดาบิดาน่ะ เมตตากรุณามีคามรักใคร่เอ็นดูต่อลูกเหลือล้นพ้นประมาณ จึงเลี้ยงลูกใหญ่มาได้ ถ้ามารดาบิดาขาดเมตตาจิตนี้แล้ว ท่านปล่อยให้เราตายแต่ยังน้อยโน่นเราก็ตายแล้วนะ ป่านนี้ เพราะเราช่วยตัวเองไม่ได้เลยนี่ เกิดมาทีแรกน่ะ ที่จะใหญ่โตมาได้นี่นะ โหย มารดาบิดาต้องทะนุถนอมเอาซะเต็มที่เข้านะ ไม่เห็นแก่ความยากลำบากเลย ซักผ้าขี้ตีผ้าเยี่ยวสารพัด ทว่าอยู่ในอุปการะของมารดาน่ะเป็นส่วนใหญ่ บิดานั้นเรียกว่าอยู่วงนอก บิดานั้นเป็นผู้รับภาระหาเงินหาทองมาจุนเจือมาเลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย เมียนั่นก็เลี้ยงลูก ให้ผัวไปหาเงิน ทุรกรรมลำบาก กว่าจะเลี้ยงลูกใหญ่ แต่ละคนน่ะ มันต้องคิดให้เห็นว่าเรานี่แหละเป็นลูกหนี้ของท่านแน่นอนเลย หนี้บุญหนี้คุณ
ทำอย่างไรเราจึงจะชดใช้หนี้บุญคุณนี้ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า บวชแลเป็นการใช้หนี้บุญคุณของท่านผู้มีอุปการะตนได้เป็นอย่างดี เป็นอย่างสูง สูงกว่าผู้อยู่ครองเรือนแล้วอุปถัมภ์บิดามารดา เพราะว่าผู้ที่เข้ามาบวชแล้วนี่ พ่อแม่ก็ดีอกดีใจหลาย ลูกของคนได้ล่วงเกินพ่อแม่มาอย่างไรพ่อแม่ก็อโหสิกรรมให้หมด ไม่ถือโกรธถือเกลียดเลย ดูซิ พ่อกับแม่น่ะ พ่อแม่ถึงได้บุญด้วยนั่นแหละ ถ้าหากว่าลูกนั่นบวชเรียนธรรมวินัยไปฝึกฝนอบรมจิตใจตนเองไป ได้ความรู้ความฉลาดในธรรมในวินัย ตนก็มีคุณธรรมอยู่ในใจอย่างไร และก็พยายามแนะนำชักจูงพ่อแม่ที่มีความเห็นผิดให้เกิดความเห็นถูกขึ้นมา พ่อแม่ยังทำความชั่วอยู่ก็แนะนำให้ละความชั่ว ให้ทำความดีได้ ไอ้อย่างนี้เนี่ยยิ่งเป็นการตอบบุญแทนคุณคำข้าวฟ้อนและน้ำนมของพ่อของแม่ได้เป็นอย่างสูงทีเดียวเลย ผู้เป็นนักบวชเนี่ยพ่อแม่เคารพนี่ ถ้าทำดีจริงๆนะ ถ้าทำตัวเป็นพระเป็นเณรจริงๆ พ่อแม่ก็กราบก็ไหว้โน่นน่ะให้คิดดู ดังนั้นมันจะไม่เป็นการตอบแทนบุญคุณท่านได้อย่างไรหละ แต่ทีนี้ถ้าหากตนทำไม่ดีประพฤติเหลวไหลใจคอเหลาะแหละ ไม่ฝึกตนให้หนักแน่นให้ตั้งมั่นด้วยดีอย่างนี้ละก็ พ่อแม่ก็ไม่นับถือแล้วอย่างนี้ ทำให้พ่อแม่เสียใจอีกซ้ำนะ โอ้ย ลูกเรานี่บวชทั้งทีเอาดีก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็ทำให้พ่อแม่หนักใจเลย การบวชเช่นนี้นับว่าได้ประสบในสิ่งที่ไม่ใช่บุญซะแล้ว ไม่ใช่ได้บุญนะบัดนี้นะ
เพราะฉะนั้นทุกคนให้ระลึกไว้เสมอ เมื่อเราบวชเข้ามาแล้วเราจะต้องประพฤติตนทำตนให้พ่อแม่ยินดีด้วยจริงๆ ให้อุปัชฌาอาจารย์ยกย่องนับถือจริง เราจักไม่ทำตัวเป็นคนเลว ให้ตั้งอกตั้งใจไว้อย่างนี้และให้ต้้งใจว่าเราจะต้องเรียนธรรมเรียนวินัยให้ได้ บวชเข้ามาแล้วนะ เพราะธรรมวินัยนี้นะเป็นตัวของพุทธศาสนาน่ะ ให้เข้าใจ คำว่าเรานับถือพระพุทธศาสนาก็นับถือธรรม นับถือวินัยนี่นะ คำว่านับถือต้องเรียนรู้สิ ต้องจำให้ได้ เมื่อเรียนรู้จำได้แล้ว ลงมือปฏิบัติตาม สิ่งใดที่ทรงสอนให้ละเว้น เราก็เว้น สิ่งใดที่ทรงสอนให้ทำตาม เราก็ทำบัดนี้ อย่างนี้ถึงเรียกว่าผู้นับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นแหละเมื่อได้ยินได้ฟังอย่างนี้แล้วใหพึ่งพากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติไปด้วยความไม่ประมาท