หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
ต่อนี้ไป พึ่งพากันตั้งใจสำรวมจิตใจของตนให้เแน่วแน่ เวลานี้ให้นึกว่าเรามาทำความเพียร พร้อมเพรียงกันในศาลาการเปรียญนี้ เพื่อจะทำใจให้สงบ ใจไม่สงบเนี่ยแหละมันไม่รู้อะไรทั้งนั้นเลย เรียกว่าไม่รู้ธรรมของจริง ผู้จะรู้ธรรมของจริงได้ก็ต้องมาทำใจนี่ให้สงบเสียก่อน ละอารมณ์อันเป็นอดีต อนาคต แล้วให้ปรากฏแต่อยู่ในปัจจุบัน เพราะชีวิตนี้เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น อดีตก็ล่วงมาแล้ว เป็นดีเป็นชั่วอะไรก็เป็นมาหมดแล้ว ไม่ได้กลับคืนไปเป็นอย่างนั้นอีก อนาคตก็ยังไม่ได้ไม่ถึง ไม่ทราบว่าชีวิตนี้จะไปถึงไหน อย่าไปคาดการณ์ล่วงหน้า อย่าไปยึดถือ เอาสัญญาอารณ์ต่างๆที่เป็นอนาคต ให้ถือว่านั่นเป็นของไม่แน่นอน อันปัจจุบันนี้น่ะเป็นของแน่นอน ลมหายใจเข้าก็รู้ว่าชีวิตยังเป็นอยู่ ลมหายใจออกก็รู้ว่าชีวิตยังเป็นอยู่ หายใจเข้าก็รู้ว่าสังขารนี้มันไม่เที่ยง หายใจออกก็รู้ว่าสังขารนี่มันเป็นทุกข์ทนได้ยากลำบาก หายใจเข้าก็รู้ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เป็นแต่สักว่าธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่เท่านั้น อาศัยเหตุอาศัยปัจจัย บำรุงอยู่จึงค่อยอยู่ได้
เหตุปัจจัยที่บำรุงร่างกายอันนี้อยู่ก็คือบุญและบาปที่ได้ทำมาแต่ชาติก่อน มาหล่อเลี้ยงไว้และประกอบกับอาหารการบริโภคในปัจจุบันอีกด้วยก็จึงเป็นอยู่ไปได้ ร่างกายอันนี้นะ ถ้าหากว่าขาดปัจจัยอันใดอันหนึ่งดังกล่าวมานี้แล้ว ร่างกายนี่ต้องแตกดับทำลายไป ไม่คงที่อยู่ได้ แสดงว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอันนี้นะมันมีเหตุมีปัจจัยให้เกิดขึ้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แจ้งแทงตลอด พระองค์ก็เห็นแจ้งว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมมีความแตกดับเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา อันนี้มันเป็นความจริงของโลกสงสารอันนี้ แต่คนส่วนมากหากไม่เคารพความจริงอันนี้ ไปฝืนใจอยู่ให้มันเที่ยงให้มันยั่งยืน จะให้มันเป็นไปตามใจหวังของตน
เมื่อมันไม่เป็นตามใจหวังแล้วก็เป็นทุกข์เดือดร้อน แบบเนี้ยเนี่ยน่ะ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายท่านมาเพ่งพิจารณาลงในปัจจุบันนี้ มันก็ย่อมรู้เห็นได้เห็นไปตลอดเลย ไม่ต้องไปเพ่งเล็งไปฟากฟ้าแดนดินที่ไหนหรอก กำหนดรู้แต่อยู่ในปัจจุบันนี่ก็เห็นได้เลย ก็เห็นสภาวะ ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกิดความดับอยู่อย่างนี้ ผู้ต้องการจะพ้นทุกข์ก็ต้องยอมรับความจริงอันนี้ แล้วก็ต้องพิจารณาบ่อยๆ ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นความจริงก็จริงแต่ว่าจิตนี้มันถูกอวิชชาตัณหาครอบงำ มันไม่ค่อยจะยอมรับความจริงของสังขารอันนี้ มีแต่ส่งจิตนี้ไปเกาะ ไปข้องแต่รูปเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อันที่เป็นน่ารักใคร่พอใจในโลกนี้ นี่แสดงว่าจิตมันไม่ยอมรับความจริง มันยังเข้าใจว่าสภาวะธาตุสภาวะขันธ์ทั้งหลายเหล่านี้จะอำนวยความสุขให้อยู่ เหตุนั้นจึงได้ดิ้นไปตามรูปเป็นต้นดังกล่าวมาแล้วนั้น ดังนั้นจึงว่าทางที่เราจะพ้นทุกข์ไปได้เร็วนั่นนะ จึงว่าอยู่ที่การเพ่งลงปัจจุบันนั่นนะ อย่าไปสงสัยลังเลอย่างอื่น
ก็ทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่าผู้ที่เป็นสุขก็คือจิตดวงนี้ ผู้เป็นทุกข์ก็จิตดวงนี้ นั่นน่ะ ไม่ใช่อื่นไกล ร่างกายอันนี้ถึงแม้มันจะแปรปรวนไปก็ตามแต่ว่ามันไม่รับรู้ความแปรปรวน ความทนทุกข์ได้ยากลำบากของร่างกายอันนี้ มันไม่รับรู้ มันมีแต่หน้าที่แปรปรวนไปเท่านั้นเอง แต่ผู้รับรู้ ความเป็นไปของร่างกายอันนี้คือ จิตดวงเดียวนี่เท่านั้นเอง ไม่ใช่อย่างอื่นใด อันที่เราบ่นกันออกมาว่า ทุกข์หนอๆเนี่ยน่ะ ก็จิตดวงนี้แหละมันไม่รู้เท่าสภาวะธาตุ สภาวะธรรม อันมีอยู่ภายในและภายนอกหรือหยาบละเอียดในโลกนี้ มันไม่รู้แจ้ง มันไม่รู้เท่า เหตุนั้นเมื่อเวลาสิ่งต่างๆเหล่านี้วิบัติแปรปรวนไปมันจึงค่อยบ่นออกไปว่าทุกข์หนอๆ นั่นแสดงว่ามันจนปัญญา ไม่สามารถจะรู้เท่าได้จึงได้บ่นออกมา ถ้าผู้มีปัญญาได้พิจารณาอยู่เสมอๆ ได้รู้เท่าแล้วก็จะไม่บ่น จะไม่บ่นออกมาว่าทุกข์อย่างโน้นทุกข์อย่างนี้ ถ้าจะบ่นออกมาก็ต้องรู้เท่า รู้เท่าในใจภายในจิตใจแล้ว ดังนั้นทุกคนขอให้ฝึกจิตใจอันนี้ให้มันชำนิชำนาญในเรื่องความทุกข์ของสังขารร่างกายอันนี้นะ ไว้เสมอๆ เพราะว่าต่างคนต่างเกิดมาแล้วต้องได้พบกับความทุกข์นี่เหมือนกันทั้งหมดเลย ซึ่งจะไม่ได้พบไม่มีเลย ไม่มากก็น้อย
ความทุกข์ความทนได้ยากลำบากความแปรปรวนไปแห่งสภาวะธรรมะสภาวะธาตุทั้งหลายเหล่านี้นั้นหลีกเลี่ยงไม่พ้นเลย ต้องเตรียมตัวไว้เสมอแหละ ฝึกจิตใจไว้ อบรมปัญญาให้เกิดขึ้น ปัญญานี่เป็นคุณธรรมอันสุดท้ายสำหรับที่จะสอนใจให้ตัดสินปล่อยวางรูปธรรม นามธรรมเหล่านี้ จะหลุดจะพ้นไปได้ก็เพราะปัญญานี่เองสุดท้ายนะ ลำพังมีแต่ศีลมีแต่สมาธิเท่านั้นยังหลุดพ้นไม่ได้ เพียงแต่บรรเทาความทุกข์ลงไปเท่านั้นเอง บรรเทากิเลสไปเท่านั้น อันจะพ้นจากกิลเสหรือกองทุกข์ได้นี่อยู่ที่ปัญญา เป็นคุณธรรมอันสุดท้ายแห่งการปฏิบัติธรรม พึงเข้าใจไว้ ดังนั้นแหละ การภาวนาเมื่อจิตใจสงบลงไปแล้วก็อย่าไปพอใจอยู่แต่ในความสุขอันเกิดจากความสงบเท่านั้น ต้องหัดคิดหัดพิจารณาสอนใจดวงนี้แหละ เรื่อยๆไป สอนให้มันรู้ความจริง ให้มันรับรู้ความจริงของนามธรรมรูปธรรมอันนี้
เมื่อมันรู้แจ้งรูปธรรมนามธรรมอันนี้แล้ว มันก็รูปแจ้งสิ่งอื่นที่แวดล้อมรูปธรรมนามธรรมนี้อยู่ เช่นวัตถุภายนอกต่างๆจะเป็นสัตว์ก็ดี เป็นคนก็ดี เป็นต้นไม้ใบหญ้า แม่น้ำลำคลอง ภูเขาเหล่ากออะไรก็ตามแหละ มันก็เกิดจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เช่นเดียวกับร่างกายอันนี้เอง ต่างแต่ว่าสภาวะธาตุภายนอกมันไม่มีจิตครองเท่านั้นเองแหละ แต่สภาวะธาตุอันเป็นภายในคือร่างกายอันนี้มันมีจิตครองเป็นอย่างนั้น เหตุดังนั้นมันจึงรู้จักทุกข์นั่นแหละ มันจึงรู้จักความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอันนี้ อย่างเช่นต้นไม้อย่างนี้มันไม่มีจิตครอง ดังนั้นมันจึงไม่ได้ร้องครวญครางอะไรออกมาเลย เวลามันหักมันโค่นลง มันก็หักโค่นไปอย่างนั้นธรรมดานี่แหละ แต่ส่วนร่างกายสังขารอันมันมีจิตครองดังนั้นเมื่อมันวิบัติแปรปรวนไป จิตนี้แหละเป็นผู้รับรู้ เมื่อจิตไปรู้เท่าแล้วก็ย่อมหวั่นไหวย่อมเดือดร้อน ทั้งสะดุ้งหวาดกลัวต่อความตายหรือความแตกดับของสังขารร่างกายนี้
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าสัตว์โลกทั้งหลายย่อมสะดุ้งต่ออาชญาคือความตาย ไม่สะดุ้งก็แต่พระอริยบุคคล หรือ พระอรหันต์เท่านั้นแหละ พระอรหันต์นี่ท่านไม่สะดุ้งเพราะเหตุว่าท่านละอุปาทานในขันธ์ทั้ง ๕ นี่เสียแล้ว ท่านไม่ได้ถือขันธ์ ๕ นี่เป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา ท่านมองเห็นว่าสิ่งทั้งปวงที่มีความเกิดขึ้นมาแล้ว ก็แปรปรวนแตกดับไปเท่านั้นเอง ไม่มีสัตว์ตาย ไม่มีบุคคลตาย ที่ว่าตายนั้นสมมุติกันเอาต่างหาก สมมุติเอาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี่มันว่าแปรปรวนแตกดับไปเท่านั้นเอง ว่าคนตายสัตว์ตาย แท้ที่จริงแล้วนั้นสมุติว่าเอาเฉยๆ แต่พูดถึงความจริงแล้วมันก็มีแต่สิ่งต่างๆที่มีความเกิดขึ้นในโลกอันเนี้ย แล้วก็แปรปรวนในท่ามกลางแล้วก็แตกดับในที่สุด ก็มีเท่านี้เองนะ
ดังนั้นแหละ นักปราชญ์ผู้มีปัญญาทั้งหลายท่านจึงเบื่อหน่าย เมื่อพิจารณาเห็นแล้ว เบื่อหน่าย อยากจะไปสู่สถานที่ไม่วิบัติแปรปรวนแตกดับอันนี้ สถานที่ไหนที่จะไม่มีการแปรปรวนแตกดับแล้วนี่นะ นอกจากพระนิพพานแล้วไม่มี ไม่มีที่ไหนเลย โลกทั้ง ๓ อันนี้ล้วนแต่ มีแต่ความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้วก็แปรผันท่ามกลาง แตกดับในที่สุดทั้งนั้นเลย ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ภาวนานะ มันต้องพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ มันจึงจะยินดีต่อพระนิพพาน เพราะว่าพระนิพพานนี้เป็นธรรมอันเที่ยงแท้แน่นอนไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น จิตนี้เมื่อละอาสวกิเลสให้บริสุทธิ์ หมดจดไปแล้ว โดยประการทั้งปวงแล้ว จิตนี้ก็ไม่เคลื่อนไหว ไม่ดิ้นรน ทะเยอทยานไปในภพน้อยภพใหญ่เลย นั่นแหละ ก็รู้ได้ในปัจจุบันสำหรับผู้ที่ท่านบรรลุแล้วท่านก็รู้ได้ รู้จิตตัวเองว่าหมดอยากแล้ว หมดความปรารถนาในโลกแล้วมันก็ไม่อยากไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่อะไรเลย แม้ว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี่ยังจะไม่แตกไม่ดับไปก่อน แต่ดวงจิตที่ละอาสวกิเลสหมดแล้วนี่ไม่เป็นทุกข์เดือดร้อนอะไรเลย เพราะว่ามันอยู่คนละโลกกันแล้ว ท่านเรียกว่า โลกุตระธรรม แปลว่าธรรมเหนือโลกก็หมายเอาดวงจิตนี้เอง มันอยู่เหนือโลกแล้วถึงจะอาศัยโลกนี้อยู่แต่ก็ไม่ติดอยู่ในโลกนี้ อารมณ์หรือกิเลสต่างๆไม่สามารถจะซึมทราบเข้าสู่จิตใจของท่านผู้รู้ทั้งหลายได้ เหมือนอย่างน้ำไม่สามารถจะซึมเข้าสู่ใบบัวได้ฉันใด จิตของมุนีผู้รู้ทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น อารมณ์ทั้งหลายกระทบมาแล้วก็ผ่านไป กระทบมาแล้วก็ผ่านไป เท่านั้นเอง จิตของท่านไม่หวั่นไหว เพราะรู้แจ้งตามเป็นจริงอย่างที่ว่านั่นแหละ
รู้ว่าไม่ใช่ของเรา ของเขาอะไร ปัญญาอันนี้ต้องยิ่ง ต้องเจริญปัญญานี้ให้ยิ่ง ต้องรู้แล้วรู้อีก ต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีก อยู่อย่างนั้นกว่ามันจะรู้แจ้งเห็นจริงได้น่ะ ขอให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าพิจารณารู้ครั้งหนึ่งแล้วก็แล้วไปเลย ไม่ต้องพิจารณาอีกก็อยู่อย่างนั้นเลย อย่างนี้ ไม่ใช่หละสำหรับผู้ที่ยัง…จิตใจยังไม่หลุดพ้นนี่ ความหลุดพ้นอันนี้น่ะมันมีอยู่ ๒ ประเภท คือหลุดพ้นชั่วคราวหนึ่ง หลุดพ้นอย่างถาวรหนึ่ง นี่ ท่านเรียกว่า สมุทเฉทวิมุตติ คือหลุดพ้นโดยเด็ดขาดไปเลย กิเลสทั้งมวลเหล่านั้นไม่กลับมารบกวนจิตใจของท่านอีกแล้ว ประเภทหนึ่งเราเราเรียกว่าหลุดพ้นไปชั่วคราว เช่นเราจะรู้ได้ในขณะที่เรานั่งสมาธิ เมื่อจิตใจมันรวมลงสงบลงเช่นนี้แหละ กิเลสทั้งหลายก็รบกวนจิตใจไม่ได้เลย คล้ายๆกันกับว่าพ้นไปแล้ว แต่ที่จริงแท้แล้ว ยังไม่พ้นเป็นแต่เพียงว่าอานุภาพแห่งสมาธินี้มันไปทับกิเลสไว้เท่านั้นเอง อานุภาพแห่งความสงบนี้มันไปทับกิเลสไว้ กิเลสดิ้นไม่ได้มันก็เลยสงบตัวอยู่ไปชั่วระยะหนึ่ง ครั้นเมื่อสมาธิถอนแล้ว กิเลสนั้นมันก็ลุกขึ้นตามหลังมา มารบกวนจิตใจให้วุ่นวายเดือดร้อนอีก นี่เรียกว่าวิมุตติ์อันเป็นส่วนโลกีย์ มันมีอยู่อย่างนี้แต่มันไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนอย่างว่านี่แหละ ก็ให้พาพิจารณาให้รู้คำว่าวิมุตติมันมีอยู่ ๒ ประการอย่างนี้เอง
แล้วเราทำจิตให้เป็นวิมุตติ์นี่ได้ไหม อันนี้เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะพิจารณาให้เห็นด้วยตนเอง ถ้าหากว่าไม่เห็นวิมุตติ์ในส่วนอันเป็นโลกีย์นี้ มันก็ไม่มีแก่ใจที่จะทำความเเพียรเพื่อให้ถึงสมุทเฉทวิมุตติได้ เหมือนอย่างบุคคลทำนาทำสวนทำแล้วไม่ได้ข้าว ไม่ได้ขายผลไม้ ไม่สามารถจะรวมเงินเป็นก้อนใหญ่ไว้ได้อย่างนี้มันก็ไม่คิดที่จะทำการค้าการขายได้ เพราะว่าการทำการค้าขายนี่ต้องได้ใช้ทุนมากพอสมควร จึงจะทำการค้าขายได้ ทุนเล็กๆน้อยๆเนี่ยค้าขายไม่ได้เลย อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ บุคคลที่มีบุญกุศลน้อยไปเช่นนี้นะแล้วกิเลสหลายตัวกว่าบุญกว่าคนนั้น กิเลสมันก็คอยสะกัดกั้นจิตอันนี้ไว้ไม่ให้ทำความเพียรก้าวหน้าไปได้เลย ทำให้จิตใจอ่อนแอท้อแท้ไป เป็นอย่างงั้น ให้สังเกตดูจิตใจของใครของเรามันเป็นอย่างนั้นไม๊ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่าบุญกุศลอันเป็นส่วนโลกีย์นี้ยังไม่มากพอเลย อย่าว่าแต่บุญกุศลอันเป็นโลกุตตระเลย ทุกคนต้องรู้ตัวอย่างนี้ ก็รู้ตัวอย่างนี้แล้ว อ้าเรานี่มันบุญน้อยอยู่ บุญกุศลมันน้อยไป เราจึงไม่สามารถหลุดพ้นออกจากกิเลสนี้ได้ เช่นนี้แล้วก็ทำความเพียรให้ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ
การสำรวมตนก็ให้สม่ำเสมอไป ทั้งกลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูดจาปราศรัย อะไรต่ออะไร ก็มีสติสัมปะชัญญะประคับประคองจิตนี้ ให้สม่ำเสมอให้เป็นปกติไป ไม่ให้จิตนี้หลงยินดีหลงยินร้ายกับเรื่องที่ได้ทำ คำที่ได้พูดไปนั้น ทำแล้ว แล้วไป พูดแล้ว แล้วไป ไม่เสียใจ ไม่ดีใจ กับกิริยากายที่แสดงออกไป กิริยาวาจาที่พูดที่กล่าวออกไป แล้วก็แล้วไป กำหนดรู้อยู่ในปัจจุบันอย่างเดียวเท่านั้น เพราะนอกจากนั้นแล้วไม่มีอะไรยั่งยืนน่ะ กิริยาอาการที่กระทำหรือคำที่พูด ทำไปแล้ว พูดไปแล้ว มันก็ดับไปๆ อยู่อย่างนั้น ไม่มีอะไรยั่งยืน แม้ว่ามันไม่ดับลงในปัจจุบันทันด่วน มันก็แปรปรวนไปเรื่อยๆไป ในที่สุดมันก็แตกดับเช่นบุคคลสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมาอย่างนี้นะ เอาว่าสร้างถาวรจริงๆเลยอย่างนี้ ว่าอย่างนั้นก็ได้แค่ ๑๐๐ ปีเท่านั้นเองนะ แล้วทั้งสัมภาระทั้งหลายที่ก่อสร้างขึ้นก็หมดอายุลง ก็ชำรุดทรุดโทรม ก็ต้องรื้อทิ้งไป
ดูเหมือนอย่างกระทั่งพระพุทธเจ้านั่นแหละ บ้านเมืองของคนสมัยนั้นก็เจริญรุ่งเรืองตามยุคตามสมัย ครั้นเมื่อล่วงเลยมา ๒๕๐๐ กว่าปีนี้นะ อันสิ่งเหล่านั้นมันไปไหนหมด นั่นแหละ มันก็พังทะลายลงสู่พื้นดินนี้ไปหมดเลย ก็เห็นแต่ซากต่างๆ ปรากฏอยู่บ้าง บางสิ่งบางอย่างเท่านั้นเอง อย่างเช่นไม่ว่าที่ไหนในโลกอันนี้ เมืองไทยนี่ก็มี วัดวาอารามโบราณแต่ก่อนเพิ่งสร้างกันมา ก็บางแห่งก็เห็นแต่ซากอิฐ ซากปูนปรากฏอยู่เท่านั้นเองนะ จะได้เห็นเป็นหลังคาศาลาหลังคาโบสถ์อะไรอยู่นี่ไม่มีเลย ในประเทศอินเดีย สถานที่พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกก็เหมือนกัน ไม่มีแล้ว สิ่งปลูกสร้างแต่อดีตกาลนู่นน่ะ มีแต่สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์ทำขึ้นใหม่เท่านั้นเองนะ
ธรรมดาการเจริญปัญญานี่ก็ต้องพิจารณาหลายเรื่องหลายอย่างมาประกอบกันเข้า มันจึงจะเห็นแจ้งในไตรลักษณญาณ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อปัญญามันพิจารณาเห็นโลกสันนิวาสอันนี้ มันมีความเกิดขึ้น แปรปรวน แตกดับไปอย่างนั้นแล้ว มันก็สังเวชสลดใจ นี่แหละ สังเวชสลดใจว่า ดวงจิตดวงนี้มันมาอาศัยอยู่ในของไม่เที่ยง เหตุนั้นมันถึงได้เป็นทุกข์ มันจึงวุ่นวายเดือดร้อนอยู่อย่างนี้ ถ้าว่าสิ่งที่อาศัยอยู่นี่มันเที่ยงยั่งยืนแล้ว มันก็ไม่มีอะไรที่จะมากระทบกระทั่งจิตดวงนี้ให้เป็นทุกข์เดือดร้อนเลย ก็ต้องพิจารณาให้รู้ให้เห็นใกล้ๆเข้ามาหากายกับจิตนี่แหละ ทีแรกพิจารณาให้กว้างขวางออกไป แต่พิจารณาก็สรุปลงมาสู่กายกับจิตอันนี้ มาสอนจิตนี่เห็นไหมหละมันเป็นอย่างนั้แหละ โลกสันนิวาสอันนี้น่ะ มันไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนอย่างนี้ ถ้ามันเที่ยงมันยั่งยืนเราก็ต้องเห็นซิ วัตถุ สิ่งของ ผู้คน สัตว์สาราสิ่งที่เกิดขึ้นมาบนโลกอย่างนี้ มันก็จะยั่งยืนมาให้เราได้เห็นจนบัดนี้แหละ แต่นี่ไม่มีนิ ก็ว่าอย่างมีก็มีแต่โครงกระดูกเท่านั้นแหละ สัตว์ก็ดี คนก็ดี มีแต่โครงกระดูกให้เห็นเท่านั้นเองนะ แม้พวกเราที่มีชีวิตเป็นอยู่ปัจจุบันนี่ ต่อไปก็จะต้องแตกดับทำลายลง เหลือแต่กระดูกเท่านั้นให้คนรุ่นหลังได้เห็น ได้รู้ ให้คิดดูให้มันเห็นอย่างนี้ แล้วตัณหามันจะได้น้อยเบาบางลง
คือความอยากของจิตเนี่ยน่ะ การพิจารณาอย่างนี้มันล้วนแต่เป็นอุบายละอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในสังขารนามรูปอันนี้ ทั้งภายใน ทั้งภายนอก ทั้งหยาบละเอียด มันล้วนแต่เป็นอุบายที่จะละทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอันนี้ ไม่ถือมั่นมาเป็นของเรา ของเขา ของตัวตนอะไรเลย ใครเป็นผู้ละ จิตดวงนี้เนี่ยละนะ ปัญญาสอนจิต จิตเห็นแจ้งตามปัญญาแล้วก็ปลงได้ วางได้ ถ้าปัญญาไม่เดินหน้าก่อน จิตนั้นปลงไม่ลง วางไม่ลง เป็นอย่างั้น เพราะฉะนั้นปัญญานี่จึงเหมือนกันกับว่าผงซักฟอก ผงซักผ้าที่ดำด่าง เปรอะเปื้อนด้วยมลทินต่างๆ เอาไปแช่เข้าไปแล้ว นานไป แช่ไปซักประมาณชั่วโมงหนึ่ง ไปขยี้เข้าไป ขยี้กับน้ำเข้าไป ผงซักฟอกนั้นมันจะทำให้สิ่งสกปรกโสโครกเหล่านั้น เปื่อยละลายจากผ้านั้น แต่ผงซักฟอกไม่ได้กัดผ้าเลย มันจะไปทำลายตั้งแต่สิ่งสกปรกต่างๆที่มีอยู่ในผ้าเท่านั้นแหละ ให้มลายหายสูญไป เหลือแต่เนื้อผ้าอันสะอาดๆเท่านั้น อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ ปัญญานี่ สำหรับเรา อบรมให้เกิดให้มีขึ้นแล้วก็ปัญญานี่ฟอกจิตใจนี่ ที่มัวหมองด้วยอุปกิเลสต่างๆนั้นหนะ ให้มันขาวสะอาด ผุดผ่อง ดวงจิตอันนี้ไม่ให้มัวหมองด้วยอุปกิเลสต่างๆ ก็ฉันนั้นแหละ ขอให้เข้าใจ
แต่แล้วปัญญานี่ก็มาจากสมาธิ สมาธิก็มาจากศีล ไอ้ธรรม ๓ ประการนี้มันย่อมเนื่องกัน ไม่ใช่ว่าปัญญามันเกิดขึ้น โดยที่บุคคลไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ปัญญาก็กิดขึ้นได้ ไม่ใช่นะ อันปัญญาโลกีย์นั้นมันเกิดได้เป็นได้ แม้บุคคลจะมีกิเลสตัณหาครอบงำจิตใจอยู่ก็ตาม เมื่อมันเรียนมันท่องมันจำตามตำราตามตัวหนังสือมันก็จำได้ แล้วมันก็เอาไปคิดเอาไปปรับปรุงสิ่งที่อำนวยสะดวกให้ มันเพ่งนอกเช่นอย่างว่า ยกตัวอย่างว่าสร้างบ้านอย่างนี้นะ บ้านหลังหนึ่งนี้เราจะสร้างแบบไหน มันก็คิดวาดภาพดูว่าเราจะต้องทำโครงสร้างอย่างนั้น อย่างนั้นๆ กว้างเท่านั้น ยาวเท่านั้น สูงเท่านั้น ใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างนั้นๆ แล้วเงินทุนมีเท่านั้นพอที่จะสร้างบ้านหลังนี้ให้เสร็จได้ มันมีแต่เรื่องเพ่งนอก ไอ้ความรู้ในทางโลกนี่นะ ที่สร้างบ้านสร้างเรือน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ต่างๆนานาหมู่นี้ ส่วนความรู้ในทางธรรมอันเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นนี้ มันเป็นการทวนกระแสของโลก ไม่ปล่อยจิตให้เพ่งเล็งไปกับโลกสงสารอันนี้ ทวนกระแสจิตกลับเข้ามาภายในปัจจุบัน ไม่คิดส่งออกไปภายนอก ทวนกระแสความคิดความนึกเข้ามาในปัจจุบันนี้ ให้มารู้กายกับจิตอยู่นี้ รู้ว่ากายนี้เป็นของแตกของดับ ก็รู้ตามสภาพความเป็นจริง เป็นสิ่งน่าเบื่อน่าหน่ายก็รู้ว่าน่าเบื่อน่าหน่ายจริงๆ
เบื่อหน่ายทำไมอ้ะ เอ้า ก็มันไปประคบประหงมทะนุบำรุงด้วยข้าว น้ำ ผ้านุ่ง ผุ้าห่ม อาหาร ที่อยู่ที่อาศัย หยูกยาแก้โรคภัยต่างๆนานา มันต้องแสวงหา สิ่งบำรุงปรนเปรอร่างกายอันนี้อยู่ ร่างกายอันนี้ มันจึงพอประทังอยู่ได้ พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วจึงเบื่อหน่าย เหนื่อยหมดนะ ถ้าไม่พิจารณาบ่อยๆ อย่างนี้ไม่เห็นแจ้ง อย่างนี้มันไม่เบื่อ เพราะว่าสิ่งที่มันยั่วยวนชวนให้เกิดความรักความใคร่น่ะมันมีอยู่ในโลกอันเนี้ย รูปสวยๆงามๆ เสียงไพเราะเพราะพริ้ง กลิ่นหอมหวล รสอร่อย สัมผัสอันอ่อนนุ่มนิ่ม หมู่นี้มันมีอยู่ เมื่อบุคคลมาหลงสมมุตินี่แล้ว จิตใจมันก็เลยติดเกาะข้องกับสิ่งเหล่านี้ มันจึงหลุดพ้นไปไม่ได้ เมื่อเราอบรมปัญญาให้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาก็มาแฉให้จิตดู ให้จิตได้รู้อย่างนั้น รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสที่ตนหลงรักหลงใคร่อยู่นั่นน่ะ มันเป็นอย่างนี้ๆอย่างนี้ๆ มันมีความเกิดขึ้นแล้วแปรปรวนแตกดับไป ในเวลาที่มันยังไม่แตกไม่ดับนี่ มันก็แปรปรวนทนทุกข์ทนได้ยากลำบากอยู่อย่างนั้น ทั้งเป็นของไม่สวยไม่งามตามที่เข้าใจนั้นเลย มันจะมีอะไรสวยงามรูปร่างอันนี้นะ มันมีหนังหุ้มอยู่เท่านั้นเอง มันจึงสิ่งไม่สวยไม่งามจึงไม่ปรากฏมาก แต่มันก็ปรากฏอยู่แล้วหละถึงจะมีหนังหุ้มอยู่ก็ตาม เช่น เหงื่อไคล น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ ต่างๆหมู่นี้นะ มันแสดงออกปรากฏให้เห็นแล้ว สิ่งโสโครก หากว่าสิ่งโสโครกเหล่านี้ไม่ถูกระบายออกมาแล้ว ร่างกายนี้อยู่ไม่ได้เลย เพียงแต่ท้องผูก ๒ วัน ๓ วันนี้ก็แย่แล้วอ้ะ คนเราอ้ะ ป่วนปั่นแล้วท้องน่ะ ปวดท้องแล้ว ท้องอืดท้องเฟ้อ รับประทานอาหารก็ไม่ได้มาก เพราะมันอาหารเก่ามันคั่งค้างอยู่ในกระเพาะอยู่ในลำไส้โน่นน่ะ เพียงเท่านี้มันก็เห็น มันก็เป็นทุกข์ให้เห็นแล้ว เป็นอย่างนั้น
ผู้มีปัญญาทั้งหลายก็ลองพิจารณาดูซิ พระพุทธเจ้าทรงสอนน่ะ สอนในเวลานุ่งห่ม ก็พิจารณาก่อนแล้วจึงนุ่งจึงห่ม ได้ผ้าใหม่มาก็ดี หรือว่าผ้าเก่าก็ช่างแหละ ห่มนุ่งห่มเวลาใดก็พิจารณา ผ้านุ่งผ้าห่มเหล่านี้ก็ไม่เที่ยง นุ่งห่มไปนานไปก็เศร้าหมองไป ก็ชำรุดทรุดโทรม ไม่ต้องได้ทิ้ง ก็เป็นอย่างนี้แหละ อันร่างกายนี่ฉันใดก็เหมือนกับผ้านุ่งผ้าห่มนั้นแล อาศัยมันนานไปมันก็ชำรุดทรุดโทรมไป เมื่อแก้ไขทะนุบำรุงเต็มที่แล้วมันก็ปกติดี คืนไม่ได้ มันก็ต้องแตกทำลายลงเท่านั้นเองน่ะ เหมือนเครื่องนุ่งเครื่องห่มอย่างที่ว่านั่นแหละ อะไรๆก็อาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้นกล่าวโดยสรุปแล้ว อันนี้แหละปัญญานะให้พากันคิด ให้พากันพิจารณา หาอุบายอันประกอบไปด้วยความจริงน่ะ มาสอนจิตอันนี้ ไม่ใช่เป็นอุบายที่หลอกเอา โดยที่เรื่องไม่จริงก็เอามาสอนจิตอันนี้ อย่างนี้ไม่ใช่นะ อุบายต่างๆนี่ล้วนเป็นอุบายเรื่องเป็นจริงทั้งนั้นเลย เพื่อสอนจิตให้จิตมันรับรู้ความจริงดังกล่าวมาแล้วนั้นแหละ
จิตนี่มันถูกอวิชชาตัณหาย้อม แล้วมันจึงเห็นไปว่าโลกอันนี้ ทั้งภายนอกทั้งภายใน ทั้งไกล ทั้งใกล้ ทั้งหยาบทั้งละเอียดอันนี้เป็นของน่าชื่นชมยินดีอยู่ นี่แหละอวิชชาตัณหามันหลอกล่อจิตใจ มันจึงได้หลงใหลยึดมั่นอยู่ มันจึงไม่ยอมปล่อยยอมวางนั่นเองแหละ บัดนี้เมื่อเราอบรมสมาธิให้เกิดขึ้นแล้ว ก็หัดเจริญปัญญาหาอุบายมาสอนจิตดังแสดงมาให้ฟังมานี่นะ เออ สอนบ่อยๆเข้า จิตนี่มันก็ยอมรับรู้ความจริงเหล่านี้แหละ อันนี้ เอ่อ เป็นจริงแท้ๆแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดไม่ควรถือ ควรปล่อยควรวางจริงๆ เอาให้จิตมันลงความเห็นลงอย่างนี้นะ ถ้าจิตมันลงความเห็นอย่างนี้นะ มันก็ปลงได้ วางได้จริงๆแหละ มันก็ไม่ลังเลเลย แต่วางแล้ว ปลงลงไปแล้ว แต่ก็ยังอาศัยรูปธรรมนามธรรมนี่อยู่นั้นเองนะ อาศัยรูปเสียงกลิ่นรส เครื่องสัมผัสภายนอกนั้นอยู่ ไม่ใช่ว่าปล่อยวางแล้ว ไม่ต้องอาศัยเลย ไม่ต้องรับประทานอะไร ไม่ต้อง นุ่งห่มอะไรต่อไปอีก อย่างนี้ไม่ใช่นะ ถึงรู้เท่าแล้วรู้แจ้งแล้ว ก็ยังอาศัยสิ่งเหล่านี้อยู่ ในเมื่อบุญกรรมที่ทำต่างๆมานี่ยังไม่หมด รูปอันนี้มันก็ยังเป็นไปอยู่
ท่านผู้รู้ทั้งหลายเมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นแล้วพิจารณา แม้จะได้รับความเบื่อหน่าย ท่านก็เบื่อหน่ายด้วยอำนาจแห่งปัญญาอย่างที่ว่ามานั้นแหละ เมื่อเบื่อหน่ายแล้วทำยังไงจึงจะพ้นจากของไม่เที่ยง ของเป็นทุกข์ ทนได้ยากอย่างนี้ ก็ต้องปล่อยวางเท่านั้นเองแหละ ไม่ถือมั่นว่าเป็นตัวตนเราเขา นี่ แต่ปล่อยวางแล้วเราก็ยังอาศัยมันอยู่ เพราะบุญกรรมที่ทำมาแต่ก่อนนั้นมายังไม่หมดไม่สิ้น มันยังให้ผลอยู่ ผู้รู้ทั้งหลายก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็อาศัยมันไปอย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเนี่ย พระองค์ก็ทรงชีวิตอันนี้ไปโดยลำดับเพื่อแนะนำสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ให้รู้แนวทางปฏิบัติ เพื่อจะเอาไปฝึกฝนจิตใจตัวเองให้เกิดความรู้ความฉลาดเหมือนอย่างพระพุทธเจ้า สามารถละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นี้ได้
พระพุทธเจ้านั้นทรงพระมหากรุณาธิคุณแก่สัตว์โลกทั้งหลายเป็นอย่างยิ่งเลย พระองค์จึงได้เอาทุกข์เป็นทุน สร้างบุญบารมีมาในสงสารนี่คณานับชาติไม่ถ้วน กว่าบุญญาบารมีนี้จะเต็มบริบูรณ์ แม้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็ขอให้เข้าใจอย่างนี้แหละ อันบุคคลที่จะหลุดจะพ้นจากวัฏฏะสงสารอันนี้ได้ต้องอาศัยบุญบารมีเท่านั้น สร้างบุญกุศลให้มันมากไปเท่าใด บุญกุศลอันนี้แหละหนุนจิตใจให้เกิดปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นสอนจิตให้เห็นจริง ตามเป็นจริงในสิ่งที่ตนอาศัยอยู่นี่นะ ว่ามันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ทนได้ยากลำบากจริงๆนะ มันเป็นอนัตตาบังคับไม่ได้ บอกไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจหวัง ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของเราของเขาจริงๆ อันนี้เป็นความจริงแท้ๆ
เมื่อปัญญามันสอนจิตให้เห็นลักษณะอาการของสังขารทั้งปวงมันดังกล่าวมานี้แล้ว มันก็จะเกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายขึ้นมา เมื่อเบื่อหน่ายเข้าบ่อยๆ เบื่อหน่ายด้วยอำนาจของปัญญาเนี่ยน่ะ มันจะคลายความกำหนัดยินดีนี่ไปเรื่อยๆ คลายออกๆเรื่อยไปมันก็น้อยลงไป เบาบางไปกิเลสอันนี้นะ จะขอให้จิตนี่มันเบื่อหน่ายด้วยปัญญาดังกล่าวมาแล้วนั้นน่ะ มันก็ค่อยคลายออกไป คลายทีเดียวไม่หมด มันก็คลายไปทีละน้อยๆไป ในที่สุดมันก็หมดลงได้ ท่านเรียกว่า สมุจเฉทวิมุตติ แปลว่าหลุดพ้นได้โดยเด็ดขาด ไม่กลับคืนมายึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นี้อีกต่อไป ทีแรกนี้ก็หลุดพ้นไปเป็นขั้นๆดังกล่าวมาแล้วนั้นแหละ เช่น รักษาศีลให้บริสุทธิ์อย่างนี้นะ มันก็หลุดพ้นจากบาปอกุศลมาได้ขั้นหนึ่งแล้วนั้นแหละ แล้วคราวนี้มันยังกิเลสอยู่ถึงแม้บาปกุศลจะระงับไป แต่กิเลสส่วนที่มันไม่เป็นบาปเป็นกรรมนั้นมันก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นจึงว่าภาวนาเข้าทำจิตให้สงบลงไป ทำจิตให้สงบระงับลงไปแล้ว มันก็หลุดพ้นจากกิเลสนั้นไปชั่วระยะหนึ่ง อย่างนี้นะ เมื่อสมาธินั้นถอนออกมาแล้ว กิเลสนั้นมันก็ติดตามมาอีก แต่ว่ามันเบาลงเพราะอนุภาพแห่งสมาธินั้นมันก็สามารถทำกิเลสที่หยาบๆให้เบาลงเหมือนกันน่ะ มันเป็นอย่างนั้น เมื่อกิเลสหยาบๆนั่นมันระงับไป ยังเแต่กิเลสอย่างกลาง เช่นนี้ก็อาศัยปัญญาในวันนี้นะ อาศัยปัญญาสอนจิตนี้เข้าไป จิตนี้เมื่อมันเห็นตามปัญญาแล้วมันก็ปล่อย มันก็วางไปเรื่อยๆไป มันเป็นอย่างนั้น
การที่บุคคลให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ไหว้พระภาวนาทำใจให้สงบระงับลงไปก็ดี ล้วนแต่เป็นการสร้างบุญสร้างกุศลทั้งนั้นเลย ขอให้เข้าใจ เมื่อทำไปมากๆเข้าไป บุญกุศลนี่มันมากเข้า มันก็ทำให้จิตใจนี้มีกำลังเข้มแข็ง จิตใจหนักแน่นตั้งมั่นอยู่ด้วยดีแล้ว ปัญญามันก็เกิดขึ้นจากจิตที่สงบระงับ ตั้งมั่นอยู่ในบุญในคุณนั่นเองแหละ ปัญญามันจะเกิดขึ้นก็เพราะมีบุญมีคุณ พระพุทธพระธรรม พระสงฆ์อยู่ในจิตใจเป็นพื้นฐาน จิตจะสงบอยู่ได้ก็เพราะอาศัยบุญคุณนี่เองนะ ขอให้เข้าใจ ถ้าคนไม่มีบุญมีคุณดังกล่าวมานี้แล้ว จิตสงบไม่ได้เลย
ดังนั้นในอนุสติ ๑๐ อันเป็นสมถกรรมฐาน อันเป็นกรรมฐานที่ผู้สนใจในการเจริญสมถะวิปัสสนาจะต้องบำเพ็ญ นั่นเหละทรงแสดงไว้ให้หมั่นระลึกคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ให้หมั่นนึกถึงทาน การบริจาคของตน นึกถึงศีลที่ตนได้รักษามา นึกถึงคุณที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา นึกถึงความตายอันมีแก่ตน นึกถึงร่างกายสังขารอันไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ทั้งไม่สวยไม่งาม เป็นอารมณ์อยู่เสมอ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์อยู่เสมอ นี่หละความตายนี่ก็หมายความว่า ร่างกายนี่มันจะต้องแตกดับเป็นที่สุด ท่านก็เลยสมมุติว่าตายเท่านั้นเองแหละ ที่จริงแล้ว ร่างกายนี่มันเกิดแล้ว มันก็แปรปรวนแตกดับลงเท่านั้นแหละ แล้วก็นึกถึง อานาปานุสตินี่นะ ลองคิดดูซิ อนุสติ ๑๐ นี่นะ พระพุทธเจ้าแสดงได้ สำคัญแค่ไหนน่ะ อานาปานสติการตั้งสติรู้ลมหายใจเข้า หายใจออกอย่างนี้ มันทำให้จิตรวมลงได้ ทำให้จิตนี่ละอารมณ์ที่เป็นอดีตอนาคตไป นั่นแหละ เมื่อจิตที่มันละอารมณ์ที่เป็นอดีต อนาคตแล้วมันก็รวมลงเป็นหนึ่งในปัจจุบันนี้ได้เลย
ฉะนั้นอย่าลืมหละ การนึกถึงลมหายใจเข้าออกนี่มันทำให้จิตสงบ จิตหยุดคิดหยุดนึก แล้วการนึกถึงคุณแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมชาติสงบ ระงับจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล อันนี้ก็เป็นหน้าที่เราทุกคนจะต้องนึกถึงอยู่เสมอ ถ้าไม่นึกถึงพระนิพพานมันก็ไม่อยากบรรลุพระนิพพานนี่นะ ไม่นึกถึงพระนิพพานก็ไม่เห็นคุณแห่งพระนิพพานว่าวิเศษอย่างไร อย่างเช่นบางคนที่มีความเห็นเคลื่อนคลาดจากความเป็นจริง ไม่ยอมรับรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า มันก็พูดไปต่างๆ นานาว่า พระนิพพานนี่ไม่มีบ้านไม่มีเรือน ไม่มีรถราขี่ ไม่สนุก ไม่อยากไปหรอก คราวนี้ก็มีผู้ว่าอย่างนี้อยู่บ่อยๆอยู่เหมือนกันนะนั่น ผู้ที่เห็นเช่นนั้นแสดงว่า มันติดความสุขชั่วคราว ไอ้เรื่องความทุกข์ไม่เอาบวกลบคูณหารกันดูบ้างเลย เลือกเอาแต่ความสุขชั่วคราวนั้นนะมาว่าโลกนี้สนุกสนานอย่างโน้นอย่างนี้นี่นะ มันขาดปัญญา อย่างว่านั่นแหละ ถ้าหากว่าบุคคลผู้มีปัญญาแล้วนะ เอาความสุขในโลกนี้ กับความทุกข์ในโลกนี้มาบวกกันเข้า เอามาเทียบกันเข้า ลองดูอ่ะ นี่ เราจะรู้ไ้ด้ว่าไอ้ความสุขในโลกนี้น่ะ มันประเดี๋ยวประด๋าวหนึ่ง แต่ความทุกข์อันนี้มันเป็นประจำเลย ทุกข์แก่ทุกข์เจ็บป่วยไข้ ทุกข์ตายอันนี้นั้น มันเป็นทุกข์ประจำแท้ๆเลย เมื่อความทุกข์เหล่านี้มันมีอยู่ประจำอย่างนี้แล้ว ไอ้ความสุขอันเกิดจากความสุขอันชั่วคราวเช่น สุขในการกิน สุขในการนอน สุขในการซ่องเสพกามคุณเมถุนสังโยชน์ สุขในการดูมหรสพครบครันต่างๆนานาหมู่นี้ มันล้วนแต่เป็นเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในทุกข์ทั้งนั้นเลย เพราะมันเป็นสุขชั่วคราวอย่างที่ว่านี่แหละ ไม่เห็นมีอะไรยั่งยืนอยู่ได้เลย ท่านเรียกว่า อามิสสุข สุขอิงอาศัยวัตถุ เมื่อวัตถุสิ่งของเหล่านั้นมันวิบัติแปรปรวนไป ความสุขเหล่านั้นมันก็หมดไป อันนี้เป็นความจริงแท้ๆเลย เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าละเลยต้องน้อมเข้ามาสอนจิตตัวเองอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นแล้วมันก็ติดความสุขชั่วคราวนี่แหละดังที่เราเห็นกันอยู่นี่น่ะ
ระเบียบการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี่ท่านสอนให้ตื่นดึกลุกเช้า ทำความเพียร อย่างนี้นะ บุคคลผู้ติดความสุขในการนอนน่ะก็เอาแล้ว นอนจมปิ้งเลย หมดคืนก็ไม่ตื่น ไปตื่นเอาเมื่อนู่น สว่างนู่นแสงพระอาทิตย์ขึ้นส่องสู่ท้องฟ้านู่น บางคนยังไม่ตื่นขึ้นเลย แสงอาทิตย์มาก็ดี อย่างนี้แหละเรียกว่ามันติดอยู่ใน อามิสสุข สุขที่อิงอาศัยวัตถุเหล่านี้อยู่ ดังนั้นก็ลองคิดดูซิ ถ้าเมื่อร่างกายอันนี้มันเป็นปกติ โรคภัยยังไม่เบียดเบียนน่ะก็นอนหลับได้สนิทสบาย บัดนี้เมื่อร่างกายอันนีมันวิบัติแปรปรวนไปแล้ว เอาหละนอนก็ไม่หลับนะบัดนี้นะ กระสับกระส่าย รับประทานอาหารก็ไม่อร่อยแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้มันจะเป็นยังไงแล้วบัดนี้นะ มันก็เป็นทุกข์แล้ว ไอ้จิตที่มันไม่รู้เท่ามันก็เดือดร้อน โอ๊ย เรานี่จะตายแล้ว เขาว่านอนก็ไม่หลับ รับประทานอาหารก็ไม่ได้ เมื่อวิตกถึงความตายไปแล้วก็ยิ่งเดือดร้อนเลย เพราะไม่อยากตายนี่ ไม่อยากพลัดพลากจากความสุขชั่วคราวดังกล่าวมาแล้วนั่นแหละ ดังนั้นผู้มีปัญญาทั้งหลาย ท่านจึงเห็นพิจารณาเห็นเช่นนั้นแล้ว ก็จึงเบื่อหน่ายความสุขชั่วคราวนั้น เบื่อหน่ายวัตถุที่ดวงจิตอาศัยอยู่นี้ ได้แก่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม รวมกันเข้าเป็นร่างกายสังขารอันนั้น จึงได้เบื่อหน่าย ไม่ยินดีในการหลับการนอน ไม่ยินดีในรสชาติของอาหาร ไม่ยินดีในผ้านุ่งผ้าห่มเครื่องใช้ไม้สอย สิ่งอำนวยสะดวกต่างๆให้ เช่นรถราหมู่นี้เป็นต้น ก็เป็นของอำนวยความสะดวกให้ชั่วคราว อ้าว รถราคันงามๆนั่งสบายอย่างนี้นะ แต่เมื่อร่างกายมันทรุดโทรมไปแล้วนะ มันจะไปนั่งได้ยังไงอย่างนั้น นั่งก็ไม่ได้ ก็ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะยังอยู่ แต่ร่างกายนี่มันชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว มันก็ไม่มีความหมายอะไรเลย มันก็ต้องพิจารณาหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมตัวเอง อยู่นี่ต้องทำความรู้เท่าไปทุกประการเลยอย่างนี้ อันนี้แหละได้ชื่อว่าทางหลุดพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสังสาร ดังแสดงมาก็มีด้วยประการฉะนี้