หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
อย่าพากันเกียจคร้าน ก็เพราะความเกียจคร้านเนี่ยแหละเป็นเหตุให้คนเราตกทุกข์ได้ยากลำบากอยู่ในโลกนี้นะ มันไม่หมั่นขยันทำความดี ก็เชื่อกันอยู่แล้วไม่ใช่หรือว่ากรรมดี กรรมชั่วมีจริง คนเราเกิดมาในโลกนี้นะ ให้เข้าใจ มันมีกรรมอยู่ ๒ อย่าง ติดตามชีวิตอยู่นี่ ถ้าหากว่าจิตไม่คิดไปในทางดี ไอ้ความชั่วมันก็มาชวนคิดไปในทางชั่ว มันเป็นอย่างนั้น มันอยู่เฉยๆไม่ได้นะ ต้องให้เข้าใจ ถ้าจิตมันคิดไปในทางดี พอใจในทางดี แล้วอย่างนี้ความชั่วมันก็เกิดไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น ความชั่วมันจะเกิดได้ก็เพราะบุคคลนั้นทิ้งความดี ไม่ยึดเอาความดีเป็นอารมณ์ในใจ
อันนี้แหละการปฏิบัติในพุทธศาสนานี่ พระพุทธเจ้าจึงให้ทรงแสดงอารมณ์ที่ควรคิด อารมณ์เป็นเครื่องคู่คิดไว้ในทางที่ดี แต่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายไม่ค่อยทำตาม เป็นอย่างนั้น อย่างเช่นว่า ถ้าใครเป็นคนชอบกระด้างกระเดื่อง มีใจกระด้างกระเดื่อง ไม่กลัวบาป ไม่กลัวทุกข์ อย่างนี้นะ พระองค์เจ้าก็ทรงสอนให้นึกถึงความตายบ่อยๆ นั่นน่ะ เมื่อผู้ใดมองเห็นว่าชีวิตนี่มันมีความตายเป็นที่สุดอยู่เช่นนั้นแล้ว อันความที่เคยแข็งกระด้างกระเดื่องมาแต่ก่อน มันก็อ่อนโยนลง เพราะว่าเมื่อตายแล้ว ไม่ได้เอาอะไรติดตัวไปซักอย่าง มีแต่กรรมดีกรรมชั่วที่ตัวทำเท่านี้ ติดตามไป เมื่อผู้ใดรู้ได้อย่างนี้แล้ว อ้าว สิ่งใดเป็นกรรมชั่วก็ไม่ยึดถือเอาเลย เพราะว่ากรรมชั่วมันอำนวยผลให้เป็นทุกข์อย่างนี้ เอ้า กรรมดีอำนวยผลให้เป็นสุข ทุกคนต้องการความสุข เมื่อรู้ว่ากรรมดีอำนวยผลให้เป็นสุข อย่างนี้แล้วมันก็ยึดเอากรรมดีนั้นน่ะมาเป็นอารมณ์ เช่นยึดเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นอารมณ์ เหตุที่ท่านสอนให้นึกถึงคุณพระรัตนตรัยโดยย่อๆ เพื่อให้ใจมันแน่วแน่ลงเป็นหนึ่ง นั่นก็ได้แก่พุทโธ หรือว่าผู้ที่นึกธัมโม ใจมันสบาย มันเยือกเย็น ก็นึกธัมโมเป็นอารมณ์ ผู้ที่นึกสังโฆไปบ่อยๆ ใจมันสงบ ใจมันตั้งมั่นลงได้ ก็นึกสังโฆเป็นอารมณ์ไป ไม่เลือกเวลา อย่างนี้นะ
เมื่อเรานึกพระคุณทั้ง ๓ นี่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว อย่างสองอย่างนั้นมันก็รวมอยู่ด้วยกันนั่นแหละ อยู่ด้วยกัน ให้เข้าใจอย่างนั้น นี่เราเอาพุทธคุณ หรือ ธรรมคุณ สังฆคุณนี่ เป็นเครื่องอยู่ของจิต แต่ละวันแต่ละคืน อย่างนี้ จิตมันก็ไม่ได้น้อมไปทางชั่ว จิตมันก็ไม่ได้น้อมไปทางโลภ ทางโกรธ ทางหลง จิตมันก็ไม่ได้แข็งกระด้างกระเดื่อง เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นพระองค์ไม่ได้แข็งกระด้างกระเดื่องกับใครเลย พระองค์วางพระองค์เสมออยู่อย่างนั้น เป็นตัวอย่างของชาวโลก ตลอดถึงมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย แม้พระสาวกที่ปฏิบัติตามร่องรอยของพระศาสดา ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็วางตนตามพระองค์นั่นแหละ แม้ว่าท่านจะมีคุณวุฒิอันสูงอย่างไร เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวาของพระพุทธเจ้าก็ดี หรือเป็นสาวกผู้มีฤทธิ์มีเดชมาก ได้รับความยกย่องจากคนทั้งหลาย อย่างไรท่านก็ไม่ได้แข็งกระด้างกระเดื่องเลย ท่านก็วางตนเสมอในบุคคลทั่วๆไป อันนี้เรียกว่าคุณธรรมอันบริสุทธิ์ คุณธรรมอันดีเลิศ เมื่อมีเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใดแล้ว ทำให้ผู้นั้นมีปกติกาย วาจา ใจ สม่ำเสมอ ไม่ถือตัว ไม่แข็งกระด้างต่อใครๆเลย อย่างนั้นนะ อันนี้น่ะปฏิปทาของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายน่ะ
เราต้องนึกถึงพระคุณของท่านมาเป็นอารมณ์อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะบริกรรมแต่คาถา หรือว่าแต่พระคุณเท่านั้นอย่างเดียว เรายังพิจารณาเห็นคุณธรรมที่มีอยู่ในใจของท่านน่ะ ทำให้ท่านเป็นอย่างไรๆ เราพิจารณาให้เห็น เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว เราจะมานึกว่า อันนั้นท่าน อันนี้เรา เราไปทำได้ยังไง เราไม่ใช่ท่าน เราไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราไม่ใช่พระอรหันต์ เราจะไปปฏิบัติอย่างท่านนั่นได้อย่างไร ถ้าไปคัดค้านอยู่อย่างนั้นแล้ว ผู้นั้นน่ะจะไม่เข้าถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณเป็นที่พึ่งเลย นี่ต้องให้เข้าใจ เราปฏิเสธสิ ถ้าคนมีปัญญาน่ะ เค้าจะไม่คิดอย่างนั้นเลย เมื่อเรานึกถึงพระคุณทั้งสามนั่นมาแล้ว เห็นว่าเป็นของประเสริฐจริง อย่างนี้แล้วนะ เออ ทำอย่างไรหนอเราจึงจะถึงพระคุณทั้งสามนี้เป็นที่พึ่งได้ มันก็ต้องดำริอย่างนี้แหละ เพราะเราเลื่อมใสนี่ เห็นว่าพระคุณเหล่านี้น่ะเป็นของสงบระงับ เยือกเย็น ไม่มีเวร ไม่มีภัยกับสิ่งใดทั้งหมด พระพุทธเจ้าพระองค์ก็ไม่มีเวรกับใครเลย ไม่ได้ทำใครให้ทุกข์เดือดร้อน แต่มีแต่ผู้อื่นน่ะแหละประมาทพระองค์ เบียดเบียนอิจฉาพระองค์แล้วก็กรรมของตัวเองอ้ะ ทำลายตัวเองให้เป็นทุกข์เดือดร้อน อย่างเช่นพระเทวทัตอย่างนี้แหละ พระเทวทัตจะเบียดเบียนพระองค์ยังไงๆ พระองค์ก็ไม่ตอบโต้ เอาไปเอามา พระเทวทัตก็แพ้ภัยตัวเองไป เป็นอย่างนั้น
นี่แหละ เราผู้เป็นพุทธศาสนิกชนก็ต้องฝึกตนตามร่องรอยของพระศาสดา หรือของพระสาวก พระอริยบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น จึงจะสมกับว่าเราเลื่อมใส นี่ต้องคิดให้ดี คำว่าเลื่อมใสนี่ก็อยากจะเดินตามหลังท่านนั่นแหละ เหมือนอย่างในโลกนี้แหละ เอ้า เรานับถือผู้ใด ว่าท่านผู้นั้นทรงคุณวุฒิอันดีงามอย่างนี้นะ เราก็อยากเข้าใกล้ อยากเดินตาม สนใจอยากศึกษาความเป็นไปของท่านผู้นั้น สำหรับผู้หวังดีนะ นั่นแหละ เรายังสนใจนี่ แม้คนในปัจจุบันนี้นะ แล้วไฉนหละ อันพระพุทธเจ้านั่นเป็นศาสดาเอกในโลกแท้ๆ เราถึงปฏิเสธว่าอันนั้นพระพุทธเจ้า อันนี้เรา…เราจะไปตามหลังพระองค์ได้ยังไง อันนั้นเรียกว่า ลดตัวเองลงต่ำที่สุดเลย ไม่คิดพยายามยกใจของตนให้สูงขึ้นตามพระพุทธเจ้าไป
พระประสงค์ของพระพุทธเจ้าน่ะ พระองค์มีประสงค์อยากให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายน่ะ เดินตามหลังพระองค์ไป แม้พระสาวกสงฆ์ท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลายก็เหมือนกัน ก็ต้องการให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายเดินตามหลังท่าน คือหมายความว่าเมื่อท่านนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปแสดงแนะนำสั่งสอนแล้ว อย่างนี้เราก็พยายามปฏิบัติตามนะ กระนั้นแหละได้ชื่อว่าเดินตามหลังพระอริยเจ้าไป เพราะว่าท่านก็ปฏิบัติมาอย่างนี้ คล้ายๆกับว่าท่านพูดอย่างนั้นแหละ ข้อปฏิบัตินี้ท่านดำเนินมาแล้ว ทำให้กิเลสตัณหามันเหือดแห้งไปจริง ทำให้ความทุกข์ทางใจน่ะมันเบาบางไปจริง ดังนั้นท่านจึงได้แนะนำสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ผู้ที่ยังมีกิเลสตัณหา ยังพ้นทุข์พ้นภัยยังไม่ได้ ให้พยายามประพฤติปฏิบัติตาม ก็ให้พากันพิจารณาอย่างนี้ อย่าละเลยข้อปฏิบัติเหล่านี้นะ ถ้าไปละเลย ไม่นึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้ามาเป็นอารมณ์แล้ว มันยิ่งไปไกลหละ ความประพฤติน่ะ หาความสงบระงับไม่ได้เลย มันเป็นอย่างนั้น อย่าไปคิดอย่างที่ว่ามาแล้วนั้น มันไม่ถูกทาง อันนั้นน่ะ ก็พระองค์สร้างบารมีมาตั้ง ๔ อสงไขย ปลายแสนมหากัปป์นะ มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็มีพระประสงค์จะจูงคนให้เดินตามหลังพระองค์นั่นแหละ พระองค์ไม่ประสงค์อย่างอื่นนา ต้องให้เข้าใจ ถ้าหากพระองค์ไม่มีพระประสงค์อย่างนั้นแล้ว พระองค์ก็สร้างบารมีเป็นสาวกธรรมดาเนี่ย อย่างนานก็แสนกัปป์แล้วก็เต็มบริบูรณ์แล้ว บารมีนั่น ก็ออกบวชตรัสรู้สำเร็จอรหัตตผลแล้วก็เข้าสู่ปรินิพพานไป
ท่านพระสาวกสงฆ์นี่ ไม่ได้สงเคราะห์สัตว์โลกให้ได้มากมายเหมือนอย่างพระพุทธเจ้า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้านี่พระองค์ไม่เฉพาะแต่สงเคราะห์หมู่มนุษย์เท่านั้น สงเคราะห์ตลอดถึงสัตว์สิ่งเดรัจฉาน สงเคราะห์ตลอดถึงเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ต่างๆ สัตว์เดรัจฉานผู้มีบุญวาสนา พระองค์ก็สงเคราะห์เพราะพระองค์รู้ด้วยพระญาณอันประเสริฐ เช่นอย่างช้างป่าเลไลยก์ ลิงอยู่ในป่าหิมพานต์นั่นน่ะ ทรงพิจารณาเห็นว่าทั้งสองท่านนี่เป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบารมีปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์จึงได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่าหิมพานต์นั่น ช้างเห็นพระองค์เข้าก็มีศรัทธาเลื่อมใส ลิงเห็นเข้าก็มีศรัทธาเลื่อมใส ได้ปฏิบัติอุปัฏฐากพระองค์ นำผลไม้มาถวาย นำผึ้งรวงมาถวาย อันช้างนั้นนำเอาหัวบัวมาถวายพระองค์ให้ฉัน นั่นแหละ ช้างก็ดี ลิงก็ดี ก็ได้สร้างบารมี ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า ก็มีผลอันเลิศ เช่นนั้นแหละ อันธรรมดาพระพุทธเจ้านี่ อันสาวกธรรมดานี่ไม่สามารถที่จะรู้นิสัยวาสนาบารมีของคน ได้ว่าใครเป็นอย่างไร ใครอยู่อย่างไร ควรจะสงเคราะห์อย่างไร อย่างนี้นะพระสาวกก็ไม่สามารถจะรู้ได้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า
นี่เราต้องนึกถึงพระคุณพระพุทธเจ้าอย่างนี้เสมอๆแล้ว เราจะได้มีจิตใจเลื่อมใสเชื่อมั่นในพระคุณของพระพุทธเจ้านี่เป็นอย่างยิ่ง แล้วจะเป็นเหตุให้เราได้ลงมือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นโดยความไม่ประมาท พระองค์สอนให้ละความโลภ เราก็ละตามพระองค์แหละ เราเชื่อนิ เราไม่โลภ เราถือสันตุฏฐี (สันโดษ) ตามมีตามได้ พระพุทธเจ้าพระองค์ก็ถือสันตุฏฐีตามมีตามได้ อย่างนั้นแหละ พระองค์จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์สอนทรงไม่ให้โกรธ เราก็พยายามไม่โกรธ มีสติสัมปะชัญญะ สำรวมระวังจิตใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีเรื่องไม่ดีอะไรต่ออะไรกระทบกระทั่งมาเราก็สำรวมจิตไว้ ข่มจิตไว้ อย่าให้มันฟูไปรับอารมณ์เหล่านั้น อย่าให้มันหวั่นไหวไปตามอารมณ์ไม่ดีต่างๆเหล่านั้น นี่ก็จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เลื่อมใสพระองค์โดยแท้
พระองค์ทรงสอนให้พยายามละความหลงด้วยการภาวนา ด้วยการฝึกสติสัมปะชัญญะ สำรวมจิตใจนี่โดยเฉพาะเลยทีเดียวบัดนี้นะ ขั้นภาวนานี่เป็นขั้นสำรวมจิตโดยตรง ขั้นศีลนั้นสำรวมทั้งกายทั้งวาจาทั้งใจด้วย เป็นอย่างนั้น ขั้นภาวนานี่สำรวมจิตโดยตรง ต้องให้เข้าใจ พยายามฝึกสติระลึกเข้ามาหากายหาใจนี่บ่อยๆ มาตรวจดูจิตตัวเองว่ามันเป็นยังไง มันหวั่นไหวอยู่ด้วยเรื่องอะไร นี่ หรือว่าตนเป็นโรคภัยอะไรอยู่ในกายนี้ อย่างนี้นะ เป็นโรคหัวใจอ่อนก็ให้รู้ตามเป็นจริง ว่าตนนั้นเป็นโรคหัวใจ อย่างนี้น่ะ อันโรคหัวใจนี่มันชอบหงุดหงิดง่าย ผู้พูดอยู่นี่ก็เป็นมาเหมือนกันหละแต่ก่อน ใครพูดอะไรมาไม่สบอารมณ์หน่อยหนึ่งมันก็หงุดหงิดขึ้นมาแล้ว แล้วก็พูดคำไม่ดีต่างๆออกไปโดยไม่รู้ตัว พูดออกไปแล้วจึงรู้ตัวก็มี เมื่อรู้ตัวแล้ว หากไม่ถือมั่นไว้ รู้ตัวแล้วว่าตนพูดผิดพูดพลาดกับท่านผู้นั้นเราก็ขอโทษท่าน “ผมขอโทษ ไม่ได้เจตนาเลย แต่ว่ามันเผลอสติไปยังไงก็ไม่รู้ พูดออกไปแล้วจึงระลึกได้ ขออโหสิกรรมให้ด้วย” อย่างนี้แล้วก็ไม่มีใครรังเกียจเลย ก็อโหสิกรรมให้ เพราะเราลดละทิฐิมานะลงเลย เราไม่ได้สำคัญว่าเราดีโดยส่วนเดียว
ไอ้ส่วนดีมันก็มี ส่วนเสียก็มี ในตัวของคนเราผู้หนึ่งๆน่ะ เมื่อเวลายังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ พูดง่ายๆว่ายังไม่ได้บรรลุอรหัตตผลแล้วน่ะ มันก็มีดีมีเสียอยู่อย่างนั้นแหละ คนเราผู้หนึ่งๆนี่นะ ต้องให้เข้าใจ ต่างแต่ว่าบางคนก็มีดีมากกว่าเสีย บางคนก็มีดีกับเสียพอๆกันอย่างนี้ก็มี แต่อย่างนี้น่ะ เรื่องนี้มันต้องเป็นหน้าที่ของใคร…ของเรา จะพึงพิจารณาให้เห็นด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นพยากรณ์ให้ ตัดสินให้อย่างนี้ ไม่ได้หรอก ถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ก็จะไม่ไปพยากรณ์คนทั่วๆไปอยู่อย่างนั้น ไม่มี ถึงพระองค์รู้ได้ก็…แล้วพระองค์จะไปทักคนโน้นคนนี้ตลอดได้อย่างไรหละ ลองคิดดู พระองค์ก็เลือกทรมานแต่บุคคลที่มีอุปนิสัยแก่กล้าแล้วเท่านั้นแหละ คนใดที่อุปนิสัยยังไม่แก่กล้าอย่างนี้ พระองค์ก็พยายามพร่ำสอนไปเรื่อยๆไปอย่างนั้นแหละ เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนน่ะมันต้องรู้ตัวเองนะ การพิจารณารู้ตัวเองนี่สำคัญมาก เราจะไปให้ใครรู้ให้ไม่ได้เลย
ดังนั้นน่ะการภาวนาจึงชื่อว่าเป็นการสำรวจ ดูจิตใจตัวเองนี่นะ ไม่ใช่อย่างอื่นใด พยายามเพ่งดูความรู้สึกนึกคิดภายในนี่เสมอๆไป หายใจเข้าก็กำหนดรู้ หายใจออกก็กำหนดรู้ อยู่อย่างนี้ เมื่อหายใจเข้าหายใจออกกำหนดรู้จิตตัวเองอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่ได้หลงใหลไปทางไหนนะบัดนี้นะ หรือว่าหายใจเข้าก็นึกพุท หายใจออกก็นึกโธอยู่อย่างนี้ เอาคุณพระพุทธเจ้านี่ผูกจิตไว้บัดนี้นะ อย่างที่พูดมาแต่เบื้องต้นนั่นแหละ เมื่อเรามั่นอยู่ในพุทโธคุณนี้แล้ว จิตจะไม่ตกต่ำเลย นั่นน่ะ มันจะสูงขึ้น ถ้าผู้เป็นโรคเป็นภัย โรคตับ โรคปอด โรคหัวใจ อะไรต่ออะไรเนี่ย ถ้าเรานึกพุท หายใจเข้า โธ หายใจออกอยู่อย่างเนี่ย มันจะบรรเทาความว้าวุ่นต่างๆ ธาตุขันธ์ร่างกาย อวัยวะร่างกายที่มันวิบัติอยู่นั่น มันก็บรรเทา มันก็ไม่กำเริบรุนแรง
ถ้าใจเราตั้งมั่นอยู่ในพุทธคุณนี้แล้วนะ เอ้า ลองนะ ลองปฏิบัติที่แนะนำสั่งสอนนี้ไป อย่าประมาท อย่าปล่อยใจให้คิดซ่านไปทั่ว ทำอย่างนั้นแล้วผู้มีโรคอวัยวะพิกลพิการอยู่ภายในนี่ โรคอวัยวะอันสำคัญๆนี่น่ะ พอปล่อยใจให้พุ่งไปเท่าไร โรคนี่ยิ่งกำเริบมากขึ้นเท่านั้น นี่ เป็นความจริงนะอันนี้นะเพราะเคยปรากฏมาแล้ว ถ้าเมื่อใดควบคุมจิตนี้ได้ จิตสงบ จิตตั้งมั่นอยู่ได้ดีอย่างนี้แล้ว โรคอันนั้นก็รู้สึกว่าเบาไป ไม่กำเริบรุนแรง นี่เป็นอย่างนั้น แต่โรคอวัยวะส่วนสำคัญต่างๆนี่ ยากที่จะใช้ยาภายนอกนั้นบรรเทาให้หายขาดไปได้ ไม่ได้หรอก เช่นหัวใจอย่างนี้นะ เมื่อมันได้พิการลงไปแล้ว มันยากที่มันจะดีปกติคืนได้ ตับ ปอดหมู่นี่เหมือนกัน ถ้ามันลงได้วิบัติลงไปแล้วนั่น ว่าอย่างมันถูกยา ยาระงับได้ก็เพียงแต่บรรเทาเท่านั้นแหละ จะให้มันดีเป็นปกติคืนนี่ มันไม่ได้หรอก เป็นอย่างนั้น
เราต้องภาวนาดูให้รู้ อ่านดูอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกายให้มันเห็นให้มันรู้ ว่ามันวิบัติส่วนไหน มันไม่ดี มันเป็นอย่างไร เราต้องทำความรู้เท่ามันไป อ้าว ลมมันกำเริบ ลมมันหวั่นไหว ลมมันแปรปรวน เราก็รู้เท่ามันไป อันนั้นก็ธาตุลม มันไม่เที่ยง อย่างนี้แหละ อ้าว ตับ ปอด หัวใจมันไหว มันร้อนหรือมันเย็นหรืออะไรหมู่เนี้ย อันนี้เป็นธาตุดิน อันนี้มันก็ไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยงแล้วจะให้มันเป็นปกติอยู่ได้อย่างไร เพราะมันขึ้นอยู่กับกรรม บางคนผู้มีกรรมดี ได้ทำกรรมดีมาแต่ก่อน กรรมดีก็มาตกแต่งอวัยวะน้อยใหญ่เหล่านี้ให้ปกติดี แล้วมันก็ตามรักษา ไม่ให้วิบัติง่ายๆ คนมีบุญน่ะ ถ้าคนผู้มีบาปติดตัวมาแต่ก่อนแล้ว บาปนั้นมันก็มาตกแต่งอวัยวะร่างกายอันนี้ให้วิบัติลง อย่างนี้แหละ ให้ไม่ปกติอยู่ได้ นี่ ผู้ใดเป็นอย่างนี้ก็พิจารณาให้เห็นกรรมเห็นเวรของตัวเอง เออ แต่ชาติก่อนนี้เราต้องได้ทำกรรมไม่ดีอย่างใดอย่างนึงมา กรรมไม่ดีนั้นมันจะมาตกแต่งอวัยวะต่างๆน้อยใหญ่เหล่านี้ให้ไม่ปกติอยู่ได้ และก็ไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดไปได้
นี่เรื่องของกรรมเวรมันให้ผลน่ะ ไม่มียาในโลกจะมารักษากรรม รักษาเวรได้ ก็พิจารณาให้รู้ความจริงอย่างนี้แล้ว เราก็อดทนต่อทุกขเวทนาต่างๆนี้ไป ควบคุมใจของเราให้ตั้งมั่นต่อคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งมั่นต่อบุญต่อกุศลที่เราได้บำเพ็ญมา เป็นอารมณ์ว่าอย่างนั้นแล้วก็ นั่นแหละ เราได้บุญได้คุณนั่นน่ะเป็นกำลังใจ ทำให้เราอดกลั้นทนทานต่อทุกขเวทนาต่างๆได้ อย่าไปเข้าใจว่าสิ่งอื่นนั้นจะมาช่วยจิตใจของเราไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้เดือดร้อน ไม่มี อย่างอื่นไม่มีหรอก เทวดา อินทร์ พรหมก็ช่วยไม่ได้ ช่วยได้แต่บุญแต่คุณอันประเสริฐ ที่เราเคารพนับถือบูชา ที่เราได้กระทำบำเพ็ญมา เท่านี้แหละ จะช่วยเราได้ ขอให้พากันเชื่อลงไปในใจของตนอย่างนี้ให้แน่วแน่ แล้วให้รวบรวมบุญคุณนี้ไว้ในใจให้ได้ แล้วเราจะบรรเทาทุกข์ทางใจได้ ดังแสดงมาขอจบลงเพียงเท่านี้